space
space
space
<<
มกราคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
12 มกราคม 2560
space
space
space

Trump กับ ประเทศไทย



Trump กับThailand

ดร.ภคพร กุลจิรันธร

‘America First’ คือวลีชูโรงของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ทันทีที่ทรัมป์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์จะมีอีก 2บทบาทพ่วงมาด้วยคือ หัวหน้าทางการทูต (Chief of Ambassadors)และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Commander-in-Chief) ซึ่งทั้งสองบทบาทนี้จะทำให้ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯมีอำนาจต่อนโยบายต่างประเทศและนโยบายทางทหารอย่างสำคัญ ‘นโยบายต่างประเทศ’จะเป็นอีกพื้นที่ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะได้แสดงแสนยานุภาพมากที่สุด

อย่างแรก คือ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตและทำสนธิสัญญา (Treaty) กับต่างประเทศได้แต่ทั้งนี้จะต้องควบคู่กับคำแนะนำและการยินยอมของวุฒิสภานั่นหมายความว่าประธานาธิบดีมีอำนาจในการ ‘ริเริ่ม’ นโยบายต่างประเทศต่างๆ ได้ และเลือกเอกอัครราชทูตที่มีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องต่างประเทศสอดคล้องกับแนวคิดของตัวเอง

ที่น่าสนใจคือแม้สนธิสัญญากับต่างประเทศจะต้องได้รับการยินยอมจากวุฒิสภาแต่ข้อตกลงระหว่างต่างประเทศ (Executive Agreement) นั้นประธานาธิบดีสามารถดำเนินการตกลงกับประเทศต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องผ่านวุฒิสภา อย่างเช่นข้อตกลงทางการค้าต่างๆหรืออย่างที่เราเห็นว่าทรัมป์สามารถให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความร่วมมือทางการค้า Trans-PacificPartnership (TPP) ได้หากเขาต้องการ
นอกจากนี้ประธานาธิบดียังมีอำนาจยื่นข้อเสนอทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศต่อรัฐสภาและยังมีอำนาจที่จะยับยั้ง (Veto) กฎหมายที่ประธานาธิบดีคิดว่าขัดต่อผลประโยชน์ของชาติซึ่งนับว่าเป็นอำนาจทางกฎหมายที่สำคัญมากของประธานาธิบดี

และเมื่อมาถึงนโยบายทางทหารในฐานะผู้บัญชาการของกองทัพประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะส่งกองกำลังทางทหารไปยังต่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติหรือเพื่อเป็นการแสดงอำนาจทางทหารในต่างประเทศแม้ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจในการประกาศสงครามแต่ก็สามารถสั่งให้กองทัพดำเนินการได้ในบางสถานการณ์โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐสภา ซึ่งครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นที่เราเห็นบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามต่างๆหลังจากนั้น เช่น ในอิรัก ก็คืออำนาจของประธานาธิบดี นั่นหมายความว่าถ้าหากทรัมป์ต้องการถอนหรือเพิ่มกำลังทางทหารในทะเลจีนใต้ทรัมป์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

     Asia Foundation ได้นำเสนอนโยบายต่างประเทศที่สหรัฐฯควรดำเนินการต่อกับทวีปเอเชีย เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในทวีปเอเชีย อย่างแรกคือ สหรัฐฯควรรักษาอำนาจตัวเองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับจีนซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศต่างๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯไม่ควรมีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้บรรดาประเทศฝั่งเอเชียลำบากใจหรือทำให้รู้สึกว่าต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้สหรัฐฯควรจะเริ่มเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่สามารถยับยั้งเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ในระยะยาวและสุดท้ายสหรัฐฯ ควรจะสานต่อการช่วยเหลือทางทหารกับประเทศในทวีปเอเชียด้วย

แต่แนวคิดของทรัมป์ต่อนโยบายต่างประเทศในเอเชียที่เคยประกาศระหว่างหาเสียงนั้นสวนทางกับนโยบายข้างต้นอย่างสิ้นเชิงทรัมป์เคยพูดไว้ว่า หากประเทศอื่นๆ จะเดินหน้าสู่สงครามและถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ นั้น ทรัมป์ก็ขอให้ประเทศเหล่านั้นโชคดีและยังขอให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จ่ายเงินให้กับกองทัพสหรัฐฯที่ส่งกองกำลังไปบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศมากไปกว่านั้นคือทรัมป์ยังเคยประกาศสนับสนุนให้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเองเพื่อเอาไว้คานอำนาจกับเกาหลีเหนือซึ่งสิ่งนี้ขัดกับสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-ProliferationTreaty) ที่ 191 ประเทศเข้าร่วม
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่าง TPP ที่ AsiaFoundation เสนอว่า สหรัฐฯ ควรจะสานต่อเพราะการล้มเลิกนโยบายเสรีทางการค้า และหันไปสู่นโยบายเศรษฐกิจแนวชาตินิยม (Nationalist/ProtectionistPolicy) ไม่ใช่การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญแต่ทรัมป์ได้ประกาศตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งแล้วว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก TPP
แม้ว่า TPPจะยังมีอีก 11 ประเทศเป็นสมาชิก ทว่า ชินโซอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมาพูดแล้วว่า หากสหรัฐฯซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ถอนตัวออกจาก TPP ก็อาจทำให้ข้อตกลงTPP นั้นไร้ความหมายและจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างสำคัญ

