Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2560
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
12 กรกฏาคม 2560
 
All Blogs
 

O ฟ้าคร่ำลมครวญ .. O








Pachelbel - Canon in D



O กัมปนาทวิชชุโชติ .. เหมือนโกรธเกรี้ยว
จันทร์รูปเรียวเคยประดับก็ลับหาย
อัสสุชลหล่นฟ้า .. กลับพร่าพราย-
ด้วยชม้ายชายตา .. แฝงท่าที
O ครั่นครื้น-เสียงลมฟ้า .. เสียงห่าฝน
หากใจคนกลีบสุมาลย์เริ่มบานคลี่
วิชชุเฟื้อยเส้นปราด .. ลงฟาดตี
และกลีบสีบุษบันเริ่มสั่นสะทก
O รับรู้ - คลื่นลมฝนอีกฝนหนึ่ง
พร้อมทั้งความหวานซึ้งติดตรึง .. อก
ไร้แสงดาวดื่นเรียง, ไร้เสียงนก-
หากสาธกไร้เสียง .. จักเลี่ยงฤา ?
O พระท่านว่าตาจบกรรทบรูป
จิตอาจวูบด้วยพฤติ .. แล้วยึดถือ
ตั้งแต่เนตรเหลือบเหลียว-เยี่ยงเรียวมือ-
เข้ายุดยื้อเพรียกถวิลให้ดิ้นรน
O พอสิ้นเสียงธรรมพระ .. ก็จะแจ้ง-
ถึงนัยแฝงเร้นผจง .. ให้ส่งผล
สาธุการแผ่วพลิ้วกลางริ้วสุคนธ์
และใจคนอบอุ่นละมุนละไม
O เบื้องนอก-ลมเฉื่อยโชย .. ฝนโปรยปราย
เบื้องหน้า-สายตานั้นเหมือนสั่นไหว
วาบวิ่งแสงวิชชุยังคุไฟ
และวาบวับตาใครเล่าไหววน
O นับเนื่องแต่บ่วงกรรม .. พาจำพราก
สืบช่วงจากแดดอุ่นถึงฝุ่นฝน
ตราบ-ธรรมแว่ว, เพทนา, นัยน์ตาคน-
หวานหอมกลีบสุคนธ์ .. ก็หล่นคอย
O สิ้นคาบยามน้ำหยาดบำราศแล้ว
เหลือเพียงคีตผ่านแว่ว อย่างแผ่วค่อย
พร้อมคู่ดาววาบแสงลงแฝงรอย
เพรียกละห้อยห่วงเห็นไม่เว้นยาม
O ดึกดื่นเสียงกัมปนาทค่อยขาดช่วง
หากแต่ท่วงทีละม่อม .. กลับล้อม-ล่าม
อิริยาพฤติจริตย่อมติดตาม-
เข้าคุกคามถวิลอยู่แต่ผู้เดียว
O ภาพ-กบก้มประนมกรอันอ่อนช้อย,
เนตรชม้อยชม้ายตอบยามลอบเหลียว,
พร้อมสายลมแผ่วพลิ้ว-ด้วยนิ้วเรียว-
กบ-เหมือนเหนี่ยวจิตชายอย่าคลายคะนึง
O ผมหล่นล้อมรูปหน้าเมื่อหน้าก้ม
เพียงสายลมขวางอยู่เมื่อรู้ถึง-
ความอาวรณ์ในจิต .. ว่าติดตรึง-
กับรูปซึ่ง .. ธรรมพระ-ต้องละวาง !
O ทุกลอบเหลือบเหลียวอยู่ก็รู้เลศ
เหมือนดลเวทย์มนต์อุบัติขึ้นขัดขวาง
ธรรมพระแว่ว .. ดวงขวัญก็กั้นกลาง
อนัตตาความว่างก็ห่างไกล
O จาก-อ่อนเอนแกว่งไกวของไม้พุ่ม-
ถึงลมรุมเร้าผ่าน .. กิ่ง .. ก้านไหว
ฤาต่างความรุมเร้า – รูปเงาใคร-
เผยผ่านงาม .. สดใส .. คอยไหววน
O กี่ปีกนกล้อลม .. กี่ร่มพฤกษ์-
ผ่าน .. รำลึกย้อนหลัง, สักครั้งหน-
ที่รูปคราญโลมไล้ .. หัวใจคน-
จัก .. ฝ่าพ้นผ่านงาม .. สักงามนั้น ?
O สิ้นจันทร์ .. สิ้นคืนค่ำ .. ลมร่ำ-หนาว
หากเนตรวาววับนัย ยังไหวสั่น-
เหมือนคอยยั่วคอยย้ำ .. แทนรำพัน-
โอบอุ้มแรงใฝ่ฝันให้สั่นรัว
O กุมเหงนั่นเพียบพร้อม .. ละม่อมหน้า
เติบเต็มโหมคุณค่ากลางฟ้ารั่ว
มธุรสบุษบันก็กลั่นตัว
หยาดโลมทั่วดวงจิต .. รอชิดเชย
O พร่างพรายจันทร์อีกดวงในทรวงนี่
หากหลีกลี้ .. อ้อยอิ่งทำนิ่งเฉย-
หนี้อาวรณ์ทบต้น .. จักล้นเลย-
ความอันเคยเอ่ยนับทุกกัปกัลป์
O พร่างพรายแล้วเสน่หา .. คันธารส
แต่เผยบทบาทน้อม .. เข้าล้อมขวัญ
เถิด-ถ้อยคำบวงโอ่ .. ทั้งโลกันต์
เพียงเศษเสี้ยวส่วนอนันต์ .. รำพันนี้ !




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2560
52 comments
Last Update : 14 เมษายน 2566 11:40:50 น.
Counter : 4172 Pageviews.

 

จะรออ่านจนจบค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 13 กรกฎาคม 2560 16:43:51 น.  

 

สดายุ..

สะดุดตาตรงคำว่า "กบ"ที่ใช้

"O ภาพ-กบก้มประนมกรอันอ่อนช้อย,
เนตรชม้อยชม้ายตอบยามลอบเหลียว,
พร้อมสายลมแผ่วพลิ้ว-ด้วยนิ้วเรียว-
กบ-เหมือนเหนี่ยวจิตชายอย่าคลายคะนึง"

คำว่า"กบ" นี่มาจาก "ประกบ"ที่เป็นคำกิริยา(verb) ใช่ไหม
เพราะระยะนี้ ชินแต่คำว่า "กบในกะลา"ซึ่งเป็นคำนาม(noun) 555

วิวัฒนาการของภาษา กับความหมายที่หายไป


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 92.78.25.168 13 กรกฎาคม 2560 22:27:04 น.  

 



สวัสดีครับแม่เอื้อย ..
จบแล้วครับ





มินตรา ..
ใช่ครับ .. บางคำที่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีความหมายอย่างที่ต้องการไหม ผมก็จะเปิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตามลิงค์ขวามือนี่แหละครับ .. ลำดับที่ 3 .. โดยต้องเลื่อนหน้าเพจลงไปหาอักษรตัวที่เราต้องการก่อน ...

แล้วจะได้ความหมายคำว่า กบ มาหลายความหมาย ..
.
.
กบ ๑ น. - เรียกคำหรือพยางค์ที่มีตัว บ ป พ ฟ ภ สะกด ว่า แม่กบ หรือมาตรากบ.

กบ ๒ น. - ชื่อสัตว์สี่เท้าสะเทินน้ำสะเทินบกในวงศ์ Ranidae ไม่มีหาง ตีนแบน มีหนังติดเป็นพืด กระโดดได้ไกล ว่ายน้ำดําน้ำได้เร็ว มักวางไข่ในน้ำ เมื่อยังเป็นตัวอ่อนจะมีหาง อยู่ในน้ำเรียกว่า ลูกอ๊อด ภายหลังจึงงอกขา หางหดหายไป แล้วขึ้นอาศัยบนบก หน้าแล้งอยู่แต่ในรู ไม่ออกหาอาหารชั่วคราว เรียกว่า กบจําศีล มีหลายชนิด เช่น กบนา (Rana tigerina).

กบ ๓ ดู - คางคก ๒.

กบ ๔ น. - เครื่องมือช่างไม้สําหรับไสไม้ ทําหน้าไม้ให้เรียบ ให้เป็นราง หรือลอกบัวลอกลวด มีมากชนิดด้วยกัน เช่น กบกระดี่ กบบรรทัด กบบัว; อุปกรณ์ใช้เหลาดินสอ.

กบ ๕ น. - (๑) ชื่อทุเรียนพันธุ์หนึ่ง. (๒) ชื่อไม้ล้มลุกมีหัวชนิดหนึ่งในสกุล Geodorum วงศ์ Orchidaceae หัวมีลักษณะเหมือนกบ เชื่อกันว่าใช้ในทางอยู่ยง คงกระพันได้, ข้าวอังกุลี ก็เรียก.

กบ ๖ ว. - เต็มมาก, เต็มแน่น, เช่น ข้าวกบหม้อ มะพร้าวมีลูกกบคอ.

กบ ๗ ก. - ประกบ.

กบ ๘ น. - สลักไม้ที่ใส่ไว้ด้านในส่วนล่างตอนกลางของบานหน้าต่างหรือประตูทําหน้าที่คล้ายกลอน เมื่อปิดหน้าต่างหรือประตู ใช้กบนี้สอดเข้าในช่องเจาะตัวไม้ธรณี.

ผมเลือกใช้ความหมายที่ ๗ .. ประกบ - มือพนม ..

บางครั้งจังหวะคำอาจต้องการคำสะบัดสะบิ้ง .. เพื่อทำให้กลอนน่าอ่าน .. แต่หากคำเกินไปมากทำให้อ่านแล้วสะดุดหู ไม่ไพเราะ ..

และใจคนอบอุ่นละมุนละไม -
ละมุนละไม นี่คือ "คำสะบัดสะบิ้ง" รวมเสียงแล้ว 9 คำ แต่คำครึ่งเสียงมันเบา อ่านรวบเร็วๆได้ จึงเหมาะสำหรับใส่ต่อจากเสียงเอก (อบอุ่น) เพราะทำให้เหมือนมี 8 คำ เหมือนปกติ

ดังนี้ ขอรับ

 

โดย: สดายุ... 14 กรกฎาคม 2560 6:56:38 น.  

 

เข้ามาคุยทักทายในยามบ่ายค่ะคุณสดายุ
- ไม่สันทัดในการคุยเรื่องการเมือง
- ไม่นิยมคุยเรื่องต่างชาติ
- ไม่ชอบการดูถูกแผ่นดินเกิด
- ไม่ชอบการคุยโวโอ้อวด

แต่บางครั้งต้องการมาพักสายตาอ่านบทกลอนดีๆจากคนที่มีฝีมือในการแต่งได้เยี่ยม หาคนเทียบได้ยากค่ะ

จะมีพื้นที่ให้แม่เอื้อยคุยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ประเด็นดังกล่าวหรือเปล่า แม่เอื้อยเป็นคนชอบพูดตรงๆค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 18 กรกฎาคม 2560 15:05:03 น.  

 


แม่เอื้อย ..
เชิญตามสบายครับ .. ผมคุยได้ทุกเรื่อง

ที่จริงบล็อก นารีปราโมช เขียนเพื่อให้นารีปราโมชอยู่แล้ว
ตามความหมาย

ส่วนใน ปริภาษวาจก กับ นรกวาที ถึงจะเป็นการเมือง

คนชอบอ่าน มักเป็นคนละเอียดนะครับ
คนละเอียดมักทำอะไรประณีตมากกว่าคนทั่วไป
ซึ่งมันมักเกิดแต่วัยเด็ก .. การเขียนลายมือตัวหนังสือจึงมักสวยงามตามความประณีต

บทกลอนเหมือนกัน .. ในความเห็นผม
เพียงอ่านแค่บรรทัดแรก .. เราก็พอรู้แล้วว่า
คนเขียน เขียนแบบหวัดๆ ขอไปที หรือ บรรจง ตั้งใจ
ซึ่งให้ความรู้สึกที่อยากอ่าน ต่างกันมากมาย

แม่เอื้อยเห็นอย่างไรครับ

 

โดย: สดายุ... 18 กรกฎาคม 2560 15:47:46 น.  

