ความรู้เรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่
[ คัดลอกจากนิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540]


มะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์


--------------------------------------------------------------------------------

การดำรงชีวิตที่เลียนแบบชาวตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกัน มีผลทำให้คนไทยเจ็บป่วยด้วยรูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บที่คล้ายชาวอเมริกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเดี๋ยวนี้ โรคหัวใจขาดเลือดคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งเหมือนชาวอเมริกัน ตามมาด้วยอุบัติเหตุและมะเร็ง

ในบรรดามะเร็งทั้งหลายนั้น คนไทยจะรู้จักหรือเคยชินกับมะเร็งปอด, เต้านมหรือมดลูกมากกว่าเพื่อน ส่วนมะเร็งของลำไส้ใหญ่มักไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ทั้งๆ ที่ขณะนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ขยับขึ้นมาเป็นฆาตกรอันดับสอง ของมะเร็งทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา มีผลทำให้ชาวอเมริกัน ตายจากโรคนี้ปีละ 60,000 คน และอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ตลอดชั่วชีวิตได้เพิ่มจาก 1 ต่อ 25 เมื่อ 30 ปีก่อนมาเป็น 1 ต่อ 20 ในปัจจุบัน

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงพอควร แต่ก็เป็นมะเร็ง ที่รักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปี หลังการผ่าตัดมีถึง 60% และจะเพิ่มเป็น 80% ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัย มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้นจะวินิจฉัยให้เร็วขึ้นได้ อย่างไรยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงการแพทย์ เพราะแต่ละวิธีก็ดีๆ ทั้งนั้น เพียงแต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ กันออกไป

เมื่อเร็วๆ นี้นักการเมืองระดับผู้นำของชาติ ที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางที่ร่วมรัฐบาลผสมอยู่ คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณล้มป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่ และต้องรับการผ่าตัด ลำไส้ออกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งการแถลงข่าวปรากฏว่า เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งศัลยแพทย์สามารถตัดออกมาได้

"ใกล้หมอ" จึงเห็นว่าน่าจะนำเสนอเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจและรู้จักโรคนี้ยิ่งขึ้น จะได้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อคอยเฝ้าระวัง และป้องกันโรคนี้ไว้

ใครคือคนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่บ้าง ?

ประเด็นสำคัญคือ อุบัติการหรือโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเพิ่มขึ้นตามวัย คือปกติจะพบน้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี แต่โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันทีหลังอายุ 50 ปีแล้ว และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกถ้าหากมีปัจจัยเสริมดังต่อไปนี้ คือ
มีญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
มีญาติใกล้ชิดที่เป็นโรคเนื้องอกของลำไส้ใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า FAMILIAL POLYPOSIS
เป็นโรคลำไส้อักเสบ (INFAMMATORY BOWEL DISEAES)
รับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมัน แต่มีเส้นใยอาหารต่ำ
ตัวเองเคยเป็นเนื้องอกชนิด โพลิป (POLYP) ของลำไส้ใหญ่ เนื้องอกนี้ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่ถ้าทิ้งไว้ให้มันเจริญเติบโต บนผนังของลำไส้ใหญ่ไปนานๆ แล้วบางอันก็จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพลิปที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร จะมีโอกาสกลายได้มากกว่าที่มีขนาดเล็กกว่านั้น

เนื่องจากกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด ได้ในปัจจุบันนี้ยังขึ้นอยู่ที่การค้นพบหรือวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเริ่มเป็น เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น นักวิจัยทางการแพทย์จึงพยายามหาวิธีค้นหา มะเร็งลำไส้ใหญ่แบบง่ายๆ ไม่แพงมาก ซึ่งขณะนี้มีทั้งวิธีที่แพง และแม่นยำพอสมควรกับวิธีที่ถูกแต่แม่นยำน้อยหน่อย เกิดเป็นปัญหาว่าวิธีไหนจึงจะคุ้มค่าที่สุดในการตรวจคัด ประชากรกลุ่มใหญ่ๆ นับสิบๆ ล้านคน

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้วงการแพทย์ตกลงไม่ได้ในหลักการ ก็เพราะยังไม่แน่ใจว่า ถึงจะตรวจพบมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ แล้วรีบรักษาจะทำให้การตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงจริงหรือเปล่า จนกระทั่งงานวิจัยเมื่อปี 2535 ที่ตีพิมพ์ในวารสารแพทย์นิวอิงแลนด์ บ่งบอกว่า การเอากล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นระยะๆ จะช่วยลดการตายจากมะเร็งลำไส้ได้ 30%

อีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้เป็นหลักการทั่วไปได้ก็คือ ถ้าสมมติว่าท่านผู้อ่าน ไม่มีอาการอะไรเลยที่จะทำให้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะยังไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปตรวจพิเศษ จนกว่าจะมีอาการที่ทำให้สงสัย

อาการอะไรที่ทำให้นึกถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ?

