Live and Learn..... บันทึกบ้านๆ ของแม่บ้านไทยในแดนวาซาบิ

[ ห อ ศิ ล ป์ มี ชี วิ ต แ ห่ ง เ มื อ ง พั น ป่ า H.a.z.a.r.i.b.a.g.h ]



รักแรกพบ


เพียงภาพถ่ายสีหม่นไม่กี่ภาพ จากบทความเล็กๆ ในวารสารแจกฟรีจากสถานทูตอินเดียฉบับหนึ่ง ทำให้ฉันตัดสินใจไปตามหาสิ่งที่เห็น


มิใช่ขุนเขา หรือ สายน้ำอันยิ่งใหญ่
มิใช่ปราสาทพระราชวัง หรือ ป้อมปราการอันหรูเลิศ อลังการ
มิใช่บุรุษหนุ่มรูปนาม ทั้งมิใช่สาวสวยโสภา
หากแต่เป็นบ้านดินธรรมดา และสิ่งที่เป็นแรงดึงดูดมหาศาล คือ ลวดลายบนผนังบ้านดิน เส้นโค้ง รูปคน รูปสัตว์ รูปดอกไม้ ซึ่งแต่งแต้มด้วยสีโคลนจากท้องทุ่ง


ข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดเล่าถึงผู้หญิงชนเผ่า แห่งที่ราบสูง ฮาซาริบัค (Hazaribagh) เธอเป็นศิลปินแต้มสีบนผนังบ้านเป็นลวดลายสวยงาม เลือดศิลปินถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากแม่ถึงลูกสาว หลังฤดูฝนของทุกปี หลังจากน้ำฉ่ำฟ้าชะล้างสีสันบนผนังบ้านออกไป เธอจะเริ่มต้นบรรเลงเพลงแห่งสีสันใหม่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว และฤดูกาลแห่งงานวิวาห์


ฮาซาริบัค เป็นเมืองเล็ก ๆ ในแคว้นจาร์กันด์ (Jharkhand) แคว้นใหม่ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากบิฮาร์ (Bihar : ไทยเราเรียกวิหาร) เมื่อปี 2000


ข้อมูลจากคัมภีร์โลกเหงาพูดถึงฮาซาริบัคเพียงไม่กี่ประโยคว่า เหตุผลเดียวที่ผู้คนมาที่นี่ก็คือมาเที่ยวป่า ดูเสือ


เช่นเคย ฉันพึ่งพาข้อมูลจากโลกสายใยแก้ว ค้นด้วยคำว่า Hazaribagh , tribal woman art, wall painting ข้อมูลมากมายโผล่มาเต็มหน้าจอ ฉันใช้เวลาอ่านและกรองอยู่นานวัน


ในที่สุดก็พบ //www.sanskritihazaribagh.com เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ผืนป่า และหมู่บ้านบ้านดินของชนเผ่าที่กำลังถูกคุมคามโดยเหมืองถ่านหินนับสิบ ๆ แห่ง ทั้งส่งเสริมงานศิลปะของผู้หญิงแห่งฮาซาริบัค จากผนังบ้านลงสู่กระดาษ จากหมู่บ้านเล็ก ๆ เผยออกสู่สายตาชาวโลก สู่หอศิลป์ทั้งในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย


และช่องทางจากสายใยแก้วนี่เอง คือจุดเชื่อมต่อระหว่างคนจากลุ่มน้ำป่าสัก และคนแห่งที่ราบสูงฮาซาริบัค


สารจากฟ้า ฤาว่าเพียงบังเอิญ


ขุดตัวเองออกจากเตียงเล็กๆ ในห้องนอนรวมของ Salvation Army Guest House ที่พักราคาถูก (มาก) ย่านถนนซัดเดอร์ (Sudder Street) แห่งเมืองโกลกาต้า (Kolkata) อันเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของฉันในเมืองอันมีฉายาว่าเมืองหรรษา (City of Joy) แห่งนี้ เดินผ่านร้านรวงจิปาถะและบรรดาเพื่อนยาที่ยืนคอยทักทายตลอดแนว ออกสู่ถนนชอว์ริงฮี (Chowringhee) เลี้ยวขวาไปเอสพลาหนาด (Esplanade) สถานีรวมรถบัส รสเมล์ ทั้งชุมทางรถรางและรถไฟฟ้าใต้ดิน



หนทางในเบื้องต้นช่างมืดมนอนธการ ฉันเดินหารถบัสไปรานจี (Ranchi) เมืองหลวงของจาระกานด์ ถามแทบทุกคน แม้แต่เจ้าหน้าที่ขายตั๋วรถตามช่องหน้าต่างก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย บางคนบอกไม่รู้ บางคนบอกไปดูทางโน้น ชี้ไม้ชี้มือปัดไปอีกทาง เดินวนรอบเอสพลาหนาดหลายรอบ กวาดสายตามองหาป้ายคำว่า Ranchi แต่ก็ไร้วี่แวว ฉันค่อย ๆ เดินสำรวจละเอียดรอบรถบัสเก่า ๆ ที่จอดเรียงรายเต็มลานอันพลุกพล่านอีก 3 รอบ


ระหว่างที่ความท้อมาเยือน...


