Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
O นิราศนรินทร์ และ คำแปล...บทที่ ๗๕ - ๑๐๐ O





.................................................



๗๕. แลระบัดลาดท่งท้อง....ทิวพฤกษ์
มลักเห็นหมู่มฤค...............ครุ่นคร้าม
หวังหาคู่แนบนึก...............นุชนาฎ เรียมเอย
คิดเมื่อมาสมรห้าม............พี่ห้ามหวงโฉม


บาท ๑...แลเห็นทิวไม้ และท้องทุ่งลาดลงไป ใบไม้ก็กำลังแตกผลิ
บาท ๒...แลเห็นหมู่พวกเนื้อทราย ที่มีอาการคร้ามกลัวภัย (คำ ครุ่นคร้าม ในบทนี้ อะไรเป็นประธาน จะว่า นายนรินทร ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพวกเนื้อนั้นไม่เป็นสัตว์น่ากลัว)
บาท ๓...บาทนี้ก็สงสัยว่าอะไรเป็นประธานของกริยา “หวังหาคู่” จะเป็น นายนรินทร หรือ มฤค ขอสันนิษฐานว่า ประธานคือ นายนรินทร เมื่อนายนรินทรเห็นพวกเนื้อ (ซึ่งอยู่เป็นคู่ๆ) ก็นึกถึงคู่ของตน คือ เมีย


๗๖.นางทรายจามเรศรู้......รักขน
คือนุชสงวนงามตน...........แต่น้อย
ตายองตอบตายล.............ยวนเนตร นางเอย
โฉมแม่บาดตาย้อย...........อยู่พู้นฉันใด


ความเปรียบเทียบในบทนี้ดี
บาท ๑ - ๒....ความที่นางทรายรู้จักรักขนของมันนั้น ก็เหมือนสตรีสงวนความดีงามของตนมาตั้งแต่เยาว์วัย (กล่าวกันว่า...นางทรายนั้นเวลาวิ่งไปทางไหน ถ้าขนของมันไปติดอะไร จะไม่ยอมกระชากขนของตัวเองจะต้องพยายามปลดขนของมันออก แม้จะมีศัตรูติดตามมา ก็ไม่ยอมให้ขนขาด นางทรายนี้คือตัวจามรี ซึ่งเป็นสัตว์มีขนยาว)
บาท ๓ – บาท ๔....แลเห็นตาของเนื้อยองที่มันมองมา ก็หวนนึกถึงตาของนาง สงสัยว่าน้องผู้มีรูปงามบาดตาและงามหยดย้อยนั้น อยู่ข้างหลังเวลานี้จะเป็นประการใดบ้าง(ตาเนื้อทราย(ยอง) นั้น เขานิยมกันว่างามซึ้ง จึงมีคำเปรียบตาหญิงเหมือนตาเนื้อทราย)


๗๗. ขุนพาฬพยัคฆ์เคล้า...พยัคฆี
สารสู่สาวคชลี.................แหล่งเหล้น
ปวงสัตว์เพรียกไพรศรี.......สังวาส
สังเวชสมรมาเว้น..............พี่เว้นวายชม


บทนี้ทำนองสังวาสตลอด กล่าวว่า เสือผู้คู่กับนางเสือ ช้ายพลายคู่ช้างพัง ปวงสัตว์ผู้เมียทั้งหมายก็เคล้าคู่กัน แต่น่าอนาถที่น้องมาเว้นวายจากการเชยชม

ศัพท์...
- พาฬ........... สัตว์ร้าย
- พยัคฆ์........เสือตัวผู้
- พยัคฆี........เสื้อตัวเมีย
- สาร............ช้าง
- สาวคช.......ช้างพัง
- ลี................ลีลา ไป
- เหล้น..........เล่น (ในที่นี้ต้องการโท)
- เพรียก........มาก ทั่ว เต็ม
- สังวาส........สํ (ร่วม) + วาส (อยู่) = อยู่ร่วมกัน
- สังเวช.........ความสงสาร ความสลดใจ
- สมร............นาง นางงาม


๗๘. เนื้อเบื้อนาเนกล้ำ......หลายพรรณ
ล่าแหล่งลืมเกลียงวัน........แวะเว้น
ไพรพฤกษ์เงียบเซียบศัลย์...โศกแม่
แสนสัตว์ซบเซาเร้น...........ช่วยร้อนเรียมตรอม


บทนี้ตรงข้ามกับบทก่อน กล่าวว่าปวงสัตว์พากันเงียบเหงาซบเซา ราวกับจะช่วยร้อนอกร้อนใจแทน (นายนรินทร์)

ศัพท์...
- เบื้อ............เป็นคำสร้อยของเนื้อ ในที่อื่นหมายความว่าสัตว์ชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายคน แต่ไม่มีสะบ้าหัวเข่า
- นาเนก........นานา+เอก = มากมาย
- ล่า..............จากไป ถอยไป
- เกลียง........หญ้า
- วัน.............วนะ ป่า
- ศัลย์..........หอก หลาว ของมีคม ในที่นี้หมายถึงความทุกข์ ความโศก อาจแปลว่าผ่าตัดก็ได้ เช่นศัลยกรรม


๗๙. ลมลงโลมลาดไม้......กฤษณา
โบกบอกนาสาหา.............กลิ่นต้อง
รอยอรร่ำพัสตรา..............ตากตรอก ลมฤา
พากลิ่นกลอยมาข้อง.........ค่าไม้หอมเหมือน


โคลงบทนี้แสดงความคิดทางกวีงดงามดีมาก คำที่นำมาใช้ก็ดี เช่น ลมลงโลมลาด ซึ่งหมายถึงอาการพัดอย่างเบาๆ ของลม
บาท ๑...ลมพัดผ่านต้นกฤษณา
บาท ๒...พาเอากลิ่นกฤษณามากระทบจมูก
บาท ๓...(ทำให้คิดว่า) ชะรอยนางร่ำผ้าของนาง แล้วตากไว้ให้ถูกลม
บาท ๔...ลมพากลิ่นผ้าของนางมา (ที่คิดดังนี้) เพราะว่ากลิ่นไม้กฤษณานั้น หอมเหมือนกลิ่น (ผ้า) ของนาง

ศัพท์...
- โลม............ปลอบ แสดงความเอาใจ กอดรัด ในที่นี้ตามภาษากวีก็ว่า ลมกอดไม้กฤษณา คือ พัดมาถูกแต่เบาๆ
- ลาด............ปู ดาด เดิน ในที่นี้หมายถึงพัดผ่าน
- กฤษณา.......พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งกลิ่นหอม
- ร่ำพัสตรา.....ร่ำผ้า เป็นวิธีอบผ้าด้วยเครื่องหอม
- กลอย...........กลอยใจ นาง
- ค่า..............คำนี้แปลได้อย่างอย่าง เช่น ราคา ค่าที่ หรือ อาจเป็น ค่าคบไม้


๘๐. หวนหอมการะเกดเกลี้ยง...เกล้าผม เจ้าฤา
อินทนิลคือแข่งคม............เนตรแต้ม
นมนางอับอายนม.............นุชนาฎ พี่เอย
ปรางเปล่งเปรียบกึ่งแก้ม....อ่อนช้ำคราวชม


บาท ๑...หอมดอกการะเกด เหมือนกลิ่นผมของนาง
บาท ๒...อินทนิล (ดอกสีม่วงเจือดำ) ราวกับจะแข่งความคมดำแห่งตาของนาง(สงสัยคำว่า แต้ม จะหมายความว่าอย่างไร จะหมายถึงการที่หญิงบางคน เอาสีดำแต้มขอบตาให้แลดูซึ้งหรืออย่างไร)
บาท ๓...ต้นนมนางนั้นต้องอายนมของนางเป็นแน่
บาท ๔...ผลมะปรางสุกนั้น จะเปรียบได้เพียงครึ่งเดียวของแก้มของนาง เมื่อแดงเรื่อ (ช้ำ) คราว (พี่) ชม

ศัพท์...
- เปล่ง..........เปล่งปลั่ง ในที่นี้หมายถึงมะปรางสุก
- อ่อน..........นาง


๘๑. จัมปาจำเปรียบเนื้อ.....นางสวรรค์ กูเอย
ศรีสุมาลัยพรรณ..............พิศแพ้
ช้องนางคลี่ระส่ายสรร.......สลายเซ่น
คือนุชสนานกายแก้..........เกศแก้วกันไร


