โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืนกิน พึงมนสิการถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาค เราได้กระทำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากหนอ โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้า หรือหายใจเข้าแล้วหายใจออก เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ประมาทอยู่ จักเจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะ
ความตายของราชาค้ายาเสพติด

โดย เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ 2 พฤศจิกายน 2550 17:01 น.


Death of a drug lord
By Bertil Lintner
31/10/2007


ขุนส่า ‘ราชาแห่งสามเหลี่ยมทองคำ’ หรือที่ใครต่อใครถือเป็น ‘ศัตรูผู้ชั่วช้าที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก’ เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสัปดาห์นี้เอง ด้วยวัย 73 ปี หลังจาก ‘เกษียณ’ จากตำแหน่งราชายาเสพติดได้หลายปี แต่การค้ายาเสพติดในย่านก็ยังคงเฟื่องฟู ทั้งนี้ก็เพราะเครือข่ายและความพัวพันของทางการที่เขาเป็นผู้สร้างขึ้นในเมียนมาร์ ไทย และที่อื่น ๆ เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ เคยพบขุนส่ามาแล้ว 2 ครั้ง คราวนี้เขามาเล่าเรื่องพื้นเพ และปูมหลังของคน ๆ นี้ให้ฟังกัน

เชียงใหม่, ประเทศไทย – ขุนส่า วัย 73 ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า ‘ราชาแห่งสามเหลี่ยมทองคำ’ ตายแล้ว ตลอดอาชีพเป็นนักค้ายาเสพติดชั้นนำผู้หนึ่งในโลก เขามีผู้คุ้มครองและเส้นสายที่แข็งโป๊กเอามาก ๆ ไม่ว่าในบ้านเกิดที่เมียนมาร์ หรือที่ไหน ๆ

ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาให้ชีวิตบั้นปลายในหลาย ๆ ปีมานี้ ไม่ติดต่อกับผู้ใด อาศัยอยู่ในบ้านที่ป้องกันโดยหน่วยสืบราชการลับเมียนมาร์ ก็เป็นเบาะแสให้เราทราบดีว่า หลังจากเขามอบตัวกับทางการ เมื่อเดือนมกราคม 1995 เขาต้องเงียบ ต้องเก็บตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว เขามีค่าต่อผู้นำทหารเมียนมาร์มากแค่ไหน และทั้ง ๆ ที่เขามอบตัวแล้ว ยาเสพติดก็ยังไหลทะลักออกจากเมียนมาร์ไปทุกทิศทุกทาง ซึ่งแสดงว่าเครือข่ายที่เขาสร้างเอาไว้ เกือบไม่ถูกแตะต้องใด ๆ เลย

ขุนส่าน่าจะเป็นตัวละครที่มีสีสันที่สุด โด่งดังที่สุดในวงการค้ายาเสพติดของเมียนมาร์ ทั้ง ๆ ที่ถูกศาลบรูกลิน นิวยอร์ค พิพากษาในข้อหาค้ายาเสพติดไปเมื่อเดือนมกราคม 1990 เขาก็ยังอยู่ดีมีสุขอยู่บนฐานที่มั่น ดอยหัวเมือง ติดชายแดนไทยตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผู้เขียนเคยเดินทางขึ้นไปสัมภาษณ์ในช่วงปี 1990s ถึง 2 ครั้ง ที่จริงก็มีเบาะแสน้อยมากว่า มีการตามล่าผู้ที่สื่อมวลชนหลักในตอนนั้น เรียกว่า ‘ขุนศึกผู้ฉาวโฉ่’ ผู้นี้

ส่วนที่สื่อมวลชนกระแสหลักในช่วงปี 1980s และต้นปี 1990s บอกว่า ‘หัวเมือง’ เป็น ‘ที่หลบซ่อนในป่าเขา’ ก็เป็นความคิดฝันแบบบ้าบอคอแตกอีหรอบเดียวกัน เพราะตรงข้าม มันเคยเป็น (และทุกวันนี้ก็ยังเป็น) เมืองชายแดนที่กำลังเติบใหญ่ ร้านรวงมากมาย ตลาดกว้างใหญ่หลายแห่ง ถนนพาดสายเป็นเส้นตรงตัดกัน ตามไฟฟ้าข้างทางสว่างไสว ตอนนั้น หัวเมืองมีคนอาศัยอยู่ตามกระท่อมไม้ ตามบ้านคอนกรีต ซุกตัวอยู่ในดงหมากไม้ แปลงผลไม้ สวนดาวเรืองและแปลงเฟื่องฟ้า มากกว่า 10,000 คน ป้ายใหญ่ก็ขึ้นหราระบุว่า หากจะผ่านเข้าไทย ต้องขอใบผ่านแดนให้ถูกต้อง

