Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
O นิราศนรินทร์ และ คำแปล...บทที่ ๔๑ - ๗๔ O



................................................



๔๑. เห็นจากจากแจกก้าน...แกมระกำ
ถนัดระกำกรรมจำ.............จากช้า
บาปใดที่โททำ.................แทนเท่า ราแม่
จากแต่คาบนี้หน้า.............พี่น้องคงถนอม


โคลงบาทนี้เล่นคำ..กรรม - (ระ) กำ
นายนรินทร์ เห็นต้นจาก กับต้นระกำ ขึ้นปนกันอยู่เห็น ต้นจาก ก็นึกถึงการที่จากมา เห็นต้นระกำก็นึกถึง กรรม อนึ่ง คำว่า ระกำ ยังแปลว่า ช้ำใจ ตรอมใจ ได้อีกด้วย
บาท๔...เราจากกันแต่เพียงครั้งนี้ดอก ต่อไปภายหน้าเรา (พี่และน้อง) คงได้กลับมาร่วมกัน

ศัพท์.....
- จากช้า........จากไปนาน
- โท.............. สอง


๔๒. เรียมจากฤาจับข้าว.....เต็มคำ หนึ่งเลย
รินซึ่งชลจานจำ................เนื่องแค้น
หยิบกับกระยากำ..............คิดแม่ คอยแม่
เหียนฤหายหอบแหน้น.......อกค้างคายคืน


โคลงบทนี้แสดงความรู้สึกในความทุกข์ความอาลัยได้อย่างดีอีกบทหนึ่ง ทั้งความอ่านแล้วทำให้นึกเห็นภาพกิริยาท่าทางได้ดี ความก็ว่า ตั้งแต่จากมาก็กินข้าวไม่ลงเลย กินเข้าไปแต่ในอกนั้นแน่น (อยู่ด้วยความรัก) จึงกลืนไม่ลง กระบวนโคลง และทำนองเขียนนั้นน่าฟัง พี่จากน้องมายัง ไม่ทันได้หยิบข้าวเต็มคำเลย (แต่ก่อนเรากินกับมือ ที่หยิบไม่เต็มคำเพราะกลืนไม่ลง ต้องแบ่ง) แต่ถึงกระนั้นยังต้องเอาน้ำเติม แม้ข้าวจะไม่เต็มคำก็กลืนแค้นคอ ครั้นพี่หยิบกับข้าว พี่ก็มาถือนิ่งไว้ ด้วยใจมัวคิดถึงนางและคอยนาง (แต่เมื่อไม่เห็นนาง) ก็รู้สึกเบื่อหน่ายในอาหารไม่รู้จักสิ้นสุด ความรู้สึกที่แน่นอยู่ในอก ทำให้ต้องคายอาหารที่รับประทานนั้น

ศัพท์...
- กระยา........ อาหาร เครื่องกิน
- กับ............. กับข้าว
- เหียน.......... คลื่นไส้ เบื่อ ไม่ชอบ


๔๓. ปรานีนุชอยู่เหย้า.......เยียบเย็น
เย็นแม่เยี่ยมจักเห็น...........แต่ห้อง
ครวญหาพี่ใครเป็น............สองปลอบ แม่เลย
สไบพี่เปลี่ยนจักป้อง.........ปิดหน้านางโหย


ตรงนี้ควรจะสังเกตว่า การที่นายนรินทร์คิดเขียนโคลงบทนี้เป็นเวลาเย็น และให้สังเกตว่า สัมผัสก็ดีด้วย
พอเวลาเย็นก็นึกสงสารนางว่าคงจะอยู่บ้านอย่างเหงา เปล่าเปลี่ยว (เย็นเยียบ) เวลาเย็นเช่นนี้น้องเข้าไปในห้องก็จะเห็นแต่ห้อง เวลาน้องร้องไห้หาพี่ ใครเล่าจะเป็นคนปลอบน้อง น้องก็คงจะได้แต่ผ้าห่มของพี่ปิดหน้าร้องไห้อยู่เท่านั้นเอง
บาท๔...”สะไบพี่เปลี่ยน” ถ้าจะพิจารณาตามตัวอักษรก็ว่าสไบที่พี่เปลี่ยนไว้ให้ แต่คำสะไบ มักใช้สำหรับผ้าห่มของหญิงเท่านั้น ปทานุกรม ให้คำแปลแต่เพียงว่า ผ้าแถบ ผ้าห่มเฉียงบ่า


๔๔. แลไถงถงาดเลี้ยว......ลับแสง
สอดซึ่งตาเรียมแสวง.........ทั่วพื้น
จวบจันทร์แจ่มโลกแปลง....มาเปลี่ยน
หวนว่ามุขแม่ฟื้น...............เยี่ยมฟ้าหาเรียม


บาท ๑...มองดูตะวันก็ตกลับไปแล้ว คำว่าเลี้ยว หมายถึง เลี้ยวลับเหลี่ยมเขาพระสุเมรุตามความคิดของพราหมณ์ที่ว่า เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของโลก พระจันทร์ พระอาทิตย์ เดินรอบเขาพระสุเมรุ
บาท ๒...พี่มองสอดสายตาไปทั่วพื้น (พิภพ) คำว่า พื้น นั้น พื้นอะไร ต้องเข้าใจว่า พื้นฟ้า พื้นดิน
บาท ๓...พี่นึกว่าน้องเยี่ยมหน้ามาในฟ้า เพื่อมองหาพี่

ศัพท์...
- หวน........... กลับ ย้อน
- มุข............. หน้า
- โถง............ ดวงตะวัน (คำเขมร)


๔๕. ชมแขคิดใช่หน้า.......นวลนาง
เดือนดำหนิวงกลาง...........ต่ายแต้ม
พิมพ์พักตร์แม่เพ็ญปราง....จักเปรียบ ใดเลย
ขำกว่าแขไขแย้ม.............ยิ่งยิ้มอัปสร


ศัพท์...
- อัปสร.........(อัจฉรา..บาลี) นางฟ้าซึ่งมีรูปงามน่าพึงใจ และช่างยั่วยวน ในรามายณะ (รามเกียรติ์) ว่าเมื่อทวยเทพกวนเกษียรสมุทร เพื่อทำน้ำอมฤตนั้น ได้เกิดนางอัปสรผุดขึ้นมานับด้วยหมื่นแสน แต่เทวดาและอสูรไม่รับไปเป็นคู่ครอง นางจึงตกเป็นของกลางจึงเรียกว่าสุรางคณา หมายความว่าหญิงของเทวดาทั่วไป

ถอดความ...
บทนี้ติดต่อกับบท ๔๔
บาท ๑...พิศดูพระจันทร์ก็รู้ว่าไม่ใช่หน้าของน้องเสียแล้ว
บาท ๒...เพราะที่กลางดวงจันทร์นั้น มีรอยตำหนิเป็นรูปกระต่าย
บาท๓...ส่วนหน้าของน้องนั้นอิ่ม สะอาด จะเอาสิ่งใดมาเทียบมิได้เลย
บาท๔...งามยิ่งกว่าดวงจันทร์ที่กระจ่างฟ้า และงามยิ่งกว่าหน้าอันยิ้มเยื้อนของนางอัปสร


๔๖. วิเวกดุเหว่าก้อง..........ดงดึก แล้วแฮ
กระส่าวเสียงนกนึก...........นุชพร้อง
พลิกปลอบเปล่าใจทึก.......ถามแม่ ไหนแม่
ปลุกพี่ฤาเรียมร้อง............เรียกเจ้าไป่ขาน


ตอนนี้ ควรจะเข้าใจว่าเป็นเวลาดึก นายนรินทรตื่นขึ้นมา เพราะเสียงนกดุเหว่า และเสียงนกดุเหว่า นั้น ทำให้นึกว่าเป็นเสียงของนาง ก็พลิกตัวแล้วปลอบตัว แล้วถาว่านางอยู่ไหน นางมาปลุกเขาหรือ แต่เมื่อเขาร้องถามไปแล้ว ก็ไม่ได้ยินคำตอบจากนาง

ศัพท์...
- กระส่าว.......เสียงสั่นๆ เครือๆ
- ทึก............. แสดงอาการของใจที่เต้นตึกๆ หรือ ทึกทัก นึกเอา คิดเอาเอง


๔๗. โอ้ดวงดาเรศด้อย......เดือนดับ
ดับดั่งดวงอัจกลับ.............พู่พร้อย
ชวาลาจะลาลับ................นุชพี่ แพงเอย
หลับฤตื่นตรอมละห้อย.......อยู่ห้องหนหลัง


โคลงบทนี่ต่อเนื่องกับบท ๔๖
บาท ๑...แสดงว่าดวงดาว ดวงเดือน กำลังจะดับ คือ ใกล้รุ่ง นายนรินทรใช้คำว่า “โอ้” ซึ่งแสดงว่ามีความเสียดาย อาลัย
บาท ๒...นายนรินทรหวนนึกไปถึงบ้าน นึกถึง อัจกลับ (โคมไฟ) ซึ่งมีระย้ายแก้วห้อย นึกไปว่า การที่เดือนดับไปนั้น เหมือนกับกับโคมไฟที่บ้านดับไป (เพราะเขาจากบ้านมา)
บาท ๓-๔...ให้สังเกตในแง่ไวยากรณ์ว่า อะไรเป็นประธาน กริยา หรือ กรรม และมีปัญหาว่า ชวาลา นั้น ชวาลาที่ไหน ในเรือที่นายนรินทรไป หรือ ชวาลาที่บ้าน หรือ นายนรินทรจะใช้คำว่า ชวาลา แทน ดวงเดือน เป็นเรื่องตีความให้แจ่มชัดได้ยาก ในที่นี่จะขอตีความดังนี้
น้องที่รัก (แพง) ของพี่เอ๋ย เวลานี้ชวาลา (ตะเกียง) ชนิดหนึ่ง มีพวยสำหรับใส่ใส้) ในเรือนของพี่ก็กำลังจะหรี่ดับไปแล้ว (เพราะจวนใกล้รุ่ง) บัดนี้น้องซึ่งอยู่ห้องที่บ้านจะกำลังหลับ ตื่น ตรอม ละห้อย หรือประการใด


๔๘. เรือมารุ่งบ่รู้..............คืนวัน
ตื่นแต่ตาใจฝัน.................คลับคล้าย
แปดยามย่ำแดยัน............แทนทุ่ม โมงแม่
นอนนั่งลุกยืนย้าย............ยิ่งร้อนเรียมวี


โคลงบทนี้แสดงว่า เป็นเวลารุ่งเช้าแล้ว

บาท ๑...เดินทางมารุ่งแล้ว แต่จะเป็นกลางวันหรือ กลางคืน (นายนรินทร) ก็ไม่อาจรู้ได้
บาท ๒...เพราะตาเท่านั้นที่ตื่นอยู่ ส่วนใจนั้นเหมือนกำลังฝัน
บาท ๓...ทั้งแปดยาม เอามือตีอก แทนตีฆ้องกลอง
บาท ๔... จะนั่ง นอน ลุก ยืน เดิน ก็ร้อนยิ่งไปทั้งนั้น ต้องใช้พัด

ศัพท์...
- ยาม........... ระยะเวลา ๓ ชั่วโมง
- ทุ่ม............. บอกระยะเวลา ๓ ชั่วโมง กลางคืน เดิมกลางคืนใช้กลองบอกเวลา คำว่า ทุ่ม คือ เสียงกลองนั่นเอง
- โมง............ บอกระยะเวลา ๓ ชั่วโง กลางวัน เดิมใช้ฆ้อง โมง คือ เสียงฆ้อง


๔๙. แม่กลองกลองบ่ได้....ยินดัง
รัวแต่กรประนัง.................หนึ่งค้อน
ทรวงพี่แผ่เพียงหนัง..........ขึงขอบ กลองเอย
กลองบ่ข้อนเรียมข้อน.......อกแค้นคะนึงโฉม


ตอนนี้มาถึง แม่กลอง (เมืองสมุทรสงคราม)
บาท ๑...มาถึงตำบลแม่กลอง แต่ไม่ได้ยินเสียงกลอง
บาท ๒-๓...(กลองไม่มีใครตี แต่นายนรินทร) ใช้มืออันเปรียบดังค้อน ระดมตีอกตนเอง ซึ่งเปรียบเหมือนหนัง ที่แผ่ขึงหน้ากลอง
บาท ๔...กลองไม่ได้ถูกใครตี แต่ (นายนรินทร) ตีอกตนเองด้วยความคิดถึงเมีย


๕๐. ออกจากปากน้ำน่าน...นองพราย
อรรณพพิศาลสาย............ควั่งคว้าง
จากนางยิ่งตนตาย............ทีหนึ่ง นะแม่
เทียรจักทอดตัวขว้าง........ชีพไว้กลางวน


ตอนนี้เดินทางออกปากแม่น้ำแม่กลอง
ศัพท์...
- น้ำน่าน....... น่านน้ำ น่าน -- ย่าน
- พราย......... ฟองน้ำ
- อรรณพ.......ห้วงน้ำ
- เทียร..........ย่อม เช่น ดังหนึ่ง
- วน..............ห้วงน้ำ


๕๑. สรวลเสียงพระสมุทรครื้น..ครวญคะนอง
คลื่นก็คลี่คลายฟอง..........เฟื่องฟื้น
ดาลทรวงป่วงกามกอง.......กลอยสมุทร แม่ฮา
ออกโอษฐ์ออกโอยสะอื้น...อ่าวอื้ออลเวง


บทนี้พรรณนาสภาพกลางทะเล ว่าทะเลกำลังมีคลื่นคะนอง
บาท ๑...สรวล แปลว่า หัวเราะ บาทนี้ถ้าจะแปลตามตัว ทะเลกำลังหัวเราะครึกครื้น ประเดี๋ยวก็คร่ำครวญ ที่จริงก็คือ นายนรินทรได้ยินเสียงคลื่นครึกโครม แต่โดยจินตนาการของกวี ทำให้เห็นว่า ทะเลกำลังหัวเราะ หรือ คร่ำครวญ
บาท ๒...คำว่า กลอยสมุทร แม่ฮา หมายถึง นางเมขลา คือ นายนรินทรเอ่ยชื่อนางเมขลา บอกว่าเวลานี้เป็นทุกข์ใจในความรักเหลือเกินแล้ว
ให้สังเกตด้วยว่า เสียงของคำ ในโคลงบทนี้ ชวนให้นึกไปถึงเสียงคลื่นลม ในบาท ๔ นั้น มีลักษณะคล้ายๆ เรือโยนขึ้นลงอยู่บนคลื่น


๕๒. เรียมวอนเทวะแม่แม้น..เมขลา
แบวิเชียรเชิญรา...............เร่งเจ้า
นางสมุทรเรียกมามา.........เทอญแม่ มาแม่
ทันที่เรือเรียมเต้า..............คลื่นเต้นตากทรวง


โคลงบทนี้ มีความอย่างเดียวว่า วิงวอนให้นางเมขลารีบ มาช่วย
ศัพท์...
- เมขลา........ นางสมุทร เทวีผู้ปกปักรักษาพระมหาสมุทร ถือแก้ว


๕๓. บ้านเหลมเรือพี่เลี้ยว...คลองจร
ระลึกคมเหลมศร..............เนตรน้อง
เสียวทรวงพี่โอยอร...........อกแตก ตายแม่
สุดสอดสายเนตรร้อง........แม่ตั้งตาคอย


ตอนนี้ มาถึงตำบลบ้านแหลม เรือเลี้ยวเข้าคลอง ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่า จากปากน้ำแม่กลอง มาถึงบ้านแหลม เป็นระยะทางไกลมิใช่น้อย แต่นายนายนรินทรเขียนนิราศตอนนี้เป็นโคลง ๒ บทเท่านั้น อาจเป็นเพราะกลางทะเล ไม่มีหัวข้อเรื่อง ที่พอจะนำมาเขียน ด้วยไม่เห็นอะไรนอกจากน้ำ จะพูดถึงปลาก็ไม่ได้ เพราะทะเลกลังมีคลื่นลมกล้า

ถอดความ...
เรือของพี่มาถึงตำบลบ้านแหลม ก็เลี้ยวเข้าคลอง ชื่อตำบลนี้ชวนให้พี่คิดถึงตาอันแหลมคมของน้อง เมื่อคิดดังนี้ก็ให้เสียวใจ ระลึกถึงน้อง แทบอกของพี่จะแตกอยู่แล้ว พี่ได้แต่ตั้งตาคอยน้อง และมองค้นหาน้องไปจนสุดสายตาของพี่


๕๔. เห็นตะบูนรอยบั่นต้น...ตัดรอน
ยังแต่ตอตะบูนทอน..........กิ่งกลิ้ง
เจียนใจพี่ขาดจร..............จากสวาท มาแม่
ทอนท่อนไมตรีทิ้ง............ทอดไว้วังเวง


บาท ๓...การที่พี่จากมาดังนี้ แทบว่าหัวใจพี่จะขาดไปทีเดียว
บาท ๔...ท่อนไมตรี เป็นโวหารกวี ความจริง ไม่ตรีไม่ได้เป็นท่อน แต่กวีพูดโดยเทียบเคียงกับท่อนตะบูน อนึ่งคำว่า ไมตรี นี้ยังหมายถึง เมีย ถึงความรักอีกด้วย คือ ทิ้งเมียไว้ให้อยู่เปล่าเปลี่ยว

ศัพท์...
- ทอน........... ตัด เราพูดว่า ตัดทอน


๕๕. ดูใดไป่เท่าด้วย.........ดวงพักตร์ แม่เลย
โฉมแม่ชื่นใจจัก...............หล่อหล้ม
มาเดียวพี่ดักดัก...............ใจจอด แม่แม่
เรือนแล่นผายผันก้ม..........พักตร์ไห้หาศรี


บาท ๒...”หล่อหล้ม (ล่ม)” นั้น บางท่านอธิบายว่า ถึงรูปหล่อก็สู้นางไม่ได้ ข้าพเจ้ายังรู้สึกสงสัยอยู่ เพราะโคลงบาทนี้ถ้าจะเขียนเติมให้เต็มก็ว่า โฉม (ของ) แม่ (นั้น น่า) ชื่นใจ (แทบ) จักหล่อหล้ม หรืออาจเป็นไปว่า โฉม (ของ) แม่ (นั้น น่า) ชื่นใจ (แทบ) จัก (ทำให้รูป) หล่อหล้ม
อยากจะแปลว่า รูปโฉมของนางนั้นงามยิ่ง จนเมื่อพี่ได้ชมแล้ว ก็เกิดความชื่นอกชื่นใจจนท่วมท้น

ศัพท์...
- ดัก ดัก........ ดิ้น แด่วๆ
- ไห้.............. ร้องไห้


๕๖. ถับถึงคุ้งคดอ้อย........โอชหวาน วายแม่
อ้อยแม่เจียนผจงจาน........จอกแก้ว
ขอเคียงซ่อมสอดพาน.......รองร่วม เจ้าฤา
รสยิ่งอำมฤตแล้ว..............ระลึกลิ้นหวานเอง


บาท ๑ – ๒...มาถึงตำบลคุ้งคดอ้อย ระลึกถึงความโอชะ และความหวานของอ้อย ที่นางเคยจัดทำให้ เวลานี้จะต้องวาย (คือไม่ได้กิน) อีกแล้ว
บาท ๓...ของเคียง ของกินอย่างอื่นๆ ซ่อม แซม
บาท ๔...ดีมาก ความว่า อ้อย และของหวานต่างๆ ที่นางเคยจัดให้นั้น มีรสเสมอน้ำทิพย์ ไม่ต้องกิน เพียงแค่นึกถึงว่า มีอะไรบ้างเท่านั้นก็รู้สึกหวานเสียแล้ว

ศัพท์...
- อำมฤต...... อ + มฤต ไม่ตาย เป็นทิพย์


๕๗. พิศพานจานแจ่มเจ้า...เบญจรงค์ รัตน์เอย
โหยบ่เห็นอนงค์...............นั่งน้อม
นพนิตแน่งนางผจง...........จัดมอบ มาฤา
จากรักจากรสพร้อม..........ไพร่ใช้ชายเคียง


บาท ๔...จากรัก จากรส (อาหาร) มา พร้อมกับพวกไพร่ผู้ชาย มีแต่คนใช้ชายอยู่ข้างๆ (แทนที่จะเห็นนางอยู่ข้างๆ อย่างที่บ้าน)

ศัพท์...
- นพนิต........ แปลตามศัพท์ว่า เนย ในที่นี้หมายถึง ขนม ของหวาน


๕๘. อยู่เรือนจักเพื่อนพร้อง...ความใคร
รสรักแรมกะได...................ดอกดั้ว
เรียมหมองแม่พาใจ.............คลายเทวษ
หมองสมรนุชเรียมกลั้ว........กล่อมเจ้าเอาใจ


ความในบท ๕๗ - ๕๘ เป็นตอนที่รำพึงขณะรับประทานอาหาร คิดไปถึงบ้าน
บาท ๑...ประของของ อยู่ คือ เจ้า หรือ น้อง
บาท ๒...เคยได้ร่วมรักกัน ก็ต้องมาแรมร้างกันเสียแล้ว
บาท ๓...แต่ก่อนั้น เวลา (นายนรินทร) เป็นทุกข์ นางเป็นคนปลอบให้คลาย
บาท ๔...ถ้านางเป็นทุกข์ (นายนรินทร) ก็เป็คนพูดปลอบเอาใจให้คลายทุกข์)

