Group Blog
 
<<
มีนาคม 2560
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 มีนาคม 2560
 
All Blogs
 

อาการปวดท้องน้อย










ท้องน้อยอยู่ตรงไหน ?

ท้องน้อยอยู่ตรงบริเวณส่วนท้องตอนล่าง (บริเวณใต้สะดือ) เป็นที่อยู่ของอวัยวะสำคัญ ๆ อย่างลำไส้เล็ก (small intestine), ลำไส้ใหญ่ (large intestine), มดลูก (uterus), รังไข่ (ovaries), ช่องคลอด (vagina), กระเพาะปัสสาวะ (bladder), ท่อปัสสาวะ (urethra) ในผู้ชายยังมีองคชาต (penis), ต่อมลูกหมาก (prostate gland),  หลอดนำอสุจิ (vas deferens) และอัณฑะ (testicle) และด้วยสรีระของผู้หญิงที่ซับซ้อนกว่าผู้ชายทำให้ผู้หญิงมีโอกาสปวดท้องน้อยมากกว่าผู้ชาย

ปวดท้องน้อยมี่กี่ประเภท ?

ในทางการแพทย์แบ่งอาการปวดท้องน้อยได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน (Acute pelvic pain) และอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain) 




ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ส่งสัญญาณโรคอะไรบ้าง ?

อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน (Acute Abdomen) เป็นอาการปวดแบบรุนแรงทันทีทันใด มักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุ อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมทั้งในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อย เช่น

1. โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease; PID) 

คือ การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบนของสตรี ได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ และอวัยวะใกล้เคียง โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นคำเรียกกว้าง ๆ ของโรคนี้ แต่ถ้าทราบว่ามีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งแน่ชัดก็อาจจะระบุให้ชัดไปเลย เช่น ปีกมดลูกอักเสบ รังไข่อักเสบ ผนังมดลูกอักเสบ เป็นต้น

โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากชอบเปลี่ยนคู่นอน และมีอาการปวดท้องน้อยทั้งสองข้างก่อนและหลังมีประจำเดือนแบบหน่วง ๆ ตลอดเวลา บางครั้งอาจปวดเกร็งเป็นระยะ และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือมีเพศสัมพันธ์ มีไข้ ตกขาวมากผิดปกติ สีเหลืองคล้ายหนอง ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะโรคนี้รักษาหายได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ต้องรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มีลูกยาก หรือท้องนอกมดลูกในอนาคตได้


2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

ถ้ามักมีอาการปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะ โดยเฉพาะเมื่อปัสสาวะสุด อีกทั้งยังปัสสาวะบ่อยขึ้น การปวดท้องน้อยกรณีนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะ คนที่ชอบกลั้นปัสสาวะนาน ๆและมีอาการนี้ควรรีบไปรักษา เพราะถ้าปล่อยให้โรคลุกลามมากขึ้นอาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบ หรือโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้



3. ถุงน้ำรังไข่บิดขั้ว หรือ ถุงน้ำรังไข่แตก (Twisted or ruptured ovarian cyst) 

โรคนี้จะทำให้รู้สึกปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันในด้านที่มีรังไข่บิดขั้ว โดยจะปวดเป็นพัก ๆ ในระยะแรก ๆ มักรู้สึกปวดเวลาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หากรังไข่บิดขั้วมานานอาจมีอาการไข้ ร่วมกับอาการปวดท้องไปทั่วช่องท้องที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหากมีการบิดรุนแรงมากขึ้น จะทำให้รังไข่คั่งเลือด หากถุงน้ำรังไข่แตก จะทำให้เส้นเลือดฉีกขาดจนเลือดตกในท้องเป็นอันตรายถึงชีวิต กรณีนี้ต้องรีบผ่าตัดโดยด่วน





4. ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)


ไส้ติ่งอักเสบเป็นอีกหนึ่งอาการที่ทำให้รู้สึกปวดท้องน้อย โดยมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยด้านขวาล่าง ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ปวดตรงบริเวณสะดือ ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง แถมยังรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกปวดเวลาท้องน้อยด้านขวาถูกกระเทือนหรือถูกกดด้วย บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ และหนาวสั่น ซึ่งถ้าใครมีอาการเช่นนี้ แนะนำว่าให้รีบไปหาหมอทันที เพราะถ้าช้าไส้ติ่งอาจจะแตก ทำให้เชื้อโรคกระจายเข้าสู่ช่องท้อง ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้ 





5. ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่รู้สึกปวดท้องน้อยด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านที่ตัวอ่อนฝังตัวนอกโพรงมดลูก) อย่างมากจนจะเป็นลม หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย (คล้ายประจำเดือนแต่มีปริมาณน้อยกว่า) และอาจมีประวัติขาดประจำเดือนมาก่อน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้คุณแม่ต้องรีบไปหาหมอโดยด่วน เพราะนี่เป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก ซึ่งถ้าปล่อยให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตนอกมดลูกต่อไป อาจทำให้อวัยวะฉีกขาด เลือดออกในช่องท้อง เป็นอันตรายถึงชีวิต

ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงท้องนอกมดลูกได้แก่ คนที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน เคยได้รับการผ่าตัดทางช่องท้อง เคยใช้ยาหรือเทคนิคการกระตุ้นให้ไข่ตก เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือเคยมีประวัติสำส่อนทางเพศ รวมทั้งคนที่มีนิสัยชอบสูบบุหรี่ เคยใช้ห่วงยางคุมกำเนิด และตั้งครรภ์ในช่วงอายุมากกว่า 35 ปี

นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ยังมีอาการและโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันได้ เช่น ท้องผูก (Constipation), โรคลำไส้อุดตัน (Bowel obstruction), การบาดเจ็บที่เส้นเอ็น (Strained tendons), ภาวะติดเชื้อ, (Septic) และโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) ถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นอะไร ควรไปหาหมอเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียด




ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ส่งสัญญาณโรคอะไรบ้าง ?

ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถือว่าเราเป็นโรคปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic pelvic pain)  ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ เช่น ต้องลาป่วย ลางาน หรือในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นต้องออกจากงาน ทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจตามมาได้ อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่พบได้บ่อย ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง

1. อาการหงุดหงิดขั้นรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS)

อาการปวดท้องน้อยในช่วงประมาณ 7-10 วันก่อนมีประจำเดือน ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขัดใจ แบบนี้แสดงว่าอาการปวดท้องน้อยที่เป็น คือกลุ่มอาการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome) ซึ่งเมื่อประจำเดือนมา อาการปวดท้องน้อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหมดไปเอง

แต่ถ้าปวดท้องน้อยแล้วมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ มากผิดปกติ เครียดจัด โมโหร้าย ร้องไห้บ่อย ๆ หรืออาจมีอาการซึมเศร้าในบางครั้ง ร่วมกับอาการทางกายอื่น ๆ อย่างปวดหัวรุนแรง คัดเต้านมมาก ๆ ขาดสมาธิจนเสียงาน ควรไปพบแพทย์เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) ซึ่งควรได้รับการรักษา เพื่อจะได้ไม่กระทบกับตัวเองและคนรอบข้างที่อาจรับอารมณ์ที่แปรปรวนของคุณไม่ทัน




2. ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

ปวดประจำเดือนเป็นอาการที่พบประจำเมื่อถึงช่วงนั้นของเดือน โดยจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ แถวท้องน้อย หรือปวดบิดเป็นระยะ เนื่องจากมดลูกรัดตัว โดยทั่วไปจะมีอาการปวดมากภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจปวดนาน 2-3 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน และอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด คลื่นไส้  อาเจียน ปวดบั้นเอว ปกติแล้วการปวดประจำเดือนไม่อันตราย แนะนำว่าถ้ารู้สึกปวดมากให้กินยาแก้ปวด หรือ หากระเป๋าน้ำร้อนมาประคบบริเวณหน้าท้อง จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น 

3. ปวดท้องจากตกไข่ (Painful Ovulation)

ประจำเดือนก็หมดไปหลายวันแล้ว แต่ทำไมยังรู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยอยู่ อาการปวดท้องน้อยที่มักเกิดช่วงกลาง ๆ ของรอบประจำเดือนแบบนี้ (ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมารอบถัดไป) และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย เกิดจากการตกไข่ ซึ่งเป็นอาการปวดชั่วคราวและไม่รุนแรงให้น่าวิตกอะไร นอนพักผ่อนหรือทานยาแก้ปวดก็หายได้ เว้นเสียแต่ว่ามีอาการตกไข่ใกล้เส้นเลือด เกิดผนังรังไข่ฉีกขาด ทำให้เส้นเลือดขาด จะทำให้เลือดออกในช่องท้องซึ่งเป็นอันตรายได้ แต่กรณีแบบนี้พบได้น้อยมาก 




4. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติถ้ารู้สึกปวดท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน แต่ถ้าอาการปวดนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนมีเข็มแทง หรือปวดเกร็งในช่องท้อง จนต้องขาดเรียน ขาดงานเป็นประจำ แถมยังรู้สึกปวดร้าวไปถึงหลัง เอว ก้นกบ หน้าขา ร่วมกับมีอาการท้องอืด ท้องบวม ท้องเสีย ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติ หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บท้องน้อยหรือมดลูกขณะมีเพศสัมพันธ์ คุณอาจจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เพราะอาการปวดนั้นเกิดจากเลือดที่ถูกสร้างโดยเยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถขับออกมาได้ และมักจะปวดมากขึ้นทุก ๆ เดือน บางครั้งอาจเห็นเป็นถุงน้ำที่มีเลือดอยู่ภายในที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ กรณีนี้อาจต้องไปตรวจภายในดู และควรรีบรักษาเพราะอาจมีผลกระทบต่อไปยังอวัยวะภายในอื่น ๆ และนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากด้วย





5. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome: IBS)

อาการปวดท้อง แน่นท้อง บริเวณท้องน้อยด้านซ้ายหรือขวาร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออาจมีทั้งท้องผูกท้องเสียสลับกัน เวลาท้องเสีย มักเป็นช่วงเช้าหรือหลังทานอาหาร แต่ถ้าท้องผูกอาจเป็นเพียงวันเดียวหรือนานเป็นเดือน บางครั้งท้องไส้ปั่นป่วน มีแก๊ส อยากเรอ อาเจียน คุณอาจจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวนก็ได้ ซึ่งโรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่จะใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาระบาย ยาลดอาการปวดเกร็ง ยาคลายกังวล ยาแก้ท้องเสีย ถ้าใครเป็นโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ เช่น อาหารรสจัด อาหารมัน ๆ  ชา กาแฟ รวมทั้งความเครียดด้วย



6. กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ชวนสับสนกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดา เพราะนอกจากชื่อจะคล้ายกันแล้ว อาการของโรคยังคล้ายกัน คือ ปวดปัสสาวะบ่อย ๆ มากกว่า 4-7 ครั้งต่อวัน แต่กลับปัสสาวะออกน้อย ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะจะหมด ปัสสาวะออกมามีเลือดปนเหมือนกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบธรรมดาด้วย

สำหรับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบธรรมดานั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชายเนื่องจากมีท่อปัสสาวะสั้นกว่า ซึ่งจะต่างกับสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใด ๆ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจากผนังกระเพาะปัสสาวะมีรูรั่วทำให้สารเคมีในปัสสาวะหลุดรอดเข้าไปทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง, ภูมิคุ้มกันตัวเราโจมตีกระเพาะปัสสาวะ  หรืออาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองการแพ้ รวมทั้งพันธุกรรม ก็อาจเป็นสาเหตุให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน 

เราไม่สามารถแยกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบออกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังได้เอง ฉะนั้นถ้าเราปวดปัสสาวะบ่อย ๆ ปัสสาวะแสบขัด ควรไปหาหมอจะดีกว่า ซึ่งหมอจะตรวจปัสสาวะ หรือส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูความผิดปกติ ถ้าไม่พบการติดเชื้อก็อาจเป็นไปได้ว่าเราเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง

เนื่องจากโรคนี้ยังมีสาเหตุไม่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีการรักษาแน่นอน เบื้องต้นคุณหมออาจจะให้เราลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาบน้ำอุ่นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายเราผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในควันบุหรี่ที่หายใจเข้าไปตอนสูบบุหรี่นั้น จะทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง 

นอกจากนี้ยังควรงดอาหารบางชนิดที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาหารรสเผ็ด ช็อกโกแลต เป็นต้น แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นคุณหมอจะรักษาโดยการให้ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาที่รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ อีก เช่น ฝึกการควบคุมการขับถ่าย เพื่อที่จะไม่ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อยเกินไป  อย่างไรก็ตามถ้ารักษาวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผลแล้ว คุณหมอจะเลือกผ่าตัดเป็นวิธีสุดท้าย





7. ไส้เลื่อน (Hernia)


ไส้เลื่อนคือ อาการที่ลำไส้เคลื่อนที่ผิดตำแหน่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง ถ้าผิดที่อยู่ในช่องท้องเรียกว่าไส้เลื่อนภายใน แต่ถ้าเคลื่อนจนกระทั่งตุงออกมาให้เห็นภายนอกเรียกว่า ไส้เลื่อนภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง ทั้งบริเวณขาหนีบ ต้นขา ผนังหน้าท้อง และรอยแผลผ่าตัด

อาการต้องสงสัยที่จะบอกว่าเราปวดท้องน้อยเพราะเป็นไส้เลื่อนหรือเปล่า ให้ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกปวดถ่วง ๆ เวลายืนหรือเดินไหม และมีอาการเจ็บเวลาก้มตัว ไอ หรือยกของหรือเปล่า หรือในบางคนอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง เช่น รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย ส่วนคนที่มีอาการไส้เลื่อนที่บริเวณกระบังลม อาจมีภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน แต่ในบางคนก็อาจไม่มีอาการเหล่านี้เลย มีแต่เพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น

ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองมีก้อนตุง ๆ ออกมา ควรไปให้แพทย์วินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่า ซึ่งถ้าอาการยังไม่อันตรายมากนัก แพทย์จะให้ยาประคับประคองอาการไปก่อนเพื่อรอการผ่าตัด แต่หากใครมีอาการหนักถึงขั้นปวดท้อง อาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือบริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็ง จนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ เคสนี้แพทย์จะรีบนัดผ่าตัดด่วนให้เลย เพราะเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้จึงเกิดอาการบวม หากปล่อยไว้จะเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย และอาจเสียชีวิตในที่สุด

อาการไส้เลื่อนไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเพศชาย อย่างที่บางคนเข้าใจเท่านั้น แต่ผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้ ลองมาทำความเข้าใจอาการไส้เลื่อนให้มากขึ้น 





8. ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง (Chronic prostatitis)

เป็นโรคที่สร้างความรำคาญให้แก่คุณผู้ชายไม่น้อย เมื่อต่อมลูกหมากอักเสบและติดเชื้อ คุณผู้ชายจะรู้สึกปวดบริเวณฐานของอวัยวะเพศและรอบ ๆ ทวารหนัก ในบริเวณท้องน้อยและด้านหลังส่วนล่าง บางครั้งอาการปวดอาจจะกระจายลงไปที่ปลายของอวัยเพศหรือเข้าไปในอัณฑะ ตอนปัสสาวะจะรู้สึกปวดมาก ถ้าปวดปัสสาวะแล้วต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที ต้องเบ่งปัสสาวะหรือความแรงปัสสาวะไม่พอคล้ายกับอาการต่อมลูกหมากโต บางคนอาจจะปวดมากขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้คุณอาจมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ปวดเมื่อยตามตัว แต่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าปวดตรงไหน 

สำหรับสาเหตุของโรคนี้ยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อของต่อมลูกหมากซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทของต่อมลูกหมาก หรืออาจเกิดจากปัญหาภูมิคุ้มกันของต่อมลูกหมากที่ภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ของต่อมลูกหมากเอง รวมทั้งการอักเสบหรือติดเชื้อที่เกิดจากปัสสาวะย้อนกลับขึ้นไปยังต่อมลูกหมากขณะปัสสาวะ 

