bloghead..................................................
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
17 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
อุปนิสัยในภาษา

อุปนิสัยในภาษา

ในช่วงอาทิตย์แรกที่เดินทางมาถึงอังกฤษ ผมต้องปรับตัวอย่างมาก เริ่มจากเวลาที่แปรเปลี่ยน ช้ากว่าประเทศไทย 7 ชั่วโมง ผมตื่นตี 3อยู่ในช่วง 2-3คืนแรก (เป็นเวลา 10โมงเช้าของประเทศไทย) แล้วก็ต้องข่มตาหลับต่อ พอตื่นอีกทีราวแปดโมงเช้าก็จะปวดหัวมาก มึนไปทั้งวัน เหมือนตอนที่นอนมากเกินไป อาการนี้คงเรืียกว่า Jet lag นั่นเอง ต้องพยายามนอนและตื่นตามเวลาของที่นี่สักสองสามวัน นาฬิกาชีวิตในตัวก็จะปรับไปได้เอง ถ้าไม่ยอมฝืนทำในลักษณะนี้ เราจะนอนและตื่นผิดเวลาไปอีกนาน และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว

การปรับตัวด้านภูมิอากาศ ขณะนี้เดือนพฤศจิกายน เข้าช่วงฤดูหนาว กลางวันอุณหภูมิราว 7 องศา ตกกลางคืนก็เหลือ 2 องศา หายใจออกมาเป็นไอขาวขุ่นตลอดวัน ต้องใส่ถุงมือหนาๆเพราะถ้าเย็นมากนิ้วเราจะชาและปวด ฟ้าจะเริ่มสางก็แปดโมงเช้าไปแล้ว และพอสี่โมงเย็น ฟ้าก็จะมืดสนิทแล้ว พระจันทร์ขึ้นเห็นชัดเลย พระอาทิตย์จะไม่ขึ้นทางตะวันออกแล้วผ่านหัวเราไปตกทางตะวันตกเหมือนในประเทศไทย ซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่จะขึ้นเฉียงๆต่ำๆ พอเที่ยงตรงจะอยู่ที่ระดับเหมือนตอนสายๆบ้านเรา แล้วก็คล้อยลงเลยทันทีในระนาบเดิม ฝั่งเดิมจนตกดินไป เป็นภาพที่แปลกตาดี แต่บรรยากาศแบบนี้ทำให้ดูเหมือนเรามีเวลาตอนกลางวันน้อยไป พอมืดก็จะเริิ่มหิวและง่่วง ไม่อยากอยู่ข้างนอกนานนักเพราะอากาศหนาว ที่ไทยเราต้องเปิดแอร์ ที่นี่ก็ต้องเปิด แต่เป็นเครื่องทำความร้อน เป็นความเหมือนที่แตกต่าง เหมือนไม่เคยมีความพอดีในชีวิต

ที่นี่ฝนจะตกบ่อย แต่เป็นตกปรอยๆ เบาๆ ผู้คนก็จะดำเนินกิจกรรมไปตามปกติเคยชิน ไม่กางร่มถ้าไม่จำเป็น ตกไปสักพักก็จะหยุด ยังไม่เคยเห็นตกหนักๆ หรือตกนานๆเลย แต่ฝนที่ตกผนวกกับอากาศที่หนาว ก็ทำให้เราสั่นสะท้านได้เหมือนกัน ผมเองพอต้องออกจากบ้านครั้งใด ใส่เสื้อหนาวอย่่างหนากันลมและฝนได้ สวมหมวกไหมพรมและถุงมือ ถุงเท้าต้องอย่างหนาและสองชั้น เพราะในชีวิตไม่เคยหนาวขนาดนี้ แต่ฝรั่งที่นี่เดินใส่เสื้อแขนยาวไหมพรมบางๆธรรมดา เดินเล่นสบายใจ บางคนสวมขาสั้นวิ่งจ๊อกกิ้ง ขณะที่ผมทำตัวเหมือนเอสกิโม เดินสั่นๆขดๆ มุดหน้าอยู่ในเสิื้อ โผล่ก็เพียงแต่ตาเท่านั้น

