For my little prince "MONO"
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
23 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
รับมือกับพฤติกรรมชวน ปรี๊ด ของลูก

รับมือกับพฤติกรรมชวน ปรี๊ด ของลูก

จาก น.พ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก วิทยากร และพิธีกร , //community.momypedia.com/community/blog/my_blog_detail.aspx?bgrid=51144&blgid=2903


มีคำถามมากมายในบล๊อกนี้นะครับ ที่ถามกันเข้ามาเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กๆ ว่าจะแก้ไขกันได้อย่างไร จะป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกันได้อย่างไร และ จะส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมกันได้อย่างไร

วันนี้ผมก็เลยตัดสินใจนำเรื่องราวของการปรับพฤติกรรมเด็กๆ มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ก่อนอื่นต้องขอนำไปแนะนำเกี่ยวกับที่มาของพฤติกรรมกันก่อนครับ

มีทฤษฎีหลากหลายทฤษฎีที่พูดถึงที่มาที่ไปของพฤติกรรมของคนเรารวมทั้งเด็กๆด้วย ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่พอรวบรวมกันให้ง่ายขึ้น ทฤษฎีที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่า ทั้งพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม มีผลต่อทั้งพัฒนาการและพฤติกรรมของผู้คนไปตลอดชีวิตครับ

ความเป็นตัวตนของแต่ละคนจะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ จนได้พฤติกรรมที่เป็นผลพวงตามมาครับ หนึ่งในทฤษฎีของพัฒนาการและพฤติกรรมที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ ที่เราเรียกภาษาวิชาการหน่อยเราก็ใช้คำว่า พฤติกรรมบำบัด ฟังแล้วเหมือนกับใช้สำหรับคนป่วยอย่างไร อย่างนั้น แต่จริงๆ กับเด็กๆที่บ้านของพวกเราก็ใช้กระบวนการเดียวกันนี้เพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสมได้ไม่ยากครับ ทฤษฎีที่ผมจะเล่าให้ฟังและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรับพฤติกรรมของเด็กๆ เราเรียกว่า

ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม หรือ social learning theory ครับ

ในกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมมีการเรียนรู้เกิดขึ้น 3 รูปแบบใหญ่ๆด้วยกันครับ

1. การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมแล้วทำให้เกิดพฤติกรรมขึ้นมา ยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ ทำไมตอนเราพาลูกเล็กๆไปฉีดยาวัคซีนครั้งแรกๆไม่เห็นร้องเลย หรือร้องนิดเดียว แต่พอครั้งหลังๆ แค่เห็นประตูโรงพยาบาล หรือเห็นคุณพยาบาลสวยๆ ก็ร้องเสียแล้ว ที่เกิดอย่างนี้ขึ้นเพราะเด็กๆ เริ่มเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา กับสิ่งที่เขามองเห็นผ่านทางสายตาขึ้นมาแล้วครับ เช่น เห็นประตูโรงพยาบาลนี้ทีไร หนูเจ็บก้นทุกทีเลย หรือ เห็นคุณพยาบาลใส่ชุดขาวยิ้มหวานๆ ทีไรก็เจ็บก้นทุกทีเลยเหมือนกัน

2. ผลที่ได้รับจากพฤติกรรมของตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้พฤติกรรมคงอยู่หรือหายไป กรณีนี้เป็นหลักใหญ่เลยครับ ที่เรานำมาใช้ในกระบวนการปรับพฤติกรรม เมื่อไรก็ตามที่ผู้คนโดยเฉพาะเด็กๆ ได้รับผลตอบสนองที่ตัวเองพอใจ จากการแสดงพฤติกรรมอะไรออกไปก็ตาม จะส่งผลให้พฤติกรรมนั้นๆ คงอยู่ต่อไป อีกนานแสนนาน ก็ทำแล้วได้กำไร ทำแล้วได้ดีมีคนชื่นชม ได้รางวัลทำไมจะไม่ทำต่อไป จริงไหมครับ ขณะเดียวกันเมื่อไรก็ตามที่เด็กๆได้รับผลตอบสนองที่ตัวเองไม่ชอบใจ ไม่พอใจจากการแสดงหรือกระทำพฤติกรรมอะไรออกไปก็ตาม โอกาสที่พฤติกรรมนั้นจะเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมที่ได้ผลตอบสนองในทางที่ตัวเองพอใจก็จะมีมากขึ้น ตรงไปตรงมานะครับ

