"ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ..........อหึสา สญฺญโม ทโม..........ส เว วนฺตมโล ธีโร..........โส เถโรติ ปวุจฺจติ" ส่วนผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีสัญญมะ มีทมะ ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์สลัดมนทินได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่..พุทธศาสนสุภาษิต
ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกครับ...เปิดตัวเมื่อวันที่ 24/11/2552 ยังคงมีการปรับแต่งอยู่บ้างในบางจุด ดังนั้นหากเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ และหากเป็นไปได้รบกวนแจ้งให้ผมทราบด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ หากพบข้อผิดพลาดกรุณา คลิกที่นี่.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

พุทธปรัชญาในอภิธรรมปิฎก ตอนที่ ๒ ความจริงสองอย่าง บทบาทของภาษาในการรับรู้

พุทธปรัชญาในอภิธรรมปิฎก ตอนที่ ๒


๑.๒  บทบาทของภาษาในการรับรู้


สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของมนุษย์อย่างแยกไม่ออกคือภาษา พระพุทธองค์เมื่อทรงท่องเที่ยวไปเพื่อประกาศสิ่งที่ทรงค้นพบจากการตรัสรู้ก็ทรงตระหนักดีถึงอิทธิพลของภาษาที่มีต่อความคิดของผู้คน ดังนั้นในที่บางแห่งในพระสูตร เราจะพบข้อความที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเป็นเชิงเตือนว่าเวลาที่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระองค์ ผู้ฟังจะต้องเข้าใจว่าทรงสอนโดยอาศัยภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างร่วมกันมายาวนาน เป็นไปไม่ได้ที่จะสอนสิ่งที่ทรงค้นพบนอกภาษาที่ใช้กันอยู่ แต่เนื่องจากภาษานั้นบางครั้งก็มีส่วนในการบิดเบือนความจริง จึงได้ทรงเตือนว่าบางครั้งก็เป็นหน้าที่ของผู้ฟังที่จะแยกแยะว่าตรงนั้นตรงนี้ไม่ควรเข้าใจสิ่งที่ทรงสอนตามตัวอักษร ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ ขอให้พิจารณาพระพุทธวจนะที่ตรัสตอบคำถามต่อไปนี้


ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันสิ้นสุดแล้ว ภิกษุนั้นจะยังกล่าวว่า "เราพูด" บ้าง "คนทั้งหลายพูดกับเรา" บ้างหรือไม่


ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันสิ้นสุดแล้ว ภิกษุนั้นยังกล่าวว่า "เราพูด" บ้าง "คนทั้งหลายพูดกับเรา" บ้าง แต่ภิกษุนั้นฉลาดรู้เท่าทันคำพูดในโลก เธอกล่าวไปก็ตามสมมติที่พูดกันเท่านั้น


ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันสิ้นสุดแล้ว ภิกษุนั้นยังติดมานะหรือหนอ จึงกล่าวว่า "เราพูด" บ้าง "คนทั้งหลายพูดกับเรา" บ้าง


กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลาย มิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะเสียแล้ว มานะและคันถะทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดี ล่วงเสียแล้วซึ่งความหมายมั่นยึดติด ภิกษุนั้นแม้จะยังกล่าวว่า "เราพูด" บ้าง "คนทั้งหลายพูดกับเรา" บ้าง แต่ภิกษุนั้นฉลาดรู้เท่าทันคำพูดในโลก เธอกล่าวอย่างนั้นก็ตามสมมติที่พูดกันเท่านั้นเอง[1]


               