 

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นกลอนหรือฉันท์ของคุณ แค่อ่านเพียงไม่กี่บรรทัดก็เห็นถึงความชัดเจนในความปราณีต และมีการกลั่นกรองในการใช้คำ รวมทั้งเรียบเรียงเนื้อความได้สละสลวยเป็นอย่างดี

นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ของผู้แต่งที่สั่งสมประสบการณ์ความรู้มาอย่างยาวนานและมีฝีมือจัดเจนมาก

คนเราย่อมมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน นี่คือส่วนที่ดีของคุณที่แม่เอื้อยยอมรับว่าเก่งแท้แน่นอนจริงๆ

แม่เอื้อยสนใจในความเป็นอัจฉริยะของคุณในเรื่องนี้ จึงอยากมาคุยด้วยในยามที่ว่าง และชมด้วยใจจริงไม่ชอบเสแสร้งค่ะ

ไว้คุยเรื่องอื่นๆแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไป ในฐานะแฟนคลับคนหนึ่งค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 18 กรกฎาคม 2560 17:23:43 น.  

 



แม่เอื้อย ..
ชมเกินไปครับ ..

แต่ยอมรับว่า หากทำอะไรก็มักตั้งใจทำให้ดี เท่าที่ความสามารถจะมี .. จนจบ

ที่จริงในวัยเรียน ผมไม่เคยชอบกลอน แค่เฉยๆกับมัน
เพียงแต่พอลองเขียนครั้งแรกๆที่ M-Thai .. แล้วมา ThaiPoem .. แล้วต่อที่ ถนนนักเขียนพันทิปยุคก่อนมี bloggang

เหมือนมันจะสนุกดีที่ได้คิดคำ ก็เลยยืดเยื้อเรื่อยมา ..
พอทำ blog ตั้งแต่ปี 2548 ก็เลยมีพื้นที่ของตัวเอง
ก็ดันทุรังเขียนมันเรื่อยมา ..

ใช้จินตนาการส่วนตัว เดินผ่านช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ โดยมีความสวยงามแห่งยุคสมัยปัจจุบันเป็นภาพสวมทับ พาย้อนยุคสมัย .. จึงเป็นที่มาของบรรดาเรื่องยาวทั้ง กลอน โคลง ฉันท์

แม่เอื้อยชอบอ่าน .. แล้วได้เขียนเองบ้างหรือเปล่าครับ



 

โดย: สดายุ... 18 กรกฎาคม 2560 19:02:03 น.  

 

เขียนได้ดีแบบนี้ ก็ไม่น่าเสียดายเวลาที่อุตส่าห์ดันทุรังเขียนเรื่อยมา มันอาจจะเป็นพรสวรรค์ของคุณพร้อมไปกับพรแสวงก็ว่าได้

แม่เอื้อยชอบอ่านบทประพันธ์เฉพาะที่มีเวลาว่าง. เพราะสมองจะสแกนถ้อยความได้งามยิ่ง

ถ้าถามว่า เขียนได้ไหม? ก็พอได้บ้างแบบเป็ด หรืองูๆปลาๆเท่านั้น ไม่มีคำศัพท์สลับซับซ้อนใดๆให้คมคายหรือเพิ่มความลึกซึ้ง

ถ้าอยากจะลองอ่านงานของแม่เอื้อยจะได้พยายามแต่งให้อ่านค่ะคุณสดายุ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 19 กรกฎาคม 2560 9:22:12 น.  

 



.
สมัยก่อนยุคอินเตอร์เนต ..
เวลาอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ .. ผมชอบอ่านบทบรรณาธิการ
ที่ค่อนข้างเป็นภาษาทางการที่สละสลวยอยู่สักหน่อย ..

เวลาอ่านบทวิเคราะห์การเมือง ..
ก็ในทำนองเดียวกัน คือ ประเภทเขียนเป็นนัยๆให้เข้าใจกัน
อย่างคนที่เป็นคอการเมืองระดับลึก ..

บทความที่เน้นความหมายเป็นนัยๆ ไม่โจ่งแจ้งเกินไป
ผมจะชอบอ่านมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเครือมติชน

ภาษาที่สื่อความหมายเป็นนัยๆ ไม่โจ่งแจ้งเกินไป
สื่อให้เฉพาะคนที่รับได้ .. ผมมองว่ามีเสน่ห์มาก

ทำให้ผมชอบงานของ มนตรี ศรียงค์ - หมี่เป็ด มากกว่า
ซีไรต์คนอื่นๆ ..

รออ่านที่แม่เอื้อยเขียนครับ ..

 

โดย: สดายุ... 19 กรกฎาคม 2560 10:49:41 น.  

 

คนอ่านมากย่อมได้เปรียบกว่าคนอ่านน้อยในหลายๆประเด็น รวมทั้งภาษาที่ใช้ด้วย

ไม่แปลกใจว่าทำไมคุณจึงมีความรู้เชิงลึกในหลายๆเรื่อง
บ่ายๆจะลองเขียนงานมาให้อ่านดูค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 19 กรกฎาคม 2560 11:28:39 น.  

 

ซ่อนความนัยเรียงไว้ในพากย์พจน์
มธุรสด้อยค่าหรือว่าขม
เชิญสดายุตำหนิคำติชม
เอื้อยระทมเรียงร้อยถ้อยรำพัน

นึกถึงรักฝังใจในวันเก่า
ภาพสองเราเคลียคลอพนอขวัญ
รื่นรมย์พากย์ร่วมรสจรดปลายวัน
รักล่มฝันร้างชืดกลับจืดจาง

คนเคยรักพลั้งผิดทำจิตช้ำ
สุดระกำยับเยินต้องเมินหมาง
เหลือเพียงรอยย้ำเตือนภาพเลือนราง
สุดอ้างว้างซึมเศร้าเงียบเหงาทรวง

ลืมแล้วหรือซื่อตรงบรรจงมอบ
ลวงด้วยตอบรักที่เคยมีหวง
จินตภาพวูบดับกับกลลวง
เหมือนเป็นบ่วงผูกฝันล่ามพันธนา

ติชมได้ค่ะ...

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 19 กรกฎาคม 2560 17:12:28 น.  

 

สดายุ...
รับรู้ - คลื่นลมฝนอีกฝนหนึ่ง !

"O รับรู้ - คลื่นลมฝนอีกฝนหนึ่ง
พร้อมทั้งความหวานซึ้งติดตรึง .. อก
ไร้แสงดาวดื่นเรียง, ไร้เสียงนก-
ความสาธกไร้เสียง .. จักเลี่ยงฤา ?"

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 19 กรกฎาคม 2560 18:06:14 น.  

 



แม่เอื้อย ..

คงเขียนมานานแล้วนะครับ แบบนี้
สำนวนนี่พอดูได้ค่อนข้างชัดว่าคนเขียน
เป็นผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่แล้วเขียนครับ ..

แม้เพียง 3 บท .. แต่ก็ครอบคลุมเรื่องราวได้ครบ ..
สัมผัสชิด สัมผัสคร่อมท้ายวรรค ก็วางได้แนบเนียน

ผมกลับมองว่า การเดินเรื่องได้กระชับแบบนี้
แม่เอื้อยน่าจะเขียนโคลงได้ดี .. เพราะโคลงเน้นเดินความ

ความแตกต่างที่เห็นชัดในระหว่างบทกลอนที่
ผู้หญิงเขียน กับที่ผู้ชายเขียนคือ "คำใหญ่คำโต"
ที่จะมีในงานของ ผู้ชายมากกว่า ..

เป็นไปได้ว่า ญ มักมีอารมณ์ไม่โลดโผนรุนแรง
เหมือนชาย ..

 

โดย: สดายุ... 19 กรกฎาคม 2560 18:25:05 น.  

 

ขอบคุณที่ชี้แนะค่ะ

เรื่องโคลงนี่พอเขียนได้. แต่ไม่ค่อยสันทัด. โอกาสหน้าคงต้องรบกวนคุณสดายุช่วยแนะนำให้ค่ะ

ฉากสีแดง. ลำบากตาแม่เอื้อย ต้องเพ่งมาก คงด้วยวัยหลายทศวรรษค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 20 กรกฎาคม 2560 11:35:03 น.  

 



อ้อ เหรอครับ ..
ผมทำเป็นแดงเข้มแล้วนะครับ ..
งั้นจะลองเป็นน้ำเงินเข้มดูครับ

 

โดย: สดายุ... 20 กรกฎาคม 2560 15:44:53 น.  

 

สบายตาขึ้นค่ะ สีนอกจากจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกแล้ว
ยังมีผลต่อสายตาด้วย

เหมือนงานเขียนของคุณสดายุในบางบท ที่มีผลต่อความรู้สึกกับคน เป็นเหมือนดังกระจกเงา อ่านแล้วก็เกิดมโนเข้าข้างตัวเองแตกต่างกันไป

ยกเว้นแม่เอื้อยที่อ่านแล้วจะรู้สึกชื่นชมในความเก่งของคนเขียนมากกว่าค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 20 กรกฎาคม 2560 16:44:20 น.  

 




มินตรา ..
บทที่ยกมาเป็นอย่างไรครับ ?

 

โดย: สดายุ... 20 กรกฎาคม 2560 20:14:33 น.  

 



แม่เอื้อย ..
ส่วนมากเขียนให้สาวๆอ่านครับ ..
เรื่องจินตนาการเข้าตัวเองเป็นเรื่องปกติครับ ..
มีมาก่อนทำบล็อกนี้อีก ..

เข้าใจว่า คนที่ชอบกลอนแนวนี้ จะเป็นคนที่มีจินตนาการ
เกิดได้ง่าย เกิดได้เร็ว น่าจะเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวครับ

 

โดย: สดายุ... 20 กรกฎาคม 2560 20:17:42 น.  

 

"สาวๆที่คุณว่า หากอ่านบางบทขย่มใจของคุณแล้ว เช่น"

O อย่าลืมว่ามีใจ .. หนึ่งใจห่วง
เต็มอยู่ทุกคาบช่วง .. คือหวงแหน
คงยากหารูปรส .. เข้าทดแทน
ให้เหมือนแม้นใครนี้ .. ผู้มีใจ

"อาจมีอาการแบบนี้. ตามมา โดยจริตแห่งวัยกำดัดแรกรุ่นค่ะ"

แววประกายโชติช่วงสองดวงเนตร
หาซ่อนเลศปิดปลุกความสุขสม
พักตร์ร้อนผ่าวซ่านเดือดด้วยเลือดลม
ยากจะข่มตื่นสิ้นด้วยยินดี

"และจะตามมาด้วยมโนวิญญาณแบบนี้ค่ะ"

อยากมอบกายถวายตัวหัวใจภักดิ์
เทิดทูนรักยอมให้มิหน่ายหนี
อุทิศชีพซื่อสัตย์เป็นบัดพลี
ตราบชีวีวางวายยากคลายคืน

แต่งกระเซ้าเย้าแหย่ตามประสาสตรีผู้มีวัยเป็นอาวุธค่ะคุณสดายุ ๕๕๕
วิจารณ์ด้วยก็ดี แต่ไม่ชอบชมนะคะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 21 กรกฎาคม 2560 7:45:38 น.  

 



แม่เอื้อย ..

ที่กลอนสุนทรภู่ไพเราะเสนาะหูมากกว่ากวีโบราณท่านอื่น
เพราะท่านลงสัมผัสคร่อมท้ายวรรคนี่เอง .. อีกทั้งท่านมี
"วรรคทอง" มากมายที่ติดหูติดปากคน

กลอนแปด จึงเหมือนเป็นราชาแห่งคำกรองตลอดกาล
เพราะคนอ่านเข้าใจง่ายที่สุด

ผมเองโดยส่วนตัวจึงชอบลงสัมผัสคร่อมท้ายวรรคเกือบ
ทุกบท ..

การใช้"คำเชื่อมความ - บุรพบท ?"ให้สอดรับกลมกลืนกันก็
เป็นความงดงามของบทกลอน ..
ก็ ..
แล้ว ..
แต่ ..
ชั่วเพียง ..
เหมือนว่า ..
นั้น ..
ฯลฯ

การไม่ใช้คำคู่ควบแบบ "กลับหน้ากลับหลัง"
หลงใหล .. เป็น .. ใหลหลง
หลับใหล .. เป็น .. ใหลหลับ
คลับคล้าย .. เป็น .. คล้ายคลับ
ถ่ายเท .. เป็น .. เทถ่าย
ฯลฯ
ที่หากใช้แล้วฝืนหูอย่างแรง ..

