กรรม เกิดจาก เจตนา เจตนา คือ ตัวกรรม
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
วิญญาณเวียนว่ายตายเกิด...เป็นเหตุแห่ง..ทิฏฐินิสัย..และเป็น..ทิฏฐิสังโยชน์

อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๒. ทิฐิกถา
หน้าต่างที่ ๓ / ๓.


อรรถกถามานวินิพันธทิฏฐินิเทศ
ในมานวินิพันธทิฏฐิ (ทิฏฐิอันการกั้นด้วยมานะ) ทั้งหลายพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
การลูบคลำด้วยการถือผิดว่าตาเป็นเรา ชื่อว่าลูบคลำด้วยการถือผิด มีมานะเป็นเบื้องต้น. เพราะทิฏฐิไม่ได้สัมปยุตด้วยมานะ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มานวินิพนฺธา ทิฏฐิกางกั้นด้วยมานะ. ความว่า ทิฏฐิการกั้นด้วยมานะมีมานะเป็นมูล.
แม้ในบทนี้ว่า จกฺขุ ํ มมนฺติ อภินิเวสปรามาโส การลูบคลำด้วยความถือผิดว่าตาของเราก็มีนัยนี้.
อนึ่ง ในบท จกฺขุ ํ มมนฺติ นี้ควรกล่าวว่า มมาติ พึงทราบว่าลงนิคหิตอาคมเป็น มมนฺติ.
พึงทราบอายตนะภายในมีรูปเป็นต้น ด้วยทิฏฐิอันกางกั้นด้วยมานะว่า เป็นเรา ย่อมไม่ถืออายตนะภายนอกว่า เป็นเราเว้นกสิณรูป. แม้อายตนะภายนอกก็ย่อมได้ด้วยทิฏฐิอันกางกั้นด้วยมานะว่าของเรา เพราะย่อมถือแม้อายตนะภายนอกว่าของเรา.
ก็เพราะทุกขเวทนาไม่เป็นวัตถุของมานะ เพราะเป็นสิ่งไม่น่าปรารถนา ฉะนั้น เวทนา ๖ และผัสสะ ๖ จึงไม่ถือเอาเป็นมูลปัจจัยของเวทนาเหล่านั้น. แต่สัญญาเป็นต้น พึงทราบว่าท่านไม่ถือเอาในที่นี้ เพราะตัดขาดแล้ว.
จบอรรถกถามานวินิพันธทิฏฐินิเทศ

อรรถกถาอัตตวาทปฏิสังยุตตทิฏฐินิเทศ
อัตตวาทปฏิสังยุตตทิฏฐิ (ทิฏฐิอันปฏิสังยุตด้วยการปรารภตน) ได้แก่ อัตตานุทิฏฐินั่นเอง. ท่านกล่าวถึงทิฏฐิอย่างนี้อีก เพราะปฏิสังยุตด้วยวาทะว่าตัวตน ดังนี้.
จบอรรถกถาอัตตวาทปฏิสังยุตตทิฏฐินิเทศ

อรรถกถาโลกวาทปฏิสังยุตตทิฏฐินิเทศ
(ทิฏฐิปฏิสังยุตด้วยปรารภโลก)
บทว่า อตฺตา จ โลโก จ ตนและโลก. ความว่า ตนนั้นนั่นแลและชื่อว่าโลกเพราะอรรถว่าพึงแลดู.
บทว่า สสฺสโต คือ ทิฏฐิของผู้มีวาทะว่าเที่ยง.
บทว่า อสสฺสโต คือ ทิฏฐิของผู้มีวาทะว่าสูญ.
บทว่า สสฺสโต จ อสสฺสโต จ คือ ทิฏฐิของผู้เห็นว่าเที่ยงเป็นบางอย่าง.
บทว่า เนว สสฺสโต นาสสฺสโต ตนและโลกเที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้ คือทิฏฐิของผู้ซัดส่ายไม่ตายตัว.
บทว่า อนฺตวา มีที่สุด คือทิฏฐิของผู้หลอกลวงและของนิครนถ์อาชีวกผู้ได้กสิณนิดหน่อย.
อีกอย่างหนึ่ง พวกอุจเฉททิฏฐิย่อมกล่าวว่า สัตว์มีขันธ์ส่วนอดีตโดยกำเนิด มีขันธ์ส่วนอนาคตโดยความตาย. พวกเห็นว่าตนและโลกเกิดขึ้นลอยๆ กล่าวว่า สัตว์มีขันธ์ส่วนอดีตโดยกำเนิด.
บทว่า อนนฺตวา ไม่มีที่สุด คือทิฏฐิของผู้ได้กสิณหาประมาณมิได้. แต่พวกมีวาทะว่าเที่ยงย่อมกล่าวว่า สัตว์ไม่มีขันธ์ส่วนอดีตและส่วนอนาคต ด้วยเหตุนั้นจึงไม่มีที่สุด.
พวกเห็นว่าตนและโลกเกิดขึ้นลอยๆ กล่าวว่า ไม่มีที่สุดด้วยขันธ์ส่วนอนาคต.
บทว่า อนฺตวา จ อนนฺตวา จ มีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี คือทิฏฐิของผู้มีกสิณขึ้นๆ ลงๆ ไม่เจริญ เจริญไปอย่างขวางๆ.
บทว่า เนว อนฺตวา น อนนฺตวา มีที่สุดก็หามิได้ ไม่มีที่สุดก็หามิได้ คือทิฏฐิของผู้มีความซัดส่ายไม่ตายตัว.
จบอรรถกถาโลกวาทปฏิสังยุตตทิฏฐินิเทศ