ศัพท์...
- กะได.......... เคย (เขมร)
- ดอกดั้ว...... นม
กะไดดอกดั้ว ถ้าจะพูดเป็นร้อยแก้วว่า เคยจับนม ก็ดูหยาบเต็มที แต่กวีพูด้วยภาษากวี ในเชิงพิศวาส ทำให้ความหมายคายหายไป


๕๙. บำราศรสหื่นห้า.........แหหาย
โหยคระหนรนกาย............ก่ำไหม้
รัวรัวราคราวพาย..............เรือเร่ง แรงแม่
ทันถี่ทุกเล่มไหล้..............หล่อเต้นตามเผยอ


ให้สังเกตเชิงเปรียบเทียบ ในโคลงบทนี้ให้ดี
บาท ๑...ได้ห่างรสทั้ง ๕ ประการมา รสทั้งห้านั้น คือ รสอันเกิดจากความยินดีในรูป (ความงาม) เสียง กลิ่น รส (ความหวาน) สัมผัส (การถูกต้อง) หมายถึงความสุข ๕ อย่าง ที่ได้จากหญิง
บาท ๒...ความที่ต้องห่างรสมานั้น ทำให้เกิดความกระวนกระวาย ร้อนกาย (ใจ) เหมือนกับถูกไฟไหม้ระอุ
บาท ๓...ระคะ (คือความใคร่) นั้นรุกรันอยู่ในใจเหมือนแรงพาย ที่ทำให้เรือแล่นไป
บาท ๔...พายทุกๆ เล่มนั้นพายตามกันถี่ๆ พาย ที่ทำให้เรือแล่นนั้น เทียบกับรสทั้งห้าที่รุกเร้าอยู่ในใจ ทำใจปราศจากความสงบ


๖๐. ถึงเพชรบุเรศเข้า........ขุนพล
กรีทัพยกโดยสถล............มารคเต้า
ธงทองทัดลมบน..............โบกเรียก พลแม่
เรียมเรียกรสรักเร้า...........เร่งน้องในทรวง


บาท ๑...คำว่า ขุนพล นั้นหมายถึงอะไร จะหมายว่า ขุนพลเป็นประธานของคำ กรี ในบาท ๒ หรืออย่างไร คำว่า ขุนพล แปลงตรงตามศัพท์ก็ว่าแม่ทัพ ฉะนั้น “เข้า-ขุนพล” จะแปลว่าอย่างไร ตามพงศาวดารว่า พระยาจ่าแสนยากร กับเจ้าพระจาพลเทพชุมนุมทัพรออยู่ก่อน ดังนั้น บาท ๓ นี้น่าจะแปลว่า ถึงเมืองเพชรบุรีอันเป็นที่ชุมนุมทัพใหญ่
บาท ๓...ธงทอง (ธงประจำทัพ) ถูกลมพัด ก็สะบัด (เหมือนจะ) เรียกพล
บาท ๔...แต่ตัวพี่นั้นเรียก (อยู่ในใจ) หารส และ เร่งให้น้องมาหาพี่

ศัพท์...
- เพชรบุเรศ...เพชรบุรี + อีศ (ศ เข้าลิลิต)
- สถลมารค... ทางบก
- เต้า.............เดิน


๖๑. ออกทัพเอาฤกษ์เร้า....ปืนไฟ
ปืนประกายกุมไก.............จี่จิ้ม
เพลิงราคพลุ่งกลางใจ........เจียวเจ็บ อกเอย
ทรวงพี่บรรทุกปิ้ม.............ปวดด้วยปืนกาม


บาท ๑...กล่าวถึงการยิงปืนเอาฤกษ์ตอนจะยกทัพ
บาท ๒...บาทนี้ออกจะสับสน ปืนประกาย – ไฟที่แลบเป็นประกายจากระบอกปืน กุมไก – นิ้วจับที่นกปืน จี่จิ้ม – เอาชุดจุดที่ชนวนปืนใหญ่ ทั้งหมดนี้หมายความว่ายิงปืนเล็กปืนใหญ่ ไฟวาบเป็นประกาย
บาท ๓...เปรียบ เพลงปืน กับเพลิงราคะ
บาท ๔...เปรียบ ปืนไฟ กับปืนกาม ในบาทนี้สงสัยทรวงพี่บรรทุกนั้น บรรทุกอะไร คือ บรรทุกเพลิงราค (บาท ๓) ทรวงพี่จึงปวดเหมือนถูกยิงด้วยปืนกาม (ความรัก)


๖๒. ทุกตรอกเรียมตรวจหน้า...ขาดนาง เดียวแม่
จบจรหลาดแลทาง...........ทั่วด้าว
จวบหญิงจ่ายของกลาง......ถนนเกลื่อน
เทียมธุลีทาสท้าว.............อรข้างเดียวเดิน


ถอดความ...
บาท ๑...ทุกตรอกที่กองทหารผ่านไป พี่ได้มองหาก็เห็นหน้าใครต่อใครมากมาย ขาดอยู่แต่น้องคนเดียว
บาท ๒...ได้มองดูทั่วทั้งตลาด และในที่ทุกแห่งก็ไม่เห็นน้อง
บาท ๓...เห็นแต่พวกผู้หญิงมาซื้อของเกลื่อนอยู่ตามถนน
บาท ๔...หญิงเหล่านี้เพียงกับผงที่ติดเท้าเพียงข้างเดียวของบ่าวของน้องก็ไม่ได้
ในบาทที่๔ นี้เปรียบแรงมาก คือยกเมียเสียสูงลิบทีเดียวจะเอาหญิงอื่นมาเปรียบโดยตรงก็ไม่คู่ควร หรือแม้จะเปรียบกับเพียงบ่าวของเมียก็ยังไม่คู่ควร ในที่สุดเปรียบได้กับผงที่ติดเท้าข้างเดียวของบ่าวเท่านั้น นี่ว่าตามความรู้สึกของกวี (คือ นายนรินทร์)

ศัพท์...
- จรหลาด.....ตลาด
- ท้าว...........คำนี้น่าจะหมายถึง เท้า


๖๓. ถึงชรอ่ำชรอุ่มห้อง......เวหา หนเอย
คิดอรแมกเมฆมา.............กลัดไว้
ฤาเขาชรอ่ำอา.................ดูรเทวษ
เป็นชรอุ่มฟ้าไข้...............ข่าวน้องนางตรอม


บทนี้ว่า มาถึงตำบลชะอำ ก็พอดีอากาศมืดฟ้ามัวฝน
บาท ๒...บาทนี้ความไม่แจ่มชัด สงสัยว่าอะไรเป็นของประธานของกริยา กลัด บางท่านอธิบายบาทนี้ว่านางเอาความมืดมัวมากลัดไว้ให้ ลองพิจารณาดูน่าจะเป็นดังนี้ (นายนรินทร์) คิดว่า อร(นาง) แมก(แอบ)และมากลัด(ติด) อยู่ในเมฆ ถ้าจะคิดว่านายนรินทร์คิดว่าเมฆอันมืดมัวนี้ เพราะนางแอบเอามาติดไว้บนฟ้า ก็ดูไม่สมเหตุผล มีทางคิดไปได้อีกอย่างว่า หรือ นางจะแอบมาในเมฆ เมฆได้หุ้มหิ้วตัวนางลอยมารออยู่ที่นี่
บาท ๓...หรืออาการที่มืดมัวนี้ เป็นด้วยเขาชะอำจะเกิดความตรอมใจ นี่พูดตามความรู้สึกกวี ที่นึกเห็นไปว่าสิ่งทั้งหลายมีความรู้สึกมีอารมณ์ เหมือนตนเอง จะแลเห็นได้อีกในบาทที่ ๔ ที่ว่า "ฟ้าไข้" แต่ก็ยังสงสัยอีกว่า "ไข้"นั้น ฟ้าไข้ หรือนายนรินทร์ไข้ โดยความติดต่อจากบาท ๓ ว่า ฤๅเขาชะอ่ำอาดูรเทวษ (จึง) เป็นชะอุ่มฟ้า (ดังนี้) ส่วน(ฉัน-นายนรินทร์) นั้นเป็นไข้ใจตรอมใจ (เพราะ) คอยฟังข่าวของน้อง หรือจะว่าเขาชะอำนั้นพลอยเป็นทุกข์ ฟ้าก็มืดมัวไม่แจ่มใส ราวกับว่าช่วยเป็นทุกข์ คอยฟังข่าวนางอย่างที่ฉัน (นายนรินทร์) เป็นทุกข์อยู่เหมือนกัน


๖๔. สุริยาวิโยคฟ้า...........ฝนเชย
บุปผชาติรำเพยเผย...........กลิ่นใกล้
เผยอหอมเลื่อนสมรเหย.....หาพี่ ฤาแม่
ถามพฤกษ์พรางเพราะไม้...ปากลิ้นไป่มี


บาท ๑...พอพระอาทิตย์ลับไป ฝนก็พรมลงมา
บาท ๒...ดอกไม้ส่งกลิ่นหอมอยู่ใกล้ๆ
บาท ๓...ลองถามต้นไม้ดู ต้นไม้ก็ไม่พูด เพราะมันไม่มีปากมีลิ้น
บาท ๔ จะเห็นว่าเป็นอารมณ์และความนึกคิดของกวีที่เข้าใจว่าจะส่งภาษากับต้นหมากรากไม้ได้ ดูๆ ก็ไม่มีเหตุผลแต่อย่าลืมว่า คนเราเมื่อมีความสะเทือนใจแรง ไม่รู้จะระบายความสะเทือนใจนั้นกับใคร ก็อาจพูดกับอะไรต่ออะไรที่มิใช่มนุษย์ได้เหมือนกัน

ศัพท์...
- วิโยค.......... การจากไป ห่างเหิน
- เหย............ระเหย
- พฤกษ์.........ต้นไม้ รุกขะ (บาลี)
- บุปผ...........ดอกไม้ บุษป (สันสกฤต)


๖๕. ทัพใต้ทัพตั้งป่า.........เป็นเรือน
จากนุชมานอนเดือน.........ต่างไต้
ตรอมตายแต่จักเยือน.......กันยาก แลแม่
เรือนฤเห็นเห็นไม้.............ป่าไม้เป็นเรือน


บาท ๑...มาถึงตำบลทับใต้ ตั้งค่าย เอาป่าเป็นเรือน
บาท ๒...จากนางมา นอนเอาดวงเดือนแทนดวงไต้
บาท ๓...คงจะต้องตรอมใจตาย เพราะไปเยี่ยมเยือนนางไม่ได้
บาท ๔...มองเรือนก็ไม่เห็น เห็นแต่ป่า เวลานี้เท่ากับเอาป่าไม้เป็นเรือน
บาท ๔ นี้ เล่นคำ ใช้คำ เรือน เห็น ไม้


๖๖. ราตรีตรวจค่ายฆ้อง.....ขามขาม ใจเอย
เกราะกระพือเพลิงยาม......รุ่งเร้า
กระเวนกระวนกาม............กวนอก พี่นา
รันระดมแดเข้า................คู่ฆ้องกระแตตี


ตรงนี้กล่าวถึงการตั้งค่ายพักแรม ที่ค่ายพักตั้งกองไฟไว้เวลาตีเกราะ ก็เอาไม้ใส่เพิ่มในกอง หรือซนไฟให้ลุกเสียคราวหนึ่ง
บาท๑....ถึงเวลาค่ำ เขาตีฆ้องตรวจค่าย ให้รู้สึกหวั่นใจ
บาท๒....ยามหนึ่งๆ มีการตีเกราะ แล้วใส่ไฟให้สว่างขึ้น
บาท๓....ความรักก็กวนอยู่ในอก เหมือนกับการตรวจค่ายตรวจยาม
บาท๔....ความรักระดมตีอก เป็นคู่กับฆ้องกระแต ที่เขาตีขานยาม

ศัพท์...
- กระเวนกระวน..วุ่นวาย ไม่เป็นปกติ
- รัน..............ตี
- แด.............ใจ
- ฆ้องกระแต..ฆ้องเล็กๆ ใช้ตีขานยามในกองทัพโบราณ


๖๗. เคยนิทรอรนุ่มเนื้อ.....แนบเรียม
เดาะกระไดไดเลียม.........ลอดเคล้น
นาสาสูบรสเทียม.............ปรางมาศ
สองสนุกล้วนเหล้น...........เล่ห์นั้นฤาลืม


บทนี้กล่าวรำพึงในระหว่างพักแรมในค่าย กล่าวถึงความหลัง เมื่อยังอยู่รวมกัน เป็นบทกล่าวเชิงสังวาส
ศัพท์....
- นิทร............นอน
- เดาะ...........นม (เขมร)
- กะได...........เคย (เขมร)
- ได...............มือ (เขมร)
- มาศ............ทอง
- เหล้น...........เล่น


๖๘. เคยโอษฐ์แอบโอษฐ์อ้อน...เอาใจ
คำอ่อนวอนอาลัย.............ล่อเคล้า
นับเดือนเลื่อนปีไป...........ไกลมิ่ง นะแม่
เยียวอยู่หนหลังเศร้า.........สวาทแล้วใครโลม


ความยังคาบเกี่ยวกับบท ๖๖, ๖๗ กล่าวรำพันถึง ความหลัง พรรณนาชั้นเชิงความรักดีมาก
บาท ๑...โอษฐ์แอบโอษฐ์ นั้นจะแปลว่าปากแนบปากไม่ได้ เป็นความเทียบเคียงทำนองว่าอยู่ใกล้ชิดกัน พูดเอาใจกัน
บาท ๒...คำ อ่อน มีความหมายได้ ๒ อย่าง คำอ่อนหวานก็ได้ คำของนาง (อ่อน = นางน้อง) ก็ได้ ในที่นี้ควรจะเป็นคำของนาง
บาท ๔...เวลานี้นางอยู่ข้างหลัง ถ้าแม้นรู้สึกโศกเศร้า เพราะความรักแล้ว ใครจะช่วยปลอบประโลมเยียว....ผิว่า แม้ว่า


๖๙. ออกทัพถะถั่นเข้า.......ไพรเขียว
ละแม่เดียวมาเดียว............ด่วนร้าง
สายตาต่อเต็มเกลียว.........มากล่อม ไกลแม่
เวระใดเราสร้าง................ซัดให้ทันเห็น


บาท ๓...สายตาของเราที่ประสานกันแน่นแฟ้น (เมื่อจะจากมา) ได้กล่อมใจ ในยามที่พี่จากมาไกล

ศัพท์...
- ถะถั่น.........ทันที ทันที เร็วๆ
- ซัด.............สาด ทอด ในที่นี้หมายความ ทำให้เป็นไป


๗๐. ห้วยขมิ้นคิดขะมิ่นเจ้า...เคยผจง
กวดสกนธ์สีสรง...............โสรจน้อง
เรียมจากจักโศกทรง.........เสาวภาคย์ เผือดฤา
ขมิ้นจะวายวันต้อง............แต่งเนื้อนางสนาน


เดินทัพมาถึงตำบลห้วยขมิ้น
ศัพท์...
- กวดสกนธ์...ขัดสีร่างกาย
- สรงโสรจ.....อาบน้ำ
- เสาวภาคย์...เสาว (สุ) + ภาคย์ = รูปงาม
- สนาน.........อาบน้ำ
- วาย.............ว่างเว้น
- แต่งเนื้อ........ทาเนื้อ


๗๑. อ่าผิวการะเกดเกลี้ยง...เกลานวล แน่งเอย
เรียมกะไดเชยชวน...........ชิดเคล้า
อ้าอรกลิ่นเกศหวน............หอมหื่น กูเฮย
คิดภิรมย์รสเกล้า..............กลิ่นกลั้วไกลฉม


ตอนนี้คิดถึงผิวของนาง ความคาบเกี่ยวกับบท ๗๐ พอพูดถึงขมิ้นก็นึกถึงผิว ว่าผิวนางนั้นเหมือนสีดอกการะเกด (เหลือง)
ศัพท์...
- อ่า..............โอ่อ่า สวย สดใส
- ภิรม............อภิรม (ตัด อ นำหน้า) อภิ + รม,
- อภิ..............ยิ่ง
- รม..............ชื่นชม ยินดี
- ถ้าเป็น รมย์...น่าชื่นชม น่ายินดี น่ารัก งาม
- ฉม.............หอม หอมฟุ้ง
- เกล้า..........ผม


๗๒. ยกมามาท่าข้าม.........แขวงปราณ
ปราณประหลาดลมฆาน.....พี่ข้อง
แลว่านุชทรมาน.................หมองสิ่ง ใดแม่
ทุกข์โรคหรือจักร้อง............ร่ำไห้หาเรียม


ตอนนี้ยกทัพมาถึงตำบลท่าข้าม แขวงเมืองปราณบุรี(ประจวบคีรีขันธ์) ตอนนี้กล่าวในเชิงไสยศาสตร์เล็กน้อย คือว่า เมื่อมาถึงแขวงเมืองปราณ (นายนรินทร์) รู้สึกประหลาดที่ลมหายใจ (ลมปราณ) ขัดข้อง ให้นึกสงสัยว่าที่เป็นดังนี้ นางจะเกิดหม่นหมองอย่างหนึ่งอย่างใดกระมังหรือว่าจะมีทุกข์ มีโรค หรือร้องไห้ถึง

ศัพท์...
- ฆาน...........จมูก
- ลมฆาน....ลมหายใจ
- ข้อง....ขัด ไม่คล่อง


๗๓. ถึงสามร้อยยอดเงื้อม...งำทะเล
ทะเลจะหลากลมเห...........หาดขว้ำ
สามร้อยคิรีเท..................ทับอก เล่าฤา
ใจจะปล้ำสุดปล้ำ..............เสน่ห์น้องหนักทรวง


ตอนนี้ถึงตำบลเขาสามร้อยยอด
บาท ๑...มาถึงตำบลเขาสามร้อยยอด เขาสามร้อยยอดนี้สูงดังว่าจะครอบทะเล
บาท ๒...ทะเลก็มีคลื่นซัดเข้าฝั่งอย่างแรง เหมือนจะทำให้ฝั่งพังคว่ำไป
บาท ๓...เขาทั้งสามร้อยยอดนี้ทับอกอยู่กระมัง (จึงรู้สึกหนักฉะนี้)
บาท ๔...(แต่ความจริง) ความหนักนั้นเกิดจากความรักในนาง ซึ่งพยายามจะปลุกปล้ำยกเท่าใดก็ยกไม่ได้


๗๔. โคแดงนามท่งด้าว.....โคดง ใดฤา
โคอาสน์อิศวรองค์............อยู่เกล้า
พระมาดอาจจักปลง..........ปลิดเทวษ ราพ่อ
สองจากพระเป็นเจ้า..........ช่วยให้คืนสม


บาท๑...โคแดงนี้เป็นชื่อทุ่งของวัวป่าพวกไหนหรือ
บาท๒...หรือว่าเป็นโคพาหนะของพระอิศวร ผู้อยู่เหนือหัว
บาท๓...บางทีพระอิศวร อาจจะช่วยปลดปล่อยความทุกข์ได้บ้างกระมัง
บาท๔....ที่เราทั้งสองจากมานี้ ขอให้พระอิศวรช่วยให้ได้กลับคืนไปร่วมกันด้วยเถิด

ศัพท์...
- อาสน์.........ที่นั่ง
- อิศวร...........พระศิวะ พระมหาเทพ เป็นเทพเจ้าสูงสุดทรงโคอุสุภราช ที่อยู่คือเขาไกรลาศ
- มาด....มุ่ง หมายไว้ คาดไว้

ต่อนิราศนรินทร์ ๓







Create Date : 20 สิงหาคม 2550
Last Update : 4 มกราคม 2565 8:21:33 น. 141 comments
Counter : 90120 Pageviews.

 
ขอบคุณมากนะคะ ใช้ในการอ่านสอบได้เป็นอย่างดี


โดย: กรพินธุ์ IP: 124.157.181.247 วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:21:13:25 น.  

 
ตั้งแต่เยี่ยมชมบล็อกมา บล็อกนี้ เป็นบล็อกที่ผมหลงใหลมากที่สุดเลย
เข้ามาต้องมนต์สะกดอีกแล้ว


โดย: Rational Eagle วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:8:11:12 น.  

 
แวะมาอ่านอีกเช่นเคยค่ะ


โดย: วัลย์ IP: 70.87.207.234 วันที่: 21 ตุลาคม 2550 เวลา:5:57:37 น.  

 
พี่แปลความหมายได้ดีมากเลยค่ะ ^ ^ ซึ้งจัง


โดย: พลอย IP: 203.113.67.102 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2550 เวลา:21:15:43 น.  

 
ช่วยแปลบทที่ ๖๒ ,๖๓, ๖๖, ๖๗ ให้หน่อยได้ไหมค่ะ

พยายามแปลหลายรอบแล้วแต่แปลไม่ได้ซักที่



โดย: พลอยจ้า IP: 203.113.45.228 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา:16:06:23 น.  

 
ลองมาดูอีกที....คืนวันที่ ๕ พย.ครับ


โดย: สดายุ IP: 124.120.210.78 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา:21:24:46 น.  

 
๑๑๑. หลัดหลัดพลัดพรากแก้ว...กานดา พี่เอย
ลิ่วแต่ตัวเรียมมา..............ตกไร้
ขวัญแขวนอยู่ขวัญตา........ทุกเมื่อ
เรียมร่ำไข้ฟ้าไข้..............แผ่นพร้องรำพัน

ช่วยแปลให้หน่อยครับ พร้อมคำศัพท์ เสร็จในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ได้ไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้านะครับ


โดย: ทศวรรษ IP: 203.113.45.100 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:40:49 น.  

