พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
10 พฤศจิกายน 2551
 

ตัวอย่างแผ่นปฏิทินและปก


: เข้าหน้าสารบัญหลักเพื่อดูทุกหัวข้อ..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : ประสบการณ์ผ่านเต้า (ตัวเอง)..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนหย่อมลอยฟ้าราคาประหยัด..."คลิ๊กที่นี่"

บทความแนะนำ : สวนกล้วยลอยฟ้าบนอาคารสูง 6 ชั้น..."คลิ๊กที่นี่"





**บทความที่เกี่ยวข้อง : ขั้นตอนการทำปฏิทินตั้งโต๊ะพร้อมภาพประกอบอย่างละเอียด" ":คลิ๊กดู "การทำปฏิทินตั้งโต๊ะ...ได้ที่ลิงค์นี้":"

“ตัวอย่างแผ่นปฏิทินและปก...ชุดกล้วยไม้" เบรคนี้ต่อเนื่องมาจากเบรคการทำปฏิทินตั้งโต๊ะ เอาแผ่นปฏิทินมาให้ดูเป็นตัวอย่างกันนิดหนึ่ง แต่ยังไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงเวลาทำจริงจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนไหนอีกหรือเปล่า ชุดปฏิทินจะต้องมีปกหน้า, ปกหลัง และปกรอง ดังนั้นมาดูที่ปกหน้ากันก่อน เราจะเปิดภาพปกหน้าด้วยภาพกล้วยกับพระอาทิตย์ขึ้น โดยมีนางแบบเป็น "เอื้องนางฟ่อน" อารมณ์ประมาณว่าเปิดรับอรุณที่สดใส สว่างเจิดจ้าของปีใหม่ (ว่าไปนู่น) แต่ภาพที่ถ่ายจริงเป็นตะวันตกดิน (ฮา) ปกติข้อความที่เราจะใส่ในปกหน้าจะไม่มีข้อความที่บ่งบอกว่ามันคือปฏิทิน (ยกเว้นว่าต้องทำตามออเดอร์ ซึ่งเป็นอะไรที่ขัดใจตัวเองมาก) แม้แต่ปี 2552 ก้อจะไม่ใส่ลงไป ส่วนใหญ่ที่เคยทำจะเป็นข้อความสั้นประมาณ 2-3 บรรทัด ความยาวของแต่ละบรรทัดจะยาวไม่เกินครึ่งหน้าของแผ่นปฏิทิน คือเราดีไซน์แบบโมเดิร์นไม่เป็นเลย ชอบแบบเรียบ ๆ ออกมาแบบดอย ๆ ใครหัวสมัยใหม่สามารถละเลงได้ไม่จำกัดนะคะ




แผ่นที่สองจะเป็นปกรอง ปกติจะใส่ข้อความยาว ๆ ใช้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด แต่ปีนี้เปลี่ยนใจใช้ปกรองทำหน้าที่เป็นสารบัญแทน เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักชื่อกล้วยของเรา ภาพข้างล่างคือเป้าหมายที่เราจะเอามาทำปก และสีตรงกลางของดอกได้เป็นโทนชมพูเข้ม หรือม่วงแดง เนื่องจากโทนสีของกล้วยในปฏิทินเดือนแรกที่จะมาต่อจากปกรองแผ่นนี้จะเป็นโทนม่วงหรือชมพูเข้ม การใช้สีและขนาดของตัวอักษรมีความสำคัญ เนื่องจากปฏิทินมีขนาดเล็ก ตัวอักษรต้องเล็กตามไปด้วย แต่ถ้าเป็นฉากหลังสีขาวจะสบายมาก ๆ ใช้สีอะไรก้อดูชัดไปหมด การใช้ฉากหลังสีดำจะลำบากหลายอย่าง เมื่อพิมพ์แล้วต้องเอาไป Test Lab ก่อน ปัญหาฟอนต์บางหรือหนามีความจำเป็นในการเลือกใช้พอสมควร เราทดลอง Test ข้อความชื่อกล้วยลงไปมั่ว ๆ ก่อนนะคะ




