อนาคตการบินของไทย .. หรือจะงงชีวิตกันต่อไป?
สวัสดีครับ
วันนี้จะมาในแนวดุเดือดหน่อยนะครับผม
ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ผมเศร้าใจกับประเทศนี้หลังจากกลับมาจากงานสิงคโปร์แอร์โชว์
อย่าเข้าใจผิดนะครับ ผมรักเมืองไทยจะตาย ........... แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ รักมากก็โกรธมาก
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สิงคโปร์จะไม่เป็นเพียงศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคเท่านั้น แต่สิงคโปร์กำลังจะเป็นศูนย์กลางทางการเดินทางท่องเที่ยวอากาศในภูมิภาค
โอ้โห ...... ในขณะที่เมืองไทยยังเถียงกันไม่จบเรื่องจะเอายังไงกับดอนเมือง สิงคโปร์กำลังจะสร้าง "ท่าอวกาศยาน" แล้วครับ
อีกเรื่องหนึ่ง ตอนเครื่องบินที่ผมนั่งร่อนลงที่สนามบินชางอี ผมได้มีโอกาสชม Terminal 3 ใหม่เอี่ยมล่าสุดของสนามบินชางอี ซึ่งจะทำให้สนามบินนี้รองรับผู้โดยสารได้เกือบ 80 ล้านคนต่อปี
โอ้โห ....... ในขณะที่เมืองไทยยังเถียงกันว่ารันเวย์ร้าวหรือไม่ หรือสุวรรณภูมิเฟส 2 จะสร้างหรือไม่ สิงคโปร์ยึดตำแหน่งศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคไปเรียบร้อยแล้วครับ
นี่ยังไม่นับการเป็นฮับทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานนะครับ สิงคโปร์ครองส่วนแบ่งในตลาดด้านนี้ถึง 25% ของภูมิภาค
กลับมาถามตัวเองได้หรือยังครับว่า "เราทำอะไรกันอยู่?"
... ... ...
อ๋อ ผมตอบได้แล้วครับ "เรามัวแต่กัดกัน"
ขออนุญาตใช้คำว่ากัดกันครับ เพราะการทะเลาะกันก็ยังมีประโยชน์ถ้าทะเลาะให้ถูกวิธี แต่นี่มัน .......
ผมพูดได้เลยว่า นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการบินของชาติ "ล้มเหลว ไร้ทิศทาง ไม่มีวิสัยทัศน์ และล้าหลังคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง"
คิดดูสิครับ เรายังเอาแน่เอานอนกับดอนเมืองไม่ได้เลย ตอนแรกบอกจะปิดแล้วทำเป็นศูนย์ซ่อม ตอนหลังบอกจะเปิดให้ Low Cost มาลง ตอนหลังจะเปิดเป็นสนาบินในประเทศ ล่าสุดอยากจะเป็นสนามบินนานาชาติ
ตลกครับ ......... ตลกจริง ๆ ในเวลาเพียง 3 - 4 ปี เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันไม่รู้กี่ครั้ง ฝรั่งงงกันหมด ไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยจะเอาอย่างไรกันแน่
แล้วใครที่ไหนจะเอาเครื่องบินมาลงครับ? นี่ยังดีที่เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวนะครับ คนจึงยังใช้บริการมาก
แต่ไทยไม่ใช่ศูนย์กลางทางการบินครับ ลองดูจากปริมาณการเปลี่ยนเที่ยวบินและการขนส่งสินค้าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์สิครับ เราตามหลังหลายช่วงตัว
... ... ...
ทำไมสิงคโปร์ถึงทำได้?
คำตอบง่ายมากครับ "ชาวสิงคโปร์พร้อมใจกันทำเพื่อชาติในทิศทางเดียวกัน"
ยุทธศาสตร์ถูกวางล่วงหน้าเป็นสิบปี ทุกอย่างมีการเตรียมแผนการอย่างรัดกุม รัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ ที่สำคัญคือนโยบายนิ่งสนิท
ชางอีเป็นหนึ่งในสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ผมเห็นตู้โชว์รางวัล "บางส่วน" ที่เขานำมาโชว์แล้ว แต่ละรางวัล เป็นรางวัลยอดเยี่ยมที่สุดของโลกจากสถาบันที่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่เคยใช้ชางอีมา ผมก็ไม่แปลกใจ
ในอีกส่วนหนึ่งของสนามบินชางอีเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานครบวงจร ไล่ตั้งแต่การผลิต การพัฒนา การซ่อมบำรุง การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ สิงคโปร์กำลังมีนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานในอีกสนามบินหนึ่งซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคที่บริษัทด้านการบินชั้นนำจากทุกสายงานมาลงทุน
บริษัทท้องถิ่นของสิงคโปร์มีการพัฒนาและวิจัยอยู่ตลอดเวลา มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ล้วนแต่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
อย่าแปลกใจ ถ้าสิงคโปร์จะเป็นผู้นำทางการบินของโลก ... ... ...
