เรื่องไม่เป็นเรื่องของคนครัวจอมวายร้าย!
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 
ปัญหาต่างแดน

เรื่องการไปเปิดร้านขายอาหารไทยในต่างประเทศนี้ดูเหมือนทางรัฐบาลไทยพยายามส่งเสริมอย่างยิ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมก็ได้รับหนังสือสามเล่มเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดน จัดทำโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยเขาจัดร้านอาหารไทยต้นแบบเป็น 3 แบบ ด้วยกัน

แบบที่ 1. คือ เอลิแฟ้นต์ จัมป์ เป็นร้านอาหารไทยที่มีรูปแบบการให้บริการแบบอาหารจานด่วน สามารถปรับให้เหมาะสมกับสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์การค้า สถานศึกษา (สถานที่เหล่านี้ ค่าลงทุนก็คงแพงไม่ใช่เล่น และออกจะหายากเอาการ)

ลักษณะอาหารจะเป็นการผสมผสานระหว่างรสชาติที่เป็นไทยกับรสชาติแบบสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละแห่ง ให้บรรยากาศของความเป็นไทยด้วยความเป็นกันเอง และมีความคล่องตัว ราคาเฉลี่ย 5-10 เหรียญสหรัฐ ต่อคน มีอาหารให้ซื้อกลับไปบ้านได้ด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ เขามีเมนูอาหารตัวอย่างมาด้วย เช่น ข้าวผัดต่าง ๆ ผัดไทย ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีนน้ำยา ก๋วยเตี๋ยวเนื้อสับ ผัดมะกะโรนีขี้เมา ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้

เขาแนะว่า ร้านอาหารแบบนี้ไม่ต้องการเนื้อที่มาก อาจจะมีโต๊ะเพียง 8 ตัว รวม 16 ที่นั่ง การตกแต่งก็ไม่ต้องสวยเริ่ดมาก คงจะมีแต่สีสันให้เตะตาแบบร้านฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย มุ่งจะขายแบบจานด่วน หรือเทกโฮมเป็นหลัก

เขาประเมินค่าลงทุนร้านแบบนี้แล้วว่า ราว 6.8 ล้านบาท แล้วก็ยังต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเพิ่มเติมอีก นักบัญชีเขาคำนวณดูแล้วคาดว่า ถ้ามีการบริหารดี ๆ มีกลยุทธ์ด้านการตลาดแจ๋ว ๆ อาจจะคุ้มทุนภายใน 3 ปี อัตราผลตอบแทนราว 37.51%

แบบที่ 2 ชื่อ คูล เบซิล เป็นร้านอาหารไทยที่มีระดับสูงขึ้นมาอีกหน่อย เขาว่าเป็นร้านอาหารไทยร่วมสมัย ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับสากล การตกแต่งร้านดีขึ้นมาหน่อยกว่าร้านเอลิแฟ้นต์จัมป์ ให้บริการทั้งอาหารชุดใหญ่และจานเดียว รสชาติอาหารจะต้องดี ราคาปานกลาง เฉลี่ย 15-25 เหรียญสหรัฐ ต่อคน

เมนูอาหารถ้าเป็นอาหารจานเดียวก็คล้าย ๆ กับแบบแรก เช่น ข้าวผัดต่าง ๆ ผัดไทยกุ้งสด ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋น อะไรพวกนี้ ส่วนอาหารทั่วไป ก็มีต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดเป็ดย่าง ยำวุ้นเส้น ปลาสามรส ปูจ๋า ทอดมัน ปอเปี๊ยะทอด ไก่ย่าง ฯลฯ เรียกว่า มีทั้งอาหารว่าง อาหารจานด่วน สลัดแบบไทย ๆ อาหารสำหรับเด็ก อาจมีของหวานเสิร์ฟด้วย เช่น บัวลอยเผือก ฟักทองแกงบวด วุ้นกะทิ ฯลฯ