จากข้อความข้างต้น ผู้ถาม (ซึ่งตามคัมภีร์ระบุว่าเป็นเทวดาองค์หนึ่ง) สงสัยว่าตามคำสอนของพระพุทธองค์ พระอรหันต์คือผู้ที่หยั่งเห็นความจริงของโลกและหนึ่งในความจริงเหล่านั้นก็คือ ไม่มีสิ่งที่เราสมมติเรียกว่า "เรา" และ "เขา"  (ตามหลักอนัตตา) ปัญหามีว่าเมื่อเข้าใจความจริงเช่นนั้นแล้ว พระอรหันต์จะยังพูดกับคนทั้งหลายด้วยภาษาที่ระบุว่ามี "ฉัน" มี "คุณ" เป็นต้นหรือไม่ ทรงตอบว่าพระอรหันต์จะยังใช้ภาษาเหมือนกับที่คนทั้งหลายใช้ ผู้ถามจึงได้ถามต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าพระอรหันต์ยังมีมานะ (คือมี ego-instinct) อยู่ใช่หรือไม่ ทรงตอบว่าไม่ใช่ การใช้ภาษาของพระอรหันต์ต่างจากการใช้ภาษาของคนธรรมดาทั่วไปตรงที่ แม้จะใช้คำที่ระบุตัวตน (เช่นเมื่อกล่าวถึงตัวเองก็ใช้คำว่า "ฉัน” เมื่อกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ก็กล่าวเสมือนว่าสิ่งเหล่านั้นมีตัวตนจริงเช่นมีคนชื่อนายสมภาร มีสุนัขชื่อสีหมอก มีดอกไม้ชื่อดอกกุหลาบเป็นต้น) ดังเช่นคนทั่วไป แต่ท่านจะไม่รู้สึกว่ามีตัวตนอยู่เบื้องหลังคำเหล่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หากเราเข้าใจว่าการใช้ภาษาเป็นการเล่นเกมดังที่ Wittgenstein กล่าว พระอรหันต์ก็เล่นเกมภาษาคนละเกมกับเราที่เป็นคนทั่วไป คำเดียวกันที่เรากับพระอรหันต์ใช้มิได้มีความหมายอย่างเดียวกันเลย ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปเท่านั้นที่เล่นเกมภาษาเดียวกัน (และก็เช่นเดียวกัน พระอรหันต์ด้วยกันเท่านั้นที่เล่นเกมภาษาเดียวกัน)


ทัศนะของพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องภาษาที่ใช้โดยบุคคลธรรมดากับบุคคลที่ "หลุดพ้น" แล้วตามที่กล่าวมาข้างต้นมีความหมายแฝงที่สำคัญประการหนึ่งคือภาษาที่ใช้โดยคนธรรมดาทั่วไปนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงในโลกแห่งความเป็นจริง นักสังคมศาสตร์ที่ศึกษาสังคมมนุษย์โดยมุ่งความสนใจไปที่เรื่องภาษาพบว่า "ภาษา" ที่มนุษย์ในแต่ละสังคมใช้จะมีความสัมพันธ์กับ "ความคิด" ของคนในสังคมนั้นๆ[2] ในสังคมที่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยังมีสภาพล้าหลังใกล้เคียงกับสภาพที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นสภาพของมนุษย์สมัยบรรพกาล จะพบว่าภาษาที่คนในสังคมนั้นใช้จะมีคำที่จำกัด ในทางตรงกันข้ามประเทศที่เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมเช่นจีนและอินเดีย ภาษาที่ใช้จะมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนกว่าภาษาของประเทศที่มิได้เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมปรากฏการณ์เรื่องภาษาที่สัมพันธ์กับความคิดของคนนี้บางส่วนเราที่เป็นคนธรรมดาก็สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์สร้างภาษาขึ้นแล้วภาษานั้นก็กลับมามีอิทธิพลต่อมนุษย์เอง ภาษามีศักยภาพทางบวกคือช่วยให้มนุษย์สื่อสารความคิดของตนเองไปยังคนอื่นได้ ในขณะเดียวกันภาษาก็มีศักยภาพทางลบที่อาจสร้างมายาภาพบางอย่างให้เกิดแก่มนุษย์ทั้งที่เป็นผู้สื่อสารและผู้รับสาร ศักยภาพอย่างหลักของภาษานี้เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงตระหนักมากและพยายามที่จะเตือนสาวกของพระองค์ให้รู้เท่าทันภาษา สิ่งที่เราซึ่งไม่ใช่คนอินเดียควรตระหนักอีกอย่างหนึ่งเวลาศึกษาท่าทีของพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องภาษาคือ พุทธศาสนานั้นเกิดในอินเดียอันเป็นดินแดนที่ภาษาได้รับการพัฒนาให้ละเอียดลึกซึ้งมาก ยิ่งภาษาลึกซึ้งเท่าใด ศักยภาพของภาษาทั้งสองด้านที่กล่าวมาข้างต้นยิ่งมีอย่างลึกซึ้งมากเท่านั้น ซึ่งก็แปลว่าภาษาที่พระพุทธองค์ทรงประสบอยู่ในเวลานั้นเราต้องเข้าใจว่าเป็นภาษาที่อาจก่อให้เกิดมายาภาพที่ลึกซึ้งแก่มนุษย์ ในทางกลับกันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในท่ามกลางดินแดนที่มีภาษาที่อาจก่อให้เกิดความยึดมั่นในมายาภาพที่ลึกซึ้งเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นงานที่ยากลำบากขึ้นไปด้วย