บาท ๑...ถ้าจำเป็นจะต้องเอาดอกจำปาเข้าเปรียบกับเนื้อแห่งนางสวรรค์ของกูในที่นี้ให้สังเกตคำว่า กู ในที่อื่นเรามักจะพบคำว่า ข้า เรียม พี่ คำว่า กู ในที่นี้นายนรินทรไม่ได้ตั้งใจจะใช้พูดกับเมีย แต่พูดกับดอก จำปา
บาท ๒...สีของดอกไม้งาม (ศรีสุมาลัย คือ ดอกจำปา) นั้น ถ้าพิศไปก็แพ้ผิวของนาง
บาท ๓...ต้นช้องนางคลี่ ห้อยย้อยลงมาเป็นสายๆ นั้น
บาท ๔...ก็คล้ายกับที่นางแก้ผมออกและกันไรผม เมื่อเวลานางอาบน้ำ

ศัพท์...
- เซ่น............เส้น (แต่ตรงนี้ต้องการเอก)
- ระส่าย.......กระจาย
- สลาย........แตก แยก


๘๒. สาวหยุดหยุดย่างช้า...หวังชัก ชวนแม่
รักใช่รักแรมรัก................สุดรู้
นางแย้มจะยลพักตร์.........ฤาพบ พานเลย
ซ่อนกลิ่นกลอยซ่อนชู้......ชื่อช้ำใจถวิล


ตอนนี้พรรณนาสพวกดอกไม้ คาบเกี่ยวไปถึงนาง บ้างก็เทียบในเชิงความหมาย บ้างเทียบในเชิงลักษณะ
บาท ๑...คำไม่สู้ชัดเจนนัก พอเห็นต้นสาวหยุด ก็หยุดเดินอยู่นาน ด้วยหวังชวนนางให้เดินทางมาด้วย
บาท ๒...ต้น (ดอก) รัก (ที่เห็นอยู่นั่น) ก็คือ ความรักของเรา แต่นางจะแรม (สิ้น) รักเสียแล้วหรืออย่างไร ก็สุดที่จะรู้ได้
บาท ๓...(เห็น) ต้นนางแย้ม (อันชื่อว่านางแย้มนั้นชวนให้คิดถึงหน้าของน้อง) แต่จะมองหานางก็ไม่พบเลย
บาท ๔...ต้นซ่อนกลิ่นนี้ชื่อร่วมกับต้นซ่อนชู้ เมื่อนึกถึงคำ ซ่อนชู้ ก็นึกช้ำใจเป็นห่วงอยู่ (ว่านางจะมีชู้ได้)
โคลงบทนี้ เขียนเก็บความไว้ในใจมา คือพูดละไว้ให้ผู้อื่นคิดเอาเอง การถอดจึงเป็นเพียงคาดคะเนเท่านั้น เพราะไม่อาจพิสูจน์โดยทางความหมายของคำ และทางไวยากรณ์ให้ชัดเจนแน่นอนได้


๘๓. ขานางพิศภาคแพ้......พิมพ์เพลา นุชนา
กลกล่อมสองปลีเยาว์........ยาตรเยื้อง
เล็บนางเล็บนุชเบา............บอกคึ่ง พี่ฤา
หลงปัดเล็บนางเปลื้อง.......ปลาบเนื้อเรียมขนาง


บาท ๑...ต้นขานางนั้นมองดูแล้วก็แพ้รูปขาของนาง
บาท ๒...ปลีน่องทั้งสองของนางยามเดินนั้น แลดูกลมกลึง
บาท ๓...(เห็น) ต้นเล็บนาง (ก็ให้นึกถึง) เล็บของน้อง ที่หยิกพี่เบาๆ เมื่อแสดงว่าโกรธพี่
บาท ๔...จึงหลงปัดต้นเล็บนางจนรู้สึกเจ็บมือ ก็ให้นึกอายใจ

ศัพท์...
- พิมพ์..........รูป แบบ
- กล.............เช่น เหมือน
- ปลี............ปลีน่อง ในที่นี้ใช้แต่ ปลี คำเดียวปรกติ ปลี ใช้ร่วมกับคำอื่นๆ เช่น ปลีกล้วย
- เยาว์..........อ่อน หมายถึง นาง


๘๔. พะยอมคิดเยาวแม่แย้ม...ยินดี
สีเสียดคือทรวงสี..............เสียดซ้อน
ชิงชันเฉกในที.................เชิงเกี่ยว กายแม่
หว้าดังวอนนางค้อน...........เคียดแกล้งเป็นกล


บาท ๑...(เห็น) ต้น (ดอก) พะยอม ก็คิดไปถึงเมื่อนางหัวเราด้วยความยินดี
บาท ๒...(เห็น) ต้นสีเสียด ก็คิดเมื่ออกเราชิดกัน
บาท ๓...(เห็น) ต้นชิงชัน ก็รู้สึกว่าเป็นเช่นเดียวกับที่รากอดรัดกัน(การเปรียบเทียบในบาทนี้ ไม่สู้เข้าใจ)
บาท ๔...(เห็น) ต้นหว้าก็นึกถึงเมื่อพี่ ว่า (หว้า) วอนเมื่อนางทำมารยาว่าไม่พอใจ


๘๕. นกแก้วจับกิ่งแก้ว......กอดคอน
กลพี่กอดแก้วนอน............แนบเนื้อ
นางกวักนกกวักจร............จับกวัก ไกวแม่
หลงว่ากรนุชเกื้อ..............กวักให้เรียมตาม


บทนี้พรรณนาในเรื่องนก แต่ก็มีทำนองคาบเกี่ยวกับนางตามเคย ลักษณะการเปรียบเทียบนั่นคือ...
นกแก้ว...นึกถึง แก้ว (นางอันเป็นที่รัก) เปรียบในเชิงความหมายของคำ
นกกวัก...นึกถึงนางที่กวักมือ เปรียบทั้งในเชิงความหมายและกริยา
บาท ๓...นกกวักบินมาจับที่ต้นนางกวัก และกิ่งต้นนางกวักนั้นแกว่งอยู่


๘๖. นางนวลจับแมกไม้.....นางนวล
นวลนุชแนบเรียมควร........คู่แคล้ว
เบญจวรรณจับวัลย์พวน......พันโอบ ไม้แม่
แลว่าวัลย์กรแก้ว..............กอดอ้อมเอววัลย์


บาท ๑...จะเห็นว่าคำ นวล มีความหมายถึง ๓ อย่าง นกนางนวล ต้นนางนวล และ นวล (นาง)
บาท ๒...นางควรจะมาแนบข้างเป็นคู่เดินทาง
บาท ๓ – ๔...นกเบญจวรรณจับเถาวัลย์ที่พันอยู่รอบๆ ต้นไม้ ก็ให้นึกถึงมือของนางที่กอดเอวของพี่ คำว่า วัลย์ (เถาไม้เลื้อย) ในบาท ๓-๔ นั้น มีความหมายถึง ๓ อย่าง คือ
วัลย์...หมายโดยตรงถึงเถาไม้เลื้อย
วัลย์กร...หมายถึง มือ (โดยการเปรียบกับเถาวัลย์)
เอววัลย์...หมายถึง เอว (โดยการเปรียบกับเถาวัลย์)

ศัพท์...
- พวน...........เชือก (ในที่นี้เป็นความหมายเชิงเทียบเคียงว่า เถาวัลย์นั้นเหมือนเชือก)


๘๗. โนรีสีชาดย้อม..........ระยับแดง
นกขะมิ่นชมพูแสง............แสดผ้า
ปนแปลกนึกนางแปลง.......สไบเปลี่ยน
เย็นห่มแสดสีฟ้า...............ฝ่ายเช้าเคยชม


บาท ๑...นกโนรีสีแดงระยับเหมือนกับย้อมด้วยชาด
บาท ๒...นกขมิ้นสีชมพูเหมือนนกปลีสีผ้าแสด
บาท ๓...สีผ้ากับสีนกมาปนกันดังนี้ ทำให้แปลกใจว่า นางเอาผ้าสไบมาให้นกไว้หรืออย่างไร
บาท ๔...(ด้วยพี่เคยชมผ้าสไบที่นางห่ม) สีแสดเวลาเย็น ห่มสีฟ้าเวลาเช้า
คำว่า สีฟ้า นั้นเป็นสีเทาเจือน้ำเงิน สีนี้จะสวยอย่างไร นึกไม่เห็น หรือจะหมายถึง สีฟ้าเวลาเช้า คือ แดงเรื่อๆ

