Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 

เชิญชมปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสมัย ร.4 ครับ

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 ก็เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เหตุเพราะทรงพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ โดยทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงวันที่ 18 สิงหาคม 2411 กินหมดดวงที่หว้ากอ ได้อย่างแม่นยำ เหตุนี้จึงได้กำหนดเอาวันที่ 18 สิงหาคม นั้นเองเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของทุกปี

สำหรับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้ ก็เข้าสู่ปีที่ 28 นับแต่กำหนดมาแล้ว หรือเป็นปีที่ 142 นับจากสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งประวัติศาสตร์ กระผมขอเทอดพระเกียรติพระองค์ท่าน ด้วยการพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปชมปรากฎการณ์ในสมัยนั้น ผ่านโปรแกรมดูดาว stellarium ไม่เพียงแต่สุริยุปราคาเต็มดวงนะครับ แต่จะพาไปชมปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์อะไรๆ ที่มีขึ้นในตลอดรัชสมัยของพระองค์เลยหละครับ เพราะตามตรรกะแล้ว ตลอดรัชกาลจะต้องมีสุริยุปราคามากกว่าหนึ่งครั้งแน่ อย่างน้อยๆต้องเป็นชนิดบางส่วน เพราะเท่าที่ทราบคร่าวๆตอนนี้จะมีหลักฐานจากประกาศหลายฉบับแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาการคำนวณเพื่อพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ไม่ได้คำนวณได้รวดเร็วอย่างในปัจจุบัน แล้วเราจะมาใช้โปรแกรมนี้ตรวจสอบย้อนกันดูครับ

ถ้าถามว่า โปรแกรมนี้มีความน่าเชื่อถือหรือมีความถูกต้องแม่นยำแค่ไหน ก็ตอบคร่าวๆว่าไม่ 100% นะครับ จากการตรวจเช็คกับที่นักดาราศาสตร์ระดับบิ๊กเค้าคำนวณเอาไว้ อะไรที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ จะคลาดเคลื่อนไปเป็นนาทีเลยครับ ทั้งนี้ผมได้เมล์ไปถามนักดาราศาสตร์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้รับคำตอบกลับมาดังนี้



สวัสดีครับ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคำนวณปรากฏการณ์ โดยหลักมี 2 อย่างครับ
1. ตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ - ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์
2. เวลา - โลกหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วไม่คงที่
ในกรณีของโปรแกรม Stellarium ตำแหน่งดวงจันทร์คลาดเคลื่อนอยู่เล็กน้อยครับ ส่วนเรื่องเวลาก็ไม่ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย ทำให้ผลจากโปรแกรมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้หลายนาที
โปรแกรมดาราศาสตร์ที่มีความแม่นยำสูงกว่านี้ แนะนำ WinOccult 4 ครับ ดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี //www.lunar-occultations.com/iota/occult4.htm แต่เป็นโปรแกรมคนละชนิดกับ Stellarium คือไม่ได้จำลองท้องฟ้า เน้นผลออกมาเป็นตัวเลขครับ

วรเชษฐ์ บุญปลอด



ก็เลยต้องเผื่อใจนิดหน่อยสำหรับข้อมูลในบทความนี้นะครับ ถือเสียว่าชมเพื่อความบังเทิงคู่กับข้อเท็จจริง เหมือนการชมภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั่นหละครับ
แต่ความถูกต้องแม่นยำก็ยังมีสูงอยู่นะครับ คือมีหลักการในตัวเอง หาได้นั่งนึกเอาตามจินตนาการตัวเองไม่


ภายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) เสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน 2394 พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎได้ลาสิกขาบทขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ 6 เมษายน 2394 และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 15 พฤษภาคม 2394




การใช้โปรแกรมนี้ ก่อนอื่นต้องหาจุดสังเกตุก่อน เนื่องจากเมืองไทยนี้ก็กว้างขวางนัก ในที่นี้ผมขอยึดตำแหน่งที่กรุงเทพฯ โดยเอาพิกัดที่เสาหลักเมืองเลยนะครับ (N 13° 45' 7.20", E 100° 29' 38.40") ตรงบอลลูนสีส้มนะครับ ดังนั้นอุปราคาครั้งไหนที่เห็นในต่างภูมิภาคแต่ไม่เห็นในกรุงเทพฯ คงต้องขอข้ามไปนะครับ




ปรากฎการณ์แรก 24 ธันวาคม 2394 เป็นปรากฎการณ์ดวงจันทร์บังดาวพุธครับ แต่เกิดขึ้นตอนกลางวัน ขนาดปรากฎดาวพุธ 7.4 ฟิลิปดา สำหรับปรากฎการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ตอนกลางวัน ผมคงไม่ขอลงภาพประกอบนะครับ เพราะคงไม่มีใครมองเห็นหนะ - -!