และด้วยเหตุที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ การรักษาจึงมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ตั้งแต่การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับคนที่มีอาการไม่ร้ายแรงมากนักไปจนถึงการผ่าตัด ในขณะที่อาจมีการให้ยาระงับความเจ็บปวด (NSAID) เพื่อบรรเทาอาการควบคู่ไปด้วย รวมทั้งการรักษาโดยไม่ใช้ยา อย่างเช่น การนวดต่อมลูกหมาก การแช่ก้นในน้ำอุ่น และการออกกำลังกายที่จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น



9. เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids)

เนื้องอกมดลูก เมื่อได้ยินคำคำนี้ คุณผู้หญิงหลายคนคงจะหวาดกลัวมาก บางคนอาจจะจินตนาการไปถึงขั้นเป็นมะเร็งเลยทีเดียว  แต่โอกาสที่เนื้องอกในมดลูกจะเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายมีแค่ 1% เท่านั้น

เราสามารถสังเกตอาการตัวเอง เพื่อเช็คความเสี่ยงเนื้องอกมดลูกได้ เช่น สังเกตดูว่าเราปวดประจำเดือนมากกว่าปกติหรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือนหรือไม่ มีเลือดออกมากระหว่างรอบเดือนหรือเปล่า ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่ออกไม่มากด้วยไหม ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ หรือมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ เพราะเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก เราจะคลำเจอได้เองบริเวณท้องน้อย

ดังนั้นถ้าพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด อย่างไรก็ตามบางคนอาจจะไม่มีอาการเลยแต่ตรวจพบเนื้องอกตอนที่ไปตรวจภายใน เพราะฉะนั้นการไปตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูกจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคุณผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการ ถ้าก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก และไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ไม่ต้องรักษา เพราะมันจะฝ่อไปเองเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน แต่ถ้าก้อนเนื้อโต หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติ แพทย์จะผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อออกหรือตัดมดลูกออกหมด ซึ่งถ้าไม่ได้ผ่าเอามดลูกออกมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคเนื้องอกมดลูกได้ 



10. โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Diverticulitis) 

โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง คือ โรคที่ผนังลำไส้ใหญ่มีการโป่งพองออกมาเป็นถุง แม้จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดอะไร มีเพียงแค่ทำให้ปวดท้อง ท้องอืด ตึง ๆ มีลมมากเท่านั้น แต่ถ้าถุงนี้เกิดอักเสบจะทำให้ปวดท้องด้านล่างซ้ายหรือตรงตำแหน่งที่ถุงตั้งอยู่ บางคนอาจจะปวดมากจนถึงกับคลื่นไส้อาเจียน หากมีอาการถึงขั้นนี้แล้วควรจะรีบไปพบแพทย์ มิฉะนั้นถ้าถุงเกิดการอักเสบมากขึ้นอีกจะมีไข้หนาวสั่น และถ้าโรครุนแรงถึงขั้นผนังลำไส้ทะลุจะทำให้ปวดท้องอย่างหนักและหน้าท้องแข็ง เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย 

โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเซลล์ผนังลำไส้ใหญ่เริ่มเสื่อมลง เมื่อมีความดันเพิ่มขึ้นในลำไส้ใหญ่ จึงทำให้ผนังลำไส้โป่งพองได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ท้องผูกบ่อย ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เช่นกัน เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระทำให้แรงดันในลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นการกินอาหารที่มีกากใยจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้มาก ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นไม่มาก หมอก็จะให้นอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน กินอาหารเหลวเพื่อให้ลำไส้ได้พัก และกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ฝีแตก ลำไส้ทะลุ ลำไส้ใหญ่อุดตัน ต้องรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียว


11. นิ่วในไต (Kidney Stone)

หากเป็นคนที่ชอบทานอาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักใบเขียว, กะหล่ำ, หน่อไม้ฝรั่ง หรือกินอาหารที่มีกรดยูริกสูง จำพวกเนื้อสัตว์ เครื่องใน หรือทานวิตามินซี วิตามินดี แคลเซียมเสริมในปริมาณที่สูงต่อเนื่อง แถมยังมีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อยและชอบกลั้นปัสสาวะ แล้วเกิดปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงขึ้นมา ต้องสงสัยไว้ในระดับหนึ่งได้ว่าอาจเป็นโรคนิ่วในไตก็เป็นได้ 

เพราะสารอาหารหรือกรดบางชนิดที่ทานเข้าไป ถ้าร่างกายขับออกมาไม่หมดจะตกค้างเป็นก้อนผลึกขนาดเล็กที่เรียกว่า "นิ่ว" ได้ ซึ่งถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กก็จะถูกขับออกไปทางปัสสาวะได้เอง  ถ้าไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ และให้ยาละลายนิ่วช่วยให้นิ่วหลุดออกมาเอง 

แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปอุดกั้นในท่อไต ทำให้เกิดอาการปวดอย่างหนัก โดยจะปวดอย่างรุนแรงบริเวณสีข้างหรือใต้ชายโครง และอาจปวดร้าวไปที่ท้องน้อยส่วนล่างและขาหนีบ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะที่ออกมาจะมีสีแดงขุ่นหรือมีเม็ดทราย ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ โรคนิ่วในไตจะกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และกลายเป็นไตวายเรื้อรังในที่สุด  





12. พังผืดในช่องท้อง (Abdominal adhesions)

