Group Blog
 
<<
เมษายน 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
11 เมษายน 2556
 
All Blogs
 

O ทานสูตร .. เพื่อลบล้างความงมงาย .. ! O



ที่มา ..
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ ..
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
.



[๔๙]
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณีชื่อคัคครา ใกล้จัมปานคร ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

.. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผมพึงได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค ..

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ..
"ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาในสำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน"

อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ลุกจากที่นั่ง อภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป

ต่อมา ถึงวันอุโบสถ อุบาสก ชาวเมืองจัมปาพากันเข้าไปหาพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง .. ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ..

.. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล

.. และทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า ..

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ..
"ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี ฯ

พระสารีบุตร.
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ..
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนใน
โลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

พระผู้มีพระภาค.
"ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ..
- ยังมีความหวังให้ทาน
- มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
- มุ่งการสั่งสมให้ทาน
- ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้
- เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร .. เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน .. บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ"

พระสารีบุตร.
"อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"

พระผู้มีพระภาค.
"ดูกรสารีบุตร .. ในการให้ทานนั้น ..
- บุคคลมีความหวังให้ทาน
- มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
- มุ่งการสั่งสมให้ทาน
- ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
- เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ..
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช
- .. สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูกรสารีบุตร .. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ..
- ไม่มีหวังให้ทาน
- ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
- ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน
- ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แล้วให้ทาน
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี
- เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร .. เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ"

พระสารีบุตร.
"อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"

พระผู้มีพระภาค.
"ดูกรสารีบุตร .. ในการให้ทานนั้น ..
- บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน
- ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
- ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี
- เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็
ไม่ควรทำให้เสียประเพณี
- เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร
- เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่ แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุงหากินได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น
- เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯ และภคุฤาษี
- แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส
- เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร .. บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส
- แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต
- เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร .. เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ "

พระสารีบุตร.
"อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"

พระผู้มีพระภาค.
"ดูกรสารีบุตร .. ในการให้ทานนั้น ..
- บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน
- ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
- ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี.
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี.
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร
- ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษีวามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น
- และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส
- แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว
- .. เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม
- .. เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูกรสารีบุตร ..
นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ..
- ให้แล้ว มีผลมาก
- ไม่มีอานิสงส์มาก

และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ..
- ให้แล้ว มีผลมาก
- มีอานิสงส์มาก ฯ



........................



ฟั่นเฝือ วิปริต กันมากมายในบรรดาความเชื่อที่รับรู้รับฟังมายาวนานในสังคมไทย .. ตั้งแต่ ป.6 ยันดอกเตอร์ .. ตั้งแต่เหนือจดใต้ !


ประเด็นเรื่อง "ภาษาคน-ภาษาธรรม" เป็นสาเหตุของความเข้าใจไม่ได้
ในข้อธรรม .. ลองพิจารณาข้อความข้างล่างนี้ดูให้ดี

- เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ..
- .. ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น ...
- .. สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
- .. ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้



คำว่า "เข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น .. "
นั้นหมายความตามที่เข้าใจกันแน่หรือ ?

คำว่า "สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว "
นั้นหมายความตามที่เข้าใจกันแน่หรือ ?

คำว่า "ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ "
นั้นหมายความตามที่เข้าใจกันแน่หรือ ?


แต่ที่สามารถพูดได้อย่างไม่ต้องกลัวผิดคือ ..
ความคิดแบบดั้งเดิมนั้น .. "ผิดทั้งหมด" คือ
.. คาดหวังในทาน
.. ผูกพันกับผลของทาน
.. สั่งสมทานแบบฝากธนาคาร
.. ความดีงามของทาน
.. ทำตามประเพณี พ่อแม่ปู่ย่าตายาย
.. ทำตามคนรุ่นเก่า พวกนักบวช ฤๅษี ทั้งหลาย
.. หวังความเลื่อมใส ปลาบปลื้มใจ โสมนัสใจเกิดในตน


ที่ถูกคือ ..
.. ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

คำนี้คืออะไร "เครื่องปรุงแต่งจิต" ?


สังขาร -
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น, สิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัย, สิ่งหรือผลที่เกิดขึ้น มาจากการที่มีเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยคือเครื่องสนับสนุน ปรุงแต่งกันขึ้น จึงครอบคลุมสังขารทั้งฝ่ายรูปธรรม และ นามธรรม ได้แก่ ..
- ขันธ์ ๕ ทั้งหมด, จิต, สิ่งของวัตถุ, ตัวตน ฯลฯ.

กล่าวคือจึงครอบคลุมทั้งหมดทั้งสิ้น พึงยกเว้นแต่เพียงเหล่าอสังขตธรรมเท่านั้น อันคือ สภาวธรรม ทั้งปวง ดังเช่น พระนิพพาน.
(ในภาษาไทย บางทีใช้คำว่า สังขาร ในความหมายว่าร่างกาย เช่น "สังขารแก่เฒ่าลงไปทุกวัน" ที่หมายถึงรูปสังขารคือร่างกาย จนบางครั้งก่อความสับสนในการพิจารณาธรรม คือ คิดนึกถึงตีความไปหมายถึงแต่ร่างกายเสียแต่ฝ่ายเดียว จนเสียการ)

อธิบายสังขารที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อการพิจารณา ป้องกันการสับสนในการพิจารณา พอจะแยกได้เป็น ๓

