กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กรกฏาคม 2564
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
space
space
31 กรกฏาคม 2564
space
space
space

หากต้องการเข้าถึงความจริง มนุษย์ต้องเข้าใจตัวเขาเอง




393ตรัสรู้ธรรม คือ รู้เรื่องธรรมดา393

 93 การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้านั้น คือการค้นพบสัจธรรมความจริง และความจริงที่ว่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา ตามพุทธพจน์ว่า

     "ตถาคตทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงที่ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันอยู่แล้ว ว่าดังนี้ๆ

     ตถาคตทั้งหลาย ได้ค้นพบความจริงนั้นแล้ว จึงนำมาเปิดเผย แสดง ชี้แจงให้เข้าใจง่าย และวางเป็นหลักลงว่า ดังนี้ๆ" (องฺ.ติก.20/576)

      นี่คือพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าได้รู้ว่าเป็นเรื่องของธรรมดาแห่งธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว

      เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์จึงได้ทรงเปล่งอุทานว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา เป็นต้น ซึ่งมีคำแปลเริ่มต้นว่า

      เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ คำว่า "พราหมณ์" ในที่นี้  หมายถึง ท่านผู้บำเพ็ญปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามสูงสุด คือ เป็นคำเก่าที่เขาใช้กันสืบมา พระองค์ก็นำมาใช้ด้วย
 
     "เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ทั่วถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุ"  (ขุ.อุ.25/38)

     อันนี้เป็นพุทธพจน์ที่แสดงหลักความจริงที่ตรัสรู้ส่วนหนึ่ง คือ แสดงถึงกฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

     ความจริงที่บอกว่ามีอยู่ตามธรรมดา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้ คือ อะไร ก็คือมาค้นพบความจริงของกฎธรรมชาติ แห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยคือการที่ผลเกิดจากเหตุ และเหตุก่อให้เกิดผล ที่เรียกกันง่ายๆว่ากฎปฏิจจสมุปบาทหรือเรียกเต็มว่าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง

ต่อนั้น พระองค์ก็ตรัสต่อไปเป็นคาถาที่สอง มีข้อความคล้ายๆกันว่า

    "เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย" (ขุ.อุ.25/39)

      อันนี้ก็คือการที่พระองค์ตรัสอ้างอิงไปถึงธรรมอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัย ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ได้แก่ พระนิพพาน

ท่อนที่หนึ่ง   แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท อันว่าด้วยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย

ท่อนที่สอง   แสดงถึงพระนิพพานที่เป็นธรรมพ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง

ท่อนที่สาม  คือ  ต่อจากนั้น เมื่อได้รู้อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท พร้อมทั้งพระนิพพานแล้ว คาถาสุดท้ายก็แสดงถึงผลของการตรัสรู้ว่า ปัญญาที่ตรัสรู้ของพระองค์ ทำลายความมืดแห่งอวิชชาได้หมดไป เหมือนอย่างดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมาทอแสง 139ทำให้เห็นสิ่งทั้งหลายในโลกนี้สว่างกระจ่างชัดเจน

    "เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจดวงอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืดส่องฟากฟ้าให้สว่างเจิดจ้าฉะนั้น"   (ขุ.อุ.25/40)

     สามคาถานี้ คือ พุทธพจน์ที่เรียกว่า เป็นปฐมพุทธพจน์ ตามที่อรรถกถาอธิบายไว้

     เป็นอันว่า พระพุทธเจ้ารู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา คือ กฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พร้อมทั้งธรรมที่พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง คือ นิพพาน
 
     นี่แหละเป็นเรื่องที่ดูคล้ายๆว่าง่ายๆ เพราะถ้าเราจะตอบชาวบ้านเวลาเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร หรือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เราตอบในความหมายหนึ่งง่ายๆ ก็บอกว่า ตรัสรู้ธรรมดานี่เอง เพราะว่า ตรัสรู้ธรรมก็คือรู้ธรรมดา แต่ว่าธรรมดานี่แหละ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด

    ความจริงนั้นมีอยู่ เป็นของธรรมดา มันมีอยู่ตลอดกาล ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะเห็นหรือไม่เห็น ความจริงก็มีอยู่อย่างนั้น