ศัพท์...
- ชาด...........สีแดงสด (เดิมเป็นผง หรือ ก้อน ใช้ประสมกับน้ำมัน สำหรับเป็นสีประตรา)
- แสด............สีแดง เจือเหลือง


๘๘. แขกเต้าตามคู่เต้า......แขกสมร มาฤา
ถามข่าวนุชแหนงจร..........จับไม้
สัตวาสุวาวอน..................วานหน่อย นกเอย
บอกสมรเรียมไห้ให้..........ข่าวน้องมาแถลง


บาท ๑...นกแขกเต้าที่บินตามคู่อยู่นั้น ได้ไปหานางมาหรืออย่างไร (เชิงเทียบตอนนี้เพ่งถึงความหมายของคำ เต้า (ชื่อนก) กับเต้า (ไป) แขก (ชื่อนกแขกเต้า) กับแขก (ไปเยี่ยม มาเยี่ยม ผู้มาเยี่ยม)
บาท ๒...(พอพี่) จะถามข่าวถึงน้อง (นก) ก็หนีไปจับเสียที่ต้นไม้
บาท ๓...นกสัตวา และนกสุวา ทั้งสอง (ข้า) ขอวอนให้ช่วยหน่อยเถิด
บาท ๔...(เจ้าทั้งสอง) จงไปบกนางว่า (ข้า) ร้องห่มร้องไห้ และขอให้นางแจ้งข่าวของนางมาให้ข้ารู้บ้าง


๘๙. เสนาะเสียงสุโนกร้อง...ระงมวัน
สาลิกามาปัน...................เหยื่อป้อน
นางนกกระสรวลสันต์........สมเสพ
คือนุชแนบโอษฐ์อ้อน.......แอบให้เรียมโลม


โคลงบทนี้นับว่ามีเสียงและทำนองไพเราะบทหนึ่ง
บาท๑...ได้ยินเสียงนกร้องไพเราะดังทั่วไปทั้งป่า
บาท๒...นั่น..นกสาลิกาบินเอาเหยื่อมาป้อน (ลูกและให้แม่นก)
บาท๓...นางนกสาลิกามีความยินดี และกินอาหารร่วมกับผัวของมัน (บางท่านว่า นางนกกระสรวลสันติ์ นั้น หมายถึง นางนกกระ ข้าพเจ้าว่าไม่น่าเป็นดังนั้น เพราะคำว่า ป้อน ในบาท๒ ยังลอยๆอยู่ ทีนี้คำว่า กระ จะหมายความว่าอย่างไร ข้าพเจ้าว่า กระ นั้นต่อกับสรวล คือ กระสรวล - กำสรวล หมายถึง นกสาลิกาตัวเมียร้องเมื่อเห็นสาลิกาตัวผู้บินหาเหยื่อ กลับมานั่นเอง)
บาท๔...การที่นกทั้งคู่ป้อนเหยื่อกันนั้น ก็เปรียบเหมือนน้องนั่งแนบข้างพี่ และพูดจาด้วยคำอ่อนหวานพาใจให้พี่ใคร่ชมเชย


๙๐. เรียมเมิลโมเรศเคล้า...โมรี
นางมยุรยวนยี.................ยั่วเย้า
เฉกโฉมแม่มังสี...............เสาวภาคย์ กูเอย
แลนกลอบนึกเจ้า.............พี่ดิ้นโดยยูง


บาท ๑...(อาการที่นางนกยูงทำกิริยายั่วเย้ายูงผู้นั้น) ก็เช่นเดียวกับน้องผู้มีผิวอันงาม (ยั่วเย้าเราเหมือนกัน)

ศัพท์...
- เมิล............ดู (เขมร)
- โมเรศ.........โมรา + อีศ ยูงตัวผู้
- โมรี............ยูงตัวเมีย
- มังสี............เนื้อ มังสีเสาวภาคย์ คือ เนื้องามผิวงาม
- เฉก.............เช่น


๙๑. ยกมาออกอ่าวน้ำ.......นามนาง รมนา
นางบ่เห็นเห็นบาง.............เปล่าเศร้า
ฉมนางชไมปราง..............สมรมิ่ง กูเอย
ดินหื่นหอมฟ้าเร้า..............รื่นร้างอภิรมย์


บาท ๑...ยกทัพมาถึงอ่าวตำบลบางนางรม
บาท ๒...มาถึงแล้ว กลับแลเห็นแต่บาง ไม่พบนาง (สมชื่อตำบล) ก็ให้เปล่าใจ และเศร้าใจ
บาท ๓...(ได้แต่กลิ่น) หอมดังแก้มทั้งสองของน้องที่รัก
บาท ๔...ที่ได้กลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งฟ้า และดินดังนี้ พอจะรู้สึกชื่นใจ ในยามที่จากนางมา
บาท๓ บาท๔ นั้นไม่สู้เข้าใจนัก อาจเป็นว่าพอนายนรินทร์มาถึงตำบลบางนางรมนี้ จะได้กลิ่นอะไรหอมฟุ้งไปหมด จึงเขียนไว้ในโคลงบทนี้

ศัพท์...
- ฉม.............กลิ่นหอมฟุ้ง
- ชะไม..........คู่ ทั้งสองปราง....แก้ม (อย่าไปปนกับ ปรางค์ ซึ่งหมายถึง สถูปยอดแหลม)


๙๒. นางรมรมเยศร้าง.......รมยา
กลพี่จากเจียนกา.............เมศม้วย
ฤาหากแม่มายา...............พิโยคหยอก เรียมฤา
มาแม่สำราญด้วย.............พี่น้อยนางรม


บาท ๑...ตำบลนางรมนี้ (ทำให้นึกถึง) ความยินดี ความพอใจ (รมเยศ) แต่ก็ไม่เห็นความน่ายินดี (รมยา) ที่ไหน
บาท ๒...ก็เช่นเดียวกับที่พี่จากความรัก (คือนาง) มาแทบตาย (เพราะความรัก)
บาท ๓...(ที่แลไม่เห็นน้องดังนี้) น้องจะแกล้งหลบตัวล้อพี่เล่นกระมัง
บาท ๔...นางที่รัก เอย เชิญแม่มาสำราญกับพี่สักน้อยเถิด (คำว่า นางรม นั้นเป็นชื่อตำบล แต่ รม พ้องกับ รมย์ นางรม ซึ่งหมายถึงหอย ถ้าฟังแต่เสียง ก็เป็น นางรมย์ (นางที่รัก) ได้)


๙๓. บางสะพานสะพาดพื้น...สะพานทอง
ฤาสะพานสุวรรณรอง........รับเจ้า
อ้าโฉมแม่มาฉลอง...........พิมพ์มาศ นี้ฤา
รอยร่นเหนือบ่าเบ้า...........แบบเนื้อนพคุณ


โคลงบทนี้นับว่ามีโวหารคมคายดีบทหนึ่ง ตำบาลบางสะพาน เคยมีชื่อเสียงมาก เพราะมีบ่อทอง (มีชื่ออีกชื่อว่า กำเนิดนพคุณ อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ข้อความในโคลงบทนี้ออกจะกระจายๆ ไม่สู้ต่อเนื่องกัน และไม่ค่อยเข้าใจได้ชัด

บาท ๑...ตำบลบางสะพานมีสะพานทองพาดเต็มไปทั้งนั้น (อาจหมายความถึงสะพานที่บ่อทอง หรือ สะพานที่พาดไว้สำหรับลงไปร่อนทอง)
บาท ๒...สะพานทองเหล่านี้เขาทำไว้รับน้องกระมัง
บาท ๓...หรือว่า น้องเคยมาที่นี่ มาหล่อตัวในเบ้าทอง (น้องจึงสวยงามนัก
บาท ๔...(พี่จึง) ยังเห็นเศษทองที่ล้นเบ้า เมื่อคราวหล่อตัวน้อง (อันมีเนื้อดังทองนพคุณ)