อรรถกถาภววิภวทิฏฐินิเทศ
พระสารีบุตรเถระไม่ทำการนิเทศภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิไว้ต่างหาก เพราะไม่มีการถือผิดต่างหากจากทิฏฐิตามที่กล่าวแล้ว และไม่ทำการถามเพื่อแสดงอาการอย่างหนึ่งๆ คือ ความติดอยู่ ความแล่นเลยไปด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิตามที่กล่าวแล้วนั่นแล แล้วจึงกล่าวว่า ความถือผิดด้วยความติดอยู่เป็นภวทิฏฐิ. ความถือผิดด้วยความแล่นเลยไปเป็นวิภวทิฏฐิ ดังนี้.
พึงทราบความในบทนั้นดังต่อไปนี้.
การถือผิดด้วยความติดอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับภพ จิตของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมไม่แล่นไป. ความว่า การถือผิดด้วยความเบื่อหน่ายจากนิพพาน ด้วยความสำคัญว่าเที่ยง.
การถือผิดด้วยความแล่นเลยไป ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- เทวดาและมนุษย์บางพวกอึดอัด ระอา เกลียดชังด้วยภพนั่นแล ย่อมเพลิดเพลินความขาดสูญ. ความว่า การถือผิดด้วยความละเลยปฏิปทาอันนำไปสู่ความดับทุกข์ ด้วยสำคัญว่าสูญ.
____________________________
๑- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๒๗

บัดนี้ พระสารีบุตรเพื่อแสดงประกอบภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิไว้ในทิฏฐิทั้งปวง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อสฺสาททิฏฺฐิยา ดังนี้. ในบทนั้น เพราะผู้มีอัสสาททิฏฐิอาศัยความเที่ยง หรือความสูญ ย่อมถือว่าโทษในกามทั้งหลายย่อมไม่มี ดังนี้. ฉะนั้น แม้อัสสาททิฏฐิมีอาการ ๓๒ ท่านก็กล่าวว่า เป็นภวทิฏฐิก็มี เป็นวิภวทิฏฐิก็มี.
ในบทนั้นทิฏฐิแม้อย่างหนึ่งๆ ก็เป็นภวทิฏฐิด้วยการถือว่าเที่ยง. เป็นวิภวทิฏฐิด้วยการถือว่าสูญ. ด้วยอัตตานุทิฏฐิย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นคน เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นวิภวทิฏฐิ ๕ เพราะถือว่าเมื่อขันธ์ ๕ เหล่านั้นสูญเพราะความที่ตนไม่เป็นอื่นจากรูปเป็นต้น ตนจึงสูญ. เมื่อฐานะ ๑๕ ที่เหลือสูญเพราะความที่ตนเป็นอย่างอื่นจากรูปเป็นต้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นภวทิฏฐิ ๑๕ เพราะถือว่าตนเที่ยง.
ผู้ได้ทิพยจักษุได้ณานอันเป็นปริตตารมณ์และอัปปมาณารมณ์ ในทิฏฐิมีที่สุดและไม่มีที่สุด เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งความสูญว่า ทั้งหมดนั้นเป็นวิภวทิฏฐิ ครั้นจุติจากรูปธาตุ แล้วเห็นสัตว์ทั้งหลายเกิดในที่อื่นไม่เห็นภวทิฏฐิ ย่อมถือเอาวิภวทิฏฐิ. เพราะฉะนั้น ในบทนั้น ท่านจึงกล่าวว่าเป็นภวทิฏฐิก็มี เป็นวิภวทิฏฐิก็มี ดังนี้.
บทว่า โหติ ในบทนี้ว่า โหติ จ น จ โหติ มีและไม่มีเป็นภวทิฏฐิ. บทว่า น จ โหติ ไม่มีเป็นวิภวทิฏฐิ.
บทว่า เนว โหติ ในบทนี้ว่า เนว โหติ น น โหติ มีก็หามิได้ ไม่มีก็หามิได้ เป็นวิภวทิฏฐิ.
บทว่า น น โหติ ไม่มีก็หามิได้ เป็นภวทิฏฐิ. เพราะฉะนั้นในบทนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิยา พึงเป็น.
พวกที่เห็นว่าเที่ยงเป็นบางส่วนแห่งการตามเห็นขันธ์ส่วนอดีต ย่อมบัญญัติว่าเที่ยง และบัญญัติว่าไม่เที่ยง. เพราะฉะนั้น ทิฏฐินั้นจึงเป็นทั้งภวทิฏฐิ ทั้งวิภวทิฏฐิ.
พวกที่เห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ๔ จำพวก ย่อมบัญญัติตนว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด. เพราะฉะนั้น ทิฏฐินั้นจึงเป็นทั้งภวทิฏฐิ ทั้งวิภวทิฏฐิเช่นเดียวกับอัตตานุทิฏฐิ.
พวกที่มีความเห็นซัดส่ายไม่ตายตัว ๔ จำพวก อาศัยภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิ ย่อมถึงความฟุ้งซ่านทางวาจา. ส่วนที่เหลือเป็นภวทิฏฐิ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิยา หมายถึงทิฏฐินั้นๆ.
พวกที่กล่าวว่าสูญ ๗ จำพวกแห่งความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต เป็นวิภวทิฏฐิ ที่เหลือเป็นภวทิฏฐิ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิยา เพราะหมายถึงทิฏฐินั้นๆ.
ท่านกล่าวว่า สิยา แห่งสัญโญชนิกทิฏฐิ ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิทั้งปวง. ตัวตนเป็นอันพินาศไปในเพราะความพินาศแห่งทิฏฐิเหล่านั้น เพราะถือจักษุเป็นต้นว่าเป็นเรา ด้วยทิฏฐิอันกางกั้นด้วยมานะว่า เป็นเรา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทั้งหมดนั้นเป็นวิภวทิฏฐิ.
ตนย่อมไม่พินาศไปแม้ในเพราะความพินาศแห่งทิฏฐิเหล่านั้น เพราะทิฏฐิอันกางกั้นด้วยมานะว่าของเรา ดุจอัตตานุทิฏฐิเป็นอื่นจากจักษุเป็นต้นของตน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทั้งหมดเป็นทิฏฐิ.
ภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิแห่งทิฏฐิปฏิสังยุตด้วยวาทะปรารภโลกปรากฏแล้ว เพราะท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า๒- ตนและโลกเที่ยง. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันท่านแสดงถึงความถือผิดทิฏฐิ ๑๖ และ ๓๐๐ มีอัสสาททิฏฐิเป็นเบื้องต้นมีวิภวทิฏฐิเป็นที่สุด. อัตตานุทิฏฐิ สักกายทิฏฐิและทิฏฐิปฏสังยุตด้วยอัตตวาทะ ท่านกล่าวไว้โดยความเป็นอันเดียวกัน โดยปริยายมี ๓ อย่าง. แต่ทิฏฐิแม้ทั้งหมดโดยมีประเภทไม่แน่นอน เป็นสัญโญชนิกทิฏฐิ.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓๕๔