ถัดมาจะเป็นแผ่นปฏิทินจำนวน 12 เดือน แต่เนื่องจากภาพมีมาก และผลการโหวตภาพยังเหวี่ยงอยู่ เราจะเอามาให้ดูเป็นตัวอย่าง 20 แผ่น โดยแต่ละแผ่นจะ Test อยู่ที่เดือนมกราคม จากนั้นเราจะมาจัดเรียงไล่ไปตามโทนสีก่อน ตรงนี้จะยุ่งยาก เพราะมันไล่ได้หลายแบบว่าจะตั้งหลักที่สีอะไรดี และเราต้องคำนึงถึงปกหน้าและปกหลังด้วย อาจได้ไม่ดี 100% แต่พยายามไล่ให้มันดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือเวลาไล่เปิดไปทีละแผ่นอารมณ์จะได้ต่อเนื่อง เราจะไม่บังคับว่าเดือนนี้ต้องใช้ดอกแบบนี้ หรือเดือนนั้นต้องใช้ดอกแบบนั้น เมื่อเราเลือกภาพเป้าหมายได้ 12 แผ่น เราจะมาดึงเดือนมกราคมออกไป แล้วไล่ใส่เดือนต่าง ๆ ให้ครบ 12 เดือน ตามโทนสีที่ไล่ไว้ เราจัดกลุ่มให้โทนสีม่วงอยู่บนสุด ไล่ลงมาที่ชมพูอ่อนน้อย อ่อนมาก ๆ จนออกครีมขาว จากนั้นวิ่งเข้าไปหาสีขาว แล้วลามไปที่ขาวเขียวและขาวเหลืองตามลำดับ สุดท้ายจะไปสิ้นสุดอยู่ที่สีเหลืองนะคะ อาจมีเป๋ ๆ ไปบ้าง แต่รวม ๆ มองว่าน่าจะโอเค ปฏิทินในช่วงเดือนแรก ๆ จะออกโทนม่วงและชมพู เมื่อนำไปต่อกับปกรองเราว่าน่าจะใช้ได้






















เมื่อเลือกปฎิทินครบ 12 เดือนแล้ว ซึ่งโทนสีในช่วงท้าย ๆ ที่เรียงไว้ข้างบนจะตรงกับสีเหลือง แต่เหลืองไหนจะถูกโหวตออกไปก้อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คืออย่างน้อยต้องได้โทนสีเหลืองในช่วงท้ายแน่นอน ดังนั้นภาพปิดบนปกท้าย เราจึงเลือกภาพกล้วยไม้ซิลลูเอตที่ได้สีท้องฟ้าออกเหลืองส้ม ถือว่าน่าจะลงตัว การเขียนข้อความลงไปแผ่นปกหลังนี้ จะใช้แค่ข้อความสั้น ๆ เพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ความจริงทุกปีที่ผ่านมาเราจะมีโลโก้ของเราแปะไว้ด้วย แต่คิดว่าปีนี้เอาดอกชัด ๆ ของกล้วยไม้ในภาพมาแปะแทนโลโก้ดีกว่า เพราะที่หน้าสารบัญจะเขียนว่าปกหลังใช้ดอกเอื้องพวงสร้อยน้อย แต่ภาพเป็นซิลลูกเอต มองไม่ออกว่าดอกเป็นยังไง จึงเอาดอกชัด ๆ มาแปะไว้เหนือข้อความนิดหนึ่งนะคะ