ย่อมทำให้บทกลอนน่าอ่าน ..
ส่วนใหญ่มือหัดใหม่จะเห็นได้ชัดในคำพวกนี้ ..
ส่วนที่เขียนมานาน หรือบรรดาที่เป็นครูภาษาไทยจะรู้ดี

วัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นวัยเดียวกับ
วัยที่ประกวดนางงามกัน .. นั่นแปลว่า ผู้หญิงในวัยนี้
ธรรมชาติสร้างให้สวยงามที่สุดแล้ว

วัยนี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของบทกลอนนารีปราโมช ..

แววประกายโชนช่วงกลางดวงเนตร
หลังต้องเลศนัยชู้ .. นั้น-จู่ถึง
ฤา-อาจเร้นหวานล้ำในคำนึง
เมื่อรำพึงแห่งคำ .. คอยก้ำเกิน

อิๆๆ

 

โดย: สดายุ... 21 กรกฎาคม 2560 8:43:38 น.  

 


แววประกายโชติช่วงสองดวงเนตร
หาซ่อนเลศปิดปลุกความสุขสม
พักตร์ร้อนผ่าวซ่านเดือดด้วยเลือดลม
ยากจะข่มตื่นสิ้นด้วยยินดี

แววประกายโชนช่วงกลางดวงเนตร
หลังต้องเลศนัยชู้ .. นั้น-จู่ถึง
ฤา-อาจเร้นหวานล้ำในคำนึง
เมื่อรำพึงแห่งคำ .. คอยก้ำเกิน

ดีมากเลยค่ะคุณสดายุ. ชอบๆ ที่ได้ช่วยกรองคำให้นุ่มนวลน่าอ่านยิ่งขึ้น.

การเขียนกลอนต้องอาศัยประสบการณ์และคลังคำที่สั่งสมมานาน.

แม่เอื้อย เป็นปีเป็นชาติจะเขียนกับเขาสักครั้ง ว่างๆคงต้องมาเขียนวางไว้ให้ครูสดายุช่วยฝึกให้หน่อย ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 21 กรกฎาคม 2560 10:32:30 น.  

 



แม่เอื้อย ..
ในความสังเกตของผม .. คำตายเป็นจุดอ่อนของ
การเขียนร้อยกรองในทุกฉันทลักษณ์ครับ

โดยเฉพาะคำตายเสียงสั้น .. ภพ ลบ กด บท คิด ฯลฯ

คำตาย .. เสียงมันไม่ไหลลื่น เอื้อนไม่ได้
เหมือนสบู่ตกทรายครับ .. หยุดกึก ไปต่อไม่ได้

คำตาย จึงเหมาะจะเขียนแนว อึกทึกครึกโครม
เชิงสังคมการเมือง มากที่สุด ..

แลกเปลี่ยนความเห็นกันครับ

 

โดย: สดายุ... 21 กรกฎาคม 2560 13:27:40 น.  

 



รับวันฝนตก ฟ้ามืดครึ้มสักบท ..

O ลมพลิ้วไม้เอนลู่ .. ฤดูฝน
ก่อนเม็ดน้ำร่วงหล่น .. ฟ้าหม่นหมอง
หยดพรมพรรณไม้ปวงก่อนร่วงนอง
เมื่อแสงทองบนฟ้า .. ค่อยล้าเลือน
O รวมหยาดที่เบื้องบน ..แล้วหล่นร่วง
เริ่มคาบช่วงสืบสายลงป่ายเปื้อน
ทีละหยดพรากหาว, เมื่อดาวเดือน-
ค่อยคล้อยเคลื่อนเลื่อนดวง .. หยุดช่วงทอ
O สายลมพลิ้วผ่านบท, ความสดชื่น-
ย่อมแตะตื่นตัวรู้ .. ให้ชูช่อ
แสงวิชชุวาบวามจึงงามพอ-
ให้คนรอพิศชมได้สมใจ
O ประจุจลน์วนแล่นเหนือแผ่นฟ้า
อวดวิโรจน์เรขาทาบทาให้-
ผืนฟ้าที่หม่นหมองได้ยองใย-
กับเส้นไฟครั่นครื้น .. ยามตื่นตัว
O อาวรณ์จึงโลดเต้น ..ราวเส้นไฟ
เมื่อความนัยเผยบอกเฝ้าหยอกยั่ว
ภาพแววตาคู่นั้น .. ที่สั่นรัว-
จากเพียงชั่ว .. สบ ..สะเทิ้น .. ขัดเขินนั้น
O ภาพหยาดฝนหล่นเม็ด .. ราวเพชรรุ้ง-
บำราศคุ้งโค้งฟ้า, แววตาหวั่น-
จึงรุ่งเรื้องเปลื้องความ .. ให้ตามทัน-
การไหวสั่น-ปริศนาแห่งอารมณ์
O พร้อมเส้นไฟพุ่งเฟื้อย .. แล้วเลื้อยวาบ
คือเนตรปลาบแววปลั่งเข้าถั่งถม-
อกผู้กรำหวานหอม .. ให้จ่อมจม
ด้วยสุดข่มข้ามเขต .. แห่งเลศการณ์
O คะเนนึกคะนึงอยู่, ความรู้สึก-
ก็จมลึกล่วงลง .. สู่สงสาร
บนฟ้า-ฟ้าครืนครั่น, แสงวันวาน-
วาบแววหวาน-ครั่นครื้น .. ล้อมผืนทรวง
O น้ำหยาดหล่นโปรยปราย, ภาพสายฝน-
ส่าย-ลูบไล้ลมวน .. แล้วหล่นร่วง
ที่แทรกบท รดหลั่ง .. ใจทั้งดวง-
นั่นคือท่วงทีท่า .. ผู้อาลัย
O จนรับรู้แสงวาม .. งดงามระยับ
จากดวงตาพริ้มพรับตอบรับให้-
แปร-รอคอยละห้อยหวง ..ด้วยห่วงใย
เป็น-สุมใส่จำนง .. กลางวงกรรม
O จากรับรู้ ระยับช่วงแห่งดวงเนตร
จนเผยเลศปรารมภ์ .. พร้อมลมร่ำ-
กลางหยาดฝนโปรยปราย .. พลิ้ว-ร่ายรำ
พา-ความ, คำ .. เร้ารุมลงสุมทรวง
O ลมเย็นรื่นร่ำโรย, ฝนโปรยปราย
เมื่อความหมายเร้นแฝง-คือแรงหวง-
ค่อยเผยออกคุกคาม, งดงามปวง-
จึงเผยช่วงชาติภพ .. บรรจบล้อม !
O ต่อหน้ากาลเวลา .. สายฟ้าแลบ
การอิงแอบส่งผ่านความหวานหอม-
ย่อมเหมือนฝนขาดช่วง .. เมื่อ-ดวงพะยอม-
ค่อยโน้มน้อมกลีบรับเข้าซับน้ำ
O สายหยุดนั้น .. หยุดกลิ่นแต่สิ้นสาย
หากเนตรฉายแสงผ่าน ..กลับ-หวานฉ่ำ
หยุดได้ฤๅแววระยับ .. พริ้มพรับนำ-
ด้วยอาวรณ์จองจำ .. ให้จำนน
O สิ้น .. ภาพไม้เอนลู่ - ฤดูลม
เหลือเพียงห่มร่างอุ่นแทนฝุ่นฝน
พร้อม .. ภาพแววละห้อยหา -ในตาคน-
อันหวานล้น .. รอถนอม .. อยู่พร้อมแล้ว !

 

โดย: สดายุ... 21 กรกฎาคม 2560 15:46:28 น.  

 


เข้ากับบรรยากาศยามนี้เสียยิ่งนัก
สงสัยคุณจะเป็น motivation ให้แม่เอื้อยได้ปัดฝุ่น หยิบตำหรับ ตำรามาฝึกเขียนใหม่เสียแล้ว

ว่างๆจะลองเขียน งานในแนวหนักๆมานำเสนอให้ครูได้วิจารณ์ดู

คุณเขียนได้มากมายขนาดนี้ เอาสมองที่ไหนมาคิดคะ
สัปดาห์หน้าพบกันใหม่ค่ะคุณสดายุ!

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 21 กรกฎาคม 2560 17:05:35 น.  

 

สดายุ...

"O สายหยุดนั้น .. หยุดกลิ่นแต่สิ้นสาย
หากเนตรฉายแสงผ่าน ..กลับ-หวานฉ่ำ
หยุดได้ฤๅแววระยับ .. พริ้มพรับนำ-
ด้วยอาวรณ์จองจำ .. ให้จำนน"

หนึ่งในหลายหลายสดายุ(ความแตกต่างของการใช้ภาษา) ก็ยังมี
สดายุ คนที่"บางทีมีสัมผัส"

ความงดงาม และ ความสามารถ (competence)ของวรรณศิลป คือ "บางทีมีสัมผัส"นี่เอง
ที่ผู้ส่ง(sender )และ ผู้รับ(receiver) ถอดรหัส(code)ได้

ความมีทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน และ การเลือกใช้คำได้พอดิบพอดีที่บ่งบอกถึงการอบรมบ่มภาษามา เป็นดัชนีชี้ถึงฐานความรู้ และ ฐานชีวิตของบุคคลนั้น

ไปอ่านผลงานของ"เด็กวัดนวล" ที่ ..บางทีไม่มีสัมผัส..
ไม่ว่าจะสัมผัสนอก หรือสัมผัสในใดใดทั้งสิ้น
จึงเห็นถึงความรู้ของ"เด็กวัด" หรือ"เด็กวัง" ในระบบการศึกษาไทย

ปัญหาในสังคม ปัจจุบันคือ ภาษา ที่ไม่สามารถ"ถอดรหัส"ให้เข้าใจตรงกันได้
ประโยคเดียวกัน แปล ออกไปไม่เท่ากัน
หรือ แม้นแต่สิ่งที่ไม่พูด แต่อยู่ระหว่างบรรทัด ซึ่งผู้"แตกฉาน" ทางปัญญา ไม่ต้องใช้สัญลักษณ์อักษรทางคำพูดเลย (ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ก็สามารถเข้าใจได้

ความล้มเหลวในสังคมทุกสังคม คือ ภาษา !


 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.8.198.76 22 กรกฎาคม 2560 17:06:26 น.  

 



มินตรา ..
เข้าใจพูดนะครับ .. 555

นึกอยู่ 2 นาทีครึ่งว่า "เด็กวัดนวล" คนไหนที่ "ไม่มีสัมผัส" .. ไม่ว่านอกว่าใน ไม่ว่าบนว่าล่าง ..

แล้วก็ถึงบางอ้อ
ข้าพเจ้าฟินแล้ว .. 55

มินตราก็รู้นี่ว่า "ดาวเคราะห์" มันไม่มีแสงในตัวเอง
มันจึงต้องหมุนรอบ "ดาวฤกษ์" เราจึงสามารถมองเห็นการมีอยู่ของมันได้ ..

"ดาวฤกษ์" - นั่นจึงควรถูก"พูดถึง"ให้มากขึ้นมากกว่าครับ โดยเฉพาะพวกที่อยู่พ้นไปจาก"รังสีแกมม่า" แล้วทั้งหลาย .. ในดินแดนที่ผู้คน "เห็นแสง-enlightened" แล้วทั้งหลาย

เพราะในดินแดนบางแห่ง "นักตีความพื้นเมือง" ระบุ "คุณสมบัติของรังสีแกมม่า" ครอบคลุมกว้างขวางมาก ในทางเป็นอัตรายต่อผู้คน

 

โดย: สดายุ... 22 กรกฎาคม 2560 19:52:59 น.  

 

ดายุ...

จาก เวียงจันทร์ ถึง หนองคายนี่ ระยะทาง 25.3 กิโลเมตร
อย่างนี้สำหรับคนไทยที่ไม่มีนิสัยชอบเดิน จะเรียกว่า
The Long March ได้แล้วหรือไม่
มีปัญหาเรื่อง.. ภาษา .. น่ะค่ะ

แล้วเห็นสดายุ กำลังสนใจฟังเพลง:
Allons enfants de la Patrie
Le jour de gloire est arrivé !