ทันใด! ผู้ชายกลุ่มหนึ่งเดินแซงหน้าไป สิ่งสะกิดตาและสะกิดใจคือทุกคนสวมเสื้อแบบเดียวกัน และด้านหลังเสื้อแจ็คเก็ตของพวกเขาเขียนว่า ‘Ranchi University’ หลายคนถือไม้คริกเก็ต กีฬายอดฮิตที่อังกฤษทิ้งไว้เป็นมรดก, ว่องไวยิ่งกว่าความคิดของกามนิตหนุ่ม ขาขยับสับถี่ ตีไล่ตามไปจนทัน


“ขอโทษค่ะ” ฉันสะกิดเหนือศอกคนเดินรั้งท้ายสุด เขากันมามอง เลิกคิ้ว สีหน้าแปลกใจเล็กน้อย เพื่อนเขาอีก 2-3 คน หยุดเดิน หันมาร่วมวง


“คือว่า ฉันกำลังหารถไปรานจี และคิดว่าคุณต้องรู้แน่” ฉันหันไปยิ้มกับตัวหนังสือด้านหลังของหนุ่มอีกคน “ฉันเดินหารถมาตั้งแต่เช้าแล้ว ถามใครก็ไม่มีใครรู้”


“รถบัสในเอสพลาหนาดเป็นรถที่วิ่งขึ้นเหนือครับ ส่วนรถไปรานจีต้องไปขึ้นที่บาบูกาท คุณไปยืนรอรถเมล์ตรงนั้นนะ เดี๋ยวก็มีคนตะโกนบาบูกาท บาบูกาท คุณก็ขึ้นรถเมล์คันนั้นล่ะไป” เขาเอียงตัวชี้มือไปอีกด้านของเอสพลาหนาด


“ขอบคุณมาก”
“ยินดีครับ”


แล้วหนุ่มๆ ก็เดินจากไปอย่างสุภาพ สดใสอารมณ์ดี ส่วนฉันงัดแผนที่มาดู วางนิ้ววัดระยะบนกระดาษ และวัดกำลังขาตัวเองจึงตัดสินใจออกเดินมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ฉันเดินเรื่อย ๆ ไปตามถนน หากเกรงจะหลงก็ถามไถ่คนเดินสวนทาง ถามแม้กระทั่งบาบูคนขายถั่ว



บาบูกาท (BaBu Ghat) หรือท่าน้ำบาบู เป็นชุมทางรถบัสอีกแห่ง อยู่ติดท่าน้ำริมแม่น้ำฮุกลี่ (Hugli หรือ Hooghly) แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านเมืองโกลกาต้า และติดสถานีรถไฟอีเดนการ์เดน มีรถบัสวิ่งไปรานจี และไปแคว้นโอริสสา จัดการจองตั๋วรถรอบ 1 ทุ่มเรียบร้อย


เมื่อไม่มีอะไรจะทำ ฉันจึงเดินไปสิงสถิตอยู่ร้านหนังสืออ๊อกฟอร์ด ย่านถนนสวน (Park Street) หลังจากตัดสินใจได้ว่าจะหอบอะไรอีกบ้าง ที่ไม่หนักหนาจนเกินไป กำลังจะเดินไปจ่ายสตางค์ แต่..เหมือนมีบางอย่างดลใจ กองกระดาษกองนั้น จะว่าเป็นหนังสือก็ไม่เชิง กองนั้นเป็นแผ่นพับแผนที่จิปาถะ ฉันค่อย ๆ หยิบมาดูทีละแผ่น ทีละแผ่น และแล้ว…ก็ได้พบกับแผ่นพับลวดลายแปลก ๆ ที่เริ่มจะคุ้นตา


- นี่คงเป็นสัญญาณจากฟ้าที่สื่อลงมาถึงฉัน


จากกลุ่มหนุ่มสวมแจ๊คเก็ต Ranchi University มาถึงแผ่นพับ Crafts Map of Jharkhand ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่สำหรับฉันแล้ว มักมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์เล็กๆ นั้นเสมอ


หลังตะวันตกดิน ได้เวลาไปบาบูกาท จากที่นั่งหมายเลขเดิมที่ได้ คนรถบอกให้ฉันย้ายมานั่งตอนหน้าในคอกคนขับ เหตุผลคือผู้โดยสารทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชาย ฟังดูดีมีเหตุผล ฉันนั่งมุมซ้ายด้านหน้าติดกระจกข้าง ข้อดีคือได้นั่งใกล้เครื่องยนต์ร้อน ๆ ทำให้รู้สึกอุ่นและอบ จนไม่รู้สึกหนาว


ด้วยในฤดูหนาว ความรวดร้าวจากการนั่งรถบัสในอินเดียตอนกลางคืนคือความหนาวเหน็บเจ็บกระดูก สุดทรมานกับอณูความเย็นที่แทรกผ่านกระจกหน้าต่างซึ่งไม่เคยปิดได้สนิท แต่ความอบอุ่นที่ได้ในคราวนี้ก็ต้องแลกกับการนั่งขางอ จนอาการง่อยแทบรับประทาน



ราว 5 ทุ่ม รถจอดพักที่ร้านอาหาร ทุกคนกรูลงไปเพื่อหามื้อค่ำ สำหรับชาวอินเดียแล้ว มื้อเช้าของพวกเขาเริ่มต้นที่ 10-11 โมงเช้า มื้อเที่ยงราวบ่าย 3-4 โมงเย็น ส่วนมื้อค่ำก็ปาเข้าไปหลายทุ่ม


สำหรับฉัน จาปาตียามดึกคงจะสร้างภาระหนักให้กับท้องไส้มากเกินไป แต่ก็ลงจากรถเดินเข้าไปในร้านเพื่อหาที่ระบายความอัดอั้นในช่องท้อง สายตาของชายทั้งหนุ่มและไม่หนุ่มทุกคู่ต่างกันมามองเป็นตาเดียว ด้วยว่าในร้านนั้นไม่มีผู้หญิงเลยสักคน ฉันเดินหน้าตรง ฝ่าดงสายตาดุดุ เข้าไปหาซอกนั่งจนได้


ซอกนั้น - ไม่น่าเรียกห้องน้ำ น่าจะเรียกว่าซอกไม่มีน้ำมากกว่า นั่งปลดภาระหนักพุงแล้วเดินจากมาเฉย ๆ กลมกลืน แนบเนียน


ราวเจ็ดโมงเช้าฉันก็มาถึงท่ารถเมืองรานจี และต้องหารถต่อไปฮาซาริบัค ทุกอย่างยังคงมืดมนคงเส้นคงวา ทั้งที่ฉันไม่ได้ตาบอด หากแต่ตัวหนังสือทั้งหมดเป็นภาษาฮินดี ที่ฉันมิอาจคาดเดาและเข้าใจ และที่นี่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว ผู้คนไม่พูดภาษาอังกฤษ และไม่มีคนต่างชาติหลงมาให้พออาศัยได้สักคน


ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ต่อไปนี้คือสื่อสารด้วยเสียงเพียง 4 พยางค์ ฮา-ซา-ริ-บัค


“ฮาซาริบัค?”