บัดนี้ บทมีอาทิว่า สพฺพาว ตา ทิฏฺฐิโย อสฺสาททิฏฺฐิโย ทิฏฐิทั้งหมดนั้นเป็นอัสสาททิฏฐิ เป็นการเปรียบเทียบเคียงทิฏฐิ ตามที่ประกอบไว้โดยปริยายอื่น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพาว ตา ทิฏฺฐิโย ทิฏฐิทั้งหมดเหล่านั้นได้แก่ ทิฏฐิที่ไม่มีเหลือตามที่กล่าวแล้ว. ทิฏฐิอันสงเคราะห์เข้าในทิฏฐิทั้งหลาย ๗ เหล่านี้คือ ชื่อว่าอัสสาททิฏฐิ เพราะยินดีด้วยทิฏฐิราคะ และเพราะอาศัยความพอใจด้วยตัณหา. ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ เพราะไปตามความเสน่หาในตน. ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะความเห็นวิปริต เพราะถือเอาที่สุดอย่างหนึ่งๆ. ชื่อว่าสังโยชนิกทิฏฐิ เพราะประกอบด้วยสิ่งไม่มีประโยชน์. ชื่อว่าอัตตวาทปฏิสังยุตตทิฏฐิ เพราะประกอบด้วยอัตตวาทะ. ส่วนทิฏฐิ ๙ ที่เหลือไม่สงเคราะห์เข้าในทิฏฐิทั้งหมด.
บัดนี้ พระสารีบุตรเถระย่อทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมดที่กล่าวไว้โดยพิสดารลงในทิฏฐิ ๒ อย่าง เมื่อจะแสดงถึงธรรมเป็นที่อาศัยของทิฏฐิ ๒ หมวดแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถามีอาทิว่า ภวญฺจ ทิฏฺฐึ.
จริงอยู่ ทิฏฐิเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิ.
จ ศัพท์ในบทนี้ว่า ภวญฺจ ทิฏฐึ วิภวญฺจ ทิฏฺฐึ รวมทิฏฐิเท่านั้น ไม่รวมธรรมที่อาศัย. เพราะธรรมอันหนึ่ง มิได้อาศัยภวทิฏฐิและวิภวทิฏฐิ.
สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๓- สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้อาศัยภวทิฏฐิก็ดี เป็นผู้อาศัยวิภวทิฏฐิก็ดีดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๘

