วิทยาศาสตร์มีอยู่ในทุกที่ เราสอนเราเรียนกันได้ทุกวัน
 
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
31 พฤษภาคม 2556

“จรวดลมมหาสนุก” ในค่ายโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพ ฯ ค่ายแห่งความสุขของวัยซนหัวใจรักวิทย์ – คณิต

วันนี้ขอพาไปเลียบเลาะค่ายคณิตศาสตร์ ระดับชั้น ป. 3 ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2555 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยจัดขึ้นที่ อพวช. จังหวัดปทุมธานี เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
ค่ายนี้มีนักเรียนที่ได้รับเหรียญรางวัลวิชาคณิตศาสตร์ ชั้น ป .3 ของโครงการดังกล่าว เข้าร่วมค่ายกว่า 90 ชีวิต เป็นเยาวชนคนเก่งที่เดินทางมาจากทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ว่าได้
ความสนุกได้เริ่มต้นขึ้นในค่ายนี้รวมทั้งสิ้น 3 วัน มีกิจกรรมสนุกๆ ได้แก่ Walk Rally ท่องโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ สนุกกับคณิตศาสตร์ เรียนรู้คณิตศาสตร์ จรวดลมมหาสนุก แฟนพันธุ์แท้คณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์เรื่องช็อคโกแลตฮาเฮ และการแสดงวิทยาศาสตร์

วันที่เราไปเลียบเลาะค่าย เป็นวันสุดท้ายของการจัดค่ายคณิตศาสตร์ครั้งนี้ ช่วงเช้าในวันนั้นเด็กๆ กำลังทำ “กิจกรรมจรวดลมมหาสนุก” ก่อนที่จะสนุกสนานกับการแข่งขันจรวดลม พวกเขาได้เรียนรู้ว่า ทำอย่างไร จรวดจะเคลื่อนที่ไปได้ไกล และอะไรที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของจรวดบ้าง

โดยเบื้องต้นเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าความดันของอากาศมีผลต่อการเคลื่อนที่หรือไม่ ? โดยได้ช่วยกันประดิษฐ์ “รถพลังงานลม” เริ่มจาก การประกอบตัวรถที่ทำจากไม้ หลอดกาแฟ ตะเกียบ จากนั้นนำลูกโป่งไปเสียบไว้ที่ปลายหลอด แล้วไปประกอบกับตัวรถ

จากนั้นช่วยกันหาคำตอบโดยแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะเป็นคนเป่าลมใส่ลูกโป่ง ใครจะเป็นคนวัดขนาดลูกโป่ง ใครจะเป็นคนวัดระยะทางที่รถสามารถแล่นไปได้ เกิดความสนุกสนานและชุลมุนตามประสาเด็กๆอยู่ไม่ใช่น้อย แล้วน้องๆก็เริ่มหาคำตอบกันโดยเป่าลูกโป่งให้ได้เส้นรอบวงตามขนาดที่กำหนด ปล่อยลมแล้วบันทึกระยะทางการเคลื่อนที่ของรถพลังงานลม ซึ่งพบได้ด้วยตัวเองว่า เส้นรอบวงของลูกโป่ง มีผลต่อการเคลื่อนที่ของพลังงานลม




“ถ้าลูกโป่งมีขนาดกว้างขึ้น แรงดันอากาศก็จะมากขึ้นตามการขยายตัวของลูกโป่ง รถคันนี้สามารถเคลื่อนที่โดยใช้แรงลมจากลูกโป่ง เมื่อเราเป่าลูกโป่งให้ขยายตัวแรงดันอากาศภายในลูกโป่งมีมากขึ้นด้วย แล้วเมื่อปล่อยให้ลมออกมาจากลูกโป่ง จะเกิดการหดตัว แรงดันอากาศที่อยู่ภายในลูกโป่งก็จะดันอากาศให้พุ่งออกมาด้านหลังเกิดเป็นแรงส่ง ทำให้รถเคลื่อนที่ไปด้านหน้า” พี่ใหม่ หรือ นายใหม่ สังขะเมฆะ นักวิชาการ อพวช. วิเคราะห์ผลการทดลองร่วมกับน้องๆ ชาวค่าย

จากนั้น ได้ประดิษฐ์ “จรวดลูกโป่ง” นำมาใช้ในการการทดสอบว่า ฟิน หรือครีบ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของจรวดลูกโป่งหรือไม่ ? โดยจากการทดลอง พบว่า ฟิน หรือครีบ มีผลต่อการเคลื่อนที่ของจรวด โดยมีส่วนช่วยบังคับทิศทางของจรวดให้จรวดพุ่งตรงออกไป ถ้าฟินหรือครีบไม่สมดุล หรือไม่ได้องศา จรวดก็จะเคลื่อนที่ไม่ทิศทางตรงตามที่เราต้องการ