ฉันเดินร้องถามไปตามรถบัสทุกคัน บ้างก็ยักคอคล้ายส่ายหน้าตอบ อันหมายความว่าไม่ใช่ บ้างก็ยักคอตอบอันเดาว่าไม่รู้ ในที่สุดก็เจอรถเป้าหมายซึ่งบาบูคนขับยักคอคล้ายอาการส่ายหัวอันหมายถึงใช่ และผายมือเชื้อเชิญขึ้นรถ แม้จะสื่อสารลำบาก แต่ก็มั่นใจว่าคันนี้จะพาฉันไปถึงที่หมายได้แน่ ไม่นานรถก็ออกตัว ขับออกไปเรื่อย ๆ รับผู้โดยสารระหว่างทางจนเต็มแน่นและล้น นั่งมองความชุลมุนวุ่นวายในการขึ้นลงและโดยสารรถ เพียง 3 ชั่วโมงกว่า ฉันก็มาถึงฮาซาริบัคโดยไม่รู้ตัว


แบกเป้ใบมอมลงรถ โทรศัพท์หมุนหมายเลขบ้านปลายทางเพื่อถามทาง ในที่สุดฉันก็ได้ขึ้นมานั่งเอ้เต้บนสามล้อถีบที่มีลุงชาวอินเดียร่างผอมเกร็ง ถีบจนตัวลอยโก่งไปตามถนนสายเล็ก ๆ แห่งเมืองฮาซาริบัค อากาศกลางเดือนธันวาค่อนข้างเย็น ฉันห่อตัวเองด้วยผ้าคลุมไหล่แบบคนอินเดีย


ราว 12 นาทีถีบ รถสามล้อจึงเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ ถนนขรุขระ มอเตอร์ไซค์เอ็นฟิลด์ (Enfield) รุ่นเก๋าสีดำมาดเท่คันหนึ่งสวนทางมา บนเบาะคนขี่เป็นชายหนุ่มหน้าตาคมคาย อายุไม่น่าเกิน 24


เขามองฉันชั่ว 3 วินาที แล้วก็ถามว่าฉันชื่อนี้หรือเปล่า ฉันยักคอคล้ายอาการส่ายหัวยิ้มรับ เขากลับรถขี่เอ็นฟิลด์เคียงข้างบอกทางมาเรื่อย ๆ จนถึงที่หมาย Sanskrit Centre บ้านที่ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยบนเนื้อที่หลายสิบไร่



‘บูลู อิมาม (Bulu Imam)’ ยืนรอต้อนรับพร้อมกับ ‘ฟิโลมิน่า’ ผู้เป็นภรรยา ส่วนชายหนุ่มบนเบาะรถมอเตอร์ไซค์คันเท่ชื่อ ‘กุสตาฟ’ เป็นลูกชายคนเล็ก ช่อดอกไม้จากมือฟิโลมิน่าถ่ายสู่มือฉัน ส่วนคุณลุงบูลูโปรยกลีบดอกดาวกระจายและกลีบกุหลาบจากพานหว่านลงบนศีรษะ


ชาร้อน ณ โต๊ะไม้ กลางลานบ้านท่ามกลางแสงแดดอุ่นในยามสาย ทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง น่ารักและผ่อนคลาย ดูไม่คล้ายกับพบกันครั้งแรกของคนแปลกหน้า


คุณลุงค่อนข้างแปลกใจที่เห็นคนเอเชีย (ซึ่งมิใช่คนอินเดีย) จะรู้จักและดั้นด้นมาจนถึงฮาซาริบัค คนมาเยี่ยมบ้านลุง ส่วนใหญ่เป็นคนยุโรป อเมริกัน อย่าว่าแต่คนไทย แม้แต่คนญี่ปุ่น ชนชาติที่จัดว่าเดินทางเก่งที่สุดในเอเชียก็ยังไม่มีมาแม้สักคน นั่นเป็นเพราะข่าวของฮาซาริบัคยังไม่ได้เปิดเผยในวงกว้าง


ตลอดเวลาที่ฉันพักอยู่ Sanskrit Centre เพื่อนของลุงหลายคนจึงแวะมาเยี่ยม มาพูดคุย รวมไปถึงนักข่าวที่มาขอสัมภาษณ์เพื่อไปลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ในขณะที่ฉันยังออกอาการงงกับการต้อนรับอันอบอุ่นยิ่งของครอบครัวอิมามและเพื่อน ๆ ของลุงบูลู ผู้ทำให้ฉันตกเป็นบุคคลน่าสนใจในเมืองเล็ก ๆ แห่งนั้น


บูลู อิมาม บุรุษผู้ซึ่งคนที่รักและนับถือเรียกว่า ‘อังเคิล (ลุง)’ เป็นชื่อของชายวัย 60 พ่อเป็นอินเดียเชื้อสายเบดูอิน แม่เป็นชาวฝรั่งเศส ลุงบูลู เกิดและเติบโตที่ฮาซาริบัค ช่วงชีวิตวัยหนุ่มลุงเคยเป็นพรานป่ามือฉมัง ตอนหลังจึงหันมาทำงานเพื่อผืนป่าแห่งฮาซาริบัคมานานกว่า 30 ปี, ผืนป่าแห่งฮาซาริบัค หมายรวมถึงพืชพรรณ สัตว์ป่า สมุนไพรป่า ก้อนหิน ภาพศิลปะบนฝาผนังยุคหินจำนวนกว่า 10 แห่งทั่วราวป่า, บ้านดินแบบดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่า ลุงบูลู สวมหมวกหลายใบ อาจารย์ ศิลปิน นักอนุรักษ์ นักต่อสู้เคลื่อนไหว นักอ่าน นักคิดและนักเขียน ตำรามากมายกว่า 50 เล่มที่ลุงศึกษารวบรวมสั่งสมมายาวนาน รอการตีพิมพ์เปิดเผย