กลับมาที่พี่ไทยครับ
เปิดสุวรรณภูมิมาปุ๊บ มีปัญหามากมายหลายประการ ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องปกติของการเปิดสนามบินใหม่ (ดูการเปิด Terminal 5 ของสนามบินฮีตโทรว์เป็นตัวอย่างครับ)
แทนที่ผู้รับผิดชอบจะตั้งใจแก้ปัญหา กลับตั้งใจแก้แค้น ล้างบางฝ่ายตรงข้าม ถึงขั้นบอกว่าจะต้องปิดสุวรรณภูมิ 1 ปี!!!!
นี่ไงครับที่ผมบอกว่าผู้รับผิดชอบไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ รวมถึงไม่เป็นมืออาชีพและไร้ความสามารถ
ยุทธศาสตร์ที่เคยวางมาเปลี่ยนไปหมด การลงทุนในสุวรรณภูมิหยุดชะงัก แต่กลับดันทุรังไปเปิดดอนเมืองใหม่อีกครั้ง เพียงแค่เหตุผลว่าไม่ต้องการให้บริษัทขาดทุน
อ๋อ เดี๋ยวนี้เขาห่วงผู้ถือหุ้นมากกว่าประเทศชาติแล้วแฮะ ปัดโธ่
ทำไมผมถึงพูดมาเสมอว่าการเปิดดอนเมืองคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด?
มันเป็นประเด็นด้านด้านการขนส่งล้วน ๆ ครับ
ใช่แล้วครับ มีสองสามสนามบิน ที่ไหน ๆ ก็มีกัน ญี่ปุ่นมี คันไซ-นาริตะ, เบอร์ลินมี 3 สนามบิน เบอร์ลินเชอร์โฮฟิล-เทงเกล-เทมเฟิลฮอฟ (สองอันหลังกำลังจะปิด) , ลอนดอนยิ่งไม่ต้องพูดถึงครับ มี 5 สนามบิน ฮีตโทรว์-แก๊ตวิช-สแตนเซ็ต-ซิตี้-ลูตัน ในยุโรปแทบทุกเมือง มีหลายสนามบินทั้งนั้น โรม, ปารีส ฯลฯ มีใช้ทั้ง international airport กับ continental airport ซึ่งรองรับสายการบินในยุโรปด้วยกัน
ไม่ใช่ประเด็นด้านการจัดการด้วยครับ เขาจัดการกันได้ แล้วความจริงเมืองไทยก็จัดการกันได้ไม่มีปัญหาแน่นอน
ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ
ในลอนดอน มี 5 สนามบิน แต่เขามีฮัตโทรว์ เอ๊กเพรส, แก๊ตวิช เอ๊กเพรส อะไรก็แล้วแต่ ถึงแม้มันจะไม่ได้เชื่อมสองสนามบินเข้าด้วยกัน แต่มันก็ยิงตรงเข้าฮับกลางเมือง ผู้โดยสารก็โดดขึ้นอีกสายต่อไปได้เลย
แล้วเมืองไทยล่ะครับ ตอนนี้ มีแต่ ขสมก. เอ๊กเพรส ......... ผู้โดยสารที่จะต้องมาต่อเครื่องที่ดอนเมืองต้องนั่งรถฝ่าการจราจรอันติดขัด (ที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมบอกว่าติดกว่าโตเกียวอีก) เสียเวลามากมาย กว่าจะไปถึงดอนเมือง ซึ่งระบบการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินที่มีประสิทธิภาพคือระบบราง แต่ระบบรางตอนนี้มีเพียงแอร์พอร์ตลิงค์ที่มาถึงมักกะสันกับเชื่อมต่อกับ BTS เท่านั้น ยังไม่มีแววว่าจะมาถึงดอนเมือง จะให้ผู้โดยสารลงจากแอร์พอร์ตลิงค์มาต่อรถไฟฟ้าสีแดงก็ไม่ถูกต้อง เพราะความรวดเร็วและสะดวกสบายจะหายไป ผู้โดยสารต้องหอบกระเป๋าใบโต ๆ ลงจากแอร์พอร์ตลิงค์เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงร่วมกับคนที่ไป-กลับบ้าน ไม่สะดวกอย่างสิ้นเชิง
มันยิ่งไปกันใหญ่เมื่อมีการเสนอให้ดอนเมืองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศอีกครั้ง คราวนี้งงสนิทเลยล่ะครับ
... ... ...
มันอะไรกันหนักหนา? ผมถามจริง ๆ ครับว่ามันอะไรกันหนักหนา?
เลิกพูดเถอะครับว่าประเทศไทยได้เปรียบทางภูมิประเทศ ค่าใช้จ่ายในการลงจอดถูก ฯลฯ
ความได้เปรียบพวกนี้ สิงคโปร์ไม่ยักกะมี แต่ทำไมเขาทำได้?