ส่วนมินตราน่ะ ยังเดินตามความสนใจของท่านนายกฯ
“เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ” เลย"มีสัมผัส" กับเค้าบ้าง.
..คือท่านผู้นำ ท่านถือคติ "เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ ":
"เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ แล้วเจ้าจะนิ่งอยู่ไยหละทูนหัว จงเอาความคิดมาปั้นแต่งให้เป็นตัว อย่าได้กลัวจะเผยความคิดมิผิดแนว เขียนเถิดเขียนอะไรใจอยากเขียน เขียนแล้วต้องหมั่นเวียนหมั่นฝึกฝน เขียนความคิดให้เป็นตัวแต่งคิดตน เขียนให้เธอได้พบค้นในวิญญาณ "( บัวกันต์ วิลามาศ-ประพันธ์)

ยุคดิจิทัลนะ เลย ดู กูเกิลแมพ ไป
ฟัง La Marseillaiseไป
“เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ” ไป
แล้วคณะแพทย์ ของ สงขลานครินทร์ เชียงใหม่ ขอนแก่น แจ้งมาว่า งานเฉลิมปีนี้ จะมีวิ่งเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกัน จากเหนือลงใต้ ไปรวมตัวกับอิสาน ในวันที่ 26 -28 กรกฎาคม
มินตราก็เลยชวนมาทำ Medicine 4.0 ซะก่อนที่เยอรมัน ท่านเพิ่งกลับกันไป
เห็นท่าน 4.0 กัน ก็เลย 4.0 กะท่านมั่ง...
แถม คุณอานันท์ ปันยารชุน (สารสิน) บอกว่า
หลังพิธีศพ ร.9 ก็ตัวใครตัวมัน

แล้วมาอ่านกลอนสดายุ :
"O สิ้น .. ภาพไม้เอนลู่ - ฤดูลม
เหลือเพียงห่มร่างอุ่นแทนฝุ่นฝน
พร้อม .. ภาพแววละห้อยหา -ในตาคน-
อันหวานล้น .. รอถนอม .. อยู่พร้อมแล้ว !"

เลยยิ่ง"มีสัมผัส" ใหญ่ ว่า
" อันหวานล้น .. รอถนอม .. อยู่พร้อมแล้ว !"

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.8.173.252 24 กรกฎาคม 2560 19:06:01 น.  

 




มินตรา ..

Allons enfants de la Patrie
Le jour de gloire est arrivé !

มาจากเมื่อย้อนอ่าน ดู คิด เกี่ยวกับ French Revolution
อีกหลายครั้งในระยะหลัง ทั้งพากย์ไทย ทั้งพากย์อังกฤษ
ถึง สาเหตุของเหตุการณ์ แล้วยังรู้สึกทึ่งในชนชาตินี้

การปะทุของเหตุการณ์เป็นไปอย่างไม่ได้วางแผนไว้
ล่วงหน้า .. คงเทียบได้กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
ของไทยที่ ปะทุขึ้นมาได้ทั้งๆที่ 2500-2516 นั้นอยู่
ภายใต้การกดหัว กล่อมหัว จาก 3 จอมพล .. ซึ่งนั่น
มันยาวนานขนาดชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งทีเดียว

คศ.1789 = พศ.2332
เสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 พศ.2310 ..
ยุคกรุงธนสิ้นสุด พศ.2325
เหตุการณ์ในฝรั่งเศส จึงเกิดหลัง ร.1 ขึ้นครองราชย์เพียง 7 ปี ..
สมัยนั้นฝรั่งเศสมีคน 26 ล้านแล้ว
ปัจจุบันมีเพียง 67 ล้าน

(สมัย ร.5 ไทยมีพลเมือง ราว 10 ล้าน
ย้อนขึ้นไปถึง ร.1 เราน่าจะมีไม่เกิน 3-4 ล้าน
ปัจจุบันไทยมี 67 ล้าน

แปลว่านโยบาย มีลูกไม่ถึง 4 คนห้ามทำหมัน
ที่เคยประกาศใช้ .. มันสำหรับเพิ่ม "จำนวนแรงงาน" ใน
ชนชั้นล่างโดยเฉพาะ .. เพื่อ serve เจ๊กจีนทำกิจการ)

น่าสนใจตรงกระบวนการ แนวคิดในเรื่องฐานันดรทั้ง 3
จนมาถึง"ยุคแห่งความรอบรู้ - enlightened" เราอาจ
เทียบได้กับ "ยุคตาสว่าง" ของไทยได้ระดับหนึ่ง ..

แต่"เนื้อหาสาระของการเปลี่ยนแปลง"ของฝรั่งเศสครั้งนั้น
มันช่างแตกต่างกันมหาศาลกับภาวะ"เด็กเล่นขายของ"
ของ"นักกลอนนอนเปล่า" สุด love ของมินตรานะ

555

2500-2516 นักรบเป็นดาวฤกษ์ ..
2516-2522 แสงเริ่มมอด
หลัง 2522 เป็นต้นมา"ถูกทำ"ให้เป็นดาวเคราะห์เรียบร้อย

ฝรั่งเศส .. อาจรบสู้เยอรมันไม่ได้
แต่"ความคิดริเริ่ม" เพื่อการเปลี่ยนแปลงมีค่อนข้างมาก
เมื่อถึงจุดที่ทนไม่ไหวอีกต่อไป ..

Qu'ils mangent de la brioche !
มารี อังตัวแน็ต "ไม่เคยได้กล่าวเอาไว้"
ผมกล่าวเอง - 555

 

โดย: สดายุ... 25 กรกฎาคม 2560 9:29:45 น.  

 

ว๊าย..
จะมา"สุด love ของมินตรานะ " ได้ยังไง มิบังอาจ !

ค่ะไม่ใช่ มารี อังตัวแน็ต
เธอกล่าวประโยคสุดท้ายตอนเดินขึ้นไปกิโยติน แล้วพลาดไปเหยียบเท้าของ เพชฌฆาต ว่า,"Monsieur, je vous demande excuse, je ne l'ai pas fait exprès."-
นักปฎิวัติฝรั่งเศส มองซิเออร์ Louis-Marie Prudhomme: บันทึกไว้ ใน Les crimes des reines de France, Au Bureau des Révolutions de Paris, 1793. หน้า 460
แปลว่า มองซิเออร์ ขอโทษค่ะ ฉันมิได้ตั้งใจ ! (จะเดินไปเหยียบเท้าคุณ)

ผู้ที่ ใส่ประโยคนี้"S'ils n'ont pas de pain, qu'ils mangent de la brioche." เพื่อปลุกประชาชนให้เพิ่มความเกลียดชัง คือ นักปรัชญาฝรั่งเศส รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712–1778)
แล้วเหล่า "นักปฎิวัติ"ทั้งหลายแหล่ก็มาแปลผิดแปลถูกแล้วพูดต่อต่อตามตามกัน เสียมาดนักปรัชญาไปเลย..

ด๊อกเตอร์นักสาธารณรัฐของเราสมัยนี้ก็กำลังปฎิบัติการณ์เช่นเดียวกันคือ แปลคำว่า arschloch ( asshole)ซึ่งเป็นคำด่าใช้เรียกคน ว่า ...วัยรุ่นเยอรมันยิงกระสุนปืนลม เข้าที่ "ก้น" ผู้ปั่นจักรยาน ...555

มีอีกคำหนึ่งซึ่ง นักเศรษฐศาสตร์เยอรมัน Wilhelm Roscher (1817 – 1894) นำมาใช้คือ Enlightened absolutism หมายถึง "ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม" และ
บิดาของระบบนี้ คือ Frederick the Great,(1740 -1786)ราชวงศ์ ปรัชเซีย Prussia ของเยอรมันซึ่งตอนนั้นปกครองดินแดนทั้งยุโรป ได้เปลี่ยน
"ระบบกษัตริย์คือพระเจ้า"(divine right )มาเป็น "ระบบกษัตริย์ภายใต้ข้อตกลงทางสังคม" (a social contract ) โดย...
ให้ประชาชนมีสิทธิทางศาสนา(religious tolerance, ) เสรีภาพทางการพูด(freedom of speech) และ
สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว( the right to hold private property.) แล้วระบบนี้ถูกนำมาใช้หลายประเทศในยุโรป

ไม่ใช่ คนฝรั่งเศส จากการปฎิวัติอย่างที่ สดายุ หรือนักปฎิวัติไทยเข้าใจนะคะ..

ผลของปฎิวัติฝรั่งเศส คือ
สิบปี การปฏิวัติฝรั่งเศส - พ.ศ. 2332-2342 (ค.ศ. 1789-1799)
สิบปี สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส - พ.ศ. 2335-2345 (ค.ศ. 1792-1802)

และการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งมี ปัญญาชนและผู้เห็นต่างโดนประหาร 16,000 - 40,000 คน

เช่นเดียวกับ 70ล้านปัญญาชนคนจีน ที่โดน เหมา ฝังกลบดินทั้งเป็น

หรือในเขมร 850,000 - 3 ล้านคน

"....แล้วเจ้าจะนิ่งอยู่ไยหละทูนหัว จงเอาความคิดมาปั้นแต่งให้เป็นตัว อย่าได้กลัวจะเผยความคิดมิผิดแนว"( บัวกันต์ วิลามาศ-ประพันธ์)

ยุคดิจิทัล ศตวรรษที่21 :
จาก เวียงจันทร์ ถึง หนองคายนี่ ระยะทาง 25.3 กิโลเมตร.ใช้เวลา 46นาที ไม่ใช่ The Long March

ส่วนท่านที่กล่าวว่า"ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ" น่ะ ยูเอ็นตอบกลับมาว่า ...ยูเอ็น ไม่ใช่พ่อ แต่เป็นเพื่อน !..
มิเป็นการดีกว่ารึที่จะเรียนในสิ่งที่เราไม่รู้ เพื่อให้รู้
ศึกษาเรื่องระบบรัฐสภา การใช้เวทีรัฐสภาในการรักษาอำนาจประชาชน

รัฐสภาโลก ( IPU = Inter-Parliamentary Union)มีหน้าที่ ดูแลต่อรอง อำนาจกับรัฐให้ประชาชน
มีกลไกในระบบระหว่างประเทศมากมาย ซึ่งเราต้องศึกษา ว่าไหมคะ

ที่เอ่ยถึง คณะแพทย์ หรือคณะวิศวะ เพราะ ผู้ที่ขยับตนจากชนชั้นล่าง มาเป็นชนชั้นกลาง คือผู้ที่ ต้องการ เปลี่ยนตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า
"การศึกษา"เท่านั้น ที่ให้ความรู้ได้ และคนเหล่านี้ มักจะ "เชื่องเชื่อ" แบบที่สดายุว่า
ชวนให้ไปแบกจอบหอบเสียมไม่มีใครไปด้วย !

อย่าไปวิ่งเข้าสู่กองไฟอย่างไร้สติ
ขาดความรู้ย่อมทำงานไม่ได้
ศึกษา เยอรมัน ให้ลึกซึ้ง

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.8.173.252 26 กรกฎาคม 2560 0:37:08 น.  

 


มินตรา ..
...................................................................
ผู้ที่ ใส่ประโยคนี้"S'ils n'ont pas de pain, qu'ils mangent de la brioche." เพื่อปลุกประชาชนให้เพิ่มความเกลียดชัง คือ นักปรัชญาฝรั่งเศส รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712–1778)
..................................................................

ผมนึกถึง แป๊ะลิ้ม ขึ้นมาทันที ..
มันเริ่มที่การ "กระเด็น" ออกจากช่อง 9
แล้วไปเปิดเวทีใน สวนลุมพินี ..

วาทกรรมกล่อมคนนี่ .. ใช้ได้ผลดีเสมอกับเผ่าพันธุ์ที่
อ่านน้อย แต่ฟังมาก .. และคิดน้อย เพราะฐานความรู้
ไม่ลึกพอ ไม่มากพอ - โดยเฉพาะทางการเมือง

การเขียน กับการพูด มีความถูกต้องแม่นยำต่างกันมากมาย .. เพราะการเขียนเป็นหลักฐานปรากฎ
ให้สืบสาวได้ คนเขียนจึงมักรอบคอบกว่าการพูดปาวๆ
ที่พิสูจน์อะไรไม่ได้ขณะฟัง

ละอ่อนน้อยทางการเมืองที่แค่เคยฟัง จส.100
ระหว่างไปกลับบ้านเพื่อรับมือกับการจราจร .. จะเอา
สมองที่ไหนมาไตร่ตรองเรื่องสร้าง อ้างมั่ว เหล่านี้ได้
ก็แห่กันไปแน่นสวนลุม

จึง ..
ยอดหญ้าและสาธกะระบัด
เกาะกระหวัดกะไกวัล

ด้วยประการะฉะนี้ ..

ความตายเหล่านั้นที่พูดถึง คงไม่ได้เสี้ยวส่วนของ
ที่เกิดจากเยอรมันใน WW2 หรอกมินตรา ..