 
๑๐๐. ควิวควิวอกควากคว้าง...ลมลอย แลแม่
ถอยแต่ใจจากถอย...........ทับช้า
ทศทิศทอดตาคอย...........ขวัญเนตร พี่เอย
เอาสไบนุชต่างหน้า...........แนบเนื้อแทนนาง
แปลให้หน่อยดิผมจะสอบซ่อมอาจารย์เค้าให้ถอดบทนี้


โดย: ช่วยแปลที IP: 125.26.77.84 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:25:58 น.  

 
หวนหอมการะเกดเกลี้ยง...เกล้าผม เจ้าฤา
อินทนิลคือแข่งคม............เนตรแต้ม
นมนางอับอายนม.............นุชนาฎ พี่เอย
ปรางเปล่งเปรียบกึ่งแก้ม....อ่อนช้ำคราวชม


พี่ช่วยแปลให้หน่อยค่ะ พรุ้งนี้ส่งแล้วค่ะ ขอร้องนะค่ะ


โดย: กี้ IP: 203.113.81.6 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2550 เวลา:11:32:58 น.  

 
๑๑๑. หลัดหลัดพลัดพรากแก้ว...กานดา พี่เอย
ลิ่วแต่ตัวเรียมมา..............ตกไร้
ขวัญแขวนอยู่ขวัญตา........ทุกเมื่อ
เรียมร่ำไข้ฟ้าไข้..............แผ่นพร้องรำพัน
ช่วยแปลบทนี้ให้ด้วยนะครับขอร้องจริงๆนะครับ
ขอบคุณ...ขอบคุณ...ขอบคุณ...มากๆเลยครับ


โดย: กรุณาด้วยนะครับ IP: 203.113.45.101 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:41:13 น.  

 
๑๔๔. ใดใดโอษฐ์โอ่อ้าง...ตนดี
เอาปากเป็นกวี.................ขล่อยคล้อย
หากหาญแต่วาที..............เฉลยกล่าว ไฉนนา
ดุจหนึ่งแสงหิ่งห้อย...........ส่องก้นตนเอง
ขอความกรุณาด้วยครับ


โดย: HELP IP: 203.113.45.100 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:16:55:40 น.  

 
๑๔๔. ใดใดโอษฐ์โอ่อ้าง...ตนดี
เอาปากเป็นกวี.................ขล่อยคล้อย
หากหาญแต่วาที..............เฉลยกล่าว ไฉนนา
ดุจหนึ่งแสงหิ่งห้อย...........ส่องก้นตนเอง


ช่วยแปลให้ด้วยครับๆๆๆๆ ขอร้อง

แล้วคำว่าขล่อย แปลว่าไรอ่าคับ ขอบคุนครับ

chanodom28335@hotmail.com


โดย: dd IP: 203.150.134.107 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:44:21 น.  

 
พงศกร4/4ทำไมไม่ทำเองคะ


โดย: อ.รัชฎา IP: 125.26.72.13 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:22:33:00 น.  

 
ช่วยทีเถอะครับผมจนปัญญาจริงๆครับบทที่89


โดย: พงศกร ปว. ปจ. IP: 222.123.37.197 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2550 เวลา:14:45:11 น.  

 
บทที่ ๘๙ ค่ำๆ..วันจันทร์มาดู
ทั้งนักเรียนทั้งครู...มาดูด้วยกัน



โดย: สดายุ IP: 124.120.200.162 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:45:24 น.  

 
ขอบคุณมากครับที่ช่วยแปลให้ คราวหลังผมจะพยายามแปลเองครับ ขอบคุณครับ


โดย: พงศกร ปว. ปจ. IP: 124.157.174.108 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:25:45 น.  

 
ช่วยแปลบทที่110ให้หน่อยค่ะ
คันฉายคันฉ่องน้อย....เสนียดนาง พี่เอย
จากจะลืมเสยสาง.............สระเผ้า
โศกเสียสิ่งสำอาง.............อายโอ่ ฤาแม่
พักตร์จะผัดผจงเกล้า.........เยี่ยมแย้มแกลคอย

ขอบคุณค่ะ


โดย: เบียร์ IP: 202.69.136.166 วันที่: 10 ธันวาคม 2550 เวลา:10:41:51 น.  

 
ช่วยแปล
๑๑๐. คันฉายคันฉ่องน้อย....เสนียดนาง พี่เอย
จากจะลืมเสยสาง.............สระเผ้า
โศกเสียสิ่งสำอาง.............อายโอ่ ฤาแม่
พักตร์จะผัดผจงเกล้า.........เยี่ยมแย้มแกลคอย
แปลให้หน่อยนะคะ ขอด่วนภายในวันนี้
ตีความ ขยายความให้ด้วยนะคะ กำลังต้องการมากๆ
ขอบคุณค่ะ


โดย: เด็กดี IP: 202.69.136.166 วันที่: 10 ธันวาคม 2550 เวลา:10:48:44 น.  

 
ช่วยแปลบทที่ 118 ทีนะคะ อ่านแล้วก็เข้าใจอยู่หรอกค่ะ แต่แปลเป็นถ้อยคำสำหรับเขียนไม่เป็นอ่าค่ะ ช่วยทีนะคะขอบคุณค่ะ


โดย: น้องหนู IP: 203.113.51.73 วันที่: 16 ธันวาคม 2550 เวลา:9:53:05 น.  

 
ขอบคุณค่ะที่แปลให้
ถ้าม่ายได้ที่นี่หนูคงโดนอาจารย์ตีแน่ๆเลย


โดย: ฝน IP: 202.149.25.241 วันที่: 18 ธันวาคม 2550 เวลา:21:42:43 น.  

 
ช่วยแปลบทที่121ให้หน่อยค่ะ ขอบพะคุนอย่างสูง


โดย: เด็กม่ายฉลาด IP: 61.7.160.141 วันที่: 20 ธันวาคม 2550 เวลา:17:30:13 น.  

 
ประทับใจมากเพลงก็เพราะ
แปลให้ด้วยเข้าใจง่ายดี
ราะคนทำรู้เลยว่าตั้งใจทำ
ทำสวยมาก
ข้อมูลก็มีประโยชน์เป็นอย่างมาก
ขอบคุณคนทำมากค่ะ


ประทับใจมากเพลงก็เพราะ
แปลให้ด้วยเข้าใจง่ายดี
ราะคนทำรู้เลยว่าตั้งใจทำ
ทำสวยมาก
ข้อมูลก็มีประโยชน์เป็นอย่างมาก
ขอบคุณคนทำมากค่ะ


โดย: SF IP: 203.209.95.227 วันที่: 8 มกราคม 2551 เวลา:20:23:00 น.  

 
มากเลย


โดย: สาค่ะ IP: 117.47.7.108 วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:13:26:42 น.  

 
ช่วยแปลบทที่135-137
และก้บทที่142,143
ให้ด้วยคับ
พอดีว่าต้องใช้ด่วน
ขอบคุณมากนะครับ


โดย: non IP: 203.157.16.247 วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:20:47:43 น.  

 
พอดีว่าลิมอีก 3 บท อะคับ131-133
ช่วยแปลด้วยนะคับ
ขอบคุณมากๆๆๆอีกครั้งนะคับ
แปลให้ด้วยนะคับ
อย่าลืมบทที่135-137
และก้บทที่142,143


โดย: non IP: 203.157.16.247 วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:20:52:00 น.  

 
ช่วยแปลบทที่ 91 ไห้ด้วยยยยยยยยยยยยยยยย ขอร้อง!!!
ส่งพุ่งนี้อ้ะ

๙๑. ยกมาออกอ่าวน้ำ นามนาง รมนา
นางบ่เห็นเห็นบาง เปล่าเศร้า
ฉมนางชไมปราง สมรมิ่ง กูเอย
ดินหื่นหอมฟ้าเร้า รื่นร้างอภิรมย์
แปลขอร้อง

ขอบคุนมากๆๆๆๆ:P


โดย: ผู้ขอร้องไห้ช่วยยย IP: 58.9.226.250 วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:22:37:02 น.  

 
thank you very much


โดย: ผู้มาเยือน IP: 203.113.9.23 วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:8:10:10 น.  

 
แวะมาอ่านค่ะ
หนังสือนิราศนรินทร์ ได้เล่มเก่ามาจากร้านหนังสือเก่า
สิบกว่าบทท้ายๆ หายไป
มาได้อ่านครบที่นี่เอง

ขอบคุณมากนะคะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:15:58:09 น.  

 
กรุณาช่วยแปลบทที่ 120 ให้หน่วยเถอะนะคะ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดีค่ะ
เพราะต้องการงานส่งครูด่วน ขอบคุณผู้ที่ช่วยแปลให้มากเลยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: ผู้ที่เดือดร้อนอย่างมาก IP: 125.27.234.234 วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:18:12:28 น.  

 
พอดีว่าเหลืออีก 6 บทอะคับ
บทที่132 ,133.136.137.142.143
ช่วยแปลให้ด้วยนะคับ
ผมต้องส่ง อาจารย์ วันจันทร์นี้แล้วคับ
ผมพยายามแปลแล้ว
แต่มันแปลไม่ออก
ขอบคุณมากคับ


โดย: non IP: 203.157.16.247 วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:20:44:09 น.  

 
มาดูเย็นวันจันทร์....non


โดย: สดายุ... วันที่: 13 มกราคม 2551 เวลา:8:22:26 น.  

 
คุณสตายุคับ
ผมต้องส่งวันจันทร์แล้วคับช่วยแปลให้หน่อยนะคับ
ไม่ต้องครบ 6 บท ก็ได้
บทไหนเสร็จช่วยลงให้ผมไม่ได้หรอคับ
ขอก่อนวันจันทร์นะคับ
ขอบพระคุณอย่างสูงเลยคับ


โดย: non IP: 203.157.16.247 วันที่: 13 มกราคม 2551 เวลา:12:49:58 น.  

 
คุณสตายุคับ
งั้นผมขอแค่ 2 บท ก็แล้วกันคับ
คือ บทที่137กับ143
ผมขอเย็นนี้ได้ไหมคับ
หรือไม่ก็อย่าเกิน20.00
วันนี้อะคับ
เพราะว่าผมต้องส่งอาจารย์วันจันทร์แล้วคับ


โดย: non IP: 203.157.16.247 วันที่: 13 มกราคม 2551 เวลา:14:22:30 น.  

 
ขอบคุงมั่กๆครับ ช่วยได้เยอะเลย เมื่อเช้านั่งงตั้งนาน ในที่สุดก็ทำเสด


โดย: คนทำการบ้าน IP: 125.24.179.115 วันที่: 14 มกราคม 2551 เวลา:21:13:58 น.  

 
ไว้มีเวลาจะแปลให้หมดสักที...


โดย: สดายุ IP: 58.137.10.34 วันที่: 15 มกราคม 2551 เวลา:12:29:39 น.  

 
ชอบจังเลย มีการแปลด้วย คารวะเพ่ผู้เพรียบพร้อมด้วยปัญญา
และอารมย์แห่งศิลป สองสิ่งนี้จะหาประโยชน์มิได้เลย ถ้าไม่ได้นำมา..แบ่งปัน..โมคิดนะ..ของคุณๆเพ่สดายุ
อืมม..ก่อนไป..อยากบอกชอบเพลงจังคะ


โดย: โม IP: 203.118.74.163 วันที่: 21 มกราคม 2551 เวลา:3:45:39 น.  

 
ช่วยแปลบทที่ 82 -96 ให้หน่อยนะคับ


โดย: T T IP: 124.120.25.17 วันที่: 29 มกราคม 2551 เวลา:5:51:59 น.  

 
ขอบคุณมากคะ
พี่เก่งมาก เพราะนิราศนี้แปลยากมาก
ขนาดนั่งฟังอาจารย์แปลยังปวดหัว
จะตั้งใจอ่านคะ


โดย: ป๊อด IP: 202.28.27.6 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:06:42 น.  

 
ต้องขอบคุณคนที่ทำเว็บนี้มากๆเลยนะคะ มันมีประโยชน์มาก แล้วก็ทำออกมาได้สวยงามด้วยค่ะ


โดย: ลูกตาล IP: 202.28.78.175 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:58:16 น.  

 
ขอขอบคุณเว็บนี้มากๆๆๆ เลยนะค่ะ มันมีประโยชน์มากเลยค่ะ


โดย: * v * ว้าว IP: 118.175.194.150 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:39:09 น.  

 
ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นมากคะ


โดย: เลโก้ IP: 203.113.17.172 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:24:42 น.  

 
ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นมากคะ


โดย: เลโก้ IP: 203.113.17.172 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:26:22 น.  

 
จะตามงานเขียนไปทุกที่.....
บทนี้อ่านแล้วเข้าใจยากเหมือนกัน..นะคะ..
แต่ก้ชอบ...


โดย: ฟาง IP: 118.172.10.73 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:30:32 น.  

 
เคยปรุงประทิ่นแป้ง....ปนละออง อบเอย
สรงสว่างใจสอง...............ครุ่นครั้ง
จอกจันทร์จากจรุงหมอง.....ราแม่
พานใส่เสาวคนธ์ตั้ง...........แต่งให้ใครทา



แปลให้หน่อยคับ
เป็นพระคุนอย่างสูงพรุ่งนี้ส่ง


โดย: ชิน IP: 61.7.174.198 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:27:37 น.  

 
หาคำศัพท์ไม่เจอทำไงดี
ช่วยหาให้หน่อยได้อะเปล่า


โดย: แป๋ม IP: 61.19.66.122 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:33:55 น.  

 
ขอบคุณมากเลยค่ะ


โดย: มายมิ้นท์ IP: 222.123.214.177 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:46:55 น.  

 
หวัดดีค่ะ

=^-^=

ต้องขอบคุณมากๆสำหรับการถอดความโคลงนิราศค่า

ฝนฟ้าแวะมาใช้บริการอีกแล้วววววววววว~วว

^^



โดย: ฝนฟ้า=^-^= IP: 222.123.124.21 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:18:35:10 น.  

 
แวะมาชม ดีมากคับ


โดย: ฟ้าหลังฝน IP: 222.123.220.232 วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:13:50:23 น.  

 
ดีมากเลยละค่ะ


โดย: คิดดี IP: 118.172.178.202 วันที่: 26 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:25:43 น.  

 
ขอบคุณค่ะ



โดย: loveless IP: 118.173.51.26 วันที่: 2 มิถุนายน 2551 เวลา:19:14:40 น.  

 
สวัสดีคะ

ดีมากๆ เลย

คนอาราย ทั้งสวย

ทั้งใจดี

fernnie จ้า


โดย: fernnie IP: 203.152.39.110 วันที่: 20 มิถุนายน 2551 เวลา:12:12:51 น.  

 
ขอบคุนมากค่ะ
คุนใจดีมากเลย
ขอให้ หล่อ ๆ รวยๆนะค่ะ


โดย: เบลล์ IP: 118.173.115.88 วันที่: 25 มิถุนายน 2551 เวลา:10:50:00 น.  

 
"ขอร้องนะ" ช่วยแปลบทที่81 ให้หน่อยได้นะค่ะ
จะส่งศุกร์นี้แล้ว หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ

"ช่วยหน่อยนะค่ะ"
๘๑. จัมปาจำเปรียบเนื้อ.....นางสวรรค์ กูเอย
ศรีสุมาลัยพรรณ..............พิศแพ้
ช้องนางคลี่ระส่ายสรร.......สลายเซ่น
คือนุชสนานกายแก้..........เกศแก้วกันไร

"ช่วยหน่อยนะค่ะ"


โดย: ขอร้องนะ IP: 58.9.28.252 วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:47:30 น.  

 
เธ‚เธญเธšเธ„เธธเธ“เธ„เนˆเธฐ เธเธณเธฅเธฑเธ‡เน€เธฃเธตเธขเธ™เธญเธขเธนเนˆเน€เธฅเธข


โดย: เธเธฃเธฐเธšเธญเธ‡เน€เธžเธŠเธฃ IP: 118.173.11.242 วันที่: 6 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:26:13 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ กำลังเรียนอยู่เลย


โดย: กระบองเพชร IP: 118.173.11.242 วันที่: 6 กรกฎาคม 2551 เวลา:20:28:19 น.  

 
ได้คำแปลเยอะดีค่ะ จะดีถ้าแปลได้ทุกบทนะค่ะ ขอบคุณค่ะ


โดย: น้ำข้าว IP: 125.24.41.0 วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:17:40 น.  

 
เธ‚เธญเธ„เธณเนเธ›เธฅเธ—เธจเธ—เธดเธจเธ—เธฑเน‰เธ‡10เธซเธ™เนˆเธญเธขเธˆเธดเธ„เนˆเธฐ เธ‚เธญเธšเธ„เธธเธ‡เธ„เธฃเนˆเธฒ


โดย: :เธ™เน‰เธณเธ‚เน‰เธฒเธง: IP: 125.24.41.0 วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:11:52:45 น.  

 
สำหรับกลอนบทที่ 140 ขอบพระคุฯมากๆเลยนะค๊ะ
เพราะต้องไปทำข้อสอบ

ขอบคุณที่สร้างสรรค์เว็บไซต์ดีดีแบบนี้


ขอบคุณอีกครั้งค่ะ


โดย: :: ll w n :: IP: 124.121.232.14 วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:06:09 น.  

 
ช่วยเอาบทที่ ๑๒๒.

ลงให้ดูหน่อยได้มั้ยค่ะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: ต้นข้าว IP: 124.120.241.61 วันที่: 5 สิงหาคม 2551 เวลา:21:12:53 น.  

 
๗๕. แลระบัดลาดท่งท้อง....ทิวพฤกษ์
มลักเห็นหมู่มฤค...............ครุ่นคร้าม
หวังหาคู่แนบนึก...............นุชนาฎ เรียมเอย
คิดเมื่อมาสมรห้าม............พี่ห้ามหวงโฉม

บาท ๑...แลเห็นทิวไม้ และท้องทุ่งลาดลงไป ใบไม้ก็กำลังแตกผลิ
บาท ๒...แลเห็นหมู่พวกเนื้อทราย ที่มีอาการคร้ามกลัวภัย (คำ ครุ่น
คร้าม ในบทนี้ อะไรเป็นประธาน จะว่า นายนรินทร ก็ไม่
น่าเป็นไปได้ เพราะพวกเนื้อนั้นไม่เป็นสัตว์น่ากลัว)
บาท ๓...บาทนี้ก็สงสัยว่าอะไรเป็นประธานของกริยา “หวังหาคู่”
จะเป็น นายนรินทร หรือ มฤค ขอสันนิษฐานว่า ประธาน
คือ นายนรินทร เมื่อนายนรินทรเห็นพวกเนื้อ (ซึ่งอยู่เป็นคู่ๆ)
ก็นึกถึงคู่ของตน คือ เมีย



๗๖.นางทรายจามเรศรู้......รักขน
คือนุชสงวนงามตน...........แต่น้อย
ตายองตอบตายล.............ยวนเนตร นางเอย
โฉมแม่บาดตาย้อย...........อยู่พู้นฉันใด

ความเปรียบเทียบในบทนี้ดี

บาท ๑ - ๒....ความที่นางทรายรู้จักรักขนของมันนั้น ก็เหมือนสตรี
สงวนความดีงามของตนมาตั้งแต่เยาว์วัย (กล่าวกันว่า...นางทรายนั้นเวลาวิ่งไปทางไหน ถ้าขนของมันไปติดอะไร จะ
ไม่ยอมกระชากขนของตัวเองจะต้องพยายามปลดขนของมันออก แม้จะมีศัตรูติดตามมา ก็ไม่ยอมให้ขนขาด นางทรายนี้คือตัวจามรี ซึ่งเป็นสัตว์มีขนยาว)
บาท ๓ – บาท ๔....แลเห็นตาของเนื้อยองที่มันมองมา ก็หวนนึกถึง
ตาของนาง สงสัยว่าน้องผู้มีรูปงามบาดตาและงามหยดย้อยนั้น อยู่ข้างหลังเวลานี้จะเป็นประการใดบ้าง

(ตาเนื้อทราย(ยอง) นั้น เขานิยมกันว่างามซึ้ง จึงมีคำ
เปรียบตาหญิงเหมือนตาเนื้อทราย)


๗๗. ขุนพาฬพยัคฆ์เคล้า...พยัคฆี
สารสู่สาวคชลี.................แหล่งเหล้น
ปวงสัตว์เพรียกไพรศรี.......สังวาส
สังเวชสมรมาเว้น..............พี่เว้นวายชม

บทนี้ทำนองสังวาสตลอด กล่าวว่า เสือผู้คู่กับนางเสือ ช้ายพลายคู่ช้างพัง ปวงสัตว์ผู้เมียทั้งหมายก็เคล้าคู่กัน แต่น่าอนาถที่น้องมาเว้นวายจากการเชยชม

ศัพท์...
- พาฬ........... สัตว์ร้าย
- พยัคฆ์........เสือตัวผู้
- พยัคฆี........เสื้อตัวเมีย
- สาร............ช้าง
- สาวคช.......ช้างพัง
- ลี................ลีลา ไป
- เหล้น..........เล่น (ในที่นี้ต้องการโท)
- เพรียก........มาก ทั่ว เต็ม
- สังวาส........สํ (ร่วม) + วาส (อยู่) = อยู่ร่วมกัน
- สังเวช.........ความสงสาร ความสลดใจ
- สมร............นาง นางงาม
๗๘. เนื้อเบื้อนาเนกล้ำ......หลายพรรณ
ล่าแหล่งลืมเกลียงวัน........แวะเว้น
ไพรพฤกษ์เงียบเซียบศัลย์...โศกแม่
แสนสัตว์ซบเซาเร้น...........ช่วยร้อนเรียมตรอม