ในการเรียนรู้เร่ื่องทั่วไปและการใช้ชีวิตประจำวัน มาใหม่ๆยังไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีบัญชีธนาคาร ไม่มีบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องเป็นเงินสด ค่าเงินปอนด์ก็ไม่คุ้น จะใช้จ่ายอะไร อดคูณด้วย 55 ไม่ได้ แล้วก็จะรู้สึกว่าของทุกอย่างแพงมหาโหด เช่นกินข้าว ขั้นต่ำมื้อละ 250-500บาท ขึ้นรถเมล์เที่ยวละ110 บาทเป็นต้น เศษเหรียญเงินปอนด์ก็หยิบใช้ผิดๆถูกๆ เพราะเหรียญเพ็นนีนั้น ทำออกมาไม่ได้เรียงขนาดตามมูลค่า แล้วก็มีหลายแบบมากทัั้งเหรียญ 1p ,5p ,10p ,20p ,50p, £1, £2 พอปนกันแล้วก็มั่วไปหมด ลองจินตนาการว่าจะซื้อของราคา £1.79 จะงงขนาดไหน บางทีก็ตัดรำคาญ หยิบแบงค์ใบละ £5 ซึ่งต่ำที่สุดจ่ายไป นึกว่าจะดี ที่ไหนได้ ทอนเหรียญมาเป็นกระบุง หนักมาก แถมไม่กล้ามานั่งนับตรงนั้นอีก คนข้างหลังรอคิวอยู่อีกเพียบ เลยจำต้องหอบเศษเหรียญทั้งหลายเหล่านั้นมา หาที่นั่งนับอีกที นี่สินะเป็นเหตุให้คนที่นี่ถึงมักใช้บัตรเดบิตจ่าย เพราะสะดวกกว่าไม่ต้องพกเหรียญเยอะแยะนั่นเอง

สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงการเรียนรู้เบื้องต้นซึ่งไม่ยากนักที่จะทำความคุ้นเคย แต่สิ่งที่ยากเย็นและค่อนข้างลำบากในการปรับตัวสำหรับคนต่างชาติอย่างเราๆ ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องของภาษา เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ การใช้ภาษาอังกฤษของผมแม้ได้รับการสอน เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ก็จากครูคนไทย เรียนอังกฤษคำ แปลไทยคำ และพอโตขึ้น อาจจะได้ฝึกฝนเองจากการดูหนังฟังเพลง ก็จะเป็นอังกฤษแบบอเมริกันเสียส่วนมาก การมาเจอต้นตำรัับเจ้าของภาษาที่ประเทศอังกฤษแบบนี้ ทำให้ผมถึงกับเสียความมั่นใจไปเยอะ เนืื่องจากฟังคนทั่วไปพูดไม่ออก พยายามฟังยังไงก็รู้เรื่องได้ไม่ถึงครึ่ง ไม่ใช่คำศัพท์หรือไวยากรณ์ แต่เป็นที่สำเนียงนั่นเองที่ผมไม่คุ้นเคย เมื่อเราฟังไม่ออก แน่นอนการพูดออกไป เค้าก็จะฟังเราไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกัน

ภาษาอังกฤษนั้น มีโทนเสียงสูงต่ำ เน้นนำ้หนักไม่เท่ากัน เหมือนดั่งทำนองดนตรี คำเดียวกัน ถ้าออกเสียงผิด หรือเน้นพยางค์ที่ผิด เค้าจะไม่เข้าใจเราเลย ต้องคิดว่าเราร้องเพลงอยู่ ทำสำเนียงสูงต่ำหนักเบาให้คล้ายเข้าไว้ คำไหนประโยคไหนได้ยินบ่อยๆก็จดจำแล้วเอามาพูดตามบ้าง ถึงจะพอไปได้ มานั่งแต่งประโยคตามหลักไวยากรณ์ก็คงไม่ทันการ เพราะแม้ประโยคถูกแต่สำเนียงเพี้ยน เค้าก็ไม่เข้าใจอยู่ดี แล้วนอกจากนั้น คนอังกฤษยังมีสำเนียงท้องถิ่น ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เหมือนบ้านเรา จึงไม่ต้องหวังเลยว่าจะได้รับฟังสำเนียงเดียวกับที่เราพยายามหัดดูหัดฟัง BBC มาแล้วอย่างมากมายก่อนเดินทาง ต้องมาตายเอาดาบหน้าเท่านั้นหรือเนี่ย

ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องพยายามใช้ภาษาทุกวันๆ จดจำและทำตัวให้เหมือนเด็กน้อยหัดพูดใหม่ๆ เราก็จะเตาะแตะเริ่มพูดได้เช่นเดียวกัน เพราะเด็กสามขวบที่นี่พูดได้แล้วอย่างน่ารัก ยังไม่เห็นต้องเข้าโรงเรียน ท่องศัพท์ แต่งประโยค หรือเรียนแกรมม่าอะไรเลย เผลอๆพูดเก่งกว่าเราซึ่งเรียนภาษามานมนานกว่า20 ปี แต่พอจะต้องพูดจริงๆ ความรู้ที่เรียนมามันหดหายไปไหนหมดไม่รู้ เด็กน้อยมีเทคนิคพิเศษอะไรหรือครับ อ้อ เค้าฟังพ่อแม่พูด แล้วเลียนแบบไงครับ เด็กๆเป็นนักเลียนแบบชั้นยอด ทำซ้ำๆไม่มีเบื่อ ไม่มีความกลัว ถ้าพูดผิด พ่อแม่ก็จะแก้ให้ ด้วยการพูดให้ฟังใหม่ แล้วลูกก็จะเริ่มจดจำ เลียนแบบ ทำซ้ำอีกต่อไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จนคล่องแคล่วไปเอง หากเราเรียนรู้และฝึกแบบนี้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต่างกับคนที่เกิดที่นี่เลย ผมคาดการณ์ว่า ไม่เกิน 2-3 ปี เหมือนเด็กนั่นแหละครับ นั่นเป็นเพราะอะไร ภาษา ไม่ใช่ความรู้ทางวิชาการ แต่เป็นทักษะการบ่มเพาะจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ส่วนถ้าอยู่ที่เมืองไทยหรือครับ ก็ต้องหาเพื่อนชาวต่างชาติแล้วคุยกันทุกวันสิครับ หรือจะหาแฟนไปเลยก็ดีนะครับ จะได้ฝึกแบบมีกำลังใจและมีแรงบันดาลใจ เห็นได้ชัด สาวๆชาวอีสานบ้านเรายังไม่เห็นต้องเทคคอร์สภาษาเลย ส่วนพ่อค้าแม่ขายตามพัฒน์พงศ์ ก็พูดคล่องปร๋อกว่านักเรียนมหาวิทยาลัยดังๆในเมืองหลวงซะอีก

นอกจากนั้น ภาษา คือการสื่อสารที่คนในสังคมนั้นๆ ใช้สืบต่อถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต เป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ และมีวิวัฒนาการแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามความสะดวกของคนที่ใช้ และช่่วงของเวลาที่ผ่านไป ดังนั้น ถ้าเราลองใคร่ครวญความหมายในภาษาให้ลึกลงไป เราจะพบเห็นได้ถึงภูมิปัญญาอันเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ที่ฝังแฝงมากับถ้อยคำและความหมาย ผมอาจวิเคราะห์ได้ไม่ละเอียดลึกซึ้งมากนักเนื่องจากไม่ได้จบมาทางภาษาศาสตร์หรืออักษรศาสตร์ แต่พออยู่ๆไปสักพัก ผมเริ่มได้เค้าลางบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ถูกก็ได้ เพราะผมลองสังเกตด้วยความเข้าใจของผมเอง ดังนั้นผมไม่แปลกใจถ้าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยอย่างมากหลังจากอ่านบทความนี้จบ ความตั้งใจของผมไม่ได้ต้องการจะเปรียบเทียบว่าภาษาไหนดีกว่า หรือสิ่งไหนถูกผิด แต่เป็นเพียงข้อสังเกตและความคิดเห็นที่ได้มาจากการใช้ชีวิตกับผู้คนในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ความแตกต่าง จึงไม่มีถูกกว่า หรือดีกว่า เป็นแค่เพียงความแตกต่างเท่านั้น ไม่มีความหมายที่มากไปกว่านั้น