ศัพท์...
- นพคุณ.......ทองเนื้อเก้า เป็นทองเนื้อที่ดีที่สุด ที่เรียกว่า
เนื้อเก้า คือ เก้า เท่าของราคาเงิน แต่ก่อนถือว่า ถ้าทองหนัก ๑ บาท เท่ากับ เงินราคา ๙ บาทแล้ว เป็นทองเนื้อดี เวลานี้ราคาทองสูงกว่าราคาเงินมาก
- สะพาด.......พาด รอง


๙๔. บางสะพานสะพาดพื้น...ทองปาง ก่อนแฮ
รอยชะแลงชระลุราง.........ร่อนกลุ้ม
ระลึกโฉมแม่แบบบาง........บัวมาศ กูเอย
ควรแผ่แผ่นท้องหุ้ม..........ห่อไว้หวังสงวน


บทนี้ ความต่อจากบทที่ ๙๓
บาท ๑...ตำบลบางสะพานี้ แต่ก่อนเต็มไปด้วยทอง
บาท ๒...ยังแลเห็นรอยขุด และรางร่อนทางมากมาย
บาท ๓...(ได้เห็นแล้ว) ก็ให้นึกถึงโฉมอันแน่งน้อยของนาง
บาท ๔...นางนั้นควรจะเอาแผ่นทองหุ้มห่อสงวนไว้

ศัพท์...
- สะพาด......ในบาท ๑ ควรจะแปลว่า มาก
- ชะแลง........เครื่องขุด เครื่องงัด เป็นเหล็กปลายแบน
- ชระลุ..........ปรุ ฉลุ สลัก
- บัวมาศ.......บัวทอง นม (หมายถึง นาง ก็ได้)


๙๕. เห็นขามสาวบ่าวต้น....เคียงกัน
สาวบ่าวปลูกสำคัญ...........คู่สร้าง
เสมอเรียมร่วมรักขวัญ.......เมืองมิ่ง แม่ฤา
สองประสิทธิ์สัตย์อ้าง........ปลูกไว้กลางใจ


ตอนนี้มาถึง ตำบลขามสาวบ่าว ซึ่งเป็นตำบลที่มีนิทานประกอบว่า มีชายหนุ่มหญิงสาว มาปลูกต้นมะขามอธิษฐานไว้
บาท ๑...เห็นต้นมะขาม ๒ ต้นเคียงกัน เป็นต้นมะขามที่บ่าวสาวคู่หนึ่งปลูกไว้
บาท ๒...บ่าวสาวคู่นั้นปลูก (ต้นมะขาม) ไว้เป็นสำคัญ (อธิษฐาน) ว่า ขอให้ได้เป็นผัวเมีย (คู่สร้าง) กัน
บาท ๓...ก็เช่นเดียวกับพี่และน้องได้ร่วมรักกัน
บาท ๔...แต่ความสัตย์ ที่เราทั้งสองให้ไว้แก่กันนั้น เราได้ปลูกไว้กลางหัวใจ

ศัพท์...
- ขวัญเมือง....นาง
- ประสิทธิ์......ความสำเร็จ ความรู้ แต่เรามักใช้ในความหมายว่า ให้


๙๖. ยกมามาอกไหม้........ทรมาน
ถึงที่นามละหาน...............อู่แห้ง
นุชเอยจักหาธาร..............ทาอก พี่แม่
อู่ก็แล้งชลแล้ง................อกแล้งลืมงาย


ตอนนี้มาถึงตำบลอู่แห้ง
บาท ๓...ธาร ทาอก คือ หาน้ำทาอก (ลูบอก)
บาท ๔...งาย เวลาเช้า เวลาสว่าง
สงสัยว่า อกแล้ง แล้วทำไมจึง ลืมเวลาเช้า คำว่า งาย ในที่นี้น่าจะหมายถึง เวลาทั่วๆ ไป คือ ความที่อกแล้ง (แห้ง) ทำให้มึนมัวจนลืมไม่รู้ว่าเวลาไหนเป็นเวลาไหน


๙๗. หมอนเจ้าเขาเทพไท้...สถิตสิง
คิดคู่เขนยอรอิง...............ร่วมร้าง
เขนยทองทอดกายพิง.......พูนเทวษ ฤาแม่
นอนจะแนบเขนยข้าง........คู่เนื้อเรียมถนอม


มาถึงตำบลเขาหมอนเจ้า ที่เขาลูกนี้มีเทพารักษ์สิงอยู่
บาท ๑...มาถึงเขาหมอนเจ้า อันเป็นที่เทพารักษ์สิงอยู่
บาท ๒...ให้คิดถึงหมอน ที่พี่และน้องหนุนร่วมกัน และพี่ก็ร้างหมอน
บาท ๓...เวลานี้น้องคงจะทอดกายพิงหมอนอยู่ด้วยความเศร้าโศกกระมัง
บาท ๔...เวลานอน น้องก็คงได้แต่นอนแนบหมอน และ ก็จะมีแต่หมอนเท่านั้น ที่จะเป็นคู่ของน้องที่รักของพี่


๙๘. ลองไนจักจั่นแจ้ว......ใจรัว รัวแม่
ชะนีร่ำโหยหาผัว..............ผ่าวไส้
ดวงเดียวเด็ดแต่ตัว...........ตกป่า ชัฏแม่
จากสมรพี่มาไห้...............แห่งห้องชะนีโหย


บาท ๑...ได้ยินเสียงจักจั่น และลองไน ร้องแจ้วๆ หัวใจ (พี่) ก็สั่นริกๆ
บาท ๒...(ยิ่งได้ฟัง) ชะนีร่ำร้องหาผัว ก็ให้ระทมใจ
บาท ๓...พี่จากนางมาตกอยู่ในป่าชัฏ แต่เพียงคนเดียว (ความจริงมาทั้งกองทัพ แต่ตามความรู้สึกของนายนรินทรนั้น เหมือนอยู่คนเดียว เพราะไม่มีนางมาด้วย อนึ่งคำว่า ดวงเดียว ก็น่าสงสัย จะหมายถึงอะไร หมายความถึง หัวใจ คือ ดวงเดียวเด็ด หมายความว่า หัวใจของพี่เด็ดไว้ในห้อง ส่วนตัวของพี่มาตกอยู่ในป่าชัฏ)
บาท ๔...พี่จากนางมาร้องไห้อยู่ในป่ากับพวกชะนี

ศัพท์...
- ผ่าวไส้...ร้อนในไส้ หมายถึง เป็นทุกข์ ระทมใจ
- ชะนีร่ำโหยหาผัว...เชื่อกันว่า ชะนี คือ นางโมรา กลับชาติมาเกิด นางโมรา คือ ตัวนางเอกในเรื่อง จันทโครบ เมื่อพระจันทโครบมาพบโจรกลางป่า เกิดแย่งพระขรรค์กัน นางโมราซึ่งถือพระขรรค์อยู่ เห็นรูปร่างโจรก็นึกรัก จึงส่งด้ามพระขรรค์ให้โจร ส่งปลายพระขรรค์ให้พระจันทโครบ พระจันทโครบจึงถูกโจรฆ่าตาย นางโมราจึงถูกสาปให้เป็นชะนี เวลาชะนีเห็นท้องฟ้าแดง หรือ ดวงตะวันแดง จะนึกว่าเป็นเลือดผัวในชาติก่อน จึงส่งเสียงร้องผัวโวยๆ


๙๙. รอยกรรมมาแบ่งแก้ว...กับสกนธ์ กูเอย
ขวัญอยู่อยุธยาตน............ต่างร้าง
โอ้ดวงทิพยสุมณ..............ฑามาศ แม่เอย
บุญที่สมสองสร้าง............จักสิ้นฤายัง


โคลงบทนี้นับว่ามีโวหารดีมากบทหนึ่ง
บาท ๑...ชะรอยกรรมจะมาแยกนางกับตัวของเรา
บาท ๒...นางจึงอยู่ที่อยุธยา ส่วนตัวเราร้างมา
บาท ๓...โอ้ แม่ดวงดอกฟ้าของข้าเอ่ย
บาท ๔...บุญที่เราทั้งสองได้ร่วมทำมานั้น จะหมดเสียแล้ว หรือยังคงอยู่ (หมายความว่า จะได้มีชีวิตกลับคืนไปหานางอีกหรือไม่)