หลังจิบชา ลุงบูลูพาฉันเดินรอบ ๆ บริเวณบ้าน ในบ้านชั้นเดียวหลังใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของลุงกับภรรยาและลูก ๆ ที่ยังไม่ออกเรือน ห้องรับแขกเป็นทั้งห้องทำงานและห้องนั่งเล่น อบอุ่นไปด้วยภาพเขียนมากมายในลวดลายแปลกตาที่เริ่มจะคุ้นเคย





ลุงเดินนำหน้ากระฉับกระเฉงไปยังอาคารชั้นเดียวที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ภาพเขียนลวดลายแบบที่ฉันเห็นบนผนังบ้านดิน ผลงานทุกชิ้นเป็นของผู้หญิงชนเผ่าในฮาซาริบัค มีชื่อและชื่อเผ่ากำกับบนงานทุกชิ้น ลุงแนะนำให้พวกเธอถ่ายทอดลวดลายและสีสันจากผนังดินลงกระดาษ ซึ่งเป็นอีกวิธีง่ายกว่า ในการเผยความงามออกสู่สายตาผู้อื่น และในพิพิธภัณฑ์ฉันเห็น…


“ลุงคะ หนูมีแผนที่แผ่นนี้ด้วย เพิ่งซื้อมาจากโกลกาต้าเมื่อวาน”
ฉันบอกตื่นเต้น ลุงบูลู ยิ้มกว้างขวาง
“มันอาจจะเป็นโชคชะตา หนูรู้ไหม เราวาดแผนที่บนพื้นตรงนี้”
นิ้วชี้ลุงพุ่งปลายนิ้วลงพื้นหนักแน่น ฉันตื่นเต้นหนัก ตาตี่ๆ ขยายโต
“พวกเราทั้งหมดช่วยกัน จัสติน กับ เจสัน เป็นคนออกแบบ, ชัมนิ ศิลปินหญิงที่อยู่บ้านใกล้ๆ เราเป็นคนวาด”


จัสติน และเจสัน เป็นลูกชายคนโตและคนรองของลุง ทั้งคู่ทำงานด้านศิลปะชนเผ่าเช่นกัน วันที่พบหน้า จัสติน เพิ่งกลับมาจาก เจนีวา (Geneva) เมื่อวาน พร้อมความคืบหน้าเรื่องการประสานงานในสวิตเซอร์แลนด์ เจสัน ศิลปินหนุ่มโสด ผู้โดดเดี่ยวตัวเองอยู่ในบ้านดินหลังงามซึ่งปลูกอยู่ใกล้ ๆ ขะมักเขม้นสร้างงานศิลปะ ส่วนชัมนิ (Chamni) หญิงชนเผ่ากันจู (Ganju) เธอมีบ้านดินผนังงามน่ารัก อยู่ในอาณาบริเวณบ้านของลุงเช่นกัน


นาทีนั้น เหมือนฉันย้อนกลับไปเห็นภาพของหลายคน กำลังนั่งล้อมวงทั้งวาด ทั้งเขียนบนแผ่นกระดาษขนาดโปสเตอร์ มือเปื้อนสี หน้าเปื้อนเหงื่อ


ส่วนหัวใจฉันพองบาน ด้วยรู้สึกถึงสัญญาณจากฟ้า เจิดจ้า แจ่มจรัส!


ชะตากรรมของเมืองพันป่า


‘ฮาซา (Haza)’ แปลว่า ‘พัน (1,000)’
ส่วน ‘บัค (Bagh)’ แปลว่า ‘ป่า’


ฮาซาริบัค เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยป่า หนึ่งในป่าอันมีชื่อคือ ป่าอุทยานแห่งชาติฮาซาริบัค อันมีชื่อเสียงเรื่องสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งเบงกอลแห่งอินเดีย ป่าอันเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ซึ่งมีหลักฐานจากภาพฝาผนังหินว่าเก่าแก่ราว 4-9 พันปีก่อนคริสตกาล


วันนี้ลุงบูลู, ลุงรีฟส์ และ กุสตาฟ จะพาฉันไปดูหมู่บ้านแต้มสี





เพียงนั่งรถออกนอกเมืองไปไม่นาน บ้านดินผนังแต้มสีก็ปรากฏประปรายให้เห็นรายทาง บ้างผนังเป็นรอยพิมพ์มือ บ้างแต้มสีเป็นรูปสัตว์ รูปดอกไม้ ฯลฯ ส่วนที่ไม่แตกต่างไปจากบ้านในชนบททั่ว ๆ ไปของอินเดียคือ ผนังนอกบ้านตกแต่งด้วยขี้วัวที่แปะติดผนัง เห็นรอยฝ่ามือ 5 นิ้วชัดเจน พอขี้วัวแห้งสนิทก็จะแซะเก็บไว้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทำอาหาร


ณ หมู่บ้านเบลวาร่า (Bhelwara) เพียงได้เห็นบ้านหลังแรก ฉันก็ประจักษ์ว่าสิ่งที่ตั้งใจมาตามหาอยู่ตรงหน้านี้แล้ว…


แม้จะไม่สามารถใช้คำว่า ‘ตระหง่าน’ ได้ ด้วยบ้านเหล่านี้ไม่ใช่บ้านหลังใหญ่โตสง่างาม หากเป็นเพียงบ้านดินอันหมอบติดผืนดินอย่างสงบเสงี่ยม เป็นเพียงบ้านหลังเล็ก ๆ น่ารัก มีสีสัน เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และมีมากไปกว่าสามารถจับต้องได้ ค่าที่บ้านดินเหล่านี้ยังเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ้านของชาวบ้านผู้ยากไร้ ผู้ยังใช้ชีวิต สุข ทุกข์อยู่ตามอัตภาพ นี่คือหอศิลป์ที่มีชีวิตชีวาและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (ซึ่งต้องวงเล็บกำกับว่า อาจจะเฉพาะสำหรับฉันเท่านั้น)