เราอาจกล่าวว่าเราเป็นชาวพุทธ ซึ่งยึดมั่นเข้าใจในกฏไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความจริงอันประเสริฐคือได้เข้าถึงความเป็นปัจจุบันขณะ สามารถปล่อยวางอดีต และรู้เท่าทันปัจจุบันได้ ผมตั้งสมมติฐานว่า แม้ในภาษาอังกฤษ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสต์ เนิ่นนานมาแล้วในรุ่นบรรพชน มีภูมิปัญญาเห็นแจ้งในกฏไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน อันจะสังเกตได้ว่าพวกเค้าใช้ Past tense ในประโยคที่เป็นอดีต ขยายเน้นให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่พูดเนี่ย มันจบไปแล้วนะ เราเองเป็นคนไทยเสียอีก พอพูดเขียนภาษาอังกฤษทีไร ลืมเติม -ed ในกริยาของเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วทุกที การผันกริยาเป็นช่องสอง ในการพูดของผมต้องอาศัยการมีสติรู้ตัวอย่างยิ่ง ว่าเรื่องที่พูดเป็นอดีตไปแล้ว ต้องเปลีี่ยนกริยาด้วยนะ ซึ่งยากมาก ต้องคอยระมัดระวังอย่างดี ฝึกให้เรามีสติรู้ตัวมากขึ้นโดยอัติโนมัติ เป็นธรรมะที่คนโบราณชาวตะวันตกแทรกสอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้อย่างแยบยลยิ่ง แถมที่ละเอียดลึกซื้งกว่านั้น มี Tense ต่างๆไว้บอกลำดับเหตุการณ์ที่ต่างออกไปรวมถึง 12แบบด้วยกัน ยังไม่นับการเปลี่ยนกริยาด้วยการเติม-s, -es ในประธานของประโยคที่แตกต่างกัน การใช้ a, an นำหน้าคำนามที่แตกต่างกัน ความซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้การฝึกสติในชีวิตประจำวันทำได้มากอย่างนึกไม่ถึงเลยจริงๆ

ภาษาอังกฤษ เราเรียก You กับคนทุกคนที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นผู้อาวุโส นักบวช พ่อ แม่ คนที่นับถืออย่างยิ่ง คนรวย คนจน เพื่อน หรือผู้ที่เยาว์วัยกว่า เค้ามักเรียกชื่อตรงๆ ว่า Johnโดยไม่มีคำนำหน้า เช่น ท่านจอห์น คุณจอห์น พ่อจอห์น พี่จอห์น หรือไอ้จอห์น เรียกแค่ จอห์น เฉยๆ ไม่ว่านายจอห์นคนนี้จะเป็นใคร ใหญ่โตหรือต้อยต่ำมาจากไหน อาจดูเหมือนก้าวร้าวหยาบคายในวัฒนธรรมไทย แต่ผมพบว่า ต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก ที่จะเรียกชื่ออาจารย์ดอกเตอร์ที่คณะว่า จอห์น เฉยๆ มันเหมือนไม่คุ้น ไม่ถูกต้อง แต่จริงๆแล้วมันคือความรู้สึกของความเท่าเทียม ในความเป็นมนุษย์ปุถุชนของพวกเค้า ซึ่งในประเทศที่มีลำดับชั้นทางสังคมมากมายอย่างเราไม่มีทางเข้าใจ และนอกจากนั้น ผมพบว่า การที่เราสามารถเรียกชื่อ จอห์น เฉยๆ แทนที่เราจะรู้สึกหยาบกระด้างหรือตีตนเสมอผู้ใหญ่ เรากลับรู้สึกถึงความเป็นกันเอง ความใกล้ชิดสนิทสนม ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และเราเห็นคุณค่าของคนแต่ละคน เคารพความที่เป็นตัวของเขา ไม่ใช่จากฐานะของเขาที่ปะหน้าอยู่ แล้วทำให้เรารู้สึกต่ำกว่าในทันทีที่เริ่มบทสนทนา

อย่างไรก็ดี เราสามารถเรียนรู้ภาษาที่ต่างออกไปได้่ง่ายและรวดเร็วขึ้น ถ้าเราเอาตัวเข้าไปคลุกคลีกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในถิ่นนั้น อย่าทำตัวแปลกแยกแตกต่าง มีข้อห้ามข้อจำกัดเยอะแยะ หรือคอยแต่วิพากษ์วิจารณ์ตัดสินถูกผิด ไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกกลืนกิน หรือจะเปลี่ยนตัวตนไป เพราะเวลาที่เราเติบโตขึ้นมา มันฝักรากลึกไปแล้ว ยังไงก็คงไม่มีอะไรมาครอบงำเราได้ ถ้าเราไม่เต็มใจเปลีียนแปลงด้วยตัวเอง มีผู้ใหญ่ที่เคยมาใช้ชีวิตเมืองนอกนานๆ ก็แนะนำผมไว้ ว่าพยายามเลียนแบบวิถีชีวิตคนอังกฤษ กินอย่างเค้า เล่นอย่างเค้า เราจะปรับตัวได้ดีและมีความสุขกับช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น มากกว่าจะเก็บกด จับเจ่า นั่งเม้าท์กับคนที่คุยภาษาเดียวกันไปวันๆ แล้วก็กลับมาอย่างไม่ได้อะไรเลย

