Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
19 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

สุริยุปราคาพาดผ่านประเทศไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2553 - 2453 มีสุริยุปราคาที่แนวคราสพาดผ่านส่วนหนึ่งของประเทศไทย ทั้งหมด 9 ครั้ง เป็นชนิดเต็มดวงเพียง 3 ครั้งเท่านั้น อีก 6 ครั้งเป็นแบบวงแหวนหมด ผมนำเรื่องนี้มาลงให้ทราบเพื่อหลายๆท่านจะได้ทบทวนอดีตดู ว่าที่คุณเคยเห็นครั้งนั้นคือปีอะไร แต่หากอายุไม่ถึงก็ลองถามกับคนที่มีอายุมากกว่าดูนะครับ ยิ่งถ้าสมัยนั้นมีพื้นที่อยู่ในแนวที่คราสผ่านด้วยก็ยิ่งดี โดยผมจะเรียงลำดับจากครั้งล่าสุดลงไปหาอดีตดังนี้ (ข้อมูลจาก ดร.ขาว เหมือนวงศ์)
1. ชนิดเต็มดวง 24 ตุลาคม 2538
2. ชนิดวงแหวน 23 พฤศจิกายน 2508
3. ชนิดวงแหวน 19 เมษายน 2501
4. ชนิดวงแหวน 14 ธันวาคม 2498
5. ชนิดเต็มดวง 20 มิถุนายน 2498
6. ชนิดวงแหวน 9 พฤษภาคม 2491
7. ชนิดวงแหวน 20 กรกฎาคม 2487
8. ชนิดวงแหวน 21 สิงหาคม 2476
9. ชนิดเต็มดวง 9 พฤษภาคม 2472

อะไรกันนี่ ในอดีตเพียงไม่กี่ปีก็มีคราสผ่านมาทีนึงแล้ว หรือห่างกันอย่างมากก็แค่ 11 ปีเท่านั้น (ครั้งที่ 7 กับครั้งที่ 8) แถมปี 2498 นี่เกิดห่างกันแค่ 6 เดือนเท่านั้นเอง
แต่พอมายุคผม เว้นห่างมาถึง 30 ปี (ครั้งที่ 1 ถึง 2) และจะมีผ่านประเทศไทยอีกครั้งเป็นชนิดวงแหวน ก็ปี 2574 โน่น เว้นห่างตั้ง 36 ปี นี่มันอะไรกันนี่ มันไม่เฉลี่ยเลยอ่ะ

สำหรับบทความนี้ ท่านจะไม่ได้รู้แค่วันที่เคยเกิดสุริยุปราคาอย่างเดียว แต่ผมจะแถมข้อมูลระยะห่างดวงจันทร์และระยะห่างดวงอาทิตย์มาให้ได้ทราบกันด้วยครับ




24 ตุลาคม 2538
สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งล่าสุดของไทย

สุริยุปราคาครั้งล่าสุดนี้ หลายๆคนก็คงจะเกิดทันนะครับ แม้บางคนเกิดทันแต่ไม่ได้เดินทางไปดูก็คงมีมากมาย ตอนนั้นญาติที่กรุงเทพบอกว่าเหลืออีกนิดเดียวมันจะเต็ม ก็ไม่รู้นิดแค่ไหน สงสัยนิดแค่นี้ครับ



ครั้งนั้นทำให้ ดร.ขาว เหมือนวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นดังเลยหละครับ เพราะเป็นคนไทยผู้ประกาศการคำนวณในครั้งนี้ โดยก่อนนั้นผมเคยได้ไปทัศนศึกษาที่ ม.ขอนแก่น และได้มีโอกาสเข้าฟังบรรยายเรื่องนี้ โดยเค้า(ไม่รู้รวม ดร.ขาว หรือเปล่า) บอกว่าทางคณะจะไปสังเกตการณ์บนเขายายเที่ยงครับ ไม่รู้ว่าตอนนั้น พล.อ................ได้เปิดบ้านต้อนรับหรือเปล่า
ส่วนบ้านผมก็อยู่ในแนวทางผ่านของคราสมืดเช่นกัน แต่ไม่อยู่กึ่งกลางแนวคราส วันนั้นผมเลือกที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่คิดว่าเส้นกึ่งกลางของคราสพาดผ่าน นั่นก็คือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือชื่อย่อว่า “นิด้า” ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรที่นั่น รายละเอียดดูที่นี่ //thaiastro.nectec.or.th/royal/princess.html