ชาวบ้านเบลวาร่า พวกเขาเรียกตัวเองว่า คูร์มี่ (Kurmi) ผู้ชำนาญในด้านเกษตรกรรม งานท้องทุ่ง ส่วนชาวบ้านที่หมู่บ้านอื่นเรียกตัวเองต่างกันไปตามความถนัด ทั้งช่างปั้นหม้อ ช่างสาน ช่างเหล็ก ช่างไม้ นายพราน บ้างชำนาญเรื่องการสกัดน้ำมัน กระทั่งการหาปลา แม้จะต่างในเรื่องความถนัดในการดำรงชีพ แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ งานศิลปะของผู้หญิงชนเผ่า


ลุงบูลู และนักวิชาการต่างชาติกำลังศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus) อันเก่าแก่ และชนเผ่าอะบอริจิ้นแห่งออสเตรเลีย มีหลายจุดซึ่งคาดว่าน่าจะเชื่อมโยงได้กับอารยธรรมแห่งป่าฮาซาริบัค


งานศิลปะบนผนังดินแบ่งใหญ่ ๆ ได้ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล, ในฤดูแห่งการวิวาห์ ลวดลายศิลปะเรียก โควาร์ (Khovar) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน บ้านจะถูกตกแต่งวาดลวดลายใหม่ โดยเฉพาะในห้องหอ สรรค์สร้างงานด้วยเทคนิคที่ฉันขอเรียกเองว่า ‘หวีวาด (comb-cut)’ ผนังบ้านดินฉาบชั้นแรกด้วยดินโคลนสีดำ พอแห้งแล้วก็ฉาบทับอีกชั้นด้วยโคลนสีขาวครีมหรือสีเหลืองตุ่น ๆ ทิ้งไว้พอหมาด ๆ ปาดด้วยหวีเป็นลายนกยูง ลิง ช้าง สัตว์ป่า สีดำข้างในจะปรากฏออกมาตามลายของซี่หวี


ลวดลายแห่งฤดูกาลเก็บเกี่ยว เรียกว่า โซห์ไร (Sohrai) ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นลวดลายสีสันเจิดจ้า เทคนิคไม่จำกัด ทั้งแปรง พู่กัน กิ่งไม้ เศษผ้า แม้กระทั่งนิ้วมือ ลวดลายแตกต่างกันไปแล้วแต่ใจของคนวาด




“ผู้หญิงที่วาดปาดงานบนผนังบ้าน หากเธอพ้นผ่านประตูวิวาห์แล้ว เราจะเรียกเธอว่า ‘เดวี (Devi: เทวี)’”
ลุงบูลู อธิบาย แม้จะรู้คำตอบล่วงหน้า แต่ฉันก็ยังเย้าว่า
“แล้วผู้ชายล่ะคะลุง เราจะเรียกเขาว่า ‘เดวา’ หรือเปล่า?”
ลุงอมยิ้มแล้วส่ายหน้า


งดงามกว่าภาพเขียนใด ๆ ที่เคยผ่านตา
จากรุ่นต่อรุ่น จากแม่ถึงลูกสาว ถึงหลานสาว
สืบทอดกันมาช้านาน
แต่น่าเป็นห่วงว่าในไม่ช้าความงามเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นอดีต


ชะตากรรมของบ้านดินกำลังง่อนแง่น ด้วยถูกคุกคามจากเหมืองแร่และเหมืองถ่านหินนับสิบๆ แห่ง หลายพื้นที่อันเป็นถิ่นอาศัยเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านมาช้านาน ถูกขุดเจาะเพื่อหาสินแร่ ผืนดินพังถล่ม ชาวบ้านต้องอพยพ หมู่บ้านดั้งเดิมกำลังสาบสูญ


ชะตากรรมของบ้านดินกำลังสั่นคลอน ด้วยหน่วยงานรัฐของอินเดียมองเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบ้านดิน สกปรก ไม่พัฒนาและล้าหลัง ทางการอินเดียจึงเสนอเงินจำนวน 25,000 รูปี ให้ครอบครัวที่อยากอยู่บ้านคอนกรีต บ้านหลายหลังในหมู่บ้านเบลวาร่า เปลี่ยนโฉมจากบ้านดินเป็นบ้านคอนกรีต ไร้สีแต้มตามความเชื่อเดิม และเชื่อว่าอีกหลายหลังกำลังตามมาเรื่อยๆ


ลุงบูลู คุยกับชาวบ้านหน้าเครียด เงินจำนวนสองหมื่นห้าพันรูปีมีกำลังพอที่จะถล่มบ้านดินดั้งเดิมทั้งหลัง ลุงทำทุกวิถีทางคุยกับชาวบ้าน เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และติดต่อองค์กรเอกชนต่างประเทศ แต่กระแสเงินไหลแรงกว่ากระแสน้ำ และไม่เคยคอยใคร


“ทำไมทางการอินเดียต้องการโละหมู่บ้านทิ้งล่ะคะลุง?”