เลือดออกทางทวารหนัก
อุปนิสัยการขับถ่ายปัสสาวะที่เปลี่ยนไป เช่น เคยท้องผูกกับ ถ่ายเหลวบ่อย ๆ เคยถ่ายปกติกลับท้องผูก อย่างนี้เป็นต้น
ปวดมวนท้องหรือปวดท้องบ่อย ๆ
โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

สิ่งสำคัญที่ผู้อ่านควรจำไว้คือว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจปรากฏขึ้นที่ผิวหนังลำไส้โดยไม่มีอาการแสดงอะไรเลย แต่ถ้าเป็นจนมีอาการดังกล่าวนี้อาจหมายความว่า ก้อนมะเร็งใหญ่มากแล้ว จึงขอให้รีบไปปรึกษาคุณหมอโดยเร็ว

เนื่องจากวงการแพทย์ต้องการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาให้หายขาดได้ พวกเขาจึงเสนอวิธีต่างๆ ให้เลือกตรวจคือ

1. ใช้นิ้วตรวจทวารหนัก (DIGITAL EXAMINATION)

คือการที่หมอสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วชี้ทาสารหล่อลื่นเพื่อสอดนิ้ว เข้าไปผ่านรูทวารหนักเพื่อตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักส่วนปลาย จัดเป็นวิธีที่ง่าย, สะดวก, ราคาถูกและไม่เจ็บ สามารถทำได้ ที่ห้องตรวจของหมอทั่วไป
เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมให้คุณหมอตรวจ หรือหลายคนปฏิเสธ ไม่ยินยอมให้หมอตรวจวิธีนี้แม้คุณหมอเห็นว่า น่าจะตรวจด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมไทยและเจตคติของคนไทย จึงมีส่วนทำให้การตรวจหามะเร็งล่าช้าลง

2. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ

ปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันไม่มีเลือดปนอยู่เลย แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วอาจทำให้เลือดออกซิบๆ จากเนื้อร้ายซึ่งเลือดแม้เพียงนิดเดียวเวลาปนเปื้อนมาในอุจจาระแล้ว เราสามารถตรวจพบได้โดยเอาอุจจาระมาให้คุณหมอตรวจ หรือในสหรัฐอเมริกาอาจมีอุปกรณ์การตรวจเพื่อให้ทำเองที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือดในอุจจาระในกลุ่มคนนับแสนนับล้านคน อาจได้ผลบวกเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ทำให้ดูเหมือนว่าไม่คุ้มค่า หรือราวกับขี้ช้างจับตั๊กแตน

ข้อดีของวิธีนี้คือ ทำง่าย, ราคาไม่แพง, ไม่เจ็บ
ข้อเสียคือ เนื้องอกโพลิปและมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวนมากอาจตรวจไม่พบด้วยวิธีนี้ หรือไม่ก็ให้ผลบวกลวงคือ บอกว่า มีเลือดแต่เลือดไม่ได้ออกจริงๆ

3. การส่องกล้องตรวจทวารหนัก

เนื่องจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ จะเป็นที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อเนื่องถึงทวารหนัก จึงอาจใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักแบบสั้นซึ่งมีความยาว 25 เซนติเมตร ส่องดูผนังทวารหนักซึ่งจะวินิจฉัย เนื้องอกโพลิปและมะเร็งขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไปได้ กว่า 95%