ที่ตรงนั้นยังมีโรงเรียนหลายแห่ง วัดพุทธแห่งหนึ่ง โรงพยาบาลหลังหนึ่ง เครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัย ใช้ผ่าตัดได้ ถ่ายเอ็กซเรย์ได้ มีหมอผู้ทรงคุณวุฒิจากแผ่นดินใหญ่หลายคนคอยดูแล มีโรงฉายวีดีโอ บาร์คาราโอเกะหลายแห่ง โรงแรม 2 แห่ง ดิสโก้ 1 แห่ง และสวนสนุกพร้อมทางเดิน ม้านั่ง และเก๋งจีนอีก 1 แห่ง รวมไปถึงโทรศัพท์ทางไกลไปต่างประเทศ ที่ใช้งานด้านการพาณิชย์อีก 2 สาย

มี ‘พิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรม’ ตั้งแสดงภาพถ่าย ภาพวาดประวัติศาสตร์ และหัตถกรรมท้องถิ่น กำลังมีการสร้างสถานีปั่นไฟฟ้าพลังน้ำแห่งหนึ่งเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าในหัวเมือง กะว่าจะมาแทนเครื่องปั่นไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซล แต่ตอนนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ส่วนโครงการก่อสร้างที่ไม่ธรรมดาก็คือสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ที่กะจะล่อนักธุรกิจชาวไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นแห่กันไปซื้อหยกและอัญมณีที่ศูนย์อัญมณีของขุนส่า ที่ก็ตั้งอยู่ที่หัวเมืองเช่นกัน ตอนเป็นหนุ่ม ขุนส่าเป็นนักกอล์ฟตัวยง ที่ต่อ ๆ มาเขาใช้ฝีมือซื้อใจเพื่อนผู้มีอิทธิพลบนกรีนเขียวได้หลายคน

ตอนนั้น เขาคือคนที่ถูกต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่ในความเป็นจริง กลับไม่มีใครตามล่าเขาเลย ขุนส่าอาศัยอยู่ในบ้านคอนกรีตชั้นเดียว ล้อมรอบด้วยสวนสน ลานกล้วยไม้ และแปลงสตรอเบอร์รี่ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่รอบ ๆ บ้านหลังก็เต็มไปด้วยหลุมเพาะ แต่ละหลุมติดปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 50 มม. และทหารอีกเป็นหมวดติดอาวุธเต็มอัตราศึก “คุณไม่รู้อะไร” ขุนส่าบอกผู้เขียนในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง “ผมมีกองทัพ ผมจึงเป็นอิสระ แต่ดูนางอองซานซูจีที่น่าสงสารคนนั้นสิ เธอไม่มีกองทัพ จึงถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน”

เกิดมาแต่ดิน

ขุนส่าเกิดเมื่อปี 1934 ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐฉาน มีแม่เป็นฉาน (ไทยใหญ่) พ่อเป็นจีน พออายุได้ 3 ปี พ่อก็ตาย ต้องอยู่อย่างเด็กกำพร้า แม่ไปแต่งงงานใหม่กับนายภาษีที่เมืองถวม ในแถวนั้น แต่อยู่ต่อมาได้ 2 ปีก็ตายไปอีก

น้องต่างพ่อ 3 คนต่างเข้าโรงเรียนของหมอสอนศาสนา มีชื่อเป็นตคริสต์ว่าออสการ์ บิลลี่ และมอร์แกน แต่ขุนส่าอยู่กับปู่คนจีน กลางไร่ฝิ่นบนดอยมอว์ (Loi Maw) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ได้รับการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในฐานะเด็กวัด (พุทธ) เพียงระยะสั้น ๆ ในระหว่างให้สัมภาษณ์กับผมครั้งหนึ่ง ผมสังเกตว่าเลขาฯ ของเขาต้องอ่านคำถามให้เขาฟังทุกประโยค (หมายความว่าอ่านเองไม่ออก) และจดคำตอบของเขาทุกคำ ก่อนจะอ่านให้ผมฟังอีกครั้งหนึ่ง