พูดกันตามความรู้สึกผมขณะนั้นนะ ช่วงที่กินจนเต็มดวงตลอด 1 นาที 52 วินาทีนั้นหนะ ผมว่าผมรู้สึกเฉยๆนะ เพราะเหมือนรู้สึกว่าตัวเองก็แค่มายืนตรงมุมที่มันจะบัง ในเวลาที่มันจะบัง มันก็เลยบังแค่นั้น โดยมันก็โคจรไปของมันเฉยๆ แถมผิดหวังนิดๆที่มันไม่มืดเหมือนกลางคืนอย่างที่เคยหวังเอาไว้ คงลำบากใจที่จะไปบอกเรื่องนี้กับคนรุ่นต่อๆไป และโคโรน่าก็แผ่ยาวออกไปทั้งสองฟากของดวงอาทิตย์ เคยคิดว่าจะแผ่แบบไข่ดาวซะอีก ในช่วงเวลาเต็มดวงนั้นผมเลยออกจะเฉยๆ ในขณะที่แถวๆถนนเค้าจุดพลุกันตูมตามตลอดเวลาการเต็มดวงนั้น (จุดเล่นทั้งๆที่รู้ว่าไม่ใช่ราหู)
แต่สิ่งเดียวที่ผมประทับใจในสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนั้นก็คือ “ปรากฎการณ์แหวนเพชร” ครับ โดยตอนก่อนจะคายจะเห็นโคโรน่าฝั่งนั้นสว่างขึ้นมาก่อน ตามด้วยปรากฎการณ์ลูกปัดเบลลี่ (เกิดจากแสงอาทิตย์ลอดผ่านภูเขาและหลุมบ่อบนดวงจันทร์) แล้วจึงค่อยๆแย้มออกด้วยผิวอันเจิดจ้าของดวงอาทิตย์ ภาพที่เห็นนั้นคือเส้นรุ้งเจิดจรัสแผ่รัศมีกระจายออกเป็นเส้นๆสีรุ้ง เหมือนหัวแหวนเพชรเปล่งประกาย โดยโคโรน่าที่ยังอยู่เหมือนตัววงแหวน มันคือแหวนเพชรที่ลอยอยู่บนฟ้า มันประทับใจผมมาก มันตรึงตราผมไม่รู้เลือน ผมหลงปรบมือแสดงความปลื้มปิติโดยอัตโนมัติ พร้อมๆกับเสียงปรบมือของอีกหลายพันชีวิตที่ร่วมชมอยู่ในขณะนั้นด้วย



สิ้นปรากฎการณ์แหวนเพชร ทุกคนก็เดินทางกลับกันครับ ไม่มีใครอยู่ดูถึงตอนคลายหมดดวง และนั่นนำมาซึ่งรถติดอันมหาศาลครับ - -! จำได้ว่าผมนั่งกระบะหลังใส่หมวดแบบจักรสาน นั่งดูแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านแต่ละรูจักรสานซึ่งเป็นเสี้ยวเว้าแหว่งคายไปเรื่อยๆครับ
วันนั้นดวงจันทร์ห่าง 364,201 กิโลเมตร ส่วนดวงอาทิตย์ห่าง 148,810,498 กิโลเมตร ครับ

ระดับการกินลึกทั่วประเทศ //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEgoogle/SEgoogle1951/SE1995Oct24Tgoogle.html



ตอนนั้นเกรงๆกันว่า จะเกิดอะไรไม่ดีขึ้นกับบริเวณที่สุริยุปราคาพาดผ่านหรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีอะไร แต่สุริยุปราคาในครั้งนั้น ดันมาส่งผลในอีกสิบกว่าปีถัดมา นั่นเพราะแนวคราสครั้งนั้นสามารถแบ่งเสื้อสีของคนไทยได้ - -!

