Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
1 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 

O โคลงยวนพ่าย - คำแปล..๑ O



เพลง....พระอาทิตย์ชิงดวง
วงกอไผ่



ลิลิตยวนพ่าย
ยวนพ่าย เป็นชื่อวรรณกรรมยุคต้นอยุธยา แต่งเพื่อพิธีกรรมยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ที่อยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1991-2031) ที่ทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ที่เชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 1985-2031)

ต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยไม่มีบอกว่าหนังสือเรื่องนี้ชื่ออะไร? ใครแต่ง? เมื่อไร? ทำไม? ฯลฯ

ดังนั้นชื่อยวนพ่ายจึงน่าจะสมมุติมาจากโคลงบทสุดท้ายในฉบับ อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ชำระมีว่า
๏ สยามกวนยวนพ่ายแพ้ - - - ศักดยา
ธิราชอดิสรสรร- - - - เพชญเจ้า
กรุงศรีอยุธยาสา- - - - มรรถมิ่ง เมืองแฮ
จบบทหมดต้นเค้า - - - เท่านี้ เฮย
แต่โคลงบทนี้ไม่มีในฉบับพิมพ์เป็นเล่มของกรมศิลปากร (วรรณกรรมสมัยอยุธยา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2529)

แสดงว่าเป็นโคลงใหม่แต่งเติมสมัยหลัง แต่ไม่รู้แต่งเมื่อไร? จึงไม่มีในทุกฉบับ



ลิลิตยวนพ่าย ชื่อตั้งเองสมัยใหม่
ทางการไทยปัจจุบันเรียกวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า “ลิลิตยวนพ่าย” แล้วยกเป็น “ลิลิตเรื่องแรกของไทย”

แต่ต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยไม่มีชื่อลิลิตยวนพ่าย

อ. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ บอกแต่ว่า “เราเรียกกันว่าโคลงยวนพ่าย ฤๅยอพระเกียรติพระเจ้าช้างเผือก กรุงเก่า” (ประชุมวรรณคดีไทยภาคพิเศษ ยวนพ่ายโคลงดั้น พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2513 หน้า 1)

คำว่าลิลิตมากำหนดกันใหม่เมื่อไม่นานมานี้โดยนักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยใหม่

ดังนั้นที่ว่าเป็นลิลิตเรื่องแรกของไทยจึงประหลาดๆ เพราะยุคที่แต่งยวนพ่ายไม่มีลิลิตในความหมายดังกล่าว



ใครพ่ายใคร?
ยวนพ่าย หมายถึง เชียงใหม่พ่ายแพ้อยุธยา

ตามรูปศัพท์ ยวน คือ โยนก หมายถึงเชียงใหม่ซึ่งเป็นรัฐเอกราช ส่วนพ่าย ก็คือ แพ้, ไม่ชนะ

ที่ให้ชื่อว่ายวนพ่าย ก็เป็นเพราะฝ่ายอยุธยาแต่งเพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถ้าฝ่ายเชียงใหม่แต่งเพื่อยอพระเกียรติพระเจ้าติโลกราชบ้าง บางทีจะชื่อสยามพ่ายหรืออยุธยาพ่ายก็ได้

แต่มีเหตุการณ์ในพงศาวดารฝ่ายอยุธยา บอกว่า ราว พ.ศ. 2008 สมเด็จพระบรมไตรฯ ทรงผนวชที่วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลก ด้วยพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา มีเนื้อความในพงศาวดารโยนกบอกว่าทรงผนวชเพื่อขอบิณฑบาตเมืองเชลียง (เชียงชื่น) คืนจากพระเจ้าติโลกราชที่ยึดไว้ แต่ไม่สำเร็จ

อย่างนี้แสดงว่าทางเชียงใหม่ไม่คิดว่าพ่ายแพ้อยุธยา แต่คิดตรงข้าม

มีคำอธิบายของ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อยู่ในบทความเรื่อง สุโขทัย-อยุธยา และเชียงใหม่ ในตำนานสิบห้าราชวงศ์ (พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2549 หน้า 188-189) จะคัดมาเป็นพยานดังต่อไปนี้

“พระบรมไตรโลกนารถ ทรงรำพึงว่าจะสู้รบกับเชียงใหม่ไม่ไหว จึงควรเจรจาความเมืองกัน โดยพระองค์จะออกผนวช (พงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ์ฯ ว่า พ.ศ. 2008) และมอบเมืองให้แก่พระราชบุตรคือพระอินทราชา” แล้วให้ไปขอบิณฑบาตเมืองเชลียงจากรพระเจ้าติโลกราช

พระเจ้าติโลกราชให้ชุมนุมพระสงฆ์ แล้วตอบว่าผู้ออกบวชย่อมสละสมบัติทั้งปวง เป็นพระสงฆ์จะมาขอบิณฑบาตเมืองจึงไม่ควรคืนเชลียงให้

พระบรมไตรโลกนารถมิได้ตรัสประการใด ต่อมาก็ทรงลาผนวชมาเสวยเมืองดังเดิม แล้วให้พรหมสะท้านไปอุปัฏฐากชีม่าน (พระพม่า) ให้สินบนชีม่านเป็นทองคำหนึ่งพัน เพื่อให้ไปทำลายต้นไทรที่เป็นศรีเมืองเชียงใหม่
ต้นฉบับขาดหายเพียงเท่านี้ จึงได้คัดตำนานเชียงใหม่มาเพิ่มเติมไว้เท่าที่ต้องการ “เมื่อทำลายต้นไทรได้สำเร็จในปีดับเล้า พ.ศ. 2008 ต่อจากนั้นก็เกิดอันตรายต่างๆ แก่บ้านเมืองและเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย”
“ปีกาบสง้า พ.ศ. 2017 หมื่นด้งผู้กินเชียงชื่นตาย พระเจ้าติโลกราชเอาหมื่นแคว้นผู้กินแช่ห่มไปกินเชียงชื่น ในปีนั้นพระยาหลวงสุโขทัยตีเมืองเชียงชื่นได้ และฆ่าหมื่นแคว้นตาย พระเจ้าติโลกราชเสด็จไปเอาเมืองเชียงชื่นคืนได้ แล้วให้ผู้กินเมืองนครไปรั้งเมืองเชียงชื่น”
ข้อความตอนท้ายนี้ ตำนานเดิมขาดหายไป ผู้คัดลอกเขียนเติมขึ้นใหม่ผิดความจริง

ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ หมื่นแคว้นตาย “ลวดได้เชียงชื่นคืนดังเก่า” หมายถึงอยุธยาได้เชียงชื่นคืนไปเหมือนที่เคยเป็นอยู่เดิม และ “หมื่นผู้กินนครไปรั้งเชียงชื่นออกหนีได้” หมายความว่าเจ้าเมืองลำปางซึ่งไปดูแลเชียงชื่นหนีกลับไปล้านนาได้



ประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงคราม
ยวนพ่าย เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงครามยุคต้นอยุธยาของวงศ์สุพรรณภูมิจากเมืองสุพรรณบุรี มีเนื้อเรื่องหลายตอนไม่พบในพระราชพงศาวดาร

จะสรุปโดยคัดมาปรับใหม่จากหนังสือประวัติวรรณคดีไทย ของ อ. เปลื้อง ณ นคร (ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งที่แปด พ.ศ. 2523 หน้า 68-69) ดังต่อไปนี้

ลิลิตยวนพ่ายมีโคลงดั้น 295 บท (แต่ละฉบับมีไม่เท่ากัน) ร่ายดั้นเป็นคำโคลงกล่าวยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรื่องสำคัญคือเรื่องสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยาตราทัพไปตีเมืองเชียงชื่น (หรือเชลียง, ศรีสัชนาลัย ปัจจุบันอยู่ จ. สุโขทัย)

เนื้อเรื่องตั้งแต่ร่ายบทที่ 1 ถึงโคลงบทที่ 55 เป็นคำกล่าวยอพระเกียรติ และในบทที่ 56-60 มีคำกล่าวออกตัวตามมารยาทของกวี และบอกความมุ่งหมายในการแต่งรวมอยู่ด้วย

ครั้นแล้วกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ตาม “สูตรสถานี” ตั้งแต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงยกทัพไปรบเขมร และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประสูติตอนที่พระบิดากำลังชุมนุมพลที่ทุ่งพระอุทัย กล่าวถึงพระราชบิดาปราบเขมรได้ เสด็จคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระบิดาสวรรคต พระองค์ก็ขึ้นเสวยราชย์

ครั้นแล้วกล่าวถึงพระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลก ว่าเอาใจออกหากจากกรุงศรีอยุธยา โดยไปติดต่อกับพระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ยกทัพมาตีเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงยกทัพขึ้นไปปราบปรามจนสงบ แล้วเลยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงบำรุงพระพุทธศาสนา พระองค์เองได้ทรงผนวชอยู่คราวหนึ่ง

กล่าวเรื่องฝ่ายเชียงใหม่ว่าพระเจ้าติโลกราชทรงตั้งหมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมืองเชียงชื่น (เชลียง ศรีสัชนาลัย) กล่าวถึงพระเจ้าติโลกราชเกิดเสียจริต ประหารชีวิตหนานบุญเรืองราชบุตร แล้วเรียกหมื่นด้งนครกลับเชียงใหม่ แล้วจับตัวประหารชีวิตเสีย ส่วนภรรยาหมื่นด้งนครซึ่งอยู่ทางเมืองเชียงชื่น ได้ทราบเรื่องก็แค้นใจ ทำการแข็งเมืองแล้วมีสารมายังกรุงศรีอยุธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย แต่ทัพไทยยังไม่ทันขึ้นไป ทางเชียงใหม่ก็ยกลงมาตีเมืองเชียงชื่นแตกเสียก่อน แล้วเตรียมตกแต่งเมืองตั้งรับทัพไทย

ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงยาตราทัพไปประชิดทัพเมืองเชียงใหม่ ทัพทั้งสองได้รบกันเป็นสามารถ แต่ทัพเชียงใหม่เป็นฝ่ายปราชัย เป็นจบเรื่อง



ที่มา .. ยวนพ่าย วรรณกรรมประวัติศาสตร์ ราชวงศ์และสงคราม

..................................................


ร่าย
๏ ศรีสิทธิสวัสดิ ชยัศดุมงคล วิมลวิบูลย์ อดูลยาดิเรก เอกภูธรกรกช ทสนัขสมุชลิต วิกสิตสโรโชดม บรมนบอภิวาท บาทรโชพระโคดม สํนุพระสัทธรรมาทิตย์ บพิตรมหิทธิมเหาฬาร มหานดาทธยาศรย หฤทยธวรงค์ ทรงทวดึงษมหาบุรุษลักษณ์ อัครอัษโฎษดร บวรสัตมงคล อนนตญาณอเนก อเศกษาอภิต อสิตยานุพยญชนพิรญชิต ฉายฉัพพิธรังษี พยงรพีพรรณ จันทรโกฏิ โชติสหัสชัชวาล วิศาลแสงรุ่งเร้า เท้าหกท้องฟ้าหล้าสี่สบ ดารนพมณฑล สรณาภิวนทนสัทธรรมาคม อุดํมาภิวันทนอรรษฎารยาภิวาท อาทิยุคขุกเข็ญ เป็นกรลีกรลำพรธรณิดล จลพิจลต่างต่าง พ่างจะขวํ้าทั้งสี่หล้า ฟ้าทังหกพกหงาย รสายสยบภพมณฑลในกษษนั้น บั้นพรหมพิษณุ อิศวรอดุลเดช เหตบพิตรคิดกรุณาประชาราษฎร อยยวจพินาศทังมูล สูญภพสบสิง ธจิ่งแกล้งแส้งสรวบ รวบเอาอัษเฎามูรรดิมามิศร ด้วยบพิตรเสร็จ ก็เสด็จมาอุบัติในกระษัตรี ทวีดิวงษพงษอภิชาต รงับราชรีปู ชูแผ่นดินให้หงาย ทายแผ่นฟ้าบให้ขว้ำ ลํ้ากรัณธรัตนวัดถวี ตรีโลกยบให้อูน หนุนพระพุทธศาสนให้ตรง ดำรงกรษัตรให้กรสานต์ ประหารทุกขให้กษย ไขยเกษตรให้เกษม เปรมใจราษฎรนิกร กำจรยศโยค ดิลกโลกยอาศรย ชยชยนฤเบนทราทรงเดช ฤๅลงดินฟ้าฟุ้งข่าวขจร ฯ

แปล

ขอความมีศิริมงคล ขอความสำเร็จ ขอความสวัสดี ขอจงมีชัยชนะ ขอความเจริญ ขอความบริสุทธิ์ ขอความบริบูรณ์ จงมีแด่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ผู้เปี่ยมด้วย (พระเดช หรือ พระคุณ) อันหาที่เปรียบมิได้ [หรือ ขอความบริบูรณ์อันมากมายมหาศาลจนนับค่ามิได้ จงมีแด่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว] ข้าพเจ้าขอประนมมือ พร้อมด้วยดอกบัวแรกแย้มอันเป็นยอดแห่งดอกไม้ น้อมไหว้ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด แทบละอองพระบาทของพระโคดม พระองค์ผู้ประกอบด้วยพระธรรมอันดีงามที่ส่องโลกดุจพระอาทิตย์ พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ พระองค์ผู้มีอัธยาศัยอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ พระองค์ผู้มีพระทัยและพระวรกายอันประเสริฐ ประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และมงคลลักษณะอันประเสริฐ ๑๐๘ ประการ พระองค์ผู้ทรงมีญาณหยั่งรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์ผู้ไม่ต้องทรงศึกษา ทรงเป็นผู้กล้า ประกอบด้วยลักษณะสำคัญย่อย (ในร่างกายของผู้ที่เป็นพระมหาบุรุษ) ๘๐ ประการ พระองค์ผู้ทรงเปล่งพระรัศมี ๖ ชนิด อันเสมอด้วยแสงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ๑๐ ล้านดวง สว่างโชติช่วงด้วยแสงพันแสงรุ่งโรจน์ด้วยแสงอันไพศาล (ส่องสว่างไป) ตลอดถึงสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นและทวีปทั้ง ๔ (ครอบคลุม) ขอบเขตแห่งดาวนพเคราะห์ ข้าพเจ้าขอไหว้พระธรรมอันสูงสุดด้วยการถึงสรณะคือที่พึ่งที่ระลึก [หรือ ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าถึงพระสัทธรรมด้วยการระลึกถึงและการกราบไหว้] ข้าพเจ้าขอไหว้พระอริยสงฆ์ทั้ง ๘ ด้วยการอภิวาทอย่างสูงสุด ในยุคเริ่มแรก (โลกก็เกิด) ความลำบาก ทั่วพื้นแผ่นดินเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ความหายนะ มีแต่ความวุ่นวายหวั่นไหวต่างๆ ประหนึ่งว่าทวีปทั้ง ๔ จะพลิกคว่ำ สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นจะพลิกหงาย ทำให้พื้นโลกทรุดระส่ำระสาย ในขณะนั้นฝ่ายพระพรหม พระวิษณุ พระอิศวร ผู้มีเดชาหาที่เปรียบมิได้ ด้วยว่าพระองค์ทรงคิดกรุณาต่อประชาราษฎร ทรงเกรงว่าโลกจะพินาศหมดสิ้น สูญสิ้นทั้งโลกและสรรพสิ่ง พระองค์จึงทรงตั้งพระทัย รวบรวมเอาร่างของเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง ๘ องค์ มารวมเข้ากับพระองค์จนสำเร็จ ก็เสด็จลงมาเกิดในวงศ์กษัตริย์ที่มีพระชาติยิ่งใหญ่จากวงศ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (คือพระชนกมาจากวงศ์อยุธยาและพระราชชนนีมาจากวงศ์สุโขทัย) พระองค์ทรงสามารถระงับข้าศึกศัตรู ทรงพลิกแผ่นดินให้หงาย ยกแผ่นฟ้าไว้ไม่ให้คว่ำ แผ่นดินจึง (ตั้งอยู่อย่างสวยงาม) ยิ่งกว่าตลับแก้ว พระองค์ทรงค้ำจุนโลกทั้ง ๓ ไว้ไม่ให้โอนเอน (คือให้มีความเที่ยงธรรม) ทรงค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ ทำให้ผู้ปกครองแผ่นดิน (ทั้งหลาย) มีความสงบสุข พระองค์ทรงขจัดความทุกข์ให้สิ้นไป ทรงขยายแผ่นดินให้กว้างขวาง และทำให้ (ประชาชน) มีความสุข เหล่าพลเมืองมีความรื่นเริงใจ พระองค์ผู้ทรงเกียรติคุณขจรไป [หรือ พระองค์ทรงทำให้ (แผ่นดินนี้) ทีเกียรติคุณขจรไป] ทรงทำให้โลกที่อยู่อาศัย (นี้) เป็นเลิศ (ขอให้) พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเดชานุภาพ (ทรงมี) ชัยชนะ และเรื่องราวของพระองค์เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทั้งแผ่นฟ้าและแผ่นดิน



โคลงสี่
๏ พรหมพิษณุบรเมศรเจ้า - - จอมเมรุ มาศแฮ
ยมเมศมารุตอร - - อาศนม้า
พรุณคนิกุเพนทรา - - สูรเสพย
เรืองรวีวรจ้า - - แจ่มจันทร ฯ

แปล

(กล่าวถึงเทพ ๑๑ องค์ได้แก่) พระพรหม พระวิษณุ พระอิศวร พระอินทร์ พระยม พระมารุตผู้ทรงม้าที่มีที่นั่งอันงาม พระพิรุณ พระอัคนี ท้าวกุเวรผู้เป็นจอมอสูร พระอาทิตย์ (ที่มี) แสงสว่างจ้า พระจันทร์ (ที่มีแสง) แจ่มกระจ่าง

หมายเหตุ
โคลงบาทที่ ๒ คำว่า "ยำเมศ" คณะกรรมการราชบัณฑิตยสภามีมติให้แก้ไขเป็น"ยมเมศ"ตามต้นฉบับสมุดไทยฉบับวชิรญาณ รศ.๑๒๑ เพราะเห็นว่าถูกต้องกว่า"ยำเมศ"ตามที่ปรากฎในวรรณกรรมสมัยอยุธยาเล่ม ๑ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พศ.๒๕๒๙



๏ เอกาทสเทพแส้ง - - เอาองค์ มาฤๅ
เป็นพระศรีสรรเพชญ - - ที่อ้าง
พระเสด็จดำรงรักษ - - ล้ยงโลกย ไส้แฮ
ทุกเทพทุกท้าวไหงว้ - - ช่วยไชย ฯ

แปล

เทพทั้ง ๑๑ องค์เสด็จมารวมกันเป็นองค์พระศรีสรรเพชญ์ เพื่อดำรงรักษาโลก โดยเทพทุกหนทุกแห่งช่วยส่งเสริมให้พระองค์ได้ประสบชัยชนะ