ขุนส่ามีประสบการณ์ด้านการรบครั้งแรกกับทหารจีนก๊กมินตั๋ง (จีนคณะชาติ) ที่ข้ามพรมแดนเข้าไปตั้งค่ายที่ดอยมอว์ ในช่วงต้นปี 1950s ตอนนั้นเหมาเจ๋อตุงเพิ่งได้ชัยชนะบนแผ่นดินใหญ่ ปี 1949 ทหารก๊กมินตั๋งหลายพันคนหนีลงมาทางใต้ คนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ไปตั้งมั่นเป็นสาธารณรัฐจีน (จีนคณะชาติ) บนเกาะไต้หวัน รวมทั้งองค์การซีไอเอของสหรัฐ และพยายามใช้ฐานในเมียนมาร์ (ตอนนั้นเรียกพม่า) ‘ปลดปล่อย’ แผ่นดินใหญ่ แต่ทว่าไร้ผล

การรุกของฝ่ายก๊กมินตั๋งในตอนนั้นสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับคนในละแวกนั้นโดยทั่วไป เพราะทหารจีนพวกนี้เก็บทั้งภาษี เกณฑ์ทั้งคนเข้าทัพโดยการบังคับ และส่งเสริมให้คนแถวนั้นปลูกฝิ่นกันเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุน ‘กองทัพลับ’ พวกนี้ ตอนอายุ 16 ขุนส่าตั้งหน่วยรบของตนขึ้นสู้กับผู้รุกรานพวกนี้ พอถึงช่วงปี 1960s หน่วยทหารของเขาก็เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘หน่วยกากวยเยดอยมอว์’ แปลว่า ‘หน่วยทหารบ้านดอยมอว์’ ขึ้นสังกัดกองทัพเมียนมาร์

"Ka Kwe Ye" (KKY) (ในภาษาเมียนมาร์ แปลตรงตัวว่า ‘ป้องกัน’) เป็นแนวคิดของรัฐบาลในการตั้งหน่วยทหารบ้านของตนขึ้นมารบกับพวกก๊กมินตั๋ง ตลอดจนขบถแบ่งแยกดินแดนไทยใหญ่อื่น ๆ ในเวลานั้นอีกด้วย แผนการคือพยายามรวบรวมบรรดาขุนศึกในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ (ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้านักรบในท้องถิ่น ที่ไม่มีสีสันใด ๆ ทางการเมือง) ให้มาหนุนหลังกองทัพเมียนมาร์ เพื่อแลกกับสิทธิ์ที่จะใช้ถนนหนทางในพื้นที่รัฐฉาน เพื่อการขนและลำเลียงฝิ่น โดยการค้าฝิ่น รัฐบาลเมียนมาร์ก็หวังว่า พวกกากวยเยจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้

ในการนั้น บรรดาขุนศึกในท้องถิ่นต่างก็ระดมกองทหารส่วนตัวมาเป็นการใหญ่ ใช้ฝิ่นแลกเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่มีวางขายกันเกลื่อนในตลาดมืดของไทยและลาว จนขุนส่าสรุปให้ฟังว่า กองทัพส่วนตัวพวกนี้ บางทีก็มีอาวุธทันสมัยกว่ากองทัพเมียนมาร์เองเสียอีก

ตอนนั้น ด้วยวัย 33 ปี ขุนส่าตัดสินใจท้าทายอำนาจบรรดาขุนศึกในฝ่ายก๊กมินตั๋ง ที่อาวุโสกว่าตนมาก ในเดือนพฤษภาคม 1967 เขาทำการลำเลียงฝิ่นน้ำหนัก 16 ตัน เริ่มต้นจากเขตเทือกเขาทางตอนเหนือของรัฐฉาน ตรงไปยังบ้านขวัญ หมู่บ้านตัดไม้เล็ก ๆ ในลาว ที่ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำแม่โขง ตรงข้ามอำเภอเชียงแสนของไทย ตอนนั้น ขบวนคาราวานของเขามีพ่อค้าจำนวนมากเข้ามาร่วมขบวนไปด้วย ว่ากันว่าพอขบวนไปถึงเชียงตุง ที่อยู่ทางตะวันออกของรัฐฉาน ขบวนคาราวานของเขาก็มีคนเข้าร่วมถึง 500 คน ลาอีก 300 ตัว ริ้วขบวนยาวข้ามสันเขาไปมากกว่า 1 ไมล์