และตัวเป้งที่ขึ้นมามีอำนาจแต่ละคนนั้น ..
สุดบรรยายทั้งนั้น ..

เยี่ยงไรอารยชนแห่งดินแดนในยุคนั้นจึง
เห็นดีเห็นงาม จนเลือกเข้ามาบริหารประเทศเล่า ?

มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีงาม ..
เพราะธรรมชาติของอำนาจ ผู้เสพมักติด !

 

โดย: สดายุ... 26 กรกฎาคม 2560 10:56:25 น.  

 

ทูนหัว...
"จงเอาความคิดมาปั้นแต่งให้เป็นตัว "...

ความคิดเรื่อง"ระบบกษัตริย์ภายใต้ข้อตกลงทางสังคม" (a social contract )นี่ความจริงเป็นแนวคิดจากรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712–1778) ซึ่ง นักปรัชญาฝรั่งเศสโวลแตร์ (Voltaire 1694 - 1778) ได้นำไปสนทนากับ ไคเซอร์ Frederick the Great,(1740 -1786)ราชวงศ์ ปรัชเซียของเยอรมัน เมื่อตอนที่ชาวฝรั่งเศส ไม่สนใจในตัวโวลแตร์ (Voltaire 1694 - 1778) แล้วจึงได้ไปรับราชการไคเซอร์ ที่ เมือง Potsdam ทางแบร์ลีน
คนฝรั่งเศส คนรัสเซีย จะช่างคิดช่างฝัน แต่คนเยอรมันจะช่างทำหรือช่างแก้
เช่น ผลจากการที่คนฝรั่งเศสลุกขึ้นมาหยิบจอบหอบเสียมนี่ เล่นเอาคนเยอรมันเหนื่อยที่ต้องมาจัดระเบียบวางระบบสังคม กันใหม่.
.............
นักประวัติศาสตร์การทหารของ เยอรมัน Rüdiger Overmans (born 6. April 1954 in Düsseldorf)ศึกษา เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะ แจ้งสถิตการเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่2 ไว้ในปี 2000 ว่า ทหารเยอรมันเสียชีวิต 5.3 ล้าน, รวมถึง 900,000 นาย นอกเขตเยอรมัน (เขตเยอรมันในปี 1937) ในออสเตรีย และยุโรปตอนกลาง ส่วนรัฐบาลจีนแจ้งการเสียชีวิต 20 ล้านคน รัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่า ญี่ปุ่นเสียชีวิต 3.1 ล้านคน
..............

นักปรัชญาอเมริกันเชื้อสายยิวเยอรมัน Judith Butler ได้เขียนหนังสือเรื่อง Hate Speech (1997) ว่า ในทางชีววิทยา(Biology) คนเกิดมาเป็นคนเท่าเทียมกัน แต่"สังคม"จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ จะอบรม(socialization)ให้คนมีความประพฤติ (to behave ) แตกต่างกันไป

อย่างที่สดายุว่า"วาทกรรมกล่อมคนนี่ .. ใช้ได้ผลดีเสมอกับเผ่าพันธุ์ที่
อ่านน้อย แต่ฟังมาก .. และคิดน้อย เพราะฐานความรู้
ไม่ลึกพอ ไม่มากพอ -"
สหประชาชาติ และ สหภาพยุโรป จึงวางกฎกติกาเรื่อง Hate Speech ไว้เข้มมากเพราะเป็นที่มาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.8.173.252 27 กรกฎาคม 2560 12:14:24 น.  

 

สดายุ..

ระบบ"ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม" (Enlightened absolutism)ซึ่ง ไคเซอร์ชาวเยอรมัน Frederick the Great,(1740 -1786) นำมาใช้ ให้ประชาชน
- มี สิทธิเลือกศาสนา(religious tolerance, )
- มี เสรีภาพทางการพูด(freedom of speech)
- มี สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินส่วนตัว( the right to hold private property.)
และสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้

คือ"การปฎิวัติจากบนลงล่าง" ( Revolution von oben)ซึ่งนำมาประกาศใช้ทั่วยุโรปในเขตปกครองของ อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์( Holy Roman Empire)

ตามมาด้วย :

การปกครองภายในเยอรมัน ซึ่งมีผลต่อยุโรปในสมัย ไคเซอร์วิลแฮล์มที่ 2 (Wilhelm II ปี1859 – 1941)คือ :
๑.นายกรัฐมนตรีเยอรมัน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck1815 - 1898 ) เป็นผู้วาง "ระบบ ประกันสังคม
(Sozialversicherungssystems)..
๒.เปลี่ยนรัฐที่ใช้อำนาจรัฐ(State–State) เป็นรัฐสวัสดิการ(social state) ..
๓. เปลี่ยนการแต่งงานจากระบบศาสนา(christlich Ehe) มาเป็น การแต่งงานโดยระบบราชการ (civil ehe) ..
๔.ตั้งระบบการศึกษาในโรงเรียน( public school) แทนการเรียนในวัดในวัง

ระบบ"ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม" (Enlightened absolutism) ที่ ไคเซอร์เยอรมันวางไว้ จึงถูกนำมาเป็น"แกนความคิด"ในการทำงานของ สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป


กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)
เมื่อปีที่แล้ว (2559) ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาพรวมของประเทศไทยในทุกด้าน ผ่านกลไก Universal Periodical Review หรือ UPR อันเป็นอีกกลไกหนึ่งภายใต้การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
หลายประเทศได้ตั้งคำถามในเวทีถึงประเด็นการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งประเด็นการใช้ศาลทหารต่อพลเรือน การซ้อมทรมาน การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือการเรียกบุคคลและจับกุมไปควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร เป็นต้น

ก็มาจากข้อตกลงสนธิสัญญาสงบศึกสงครามสามสิบปีทางศาสนา ( Thirty Years' War:1618–1648) ในอาณาจักร Holy Roman Empire ของเยอรมัน ซึ่งลงนามในปี 1648 ที่เมือง Westphalian จึงเรียกว่า The Peace of Westphalia เป็นการยกเลิกระบบอาณาจักร (Empire) มาเป็นระบบ ประเทศ ( sovereign states) และ "อำนาจรัฐ"
หลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ของกันและกัน

ซึ่ง สหประชาชาติ และ สหภาพยุโรป กำลังพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลง
กติการะหว่างประเทศว่าด้วย"สิทธิพลเมือง"และ "สิทธิทางการเมือง"ของประชาชนในรัฐ

ไทยจึงเป็น แลป 'laboratory' ที่สหประชาชาติและสหภาพยุโรปสนใจอยู่

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 212.47.252.101 27 กรกฎาคม 2560 22:37:01 น.  

 


มินตรา

- - - - -
สหประชาชาติ และ สหภาพยุโรป จึงวางกฎกติกาเรื่อง Hate Speech ไว้เข้มมากเพราะเป็นที่มาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- - - - -

ตั้งแต่ 2519 ที่ทั้ง
ยานเกราะ นวพล กระทิงแดง สร้าง hate speed .. "ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ฝักใฝ่ญวน"
ตอนนั้นประเคนใส่นักศึกษา เพราะ"บางคน"กลัวผีจีนแดงขี้ขึ้นหัว .. จนเกิดการล้อมฆ่าในธรรมศาสตร์

จนมาถึง 2553 .. แยกราชประสงค์
ครั้งนี้"บางคนรักจีนแดงปานจะแหกทวารหนักดม"
ทีนี้เปิดศึกสีเสื้อ สาระพัด สร้าง hate speed อีกนั่นแหละ "เผาบ้านเผาเมือง" .. จบด้วยการ"ยิงนกในกรง" ตายไป 100 กว่าศพ

สหประชาชาติทำอะไรได้ครับ ?

ระบบ"ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม" - ไม่มีครับในทุกระบบ

สังคมนิยม .. เลนิน สตาลิน ครุสชอฟ เบรสเนฟ เหมา โจว เจียง เติ้ง .. ใครไม่เคยเข่นฆ่าบนบังลังก์อำนาจบ้างครับ ..

สมบูรณาญาสิทธิราช .. อันนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะกลัวต่อการกระทำ ตรรกะวิภาษ จนถึงที่สุด จน (-) ขึ้นสมอง

ประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย .. ก็มีแค่อังกฤษแล้วพวกทะเลเหนือ สแกน เท่านั้นเพราะถูกประชาชนคุมอยู่หมัด ทำให้ไม่กล้าเหลิง ทั้งต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวด้วยซ้ำ

สาธารณะรัฐ .. อย่างสหรัฐยังถูกประเมินต่ำ เมื่อดูลงไปในรายละเอียดระบบการ balance power อันซับซ้อน .. และส่วนมากเบื้องหลังหาดีไม่ได้ แทบทั้งนั้น

ชาติพันธุ์
สีผิว
ภาษา
วัฒนธรรม
ศรัทธา

หากเราสามารถจัดการคนให้อยู่รวมกันตามกลุ่มที่ว่ามาได้ .. ปัญหาทางสังคมจะน้อยมาก

ทุกวันนี้ .. มองดีๆสิครับ .. มันวุ่นวายมาจากเรื่องพวกนี้

 

โดย: สดายุ... 29 กรกฎาคม 2560 10:22:35 น.  

 


"ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
(พระยสเถระ แห่งกรุงพาราณสี ในสมัยพุทธกาล)

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 82.82.188.19 29 กรกฎาคม 2560 16:15:19 น.  

 

สดายุ ...

พระยสเถระ บุตรนางสุชาดา "อุบาสิกาคนแรก"ในพุทธศาสนา (ผู้ถวายข้าวมธุปายาส แก่พระพุทธเจ้า)
เป็น "เอหิภิกขุ"(พระสงฆ์ผู้ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยองค์เอง)

พระยสเถร เป็น "พระสงฆ์สาวกองค์ที่ ๖ "ในพระพุทธศาสนา
หลังจาก ปัญจวัคคีย์ (กลุ่มนักบวชทั้ง 5 รูป)ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ...(.นี่เป็นความรู้ที่สอบผ่านมัธยมมาได้ )...

พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ ยสะกุลบุตร ว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญมาที่นี่ เราจะแสดงธรรมแก่เธอ" ..................
ว่าแล้วมินตราก็ต้องไปทำเรื่อง Medicine 4.0 ไม่มีเวลามา.." แสดงธรรมแก่เธอ" 555
วันนี้มีเวลามา.."ท่องยุทธจักร"
...................
ทางเหนือของยุโรปมี คาบสมุทรซิมเบรียน (Cimbrian Peninsula)
อยู่ในดินแดนเยอรมันเหนือ ติดกับ เดนมาร์ค
ตั้งอยู่ระหว่าง North Sea ซึ่งเป็นทะเลเชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติก แถบ อังกฤษ สแกนดิเนเวีย เยอรมัน เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส
และ Baltic Sea ทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก แถบ สแกนดิเนเวีย, ฟินแลนด์, ประเทศเครือบัลติก (the Baltic countries), และ ที่ราบยุโรปเหนือ(the North European Plain)

ผู้อาศัยในภูมิภาคนี้จะมี ชีวิตและอัธยาศัยใกล้เคียงกัน มีความเป็น"พี่น้อง"( Bruder) สูงกว่าการ"เป็นนายเป็นบ่าว" ความเป็นอยู่ในชีวิตจึงหลวมหลวม ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับแบบบนภาคพื้นยุโรป (continent)

- ประมาณปี 801คาบสมุทรซิมเบรียน มี Jutland(เกาะในเยอรมันเหนือ) และเดนมาร์ค เป็นศูนย์กลางควบคุม เขตแดน ควบคุมสินค้า และ การปล้น( โจรสลัด)

ส่วนนอรเวย์ ซึ่งตั้งตามภูเขา มี ร่องน้ำแคบ( fjords) และ เดนมาร์คซึ่งเป็นดินแดนในที่ราบลุ่ม ก็จะปลีกตนอยู่ในความสงบจากโลก มีภาษาถิ่น และ ชีวิต"เรียบง่ายตามธรรมชาติ"

จนถึงศตวรรษที่ 8 ที่ชาวสแกนดิเนเวียกลุ่มนอรเวย์เดนมาร์ค จึงเรียนรู้ นวัตกรรมในการต่อเรือสูงขึ้น เป็นการเริ่มต้นสมัยไวกิ้ง( Viking Age : ศตวรรษที่8 - 11)ในการโจมตีแย่งดินแดน หาทรัพยากร และ ค้าขาย
- ในปี 911, กษัตริย์ฝรั่งเศส Charles the Simple ทำข้อตกลงกับหัวหน้าไวกิ้งนอรเวย์เดนมาร์ค ชื่อ Rollo ให้เช่าที่ ริมฝั่งทะเล ฝรั่งเศส โดยตั้งเป็นดยุก ของนอร์มานดี (Duke of Normandy) แลก กับข้อตกลงให้นับถือศาสนาคริสต์ มีคริสเตียนนามว่า โรเบิร์ต ดยุคแห่งนอร์มังดี
คำว่า Normanni แปลว่า ‘men of the North’ หมายถึง ไวกิ้งนอรเวย์เดนมาร์ค ซึ่งต่อมาปกครองทั้งอังกฤษที่ ชาวไวกิ้ง ตีได้ และ แคว้นนอร์มานดี ของฝรั่งเศส
..............................