“นอกจากเรื่องผลประโยชน์เรื่องของเหมืองแร่แล้ว อีกอย่างที่สำคัญเพราะทางการเห็นว่าศิลปะเหล่านี้ไม่ใช่ฮินดูแท้ๆ เพราะชาวบ้านเหล่านี้เป็น พรี-ฮินดู (Pre-Hindu) นับถือผี ความเชื่อเรื่องนี้ยังเด่นชัดอยู่ในรอยสักตามแขนขา ร่างกายของหญิงชาวบ้าน”


“แล้วเหตุผลที่พวกเขาวาดรูปบนผนังบ้าน?” ฉันยังไม่สิ้นความสงสัย
“เหตุผลเดียวกันกับรอยสัก พวกเขาสักตามร่างกายเพื่อป้องกันตัวเองจากผีร้าย เหตุผลที่เขียนภาพบนผนังบ้านก็เพื่อคุ้มครองบ้านจากผีร้ายเช่นกัน”



ยังมีผีอีกตัวที่ร้ายกว่า มันชื่อ ‘ศิวิไลซ์’ ฉันมองเห็นมันกำลังย่าง 3 ขุมมาช้า ๆ เคี้ยวบ้านดินหยับ ๆ มือถือสามง่ามชื่อ‘พัฒนา’ ไล่ต้อนชาวบ้านเข้ามุม


เหมือนดั่งที่ชาวบ้านเผ่าบิฮอร์ (Bihor) ผู้ชำนาญในการล่าสัตว์ ได้ถูกคำว่า‘พัฒนา’ ต้อนจนมุมเรียบร้อยแล้วที่ชายป่าแห่งหนึ่งในฮาซาริบัค


ด้วยอยากเห็นจากม่านตาตัวเอง ฉันนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของกุสตาฟ ออกจากบ้าน ผ่านเมือง ไปยังผืนป่าอันเป็นถิ่นอาศัยของคนบิฮอร์ ซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อน พวกเขาอยู่บ้านใบไม้ที่เรียกว่า ‘คุมบ้า (Kumba)’ ยามใดเมื่อการหากินฝืดเคือง เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือเคราะห์ร้าย พวกเขาก็จะย้ายถิ่นและสร้าง ‘คุมบ้า’ ใหม่ไปเรื่อย ๆ


ถึงวันนี้ ‘คุมบ้า’ ของชาวบิฮอร์กลับกลายเป็นห้องแถวเล็ก ๆ ส่วน ‘คุมบ้า’ ใบไม้สีเหลืองแห้งว่างเปล่า 2 หลัง ยืนเหงาเป็นอนุสาวรีย์อยู่กลางลานที่ล้อมรอบไปด้วยบ้านคอนกรีตหลังใหม่ เหมือนจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า – ข้าจนมุมแล้ว เพื่อนเอ๋ย


“ผมไม่ได้มาที่นี่ราว 2-3 เดือนแล้วครับ เมื่อก่อนยังไม่มีห้องแถวพวกนี้ ใจจริง ผมไม่อยากมาที่นี่นัก หลังจากรู้ข่าวเรื่องบ้านใหม่ของบิฮอร์” กุสตาฟ บอกเรียบ ๆ
“ถึงตอนนี้ คนบิฮอร์ก็ไม่จำเป็นต้องเร่รอนอีกต่อไป” ฉันต่อบทจืดชืด


บทสนทนาฝืด ท่ามกลางความรู้สึกอันยากจะบรรยาย ฉันอดถามตัวเองไม่ได้ว่า ฉันรังเกียจการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ลุงบูลู หรือฉันหรือใคร ๆ มีสิทธิ์ไหมที่จะทัดทานชาวบ้านไม่ให้เดินไปสู่หนทางที่ว่ากันว่า ‘ศิวิไลซ์’


ความศิวิไลซ์น่ารังเกียจปานนั้นหรือ?


สำหรับฉัน คำตอบคือไม่ หากเพียงแต่เดินมาให้ถูกจังหวะ อย่าเร่งรัด อย่ากดดัน เปลี่ยนแปลงและเป็นไปอย่างช้า ๆ ให้คนอยู่ได้เรียนรู้และเท่าทัน ‘ศิวิไลซ์’ คงมีความหมายเป็น ‘ศรีวิไล’แท้ๆ


บทบันทึกของ ‘เออร์เนสโต้ เกวาร่า’ หรือ ‘เช เกวาร่า’ หมอนักปฏิวัติชาวอาร์เจนไตน์ ในช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ขณะเรียนแพทย์ปีสุดท้าย เช จากบ้านเกิดกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า เดินทางรอบละตินอเมริกา


เมื่อ เช มองเห็นหมู่บ้านซึ่งถูกโบยตีด้วยกระแสทุนนิยม เขารำพึงว่า – นี่หรือ คือสิ่งที่ ‘ศิวิไลซ์’ กระทำ?


ความศิวิไลซ์ถีบคนบิฮอร์มากองรวมกันในห้องแถวรูหนูริมป่า ผู้หญิงยังคงไม่มีงานทำ อดอยาก ขาดความรู้ ขาดสุขอนามัย ขาดการควบคุมประชากร ลูกเด็กเล็กแดงกระจองอแง วิ่งเกลื่อนหมู่บ้าน กอดคอเติบโตมากับความหิวโหย ในขณะที่ผู้ชายต้องเดินทางไกลขึ้น เพื่อเข้าป่าไปหาล่าสัตว์ เพื่อสืบทอดการดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน - นี่หรือ คือสิ่งที่ ‘ศิวิไลซ์’ กระทำ?




สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ เราทำได้เพียงนั่งมองการเปลี่ยนแปลง และพยายามยอมรับมัน หากยอมรับไม่ได้ก็จงหลับตา แต่ทว่าไม่ใช่ผู้ชายชื่อ บูลู แน่นอน ลุงไม่เคยนั่งดูนิ่งเฉย


วันต่อมา ฉันติดตาม ลุงบูลู และพรรคพวก เข้าป่า อิสโก (Isco) ลุงเพิ่งได้ข่าวมาว่าภาพศิลปะฝาผนังแก่เก่าก่อนยุคประวัติศาสตร์กำลังโดนย่ำยี เราจะไปดูกัน


ด้วยรถจี๊ปคันเก๋ากึ๊กของเพื่อนรุ่นลูกของลุง เรานั่งปุเลงๆ หัวสั่นหัวคลอนเข้าไปในป่า สภาพป่าในฮาซาริบัค ไม่คล้ายป่าบ้านเรา หากแต่ป่าโปร่ง ไม่รก ไม่ชื้น พื้นดินเป็นร่องลึก กรวดทรายสลับกับแผ่นหินใหญ่ เดินง่าย แต่ขับรถยาก