ตอนขบวนคาราวานข้ามแม่น้ำแม่โขง พวกก๊กมินตั๋งก็รุกเข้าตีสกัด การสู้รบอย่างดุเดือดเป็นไปหลายวัน ผลการสู้รบในคราวนั้นยังยากจะบอก ในตอนนั้น นายพลอ้วน รัตติกอน* ผู้บัญชาการทหารบกของลาว คุมโรงสกัดเฮโรอีนหลายแห่งในเขตบ้านห้วยทรายใกล้ ๆ กันแถวนั้น ก็ส่งเครื่องบินจากกองทัพอากาศลาวไปทิ้งระเบิดในสมรภูมิ ข่าวที่เป็นทางการบอกว่า เขาดัดหลังทั้งขุนส่ากับก๊กมินตั๋ง โดยเชิดเอาฝิ่นจำนวนดังกล่าวไป แต่แหล่งข่าวบางสายบอกกับผมว่า ฝิ่นจำนวนนั้นขายไปแล้ว และต่อมาขุนส่าก็หอบเอาเงินก้อนแรก เข้ามาลงทุนในไทยก้อนใหญ่
(*General Ouane Rattikone เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดผู้หนึ่งในวงการค้ายาเสพติดในเอเชียอาคเนย์ ยุค 1960s เป็นมิตรสนิทของเทด แช็กกี้ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าซีไอเอของสหรัฐในลาว)

ในปี 1969 เขาไปถูกจับและติดคุกอยู่ในมันฑะเลย์ ด้วยความพยายามที่จะติดต่อกับฝ่ายขบถรัฐฉานให้แปรพักตร์ เขาถูกตั้งข้อหาหนักว่าพยายามติดต่อกับฝ่ายขบถ (ไม่ใช่ค้ายาเสพติด) ซึ่งเขาก็ได้แจ้งขออนุญาตกับฝ่ายรัฐบาลก่อนจะทำเช่นนั้นไปก่อนแล้ว

ต่อมาในเดือนเมษายน 1973 คนของเขาที่หลบซ่อนอยู่ในป่า ได้ลักพาตัวนายแพทย์ชาวโซเวียต 2 คน ที่ไปประจำการในโรงพยาบาลเมืองตองยี เมืองหลวงของรัฐฉาน รัฐบาลระดมทหาร 1 กองพล พยายามที่จะเข้าไปชิงตัวหมอทั้ง 2 แต่ปฏิบัติการครั้งนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 1974 หมอต่างชาติทั้ง 2 คนก็ได้รับการปล่อยตัวโดยปราศจากเงื่อนไข ผ่านมาทางฝ่ายไทย เหตุการณ์ไปพ้องกันสุดแปลก คือหลังจากนั้นไม่นาน ขุนส่าก็ได้รับการปล่อยตัว ต่อมามีการเปิดเผยว่า พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 3 (ตอนนั้น ยศยังไม่ถึงพลเอก) เป็นผู้เข้าไปช่วยเจรจาให้มีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกัน

อยู่กินกับเพื่อนเบื้องสูง

ต่อมาขุนส่าก็หนีเข้าไทย ไปตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายใหม่ที่บ้านหินแตก ในจังหวัดเชียงราย

‘กองทัพสหรัฐฉาน’ หรือ"Shan United Army" (SUA) ที่ตอนนั้นเรียกกัน ความจริงควรจะมีภารกิจกู้ชาติ สู้รบกับกองทหารรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อความเป็นไทของรัฐฉาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นมากกว่ากองทัพคุ้มกันคาราวานค้าฝิ่นขึ้นมาอีกเพียง ‘นิ-โหน่ย’ ในปี 1982 กองทัพไทยตัดสินใจเข้าไปจัดการ ขุนส่ากับกองทัพของเขาถูกไล่หนีออกไปจากบ้านหินแตก แต่ไม่ช้าก็ไปปักหลักอยู่ที่หัวเมือง ในเขตเมียนมาร์ ที่มีการตั้งโรงงานสกัดเฮโรอีนจากฝิ่นดิบขึ้นมาแทน

ตอนนั้น ขุนส่ากลายเป็นที่ต้องการตัวของโลกไปแล้ว ถูกพิพากษาในสหรัฐ และเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำไทยในตอนนั้น วิลเลี่ยม บราวน์ กล่าวว่าเป็น “ศัตรูผู้ชั่วช้าที่สุดที่โลกเคยมี” กระนั้นก็ดี กระแสของผู้เยี่ยมเยือนระดับสูง ก็ยังหลั่งไหลไปเยือนกองบัญชาการใหม่ ที่ไม่ได้ปิดลับอะไรต่างไปจากเดิม อย่างไม่ขาดสายท่ามกลางสายตาที่สุดจะประหลาดใจของบรรดาผู้สังเกตการณ์