บทนี้ตรงข้ามกับบทก่อน กล่าวว่าปวงสัตว์พากันเงียบ
เหงาซบเซา ราวกับจะช่วยร้อนอกร้อนใจแทน (นายนรินทร์)

ศัพท์...
- เบื้อ............เป็นคำสร้อยของเนื้อ ในที่อื่นหมายความว่าสัตว์
ชนิดหนึ่งรูปร่างคล้ายคน แต่ไม่มีสะบ้าหัวเข่า
- นาเนก........นานา+เอก = มากมาย
- ล่า..............จากไป ถอยไป
- เกลียง........หญ้า
- วัน.............วนะ ป่า
- ศัลย์..........หอก หลาว ของมีคม ในที่นี้หมายถึงความทุกข์
ความโศก อาจแปลว่าผ่าตัดก็ได้ เช่นศัลยกรรม




๗๙. ลมลงโลมลาดไม้......กฤษณา
โบกบอกนาสาหา.............กลิ่นต้อง
รอยอรร่ำพัสตรา..............ตากตรอก ลมฤา
พากลิ่นกลอยมาข้อง.........ค่าไม้หอมเหมือน

โคลงบทนี้แสดงความคิดทางกวีงดงามดีมาก คำที่นำมาใช้ก็ดี เช่น ลมลงโลมลาด ซึ่งหมายถึงอาการพัดอย่างเบาๆ ของลม

บาท ๑...ลมพัดผ่านต้นกฤษณา
บาท ๒...พาเอากลิ่นกฤษณามากระทบจมูก
บาท ๓...(ทำให้คิดว่า) ชะรอยนางร่ำผ้าของนาง แล้วตากไว้ให้ถูกลม
บาท ๔...ลมพากลิ่นผ้าของนางมา (ที่คิดดังนี้) เพราะว่ากลิ่นไม้
กฤษณานั้น หอมเหมือนกลิ่น (ผ้า) ของนาง

ศัพท์...
- โลม............ปลอบ แสดงความเอาใจ กอดรัด ในที่นี้ตามภาษา
กวีก็ว่า ลมกอดไม้กฤษณา คือ พัดมาถูกแต่เบาๆ
- ลาด............ปู ดาด เดิน ในที่นี้หมายถึงพัดผ่าน
- กฤษณา.......พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งกลิ่นหอม
- ร่ำพัสตรา.....ร่ำผ้า เป็นวิธีอบผ้าด้วยเครื่องหอม
- กลอย...........กลอยใจ นาง
- ค่า..............คำนี้แปลได้อย่างอย่าง เช่น ราคา ค่าที่ หรือ
อาจเป็น ค่าคบไม้


๘๐. หวนหอมการะเกดเกลี้ยง...เกล้าผม เจ้าฤา
อินทนิลคือแข่งคม............เนตรแต้ม
นมนางอับอายนม.............นุชนาฎ พี่เอย
ปรางเปล่งเปรียบกึ่งแก้ม....อ่อนช้ำคราวชม

บาท ๑...หอมดอกการะเกด เหมือนกลิ่นผมของนาง
บาท ๒...อินทนิล (ดอกสีม่วงเจือดำ) ราวกับจะแข่งความคมดำแห่ง
ตาของนาง
(สงสัยคำว่า แต้ม จะหมายความว่าอย่างไร จะหมายถึง
การที่หญิงบางคน เอาสีดำแต้มขอบตาให้แลดูซึ้งหรือ
อย่างไร)
บาท ๓...ต้นนมนางนั้นต้องอายนมของนางเป็นแน่
บาท ๔...ผลมะปรางสุกนั้น จะเปรียบได้เพียงครึ่งเดียวของแก้ม
ของนาง เมื่อแดงเรื่อ (ช้ำ) คราว (พี่) ชม



ศัพท์...
- เปล่ง..........เปล่งปลั่ง ในที่นี้หมายถึงมะปรางสุก
- อ่อน..........นาง


๘๑. จัมปาจำเปรียบเนื้อ.....นางสวรรค์ กูเอย
ศรีสุมาลัยพรรณ..............พิศแพ้
ช้องนางคลี่ระส่ายสรร.......สลายเซ่น
คือนุชสนานกายแก้..........เกศแก้วกันไร

บาท ๑...ถ้าจำเป็นจะต้องเอาดอกจำปาเข้าเปรียบกับเนื้อแห่งนาง
สวรรค์ของกู
ในที่นี้ให้สังเกตคำว่า กู ในที่อื่นเรามักจะพบคำว่า ข้า
เรียม พี่ คำว่า กู ในที่นี้นายนรินทรไม่ได้ตั้งใจจะใช้พูด
กับเมีย แต่พูดกับดอก จำปา
บาท ๒...สีของดอกไม้งาม (ศรีสุมาลัย คือ ดอกจำปา) นั้น ถ้าพิศ
ไปก็แพ้ผิวของนาง
บาท ๓...ต้นช้องนางคลี่ ห้อยย้อยลงมาเป็นสายๆ นั้น
บาท ๔...ก็คล้ายกับที่นางแก้ผมออกและกันไรผม เมื่อเวลานาง
อาบน้ำ

ศัพท์...
- เซ่น............เส้น (แต่ตรงนี้ต้องการเอก)
- ระส่าย.......กระจาย
- สลาย........แตก แยก


๘๒. สาวหยุดหยุดย่างช้า...หวังชัก ชวนแม่
รักใช่รักแรมรัก................สุดรู้
นางแย้มจะยลพักตร์.........ฤาพบ พานเลย
ซ่อนกลิ่นกลอยซ่อนชู้......ชื่อช้ำใจถวิล

ตอนนี้พรรณนาสพวกดอกไม้ คาบเกี่ยวไปถึงนาง บ้างก็เทียบในเชิงความหมาย บ้างเทียบในเชิงลักษณะ

บาท ๑...คำไม่สู้ชัดเจนนัก พอเห็นต้นสาวหยุด ก็หยุดเดินอยู่นาน
ด้วยหวังชวนนางให้เดินทางมาด้วย
บาท ๒...ต้น (ดอก) รัก (ที่เห็นอยู่นั่น) ก็คือ ความรักของเรา แต่
นางจะแรม (สิ้น) รักเสียแล้วหรืออย่างไร ก็สุดที่จะรู้ได้
บาท ๓...(เห็น) ต้นนางแย้ม (อันชื่อว่านางแย้มนั้นชวนให้คิดถึงหน้า
ของน้อง) แต่จะมองหานางก็ไม่พบเลย

บาท ๔...ต้นซ่อนกลิ่นนี้ชื่อร่วมกับต้นซ่อนชู้ เมื่อนึกถึงคำ ซ่อนชู้ ก็
นึกช้ำใจเป็นห่วงอยู่ (ว่านางจะมีชู้ได้)

โคลงบทนี้ เขียนเก็บความไว้ในใจมา คือพูดละไว้ให้ผู้อื่นคิดเอาเอง การถอดจึงเป็นเพียงคาดคะเนเท่านั้น เพราะไม่อาจพิสูจน์โดยทางความหมายของคำ และทางไวยากรณ์ให้ชัดเจนแน่นอนได้


๘๓. ขานางพิศภาคแพ้......พิมพ์เพลา นุชนา
กลกล่อมสองปลีเยาว์........ยาตรเยื้อง
เล็บนางเล็บนุชเบา............บอกคึ่ง พี่ฤา
หลงปัดเล็บนางเปลื้อง.......ปลาบเนื้อเรียมขนาง

บาท ๑...ต้นขานางนั้นมองดูแล้วก็แพ้รูปขาของนาง
บาท ๒...ปลีน่องทั้งสองของนางยามเดินนั้น แลดูกลมกลึง
บาท ๓...(เห็น) ต้นเล็บนาง (ก็ให้นึกถึง) เล็บของน้อง ที่หยิกพี่เบาๆ
เมื่อแสดงว่าโกรธพี่
บาท ๔...จึงหลงปัดต้นเล็บนางจนรู้สึกเจ็บมือ ก็ให้นึกอายใจ



ศัพท์...
- พิมพ์..........รูป แบบ
- กล.............เช่น เหมือน
- ปลี............ปลีน่อง ในที่นี้ใช้แต่ ปลี คำเดียว
ปรกติ ปลี ใช้ร่วมกับคำอื่นๆ เช่น ปลีกล้วย
- เยาว์..........อ่อน หมายถึง นาง


๘๔. พะยอมคิดเยาวแม่แย้ม...ยินดี
สีเสียดคือทรวงสี..............เสียดซ้อน
ชิงชันเฉกในที.................เชิงเกี่ยว กายแม่
หว้าดังวอนนางค้อน...........เคียดแกล้งเป็นกล

บาท ๑...(เห็น) ต้น (ดอก) พะยอม ก็คิดไปถึงเมื่อนางหัวเราด้วย
ความยินดี
บาท ๒...(เห็น) ต้นสีเสียด ก็คิดเมื่ออกเราชิดกัน
บาท ๓...(เห็น) ต้นชิงชัน ก็รู้สึกว่าเป็นเช่นเดียวกับที่รากอดรัดกัน
(การเปรียบเทียบในบาทนี้ ไม่สู้เข้าใจ)
บาท ๔...(เห็น) ต้นหว้าก็นึกถึงเมื่อพี่ ว่า (หว้า) วอนเมื่อนางทำ
มารยาว่าไม่พอใจ

๘๕. นกแก้วจับกิ่งแก้ว......กอดคอน
กลพี่กอดแก้วนอน............แนบเนื้อ
นางกวักนกกวักจร............จับกวัก ไกวแม่
หลงว่ากรนุชเกื้อ..............กวักให้เรียมตาม

บทนี้พรรณนาในเรื่องนก แต่ก็มีทำนองคาบเกี่ยวกับนางตามเคย ลักษณะการเปรียบเทียบนั่นคือ...
นกแก้ว...นึกถึง แก้ว (นางอันเป็นที่รัก) เปรียบในเชิงความหมายของคำ
นกกวัก...นึกถึงนางที่กวักมือ เปรียบทั้งในเชิงความหมายและกริยา

บาท ๓...นกกวักบินมาจับที่ต้นนางกวัก และกิ่งต้นนางกวักนั้น
แกว่งอยู่


๘๖. นางนวลจับแมกไม้.....นางนวล
นวลนุชแนบเรียมควร........คู่แคล้ว
เบญจวรรณจับวัลย์พวน......พันโอบ ไม้แม่
แลว่าวัลย์กรแก้ว..............กอดอ้อมเอววัลย์

บาท ๑...จะเห็นว่าคำ นวล มีความหมายถึง ๓ อย่าง นกนางนวล
ต้นนางนวล และ นวล (นาง)
บาท ๒...นางควรจะมาแนบข้างเป็นคู่เดินทาง
บาท ๓ – ๔...นกเบญจวรรณจับเถาวัลย์ที่พันอยู่รอบๆ ต้นไม้ ก็ให้
นึกถึงมือของนางที่กอดเอวของพี่ คำว่า วัลย์ (เถาไม้เลื้อย) ในบาท ๓-๔ นั้น มีความหมายถึง ๓ อย่าง คือ
วัลย์...หมายโดยตรงถึงเถาไม้เลื้อย
วัลย์กร...หมายถึง มือ (โดยการเปรียบกับเถาวัลย์)
เอววัลย์...หมายถึง เอว (โดยการเปรียบกับเถาวัลย์)

ศัพท์...
- พวน...........เชือก (ในที่นี้เป็นความหมายเชิงเทียบเคียงว่า
เถาวัลย์นั้นเหมือนเชือก)


๘๗. โนรีสีชาดย้อม..........ระยับแดง
นกขะมิ่นชมพูแสง............แสดผ้า
ปนแปลกนึกนางแปลง.......สไบเปลี่ยน
เย็นห่มแสดสีฟ้า...............ฝ่ายเช้าเคยชม


บาท ๑...นกโนรีสีแดงระยับเหมือนกับย้อมด้วยชาด
บาท ๒...นกขมิ้นสีชมพูเหมือนนกปลีสีผ้าแสด
บาท ๓...สีผ้ากับสีนกมาปนกันดังนี้ ทำให้แปลกใจว่า นางเอาผ้าสไบ
มาให้นกไว้หรืออย่างไร
บาท ๔...(ด้วยพี่เคยชมผ้าสไบที่นางห่ม) สีแสดเวลาเย็น ห่มสีฟ้า
เวลาเช้า

คำว่า สีฟ้า นั้นเป็นสีเทาเจือน้ำเงิน สีนี้จะสวยอย่างไร นึกไม่เห็น หรือจะหมายถึง สีฟ้าเวลาเช้า คือ แดงเรื่อๆ

ศัพท์...
- ชาด...........สีแดงสด (เดิมเป็นผง หรือ ก้อน ใช้ประสมกับน้ำมัน
สำหรับเป็นสีประตรา)
- แสด............สีแดง เจือเหลือง


๘๘. แขกเต้าตามคู่เต้า......แขกสมร มาฤา
ถามข่าวนุชแหนงจร..........จับไม้
สัตวาสุวาวอน..................วานหน่อย นกเอย
บอกสมรเรียมไห้ให้..........ข่าวน้องมาแถลง

บาท ๑...นกแขกเต้าที่บินตามคู่อยู่นั้น ได้ไปหานางมาหรืออย่างไร
(เชิงเทียบตอนนี้เพ่งถึงความหมายของคำ เต้า (ชื่อนก) กับ
เต้า (ไป) แขก (ชื่อนกแขกเต้า) กับแขก (ไปเยี่ยม มาเยี่ยม
ผู้มาเยี่ยม)
บาท ๒...(พอพี่) จะถามข่าวถึงน้อง (นก) ก็หนีไปจับเสียที่ต้นไม้
บาท ๓...นกสัตวา และนกสุวา ทั้งสอง (ข้า) ขอวอนให้ช่วยหน่อยเถิด
บาท ๔...(เจ้าทั้งสอง) จงไปบกนางว่า (ข้า) ร้องห่มร้องไห้ และขอให้
นางแจ้งข่าวของนางมาให้ข้ารู้บ้าง


๘๙. เสนาะเสียงสุโนกร้อง...ระงมวัน
สาลิกามาปัน...................เหยื่อป้อน
นางนกกระสรวลสันต์........สมเสพ
คือนุชแนบโอษฐ์อ้อน.......แอบให้เรียมโลม

โคลงบทนี้นับว่ามีเสียงและทำนองไพเราะบทหนึ่ง

บาท๑...ได้ยินเสียงนกร้องไพเราะดังทั่วไปทั้งป่า
บาท๒...นั่น..นกสาลิกาบินเอาเหยื่อมาป้อน (ลูกและให้แม่นก)


บาท๓...นางนกสาลิกามีความยินดี และกินอาหารร่วมกับผัวของมัน
(บางท่านว่า นางนกกระสรวลสันติ์ นั้น หมายถึง นาง
นกกระ ข้าพเจ้าว่าไม่น่าเป็นดังนั้น เพราะคำว่า ป้อน ในบาท
๒ ยังลอยๆอยู่ ทีนี้คำว่า กระ จะหมายความว่าอย่างไร ข้าพเจ้าว่า กระ นั้นต่อกับสรวล คือ กระสรวล - กำสรวล หมายถึง นกสาลิกาตัวเมียร้องเมื่อเห็นสาลิกาตัวผู้บินหาเหยื่อ กลับมานั่นเอง)
บาท๔...การที่นกทั้งคู่ป้อนเหยื่อกันนั้น ก็เปรียบเหมือนน้องนั่งแนบ
ข้างพี่ และพูดจาด้วยคำอ่อนหวานพาใจให้พี่ใคร่ชมเชย


๙๐. เรียมเมิลโมเรศเคล้า...โมรี
นางมยุรยวนยี.................ยั่วเย้า
เฉกโฉมแม่มังสี...............เสาวภาคย์ กูเอย
แลนกลอบนึกเจ้า.............พี่ดิ้นโดยยูง

บาท ๑...(อาการที่นางนกยูงทำกิริยายั่วเย้ายูงผู้นั้น) ก็เช่นเดียวกับ
น้องผู้มีผิวอันงาม (ยั่วเย้าเราเหมือนกัน)



ศัพท์...
- เมิล............ดู (เขมร)
- โมเรศ.........โมรา + อีศ ยูงตัวผู้
- โมรี............ยูงตัวเมีย
- มังสี............เนื้อ มังสีเสาวภาคย์ คือ เนื้องามผิวงาม
- เฉก.............เช่น


๙๑. ยกมาออกอ่าวน้ำ.......นามนาง รมนา
นางบ่เห็นเห็นบาง.............เปล่าเศร้า
ฉมนางชไมปราง..............สมรมิ่ง กูเอย
ดินหื่นหอมฟ้าเร้า..............รื่นร้างอภิรมย์

บาท ๑...ยกทัพมาถึงอ่าวตำบลบางนางรม
บาท ๒...มาถึงแล้ว กลับแลเห็นแต่บาง ไม่พบนาง (สมชื่อตำบล) ก็ให้
เปล่าใจ และเศร้าใจ
บาท ๓...(ได้แต่กลิ่น) หอมดังแก้มทั้งสองของน้องที่รัก
บาท ๔...ที่ได้กลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งฟ้า และดินดังนี้ พอจะรู้สึกชื่นใจ
ในยามที่จากนางมา


บาท๓ บาท๔ นั้นไม่สู้เข้าใจนัก อาจเป็นว่าพอนายนรินทร์
มาถึงตำบลบางนางรมนี้ จะได้กลิ่นอะไรหอมฟุ้งไปหมด จึงเขียนไว้ในโคลงบทนี้

ศัพท์...
- ฉม.............กลิ่นหอมฟุ้ง
- ชะไม..........คู่ ทั้งสองปราง....แก้ม (อย่าไปปนกับ ปรางค์ ซึ่งหมายถึง สถูปยอดแหลม)


๙๒. นางรมรมเยศร้าง.......รมยา
กลพี่จากเจียนกา.............เมศม้วย
ฤาหากแม่มายา...............พิโยคหยอก เรียมฤา
มาแม่สำราญด้วย.............พี่น้อยนางรม

บาท ๑...ตำบลนางรมนี้ (ทำให้นึกถึง) ความยินดี ความพอใจ
(รมเยศ) แต่ก็ไม่เห็นความน่ายินดี (รมยา) ที่ไหน
บาท ๒...ก็เช่นเดียวกับที่พี่จากความรัก (คือนาง) มาแทบตาย
(เพราะความรัก)
บาท ๓...(ที่แลไม่เห็นน้องดังนี้) น้องจะแกล้งหลบตัวล้อพี่เล่นกระมัง

บาท ๔...นางที่รัก เอย เชิญแม่มาสำราญกับพี่สักน้อยเถิด (คำว่า
นางรม นั้นเป็นชื่อตำบล แต่ รม พ้องกับ รมย์ นางรม ซึ่ง
หมายถึงหอย ถ้าฟังแต่เสียง ก็เป็น นางรมย์ (นางที่รัก) ได้)


๙๓. บางสะพานสะพาดพื้น...สะพานทอง
ฤาสะพานสุวรรณรอง........รับเจ้า
อ้าโฉมแม่มาฉลอง...........พิมพ์มาศ นี้ฤา
รอยร่นเหนือบ่าเบ้า...........แบบเนื้อนพคุณ

โคลงบทนี้นับว่ามีโวหารคมคายดีบทหนึ่ง ตำบาลบางสะพาน เคยมีชื่อเสียงมาก เพราะมีบ่อทอง (มีชื่ออีกชื่อว่า กำเนิดนพคุณ อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

ข้อความในโคลงบทนี้ออกจะกระจายๆ ไม่สู้ต่อเนื่องกัน และไม่ค่อยเข้าใจได้ชัด

บาท ๑...ตำบลบางสะพานมีสะพานทองพาดเต็มไปทั้งนั้น (อาจ
หมายความถึงสะพานที่บ่อทอง หรือ สะพานที่พาดไว้
สำหรับลงไปร่อนทอง)
บาท ๒...สะพานทองเหล่านี้เขาทำไว้รับน้องกระมัง
บาท ๓...หรือว่า น้องเคยมาที่นี่ มาหล่อตัวในเบ้าทอง (น้องจึง
สวยงามนัก
บาท ๔...(พี่จึง) ยังเห็นเศษทองที่ล้นเบ้า เมื่อคราวหล่อตัวน้อง
(อันมีเนื้อดังทองนพคุณ)

ศัพท์...
- นพคุณ.......ทองเนื้อเก้า เป็นทองเนื้อที่ดีที่สุด ที่เรียกว่า
เนื้อเก้า คือ เก้า เท่าของราคาเงิน แต่ก่อนถือว่า ถ้าทองหนัก ๑ บาท เท่ากับ เงินราคา ๙ บาทแล้ว เป็นทองเนื้อดี เวลานี้ราคาทองสูงกว่าราคาเงินมาก
- สะพาด.......พาด รอง


๙๔. บางสะพานสะพาดพื้น...ทองปาง ก่อนแฮ
รอยชะแลงชระลุราง.........ร่อนกลุ้ม
ระลึกโฉมแม่แบบบาง........บัวมาศ กูเอย
ควรแผ่แผ่นท้องหุ้ม..........ห่อไว้หวังสงวน

บทนี้ ความต่อจากบทที่ ๙๓


บาท ๑...ตำบลบางสะพานี้ แต่ก่อนเต็มไปด้วยทอง
บาท ๒...ยังแลเห็นรอยขุด และรางร่อนทางมากมาย
บาท ๓...(ได้เห็นแล้ว) ก็ให้นึกถึงโฉมอันแน่งน้อยของนาง
บาท ๔...นางนั้นควรจะเอาแผ่นทองหุ้มห่อสงวนไว้