“ตัวอย่างแผ่นปฏิทินและปกชุด...ดอกไม้" มาดูกันอีกชุดหนึ่ง เผื่อจะเป็นประโยชน์อีกสักเล็กน้อย เป็นชุดทั่วไปที่ไม่ใช่กล้วยไม้ แต่เราไม่สามารถใช้ดอกไม้ที่ปลูกได้เองทั้งหมด ดอกไม้บางภาพมีความหมายระหว่างเรากับแม่ ดังนั้นถ้าเป็นชุดนี้เราจะไม่สนใจที่จะเบิกอรุณในปกหน้าเหมือนชุดกล้วยไม้ แต่จะเป็นดอกไม้ของเรากับแม่ ซึ่งจะเป็น "มะลิน้ำ" ใช้ภาพจริงทั้งหมด 6 ภาพ จึงจะออกมาเป็นปกหน้าแผ่นนี้ ถือว่าใช้จำนวนภาพเปลืองที่สุดแล้ว มะลิน้ำมีดีไซน์ของดอกในตอนบาน 2 รูปแบบ หนึ่งคือกลมกะปุ๊กลุ๊กสีขาวล้วน บางดอกกลมกะปุ๊กลุ๊ก แต่มีขอบสีชมพูอ่อน สองคือบางดอกมีลักษณะบานเหมือนกุหลาบ เราเลยนำความบานในลักษณะต่าง ๆ มาไว้ที่ปกหน้าหมดเลย การใส่ข้อความที่ปกหน้าเหมือนชุดกล้วยไม้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะใช้ฟอนต์สีขาวหรือสีเหลืองนะคะ




ส่วนถัดมาคือปกรอง ซึ่งเราจะไม่ใช้มันทำหน้าที่เป็นสารบัญเหมือนชุดกล้วยไม้ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น การใส่ข้อความของปีนี้ เราจะไม่ทำเป็นข้อความยาว ๆ แต่จะใส่ข้อความสั้น ๆ ลงไปแทน 2 บรรทัด และเราเลือกใช้ภาพ "ไอริสซิลลูเอต" ภาพดอกไม้กับดวงตะวันทั้งหมดถ่ายที่สวนหย่อมลอยฟ้าของเราเอง รวมไปถึงดอกไม้ชนิดอื่น ๆ อาจถ่ายที่บ้านบ้าง ตามสวนสาธารณะบ้าง ข้างทางบ้าง ตอนที่ถ่ายไม่มีการวางแผนว่าจะนำมาใช้ทำปฏิทิน เป็นการถ่ายภาพตามปกติของเราไปเรื่อย ๆ ตามประสาคนชอบถ่ายภาพ แม้ว่าจะได้ไอริศที่เป็นซิลลูเอตมาเป็นภาพเปิดที่ปกรอง แต่ท้องฟ้าได้สีสดใสในโทนม่วง ซึ่งมันจะลงตัวกับแผ่นปฏิทินเดือนแรกที่จะต่อจากแผ่นนี้ เพราะเราจะใช้ภาพคุณนายพวงแส ซึ่งออกสีม่วงครามในเดือนมกราคม




จากปกรองก้อมาถึงแผ่นปฏิทินทั้ง 12 เดือน ซึ่งเราเอามาให้ดู 12 เดือนพอดีเป๊ะ เดือนแรกจะเป็นคุณนายพวงแส สีม่วงคราม จะเห็นว่าเป็นโทนสีต่อจากปกรองพอดี หลังจากนั้นไล่โทนสีไว้เรียบร้อยแล้ว และจะไปสิ้นสุดที่กลุ่มดอกไม้สีขาว เรายังไม่ได้ใส่เดือนลงไป ยังคง Test อยู่ที่เดือนมกราคมทั้งหมด เผื่อว่าเมื่อถึงเวลาจริง อาจจะมีการเปลี่ยนชนิดดอกในบางภาพ