เส้นทางแนวคราสผ่านแต่ละจังหวัด



ตำแหน่งบ้านผม (แล้วจาบอกให้เค้ารู้ทามมายเนียะ)






23 พฤศจิกายน 2508
สุริยุปราคาวงแหวน

ชนิดวงแหวน เกิดขึ้นเพราะดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลก จึงทำให้ดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ เมื่อเข้าบังหมดดวงจึงบังได้ไม่มิดนั่นเอง โดยปกติแล้วดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกแปรเปลี่ยนโดยตลอด ทั้งใกล้และไกลมีความแตกต่างกันถึง 12% ส่วนระยะห่างดวงอาทิตย์ก็แปรเปลี่ยนเช่นกัน แต่เพียง 3% เท่านั้น
สุริยุปราคาวงแหวน เหมือนเค้าจะไม่ค่อยประโคมข่าวเท่าแบบเต็มดวงนัก คงเพราะไม่น่าสนใจเท่าแบบเต็มดวง เพราะต้องได้ใช้แว่นส่องดูตลอดปรากฎการณ์
ระยะห่างดวงจันทร์คือ 382,984 กิโลเมตร ระยะห่างดวงอาทิตย์คือ 147,712,695 กิโลเมตร (ค่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่)



เส้นทางสุริยุปราคาวงแหวน //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearch/SEsearchmap.php?Ecl=19651123



ระดับการกินลึกทั่วประเทศ



เอ๊ะ ในเมื่อดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ไม่มิดดวง แล้วทำไมถึงมีแนวคราสถึงกว้างใหญ่บานเบอะอย่างงั้นหละ
คำตอบคือ นั่นคือพื้นที่ใน “กรวยเงามืดส่วนขยาย” ครับ กล่าวคือ ใครอยู่ในพื้นที่นั้นจะได้เห็นดวงจันทร์เข้าในดวงอาทิตย์ทั้งดวงครับ แต่ก็ไม่มิดอยู่ดี





19 เมษายน 2501
สุริยุปราคาวงแหวน

สุริยุปราคานี้เกิดก่อนผมเกิด 22 ปีพอดีเป๊ะ แนวคราสยังพาดผ่านกรุงเทพฯ ซะด้วย
ด้วยระยะห่างดวงจันทร์คือ 400,019 กิโลเมตร และดวงอาทิตย์ห่าง 150,260,185 กิโลเมตร



เส้นทางคราส //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearch/SEsearchmap.php?Ecl=19580419



ก่อนที่จะเกิดสุริยุปราคาปี 2538 ยายเคยบอกว่าตั้งแต่ย้ายมาอยู่ปากช่อง(จันทึก) ก็เคยเห็นไปแล้วครั้งนึง ผมมาสงสัยว่ายายเค้าหมายถึงปีไหน เพราะตามประวัติยายผมอุ้มท้องแม่ผมย้ายมาจากจังหวัดสุรินทร์ โดยแม่ผมเกิดปี 2502 ผมจึงสงสัยว่ายายจะเห็นเมื่อปี 2508 ซึ่งเป็นชนิดบางส่วน แต่คิดไปคิดมา อุ้มท้องนาน 9 เดือน บางทียายอาจจะหมายถึงปี 2501 ที่กำลังกล่าวถึงนี้ก็ได้ เพราะปากช่องก็ผ่านขอบวงแหวนในครั้งนี้ด้วย แต่ไม่ว่าปีไหนก็เป็นชนิดวงแหวนแน่นอนครับ เอๆๆ หรือว่ายายจะบอกว่าเคยเห็นถึง 2 ครั้งตั้งแต่ย้ายมาผมก็ไม่แน่ใจ
ผมไม่เคยอยู่ใต้เงาสุริยุปราคาวงแหวนมาก่อน แต่เดาว่าบรรยากาศก็คงไม่ต่างจากตอนเกือบเต็มดวงปี 2538 คือสีของแดดจะเป็นสีส้มๆลง พี่สาวบอกว่าเหมือนแดดผีตากผ้าอ้อม สีของความมืดต่างกับตอนครึ้มฟ้าครึ้มฝน
ยายผมเองก็ออกจะมีความคิดโบราณนิดนึงกับเรื่องทำนองนี้ ตามประวัติยายผมไม่มีปัญหากับสุริยุปราคาครับ แต่มามีปัญหากับจันทรุปราครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันที่พ่อกับแม่ผมหมั้นกัน ยายท่านให้ถอนหมั้นนนนนนนนน แล้วค่อยมาหมั้นกันใหม่วันหลังครับ -*-