ศัพท์...
- สะพาด......ในบาท ๑ ควรจะแปลว่า มาก
- ชะแลง........เครื่องขุด เครื่องงัด เป็นเหล็กปลายแบน
- ชระลุ..........ปรุ ฉลุ สลัก
- บัวมาศ.......บัวทอง นม (หมายถึง นาง ก็ได้)


๙๕. เห็นขามสาวบ่าวต้น....เคียงกัน
สาวบ่าวปลูกสำคัญ...........คู่สร้าง
เสมอเรียมร่วมรักขวัญ.......เมืองมิ่ง แม่ฤา
สองประสิทธิ์สัตย์อ้าง........ปลูกไว้กลางใจ

ตอนนี้มาถึง ตำบลขามสาวบ่าว ซึ่งเป็นตำบลที่มีนิทานประกอบว่า มีชายหนุ่มหญิงสาว มาปลูกต้นมะขามอธิษฐานไว้


บาท ๑...เห็นต้นมะขาม ๒ ต้นเคียงกัน เป็นต้นมะขามที่บ่าวสาว
คู่หนึ่งปลูกไว้
บาท ๒...บ่าวสาวคู่นั้นปลูก (ต้นมะขาม) ไว้เป็นสำคัญ (อธิษฐาน)
ว่า ขอให้ได้เป็นผัวเมีย (คู่สร้าง) กัน
บาท ๓...ก็เช่นเดียวกับพี่และน้องได้ร่วมรักกัน
บาท ๔...แต่ความสัตย์ ที่เราทั้งสองให้ไว้แก่กันนั้น เราได้ปลูกไว้
กลางหัวใจ

ศัพท์...
- ขวัญเมือง....นาง
- ประสิทธิ์......ความสำเร็จ ความรู้ แต่เรามักใช้ในความหมายว่า
ให้


๙๖. ยกมามาอกไหม้........ทรมาน
ถึงที่นามละหาน...............อู่แห้ง
นุชเอยจักหาธาร..............ทาอก พี่แม่
อู่ก็แล้งชลแล้ง................อกแล้งลืมงาย

ตอนนี้มาถึงตำบลอู่แห้ง

บาท ๓...ธาร ทาอก คือ หาน้ำทาอก (ลูบอก)
บาท ๔...งาย เวลาเช้า เวลาสว่าง

สงสัยว่า อกแล้ง แล้วทำไมจึง ลืมเวลาเช้า คำว่า งาย ในที่นี้น่าจะหมายถึง เวลาทั่วๆ ไป คือ ความที่อกแล้ง (แห้ง) ทำให้มึนมัวจนลืมไม่รู้ว่าเวลาไหนเป็นเวลาไหน


๙๗. หมอนเจ้าเขาเทพไท้...สถิตสิง
คิดคู่เขนยอรอิง...............ร่วมร้าง
เขนยทองทอดกายพิง.......พูนเทวษ ฤาแม่
นอนจะแนบเขนยข้าง........คู่เนื้อเรียมถนอม

มาถึงตำบลเขาหมอนเจ้า ที่เขาลูกนี้มีเทพารักษ์สิงอยู่

บาท ๑...มาถึงเขาหมอนเจ้า อันเป็นที่เทพารักษ์สิงอยู่
บาท ๒...ให้คิดถึงหมอน ที่พี่และน้องหนุนร่วมกัน และพี่ก็ร้างหมอน
บาท ๓...เวลานี้น้องคงจะทอดกายพิงหมอนอยู่ด้วยความเศร้าโศก
กระมัง
บาท ๔...เวลานอน น้องก็คงได้แต่นอนแนบหมอน และ ก็จะมีแต่
หมอนเท่านั้น ที่จะเป็นคู่ของน้องที่รักของพี่
๙๘. ลองไนจักจั่นแจ้ว......ใจรัว รัวแม่
ชะนีร่ำโหยหาผัว..............ผ่าวไส้
ดวงเดียวเด็ดแต่ตัว...........ตกป่า ชัฏแม่
จากสมรพี่มาไห้...............แห่งห้องชะนีโหย

บาท ๑...ได้ยินเสียงจักจั่น และลองไน ร้องแจ้วๆ หัวใจ (พี่) ก็สั่นริกๆ
บาท ๒...(ยิ่งได้ฟัง) ชะนีร่ำร้องหาผัว ก็ให้ระทมใจ
บาท ๓...พี่จากนางมาตกอยู่ในป่าชัฏ แต่เพียงคนเดียว (ความจริง
มาทั้งกองทัพ แต่ตามความรู้สึกของนายนรินทรนั้น เหมือนอยู่คนเดียว เพราะไม่มีนางมาด้วย อนึ่งคำว่า ดวงเดียว ก็น่าสงสัย จะหมายถึงอะไร หมายความถึง หัวใจ คือ ดวงเดียวเด็ด หมายความว่า หัวใจของพี่เด็ดไว้ในห้อง ส่วนตัวของพี่มาตกอยู่ในป่าชัฏ)
บาท ๔...พี่จากนางมาร้องไห้อยู่ในป่ากับพวกชะนี

ศัพท์...
- ผ่าวไส้...ร้อนในไส้ หมายถึง เป็นทุกข์ ระทมใจ
- ชะนีร่ำโหยหาผัว...เชื่อกันว่า ชะนี คือ นางโมรา กลับชาติ
มาเกิด นางโมรา คือ ตัวนางเอกในเรื่อง จันทโครบ เมื่อพระจันทโครบมาพบโจรกลางป่า เกิดแย่งพระขรรค์กัน นางโมราซึ่งถือพระขรรค์อยู่ เห็นรูปร่างโจรก็นึกรัก จึงส่งด้ามพระขรรค์ให้โจร ส่งปลายพระขรรค์ให้พระจันทโครบ พระจันทโครบจึงถูกโจรฆ่าตาย นางโมราจึงถูกสาปให้เป็นชะนี เวลาชะนีเห็นท้องฟ้าแดง หรือ ดวงตะวันแดง จะนึกว่าเป็นเลือดผัวในชาติก่อน จึงส่งเสียงร้องผัวโวยๆ


๙๙. รอยกรรมมาแบ่งแก้ว...กับสกนธ์ กูเอย
ขวัญอยู่อยุธยาตน............ต่างร้าง
โอ้ดวงทิพยสุมณ..............ฑามาศ แม่เอย
บุญที่สมสองสร้าง............จักสิ้นฤายัง

โคลงบทนี้นับว่ามีโวหารดีมากบทหนึ่ง

บาท ๑...ชะรอยกรรมจะมาแยกนางกับตัวของเรา
บาท ๒...นางจึงอยู่ที่อยุธยา ส่วนตัวเราร้างมา
บาท ๓...โอ้ แม่ดวงดอกฟ้าของข้าเอ่ย
บาท ๔...บุญที่เราทั้งสองได้ร่วมทำมานั้น จะหมดเสียแล้ว หรือ
ยังคงอยู่ (หมายความว่า จะได้มีชีวิตกลับคืนไปหานางอีก
หรือไม่)

ศัพท์...
- สกนธ์.........ร่างกาย ขันธ์ (บาลี)
- ขวัญ..........นาง
- อยุธยา.......หมายถึง กรุงเทพมหานคร ถ้าพูดถึงเมืองไทย หรือ
นครหลวง คนแต่ก่อนยังเรียกอยุธยาอยู่
- ดวงทิพย์สุมณฑามาศ...นาง ผู้หญิง
- สุมณฑา.....สุ (ดีงาม) + มณฑา (ดอกไม้)


๑๐๐. ควิวควิวอกควากคว้าง...ลมลอย แลแม่
ถอยแต่ใจจากถอย...........ทับช้า
ทศทิศทอดตาคอย...........ขวัญเนตร พี่เอย
เอาสไบนุชต่างหน้า...........แนบเนื้อแทนนาง

บาท ๑...หัวอกเหมือนขาดหลุดจากกายและลอยไป
บาท ๒...ใจที่จากมานั้นถอยกลับไปหานาง แต่กองทัพนั้นช่าง
ถอยกลับ (คือเลิกทัพ) ช้าเหลือเกิน
บาท๓...(พี่) ตั้งตาคอยดูน้องทั้งสิบทิศ (ก็ไม่เห็น)
บาท๔...(จึงได้แต่) ใช้ผ้าสไบของน้องดูต่างหน้า และนอนกอดสไบ
แทนตัวน้อง

ศัพท์...
- ควาก.........แตก แยก (ความหมายโดยเสียง)
- ควิวควิว.....ลิ่วๆ หวิวๆ (ความหมายโดยเสียง)
- ขวัญเนตร...นาง




โดย: สดายุ... วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:7:21:54 น.  

 
๑๐๑. พระลบสุริยเลี้ยว......ไศลลา โลกเอย
ทุกทิศชระมัวมา...............มืดแล้ว
เนตรหนึ่งว่ายนภา.............เพียงเมฆ
เนตรหนึ่งตรวจไตรแผ้ว......แผ่นหล้ามาสมร

ตอนที่เขียนนี้แสดงว่า เป็นเวลาพลบค่ำ

บาท ๑...ดวงตะวันลับเหลี่ยมเขา ลาโลกไปแล้ว
บาท ๒...ความมืดแผ่เข้ามาทุกทิศแล้ว
บาท ๓...ตาหนึ่ง (ของพี่) มองกวาดไปในท้องฟ้าไปจนจดก้อนเมฆ
บาท ๔...อีกตาหนึ่งตรวจค้นหาน้องบนพื้นแผ่นดิน




ศัพท์...
- พระลบ.......พลบ เวลาเริ่มค่ำ
- ชรมัว..........มืดคลุ้ม
- ว่ายนภา......เป็นภาษากวี ตาว่ายไปในฟ้า หมายความมอง
กวาดไป
- ตรวจไตร.....ค้นดู ค้นหา
- แผ้ว............สะอาด ราบ เตียน ในที่นี้หมายความว่า ทั่ว


๑๐๒. โพธิ์สลับโพธิ์เทพไท้...เทพา พ่อฤา
เอาพระโฆษผยองยา........สวาทชู้
อาราธน์พระเอยอา...........รักษ์เร่ง ราพ่อ
เชิญช่วยพาสมรู้...............รสน้องแรมนาน

มาถึงตำบลโพธิ์สลับ พอมาถึงตำบลนี้ ก็นึกถึงพระโพธิ์เทพารักษ์ในเรื่องสมุทรโฆษ เนื้อเรื่องนั้นว่า พระสมุทรโฆษไปประพาสป่า ไปประทับแรมใต้ต้นโพธิ์ ก่อนบรรทมได้กล่าวบวงสรวงพระโพธิ์เทพารักษ์ พระโพธิ์ได้ยินคำบวงสรวงก็เกิดเมตตา ครั้นพระสมุทรโฆษบรรทมหลับ ก็อุ้มพระสมุทรโฆษไปสมนางพินทุมดี ธิดาแห่งกรุงรมยนคร ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง พระโพธิ์เทพารักษ์ก็กลับไปอุ้มพระสมุทรโฆษซึ่งกำลังหลับอยู่บนแท่ กลับมาไว้ที่รถตรงใต้ต้นโพธิ์ ครั้นเวลารุ่งเช้า นางพินทุมดี และพระสมุทรโฆษต่างก็คร่ำครวญหากัน นางพินทุมดีนั้นมีพี่เลี้ยงชื่อ ธารี เป็นหญิงมีฤทธิ์ ครั้นทราบว่านางพินทุมดีโศกเศร้าเรื่องอะไร ก็เหาะไปพาพระสมุทรโฆษมาให้ได้พบกับนาง


๑๐๓. ลับยักษ์ลับเยาวให้...เรียมหา แม่แฮ
ฤาอสุรพาลพา.................แวะเว้น
ลับหลังพี่ลับตา................แสนโยชน์
รำลึกลับนุชเร้น................ร่วมรู้ในใจ

บาท ๑...ถึงตำบลลับยักษ์ (พี่) จากน้อง (ไม่เห็นตัวนาง) จึงได้แต่
มองหาน้องอยู่
บาท ๒...หรือว่ายักษ์ใจพาลจะพานางไปไว้เสียที่ไหน (ในบาทนี้
สงสัยคำว่า เว้น ฟังดูไม่เข้ากับเนื้อความ หรือ เป็นคำสร้อย
ของ แวะ)
บาท ๓...น้องอยู่ลับหลังพี่ ไกลตาตั้งแสนโยชน์ (ความจริงไม่ถึงแสน
โยชน์ แต่พูดตามอารมณ์กวี)
บาท ๔...บทนี้ไม่ค่อยเข้าใจความชัด พอจะเดาความได้รัวๆ ว่า
ถึงแม้จะจากนางมาไกล แต่ยังรำลึกได้ถึงสิ่งที่เราเคยร่วมรู้
กันสองคน
๑๐๔. ยากมาเมืองแม่น้ำ....ใจหมอง
เมืองก็ศูนย์กลสอง............สวาทว้าง
ขวัญเมืองอยู่เมืองครอง.....ใจเครา พี่ฤา
ฤาพี่จากมาค้าง................ขวบแล้วนางลืม

บาท ๑...ยกทัพมาถึงตำบลเมืองแม่น้ำ ให้รู้สึกไม่สบายใจ
บาท ๒...เมืองที่ตรงนี้ก็ศูนย์ไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับที่เราทั้งสองศูนย์
ความรัก
บาท ๓...น้องอยู่ที่เมือง จะยังคอยพี่อยู่หรืออย่างไร
บาท ๔...หรือการที่พี่จากมาตั้งปีนั้น จะทำให้น้องลืมพี่เสียแล้ว


๑๐๕. อู่สะเภาพาณิชใช้.....ใบคลา
ทุกข์พี่พ้นเภตรา...............เลื่อนโล้
จากสมรแม่เสมอมา..........กลางสมุทร
แลบ่เห็นตระหลิ่งโอ้..........อกคว้างกลางชล

บาท ๑...มาถึงตำบลอู่สะเภา (เมื่อได้ยินคำ อู่สะเภา ก็นึกถึง) พวก
พ่อค้าที่ใช้เรือแล่นใบเดินทางไป
บาท ๒...ทุกข์ของพี่ยิ่งกว่าเรือที่แล่นไปนั้นเสียอีก (ที่เปรียบกับเรือ
เพราะเรือบรรทุกของ) คำบรรทุก-ทุกข์ เสียงคล้ายกัน)
บาท ๓...พี่จากนางมานี้เปรียบเหมือนมาอยู่กลางทะเล
บาท ๔...มองไม่เห็นตลิ่ง มาเคว้งคว้างอยู่กลางน้ำ (คำว่า โอ้อก
นั้นเป็น อุทาน)

ศัพท์...
- พาณิช........พ่อค้า พาณิชย์ - การค้าขาย
- เภตรา.........เรือ
- โล้...............ทำให้แล่นไป โล้เรือ
- ตระหลิ่ง.......ตลิ่ง แผลง ต เป็น ตระ


๑๐๖. หนองบัวบงกชช้อย...ชูชวน ชื่นเอย
บัวดั่งบัวนุชอวล...............อ่อนน้ำ
กระบอกทิพย์ผกากวน.......กาเมศ กูเอย
ภุมเรศแรมรสกล้ำ............กลีบฟ้ายาไฉน

บาท ๑...มาถึงตำบลหนองบัว เห็นบัวขึ้นงอกงาม ชวนชื่นใจ
บาท ๒...บัวนั้นเหมือนกับบัวของน้อง
บัวของน้อง = นม
อวล = หอม
อ่อนน้ำ = งามอยู่ในน้ำ หมายความเพิ่งตูม
บาท ๓...กระบอกทิพย์ผาก เป็นคำกล่าวเชิงเทียบหมายถึง นม
ดอกไม้สวรรค์อันตูมนั้น กวนให้ข้าเกิดความใคร่
บาท ๔...คำว่า กลีบฟ้า ก็เป็นคำกล่าวเชิงเทียบ หมายถึง นม ก็ได้
แมลงภู่ (คือตัวนายนรินทร) ได้จากการ่วมรสมาดังนี้
กลีบฟ้า (น้อง – นม) บัดนี้จะเป็นประการใด

คำว่า ยา นั้น สงสัยว่าจะหมายถึง พี่ยา หรือ ยาใจ น้องยา ดูตามความของบทนี้ น่าจะหลายถึง น้องยา

ศัพท์...
- บงกช.........บัว
- กาเมศ........กาม + อีศ (คำสกรรถ)
- ภุมเรศ........ภมร + อีศ (คำสกรรถ)


๑๐๗. ศิขรศิขเรศเงื้อม......เงางาม
แลเล่ห์ฉากเขียนเขา.........คั่นห้อง
พ่างเพียงแผ่นผาเฉลา.......ฉลักลวด ลายแฮ
กลหนึ่งเตียงนอนน้อง........ม่านกั้นกำบัง


คำ ศิขร ในบาทหนึ่งมีผู้สงสัยว่า จะเป็นด่านสิงขร แต่เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะนายนรินทรไปไม่ถึงที่นั่น
บาท ๑...(แลเห็น) ภูเขาสูง (สลับซับซ้อน) งดงาม
บาท ๒...เหมือนภูเขาที่เขียนไว้บนฉากที่คั่นห้อง
บาท ๓...ภาพภูเขาเหล่านี้ (อีกทีหนึ่ง) เปรียบเหมือนม่านที่บังเตียง
นอนของน้อง)
บาท ๔...มองดูภูเขาเหล่านี้ (อีกทีหนึ่ง) เปรียบเหมือนม่านที่บังเตียง
นอนของน้อง)

คำว่า ศิขรศิขเรศ นั้น บางท่านแปลว่า ยอดเขาน้อย ยอดเขาใหญ่ แต่ศัพท์ แปลว่า เขา – เขา (ศิขร + ศิขร) ซ้ำกันเท่านั้นเอง

ศัพท์...
- เล่ห์............ เงื่อน อุบาย ล่อลวง คล้าย เปรียบ


๑๐๘. ผาเผยพุพ่างน้ำ.......ฝอยฝน
คือสุหร่ายโรยชล.............ช่วยร้อน
สาครร่วมสรงสกนธ์..........ไกลพี่ แล้วแม่
อ้าแม่เอยจักอ้อน.............อาบน้ำตาแทน
บาท ๑...ที่ผาแห่งหนึ่งมีพุพลุ่งออกมา ดังฝอยฝน
บาท ๒...คล้ายๆ กับสุหร่ายที่โปรยน้ำ มาช่วยระงับความร้อน
บาท ๓...น้ำ – ที่เราใช้อาบร่วมกันนั้น ยู่ไกลพี่เสียแล้ว
บาท ๔...น้องของพี่จะโศกเศร้า (ร้องไห้) อาบน้ำตาแทนน้ำ

ศัพท์...
- สุหร่าย.......ฝักบัว ที่ใช้โปรยน้ำ
- สาคร.........น้ำ
- อ้อน...........ร้องไห้


๑๐๙. เคยปรุงประทิ่นแป้ง....ปนละออง อบเอย
สรงสว่างใจสอง...............ครุ่นครั้ง
จอกจันทร์จากจรุงหมอง.....ราแม่
พานใส่เสาวคนธ์ตั้ง...........แต่งให้ใครทา

ให้สังเกตว่า ตั้งแต่โคลงบาทที่ ๑๐๗ นายนรินทรพูดถึการอาบน้ำ แล้วความคิดก็ต่อเนื่องมาถึงบทที่ ๑๐๙ – ๑๑๐ เกี่ยวกับเรื่องอาบน้ำทั้งนั้น


บาท ๑...(ครุ่นคิดเมื่อครั้ง) เคยใช้แป้งหอมปรุงกับน้ำอบ
บาท ๒...ใช้แป้งปรุงนั้นทาตัวสบายใจทั้งสองคน
บาท ๓...จอก (ที่ใส่) กระแจะจันทร์นั้น เมื่อ (พี่) จามาคงคลายหอม
แล้วกระมังน้อง
บาท ๔...ส่วนพานที่ใส่น้ำหอมตั้งไว้นั้น น้ำหอมจะให้ใครทา

ศัพท์...
- ประทิ่น.......เครื่องหมอ หอม
- สรง............อาบ ทา
- จรุง............หอม ยั่วใจ
- เสาวคนธ์....เสาว (สุ = ดี) คนธ์ (กลิ่น) กลิ่นหอม น้ำหอม


๑๑๐. คันฉายคันฉ่องน้อย....เสนียดนาง พี่เอย
จากจะลืมเสยสาง.............สระเผ้า
โศกเสียสิ่งสำอาง.............อายโอ่ ฤาแม่
พักตร์จะผัดผจงเกล้า.........เยี่ยมแย้มแกลคอย

บาท ๑...คันฉาย คันฉ่อง อันน้อยๆและหวีเสนียดของนาง
บาท ๒...(เมื่อพี่) จากมานางคงจะลืมสระผม...หวีผม

บาท ๓...คงจะมีแต่ความโศก ละทิ้งเครื่องสำอาง เพิกเฉยต่อ
ความงามเสียแล้วกระมัง
บาท ๔...(หรือว่า) แม่จะผัดหน้า เกล้าผม เยี่ยมหน้าต่างคอยพี่อยู่

ศัพท์...
- คันฉาย......กระจกส่องมีด้ามถือ
- คันฉ่อง......กระจกตั้ง
- เสนียด.......หวีฟันถี่
- แกล...........หน้าต่าง
- สิ่งสำอาง....เครื่องหอม