ระหว่างทาง เราแวะตามหมู่บ้านไปเรื่อย ๆ สำหรับฉัน ความตื่นตาตื่นใจไม่เคยจาง ด้วยทุกบ้านยังงดงามด้วย ‘โซห์ไร’ และ ‘โควาร์’ สีสันสดใส ลวดลายจากหวี และสีสันฉูดฉาดของส่าหรี


หมู่บ้านโจระกาธ (Jorakath) เป็นหมู่บ้านของชนเผ่ากันจู ฉันได้พบกับ เดวีพุตลี่ ศิลปินหญิงชนเผ่า ร่างเล็กเพรียวบางคล้ำแดด ลวดลายรูปสัตว์รูปคนบนผนังบ้านของเธอทำเอาฉันหลงใหล รีบกดชัตเตอร์ลอกลายลงในแผ่นฟิล์ม, พุตลี่ ตื่นเต้นดีใจเมื่อเห็นผู้ไปเยือน กุลีกุจอหาน้ำท่ามารองรับ เธอเรียก ลุงบูลู ว่า ‘บาบา (Baba)’ อันหมายความว่า ‘พ่อ’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอรักและเทิดทูนลุงเพียงใด


“เห็นพุตลี่แบบนี้ เธอไม่ธรรมดานะ เธอไปนั่งจิบไวน์ขาว ดินเนอร์กับศิลปินที่เจนีวา และซิดนีย์มาแล้ว”


ลุงบูลูบอกฉัน แล้วก็หันไปแปลให้พุตลี่ฟัง หญิงสาวก้มหน้า ฉันแอบเห็นยิ้มขวยเขินระบายบนใบหน้าของเธอ ลุงไม่ได้พูดเกินจริง พุตลี่ เดินทางไปวาดด้วยหวี ด้วยมือแสดงผลงานสดๆ มาแล้ว ในหลายประเทศ พร้อมหญิงสาวอีกหลายคน รวมทั้ง ฟิโลมิน่า ภรรยาของลุงก็เป็นเดวีชนเผ่าเช่นกัน ฉันนึกภาพหญิงชาวบ้านแห่งเมืองพันป่าห่มส่าหรีสีแจ๊ด นั่งโต๊ะอาหารกับชายหญิงในชุดสูทสากล เพียงแค่คิดรอยยิ้มบางๆ ก็ระบัด




จากจุดนี้ ถึงเวลาต้องสละรถ และเดินเท้าเข้าป่า พุตลี่เดินนำหน้าคล่องแคล่ว ตีนเปลือยของเธอย่ำไปบนแผ่นดินราวกับรู้จักหินทุกก้อน กรวดทุกเม็ด เธอกำลังพาพวกเราไปยังแหล่งภาพศิลปะฝาผนังโบราณที่มีอายุราว 4-7 พันปีก่อนคริสตกาล ระหว่างทาง ลุงบูลู สอนวิธีดูอายุของก้อนหิน หินบางก้อนเก่าแก่นับหมื่นปี มีร่องรอยบ่งบอกว่าเดิมเคยเป็นเครื่องมือโบราณ เคยผ่านมามือของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาแล้ว


“ทุกอย่างคือหนังสือ” ลุงบูลู เล่าเรื่อย ๆ
“เราสามารถอ่านอะไรต่อมิอะไรจากทุกอย่างได้ เราอ่านก้อนหินได้ เรารู้ว่าเมื่อก่อนเขาอยู่กันอย่างไร เราอ่านเหตุการณ์จากผืนดินได้”


ด้วยความรักการอ่าน และเห็นว่าทุกอย่างคือบันทึกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ ลุงบูลู ถึงโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เมื่อรู้ว่าการท่องเที่ยวอินเดียกำลังพัฒนาแหล่งศิลปะฝาผนังในผืนป่าอิสโก โดยการเทคอนกรีตปูเป็นทางเดินยาวใต้ผนัง นั่นหมายถึง การปิดลมหายใจให้บันทึกของแผ่นดินตายอยู่ใต้แผ่นซีเมนต์


“เขาไม่รู้หรอกว่า ก้อนหินมีค่าขนาดไหน พวกเขาถือดียังไงมาทำลาย ช่างไร้ยางอายที่สุด”
พูด ๆ ไป ลุงบูลู ก็เกิดอาการ ‘ของขึ้น’


“ถ้าคิดจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ควรจะกั้นทำทางเดินให้ห่างผนังหินสักหน่อย ให้คนมาเที่ยวชมได้แต่ตา มือไม่ให้ต้อง”


หัวจิตหัวใจของลุงบูลูไม่ได้คัดค้านการท่องเที่ยวหัวชนฝา ตรงกันข้าม ลุงกลับบอกว่า ถ้าฮาซาริบัคได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนสนใจศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ อันยังคงมีชีวิตอยู่บนผนังบ้านดินของชาวบ้าน เช่นนั้น - อนาคตของบ้านดินคงจะอยู่รอดได้ ขอเพียงแต่จัดการอย่างถูกทางเท่านั้น


เดินราวชั่วโมงปลาย เราก็มาถึงที่หมาย ฉันตะลึงระคนตื่นเต้นกับสิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า!!