บทว่า ตกฺกิกา ชื่อว่า ตกฺกิกา เพราะกล่าวด้วยความตรึกตรอง. เพราะเจ้าทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมเป็นไปด้วยความตรึกตรองอย่างเดียว เพราะไม่มีปัญญาแทงตลอดความเป็นจริง.
อนึ่ง ชนเหล่าใดได้ฌานก็ดี ได้อภิญญาก็ดี ย่อมถือทิฏฐิ แม้ชนเหล่านั้นก็เป็นตักกิกา เพราะตรึกแล้วถือเอา.
บทว่า นีสฺสิตา เส ความว่า อาศัยแล้ว.
บทว่า เส บทเดียวเท่านั้นเป็นเพียงนิบาต.
บทว่า เตสํ นิโรธมฺหิ น หตฺถิ ญาณํ ญาณในนิโรธย่อมไม่มีแก่ชนเหล่านั้น นี้เป็นบทกล่าวถึงเหตุแห่งทิฏฐินิสัย.
ความว่า เพราะญาณในการดับสักกายทิฏฐิ คือนิพพานไม่มีแก่ชนเหล่านั้น ฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงยึดถือทิฏฐิ ๒ อย่างนี้.
หิ อักษรในบทว่า น หิ อตฺถิ ญาณํ นี้เป็นนิบาตลงในความแสดงถึงเหตุ.
บทว่า ยตฺถายํ โลโก วิปรีตสญฺญี สัตว์โลกนี้ยึดถือทิฏฐิใดก็เป็นผู้มีสัญญาวิปริตเพราะทิฏฐินั้น. ความว่า โลกพร้อมด้วยเทวโลกนี้เป็นผู้มีสัญญาวิปริตในนิโรธอันเป็นสุขใด ว่าเป็นทุกข์ พึงเชื่อมว่าญาณในนิโรธนั้นย่อมไม่มี. เพราะเป็นผู้มีสัญญาวิปริตว่าเป็นทุกข์
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคาถาประพันธ์นี้ว่า๔-
รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะและธรรมารมณ์ล้วนน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจมีประมาณเท่าใด โลกกล่าว
ว่ามีอยู่. อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลก
สมมติกันว่าเป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖
เหล่านี้ ชนเหล่านั้นสมมติกันว่าเป็นทุกข์. ความดับ
แห่งเบญจขันธ์พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นความสุข
ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิต
ทั้งหลายผู้เห็นอยู่.
ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใด โดยความเป็นสุข
พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็น
ทุกข์ ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์
พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความ
เป็นสุข.
ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยาก ชนพาลทั้งหลาย
ผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อย่อมมี
แก่ชนพาลทั้งหลาย ผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้วผู้ไม่เห็นอยู่.
ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่
เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า
ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม้รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้.
ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตาม
กระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏอันเป็นบ่วงแห่งมารเนืองๆ
ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย.
นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควร
จะรู้บท คือนิพพานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว
พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพราะรู้โดยชอบ
ย่อมปรินิพพาน.๔-
____________________________
๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๖