ศัพท์...
- สกนธ์.........ร่างกาย ขันธ์ (บาลี)
- ขวัญ..........นาง
- อยุธยา.......หมายถึง กรุงเทพมหานคร ถ้าพูดถึงเมืองไทย หรือ นครหลวง คนแต่ก่อนยังเรียกอยุธยาอยู่
- ดวงทิพย์สุมณฑามาศ...นาง ผู้หญิง
- สุมณฑา.....สุ (ดีงาม) + มณฑา (ดอกไม้)


๑๐๐. ควิวควิวอกควากคว้าง...ลมลอย แลแม่
ถอยแต่ใจจากถอย...........ทับช้า
ทศทิศทอดตาคอย...........ขวัญเนตร พี่เอย
เอาสไบนุชต่างหน้า...........แนบเนื้อแทนนาง


บาท ๑...หัวอกเหมือนขาดหลุดจากกายและลอยไป
บาท ๒...ใจที่จากมานั้นถอยกลับไปหานาง แต่กองทัพนั้นช่างถอยกลับ (คือเลิกทัพ) ช้าเหลือเกิน
บาท๓...(พี่) ตั้งตาคอยดูน้องทั้งสิบทิศ (ก็ไม่เห็น)
บาท๔...(จึงได้แต่) ใช้ผ้าสไบของน้องดูต่างหน้า และนอนกอดสไบแทนตัวน้อง

ศัพท์...
- ควาก.........แตก แยก (ความหมายโดยเสียง)
- ควิวควิว.....ลิ่วๆ หวิวๆ (ความหมายโดยเสียง)
- ขวัญเนตร...นาง


ต่อนิราศนรินทร์ ๔







Create Date : 30 สิงหาคม 2550
Last Update : 4 มกราคม 2565 8:22:00 น. 36 comments
Counter : 10331 Pageviews.

 
มานั่งรอในหน้านี้ก่อนเลย...

บอกเผื่อจะลืมกัน เพราะ ดูเหมือนพี่สดายุจะ
แก้ให้เป็นอักขรวิธีแบบปัจจุบัน แต่ยังไม่เสร็จ
ถ้าอ่านเกินจากตอนนั้นแล้ว... ก็ต้องแกะเอา
จากวิธีเดิมที่เคยบอกไว้เน้อ

อํ อ่านว่า อม
อยง อ่านว่า เอียง

แล้วก็อะไรอีกนะ... จำไม่ได้แล้ว ลบข้อมูลที่
เคยเขียนไว้หมดแล้ว แต่สงสัยตรงไหนก็ถาม
ได้นะจ๊ะ...

ถ้ามาแล้วส่งเสียงให้เห็นด้วยเน้อ... จะมาคุย
กันถึง โครงเรื่อง การดำเนินเรื่อง การบรรยาย
ฉันทลักษณ์ ลีลา ภาษา ฯลฯ ในนี้แหละ...

ถึงจะเขียนไม่เป็น อย่างน้อยก็อ่านเป็นล่ะทีนี้
จะได้มาช่วยกันติชม ผลงานกันเองได้ ..ยิ้ม..


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 21 มีนาคม 2551 เวลา:15:46:19 น.  

 

มาแล้วจ้าสาวปลิว
แต่ยังอ่านไม่หมดนะ
ต้องค่อย ๆ อ่านไป ยาวเกินปวดตา
เพิ่งจะเห็นว่าพี่เค้าเอามาลงไว้ตอนที่สาวปลิวบอกอะ
ไม่งั้นจะได้ปริ้นมาอ่านที่ห้องในวันว่าง ๆ

รู้สึกว่าจะอ่านง่ายกว่าที่สาวปลิวลงไว้ที่บ้านอีกนะ
ค่อยหายใจโล่งหน่อย..หุหุ



โดย: ไลเดเลีย วันที่: 21 มีนาคม 2551 เวลา:19:35:47 น.  

 
แอบมุดมาคุยกันในนี้แหละฝน ฮิ ๆ ๆ (หลบสายตาผู้คนดี)

เอาหละ...

เริ่มต้นด้วย... ลักษณะโคลงเน้อ โคลงในเรื่องนี้เป็น "โคลงดั้น"
บ่แม่นโคลงสี่สุภาพที่เห็นทั่วไป

ลองเอาบทนี้ของฝนมาแปลงดูนะ แฮ่ม...

"ประจักษ์แล้วใจเอยที่เคยคิด
ว่าดวงจิตดวงหนึ่งพร่ำเพรียกหา
ดุจสายป่านผูกรั้งดวงวิญญาณ์
เสน่หาไม่อาจคลายด้วยช่วงกาล"


... .. .

ครานั้นจิตครุ่นค้น.................ใคร่ครวญ
ประจักษ์เท็จจริงชัด..............ถ่องแท้
ว่าจิตรัญจวนเพรียก..............เพ้อพร่ำ
ผู้ลับซึ่งไร้แม้.....................เมตตา ฯ

หมายสายใยเหนี่ยวรั้ง...........สองกมล
ดุจป่านรัดวิญญาณ์...............มัดร้อย
พันผูกจวบจนลา..................ลับโลก
กาลเปลี่ยนอย่าได้คล้อย........คลาดกัน ฯ

... .. .



เอิ๊ก ๆ ผสมผสานอะนะ ไม่งั้นเนื้อความไม่พอ


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:1:42:28 น.  

 
ดี...สองสาว(ไม่น้อยแล้ว)
มาร่วมวงด้วยคน

โคลงดั้น...อย่าสับสนกับ..พวกโคลง
ตระกูลมาลีทั้งหลายนา....
ดูคำรับส่งสัมผัสให้ดี

๑ อยุทธยายศยิ่งฟ้า.........ลงดิน แลฤา
อำนาถบุญเพรง(พระ)..........ก่อเกื้อ
เจดีลอออินทร.................ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ..........นอก(โสรม)ฯ

๒ พรายพรายพระธาตุเจ้า...เจียรจันทร์ แจ่มแฮ
ไตรโลกย์เลงคือ(โคม).........ค่ำเช้า
พิหารรเบียงบรร...............รุจิเรข เรืองแฮ
ทุกแห่งห้องพระเจ้า...........นั่ง(เนือง) ฯ

๓ ศาลาอเนกสร้าง...........แสนเสา โสดแฮ
ธรรมาสน์จูงใจ(เมือง).........สู่ฟ้า
พิหารย่อมฉลักเฉลา.........ฉลุแผ่น ไส่นา
พระมาศเลื่อมเลื่อมหล้า.....หล่อ(แสง)ฯ

๔ ตระการหน้าวัดแหว้น.....วังพระ
บำบวงหญิงชาย(แชรง)........ชื่นไหว้
บูรรพาท่านสรรคสระ.........สรงโสรจ
ดวงดอกไม้ไม้แก้ว...........แบ่ง(บาน) ฯ

๘ อยุทธยาไพโรชไต้.........ตรีบูร
ทวารรุจิรยงหอ..................สรหล้าย
อยุทธยายิ่งแมนสูร............สุระโลก รงงแฮ
ถนัดดุจสวรรคคล้ายคล้าย....แก่ตา ฯ

ส่วนตำแหน่งเอกโท...เหมือนโคลงสี่สุภาพ
ทุกอย่าง
พี่ไม่ชอบโคลงดั้นเท่าไร...เพราะเสียงวรรคจบ
แค่สองคำ...มันฟังพิกล...
แต่ชอบที่จะเอาบรรทัดแรกของโคลงดั้นโบราณ...
มาเขียนต่อเป็นโคลงสี่สุภาพของเราเอง....
ม่วนจริงเชียวล่ะ
อิๆๆ

๘๖. พรายพรายพระธาตุเจ้า....เจียรสูรย์ แจ่มแฮ
สามโลกรับจำรูญ.............ค่ำเช้า
เจดีย์ยอดชี้ปูน................โปรดสัตว์
บอกมรรคาทวนเศร้า........โศกร้อนกร่อนระรุม ฯ

๘๗. ศาลาเอนกสร้าง........แสนเสา โสดแฮ
ธรรมข่มใจมืดเมา.............หมดสิ้น
พระมาศเลื่อมเลื่อมเงา......งำอก ใจเอย
งำอกใจเดือดดิ้น..............ดับร้อนทารุณ ฯ