3. การเป็นแบบอย่างในสังคมของผู้คน การเป็นแบบอย่างของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะผู้คนที่เด็กๆชื่นชม ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ก็มักเป็นคุณพ่อ คุณแม่นี่แหละนะครับ ถ้าโตหน่อยเด็กวัยรุ่น ก็อาจเป็นไอดอลคนไหนสักคนที่ วัยรุ่นเขากรี๊ดๆ กันอยู่ก็ได้นะครับ ตรงนี้สำคัญมากเลยนะครับ ที่จะส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมให้กับเด็กๆ เหมือนที่คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านเข้ามาเล่าว่าตัวเองใจร้อน โมโหร้าย ทำไมลูกถึงเป็นแบบเดียวกัน เจอคำตอบแล้วใช่ไหมครับ

ถ้าเราเข้าใจหลักการจาก 3 ข้อนี้ จริงๆ ไม่ต้องอ่านตอนต่อไปของผม คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านก็คงจะพอนึกออกแล้วล่ะนะครับว่า ถ้ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้อย่างไร

เมื่อไรก็ตามที่เจอพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก อันดับแรกเลยนะครับ คุณพ่อ คุณแม่ตั้งสติก่อนครับ ห้ามสติแตก เมื่อไรสติแตกแล้วเราจะควบคุมสถานการณ์รอบตัวไม่ได้เลย เสร็จลูกทุกรายครับ

หลังจากนั้นเราก็ลองวิเคราะห์ดูว่า เจ้าพฤติกรรมที่เราได้รับรู้ ได้เห็น ได้สัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกจี๊ดขึ้นศีรษะด้วยความไม่สบอารมร์นั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ผมยกตัวอย่าง จากแต่ละกระบวนการของการเกิดพฤติกรรมเลยนะครับ

1. ถ้าการเรียนรู้ที่นำมาสู่การเกิดพฤติกรรมเกิดเพราะการเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้าด้วยกัน (ด้วยเหตุผลของเด็กๆ ตัวเล็กๆ เท่านี้) อย่างเช่น เห็นคนใส่ชุดขาวทีไรเป็นต้องร้องทุกที หลังจากไปฉีดวัคซีนมาสักสองสามครั้ง ก็เป็นไปได้มากเลยครับ ที่ลูกเชื่อมโยง คุณหมอคนสวย กับคุณพยาบาลคนน่ารัก ให้เป็นแม่มดและนางยักษ์ในชุดสีขาว ทีนี้เห็นใครใส่สีขาวมาฉันก็คิดไว้ก่อนว่า ต้องนางยักษ์ขมูขี แหง๋ๆ ว่าแล้ว “ร้องไห้ดีกว่าตู”..... เห็นไหมครับ มีที่มาที่ไป

2. ถ้าการเรียนรู้ที่นำมาสู่การเกิดพฤติกรรมที่สร้างความจี๊ดขึ้นสมองให้กับคุณแม่เกิดเพราะผลที่ได้รับจากการแสดงพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านจะเป็นแบบนี้ครับ อย่างเช่น ไปเดินห้างทีไร พอเดินผ่านร้านขายของเล่น หนูก็จะบอกว่าอยากได้ ถ้าซื้อให้ก็แล้วไป ถ้าไม่ซื้อให้ หนูก็จะอาละวาดให้แม่อับอายขายหน้าประชาชีที่เดินผ่านไปมาแถวนั้น แล้ว หนูก็จะ “ได้ทุกทีไป” รับรองครับ เที่ยวหน้าก็จะทำแบบนี้อีก เพราะผลที่ได้รับ “เป็นอย่างที่หวังไว้” หรือ อยู่บ้านทั้งวันไม่เห็นมีใครสนใจหนูเลย ดูกันแต่โทรทัศน์ นั่งนับกันแต่เงิน ทำมาหากินกันจนเพลิน แต่พอหนูอาละวาดทีไร ก็จะมีคนมาสนใจหนู “รู้อย่างงี้ อาละวาดบ่อยๆ ดีกว่า” เฮ้อ... พ่อแม่ก็เลยเวียนหัวครับ

3. ถ้าพฤติรรมที่เกิดขึ้นช่างเหมือนกับพ่อแม่ หรือ คนรอบข้างเสียนี่กระไร อย่างเช่น ไม่พอใจต้องออกเสียงดัง อาละวาด กระทืบเท้า กระแทกประตู แล้วพอหันไปก็เห็นว่าเหมือนคนรอบข้างไม่มีผิด นั่นแหละครับ จากแบบอย่างที่ผู้ใหญ่สร้างให้กับเด็ก

ถ้ามีสติกลับคืนมาแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ก็พอจะมองเห็นที่มาที่ไปแล้วใช่ไหมครับ ว่าพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ยังไม่ต้องอ่านตอนต่อไป หลายคนก็ถึงบางอ้อแล้วล่ะครับ แล้วจะแก้กันอย่างไร แต่ถ้าใครยังอยากติดตาม ตามผมต่อไปนะครับ จะเล่ากันต่อครับ ว่า แล้วพ่อแม่จะรับมือกับพฤติกรรมชวนปรี๊ดขึ้นสมองของลูกได้อย่างไร


ตอนนี้ เรามาชี้ชวนกันดูวิธีง่ายๆ แบบหมอพงษ์ศักดิ์ บ้างนะครับ ว่าจะรับมือกับลูกชวนปรี๊ดได้อย่างไร

ถ้าเป็นอย่างกรณีที่หนึ่งยังพอจำได้ใช่ไหมครับ เราก็ง่ายๆ แค่สร้างสถานการณ์ให้ลูกได้เจอ นางฟ้า กับเจ้าชายใจดีในชุดสีขาวบ้างไงครับ ไม่ยากเลยครับ ก็เริ่มจากคุณพ่อ คุณแม่นั่นแหละครับ สร้างความเคยชินกับความขาวของเสื้อผ้าว่าไม่ได้ทำให้เจ็บก้นทุกครั้งไป แล้วก็เริ่มไปถึงคนนอกบ้านที่แต่งชุดขาวๆ แรกๆ ก็อยู่กันไกลๆ หน่อย แล้วค่อยๆ กระแซะ กระแซะ เข้ามาสิ เขยิบ เขยิบเข้ามาสิ เหมือนเพลงของคุณพุ่มพวงน่ะครับ ไม่ทราบคุณพ่อ คุณแม่รุ่นนี้รู้จักหรือเปล่าครับ ทำไปเรื่อยๆ จนลูกเคยชิน ไม่กลัวชุดขาวๆ ทำไปเรื่อยๆ หายเมื่อไรก็ค่อยเลิก ยกเว้นคุณพ่อ คุณแม่ไม่อยากให้เลิก เพราะเบื่อที่จะทำนะครับ

ถ้าเป็นอย่างกรณีที่สอง ก็ไม่ยากครับ พฤติกรรมจากกรณีที่สองคุณพ่อ คุณแม่จะเห็นว่า มันจะมีสิ่งกระตุ้น เช่น เห็นของเล่น (แล้วอยากได้) เห็นไอติม (แล้วอยากกิน ทั้งที่ไอแคกๆ) เห็นถนนแล้วอยากออกไปเดิน (ทั้งๆ ที่รถออกจะพลุกพล่าน) และอื่นๆ นานาสาระและไร้สาระอีกจิปาถะครับ พวกนี้ก่อนที่เครื่องจะติด สร้างความปรี๊ดให้กับคุณพ่อ คุณแม่ ถ้าเราพาออกไปจากสิ่งกระตุ้นได้ก่อน หรือ พาสิ่งกระตุ้นออกไปไกลๆได้ก่อนเครื่องติด จะป้องกันเครื่องติดได้มากเลยครับ