ภาพเขียนโบราณลวดลายแปลกตาเรียงแน่นขนัดอยู่เต็มผนังหิน ความสูงราวบ้านชั้นครึ่ง ยาวราว 40-50 เมตร งามไม่มีที่ติ แต่มีบางสิ่งแปลกปลอมนั่นคือ ทางเดินซีเมนต์ทอดยาวเคียงคู่ชิดติดผนัง คนงานหญิงสวมส่าหรีสีแจ๊ดเดินทูนหัวด้วยถาดซีเมนต์ลงไปเทยังพื้นเบื้องล่าง คนงานชายกำลังผสมปูน คนงานทั้งหมดราว 10 กว่าคนกำลังทำงาน


แล้วสงครามย่อย ๆ ก็บังเกิด แม้ฉันจะฟังภาษาฮินดี้ไม่รู้เรื่อง แต่ดูอากัปกิริยาแล้วเดาไม่ยาก ลุงบูลู โวยวายลั่น สั่งหยุดทำงาน หัวหน้าคนงานทุ่มเถียง ฉันเดินเลี่ยงออกมาจากวง


โลกของเรายังเต็มไปด้วยการต่อสู้ มองจากฝั่งที่ฉันยืนอยู่ ไม่มีใครได้อะไรมาโดยง่าย หลายคนต้องแลก แต่กับบางคนคำว่า ‘แลก’ ยังเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป ด้วยคำว่า ‘แลก’ ยังพอมีหวังที่จะได้บางอย่างมาทดแทนสิ่งที่สูญเสีย


– บางคนทุ่มสุดชีวิตเพื่อความหวังสูงสุดคือ ‘ได้แลก’


แม้ว่าวันนี้เหตุการณ์จะจบด้วยคนงานยอมหยุดทำงาน แต่ก็แค่วันนี้เท่านั้น คำสั่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และยังมีแหล่งศิลปะฝาผนังโบราณในป่าฮาซาริบัคอีกหลายแห่ง ที่ทางการกำลังเร่งพัฒนาให้แผ่นหินจารึกโบราณเหล่านั้น กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของอินเดีย
…....



หลังอาหารค่ำ หน้าเตาผิง เสียงปะทุจากไฟฟืนดังเบา ๆ เป็นระยะ ความอบอุ่นแผ่กระจายมากับแสงสีเหลืองนวล ชายชราคนหนึ่งนั่งหลับตาเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ มือถือถ้วยชา เสียงเปียโนคอนแชร์โต้หมายเลข 5 ของบีโธเฟ่นจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณดังกังวาน ดูเผินๆ ชายชราคนนี้คงเป็นคนที่มีความสุขที่สุด แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้เปลือกตาลึกนั้นซ่อนอะไรอยู่


ในวันที่ต้องโบกมือลา ลุงบูลู กอดฉัน ลูบหัวพลางพูดเบา ๆ
“ลุงรักเธอเหมือนลูกสาว กลับมาอีกนะ มาดูความเป็นไปของหมู่บ้าน”


ฉันกะพริบตาถี่ กลบเกลื่อนขอบตารื้น ไหว้ลาทุกคน พร้อมกับสัญญากับตัวเองว่า จะกลับมาอีกในเร็ววัน


แม้ไม่ได้คาดหวังว่าความศิวิไลซ์จะพ่ายแพ้
แต่แอบหวังลึก ๆ ว่า บ้านดินจะอยู่รอด






Free TextEditor




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2552
4 comments
Last Update : 16 พฤษภาคม 2552 15:06:29 น.
Counter : 2179 Pageviews.

 

เคยศึกษาเรื่องบ้านดินสมัยเป็นนักศึกษา ชอบแนวคิดมากๆ
อยากไปสัมผัสบ้านดินหลายๆประเทศค่ะ
จขบ. ดีจังได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
ศิลปะ และวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยตรง
อีกทั้งยังได้ข้อมูลดิบจากผู้คนในท้องที่เอง เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆเลยค่ะ
อิจฉาจัง.... ว่าแล้วต้องหาเวลาเดินทางบ้างนะนี่

ปล.จขบ. เขียนดีจังเลยค่ะ เป็นบทความสารคดีชั้นเยี่ยมเลย ชอบค่า

 

โดย: mame (@FirstblusH ) 16 พฤษภาคม 2552 11:52:42 น.  

 

จากอุรุมชี มาถึง ฮาซาริบัค ..ได้ไง !!

วันนี้ อยากรู้เรื่องอุรุมชี เลยหาอ่านมาเรื่อยๆ
จนไปพบเรื่ิองของคุณโชกโชน ..
มีคนเอ่ยถึงคุณจันทร์เคียวในนั้น .. ดูน่าสนใจ

ก็เลยตามมาเรื่อยๆ อาศัยถามจากอากู๋ (google)
สุดท้าย จากอุรุมชี มาโผล่ที่ ฮาซาริบัค

เป็นวันที่ผมได้อ่านอะไรที่มีทั้งคุณค่าและความเพลิดเพลิน
และเก็บภาพไว้คอยเตือนตัวเองว่า
โลกนี้ยังมีอะไรตั้งเยอะแยะ ..
ขอบคุณครับ

 

โดย: ซาตานสีส้ม 7 กรกฎาคม 2552 21:42:12 น.  

 

ติดตามผลงานคุณจันทร์เคียวมาตลอด เราเคยคุยกันเล็กน้อยที่ trekking thai ค่ะ แต่คุณจันทร์เคียวคงจำเราไม่ได้ ก็แวะมาทักทาย เพิ่งทราบว่าคุณจันทร์เคียว มีบล็อค เร็วๆนี้เราก็จะไปอินเดีย เห็นสถานที่แห่งนี้ ก็รู้สึกสนใจอยากตามรอยค่ะ แต่ท่าทางจะไปยากอยู่

 

โดย: candy perfume girl 2 สิงหาคม 2553 18:08:10 น.  

 

ไม่ได้เข้าบล็อคนานมากๆ นานจนลืมว่ามีบล็อคอยู่ที่นี่

ขอบคุณคุณ Mame คุณซาตานสีส้ม คุณ candy perfume girl มากๆ ค่ะ

(ตอนนี้ใช้ facebook เสียมากกว่า :)

 

โดย: จันทร์เคียว 10 กันยายน 2555 13:45:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


จันทร์เคียว
Location :
Shonandai Fijisawa Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




เคยล้างจาน เคยเสิร์ฟอาหาร
เคยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
เคยเขียนหนังสือ
เคยเดินทางคนเดียว

จากนี้ จะเดินทางไปพร้อมกับเด็กชายยินดี
และพ่อของลูก

นับจากนี้ และตลอดไป
Lilypie 1st Birthday Ticker
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
15 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add จันทร์เคียว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.