มาถึงปกหลังของชุดนี้กันแล้ว เราจะใช้ดอกไม้กับดวงตะวันเป็นการปิดท้ายอีกเช่นเดียวกัน เนื่องจากดอกไม้ของแผ่นปฏิทินในเดือนธันวาคมจะเป็นสีขาว ดังนั้นมันเข้ากับปกหลังได้ทุกสี และท้องฟ้ายังเห็นเป็นสีขาวอยู่บ้าง ดอกไม้ในปกสุดท้ายนี้จะเป็นกล้วยไม้เพียงภาพเดียว เพราะภาพอื่นที่มีอยู่ไม่ลงตัวได้มากเท่าภาพนี้ และการที่มันเป็นซิลลูเอตทำให้มองยาก ดังนั้นไม่มีอะไรต้องคิดมาก เรายกหน้าต่างห้องมาไว้ในปกหลังนี้ทั้งบานเลย แถมขาของตัวเองเข้าไปหน่อย ประมาณว่าต้องไปแล้ว แต่ดอกไม้ของเราจะคงอยู่คู่กันต่อไป (เขียนไปเขียนมา ชักจะบ้าอีกแล้ว)





“เบื้องหลัง" มาดูเบื้องหลังของการทำภาพกันนิดหนึ่ง ภาพข้างล่างนี้เราจะไม่เอามาทำปฏิทินแน่นอน เพราะเรามีภาพที่ลงตัวกว่านี้และมีจำนวนมากพอ แถมหล่อนเริ่มเหี่ยวแห้ง รกรุงรังมากเกินไป แต่สมมุติว่าในสต๊อกมันหาไม่ได้แล้ว ต้องการที่จะเอาภาพนี้แหละ จะจัดการยังไงให้มันพอจะใช้ได้มากขึ้น ต้องมาดูก่อนว่าภาพนี้มันพอใช้ได้ เพราะฉากหลังดำเหมือนกัน เราครอปออกตามสัดส่วนของเฟรมปฏิทินแล้วยกถึงมาใส่ปฏิทินทั้งแผงเลย ผลที่ออกมาจะเห็นว่าข้อความมันดูไม่ค่อยออกเป็นหย่อม ๆ วิเคราะห์ต่อไปว่าเป้าหมายกลุ่มดอกทางขวาน่าจะมาอยู่ทางด้านซ้าย เพราะกองดอกดูดีกว่า ดังนั้นลองมาแก้ไขภาพกันนะคะ




เราจะนำภาพมากลับด้านก่อน พอกลับด้านมันแล้วพบว่าสิ่งที่วิเคราะห์ไว้ถูกต้อง คือได้กองดอกในตำแหน่งที่ต้องการแล้ว แต่ภาพใบและดอกส่วนที่อยู่ทางด้านขวามือยังรกรุงรัง ข้อความบนปฏิทินยังอ่านยากอยู่ ดังนั้นเราจะดรอปสีทางด้านขวามือลงเพื่อให้เห็นข้อความชัดขึ้น วิธีการแบบนี้เราจะใช้เครื่องมือ Select Tool ที่เป็นสี่เหลี่ยมวาดลงไปที่ครึ่งเฟรมทางซ้ายมือ จากนั้นใช้คำสั่ง Convert แล้วใส่ Feather ประมาณ 80 ต่อด้วยการไปที่คำสั่ง Fill ใส่สีดำที่มากกว่า 50% แต่จำไม่ได้ว่าใช้เท่าไหร่ ต้องลองดูว่าจะให้ดำมากเท่าไหร่ จะทำให้ภาพทางด้านขวามือดรอปลง คืออันเดอร์ลงหรือมืดลง การใส่ค่า Feather ในตัวเลขสูง ๆ จะทำให้ขอบสมู๊ดขึ้น ลองทำดูแล้วจะรู้ว่าความสมู๊ดของเรามันคืออะไร เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถจัดการกับภาพแบบง่าย ๆ