ในหมู่ผู้สังเกตการณ์นั้นก็มีท่านผู้หญิงบร็อกเก็ต นางแบบอเมริกันผันเป็นไฮโซอังกฤษ และท่านผู้ชายลอร์ด บร็อกเก็ต ที่เคยจัดงานปาร์ตี้ให้เจ้าฟ้าชายชาร์ล (มกุฎราชกุมาร) แห่งอังกฤษมาแล้ว กระทั่งขุนส่าถวายรองเท้าประดับทับทิม ที่ตัวเป็นคนออกแบบ แก่ท่านผู้หญิงบร็อกเก็ตด้วยตนเอง (โอ้ ว๊าววววว)

(ยัง ยังไม่พอ) ทั้ง ๆ ที่สหรัฐมีผู้กล้า ด้านหน้าฝ่ายาเสพติดอีกเป็นกระบุงโกย ขุนส่าก็ยังไปมีเพื่อนเป็นคนอเมริกันใหญ่โตอีกมากมาย คนหนึ่งก็คือคุณเจมส์ ‘โบ’ กริทซ์ วีรบุรุษติดเหรียญตราจากสงครามเวียดนาม ที่ชื่นชอบในการใช้เวลาค้นหาเชลยศึกอเมริกันที่ยังตกค้างอยู่ในเวียดนาม และที่สูญหายไปในระหว่างการสู้รบในอินโดจีน การที่กริตซ์ไปเยือนหัวเมืองในครั้งกระนั้น ผู้ที่ออกเงินให้ทั้งหมดในเที่ยวนั้นก็คือรอสส์ เปรอต เจ้าพ่อวงการน้ำมันในมลรัฐเทกซัส ที่ครั้งหนึ่งเคยสมัครลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้ว

ชาวอเมริกันที่คุ้นเคยกันดีอีกผู้หนึ่งก็คือเชอร์ลี ดี แซ็ค พ่อค้าเพชรพลอยในนิวยอร์ค และก็เป็นไฮซ้อด้วย และพอถึงขั้นหนึ่ง เธอก็เคยเป็นผู้สนับสนุน ‘มูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน’ ส่วนในประเทศไทย ขุนส่าใกล้ชิด สนิทสนมกับฝ่ายข่าวกรองต่าง ๆ ในประเทศนี้ และในเมียนมาร์เอง องค์การที่ขึ้นกับเขาแห่งหนึ่ง ก็มีสำนักงานการค้าอย่างเป็นทางการอยู่ในตองยี

ผู้บัญชาการกองทัพภาคเหนือของเมียนมาร์ในสมัยนั้นก็คือพอเอกหม่องเอ ที่ปัจจุบันนี้เป็นอันดับ 2 ในคณะทหารเมียนมาร์ ตอนที่หม่องเอบัญชาการอยู่ที่นั่น ไม่มีการยิงกันระหว่างกองทัพบกเมียนมาร์กับกองกำลังของขุนส่าเลยแม้แต่นัดเดียว เผลอ ๆ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้ามอบตัวต่อทางการในเดือนมกราคม 1996 ที่ขุนส่าทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งกองทัพที่ตั้งมาเองกับมือ ทั้งมอบตัวโดยสิ้นเชิง ก็คงจะเป็นเพราะการติดต่อในระดับสูงเหล่านี้เอง ตอนที่ขุนส่าย้ายไปยานกอนนั้น มีเพียงสาวฉาน 4 คนตามไปด้วย สาวเหล่านี้เป็นนางบำเรอในช่วงที่เขาเกษียณ

เพื่อแลกกัน ลูกสาว 3 คนกับลูกชายอีก 5 คนได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจได้ในเมียนมาร์ ตอนนี้ลูกชายที่ขุนส่ารักที่สุด ดำเนินกิจการโรงแรมและเปิดบ่อนกาสิโนใกล้กับด่านท่าขี้เหล็กของไทย และลูกสาวคนหนึ่งดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ในมันฑะเลย์ บรรดาพวกชาตินิยมฉานจำนวนมาก ที่เข้าร่วมในการจัดตั้งของเขาด้วยเชื่อว่าเขาเป็นผู้รักชาติจริง ถูกบดขยี้ลงไปพร้อม ๆ กับการตัดสินใจวางอาวุธของเขาในครั้งนั้น