ร้านอาหารแบบนี้ต้องเลือกทำเลในเมืองขนาดใหญ่ อาศัยเขตชุมชนเป็นหลัก มีที่นั่งราว 50 ที่นั่ง ต้องลงทุนประมาณ 23 ล้านบาท เขาคิดคำนวณดูแล้วคาดว่าจะคุ้มทุนราว 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับทำเล การบริหารงานต่าง ๆ ด้วยครับ

แบบที่ 3 ชื่อ โกลเด้น ลีฟ เป็นรูปแบบร้านอาหารไทยที่หรูหราสุด ๆ ประดับประดาด้วยงานศิลปะสวย ๆ แจ่ม ๆ วัตถุโบราณ อาหารก็ต้องเป็นแบบคลาสสิค ชาววัง จานชามก็ต้องสวยประณีตลายไทย ประดับทองอะไรประมาณนั้น เป้าหมายคนกินก็คือคนไทยในต่างแดน หรือชาวต่างประเทศที่มีรสนิยมสูง พอจะมีสตางค์ว่างั้นเถอะ เดินเข้าไปกินร้านแบบนี้ เชื่อแน่ว่าจะต้องจ่ายเฉลี่ย 25-30 เหรียญสหรัฐ ต่อคน

เมนูอาหารก็คล้าย ๆ กับร้านแบบคูล เบซิล เพียงแต่วิจิตรบรรจงมากขึ้น ทั้งทางด้านรสชาติ จานชาม การบริการ คนเสิร์ฟก็ต้องแต่งตัวแบบไทยสวยงาม มีพิธีรีตอง หรือมีการแสดงให้คนกินได้ชมอย่างเพลิดเพลินในตอนค่ำด้วย

โกลเด้น ลีฟ มีโต๊ะ 44 โต๊ะขึ้นไป รับคนอย่างน้อย 164 คน ต้องลงทุนอย่างน้อย 39-40 กว่าล้านบาท หมายถึงรวมค่าเช่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าตกแต่งภายใน ค่าเครื่องใช้อุปกรณ์ และค่าต้นทุนอื่น ๆ ด้วย คาดว่าจะคุ้มทุนราว 2-3 ปี โดยมีกำไรราว 47% แต่ก็อย่างว่าละครับ ทำงานใหญ่แบบงานช้างอย่างนี้ ก็ต้องเหนื่อยในด้านการบริหารและบริการใหญ่และเหนื่อยสมชื่อ

ข้อมูลที่พูดมานี้ ส่วนหนึ่งได้จากเอกสารของกรมส่งเสริมการส่งออกที่กรุณาให้ผมมา ท่านผู้ใดสนใจรายละเอียด กรุณาติดต่อที่กรมส่งเสริมการส่งออกเองเถอะ แต่ที่ผมจะพูดต่อไปนี้ก็คือ ปัญหาครับ ปัญหาที่เราจะเปิดร้านอาหารไทยในต่างแดนก็มีเยอะเอาการเหมือนกัน

1. หาทำเลดี ๆ ไม่ค่อยได้ ครั้นได้ก็แพงหรือมีคู่แข่งเขาเปิดอยู่แล้ว เราไปเปิดใหม่ก็เหมือนน้องใหม่ ทำดีก็เสมอตัว ทำไม่ดีก็แฟบไป กว่าจะรู้ทางหนีทีไล่ก็ต้องใช้เวลา และเวลาแต่ละวันที่เรารอนั้น ก็หมายถึงเงินลงทุนที่ต้องจ่ายไป เรียกว่าต้องมีสายป่านยาวหน่อยล่ะครับ

2. ปัญหาเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ ต้องศึกษาให้ละเอียด บางแห่งกีดกันเรื่องผิวและเชื้อชาติ อาจจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือทนายที่นั่นช่วยจัดการให้ ซึ่งได้คนดีก็ดีไป ได้คนไม่ดีก็อาจจะถูกหลอกเสียเงินเสียทองเยอะ

3. ปัญหาเรื่องการก่อสร้างแต่ละแห่งมีกฎระเบียบมากมาย ค่าครองชีพสูง ค่าก่อสร้างก็ต้องสูงตามไปด้วย ช่างที่ได้ก็อาจจะไม่ได้ดังใจ ครั้นจะเอาช่างไทยไปก็เสียโสหุ้ยสูง ในที่สุดก็บานปลาย แต่ถ้ามีเงินเสียอย่าง ก็สบายไปร้อยแปดอย่าง