ถ้าไม่ใช้แบบวิธีข้างบน อาจใช้วิธีเครื่องมือ Polygonal Losso Tool ทำการกำหนดขอบเขตไปตามเป้าหมาย (ตามภาพ A.) ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นกว่าวิธีข้างบน คือกำหนดขอบเขตได้ตามต้องการที่ไม่เป็นสี่เหลี่ยม เมื่อได้ขอบเขตตามต้องการแล้วต่อด้วยคำสั่ง Action มาตราฐานของเครื่อง (ตามภาพ B.) โดยเลือกคำสั่งย่อยคือ Vignette (selection) จากนั้นกดปุ่มทำงานก่อน แล้วโปรแกรมจะให้ใส่ความสมู๊ดของเส้นขอบที่เรากำหนดไว้ คือตรงกรอบ Feather Radius ให้ใส่ตัวเลขสูง ๆ แต่จะสูงเท่าไหร่ต้องลองดู เช่น 50 60 70 80 90 (ขั้นอยู่กับลักษณะภาพและขนาดที่กำหนดขอบเขต ยิ่งตัวเลขสูงขอบรอบ ๆ ที่กำหนดไว้มันจะกระจายความสมู๊ดออกไปมากขึ้น) จากนั้นดึงมาไว้ในเฟรมของปฏิทินอีกครั้งหนึ่ง



มาดูว่าเมื่อใช้คำสั่งตาม A. และ B. มันจะออกมาเป็นยังไง จากภาพปฏินของเราที่เป็นรองเท้าขาวสตูล ภาพนั้นเราใช้ภาพจริง 3 ภาพ แต่เวลาตัดออกมาจะได้เป็น 4 ภาพ เพราะใช้ภาพซ้ำกัน 2 ครั้ง การตัดครั้งแรกตัดมาทั้งใบและดอก การตัดครั้งที่สองตัดเฉพาะใบออกมาอย่างเดียว เพราะดูแล้วใบของหล่อนน้อยไปหน่อย ทีนี้มาดูกลุ่มนี้เป็นภาพจริงที่จะเอามาใช้งานกันก่อนรวม 4 ภาพ แต่เป็นภาพซ้ำกัน 2 ภาพ ด้วยเหตุผลที่ว่าไว้คือจะมีการตัด 2 ครั้งในภาพเดียวนะคะ





เราใช้คำสั่ง A. และ B. ตามลำดับ โดยการใส่ Feather Radius = 80 ทำทีละภาพ แล้วดึงมาทีละภาพ เอามาใส่ในไฟล์ใหม่ แล้วจัดเรียงให้เห็นชัด ๆ ตามภาพเดิมของมัน จะได้ออกมาตามภาพข้างล่างนี้ จะเห็นความสมู๊ดของขอบภาพที่ไล่เฉดลงไป เราทดลงใส่ในเฟรมสีขาว เพื่อให้เห็นขอบภาพชัด ๆ กันก่อน ถ้าใส่ในเฟรมสีดำจะมองขอบภาพไม่ออกนะคะ




ตอนนี้เปลี่ยนให้เฟรมให้เป็นสีดำแล้ว ออกมาได้ตามภาพที่เห็นข้างล่างนี้ การสไลด์ให้ขอบมันสมู๊ดมีผลดีหลายประการ คือหลายครั้งที่สีดำของภาพเป้าหมายมันจะไม่ใช่สีดำเดียวกันกับเฟรมของปฏิทิน อาจจะดำอ่อน ๆ หรือน้ำตาลมืด หรือเขียวเข้มเกือบดำ ซึ่งทุกสีที่ว่ามามันเข้ากันได้กับเฟรมสีดำอยู่แล้ว การที่มันมีขอบสมู๊ดจะช่วยให้การฝังภาพเนียนขึ้นระหว่างฐานสีภาพเดิมและเฟรมสีดำ ตัวอย่างนี้มองไม่ชัด เพราะสีของภาพที่ดึงมาเป็นสีดำสนิทเดียวกันกับเฟรมของเรานะคะ