ถ้าทั้งหมดในบทความนี้ เป็นทฤษฎีที่รอการพิสูจน์ ก่อนอื่น ผมคงต้องเริ่มด้วยการลดความหนาและจำนวนชิ้นของเสื้อผ้าลง สะบัดตัวจากเตียงและผ้าห่มแสนอุ่นนุ่มสบายในตอนเช้า ตอนที่น้ำค้างยอดหญ้าเป็นเกล็ดขาวแข็งโพลน แล้วออกไปจ๊อกกิ้งหายใจเข้าออกเป็นไอ แล้วบอกกับตัวเองว่า ไม่เห็นหนาวหนักหนาอะไร ใครๆเค้าก็อยู่ได้ สบายๆกันทั้งนั้น แล้วหวังว่า ผมคงได้ใกล้ชิดความเป็นชาวอังกฤษมากขึ้นอีกนิด และผมคงพูดภาษานี้ได้คล่องแคล่วไพเราะเหมือนภาษาพ่อแม่ที่ผมเคยทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งในอดีตกับภาษาไทยตอนอายุสามขวบนั่นเอง





Create Date : 17 ธันวาคม 2552
Last Update : 17 ธันวาคม 2552 6:19:57 น. 6 comments
Counter : 711 Pageviews.

 
เห็นด้วยค่ะ ว่าต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมอังกฤษ เคยคิดเสมอว่าการมาเรียน ป. โท เพียงปีเดียวมันสั้นเกินกว่าที่จะซึมซาบความเป็นตัวตนของอังกฤษได้ทั้งหมด คุณเรือรบโชคดีที่ได้มาเรียน ป. เอก มีเวลา 3-4 ปี เพียงพอที่จะเรียนรู้และเสพย์วัฒนธรรมได้อย่างพอเหมาะพอดี

เราว่า...การเริ่มต้นที่ดีอีกแบบหนึ่งคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของอังกฤษด้วยนะคะ จะได้ทราบที่มาที่ไป ว่าวัฒนธรรมแบบนี้ ความรู้สึกแบบนี้มันมาจากไหน ^ ^


โดย: ฉันไม่ใช่กวีฯ IP: 78.105.194.29 วันที่: 17 ธันวาคม 2552 เวลา:6:35:07 น.  

 
'ถุงเท้าต้องอย่างหนาและสองชั้น'
ขอแนะนำให้หาถุงเท้าที่เป็นไหมพรม หรือเป็นแบบ fleece มาใส่เลยนะคะ จะได้สะดวกต่อการใช้และอุ่นเท้าดีด้วยค่ะ

บทความน่าสนใจดีค่ะ เพิ่งทราบนะเนี่ยว่าชอบเขียน


โดย: ยุ้ย@ ยอร์ค IP: 78.105.194.29 วันที่: 17 ธันวาคม 2552 เวลา:7:18:42 น.  

 
อื้ม...

เนอะ


โดย: เขี้ยวอสูร วันที่: 17 ธันวาคม 2552 เวลา:18:30:52 น.  

 
ไปเมืองหนาวตอนช่วงกลางหน้าหนาวของเขาเนี่ย มันทรมานจริงๆ ครับ ผมก็เคยเจอมาเหมือนกัน แบบกลางฤดูเลย กลางวันห้า กลางคืนติดลบ ในขณะที่ตอนออกจากบ้านเรา มันร้อนสุดๆ โอ้...

อยู่ไปนานๆ แล้วร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวครับ ปีหน้าจะรู้สึกหนาวน้อยกว่านี้ ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่รู้ตัว ต้องมีญาติมิตรที่เคยรู้จักกันมาก่อนมาเยี่ยมแล้วถึงจะสังเกตได้เลย ว่าตอนที่เรารู้สึกเย็นนิดๆ ไม่ถึงกับทรมานนี่ เขาดูหนาวจัง

ไม่ได้เรียนด้านภาษาเหมือนกันครับ เห็นด้วยกับแนวคิดกว้างๆ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม แต่ในตัวอย่างที่เทียบเคียงภาษาอังกฤษกับแนวคิดเรื่องไตรลักษณ์กับสติ สารภาพว่าไม่เห็นด้วยเท่าไหร่