“ฟินของจรวด ทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากปีกของเครื่องบิน เนื่องจากปีกของเครื่องบินนั้นมีไว้สำหรับทำให้เกิดแรงยกตัวของอากาศบริเวณใต้ปีกเครื่องบิน ทำให้เครื่องบินยกตัวเองให้สูงขึ้น ตามกฏของแบร์นูลลี” น้อง ๆ หลายคนช่วยอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟัง





สิ่งประดิษฐ์ต่อไป คือ “จรวดโฟม” ชาวค่ายได้พบว่า มุม มีผลต่อการเคลื่อนที่ของวัตถุเหมือนกัน โดยได้ทดลองดูว่าถ้ามุมเปลี่ยน ระยะทางของจรวดจะเปลี่ยนหรือไม่ จากการทดลอง พบว่า มุมที่จรวดพุ่งขึ้นเป็นวิถีโค้งและยิงได้ไกลที่สุดคือ 45 องศานั่นเอง

อันดับสุดท้ายของกิจกรรมนี้ คือ “จรวดลม” เด็กๆ ได้ทดลองทำจรวดลมจากขวดน้ำพลาสติก พี่ใหม่ หรือ นายใหม่ สังขะเมฆะ นักวิชาการ อพวช. อธิบายต่อว่า “การที่จรวดลมพุ่งไปข้างหน้าได้นั้น เราสามารถอธิบายได้จากกฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน 3 ข้อ” ซึ่งประกอบด้วย

กฏข้อที่ 1 วัตถุจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วและทิศทางคงที่ถ้าไม่มีแรงภายนอกมากกระทำ เมื่อจรวดลมติดอยู่ที่ฐานจะหยุดอยู่นิ่ง ๆ อย่างนั้น จนกว่าจะมีการอัดลมเข้าไปในจรวด หลังจากที่เราอัดลมเข้าไปในขวดแล้ว ลมที่ถูกอัดอยู่ภายในจรวด จะทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานที่พร้อมจะถูกปล่อยออกมา

กฏข้อที่ 2 ความเร็วและทิศทางของวัตถุจะเปลี่ยนตามขนาดและทิศทางของแรงภายนอกที่มากระทำ ขณะที่จรวดลมลอยอยู่ในอากาศ มีแรงภายนอกคือแรงดึงดูดของโลกกับแรงต้านอากาศดึงและต้านจรวดไว้ ลำให้ความเร็วของจรวดลมค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งตกลงสู่พื้นในรูปแบบวิถีโค้งในที่สุด

กฏข้อที่ 3 แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา ขณะที่ลมผลักให้จรวดพุ่งขึ้นไปนั้น จะเห็นได้ว่าทิศทางแรงดันอากาศจะพุ่งออกมาด้านท้ายของจรวด เกิดเป็นแรงส่งทำให้ตัวจรวดเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบน ในทิศทางตรงข้ามกัน ดังนั้นถ้าเราอัดลมเข้าไปมาก แรงก็จะมาก แต่ถ้าอัดลมมากเกินไป อาจจะทำให้ขวดน้ำที่ใช้ประดิษฐ์จรวดลมแตกได้





หลังจากที่ประดิษฐ์จรวดลมเสร็จแล้ว น้องๆ ก็ได้มาชิงชัยกันที่สนามประลองว่าจรวดของทีมใดจะพุ่งไปได้ไกลกว่ากัน โดยน้องๆจะใช้ความรู้ที่ได้เรียนรู้มาตั้งแต่ต้นว่า สิ่งใดมีผลต่อการเคลื่อนที่ของจรวด? แล้วจะทำให้จรวดเคลื่อนที่ไปได้ไกลต้องทำอย่างไร ? ...นั่นคือ ความดันอากาศ, ลักษณะของฟิน หรือครีบ, มุมที่ใช้ยิง .....เรียกว่างานนี้ได้ลุ้นกันสนุกเฮฮากันเลยทีเดียว





ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) ชุดพลังงานแสนสนุก โดยพี่เต้ ซึ่งเรียกเสียงฮือฮา และเสียงหัวเราะจากเยาวชนคนเก่งของเราได้ในทุกขั้นตอนของการแสดง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก การทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติของก๊าซไฮโดรเจนที่มีมากในดวงอาทิตย์ การคำนวณหามวลของตัวเรา ตามสมการ น้ำหนัก (W) = มวล (m) x ความเร่งโน้มถ่วงของโลก (g) และการทดลองที่น่าสนใจอื่น ๆ


จากการพูดคุยกับเด็กน้อยวัยซนที่มาเข้าค่าย ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกมาก ชอบมากกับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ายนี้ ......