ก็เพราะเขาไม่ได้ขยันหาจุดเด่นมาสปอยตัวเองแล้วไม่คิดจะทำอะไร แต่เขาหาจุดที่เขาคิดว่าเขาสามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ และทำจริงจัง
แต่บ้านเรา เอาแต่พูด ๆ ๆ ๆ ๆ นอกจากนั้นก็เอาแต่ทะเลาะ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนนโยบายทุก 3 เดือน
โอ่ย จะเป็นลม .........
อ้อ อีกอย่างนะครับ กรุณาอย่าพูดว่า "แหมคุณ skyman พล่ามมาขนาดนี้ ทำไมไม่ไปเป็นรมต.คมนาคมซะเองเลยล่ะ?"
ขอบอกว่า "ไม่จำเป็น" และ "ไม่ใช่หน้าที่ของผมครับ"
ผมเสียภาษี คุณเสียภาษี เราทุกคนเสียภาษี เงินภาษีนอกจากจะนำไปพัฒนาประเทศแล้ว ยังกลายเป็นเงินเดือนของท่าน ๆ ทั้งหลายที่กำลังทำงานอยู่ในตอนนั้นและตอนนี้
พูดให้ง่ายเข้าคือ ประชาชนจ่ายเงินจ้างคุณมาทำงานให้เรา ............. หรือถ้าพูดตรง ๆ ประชาชนคือนายจ้าง คุณคือลูกจ้าง
มีที่ไหนครับ ถ้าลูกจ้างทำงานไม่ดี แต่กลับมาบอกว่ามาบอกให้นายจ้างไปทำงานแทนสิ
แล้วผมจะจ้างคุณมาทำอะไรมิทราบครับ? เจออย่างงี้ถ้าผมเป็นนายจ้าง ผมไล่ออกสถานเดียว
... ... ...
ดอนเมืองมีศักยภาพสูงมากที่สุดในอาเซียน (ผมกล้าพูดได้เลยว่าสูงที่สุดในอาเซียน) ในการที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงในภูมิภาค ศูนย์ซ่อมของชางอีรับเครื่องบินได้ในขนาดกลางเท่านั้น แต่ดอนเมือง รับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้สบาย ๆ มีที่ว่างและอาคารพร้อมสรรพ มีพื้นที่สำหรับเป็นโรงงานซ่อมบำรุงไปจนถึงห้องวิจัยทางวิศวกรรมอากาศยานอย่างครบครัน โดยเฉพาะ Termnial ของดอนเมืองที่สามารถจะทำได้แม้แต่เปลี่ยนไปเป็นศูนย์การจัดงานแสดงนิทรรศการหรือจัดแอร์โชว์
กิจกรรมพวกนี้สามารถสร้างเงินให้ประเทศเป็นหมื่น ๆ ล้าน สร้างงานให้คนไทยเป็นหมื่น ๆ ตำแหน่ง แต่ผู้รับผิดชอบกลับเห็นแก่เงินแค่ไม่กี่ร้อยล้านเปิดเป็นสนามบินพาณิชย์อีกครั้ง
ถ้าดอนเมืองเป็นศูนย์ซ่อมครบวงจร ทั้งสายการบินของไทยและเครื่องบินของรัฐบาลไทยก็ไม่ต้องส่งไปซ่อมต่างประเทศ ในทางกลับกันเราสามารถรับงานซ่อมจากต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ซ่อมฟรี ๆ เขาก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้เรา
สุวรรณภูมิจำเป็นอย่างที่สุดที่จะต้องลงทุนต่อไป การที่ผู้ใช้บริการกำลังใกล้เต็มความจุไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาเปิดดอนเมืองอีกครั้ง ...... ถ้าอ้างอย่างนั้นแปลว่าทำงานไม่เป็น ........ การบริหารจัดการที่ดีจะสามารถทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนในปัจจุบันของสุวรรณภูมิยังคงไม่มีปัญหามากนัก เพื่อรอการลงทุนเฟสสอง
สุวรรณภูมิมีศักยภาพสูงมากในแง่พื้นที่ สามารถขยายออกไปได้อีกมาก ในขณะที่ดอนเมืองทำไม่ได้แล้ว การลงทุนที่ถูกต้องจะทำให้สุวสรณภูมิเป็นสนามบินที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
เมื่อทุกอย่างลงตัว สุวรรณภูมิใจะเป็นอันดับ 1 ของโลกได้ไม่ยากเลย ..... ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะอยากให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?
ผมยังอยากเห็นเราเป็นศูนย์กลางทางการบินจริง ๆ ไม่ใช่ฝันกลางวันอยู่นะครับ
ปล. วันนี้ผมเผด็จการ ห้ามคุยพูดเรื่องการเมืองเด้ดขาด ใครพูดผมลบทิ้งทั้งหมดโดยไม่ต้องให้คำอธิบายครับ
Create Date : 05 เมษายน 2551 |
|
14 comments |
Last Update : 5 เมษายน 2551 4:02:13 น. |
Counter : 2191 Pageviews. |
|
|
|