4. ปัญหาเรื่องคนหรือพนักงานต่าง ๆ นี่สิ น่าหนักใจ เพราะต้องหาผู้ที่ชำนาญงานจริง ๆ มาทำ ชนิดมาฝึกงานก่อนแล้วค่อยเก่งทีหลังแบบในเมืองไทยเราที่หิ้วถุงกระดาษมาใบเดียว แล้วมาเป็นแม่ครัว พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ อะไรนี่ อย่าคิดกระทำ เพราะเมืองนอกไม่ใช่เมืองไทย ถ้าพลาดแล้วโศกาไปอีกนาน คติของนักบริหารเขาสอนว่า งานจะเดิน เราต้องจ้างพนักงานที่มืออาชีพจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่เวลาสมัครงาน คุยฟุ้งว่ามืออาชีพ แต่พอทำงานเข้าจริง ๆ เหลวไม่เป็นท่า แล้วเอาไปเมืองนอกนะ ไหนจะค่าเดินทาง ไหนจะเงินเดือนแพง ๆ ถ้าไปได้คนที่เก่งไม่จริงคุณจะเก๊กซิมแค่ไหน คิดดูเถอะ ยิ่งกว่านั้น บางประเทศมีกฎหมายแรงงาน มีกฎหมายในการเอาคนเข้าประเทศยุ่งยากมาก แม้กฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุขอะไรพวกนี้ก็เป็นอุปสรรคเกี่ยวกับร้านอาหารไทยในต่างแดนทั้งสิ้น

5. บางประเทศ วัตถุดิบในการทำอาหารไทยหายาก ต้องใช้วัตถุดิบของเขามาดัดแปลงรสชาติอาหารก็เพี้ยนไป ครั้นจะสั่งวัตถุดิบจากเมืองไทย บางประเทศก็กีดกันต่าง ๆ นานา เอาเข้าไปได้ ราคาก็สูง เอาไปทำอาหารขายราคาแพงก็สู้คู่แข่ง (ที่เป็นร้านอาหารไทยปลอม ๆ ชาติอื่นลงทุนทำ) ไม่ได้ เพราะคนกินไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเป็นไทยแท้ อะไรเป็นไทยเพี้ยน เขาเห็นว่าแพงกว่า เขาก็ไม่อุดหนุน ร้านเราก็เ***่ยวแห้งหัวโตแย่ซิครับ เพราะเหตุนี้กระมัง เวลาผมลองไปกินอาหารที่ร้านไทยในต่างประเทศ ก็จะพบว่า อาหารบางจานแต่ละร้านรสชาติและส่วนผสมไม่เหมือนกันเลย ร้อยร้าน ก็ร้อยอย่าง เช่น ผัดไทย หมี่กรอบ เป็นต้น
6. ต้องใช้เวลากว่าคนจะรู้จัก ร้านอาหารไทยที่เขาเปิดอยู่ก่อนเขาย่อมมีแฟนพอสมควร พอเราไปเปิดใหม่กว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดเรียกลูกค้าให้มาอุดหนุนคับคั่งได้ก็เหงื่อตก ตรงนี้ก็ต้องใช้วิทยายุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายกันหน่อยล่ะ แต่จิตวิทยาที่ใช้กับสังคมเมืองนอกกับสังคมเมืองไทย ไม่เหมือนกัน เราใช้ในเมืองไทยอาจจะได้ผลดี แต่ใช้ที่เมืองนอกอาจจะเหลวก็ได้ ต้องคิดให้ดี การโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าต้องใช้เงิน เขาคำนวณกันว่าค่ากิจการนี้จะต้องใช้ราว 5% ของค่าก่อสร้างร้านทีเดียวล่ะ

ปัญหาอื่น ๆ ยังมีอีกเยอะครับ แต่ผมก็เชื่อว่า พี่ไทยเราเสียอย่าง ถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำสำเร็จ เพราะมีลูกศิษย์ของผมหลายคนมีร้านอาหารในเมืองนอกกันเยอะแยะเกือบจะทั่วโลก เขาว่ากว่าจะตั้งตัวติดก็ลำบากตรากตรำเอาการทีเดียว ของพรรค์นี้ขึ้นอยู่กับความอดทนและความพยายามครับ

ถาม 2. เห็นทางราชการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนไทยไปทำงานเกี่ยวกับร้านอาหารในเมืองนอกกันคึกคัก ผมก็อยากจะไปขุดทองกับเขาบ้าง ผมควรจะทำยังไงดีครับ?