๑๑๑. หลัดหลัดพลัดพรากแก้ว...กานดา พี่เอย
ลิ่วแต่ตัวเรียมมา..............ตกไร้
ขวัญแขวนอยู่ขวัญตา.......ทุกเมื่อ
เรียมร่ำไข้ฟ้าไข้................แผ่นพร้องรำพัน

บาท๑...อยู่หลัดๆ ก็ต้องมาพรากจากน้องที่รักของพี่ไป
บาท๒...ตัวพี่จากมาตกไร้อยู่ห่างไกล
บาท๓...(แต่) ขวัญ (คือใจ) ของพี่ยังคงอยู่กับน้องทุกเวลา

บาท ๔...พี่ร่ำไห้ เป็นทุกข์และรำพันถึงน้อง (และ) ท้องฟ้าก็ดู
คลุมเครือดังจะเป็นไข้ (ใจ) อย่างพี่

(บาท๔ นี้แม้จะไม่มีคำศัพท์ที่ยากเลย แต่นายนรินทร์ก็ละ
คำไว้ในฐานที่เข้าใจ จนไม่อาจตีความให้ชัดเจนได้)

ศัพท์...
- กานดา....... เมีย หญิงที่รัก
- ขวัญ..........มิ่งขวัญ ที่ประจำอยู่กับตัวคน จะหมายถึงจิตใจก็ได้
- ขวัญตา......นาง เมีย หญิงที่รัก
- พร้อง.........พูด กล่าว


๑๑๒. ลงลุแก่งตุ่มตั้ง........โศกา
แสนตุ่มตวงชลนา.............พี่พ้น
กลืนโศกสุดอกอา............ดูรเทวษ วายเลย
ซับแต่สายเนตรล้น...........ลูบร้อนฤาเย็น

บาท ๑...กองทัพมาถึงตำบลแก่งตุ่ม (พี่) ก็ได้แต่โศกเศร้า
บาท ๒...น้ำตาของพี่นั้น แม้จะเอาตุ่มตั้งแสนมาตวง (ใส่) ก็ไม่พอ

บาท ๓...(พี่) ได้แต่คอยซับน้ำตาที่ล้นเบ้าตาไหลออกมา ใช้น้ำ
ลูบกาย น้ำก็ร้อน ไม่รู่สึกเย็นเลย

ศัพท์...
- ชลนา........น้ำตา ควรเป็น ชลนัยนา (ตัดคำกลาง นัย ออก)
- อาดูร.........เดือนร้อน เจ็บปวด ซอกช้ำ


๑๑๓. คุลาตีอกไห้............หาใคร
นามจึ่งปรากฏใน..............แก่งนี้
เจ็บจากพี่เจ็บใจ...............เจ็บยิ่ง เจ็บฤา
เจ็บบ่ปานกูลี้...................ลาดข้อนทรวงครวญ

บาท ๑...ตำบลแก่งคุลาตีอก (ที่ชื่ออย่างนี้นั้น เพราะ) คุลาตีอก
ร้องไห้หาใครหรือ
บาท ๒...จึงมีชื่อปรากฏที่แก่งนี้
บาท ๓...การที่พี่จากมานั้น เจ็บยิ่งกว่าสิ่งใดๆ (บาท ๓ – ๔ เล่นคำ
เจ็บ)
บาท ๔...เจ็บอะไรก็ไม่เท่ากับที่ (ข้า) ต้องจากนางมา ต้องมาตีอก
ด้วยความทุกข์ (ถึงนาง)

ศัพท์...
- คุลา...........คุลา คนจำพวกหนึ่ง (ชาวมะละแหม่งในพม่า)
พวกนี้สักเต็มตัว ไทยเรายังหมายถึง คนดำ
คนต่างถิ่น ชาวทางเหนือของไทย เรียกฝรั่งว่า คุลาขาว)
- แก่ง.............ร่องน้ำไหล ที่มีหินขวางระเกะระกะ


๑๑๔. สงสัยด้วยแก่งแก้ว...สงสาร
จากสิ่งใดใดราญ..............ร่นร้อง
แก่งเกิดวิการดาล.............ดุจอก พี่ฤา
เรียมก็โศกาก้อง..............แก่งแก้วกันแสง

ตอนนี้ เดินทัพมาถึงแก่งแก้วสงสาร

บาท ๑...มีความสงสัยชื่อแก่งนี้ ว่าเหตุใดจึงชื่อก่งแก้วสงสาร
บาท ๒...แก่งต้องจากสิ่งใด หรือะไรมาทำอันตราย จึงร้อง
คร่ำครวญ
(ความในบาท ๒ นี้ ทำให้เข้าใจว่า แก่งแก้วสงสารนี้ คงจะ
มีน้ำไหลเสียงซู่ซ่า นายนรินทร จึงว่า แก่ง (ร่น) ร้องไห้

บาท ๓...หรือว่าแก่งจะเกิดความเดือดร้อนอย่างอกของพี่
บาท ๔...พี่ก็ร้องไห้ก้องไป เช่นเดียวกับแก่งเหมือนกัน

ศัพท์...
- ราญ...........รบ ทำอันตราย
- ร่น..............ตามศัพท์แปลว่า ถอย เลื่อนกลับ แต่ในที่นี้เข้าใจ
ว่าเป็นคำคู่กับร้องนั่นเอง
- กันแสง.......ร้องไห้


๑๑๕. เดินทางพลางพี่ไห้...โหยหวน
ถึงแก่งนามนางครวญ........ครุ่นนั้น
อ้าแม่จักกำสรวล..............เสมอแก่ง นี้ฤา
ฤาว่าโศกสมรกลั้น............เทวษถ้าเรียมถึง

บาท ๑...เดินทัพมา พี่ก็ร้องไห้คร่ำครวญเรื่อยมา
บาท ๒...จนถึงแก่งนางครวญนั้น
(คำว่า ครุ่น คือ ครวญ กลุ้มใจ ไม่สบายใจ)
บาท ๓...น้องจะคร่ำครวญเหมือนแก่งนี้หรือประการใด
บาท ๔...หรือว่าน้องกลั้นความทุกข์ไว้คอยเวลาที่พี่จะกลับไปถึง

๑๑๖. ถับถึงปากร่วมน้ำ......คะนึงนาง
ถามข่าวไปปากพราง.........พี่พร้อง
อรมาท่าหลงทาง..............ฉงนอยู่
ปากร่วมวานปากร้อง.........เรียกเจ้ามาจร

บาท ๑...มาถึงตำบลปากร่วมน้ำ ก็ให้คิดถึงนาง
บาท ๒...พี่ได้ถามข่าวถึงนาง แต่ปากน้ำก็ไม่บอกพี่
บาท ๓...น้องจาคอยพี่อยู่ที่นี้ แล้วหลงทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน
กระมัง (ที่นายนรินทรคิดดังนี้ เพราะคำว่า ปากร่วมน้ำ
ชักนำให้นึกไปเช่นนั้น)
บาท ๔...ขอยืมปากของตำบลปากร่วมนั้นนี้ เรียกน้องให้มาที่นี่

ศัพท์...
- ฉับ.............ทันที เร็ว พลัน


๑๑๗. เมืองเพชรเขาเพชรแพร้ว....พรายฉาย
เฉกนุชนาดกรกราย..........นพเก้า
แสงเพชรพิศอับอาย.........แหวนนุช พี่เอย
ยอดและยอดรุ่งเร้า..........รอบก้อยกรสมร

มาถึงตำบลเมืองเพชร ไม่ใช่เมืองเพชรบุรี น่าจะเป็นชื่อตำบลแห่งหนึ่งในแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บาท ๑...ตำบลเมืองเพชรนี้ มีภูเขาหินเป็นประกายแวววาว
บาท ๒...เหมือนนางสวมแหวนนพเก้าเดินนาด
บาท ๓...แสงเพชร (แสงแพรวพราว) ของหินที่ภูเขานั้น พิศดูแล้ว
แสงของหินนั้นก็อับอาย (สู้ไม่ได้) แสงเพชรที่แหวนของนาง
บาท ๔...แหวนของนางแต่ละยอดนั้น เป็นประกายรุ่งเรืองอยู่รอบ
นิ้วก้อยของนาง

ศัพท์...
- นพเก้า........หมายถึง แหวนนพรัตน์ ประดับด้วยแก้วเก้าอย่าง


๑๑๘. ถึงตระนาวตระหน่ำซ้ำ...สงสาร อรเอย
จรศึกโศกมานาน..............เนิ่นช้า
เดินดงท่งทางละหาน.........หิมเวศ
สารสั่งทุกหย่อมหญ้า........ย่านน้ำลานาง


ตอนนี้มาถึงตำบลตระนาว (หรือ ตะนาวศรี) อันเป็นระยะทางสุดท้ายที่ปรากฎในนิราศนรินทร์ บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นเมืองตะนาวศรี แต่ตามเรื่องไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตามพระราชพงศาวดาร ไม่มีกล่าวว่าเดินทัพไปถึงที่นั้น แต่ว่าได้เดินทัพไปทางเมืองชุมพร จึงสงสัยว่า ตำบลตระนาวศรีคงจะเป็นตำบลหนึ่ง
ตำบลในระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับ ชุมพร

บาท ๑...ถึงตำบลตระนาว (ศรี) ความสงสารนางยิ่งมีเพิ่มพูนขึ้น
บาท ๒...มาในการศึก ได้มีความโศก เป็นเวลาอันนาน
บาท ๓...มาเดินทางในดง ในทุ่ง ในลำธาร ในป่า
บาท ๔...ทุกๆ หย่อมหญ้า ทุกย่านน้ำ พี่ได้สั่งลาฝากถึงน้อง

บาทที่๔ นั้นความดีมาก

ศัพท์...
- ตระหน่ำ.....กระหน่ำ ซ้ำเติม
- หิมเวศ.......ที่อยู่อันหนาว ป่าหิมพานต์ แล้วมาใช้ในความหมายทั่วไปว่า ป่า
- สาร...........เรื่องราว


๑๑๙. แสนศึกแสนศาสตร์ซ้อง...แสนพัน มาแม่
สุดแต่เวทยากัน...............ชีพไว้
ศึกทรวงพี่สุดผจัญ............ใจซู่ โศกแม่
จักยุธยาใจได้.................ชีพด้วยนางเดียว

บาท ๑...ถึงข้าศึกตั้งแสนพุ่งอาวุธตั้งพันตั้งแสนมา
บาท ๒...ถ้ามีวิทยาอาคมดี ก็อาจป้องกันรักษาชีวิตไว้ได้
บาท ๓...แต่ศึกภายในใจ เหลือที่จะต่อสู้ เหลือที่จะหักความโศกถึง
น้องได้
บาท ๔...จะต่อสู้กับความที่รักน้อง ให้คงชีพอยู่ ก็มีแต่น้องคนเดียว
เท่านั้นที่จะช่วยได้

ศัพท์...
- ศาสตร์........อาวุธ (คำเดิม ศัสตร)
- เวทยา.........วิทยา วิชา คาถาอาคม
- ซู่................สู้ (ต้องการเอก)
- ยาใจ..........นาง (ความรัก)



๑๒๐. รอยโฉมนุชเปลี่ยนปั้น...เป็นทรวงพี่ฤา
ฤาแม่เป็นมณีดวง.............เนตรด้วย
จับจิตพี่จึงตวง.................เต็มเทวษ รักแม่
ดับชีพเกิดใหม่ม้วย...........แผ่นหล้าฤาลืม

โคลงบทนี้นับว่ามีความ และโวหารดีมาก

บาท ๑...ชะรอยว่า นางจะกลายร่างเป็นหัวใจของพี่ หรืออย่างไร
บาท ๒...หรือว่านางจะเป็นดวงตาของพี่อีกด้วย
บาท ๓...พี่จึงมีใจจดจ่อ มีความรักนาง และในใจของพี่จึงตวงเอา
ความทุกข์ถึงน้องไว้จนเต็ม
บาท ๔...ถึงแม้พี่จะตายแล้วเกิดใหม่ หรือแม้โลกจะทำลายไป พี่ก็
จะไม่ลืมน้อง

ศัพท์...
- มณีดวงเนตร...แก้วตา ดวงตา

๑๒๑. บวงเทพทุกเถื่อนถ้ำ....มณฑล ทวีปเอย
ยกแต่สองหัตถ์ตน............ต่างเบี้ย
ขอคนร่วมวิมล.................มาโนชญ์ เรียมนา
แสดงสดับโสตเหงี้ย..........เงียบสิ้นสุดสวรรค์
บาท ๑...ขอบวงสรวงเทวดาอารักษ์ในป่า ในถ้ำ และในที่ทุกแห่ง
บาท ๒...(ไม่มีอะไรบูชา) ได้แต่ยกมือทั้งสองขึ้นไหว้บูชาต่างเบี้ย
(เครื่องบวงสรวง)
บาท ๓...ขอให้ได้กลับคืนไปอยู่ร่วมกับน้อง
บาท ๔...เมื่อกล่าวบวงสรวงแล้วก็คอยฟัง แต่ก็เงียบไปหมดจนถึง
สวรรค์

ศัพท์...
- เบี้ย............หอย เครื่องในการบวงสรวง
- วิมล...........ไม่มีราคี งาม บริสุทธิ์
- มาโนชญ์....เป็นที่พอใจ งาม เมีย หญิง
- เหงี้ย..........เงี่ย


๑๒๒. พันเนตรภูวนาถตั้ง....ตาระวัง ใดฮา
พักตร์สี่แปดโสตฟัง..........อื่นอื้อ
กฤษณนิทรเลอหลัง..........นาคหลับ ฤาพ่อ
สองพิโยคร่ำรื้อ................เทพท้าวทำเมิน

บาท ๑...พระผู้มีพันตานั้น ตั้งตาคอยระวังใครอยู่
บาท ๒...พระผู้มีสี่พักตร์แปดโสต ก็ฟังแต่เสียงอื่นเสียหมด
บาท ๓...พระนารายณ์ ก็บรรทมหลับเหนือพระยานาคหรืออย่างไร
บาท ๔...ท่านเหล่านั้นจึงได้เมินเฉยต่อความโศกเศร้า ร่ำร้องของเรา
ทั้งสอง

ศัพท์...
- พันเนตร......สหัสนัยน์ พระอินทร์ เจ้าแห่งอากาศเป็นเทพซึ่งคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกยาก มีชื่ออย่างอื่นเช่นเพชรปาณี สวรรคบดี เมฆวาหน
- พักตร์สี่แปดโสต...พระพรหม
- กฤษณะ......พระนารายณ์
- นาค............พญาอนันตนาคราช ที่พระนารายณ์บรรทม


๑๒๓. นิทานนิเทศท้าว...องค์ใด ก็ดี
ทุเรศแรมสมรไท.............ท่านร้าง
แสนเทวษเท่าไรไป..........ปานอก พี่เอย
ปวงประสบคู่ค้าง............แต่ข้านานคืน

บาท๑...นิทานที่เล่าเรื่องท้าวพระยาองค์ใดก็ตาม
บาท ๒...ที่ท่านได้จำพรากกับนางผู้เป็นที่รัก

บาท ๓...ถึงท่านเหล่านั้นจะมีความทุกข์โศกสักเท่าใด ฤๅอาจเปรียบ
กับความทุกข์ในอกพี่
บาท ๔...และท่านเหล่านั้นก็ได้กลับคืนมาพบกับนางผู้เป็นที่รัก
ทุกองค์ ส่วนพี่นั้นนานแล้วยังไม่ได้คืนไปพบนางเลย

เรื่องนิทานท้าวพระยาที่นายนรินทร์พูดถึงนี้ มีหลายคู่
เช่น พระราม - นางสีดา, พระอนิรุทธ์ - นางอุษา, พระสมุทรโฆษ - นางพินทุมดี, พระสุธน – นางมโนรา ล้วนจากกันแล้วได้กลับคืนสู่กันทุกคู่

ศัพท์...
- นิเทศ.........แสดง จำแนก ชี้แจง เรื่อง
- ทุเรศ.........ลำบาก น่าสมเพช
- ไป....ไป่ ไม่


๑๒๔. กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง...เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ.........สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร...............สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดกลางเกศแก้ว..........กึ่งร้อนทรวงเรียม

บาท ๑...ที่ศรีปราชญืเศร้าโศกในกาลก่อน
บาท ๒...เพราะมีความทุกข์ที่จาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
บาท ๓...และเรื่องทวาทศมาส ที่กวีสามคนแต่ง แสดงความเศร้าโศก
ที่จากหญิงที่รัก
บาท ๔....ความโศกของท่านทั้งสามนี้ดังจะยกไว้เหนือหัวทีเดียว แต่
ถึงกระนั้นยังไม่รุนแรงเพียงกึ่งหนึ่งของความโศกของพี่

ศัพท์...
- ศรีปราชญ์..กวีสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต้องพรากท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จึงแต่งเรื่องพรรณนาความรัก ชื่อ กำสรวล บางทีเรียกว่ากำสรวลศรีปราชญ์ (ซึ่งเป็นการเรียกที่ผิดพลาด..->>..ชื่อที่ถูกต้องคือ...กำสรวลสมุทร) เป็นทำนองนิราศอย่างเรื่องนิราศนรินทร์
- ทวาทศมาส...แปลว่า ๑๒ เดือน เป็นโคลงทำนองนิราศเหมือนกัน แต่งในราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ผู้แต่งว่ามี ๓ คน คือ ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ

๑๒๕. ชายาเยาวยอดชู้....โฉมสวรรค์ พี่เอย
รอยว่าอินทร์พรหมสรรค์....เสกแสร้ง
เลือกลักษณ์ละอันปัน........เป็นรูป นุชฤา
มอบมิ่งสมรมาแกล้ง.........พี่กลั้นใจตาย
บาท ๑...น้องที่รักผู้มีโฉมอันงามดังนางฟ้าของพี่
บาท ๒...ชะรอยว่า พระอินทร์ พระพรหม ได้แกล้งปั้นรูปนาง
บาท ๓...โดยเลือกสิ่ง (อันสวยงาม) แต่ละอย่างมาปั้นเป็นรูปนางขึ้น
บาท ๔...แล้วส่งนางมาแกล้ง ให้พี่ต้องกลั้นใจตาย (ด้วยความรัก)

ศัพท์...
- ชายา..........เมีย
- เยาว...........อ่อน
- ยอดชู้..........เมีย
- โฉมสวรรค์...นางฟ้า
- ลักษณะ.......รูป แบบ


โดย: สดายุ... วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:7:23:04 น.  

 
๑๒๖. คิดคลึงสาโรชสร้อย....เสาวมาลย์ แม่นา
ภุชเคนทรสำราญ.............แหล่งเหล้น
สระสวรรค์นิราสนาน.........ไฉนนาฎ เรียมเอย
สรงเกษมสระสมรเฟ้น.......ฝั่งฟ้าฝันถึง

โคลงบทนี้ เป็นเชิงสังวาสตลอด ข้อความกล่าวพาดพิง เป็นนัย มีความคิดต่อเนื่องกัน คือ พูดถึงดอกบัว แล้วก็คิดถึงสระ แล้วคิดถึงพระยานาค (บาท ๒) ซึ่งลงเล่นนั้น เมื่อนึกถึงสระ นึกถึงพระนาคเล่นน้ำ แล้วก็เลยนึกถึงสระของนางที่เขา (นายนรินทร) ร้างไป

ศัพท์...
- สาโรช........ดอกบัว
- สร้อย.........นาง หมายว่า งาม ก็ได้
- เสาวมาลย์..เสาว (สุ = ดี งาม) + มาลย์ (ดอกไม้)
- สาโรชสร้อยเสาวมาลย์ หมายถึง นม
- ภุชเคนทร....ภุชค + อินทร (ภุชค = งู ภุชเคนทร์ คือ งูใหญ่
พระยานาค)


๑๒๗. เปรมปรางปรุงธูปฟ้า....อรอวล ใจเอย
จูบฤจางหอมหวน.............ละห้อย
โฉมทิพย์สุคนธ์ควร..........จากพี่ เจียวแม่
ถนอมนิเบามือน้อย..........จิตเจ้าจากไฉน

บทนี้ก็ยังอยู่ในเชิงสังวาส

บาท ๑...แก้มของนางนั้นหอมเหมือนกับธูปสวรรค์
บาท ๒...จูบแล้วกลิ่นหอมติดมิจาง เมื่อคิดถึงก็ให้ละห้อยใจ
บาท ๓...นางผู้มีกลิ่นหอมอย่างทิพย์ จะควรจากพี่ไปเชียวหรือ
บาท ๔...เวลาพี่จับต้อง ก็จับแต่น้อยๆ เบาๆ อย่างทะนุทถนอม
ดังนี้แล้วน้องจะจากไปได้อย่างไร

ศัพท์...
- โฉมทิพย์สุคนธ์...เมีย แต่พูดเป็นทำนองยกย่องว่า นางผู้มีกลิ่น
หอมดังกลิ่นทิพย์
- นิ...............นี่


๑๒๘. งอนถันทิพย์ยอดย้อน...ยันทรวง พี่แม่
กอดนักเยียวอบพวง.........พุ่มลื้น
ถนอมแอบอุ่นคือดวง........ตราติด พี่ฤา
จากอกออกราชื้น.............ชุ่มช้ำเป็นหนอง

เช่นนี้ก็เช่นเดียวกับบท ๑๒๗ ที่กล่าวเป็นเชิงสังวาสเช่นนี้ ประเพณีของกวีท่านยอมให้ ไม่ว่าเป็นเรื่องหยาบคาย เว้นแต่จะแต่ง นอกนอกลู่นอกทางเกินสมควร