๏ พระมามลายโศกหล้า - - เหลึอศุข
มาตรยกไตรภพฤๅ - - ร่ำได้
พระมาบันเทาทุกข - - ทุกสิ่ง เสบอยแฮ
ทุกเทศทุกท้าวไท้ - - นอบเนึอง ฯ

แปล

๑. พระองค์เสด็จมาทำให้ความโศกในโลกสูญสิ้นไป เหลือแต่ความสุข พระองค์ทรงยกโลกทั้ง ๓ (ให้รุ่งเรือง) สุดที่จะพรรณนาได้ พระองค์เสด็จมาบรรเทาทุกข์ทำให้ทุกสิ่งมีแต่ความสุข (และ) ทรงทำให้เจ้าบ้านเจ้าเมืองทุกถิ่นทุกประเทศพากันมานบนอบอยู่เนืองแน่นอยู่เสมอ

๒. พระองค์เสด็จมาทำให้ความโศกในโลกสูญสิ้นไป มีแต่ความสุขอย่างยิ่ง แม้ว่า (จะเอาความสุขของ) โลกทั้ง ๓ (ขึ้นมาเทียบ) ก็สุดที่จะพรรณนาได้ พระองค์เสด็จมาบรรเทาทุกข์ทำให้ทุกสิ่งมีแต่ความสุข (และ) ทรงทำให้เจ้าบ้านเจ้าเมืองทุกถิ่นทุกประเทศพากันมานบนอบอยู่เนืองแน่นอยู่เสมอ



๏ พระมายศยิ่งฟ้า - - ดินชม ชื่นแฮ
มาแต่งไตรรัตนเรือง - - รอบหล้า
พระมาสมสํภาร - - เพญโพธ ไส้แฮ
ใครแข่งใครข้องถ้า - - ถ่องเอง ฯ

แปล

๑. พระองค์เสด็จมามีพระยศยิ่งใหญ่ทำให้ฟ้าดินต่างนิยมชมชื่น ทรงทำให้พระรัตนไตรรุ่งเรืองไปทั่วโลก พระองค์เสด็จมาสั่งสมพระบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หากใครจะมาแข่งบุญบารมีต่อไปก็มีอันขัดข้องไปเองอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง

๒. พระองค์เสด็จมามีพระยศยิ่งใหญ่ทำให้ฟ้าดินต่างนิยมชมชื่น ทรงทำให้พระรัตนไตรรุ่งเรืองไปทั่วโลก พระองค์เสด็จมาสั่งสมพระบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หากใครจะมาแข่งบุญบารมีหรือมีความข้องใจ (ในพระบารมี) รอไปก็จะเห็นแจ้งได้เอง

๓. พระองค์เสด็จมามีพระยศยิ่งใหญ่ทำให้ฟ้าดินต่างนิยมชมชื่น ทรงทำให้พระรัตนไตรรุ่งเรืองไปทั่วโลก พระองค์เสด็จมาสั่งสมพระบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หากใครจะมาแข่งบุญบารมี (เป็นศัตรู) หรือมามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง (เป็นมิตร) ด้วย รอไปก็จะเห็นแจ้งได้เองอย่างชัดแจ้ง



๏ พระมาคฤโฆษเรื้อง - - แรงบุญ ท่านนา
ทุกทั่วดินบนเกรง - - กราบเกล้า
พระเสด็จแสดงคุณ - - ครองโลกย ไส้แฮ
เอกกษัตรส้องเฝ้า - - ไฝ่เห็นขอเห็น ฯ

แปล

พระองค์ทรงมีความรุ่งโรจน์ (มีพระเกียรติคุณ) กึกก้องด้วยอำนาจบุญบารมีของพระองค์ ทำให้ทั่วทั้งฟ้าและดินเกรงพระบารมีต้องกราบก้มประนมกร พระองค์เสด็จมาครองโลกด้วยคุณธรรม ทำให้กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายต่างก็ประสงค์จะได้เข้าเฝ้าชม (พระบารมีของพระองค์)



๏ พระมาเพญโภคยพ้น - - ไพศรพ โสดแฮ
ภูลบ่อเง็นทองเป็น - - บ่อแก้ว
พระมาเกอดเกษมภพ - - ทังสี่ เสบอยแฮ
มาสำแดงกล้าแกล้ว - - เกลื่อนรณ ฯ

แปล

พระองค์เสด็จมาทำให้โลกเต็มไปด้วยโภคยสมบัติยิ่งกว่าท้าวกุเวร ได้มีบ่อเงินบ่อทอง และบ่อเพชรพลอยผุดขึ้น (คู่พระบารมี) พระองค์เสด็จมาอุบัติทำให้ภพทั้ง ๔ (ทวีปทั้ง ๔) มีแต่ความสุขเกษม พระองค์ทรงแสดงความแกล้วกล้าสามารถระงับศึกสงครามได้

หมายเหตุ
โคลงบาทที่ ๒ คำว่า "เง็น" ต้นฉบับสมุดไทยบางฉบับใช้ว่า "เงิน"
ภูลบ่อเงินทองเป็น - - บ่อแก้ว



๏ พระมามล้างท้าวทั่ว - - ธรณี
อ้นอาจเอากลเอา - - ฬ่อล้ยง
พระมาก่อภูมี - - ศวรราช
อันอยู่โดยยุคดิพ้ยง - - พ่างอาริย์ ฯ


แปล
พระองค์เสด็จมาปราบปรามผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายในแผ่นดิน โดยใช้กลวิธีเอามาชุบเลี้ยงไว้ พระองค์เสด็จมาเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งอยู่โดยชอบเหมือนยุคพระศรีอาริย์



๏ พระมาแมนสาธุสร้อง - - ถวายพร เพิ่มแฮ
มาสำแดงไชยชาญ - - ช่ยวแกล้ว
พระมารบาลบร - - ทุกทวีป ไส้แฮ
มาสำแดงฤทธิแผ้ว - - แผ่นดิน ฯ


แปล
พระองค์เสด็จมาโดยมีเทวดาแซ่ซ้องถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เสด็จมาทำให้บังเกิดชัยชนะด้วยความจัดเจนและความแกล้วกล้าอย่างยิ่ง พระองค์เสด็จมาปราบศัตรูทุกทวีป เสด็จมาสำแดงพระเดชจนแผ่นดินราบเรียบ (สิ้นศัตรู)



๏ พระเสด็จแสดงดิพรแกล้ว - - การยุทธ ยิ่งแฮ
มาสำแดงสิทธิศิลป์ - - เลิศล้น
พระมายิ่งแมนรุทธิ - - เรืองเดช
มาสำแดงยศพ้น - - แพ่งถมา ฯ


แปล
พระองค์เสด็จมาแสดงความแกล้วกล้าในการรบอย่างยิ่ง เสด็จมาสำแดงศิลปศาสตร์ที่ยังความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง พระองค์เสด็จมาทรงอำนาจยิ่งกว่าเทพรุทร เสด็จมาแสดงพระเกียรติยศเหนือกว่าทุกคนในแผ่นดิน



๏ พระมาทุกเทศท้ยน - - มาคัล
มาผ่านภูวมาผาย - - แผ่นหล้า
พระมาก่อธรรมา - - ครองโลกย
มาสืบสีมาข้า - - ข่มเข็ญ ฯ


แปล
พระองค์เสด็จมาทุกประเทศย่อมมาแสดงความนอบน้อม เสด็จมาครองโลก มาขยายแผ่นดินให้กว้างขวางออกไป พระองค์เสด็จมาสร้างหลักธรรมเพื่อครองโลก เสด็จมาทรงสืบสีมาอาณาจักร ทรงกำจัดความทุกข์ยากให้หมดไป



๏ พระมายศโยคพ้น - - พรหมา
มาพ่างมาพาเปน - - ปิ่นแก้ว
พระมาทยบทยมสมา - - ธิปราชญ เพรงแฮ
มาทยบมาทบแผ้ว - - แผ่นไตร ฯ


แปล
พระองค์เสด็จมาประกอบด้วยพระเกียรติยศยิ่งกว่าพระพรหม เสด็จมาเป็นประมุขอันประเสริฐ (ของแผ่นดิน) พระองค์ทรงเปรียบเสมือนปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต เสด็จมาช่วยทำให้โลกทั้ง ๓ ผ่องแผ้วยิ่งขึ้น



๏ เอกัตวเอกาตมลํ้า - - เลอกษัตร ท่านฤๅ
เอกทยาศรยแสวง - - ชอบใช้
เอกาจลดำรงรักษ - - รองราษฎร์ ไส้แฮ
เอกสัตวเกื้อให้ - - ส่างศัลย ฯ


แปล
พระองค์ทรงมีอาตมันเป็นเลิศ มีความเป็นหนึ่งเหนือกษัตริย์ทั้งปวง ทรงแสวงหาและชอบใช้ความเมตตากรุณาอันเลิศ ทรงมี (พระราชหฤทัย) ม่นคงไม่หวั่นไหวในอันที่จะดำรงรักษาและทำนุบำรุงประชาราษฎร์ ทรงเป็นเอกบุคคลที่ทรงเกื้อกูลให้ (ประชาชน) คลายจากทุกข์โศก



๏ ทวิบททวิชาติเชื้อ - - สุรยวงษ ท่านฤา
ทวิคุณาธิกธรรม์ - - เลิศล้น
ทวีพิธทวีธารทรง - - สุรยเสพย ไส้แฮ
เทวภาพเทวหกพ้น - - แว่นไว ฯ


แปล
พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ที่เป็นกษัตริย์สืบสายสุริยวงศ์ ทรงมีคุณธรรมที่มีคุณยิ่ง ๒ ประการ พระองค์ทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของสุริยวงศ์ทั้ง ๒ ฝ่าย (ทรง) พ้นจากจิตที่ลังเลสงสัยอย่างรวดเร็ว



๏ ไตรตรัสไตรเทพยเรื้อง - - ไตรรัตน
ไตรโลกยไตรไตรภพ - - ทั่วแท้
ไตรไตรปิฎกตรัส - - ไตรเทพ
ไตรทั่วไตรพิธแปล้ - - ปล่งชาญ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรู้แจ้งยิ่งในเรื่องเทพทั้ง ๓ และไตรรัตน์ (ทรงรู้แจ้งในเรื่องพระรัตนตรัย) โลกทั้ง ๓ และภพทั้ง ๓ อย่างดียิ่ง (ทรงรู้แจ้งใน) พระไตรปิฎกและเรื่องไตรเทพ คือเทพทั้ง ๓ อย่างยิ่ง (ทรงรู้แจ้ง) ทั่วทั้ง ๓ อย่าง อย่างเต็มที่และกระจ่างแจ้ง



๏ ตรีศรีตรีเนตรต้าน - - ตรีศักดิ ก็ดี
ตรัสท่านตรัสปานตรัส - - ท่านได้
ไตรตรึงษ์ก็คดีตรัส - - ไตรถ่อง
ตรีโทษตรีคุณไท้ - - เลิศฦๅ ฯ

แปล

พระวิษณุ (หรือพระพรหม) พระอิศวร พระพรหม (หรือ พระวิษณุ) ตรัสอะไรก็ตาม ก็ย่อมเสมอด้วยคำตรัส (ของพระบรมไตรโลกนาถ นอกจากนั้นพระองค์) ยังทรงรู้แจ้งเรื่องของพระอินทร์ (สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) เป็นอย่างดี (ทั้งยังทรงรู้แจ้งเรื่อง) โทษ ๓ คือโทษของการทุศีล โทษของมิจฉาสมาธิ โทษของมิจฉาทิฐิ และคุณ ๓ คือ คุณของศีล คุณของสมาธิ คุณของปัญญา อย่างเลอเลิศ




๏ จตุรทฤษฎิธรรมถ่องแจ้ง - - จตุรา
คมจตุรคุณฤๅ - - กีดกั้น
จตุราคมารักษ - - จตุรโลกย
แจ้งจตุรยุคชั้น - - ช่องกัลป์ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรู้แจ้งในทิฏฐิ ๔ ทรงรู้แจ้งในอคม ๔ (อคติ ๔) และคันถะ ๔ (เครื่องผูกมัด ๔) โดยไม่มีสิ่งใดขัดขวางไว้ (ทรงรู้แจ้งใน) ท้าวจตุโลกบาลผู้รักษาอาคม ๔ (นิกาย ๔) [หรือทรงรู้แจ้งในอารักขกัมมัฏฐานและท้าวจตุโลกบาล] (และ) ทรงรู้แจ้งในยุคทั้ง ๔ ทุกชั้นช่องกัลป์



๏ จตุรมรรคยลโยคแจ้ง - - จตุรพิธ เพริศแฮ
แจ้งจตุรพรรค - - ฬ่อล้ยง
จตุราพุทธทิศ - - จตุรเทศ
แจ้งจตุรภักตรพ้ยง - - พ่างอาริย์ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรู้แจ้งในมรรค ๔ และโยคะ ๔ อย่างแจ่มชัด ทรงรู้แจ้งในวรรณะทั้ง ๔ ที่พระองค์ทรงชุบเลี้ยงไว้ (รวมทั้ง) อาวุธ ๔ [หรือ วุฑฒิธรรม ๔] และทวีปทั้ง ๔ ในทิศทั้ง ๔ (อีกทั้ง) ทรงรู้แจ้งในอาหาร ๔ [หรือ พรหมวิหาร ๔] ดุจดั่งพระอริยเจ้า



๏ จตุโรบาเยศแจ้ง - - จตุรงค์
แจ้งจตุรฤทธิฌาณ - - ทั่วแท้
จตุราริยสัตยทรง - - ทายาท
แจ้งจตุรผลแก้ - - ยวดชาญ ๆ

แปล

(พระองค์) ทรงรู้แจ้งในอุบาย ๔ และความเพียรมีองค์ ๔ และทรงรู้แจ้งในฤทธิ์ฌาญ ๔ [หรือ ราชฤทธิ์ ๔] ทั้งหมด (อีกทั้งทรงรู้แจ้งใน) อริยสัจ ๔ (ราวกับ) ทรงเป็นธรรมทายาท (รวมทั้ง) ทรงรู้แจ้งในผล ๔ อย่างเชี่ยวชาญยิ่ง



๏ เบญจาวุทราษฎรบั้น - - เบญจางค
เบญจมารเบญญา - - ผ่าแผ้ว
เบญจาพิชานาง - - คฌาเณศ
เบญจนิวรณแร้วร้าง - - ร่างเหน ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงอาวุธทั้ง ๕ ไว้ประจำพระวรกายของพระองค์ ๕ แห่ง (พระองค์ทรงมี) พระปัญญาปราบมารทั้ง ๕ ให้หมดสิ้นไป (พระองค์ทรงรู้แจ้งใน) อภิญญา ๕ และองค์ฌาณ ๕ ที่จะทำลายล้างนิวรณ์ ๕ ซึ่งเปรียบเสมือนบ่วงดักให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง



๏ เบญเจนทริเยศบั้น - - เบญจา
นันตริยเบญจัก - - ไปล่เปลื้อง
เบญจปรการณา - - พิธมารค ก็ดี
เบญจยศนั้นเรื้อง - - รวดพรหม ฯ

แปล

พระองค์ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์๕ อนันตริยกรรม๕ คัมภีร์๕ คติ๕ และยศ๕ โดยพลันราวกับพระพรหม



๏ เบญจปรสาทบั้น - - เบญจัศ
สกนธเบญจารมภฤๅ - - รํ่าได้
แจ้งเบญจพยัศณ - - เลิศนิ ก็ดี
เบญจพิมุดดีท้าวไท้ - - ถี่แถลง ฯ

แปล

(ในส่วนที่เกี่ยวกับ) ประสาททั้ง ๕ ขันธ์ ๕ และอารมณ์ ๕ (กามคุณ ๕ พระองค์) ทรงรู้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทรงรู้แจ้งตลอดทั้งพยัสนะ ๕ (ความเสื่อม ๕) อย่างถ่องแท้ในเรื่องวิมุตติ ๕ พระองค์ทรงรอบรู้ และสามารถชี้แจงได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน




๏ ษัฏคณกษัตรเตรศได้ - - โดยอรรถ ถ่องแฮ
ษัฎเหตุษัฏพัศดุแจง - - แจกถ้วน
ษัฏทวารษัฏเคา - - รพยสาธุ ไส้แฮ
ษัฏนิวรเว้นล้วน - - เผื่อผล ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงตั้งอยู่ในพระคุณ ๖ ทรงรอบรู้เนื้อความอย่างแจ่มแจ้งในเหตุ ๖ และวัตถุ ๖ (จนสามารถ)แจกแจงได้อย่างถี่ถ้วน ทวาร ๖ และเคารพ ๖ ก็ทรงเชี่ยวชาญ ตลอดทั้งนิวรณ์ ๖ ก็ทรงรอบรู้ด้วย



๏ ษัฏสารนิยารถรู้ - - ฤๅมี อยดนา
ษัฎบดลดยงดล - - คอบเคื้อ
ษ้ฎพิธรังษี - - เสาวภาคย
ษัฏสมยแก้วเกื้อ - - เกิดเกษม ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรอบรู้ในสาราณียธรรม๖ มิใช่น้อย
ทรงรอบรู้เรื่องสวรรค์ ๖ ชั้น (ราวกับ)ทรงดูแลรักษามาเป็นเวลายาวนาน
(อีกทั้งทรงรอบรู้ในเรื่อง)รัศมี ๖ เป็นอย่างดี รวมทั้งฤดูทั้ง ๖ ที่ล้วนเกื้อกูลให้เกิดความเกษมสำราญ



๏ สับดานุสรยาฆรไท้ - - ถาแถลง ถ่องพ่อ
สับดเสกษาเปรม - - ปราชญแปล้
สับดครหาแสวง - - สับด่าห
สับดนิรัชแก้ถ้วน - - ถ่องอรรถ์ ฯ

แปล

(พระองค์ทรงอธิบาย) เรื่องอนุสัยกิเลส ๗ อย่างถ่องแท้
(ทั้งยังทรงอธิบายเรื่อง) พระเสขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังต้องศึกษาเพื่อบรรลุนิพพาน) ทั้ง ๗ ได้เป็นอย่างดีสมกับเป็นปราชญ์ผู้เปี่ยมด้วยความรู้อย่างแท้จริง
ทรงทราบ (กำลัง) ของดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ ใน ๗ วัน
ทรงกล่าวแก้ชี้แจงเรื่องนิรัช ๗ [หรือนิสัช ๗] อย่างถี่ถ้วนถ่องแท้



๏ สับดนัคสับดพ่าหพร้อง - - สับดสินธุ
สับดสิทันดรแจง - - แจกแจ้ง
สับดทักขิณยล - - บัดธเนศ ก็ดี
สับดวิสุทธไท้แกล้ง - - ก่อผล ฯ