ตอบ ต้องถามตัวเองก่อนครับว่า มีใจรักในเรื่องการทำอาหารและการบริการหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแต่จะได้ดอลลาร์เข้ากระเป๋าท่าเดียว แต่พอไปเจองานที่นั่นเข้าจริง ๆ ก็แทบร้องไห้ เพราะคนที่นั่นล้วนแต่ตัวหัวกะทิ ถ้าเราเป็นแค่หางกะทิ หรือน้ำเปล่า ก็จะถูกเขาข่มเอา บางคนเล่าว่าไปอยู่แรก ๆ ตอนกลางคืนแอบนอนร้องไห้ คิดถึงตัวเอง คิดถึงบ้าน

ถ้าไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องอาหารไทย หรือรู้มาบ้าง แต่ไม่รู้หลัก ไม่รู้สูตรที่แท้จริง ก็ควรจะหาที่เรียน เพราะการเรียนทำอาหารไทยไปก่อน คุณจะได้เปรียบในแง่ที่เดินทางลัดไปบ้างแล้ว ไม่ต้องไปเป็นคนล้างจาน แล้วอาศัยครูพักลักจำเอา ความจริงกุ๊กหรือเชฟคนไทยทั้งหลาย เกือบ 90% ก็ล้วนแต่เก่งโดยการอาศัยวิธีครูพักลักจำนี่แหละครับ แล้วก็ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อย ๆ จากเด็กล้างจานเรื่อยขึ้นไปเป็นเด็กหั่นผัก หั่นเนื้อ กว่าจะได้ขั้นเตรียมของให้พ่อครัวได้ก็ต้องใช้เวลาอยู่นาน บางคนนับเป็นปี ๆ เพราะฉะนั้น การได้เรียนไปก่อนบ้าง มีประกาศนียบัตรด้วยจึงเป็นการแสดงว่า เราก็ไม่ใช่คนบ้อท่าจนเกินไป อย่างน้อยก็เป็นศิษย์มีครู

เมื่อเรียนแล้ว ก็ต้องหมั่นฝึกฝนใช้มีด ใช้ตะหลิวให้แคล่วคล่อง หมั่นทำอาหารที่เราเรียนมาให้เก่งตรงกับสูตร อย่าเพิ่งไปคิดดัดแปลง ถ้าเรายังไม่เก่งให้ยึดสูตรที่เรียนไปก่อน เอาไว้เมื่อไหร่มือแน่ เขย่าเครื่องปรุงได้รสชาติดังใจแล้ว ค่อยคิดประยุกต์สูตรต่อไป

การประยุกต์สูตรเป็นเรื่องของกุ๊กหรือเชฟชั้นเซียน คือจะต้องรู้จักอาหารเอกของชาติต่าง ๆ ทั่วสิบทิศ ต้องรู้จักอย่างดีด้วย แล้วค่อยมาคิดเอาอาหารเหล่านั้นมาทำอาหารไทย เรื่องแบบนี้ในอดีตท่านทำมาเยอะแล้ว เพราะอาหารไทยที่เราเห็น ๆ ก็จะพบว่า บางอย่างก็ประยุกต์มาจากต่างประเทศ เช่น แกงมัสมั่น ก็มาจากเปอร์เซีย ผัดเปรี้ยวหวานก็มาจากจีน แม้แต่ไข่เจียวก็ยังมาจากจีน แล้วอย่างซ่าหริ่ม หรือหมูสะเต๊ะก็ทั้งนั้นเลยจากมาเลย์ แต่ทว่าคนสมัยก่อนท่านฉลาดท่านดัดแปลงประยุกต์ของเขามาให้เข้ากับลิ้นคนไทยอย่างแนบเนียน แล้วในที่สุดอาหารเหล่านั้นก็แปลงสัญชาติเป็นไทยปรากฏยั้งยืนยงอยู่ได้จนทุกวันนี้