ปรากฎการณ์ต่อมาก็คือ จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นวันที่ 1 กรกฎาคม 2395 ครับ เต็มดวงนานประมาณ 1 ชั่วโมง 31 นาที
และตามพระราชประเพณีของไทยที่ประฏิบัติกันมาแต่โบราณนั้น เมื่อเกิดจันทรุปราคาขึ้น พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าที่สรงเป็นประจำ โดยโหรจะต้องกราบทูลให้ทรงทราบทุกครั้ง โหรประจำราชสำนักดูจะมีหน้าที่ถวายฤกษ์ หรือประกอบพิธีทางโหราศาสตร์ เช่นบูชาเทวดานพเคราะห์ และคอยตรวจดูจันทรุปราคา


เรื่องนี้ยังมีปรากฎในประวัติศาสตร์ เพราะจันทรุปราคา 1 กรกฎาคม 2395 นี้ ยังส่งผลให้สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี (ปฐมบรมราชอัครมเหสีในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔) ทรงหายประชวรไปได้อีกราว 40 วันครับ แต่ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม 2395 ด้วยพระชันษาเพียง 18 ปีครับ





11 ธันวาคม 2395 เกิดสุริยุปราคาบางส่วนครั้งแรกในสมัยของพระองค์ ทางภาคเหนือจะเห็นกินลึกมากกว่านี้นิดหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับหมดดวงครับ





26 ธันวาคม 2395 มีจันทรุปราคาบางส่วน





7 มกราคม 2396 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีตอนกลางวัน ขนาดปรากฎ 32.2 ฟิลิปดา



4 พฤศจิกายน 2396 เกิดปรากฎการณ์พระจันทร์ยิ้มขึ้น แต่น่าเสียดายเกิดตอนกลางวัน - -! ครั้นจะรอให้ดวงอาทิตย์ตกดินก่อน พระจันทร์ยิ้มก็มีสภาพบูดเบี้ยวไปแล้ว





12 พฤษภาคม 2397 จันทรุปราคาบางส่วน





5 พฤศจิกายน 2397 เกิดจันทรุปราคาบางส่วน กินนิดนึงทางขวา (ก็ยังอุตส่าห์เอามาลง)





14 ตุลาคม 2399 จันทรุปราคาบางส่วน แต่ก็เกือบเต็มดวง ตอนเช้ามืด





18 กันยายน 2400 เกิดสุริยุปราคาขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เป็นสุริยุปราคาวงแหวน แต่ในกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน กินลึกขนาดนี้ท้องฟ้าคงมืดมัวลงไปมาก คาดว่าชาวสยามตอนนั้นคงตื่นเต้นกันไม่น้อย ความมืดในคราวนี้ เป็นรองจากครั้งที่พระองค์คำนวนไว้ (18 ส.ค. 2411)
แถมแนวคราสวงแหวนนี้ ยังผ่านในเขตประเทศไทยด้วย และไม่น่าเชื่อ ที่แห่งนั้นก็คือหว้ากอ (N 11° 43' 4.80", E 99° 45' 25.20") ประจวบคีรีขันธ์นั่นเอง ช่างบังเอิญเสียจริง แถมยังเกิดวันที่ 18 เหมือนกันอีก และเกิดในเวลาดวงอาทิตย์ใกล้จุดเหนือศีรษะเหมือนกันอีก ใครจะรู้บ้างว่าที่แห่งนี้ในอีก 11 ปีจะมีสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งยิ่งใหญ่แห่งสยามประเทศให้ได้เห็น
ว้าๆๆ ดันพาไปเที่ยวหว้ากอก่อนกำหนด 11 ปีซะแล้ว เสียสเตปเลย 555


เส้นทางสุริยุปราคาวงแหวน 18 กันยายน 2400 ตั้งชันมากซะจริงๆ





28 กุมภาพันธ์ 2401 จันทรุปราคาบางส่วน ตอนเช้ามืด





24 สิงหาคม 2401 จันทรุปราคาบางส่วน





19 กันยายน 2401 (หรืออาจเป็น 19 ตุลาคม 2401)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออก “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเมีย สมฤทธิศก (พ.ศ. 2401) ว่าดาวหางเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เห็นได้ทั่วโลก ดังบางส่วนของประกาศฉบับนี้ “...เป็นของสัญจรไปนานหลายปีแล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศข้างนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกันแลคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะได้เห็นในพระนครนี้แลเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ ย่อมได้เห็นทั่วบ้านทั่วเมือง ทั่วพิภพอย่างได้เห็นนี้แล...”
วันที่ 28 ส.ค. เห็นดาวหางโดนาตีด้วยตาเปล่า วันที่ 17 ก.ย. มันสว่างขึ้นหางฝุ่นบิดโค้งและยาวขึ้นเรื่อยๆ จนยาวถึง 25 องศา ช่วงวันที่ 22 ก.ย.-8 ต.ค. มีรายงานว่าสามารถสังเกตเห็นนิวเคลียสของดาวหางได้ในเวลากลางวันด้วยกล้องโทรทรรศน์ ดาวหางโดนาตีผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 30 ก.ย. ห่าง 0.58 หน่วยดาราศาสตร์ (87 ล้านกม.) หางแก๊สยืดยาวอย่างรวดเร็วจนยาวถึง 40 องศา มีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงาม บางคนกล่าวไว้ว่าเป็นดาวหางที่สวยที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19


คลิ๊กชมภาพขนาดจริง

ในวันที่ 6 ต.ค. ส่วนหางฝุ่นก็ยาวถึง 43 องศา ในวันที่ 11 ต.ค. ครึ่งหลังของเดือน ดาวหางโดนาตีจางลงพร้อมกับเคลื่อนลงใต้ เห็นด้วยตาเปล่าครั้งสุดท้ายในเดือน พ.ย.
ดาวหางโดนาตี (C/1858 L1) ค้นพบโดย โจวันนี บัตติสตา โดนาตี (Giovanni Battista Donati) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ค.ศ. 1858