ศัพท์...
- ทิพย์...........เป็นเทวดา ดี วิเศษ ถ้าจะแสดงว่า อะไรเป็นของดีวิเศษอย่างยิ่ง ก็เอา คำทิพย์ ประกอบเข้า
- ถัน.............นม
- พวงพุ่ม.......นม
- ลื้น.............สลด เศร้า เจ็บ อาย ชอกช้ำ


๑๒๙. แว่วแว่วเสาวณิตน้อง....นางทรง เสียงฤา
สรวลกระซิกโสตพะวง.........ว่าเจ้า
คล้ายคล้ายดำเนินหงส์.......หาพี่ ฤาแม่
อ้าใช่อรเรียมเศร้า...............ซบหน้ากันแสง

บาท ๑...ได้ยินเสียงแว่วๆ คล้ายเสียงน้องพูด
บาท ๒...หูได้ยินเสียงหัวเราะ ใจก็พะวงฟังว่าเป็นเสียงน้อง
บาท ๓...ตามองเห็นว่าน้องเดินนวยนาดมา คลับคล้ายคลับคลา
บาท ๔...(แต่ครั้นแล้ว) ก็หาใช่น้องไม่ พี่เลยต้องเชยหน้าร้องไห้

ศัพท์...
- โสต............ หู
- ดำเนินหงส์...เดินอย่างหงส์ มีท่าทางอ่อนชดช้อยน่าดู
๑๓๐. พวงจาวเจิดแจ่มแก้ว...จักรพรรดิ พี่เอย
สมเสมอสมรรัตน์.............แท่งแท้
จำเริญจำเราสวัสดิ์............สังวาส
เล็งเลียบดินฟ้าแพ้............ภพนี้ฤาหา

บทนี้กล่าวเป็นเชิงสังวาส

บาท ๑...ถันของน้องนั้นเจิดแจ่มดังแก้ว
บาท ๒...(ความบทนี้สู้ชัดเจนนัก คำว่า แท่ง นั้นอะไร แต่พอเดา
เอาความได้ว่า) รูปร่างของนางนั้นเสมอด้วยนางแก้วแห่ง
จักรพรรดินั่นเทียว
บาท ๓...เราได้ร่วมรสกันด้วยความสุขสำราญ
บาท ๔...ความสุขสำราญแห่งการร่วมรสของเรานั้น จะหา(ความสุข)
บนฟ้าบนดินมาเทียบมิได้

ศัพท์...
- จาว............ แปลได้หลาย เช่น ฟองน้ำ เทวดา ลง
จาวมะพร้าว จาวตาล ในที่นี้คำพวงจาวหมายถึง
นม ถัน


- จักรพรรดิ....ตามศัพท์ว่า ผู้ไปได้ทุกแห่งโดยไม่มีที่ติดขัด
หมายถึง ราชาธิราช จักรพรรดิย่อมมีแล้ว ๗ ประการ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, เมียแก้ว, ขุนคลังแก้ว, ขุนพลแก้ว, ลูกแก้ว, แก้วรัตนะ


๑๓๑. สาวสวรรค์เสพสวัสดิ์ถ้วน...เทวินทร์
พรหมภักษ์ทิพย์ปัถพิน......งอกง้วน
จักรพรรดิร่วมนารินทร์.......รัตนนาฎ
สามเสพทิพย์ลาญล้วน......เล่ห์น้องเรียมเกษม

บาท ๑...นางฟ้าร่วมกับเทวดา
บาท ๒...พรหมกินง้วนดิน
บาท ๓...จักพรรดิร่วมกับนางแก้ว
บาท ๔...ทั้งสามคู่นี้ร่วมกันด้วยสุขารมณ์ ประดุจพี่กับน้องร่วมกัน

ศัพท์...
- สาวสวรรค์...นางฟ้า
- เสพ.............กิน ร่วมกัน คบหา
- สวัสดิ์....ความสะดวก ความสบาย ความเจริญ
- เทวินทร์....เทว + อินทร์
- ภักษ์....กิน อาหาร
- ปัถพิน....แผ่นดิน (ควรเขียน ปัฐพิน – คำบาลี ถ้าเป็นสันสกฤตเขียน ปฤถวี)

ในเรื่องสร้างโลกว่า เมื่อไฟบัลลัยกัลป์ล้างโลกแล้ว พอไฟดับ ดินเกิดมีกลิ่นหอม (เพราะเหตุจากไฟเผา) ขึ้นไปถึงสวรรค์ พวกพรหมได้กลิ่น เหาะลงมา กินง้วนดิน เลยเสื่อมฤทธิ์เหาะไม่ได้ คงอยู่บนพื้นโลกเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์


๑๓๒. จากเจ็บยิ่งโรคเร้า....รึงสกนธ์
แสบเสียดขุมขนจน..........อกด้าน
ยาทาประทับทน...............ทานเทวษ ได้ฤา
แรงรับเหลือแรงต้าน.........พี่แพ้แรงโรย

บาท ๑...ความทุกข์ในการที่จากมานั้นยิ่งกว่าโรคที่สิงอยู่ในกาย
บาท ๒...ความทุกข์ (ความเจ็บ) เที่ยวแทรกอยู่ทุกขุมขน รู้ลึก
เจ็บแสบ และอกก็ชาไปด้วยความเจ็บ
บาท ๓...อันความทุกข์นี้จะหายาทารักษาก็มิได้
บาท ๔...ความทุกข์ครั้งนี้เหลือกำลังที่จะรับ ที่จะต้านทานที่หมดสิ้น
กำลัง (ด้วยความทุกข์) แล้ว
๑๓๓. ฤดูระด่าวร้อน..........แดนไตร
ลามผ่าวพฤกษ์พรากใบ......หล่นแล้ง
ทรวงพี่ผ่าวเผาไฉน...........นะนาฎ เรียมเอย
ยังยิ่งทินกรแจ้ง...............จวบสิ้นศูนย์กัลป์

เชิงโวหารของโคลงบทนี้ นับว่าดีมาก

บาท ๑...เป็นหน้าร้อน ร้อนแรงไปทั่วสามโลก
บาท ๒...ความร้อนนี้ทำให้ต้นไม้ใบร่วง
บาท ๓...แต่หัวอกของพี่นั้นร้อนเพียงใด น้องรู้หรือไม่
บาท ๔...(หัวอกพี่) ร้อนยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ เมื่อยามจะสิ้นกัลป์

ศัพท์...
- ระด่าว........ร้อนรน ร้อนยิ่ง
- แดนไตร.....สามภพ นรก สวรรค์ มนุษย์ บ้างก็แบ่งว่า รูปภพ
อรูปภพ กามภพ
- นาฏ..........ผู้ฟ้อนรำ แต่เราหมายถึงหญิง
- ทินกร.........พระอาทิตย์
- จวบ...........ประจวบ


- กัลป์...........คือเวลา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ x ๓๖๐ ปี พอครบเวลา
เท่านี้ ไฟจะมาล้างโลก เรียกว่า ไฟบัลลัยกัลป์ ก่อนจะเกิดไฟ พระอาทิตย์จะมีแสงแรงกล้า จนสิ่งต่างๆ ลุกเป็นไฟ


๑๓๔. นทีสี่สมุทรม้วย.......หมดสาย
ติมิงคล์มังกรนาคผาย........ผาดส้อน
หยาดเหมพิรุณหาย...........เหือดโลก แล้งแม่
แรมราคแสนร้อยร้อน........ฤเถ้า เรียมทน

บาท ๑...(แม้) สมุทรทั้งสี่จะแห้งไป
บาท ๒...จนปลาติมิงคล์ มังกร และนาค ต้องหาที่ซ่อน
บาท ๓...(รวมทั้ง) ฝนไม่ตกเลยแม้แต่เม็ดเดียว จนโลกแห้งแล้ง ก็ดี
บาท ๔...ความร้อน แสนร้อนนั้น ยังไม่เท่าความร้อนที่ต้องทนทรมาน
ด้วยความใคร่ในตัวน้อง





ศัพท์...
- นทีสี่สมุทร....(นที..น้ำ) สมุทรทั้ง ๔ คือ สมุทรที่อยู่กลางระหว่างทวีปอุตตรกุรุ...ทวีปอมรโคยาน...ทวีปชมพู...ทวีปปุพพวิเท่ห์ ตามตำราไตรภูมิว่า โลกมนุษย์มี ๔ ทวีป
- ติมิงคล์....ปลาใหญ่ที่หนุนโลก คู่กับปลาอานนท์ (อนนต์)
- เหม....ทอง
- พิรุณ....ฝน (เอาคำ เหม ประกอบเพื่อให้ไพเราะขึ้น แต่คำ
เหม อาจมาจาก..หิม แปลว่าเย็น ก็ได้)
- เถ้า....เท่า (คำตกตำแหน่งโท...เลยต้องใช้โทโทษ)


๑๓๕. ฤดูเดือนเมฆย้อย.....หยาดเผลียง
โซมสาดธรณิศเพียง..........เพียบน้ำ
ชระมัวทั่วทิศเอียง............อากาศ
อกแผ่นดินฟ้าคล้ำ............คู่คลุ้มทรวงศัลย์

บาท ๑...ถึงฤดู(ฝน) เมฆย้อยลงต่ำ หยาดเม็ดฝนลงมา
บาท ๒...(ฝน) ตกลงมาอย่างหนัก จนแผ่นดินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ
บาท ๓...ทั่วทิศก็มืดมัว ท้องฟ้าก็ดูโอนเอนไป (คำว่า เอียงอากาศ คือ
ท้องฟ้าเอียง นั้นพูดตามความนึกคิดของกวี ซึ่งเห็นไปว่า
การที่ท้องฟ้าครึ้มมืดมัวนั้นคล้ายฟ้าจะเอียงพังลงมา)
บาท ๔...อาการที่แผ่นดิน แผ่นฟ้ามืดครึ้มไปดังนี้ (ดูราวกับเป็นทุกข์
โศก) คู่กับหัวอกพี่ที่เป็นทุกข์

ศัพท์...
- เผลียง....ฝน
- ธรณิศ....ธรณี (แผ่นดิน) + อิศ
- ชระมัว....มืดครึ้ม


๑๓๖. อุทโฆษรามสูรขว้าง....ขวานฉวาง
พรายมณีเมขล์นาง...........ล่อไหล้
อัมพรอุทรคราง...............เรียมคร่ำ ครวญแม่
เสียงสุดเสียงฟ้าไห้...........ครุ่นแค้นครางตาย

บาท ๑...รามสูรขว้างขวานเสียงดังกึกก้อง
บาท ๒...นางมณีเมขลา ล่อแก้วปลาบๆ ให้รามสูรไล่
บาท ๓...ท้องฟ้าคร่ำครวญ (เสียงฟ้าร้อง) พี่ก็คร่ำครวญถึงน้อง
บาท ๔...เสียงร้องคร่ำครวญ (ของพี่นั้น) ดังกว่าเสียงฟ้า พี่เห็นจะ
ครวญครางจนตาย เพราะความแค้น (ทุกข์) ครุ่นอยู่ในอก


ศัพท์...
- อุทโฆษ......อุโฆษ กึงก้อง
- รามสูร.......พญายักษ์ ถือขวาน ตามตำนานทางพราหมณ์ว่า
เวลาฤดูฝน นางฟ้า เทวดามาจับระบำกัน นางเมขลากับรามสูรก็มา รามสูรเห็นแก้วของนางเมขลาเกิดชอบใจ ตรงเข้าแย่ง นางเมขลาก็เอาแก้วฉายแสงเข้าตารามสูร (เกิดฟ้าแลบ) รามสูรโกรธก็เอาขวานขว้าง (ฟ้าผ่า)
- มณีเมขล์.....นางมณีเมขลา
- ไหล้............ไล่ (ต้องการ โท)
- อัมพร..........ฟ้า
- อุทร............ท้อง


๑๓๗. ฤดูลมชระล่องเนื้อ...หนาวใด เปรียบเลย
อกพี่เยือกเย็นไกล...........กอดเกี้ยว
พันผืนพัสตราไป..............ปานกึ่ง กรแม่
อุ่นอัคคีเสื้อเสี้ยว..............ซีกนิ้วนางผงม


ให้สังเกตว่า โคลงบทที่ ๑๓๓ นั้น นายนรินทร์พูดถึงฤดูร้อน บทที่ ๑๓๕ พูดถึงฤดูฝน บทนี้พูดถึงฤดูหนาว แต่ล้วนคาบเกี่ยวไปถึงเรื่อความรักเมียเสียทั้งสิ้น

บาท ๑...ฤดูลมพัด เย็นเนื้อ หนาวอะไรก็ไม่เท่า
บาท ๒...หัวอกพี่นั้นเยือกเย็น เพราะห่างจากการกอดน้อง
บาท ๓...เอาผ้าห่มก็ไม่อุ่นแม้เพียงครึ่งหนึ่ง ของความอุ่นที่เกิดจาก
การกอดของน้อง
บาท ๔...อุ่นด้วยเสื้อ หรือ ด้วยไฟนั้นก็ตาม น้องใช้เพียงเสี้ยว หรือ
ซีกหนึ่งของนิ้วมาต้องกายพี่ ก็ยังทำให้อุ่นมากกว่า

ศัพท์...
- ชระล่อง......ล่อง ผ่าน
- พันผืน........อาจเป็นผ้าพันผืน หรือพัน (หุ้มห่อ) ตัวก็ได้ทั้ง
สองอย่าง
- อัคคี...........ไฟ
- เสี้ยว..........๑ ใน ๔
- ผงม............รักษาดูแล ประคับประคอง



๑๓๘. ลมพัดคือพิษต้อง.....ตากทรวง
หนาวอกรุมในดวง............จิตช้ำ
โฉมแม่พิมลพวง...............มาเลศ กูเอย
มือแม่วีเดียวล้ำ................ยิ่งล้ำลมพาน

บาท ๑...ลมที่พัดมาต้องอก(กาย)นั้น ดังหนึ่งพิษ
บาท ๒...ความหนาวกลุ้มอยู่ในอก รู้สึกช้ำใจ
บาท ๓...อ้า..น้องผู้ประหนึ่งพวงดอกไม้อันงามของข้า
บาท ๔...น้องพัดให้ครั้งเดียวก็รู้สึกเย็นยิ่งกว่าลมพัด

ศัพท์...
- มาเลศ.......มาลา(ดอกไม้) + อิศ
- วี...............พัด
- พาน..........พบ ต้อง ถูก


๑๓๙. เอียงอกเทออกอ้าง...อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง............เลขแต้ม
อากาศจักจานผจง............จารึก พอฤา
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม.........อยู่ร้อนฤาเห็น

โคลงบทนี้เชิงกวีโวหารดีมาก

บาท ๑...เอียงอกเท (ความรัก) ออกให้นางแลเห็น
บาท ๒...(ความรักของพี่นั้น) จะใช้เขาสุเมรุจุ่มลงไปในมหาสมุทร
แล้วมาเขียนบรรยาย
บาท ๓...(ความต่อจากบท๒) เรื่องความรัก บนแผ่นฟ้า แผ่นฟ้าก็หามี
ที่พอจะเขียนคำบรรยายรักให้จบได้ไม่
บาท ๔...โฉมอันงามดังหยาดฟ้าของพี่ เดี๋ยวนี้น้องจะเป็นทุกข์ร้อน
อย่างไร ก็หาทราบไม่


๑๔๐. ตราบขุนคิริข้น.........ขาดสลาย แลแม่
รักบ่หายตราบหาย............หกฟ้า
สุริยจันทรขจาย...............จากโลก ไปฤา
ไฟแล่นล้างสี่หล้า.............ห่อนล้างอาลัย

บทนี้เชิงโวหารดีมากอีกบทหนึ่ง
ถือเป็นบทเอก...ในนิราศนรินทร์

บาท ๑...ตราบจนขุนเขาพังทลายลง
บาท ๒...ตราบจนฟ้าทั้งหก หายไป แต่รักของพี่ไม่หาย
บาท ๓...พระอาทิตย์ พระจันทร์จะหายไปจากโลก
บาท ๔...ไฟบัลลัยกัลป์เผาโลกทั้งสี่ก็ตาม แต่จะล้างความรักอาลัย
ของพี่มิได้เลย

ศัพท์...
- ขุนคิริ....ขุนเขา หมายถึงเขาพระสุเมรุ หรือ เขาไกรลาศ
- หกฟ้า.....คือสวรรค์ทั้งหก ๖ ชั้น มีชื่อดังนี้
สวรรค์ในแนวคิดฮินดูมี หกชั้น คือ จตุมหาราชิก, ดาวดึงส์, ยามะ, ดุสิต, นิมมานรดี, ปรนิมมิตตวสวัตดี
- สี่หล้า....ทวีปทั้ง ๔ (ดูในโคลงบทที่ ๑๓๔)

สรุปความว่า....
แม้นว่าภูเขาสูงใหญ่จะเปื่อยยุ่ยขาดหายถล่มลงไปก็ดี...
แม้นว่าสวรรค์ทั้งหกจะแตกดับสูญไปก็ดี...
แม้จนดวงตะวันดวงจันทร์ถูกห้วงหาวสูบหาย
สูญดับจากโลกไปก็ดี...
แม้จนไฟนรกแล่นเข้าล้างโลกทั้งสี่ก็ดี...

หาได้..ล้างความรักที่พี่มีอยู่ต่อเจ้าลงได้เลยแม้แต่น้อย


๑๔๑. ร่ำรักร่ำเรื่องร้าง.......แรมนวล นาฎฤา
เสนาะสนั่นดินครวญ..........ครุ่นฟ้า
สารสั่งพี่กำสรวล..............แสนเสน่ห์ นุชเอย
ควรแม่ไว้ต่างหน้า.............พี่พู้นภายหลัง

โคลงบทที่ ๑๔๑ ถึง ๑๔๔ เป็นโคลงกล่าวความส่งท้าย

บาท ๑...บรรยายเรื่องความรักความอาลัยที่ต้องจากนาง
บาท ๒...เป็นข้อความอันไพเราะ กล่าวถึงความคร่ำครวญอันดังไป
ทั่วทั้งฟ้าและดิน
บาท ๓...อันเรื่องนี้เป็นข้อความที่พี่พูดกับน้อง ด้วยความระทมใจ
และด้วยความรักน้องอย่างยิ่ง
บาท ๔...ขอให้น้องจงรักษาเรื่องนี้ไว้ต่างหน้าของพี่ในกาลภายหลัง
(อนาคต) อันนานโน้นเถิด


๑๔๒. นรินทร์นเรศไท้.......บริบาล
นิพนธ์พจน์พิสดารญาณ.....ยศไว้
กวีวรโวหาร.....................นายหนุ่ม
ควรแก่ปราชญ์ใดได้.........อ่านแล้วเยียรยอ

บาท ๑...นายนรินทร์ ซึ่งเป้นมหาดเล็กของผู้เป็นใหญ่
บาท ๒...ได้แต่งคำอันพิสดารไว้ เพื่อเป็นเกียรติ
บาท ๓...แห่งกวีหนุ่มผู้มีโวหารดี
บาท ๔...พอสมควรที่ปราชญ์ทั้งหลายจะอ่านแล้วยกย่อง

ศัพท์...
- นเรศ...........นร + อิศ = คน
- ไท้...............ผู้เป็นใหญ่
- บริบาล.........ปกป้องรักษา คุ้มครอง รับใช้
- ญาณ...........รู้
- พจน์............ถ้อยคำ
- วร...............ดี วิเศษ


๑๔๓. ใดใดโอษฐ์โอ่อ้าง...ตนดี
เอาปากเป็นกวี.................ขล่อยคล้อย
หากหาญแต่วาที..............เฉลยกล่าว ไฉนนา
ดุจหนึ่งแสงหิ่งห้อย...........ส่องก้นตนเอง

บาท ๑...ผู้ใดก็ตามที่อวดโอ่ว่าเก่งสามารถ
บาท ๒...พูดฟุ้งเฟ้อไปว่าเป็นกวี แต่งกาพย์กลอนได้
บาท ๓...ถ้าแม้กล้าพูดแต่ปากแล้ว (ไม่แต่ง) จะพูดอวดไปทำไม
บาท ๔...ก็เหมือนหิ่งห้อยที่มีแสงวาวๆ สำหรับส่องก้นมันเองเท่านั้น
(คือไม่ให้ความสว่างแก่ใคร เปรียบได้กับคนที่โอ้อวดตัวเอง)


๑๔๔. โคลงเรื่องนิราศนี้....นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล...........ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน.........เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้.......เลือกลิ้มดมดู

โคลงนี้บอกชื่อผู้แต่งชัดขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง

บาท ๑...โคลงนิราศเรื่องนี้ นายนรินทร์ (อิน)
บาท ๒...ซึ่งเป็นมหาดเล็ก (รองบาท) กรมพระราชวังบวรคิดแต่งไว้
บาท ๓...ถ้าโคลงบทใด นักปราชญ์ยังติว่ามีเสียตรงไหนก็เชิญแก้ไข
เถิด
บาท ๔...(เพื่อให้ดีขึ้น) เหมือนกับการปรุงน้ำหอม ปรุงแล้วต้องลอง
ดมดูฉันใด โคลงเรื่องนี้ก็ขอให้ปราชญ์ทั้งหลายเลือกชม และ
ปรับปรุงแก้ไข (ให้ไพเราะ) ขึ้นเถิด



โดย: สดายุ... วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:7:23:46 น.  

 
ขอขอบพระคุณคุณพี่สดายุมากๆเลยน่ะเจ้าค่ะ เป็นเว็ยบที่ส่งเสริมความเป็นไทยได้ดีมาก ขอให้พี่สดายุกระทำสิ่งดีๆต่อไปน่ะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ


โดย: [เบญจกาย] IP: 61.19.67.24 วันที่: 9 สิงหาคม 2551 เวลา:16:06:03 น.  