อ่าวนอกเรื่องซะยาว มาดูภาพระดับการกินลึกทั่วประเทศครับ






14 ธันวาคม 2498
สุริยุปราคาวงแหวน

แนวคราสผ่านกรุงเทพอีกแล้ว ด้วยระยะห่างดวงจันทร์ 403,407 กิโลเมตร ดวงอาทิตย์ห่าง 147,252,724 กิโลเมตร



เส้นทางคราส //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearch/SEsearchmap.php?Ecl=19551214



ระดับการกินลึกทั่วประเทศ






20 มิถุนายน 2498
สุริยุปราคาเต็มดวง

แนวคราสผ่านกรุงเทพเป็นครั้งที่ 3 แล้ว บังเอิญอะไรอย่างงี้ นับเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่นานที่สุดในคริสต์สหัสวรรษที่ 2 ครั้งนั้นสมเด็จพระราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จทอดพระเนตรอาทิตย์ดับที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา //thaiastro.nectec.or.th/royal/rama9.html
ดวงจันทร์ห่าง 352,526 กิโลเมตร (ขนาดปรากฎ 33’ 53.1”) ดวงอาทิตย์ห่าง 152,020,517 กิโลเมตร (ขนาดปรากฎ 31’ 28.7”)

แนวคราส //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearch/SEsearchmap.php?Ecl=19550620 (คลิ๊กเพื่อชมภาพขนาดจริง)



สมัยนั้นพ่อของผมยังอยู่กรุงเทพ ท่านเล่าว่าฝูงนกร้องกันเจี้ยวจ้าวเลย เหมือนจะกลับรัง แนวคราสเต็มดวงใหญ่มากเมื่อเทียบกับปี 38 ซึ่งไม่เพียงแต่จะมืดกว่าแล้ว ยังเต็มดวงนานกว่าด้วยครับ ประมาณ 6 นาที
ตอนนี้ได้ทราบแล้วว่า ต่อให้ท่านย้ายมาปากช่องเร็วกว่านั้น ก็จะได้ชมปรากฎการณ์ครั้งนี้เหมือนกัน และตา-ยายผมที่สุรินทร์ก็คงได้ชมกันด้วย (แต่ท่านไม่เคยเล่า)

ระดับการกินลึกทั่วประเทศ






9 พฤษภาคม 2491
สุริยุปราคาวงแหวน

ระยะห่างดวงจันทร์คือ 379,600 กิโลเมตร ระยะห่างดวงอาทิตย์คือ 151,055,747 กิโลเมตร



วงแหวนอันบางเฉียบนี้ ไม่น่าเชื่อครับ แนวคราสเส้นนิดเดียวนี้ผ่านกรุงเทพอีกแล้ว รอบที่ 4 แล้ว บังเอิญสุดๆ //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEgoogle/SEgoogle1901/SE1948May09Agoogle.html



แนวคราสวงแหวนยิ่งเส้นเล็กมากเท่าไร ก็ยิ่งมืดเท่านั้น
ครับ ได้ยินไม่ผิดครับ สุริยุปราคาวงแหวนหากแนวคราสยิ่งกว้าง ก็ยิ่งสว่าง เพราะยิ่งเห็นขอบวงแหวนมากขึ้น ส่วนแบบเต็มดวงแนวคราสยิ่งกว้างเท่าไหร่ก็ยิ่งมืดเท่านั้นครับ