17 กุมภาพันธ์ 2402 จันทรุปราคาเต็มดวง โดยตอนพระจันทร์โผล่ขึ้นมาก็เต็มดวงแล้ว แถมกำลังอยู่ในช่วงเวลาขาออกด้วย จึงทำให้เห็นการเต็มดวงได้ต่อไปอีกเพียงประมาณ 3 นาทีเท่านั้น แต่เนื่องจากดวงอาทิตย์เพิ่งจะตกดิน ทำให้เห็นปรากฎการณ์ได้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร วันนั้นตรงกับวันมาฆบูชา และวันนี้ได้มีบันทึกเอาไว้ ดังนี้
ในวันพฤหัสเดือนสามขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิ์ศก มีบันทึกในราชกิจจานุเบกษาว่า “ในวันเกิดจันทรุปราคานั้น แต่ก่อนราษฏรบางคนที่มีปืนดาบสิลาก็ออกมายิงเล่นในเวลาที่เห็นอุปราคา ถ้าใครจะเล่นดังนั้นก็ไม่ห้ามดอก แต่ให้มาบอกนายอำเภอให้ทราบแห่งไว้ แต่อย่าไปเที่ยวยิงให้ผิดที่ผิดทางไป”





13 สิงหาคม 2402 ในปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีจันทรุปราคาเต็มดวงให้เห็นอีกครั้ง คราวนี้จุดกึ่งกลางเงาโลกแทบจะผ่านจุดกึ่งกลางดวงจันทร์เลย ดวงจันทร์จึงมืดมากๆ และทำให้เห็นเต็มดวงนานประมาณ 1 ชั่วโมง 44 นาที นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในรัชสมัย
เรื่องนี้มีปรากฎในประวัติศาสตร์ดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒ พระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองนครศรีธรรมราช โดยได้เสด็จไปนมัสการพระมหาธาตุเจดีย์ ครั้นวันรุ่งขึ้นตรงกับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ก็เกิดจันทรุปราคา โดยพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตร ทั้งนี้ในเอกสารพระราชกพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จะมิได้ระบุว่าพระองค์ได้ทรงทำการคำนวณพยากรณ์การเกิดจันทรุปราคาในครั้งนั้นหรือไม่ แต่จากการที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักดาราศาสตร์ย่อมที่จะทรงทราบล่วงหน้าว่าจะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้น


และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นี่อาจเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในรอบ 140 ปี โดยหลังจากนั้นเกิดเต็มดวงที่นานกว่า คือวันที่ 16 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 47 นาที วันนั้นข่าวว่าทั่วประเทศก็พยายามเฝ้าจับตามองเหมือนกัน แต่ว่าเมฆบังหมดเลยครับ



21 มิถุนายน 2403 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีตอนกลางวัน ขนาดปรากฎ 32 ฟิลิปดา



2 สิงหาคม 2403 จันทรุปราคาบางส่วน





13 เมษายน 2404 พระจันทร์เข้าไปโปรดดาวลูกไก่ที่กตัญญูต่อแม่ไก่ - -!





8 กรกฎาคม 2404 สุริยุปราคาครั้งที่ 3 เป็นสุริยุปราคาชนิดวงแหวนเช่นเดิม แต่ในกรุงเทพฯเห็นเป็นชนิดบางส่วน
แต่ที่ใต้สุดแดนสยาม (N 5° 36' 42.84", E 101° 8' 9.60") ชายแดนยะลา เห็นเป็นรูปวงแหวนเลยครับ


และในวันเดียวกันนั้นเอง (8 กรกฎาคม 2404) มี “ประกาศดาวหางปีระกาตรีศก” ณ วันจันทร์ เดือน 8-8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก (พ.ศ. 2404) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนสติไม่ให้ราษฎรแตกตื่นงมงายในความเชื่อว่าดาวหางเป็นลางร้ายให้โทษ บางส่วนของประกาศฉบับนี้
“...ดาวหางไม่ได้มายุให้ใครรบกัน ถ้าราษฎรตื่นเล่าลือไปเช่นนั้น คนสิ้นคิดลางคนเป็นพาลอยากจะให้การที่ตัวประสงค์เป็นสมใจ พลอยก่อเหตุต่อไปเหมือนอย่างเมื่อครั้งปีมะเมียสัมฤทธิศก...”
“...ก็ดาวหางมาบนฟ้า โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทอาฆาตแค้นอะไรอยู่กับเจ้านาย มาแล้วจะได้มาตรงใส่เอาเจ้านายทีเดียวไม่เห็นจริงด้วย...” “...แลเมื่อปีเปลี่ยนแผ่นดินทั้งสามคราวนั้น ดาวหางก็ไม่มี ไม่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นอันตรายเพราะดาวหาง...”

