Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2548
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
1 กรกฏาคม 2548
 
All Blogs
 
คืนภูมิปัญญาไทยสู่การศึกษาของชาติ



ในโลกยุคไร้พรมแดน ที่ข่าวสารข้อมูลแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว สิ่งที่หลายประเทศหวั่นกลัวมากก็คือ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างแรงโดยศักยภาพของเทคโนโลยี แต่การต่อต้านกระแสความนิยมตะวันตกนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นอกจากจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน โดยใช้ของดีมีอยู่ที่เรียกกันว่า "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" หรือ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" แต่ในกรณีของประเทศไทย ผมขอใช้คำกลาง ๆ ว่า "ภูมิปัญญาไทย"
"ภูมิปัญญาไทย" หมายถึง "องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเลือกสรร เรียนรู้ ปรุงแต่งและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย"
ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น สร้างศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิแก่คนไทย ช่วยให้บรรพชนของไทยได้ดำรงชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินนี้มาอย่างสงบสุขเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าส่วนหนึ่งจะสูญหายไป แต่อีกส่วนหนึ่งยังคงหลงเหลือเป็นมรดกอันล้ำค่าอยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด
จากการศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยของหลายสถาบัน พบว่า ภูมิปัญญาไทยแบ่งเป็นสาขาต่าง ๆ ได้ถึงกว่า 10 สาขา ตัวอย่างเช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแพทย์แผนไทยโบราณ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น
การที่เรารับภูมิปัญญาสากลเข้ามาโดยปราศจากการเลือกสรรและละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย ได้ก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมนานัปการ มีการทำลายวัฒนธรรมและธรรมชาติไปเป็นจำนวนมาก จนเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรงตระหนักในความทุกข์ของแผ่นดิน จึงทรงเลือกนำภูมิปัญญาไทยมาใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม สามารถดับทุกข์ของพสกนิกรและสร้างความวัฒนาผาสุกให้เกิดขึ้นในทุกแห่งที่เสด็จเยี่ยม โครงการตามพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ เช่น การป้องกันน้ำท่วม โดยโครงการแก้มลิง การใช้หญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน เป็นต้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพที่อุดมด้วยภูมิปัญญารอบด้านสมกับที่ทรงเป็นองค์ภูมิปัญญาของชาติอย่างแท้จริง
ภูมิปัญญาไทยมีความสำคัญยิ่งสำหรับสังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีการรวบรวม วิจัย พัฒนา เผยแพร่ และถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ดังเช่นที่บรรพบุรุษของเราได้ทำมาหลายชั่วอายุคน เพื่อมิให้สูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย กระบวนการที่จะทำให้ภูมิปัญญาไทยฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็คือ กระบวนการศึกษา ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดก็คือ จะนำภูมิปัญญากลับสู่ระบบการศึกษาไทยได้อย่างไร
ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ประเทศไทยจะรับรูปแบบการศึกษาของตะวันตกเข้ามานั้น ภูมิปัญญาไทยมีบทบาทอย่างสูงในการจัดการศึกษามาโดยตลอด ทั้งเนื้อหาที่สอนก็เป็นภูมิปัญญาไทย และกระบวนการเรียนการสอนก็ใช้วิธีสอนแบบของไทยเช่นกัน
แต่เมื่อมีระบบโรงเรียนที่สอนความรู้แบบสากลเกิดขึ้นภูมิปัญญาไทยก็ถอยร่นไปจากระบบการศึกษาไทยจนเกือบสิ้นเชิง สาเหตุที่ทำให้ภูมิปัญญาไทยมีสภาพอย่างในปัจจุบัน คือ
ประการแรก เราได้ละเลยในเรื่องภูมิปัญญาไทยมานานโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาไม่ค่อยมีการให้เกียรติยกย่องหรือให้ความสำคัญ ในขณะที่ภูมิปัญญาสากลในต่างประเทศมีการจดทำเบียนทรัยพ์สินทางปัญญากันแล้ว
ประการที่สอง ขาดการรวบรวม ศึกษา วิจัยและพัฒนาในเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย เพื่อนำมาใช้ในวิถีชีวิตและสังคม ดังจะเห็นได้ว่า สมุนไพรไทยและการรักษาแบบโบราณมักถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะไม่มีผลการทดลองหรืองานวิจัยยืนยันที่น่าช้ำใจก็คือ สมุนไพรไทยหลายชนิด เช่น เปล้าน้อย ได้ถูกญี่ปุ่น นำไปผลิตเป็นยารักษาโรคกระเพาะแล้วส่งเข้ามาขายในเมืองไทย
ประการที่สาม ไม่มีการศึกษาในโรงเรียน การศึกษาในระบบโรงเรียนของเรามุ่งไปทางความรู้สากลแบบตะวันตกเป็นส่วนใหญ่เดิมการศึกษาภูมิปัญญาไทยมีประมาณ 80-90% แต่ปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียง 5-10 % เท่านั้น เช่น ภาษาไทย ดนตรีไทย นาฎศิลป์ไทย เป็นต้น
ประการที่สี่ ไม่มีการส่งเสริม จะไม่ค่อยได้ยินชื่อแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมภูมิปัญญาใด ๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการศึกษาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการหรือกรมที่ดูแลสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ก็ตาม
สำหรับการดำเนินงานเรื่องนี้ในต่างประเทศ หน่วยงานที่ทำอยู่คือ ยูเนสโก เพราะงานหลัก 1 ใน 3 ของยูเนสโกคือ งานวัฒนธรรมยูเนสโกได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีการสัมมนาและจัดทำเอกสารโดยใช้คำว่า "Indigenous Education" หมายถึง การศึกษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งในอัฟริกาใช้คำนี้มากที่ออสเตรเลียเวลาพูดถึงการศึกษาของเผ่าเมารีก็ใช้คำนี้เช่นกัน
นอกจากองค์การยูเนสโก ก็ยังมีการดำเนินงานของบุคคล เช่น Dr. Ocitti ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเพื่อส่งเสริมการศึกษาแบบพื้นบ้าน (Indigenous Education) ของอัฟริกาอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยใช้เวลาเกือบ 40ปีในชีวิต และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากหลายประเทศ จนมีรูปแบบการดำเนินงานที่นำไปใช้ได้ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ควรต้องเร่งศึกษาหาแนวทางว่า จะคืนภูมิปัญญาไทยสู่การศึกษาของชาติได้อย่างไร
ปัจจุบันหลายฝ่ายได้พยายามที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาไทยและนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง เช่น