แปล

(พระองค์ทรงรอบรู้) ภูเขาทั้ง ๗ สระทั้ง ๗ พร้อมกับแม่น้ำทั้ง ๗ สาย แม่น้ำสีทันดรทั้ง ๗ ก็ (ทรงสามารถ) แจกแจงแยกออกไป (ทรงรอบรู้) ทักขิไณยบุคคล ๗ (อริยบุคคล ๗) รวมตลอดทั้งอริยทรัพย์ ๗ ก็ดี (และ) วิสุทธิ ๗ ที่ล้วนก่อให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่



๏ อัษฏโลกุดดเรศเรื้อง - - อัษฏฌาน
อัษฏมงคลใคร - - ทยบไท้
อัษฏโลภาศดารยัษฎ - - พิบาก ก็ดี
อัษฏเบญญาได้ - - ช่ยวชาญ ฯ

แปล

(พระองค์ทรง) รู้แจ้งในโลกุตตรธรรม ๘ ฌาน ๘ (และ) มงคล ๘ อย่างยากที่จะหาผู้ที่จะมาเทียบพระองค์ได้ (อีกทั้งทรงรอบรู้ใน) โลภะ ๘ (โลภะมูลจิต ๘) อารยะ ๘ (โลกุตตรจิต ๘) และวิบาก ๘ (กุศลวิปากจิต ๘) เป็นอย่างดี (รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญ) ในปัญญา ๘ (หรือวิชชา ๘) เป็นอย่างดี



๏ อัษฏมิถยาภาคแม้ - - เมธา ท่ยงแฮ
อัษฎกษิณอานอรรถ - - กล่าวแก้
อัษฏโลกธรรมา - - ศรยสาธุ ไส้แฮ
อัษฏมัคธไท้แท้ - - ท่ยงฌาน ฯ

แปล

(ในด้าน) มิจฉัตตะ ๘ (พระองค์ทรงรอบรู้เสมอด้วย) นักปราชญ์ผู้มีความฉลาดหลักแหลมแม่นยำ ในเรื่องกสิณ ๘ (พระองค์ทรง) ชี้แจงเนื้อความได้อย่างดีเลิศ ในเรื่องโลกธรรม ๘ ซึ่งเป็นธรรมที่มีอยู่ประจำโลก (รวมทั้ง) มีีคมีองค์ ๘ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณเป็นเลิศ



๏ นพสับดาวาศรู้ - - รยงสบ สิ่งแฮ
นพรูปรยงนพมาน - - ล่งล้วน
นพโลกดรจบ - - คุณโทษ ก็ดี
นพสงษการแล้วถ้วน - - ถี่แถลง ฯ

แปล

(พระองค์ทรง) รู้แจ้งในสัตตาวาส ๙ โดยลำดับ (ทรงรู้แจ้งใน) กรรมชรูป ๙ และมานะ ๙ โดยตลอด (อีกทั้งทรงรู้แจ้งใน) โลกุตตรธรรม ๙ อย่างหมดสิ้นตลอดทั้งในด้านคุณและโทษ (รวมตลอดทั้ง) สังขตะ ๙ (ความคิดปรุงแต่ง ๙ ก็ทรงรอบรู้) อย่างถี่ถ้วนและสามารถชี้แจงได้



๏ ทศพธธรรโมชแท้ - - ทศสกนธ
ทศพัสดุแสดงทศ - - เกลศกลั้ว
ทศกายพลทศ - - พลภาคย ก็ดี
ทศอศุภหมั้วห้อม - - ห่อสกนธ์ ฯ

แปล

พระองค์ทรงมีทศพิธราชธรรม [หรือ รสอันซึมซาบที่เกิดจากธรรม 10 อย่าง] (และทรงรู้แจ้งใน) บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ [หรือ มิจฉาทิฏฐิ ๑๐] และกิเลส ๑๐ (รวมทั้ง) กำลังพระกาย ๑๐ และพระญาณ ๑๐ (ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้ง) อสุภะ ๑๐ ที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่นี้



๏ ทศกุศลใสสาครแท้ - - ทศธรรม
ทศกุศลทศกษิณ - - สืบส้าง
ทศบารมีสรร - - เพชญก่อ กลพ่อ
ทศโกรธพระเจ้ามล้าง - - เน่งนอน ฯ

แปล

(พระองค์ทรงรู้แจ้งใน) กุศลกรรมบท ๑๐ ที่ใสสะอาดดุจดั่งน้ำในทะเล และธรรม ๑๐ ประการ (ทรงรู้แจ้งใน) อกุศลกรรมบท ๑๐ และกสิณ ๑๐ ต่อไปด้วย (รวมถึง) บารมี ๑๐ ที่พระองค์ทรงรอบรู้ด้วย (รวมตลอดทั้ง) อาฆาตวัตถุ ๑๐ ที่พระองค์ทรงบำบัดให้หมดสิ้นไปอย่างแน่นอน



๏ ทศบุญพระแต่งตั้ง - - แสวงสวะ บาปแฮ
ทศนิชรยล - - ยิ่งผู้
ทศญาณทศพัศดุ - - ยลโยค ไส้แฮ
ทศรูปพระเจ้ารู้ - - รยบรยง ฯ

แปล

(พระองค์ทรงรู้แจ้งใน) บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นอย่างดียิ่ง ทรงแสวงหาวิธีที่จะละบาป (และทรงรู้แจ้งใน) นิชรธรรม ๑๐ เหนือกว่าผู้อื่น (รวมทั้ง) ทรงรู้แจ้งในวิปัสสนาญาณ ๑๐ และกถาวัตถุ ๑๐ (นอกจากนั้น) พระองค์ทรงรู้แจ้งในรูป ๑๐ โดยลำดับ



๏ พระกฤษฎิ์สงวนโลกพ้ยง - - พระพรหม
พระรอบรักษพยงพิษณุ - - ผ่านเผ้า
พระผลาญพ่างพระสยม - - ภูวนารถ ไส้แฮ
พระโปรดพยงพระเจ้า - - โปรดปราณ ฯ

แปล

(สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ) ทรงสร้างและสงวนโลกไว้เหมือนอย่างพระพรหม พระองค์ทรงคุ้มครองรักษาและปกครองบ้านเมืองอย่างถี่ถ้วนเหมือนอย่างพระวิษณุ (ปกครองโลก) พระองค์ทรงมีอำนาจทำลายศัตรูเหมือนอย่างพระอิศวร (ทรงมีอำนาจทำลาย) พระองค์ทรงรักใคร่เมตตาผู้ใดก็เหมือนพระเจ้าทั้ง ๓ ทรงรักใคร่เมตตา



๏ พระเบญโญภาศพ้ยง - - ทินกร
พระสำนยงปานสวร - - สี่หน้า
พระโฉมเฉกศรีสมร - - ภิมภาคย ไส้แฮ
พระแจ่มพระเจ้าจ้า - - แจ่มอินทร ฯ

แปล

พระองค์ทรงมีพระปัญญาอันสว่างแจ้งเสมอด้วยแสงพระอาทิตย์ พระองค์ทรงมีพระสำเนียงไพเราะเสมอด้วยสำเนียงของพระพรหม (ซึ่งมีความไพเราะ ๘ ประการ) พระรูปโฉมดุจดังพระศิวะซึ่งมีความน่ากลัวเกรง พระองค์ทรงมีพระรัศมีแจ่มจ้าประดุจพระอินทร์



๏ พระทรงปรตยาคพ้ยง - - พระกรรณ
พระหฤๅทยทยมสินธุ์ - - ช่ยวซรึ้ง
พระทรงเสชณฉัน - - พระพิษณุ
พระภาคยไกรกลึ้งก้งง - - แผ่นผงร ฯ

แปล

พระองค์ทรงมีพระหทัยเผื่อแผ่ให้ปันเหมือนอย่างพระกรรณ พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยเทียบได้กับกระแสน้ำที่เชี่ยวและลึกซึ้ง พระองค์ทรงให้ความสำเร็จเหมือนอย่างพระวิษณุ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงเป็นยิ่งกว่ากลดซึ่งกางกั้นอยู่เหนือแผ่นดิน (ที่หงายอยู่) [หรือ (พระองค์เปรียบเหมือน) พระวิษณุผู้แกล้วกล้าบรรทมอยู่บนอาสนะซึ่งกั้นไว้ด้วยพังพานแห่งพญานาคราช]



๏ พระทรงธรรมมิศรแม้ - - พระธรรม
พระแกวนกลไกรสร - - แกว่นกล้า
พระญาณพ่างพันแสง - - แสงรอบ เรืองแฮ
พระกษมาเสมอหล้า - - สี่แดน ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงเป็นใหญ่ในธรรมะดุจดั่งพระธรรม (พระยม) พระองค์ทรงเก่งกล้าดุจดังพญาไกรสรราชสีห์ พระองค์ทรงมีพระปัญญาสว่างไสวดุจดังพระอาทิตย์ซึ่งมีแสงโดยรอบ พระองค์ทรงมีความอดทนอดกลั้นดุจดังแผ่นดินทั้ง ๔ ทวีป



๏ พระคุณพระครอบฟ้า - - ดินขาม
พระเกียรติพระไกรแผน - - ผ่านฟ้า
พระฤทธิพ่างพระราม - - รอนราพ ไส้แฮ
พระก่อพระเกื้อหล้า - - หลากสวรรค์ ฯ

แปล

พระคุณของพระองค์เป็นที่เกรงขามทั่วทั้งฟ้าและดิน พระเกียรติของพระองค์ยิ่งใหญ่ดุจดังพระพรหม พระเดชของพระองค์ดุจดังพระรามที่สังหารทศกัณฐ์ พระองค์ทรงสร้างและเกื้อกูลโลกให้งามดุจดังสวรรค์ทั้งหลาย [หรือพระองค์ทรงสร้างและเกื้อกูลโลกให้งามจนทำให้สวรรค์พิศวง]



๏ ศักดานุภาพแกล้ว - - การรงค รวจแฮ
สบสาตราคมสรรพ - - ถ่องล้วน
สรรเพชญแกว่นการทรง - - สรรพสาตร
สบสิพาคมล้วน - - เลิศถมา ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมีศักดานุภาพรุ่งเรืองแกล้วกล้าในการรณรงค์สงคราม ทรงรอบรู้ในการใช้อาวุธและคาถาอาคมทุกอย่างอย่างถ่องแท้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ทั้งปวง ทรงรอบรู้ไสพาคมทุกอย่างล้ำเลิศเหนือทุกคนในแผ่นดิน



๏ พระทรงทัณฑาสพ้ยง - - ยมยุทธ ยิ่งแฮ
ทรงคธาทยมภิม - - เลิศล้น
กลทรงสราวธ - - ราเมศ พ้ยงพ่อ
ขบาศโจมรพ้น - - ที่ทยม ฯ

แปล

พระองค์ทรงลงโทษทาส (ผู้ทำความผิด) ดุจดังพระยมทรงลงโทษ (สัตว์นรก) ฉะนั้น ทรงเชี่ยวชาญในการใช้ตะบองเป็นเลิศดุจดังพระภีมะ ทรงชำนาญในการใช้ศรดุจดังพระราม ทรงใช้ขอ บ่วงบาศ และหอกซัดอย่างหาผู้เสมอเหมือนมิได้



๏ การช้างพิฆเนาศรน้าว - - ปูนปาน ท่านนา
อัศวทำนยมกลางรงค - - เลิศแล้ว
การยทธช่ยวชาญกล - - กลแกว่น
ไกรกว่าอรชุนแก้ว - - ก่อนบรรพ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรอบรู้คชศาสตร์ดุจดังพระพิฆเนศโปรดประทานให้ [หรือเสมอด้วยพระพิฆเนศ] ทรงแกล้วกล้าในการต่อสู้บนหลังม้า ทรงมีความเชี่ยวชาญเก่งกล้าในกลยุทธ์ต่างๆ ทรงเก่งกล้าสามารถยิ่งกว่าพระอรชุนในปางก่อน



๏ กลริรณแม่นพัยง - - พระกฤษณ
กลต่อกลกันกล - - กยจกั้ง
กลกลตอบกลคิด - - กลใคร่ ถึงเลย
กลแต่งกลตั้งรี้ - - รอบรณ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงริเริ่มกลศึกดุจดังพระกฤษณะ ทรงใช้กลวิธีตอบโต้กลวิธี (ของข้าศึก) ทรงคิดหากลยุทธ์ตอบโต้กลยุทธ์ (ของข้าศึก) อย่างไม่มีผู้ใดคาดคิดถึง ทรงรอบรู้ในการตั้งค่ายกลในการศึกสงคราม



๏ เชองแก้เศอกใหญ่ให้ - - หายแรง รวจแฮ
เชองรอบรายพลซุก - - ซุ่มไว้
เชองเศอกสั่งแสวงเชอง - - ลาลาด ก็ดี
เชองชั่งเสียได้รู้ - - รอบการย ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมีชั้นเชิงในการพิชิตศึกใหญ่ให้คลายความรุนแรงลงอย่างรวดเร็ว (ทรงรอบรู้) ชั้นเชิงในการเรียงรายกำลังไปแอบซุ่มไว้ทั่วไป (ทรงรอบรู้) ชั้นเชิงการศึกทั้งในการแสวงหาวิธีที่จะรุกรบและล่าถอย (ทรงรอบรู้) ชั้นเชิงในการรุกรบทุกประเภท [หรือ ทรงมีชั้นเชิงในการพิจารณาเปรียบเทียบดูว่าเสียกับได้คุ้มกันเพียงใด]



๏ ลวงปล้นเมืองลาดอ้อม - - ไพรี รอบแฮ
ลวงนั่งลวงลุกชาญ - - ช่างใช้
ลวงลวงลาดหนีลวง - - ลวงไล่ ก็ดี
พระดำรัสให้ให้ - - คอบความ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการปล้นเมือง ล่าถอย เพื่ออ้อมไปโอบล้อมข้าศึก ทรงมี (ความชำนาญ) ใน (ยุทธวิธี) ด้านการนั่งซุ่มและลุกขึ้น (โจมตีข้าศึก) เป็นอย่างดี [หรือ ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการนั่งสู้และยืนสู้ (ข้าศึก) เป็นอย่างดี] (ทั้ง) ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการใช้กลอุบายล่าถอยและรุกไล่เป็นอย่างดี (พระองค์) มีรับสั่งให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ



๏ ลวงแล้งเฟดไฝ่อ้อม - - เอาไชย ช่ยวแฮ
ลวงทลวงพันตาม - - ค่อนได้
ลวงตกท่งไพรี - - รุกผ่า ผลาญแฮ
ลวงทลวงทับไท้ - - รอบรณ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการแสร้งเล็ดลอดออกไปไล่ล้อมเอาชัยชนะด้วยความเชี่ยวชาญ ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการใช้กองหน้าที่เป็นกองทะลวงฟันติดตามไปตีได้ ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการไปประชิดติดเมืองข้าศึกและรุกเข้าไปทำลาย [หรือ ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านการทำให้กองทัพข้าศึกมารวมอยู่ในที่โล่ง แล้วยกทัพโจมตีผ่ากลางทำลายล้างข้าศึกให้หมดสิ้น] ทรงมี (ความชำนาญ) ในด้านทะลวงทัพข้าศึก (พระองค์) ทรงมี (ความชำนาญ) รอบรู้การสงครามทุกรูปแบบ




๏ ลวงหาญหาญกว่าผู้ - - หาญเหลือ ว่านา
ริยิ่งริคนริ - - ยิ่งผู้
ลวงกลใส่กลเหนีอ - - กลแกว่น กลแฮ
รู้ยิ่งรู้กว่ารู้ - - เรื่องกล ฯ

แปล

ในด้านความกล้าหาญ (พระองค์) ทรงมีความกล้าหาญเสียยิ่งกว่าผู้ที่กล้าหาญมากมายนัก ในด้านการคิดอ่านเพื่อวางแผนการ ทรงมีความคิดอ่านเหนือกว่าผู้ที่คิดอ่านทั้งปวง ในด้านการทำกลอุบาย ทรงทำอุบายเหนือกว่าผู้ที่ทำอุบายเก่งทั้งปวง ทรงรอบรู้กลอุบายทรงรู้เสียยิ่งกว่าผู้รู้กลอุบายทั้งหลาย



๏ เชองโหรเหนแม่นแม้น - - มุนิวงศ
สบศาสตราคมยล - - ล่งล้วน
สบศิลปสำแดงทรง - - ทายาท ไส้แฮ
สบสิพาคมกถ้วน - - ถี่แถลง ฯ

แปล

ในด้านโหราศาสตร์ (พระองค์) ทรงพยากรณ์ได้แม่นยำเหมือนวงศ์มุนีทั้งหลาย การใช้อาวุธและคาถาอาคมทุกอย่างทรงเห็นทะลุปรุโปร่ง ศิลปศาสตร์ทั้งมวลทรงแสดงได้อย่างรอบรู้จริงๆ ไสพาคมทุกประการทรงอธิบายได้อย่างถ้วนถี่



๏ กลฉลยวฉลาดเรื้อง - - แรงพุทธ เพรอศพ่อ
กลโจทยกลแจงอรรถ - - ปล่งแปล้
โลกียโลกุดดร - - รุดรวจ เรวแฮ
กลกรรกลแก้แท้ - - ท่ยงชาญ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมีความเฉลียวฉลาดรู้แจ้งดุจดังพระพุทธเจ้า (ทรงบันดาล) ทรงมีความสามารถทั้งในด้านการตั้งปัญหาและตอบปัญหาได้อย่างชัดเจนทะลุปรุโปร่ง ทรงเข้าใจ (ธรรมะ) ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตระได้อย่างรวดเร็ว (ทรงปราดเปรื่องใน) กลยุทธในการป้องกันและการแก้ไขด้วยความชำนิชำนาญอย่างแท้จริง




๏ สํนยงสํนวดแม้น - - มฤธุรา เรื่อยแฮ
ทํนยบทํนองการ - - เลิศล้วน
ทํนองทำนุกภา - - รตรองตรยบ รยบแฮ
ดํนอกดํนานถ้วน - - ถ่องกล ฯ

แปล

สำเนียงสวดต่อเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ (ของพระองค์ก็ไพเราะเพราะพริ้ง) ดุจน้ำผึ้ง รูปแบบและทำนองบทร้อยกรองก็ล้วนล้ำเลิศ ทรงมีภาระในการคิดหาวิธีรักษาแบบแผนไว้ได้อย่างเรียบร้อย ถูกต้องตามตำนานทุกประการ




๏ รบินรบยบท้าว - - เบาราณ
รบอบรบับยล - - ยิ่งผู้
รบยนรบิการย - - เกลากาพย ก็ดี
รเบอดรปัดรู้ - - รอบสรรพ ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรอบรู้ระเบียบแบบแผนจารีตประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ทรงรอบรู้ธรรมเนียมการปกครองยิ่งกว่าผู้ใดทั้งสิ้น ทรงรอบรู้แบบแผนในการแต่งและแก้ไขขัดเกลากาพย์กลอนให้ถูกต้อง ทรงรอบรู้สรรพสิ่งอย่างแจ่มแจ้ง