บัดนี้ พระสารีบุตรประสงค์จะแสดงทิฏฐิทั้งหมดเป็น ๒ อย่างและการถอนทิฏฐิโดยพระสูตร จึงนำพระสูตรมาว่า ทฺวีหิ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นอาทิ.
ในบทเหล่านั้น แม้พรหมทั้งหลาย ท่านก็เรียกว่าเทว.
บทว่า โอลียนฺติ ย่อมติด คือกำไว้. บทว่า อติธาวนฺติ คือ ล่วงเลยไป.
บทว่า จกฺขมนฺโต คือมีปัญญา. จ ศัพท์มีเนื้อความเป็นอดิเรก.
บทว่า ภวารามา ผู้ชอบภพ คือมีภพเป็นที่อภิรมย์.
บทว่า ภวรตา คือ ยินดีในภพ.
บทว่า ภวสมฺมุทิตา คือ พอใจด้วยภพ.
บทว่า เทสิยมาเน คือ เมื่อธรรมอันพระตถาคตหรือพระสาวกของพระตถาคตแสดงอยู่.
บทว่า น ปกฺขนฺทติ ไม่แล่นไป คือไม่เข้าถึงพระธรรมเทศนา หรือการดับภพ.
บทว่า น ปสีทติ ไม่เลื่อมใส คือไม่ถึงความเลื่อมใสในธรรมนั่น.
บทว่า น สนฺติฏฺฐติ ไม่ตั้งอยู่ คือไม่ตั้งอยู่ในธรรมนั้น.
บทว่า นาธิมุจฺจติ ไม่น้อมไป คือไม่ถึงความแนบแน่นในธรรมนั้น. ท่านกล่าวถึงสัสสตทิฏฐิด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
บทว่า อฏฺฏียมานา อึดอัด คือถึงความทุกข์.
บทว่า หรายมานา ระอา คือถึงความละอาย.
บทว่า ชิคุจฺฉมานา คือ ถึงความเกลียดชัง.
บทว่า วิภวํ อภินนฺทนฺติ ยินดีความปราศจากภพ คือยินดีอาศัยความสูญหรือปรารถนาความสูญ.
บทว่า กิร ได้ยินว่า เป็นนิบาตลงในอรรถอนุสสวนะ (การได้ยินมา).
บทว่า โภ เป็นคำร้องเรียก.
บทว่า สนฺตํ คือ ดับแล้ว.
บทว่า ปณีตํ ความว่า ชื่อว่าประณีตเพราะไม่มีทุกข์ หรือเพราะนำไปสู่ความเป็นประธาน.
บทว่า ยถาภวํ คือ ตามความเป็นจริง.
ท่านแสดงอุจเฉททิฏฐิด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
บทว่า อิธ คือ ในศาสนานี้.
บทว่า ภูตํ ความจริง คือทุกข์อันได้แก่ขันธ์ ๕ อันเกิดแต่เหตุ.
บทว่า ภูตโต ปสฺสติ เห็นโดยความเป็นจริง คือเห็นความจริงนี้ว่าเป็นทุกข์.
บทว่า นิพฺพิทาย เพื่อความเบื่อหน่าย คือเพื่อความเห็นแจ้ง.
บทว่า วิราคาย เพื่อคลายกำหนัด คือเพื่ออริยมรรค.
บทว่า นิโรธาย เพื่อดับ คือเพื่อนิพพาน.
บทว่า ปฏิปนฺโน โหติ คือเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแก่นิพพานนั้น.
บทว่า เอวํ ปสฺสนฺติ ผู้มีจักษุเห็นอยู่อย่างนี้ คือเห็นด้วยโลกิยญาณในส่วนเบื้องต้น ด้วยโลกุตรญาณในกาลแทงตลอดด้วยประการฉะนี้.
ท่านกล่าวสัมมาทิฏฐิด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้.
บัดนี้ พระสารีบุตรเถระแสดงอานิสงส์แห่งสัมมาทิฏฐินั้นด้วยคาถา ๒ คาถา.
ในบทเหล่านั้น บทว่า โย ภูตํ ภูตโต ทิสฺวา เห็นความเป็นสัตว์โดยความเป็นจริง.
ความว่า ตรัสรู้ทุกข์โดยตรัสรู้ด้วยการกำหนดรู้.
บทว่า ภูตสฺส จ อติกฺกมนํ ก้าวล่วงความเป็นสัตว์. ความว่า ตรัสรู้การดับทุกข์โดยตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้ง.
บทว่า ยถาภูเตธิมุจฺจติ ย่อมน้อมใจไปในธรรมตามที่เป็นจริง คือน้อมใจไปในความดับทุกข์ตามความเป็นจริงด้วยอำนาจแห่งการตรัสรู้ด้วยมรรคภาวนาว่า นี้สงบ นี้ประณีต.
บทว่า ภวตณฺหา ปริกฺขยา เพื่อความสิ้นไปแห่งภวตัณหา. ความว่า ด้วยการละเหตุให้เกิดทุกข์.
อนึ่ง เมื่อไม่มีการตรัสรู้ต่างๆ ของสัจจธรรม พึงทราบว่า ท่านกล่าวคำในตอนต้นว่า ทิสฺวา ด้วยโวหารพร้อมกับปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น เพราะเห็นก่อนแล้วภายหลังไม่น้อมใจไป. การตรัสรู้อริยสัจ ๔ ย่อมมีได้ตลอดกาลเสมอทีเดียว.
อีกอย่างหนึ่ง บททั้งหลายที่กล่าวไว้ในตอนต้น ย่อมมีได้แม้ในกาลอันเสมอ เพราะเหตุนั้นจึงไม่เป็นโทษ.
บทว่า ส เว คือ พระอรหันต์นั้นโดยส่วนเดียว.
บทว่า ภูตปริญฺญาโต กำหนดรู้ความเป็นสัตว์แล้ว คือกำหนดรู้ทุกข์.
บทว่า วีตตณฺโห คือ มีตัณหาไปปราศแล้ว.
บทว่า ภวาภเว คือ ในภพน้อยภพใหญ่.
บทว่า อภโว คือภพใหญ่ เพราะมี อ อักษรเป็นไปในอรรถว่าเจริญ.
พึงทราบภพน้อยภพใหญ่นั้นเพราะความเปรียบเทียบกัน.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภเว ได้แก่ สัสสตทิฏฐิ. บทว่า วิภเว ได้แก่ อุจเฉททิฏฐิ.