1.สถาบันอุดมศึกษา เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งสถาบันไทยศึกษา สถาบันไทยคดีศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนถึงขณะนี้บางแห่งก็ยังศึกษากันอย่างจริงจังอยู่ บางแห่งก็เงียบหายไป แต่ก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีตรงที่ได้เริ่มทำการศึกษากันในระดับอุดมศึกษาบ้างแล้ว
2.สำนักงานคณะกรรมการการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เดิมเคยเน้นเฉพาะงานด้านวัฒนธรรมไทยระดับชาติ แต่ต่อมาได้ให้ความสำคัญกับระดับท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อครั้งท่านอาจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการในช่วงปี 2532-2533 ได้เริ่มฟื้นฟูเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างจริงจังมีการประชุมสัมมนาหลายครั้ง จนได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทำให้บทบาทของ สวช.ในเรื่องนี้โดดเด่นขึ้นมาก
3.กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การศึกษากับคนวัยผู้ใหญ่ในท้องถิ่นเป็นจำนวนมากทั่วประเทศก็ได้เริ่มที่จะให้มีศูนย์การเรียนชุมชน โดยจะนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีสอน
4.กรมวิชาการ นับเป็นโชคดีที่กรมวิชาการสนใจที่จะนำหลักสูตรเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียนแม้จะเพิ่มเริ่มทำได้เพียง 3 ปี ยังไม่เห็นผลว่าเป็นอย่างไรแต่กรมวิชาการก็คือหน่วยงานหลักที่จะนำเรื่องภูมิปัญญาไทยเข้าไปสู่ระบบโรงเรียน
5.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) หรือสภาการศึกษา เริ่มดำเนินการเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้ของภูมิปัญญาไทยมาได้ 5 ปีแล้ว ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งหน่วยงานภายในขึ้นเรียกว่า "สถาบันแห่งชาติว่าด้วยภูมิปัญญาไทยและการศึกษาไทย" เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมภูมิปัญญาไทย ศึกษา วิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์และพัฒนาขึ้นเป็นนโยบายแห่งชาติว่าด้วยภูมิปัญญาไทยในการศึกษา
6.ภาคธุรกิจและองค์กรเอกชน (NGO) มีหลายแห่งที่พยายามและให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดทำรายการ "ภูมิปัญญาไทย" และธนาคารศรีนครทำรายการ "รอยไทย" เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.เป็นต้น นอกจากนี้มูลนิธิหมู่บ้าน ก็ได้รวบรวมองค์ความรู้เรื่องภูมิปัญญาไทยไว้มาก โดยมีการทำงานร่วมกับผู้ทรงภูมิปัญญาสาขาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
7.สื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ ต่างก็มีรายการเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า การดำเนินงานในปัจจุบันมีลักษณะต่างคนต่างทำกันเองแบบอาสาสมัคร ไม่มีองค์กรใดเป็นศูนย์กลางและไม่มีการส่งเสริมที่เป็นรูปแบบชัดเจน บางองค์กรก็ประสบความสำเร็จบางองค์กรก็ล้มเลิกไป และในบรรดาหน่วยงานทั้ง 7 สถาบันที่กล่าวมานี้ จะพบว่าการดำเนินงานเรื่องภูมิปัญญาไม่ใช่หน้าที่หลักของหน่วยงานนั้น ๆ โดยเฉพาะเพียงแต่เป็นความสนใจของบุคคลในหน่วยงานเท่านั้น บางช่วงผู้บริหารระดับสูงก็ให้ความสนใจ แต่เมื่อผู้บริหารท่านนั้นพ้นไปกิจกรรมก็ค่อย ๆ ลดลงหรือหายไปหรือบางแห่งก็ทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับล่างเท่านั้น
ในการดำเนินงานเพื่อคืนภูมิปัญญาไทยสู่การศึกษาไทยนั้น ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ

1. จำเป็นจะต้องเพิ่มการรวบรวม การศึกษาและการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยให้ครบถ้วน เรื่องไหนที่ยังไม่ชัดเจน ก็ต้องศึกษาและวิจัยเพิ่มขึ้น
2. ต้องกำหนดความหมายเชิงปฏิบัติการของ คำว่า "ภูมิปัญญาไทย" เพื่อให้เข้าใจตรงกัน สามารถสื่อสารกันได้
3. กำหนดนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา การนำภูมิปัญญากลับสู่การศึกษาในอดีตที่ผ่านมานั้น เรานึกถึงการศึกษาในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้การศึกษาของเราแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนั้น การถ่ายทอดภูมิปัญญาอาจทำได้โดย 3 ระบบ ดังในภาพต่อไปนี้
3.1 การศึกษาตามอัธยาศัย สนับสนุนให้สื่อมวลชนและครอบครัวมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมและให้การศึกษาเรื่องภูมิปัญญาไทย โดยรัฐให้การสนับสนุน
3.2 การศึกษาในระบบโรงเรียน กำหนดให้มีฝ่ายภูมิปัญญาไทยในสถานศึกษาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เหมือนที่มหาวิทยาลัยตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา เพื่อให้มีหน่วยงานที่รองรับและนำไปปฏิบัติได้ และต้องเทียบความรู้ความสามารถของผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาไทยให้เท่ากับครูที่มีวุฒิการศึกษา ปัจจุบันนี้ ครูภูมิปัญญา เช่น ครูดนตรีไทยที่เก่งที่สุดแต่มีพื้นการศึกษาในระบบโรงเรียนเพียงระดับประถม แม้จะศึกษาด้วยตนเองจนเก่งกว่าคนจบปริญญาทางดนตรี จะได้รับการบรรจุเป็นเพียงภารโรงเพื่อสอนดนตรีไทยทำให้ศักดิ์ศรีต้อยต่ำกว่าและค่าตอบแทนต่ำกว่าครูในระบบอย่างมาก
3.3 การศึกษานอกระบบโรงเรียน ควรจะมีการตั้งศูนย์การเรียนเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเชิญผู้ที่เรายกย่องแล้วว่าเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาไทยมาทำหน้าที่ถ่ายทอด และอาจจะใช้บ้านหรือสวนของท่านเป็นศูนย์การเรียน มีหลักสูตรการสอน สื่อการสอนที่เน้นของจริง การสอนเน้นการปฏิบัติ มีค่าตอบแทนให้กับผู้สอนเช่นเดียวกับครูในระบบโรงเรียน และมีการเทียบโอนรายวิชาระหว่างการศึกษานอกระบบโรงเรียนกับในระบบโรงเรียน