๏ การบุญการบาปแท้ - - ทุกการ
การท่ยงธรรมาธรรม์ - - ถ่องถ้วน
ล่วงบาลบาลบร - - ทุกเทศ ก็ดี
ล่วงโทษล่วงคุณล้วน - - เลิศราม ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงรอบรู้ทั้งบุญและบาปทุกประการ ทรงรอบรู้ทั้งธรรมและอธรรมอย่างแม่นยำทุกประการ ทรงรอบรู้หลักการปกครองและการรบกับข้าศึกทุกแว่นแคว้นเป็นอย่างดี ทรงรอบรู้โทษและคุณทั้งปวงอย่างล้ำเลิศ



๏ พระเบญเญศรยิ่งพ้ยง - - สูรยจันทร แจ่มแฮ
อดีตานาคต - - ปล่งแปล้
ประจุปันทังสามสรร - - เพชญถึง แถลงแฮ
เลงล่งไตรภพแท้ - - ทั่วทรยน ฯ

แปล

(พระองค์) ทรงมีพระปัญญาแจ่มแจ้งดุจดังแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ ทรงรอบรู้กาลทั้ง 3 คือ อดีตกาล อนาคตกาล และปัจจุบันกาล ทั้งปวงอย่างทะลุปรุโปร่ง (เหมือนอย่างผู้รู้ทั้งปวง) จนสามารถแถลงได้ ทรงเล็งเห็นทั่วทุกหนทุกแห่งตลอดทั้งไตรภพอย่างถ่องแท้




๏ เงินขามป้อมตั้งกึ่ง - - กลางกร ไส้แฮ
อยู่ช่างพิดพยรเหน - - ล่งล้วน
ใครเกจกยจงอนงำ - - สารสื่อ
ใครชอบผิดเหนถ้วน - - ถ่องกล ฯ

แปล

(พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) ดุจดังเอามะขามป้อมวางไว้บนฝ่ามือ ทรงมองเห็น (ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่าง) อย่างแจ่มแจ้งทะลุปรุโปร่ง ใครไม่ซื่อ ใครปกปิดความลับไว้ พระองค์ก็ทรงรู้ทัน ใครมีความดีความชอบ ใครมีความผิด (พระองค์) ทรงทราบอย่างถ่องแท้ทุกประการ [หรือ ใครมีความผิด (พระองค์) ก็ทรงทราบเล่ห์กลอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง]




๏ ใครคดใครซื่อร้าย - - ดีใด ก็ดี
ใครใคร่ครองตนบยฬ - - ท่านม้วย
ซื่อนึกแต่ในใจ - - จงซ่อน ก็ดี
พระอาจล่วงรู้ด้วย - - ดุจหมาย ฯ

แปล

ใครคิดคดทรยศ ใครซื่อตรงจงรักภักดี ใครร้าย ใครดี (พระองค์ก็ทรงทราบสิ้น) ผู้ใดตั้งตนคิดประทุษร้ายพระองค์ ก็มีอันเป็นไปถึงแก่ความตายไปเอง ผู้ใดมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ แม้ตั้งใจจะเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ในใจ (คือไม่แสดงออกนอกหน้า) พระองค์ก็อาจทรงล่วงรู้ความคิดที่ (ผู้ปิดบังซ่อนเร้น) มุ่งหมายไว้ [หรือ พระองค์ก็อาจล่วงรู้ความคิดของเขาได้ดังพระราชประสงค์]




๏ ล้วนแรงรู้น้อยอ่อน - - อรรถา นี้ฤๅ
ก็ไปพอพรายอรรถ - - ออกพร้อง
เพราะใจจำนงพา - - หุลเหตุ แสดงฤๅ
รอยถ่วยเรื่องรู้ป้อง - - ปากหัว ฯ

แปล

(ผู้แต่ง) มีความรู้น้อย การใช้ถ้อยคำก็อ่อน ไม่พอที่จะสรรหาถ้อยคำมาสดุดี (พระเกียรติคุณของพระองค์) ให้หมดสิ้นได้ หากเพราะมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าจึงได้เขียนสดุดี (พระเกียรติคุณของพระองค์) ให้ปรากฎ แต่ก็เกรงว่าบรรดาผู้รู้เรื่องดีทั้งหลายจะแอบหัวเราะเยาะได้




๏ คุณไทธิเบศรรู้ - - รยงสบ เมื่อใด
ฦกล่งบาดาลกลัว - - กล่าวอ้าง
หนาหนักตรยบไตรภพ - - ดูโลกย ไส้แฮ
ล่วงยอดยาวกว้างพ้น - - ปรยบปาน ฯ

แปล

พระเกียติคุณของพระองค์ผู้ใหญ่ยิ่งไม่มีใครจะรอบรู้และพรรณนาให้หมดสิ้นเมื่อใดได้ (เพราะพระคุณของพระองค์นั้น) ลึกตลอดถึงบาดาล เกรงว่าจะไม่พรรณนาให้สุดสิ้นได้ (พระคุณของพระองค์) ทั้งหนาและหนัก (คือมีมากมาย) เปรียบด้วยพระเจ้าแห่งไตรภพทรงดูแลโลกฉะนั้น (พระคุณของพระองค์) ทั้งสูงยาวและกว้างพ้นประมาณสุดที่จะเอาอะไรมาเปรียบปานได้




๏ พระยศยลโยคพ้ยง - - สูรยจันทร
ตนพ่างพาเบญชาณ - - ใช่ช้า
หวังเอาตรวันเดือน - - ดลแผ่น เผยอฤๅ
เพราะพึ่งพระเจ้าหล้า - - กล่าวเกลา ฯ

แปล

(เท่าที่ทราบกันนั้น) พระองค์ทรงประกอบด้วยพระเกียรติยศเสมอด้วยพระอาทิตย์และพระจันทร์ ผู้แต่งเพียงนำเอาพระปัญญาความรู้ที่มีอยู่มิใช่น้อยมาใช้พรรณนา ไม่อาจเอื้อมที่จะดึงเอาพระอาทิตย์และพระจันทร์มาสู่แผ่นดิน เพราะจะได้พึ่งพระปัญญาบารมีของพระองค์ช่วยแนะนำและขัดเกลาให้




๏ ใช่แรงข้ารู้กล่าว - - กลบท บอกพ่อ
อัลปเบญโญเยาว - - ยิ่งผู้
จัดแสดงพระยศรื้อ - - ถึงถ่วย ไส้แฮ
นักปราชญใดเรื่องรู้ - - ช่ยวชาญ ฯ

แปล

ใช่ว่าข้าพเจ้า (ผู้แต่ง) จะมีความรู้เชี่ยวชาญในการร้อยกรองก็หาไม่ เพราะ (ข้าพเจ้า) เป็นผู้มีสติปัญญาน้อยและมีอายุน้อยยิ่งกว่าผู้อื่น จะพรรณนาพระเกียรติยศของพระองค์ให้ครบถ้วนได้อย่างไร ขอนักปราชญ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โปรดช่วยด้วย




๏ ใดผิดเชอญช่วยรื้อ - - รอนเสีย
ใดชอบกาลเชอญเกลา - - กล่าวเข้า
พยงพระระพีเพงีย - - สบสาธุ
จุ่งพระยศพระเจ้า - - ร่อยกัลป์ ฯ

แปล

๑. ถ้าคำประพันธ์บทใดมีข้อบกพร่องขอเชิญช่วยกันแก้ไขหรือตัดทิ้งไป ถ้าคำประพันธ์บทใดถูกต้องตามฉันทลักษณ์ (หากยังไม่ไพเราะ) ก็ช่วยขัดเกลาถ้อยคำสำนวนให้ดียิ่งขึ้น (เพื่อเทิดพระเกียรตคุณของพระองค์) ซึ่งเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณที่เมื่อใครพบเห็นก็ต้องชมว่างาม และขอให้พระเกียรติยศของพระองค์ยั่งยืนอยู่ชั่วร้อยกัปร้อยกัลป์

๒. ถ้าคำประพันธ์บทใดบกพร่องในข้อเท็จจริง ขอเชิญช่วยกันปรับปรุงแก้ไขหรือตัดทิ้งไป แต่ถ้าคำประพันธ์บทใดถูกต้อง (หากยังไม่ไพเราะ) ก็ช่วยขัดเกลาถ้อยคำสำนวนให้ดียิ่งขึ้น (เพื่อเทิดพระเกียรติคุณของพระองค์) ซึ่งเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณที่มีแต่ส่วนที่ดีพร้อมทุกประการแก่ผู้พบเห็น และขอให้พระเกียรติยศของพระองค์ยั่งยืนอยู่ชั่วร้อยกัปร้อยกัลป์



๏ สารสยามภาคยพร้อง - - กลกานท นี้ฤๅ
คือคู่มาลาสวรรค์ - - ช่อช้อย
เบญญาพิศาลแสดง - - เดอมกรยดิ พระฤๅ
คือคู่ไหมแส้งร้อย - - กึ่งกลาง ฯ

แปล

หนังสือภาษาสยามที่พรรณนาเป็นร้อยกรองแล้วนี้มีความงามตามแบบฉันทลักษณ์ เปรียบเสมือนพวงดอกไม้สวรรค์ที่งามช้อย พระปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์ย่อมแสดงพระเกียรติคุณของพระองค์ที่ทรงมีอยู่แล้ว เปรียบเสมือนเส้นไหมที่ประจงร้อยดอกไม้สวรรค์ให้เป็นพวงฉะนั้น




๏ เป็นสร้อยโสภิศพ้น - - อุปรมา
โสรมโสดศิรธรางค - - เวี่ยไว้
จงคงคู่กัลปา - - ยืนโยค
หายแผ่นดินฟ้าไหม้ - - อย่าหาย ฯ

แปล

๑. สายสร้อยแห่งคำร้อยกรอง [หรือ สายสร้อยแห่งดอกไม้ที่ร้อยกรอง] ที่งดงามสุดจะเปรียบปานอันบรรดานักปราชญ์ในราชสำนัก [หรือ บรรดาเทวดาและนักปราชญ์] เมื่อได้ฟังและได้ช่วยกันแก้ไขแล้วนี้ จงยั่งยืนอยู่คู่กัปกัลป์ แม้แผ่นดินจะสูญหาย แผ่นฟ้าจะไหม้ ก็ขอให้คำร้อยกรอง [หรือ ดอกไม้ที่ร้อยกรอง] นี้อย่าได้สูญหายไปด้วยเลย

๒. สายสร้อยแห่งคำร้อยกรอง [หรือ สายสร้อยแห่งดอกไม้ที่ร้อยกรอง] ที่งดงามสุดจะเปรียบปาน จนเป็นประดุจอาภรณ์ประดับหูของบรรดานักปราชญ์ในราชสำนัก [หรือ บรรดาเทวดาและนักปราชญ์] เมื่อได้ฟังและได้ช่วยกันแก้ไขแล้วนี้ จงยั่งยืนอยู่คู่กัปกัลป์ แม้แผ่นดินจะสูญหาย แผ่นฟ้าจะไหม้ ก็ขอให้คำร้อยกรอง [หรือ ดอกไม้ที่ร้อยกรอง] นี้อย่าได้สูญหายไปด้วยเลย




๏ ขอข้าแรมโรคร้อน - - อย่ามี หนึ่งเลย
ขอข้ารสายพิฆน - - นาศม้วย
ขอสํสิ่งศรืสํ - - ศุขสาธุ เสวยแฮ
แรงรํ่ายศไท้ด้วย - - หื่งรหรรษ ฯ

แปล

ขอให้ข้าพเจ้าปราศจาคโรค ความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจงอย่าได้มีเลย ขอให้ข้าพเจ้าได้ขจัดความขัดข้อง ความเสื่อมให้หมดไป ขอให้ข้าพเจ้าประสบสิริมงคล ความสุขและความดีงาม [หรือ ขอให้ข้าพเจ้าประสบแต่ความสุขสิริสวัสดิ์สมดังความปรารถนา] ด้วยพลัง (แห่งการที่ข้าพเจ้าได้) พรรณนาพระเกียรติยศของพระองค์ด้วยความปีติยินดี




๏ แต่นี้จักตั้งอาทิ - - กลกานท แลนา
เป็นสูตรสถานีอัน - - รยบร้อย
แถลงปางปิ่นภูบาล - - บิดุราช
ยังยโสธรคล้อย - - คลี่พล ฯ

แปล

แต่นี้จะเริ่มต้นคำประพันธ์ (เรื่องหนึ่ง) ซึ่งมีหัวข้อที่กำหนดไว้เป็นระเบียบ เล่าเรื่องตอนที่พระราชชนก (คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยา) ทรงเคลื่อนกำลังไปสู่เมืองยโสธร (คือเมืองหลวงของเขมรในเวลานั้น ซึ่งในสมัยโบราณการเรียกชื่อเมืองหลวงหมายถึงชื่อประเทศด้วย ดังนั้นจึงหมายถึงไปสู่เมืองยโสธร หรือไปสู่ประเทศเขมร)




๏ แถลงปางพระมาตรไท้ - - สํภพ ท่านนา
แดนดำบลพระอุทย - - ท่งกว้าง
แถลงปางเกลื่อนพลรบ - - เรืองเดช
เอามิ่งเมืองได้ง้าง - - แง่บร ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อพระราชชนนีของพระองค์ได้ประสูติสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (ในปี พศ.๑๙๗๔) ที่ตำบลพระอุทัยซึ่งเป็นทุ่งกว้าง กล่าวถึงพระราชชนกของพระองค์ (คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยา) ทรงเคลื่อนพลรบที่แกล้วกล้าและได้ทรงแก้กลยุทธ์ของข้าศึกจนตีได้เมืองหลวง (คือ เมืองยโสธร)




๏ ปางเทนคเรศเรื้อ - - ยังกรุง
พระนครอโยทธยา - - ยิ่งฟ้า
แถลงปางท่านผดุงเอา - - รสราช
เวนพิภพไว้หล้า - - เศกศรื ฯ

แปล

กล่าวถึงพระราชชนก (คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยา) ทรงกวาดต้อนพลเมือง (เขมร) มายังนครอโยธยา (อันงดงาม) ราวกับเมืองฟ้า กล่าวถึงเมื่อพระราชชนก ทรงค้ำจุนพระราชโอรส (คือ พระอินทราชา) โดยทรงมอบแผ่นดิน (เมืองเขมรที่ตีได้) ให้ครอบครอง




๏ แถลงปางนฤนารถไท้ - - สวรรคต
ยังมิ่งเมืองบนปิ - - เยศเย้า
แถลงปางปิ่นเอารส - - ศัลยโศก
ยอพระศพพระเจ้า - - เจษฎา ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อพระมหากษัตริย์ (คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เจ้าสามพระยา) สวรรคต ไปสู่สวรรค์อันดีซึ่งเป็นที่น่าอยู่อาศัย กล่าวถึงเมื่อพระราชโอรสผู้เป็นใหญ่ (คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ) ทรงเศร้าโศกเหมือนกับถูกศรแทง (และ) ทรงอัญเชิญพระศพของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ที่สุด




๏ แถลงปางพระล้ยงโลก - - ครองธรรม์
เกษมอโยทธยายง - - ยิ่งฟ้า
แถลงปางพระศรีสรร - - เพชญโพธิ
แสดงสดูปพระเจ้าหล้า - - ข่าวขจร ฯ

แปล

กล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม เมืองอโยธยาจึงสุขสำราญยิ่งกว่าเมืองสวรรค์ กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระสถูปถวายพระราชชนก การสร้างพระสถูปนี้เลื่องลือไปไกล




๏ แถลงปางปราโมทยเชื้อ - - เชอญสงฆ
สํสโมสรสบ - - เทศไท้
แถลงปางเมื่อลาวลง - - ชยนาท นั้นฤๅ
พระยุทธิษฐิรได้ - - ย่างยาว ฯ

แปล

กล่าวถึงเรื่องที่น่าปลาบปลื้มยินดี (ที่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ) ทรงนิมนต์พระสงฆ์ทั่วแว่นแคว้นมาร่วมประชุม กล่าวถึงเมื่อครั้งล้านนา (ที่พระเจ้าติโลกราชทรงครอบครอง) ยกทัพลงมาเมืองชัยนาท (ซึ่งขณะนั้นหมายถึงเมืองสองแควหรือพิษณุโลก เพราะ) พระยุทธิษฐิร (ยุทธิษเฐียร) ได้เอาใจออกห่าง (ไปขึ้นกับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา)




๏ แถลงปางจอมราชรู้ - - เสด็จดล นั้นนา
จงจเอากรุงลาว - - จุ่งแล้ว
แถลงปางปิ่นลาวจญ - - จักป่วย แลนา
บ้างรอดเพราะรู้แล้ว - - สรูดหนี ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงทราบเรื่องก็เสด็จยกทัพไปถึงที่นั้น (คือ เมืองชัยนาท) ตั้งใจจะจับกษัตริย์แห่งล้านนาให้ได้ กล่าวถึงเมื่อกษัตริย์แห่งล้านนา (คือ พระเจ้าติโลกราช) สู้รบจนประชวร [หรือ อับจนในการสู้รบจนประชวร] บางคนที่รอดตายก็เพราะรู้ข่าว (กองทัพไทย) จึงหลบหนีไปโดยเร็ว




๏ แถลงปางข้าไท้ทวย - - ใจหาญ
ตามค่อยไพรีเรือง - - ร่อนแกล้ว
แถลงปางรำบาลลาว - - มัวโม่ห
ทันที่นํ้าสิบแล้ว - - ชื่นไชย ฯ

แปล

กล่าวถึงเหล่าทหารหาญของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตามไล่ตีข้าศึกอย่างรวดเร็วและแกล้วกล้า กล่าวถึงการรบกับลาว (เมืองล้านนา ซึ่งพระเจ้าติโลกราชทรงครอบครอง) ผู้มืดมัวด้วยความเขลา (กองทัพไทยตามไป) ทันที่แม่น้ำลิบ (คือ แม่น้ำลี้ซึ่งอยู่ระหว่างแดนต่อแดนของเมืองเถินกับเมืองลำพูน) และได้ชัยชนะอย่างน่าชื่นชม




๏ ปางเอาแสนโท่รหเค้น - - คางลาย
แปรออกไปเปนบร - - ม่ายหล้า
แถลงปางปิ่นลาวหมาย - - ไหมโทษ เท็จนา
สํคู่คบข้าไท้ - - เข่งแขง ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ได้ทรงเอาพระยาเชลียงซึ่ง (ทรงสงสัยว่ารู้เห็นเป็นใจกับพระยายุทธิษฐิรซึ่งครอบครองเมืองพิษณุโลก) เป็นกบฏมาลงโทษจนเจียนตาย ทำให้พระยาเชลียงแปรพักตร์เอาใจออกห่างไปเข้ากับข้าศึก (คือ พระเจ้าติโลกราช) ส่วนพระเจ้าติโลกราชก็จะทรงปรับไหมในการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลงโทษพระยาเชลียงที่กระทำผิด (แต่ที่จริงในครั้งพระยายุทธิษฐิรเป็นกบฏนั้น พระยาเชลียงสู้รบเต็มที่จนพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองเชียงชื่นไม่ได้) พระเจ้าติโลกราชจึงทรงสมคบกับพระยาเชลียงแข็งเมืองเชียงชื่น (แท้จริงในการรบครั้งหลังพระยาเชลียงแพ้ จึงจำใจต้องพาพระเจ้าติโลกราชไปล้อมเมืองพิษณุโลก)