ต่อไปเราดึงปฏิทินเข้ามาใส่ก่อน จากนั้นทำการเคลื่อนย้ายและจัดระเบียบดอกไม้และใบไม้ทั้ง 4 ชิ้น จะด้วยการบิด ย่อ ตะแคง ฯลฯ สามารถปฎิบัติการยำได้ตามอำเภอใจ แต่เราเปลี่ยนฉากหลังให้เป็นสีขาวเพื่อเห็นรอยขอบและรอยต่อของภาพทั้งหมดก่อน หากจัดวางแล้วมันทับกันในบางจุด ต้องใช้วิธีหดภาพลง และอาจต้องรีทัชเพิ่มเติมในส่วนที่ทับโดยการใช้เครื่องมือ Eraser Tool โดยกำหนดหัวให้มันซอฟ ๆ แล้วค่อย ๆ ลบออกทีละนิด ภาพที่ตัดมามี 4 ภาพ จะได้ 4 เลเยอร์ ดังนั้นต้องทำบนเลเยอร์ของตัวมันเองด้วย บางทีการทับภาพไม่ต้องรีทัชเพิ่มก้อได้ อาจใช้วิธีการเลื่อน บิดตัวภาพ หรือหดภาพ หรือขยายภาพก้อได้ การหดภาพไม่ต้องระวัง แต่เมื่อหดเล็กเกินไปแล้ว หากจะขยายมันใหญ่กลับขึ้นมาอีกครั้ง อาจมีปัญหาในเรื่องความไม่คมชัด ถ้าเป็นแบบนี้เราจะตัดภาพแล้วดึงมาใส่ใหม่อีกครั้ง แล้วหดลงไปเรื่อย ๆ จนได้ขนาดตามต้องการ เราจะไม่ขยายภาพที่หดไปแล้วให้ใหญ่ขึ้น




ทดลองกลับไปที่เฟรมสีดำกันแล้ว ตัวปฏิทินของเรามันเป็นเลเยอร์โปร่งแสง ดังนั้นมันจะเจาะทะลุไปที่ภาพที่อยู่ด้านล่าง ไม่ถูกภาพปิดทับ ผู้ที่จะเข้าใจในวิธีการแบบนี้ต้องมีความรู้พื้นฐานในโปรแกรมโฟโตช็อปในระดับหนึ่ง และต้องมีความรู้เรื่องเลเเยอร์ด้วย สำหรับคนที่เก่ง ๆ เราไม่ทราบว่าเขาทำยังไง อย่างของเราบางทีก้อใช้หลายวิธีผสมกันไป ปีนี้เราใช้โปรแกรมได้คล่องกว่าปีสุดท้ายที่ทำปฏิทินไว้ จึงมีการตะลุมบอนมากกว่าที่เคยทำมา และปฏิทินเป็นชิ้นงานเฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นการโพสภาพในแง่ของการถ่ายภาพ ดังนั้นจะตัดแปะยังไงมันเป็นเรื่องของการทำชิ้นงานให้ได้ออกมาตามต้องการ อย่างรองเท้าขาวสตูลเราใช้ภาพเดียวตามปกติก้อได้ แต่ดูแล้วมันไม่เวิร์คสำหรับเราก้อเท่านั้นเอง ที่เห็นเป็นแผ่นปฏิทินทั้งหมดที่ด้านบนไม่ได้ใช้วิธีนี้ซะทั้งหมด ใช้ภาพเดียวโดยไม่ผ่านการวิธีพวกนี้เลยจะมีมากกว่า คือถ้าภาพเดิมมันลงตัวแล้วจะยิ้มหวานเลย ไม่ต้องเหนื่อย บางทีลงตัวแล้ว แต่เพิ่มตามมุมอีกนิดหนึ่งอะไรประมาณนี้ เป็นการทำตามอำเภอใจล้วน ๆ นะคะ





“ปิดท้ายการใช้โปรแกรมดึงภาพ" เราอ่านทบทวนข้อความทั้งหมด พบว่าน่าจะอธิบายการใช้โปรแกรมให้เคลียอีกสักนิดหนึ่ง จะให้อธิบายมากกว่านี้คงต้องใช้เวลานานมาก ต้องตัดต่อภาพบนโปรแกรมเข้ามาในทุกช่วงเพื่อประกอบคำอธิบาย แต่ช่วงนี้เรามีเวลาไม่มากนัก เอาแบบคร่าว ๆ ก้อแล้วกันนะคะ มาดูภาพดอกแก้ว สำหรับเราถือว่าเป็นภาพที่ลงลงตัวในการทำปฎิทินแล้ว เพราะเป้าหมายคือดอกแก้วอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะกับการทำปฏิทินพอดี เราครอปให้ได้สัดส่วนพอดีที่จะนำไปวางบนเฟรมปฎิทินก่อน ได้ออกมาตามภาพข้างล่างนี้