ชื่อว่าปราศจากตัณหา เพราะไม่มีทิฏฐิราคะแม้ในสองอย่างนั้น.
บทว่า ภูตสฺส วิภวา เพราะความไม่มีแห่งความเป็นสัตว์ คือเพราะสูญวัฏทุกข์.
บทว่า นาธิคจฺฉติ ปุนพฺภวํ ย่อมไม่มาสู่ภพใหม่ ท่านกล่าวถึงปรินิพพานแห่งพระอรหันต์.
บทมีอาทิว่า ตโย ปุคฺคลา บุคคล ๓ จำพวก ท่านกล่าวเพื่อติเตียนผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ และเพื่อสรรเสริญผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ. ชื่อว่ามีทิฏฐิวิบัติ เพราะมีทิฏฐิถึงคือไปสู่ความน่าเกลียด. ชื่อว่ามีทิฏฐิสมบัติ เพราะมีทิฏฐิถึงคือไปสู่ความดี.
บทว่า ติตฺถิโย ทิฏฐิท่านกล่าวลัทธิ เพราะปฏิบัติทิฏฐินั้นเป็นความดีในลัทธิ หรือชื่อว่าติตถิยะ เพราะมีลัทธิ เข้าถึงการบรรพชาภายนอกลัทธินั้น.
บทว่า ติตฺถิยสาวโก สาวกเดียรถีย์ คือคฤหัสถ์ผู้ถึงทิฏฐานุคติของสาวกเดียรถีย์เหล่านั้น.
บทว่า โย จ มิจฺฉาทิฏฺฐิโก บุคคลผู้มีทิฏฐิผิด คือผู้เข้าถึงทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง.
บทว่า ตถาคโต คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็สงเคราะห์เข้าในบทนี้เหมือนกัน.
บทว่า ตถาคตสาวโก คือ ผู้บรรลุมรรคและผู้บรรลุผล.
บทว่า โย จ สมฺมาทิฏฺฐิโก ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ คือผู้พันจากทิฏฐิสองอย่างนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิด้วยสัมมาทิฏฐิของชาวโลก.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
บทว่า โกธโน เป็นคนมักโกรธ คือคนที่มักโกรธเนืองๆ.
บทว่า อุปนาหี มักผูกโกรธ คือมีปกติเพิ่มความโกรธนั้นแล้วผูกไว้.
บทว่า ปาปมกฺขี มีความลบหลู่ลามก คือมีความลบหลู่อันเป็นความลามก.
บทว่า วสโล เป็นคนเลว คือมีชาติแห่งคนเลว.
บทว่า วิสุทฺโธ เป็นผู้ประเสริฐ คือเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยญาณทัศนวิสุทธิ.
บทว่า สุทฺธตํ คโต ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ คือถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์อันได้แก่มรรคผล.
บทว่า เมธาวี คือ ผู้มีปัญญา.
ด้วยคาถานี้ ท่านสรรเสริญผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิอันเป็นโลกุตระ.
บทว่า วิปนฺนทิฏฺฐิโย สมฺปนฺนทิฏฺฐิโย ทิฏฐิวับัติ ทิฏฐิสมบัติ พระสารีบุตรละโวหารว่าบุคคล กล่าวติเตียนและสรรเสริญธรรม.
บทว่า เอตํ มม นั่นของเรา คือทิฏฐิด้วยอำนาจแห่งความสำคัญตัณหา.
บทว่า เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั่นคือทิฏฐิมีความสำคัญด้วยมานะเป็นมูล.
บทว่า เอโส เม อตฺตา นั่นเป็นตัวตนของเรา คือมีความสำคัญด้วยทิฏฐินั่นเอง.
ท่านถามการจำแนก การนับและการสงเคราห์กาลแห่งทิฏฐิวิบัติ ๓ ด้วยบทมีอาทิว่า เอตํ มมนฺติ กา ทิฏฺฐิ ทิฏฐิอะไรว่านั่นของเราแล้วแก้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า กา ทิฏฺฐิ ความว่า บรรดาทิฏฐิมากมาย ทิฏฐิอะไร.
บทว่า กตมนฺตานุคฺคหิตา ตามถือส่วนสุดอะไร ความว่า ในสองกาล คือกาลมีขันธ์เป็นส่วนอดีตและกาลมีขันธ์เป็นส่วนอนาคต ตามถือโดยกาลไหน. อธิบายว่า ติดตาม.
เพราะเมื่อลูบคลำว่า นั่นของเรา อ้างถึงวัตถุในอดีตว่า นั่นได้เป็นของเราแล้ว ได้เป็นของเราแล้วอย่างนี้ ได้เป็นของเราแล้วประมาณเท่านี้ แล้วลูบคลำ ฉะนั้น จึงเป็นปุพพันตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอดีต). และทิฏฐิเหล่านั้นจึงเป็นทิฏฐิตามถือขันธ์ส่วนอดีต.
เพราะเมื่อลูบคลำว่า เราเป็นนั่นย่อมลูบคลำอาศัยผลในอนาคตว่า เราจักบริสุทธิ์ได้ด้วย ศีล พรต ตบะ พรหมจรรย์นี้. ฉะนั้น จึงเป็นอปรันตานุทิฏฐิ ตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต. และทิฏฐิเหล่านั้นจึงเป็นทิฏฐิตามถือขันธ์ส่วนอนาคต.