เด็กชายวชิรวิชญ์ กานิล (มิดฟิลดิ์) ชั้น ป. 4 โรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี จ. นนทบุรี บอกว่า มาเข้าค่ายครั้งนี้สนุกมาก มีวิทยาศาสตร์แฝงอยู่เยอะ ผมชอบทั้งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่า ๆ กัน กิจกรรมในค่ายสนุกทุกกิจกรรม ได้เรียนรู้วิธีการทำช็อคโกแลต ผมชอบช็อคโกแลตสูตรที่ 2 เพราะอร่อยกว่า ละลายเร็วกว่า และสังเกตพบว่า รถพลังงานลมฝั่งที่มีลูกโป่งเป็นฝั่งที่รถจะวิ่งออกไปครับ





เด็กหญิงกชพรรณ หิรัณยรัศมีวงศ์ (เฟินเฟิน) ชั้น ป. 4 โรงเรียนธิดานุเคราะห์ จ. สงขลา เล่าว่า เป็นการจากบ้านมาเข้าค่ายแรกในชีวิต สนุกดี มีความรู้มากขึ้น เฟินเฟินเป็นเด็กน้อยที่รักในวิชาคณิตศาสตร์ และชอบเรียนภาษาอังกฤษไปควบคู่กัน สำหรับกิจกรรมในค่ายนี้ที่ชอบมากคือจินตคณิต (ลูกคิด) และแฟนพันธ์แท้คณิตศาสตร์ ถ้าปีหน้าสอบคัดเลือกในโครงการได้ก็จะมาเข้าค่ายอีกค่ะ





เด็กชายเสฏฐวุฒิ อินทรประดิษฐ์ (ไจแอนท์) ชั้น ป. 4 โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริมกสิกร) จ.น่าน กล่าวว่า ผมชอบคณิตศาสตร์ เพราะได้ใช้ความคิด ขณะเดียวกันก็ชอบวิทยาศาสตร์ด้วย ผมชอบค่ายนี้ มาค่ายนี้ได้คิดคำนวณ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ชอบกิจกรรมจินตคณิต (ลูกคิด) เพราะยังไม่เคยลองทำมาก่อน





เด็กชายพรภวิษย์ พวงเรือนแก้ว (ดาวเหนือ) ชั้น ป. 4 โรงเรียนอนุบาลลำปาง (เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) จ.ลำปาง บอกว่า รู้สึกดีมาก ๆ ที่ได้มาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย ได้ความรู้ ได้คิด ได้สนุกสมกับที่ตั้งใจเดินทางไกลเพื่อมาเข้าค่าย ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทำให้ยิ่งชอบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น ส่วนกิจกรรมที่ชอบสุด ๆ ก็คือ Walk Rally


หลังจากเสร็จสิ้นพิธีปิดค่ายแล้วเยาวชนคนเก่งต่างก็กลับบ้านไปพร้อมกับความประทับใจ นับว่าค่ายนี้เป็นกิจกรรมที่ดีอีกกิจกรรมหนึ่งในการบ่มเพาะต้นกล้านักวิทยาศาสตร์วัยซนพันธุ์ดีให้เติบโตงอกงามต่อไปในภายภาคหน้า





สำหรับน้อง ๆ ชั้นประถมศึกษาที่มีใจรักในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพ ฯ ของ สสวท. ได้ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ติดตามได้ในเว็บไซต์ //genius.ipst.ac.th


อ่านต่อในเว็บไซต์สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
คลิกที่นี่

อ่านต่อในเว็บไซต์ นสพ. บ้านเมือง
คลิกที่นี่

อ่านต่อในเว็บไซต์ นสพ. ข่าวสด
คลิกที่นี่













 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2556
1 comments
Last Update : 2 กรกฎาคม 2556 10:18:38 น.
Counter : 5978 Pageviews.

 

น่าทำจุง

 

โดย: Kids kay IP: 68.68.96.217 13 สิงหาคม 2556 13:24:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Wit Thabungkan
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




บทความและสกู๊ปข่าวที่เผยแพร่ในบล็อกนี้ทั้งหมดเป็นผลงานเขียนของ "สินีนาฎ ทาบึงกาฬ" ส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
[Add Wit Thabungkan's blog to your web]