แม้Trumpจะยังไม่ได้เข้ามาเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการซึ่งจะต้องรอถึงวันที่20 มกราคม 2017 สิ่งที่พอวิเคราะห์จากแนวนโยบายของTrump สรุปหลักการได้ว่า Trump ในฐานะประธานาธิบดีจะเป็นคนที่มีเหตุมีผล (Rational) มากขึ้น ต้องเผชิญกับสถานการณ์และสภาพข้อเท็จจริงของสหรัฐอเมริกาขณะเดียวกัน Trump ก็ต้องซื่อสัตย์กับแนวนโยบายในการหาเสียงมิฉะนั้นจะทำให้ผู้เลือกเขาเข้ามาไม่พอใจ

นโยบายทางเศรษฐกิจที่Trumpต้องทำตามสัญญาคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาอัตราการลดต้องมีการลดแบบมีนัยสำคัญซึ่งอาจจะตรงหรือแตกต่างจากที่สัญญาไว้บ้างอีกนโยบายที่ Trump ต้องทำแน่คือการใช้จ่ายเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งตอนหาเสียงกำหนดไว้พันล้านล้านดอลลาร์โดยหวังว่ารัฐจะไม่ต้องใช้งบประมาณเลยเพราะจะให้เอกชนดำเนินการ สมมติฐานของ Trumpคือ เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเอกชนจะได้ Tax credit ในอัตราสูงเพื่อจูงใจ และ Trump หวังจะเก็บภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มาจากบริษัทก่อสร้างและอื่นๆ ที่ปรึกษาบอกว่า โครงการแบบนี้รัฐบาล Trump ไม่ต้องใช้งบประมาณเลยอย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้น การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานหนึ่งพันล้านล้านดอลลาร์นั้นเอกชนอาจแบกรับไม่ไหว จำนวนเงินดังกล่าวเอกชนอาจไปไม่ถึง ที่ปรึกษาของ Trumpจึงออกมาพูดในทำนองว่าจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในวงเงินประมาณ 5แสนล้านดอลลาร์

การลดภาษีเงินได้บวกกับการขยายการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นนโยบายที่Trumpใช้กระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาดัวยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์หลังจากที่ตกลงไปอย่างหนักเมื่อรู้ข่าวว่า Trump ชนะการเลือกตั้งแต่ในวันต่อมาก็ดีดกลับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ นักวิชาการเชื่อว่าเศรษฐกิจของอเมริกาจะฟื้นตัวขึ้นซึ่งคาดว่าอาจจะสูงประมาณ 2.2 – 2.4% และเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเกิน 2% ในขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในอเมริกาจะสูงขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายป้องปรามเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยผลจากแนวคิดนี้ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาซื้อดอลลาร์แลมีการทิ้งหุ้นและพันธบัตรในประเทศกำลังพัฒนาดังจะเห็นได้ในกรณีของไทย 2-3 เดือนที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิประมาณ 35,000 ล้านบาท(ความจริงมีการขายมาก่อนการเลือกตั้งหนึ่งถึงสองเดือน) และมีแนวโน้มขายต่อไปในอนาคตเนื่องจาก 7 เดือนแรก ต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิประมาณ 105,000ล้านบาท ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้น พันธบัตรอัตราแลกเปลี่ยน โภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ทองแดงนิกเกิล เพราะเชื่อว่า การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานจะทำให้เกิดอุสงค์ของโภคภัณฑ์ดังกล่าว