จากนั้นลากหล่อนไปใส่ในเฟรมปฏิทินสีดำ ภาพดอกแก้วจะทับลงไปบนเฟรมสีดำเต็ม ๆ เรามองว่าสีของข้อความยังอ่านได้ชัดเจนดี ถ้าคิดว่าพอมันก้อพอได้ แต่ถ้าคิดว่ามันไม่พอมันก้อจะไม่พอตามที่เราคิด แต่ปฏิทินของเราส่วนใหญ่มันออกมืด ๆ เห็นสีดำชัดเจนทุกใบ พอมาใบนี้มันกระโดดไปหน่อย คือถ้าเราจะเอาแนวนี้ เราจะหาภาพให้ได้ประมาณนี้ได้ครบทุกเดือน ซึ่งเรามีภาพแนวนี้มากกว่าภาพฉากหลังดำด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะเอาภาพดอกแก้วมาใส่ในปฏิทินปีนี้ของเรา ต้องมาแก้ไขให้ได้ฉากหลังดำมากกว่านี้ เวลาดูมันจะได้โทนหรืออารมณ์ดำ ๆ เหมือนกันทุกเดือนนะคะ




เมื่อเราอยากจะใช้ภาพนี้ แต่ต้องแก้ไขให้ได้สีดำมากขึ้น เราจะทำการ Select ด้วยการเลือกใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า polygonal Lasso Tool (ตามภาพ A.) โดยการขีดไปรอบ ๆ บริเวณภาพ แต่จะให้ห่างจากตัวดอกมาหน่อย เพื่อให้ติดใบเข้ามาด้วย ลากไปตามองค์ประกอบภาพได้เลย เพราะฐานของภาพมันได้องค์ประกอบสำหรับทำปฎิทินอยู่แล้ว เราจะเว้น 2 ดอกตูม ๆ ไว้ ไม่ให้ติดมา เพราะมองจากภาพประกอบด้านบนมันเป็นส่วนที่ทำให้กวนสายตาอยู่นิดหน่อย แต่ถ้าตำแหน่งของมันดีกว่านี้ก้อคงจะเอามันติดมาด้วย




จากนั้นเราเลือกใช้คำสั่ง Action (ตามภาพ B.) โดยเลือกคำสั่งมาตราฐานของโปรแกรม ไม่ต้องไปโหลดที่ไหนมาให้ยุ่งยากเลย เข้าไปในตู้คำสั่งของ Action โดยจิ้มไปที่ตู้ใหญ่ชื่อ Default Actions.atn เปิดคำสั่งนี้ขึ้นมา จะเห็นคำสั่งย่อยคือ Vignette (Selection) ใช้เม้าส์จิ้มไปที่คำสั่งย่อยตัวนี้ แล้วกดที่ปุ่มลูกศรที่ด้านล่างของกรอบคำสั่ง Aciton จากนั้นโปรแกรมจะเริ่มทำงาน แล้วขึ้นกรอบเล็ก ๆ ให้เราใส่ค่า Feather Radius เราใส่ค่านี้เข้าไปประมาณ 90 (จะน้อยกว่านี้ก้อได้ ต้องลอง Test กันดูว่าผลตัวเลขมากน้อยมันให้ผลที่พอใจหรือไม่) พอใส่ค่าตัวเลขเข้าไปแล้ว กดปุ่ม OK โปรแกรมมันจะวิ่งอัตโนมัติปู๊ด ๆ ป๊าด ๆ ไปสักพักหนึ่งแล้วมันจะหยุดการทำงานของมันเอง สิ้นสุดการทำงานของ Action ภาพมันจะออกมาแบบนี้ เดิมมันจะมีแค่เลเยอร์เดียว ผลการใช้คำสั่งจะกลายเป็น 3 เลเยอร์แล้ว ให้เราปักหลักที่เลเยอร์บนสุด (แถบน้ำเงินคาดไว้) ภาพที่เราได้ใหม่นี้จะเหลือเฉพาะส่วนที่เรา Select ไว้ แต่ขอบจะสมู๊ดไล่ความจางลงไป ส่วนที่อยู่นอก Select จะหายไปเหลือแต่แต่สีขาว ๆ