อันตรายจากการส่องกล้องคือ กล้องอาจมีโอกาสดันทะลุลำไส้ใหญ่ได้ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 ครั้ง
ข้อเสียข้องวิธีนี้คือ ต้องมีการชะล้างลำไส้ใหญ่อย่างดี โดยใช้ยาถ่ายหรือการสวนทวาร ขณะตรวจอาจอึดอัด แต่ก็ใช้เวลาน้อยกว่า 5 นาที และตรวจได้เพียง 25 เซนติเมตรของลำไส้ใหญ่
ข้อดี คือ มีความแม่นยำ สามารถวินิจฉัย และในหลายกรณีสามารถทำการผ่าตัดเนื้องอกหรือเนื้อร้ายออกได้เลย

ต่อมามีการประดิษฐ์กล้องส่องตรวจที่ยาวขึ้นและเป็นกล้องงอได้ (FLEXIBLE SIGMOIDOSCOPE) ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ทำให้สามารถส่องดูลำไส้ใหญ่ได้ยาวขึ้น แต่ยังมีข้อเสียคล้ายกล้องส่องที่สั้นกว่า คือยังดูได้ไม่ทั่วลำไส้ใหญ่ และมีอัตราการทะลุ 1: 5,000 กล้องที่ดูได้ทั่วลำไส้ใหญ่ จะมีขนาดยาวราว 1 เมตร ปรับงอได้มีอัตราการทะลุลำไส้ 1 : 500 มีข้อเสียคล้ายกล้องแบบส่องอื่นๆ และใช้เวลาตรวจนานกว่าคืออาจถึง 1 ชั่วโมง และบ่อยครั้งส่องดูไม่ถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นที่เรียกว่า "ซีกั้ม" (CECUM) ซึ่งมีอัตราการเกิดมะเร็ง 20% ของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด

4. การถ่ายภาพรังสีของลำไส้ใหญ่

การสวนแป้งแบเรียมเข้าไปฉาบลำไส้ใหญ่แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เรียกว่า "แบเรียม เอเนมา" (BARIUM ENEMA) ใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งถ้าหากรังสีแพทย์ให้เทคนิคสวนแป้งแบเรียมร่วมกับแก๊ส คือลมเข้าไปด้วยแล้วจะเรียกว่า DOUBLE CONTRAST BARIUM ENEMA โดยรังสีแพทย์บางท่านบอกว่า ทำให้ภาพที่เห็นช่วยการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น

โอกาสเกิดลำไส้ทะลุ จากการเอกซเรย์แบบนี้มี 1: 5,000 ครั้ง
ข้อเสียคือ การเตรียมตัวก่อนตรวจที่สร้างความอึดอัดเล็กน้อย เนื่องจากต้องเตรียมลำไส้ให้สะอาดโดยใช้การสวนและยาระบายควบคู่กัน ผู้รับการตรวจต้องสัมผัสรังสีและเมื่อตรวจพบเนื้องอก ก็ต้องส่องกล้องไปตรวจซ้ำเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจอีกที

ข้อดีคือ ตรวจดูลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด, แม่นยำพอสมควร, ราคาปานกลางและปลอดภัยมาก

สรุปการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการตรวจลำไส้ใหญ่
ประเทศ / การตรวจ สหรัฐอเมริกา (เหรียญสหรัฐ) ประเทศไทย เช่น
รพ.เปาโลเมโมเรียล (บาท)
1. ตรวจด้วยนิ้วมือ รวมอยู่ในการตรวจร่างกาย รวมอยู่ในการตรวจร่างกาย
2. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ
(FECAL CCCULT BLOOD TEST) 20-40 140
3. ส่องกล้องตรวจแบบ
SIGMOIDOSCOPY 80-120 4,500
4. FLEXIBLE SIGMOIDOSCOPY 160-200 4,500
5. COLONOSCOPY 700-900 4,500
6. BARIUM ENEMA 180-240 1,800



ทำอย่างไรดีที่สุด ?