Trump มีนโยบายยกเลิกข้อตกลงปารีสและให้ความสำคัญกับพลังงานฟอสซิลเนื่องจากข้อตกลงปารีสนั้น Trump เห็นว่าเป็นแค่การหลอกลวงของจีนที่ต้องการให้อเมริกาลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานทดแทนซึ่งนั่นหมายถึงจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลของอเมริกาซึ่งมีวัตถุดิบมากมายและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาด้วย อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังไม่เชื่อว่า Trump จะยกเลิกข้อตกลงปารีสซึ่งอเมริกาได้ให้สัตยาบันไปแล้วทั้งนี้เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศที่ร่วมตกลงและจะส่งผลต่อปัญหา Climate change อย่างไรก็ตาม Trumpคงจะมีการให้ความสำคัญและเปิดเสรีให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานแบบเดิมทั้งถ่านหินและน้ำมันผลที่ตามมาคือ ถ่านหินราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลดีกับประเทศที่ส่งออกพลังงานประเภทนี้โดยเฉพาะในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย เป็นต้น

นโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของTrumpที่มีผลกระทบต่อโลกคือ การที่ Trump จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา45% ความจริงนั้นผู้เขียนเชื่อว่า Trump คงจะไม่กล้าทำถึงขนาดนั้นเพราะจะทำให้เกิดสงครามด้านการค้าโดยจีนสามารถตอบโต้ได้เช่นกันจีนนั้นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกาอเมริกาเองก็ลงทุนในจีนเยอะจึงมีการพูดเปรย ๆ ว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะไม่มีการสั่งชื้อBoeing และสินค้า IT ของอเมริกาและจีนสามารถแก้เผ็ดด้วยการ sanction อเมริกาเช่นกัน มีการประเมินว่า ทุก ๆ 15% ของการขึ้นภาษีมีผลทำให้GDP ของจีนลดลง 1% และเนื่องจากอาเซียนมีความสัมพันธ์ทั้งทางการค้าและการลงทุนกันจีนจะส่งผลให้GDP ของไทยลดลง 0.5% มาเลเซียลดลง 0.3%เกาหลีใต้และญี่ปุ่นลดลง 0.3% ดังนั้นถ้ามีเพิ่มภาษีนำเข้า45% เศรษฐกิจจีนก็คงเผชิญปัญหาวิกฤตซึ่งจะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อเอเชียต่อโลก และต่ออเมริกาด้วย ผู้เขียนเชื่อว่า Trump คงจะสร้างเงื่อนไขต่อรองระดับสูงไว้แต่เอาเข้าจริงจะมีมาตรการผ่อนปรนโดยในที่สุดอาจมีการเล่นงานจีนโดยเรียกจากภาคธุรกิจที่มีการอุดหนุนทางการค้าการทุ่มตลาดและขอให้จีนอย่าเอาผลผลิตที่มีเหลือ เช่น เหล็ก ออกขายไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ธุรกิจประเภทนี้ในประเทศต่าง ๆ มีปัญหาและล้มละลายก็มีกล่าวอีกนัยหนึ่งแม้ Trump จะไม่ได้ทำกับจีนเต็มที่ตามที่เคยกล่าวไว้แต่การขยายตัวของการกีดกันทางการค้าจะสูงขึ้น รวมกับการยกเลิก TPP และการปรับ NAFTA ใหม่การขยายตัวการกีดกันทางการค้าอาจทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลงเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งยังต้องใช้มาตรการช่วยไม่ว่าจะเป็น QE หรือดอกเบี้ยติดลบ อีกทั้งจีนก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำการกีดกันทางการค้าก็คงทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกและกระทบกับการท่องเที่ยวรวมทั้งไทยด้วย

ในระยะกลางถ้านโยบายของ Trumpในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดารวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายแสนล้านดอลลาร์นั้นเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดไว้นั่นคือ เกิดการขยายตัวของหนี้สาธารณะ (ขณะนี้สูงถึง 75% ของGDP) และเงินเฟ้อ เศรษฐกิจอเมริกาที่กำลังฟื้นก็อาจเผชิญการกลับมาของเศรษฐกิจที่ถดถอยลง(Recession) ในกรณีดังกล่าวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามภาพฉายดังกล่าวนี้ยังเป็นเพียงการดาดเดาเท่านั้น ความชัดเจนจะมีมากขึ้นหลังจากที่ Trumpดำเนินมาตรการในอนาคต

โดยสรุป นโยบายของ Trump ในระยะสั้นจะส่งผลในเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้นตลาดพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน ตลาดโภคภัณฑ์และในระยะกลางอาจสร้างปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะผลกระทบต่อจีนและภูมิภาคเอเชีย อาเซียน และรวมทั้งไทยด้วย




 

Create Date : 12 มกราคม 2560
0 comments
Last Update : 12 มกราคม 2560 7:37:32 น.
Counter : 1391 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

space

สมาชิกหมายเลข 972112
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 972112's blog to your web]
space
space
space
space
space