ส่วนใหญ่โรคนี้มักเกิดในคนที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาแล้ว เพราะระหว่างที่ผ่าตัด อวัยวะต่าง ๆ จะถูกจับต้องเคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งปกติ แต่ในคนทั่วไปที่ไม่เคยผ่าตัดก็อาจพบได้บ้าง แต่ไม่บ่อยนัก โรคนี้มักไม่แสดงอาการเว้นแต่ว่าพังผืดไปดึงรั้งลำไส้ จนทำให้เกิดอาการปวด ท้องอืด กินแล้วอาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ผายลม หากอาการไม่รุนแรงมากอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรงหรือกรณีพังผืดไปอุดตันลำไส้ ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงจนลำไส้ส่วนนั้นเน่า แพทย์จะทำการผ่าตัดรักษาให้

13. ปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis)

ปากมดลูกตีบเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บของมดลูก การผ่าตัดบริเวณปากมดลูก หรือบางคนอาจจะเป็นมาตั้งแต่เกิดก็ได้ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะทำให้เลือดประจำเดือนไม่สามารถผ่านปากมดลูกออกมาได้ตามปกติ เลือดจึงไปคั่งในมดลูกและทำให้เราปวดบริเวณท้องน้อยมากโดยเฉพาะช่วงที่ประจำเดือนมาจะรู้สึกปวดมากกว่าปกติ หรืออาจมีปัญหาประจำเดือนขาดไป

นอกจากนี้ อาการปากมดลูกตีบยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ต้องการมีลูกเพราะเชื้ออสุจิจะผ่านเข้าไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันแพทย์สามารถขยายปากมดลูกได้ด้วยการให้ยาชาเฉพาะที่ หรือโกนเนื้อเยื่อปากมดลูกเพื่อให้ช่องกว้างขึ้นได้



14. ถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cysts)

ผู้หญิงหลายคนเมื่อปวดท้องน้อยก็จะอดกังวลไม่ได้ว่าเป็นถุงน้ำในรังไข่ หรือซีสต์ในรังไข่หรือเปล่า เพราะเป็นโรคที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเช็กตัวเองดูว่า ปวดท้องน้อยแบบบิด ๆ เสียด ๆ ปวดถ่วง ๆ ช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ไหม แล้วมีอาการประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ หรือไม่ ปวดไมเกรนบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงประจำเดือนจะมาหรือเปล่า หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุด้วยไหม เพราะสิ่งเหล่านี้คือสัญญาณหนึ่งของโรคถุงน้ำรังไข่ ซึ่งเกิดจากไข่ไม่ตกมากลายเป็นประจำเดือน ทำให้มีไข่หลายใบค้างในท้อง จนทำให้น้ำในมดลูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น และหากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ก็ยังสามารถคลำหรือกดแล้วเจอก้อนในท้องน้อยได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจพบถุงน้ำในรังไข่อย่าเพิ่งตกใจ เพราะถ้าถุงน้ำไม่โตมาก ถุงน้ำจะฝ่อหายไปเองได้ใน 2-3 เดือน แต่ถ้าถุงน้ำใหญ่หรือในกรณีที่ถุงน้ำแตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาด ทำให้ตกเลือด เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาถุงน้ำออก 



15. มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)

โรคมะเร็งรังไข่ เป็นภัยเงียบที่คอยซุ่มโจมตีผู้หญิง ที่เรียกว่าเป็นภัยเงียบก็เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการ กว่าเราจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็อยู่ในระยะท้าย ๆ ที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป 

ลองมาสังเกตตัวเองดูว่าถ้าตอนนี้มีอาการเหล่านี้และเป็นติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อย่าชะล่าใจ ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโดยละเอียด ซึ่งอาการเหล่านี้ได้แก่ มีอาการท้องอืดเป็นประจำ แน่นท้อง ปวดท้องในอุ้งเชิงกรานเพราะมีก้อนในช่องท้อง ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดโตมากจะไปกดกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลายทำให้ถ่ายปัสสาวะอุจจาระลำบาก ตามมาด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ้าอาการอยู่ในระยะท้าย ๆ จะมีน้ำในช่องท้อง ทำให้ท้องโตกว่าเดิมเหมือนคนอ้วนขึ้น

อย่างไรก็ตามบางคนอาจไม่มีอาการเลย จะรู้ก็ต่อเมื่อไปตรวจภายในหรือทำอัลตราซาวด์เท่านั้น คุณผู้หญิงจึงควรไปตรวจภายในหรือทำอัลตราซาวด์ช่องท้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คว่ามีก้อนในช่องท้องหรือไม่ ถ้าตรวจเจอจะได้รีบรักษา

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ถ้าตรวจเจอในระยะแรกแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเนื้องอกออกไปให้ได้มากที่สุด  แต่ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แล้วแพทย์จะรักษาโดยการใช้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง เพื่อไปฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง  

กลุ่มเสี่ยงโรค เราก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้เช่นกัน

          1. ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยเริ่มหมดประจำเดือน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบได้มากที่สุด แต่ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่านี้ก็มีโอกาสเป็นได้
          2. ผู้หญิงที่มีลูกน้อยหรือมีลูกยาก หรือคลอดบุตรคนแรกหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว
          3. ผู้หญิงที่ไม่เคยท้องหรือคลอดลูก เพราะการท้องหรือการให้นมลูกเป็นการป้องกันมะเร็งรังไข่ตามธรรมชาติ เนื่องจากช่วงที่อุ้มท้องและให้นมลูก รังไข่จะไม่มีการตกไข่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ได้
          4. ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้
          5. ผู้หญิงที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว ป้า น้า เป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ 
          6. ผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี 
          7. ผู้หญิงที่กินฮอร์โมนชดเชยฮอร์โมนเพศในช่วงวัยหมดประจำเดือน


16. มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer)

ในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีคนเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นจำนวนไม่น้อย การใช้ชีวิตที่ขาดความสมดุลของเราอย่างการกินแต่เนื้อสัตว์สีแดง ไม่กินผัก-ผลไม้ ไม่ออกกำลังกาย แถมยังดื่มน้ำน้อย ปล่อยให้ตัวเองท้องผูก ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัดจะเป็นตัวการให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

 มะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ แต่มันค่อย ๆ พัฒนาจากเซลล์บุลำไส้ใหญ่ที่เจริญผิดปกติเป็นติ่งเนื้อ และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด ฉะนั้นเราจึงสามารถสังเกตความผิดปกติของการขับถ่ายที่ทำให้เรานึกถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อยู่เหมือนกัน คือ ท้องผูก หรือท้องเสียติดต่อกันแบบไม่มีสาเหตุนานเกิน 6 สัปดาห์ ถ่ายออกมาเป็นเลือด อุจจาระมีขนาดเล็กลง ปวดอุจจาระบ่อย ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ควบคุมน้ำหนัก ถ้าเรามีอาการดังกล่าว รีบไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยโดยละเอียดจะดีกว่า

สำหรับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้าเป็นในระยะที่ 1-3 แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก และอาจมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาของโรค แต่ถ้าเป็นระยะที่ 4 แล้วแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด เพื่อบรรเทาอาการให้มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น 


นอกจากอาการและโรคที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น ก็ยังมีอาการและโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้อีก เช่น เลือดคั่งมากผิดปกติในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Congestion Syndrome), โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer), โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, (Endometrial Cancer), โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) หรือแม้แต่ความเครียด ความเศร้าเรื้อรังก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้เช่นกัน


ปวดท้องน้อยแบบไหน จำไว้ ก่อนไปหาหมอ

จะเห็นได้ว่าอาการปวดท้องน้อยนั้นมีหลายสาเหตุ หลากอาการเหลือเกิน ฉะนั้นก่อนไปพบคุณหมอ ลองสังเกตอาการตัวเองดูว่า มีอาการปวดท้องน้อยแบบไหน เช่น

          * ปวดเสียด ปวดตื้อ ๆ ปวดบิด หรือปวดถ่วง ๆ เป็นต้น

          * ระยะเวลาในการปวด ปวดนานไหม ปวดแค่ไม่กี่นาทีก็หาย หรือปวดท้องไม่หายเสียที

          * มักปวดในช่วงไหน เช่น ปวดก่อนมีประจำเดือน ปวดหลังถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระ

          * ตำแหน่งที่เริ่มปวดท้อง เช่น บริเวณลิ้นปี่ รอบ ๆ สะดือ ท้องน้อยขวา เมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดเปลี่ยนหรือย้ายที่หรือไม่

          * ปวดท้องมานานเท่าไร ภายในไม่กี่ชั่วโมง 2-3 วัน หรือเป็นเรื้อรัง

          * อาการปวดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทันทีทันใด หรือค่อย ๆ ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหวจึงมาพบแพทย์

          * มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ เช่น ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ขวาหรือซ้าย ร้าวไปหลัง ไปเอว ไปขาหนีบ หรือร้าวไปที่ลูกอัณฑะ

          * มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เป็นไข้ เหงื่อแตก หน้ามืด เป็นลม

          * สาเหตุที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น อาหาร การถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ การหายใจแรง ๆ ไอหรือจาม การเคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน

          * สาเหตุที่ทำให้ปวดน้อยลง เช่น อาเจียนแล้วดีขึ้น การอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ท่านั่งหรือท่านอน การงอตัว อาหารหรือยาบางชนิด  เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้อย่าลืมแจ้งหมอด้วยว่าเรามีประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ รวมถึงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย เช่น ประวัติการมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด






 

Create Date : 23 มีนาคม 2560
36 comments
Last Update : 25 มีนาคม 2560 0:21:55 น.
Counter : 4068 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณข้ามขอบฟ้า, คุณรัชต์สารินท์, คุณmoresaw, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณmambymam, คุณอุ้มสี, คุณmcayenne94, คุณnewyorknurse, คุณก้นกะลา, คุณเรียวรุ้ง, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณAppleWi, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณจารุพิชญ์, คุณmariabamboo, คุณInsignia_Museum, คุณ**mp5**, คุณบ้านต้นคูน, คุณSweet_pills, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณหอมกร, คุณซองขาวเบอร์ 9, คุณเนินน้ำ, คุณสาวไกด์ใจซื่อ, คุณRinsa Yoyolive, คุณThe Kop Civil, คุณmultiple, คุณตุ๊กจ้ะ, คุณOldbuff 1222, คุณกาปอมซ่า, คุณปรัซซี่

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลจ้ะน้องปาน
จะได้สังเกตอาการตัวเองและระวังมากขึ้น

pantawan Health Blog

 

โดย: ข้ามขอบฟ้า 25 มีนาคม 2560 1:23:11 น.  

 

ปวดประจำตอนช่วงมีเมนส์เลยค่ะ

 

โดย: ออมอำพัน 25 มีนาคม 2560 1:24:00 น.  

 

อาการปวดท้อง ทำให้เกิดหลายโรค จะได้ระวังตัว
ขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่เอามาฝากด้วยครับ

 

โดย: moresaw 25 มีนาคม 2560 6:25:18 น.  

 

ส่วนมากจะปวดแค่ตอนมีประจำเดือนค่ะ แต่ดีที่เป็นคนปวดไม่เยอะ เคยเห็นคนปวดเยอะ ๆ นี่เดินไม่ไหวกันเลยทีเดียว
pantawan Health Blog

 

โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน 25 มีนาคม 2560 8:22:30 น.  