ใน 3 รูปแบบนี้ ปัจจุบันการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นระบบที่แข็งที่สุดแต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ การถ่ายโอน การรับรองและการเทียบความรู้ ภูมิปัญญาไทย จากนอกโรงเรียนให้เท่าเทียมกับความรู้ในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นระบบ จึงจำเป็นต้องสร้างระบบให้มีการยอมรับความเท่าเทียมกันของเนื้อหาวิชา สามารถถ่ายโอนการเรียนจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่งได้ เพื่อที่ว่าภูมิปัญญาไทยจะได้รับการยอมรับ ไม่รู้สึกว่าต่ำต้อยกว่าภูมิปัญญาสากล
4. กองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทย การดำเนินการจำเป็นต้องมีเงินสนับสนุน ฉะนั้น ควรมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ สภาการศึกษาเองได้สนับสนุนโดยมีกองทุนให้เป็นเบื้องต้น แต่ถ้าสามารถทำนโยบายที่ดีออกมาได้ อาจได้รับงบประมาณสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2541
5. สถาบันแห่งชาติว่าด้วยภูมิปัญญาและการศึกษาไทย สภาการศึกษามีความคิดที่จะตั้งสถาบันนี้ขึ้นมาดูแล โดยไม่มีความประสงค์ที่จะผูกขาดไว้กับระบบราชการ ถ้าเป็นไปได้ก็เพียงแต่ช่วยจัดตั้งให้ แต่ต่อไปควรให้เป็นหน่วยงานอิสระที่บริหารโดยกลุ่มนักวิชาการที่สนใจเรื่องภูมิปัญญาไทย ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง
สภาการศึกษาเห็นว่า เรื่องภูมิปัญญากับการศึกษามีความสำคัญ จึงได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยจะศึกษารวบรวมข้อมูลและจัดประชุมสัมมนารวบรวมความคิดเห็น เพื่อยกเรื่องการสอนภูมิปัญญาไทยในระบบการศึกษาขึ้นเป็นนโยบายระดับชาติ
ในอนาคตจะจัดให้มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติว่าด้วยเรื่องภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาไทย เป็นโครงการที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ภูมิปัญญาของแผ่นดิน เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ
การดำเนินงานของสภาการศึกษาทั้งหมดนี้ ก็ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะคืนภูมิปัญญาไทยสู่การศึกษาไทยให้ทัดเทียมความรู้แบบตะวันตกที่มีอยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบัน ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าได้พัฒนาภูมิปัญญาไทยให้เป็นสินค้าส่งออก เช่น สมุนไพรต่าง ๆ จะกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่สามารถช่วยแก้ความโง่และความจนของคนไทยทั้งประเทศได้
หากท่านผู้อ่านมีความคิด ความเห็น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้านก็ตาม และหากท่านมีโครงการหรือมีการดำเนินการเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยและการศึกษาไทย ก็กรุณาช่วยเขียนและเสนอแนะมาด้วย เพื่อเราจะได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายที่จะช่วยกันนำภูมิปัญญาไทยกลับสู่ระบบการศึกษาของชาติ เพื่อลูกหลานของเราจะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทยที่ไม่ได้ฉลาดน้อยไปกว่าคนชาติอื่นเลย เราจะเป็นชาติที่อยู่ในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่างมีศักดิ์ศรี

มาช่วยกันเถิดครับ
โดย
ดร.รุ่ง แก้วแดง



Create Date : 01 กรกฎาคม 2548
Last Update : 1 กรกฎาคม 2548 4:24:21 น. 4 comments
Counter : 807 Pageviews.

 
เราก็รักษ์ความเป็นไทยเหมือนกันค๊า


โดย: ยัยแก้มบุ๋ม : ) วันที่: 1 กรกฎาคม 2548 เวลา:7:41:45 น.  

 
มารับฟัง และสนับสนุนอย่างแรง ขอให้มีใครเหมือนคุณหลายๆคน


โดย: ตี่ (tobetwo99 ) วันที่: 1 กรกฎาคม 2548 เวลา:9:35:14 น.  

 
เด็กฉลาด ชาติเจริญ


โดย: merf1970 วันที่: 1 กรกฎาคม 2548 เวลา:14:16:47 น.  

 
รักษ์ไทยเหมือนกันค่ะ ก็เราเป็นคนไทยควรรักษารากไทยไช่มั๊ยค่ะ


โดย: ครูภรณ์ IP: 117.47.235.246 วันที่: 28 กรกฎาคม 2553 เวลา:22:44:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sivilize
Location :
สุราษฏร์ธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรารักษ์ความเป็นไทย ยินดีต้อนรับ ทุกๆ ชน เข้าสู่ Sivilize.Bloggang "เรารักษ์ความเป็นไทย"

















Friends' blogs
[Add sivilize's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.