๏ แถลงปางไท้ปราโมทย - - มาเหนือ นั้นนา
พระไป่แยงยลเขา - - เข่นกล้า
แถลงปางเมื่อพลเรือ - - เรวราช
ถึงจึงจักรู้ข้า - - ข่าวแขง ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ได้เสด็จมาเมืองพิษณุโลก (เพื่อมาเยี่ยมพระราชชนนี) ด้วยความยินดี (โดยที่) พระองค์ไม่ทรงทราบว่าพระเจ้าติโลกราชจะกล้ามาสู้รบกับพระองค์ [หรือ (โดยที่) พระองค์ไม่ทรงเกรงกลัวว่าจะถูกฝ่ายข้าศึกปลงพระชนม์] กล่าวถึงเมื่อพลเรือเร็วของพระองค์ (ได้มากราบทูลเรื่องราว) จึงทรงทราบข่าวว่าข้าของพระองค์ (คือ พระยาเชลียง) เป็นกบฏ




๏ แถลงปางชยนาทเข้า - - กรรบร บาปฤๅ
ไกรมโหสถแสดง - - ปราชญแปล้
แถลงปางท่านริรอน - - ไพริศ
ทนท่านบ่ได้แพ้ - - พ่ายเอง ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เข้าประทับที่เมืองพิษณุโลก เพื่อป้องกันข้าศึกที่มีใจบาปหยาบช้า (พระองค์ทรงมี) พระสติปัญญาดุจพระมโหสถผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งได้ทรงแสดงความเป็นปราชญ์ให้ปรากฏ กล่าวถึงเมื่อทรงเริ่มรบกับข้าศึก จนข้าศึกไม่สามารถต่อต้านพระองค์ได้ จึงพ่ายแพ้ไปเอง




๏ แถลงปางธรรมิศรเจ้า - - จอมปราณ
เสด็จล่วงบเกรงกรุง - - ทั่วด้าว
แถลงปางเมื่อพระทาน - - อุปโภค น้นนนา
แลสิ่งแลร้อยท้าว - - แผ่ผล ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรม (คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ผู้เป็นเจ้าชีวิตเสด็จไป (ทั่วทุกถิ่น) โดยไม่หวั่นกลัวกษัตริย์ใดๆในโลก กล่าวถึงเมื่อพระองค์พระราชทานเครื่องอุปโภคอย่างละร้อยเป็นทานเพื่อแผ่กุศลผลบุญ




๏ แถลงปางจอมโลกยเจ้า - - จอมเลือง เสิศนา
เสด็จคอบคืนพลไกร - - แต่งไว้
แถลงปางแต่งหัวเมือง - - ขุนหมื่น ไปนา
เอาสุโขท้ยได้ - - ง่ายงาม ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์ผู้รุ่งเรืองและเป็นจอมโลกเสด็จกลับเมือง (กรุงศรีอยุธยา) โดยทรงแต่งไพร่พลไว้ป้องกัน (เมืองพิษณุโลก) กล่าวถึงเมื่อพระองค์โปรดให้แม่ทัพนายกองฝ่ายหัวเมืองยกไพร่พลไปตีสุโขทัยได้โดยง่ายดาย




๏ แถลงปางชยงชื่นเศร้า - - ใจพล พรั่นนา
เพราะเพื่อฤๅแรงขาม - - ปิ่นเกล้า
แถลงปางล่อลวงกล - - ไพริศ เนืองนา
ถึงถั่งเข้าตีเข้า - - จึ่งเข้าเขาแพง ฯ

แปล

กล่าวถึงเมืองเชียงชื่น (คือเมืองเชลียง หรือสวรรคโลกในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นมีหมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมือง) มีความทุกข์ใจที่ไพร่พลพากันหวาดกลัว เพราะข่าวเลื่องลือว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นทรงมีกำลังทัพที่ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงใช้อุบายล่อลวงข้าศึก [หรือ กล่าวถึงตอนที่ (หมื่นด้งนคร) นึกถึงตอนที่ตนเคยใช้กลอุบายเข้าปล้นเมือง] โดยพรั่งพรูกันเข้าปล้น ข้าว ยุ้ง ฉาง (ซึ่งเป็นเสบียงของข้าศึก) ทำให้ข้าวของข้าศึกมีราคาแพง




๏ ปางพระชนนิศรสิน - - เสียสกนธ
ยังพิมานสวรรคแซรง - - ช่อแก้ว
แถลงปางไปล่เมืองบน - - ทิศมาศ
ถวายแก่สรรเพชญแล้ว - - เสิศคุณ ฯ

แปล

เมื่อครั้งที่พระราชชนนี (ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) สิ้นพระชนม์ไปสู่วิมานสวรรค์อันประดับด้วยแก้ว กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงสละเมืองทางทิศหัวนอนคือทิศใต้ถวายแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งถือได้ว่าดีกว่าการทำคุณงามความดีอื่นๆ [หรือ กล่าวถึงเมืองสวรรค์อันเป็นเมืองทิพย์ (และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศ) ถวายแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งถือได้ว่าดีกว่าการที่ทรงทำคุณความดีอื่นๆ หรือ กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถวายส่วนที่อยู่ทางเหนือของเมืองหลวงแด่พระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่าคุณความดีอื่นๆ]




๏ แถลงปางจอมนารถน้อม - - ใจหวัง
สวะบาปแสวงบุญบท - - ที่แล้ว
ปางบุตรท่านท้าวลัง - - กาทวีป
เชิญช่วยสงฆผู้แผ้ว - - เกลศไกล ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะละบาปและแสวงบุญเพื่อบรรลุนิพพานในที่สุด กล่าวถึงพระราชโอรสของพระองค์เสด็จไปลังกาทวีปเพื่ออาราธนาพระสงฆ์ลังกาผู้ห่างไกลกิเลสมาช่วยพระสงฆ์ไทย [หรือ เพื่ออาราธนาพระสงฆ์ลังกามาช่วยพระสงฆ์ไทยผู้ทำหน้าที่แผ้วกิเลส]




๏ แถลงปางแสดงดิพรเกื้อ - - บุญบง บาปนา
เออาศนไอสูรยเสีย - - จรกล้าย
แถลงปางเมื่อพระทรง - - พระผนวช นั้นนา
งามเงื่อนสรรเพชญผ้าย - - แผ่นเกษม ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบำเพ็ญบุญกุศลอย่างเต็มที่ด้วยทรงเห็นโทษของบาป ทรงปล่อยราชบัลลังก์และราชสมบัติทิ้งไว้เดียวดายด้วยพระราชหฤทัยเป็นอุเบกขา กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จออกทรงผนวช ทรงงามดุจพระพุทธเจ้าผู้เสด็จมาทำให้แผ่นดินมีแต่ความสุขเกษม




๏ แถลงปางไท้เรื้องรวจ - - แรงกรรม
แผ่นมนุษยเปรมปราย - - ดอกไม้
แถลงปางถ่วยบรทรรป์ - - ทำอ่า องคนา
เพราะเพื่อพระเจ้าได้ - - ผนวชฟ้าดินยอ ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้ทรงรุ่งโรจน์ด้วยแรง (กุศล) กรรม [หรือ แรงแห่งกรรม] มนุษย์ทั่วทั้งแผ่นดินมีความปลาบปลื้มจึงโปรยปรายดอกไม้ถวาย กล่าวถึงเมื่อบรรดาข้าศึกศัตรูผู้โฉดเขลาพากันหยิ่งผยองอวดดีที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระผนวชซึ่งเทวดาและมนุษย์ก็พากันยกย่องสรรเสริญ





๏ แถลงปางพลพ่าหไท้ - - เอารส ท่านนา
นบนอบพระขอเชอญ - - ช่วยป้อง
แถลงปางท่านลาพรต - - ครองราษฎร
ทุกเทศทุกท้าวสร้อง - - ส่วยถวาย ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อบรรดาแม่ทัพนายกองของพระองค์และพระราชโอรส ได้กราบทูลอัญเชิญให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรง (ลาพระผนวชมา) ช่วยป้องกันบ้านเมือง กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลาผนวชมาปกครองประชาชน บรรดากษัตริย์ทุกประเทศต่างก็แซ่ซ้องสาธุการ และนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย




๏ ปางสร้างอาวาศแล้ว - - ฤๅแสดง
คือพุทไธสวรรยหมาย - - ชื่อชี้
ปางถกลกำแพงพระ - - พิศณุโลกย แล้วแฮ
อยู่ช่างพระเจ้าฟี้ - - เฟื่องบร ฯ

แปล

กล่าวถึงเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงสร้างวัดชื่อพุทไธสวรรย์ และทรงสร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นการสะดวกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงสังหารข้าศึกศัตรูและข่าวนี้ได้แพร่กระจายไปถึงข้าศึก [หรือ และข่าวนี้ข่มข้าศึก (ให้กลัวเกรง) หรือ ซึ่งเป็นการสะดวกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงสังหารข้าศึกศัตรูที่เรืองนาม (คือ พระเจ้าติโลกราช)]




๏ พระยศยลโยคพ้น - - พิษฎาร ชื่นแฮ
ใครค่าอรอรรถา - - ถ่องล้วน
สรวมแสดงบันทึกสาร - - สงเษป ไส้พ่อ
โดยแต่แรงรมยม้วน - - กล่าวเกลา ฯ

แปล

(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงประกอบด้วยพระเกียรติยศที่น่าชื่นชมยินดีมากมายเหลือล้น ใครเล่าจะสามารถพรรณนาให้ไพเราะงดงามและถี่ถ้วนได้ [หรือ ใครเล่าจะสามารถพรรณนาสิ่งที่กล่าวมาก่อนนั้นให้ถี่ถ้วนได้] (ข้าพเจ้า) จึงขอบันทึกพระเกียรติยศนั้นแต่เพียงสังเขป ด้วยแรงแห่งความชื่นชมยินดี (ที่ได้มีโอกาส) ร้อยกรอง (ในครั้งนี้)




๏ ยาคนชี้เทพยผู้ - - ไกรกรรดิ ก็ดี
พันมวลธเมธาเชาว - - ช่ยวได้
แลศริศแลศริศพัน - - ชิวห ก็ดี
ฤๅรํ่ายศไท้ล้วน - - ถี่แถลง ฯ

แปล

อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่เทพยดาผู้มีความสามารถในการกล่าวสรรเสริญยกย่อง หรือบรรดานักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญตั้งพันคน และก็จะสามารถพรรณนาพระเกียรติยศของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ถี่ถ้วนหมดสิ้นได้ล่ะหรือ




๏ แต่นี้จักตั้งต่อ - - กลกานท แลพ่อ
โดยเมื่อพระแสดงฤทธิ - - ร่อนแกล้ว
เสด็จมาผ่าผลาญลาว - - ลักโลภ
ที่ยุทธิษฐิรแล้ว - - สู่บร ฯ

แปล

แต่นี้ไปจะได้แต่งบทประพันธ์ร้อยกรองต่อไป โดยกล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงแสดงพระบรมเดชานุภาพในการรบอย่างกล้าหาญ พระองค์เสด็จมาปราบชาวล้านนาซึ่งแอบมาด้วยความโลภ เพราะเหตุที่พระยายุทธิษฐิร (ยุธิษเฐียร เจ้าเมืองเชลียง) ได้ไปอยู่กับข้าศึก




๏ ใจร้ายไป่โอบอ้อม - - พลไพ ริศแฮ
มาอยู่ในเมืองอร - - อวจกล้า
ครั้นขุกข่าวขจรไตร - - ภพนารถ
เสด็จดำกลช้างม้า - - ทยบถงรร ฯ

แปล

[กล่าวถึงพระยายุทธิษฐิร (ยุธิษเฐียร)] ผู้มีใจชั่วร้ายไปเผื่อแผ่กับพวกศัตรูให้เข้ามาอยู่ในเมือง (เชลียง) ได้ก่อนแล้วบังอาจอวดกล้า ครั้นเมื่อ (ฝ่ายลาว คือ ล้านนา) รู้ข่าวว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดให้แต่งกองทัพช้างม้ายกมาอย่างรวดเร็ว




๏ กรุงลาวกลอยขยาดหน้า - - ตาตาย ศรากแฮ
จักอยู่เมืองเกรงกรร - - บ่ได้
กลัวกลับเกลื่อนพลอยาย - - อยังออก
หนีสํเดจเหง้าไท้ - - พ่ายพัง ฯ

แปล

(กล่าวถึง) พระเจ้าติโลกราชมีพระพักตร์เศร้าหมองด้วยความกลัว เกรงว่าถ้าประทับอยู่ในเมืองจะไม่สามารถกัน (ข้าศึก) ได้ ทรงหวาดกลัวจึงเคลื่อนย้ายกองทัพ (ของพระองค์) ออก หนีสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปอย่างพ่ายแพ้พินาศ




๏ คือคชกลับกลอกจั้ง - - จญสีห
คือนาคจญครุทธสรัง - - วิ่งเว้น
คือไวปจิดตี - - สุรราช
หนีสุราธิปเรัน - - รวจหลัง ฯ

แปล

(การพ่ายแพ้ครั้งนี้) เปรียบเสมือนดังช้างที่ต้องหันกลับเมื่อผจญกับราชสีห์ เปรียบเสมือนดังนาคเผชิญครุฑแล้วก็ต้องเซซังหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว (และ) เปรียบเสมือนดังท้าวไวปจิตติ (ท้าวเวปจิตติ ท้าวไพจิตราสูร) ผู้เป็นใหญ่ ต้องหนีพระอินทร์ไปอย่างรวดเร็วจนไม่เห็นหลัง




๏ สรรเพชญภูวนารถแกล้ว - - การยุทธ ยิ่งแฮ
ตามต่อยไพรีพัง - - พ่ายล้าน
จยรจอมครุทธผลาญ - - แผลงเดช
สยงสรเทือนพ้ยงค้าน - - ค่นเมรุ ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเก่งกล้าสามารถในการสงครามอย่างยิ่ง ได้ตามตีข้าศึกนับล้านให้แตกฉานซ่านเซ็นไป เปรียบเสมือนพระนารายณ์ทรงแผลงศรทำให้เกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นดังจะโค่นเขาพระสุเมรุให้ล้มลง




๏ อยู่ไทธิเบศรเจ้า - - จอมปราณ
พราวพฤๅบพลคชเสน - - เกลื่อนแกล้ว
ครั้นพระผ่าผลาญพล - - ยวนย่อย ไปแฮ
ทันที่นํ้าลิบแล้ว - - เลิศไชย ฯ

แปล

ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นเจ้าชีวิต ทรงมีกองทัพไพร่พลและกองทัพช้างที่ล้วนแกล้วกล้ามากมายและพร้อมเพรียง ทรงเคลื่อนทัพเข้าโจมตีกองทัพชาวยวน (ชาวโยนก หรือ ชาวล้านนา) แตกพ่ายย่อยยับไป โดยตามไปทันที่แม่น้ำลิบ และทรงมีชัยชนะเหนือศัตรู




๏ จึ่งชักช้างม้าค่อย - - ลีลา
ยังนครไคลคืน - - เทศไท้
พยงบานทพาธิก - - ทรงเดช
ที่คนเคารพไข้ - - ข่าวขยรร ฯ

แปล

(เมื่อทรงชนะข้าศึกแล้วสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ก็ทรงนำกองทัพช้างม้าเดินทัพกลับมายังพระนครประเทศของพระองค์ เปรียบเสมือนกษัตริย์ปาณฑพผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีอำนาจที่พวกเการพได้ข่าวก็เกรงกลัวตัวสั่นจนเป็นไข้




๏ ทีนั้นธิเบศรเรื้อง - - รณรงค์ เลิศแฮ
อยูรังวัลพลแสน - - ส่ำแกล้ว
พระญาณสํเด็จทรง - - ทายาท
ใครซื่อคตเลงแล้ว - - ท่ววทวยร ฯ

แปล

ครานั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้รุ่งเรืองเป็นเลิศในการรณรงค์สงคราม ได้พระราชทานรางวัลแก่บรรดาทแกล้วทหารทั้งปวง พระองค์ทรงหยั่งรู้อย่างถ่องแท้ว่าใครซื่อใครคดทั่วทุกประการ




๏ จึ่งตั้งข้าเรื้องราช - - วังเมือง แลนา
แทนยุทธิษฐิรคืน - - ครอบหล้า
ครั้นเสด็จจึ่งจอมเลือง - - โลเกษ
กล่นเกลื่อนพลช้างม้า - - คล่าวไคล ฯ

แปล

(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) จึงทรงแต่งตั้งให้ขุนนางผู้หนึ่งชื่อราชวังเมืองเป็นเจ้าเมืองแทนพระยายุทธิฐิร (ยุทธิษเฐียร) ครั้นเสร็จแล้วพระองค์ผู้รุ่งเรืองและเป็นใหญ่ในโลกทรงเคลื่อนกองทัพช้างม้าหลั่งไหลกลับไป




๏ ยังพระนคเรศเรื้อง - - อโยทธยา
อรอาศนไอสวรรยเป็น - - ปิ่นเกล้า
จำนิรจำนยรมา - - จอมราช
คดใคร่เสวยศุขเท้า - - เทศเหนือ ฯ

แปล

(สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ได้เสด็จกลับยังเมืองพระนครศรีอยุธยาที่รุ่งเรือง ทรงครองไอยศูรย์สวรรยราชสมบัติปกครองประชาชนเป็นอันดี จำเนียรกาลต่อมาพระองค์ทรงปรารถนาจะเสด็จไปเสวยสุขยังเมืองเหนือ (คือ เมืองสุโขทัย)




๏ ปัดพระภูวนารถเจ้า - - จอมปราณ
ตยบแต่พลเรือเรว - - คล่าวคล้อย
หวงเสวยสำราญรม- - - ยายิ่ง
พระไปตรัสถ้อยข้า - - เงื่อนงำ ฯ

แปล

ครั้นแล้วสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นเจ้าชีวิตก็ได้ทรงตระเตรียมเฉพาะแต่พลเรือเร็วเพื่อเสด็จขึ้นไป (เมืองเหนือ) ด้วยทรงมุ่งหวังจะเสวยสุขารมณ์โดยที่ยังมิได้ตรัสบอกให้ข้าราชบริพารรู้เงื่อนงำเลย




๏ ต่อเสด็จดลไท้จึ่ง - - ตรองตรัส
ใจเท็จทุรชนทำ - - โทษแล้ว
สรรเพชญยอดสูรกรษัตร - - แสนเดช
บอาจแคลนแคล้วแท้ - - เท่าไยย ฯ