 

เรื่องนี้ก็สำคัญมากนะสำหรับผู้หญิงเรา


 

โดย: mambymam 25 มีนาคม 2560 9:13:50 น.  

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กะว่าก๋า Photo Blog ดู Blog
ninicraft Diarist ดู Blog
ชีริว Travel Blog ดู Blog
ทุเรียนกวน ป่วนรัก Cartoon Blog ดู Blog
kae+aoe Parenting Blog ดู Blog
mambymam Home & Garden Blog ดู Blog
อาคุงกล่อง Book Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog

ขอบคุณที่นำมาฝากค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 25 มีนาคม 2560 9:17:13 น.  

 

คุณปาน จำแนก แยกโรคมาได้มากมายเลยนะคะ

 

โดย: mcayenne94 25 มีนาคม 2560 13:58:14 น.  

 


มาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพค่ะ

โหวดค่ะ

 

โดย: newyorknurse 25 มีนาคม 2560 16:29:41 น.  

 

สวัสดีจ้า..
เป็นข้อมูลที่ดีมากๆเลยจ้า..

 

โดย: ก้นกะลา 25 มีนาคม 2560 17:10:12 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

แค่ปวดท้องแต่มาจากมากมายหลายสาเหตุเลย

pantawan Health Blog

 

โดย: เรียวรุ้ง 25 มีนาคม 2560 17:52:06 น.  

 

หมดภาระและกำจัดไปหลายสาเหตุแล้วค่ะ
คงไม่มีอะไรอีกแล้วมั้ง?

pantawan Health Blog

ขอบคุณโหวตด้วยนะคะ

 

โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) 25 มีนาคม 2560 19:32:02 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ คุณปาน
ปวดท้องข้างขวาทีไร นึกถึงไส้ติ่งอับเสบครับ

 

โดย: สองแผ่นดิน 25 มีนาคม 2560 23:57:18 น.  

 

ครั้งนี้สาระเต็มพิกัด ขอบคุณที่รวมข้อมูลไว้ให้
ดีมีประโยชน์มากครับ

 

โดย: Panvart IP: 182.232.51.108 26 มีนาคม 2560 0:04:06 น.  

 

ครั้งนี้สาระเต็มพิกัด ขอบคุณที่รวมข้อมูลไว้ให้
ดีมีประโยชน์มากครับ

 

โดย: Panvart IP: 182.232.51.108 26 มีนาคม 2560 0:05:20 น.  

 

โอ้~ อาการปวดท้องน้อยมีหลายชนิดเหมือนกันนะเนี่ย

ขอบคุณสำหรับสาระดี ๆ ที่เอามาฝากกันนะครับ ^__^

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 26 มีนาคม 2560 8:58:40 น.  

 

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
คนผ่านทางมาเจอ Diarist ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น
ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ เห็นแล้วมันก็น่ากลัวนะคะ โรคในช่องท้องเนี่ย

 

โดย: จารุพิชญ์ 26 มีนาคม 2560 9:33:39 น.  

 

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
สายหมอกและก้อนเมฆ Photo Blog ดู Blog
mambymam Home & Garden Blog ดู Blog
kae+aoe Parenting Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


แวะมาส่งกำลังใจค่า

 

โดย: mariabamboo 26 มีนาคม 2560 9:46:30 น.  

 

อ่านแล้ว มีประโยชน์มากๆครับ
โหวตครับ

 

โดย: Insignia_Museum 26 มีนาคม 2560 12:19:04 น.  

 

แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจไปให้คุณปานครับ

 

โดย: **mp5** 27 มีนาคม 2560 19:24:14 น.  

 

เห็นแล้วปวดไปด้วยเลยค่ะ
ดูอาการปวดแต่ละอย่างแล้วไม่ธรรมดาเลย
แต่ที่ดูจะน่ากลัวนี่ จี๊ดจ๊าดว่าท้องนอกมดลูกนะคะ ดูน่ากลัวจังเลยค่ะ

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ตุ๊กจ้ะ Topical Blog ดู Blog
อุ้มสี Photo Blog ดู Blog
ไวน์กับสายน้ำ Diarist ดู Blog
Raizin Heart Movie Blog ดู Blog
ซองขาวเบอร์ 9 Literature Blog ดู Blog
กาปอมซ่า Literature Blog ดู Blog
หอมกร Movie Blog ดู Blog
comicclubs Literature Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

 

โดย: จี๊ดจ๊าด (บ้านต้นคูน ) 27 มีนาคม 2560 22:41:39 น.  

 

pantawan Health Blog

อาการปวดท้องน้อย เป็นอาการที่ใกล้ตัวมากๆค่ะน้องปาน
เคยผ่านอาการปวดท้องมาบ้าง
ขอบคุณน้องปานที่รวบรวมข้อมูลเป็นประโยชน์มาให้นะคะ

 

โดย: Sweet_pills 27 มีนาคม 2560 23:55:05 น.  

 

อาการ ช่วง ช่องท้อง..เยอะจริง ๆ แพทย์คงต้องศึกษา
นานมาก เพราะมีหลายอาการ แยกยากเหมือนกัน

pantawan Health Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

คุณปาน หาภาพประกอบได้ สวย ตรงกับอาการ ทำให้น่าดูครับ

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 28 มีนาคม 2560 6:02:19 น.  

 

ขอบคุณที่แวะชมดอกไม้ค่ะคุณปาน

 

โดย: mambymam 28 มีนาคม 2560 7:17:12 น.  