เพราะเมื่อลูบคลำว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา อาศัยความสืบต่ออันเกิดขึ้นในอดีตและอนาคต ย่อมลูบคลำว่านั่นเป็นตัวตนของเรา และย่อมลูบคลำด้วยสักกายทิฏฐิ ฉะนั้นจึงเป็นสักกายทิฏฐิ. และทิฏฐิเหล่านั้นเป็นปุพพันตาปรันตานุคคหิตา ตามถือขันธ์ทั้งส่วนอดีตและส่วนอนาคต.
อนึ่ง เพราะทิฏฐิ ๖๒ มีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน และทิฏฐิ ๖๒ ย่อมถึงการถอนด้วยการถอนสักกายทิฏฐินั่นแล ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทิฏฐิ ๖๒ โดยมีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน. ความว่า ทิฏฐิ ๖๒ ย่อมมีโดยทวารแห่งสักกายทิฏฐิ อันมีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน.
ปาฐะว่า สกฺกายทิฏฺฐิปฺปมขานิ ดังนี้ดีกว่า.
ชื่อว่า สกฺกายทิฏฺฐิปฺปมขานิ เพราะมีสักกายทิฏฐิเป็นประธานคือเป็นเบื้องต้น. สักกายทิฏฐิเหล่านั้น คืออะไร คือทิฏฐิ ๖๒.
อัตตานุทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิอะไร แก้ว่า คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐. ด้วยคำถามว่า ทิฏฐิเท่าไร แก้ว่า ทิฏฐิ ๖๒ มีสักกายทิฏฐิเป็นประธาน.
อนึ่ง สักกายทิฏฐินั้นแล ท่านกล่าวว่าอัตตานุทิฏฐิโดยคำสามัญว่า นั่นเป็นตัวตนของเรา. เมื่อกล่าวถึงอัตตานุทิฏฐินั้น ก็เป็นอันกล่าวถึงแม้ทิฏฐิที่ปฏิสังยุตด้วยอัตตวาท.
เพื่อแสดงการจำแนกบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ โดยสัมพันธ์กับบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ท่านจึงนำพระสูตรมามีอาทิว่า เย เกจิ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า นิฏฺฐํ คตา คือ ถึงความเชื่อ คือเชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองด้วยสามารถแห่งมรรคญาณ. ความว่า หมดความสงสัย.
ปาฐะว่า นิฏฺฐาคตา เป็นบทสมาส ความอย่างเดียวกัน.
บทว่า ทิฏฺฐิสมฺปนฺนา คือ ถึงความงามด้วยทิฏฐิ.
บทว่า อิธ นิฏฺฐา เชื่อแน่ในธรรมนี้ คือการดับด้วยกามธาตุนี้.
บทว่า อิธ วิหาย นิฏฺฐา เชื่อแน่ในภพสุทธาวาส ในธรรมนี้ คือละกามภพนี้แล้ว ปรินิพพานในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส.
บทว่า สตฺตกฺขตฺตุปรมสฺส คือ พึงถืออัตภาพเกิดในภพ ๗ ครั้ง คือ ๗ คราวเป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่า สตฺตกฺขตฺตุปรโม คือไม่ถือเอาภพที่ ๘ อื่นไปจากภพที่อุบัติถืออัตภาพนั้น. ได้แก่พระสัตตักขัตตุปรมโสดาบันนั้น.
บทว่า โกลงฺโกลสฺส ชื่อว่า โกลังโกละ เพราะไปสู่ตระกูลจากตระกูล.
ความว่า เพราะไม่เกิดในตระกูลต่ำจำเดิมแต่ทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ย่อมเกิดในตระกูลโภคสมบัติมากเท่านั้น. ได้แก่พระโกลังโกลโสดาบัน.
บทว่า เอกพีชิสฺส ท่านกล่าวพืชคือขันธ์. พระโสดาบันมีพืชคือขันธ์หนึ่งเท่านั้น ถืออัตภาพหนึ่งชื่อว่าเอกพีชี. ได้แก่พระเอกพีชีโสดาบัน. ชื่อของบุคคลเหล่านี้ เป็นชื่อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้. เพราะบุคคลผู้ถึงฐานะประมาณเท่านี้ ชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ ประมาณเท่านี้ชื่อโกลังโกละ ประมาณเท่านี้ชื่อว่าเอกพีชี เพราะเหตุนั้น จึงเป็นชื่อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งให้แก่บุคคลเหล่านี้.
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า บุคคลนี้จักถึงฐานะประมาณเท่านี้ บุคคลนี้จักถึงฐานะประมาณเท่านี้แล้วจึงทรงตั้งชื่อนั้นๆ แก่บุคคลเหล่านั้น.
จริงอยู่ พระโสดาบันมีปัญญาอ่อนเกิด ๗ ภพ จึงชื่อว่าสัตตักขัตตุปรมะ มีปัญญาปานกลาง เกิดอีกไม่เกินภพที่ ๖ จึงชื่อว่าโกลังโกละ มีปัญญากล้าเกิดภพเดียว จึงชื่อว่าเอกพีชี. การที่พระโสดาบันเหล่านั้น มีปัญญาอ่อน ปานกลางและกล้านี้นั้น ย่อมกำหนดเพราะบุรพเหตุ. พระโสดาบันแม้ ๓ เหล่านี้ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งกามภพ แต่ในรูปภพและอรูปภพย่อมถือปฏิสนธิแม้มาก.