แปล

ต่อเมื่อ (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เสด็จไปถึง (เมืองเหนือ) ทรงไตร่ตรองอย่างแจ่มแจ้งแล้วจึงตรัสว่า คนชั่วผู้มีใจทรามถูกทำโทษแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเป็นจอมกษัตริย์ผู้กล้าหาญและทรงมีพระบรมเดชานุภาพยิ่งใหญ่ (ใคร) ดูหมิ่นแม้แต่น้อยก็ไม่อาจรอดพ้นไปได้อย่างแน่นอน




๏ ครานั้นนเรศรร้าย - - ฤษยา พ่อแฮ
ทำโทษกลใดกล - - ท่านแก้
กลกฤษณย่อยโยธา - - ทูรโยท
ทนท่านบได้แพ้ - - พ่ายเอง ฯ

แปล

ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชผู้ร้ายกาจคิดริษยาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่ว่าจะคิดอุบายชั่วร้ายประการใด สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงแก้ไขได้หมด (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เป็นดุจดั่งพระกฤษณะทรงทำลายกองทัพของทุรโยธน์ให้ย่อยยับไปฉะนั้น (พระเจ้าติโลกราช) มิอาจต้านทานสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้จึงต้องพ่ายแพ้ไปเอง




๏ พลลาวลุโทษร้อน - - รัวรัว
โจนบหลยวโกรยเกรง - - ท่านช้า
กรุงลาวก็สักกลัว - - เอาเงื่อน งามแฮ
บ้างรอดยังครันหน้า - - ไข่ขาว ฯ

แปล

ไพร่พลชาวล้านนา (คือทหารของพระเจ้าติโลกราช) ถูกทำโทษได้รับความเดือดร้อนจนตัวสั่น ก็เผ่นหนีไม่เหลียวหลังด้วยเกรงว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงเข่นฆ่า (ฝ่าย) พระเจ้าติโลกราชก็ทรงหวาดกลัวอยู่ในพระหฤทัย แต่ทรงวางท่าทางให้สง่างามเหมือนดั่งไม่มีความหวาดกลัว (ส่วน) บางคนที่รอดชีวิตไปได้ก็มีหน้าซีดขาว (เหมือนไข่ต้ม)




๏ สรรเพชญกรูเกลื่อนพ้อง - - พลพฤนทร
โจมจ่ายลาวฦๅฤทธิ - - ร่อนแกล้ว
พยงพระสุรินทรา - - ธิกราช
ตามต่อยไพริศแล้ว - - เลิศบรรพ์ ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ทรงสั่งให้) กองทัพเคลื่อนเข้าโจมตีกองทัพล้านนาพร้อมกันด้วยความแกล้วกล้า (กองทัพล้านนา) ต้องแตกฉานซ่านเซ็นไป ทำให้ฤทธานุภาพของพระองค์เลื่องลือไปทั่ว ดุจดังพระอินทร์ติดตามตีอสูรให้พ่ายแพ้ไปในบางบรรพ์ฉะนั้น




๏ พระเจ้าจอมนารถล้ยง - - โลกา เลิศแฮ
ดาลเร่งเรืองฤทธิทัน - - ทั่วฟ้า
ไพรีรอาอาย อาพาธ - - แลนา
อยู่ช่างพระเจ้าข้า - - ข่มบร ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นจอมกษัตริย์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองอย่างดีเลิศเป็นผลให้พระราชอำนาจของพระองค์แผ่กว้างไปทั่วฟ้าดิน (ทำให้) ข้าศึกหมดกำลังใจและอับอายจนป่วยไข้ จึงเป็นการสะดวกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงเข่นฆ่าและทรงข่มข้าศึก (ให้กลัวเกรง)




๏ จำนยรท้าวใช้ทาษ - - ชาญชย
คุมส่ำแสนยากร - - คลี่คล้อย
เอาศรีสุโขทย - - ดยวดีด มือแฮ
ฦๅล่งลาวลักศร้อย - - สนั่นหัว ฯ

แปล

กาลต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงใช้ให้ข้าราชการทหารผู้ชำนาญในการรบคุมกองทัพเคลื่อนพลไป ตีเอาเมืองสุโขทัยได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายประดุจดีดนิ้วมือครั้งเดียว ข่าวนี้เลื่องลือตลอดไปทั่ว พวกล้านนาแอบทุกข์ใจเศร้าสร้อยและสั่นหัว (ไม่กล้าสู้)




๏ กรุงลาวภูลภิตเศร้า - - โศกา
เกอดกล่าวลักกลัวเกรง - - ท่านไท้
เป็นกรุงดั่งตนอยา - - รบท่าน เอาเลอย
ชื่อแต่ลักได้ป้อง - - ไป่คง ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชยิ่งทรงเกิดความหวาดกลัวและเศร้าโศกกล่าวกันว่า (พระองค์) ทรงแอบกลัวเกรง (พระบรมเดชานุภาพของ) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นใหญ่ (พระองค์ทรงรำพึงว่า) กษัตริย์อย่างพระองค์ไม่ควรคิดไปสู้รบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเลย แม้จะแอบไป (ยึดเมือง) ได้แต่ก็ไม่สามารถป้องกันรักษาไว้ได้




๏ ยศพระผายผ่านพ้น - - พันแสง ส่องแฮ
อำนาจพระรอนรงค์ - - จ่อมจั้ง
พระเสด็จสำแดงดู - - ดาลเดช พระฤๅ
เพราะเพื่อพระเจ้าตั้ง - - ชอบชาญ ฯ

แปล

พระเกียรติยศของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแผ่กระจายไปยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ พระบรมเดชานุภาพในการสู้รบของพระองค์ยั่งยืนตลอดไป [หรือ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ทำให้การสู้รบหยุดยั้งลง] เพราะเหตุว่าพระองค์เสด็จไปแสดงพระบรมเดชานุภาพให้ประจักษ์ [หรือ เพราะการที่พระองค์เสด็จไปในการสู้รบ (อยู่เสมอ) มิใช่เพื่อทรงต้องการแสดงพระบรมเดชานุภาพดอกหรือ] เพราะพระองค์ทรงโปรดและเชี่ยวชาญในการรบ [หรือ เพราะพระองค์ทรงตั้งอยู่ในความชอบธรรม และทรงเชี่ยวชาญในการรบ]




๏ สวนแสนแคลนเคลื้อมเนตร - - นับกล เมื่อใด
แรงรำพึงพาลพุทธ - - พรากไท้
ความผิดแห่งตนบยล - - ตนนาศ เองแฮ
ตายก็ตายแล้วไว้ - - โทษร้ายเหลือตรา ฯ

แปล

๑. เมื่อเจ้าแสน (พระยาเชลียง) ดูหมิ่นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และหลงผิดทำกลอุบายไป (เข้ากับพระเจ้าติโลกราช) เนื่องจากความคิดที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ตนเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงถูกไต่สวน ก็รำพึงถึงความผิดที่ตนได้ทำไว้นั่นเองที่ทำให้ตนต้องพินาศ แม้ตายแล้วโทษคือความเลวร้ายก็จะต้องปรากฎอยู่ตลอดไป

๒. ส่วนเจ้าแสน (พระยาเชลียง) เมื่อถูกดูหมิ่นดูแคลนมากมายก็เป็นทุกข์ เมื่อใดก็ตามที่พอจะเคลิ้มหลับ ก็ต้องนึกถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของตนที่เอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราช) ความผิดที่ตนได้ทำไว้นั่นแหละที่ทำให้ตนต้องพินาศ แม้ตายแล้วโทษคือความเลวร้ายก็จะต้องปรากฎอยู่ตลอดไป

๓. การไต่สวนเจ้าแสน (พระยาเชลียง) ผู้หลงผิดและดูหมิ่นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยอำนาจความคิดที่โง่เขลา (ทำให้) ไม่ได้นึกถึงพระ (คือขาดศีลขาดธรรม) จึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ความผิดของตนมองไม่เห็น จึงทำให้ตนต้องพินาศไปเอง แม้ตายแล้วโทษคือความเลวร้ายก็จะต้องปรากฎอยู่ตลอดไป




๏ ปางนั้นมหาราชแส้ง - - ส่งสรรค์
เอาหมื่นนครมา - - แต่งตั้ง
เปนเดิมดํกลกรร - - ชยงชื่น คืนเเฮ
ใครยิ่งยกไว้รั้ง - - รอบแดน ฯ

แปล

คราวนั้น พระเจ้าติโลกราชจึงทรงตั้งพระทัยเลือกหมื่นด้งนครให้กลับเป็นเจ้าครองเมืองเชียงชื่นเป็นคนแรก เพื่อป้องกันมิให้เมืองเชียงชื่นกลับไป (สู่อำนาจของกรุงศรีอยุธยา) และทรงแต่งตั้งผู้มีความสามารถมากเป็นเจ้าเมืองอยู่รอบชายแดน




๏ เพื่อเกรงพระเจ้าคลื่น - - คลาพล แลพ่อ
พรั่นพรั่นอกพลแสน - - ส่ำกล้า
ครันเสด็จดํกลหัว - - เมืองมอบ แล้วแฮ
กลับเกลื่อนพลช้างม้า - - คล่าวเมือ ฯ

แปล

เพราะเกรงว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะยกทัพมา พระเจ้าติโลกราชทรงเกรงกลัวกองทัพที่มีพลนับแสนซึ่งล้วนแต่มีความแกล้วกล้า เมื่อทรงแต่งตั้งและมอบหมายให้เจ้าเมืองดูแลเมืองต่างๆแล้ว ก็ยกกองทัพช้างกองทัพม้าหลั่งไหลกลับ (เมืองเชียงใหม่)




๏ แต่นั้นลาวบ้าบอบ - - ใจเจ็บ แลนา
ทำชื่อใดดูเหลือ - - หลากถ้อย
กลางแดดุจหนามเหน็บ - - หนีบอยู่
แปรเกิดความร้ายร้อย - - สิ่งแสลง ฯ

แปล

นับแต่นั้นมา พระเจ้าติโลกราชทรงเสียพระสติเพราะชอกช้ำคั่งแค้นพระทัย ทรงทำสิ่งแปลกสุดที่จะพรรณนา เหมือนกับมีหนามแหลมคอยทิ่มตำดวงหทัย (หนามยอกอก) ปรากฎมีแต่เรื่องเลวร้ายนับร้อย




๏ ดั่งเอารสเรื้องคู่ - - คือองค์ นั้นนา
นามบุนเรืองแสดง - - ชื่อชี้
เพราะแรงระวังหวง - - แทนราช
กุํลูกลยวฟั้นฟี้ - - พี่พงศ์ ฯ

แปล

ดังเช่นโอรสพระนาม เจ้าศรีบุญเรือง ซึ่งรุ่งเรืองคู่ (บารมีของ) พระองค์ ก็ถูกจับกุมตัวไปประหารชีวิต ทั้งนี้เพราะ (พระเจ้าติโลกราช) ทรงหวาดระแวงว่าจะยึดอำนาจขึ้นครองราชสมบัติแทนพระองค์




๏ กรุงลาวอำนาจน้ำ - - ใจโจร ก่อนนา
เคยบยดบิดรองค์ - - อวดรู้
ชีสาท่านโอนเอา - - ดีต่อ ก็ดี
คิดใคร่ควักดีผู้ - - เผ่าดี ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชทรงใช้พระราชอำนาจด้วยน้ำใจโจรมาก่อน เมื่อก่อนมาเคยอวดดีทำให้พระราชบิดาของพระองค์ (คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน) เดือดร้อน (ด้วยการแย่งราชสมบัติ) แม้ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงโอนอ่อนทำดีด้วย [หรือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นใหญ่ทรงโอนอ่อนทำดีด้วย] เพราะทรงมีความหวังว่าจะยกเอาความดีจากผู้ที่มีเชื้อสายดี (คือ พระเจ้าติโลกราช) ได้




๏ บังควรข้าผู้ก่อ - - การภัก ดีนา
หมายหมื่นนครมี - - ซื่อซร้อม
เหนหาญหื่นแหลมหลัก - - ไกรกว่า ตนนา
ไท้เทศทุกผู้น้อม - - นอบกลัว ฯ

แปล

๑. สมควรที่ข้าแผ่นดินจะต้องมีความจงรักภักดี (ต่อพระมหากษัตริย์) เช่นเดียวกับหมื่นด้งนครที่มีความจงรักภักดี (ต่อพระเจ้าติโลกราช) ทรงเห็นว่าหมื่นด้งนครเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีปัญญาหลักแหลมกว่าพระองค์ (จน) เจ้าเมืองทุกประเทศต่างนอบน้อมเกรงกลัว

๒. สมควรล่ะหรือที่ข้าแผ่นดินซึ่งจงรักภักดี (ต่อพระเจ้าติโลกราช) อย่างหมื่นด้งนครที่มีความจงรักภักดี (ต่อพระเจ้าติโลกราช) ทรงเห็นว่าหมื่นด้งนครเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีปัญญาหลักแหลมกว่าพระองค์ (จน) เจ้าเมืองทุกประเทศต่างนอบน้อมเกรงกลัว

๓. สมควรล่ะหรือที่จะฆ่าผู้ที่มีความจงรักภักดีเช่นหมื่นด้งนคร (ต่อพระเจ้าติโลกราช เนื่องจากพระเจ้าติโลกราช) ทรงเห็นว่าหมื่นด้งนครเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีปัญญาหลักแหลมกว่าพระองค์ (จน) เจ้าเมืองทุกประเทศต่างนอบน้อมเกรงกลัว




๏ ขุนลาวลักว่าใน้ - - ใจเท็จ
รังกยจเกรงตัวยยว - - หั่นหล้า
บมีโทษใดเห็จ - - ทำคยด คุํนา
คิดใคร่ข้าข้าผู้ - - ชอบชาญ ฯ

แปล

๑. พระเจ้าติโลกราชทรงเห็นว่า (หมื่นด้งนคร) มีใจไม่ซื่อตรงต่อพระองค์ จึงทรงกริ่งเกรงไปเองว่า (หมื่นด้งนคร) จะแบ่งแยกแผ่นดิน ทั้งๆที่ (หมื่นด้งนคร) ไม่มีความผิดใดๆที่เป็นเหตุทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อน (แต่) ก็ทรงคิดจะฆ่าหมื่นด้งนครผู้มีความชอบและความเชี่ยวชาญเสีย

๒. พระเจ้าติโลกราชทรงแอบคิดอยู่ในใจอันชั่วร้ายว่า (หมื่นด้งนคร) ไม่ซื่อตรงต่อพระองค์ จึงทรงกริ่งเกรงไปเองว่า (หมื่นด้งนคร) จะแบ่งแยกแผ่นดิน ทั้งๆที่ (หมื่นด้งนคร) ไม่มีความผิดใดๆที่เป็นเหตุทำให้พระองค์ต้องเดือดร้อน (แต่) ก็ทรงคิดจะฆ่าหมื่นด้งนครผู้มีความชอบและความเชี่ยวชาญ




๏ เมื่อคำพรางส้ยงสั่ง - - สารหา
น่านแพร่พลอยภาณพราง - - พรอกพรัอม
เพราะแรงอิริษยา - - บยนบยด ก้นนา
ความบมีเขาย้อม - - กล่าวให้เป็นตัว ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชจึงแสร้งส่งสารลวงให้ (หมื่นด้งนคร) มาเฝ้า เจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่ซึ่งมีความอิจฉาริษยาและคิดเบียดเบียนกันอยู่แล้วก็พลอยผสมโรงกล่าวหาด้วย (แม้) ไม่มีเรื่องก็แต่งให้เป็นเรื่องเป็นราว (ปั้นน้ำเป็นตัว) ขึ้นมาว่า




๏ บพิตรอ้ายดั่งกยจ - - กลหวัง
จยรจากจักหญัวไป - - จากหล้า
พระอย่ารำพึงหลัง - - สนเท่ห เลอยพ่อ
จักแกล่อย่าได้ช้า - - ช่ยวมือ ฯ

แปล

(เจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่กราบทูล) พระเจ้าติโลกราชว่าหมื่นด้งนครกำลังวางอุบายที่จะตีตนจากพระองค์จากแผ่นดินไป พระองค์อย่ามัวคิดถึงความสัมพันธ์แต่หนหลังและคิดฉงนสนเท่ห์อยู่เลย (แผนของเขา) ใกล้จะสำเร็จแล้ว พระองค์อย่าได้ชักช้าอยู่เลยขอให้เร่งมือ




๏ ครั้นกรุงลาวรู้เล่ห์ - - ลวงเขา ไส้นา
ปัดปัญชาชมถือ - - ถ่องด้วย
แปรปรามว่าเราอยา - - พรั่นแพร่ ความเลอย
มาจึ่งเอาให้ม้วย - - เมือบใจ ฯ

แปล

เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบเล่ห์กลของเจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่ (ที่จะลวงหมื่นด้งนครให้มาเฝ้าแล้ว) ก็ทรงชมเชยและทรงเห็นชอบด้วย แต่ก็ทรงหันไปปรามว่าเรา (ทั้ง ๓) อย่าได้แพร่งพรายความเรื่องนี้ ต่อเมื่อ (หมื่นด้งนคร) มาจึงจะประหารชีวิตให้สาแก่ใจ




๏ บัดหาข้าผู้แก่ - - กลมา
กลกยจกลใดสาร - - สั่งแล้ว
มึงอย่าไปคลายงง - - ชยงชื่น พู้นนา
หาหมื่นกล้าแกล้วแกล้ง - - เร่งมา ฯ

แปล

(พระเจ้าติโลกราช) จึงรับสั่งหาข้าผู้รับใช้ผู้มีความชำนาญในการวางแผนซ่อนกลมาช่วยคิดว่ากลอุบายอันน่ารังเกียจประการใดที่จะใส่ไว้ในพระราชสาร แล้วทรงสั่งกำชับให้รีบตรงไปยังเมืองเชียงชื่นอันไกลโพ้นโดยเร็ว เรียกตัวหมื่นด้งนครผู้แกล้วกล้าให้ตั้งใจรีบมาเฝ้า




๏ บัดนั้นข้าผู้หื่น - - เหนกล แกว่นนา
ธสั่งใดตนตรา - - ถ่องถ้วน
ยังชยงชื่นดลโดย - - คำราช เร็วแฮ
เชองชอบเชองใดล้วน - - เลือกแถลง ฯ

แปล

แล้วข้ารับใช้ผู้มีความกระตือรือร้นซึ่งเห็นด้วยกับกลอุบายนั้นว่าเป็นกลอุบายที่ชอบ ไม่ว่าพระเจ้าติโลกราชจะรับสั่งแก่ตนอย่างใดก็กำหนดจดจำไว้อย่างถ่องแท้และถี่ถ้วนแล้วก็เดินทางไปสู่เมืองเชียงชื่นตามรับสั่งโดยเร็ว เลือกแถลงชี้แจงเฉพาะกลอุบายที่ตนชอบ (ที่ตนเห็นสมควร)