 

pantawan Health Blog ดู Blog
เห็นบางคนปวดท้องบ่อยๆ น่าเห็นใจมากเลยค่ะ
คุณพยาบาลปาน


 

โดย: หอมกร 28 มีนาคม 2560 8:09:48 น.  

 

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ นะคะ

วันนี้โหวตเต็มแล้ว พรุ่งนี้มาโหวตให้ค่ะ

แอบมาถามว่า ไม่ร่วมสนุกเหรอคะ?

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 28 มีนาคม 2560 9:38:49 น.  

 

โหวดค่ะ

ผู้หญิงเราเครื่องในเยอะ
ต้องดูแลให้ทั่วถึง อ่านแล้วก็ละเหี่ยใจเลย

 

โดย: ซองขาวเบอร์ 9 28 มีนาคม 2560 20:05:01 น.  

 

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนะคะน้องปาน
โหวตค่ะ

 

โดย: เนินน้ำ 29 มีนาคม 2560 9:04:39 น.  

 

มาโหวตให้คุณปานนะคะ

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
Close To Heaven Review Food Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 29 มีนาคม 2560 10:02:31 น.  

 

ที่รินเป็นบ่อยหรือเคยเป็นคือกระเพาะปัสสาวะอักเสบค่า
อั้นฉี่บ่อย แหะๆ รถติดบ้าง มัวทำงานบ้าง
มีสัญญาณเตือนอาการเยอะเหมือนกันนะคะเนี่ย


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน Travel Blog ดู Blog
เริงฤดีนะ Movie Blog ดู Blog
ออมอำพัน Literature Blog ดู Blog
บ้านต้นคูน Review Food Blog ดู Blog
คนผ่านทางมาเจอ Diarist ดู Blog
newyorknurse Klaibann Blog ดู Blog
ชมพร About Weblog ดู Blog
ซองขาวเบอร์ 9 Literature Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog



 

โดย: Rinsa Yoyolive 30 มีนาคม 2560 22:39:18 น.  

 

555 ดูแล้ว น่าสงสารหมอมากเลยทีเดียว แค่คนไข้บอกว่าปวดท้องเนี่ย

แต่บอกไม่ถูกว่าอาการปวดยังไง ปวดตรงไหนแน่ หมอก็ปวดกระโหลก มึนตึ้บไปเหมือนกัน 555

มันต้องหมอที่มีประสบการณ์แยะจริงๆ ถึงจะวินิจฉัยได้รวดเร็ว และถูกต้องนะครับนี่

จากประสบการณ์ อ.เต๊ะ นี่เป็น น้อยๆ ปวดทนได้ ไม่ต้องไปหาหมอให้เสียเวลา เพราะโอกาสที่หมอจะวินิจฉัย ตรวจเจอน้อยมากๆ

รอให้เป็นหนักๆ อาการมันจะเด่นชัด หมอดูปุ๊บรู้ปุ๊บ ยิ้มเลย ไม่มีพลาด โดยมากจะเจอตอน ระยะ3-4 นี่แหละ ชัวร์ป้าบๆเลย 555

น้องปานบอก เออ ถ้าถึงขั้นนั้น เอ็งมาหาหมอ แล้วก็จองศาลาพร้อมกันไปเลยดีกว่า ข้าก็รับประกันไม่มีพลาด เหมือนกัน เย้ย 555

 

โดย: multiple 31 มีนาคม 2560 17:38:01 น.  

 

ได้อ่านแล้วเริ่มรู้สึกว่าอาการปวดท้องมีหลายสาเหตุจริงๆนะคะ
ลูกสาวเครียด ชอบเป็นเครียดลงกระเพาะแล้วปวดท้อง

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
newyorknurse Klaibann Blog ดู Blog
haiku Fanclub Blog ดู Blog
ก้นกะลา Music Blog ดู Blog
Rinsa Yoyolive Travel Blog ดู Blog
คนบ้านป่า Pet Blog ดู Blog
อุ้มสี Diarist ดู Blog
ข้ามขอบฟ้า Music Blog ดู Blog
ออมอำพัน Literature Blog ดู Blog
pantawan Health Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น

 

โดย: ตุ๊กจ้ะ 1 เมษายน 2560 0:34:01 น.  

 

ขอบคุณสำหรับโหวตด้วยจ้าน้องปาน

วันหยุดพักผ่อนมากๆนะจ๊ะ

 

โดย: ข้ามขอบฟ้า 1 เมษายน 2560 2:55:05 น.  

 

ขอบคุษสำหรับข้อมูลดีๆค่ะคุณปาน



วันนี้มีไอติมมาฝากด้วยจ้า


 

โดย: กาปอมซ่า 1 เมษายน 2560 19:27:59 น.  

 

สวัสดีค่ะ คุณปาน ^^

 

โดย: ปรัซซี่ 2 เมษายน 2560 18:55:36 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ

pantawan Health Blog ดู Blog

 

โดย: Raizin Heart 3 เมษายน 2560 8:28:11 น.  

 

มาทักทายคุณปานค่า

 

โดย: Rinsa Yoyolive 3 เมษายน 2560 22:24:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


pantawan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




free counters
เริ่มทำ Blog ครั้งแรกเมื่อ 27 ก.ค.54
เริ่มนับ 2 มี.ค.55
ขอบคุณภาพประกอบจากบล็อค คุณญามี่ คุณยายเก๋า คุณนุช oranuch_sri กรอบภาพจากบล็อค คุณ Lozacat คุณ KungGuenter
New Comments
Friends' blogs
[Add pantawan's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.