ดาวหางที่ว่านี้คือดาวหางเทบบิตต์ (C/1861 J1) มีความสว่างมากกว่าดาวหางโดนาติเสียอีก ค้นพบโดย จอห์น เทบบิตต์ (John Tebbutt) นักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลียนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ค.ศ. 1861 ปลายเดือนดาวหางเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่า วันที่ 3 มิ.ย. มันมีโชติมาตร 2-3 หางยาว 3 องศา วันที่ 20 มิ.ย. หางปรากฏเป็น 2 ส่วน หางหนึ่งยาว 40 องศา อีกหางยาว 5 องศา
ดาวหางเทบบิตต์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 12 มิ.ย. ห่าง 123 ล้านกม. และใกล้โลกที่ระยะห่างเพียง 20 ล้านกม. ในวันที่ 30 มิ.ย. นิวเคลียสสว่างสุกใสมาก สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีแต่ไม่เท่าดาวศุกร์ หางทอดยาวผ่านโลกด้วยในช่วงนั้น และยาวมากถึง 90-120 องศา เห็นด้วยตาเปล่าถึงกลางเดือน ส.ค. พบว่ามีคาบราว 400 ปี อาจเป็นดวงเดียวกับดาวหางที่ปรากฏเมื่อค.ศ. 1500


คลิ๊กเพื่อชมภาพขนาดจริง




21 ตุลาคม 2404 ประกาศดาวพระเคราะห์พุธเข้าในดวงพระอาทิตย์
มีพระบรมราชโองการให้ประกาศให้การทราบแก่ผู้จะได้อ่านประกาศนี้ทั้งปวง วันอังคาร เดือนสิบสอง ขึ้นสิบค่ำ ดาวพระเคราะห์พุธจะเข้าในดวงพระอาทิตย์ว่าตามจะเห็นที่กรุงเทพมหานคร แรกเริ่มกระทบเข้าทางทิศอีสานค่อนข้างบูรพาเห็นดำเป็นเม็ด จดขอบพระอาทิตย์แหว่งเข้าไปนิดหนึ่ง เมื่อเวลาเที่ยงแล้วกับ 14 นาที แล้วจุดดำนั้นจะเลื่อนเดินไปในดวงพระอาทิตย์โอนไปข้างทิศปัจจิมเฉียดขวางไปถึงที่ลึก เพียงเท่าส่วนที่หกของดวงพระอาทิตย์ ค่อนอยู่ข้างเหนือส่วนหนึ่งไม่ถึงกลาง ถ้าจะเป็นคราธก็ควรว่าฉฬางคคราธ เข้าไปส่วนหนึ่งหรือ 5 ส่วน จะเห็นดังนี้เมื่อเวลาบ่าย 2 โมงกับ 13 นาที แล้วจุดดำนั้นก็จะเดินไปทิศพายัพออกข้างทิศพายัพค่อนข้างทิศอุดร หลุดจากดวงพระอาทิตย์เวลาบ่าย 4 โมงกับ 20 นาที การที่เป็นดังนี้ ต่อดูด้วยกล้องส่องที่มีแว่นสีเขียวหรือน้ำเงิน หรือสีแดงสาบบังตาจึงจะเห็นได้ ด้วยดวงพระพุธเป็นจุดนั้นเล็กนัก ถ้าดูด้วยกล้องสาบด้วยกระจกสีดังนี้ คงจะเห็นได้ทุกเวลาเข้าแลถึงกลางแลออกดังทายไว้นี้แล อนึ่งเมื่อใดๆ ถ้ามีผู้ดูด้วยกล้องดังนี้ มักเห็นจุดดำแลแผลด่างในดวงพระอาทิตย์เนืองๆ เขื่องบ้างย่อมบ้าง อันนั้นมิใช่พระเคราะห์เข้าไปแต่ต่างแดนในดวงพระอาทิตย์นั้นเอง ลอยไปลอยมาหันหายไป 12 วัน 13 วันแล้วกลับมาอีก แล้วย้ายไปที่ต่างๆ จะทราบเอาแน่ไม่ได้
แต่ในครั้งนี้มิใช่อย่างนั้น พระเคราะห์จะเข้าไปเป็นแท้นานๆ ถึง 22 ปีขึ้นไปจึงมีครั้งหนึ่ง แล้วเว้นไป 2 ปีมีอีกครั้งหนึ่งเป็นธรรมดา แต่ลางทีเป็นเสียในกลางคืนที่กรุงเทพมหานครนี้ไม่เห็น ครั้งนี้จะเห็นจึงทายมาเพื่อจะให้รู้ การบนฟ้ามนุษย์สังเกตทายล่วงหน้าไว้ได้ อะไรเห็นประหลาดบนฟ้าไม่ควรที่จะเก็บเอาเป็นเหตุมาตื่นกันต่างๆ ต้นเหตุที่เป็นมีผู้รู้เขารู้ได้แล้ว ซึ่งทายครั้งนี้ทายตามเวลาซึ่งจะเห็นที่กรุงเทพมหานคร แลกรุงเก่าแลเมืองลพบุรี ถ้าจะทายตามจะเห็นในเมืองฝั่งทะเลไทยข้างตะวันออก คือ เมืองปราจีณบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี ต้องทายเพิ่มเข้า 2 นาทีทุกระยะ ถ้าจะทายที่เมืองจันทบุรีแลเมืองตราดต้องเพิ่มเข้าถึง 3 นาที ถ้าจะทายในเมืองฝั่งทะเลไทยข้างตะวันตกคือเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช แลเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เมืองไชยนาทขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชรแลเมืองตากให้ทายลดเสีย 2 นาที ทุกระยะ ในเมืองกาญจนบุรี เมืองชุมพร เมืองไชยาให้ทายลดเสีย 3 นาทีทุกระยะ แต่ที่เมืองสงขลาทายเหมือนกรุงเทพมหานครจึงจะถูกกับนาฬิกาแลซึ่งได้ประกาศมาแต่ก่อน ในประกาศมหาสงกรานต์ว่าจะเป็นดังนี้ ในวันจันทร์เดือนสิบสอง ขึ้นเก้าค่ำนั้นผิดไป เพราะครั้งนี้รีบจะให้ตีพิมพ์คำนวณหยาบอยู่หาละเอียดไม่
ประกาศมา ณ วันจันทร์เดือนสิบเอ็ด แรมสองค่ำ ปีระกา