บทว่า สกทาคามิสฺส ชื่อว่าสกทาคามี เพราะมาสู่กามภพคราวเดียว ด้วยสามารถแห่งปฏิสนธิ. ได้แก่พระสกทาคามีนั้น.
บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม อรหา พระอรหันต์ในปัจจุบัน คือพระอรหันต์ในอัตภาพนี้แล.
ปาฐะว่า อรหํ ดังนี้บ้าง.
บทว่า อิธ นิฏฺฐา เชื่อในธรรมนี้ ท่านกล่าวหมายถึงผู้ท่องเที่ยวไปสู่กามภพ. ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายเกิดในรูปภพและอรูปภพ ย่อมไม่เกิดในกามภพ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง.
บทว่า อนฺตราปรินิพฺพายิสฺส ชื่อว่า อนฺตราปรินิพฺพายี เพราะจะปรินิพพานด้วยการดับกิเลสในระหว่างกึ่งอายุ.
อนึ่ง พระอนาคามีนั้นมี ๓ จำพวก คือ ท่านผู้จะปรินิพพานในระหว่างใกล้เกิด ๑ ท่านผู้จะปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ถึงกึ่ง ๑ ท่านผู้จะปรินิพพานในระหว่างอายุถึงกึ่ง ๑. ได้แก่พระอันตราปรินิพพายีอนาคามีนั้น.
บทว่า อุปหจฺจปรินิพฺพายิสฺส ได้แก่ พระอนาคามีผู้พ้นอายุกึ่ง หรือใกล้จะถึงกาลกิริยา แล้วนิพพานด้วยการดับกิเลส.
บทว่า อสงฺขารปรินิพฺพายิสฺส ได้แก่ พระอนาคามีผู้ไม่ต้องทำความเพียรมากนัก แล้วปรินิพพานด้วยการดับกิเลส โดยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก.
บทว่า สสงฺขารปรินิพฺพายี ได้แก่ พระอนาคามีผู้ต้องทำความเพียรมาก แล้วปรินิพพานด้วยการดับกิเลส ต้องใช้ความเพียรยากลำบาก.
บทว่า อุทฺธํโสตสฺส อกนิฏฺฐคามิโน ได้แก่ พระอนาคามีผู้มีกระแสเบื้องบน คือกระแสตัณหา กระแสวัฏฏะในเบื้องบน เพราะนำไปในเบื้องบน หรือมีกระแสในเบื้องบน คือกระแสมรรคในเบื้องบน เพราะไปในเบื้องบนแล้วพึงได้. ชื่อว่าอกนิฏฐคามี เพราะไปสู่อกนิฏฐา. ได้แก่พระอนาคามีอุทธังโสตอกนิฏฐคามีนั้น.
นี้ คือพระอนาคามี ๔ ประเภท.
ท่านผู้ยังพรหมโลก ๔ ตั้งแต่อวิหา ให้บริสุทธิ์แล้วไปสู่อกนิฏฐาจึงปรินิพพาน ชื่อว่าอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี.
ท่านผู้ยังพรหมโลก ๓ เบื้องต่ำให้บริสุทธิ์ แล้วตั้งอยู่ในสุทัสสีพรหมโลก จึงปรินิพพาน ชื่อว่าอุทธังโสโต ไม่ชื่อว่าอกนิฏฐคามี.
ท่านผู้ไปสู่อกนิฏฐาจากนี้แล้วปรินิพพาน ไม่ชื่อว่าอุทธังโสโต ชื่อว่าอกนิฏฐคามี.
ท่านผู้ปรินิพพานในที่นั้นๆ ในพรหมโลก ๔ เบื้องต่ำ ไม่ชื่อว่าอุทธังโสโต ไม่ชื่อว่าอกนิฏฐคามี.
พระอนาคามี ๕ เหล่านี้ ท่านกล่าวถือเอาสุทธาวาส.
ส่วนพระอนาคามีทั้งหลาย เพราะยังละรูปราคะอรูปราคะไม่ได้ ยังหวังอยู่ย่อมเกิดในรูปภพและอรูปภพที่เหลือ แต่พระอนาคามีทั้งหลายเกิดในสุทธาวาสไม่เกิดในที่อื่น.
บทว่า อเวจฺจปปสนฺนา เลื่อมใสอย่างแน่นแฟ้น คือรู้ตรัสรู้ด้วยอริยมรรคแล้ว เลื่อมใสด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
บทว่า โสตาปนฺนา คือ ท่านผู้ถึงกระแสอริยมรรค.
แม้บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอริยผลทั้งปวง ท่านก็ถือเอาด้วยบทนี้.

จบอรรถกถาภววิภวทิฏฐิกถา
แห่งอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่าสัทธัมมปกาสินี
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๒. ทิฐิกถา จบ.
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]

อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
//www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3332&Z=4069
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พร้อมทั้งท่านพระสารีบุตรและพระอรหันทั้งหลาย

อีกทั้งท่านพุทธทาสและศิษยานุศิษย์ที่เห็นแจ้งว่า วิญญาณเวียนว่านตายเกิดเป็น มิจฉาทิฐิ สักกายะทิฐิ ทิฐิสังโยชน์

อนุโมทนาสาธุ


Create Date : 17 มีนาคม 2555
Last Update : 17 มีนาคม 2555 12:02:29 น. 0 comments
Counter : 690 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

shadee829
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add shadee829's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.