(1) คนที่พูดภาษาอังกฤษ เวลาใช้เทนส์ต่างๆ (ทั้ง 12 แบบ หรือบางคนนับว่า 16 แบบ) ไม่ได้ใช้อย่างมีสติครับ แต่ใช้ไปตามธรรมชาติ ความเคยชิน แบบเดียวกับที่เด็กฝรั่งเล็กๆ เรียนภาษาอังกฤษจากการเลียนแบบพ่อแม่นั่นแหละครับ หลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษของคนพูดภาษาอังกฤษในประเทศต่างๆ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายแบบ บางรุ่นต้องเรียนแกรมม่าร์แบบเรา บางรุ่นไม่ได้เรียนแกรมม่าร์เลย (ถ้าไม่ได้เรียนต่อด้านภาษาโดยตรง) ถ้าเราขอให้อธิบายแกรมม่าร์ คนที่เกิดมาพูดภาษาอังกฤษจำนวนมากอธิบายไม่ได้ครับ เขารู้แต่ว่าต้องพูดอย่างนั้น ใช้อย่างนั้น (เหมือนกับถ้ามีฝรั่งเรียนภาษาไทยแล้วขอให้เราอธิบายให้ฟังว่าเมื่อไหร่ต้องลงท้ายด้วย "นะ" เมื่อไหร่ต้องลงท้ายด้วย "ล่ะ" คนไทยก็งงไปเลยเหมือนกัน)

ประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่งของผมตอนไปเรียนกับฝรั่งเจ้าของภาษาคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่เขียนภาษาอังกฤษผิดแกรมม่าร์มากกว่านักเรียนต่างชาติจากเอเชียครับ เพราุะภาษาพูดใช้รูปประโยคที่จำกัดมากๆ เมื่อเทียบกับภาษาเขียน แต่มันจะเป็นรูปประโยคที่ใช้บ่อยจนเป็นอัตโนมัติ และติดปากไปเลยโดยไม่ต้องคิด

ขอยกตัวอย่างนะครับ รูปประโยคที่คนต่างชาติเห็นว่าซับซ้อนมากเช่น I would have thought, You shouldn't have เรารู้สึกว่ามันต้องใช้ความคิดมากมายในการผสมเทนส์ต่างๆ ถึงสามชั้น แต่เวลาเจ้าของภาษาพูดสำนวนเหล่านี้ออกมา มันผนึกติดมาด้วยกันเป็นชุดครับ เขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่ามันมาจากเทนส์ไหนบ้าง น้อยคนจริงๆ ที่แยกแยะอธิบายให้เราฟังได้

เรื่องรูปอดีตที่คนไทยเรามีปัญหามากก็เหมือนกัน (หรือกฎทางไวยากรณ์อื่นๆ เช่น ใน Indirect Speech เราต้องเปลี่ยนเทนส์ของเรื่องที่เล่าให้เป็นอดีตมากขึ้นตามเทนส์ของประโยคหลัก) เจ้าของภาษาเวลาคุยกันแบบไม่เป็นทางการ (เล่าสู่กันฟังในการสนทนาทั่วไป) มีแนวโน้มจะใช้รูปปัจจุบันทั้งหมด และไม่เปลี่ยนรูปเรื่องเล่าให้เป็นอดีตมากขึ้น (ใช้เทนส์ Past Perfect อันแสนจะซับซ้อน) แบบที่เราเรียนมาครับ ถ้ามีเพื่อนสนิทเป็นกลุ่มแล้ว ลองสังเกตดูตอนที่เขาคุยกันเองก็น่าจะเห็นครับ



(2) ภาษาอังกฤษเป็นตัวแทนของ "ชาวตะวันตก" ทั้งหมดไม่ได้ครับ ยังมีภาษาอื่นอีกเยอะที่มีลักษณะต่างจากภาษาอังกฤษอย่างมหาศาล แค่ภาษาที่เรารู้จักกันดีอย่างฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน เยอรมัน ก็ต่างมากแล้ว ยังไม่นับถึงภาษาอื่นๆ ในทวีปยุโรปอีกมากมาย

และรูปแบบภาษาอังกฤษที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่คนโบราณ "ตั้งใจออกแบบ" ให้เป็นแบบนี้เพื่อสอดแทรกสอนลูกหลานหรอกครับ มันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่มาบีบคั้นกระทบกระแทกในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ คล้ายๆ กับดินน้ำมันที่ถูกเหวี่ยงทุ่มไปมาบนพื้น ทุกครั้งก็จะบิดรูปเสียทรงไป และอาจจะสูญเสียเนื้อดินน้ำมันบางส่วนไป รวมถึงไปเก็บเอาอย่างอื่นจากพื้นติดขึ้นมาแทน