หนึ่งร้อยปี ก่อนที่ นักปรัชญาฝรั่งเศส รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712–1778) จะนำความคิด"ระบบกษัตริย์ภายใต้ข้อตกลงทางสังคม" (a social contract ) ของนักปรัชญาอังกฤษThomas Hobbes ( 1588 -1679 )มาใช้นั้น

มีที่มาจาก สงครามสามสิบปีทางศาสนา ( Thirty Years' War:1618–1648) ในอาณาจักร Holy Roman Empire
พวกนักรบอัศวิน ทั่วยุโรป ผู้เข้าร่วมทำสงครามมีข้อตกลง(a contract ) แบ่งอำนาจและทรัพย์สิน เมื่อชนะสงคราม เป็นค่าแรง
เช่นเรื่อง อัศวิน ไอเวนโฮ (Ivanhoe ) หรือ โรบิน ฮูด(Robin Hood) นิยายของ Sir Walter Scott 1771 - 1832 ที่แต่งเรื่อง
ตามความจริงที่กษัตริย์อังกฤษ และดยุกแห่งนอร์มานดี "Richard I the Lionheart "( 1157- 1199 ) ถูกขังที่ออสเตรียในสงครามสามสิบปี ( Thirty Years' War:1618–1648) มีน้องชาย คือ Johann Ohneland ( 1167 - 1216) รักษาราชการแทน

เมื่อสงครามสามสิบปีจบลงด้วยสนธิสัญญา "The Peace of Westphalia" ในปี 1648
เป็นที่มาของการยกเลิกระบบอาณาจักร (Empire) เป็นระบบ ประเทศ ( sovereign states)
ศาสนจักรจึงไม่มีสิทธิที่จะมา"สั่งราชการ" ในดินแดนของ กษัตริย์และอัศวิน เหล่านี้ได้

เมื่อ Johann Ohneland ( 1167 - 1216) ทรงราชย์ ต่อจากพี่ชาย Richard I the Lionheart ต่อ จึงถูก บารอน ซึ่งมีกำลังพลสูงกว่า ให้ทำตามข้อตกลง ที่กษัตริย์ได้ให้ไว้ต่อกัน ด้วยการลงนาม
“กฎแห่งบารอน”(Articles of the Barons) ในวันที่ 15 June 1215
ข้อตกลงนี้ เรียกกันว่า Magna Carta.

- ปลายศตวรรษที่16 นักกฎหมายและนักประวัติศาสตร์อังกฤษ ย้อนกลับไปศึกษาข้อตกลงใน Magna Carta อีกครั้ง และเชื่อว่า สมัยที่ พวก Anglo-Saxons (ชาวยุโรปจากภาคพื้นยุโรป) ได้ปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนอังกฤษ มากกว่า สมัยพวกไวกิ้ง (Norman invasion of 1066 ) ปกครอง จึงนำข้อตกลงของบารอน มาใช้

- ปี 1642 เกิดสงครามระหว่าง รัฐสภา ( Oliver Cromwell) กับ ราชวงศ์ ( English Civil War :1642–1651)
นักปรัชญาอังกฤษThomas Hobbes ( 1588 -1679 )ได้เขียนหนังสือชื่อ
Leviathan (1651) เสนอ "ทฤษฎีสัญญาประชาคม " (social contract theory)
โดยอ้าง "สัญชาตญานโดยธรรมชาติ"( „Naturzustand“) ว่า มนุษย์จะ ทำสงครามต่อต้านกันและกัน เพื่อแย่งชิง ทรัพย์สิน และอำนาจให้ตนเอง ( ein egoistischer „Krieg aller gegen alle“ = War of all against all) ฉะนั้นจึงเป็นการง่ายกว่าในการที่จะให้มีใครคนหนึ่งเป็น"คู่สัญญา"แต่เพียงคนเดียว(คือให้มีกษัตริย์) แทนที่ประชาชนจะ ทำสงครามฆ่าล้างกันและกันจนไม่มีที่สิ้นสุด

นี่คือที่มาของการใช้ "รัฐธรรมนูญฉบับ กฎแห่งบารอน” Magna Carta.
..........................

หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา John Adams (1735-1826 )ยืนยันว่า "รัฐบาล ต้องผูกไว้ไว้ด้วย กฎหมายที่ชัดเจนซึ่งประชาชนมีหนึ่งเสียงในการก่อตั้งและมีสิทธิในการปกป้องรัฐบาลนี้"... government be "bound by fixed laws, which the people have a voice in making, and a right to defend."
และอีกหนึ่งในผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา Benjamin Franklin ( 1706 -
1790 ) ได้ตอบคำถามของสตรีผู้หนึ่ง หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จ ท่านคะ ตกลงเรามีอะไร สาธารณรัฐ หรือ ระบบกษัตริย์ ว่า สาธารณรัฐ ครับ หาก คุณสามารถรักษาไว้ได้ ! (และไม่ต่างคนต่างเก่งแย่งกันมีอำนาจ ฆ่ากันตายไปเสียก่อน ! Krieg aller gegen alle)

(As Benjamin Franklin was exiting after writing the U.S. constitution, a woman asked him "Well, Doctor, what have we got—a republic or a monarchy?". He replied "A republic—if you can keep it." )
.......................................
" สหประชาชาติทำอะไรได้ครับ ?"
รัฐสภาโลก (IPU = Inter-Parliamentary Union)
ผู้รับผิดชอบเรื่อง "การปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัย"
กำลังจัดระบบวางระเบียบ ผู้ลี้ภัยใน อาเซียน เพื่อคุ้มครอง ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะจากไทย

รัฐบาลเยอรมัน ให้หน่วยข่าวกรองเวียตนามและฑูตเวียตนาม ออกจากเยอรมันภายใน 48 ชั่วโมง ( ข่าววันที่ 2 August 2017จากสำนักปลัดกระทรวงต่างประเทศเยอรมัน )
เนื่องจากมีการลักพาตัวผู้ลี้ภัยเวียตนาม อดีต แกนนำ พรรคคอมมิวนิสต์
นาย Trinh Xuan Thanh ซึ่งโดนลักพาตัวกลางกรุงแบร์ลีน นำขึ้นรถพยาบาลออกไปเขตยุโรปตะวันออก ตั้งแต่วันที่23 July 2017
ซึ่งรัฐบาลเยอรมัน ขอให้คืนตัวทันที แต่ปรากฎว่า รัฐบาลเวียตนามเงียบ
แล้วในวันที่ 1 August 2017 นาย Thanh ได้ปรากฎตนให้สัมภาษณ์ที่เวียตนามว่า
ตนเองเต็มใจกลับเวียตนาม และไปมอบตนให้ดำเนินคดีกรณีโกงกินเงินหลวง ซึ่ง
ปลัดกระทรวงเยอรมันแถลงว่า ไม่เชื่อเด็ดขาด!

กรณีโกตี๋จึง น่าสนใจ

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 84.60.39.228 6 สิงหาคม 2560 22:07:07 น.  

 




มินตรา ..
เรื่องโกตี๋ .. เป็นเพียงประเด็นทางความคิด ไม่ใช่อาชญากรรม .. เช่นเดียวกับกรณี ไผ่ ดาวดิน .. และสมยศ ..

แต่กระบวนการยุติธรรมภายใต้การชี้นำ มีการตัดสินโทษรุนแรงมาก .. ซึ่งผิดวิสัยของจิตใจภายใต้แนวทางพุทธธรรม

เห็นต่างกัน อย่างมากก็กระทำ"ตรรกะวิภาษ"กัน
แต่เพราะวาทกรรม "ความมั่นคง(ของกูและพวกพ้อง)" กรอกใส่หูมาตั้งแต่เกิด จึงทำให้คนจำนวนหนึ่ง"เห็นดีเห็นงาม"ไปด้วย กับโทษที่อารยะชนคงมองเห็นว่าค่อนข้าง"ป่าเถื่อน - babarian ?"

ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับประเด็นที่รัฐบาลเยอรมันจัดการกับเวียตนามแบบนั้น

แล้ว "นายเงา-22052014" ล่ะครับ มีแนวโน้มที่จะสามารถ "ห้ามวงศ์วานเข้าประเทศ" บ้างไหม ?

 

โดย: สดายุ... 7 สิงหาคม 2560 7:00:34 น.  

 

สดายุ...

แหม.. รักกันจริงนะ ว่าไงก็ว่าตามกัน ไม่หือไม่อือเลย ทั้งทั้งที่มีข้อผิดพลาด !
แก้ข้อมูลผิด:
"กษัตริย์อังกฤษ และดยุกแห่งนอร์มานดี "Richard I the Lionheart "( 1157- 1199 ) ถูกขังที่ออสเตรียในสงครามสามสิบปี ( Thirty Years' War:1618–1648) "
เป็น:
"Richard I the Lionheart "( 1157- 1199 )เป็น แม่ทัพในสงครามครูเสดครั้งที่สาม(The Third Crusade :1189–1192) ถูกขังที่ออสเตรียในสงครามครูเสดครั้งที่สาม

สงครามครูเสดใหญ่ (large Crusades) เริ่มในศตวรรษที่ 11จนถึงศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ ถึง 9 ครั้ง แต่สงครามครูเสดเล็ก (smaller Crusades ) มีต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 16ในสมัย Renaissance และ Reformation
สงครามสามสิบปี ( Thirty Years' War:1618–1648)เป็นครูเสดเล็ก บนแผ่นดินในยุโรป
......................
โกตี๋ .. เป็นเรื่อง Hate Speech ฆ่าล้างปาดคอ ทำให้สูญเสียความชอบธรรมตามหลักสากล ผิดจังหวะผิดเวลาในขณะที่ทั้งโลกกำลังจัดระบบวางระเบียบเรื่อง เทคโนโลยีสื่อสาร และใช้ Big Data หาผู้ก่อการร้ายสากล

นำระบบป้องกัน(prevention) มาแก้ไขก่อนจะเกิดปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาทำงานช้าของสหประชาชาติ

-ไผ่ ดาวดิน โพสในเฟสบุ๊คของตนเองถึง สามครั้งสามหนเยาะเย้ยเจ้าพนักงานว่า ถึงตำรวจจับไปศาลก็จะปล่อยตัวออกมาอีก ทำอะไรไม่ได้ตามกฎหมายหรอก
นี่ ในเยอรมัน แค่ครั้งเดียว ศาลเยอรมันก็ไม่ปล่อยไว้นะคะ จุดนี้คือประเด็น ไม่ใช่เรื่องอื่น !

- สมยศ ..ในสายตาระบบศาลสากล ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ตนในฐานะ บรรณาธิการ และที่แย่ที่สุดคือ การแสดงนิสัย "เอาตัวรอด"ด้วยการ "พูดเสียงดังฟังชัด"ถึงสามครั้งทันทีหน้าบัลลังค์ศาล ก่อนที่ผู้พิพากษาจะเปิดคดี ว่า จิตร พลจันทร์ คือ คุณจักรภพ ทั้งทั้งที่ผู้พิพากษาทำเป็นไม่ได้ยินถึงสองครั้ง ในครั้งที่สาม ผู้พิพากษาจึงต้อง กล่าว"เตือน" ว่า นี่ยังไม่ทันเปิดคดี เลย และสิ่งใดที่ หากยังไม่ถามไม่ต้องพูด !
(มินตราฟังมาจากอาจารย์ทางกฎหมายท่านหนึ่งที่เข้าไปฟังคดี อยู่ในเหตุการณ์ด้วย)
- เรื่องอื่นอื่นนั้น เป็น "เรื่อง กิจการภายใน"ตามข้อตกลงใน สนธิสัญญาเวสฟัสท์ ( The Peace of Westphalia ปี1648 ) ซึ่งสหภาพยุโรปและสหประชาชาติพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่ เรื่องอำนาจรัฐ และสิทธิพลเมือง
แต่มินตราว่า เรายังมี ระบบศีล10อยู่ และมีวาระทรงราชย์ ต้องใจเย็น ใครอาชีพทหาร ท่านแก้ปัญหาชัดเจนเฉียบขาด ยิ่งเป็นทหารในระดับสากล ย่อม รู้และเห็น อย่าไปฟังหนามหลวงมากนัก 555
................