สมัยนี้ การทำอะไรทุกอย่างขึ้นอยู่กับเวลาถ้าเรามัวแต่เอ้อเอิงเงย เรียนกันเป็นเดือน หรือเป็นปี อาจารย์ก็พร่ำแต่สอนทฤษฎี สอนจนท่วมหัว แต่ปฏิบัติน้อย จบออกมาน้อยคนเต็มทีที่จะโดดเข้าทำงานได้เลย สมัยนี้คุณก็รู้อยู่แล้วว่า เป็นสมัยที่ต้องช่วงชิงโอกาส ผมได้ทราบว่า ในต่างประเทศนั้นเขาต้องการแม่ครัว พ่อครัวที่ชำนาญงานอาหารไทยนับเป็นพัน ๆ คน ถ้าเรามัวแต่สอนเอาแต่ทฤษฎีเพราะกลัวจะอายฝรั่งอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ทันเขา คนอื่นเขาก็คว้าพุงปลามัน ๆ ไปกินก่อน สมัยนี้ การเรียนการสอนจึงต้องทำให้รวดเร็วแบบผู้ใหญ่ ให้รู้ทฤษฎีบ้างอย่างไม่อายเขานักแต่ต้องหนักไปในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรอาหารที่เราจำเป็นจะต้องไปใช้ในเมืองนอก ถ้าเรียนจบก่อน รู้ก่อน ชำนาญก่อน เราก็คว้างานไว้ได้ก่อนครับ

เพราะฉะนั้น คนที่มีพื้นทางด้านการทำครัวมาก่อน จึงมักจะได้เปรียบ พอได้รับการแนะจากครูอาจารย์ผู้สอนไม่มาก ก็สามารถบินปร๋อได้เลย

แต่ยังก่อน การจะบินปร๋อไปทำอาหารไทยที่เมืองนอกนั้น มันไม่ง่ายเหมือนพูดหรอกครับ เพราะปัญหายุ่งยากมันอยู่ที่การขอวีซ่า ส่วนใหญ่แล้วบางประเทศพอไปบอกว่าเราจะไปทำงานร้านอาหารไทยในเมืองเขา เขาจะเซย์โน สาว ๆ บางคนถูกเจ้าหน้าที่สถานทูตถามทำนองว่า เมืองไทยไม่มีที่ทำมาหากินแล้วหรือ? เจ็บกระดองใจไหมล่ะ?

บางสถานทูตต้องเสียค่าธรรมเนียมยื่นวีซ่าล่วงหน้าก่อนสามสี่พันบาท จะได้ไปหรือไม่ได้ไปก็ไม่รู้ล่ะ ต้องเสียให้เขาก่อน พอไปยื่นเข้าก็ต้องหงายหลัง เขาไม่ให้ไปทั้ง ๆ ที่บางคนอ้างสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นแสน ๆ พ่อก็ยังไม่ยอมให้ไป

บางสถานทูตอีกเหมือนกัน ถ้ารู้ว่าเราจะไปทำอาหารไทยที่เมืองเขา จะบอกว่า เขาไม่เชื่อว่าเราจะทำอาหารไทยได้ ต้องผ่านการทดสอบจากบริษัทหรือคนของเขาเสียก่อน นั่นหมายความว่า ต้องเสียเงินเป็นหมื่นให้กับคนชิมที่ไม่ใช่คนไทย แล้วเขาจะรู้ได้ยังไงว่า อาหารไทยที่แท้นั้นเป็นอย่างไร?