ตอนนี้ มีกำลังพลของเขาราว 20,000 คน ปฏิเสธที่จะวางอาวุธให้รัฐบาล รีบลงใต้ดินไปร่วมกับ ‘กองทัพรัฐฉาน (ใต้)’ (Shan State Army (South) ที่จัดตั้งกันขึ้นมาใหม่ ทุกวันนี้พวกเขายังสู้รบอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ รอบ ๆ หัวเมือง ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลเข้าไปคุมเอาแล้วโดยสิ้นเชิง และที่นี่ก็ยังเป็นศูนย์กลางของการค้ายาเสพติดในท้องถิ่นที่มั่งคั่งอยู่เมือนเก่า

มีการตีความเรื่องการมอบตัวของขุนส่า และรูปโฉมใหม่ของรัฐบาลเมียนมาร์ไปต่าง ๆ นานา 1 ในเสี้ยวที่น่าจะไม่ใช่เป้นอย่างยิ่ง แบร์รี โบรแมน หัวหน้าสถานีซีไอเอสาขายานอนในปี 1990s เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เอเชียไทมส์ ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 1997 ว่า “พวกพม่า (เมียนมาร์) เป็นผู้จับขุนส่าด้วยตนเอง พวกเขาสร้างหลุมใหญ่ขึ้นในวงการค้ายาเสพติด แล้วเราก็ไม่ได้ให้เครดิตใด ๆ กับพวกเขาเลย”

แต่ความจริงก็คือ ขุนส่าไม่เคยถูกจับ เขามอบตัว เพื่อแลกกับตัวเองกับครอบครัวเปรมไป และก็ไม่มี ‘หลุม’ ใด ๆ ในเครือข่ายค้ายาเสพติดที่เขาสร้างขึ้น หากการมอบตัวของขุนส่าจะบอกความจริงใด ๆ ได้บ้าง สิ่งนั้นก็คือ ถึงไม่มีไอ้ที่เรียกว่า ‘ราชายาเสพติด’ เครือข่ายที่ควบคุมการค้าของพวกนี้ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย

ในยุค 1960s และต้น 1970s โลซิงฮันถูกขนานนามว่า ‘ราชา’ แห่งสามเหลี่ยมทองคำ หลังจากเขาถูกจับปี 1973 และเครือข่ายถูกจับกุม กวาดล้าง และถูกข้อหาทรยศประเทศ ไม่ใช่ค้ายาเสพติด เพราะรัฐบาลได้อนุญาตให้กากวยเยดำเนินการได้อย่างถูกต้องแล้วนั้น ขุนส่าก็ก้าวเข้ามาเติมช่องว่างนี้ และโดดเด่นขึ้นมาได้ในที่สุด

ทุกวันนี้ มันเป็น ‘กองทัพสหรัฐว้า’ (United Wa State Army) ของเว่ยเซียะกังดอก ที่ค้าสิ่งผิดกฎหมายพวกนี้เป็นส่วนใหญ่ การค้ายาเสพติดเหล่านี้จะไม่มีทางรุ่งเรืองเติบใหญ่ได้ หากปราศจากการรองรับของเครือข่ายและการพัวพันกันยุ่งขิงของทางการเมียนมาร์ ไทย และที่อื่น ๆ ขุนส่าอาจจะตาย แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ ธุรกิจก็ยังดำเนินไปในสามเหลี่ยมทองคำดังเห็นเช่นปกติ เพียงแต่คนหน้าใหม่ ๆ เท่านั้นที่เข้ามาเล่น

Bertil Lintner is a former correspondent with the Far Eastern Economic Review. He is currently a writer with Asia-Pacific Media Services.





Create Date : 04 มกราคม 2551
Last Update : 4 มกราคม 2551 8:13:46 น. 1 comments
Counter : 1911 Pageviews.

 
อ่านได้ครึ่งหนึ่งขอรับ อิอิ


โดย: คนสาธารณะ วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:50:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ศาลายา
Location :
นครปฐม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




๏ ศาลายาชื่อนี้.....เป็นนาม
ที่อยู่ตำบลตาม.............แต่งตั้ง
คนหนุ่มเงียบเงียบงาม....มรรยาท
ลิขิตบล็อกก่อนพลั้ง......พลาดพ้นยุคสมัย ๚

Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ศาลายา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.