ในโบราณกาลก่อนพุทธกาล ชนชั้นปกครองต้องยึด ศีล10 ข้อ และชนชั้นถูกปกครองมีศีล5 ข้อ ถือเป็น "สัญญาประชาคม"(social contract) ที่แม้นแต่ พระพุทธเจ้ายังต้องนำมาเป็น วิถีปฎิบัติในการอยู่ร่วมกันของสังคม ท่านแก้ไขเฉพาะสิ่งที่ควรแก้ไข

"ทฤษฎีสัญญาประชาคม " (social contract theory) ของThomas Hobbes ( 1588 – 4 December 1679), ทฤษฎี theory of mind : consciousness ของนักปรัชญาอังกฤษ John Locke (1632 – 1704), ระบบ"ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม" (Enlightened absolutism) ของJean-Jacques Rousseau ( 1712 - 1778)
เป็น แนวคิดในปัจจุบันที่ ธนาคารโลก(World Bank), สหประชาชาติ(United Nations Development Programme, UNDP), องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organisation for Economic Co-operation and Development, OECD;ใช้คำว่า Good Governance = Gute Regierungsführung ภาษาเยอรมันมีความหมายคำที่ชัดเจน ในการเป็น"รัฐบาลที่ดี "มากกว่าคำในภาษาอังกฤษ
หาก"พวกนักสาธารณรัฐ"ใต้ดินของเรา เข้าใจการหมุนของโลก ก็คงไม่ล้มเหลวเช่นนี้
ขาดความรู้ถึงระดับนี้ ใครรึจะกล้าวางใจให้นำพาประเทศ !

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.2.77.22 7 สิงหาคม 2560 11:09:16 น.  

 

มินตรา ...
หนามหลวง นั้นเป็นข้อมูลแนวเดียวกับ แป๊ะลิ้ม
ไม่สามารถเชื่อถือได้ - ผมไม่สนใจ

ผมสนใจแบบ สศจ ที่มีท่วงทีของนักวิชาการที่มีที่อ้างอิง
ในงานเขียนเสมอไป ..

ส่วน"ต่างๆนาๆ" ที่มินตรายกมาจากเวปต่างๆ ผมไม่มี
ความเห็นนะ เพราะเป็นเพียง introduction ก่อนเข้าสู่ประเด็น

แนวคิดของสังคมพัฒนาแล้ว เอามาอ้างอิงยาก
ผมเพียงแต่มีความคิดสอดรับกับ เหตุและผล ที่เห็นกับตาเองที่แวดล้อมอยู่มากกว่า

การพยายามเชิดชูตัวบุคคลนี่แทนหลักการ
เป็น 180 องศาที่ต่างกันนะ ...

 

โดย: สดายุ... 7 สิงหาคม 2560 12:33:03 น.  

 

ดายุ...
มินตราเป็นคนชื่นชมผู้มีความรู้ความสามารถ ตามหลักการของเหตุและผล (cause & effect = causality)
แนวดร.สมศักดิ์เจียม ....
แต่มิใช่สมัยนี้ที่ท่านไปทำงานร่วมกับ อดีตนักข่าว รอยเตอร์ ซึ่ง สมาพันธ์นักข่าวไม่ให้ความจริงจังด้วยแล้ว
(หมายความว่า นำข่าวจากผู้นี้ไปอ้างอิงในรัฐสภา ไม่ได้)

แต่กับ "ใครบางคน" เรา จำเป็นต้องตั้งความหวังไว้
เพราะ"การปฎิวัติจากบนลงล่าง" ( Revolution von oben) ง่ายที่สุด
ก่อนที่จะเกิดเหตุ ตาม"สัญชาตญานโดยธรรมชาติ"( „Naturzustand“) ว่า War of all against all จนสูญชาติ

มินตราไม่สนใจว่า ระบอบจะชื่ออะไร แต่เนื้อหาต้องเป็น
"สัญญาประชาคม"(social contract) ตามเส้นทางสากล

ทำไม"เด็ก"อย่างประธานาธิบดี มาครอง ทำได้...
ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันท่านวิเคราะห์ว่า เพราะคนฝรั่งเศส รู้ว่า ชาติจะล่มสลายหายไม่ยอมรับให้"เด็กคนนี้" ออกมานำ เผลอเผลอ คนเยอรมันนั่นล่ะที่เลือกประธานาธิบดี มาครอง 555
ดร.ปิยบุตร นั่นล่ะคือ"คนฝรั่งเศส" ท่านไม่โปรดประธานาธิบดีมาครอง หรอก แต่ต้องยอม...

มินตราก็ไม่ชอบ"คบเด็กสร้างบ้าน"นะ
แต่ประธานาธิบดีมาครอง มิใช่ "เด็ก" !

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.2.77.22 7 สิงหาคม 2560 14:35:36 น.  

 



มาครอง .. คนฝรั่งเศสเลือก
เมื่อขัดแย้งกับ ผบ.สส - เขาจึงพูดได้ว่า
"ผมเป็นเจ้านายคุณนะ"

ในเมื่อ"ประมุขสูงสุดของรัฐ"ถูกคัดเลือกด้วย
สัญญาประชาคม .. นั่นจึงเป็นความชอบธรรม

หาไม่ใช่รูปแบบนี้แล้ว ..
ต้องมองว่าขาดความชอบธรรมในตำแหน่ง
เพราะคนเสียภาษีไม่มีส่วนในการตัดสิน

ผมมีหลักการว่า เงินภาษี จากผู้เสียภาษีเป็นต้นตอ
ของอำนาจจัดการแผ่นดินที่มีความชอบธรรม
โดยไม่เลือกว่า .. สำหรับประเทศพัฒนาแล้วหรือไม่

โดยมีพื้นฐานความคิดคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของแผ่นดิน
นอกจากทุกคนในชาติ ..

หากหลักการนี้เห็นไม่ตรงกันแล้ว ..
นั่นย่อมไม่สามารถพูดคุยต่อได้ ..

คนฝรั่งเศสกว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็ต้องสะเปะสะปะ
หาแนวทางร่วมกันจนมาถึง
"สาธารณรัฐที่ 5" - หลังตัดคอหลุยส์ 16 แล้ว
ยังต้องมาเจอ นโปเลียน .. ซึ่งพอเข้าใจได้

แม้แต่อังกฤษ หากไม่ตัดคอ กษัตริย์ชาลส์ที่ 1 แล้ว
จะมีภาวะวิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตนแบบในปัจจุบันหรือ ?

ในสังคมเชื่อง-เชื่อ .. ผมมองว่าการปะทุขึ้นมาเอง
แบบ 14 ตุลา
แบบ คุกบาสตีย์
ที่ไม่ได้นัดหมายหรือวางแผนมาก่อน - มีโอกาสเกิดขึ้น
ได้มากกว่ารูปแบบอื่น

เมื่อ พคท. วางอาวุธ การต่อสู้ตามป่าเขาหมดไป
มันอาจมี pattanee model ขึ้นมาแทนก็ได้ ใครจะรู้
เป็น model ที่ "เอาไม่อยู่" จนนาทีนี้..

คอยดู

 

โดย: สดายุ... 7 สิงหาคม 2560 16:31:55 น.  

 

สดายุ..

"ผมมีหลักการว่า เงินภาษี จากผู้เสียภาษีเป็นต้นตอ
ของอำนาจจัดการแผ่นดินที่มีความชอบธรรม
โดยไม่เลือกว่า .. สำหรับประเทศพัฒนาแล้วหรือไม่"

แค่ตรงนี้ เราก็แพ้แล้ว...
นี่คือวิธีที่ "เค้า"คิดและทำอยู่..
ไปศึกษาเรื่องการเสียภาษีของประชาชนไทย ..
ประชาชนไทยเสียภาษีเฉพาะในรูปของ ภาษีสินค้าบริการที่ซื้อ เท่านั้น
อย่างอื่นอื่น "หักภาษีณที่จ่าย" มีแต่...ข้าราชการ บริษัท ห้างร้าน ทั้งนั้น ที่ต้องจ่ายภาษี

" โดยมีพื้นฐานความคิดคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของแผ่นดินนอกจากทุกคนในชาติ .."

ทั้ง de jure คำว่า"ราชอาณาจักรไทย " และ de facto เป็น "เค้า" มิใช่เรา !

เวลา 85 ปี ที่มีคนอดทนรอคอยมา ปล่อยให้
ใครใคร่ มีอำนาจมี
ใครใคร่ มีทรัพย์มี
ใครใคร่รัฐประหาร ทำ
หมดอำนาจวาสนาเมื่อไหร่ ยึดทรัพย์ คืนแผ่นดิน

นี่คือ de facto !

"เป็นนักกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ แล้วเจ้าจะนิ่งอยู่ไยหละทูนหัว จงเอาความคิดมาปั้นแต่งให้เป็นตัว อย่าได้กลัวจะเผยความคิดมิผิดแนว เขียนเถิดเขียนอะไรใจอยากเขียน เขียนแล้วต้องหมั่นเวียนหมั่นฝึกฝน เขียนความคิดให้เป็นตัวแต่งคิดตน เขียนให้เธอได้พบค้นในวิญญาณ "( บัวกันต์ วิลามาศ-ประพันธ์)

มินตราคิดว่า ยุทธศาสตร์ ของสหภาพยุโรปในการทำ Bangkok model เพื่อการสนับสนุน ASEAN ( Association of Southeast Asian Nations) ให้มีประชาธิปไตย
ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการทุกสาขา น่าเชื่อถือที่สุด
คำพูดที่ว่า "ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ" ไม่ได้หมายถึงเรื่อง "หยิบจอมหอบเสียม"แบบคนฝรั่งเศส
แต่หมายถึง "สัญญาประชาคม"( social contract)
และสหภาพยุโรปทำงานร่วมกับ องค์กรระหว่างประเทศมีอำนาจในการต่อรอง ทั้งทางการเมืองและ เศรษฐกิจ

ตราบใดที่ประชาชน ยังยอมรับ divine right ย่อมไม่เกิด social contract
นี่คือปัญหาของ"สากลโลก"

ที่เราคนไทยทำอยู่ ก็ แค่เพียงด่าว่าประชาชนทั้งประเทศว่าเชื่องเชื่อเพราะไม่มีใครยอมมาทุกข์ยากลำบากด้วย
แถมยังหลงตนว่า "แค่มีปริญญา คือมีความรู้แล้ว "
เรียนประวัติศาสตร์ฉบับสำนักมติชน ที่ ยังคิดว่าพระเจ้าตากเป็นลูกเจ๊กปนลาว ด้วยคิดว่าลูกหลานพระเจ้าตากโดนฆ่าหมด ฉบับ นิธิเอี่ยวศรีวงศ์ 555
ข้อมูลแค่นี้ยังตรวจสอบไม่ได้ แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมาปกครองประเทศ !

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.2.77.22 7 สิงหาคม 2560 17:49:37 น.  

 



มินตรา ..
มีความคิดแบบ"ศักดินานิยม"เต็มหัวนะในความเห็น
ของผมที่สังเกตุมาต่างกรรมต่างวาระ

การพยายามโยงไปหาคำพูดที่ "พูดได้ข้างเดียว" นี่เหมือนกับที่เห็นได้ชัดในหมู่พวกห้อยโหนในระยะหลัง ..

อีกฝ่ายพูดไม่ได้เพราะมีกฎหมายรุนแรงค้ำคออยู่ ..
แม้จนพวกที่อยู่นอกอำนาจแล้วยังเงียบเหมือนถูกตบปาก .. ทั้งยุโรป ทั้งอเมริกา

การต่อสู้อะไรจะทำได้ตรงไปตรงมาได้อย่างที่คน
ฝรั่งเศสทำครับ ?