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจปรากฏเป็นเนื้องอกอยู่ที่ผนังลำไส้โดยไม่มีอาการอยู่เป็นหลายๆ ปี แต่ถ้าโชคดีเกิดตรวจพบได้แต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้รักษาหายขาดได้

ดังนั้นในกรณีที่ท่านผู้อ่านมีอายุเกิน 50 ปี แล้ว การตรวจร่างกายประจำปีเป็นระยะๆ เช่นตรวด้วยกล้องส่องทวารหนัก และสวนแป้งแบเรียมเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ ทุกๆ 3-5 ปี จะตรวจคัดเพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากท่านเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นองค์ประกอบเสริม ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ยิ่งถ้าสมาชิกในครอบครัวของท่าน คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ด้วยแล้ว บางทีท่านจะต้องยอมรับสภาพ แล้วไปรับการตรวจดังกล่าวบ่อยขึ้น เช่น ทุกปีเป็นต้น

แนวทางป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

การป้องกันหรือการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือ การไม่สูบบุหรี่

แต่ถ้าต้องการป้องกันหรือลดโอกาส เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ล่ะจะทำอย่างไร ?
คำตอบในขณะนี้อาจยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีหลักฐานชี้แนะว่า การบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำมีเส้นใยมากๆ จะช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

การวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า ผู้ชายที่รับประทานเส้นใยอาหาร (FIBER) มากๆ และไขมันน้อยๆ จะมีโอกาสเกิดเนื้องอกโพลิปน้อยลงอีกต่างหาก ซึ่งก็เป็นการป้องกัน มะเร็งไปในตัวเนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจกลายมาจากโพลิป

สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้เรารับประทาน อาหารที่มีเส้นใยอาหารอย่างน้อยวันละ 20-30 กรัมหรือราว 2 เท่าของที่กินกันอยู่ตามปกติ

วิธีที่ฝรั่งจะทำได้ก็โดยการบริโภคขนมปัง, ข้าวกล้อง, เติมใยอาหาร (BRAN) ลงไปในอาหารที่กำลังปรุงเอง ใช้ผักตระกูลถั่วประกอบอาหารให้มากขึ้น
สำหรับคนไทยก็อาจเลียนแบบโดยใช้ข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ มีผักผลไม้ในอาหารแต่ละมื้อมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าการรับประทานไขมันลดลง และใยอาหารเพิ่มขึ้นอาจไม่ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างแท้จริง 100% แต่อาหารดังกล่าวก็ต้องด้วยสุขอนามัย สามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และถ้าผสมผสานกับการตรวจหามะเร็งด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ก็จะช่วยให้ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เนิ่นขึ้น

ท่านที่ติดตามข่าวการแพทย์อาจเคยอ่านเจอว่า ยาแอสไพรินป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ แต่ท่านทราบไหมครับว่า แอสไพรินอาจป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วย ดังรายงาน จากวารสารแพทย์นิวอิงแลนด์ปี 2534 ที่พบว่าคน 600,000 คน ที่รับประทานแอสไพรินเป็นประจำจะมีอัตราตาย จากมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง ซึ่งแม้จะยังไม่พบกลไกลแท้จริงว่า แอสไพรินลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเปล่า แต่ก็ทำให้สบายใจขึ้นอีกหน่อย

มองไปในอนาคต ขณะนี้นักวิจัยค้นพบหน่วยพันธุกรรม (GENE) ซึ่งเป็นสาเหตุของเนื้องอกโพลิปที่เป็นกันทั้งครอบครัว (FAMILIAL POLYPOSIS) แล้วต่อไปจะวิจัยหาหน่วยพันธุกรรม ที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อไป และหวังว่าใน 5-10 ปี ข้างหน้าจะสามารถพัฒนาวิธีการตรวจเลือดอย่างง่ายๆ และราคาถูกเพื่อจะบอกว่าผู้ใดมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูง ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ท่านผู้อ่าน ลองพิจารณาดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูงมากน้อยเพียงใด แล้วตัดสินใจไปให้คุณหมอตรวจเป็นระยะๆ ทุก ๆ 1-3 ปี ส่วนท่านที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็อาจเก็บเงินไว้ก่อนได้


นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์


--------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณนิตยสารใกล้หมอ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2549 8:28:45 น.
Counter : 1699 Pageviews.

2 comments
  
พี่สาวของแฟนพึ่งเสียชีวิตเมื่ออาทิตย์ที่แล้วด้วยโรคมะเร็ง
โดย: somnumberone วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:9:03:52 น.
  
ขอบคุณมากๆสำหรับข้อมูลค่ะ

เพราะว่าศึกษาเรื่องนี้อยู่ค่ะ เพราะตัวเองมีปัญหาทางลำไส้บ่อยค่ะ..

กลัวจัง..

โดย: zaesun วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:0:22:58 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sopheamai
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



พฤศจิกายน 2549

 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30