ถ้าพูดถึงการใส่รายละเอียดต่างๆ เช่น อดีตปัจจุบัน ฯลฯ ไว้ในรูปประโยคแล้ว ภาษาอังกฤษถือว่าเป็นหนึ่งในภาษาที่หลงเหลืออยู่น้อยที่สุดในบรรดาภาษากลุ่มยุโรปด้วยกันครับ กร่อนหายไปมากแล้ว ถ้าดูเยอรมันซึ่งมาจากรากเดียวกันกับอังกฤษ จะเหลืออยู่มากกว่าเยอะเลย และถ้าดูภาษาในตระกูลโรมานซ์ (ฝรั่งเศส สเปน อิตาเลียน) ซึ่งเป็นคนละตระกูลกัน จะพบว่ามีมากกว่ามาก ถ้าย้อนกลับไปดูในอดีต ภาษาตระกูลโรมานซ์เหล่านี้ด้วยแต่พัฒนามาจากภาษาละติน ซึ่งทุกคำในประโยคจะมีตัวบอกหมดเลยในคำนั้น ว่าเป็นอดีตหรือปัจจุบัน ว่าเป็นกริยาที่ใครทำ (ฉันทำ เธอทำ หรือเขาทำ) ถ้าเป็นนาม นามนั้นมีหน้าที่อย่างไรในประโยค เป็นผู้ทำ สิ่งที่ถูกกระทำต่อ หรือผู้รับ หรือผู้ให้ หรือเจ้าของ หรืออะไร เรียกว่าการผันกริยาของภาษาอังกฤษ (มีแค่รูปเติม -s -ing -ed หรือเปลี่ยนรูปช่องสองช่องสาม) กลายเป็นเรื่องง่ายๆ ไปเลย

แต่ภาษาละตินไม่มีการเรียงลำดับประโยคที่แน่นอน จะเอาคำไหนไว้หน้าไว้หลังก็ได้ ความหมายเหมือนเดิม เพราะหน้าที่ของทุกคำถูกกำหนดไว้โดยการเปลี่ยนรูปหรือคำลงท้ายในคำนั้นหมดแล้ว

จะบอกว่าชนชาติที่พูดภาษาละตินเจตนา "ออกแบบ" ภาษามาให้เป็นแบบนั้นเพื่อสอนอะไรสักอย่าง ก็อาจจะเป็นการตีความเกินเลยไปสักนิด เพราะสำหรับเรามันซับซ้อนจนยากจะบรรยาย แต่สำหรับเขา คงพูดกันเป็นธรรมดาสามัญโดยไม่ต้องคิด แบบเดียวกับที่เด็กเล็กๆ หัดพูดภาษาละตินโดยเลียนแบบจากพ่อแม่นั้นเอง

และถ้ามองว่าชาว "ตะวันตก" มีภูมิปัญญาในการทำอะไรให้ซับซ้อนต้องใช้สติมากมาย บางทีอาจเพราะเราไม่ได้ตระหนักว่า ภาษาละตินเป็นภาษาในกลุ่มอินโดยูโรเปี้ยน อินโดในที่นี้คืออินเดีย และภาษาโบราณในสาขาทางอินเดียที่เป็นญาติสนิทกับทางละตินก็คือภาษา "สันสกฤต" (ที่คนไทยคุ้นชื่อพอสมควร) ซึ่งมีความซับซ้อนของแกรมมาร์แบบเดียวกันเป๊ะ คือคำทุกคำจะมีการเปลี่ยนรูป (หรือคำลงท้าย) ตามความหมาย ว่าเป็นอดีตปัจจุบัน ทำจริงๆ หรือสมมุติว่าทำ ใครทำ (ฉัน เธอ หรือเขา) นามนั้นเป็นผู้ทำ หรือผู้รับผลจากการทำ หรือเป็นเจ้าของ ฯลฯ (ภาษาบาลีก็ยังมีรูปแบบเหล่านี้หลงเหลืออยู่ แต่ถูกแปลงให้ซับซ้อนน้อยลงกว่าภาษาสันสกฤตมาก ลองดูในบทสวดมนต์ก็ได้ครับ ทำไมลงท้ายประโยคด้วย (พุทธัง ภควันตัง) อภิวาเทมิ (ธัมมัง) นมัสสามิ (สังฆัง) นมามิ คำว่า "มิ" นี่มีความหมายอย่างไร ไม่ "มิ" แต่เป็นคำอื่นได้มั้ย ทำไมตรงนี้ใช้ "พุทธัง/ธัมมัง/สังฆัง" แต่ในบางประโยคใช้ "พุทโธ/ธัมโม/สังโฆ")