จากนั้นเราดึงภาพข้างบนมาใส่ไว้ในเฟรมปฎิทินที่สร้างไว้ แต่เปลี่ยนสีเฟรมดำให้เป็นเฟรมสีขาวก่อน เพื่อจะให้เห็นลักษณะภาพที่ได้กันชัด ๆ ซึ่งจะเห็นเป็นภาพเหมือนข้างบนทุกประการ จะเห็นว่ามีเงาติดทาบไปที่ขอบสีแดงนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร เพราะหลังการอัดแล็บเราต้องตัดมันออกไปอยู่แล้ว




เรากลับมาทำให้ฉากหลังของปฏิทินเป็นสีดำเหมือนเดิม จะได้ฉากหลังที่เป็นสีดำของเฟรมเดิมกันแล้ว คราวนี้มันก้อสามารถนำมาจัดเป็นชุดปฏิทินของเราได้อีก 1 แผ่น ที่มองไปจะเห็นสีดำมากขึ้นเหมือนกับแผ่นอื่น ๆ ที่ทำไว้ อยากให้มีใบเพิ่มขึ้นในบางจุดก้อทำเพิ่มได้อีก คราวนี้ดอกแก้วของเราจะโดดเด่นจนเกือบลอยออกมาแล้วนะคะ




ไม่ได้หมายความว่าทุกภาพจะนำมาใช้วิธีการแบบนี้ได้ มันขึ้นอยู่กับลักษณะฐานของภาพเดิมว่าเข้ากับฉากหลังที่ต้องการหรือไม่ และยังขึ้นอยู่กับการดีไซด์หรือการติดแปะของภาพด้วย คือเราก้อไม่รู้ว่าการติดภาพในรูปแบบของเรามันใช้ได้หรือไม่ ทำไปตามประสบการณ์ของการทำปฎิทิน ได้แต่คาดหวังว่ารูปแบบของมันจะดีขึ้นไปในทุกปีตราบที่เรายังทำปฎิทินอยู่ ขอให้เพื่อน ๆ สนุกกับการทำปฏิทินกันทุกคน เบรคหน้าจะต่อด้วยการทำการ์ดไว้ใช้เอง คาดว่าจะปล่อยได้ไม่เกินวันเพ็ญเดือน 12 ที่จะถึงนี้นะคะ






ขอให้มีความสุข ณ จ้ะ





 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2551
2 comments
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2554 0:42:02 น.
Counter : 13527 Pageviews.

 
 
 
 
ตามมาอ่านค่ะ แต่ยากเหมือนกันนะคะ
 
 

โดย: AM (AwithM ) วันที่: 12 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:10:49 น.  

 
 
 
แวะมาทักทาย ค๊า
 
 

โดย: ชญมน วันที่: 13 กันยายน 2552 เวลา:12:53:59 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ซาไปรส์
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]





Indy Style Indy

เว็บไซด์ขายเสื้อผ้าออนไลน์

สไตล์โบฮีเมียน, ยิปซี ฯลฯ
สำหรับสาวเซอร์ หรือสาวที่มี
เอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
สนใจแวะชมได้นะคะ

"เสื้อผ้าสไตล์โบฮีเมียน
ยิปซี อินเดีย ฯ
เสื้อผ้าแนว ๆ
คลิ๊กที่นี่
"



New Comments
[Add ซาไปรส์'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com