12 พฤศจิกายน 2404 ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตามที่พระองค์ทรงประกาศไว้ อันนี้ผมเอาภาพเฉพาะตอนเข้าดวงอาทิตย์มาให้ชมนะครับ


ภาพที่เห็นนี้ ดาวพุธอยู่ห่างออกไป 101,172,986 กิโลเมตร ในขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างออกไป 147,975,654 กิโลเมตร



2 มิถุนายน 2406 จันทรุปราคาบางส่วนตอนพระจันทร์กำลังตกดิน





6 พฤษภาคม 2407 เกิดสุริยุปราคาขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เป็นชนิดบางส่วนตอนพระอาทิตย์ขึ้นครับ เป็นครั้งเดียวในรัชสมัยที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า นี่ไม่ใช่ภาพขณะกินลึกที่สุดนะครับ เพราะเวลากินลึกเป็นตอนที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น โดยกว่าพระอาทิตย์จะขึ้นคราสก็ทยอยคายออกไปบ้างแล้วครับ





24 สิงหาคม 2407 ดวงจันทร์บังดาวอังคารตอนกลางวัน ขนาดปรากฎดาวอังคาร 9.9 ฟิลิปดา



7 กันยายน 2407 ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีตอนกลางวัน ขนาดปรากฎดาว 34.7 ฟิลิปดา



19 กรกฎาคม 2408 ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ตอนกลางวัน ขนาดปรากฎดาวศุกร์ 23.1 ฟิลิปดา

(บังถี่จังเลยช่วงเนียะ แต่ไม่เห็นกลางคืนเลยซักครั้ง - -!)


5 ตุลาคม 2408 เกิดจันทรุปราคาบางส่วนตอนเช้ามืด





20 กรกฎาคม 2409 ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ แต่บังตอนกลางวันเช่นเดิม ขนาดปรากฎดาว 40.1 ฟิลิปดา นับว่าเป็นขนาดปรากฎที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวอื่นๆที่ถูกบังมา อันนี้ผมเลยเอารูปมาลงเป็นกรณีพิเศษแล้วกันนะครับ แถมดาวเสาร์ยังมีวงแหวนที่สวยงามด้วย ถ้าถูกบังจะมีสภาพเป็นอย่างไร เผื่อลุ้นว่าคนที่ทราบเรื่องในสมัยนั้นอาจจะเอากล้องส่องดูได้ครับ ^ ^





24 กันยายน 2409 จันทรุปราคาเต็มดวง กินนานประมาณ 1 ชั่วโมง 33 นาที





3 สิงหาคม 2410 ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เป็นปรากฎการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งเดียวในรัชสมัยของพระองค์ที่มีให้เห็นตอนกลางคืนนะครับ ขนาดปรากฎดาวอังคาร 4.3 ฟิลิปดา





14 กันยายน 2410 จันทรุปราคาบางส่วน กินขอบบนด้านขวานิดหน่อย (ยังอุตส่าห์เอามาลงอีก) เป็นจันทรุปราคาครั้งสุดท้ายในสมัยของพระองค์ครับ





6 สิงหาคม 2411
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยแลพระสงฆ์สามเณร แลทวยราษฎร์ทั้งปวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองทราบทั่วกันว่าสุริยุปราคาครั้งนี้จะมีในวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จะจับในเวลาเช้า ๔ โมงเศษ ไปจนเวลาบ่ายโมงเศษ จึงจะโมกษบริสุทธิ์ ก็สุริยุปราคาครั้งนี้ในกรุงเทพฯ นี้จะไม่ได้เห็นจับหมดดวงจะเห็นดวงพระอาทิตย์อยู่น้อยข้างเหนือ แรกจะจับทิศพายัพค่อนอุดร ในเวลาเช้า ๔ โมงกับบาทหนึ่ง แล้วหันคราสไปข้างใต้จนถึงเวลา ๕ โมง ๗ บาท จะสิ้นดวงข้างทิศอาคเนย์ ครั้นเวลา ๕โมง ๘ บาทแล้ว พระอาทิตย์จะออกจากที่บังข้างทิศพายัพ ครั้นบ่ายโมงกับ ๖ บาท จะโมกษ-บริสุทธิ์หลุดข้างทิศอาคเนย์ คำทายนี้ว่าที่ตำบลหัววาน
แต่ในกรุงเทพฯ นี้ จะจับเวลาเช้า ๔ โมงกับบาทหนึ่งค่อยๆ จับทิศพายัพเหมือนกัน แล้วจะหันเร่ไปข้างทิศประจิมแลหรดีแลทักษิณจะจับมากที่สุดสัก ๕ ส่วนหรือ ๖ ส่วน เหลือส่วนหนึ่งเมื่อเวลา ๕ โมง ๘ บาท จะเหลืออยู่ข้างทิศอีสานแลอุดร แล้วก็จะเร่ไปคายๆ
ประกาศ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก



7 สิงหาคม 2411
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคพร้อมด้วยพระราชโอรสคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์สยามกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 5) พระราชธิดาตลอดจนข้าราชบริพารและเจ้านายฝ่ายในรวมทั้งชาวต่างประเทศ เสด็จออกจากท่านิเวศน์วรดิษฐ์โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช และขบวนเรือไทยโดยเสด็จรวม 12 ลำ



10 สิงหาคม 2411 เสด็จขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งจากอ่าวมะนาวไปถึงพลับพลาค่ายหลวง ตำบลหว้ากอ เป็นค่ายที่ทรงสั่งสร้างเอาไว้แล้ว นับเป็นที่พักอาศัยอันอุดมที่สุดในป่าแห่งประเทศสยามทีเดียว แม้น้ำแข็งซึ่งหาได้ยากในเมืองหลวง ก็มีบริบูรณ์อยู่ที่นี่



ผมขอตามเสด็จย้ายหลักลงไปสังเกตุการณ์ที่หว้ากอ ณ ตำแหน่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.4 นะครับ



ตรงที่ผมปักหมุดสีส้ม (N 11° 43' 4.80", E 99° 45' 25.20") หลังจากที่เคยพาแว็บๆมาแล้วเมื่อ 11 ปีก่อน (18 กันยายน 2400) สังเกตุที่ตั้งของค่ายหลวงอยู่สูงกว่าจุดกึ่งกลางคลาสเล็กน้อย สงสัยพวกฝรั่งที่ตั้งกล้องลงไปทางใต้ของค่ายหลายร้อยเมตรจะอยู่กึ่งกลางมากกว่า




18 สิงหาคม 2411 วันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เหล่าข้าราชบริพารก็ยังแคลงใจว่าพระองค์ทรงคำนวณได้จริงๆหรือไม่ มิเช่นนั้นจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติของพระองค์ได้
ภาพถ่ายจากเทวดาชั้นสูง แสดงให้เห็นว่าพระจันทร์กำลังเสด็จมาแล้วครับ เธอกำลังมุ่งหน้าไปยังสยามประเทศ



- เพลาคลาสเริ่มจับ เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้าเป็นเมฆฝนคลุมไปในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลย ทรงร้อนพระทัยมาก เพราะเป็นการเสี่ยงพระเกียรติยศ ชื่อเสียงของพระองค์ต่อหน้าแขกต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง แม้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติเองก็ร้อนใจไม่แพ้กัน เพราะอุตส่าห์ขนอุปกรณ์สำรวจดวงอาทิตย์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกล



- เพลานี้ เทวดาชั้นล่างได้แผงฤทธิ์ ด้วยการช่วยกันขจัดปัดเป่าเมฆให้จางลงไปได้ ทำให้เห็นดวงอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้ว



- เพลานี้ ที่ประเทศอินเดีย เมืองคุนตูร์ เห็นเต็มดวงแล้ว เพราะเป็นทางผ่านของแนวคลาสมาก่อน ซึ่งคณะนักวิทยาศาสตร์นำโดยพันตรีเทนแนนต์ได้บันทึกภาพเอาไว้ (หากเข้าใจผิดก็ขออภัยนะครับ) และนั่นทำให้ค้นพบธาตุฮีเลียมในดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกด้วย
โดยขณะนั้นที่หว้ากอยังเป็นแบบบางส่วนอยู่



- เพลานี้ แสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและดาวอื่น ๆ มากหลายดวง ท้องฟ้าทั้งหมดดำคล้ำลง และวัตถุต่างๆ ซึ่งอยู่ไกลก็ปรากฏรูปมัวลง ทะเลก็เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแก่ และเรือกำปั่นซึ่งทอดอยู่ห่างจากฝั่งในระยะ ๓ ไมล์ ก็เห็นไม่ได้ชัด เครื่องวัดอากาศในบัดนี้ลดลงได้ ๖ องศาจากขนาดความหนาวร้อนของอากาศ รู้สึกอากาศเย็นอย่างประจักษ์ด้วยกันทุก
ช่วงเวลาที่ระทึกใจที่สุดกำลังจะมาถึง แม้ว่าระดับการกินลึกขนาดนี้ชาวสยามหลายคนคงจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว อย่างน้อยก็เมื่อ 11 ปีก่อน แต่จะกินจนหมดดวงดังที่ทรงทำนายเอาหรือไม่



- เพลานี้ คลาสจับไปถึงค่อนดวง มีความมืดมาจนรูปหน้าคนซึ่งอยู่ในระยะ ๒–๓ ฟิต ก็สังเกตไม่ได้ และการคาดคะเนระยะทางว่าใกล้ไกลเพียงไรก็ดูเหมือนหมดไปด้วย เครื่องวัดอากาศก็ดูไม่เห็น นอกจากมีแสงไฟส่องให้ใกล้ ท้องฟ้ามีดาวพราวเหมือนในเวลาสนธยาอย่างจัดแห่งราตรี เรือกำปั่นในทะเลก็หายไปมองไม่เห็น