ผมทราบมาว่า ทางราชการไทย เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ หรือทางกระทรวงแรงงาน ก็พยายามเร่งให้คนไทยที่มีฝีมือทางด้านทำอาหารไทยไปทำมาหากินเอาเงินตราต่างประเทศมาเข้าไทย จนมีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานช่างอาหารไทยเป็น 3 ระดับ คือ ระดับผู้ช่วยกุ๊ก ระดับกุ๊ก และระดับหัวหน้ากุ๊กหรือเชฟ ผมเองก็ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการกะเขาด้วย แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ดังใจปรารถนาทั้งของทางราชการและของประชาชนอยู่นั่นเอง

ระเบียบปฏิบัติอะไรที่เอาแต่ทฤษฎีมากมายยุ่งยาก แต่พอปฏิบัติเข้าจริงไม่ค่อยได้ผล สู้ระดับเอกชนเขาทำงานกันไม่ได้ รวดเร็ว และมีคุณภาพกว่า ทำไมไม่ใช้เขาให้เกิดประโยชน์ ทางราชการก็ยังได้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เอาไปใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นได้อีกเยอะแยะ

ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับการทดสอบฝีมือพ่อครัวแม่ครัวที่จะไปเมืองนอก ไม่ใช่จะเพียงกำหนดว่า ถ้าผัดไทย ต้มยำกุ้งได้ก็ไปได้แล้ว ก็ออกจะเสี่ยงไปหน่อย เพราะการเป็นพ่อครัวแม่ครัวจริง ๆ ต้องทำได้รอบด้าน เพราะฉะนั้น การทดสอบจึงจะต้องมีการสุ่มให้แต่ละคนลองทำแต่ละอย่าง เช่น ทำพะแนง แกงมัสมั่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ดเป็ดย่าง หมี่กรอบ ฯลฯ ที่ไม่ซ้ำกันแต่ละคน แล้วดูซิว่า อาหารที่กำหนดให้ทำนั้นอร่อยหรือพอผ่านได้หรือเปล่า ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวกว่า เด็กคนนั้นเป็นลูกศิษย์ของคนโน้นคนนี้ หรือทำอาหารตามสูตรของท่านโน้นท่านนี้ แต่ถ้าเขาทำอร่อยโดยฝีมือเขาเองแล้ว ก็ถือว่าใช้ได้ให้ผ่านได้เลย

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่ทางราชการจะต้องมีการติดต่อแบบทวิภาคีกับชาตินั้น ๆ ที่เราจะส่งคนเข้าไปทำงาน โดยมีการเปิดไฟเขียวให้ความสะดวกบ้าง อย่าให้เขาต้องมะงุมมะงาหราหาทางไปเองตามยถากรรมเหมือนทุกวันนี้ครับ

เมื่อได้ไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งนึกว่า เราจะต้องไปได้ตำแหน่งกุ๊กหรือใหญ่โตอะไรก่อน เพราะในสถานที่ที่เราไม่คุ้นเคย เราต้องทำตัวเป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกรไปก่อนครับ คนอยู่ก่อนเขาจะได้สงสารหรือถ้าเขาจะข่มก็จะได้ข่มน้อยหน่อย เอาไว้เมื่อไหร่วิทยายุทธ์แก่กล้าพอตัวแล้ว จะเล่นตัว เล่นเงินเดือนสูงยังไง หรือจะขยับขยายงานยังไง ก็ค่อยว่ากันต่อไปครับ

ร่ำรวยเป็นเศรษฐีแล้วอย่าลืมเมืองไทยล่ะครับ กลับมาปักหลักบ้านเราดีกว่า สบายใจกว่ากันเยอะเลย...
ข้อความนำมาจากคุณพลศรี แม่บ้านทันสมัยเขียนไว้ดีมากสำหรับคนที่คิดว่าลงทุนเปิดร้านไม่ว่าจะต่างแดนหรือในไทยนำไปคิดให้รอบคอบก่อน

เป็นรูปอาหารไทยที่ขายต่างแดน

ส่วยรูปนี้เป็นอาหารจานเดียวประเภทเส้นๆ


Create Date : 09 ตุลาคม 2549
Last Update : 13 ตุลาคม 2549 9:14:51 น. 0 comments
Counter : 519 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

noi48
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรื่องของคนในครัว กับ เจ้าของร้านผู้เสียจริต
Friends' blogs
[Add noi48's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.