๘๘. ตระการหน้าวัดแหว้น..วังพระ
บวงบำรุงสัจจะ.................จบไหว้
ร่มธรรมรูปพุทธะ..............สถิตอยู่
จิตต่างดวงดอกไม้............เพ่งน้อมประนอมคะนึง ฯ

๘๙. กุฎียกยอดช้อย..........ชูทาง
บอกวัตรเข้าขัด, ขวาง.......ขวากร้อน
เรือนรัตน์ภิรมย์ปรางค์........ปราสาท
เหลื่อมระยับแสงย้อน........เยี่ยมท้าทรมาน ฯ

๙๐. อยุธยายศท่วมทั้ง.......ธานินทร์
งามดั่งนาครอินทร์............เอี่ยมฟ้า
แสนโกฏโสตอาจยิน.........เสียงอยู่
ธรรมเปล่งเสียงกล่อมหล้า..หล่อล้อมใจเมือง ฯ

๙๑. อยุธยาไพโรจน์ไต้.....ตรีบูร
ไตรรัตน์จำรัสจรูญ............ร่วมพ้อง
บัลลังก์ร่มไพบูลย์............บาลบ่ม ชนแฮ
เย็นศิระอุระต้อง...............ตอบรู้อภิรมย์ ฯ



โดย: พี่เอง IP: 124.120.202.219 วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:19:08:37 น.  

 

ทำไมพอเอามาแปลงเป็นโคลงแล้ว
มันดูเศร้าแฮะ หรือว่าไงอัล

ได้มุมดีชะมัด..ยึดหน้านี้ซะเลย
เจ้าของบ้านไม่ค่อยมาดูแล
เราก็มาสนุกอยู่แถวนี้แหละ..เอิ๊ก


โดย: ไลเดเลีย วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:19:24:50 น.  

 

อ้าว! ดีค่ะพี่ (ทำไมต้องมีวงเล็บไว้ด้วยนะ)
นึกว่าไม่อยู่เฝ้าบ้าน..กะจะยึดแล้วนะเนี่ย


โดย: ไลเดเลีย วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:19:39:21 น.  

 
๙ ยามพลบสยงกึกก้อง.......กาหล แม่ฮา
สยงแฉ่งสยงสาวทรอ..........ข่าวชู้
อยุทธยายิ่งเมืองทล...........มาโนช กูเอย
เขตรตระหลบข่าวรู้..............ข่าวยาม ฯ

๙๒. ยามพลบเสียงกึกก้อง...กาหล แม่ฮา
ซอ, กรับ, รับฉิ่งปรน.........โสตรู้
โคลงกลอนกาพย์ระคน......ครวญขับ
ขับกล่อมทรวง, กล่อมชู้.....ชื่นล้ำคำเกษม ฯ

========================

๓๘ ศรีมาพิโยคพื้น...........รัตนภูม
ถนัดดุจพระภูมผจง............แผ่นแผ้ว
เล็งแลเยียฟ้าฟูม..............ชลเนตร
เพราะพี่เจ็บเจ้าแคล้ว.........คลาศไกล ฯ

๘๔. เรียมมาพิโยคพื้น......รัตนภูมิ
แผ่นอกเป็นแผ่นปูม..........จดร้อย
หมึกจารจากนัยน์ฟูม.........น้ำหลั่ง
บอกหนึ่งผู้แน่งน้อย..........แน่วรู้ - คอยรอ ฯ

=========================

๔๖ จรลิวไต้ฟ้าต่ำ...........เตือนยาม
โหยบเหนสายใจ.............จรคล้าย
บลุแม่เมากาม................กาเมศ กูเออย
ลพี่หว้ายน้ำหน้า.............มืดเมา ฯ

๙๘.จรลิ่วไต้ฟ้าต่ำ............เตือนยาม
โหยบ่เห็นหน้าทราม-.........สวาทแก้ว
เลือดตายิ่งฝนลาม............หล่นโลก แม่เอย
ท่วมจิตจมมิดแล้ว............จากร้อนแรงถวิล ฯ

===========================

๕๗ ดวงดยวบววมาศแพ้.....พิมทอง พี่เออย
รยมบหลับใหลหา.............ค่ำเคี้ย
ดวงดยวแม่มองหน............หาพี่ พู้นแม่
ใครช่วยชูเกล้าเกลี้ย..........กล่อมแถง ฯ

๙๕. ดวงเดียวบัวมาศแพ้...พิมทอง พี่เอย
เรียมบ่หลับไหลครอง........ค่ำนี้
หวังเดียวแม่, แม่มอง........หาอยู่
อยู่ออดอ้อนชวนชี้...........ชิดเนื้อโอบถนอม ฯ

===========================

๖๙ โกกิลกรวิกษอ้ยง........ยูงยาง
จับกิ่งยูงยางเยาว.............เพื่อนพร้อง
พละลบกัลโหยลาง...........โลมลูบ
จับกิ่งยางแล้วร้อง.............ไร่เฌอ ฯ

๘๓. โกกิลกรวิกเอื้อน.......ออกเสียง
จับกิ่งยูงยางเพียง.............พร่ำร้อง
พระลบกัลโหยเคียง..........แขรูป เคียวนา
จับม่านหม่นคลี่คล้อง........ขอบฟ้าคลุมฝัน ฯ

========================

๗๐ ปารนี้แก้วข้าตื่น.........ฤาหลับ อรเออย
นอนน่งงฉนนใดดู............ด่งงนี้
ยอมือบนนทับอก............โดยแม่ กูเออย
เจ็บยิ่งล้ำพ้นผี้................หมื่นทวีแสนทวี ฯ

๙๓. ป่านนี้แก้วข้าตื่น........ฤๅหลับ อรเอย
นอนนั่งฉันใด, พรับ..........เนตรเฝ้า-
คอยเรียมวกย้อนกลับ.......คืนสู่
คอย-สู่, อยู่ค่ำเช้า............อาจรู้ฤๅสมร ฯ

=========================

๗๒ ปารนี้อรเช้าแม่...........เกลาองค์ อยู่ฤา
ต่างกรดานจตุรงคมยง........ม่ายม้า
ฤาวางสกาลง..................ทายบาท
ฤากล่าวคำหลวงอ้า...........อ่อนแกล้งเกลาฉนนท ฯ

๙๔. ป่านนี้รูปแน่งน้อย......เกลาองค์ อยู่ฤๅ
ตั้งกระดานชนวนลง..........จดถ้อย
ฤๅมุ่งเพลาะผ้าผจง...........จับจีบ
ใจเล่าเจ้าจักคล้อย............อยู่ข้างเรียมไฉน ฯ

==========================

๙๑ จากมาสายสวาดิไว้......อยุทธยา แลนา
อกเปล่าอกสายสินธุ์..........หากรู้
ลุะดานกนนชาววา............ลวงใหญ่ แล้วแฮ
วาลยิ่งสารสับสู้................เสริฐชล ฯ

๙๗. มุ่งมาสายสวาดิเนื้อ....เนาทรวง
ตามสิทธิ์คำสัตย์บวง.........บอกไว้
วอนเทพประเทียบทวง.......ฤทธิ์กล่อม แม่นา
กล่อมแม่, ทรวงแม่ให้.......ห่วงรู้คอยเรียม ฯ

==========================

๙๔ พระเออยสระโรชท้อง...ชลธี ท่านแฮ
เชอญเทพมาทับทรวง........ที่ร้อน
แมนเมขลาศรี..................เสวยภาคย กูเออย
มาแม่อย่าทนนข้อน...........ขาดใจข่นใจ ฯ

๗๕. พระเอยสะโรชท้อง....ชลธี ท่านแฮ
ทวนวัฏฏะเดือนปี.............กลับย้อน
โอนบุญแลกสู่ศรี..............สวาดิลูก ท่านฤๅ
เลื่อนกรอบกาลทับซ้อน.....วกซ้ำคืนสม ฯ



โดย: สดายุ IP: 124.120.202.219 วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:19:40:27 น.  