- เพลาสุดท้าย พระจันทร์ก็เสด็จถึงสยามประเทศตามนัดหมายโดยสมบูรณ์



ทำเอาที่ประทับ และทั้งสยามประเทศมืดฟ้ามัวดินไปทั่วหัวระแหง



คนนั่งใกล้ ๆ กันมองไม่รู้จักหน้ากัน มีแสงสว่างจัดพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์เหมือนแสงสว่างเรืองอย่างจัด รัศมีที่อยู่รอบดวงและรัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาก็อันตรธานไป ซึ่งนั่นก็คือพวยแก๊สขนาดใหญ่ที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ ถูกขนานนามว่า The Great Horn หรือเขาสัตว์ใหญ่นั่นเอง
พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมาก ยังปลื้มปิติโสมมนัส แก่เหล่าข้าทูลละอองธุลีพระบาท และชาวต่างประเทศที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง



สุริยุปราคาครั้งนี้ ดวงจันทร์อยู่ห่างไป 351,127 กิโลเมตร ในขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างไป 151,357,184 กิโลเมตร

ฟรานซิส จิตร (คนไทยแต่ชื่อฝรั่ง) ช่างภาพมือทองแห่งยุครีบทำหน้าที่โดยด่วน



ฟ้าที่มืดเหมือนกลางคืน ทำให้มองเห็นดาวหลายดวง ดาวเคราะห์ดวงสำคัญที่ปรากฎนั้นก็คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคารครับ (คลิ๊กเพื่อชมภาพขนาดจริง)






โปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ (คลิ๊กเพื่อชมรูปขนาดจริง)



ขออีกรูปพระเจ้าข้า



หลังจากเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ทรงถามพระโหราธิบดีว่า สุริยุปราคาที่กรุงเทพมหานครจับกี่ส่วน ยังเหลือกี่ส่วน พระโหราธิบดีและโหร มีชื่อกราบทูลพระกรุณาไม่ถูก ทรงพระพิโรธให้ไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน แล้วให้ทำทัณฑกรรมไว้ภายใต้ห้องอาลักษณ์ ลูกประคำหอยโข่งสวมคอ กินข้าวน้ำด้วยกลากาบหมากเป็นภาชนะใส่กับข้าวอยู่ 8 วัน จึงพ้นโทษ
และทรงถามท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภาว่าสุริยุปราคาจับเท่าใด ยังเหลือเท่าใด ท้าวสมศักด์ ท้าวโสภา และท่านเฒ่าแก่กราบทูลว่ายังเหลือประมาณนิ้วกึ่ง จึงรับสั่งว่า เขาวัดนิ้วแต่ของผู้ชายดอกกราบทูลก็ไม่ถูก เป็นท้าวนางเสียเปล่าๆ ให้เฒ่าแก่ท้าวนางไปขัดศิลาที่วังสราญรมย์อยู่ 1 วัน จึงให้พ้นโทษ แล้วกริ้วเจ้านายและขุนนางซึ่งอยู่รักษาพระนครว่าไม่บอกการสุริยุปราคาที่กรุงออกไปให้ทรงทราบ

ฮึมม คนเหล่านี้เหมือนจงรักภักดีแต่ต่อหน้าเลยนะครับ แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนัก บางทีอาจเพราะไม่เชื่อที่ทรงทำนายไว้ หรือแมวไม่อยู่หนูร่าเริง ก็เป็นได้
เอ่ๆๆ แล้วพวกเราสงสัยกันมั้ยว่า ที่กรุงเทพฯตอนคลาสกินลึกที่สุด เป็นยังไง
เป็นดังนี้ครับ



ในภูมิภาคอื่นๆ เป็นดังนี้ (อย่าตกใจที่การกินแต่ละภาคมันเฉียงไปเฉียงมา เพราะถือตามมุมเงยจริง)



นี่ถือเป็นปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์
แต่สุริยุปราคานั้น ก็เชื่อกันว่านำโชคไม่ดีหรือลางร้ายมาให้ และจะจริงหรือไม่อย่างไร เมื่อหลังจากเสด็จกลับมานั้นก็ทรงพระประชวรด้วยไข้มาเลเรีย ซึ่งได้รับเชื้อมาจากหว้ากอนั่นเอง เพราะเป็นที่ชื้นแฉะและมียุงมาก ส่วนข้าราชการบริพารและคณะชาวต่างประเทศ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ซึ่งตามเสด็จก็ได้รับเชื้อเช่นกัน
และสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม 2411
และทราบมั้ยครับว่าในอีก 7 ปีต่อมา ก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ในกรุงเทพฯ วันที่ 6 เมษายน 2418 ถ้าไม่ทรงประชวรด้วยไข้มาเลเรียเสียก่อน ผมคิดว่าอายุรัชกาลของพระองค์อยู่มาถึงวันนั้นแน่ครับ ซึ่งนั่นก็นานพอที่จะทำให้ ร.5 ขึ้นครองราชย์ต่อโดยไม่ต้องมีผู้ว่าราชการแทนก่อนครับ