- ในขันธ์ทั้ง ๕ มีสังขารขันธ์ที่หมายถึง การกระทำ กล่าวคือ ..
.. สภาพที่ปรุงแต่งทางใจ ให้เกิดการกระทำ(กรรม)ขึ้น,
.. เจตนาที่แต่งกรรม หรือปรุงแต่งการกระทำ มี ๓ อย่าง คือ
..... กายสังขาร(ทางกาย)
..... วจีสังขาร(ทางวาจา)
..... มโนสังขารหรือจิตตสังขาร(ทางใจ)

นอกจากนั้นแล้วในภาษาไทย ร่างกาย ก็ยังเรียกกันโดยทั่วไปว่าสังขารก็มี ที่หมายถึงสังขารร่างกาย หรือรูป,รูปขันธ์, ส่วนกายสังขาร หมายถึง การกระทำทางกาย

- สังขารในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง ..
.. สิ่งปรุงแต่งทางใจตามที่ได้สั่งสม, อบรมไว้แต่อดีต จนเกิดสังขารการกระทำต่างๆ เช่น ความคิด,การกระทําทางกาย,วาจา,ใจ ด้วยเครื่องปรุงที่มีคุณสมบัติต่างๆที่เป็นความเคยชิน เคยประพฤติ เคยปฏิบัติ หรือตามที่ได้เคยอบรมหรือสั่งสมไว้มาก่อน (อดีต)จึงนอนเนื่องซึมซาบย้อมจิต
.. หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสังขารวิบาก คือ สังขารที่เกิดจากผลของการเคยกระทําหรือเคยประพฤติปฏิบัติทั้งทางกาย,วาจา,ใจ อันได้สั่งสมไว้ อบรม เก็บบ่มไว้ หรือสังขารวิบากก็คือผลที่รับจากการกระทํา(กรรม)ในอดีตนั่นเอง
.. และเป็นสังขารกิเลสด้วย หมายถึง สังขารที่ประกอบด้วยกิเลส (กิเลสที่นอนเนื่องในอาสวะกิเลสนั่นเอง)

- สังขารในไตรลักษณ์ หมายถึง ..
- ทุกๆสรรพสิ่งที่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา จึงครอบคลุมทั้ง ..
.. รูปธรรม,
.. นามธรรม
.. และธรรมทุกชนิดรวมทั้งโลกุตรธรรม

อันยกเว้นเพียง อสังขตธรรม ดังเช่น นิพพานอันเป็นสภาวะหรือสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ,

ดังนั้นจึงครอบคลุมทั้งสังขารในขันธ์ ๕ และสังขารในปฏิจจสมุปบาท และทุกสรรพสิ่ง ยกเว้นแต่ นิพพานและสภาวธรรมหรือสภาวะของธรรมชาติ



แปลว่า "เครื่องปรุงแต่งจิต" คือ ตัวสังขาร
ดังนั้น "ทาน" ที่จะเป็นเหตุให้ได้ผลคือ "เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้" อีก คือทานจากการปรุงแต่งทางจิตที่จะไม่ ..

.. คาดหวังในทาน
.. ผูกพันกับผลของทาน
.. สั่งสมทานแบบฝากธนาคาร
.. ความดีงามของทาน
.. ทำตามประเพณี พ่อแม่ปู่ย่าตายาย
.. ทำตามคนรุ่นเก่า พวกนักบวช ฤๅษี ทั้งหลาย
.. หวังความเลื่อมใส ปลาบปลื้มใจ โสมนัสใจเกิดในตน


แต่ต้องปรุงแต่งทางจิตที่จักเป็นไปเพื่อภาวะการณ์ที่ตรงข้ามกันคือ ..

.. ให้ทานเพื่อ "ลดการครอบครอง" วัตถุธรรมทั้งหลายลง - ทำลายความเป็นของกู ..
.. ให้ทานเพื่อ "ทำลายความหวงแหนในสิ่งที่ครอบครอง ผูกพัน" ลงให้มากที่สุด ทั้งรูปธรรมและนามธรรม - ทำลายความเป็นของกู ..
.. ให้ทานเพื่อ "สนับสนุน ช่วยเหลือ ยกระดับชีวิตอื่น" ขณะที่กำลังคิดถึงการช่วยเหลือผู้อื่นก็จะเกิดภาวะ - ทำลายความเป็นตัวกู ไปพร้อมกัน ..


หากไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ..
ย่อม "ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้" อีกไม่จบไม่สิ้น


และด้วย ทิฏฐิ ที่ตั้งไว้ผิดทาง .. ในสังขารขันธ์
ทาน ย่อมส่งผลให้ "อัตตา" เวียนรอบอยู่เหมือนหนูถีบจักร ไปตลอดชั่วกัปกัลป์


และนั่นคือ การที่"สังขารโง่ๆ แบกพาจิตท่องเที่ยว" ไปกลาง นรก ครบทุกขุม .. รอบแล้วรอบเล่า .. ตามการหมุนของ "จักร" จากแรงขาของหนู นั่นแล




 

Create Date : 11 เมษายน 2556
1 comments
Last Update : 16 ธันวาคม 2557 6:14:56 น.
Counter : 1934 Pageviews.

 

ขอบพระคุณ และอนุโมทนากับเรื่องดีๆนี้มากเลยค่ะ กำลังฟังเรื่องการให้ทานจาก youtube และอยากรู้ว่า "เครื่องปรุงแต่งจิต" คืออะไร ตอนนี้ก็ได้รู้แล้ว ^^

 

โดย: สุพิชญ์นันท์ IP: 1.47.1.67 29 มิถุนายน 2559 21:41:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.