แต่ถ้าเครื่องติดไปแล้ว ก็ไม่เป็นไรครับ ตั้งสติให้ดีครับ..... เด็กๆ นี่นะครับเขาเกิดมาเป็นดารานักแสดงตั้งแต่เกิด เราเคยสังเกตุไหมครับ ถ้าเราเป็นดารา นักแสดง แต่เวลาแสดงแล้วไม่มีคนดู นักแสดงจะเหี่ยว เล่นก็ไม่สนุก อยากเลิกเล่นโดยปริยาย แต่ถ้าแสดงแล้วมีคนดู มีคนปรบมือ มีคนชื่นชม โอ๊ย... แสดงสุดใจขาดดิ้นครับ... เหมือนเลยครับ... เหมือนลูกเราเลย ..... ร้องๆ ไป อาละวาดไป... ไม่มีคนชมไม่มีคนสนใจ สักพัก จะแอบเหลือบตามอง ... แม่มองฉันอยู่หรือเปล่า... ถ้าเห็นแม่มองอยู่.... เสียงคุณหนูหนู จะดังขึ้นดังขึ้นจนสุดจะทนครับ .... ถ้าแม่ไม่มองแล้ว .... แม่เดินไปแล้ว ... เสียงจะแผ่วลง แผ่ว...ลง ...... แผ่วลง........จน..............หมดแรงไปเองครับ ......เห็นไหมครับนี่ไงครับ ผลที่ได้รับจากพฤติกรรม ถ้าร้องทีไรก็ไม่มีคนสนใจ อยากได้อะไรที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ได้ ...อีกหน่อยก็เลิกไปเองล่ะครับ .... เราระวังแต่ไม่ให้เกิดอันตรายเช่น ตกบันได ของมีคมบาด ไม่ให้ทำร้ายตัวเอง ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายคนอื่น เป็นพอครับ หรือคุณพ่อ คุณแม่จะใช้วิธีเดินแยกออกไปสักพัก พอลูกสงบแล้วค่อย เข้ามาพูดคุยกันนะครับ ช่วงกรี๊ด ๆ ของลูก และปรี๊ดๆ ของพ่อแม่คุยอะไรกันก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าโตขึ้นมาหน่อยก็อาจใช้วิธี ริบรางวัลที่เคยให้ ทำโทษด้วยการไม่เล่านิทาน งดอาหารโปรด งดพาไปนอกบ้าน งด....อีกจิปาถะครับ

คุณพ่อ คุณแม่มักถามว่าตีได้ไหม ..... มีหลากหลายความคิดเห็นครับ ผมเล่าอย่างนี้ครับ เขามีการศึกษา ที่น่าเชื่อถือได้อยู่สองกลุ่มด้วยกัน

กลุ่มแรกเขาพบว่า เด็กกลุ่มที่มีพฤติกรรมรุนแรง ประเภทที่เป็นปัญหามากๆ ทั้งของครอบครัว และของสังคม มาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ทำให้เด็กเติบโตมาใช้ความรุนแรงกับคนอื่น แต่ในการศึกษาเหล่านี้ความรุนแรงที่เขาศึกษานี่รุนแรงจริงๆ ครับ ไม่ได้ตีกันด้วยไม้บันทัด ไม้มะยมเสียงดังเปาะแปะเหมือนพ่อแม่บ้านเราตีลูก เขาตีกันจนหัวร้างข้างแตก ปากเจ่อ ปอดฉีก ตับแตก ประมาณอย่างนั้น แถมในบ้านพ่อแม่ก็ยังตีกันอย่างรุนแรงให้ลูกเห็นอีกนะครับ พวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เด็กจะเติบโตมาใช้ความรุนแรงในสังคม และยังมีการศึกษาที่พบว่า การตีลูกสามารถแก้ปัญหาได้ชั่วคราว และต้องเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะควบคุมพฤติกรรมได้ครับ เรียกว่า ดื้อไม้เรียวนั่นล่ะครับ

อีกกลุ่มหนึ่งเขาพบว่า ถ้าพ่อแม่ลูกมีความผูกพันที่ดีต่อกัน ให้ความรัก ความเอาใจใส่ต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ตีลูกอย่างเหมาะสม และมีเหตุผล จะเป็นปัจจัยที่ป้องกันปัญหาเรื่องความรุนแรงที่ผู้คนส่วนใหญ่กลัวได้เป็นอย่างดีครับ นั่นคือ ครอบครัวเรามีความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ต่อกันอย่างดี แต่เวลาลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเราก็มีกฎเกณฑ์กันอย่างเหมาะสมว่าจะทำโทษกันอย่างไร การตีก็เป็นการลงโทษหนึ่งให้คุณพ่อ คุณแม่เลือกครับ

สำหรับความคิดเห็นของตัวเองจากประสบการณ์ที่ทำงานอยู่กับเด็กๆและครอบครัวมานาน (ไม่อยากบอกเลยครับ ไม่อยากตอกย้ำเรื่องของวัยครับ) และจากที่ได้มีโอกาสไปบรรยายตามที่ต่างๆทั่วประเทศผมก็ยังเห็นคุณพ่อ คุณแม่คนไทยยังเลือกการตีเป็นหนึ่งในการสอนลูกให้ได้เรียนรู้กันอยู่นะครับ เหมือนโบราณที่เขาบอกว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ไงครับ ผมว่าคนรุ่นผมส่วนใหญ่ได้ดิบได้ดีมาก็เพราะไม้เรียวพ่อแม่ กับครูบาอาจารย์นี่แหละครับ ก็ลองตัดสินใจเลือกให้เหมาะสมกับบ้านของเรานะครับ