 
อะจ๊าก ฝน! พี่เจ้าของบ้านอยู่ด้วยเหรอเนี่ย
อุตส่าห์เลือกมุมดี ๆ แล้วนา ตอนแรกกะคุยมั่ว
เต็มที่ แต่มี coach แบบนี้ก็ take full course
กันเลยดีกว่า 555+

เอ้อ... จริงด้วยค่ะ สัมผัสโคลงดั้น ต่างตำแหน่ง
ตอนอ่านเห็นเขียนบอกว่าเป็น โคลงดั้นบาทกุญชร
แต่นั่งมองไปมองมาก็ไม่เห็นเหมือนสักเท่าไหร่



เลยถอดเอาเองจากบทแรก... แต่อ่านผิด
เพราะอ่าน อินทร เป็น อิน-ทอน ซะได้


เดี๋ยวขอเวลา ฝน อีกนิดนะ จะจับแก้ผ้าแต่งตัวให้ใหม่นะ

อ้อ อีกลักษณะที่ลืมเขียนไปคือ
องง อ่านว่า อัง

...

ส่วนตัวอย่าง ที่พี่เอาไปผสมแล้วเขย่า ๆ เป็นสูตรตัวเองเนี่ย
เวลาเขียนต้อง quote ด้วยรึเปล่าคะ? เผื่อคนอ่านตะลึงไง
โห... รสชาติกลมกล่อม ฟองครีมนุ่มนวล อะไรแบบนี้อะ


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:20:40:54 น.  

 
จะเขียนโคลงกัน...
ก็ต้องสร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลงแบบไทยแท้ๆ
กันก่อน...อย่ามาแอบน้ำหูน้ำตาไหลกันในห้องนี้ละกัน
อิๆๆ

ศรีเอยเผยแต่เศร้า........โศกไฉน
เจ็บปวดรวดเร้าใจ.........ปิ่มม้วย
จงอรบั่นทอนไหว.........หวั่นหวาด เถิดแม่
กาลจักเยียวยาฉ้วย.......ฉุดพ้นสงสาร ฯ


โดย: สดายุ... วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:20:46:22 น.  

 
จับแก้ผ้า แต่งหน้าใหม่แล้ว ได้เป็นแบบนี้
ดี มิดี แล้วแต่เจ้าของบทกลอนตั้งต้นเป็น
ผู้พิจารณา... จ้า แง่ม ๆ ๆ


ครานั้นจิตครุ่นค้น.................ใคร่ครวญ
ประจักษ์เท็จจริงชัด..............ถ่องแท้
ว่าหัวอกรัญจวน...................เพ้อเพรียก
ผู้ลับซึ่งไร้แม้......................เมตตา ฯ

หมายสายใยเหนี่ยวรั้ง...........สองกมล
ดุจป่านรัดวิญญาณ์...............มัดร้อย
เงื่อนพันผูกจวบจน...............ลับโลก
กาลเปลี่ยนอย่าได้คล้อย........คลาดกัน ฯ


ส่วนที่ว่า...
"ทำไมพอเอามาแปลงเป็นโคลงแล้ว
มันดูเศร้าแฮะ หรือว่าไงอัล"

..ยังจะถามอีก?..


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:20:57:27 น.  

 
อ้าว! ดักคอไว้เลยนิ
น้ำตาท่วมห้องนี้แล้วค่ะ เครื่องวิดน้ำเสียด้วย

emo


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:21:01:33 น.  

 

ไปไว้มาไว้จริงแฮะ

มันเป็นเพราะกลอนของข้าเจ้าเองเหรอ..หรือเพราะอะไร..อิอิ
อืมม์!! ดูดีกว่าเมื่อกี้นะ..แต่มันออกแนวเศร้า..แง แง

ข้าเจ้าไม่ได้เจตนาให้กลอบบทนั้นออกมาเศร้านะ


เจ้าของบ้านนี่ยังไงนะ
ยังจะมาเปิดเพลงเศร้า ๆ แล้วยังจะมีโคลง เศร้า ๆ
ตบท้ายอีก..แง่ม แง่ม


โดย: ไลเดเลีย วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:21:14:49 น.  

 

ขอโทษคร๊าบ โคลงที่ท่านพี่เขียนมันไม่ได้เศร้า
เข้าใจผิดคร๊าบ..แฮะๆๆ



น้ำตาท่วมบ้านแล้วอัลเช็ดหน่อย


โดย: ไลเดเลีย วันที่: 23 มีนาคม 2551 เวลา:21:19:28 น.  

 
ฝน

ใครเช็ด ใครถู... ไม่ทำหรอก เชอะ!

เอาแผนผังโคลงสินธุมาลี (โคลงโบราณ) มาฝาก
คิดว่า ถ้าเดินตามผังนี้ ฝนจะให้กำเนิด..โคลง..ได้
ในไม่ช้า 555+



แต่เราจะมาเขียนโคลงมหาสินธุมาลีกัน คือเหมือน
สินธุมาลี แต่เพิ่มอีก 2 คำที่บาทสุดท้าย ทำให้มี
ลักษณะเหมือนกับ โคลงสี่สุภาพ แต่ ไม่บังคับ
เอกโท เลยสักจุด... เท่านั้นเอง

ลองดูเน้อ... จากเนื้อหากลอนบทเดิม แฮ่ม!

"ประจักษ์แล้วใจเอยที่เคยคิด
ว่าดวงจิตดวงหนึ่งพร่ำเพรียกหา
ดุจสายป่านผูกรั้งดวงวิญญาณ์
เสน่หาไม่อาจคลายด้วยช่วงกาล"

นั่นคือจุดสัมผัสของกลอนใช่ปะ... ทีนี้ถ้าเลื่อน
มาเป็นจุดสัมผัสโคลง ก็ออกมาเป็นแบบนี้

ประจักษ์แล้วใจเอยที่...........เคยคิด
ว่าทุกห้วงดวงจิต................เพรียกหา
ดุจสายป่านผูกติด...............รั้งเหนี่ยว
ทั้งสองดวงวิญญาณ์............บ่คลายด้วยกาล"



ลองดูเน้อ ลองดู...


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:19:34:52 น.  

 

ฮ่าๆๆๆ ข้าเจ้ายังเขียนกลอนไปไม่ถึงไหนเลย
พามาเขียนโคลงซะแหละ...เอาเถอะตอบสนอง
กันหน่อย..นึกกลอนไม่ออก..เลยเอากลอนของเก่า
มาแปลงนะ..แง่ม แง่ม


"ถ้อยรำพันฝากผ่านสายลมหนาว
ดวงดาราสุกสกาวบนฟ้าใส
แสงจันทราส่องทางให้หัวใจ
นำพาไปกล่อมเจ้าเข้านิทรา"

เขียนตามผังที่ให้มา..พอจะไหวไห


ถ้อยรำพันฝากผ่าน....................ลมหนาว
ดาราสุกสกาว..........................พราวใส
จันทรางามงดราว......................รู้ใจ
กล่อมเจ้ากลอยแก้วใน...............นิทรา


มาตรวจหน่อยเน้อ..แต่อย่าหัวเราะเสียงดังนะ..เฮ้อ



โดย: ไลเดเลีย วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:20:47:35 น.  

 
โคลงบทแรก แจ๋วมากเลยเพื่อน...

ปรับสำนวนตามใจข้าพเจ้านิดหน่อยนะ 555+

"ถ้อยรำพันฝากผ่าน....................ลมหนาว
ดาราสุกสกาว..........................พราวใส
จันทรางามงดราว......................รู้ใจ
กล่อมเจ้ากลอยแก้วใน...............นิทรา"

ถ้อยรำพันฝากผ่าน....................ลมหนาว
^
ลอกมาทั้งดุ้น

ดาราสุกสกาว..........................สว่างใส
^
เปลี่ยนคำเดียว สัมผัสเยอะไป เลยไล่..พราว..ออกจาก..กาว.. 555+

จันทรางดงามราว......................ล่วงรู้
^
นี่ก็เหมือนกัน ไล่..ใจ..ออกซะ ไม่งั้น..ใส..กับ..ใน..เลิกกันแหง ๆ
เปลี่ยน งามงด เป็น งดงาม ด้วย เป็นภาษาที่ใช้กันบ่อยกว่าเนอะ

กล่อมเจ้ากลอยแก้วใน...............นิทรารมณ์เอย
^
เติม 2 คำ ให้เป็น ท่าน ม ห า สินธุมาลี แล้วก็ตัด..เจ้า..เติม..สู่..
ให้ความเชื่อมกัน ฮิ ๆ ๆ


อ่านแยกบรรทัดแล้ว งง แฮะ... เอามาวางต่อกันได้แบบนี้

ถ้อยรำพันฝากผ่าน....................ลมหนาว
ดาราสุกสกาว..........................สว่างใส
จันทรางดงามราว......................ล่วงรู้
กล่อมกลอยแก้วสู่ใน.................นิทรารมณ์เอย

เห็นเป็นไงมั่ง ถูกใจไหมจ๊ะ?