 
เว็บไซด์นี้ เป็นเว็บไซด์ที่ดีมากๆ เลยค่ะ
เป็นประโยชน์ต่อการเรียนของหนูมากเลย
ขอขอบคุณที่ได้จัดทำเว็บนี้ขึ้นมานะคะ


โดย: ภัทรลภา IP: 124.121.23.249 วันที่: 10 สิงหาคม 2551 เวลา:18:17:21 น.  

 
ขอบคุณมากๆนะค่ะ


โดย: may IP: 222.123.79.86 วันที่: 10 สิงหาคม 2551 เวลา:19:31:48 น.  

 
ขอบคุณมมากเรยนะคัฟ
รายงานครูสั่งยากมั่กๆเรยถ้าไม่ได้พี่
เอาไว้อ่านสอบได้ด้วยอิอิ
ขอบคุณจิงๆนะงัฟ


"^__________^"


โดย: Sinnatrue (กำลังลำบาก) IP: 58.9.184.40 วันที่: 14 สิงหาคม 2551 เวลา:21:36:23 น.  

 
ขอบคุณครับช่วยได้มากเลย


โดย: com 4/6 IP: 203.172.219.130 วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:12:52:29 น.  

 
ขอบทแปลนิราศนรินทร์ครบทุกบทได้ไหม อยากอ่านค่ะ


โดย: lloUlluว IP: 117.47.29.147 วันที่: 23 สิงหาคม 2551 เวลา:14:09:02 น.  

 
ขอบ คุง มั๊ ก ก มา ย ย ย ~~!

.
.
.
.
.
.
.

งาน น ส ม บู ร ณ์ ~~!
และ สอ บ บ แป ล ล ~~~!
จา อ่าน เต็ม ที่ !!!
5 5 +
เพ่ ช่วย ย ย น๋อง ง ง เ เท้ ๆ
THX.


โดย: G'OLFIIZ IP: 118.173.149.12 วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:21:56:22 น.  

 
ขอบคุณนะค่ะ ที่ทำเว็บดีๆแบบนี้
เว็บนี้ช่วยหนูได้เยอะเลยค่ะ
ขอบคุณนะค่ะ..
ถ้าไม่มีเว็บนี้ T^T
หนูยังไม่รู้เลยว่าหนูจะเป็นยังไง
-- ขอบคุณจากใจจริงค่ะ
** thanks **
ขอให้พี่ทำเว็บดีๆแบบนี้ต่อไปนะค่ะ ^^v


โดย: นารีรัตน์ IP: 203.172.88.91 วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:22:07:04 น.  

 
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
เอาไปทำงานภาษาไทยพอดีเลย
ขอบคุณจิงๆค่ะ


โดย: เอ้ IP: 222.123.235.155 วันที่: 28 สิงหาคม 2551 เวลา:20:16:57 น.  

 
ขอบคุณนะคะ เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ


โดย: mica IP: 124.120.45.240 วันที่: 28 สิงหาคม 2551 เวลา:21:00:41 น.  

 
ขอบคุณนะคะสำหรับเนื้อหาที่ครบถ้วนและสมบูรณ์นี้
เป็นประโยชน์มากสำหรับนักเยนและผู้ที่ค้นคว้าหาความรู้
ขอบคุณค่ะ


โดย: พลอยใส IP: 118.174.127.74 วันที่: 31 สิงหาคม 2551 เวลา:12:56:50 น.  

 
อยากได้ภาพโคลงบทที่138


โดย: 555 IP: 202.129.49.61 วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:13:38:51 น.  

 
เพราะมาก


โดย: Aom IP: 118.174.70.243 วันที่: 3 กันยายน 2551 เวลา:21:06:16 น.  

 
ผมขอขอบคุณมากเลยคับเพราะ บ้านผมไม่มีพจนานุกรม ไทย-ไทย นะคับ ^^


โดย: นักเรียนขยันคนหนึ่ง IP: 117.47.177.191 วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:18:09:10 น.  

 
ขอบคุณมากเลยครับ



มีประโยชน์ต่อผมมากเลยครับ

พอดีตอนนี้มีการบ้านเรื่องนี้พอดีเลยครับ


เพราะพี่ สดายุทำให้ผมเสร้จไวสุดๆครับ



ขอขอบคุณอีกครัง้ไว้นะที่นี้




ขอให้มีอย่างนี้อีกเยอะนะครับ


โดย: วิชัย มวส. IP: 125.24.7.62 วันที่: 9 กันยายน 2551 เวลา:20:01:52 น.  

 
thX

ขอบคุนมากค่ะ

ทำให้หนูมีการบ้านส่ง

และมีคะแนน

และทำให้หนูได้เกรดสี่ (เดา) ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากเลยค่ะ


โดย: Umm IP: 118.172.216.133 วันที่: 29 กันยายน 2551 เวลา:20:12:06 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะ

เว็บนี้ให้ประโยชน์มากๆเลย




โดย: NatsumeMaya IP: 125.26.111.134 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:39:20 น.  

 
ขอบคุณอย่างสูงเลยค่ะ ช่วยได้เยอะจริงๆ งานเกือบเสร็จ


โดย: เมย์ IP: 58.64.76.142 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2551 เวลา:21:02:26 น.  

 
ขอบคุณ มัก มาก เลยครับ งานถึงเสร็จได้


โดย: noknoie IP: 61.19.67.17 วันที่: 11 ธันวาคม 2551 เวลา:21:47:43 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆๆๆเลยนะค่ะ
ใช้ประโยชน์ได้เยอะเลยค่ะ


โดย: Noname IP: 117.47.144.78 วันที่: 15 ธันวาคม 2551 เวลา:20:58:30 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆๆเลยนะค่ะ

เว็บนี้ช่วยได้มากเลยค่ะ

ขอบคุณจริงๆๆๆๆๆนะค่ะ

ขอให้มีคนมาเข้าเว็บนี้มากๆๆๆนะค่ะ

บะบ๊าย..............


โดย: มะพร้าว IP: 125.26.27.27 วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:18:30:13 น.  

 
ขอบคุณมากๆนะคะ เว็บนิราศนี้ช่วยหนูได้มากจริงๆคะ


โดย: mosy IP: 202.139.223.18 วันที่: 25 ธันวาคม 2551 เวลา:20:37:43 น.  

 
ขอบคุณมากคร๊ะ

พี่นิสัยดีมาก

หนู ขอบคุณจริงๆๆ
ขอบคุณคร๊ะ


โดย: ขอบคุณมากคร๊ะ IP: 125.25.242.29 วันที่: 4 มกราคม 2552 เวลา:16:32:05 น.  

 
ดีจังที่มีทั้งโคลงและคำแปล ช่วยได้เยอะเลย
ขอบคุณค่ะ...........


โดย: น้องปอ IP: 202.149.24.129 วันที่: 14 มกราคม 2552 เวลา:20:24:37 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆๆๆ

นะคะ^^


โดย: clashing_boom@hotmail.com IP: 114.128.123.214 วันที่: 16 มกราคม 2552 เวลา:19:47:21 น.  

 
ผมพิมพ์เล่นๆม่ายมีอารายทาม


โดย: กรกฎ IP: 125.27.251.32 วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:10:56:13 น.  

 
ขอบคุนค่ะถ้าไม่ได้พี่คงตาย


โดย: วันใหม่ IP: 119.31.18.102 วันที่: 7 มิถุนายน 2552 เวลา:20:41:50 น.  

 
ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ


โดย: K' aew IP: 124.121.235.172 วันที่: 13 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:41:43 น.  

 
ขอบคุณมากน่ะค่ะ ในที่สุดก่รู้เรื่องซ่ะที คิกๆ


โดย: ปล๋าก๊อต IP: 192.168.1.167, 112.142.116.31 วันที่: 1 สิงหาคม 2552 เวลา:21:42:52 น.  

 
พี่เก่งมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลย

สุดยอดที่สุดเลย

ขอบคุณค่ะ


โดย: อิอิ IP: 125.25.133.0 วันที่: 1 สิงหาคม 2552 เวลา:22:59:41 น.  

 
ขอขอบพระคุณมากนะคะ

เก่งจังอ่ะ



โดย: เด็กน้อย^^ IP: 118.172.93.34 วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:19:22:24 น.  

 
ขอบคุณมากเลยนะค๊ะถ้าไม่ได้เว็บนี้หนูทำไม่ได้แน่ๆเลย


ขอบคุณอย่างสูง



โดย: ลูกน้ำ IP: 192.168.1.101, 124.122.60.125 วันที่: 11 สิงหาคม 2552 เวลา:14:47:01 น.  

 
ขอขอบคุณพี่ๆทุกคนจากใจจริงครับ



โดย: ... IP: 112.143.79.242 วันที่: 13 สิงหาคม 2552 เวลา:23:39:26 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: 0058 IP: 125.25.192.133 วันที่: 16 สิงหาคม 2552 เวลา:20:38:10 น.  

 
ขอบคุณมากเลยนะคะ ^^


โดย: ทราย IP: 124.122.14.115 วันที่: 18 สิงหาคม 2552 เวลา:22:04:25 น.  

 
ขอขอบคุณมากๆค่า


โดย: ฝนๆ IP: 118.173.6.74 วันที่: 23 สิงหาคม 2552 เวลา:23:19:18 น.  

 
ขอบคุณมากๆเลยต้องเอาไปส่งครูพอดี


โดย: prince IP: 192.168.1.54, 203.172.212.86 วันที่: 14 กันยายน 2552 เวลา:11:00:39 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆเลยนะกำลังต้องการอยู่พอดี


โดย: เบวเบลล์ IP: 110.164.95.228 วันที่: 6 ตุลาคม 2552 เวลา:18:43:09 น.  

 
เพลง...ลาวคำหอม ชัยภัค ภัทรจินดา


โดย: สดายุ... วันที่: 20 ตุลาคม 2552 เวลา:23:40:22 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
กำลังต้องส่งครูพอดีเลย ขอบคุณอีกทีๆๆๆๆๆๆ


โดย: dear IP: 202.5.84.210 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา:5:41:55 น.  

 
แป่ลนิราศนรินทร์บทที่37น่อยค้า


โดย: BB IP: 125.26.136.244 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2552 เวลา:12:57:17 น.  

 
ขอบคุณมากนะคะ _ _

กำลังหาอยู่พอดี เพื่อนแนะนำมาว่าให้มาหาที่นี่ ^^


โดย: ลั้ลลา~ IP: 180.180.51.62 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:22:12:12 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: เวรา IP: 222.123.216.228 วันที่: 9 ธันวาคม 2552 เวลา:12:35:52 น.  

 


โดย: สดายุ... วันที่: 16 ธันวาคม 2552 เวลา:20:43:33 น.  

 
ขอบคุณมากคับ


โดย: pumDeknanai IP: 118.174.16.33 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:19:31:57 น.  

 
ดีมากเลยครับที่มีเว็บแบบนี้ทำให้งานดีขึ้น ขอให้มีสิ่งดีให้อีกนะครับ


โดย: อาชายนนท์ IP: 124.121.83.229 วันที่: 22 เมษายน 2553 เวลา:23:07:06 น.  

 
thang for it


โดย: hul IP: 125.27.29.228 วันที่: 30 มิถุนายน 2553 เวลา:21:10:16 น.  

 
ขอบคุณมากค๊ะ ถ้าไม่ได้คงโดนครูตี
ขอบคุณค๊ะ ^^


โดย: เบ๊น IP: 124.122.70.129 วันที่: 1 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:59:53 น.  

 
ขอบคุณมากคะ

ช่วยได้มากเลยค่ะ










โดย: เบนซ์ IP: 180.180.19.85 วันที่: 8 กรกฎาคม 2553 เวลา:20:51:46 น.  

 
คุณแปลนิราศด้วย ใจภักดิ์
เกียรติก่อเกิดประจักษ์ สู่ฟ้า
จนเป็นที่หลงรัก ของพี่ น้องเฮย
ความคิดยิ่งแรงกล้า อาจแกล้วบทกวี

หัดแต่ง มอบแด่สดายุ


โดย: seri1927 IP: 58.147.82.57 วันที่: 28 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:29:05 น.  

 
ขอบคุณมากเลยค่ะ : )


โดย: FN IP: 125.26.72.77 วันที่: 14 สิงหาคม 2553 เวลา:10:16:19 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ

แต่ครุสั่งการบ้านมาว่าต้องมีรูปด้วย

หนูไม่รู้ว่ารูปในบทที่42เป็นยังไงนะค่ะ

ขอบคุณมากนะค่ะ


โดย: นู๋แอร์ IP: 118.173.144.17 วันที่: 14 สิงหาคม 2553 เวลา:16:13:42 น.  

 
ขอบพระคุนอย่าง สูง ค่ะ


โดย: ฟะฟ่า IP: 125.26.68.46 วันที่: 15 สิงหาคม 2553 เวลา:22:39:32 น.  

 
ขอบคุณนะคร้าที่สร้างไซด์นี้ขึ้นมา


มีประโยชน์มากเลยค่ะ ^^ 555 +++


โดย: แตงโม IP: 115.67.25.166 วันที่: 17 สิงหาคม 2553 เวลา:20:25:07 น.  

 
ขอบคุณงับงับ


โดย: ปอนด์ IP: 124.122.71.183 วันที่: 5 กันยายน 2553 เวลา:13:20:36 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


thank you


โดย: น้องน้ำกับน้องฝน IP: 110.49.193.235 วันที่: 5 กันยายน 2553 เวลา:15:55:55 น.  

 
ขอบคุณนะคะ ดีมากๆเลยคะ

เเต่เราคงลอกไปแบบนี้ไม่ได้หรอก

ต้องทำเองถึงจะดีใจมากกว่ยืมดูเป็นแนวทางพอ

ขอบคุณนะคะ ขอให้คนเข้ามาเยอะๆ


โดย: Mai IP: 118.172.189.85 วันที่: 8 กันยายน 2553 เวลา:22:43:17 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำแปลมากเลยค่ะ
พรุ่งนี้ต้องสอบวิจารณ์นิราศนรินทร์อ่ะค่ะ
ช่วยได้มากเลย ^^


โดย: เด็กม.4 IP: 180.180.11.236 วันที่: 23 กันยายน 2553 เวลา:15:24:08 น.  

 
ขอบคุนพี่สดายุมากค่า

ไม่มีพี่หยกตายแน่เรย อ่านแร้วงงค่า

แปลได้แต่รวมประโยคไม่ถูกเรย T^T

แต่เพราะเจอเว็บของพี่ช่วยชีวิตไว้ พรุ่งนี้เรยมีส่งครูค่ะ

ขอบคุนจิงๆนะคะ สำหรับ คำแปล+คำศัพท์ ของทุกๆบท

อ่านแร้วไพเราะมากค่ะ พี่แปลเก่งจิงๆ ขอบคุนอีกครั้งนะคะ

ปล.เพลงประกอบเพราะมากค่ะพี่ เข้ากันดีจังเรยค่ะ


โดย: ม.4 สารวิทยา บางเขน IP: 183.89.18.151 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:18:04:44 น.  

 
ขอบคุณนะค่ะ


โดย: เด็ก ม.4 IP: 27.130.82.40 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2553 เวลา:18:45:13 น.  

 
ขอบคุณมากนะคะ จริงๆ
เพงเพราะมากคะ


โดย: หมูอ้น IP: 113.53.198.84 วันที่: 21 มกราคม 2554 เวลา:11:10:43 น.  

 
ขอบคุณมากเลยค้ะ แต่หนูอยากรุ้ว่าอติพจน์ในบทที่45มันคืออะไรยังไง


โดย: pp IP: 58.9.238.145 วันที่: 12 สิงหาคม 2554 เวลา:12:54:42 น.  

 
pp

ที่ถามมาในบทที่ ๔๕
คำว่าอติพจน์...หมายถึงอะไร ?

ต้องอธิบายวิธีคิดกันก่อน...เพราะเด็กไทยไม่ค่อยชอบคิด...สู้เด็กนานาชาติไม่ได้...ครูฝรั่งสอนแบบคิดทั้งหมด มีแต่อัตนัย..ไม่มีปรนัยคือ ก ข ค ง ในหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติ..ความคิดจึงไม่ถูกจำกัด แค่ 3-4 ตัวเลือก..อันเป็นเหตุให้คนไทยทั้งประเทศคิดไม่เป็น...

ที่แถบขวามือใต้ Links บรรทัดที่ 3 จะมี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน...เราหาศัพท์พวกนี้ได้

อติ [อะติ] คํานําหน้าคําที่มาจากบาลีและสันสกฤตให้มีใจความว่า พิเศษ, ยิ่ง, มาก, เลิศล้น; ผ่าน, ล่วง, พ้นเลยไป, เขียนเป็น อดิ ก็มี. (ป., ส.).

พจน, พจน์ ๑ [พดจะนะ, พด] น. คําพูด, ถ้อยคํา. (ป. วจน).

ดังนั้น อติพจน์ คือ คำพูดที่เลิศล้น...แปลว่าคำพูดเกินจริง...ภาษาวัยรุ่นว่า...พูดเว่อร์


บาท๔...งามยิ่งกว่าดวงจันทร์ที่กระจ่างฟ้า และงามยิ่งกว่าหน้าอันยิ้มเยื้อนของนางอัปสร


ทำไมบาทนี้ถึงเรียกอติพจน์...เพราะมีการเปรียบเทียบคนกับนางอัปสรหรือนางฟ้า...ถามว่า..เมียนายนรินทร์จะสวยยิ่งกว่านางฟ้าเชียวหรือ...มันเป็นไปไม่ได้...ใบหน้าจะผุดผ่องยิ่งกว่าดวงจันทร์เต็มดวงเชียวหรือ (จันทร์ตอนไหนที่กระจ่างฟ้า ? หากมิใช่ตอนเต็มดวง...)

เมื่อมีการเปรียบเทียบที่เกินจริง...เราเรียกว่า มีการใช้อติพจน์ในบาทหรือบทนั้นๆ...

บท คือ ทั้งสี่บรรทัด
บาท คือ บรรทัดเดียว

ครูสอนภาษาไทย ควรกลับไปเรียนการสอนใหม่...ถึง 80% ของประเทศ...เฮ้อ


โดย: สดายุ... วันที่: 12 สิงหาคม 2554 เวลา:20:05:40 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะะะะะ ขอบคุณจริงๆค่ะ


โดย: toony IP: 223.207.109.109 วันที่: 9 ธันวาคม 2554 เวลา:20:20:07 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะ เป็นประโยชน์มากเลย
ครูให้หาพอดี


โดย: @Areus IP: 101.51.67.206 วันที่: 12 ธันวาคม 2554 เวลา:18:34:02 น.  

 
thanks a lot... :))


โดย: PRodpueng@hotmail.com IP: 110.164.191.27 วันที่: 26 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:49:04 น.  

 
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ


โดย: japan IP: 110.49.232.187 วันที่: 22 สิงหาคม 2555 เวลา:20:32:47 น.  

 
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ


โดย: japan IP: 110.49.232.187 วันที่: 22 สิงหาคม 2555 เวลา:20:32:53 น.  

 
ขอบพระคุณมากๆนะครับที่ช่วยถอดความให้ครับ


โดย: ศุภโชค โชค IP: 101.51.213.40 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555 เวลา:21:40:10 น.  

 
ขอบคุณนะคะที่ทำให้เด็กไทยมีความรู้นอกตำราเรียนเพิ่มขึ้นและใช้อินเทอร์อย่างมีประโยชน์ ขอบคุณค่ะ


โดย: kkw IP: 1.2.135.203 วันที่: 9 ธันวาคม 2555 เวลา:21:37:27 น.  

 
ขอบคุณมากๆๆครับ สำหรับข้อมูล


โดย: อภิศักดิ์ ทับแว่ว IP: 183.89.19.34 วันที่: 20 มกราคม 2557 เวลา:21:12:26 น.  

 
แปลโครงนิราศบทที่ 4 คร่า


โดย: กมลวรรณ IP: 1.47.235.221 วันที่: 25 มิถุนายน 2558 เวลา:10:05:58 น.  

 
ถอดบทที่ 37ให้หน่อยค่ะ


โดย: แคท IP: 171.5.227.133 วันที่: 25 มิถุนายน 2558 เวลา:19:30:35 น.  

 
ถอดคำประพันธ์บทที่ 141 ไห้หน่อยค่ะ


โดย: เอมิกา จานแก้ว IP: 49.230.96.249 วันที่: 27 กรกฎาคม 2558 เวลา:9:53:42 น.  

 
ช่วยแปลบทที่ 37.41.42.36.81 ให้หน่อยค้าบ


โดย: ต้นข้าว ธัญเจริญ IP: 49.230.195.27 วันที่: 30 สิงหาคม 2558 เวลา:22:22:56 น.  

 
พี่ค้าบช่วยแปลที่ 140-141 หน่อยจิ้ค้าบบ😰


โดย: กัส IP: 171.7.247.87 วันที่: 25 ธันวาคม 2558 เวลา:21:29:36 น.  

 
ขึ้นไปอ่านข้างบน


โดย: สดายุ... วันที่: 25 ธันวาคม 2558 เวลา:21:39:58 น.  

 
ทำไมผมถึงหาแปลของบทที่ 79 ไม่เจอหรอครับ


โดย: ซุปเปอร์แมน IP: 125.27.157.8 วันที่: 11 มกราคม 2564 เวลา:13:44:23 น.  

 
.
.
.


โดย: สดายุ... วันที่: 12 มกราคม 2564 เวลา:8:20:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.