ระดับการกินลึกทั่วประเทศในครั้งนี้






20 กรกฎาคม 2487
สุริยุปราคาวงแหวน

ดวงจันทร์ห่าง 391,177 กิโลเมตร ดวงอาทิตย์ห่าง 152,005,952 กิโลเมตร



สุริยุปราคาวงแหวนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ มีเส้นทางดังนี้ //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEgoogle/SEgoogle1901/SE1944Jul20Agoogle.html



ระดับการกินลึกทั่วประเทศ






21 สิงหาคม 2476
สุริยุปราคาวงแหวน

สุริยุปราคาครั้งแรก แห่งยุคการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย์ครับ ดวงจันทร์ห่าง 385,247 กิโลเมตร ดวงอาทิตย์ห่าง 151,311,897 กิโลเมตร



แนวคราส //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEsearch/SEsearchmap.php?Ecl=19330821






9 พฤษภาคม 2472
สุริยุปราคาเต็มดวง

คราสเต็มดวงแห่งสยามครั้งสุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดวงจันทร์ห่าง 357,074 ขนาดปรากฏ 33’ 27.2” ดวงอาทิตย์ห่าง 151,054,164 กิโลเมตร ขนาดปรากฏ 31’ 40.8”
เป็นสุริยุปราคาครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี //thaiastro.nectec.or.th/royal/rama7.html



งานนี้รู้สึกว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการศึกษาดวงอาทิตย์ผ่านสุริยุปราคา เพราะหลังจากนั้นก็มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถศึกษาดวงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องพึ่งสุริยุปราคาอีกต่อไปแล้วครับ แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็ยังนิยมที่จะเดินทางไปศึกษาดวงอาทิตย์ผ่านสุริยุปราคาอยู่ (คงเพราะอยากไปดูความสวยงามด้วยมั้ง)

แนวคราสเต็มดวง //eclipse.gsfc.nasa.gov/SEgoogle/SEgoogle1901/SE1929May09Tgoogle.html



แต่แปลกจัง ทำไมนักดาราศาสตร์ต่างชาติไม่เลือกที่จะไปดูบนแผ่นดินที่ใกล้ๆกับจุด GE ให้มากกว่านี้ เพราะยิ่งใกล้เท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นเต็มดวงนานกว่า คงจะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและการอนุญาตจากเจ้าของแผ่นดินในสมัยนั้นด้วยมังครับ
เผลอๆดูบนเรือ ณ จุด GE เลยดีกว่านะ จะได้ไม่ต้องขนอุปกรณ์ขึ้นบกให้ยาก




 

Create Date : 19 กันยายน 2553
1 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2553 10:30:08 น.
Counter : 3161 Pageviews.

 

 

โดย: หน่อยอิง 19 กันยายน 2553 14:21:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมภพ เจ้าเก่า
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




รูปภาพทั้งหมดในนี้ สามารถนำไปใช้ได้ฟรีนะครับ แต่ไม่ควรลบสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของในรูปออกไป รูปใดไม่มีสัญลักษณ์ อยากให้ช่วยอ้างอิง จาก sompop.bloggang.com ด้วยครับ
Blog ล่าสุด
* สัมภาษณ์เทวดาในพระแก้วมรกต 18 มิ.ย. 60
* การสำรวจหินลอยได้ที่เขาคิชฌกูฏ 3 มี.ค. 60
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมือง กทม. 16 ธ.ค. 59
เรื่องเล่าบอกต่อ
* บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากโดรนมุมสูง
* เชิญโหลด 7 ภาพยนต์เฉลิมพระเกียรติ
* เช็คอันดับ Blog ของคุณกับ truehits
Blog แนะนำ
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ 19 ก.ย. 57
* ยานพาหนะที่แล่นตามและทวนน้ำได้โดยไม่ใช้พลังงานอื่น
* ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2012
New Comments
Friends' blogs
[Add สมภพ เจ้าเก่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.