บางคนอาจตั้งแง่สงสัยพระองค์ในเรื่องนี้ ว่าทรงคำนวณเอง หรือนำผลการคำนวณของฝรั่งมาต่อยอดหรือไม่ แม้จะมีประกาศล่วงหน้าถึง 2 ปี โดยไม่มีหลักฐานการคำนวณจากต่างประเทศล่วงหน้าได้นานถึงขนาดนั้น แต่ผมก็ไม่สามารถหาหลักฐานวันที่ลงประกาศได้ชัดเจนเช่นกัน ทราบแต่เป็นปี 2409 หรือปีขาลเท่านั้น (หากใครทราบวันที่ลงประกาศก็ช่วยเอามาลงด้วยนะครับ) เพราะเจอประกาศล่วงหน้าอย่างเป็นทางการจริงๆก็ปาไปวันที่ 6 สิงหาคม 2411 บางทีที่ทรงประกาศล่วงหน้า 2 ปี อาจจะด้วยพระวาจา หรือทรงเกลิ่นๆไว้ว่าจะมีสุริยุปราคา แต่ยังไม่ทรงแน่พระทัยเรื่องพิกัดและเวลาที่ชัดเจนก็เป็นได้
เรื่องนี้ ได้แสดงในที่ประชุมนักวิทยาศาสตร์ของไทย ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2525 ได้น่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ทางฝ่ายกรีนิช ไม่เปิดโอกาสให้นำเอาตัวเลขในนั้นมาทำการคำนวณเพิ่มเติมต่อ แถมยังบอกเพียงเส้นกึ่งกลางคลาสเส้นเดียวเท่านั้น แต่ผลการคำนวณของพระองค์บอกว่าแนวคลาสกว้างตั้งแต่ชุมพรขึ้นมาถึงปราณบุรี แถมปรากฎว่ายังทรงคำนวณได้แม่นยำยิ่งกว่านักดาราศาสตร์ต่างประเทศเสียด้วย
แต่ผมว่างานนี้พระองค์น่าจะมีผู้ช่วยนะครับ ในที่นี้ผมหมายถึงครูผู้สอนมากกว่า (อาจเป็นคนที่พระองค์สั่งซื้อหนังสือ) เราทราบแต่เพียงว่าทรงศึกษาจากตำราดาราศาสตร์ต่างประเทศ แต่คงไม่น่าเพียงพอ เพราะนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกก็ล้วนต้องมีครูสอนพื้นฐานกันมาก่อนทั้งนั้นครับ



สำหรับปรากฎการณ์ดาราศาสตร์อื่นๆที่ว่ามานั้น ยังพอจะหาหลักฐานการคำนวณจากเว็ปนี้ได้อยู่บ้างครับ




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2553
4 comments
Last Update : 22 สิงหาคม 2553 20:34:00 น.
Counter : 5516 Pageviews.

 

เนื้อหาน่าสนใจดีครับ
มาเซ็นต์ชื่อ เข้าเยี่ยมชมไว้ก่อน

 

โดย: ภูริ IP: 202.91.18.194 20 กันยายน 2553 22:47:11 น.  

 

ความรู้ให้ค้นหามากมาย มาลงขื่อเข้าชมด้วยค่ะ

 

โดย: กระติ๊ดแดง 3 มกราคม 2554 20:16:17 น.  

 

หลักฐานที่ผมทราบ มีวันที่ 8 กรกฎาคม 2411 น่ะครับ
//www.alabaster.org.uk/chron18.htm

อยากทราบรายละเอียดของการเกิดสุริยุปราคา ในปี2411
ในเรื่องสถานที่ เวลา วิธีการคำนวณ เอกสารอ้างอิงจากแหล่งต่างๆ

ผมคิดว่าสุริยุปราคาในครั้งนั้นมีผลกับประเทศเป็นอย่างมาก และเชื่อในพระปรีชาของพระองค์

ผมคงมีเรื่องรบกวนเรียนถามพี่ในครั้งต่อไปนะครับ

 

โดย: prachuaptown.com IP: 192.168.3.15, 203.172.212.30 11 ตุลาคม 2554 16:04:31 น.  

 

8 กรกฎาคม 2411 ไม่มีสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา ไม่ว่าที่ใดในโลกเลยนะครับ

 

โดย: สมภพ เจ้าเก่า 14 ตุลาคม 2554 18:18:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมภพ เจ้าเก่า
Location :
นครราชสีมา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




รูปภาพทั้งหมดในนี้ สามารถนำไปใช้ได้ฟรีนะครับ แต่ไม่ควรลบสัญลักษณ์แสดงความเป็นเจ้าของในรูปออกไป รูปใดไม่มีสัญลักษณ์ อยากให้ช่วยอ้างอิง จาก sompop.bloggang.com ด้วยครับ
Blog ล่าสุด
* สัมภาษณ์เทวดาในพระแก้วมรกต 18 มิ.ย. 60
* การสำรวจหินลอยได้ที่เขาคิชฌกูฏ 3 มี.ค. 60
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมือง กทม. 16 ธ.ค. 59
เรื่องเล่าบอกต่อ
* บั้งไฟพญานาค ถ่ายจากโดรนมุมสูง
* เชิญโหลด 7 ภาพยนต์เฉลิมพระเกียรติ
* เช็คอันดับ Blog ของคุณกับ truehits
Blog แนะนำ
* บทสัมภาษณ์เจ้าพ่อหลักเมืองกรุงเทพฯ 19 ก.ย. 57
* ยานพาหนะที่แล่นตามและทวนน้ำได้โดยไม่ใช้พลังงานอื่น
* ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2012
New Comments
Friends' blogs
[Add สมภพ เจ้าเก่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.