โดย: ปลิวตามลม วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:21:27:57 น.  

 

ฮ่าๆๆๆๆๆ..อืมม์ๆๆๆ

แจ๋วไปเลยอัล
ข้าเจ้ามันมือใหม่หัดเขียนได้เท่านี้ก็ดีแล้วเน้อะ
(ให้กำลังใจตัวเอง)

ชะแว๊บ..
อ้อ!! นับดอกไม้เสร็จแล้วบอกด้วยนะ
ว่าจะรับ หรือ ไม่รับ



โดย: ไลเดเลีย วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:21:50:27 น.  

 

ดีค่ะพี่
ฝากวางโคลงไว้หน่อยนะคะ
เผื่อพี่ผ่านมาจะมีความเห็น


ฝากสายลมผ่านบอก...............เจ้าแก้ว
จันทราเริ่มเคลื่อนแล้ว..............จากฟ้า
ดาราพริ้มเพริศแพร้ว................ร่วงหล่น
เถิดจงนอนหลับตา..................ขออย่ากังวล


โดย: ไลเดเลีย วันที่: 25 มีนาคม 2551 เวลา:22:33:19 น.  

 
ฝน อัล
อย่างนี้ไม่ใช่โคลงหรอก...
แค่แยกคำแบบโคลงแล้วมีสัมผัส
แบบโคลงเท่านั้น....ไม่มีเอกมีโทเลยซักนิด

แต่ก็เข้าท่าดี...ไม่เลว
เหมาะสำหรับมือใหม่หัดไปพลางๆก่อน
แล้วค่อยใส่เอก โท เมื่อคล่องแล้ว
ก็จะง่ายขึ้น...

เออนะ....เอาใช้สอนคนหัดเขียนโคลงใหม่ๆ
น่าจะดี...

แต่ที่ฝนเขียนมาบทหลังสุด...
มีข้อที่ควรเป็นกรอบสักหน่อยจะดี

แก้ว...แล้ว...แพร้ว...เป็นคำท้ายวรรค
ที่ไม่ควรมีรูปวรรณยุกต์..เอก โท ตรี จัตวา

ควรเป็นคำสามัญเท่านั้น


โดย: พี่เอง IP: 58.137.10.34 วันที่: 26 มีนาคม 2551 เวลา:12:33:13 น.  

 
แว้บมานิดนึง...

โคลงมหาสินธุมาลี จัดอยู่ในกลุ่ม โคลงโบราณ ค่ะ
ไม่มีบังคับ เอก โท ตามแบบโคลงสี่สุภาพ... มีแค่
ลักษณะสัมผัสที่เหมือนโคลงสี่สุภาพเท่านั้นเอง

จึง... ไม่ได้ปรับแก้เสียงโคลงให้ฝน

เหมาะกับมือใหม่ เหมือน วิชชุมาลาฉันท์ ๘ อะพี่
ได้ผลดีด้วย ฮี่ ๆ ๆ


จับแก้ให้ฝนใหม่แล้วนี่ ทำไมไม่เอาบทนี้มาวางนะ งง ๆ

"ฝากสายลมบอกเจ้า................แก้วใจ
จันทร์เริ่มคล้อยเคลื่อนไป..........จากฟ้า
ดาราเพริศแพร้วไสว.................ร่วงหล่น
เถิดหลับคลายอ่อนล้า..............อย่าได้กังวล"


โดย: อัล IP: 118.172.33.231 วันที่: 26 มีนาคม 2551 เวลา:13:32:11 น.  

 
สนุกดีจังค่ะ

อ่านแล้วบันเทิง

เพลิดเพลินสบายอารมณ์

หุ หุ หุ หุ



โดย: เด็กดี IP: 115.67.99.242 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:32:01 น.  

 
อ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลยอ่ะ

(ล้อเล่นน้า)



โดย: เด็กเก่ง IP: 115.67.99.242 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:35:56 น.  

 
ขอบคุนมากๆๆๆคาะสำหรับคำแปล


โดย: K2+OY IP: 118.173.184.249 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:19:04 น.  

 
พี่ๆ เก่งมากเลยค่ะ มีคำแนะนำดีๆเพียบเลย เนี่ยครูเพิ่งสั่งการบ้านแต่งโครงมาด้วย แพรวก็พึ่งพี่เนี่ยละค่ะ ดีจังเลย สอนแต่งโครงด้วย ฮิๆ


โดย: แพรวๆ IP: 125.26.112.79 วันที่: 8 กรกฎาคม 2552 เวลา:16:47:04 น.  

 
ขอบคุณคร่า


โดย: mintey IP: 112.142.227.204 วันที่: 8 กันยายน 2552 เวลา:19:29:26 น.  

 
ขอบคุนมากอ่ะ


โดย: จุ๊จุ๊ IP: 58.9.71.35 วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:13:20:00 น.  

 
เพลง...ลาวคำหอม ชัยภัค ภัทรจินดา


โดย: สดายุ... วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:23:37:34 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะ สำหรับคำแปล ขอบคุณจริงๆ


โดย: NSR_24 IP: 117.47.127.6 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:53:51 น.  

 
เพลงเพราะมากค่ะ


โดย: NsR_24 IP: 117.47.127.6 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:57:57 น.  

 


โดย: สดายุ... วันที่: 16 ธันวาคม 2552 เวลา:20:44:48 น.  

 
ขอบคุณ สำหรับ คำแปล ๑๔๔ มากๆๆๆ นะคะ

กำลังทำโครงงานเรื่องนี้ พอดี ขอบคุณมากๆๆ ค่ะ

^_____________^


โดย: คน รัก เว็บนี้ IP: 180.180.145.9 วันที่: 2 มิถุนายน 2553 เวลา:22:08:54 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆนะคะที่พี่แปลไว้
พรุ่งนี้หนูต้องส่งงานตั้ง 10 บท
พี่ช่วยหนูได้มากๆๆเลย
ขอบคุณจากใจจริงๆๆคะ


โดย: น้องน้ำ IP: 58.9.177.185 วันที่: 7 สิงหาคม 2553 เวลา:17:38:17 น.  

 
คำว่าเศิกแปลว่าอะไรคะ


โดย: kanlaya IP: 202.129.52.102 วันที่: 28 มิถุนายน 2554 เวลา:11:51:30 น.  

 
เศิก แปลว่า ศึก


โดย: สดายุ... วันที่: 28 มิถุนายน 2554 เวลา:18:01:19 น.  

 
ช่วยแปลให้หน่อยได้มั้ยค่ะ ด่วนมากเรยค่ะ
นกแก้วจับกิ่งแก้ว กอดคอน
กลพี่กอดแก้วนอน แนบเนื้อ
นางกวักนกกวักจร จับกวัก ไกวแม่
หลงว่ากรนุชเกื้อ กวักให้เรียมตาม


โดย: kwang IP: 1.47.192.149 วันที่: 16 กันยายน 2558 เวลา:20:27:11 น.  

 
๘๕. นกแก้วจับกิ่งแก้ว......กอดคอน
กลพี่กอดแก้วนอน............แนบเนื้อ
นางกวักนกกวักจร............จับกวัก ไกวแม่
หลงว่ากรนุชเกื้อ..............กวักให้เรียมตาม

บทนี้พรรณนาในเรื่องนก แต่ก็มีทำนองคาบเกี่ยวกับนางตามเคย ลักษณะการเปรียบเทียบนั่นคือ...
นกแก้ว...นึกถึง แก้ว (นางอันเป็นที่รัก) เปรียบในเชิงความหมายของคำ
นกกวัก...นึกถึงนางที่กวักมือ เปรียบทั้งในเชิงความหมายและกริยา
บาท ๓...นกกวักบินมาจับที่ต้นนางกวัก และกิ่งต้นนางกวักนั้นแกว่งอยู่


โดย: สดายุ... วันที่: 16 กันยายน 2558 เวลา:20:28:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.