เมื่อกล่าวร่วมกับการรับรู้ ภาษานั้นมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการรับรู้อยู่หลายขั้นตอน แรกที่สุด เมื่อข้อมูลบริสุทธิ์ปรากฏแก่อายตนะและกำลังเข้าสู่การแปลความหมายโดยสัญญา ภาษาจะมีส่วนในการแปลความหมาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราได้ยินเสียงบางอย่างในป่า ตอนแรกที่เสียงนั้นปรากฏก็เป็นเพียงข้อมูลที่บริสุทธิ์ ต่อมาสัญญาก็แปลความหมายเสียงนั้นทำให้เรารู้ว่าเป็นเสียง “นก” การวินิจฉัยว่าเป็นเสียงนกนี้แยกไม่ออกจากภาษา เพราะก่อนหน้านั้นเรามีประสบการณ์ว่าเสียงชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทของเสียงสัตว์ที่ภาษาของเราเรียกว่า “นก” เมื่อภาพของนกอันมีภาษาเป็นตัวกำหนดความหมายและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องก้าวเข้ามาสู่การรับรู้ของเรา เสียงนั้นก็อาจขยายความให้เกิดจินตนาการปรุงแต่งตามอำนาจของสังขารต่อไปได้มากมาย เช่น เราอาจรู้สึกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเพราะนกที่เราได้ยินเสียงนั้นเป็นนกที่ตำรากล่าวว่าจะมีก็เฉพาะในป่าที่อุดมสมบูรณ์มากๆ เท่านั้น เราอาจจินตนาการเห็นก้อนเมฆสีดำที่ก่อตัวเหนือป่าทึบ เราอาจจินตนาการเห็นสายฝนที่พร่างพรมรดผืนป่าอยู่ยาวนานหลายเดือนในช่วงฤดูฝน จินตนาการถึงกลิ่นดินที่เปียกชื้น กลิ่นดอกไม้ป่า และเสียงลำธารใสสะอาดที่ไหลริน... ภาพเหล่านี้ทยอยเข้ามาสู่กระแสการรับรู้ของเราด้วยอำนาจของภาษา การเรียนวรรณคดีนั้นมีจุดประสงค์หนึ่งคือการกระตุ้นจินตนาการของมนุษย์ โดยเราเข้าใจว่าจินตนาการที่ละเอียดละไมจะช่วยหล่อหลอมจิตใจของผู้คนให้ละเอียดอ่อน คนที่ตลอดชีวิตไม่ชอบอ่านหนังสือดีๆ เชื่อกันว่าจิตใจจะกระด้างกว่าเขาในสภาพที่ได้รับการกล่อมเกลามาด้วยภาษาที่งดงามของวรรณคดี


ในประเทศอินเดียสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ปรัชญาฮินดูได้สนใจศึกษาค้นคว้าหาความเร้นลับที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์มาก ดังจะเห็นได้จากคัมภีร์อุปนิษัทเล่มที่มีอายุเก่าแก่มากๆ[3] การตรึกตรองส่วนหนึ่งที่ปราชญ์ฮินดูสมัยนั้นเพ่งไปหาก็คือ มีอะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางจิตเช่นการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ ของมนุษย์ เป็นต้น ปราชญ์ฮินดูเหล่านี้เชื่อว่าจะต้องมีอะไรบางอย่างภายในตัวเราที่ทำหน้าที่เป็น “เจ้าของ” ประสบการณ์ที่ว่านั้น แนวคิดเรื่องเจ้าของในที่นี้มาจากอะไร ก็มาจากการวิเคราะห์ภาษาที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง ในภาษาที่เราใช้ เมื่อกล่าวถึงกิริยาอาการหรือการกระทำใดๆ ก็ตามแต่ กิริยาอาการหรือการกระทำนั้นจะต้องมีเจ้าของ เช่นเรากล่าวถึงการวิ่ง การวิ่งจะมีไม่ได้ถ้าไม่มีผู้วิ่งซึ่งอาจเป็นคน รถ หรืออะไรก็ได้สิ่งนั้นแหละที่เป็นเจ้าของกิริยาอาการหรือการกระทำนั้น ในทำนองเดียวกันเมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการรู้รส เป็นต้น นักคิดในศาสนาฮินดูก็ใช้เหตุผลในทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ ผลของการประยุกต์ใช้ก็นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างในตัวเราที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของประสบการณ์ทางจิตเช่นการได้เห็น ได้ยิน เป็นต้นที่กล่าวมาแล้ว ปราชญ์เหล่านี้สมมติคำขึ้นคำหนึ่งสำหรับเรียกเจ้าของประสบการณ์ทางจิตที่ว่านี้ คือคำว่า “อาตมัน” จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าการใช้เหตุผลเพื่อเข้าถึงความจริงของมนุษย์นั้นแยกไม่ออกจากภาษา ในสมัยพุทธกาลและก่อนหน้านั้นมีศาสนาหลักที่สำคัญของอินเดียคือศาสนาฮินดูที่ได้นำเสนอหลักความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลและชีวิตมนุษย์เอาไว้มากมายและหลายอย่างก็ลึกซึ้งน่าคิด กระบวนการที่ทำให้เกิดความเชื่อทางปรัชญาเหล่านี้มาพุทธศาสนาวิเคราะห์ว่าเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากการใช้ภาษา แม้ในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่เราก็จะพบอิทธิพลชองการใช้ภาษาที่มีต่อแนวคิดทางปรัชญาได้เสมอ ข้อความลือชื่อของ Descartes ที่ว่า “ฉันคิด ดังนั้นฉันมีอยู่” (I think, therefore, I am) ก็มาจากอิทธิพลของภาษาอย่างเดียวกับที่ก่อให้เกิดความเชื่อในเรื่องอาตมันของศาสนาฮินดู สำหรับ Descartes เมื่อมี “การคิด” (thinking) เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มี “ผู้คิด” (thinker)


การหนีไปให้พ้นจากอิทธิพลของภาษานั้นเป็นปริศนาว่ามนุษย์สามารถกระทำได้หรือไม่ แต่คุณูปการอันสำคัญอย่างหนึ่งที่พุทธศาสนาได้มองให้แก่มนุษย์ชาติก็คือความเชื่อที่ว่ามนุษย์เราสามารถที่จะหนีไปให้พ้นจากอำนาจของภาษาได้ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเข้าใจว่าพุทธศาสนามองว่าภาษาเป็นสิ่งชั่วร้าย ภาษานั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการสื่อสารความคิดระหว่างมนุษย์ เราละทิ้งภาษาไม่ได้ สิ่งที่เป็นปัญหาในภาษาที่พุทธศาสนาพยายามชี้ให้เรามองเห็นก็คือ ความหลงยึดติดว่าอะไรก็ตามแต่ที่ภาษาชี้ไปหาจะต้องเป็นจริงตามนั้น จากพระพุทธวจนะที่ยกมาข้างต้นเราจะเห็นว่าพระอรหันต์ก็ดี พระพุทธองค์เองก็ดี ยังต้องใช้ภาษาสำหรับสื่อสารกับมนุษย์คนอื่นๆ ในสังคม ภาษาไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง แต่ปัญหาอยู่ที่การไม่รู้เท่าทันมายาภาพที่ภาษาอาจจะสร้างให้แก่เราผู้ใช้ภาษานั้นต่างหาก


ที่มา : พุทธปรัชญาในอภิธรรมปิฎก...อ.สมภาร พรหมทา






[1] สํ.ส.๑๕/๖๔-๖๗.




[2]  สำหรับผู้สนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความคิดของมนุษย์ ขอแนะนำให้อ่าน Peter Carruthers and Jill Boucher, eds., Language and Thought : Interdisciplinary Themes (Cambridge : Cambridge University Press, 1988). หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความเกี่ยวกับภาษาและความคิดของมนุษย์จากมุมมองของศาสตร์สามสาขาคือ ปรัชญา จิตวิทยา และภาษาศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ




[3] รายละเอียดเกี่ยวกับพัฒนาการทางความคิดของศาสนาฮินดูในช่วงก่อนพุทธกาลและร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าดู Wm. Theodore de Barry, ed., Sources of Indian Tradition (Delhi : Motilal Bararsidass, 1963), chapters I-III.






 

Create Date : 26 สิงหาคม 2554
0 comments
Last Update : 26 สิงหาคม 2554 14:56:30 น.
Counter : 1393 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศิรัสพล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จำนวนผู้เข้าชมบล็อก : คน
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : คน
Friends' blogs
[Add ศิรัสพล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.