๏ ด้ามพร้าพานพาดร้าย - - แรงการ แลพ่อ
น่านแพร่กลอยกลับแขง - - แข่งท้าว
ลักมีบัณฑูรสาร - - ขยวข่าว
หาท่านผู้ห้าวให้ - - เครื่อนครยว ฯ

แปล

(ข้ารับใช้ส่งข่าวลวงว่า) หมื่นด้ามพร้า (อำมาตย์ผู้ใหญ่) เกิดมีอาการป่วยหนัก เจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่ทราบจึงถือโอกาสแข็งเมืองเพื่อแข่งบารมีพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าติโลกราชจึงแอบส่งพระราชสารด่วนขอให้หมื่นด้งนครผู้กล้าหาญเคลื่อนพลไปช่วยโดยเร็ว




๏ ดั่งคำไท้แกล้งกล่าว - - กลสาร สั่งนา
เหนท่านตนดยวคือ - - ลูกอ้าย
เชอญไปอย่านานจง - - ทันช่วย
ขืมข่มข้าผู้ร้าย - - รอบรอน ฯ

แปล

ดังคำที่พระเจ้าติโลกราชจงใจแต่งเป็นกลอุบายไว้ในพระราชสารว่า เห็นแต่ท่านผู้เดียวเป็นเสมือนลูกหัวปี จึงขอเชิญให้รีบไปให้ทัน เพื่อช่วยปราบและกำจัดผู้คิดร้ายให้หมดสิ้นไป




๏ ว่าพระผู้ถ้าถ่วย - - อาเปรญ
หมื่นนครครั้นฟัง - - จวบแจ้ง
เพราะพบเงื่อนงําเขน - - เขาฬ่อ ลวงนา
ทุกประการแล้วแกล้ง - - กล่าวกลยว ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชทรงคอยท่ากองทัพ (ของหมื่นด้งนคร) ด้วยความกระวนกระวายพระทัย หมื่นด้งนครครั้นได้ฟังพระราชสารจบก็เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เพราะพบเงื่อนงำที่เป็นกลลวงและคลี่คลายได้ทุกประการ ข้อความทุกอย่างล้วนแกล้งกล่าวไว้อย่างวกวน




๏ นายเอยอยาปวยก้ยว - - กลพราง พรอกเลย
โดยข่าวขยวขจรควร - - อย่างอยู้
เพราะพึงซอบชอมกลาง - - กลยวเจต ไส้แฮ
ความชอบด้วยฤๅรู้ - - ร่วงโรย ฯ

แปล

(หมื่นด้งนครจึงกล่าวว่า) พวกท่านอย่าได้เสียเวลาพูดลดเลี้ยวเป็นกลลวงอยู่เลย เพราะเมื่อมีข่าวด่วนมาถึง เราก็เห็นว่าสมควรจะต้องยกกองทัพไปช่วย [หรือ เพราะเมื่อมีข่าวด่วนมาถึงก็เป็นเครื่องผลักดันให้ต้องรีบไป] ซึ่งก็นับว่าตรงกับความคิดของเราอยู่แล้ว เพราะการทำความดีนั้น ผู้ทำความดีไม่มีวันจะตกต่ำ




๏ ข้าไท้ธิเบศผู้ - - ใดใด ก็ดี
ตายเพื่อภักดีโดย - - ซื่อซร้อม
คือคนอยู่เปนใน - - อิธโลกย
บรโลกยนางฟ้าล้อม - - เลิศอินทร ฯ

แปล

ข้าแผ่นดินผู้ใดที่ยอมตายด้วยความภักดีและด้วยความซื่อสัตย์ใจสะอาดพร้อมทุกประการ (ต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ข้าแผ่นดินผู้นั้น) เมื่อเป็นคนอยู่ในโลกนี้ (ก็เป็นคนดี) ครั้นตายไปแล้วก็จะมีความสุขมีนางฟ้าแวดล้อมเป็นเลิศกว่า (เลิศดัง) พระอินทร์




๏ ทวยใดเจ้าเกื้อโภค - - ภูลมี มั่งนา
ครั้นบถวิลภักดี - - แด่เจ้า
ชื่อยืนอยู่แสนปี - - เป็นคู่ ตายนา
ตายก็ดีได้เข้า - - ข่องนํ้านรกานต์ ฯ

แปล

ข้าแผ่นดินผู้ใดที่เจ้านายได้เกื้อกูลจนมีโภคทรัพย์มั่งมีขึ้น ถ้าหากไม่คิดที่จะจงรักภักดีต่อเจ้านาย แม้จะมีอายุยืนถึงแสนปีก็เปรียบเสมือนเป็นคนตาย และเมื่อตายไปแล้วก็สมควรไปตกอยู่ในห้วงน้ำนรก




๏ บควรคิดอยู่ยั้ง - - ควรครยว
นบนอบภูบาลบุญ - - ผ่านเผ้า
ชิสาท่านกุํลยว - - ลาญชีพ ก็ดี
ล้วนชื่อแก่เจ้าไว้ - - ข่าวขจร ฯ

แปล

ไม่ควรคิดรั้งรออยู่ ควรคิดไปนบนอบต่อกษัตริย์ผู้มีบุญ (คือ พระเจ้าติโลกราช) แม้ว่าพระองค์จะทรงจับกุมเอาไปประหารชีวิตก็ต้องยอม (เพราะ) ล้วนสร้างชื่อเสียงไว้แก่กษัตริย์ทำให้พระเกียรติคุณระบือไป




๏ ครั้นคิดครั้นรีบเร้ง - - วางไป
นบนอบภูธรทูล - - บ่อย้าน
ความผิดแผกไผชรงง - - โชรมโจทย ก็ดี
ขอจงพระชี้ต้าน - - ไตร่ตรา ฯ

แปล

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว (หมื่นด้งนคร) ก็รีบเร่งเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าติโลกราช และกราบทูลถามโดยมิได้ครั่นคร้ามถึงความผิดที่อาจมีใครที่เกลียดชังตนและรุมกันฟ้องร้องกล่าวโทษ ได้ทูลขอให้พระเจ้าติโลกราชทรงระบุความผิดนั้นๆ (แล้วตนจะได้กราบทูลชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) เพื่อจะได้ทรงวินิจฉัยไตร่ตรองต่อไป




๏ กรุงลาวกรยงโกรธฟุ้ง - - ไฟลาม ลู่แฮ
คุกคํ่ารามลงมา - - รเร้ง
ความมึงบภักถาม - - เลอยถ่อง กุํนา
พอแต่กำมือเท้ง - - แท่นแคลง ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชทรงพระพิโรธมากดุจดังไฟที่ลุกลามไปทั่ว ทรงตวาดสวนลงมาโดยพลันว่า ความผิดของเจ้า (หมื่นด้งนคร) นั้นมิพักต้องซักถามใดๆ อีกแล้ว เพราะแจ้งชัดอยู่แล้วจึงทรงสั่งให้จับกุม พอเห็น (หมื่นด้งนคร) กำมือเท่านั้น พระองค์ก็ทรงคลางแคลงพระทัยแล้ว [หรือ แทนที่พระองค์ (จะเพียงแต่) สงสัยอยู่ ก็ทิ้ง (ความคิดสงสัย) ไปได้เลยตั้งแต่เห็น (หมื่นด้งนคร) กำมือแล้ว เพราะความคิดของหมื่นด้งนครชัดเจน ไม่ต้องถาม จึงได้จับกุมตัวมา หรือ (อำนาจของพระองค์นั้น) เพียง (พระเจ้าติโลกราช) กำพระหัตถ์ทุบลงไปเท่านั้นพระแท่นก็หวั่นไหวแล้ว หรือ (ความผิดของหมื่นด้งนคร) ทำให้พระราชบัลลังก์สั่นคลอนชั่วระยะเวลาสั้นๆ (ชั่วพริบตา) เหมือนกับกำมือแล้วแบออกฉะนั้น]




๏ มีร้ายทุกช่องชี้ - - สารสุด เมื่อใด
มึงคือวัลเฝือแฝง - - มิ่งไม้
เคยกุํพิรุธมึง - - หลายเที่อ
เหลือที่อดไว้แท้ - - จึ่งทำ ฯ

แปล

(พระเจ้าติโลกราชมีรับสั่งว่า) ความร้ายหรือโทษ (ของหมื่นด้งนคร) มีมากมายสุดที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นได้ หมื่นด้งนครเปรียบเสมือนเถาวัลย์ที่เที่ยวเกี่ยวพันต้นไม้ ทรงเคยจับพิรุธของหมื่นด้งนครได้หลายครั้งแล้ว สุดที่จะอดทนได้จึงได้ให้จับกุม


.
.
(โคลง 2 บทต่อไปนี้ ว่าพระยาตร้งแทรก เพราะฉบับเดิมขาดอยู่)
.
.



๏ สั่งแสนฟ้าเรื่อให้ - - กุํตวว
หมื่นนครโทษอำ - - ผิดไว้
แสนสูตัดเอาห้ว - - มันสยบ เสียนา
ไว้หว่างทางเหนึอใตั - - ต่อกัน ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชมีรับสั่งให้อำมาตย์แสนฟ้าเรื่อกุมตัวหมื่นด้งนครซึ่งมีโทษเพราะปิดบังความผิดไว้ ให้แสนฟ้าเรื่อเอาไปตัดศีรษะเสียบไว้ระหว่างทางที่เขตอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาต่อกัน




๏ แสนฟ้าเรื่อรยบนิ้ว - - นบคำ โดยนา
มัดสอกรีบไปทัน - - โกรธจ้าว
สินห้วสยบสับทำ - - ฤๅคลื่น
เพลี้ยกว่านบานท้าวไข้ - - ข่าวสยวน ฯ

แปล

อำมาตย์แสนฟ้าเรื่อนบมือถวายบังคมรับพระราชโองการ รีบจับหมื่นด้งนครมัดมือไพล่หลังให้สมกับที่พระเจ้าติโลกราชทรงกริ้ว ได้ตัดศีรษะ (หมื่นด้งนคร) แล้วเสียบไว้ตามรับสั่งโดยไม่คลาดเคลื่อน บรรดาข้าราชการที่ปกครองหัวบ้านหัวเมืองพอทราบข่าวต่างก็รู้สึกสยดสยองร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆกัน




๏ บัดนั้นชยงชื่นเศร้า - - ศรีสาว แลนา
นางหมื่นนลเมืองสวน - - ตอกดิ้น
พลเมีองทังเมืองชาว - - ชยงใหม่ นั้นนา
ประจากเจบพ้ยงหวิ้น - - หว่าแด ฯ

แปล

ครั้งนั้นเมื่อชาวเชียงชื่น (ทราบข่าวการตายของหมื่นด้งนคร) ต่างก็เศร้าโศกหน้าตาหมองคล้ำไปตามๆกัน นางพญาหมื่นด้งนครซึ่งเป็นเสมือนดอกบัวของเมืองเมื่อได้ทราบข่าวก็เป็นเหมือนถูกตอกจนดิ้น การจากไป (ของหมื่นด้งนคร) ทำให้ชาวเมืองเชียงชื่นและเชียงใหม่ต่างเจ็บปวดและรู้สึกว้าเหว่เหมือนใจจะขาดวิ่น




๏ นางเมึองคิดใคร่ด้วย - - พลเมือง
บใคร่แลเลงชยง - - ใหม่ม้อย
ปองไปพึ่งจอมเลือง - - ไกรกว่า นั้นนา
นางจึ่งจักพร้องถ้อย - - ถ่องจง ฯ

แปล

นางเมือง (คือ นางพญาหมื่นด้งนคร) ได้ปรึกษาหารือกับขุนนางผู้ใหญ่ว่าอย่าได้คิดไปพึ่งเมืองเชียงใหม่ต่อไปอีกเลย ควรหันไปพึ่งกษัตริย์ที่ทรงเดชานุภาพรุ่งเรืองเกรียงไกรมากกว่านั้น (คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) นางจึงได้แถลงอย่างชัดเจนและตั้งใจแน่วแน่




๏ มีคนดีว่าร้าย - - มามี มากนา
หาก่ยงหาไปหา - - โทษล้าย
บดีบ่ดีทำ - - ดีต่อ ก็ดี
กลับว่าร้ายแหน่งร้าย - - เร่าหนี ฯ

แปล

คนดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร้ายก็มีอยู่มากมาย เมื่อ (หมื่นด้งนคร) ถูกเรียกไปเฝ้าก็ไปโดยมิได้หลีกเลี่ยง [หรือ เมื่อ (หมื่นด้งนคร) ถูกเรียกไปเฝ้าเพื่อหาเรื่องร้าย] ทั้งๆที่รู้ว่าถูกกล่าวร้ายป้ายโทษ ผู้เป็นใหญ่ (พระเจ้าติโลกราช) เป็นคนไม่ดี แม้ (ข้าราชบริพาร) จะทำดีก็กลับกลายเป็นร้าย ทั้งยังถูกสงสัยว่าเป็นคนร้าย จึงควรรีบหนีไปเสีย




๏ บเร่อมท้าวผู้พ่อ - - ใจภัก ดีนา
ยังบยดบีทาทำ - - โทษกล้า
บเร่อมลูกร้กยัง - - หยวลูก เราแฮ
อย่าว่าข้าผู้ข้า - - บ่ข้าขืนเอา ฯ

แปล

อย่าว่าแต่พระชนก (คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน) ซึ่ง (พระเจ้าติโลกราช) ควรจงรักภักดีก็ยังทรงเบียดเบียนลงโทษอย่างร้ายแรง (คือแย่งราชสมบัติ) อย่าว่าแต่พระโอรสผู้เป็นที่รักของพระองค์ (คือ เจ้าศรีบุญเรือง) ก็ยังทรงให้ประหารเสีย อย่าว่าแต่ข้าทาสบริวารเลย ไม่ว่าจะเป็นข้าทาสบริวารหรือมิใช่ข้าทาสบริวารก็ตาม ต่างก็ถูกใช้กำลังบังคับขืนใจทั้งนั้น [หรือ อย่าว่าแต่เรื่องการฆ่าข้าทาสบริวารเลย ถึงมิใช่ข้าทาสบริวารก็ทรงใช้กำลังบังคับขืนใจทั้งนั้น]




๏ ท้าวนี้ใจทรูกแท้ - - ทูรชน ชื่นแฮ
น้านั่นทงงเราฤๅ - - อยู่ได้
คิดควรอ่วยแดนดล - - บัวบาท พู้นแฮ
เมือยั่งเมืองเหง้าไท - - ก่อนกาล ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นกษัตริย์ที่โฉดเขลาเบาปัญญาอย่างแท้จริง นับว่าเป็นคนชั่วอย่างสิ้นเชิง (ทรงชั่วช้า) มากจนกระทั่งเราจะ (อดทน) อยู่ด้วยได้อย่างไร ควรที่เราจะคิดพาแผ่นดิน (เมืองเชียงชื่น) ไปถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาเช่นแต่กาลก่อน




๏ ทีนั้นไท้ทาษด้าว - - แดนชยง ชื่นแฮ
ชํบัญชาโดยดาล - - กล่าวกล้า
แหนหับประตูวยง - - วางเขื่อน
หวังว่าพระเจ้าหล้า - - หลั่งพล ฯ

แปล

ขณะนั้นนางพญาหมื่นด้งนครผู้ครองเมืองเชียงชื่น สั่งด้วยความชื่นชมและกล่าวอย่างกล้าหาญ [หรือ ขณะนั้นนางพญาหมื่นด้งนคร และประชาชนชาวเชียงชื่นมีความชื่นชมยินดี เกิดความกล้าหาญตามการพูดปลุกใจของนาง] ช่วยกันเฝ้าและปิดประตูเมืองวางเครื่องกีดขวาง โดยหวังว่าสมเด้จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงยกกองทัพมาช่วย [หรือ คาดว่าพระเจ้าติโลกราชจะทรงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงชื่น]




๏ หมื่นลาวลเพื่อนเว้ - - วางไป
ทังครอกครัวครยวดล - - ปิ่นเกล้า
ถึงแกล่คดีไตร - - ตรยมอาทิ
ถวายแต่พระเจ้าเจ้า - - แผ่นผจง ฯ

แปล

(นางพญาหมื่นด้งนครสั่ง) ขุนนางลาวละทิ้งเพื่อนไว้ทางนี้ แล้วรีบพาครอบครัวหันไป (สู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อ) ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อไปถึงก็ให้กราบทูลเรื่องราว ๓ เรื่องตามที่ได้ตระเตรียมไว้แต่ต้น [หรือ เมื่อไปถึงก็ให้กราบทูลเรื่องราวสำคัญตามที่ได้ตระเตรียมไว้แต่ต้น] ถวายแผ่นสารที่ผจงเขียนแด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ [หรือ กราบทูลถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นเจ้าแผ่นดินด้วยความนอบน้อม]




๏ บัดนี้ข้าข้อยนาฎ - - นางเมือง ฤๅพ่อ
ปิดประตูเมืองลง - - เขื่อนขว้าง
ข้นแข่งว่าจอมเลือง - - เลอราช
กรูเกลื่อนพลช้างม้า - - ถึ่งถกล ฯ

แปล

บัดนี้ข้าน้อย (นางพญาหมื่นด้งนคร) ผู้มีตำแหน่งเป็นนางเมือง ได้ปิดประตูเมือง (เชียงชื่น) และวางเครื่องกีดขวางไว้แล้วอย่างมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถต่อสู้เอาชนะ เมื่อพระองค์ผู้มีอำนาจรุ่งเรืองเหนือบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย ได้เคลื่อนพลช้างม้าอย่างพร้อมเพรียงมาช่วยแต่งบ้านเมือง [หรือ มาถึงอย่างสง่างาม] (เพื่อรับศึกพระเจ้าติโลกราช)




๏ บัดนั้นนางใข้ทาษ - - ทยมใจ หนึ่งแฮ
เอาตลับทองดล - - ด่วนเด้า
ถวายเป็นสำคัญใน - - สารสั่ง แสดงแฮ
ขอชีพเชิญพระเจ้า - - เคลื่อนครยว ฯ

แปล

ทันใดนั้น นางพญาหมื่นด้งนครได้ใช้ทาสคนสนิทผู้หนึ่งเอาตลับทองไปถึงและนำขึ้นถวาย (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เป็นสำคัญประกอบสารของนาง และสั่งให้กราบทูลขอให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรีบเสด็จขึ้นไปช่วยโดยเร็ว




๏ ไปทันเจ้าหล้าหลั่ง - - พลพฤนท ถึงนา
น่านแพร่ขยวออกถึง - - นอกต้าย
นางเมืองไป่ยอมยิน - - ใจจอด พระเลย
แขงอยู่จรกล้ายถ้า - - ท่านดล ฯ

แปล

ยังไม่ทันที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะเคลื่อนพลรบจำนวนมากไปถึง เจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่ก็รีบยกกองทัพมาถึงนอกเสาเขื่อนของเมือง แต่นางเมือง (นางพญาหมื่นด้งนคร) ไม่ยินยอม (เปิดประตูเมืองให้) เพราะมีน้ำใจสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงคงแข็งเมืองทำวางเฉยอยู่เพื่อรอท่า (กองทัพ) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปถึง




๏ แขงเมองจักใกล้รอด - - พระทัณฑ์ แลนา
ตระง่องคอยหนหา - - ปิ่นหล้า
แปรเป็นป่วยเพราะพัน - - มโนราช
ไขปตูเอาข้า - - บาปบร ฯ

แปล

(นางพญาหมื่นด้งนคร) ยังคงแข็งเมืองอยู่ได้จนกองทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเกือบจะไปถึงอยู่แล้ว นางได้เฝ้าคอยดู (กองทัพ) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถด้วยใจจดใจจ่อ แต่เหตุการณ์ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นเปล่าประโยชน์เพราะพันมโนราชไปเปิดประตูรับข้าศึกผู้ชั่วช้า (เข้าเมือง)




๏ พลเมืองสรพราดพร้อม - - ใจหาญ
ขนขี่กญชรผาย - - ผาดม้า
ปรทับปรทันทาน - - คือดั่ง คลื่นแฮ
น่านแพร่ทำแกล้วกล้า - - เกลื่อนพล ฯ

แปล

ชาวเมืองเชลียงมากมายพร้อมใจกันสู้อย่างกล้าหาญ พวกแม่ทัพนายกองก็ขี่ช้างขี่ม้ารุดเข้าปะทะต่อต้านข้าศึกที่เข้ามาเหมือนคลื่น กองทัพน่านและแพร่ยกพลเข้าต่อสู้อย่างห้าวหาญ




๏ รุกร้นแถมถั่งช้าง - - แซงมา มากแฮ
ชาวชรลยงทบทน - - บได้
เสียสารสรูดลงลา - - พราวพฤๅบ ไปแฮ
ยงสํเดจเหง้าไทั - - ที่รงค์ ฯ

แปล

ทัพของเจ้าเมืองน่านและเจ้าเมืองแพร่ เคลื่อนพลเพิ่มมาอย่างไม่ขาดสาย พร้อมทัพช้างเข้ามาสมทบเป็นจำนวนมาก ชาวเชลียงไม่สามารถต้านทานได้ จึงทิ้งช้างกระโดดลงหนีอย่างรวดเร็ว มุ่งไปสู่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่สนามรบ




๏ ลางแกล้วกระทืบม้า - - มาดล ก่อนแฮ
ลางแล่นเลวหลงลำ - - อยู่ข้า
ลางทันเคลื่อนครัวตน - - ครองเคร่า ไปแฮ
ถั่นถั่นถึงเจ้าหล้า - - แหล่เหลือ ฯ

แปล

นายทหารกล้าบ้างก็ขี่ม้าอย่างเร่งรีบจึงมาถึงก่อน บ้างมาไม่ถูกจึงหลงทางอยู่และมาช้า บ้างมีเวลาทันรับครอบครัวแล้วจึงพากันมาถึงยังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโดยเร็วเป็นจำนวนมาก




๏ แต่นี้จักเปล่งถ้อย - - แถลงนาม
หัวหมื่นพันพลเหนือ - - แต่เต้า
ทูลพระบทามพุช - - หมายหมื่น
พานด่าวพานร้อนเร้า - - แรกดล ฯ

แปล

ต่อแต่นี้จะขอกล่าวถึงไพร่พลฝ่ายเหนือได้แก่หัวหมื่นหัวพันและพลที่มาเฝ้าเบื้องพระบาท (ของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) นับได้เป็นจำนวนหมื่น พานด่าวและพานร้อนรีบมาถึงเป็นพวกแรก [หรือ พานด่าวและพานร้อนรีบมาถึงเป็นคนแรก]




๏ ปราบชยงชํชื่นเว้ - - วางไป
ทังมหามงคล - - ค่อยผ้าย
พันรดันดาบพันไกร - - กลอยกว่า แลนา
พันปราบพันบาลคล้าย - - คล่าวไคล ฯ

แปล

(พัน) ปราบ (พัน) เชียงชมชื่นหนีไปอย่างเร็ว (พัน) มหามงคลค่อยๆตามมา ส่วนพันรดันดาบและพันไกรไปพร้อมกัน รวมทั้งพันปราบและพันบาลซึ่งเคลื่อนไปตามลำดับ




๏ หมื่นช้างหมื่นม้าพ้อง - - พันหงษ
หมื่นชํหารโหงไป - - ไปล่รี้
พันจงเบญจงจยร - - ชยงชื่น แลนา
หมื่นลูกลี้รู้ลี้ - - เลิศพลัน ฯ

แปล

หมื่นช้าง หมื่นม้า พันหงษ์ และหมื่นชมหาญละทิ้งรี้พลไปโดยเร็ว พันจงตั้งใจที่จะจากเมืองเชียงชื่น หมื่นลูกลี้รู้ที่จะหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว




๏ หมื่นต้านกเต้าหมื่น - - โจลจูล
พันแจ่มพันโจมพัน - - จ่าบ้าน
ทังพันชรสูนทรุด - - ทรวงใหญ่ แลนา
พันอยาดพันอย้านเต้า - - ไต่ตาม ฯ

แปล

๑. หมื่นต้านกับหมื่นเต้าก็ทิ้งทัพหนีไป ทำให้พันแจ่ม พันโจม พันจ่าบ้าน รวมทั้งพันชรสูน พันอยาด และพันอย้านต่างก็เสียกำลังใจมาก จึงได้หนีทัพตามไปบ้าง

๒. หมื่นต้านก็ตามหมื่นโจนจูลไป พันแจ่ม พันโจม พันจ่าบ้าน และพันชร อีกทั้งพันอยาดและพันอย้านต่างก็เสียกำลังใจมากจึงหนีตามไปบ้าง




๏ พันอินทพันอ้ายใคร่ - - ครยวกรู โกรกแฮ
พันใส่พันสามแสน - - ร่านร้อน
พันจอมปราบพันจู - - ลาแล่น แล้วแฮ
พันเทพพันทัาวข้อน - - ขอดแด ฯ

แปล

พันอิน พันอ้าย ก็อยากหนีไปโดยเร็วด้วยเช่นกัน พันไส พันสาม ก็มีความรุ่มร้อนใจมาก พันจอมปราบ พันจูลา ก็ได้หนีไปแล้ว พันเทพ พันท้าวต่างก็หดหู่ใจมาก




๏ พันชยหน้าไม้แม่น - - แวะวาง ถึงแฮ
พันพวกหาญแห่เหนือ - - หน่วงใต้
นับพันไพร่นายปาง - - ไปแต่ ดีฤๅ
ปูนแปดร้อยรู้ใช้ - - ช่ยวการย์ ฯ

แปล

๑. พันไชยผู้มีฝีมือในการยิงหน้าไม้แม่นได้ลงมาถึง (กรุงศรีอยุธยา) ก่อนพวกหัวพันทหารเฝ้าดูแลฝ่ายเหนือ (คือฝ่ายพระเจ้าติโลกราช) เพื่อหน่วงให้กองทัพทางใต้ยกขึ้นมาช่วย ถ้าจะนับหัวพันทั้งนายไพร่เฉพาะที่ดีมีความรู้ใช้งานการได้ก็มีเพียงแปดร้อยคนเท่านั้น [หรือ ถ้าจะนับทั้งไพร่ทั้งนายที่มีร่างกายแข็งแรงไม่บาดเจ็บมีจำนวนเป็นพันคน แต่ที่มีร่างกายสมบูรณ์ดีไม่บาดเจ็บสามารถสู้รบต่อไปได้มีเพียงแปดร้อยคนเท่านั้น]

๒. พันไชยผู้มีฝีมือในการยิงหน้าไม้แม่นได้ลงมาถึง (กรุงศรีอยุธยา) ก่อน พวกทหารที่นิยมฝ่ายเหนือ (คือฝ่ายพระเจ้าติโลกราช) ก็พยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้พวกที่นิยมฝ่ายใต้ (คือฝ่ายกรุงศรีอยุธยา) หนีลงไปได้ ถ้าจะนับหัวพันทั้งนายไพร่เฉพาะที่ดีมีความรู้ใช้งานการได้ก็มีเพียงแปดร้อยคนเท่านั้น [หรือ ถ้าจะนับทั้งไพร่ทั้งนายที่มีร่างกายแข็งแรงไม่บาดเจ็บมีจำนวนเป็นพันคน แต่ที่มีร่างกายสมบูรณ์ดีไม่บาดเจ็บสามารถสู้รบต่อไปได้มีเพียงแปดร้อยคนเท่านั้น]




๏ ส่วนม้าสามร้อยแง่ - - งามสัพ เครื่องนา
ทุกพวกพลหาญคัน - - ควบไทั
แถลงถวายเมื่อแหนหับ - - ทวารอยู่
พันมโนราชได้ - - เบอกบร ฯ

แปล

ส่วนพลม้านับได้ ๓๐๐ ล้วนงามสรรพไปด้วยเครื่องประดับ (และ) พวกทหารทุกหมู่เหล่าได้พร้อมกันเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กราบทูลให้ทรงทราบตั้งแต่เมื่อ (นางพญาหมื่นด้งนคร) ปิดประตูเมืองรอกองทัพของพระองค์ จนถึงพันมโนราชได้เปิดประตูเมืองรับข้าศึก




๏ ถึงผชนช้างม้าจู่ - - โจมฟัน เฟื่องแฮ
ในนครคฤๅมสยง - - เกลื่อนกล้า
เร่งรบเร่งหันเขา - - รุมรอบ
สู้บได้ตูข้า - - จึ่งหนี ฯ

แปล

จนกระทั่งถึงกองทัพช้างและกองทัพม้าได้เข้าจู่โจมฟาดฟัน ในเมืองมีเสียงสู้รบดังกึกก้องไปทั่ว ยิ่งรบก็ยิ่งเห็นเขาเข้ารุมล้อมรอบ เมื่อสู้ไม่ได้พวกข้าพเจ้าจึงได้หนีมา




๏ วางมานบนอบเจ้า - - จอมปราณ โปรดแฮ
เชอญปิ่นกษัตรียก - - ย่างรี้
ฟังสารสํเร็จสาร - - จอมราช
ชรัดชั่งเสียได้สี้ - - ไป่ควร ฯ

แปล

รีบมาถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเจ้าชีวิต (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) เพื่อกราบทูลเชิญให้พระองค์ทรงยกกองทัพรี้พลไปช่วย เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสดับข่าวสารนั้นแล้ว จึงทรงชั่งพระทัยถึงผลได้ผลเสียนี้อย่างถ่องแท้แล้วทรงเห็นว่ายังไม่ควร (ที่จะทรงยกกองทัพไปยึดเมืองเชียงชื่น)




๏ สรรเพชญภูวนารถแสร้ง - - เสด็จดล ด่วนฤๅ
จึ่งเยี่ยยวนใจยวน - - เส่ยผ้าย
ครั้นถึงพฤบพลจับ - - โจมใหญ่
คุ่งค่อนต้ายล้มแล้ว - - คล่าวคลา ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งพระทัยจะยกกองทัพไปโดยด่วน จึงทำเป็นยกกองทัพไปเอาใจพวกยวน (ชาวโยนก หรือ ล้านนา) ที่มา (ขอให้ช่วย) ครั้นไพร่พลมาถึงก็พร้อมกันโจมตีเป็นการใหญ่ จนกระทั่งสามารถโค่นเสาเขื่อนล้มแล้ว (จึงยกกองทัพ) กลับ




๏ สรรเพชญคิดใคร่หน้า - - แลหลัง ถ่องแฮ
เยียยยวอย่าลืมนึก - - โน่มไว้
พลยวนแต่ยวนยัง - - บัวบาท พระแฮ
แปรตรยกเต้าเต้าได้ - - เรี่ยรมย์ ฯ

แปล

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงคิดหน้าคิดหลังอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงทรงรักษาน้ำใจเพื่อโน้มน้าวใจชาวยวนหรือชาวโยนกที่มาจากเมืองยวนหรือเมืองโยนกให้มาสู่พระองค์ (คือมาจงรักภักดีต่อพระองค์) แม้ว่า (พระองค์) จะทรงยกกองทัพกลับบ้านเมืองแล้วก็จะได้สบายพระทัย (คือไม่ทรงห่วงว่าพวกยวนหรือโยนกจะเป็นกบฏ เพราะยังมีความจงรักภักดีอยู่)




๏ ลางลาวเจ้าราชไว้ - - เวนเมือง มั่งแฮ
ทุกสิ่งสมบัติสํ - - ส่ำไว้
ลางถือพวกพลเนือง - - นายบ่าว โดยแฮ
เมียลูกช้างม้าได้ - - ดุจฝัน ฯ

แปล

เจ้านายฝ่ายเหนือ (ลาว) บางคน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ทรงให้ดำรงตำแหน่งดังเดิมและมอบเมืองให้ปกครอง จึงมั่งคั่งขึ้นและสั่งสมทรัพย์สมบัติทุกอย่างไว้ได้มาก บางคนก็มีอำนาจบังคับบัญชาชาวเมืองฐานเป็นนายเป็นบ่าวตามฐานะ และได้ลูกเมียและช้างม้าสมปรารถนาดังที่เคยใฝ่ฝันไว้




๏ กรุงลาวฦๅข่าวเจ้า - - จอมปราณ
ยกย่างพลพลันเทา - - เท่าแล้ว
กลอยมาแต่งการกรร - - ชยงชื่น เองแฮ
แซหํ่เหนแกล้วแกล้ง - - เลอกเอา ฯ

แปล

พระเจ้าติโลกราชเมื่อทรงทราบข่าวสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ยกกองทัพกลับไปแล้วก็รีบยกกองทัพมาทันที โดยตั้งพระทัยว่าจะมาจัดการเตรียมป้องกันเมืองเชียงชื่นด้วยพระองค์เอง ทรงเห็นว่าเจ้าเมืองแจ้ห่มมีลักษณะองอาจแกล้วกล้าจึงทรงตัดสินพระทัยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงชื่น (แทนหมื่นด้งนคร)




๏ มาตั้งแทนหมื่นดั้ง - - คืนครอง ไพร่แฮ
ใครว่าฦๅเลอเขา - - ขึ่งตั้ง
แทนทงงถ่วยปองพึง - - พึงพึ่ง พระนา
เตอมแต่งพลไว้รั้ง - - รอบแดน ฯ

แปล

(พระเจ้าติโลกราช) ทรงตั้ง (เจ้าเมืองแจ้ห่ม) ให้ครองเมืองเชียงชื่นและไพร่พลแทนหมื่นด้งนคร (ทหาร) คนใดก็ตามที่ลือกันว่ามีฝีมือเลอเลิศและผึ่งผายกว่าคนอื่นก็ได้รับการแต่งตั้ง (ให้ดำรงตำแหน่ง) [หรือ (ทหาร) คนใดก็ตามที่ลือกันว่ามีฝีมือเลอเลิศ พระเจ้าติโลกราชก็ทรงแต่งตั้งให้เป็นใหญ่] แทนพวกที่มีความจงรักภักดีหมายพึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ [หรือ แทนพวกของพระยาลาวพึงที่มีความจงรักภักดีหมายพึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ] ทรงเสริมแต่งไพร่พลให้รักษารอบเมืองเชียงชื่น




๏ แต่งตั้งไว้แล้วจึ่ง - - คืนไคล แลนา
จักอยู่นานแคลนเกรง - - ปิ่นเกล้า
ครั้งคืนครรไลลุ - - ชยงใหม่
ขุกข่าวพระเจัาเร้ง - - รยบพล ฯ

แปล

เมื่อทรงแต่งตั้ง (เจ้าเมืองเชียงชื่นและขุนนางทั้งหลาย) แล้ว (พระเจ้าติโลกราช) ก็เสด็จกลับไป (เมืองเชียงใหม่) เพราะถ้าจักอยู่นานไป ก็คร้ามเกรงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้นเสด็จกลับถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ทรงทราบข่าวในทันทีนั้นว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เร่งรีบเตรียมพล (ยกไปตีเมืองเชียงชื่น)



มีต่อ...อีกเยอะ




 

Create Date : 01 พฤศจิกายน 2553
9 comments
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2564 7:19:15 น.
Counter : 25855 Pageviews.

 

มีอีกไหมค่ะ

 

โดย: มุ้ย IP: 125.27.151.254 17 กรกฎาคม 2554 11:03:46 น.  

 

มีอีกเยอะ...ค่อยๆลงไปเรื่อยๆ

 

โดย: สดายุ... 18 ตุลาคม 2554 6:31:43 น.  

 

ขอบคุณมาก มีประโยชน์ต่อผู้ที่เข้ามาศึกษา แต่อยากให้แปลต่ออีกจนจบ เพื่อเป็นอานิสงส์ต่อผู้ที่ศึกษา เพราะไความรู้ดีมาก

 

โดย: รัตนา ประสิทธิ์วิเศษ IP: 58.9.68.9 6 เมษายน 2555 11:44:22 น.  

 

ขออนุญาตนำไปศึกษาและเผยแพร่เป็นวิทยาทานต่อไปนะครับ
ขอบคุณครับ

 

โดย: มณฑล IP: 158.108.92.114 15 มิถุนายน 2556 15:46:17 น.  

 

สวัสดีค่ะ อยากได้คำแปลของสองบทนี้ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ใจร้ายไป่โอบอ้อม พลไพ ริศแฮ
มาอยู่ในเมืองอร อวจกล้า
ครั้นขุกข่าวขจรไตร ภพนารถ
เสด็จดำกลช้างม้า ทยบถงรร


กรุงลาวอำนาจน้ำ ใจโจร ก่อนนา
เคยบยดบิดรองค์ อวดรู้
ชีสาท่านโอนเอา ดีต่อ ก็ดี
คิดใคร่ควักดีผู้ เผ่าดี ฯ

 

โดย: ภัส IP: 118.174.180.195 28 เมษายน 2562 13:35:08 น.  

 





 

โดย: สดายุ... 29 เมษายน 2562 10:41:43 น.  

 

ขอบพระคุณมากเลยค่ะ ;)

 

โดย: ภัส IP: 1.47.41.37 29 เมษายน 2562 13:47:18 น.  

 

อยากได้คำแปล2บทนี้ค่ะ

๏ พระยศยลโยคพ้น - - พิษฎาร ชื่นแฮ
ใครค่าอรอรรถา - - ถ่องล้วน
สรวมแสดงบันทึกสาร - - สงเษป ไส้พ่อ
โดยแต่แรงรมยม้วน - - กล่าวเกลา ฯ

๏ ยาคนชี้เทพยผู้ - - ไกรกรรดิ ก็ดี
พันมวลธเมธาเชาว - - ช่ยวได้
แลศริศแลศริศพัน - - ชิวห ก็ดี
ฤๅรํ่ายศไท้ล้วน - - ถี่แถลง ฯ

 

โดย: M IP: 223.24.93.147 1 กันยายน 2564 12:39:42 น.  

 

.
.
.
แปลแล้วทั้ง 2 บท

 

โดย: สดายุ... 5 กันยายน 2564 11:42:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.