แล้วหากระบอบที่มินตราชื่นชม
เทิดทูนหนักหนามันดีจริง ..
ทำไมเหลือน้อยเต็มทีในโลกนี้ ?
ทำไมไม่เพิ่มขึ้น ?

ต้องไปฟังใครล่ะครับ ..
คำพูดประชดประชันต่อบุคคลที่ 3 มันไม่ได้แสดงวุฒิภาวะอะไรของคนพูดนะครับ

5555

การเปลี่ยนแปลง ..
โดยคนต่างชาติ ?
โดยพิธีการทูต ?
ตั้งแต่ 2490 มาจน 2560 กี่ปีแล้ว .. ?

เห็นความพยายามจะทำอะไรกันบ้าง ?
แบบที่จุฬา .. ?

เงินกองกลางมาจากไหนครับ ?
สรรพากร - มาจากไหน ?
สรรพสามิต - มาจากไหน ?
ศุลกากร - มาจากไหน ?
ภาษีท้องถิ่น - อะไรบ้าง ? .. ที่จ่ายน่ะประชาชนหรือไม่ ?

แถมให้อีกหน่อย
รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรนำส่ง - กำไรมาจากไหน ?
เงินเริ่มต้นสร้างรัฐวิสาหกิจมาจากไหน ?

อะไรที่นอกเหนือจากทั้ง 4 นี้ครับ .. ?
vat น่ะเข้ากรมไหนครับ .. ?

เป็นเงินส่วนตัวของใครตรงไหน ครับ ?
ที่คนทั้งแผ่นดินต้องมอบวางอำนาจให้ใช้ตามอำเภอใจ ?

เรื่องพระเจ้าตาก - อ.นิธิ นี่ฉายมาหลายรอบ
ไว้ให้ยกเลิก 112 แล้วจะตอบให้เองมินตรา ..

 

โดย: สดายุ... 7 สิงหาคม 2560 19:28:26 น.  

 



ทำไมจะต้อง "ศักดินานิยม" ในเมื่อเป็นศักดินาได้เอง !

ที่ "เต็มหัว"น่ะ คือการหาทางในระบบสากลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แผ่นดิน ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ
ที่พูดมาพูดจากภาคปฎิบัติเพื่อจะบอกให้รับรู้ว่า ในการทำงานนั้น ผู้เชี่ยวชาญท่าน มี หลักการใด ใช้ทฤษฎีไหน สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ด้วยความชอบธรรม
หรือกำลังวางกฎระเบียบ แก้ไขสิ่งใดได้

มิใช่หลงทรนงตนคิดว่าตนเองมีความรู้ ความสามารถ !

 

โดย: บุษบามินตรา IP: 178.2.77.22 8 สิงหาคม 2560 1:50:38 น.  

 



เพ้อเจ้อครับ

ไม่มีทาง .. ไม่เคยมีองค์กรใดจะช่วยปลดปล่อย
เปลี่ยนแปลงแผ่นดินไหนได้ นอกจากคนในชาตินั้น
มันจะคิดกันเอาเอง

เวียดนามบุกเขมร
สหรัฐบุกอิรัค อาฟกานิสถาน
อิรัคบุกคูเวต
รัสเซีย+สัมพันธมิตร บุกยึดครองเยอรมัน WW2
แบบนั้นล่ะพอมีทาง ..

แต่ที่พูดมาทั้งหมด .. ผมท้าให้ตัดคอเลย
ไม่มีทาง ..

 

โดย: สดายุ... 8 สิงหาคม 2560 6:22:51 น.  

 




"จะรอคอยคล้อยลับจนดับสูญ
แม้อาดูรเศร้าสร้อยละห้อยหา
ล่วงวันคืนจดจำคำสัญญา
รอเวลาขวัญกลับมารับเรียม"

แต่งพอใช้ได้มั้ยค่ะคุณสดายุ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 8 สิงหาคม 2560 10:36:36 น.  

 



แม่เอื้อย ..
ขออนุญาตพูดถึง สักบทนึง ..

"จะรอคอยคล้อยลับจนดับสูญ"
ความหมายคงหมายถึง ...
จะรอคอยจนตราบชีวิตดับสูญไป

จะรอคอย - นี่ขึ้นต้นมาดี
คล้อยลับ - ตรงนี้ความไม่ค่อยชัด..ว่า อะไรคล้อยลับ ?
จนดับสูญ - จบดีครับ

หากผมเขียน .. คงประมาณ -
จักคอยตราบ ลมดับ .. ชีพลับสูญ

รอ กับ คอย - ความหมายเดียวกัน
มีตัวเดียวก็สื่อความได้แล้ว ..
บางครั้งหากเราต้องการแทรกประธาน
ในลักษณะตามหลังกิริยาที่จะทำ passive voice
เราสามารถลดคำ ควบคู่ ลักษณะนี้ได้ครับ

ทำไมถึง จัก .. แทนที่จะเป็น จะ ?
เพราะความมันหนักแน่นกว่าครับในความรู้สึก

จะ นี่อาจทำหรือไม่ทำไม่แน่ - may
แต่ จัก นี่ต้องทำแน่นอน - must

"แม้อาดูรเศร้าสร้อยละห้อยหา"
แม้อาดูรเศร้าสร้อยละห้อยหา
อาดูร กับ เศร้าสร้อย ก็เช่นเดียวกัน
เป็นความหมายเดียวกัน ..
เราสามารถเน้นเพิ่มความรู้สึกโดยใช้บุรพบท
เสริมได้ .. เช่น"เพิ่มพูน" แทนตำแหน่ง "อาดูร"
ที่ไม่จำเป็นนักเพราะเรามีเศร้าสร้อยอยู่แล้ว

"ล่วงวันคืนจดจำคำสัญญา"
ฝ่าวันคืนผูกพันด้วยสัญญา

"รอเวลาขวัญกลับมารับเรียม"
รอเวลาย้อนกลับมารับรอง

====================
จักคอยตราบลมดับ .. ชีพลับสูญ
แม้เพียบพูนเศร้าสร้อยละห้อยเห็น
สัญญาใจร่วมน้อมยังพร้อมเพ็ญ
เพื่อร่วมมีร่วมเป็น ดังเช่นคำ

ขอแปลงอีกนิดครับ
สัญญา เคยมีให้กัน
แล้วตบท้าย หวังเพื่อย้อนไปเพื่อบรรลุสัญญานั้น
คือ "ดังเช่นคำ" (ที่ให้ไว้)

เป็นเพียงความเห็นครับ ..

 

โดย: สดายุ... 8 สิงหาคม 2560 13:00:15 น.  

 

ขอบคุณมาก สำหรับ การแก้ไข ดูการใช้คำดีขึ้นค่ะ
ลองแก้ไขดูอีกสักบทนะคะ

แม้นถ้อยคำรับรองพอตรองตรึก
ให้หวั่นนึกเกรงลวงลับล่วงหาย
จริงหรือเท็จตอกย้ำถ้อยคำชาย
จิตมิวายสับสนระคนกลัว

หรือจะเป็น...ประโยคนี้ดีคะ
...จิตมิวายสับสนระคนระแวง...

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 8 สิงหาคม 2560 13:02:20 น.  

 




แม่เอื้อย ..
...จิตมิวายสับสนระคนระแวง... - ดีกว่าครับ
มีสะบัดสะบิ้งท้ายวรรค มีเสน่ห์ดีครับ
.
.
"แม้นถ้อยคำรับรองพอตรองตรึก"
คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้พอมาใคร่ครวญดูแล้ว
"ตรึกตรอง" เป็นคำคู่ควบนะครับ ..
เมื่อเขียนกลับหน้ากลับหลังจะค่อนข้างฟังขัดหูอยู่บ้าง
=จนแม้นถ้อยเคยอ้อนเมื่อย้อนนึก=
.
.
"ให้หวั่นนึกเกรงลวง .. ลับล่วงหาย"
หวั่นเกรงว่าเป็นคำลวง .. แล้วอาจหายหน้าไป
=ใจส่วนลึกหวั่นเหมือน-อาจเลือนหาย=
.
.
"จริงหรือเท็จตอกย้ำถ้อยคำชาย"
ว่าสัญญาที่ให้กันไว้นั้นจะมั่นคงเพียงใด
=จริงหรือเท็จเพียงไหนหนอใจชาย=
.
.
"จิตมิวายสับสนระคนกลัว"
=แสนวุ่นวายสับสนใจตนเอง=
.
.
.
รวมบท ..
จนแม้นถ้อยเคยอ้อนเมื่อย้อนนึก
ใจส่วนลึกหวั่นเหมือน-อาจเลือนหาย
จริงหรือเท็จเพียงไหนหนอใจชาย
แสนวุ่นวายสับสนใจตนเอง
................................

ในความเห็นส่วนตัวของผม
กลอนแปด วางฉันทลักษณ์ไว้ดีแล้ว
หากมีคำเพิ่มเป็น 9 คำจะฟังดูเยิ่นเย้อไปหน่อย

ขณะเดียวกัน หากความมันลอยๆไม่สมบูรณ์
เนื้อความก็จะเสียไปได้ ..

การพลิกแพลงใช้คำลหุ ช่วยแทรกในวรรค
จะยังอ่านได้จังหวะกระชับอยู่
เพราะเราอ่านรวบได้ง่ายกว่าคำครุ
และอาจเพิ่มรสความให้เต็มสมบูรณ์ได้ครับ

 

โดย: สดายุ... 8 สิงหาคม 2560 14:45:28 น.  

 

ยอมรับคำควรแก้ไข คำควบบางครั้งลืมนึกถึง
คิดเพียงแต่ให้ลงสัมผัส. จึงขาดความถูกต้องค่ะ

อารมณ์กลอน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความรู้สึกนึกคิดของคนในบางขณะจิต

"ยามรุ่มร้อนผ่อนคลายหวังหมายแต้ม
ผสมแซมอักษราภาษาศิลป์
ผูกเรียงร้อยถ้อยตนให้ยลยิน
ไปตามจินตนาเลศเจตน์จำนงค์"

อ่านดูแล้วรู้สึกแปร่งๆนะคะ คุณสดายุ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 8 สิงหาคม 2560 15:31:47 น.  

 



"ยามรุ่มร้อนผ่อนคลายหวังหมายแต้ม
ผสมแซมอักษราภาษาศิลป์
ผูกเรียงร้อยถ้อยตนให้ยลยิน
ไปตามจินตนาเลศเจตน์จำนงค์"
.
.
"ยามรุ่มร้อนผ่อนคลาย ..
คงหมายถึง ..
"เมื่อความรุ่มร้อน(ที่มีอยู่ในอกค่อยๆ)ผ่อนคลายลงแล้ว"

.. หวังหมายแต้ม"
คำว่า "แต้ม" ในบริบทของการเขียนร้อยกรองตรงนี้ความไม่ชัดครับ ..

"ยามรุ่มร้อนผ่อนคลายหวังหมายแต้ม
ผสมแซมอักษราภาษาศิลป์"
ความหมายคือ ....
เมื่ออารมณ์ผ่อนคลายลงแล้วก็หวังว่า
จะเขียนร้อยกรองสักบท

เมื่อรุ่มร้อนบำราศจนขาดบท
คือเริ่มรสพจนาภาษาศิลป์
.
.
เดี๋ยวมาต่อครับ

 

โดย: สดายุ... 8 สิงหาคม 2560 16:35:13 น.  

 

ค่ะคุณสดายุ

สาวน้อยหลายคนของแม่เอื้อยแอบกระซิบมาว่า
อยากจะอ่านกลอนบทต่อไปที่ชื่อว่า "คอยเจ้า" ของคุณ

พิจารณาตามความคิด ใคร่ครวญเอานะคะ

 

โดย: เอื้อย IP: 61.19.86.2 8 สิงหาคม 2560 16:51:02 น.  

 



ต่อ ..
เรียงถ้อยความวาดหวังให้หลั่งริน-
แวดล้อมจินตนาการ .. จนอ่าน-รู้ !

อิๆๆ

แม่เอื้อย ..
"คอยเจ้า" ชื่อนี้นี่ผมเคยเขียนไป 3 บท แล้วครับ ..

1.
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sdayoo&month=12-2012&date=01&group=11&gblog=415

2.
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sdayoo&month=09-2013&date=23&group=11&gblog=482

3.
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sdayoo&month=07-2014&date=12&group=11&gblog=558

พอดีชอบชื่อนี้ .. แต่บางครั้งก็ลืมครับ .. ตั้งซ้ำ

 

โดย: สดายุ... 8 สิงหาคม 2560 18:54:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.