ถ้าอยากตีลูกจริงๆ ผมก็มีศิลปะในการตีที่เหมาะสมมาฝากกันครับ

1. เลือกบริเวณที่เหมาะสม ไม่ตีหน้าครับ (อย่างนั้นเราเรียกว่าตบ) รุนแรงไปครับ

2. ตีอย่างเหมาะสมไม่รุนแรงไป อยากรู้ว่าเหมาะสมอย่างไรถ้าใช้มือตีจะรู้ครับ ถ้าแม่ก็เจ็บมือมาก ก็แสดงว่าแรงไปแล้วครับ มีรอยให้เห็นเหมือนที่หนังสือพิมพ์ชอบลงให้ดู นั่นก็มากไปครับ

3. ไม่ตีต่อหน้าธารกำนัล เพราะนอกจากจะเจ็บตัวแล้ว ลูกยังเจ็บใจ อีกด้วยอย่างนี้เรียกว่าประจานกันครับ

พอไหวไหมครับสำหรับบ้านที่ยังเลือกการตีเป็นหนึ่งในการทำโทษก็ลองปรับๆ ใช้กันดูนะครับ

ทีนี้ถ้าลูกมีพฤติกรรมเหมาะสมบ้างล่ะ ก็ต้องรับมือเป็นเหมือนกันนะครับ

แต่ถ้าเมื่อไร ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม พูดคุยกันรู้เรื่อง ควบคุมตัวเองได้ เราก็มีรางวัลให้เขา เช่น หอมกัน กอดกัน ชมกัน อ่านหนังสือให้ฟัง โตหน่อยก็สะสมดาว สะสมรางวัล ... จิปาถะ อีกหน่อยลูกจะเลือกเองว่า อยากจะทำพฤติกรรมแบบไหนดี ... ยากไหมครับ

แค่ฟังจะรู้สึกไม่อยากครับ แต่เวลาปฏิบัติต้องอย่างนี้ครับ ท่องคาถาของผมไว้...หนักแน่น
...สม่ำเสมอ.... อดทน แค่นี้ลูกก็อยู่หมัดครับ

ถ้าเป็นกรณีที่สาม พฤติกรรมนี้ เหมือนตัวเราอย่างกับแกะมาจากพิมพ์เดียวกันเลย ก็ต้องแก้ที่ตัวเรานะครับ ถ้าเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็จะยากที่จะควบคุมลูกได้ครับ ตรงนี้ สติต้องมีครับ ถ้าพฤติกรรมเหมือนดาราในทีวีเลย ก็ต้องให้ดูทีวีน้อยๆ ลงหน่อย เวลาดูคุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งดูด้วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังสิ่งที่ลูกไม่ควรเห็นจากโทรทัศน์ และเพื่อหาโอกาสสอนลูกเมื่อเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากโทรทัศน์นะครับ ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ American academy of pediatrics แนะนำตรงกันครับว่า เด็กอายุน้อยกว่าสองขวบไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ผ่านหน้าจอทั้งหลายนะครับ ส่วนอายุมากกว่าสองขวบแนะนำให้ดูได้ไม่เกินวันละสองชั่วโมง แต่ต้องเลือกรายการ และคุณพ่อ คุณแม่ควรนั่งดูพร้อมกับลูกด้วยครับ

ง่ายไหมครับ รับมือกับอาการกรี๊ดๆของลูก ที่สร้างความรู้สึกปรี๊ดๆ ของพ่อแม่

“สติเท่านั้นล่ะครับ ถึงจะทำให้เราคิดได้ว่าควรเรียงลำดับก่อนหลังอย่างไร”

ไม่ยากเกินความสามารถของคนเป็นพ่อแม่อย่างพวกเราหรอกนะครับ

เอาใจช่วยทุกครอบครัวครับ แวะมาเล่าสู่กันฟังบ้างก็ดีนะครับ

หมอพงษ์ศักดิ์ ครับ





Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2552 9:49:40 น. 1 comments
Counter : 469 Pageviews.

 
อ่านแล้วเครียดเลย แต่ขอบคุณสำหรับความรู้จ๊ะ


โดย: skylion วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:30:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นางฟ้าหัวโต
Location :
ปราจีนบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add นางฟ้าหัวโต's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.