การที่ภาษาไทยไม่มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นเพราะภาษาไทยวิวัฒนาการขึ้นมาในเส้นทางที่ต่างกัน ในลักษณะที่เป็นภาษาคำโดด ภาษา "ตะวันออก" อื่นที่วิวัฒนาการในเส้นทางเดียวกันกับภาษา "ตะวันตก" ที่เปลี่ยนรูปคำในทำนองเีดียวกันกับบาลี/สันสกฤตก็มีอีกครับ ผมพอรู้บ้างแค่ภาษาญี่ปุ่น แต่ก็มั่นใจว่าความหลากหลายของภาษาในโลกนี้มันมากมายกว้างขวางเหลือเกิน



เพิ่มเติมอีกนิด ไม่แน่ใจว่าคุณเรือรบสนใจเรื่องภาษามากหรือเปล่า แนวคิดเกี่ยวกับภาษากับวัฒนธรรมมีการถกเถียงกันมากและน่าสนุกมากครับ แนวคิดหนึ่งที่ยังคงได้รับการศึกษาและถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้คือ Sapir/Whorf Hypothesis น่าสนุกดีเหมือนกัน และหนังสือเกี่ยวกับความลึกซึ้งของภาษา/พัฒนาการ/กำเนิด/ความแปลกพิสดารต่างๆ สมัยนี้ก็มีมากขึ้นเยอะครับ (เป็นภาษาอังกฤษนะ) หลายเล่มได้รับการแนะนำในนิตยสารอย่างไทมส์เลยทีเดียว



ป.ล. ที่บล็อกรูปพื้นหลังมันถูกแทนด้วยข้อความของโฟโต้บักเกตน่ะครับ เลยอ่านไม่ได้เลย ถ้ายังไงแก้เอารูปพื้นหลังออกก่อนก็จะดีครับ


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 19 ธันวาคม 2552 เวลา:7:40:09 น.  

 
เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และน่าประทับใจจังเลยครับ พี่อ๊บ

ผมรู้สึกว่ามันมีบางอย่างแฝงอยู่ในคำว่า "พยายามเลียนแบบวิถีชีวิตคนอังกฤษ กินอย่างเค้า เล่นอย่างเค้า เราจะปรับตัวได้ดีและมีความสุขกับช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น"

อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้ผมค่อนข้างมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ และความเข้ากันได้กับคนอื่นๆ (เรียกว่า Being Uncompatible รึเปล่า 55+) พอเจอประโยคนี้เข้า ก็เลยมีแวบความคิดเข้ามาให้จับเล่นครับ

วันหนึ่ง ผมจะต้องไปท่องโลกหาประสบการณ์อย่างนี้บ้าง
เป็นเรื่องผจญภัยท้าทายน่าตื่นเต้นดีจริงๆ

ตอนนี้ผมเริ่มจะคิดว่า ทักษะ สำคัญกว่า และยิ่งใหญ่กว่า ความรู้ ซะแล้ว


จากน้องชายคนละพ่อแม่ครับ
Dre


โดย: D.R.E. IP: 124.121.225.243 วันที่: 28 ธันวาคม 2552 เวลา:11:11:18 น.  

 
อิจฉาคนเผชิญความหนาวจัง อยู่อีสานบ้านเฮาก็เผชิญอากาศแปรปรวนเหมือนกันนะ มาแบบฤดูละวัน แต่สำหรับพี่อ๊บก็คงผ่านไปได้ด้วยดี เรื่องภาษานี่คงยากทุกๆภาษาบนโลกนี้ ภาษาอีสานที่คุ้นเคยหนูยังว่ายากเลย ประสาอะไรกะภาษาปะกิด เนี่ยๆช่วงนี้ก็เครียดกับการอ่านภาษาคอมพิวเตอร์ ที่มันพูดตอบโต้เราไม่ได้ แต่มันเข้าใจเรา ปฏิเสธเราเป็น แปลกเนอะ ...เฮ้อเส้นทางโปรแกรมเมอร์ของหนูคงอีกยาวไกล...เอาใจช่วยพี่อ๊บค่ะ ยังระลึกถึงและติดตามอ่านบล๊อกเสมอๆ..ดูแลรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีเด้อ..ซิบอกให่


โดย: marai IP: 203.146.94.141 วันที่: 17 มกราคม 2553 เวลา:12:13:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navyob
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add navyob's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.