    แต่เพราะมนุษย์ไม่รู้ความจริงที่เป็นธรรมดานี่แหละ เขาจึงดำเนินชีวิตไม่ถูกต้อง แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชีวิตของตนเอง ปัญหาในสังคม และปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างทุกประการ

    แต่ถ้ามนุษย์รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี้เมื่อใด   เมื่อนั้นเขาก็ปฏิบัติถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อปฏิบัติถูกต้อง   ก็ไม่เกิดปัญหา ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี เรียบร้อย ชีวิตก็ดีงาม ประเสริฐ มีความสุข

    ฉะนั้น   ปัญหาของมนุษย์นี้ ในที่สุด เมื่อสืบสาวลึกลงไป ก็อยู่ที่การไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงเท่านั้นเอง แล้วจึงมาถึงขั้นปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้วก็เกิดปัญหา

     ดังนั้น   เมื่อมองในแง่หนึ่ง เรื่องของการตรัสรู้นี้ก็เหมือนกับว่าไม่มีอะไรมาก ก็คือการเข้าถึงธรรมดา หรือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา    แต่ตัวความจริง ตัวธรรม หรือธรรมดาอันนี้แหละ ที่เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด    ถ้าเราเข้าถึงความจริงเมื่อใด   ทุกอย่างก็ลงตัวเรียบร้อย

     แม้แต่วิทยาศาสตร์อย่างที่เรารู้จักกันนี่ ก็ไม่ได้ทำการพิเศษอะไร วิทยาศาสตร์ก็พบธรรมดานี่แหละ คือค้นพบความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ พูดสั้นๆว่า ค้นพบธรรม และเป็นธรรมเพียงด้านเดียว คือ วุ่นอยู่แค่รูปธรรม แต่ก็เพียรพยายามทำกันมาเป็นกิจการใหญ่โต ลงทุนลงแรงไปไม่รู้เท่าไร เพื่อจะหาความจริงตามธรรมดานี่แหละ แล้วก็ค้นพบกันมาทีละน้อยๆ

    ไปๆ มาๆ วิทยาศาสตร์ก็ค้นพบความจริงทางด้านวัตถุด้านเดียว และก็ยังไม่ทั่วตลอด ไม่ถึงที่สุด

     แม้แต่ความจริงเพียงด้านวัตถุอย่างเดียว ก็ยังใช้เวลาและแรงงานกันไม่รู้ว่าเท่าไร และบัดนี้ก็ยังหาได้ถึงความจริงนั้นไม่

      สิ่งที่ค้นพบในทางวิทยาศาสตร์สมัยหนึ่งว่าอย่างๆ   นึกว่าค้นพบความจริงแท้แล้ว  แต่เวลาผ่านไปอีก ๒๐ ปี ๕๐ ปี  ๑๐๐ ปี  นักวิทยาศาสตร์รุนหลังที่มีเครื่องมือทันสมัยยิ่งขึ้น  และมีประสบการณ์จากคนรุ่นก่อนทำไว้ให้มากกว่า   ก็ค้นพบว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนค้นพบไว้นั้นไม่จริงแท้เสียแล้ว  เพราะว่ามองความจริงไม่ทั่วถึง   มองเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์โยงกันไม่รอบด้าน   ก็กลายเป็นว่า   สิ่งที่ค้นพบเก่านั้น  เป็นเท็จไป

      เมื่อค้นพบความจริงใหม่  ก็ประกาศว่า อันนี้ถึงจะจริง   ต่อไปก็ค้นพบอีกว่า  อันนั้นก็อาจจะไม่จริงอีก    ก็เป็นกันอย่างนี้เรื่อยมา

      จุดยอดปรารถนาหรือความต้องการสูงสุด   ก็อันเดียว  คือ  ต้องการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี่เอง   แต่มนุษย์ก็วนเวียนอยู่กับแง่มุมต่างๆของมัน

      สำหรับธรรมที่เปิดเผยไว้ด้วยปัญญาตรัสรู้ในพระพุทธศาสนานั้น   เรามองเห็นกันว่า  เป็นความจริงที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง  ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น   เป็นหลักการใหญ่ที่ไม่จำกัดเฉพาะด้านวัตถุอย่างเดียว   และไม่จำกัดเฉพาะนามธรรม   แต่ท่านมองครอบทุกอย่าง   ทั้งรูปธรรมและนามธรรม   ที่เราเรียกกันว่า  นามรูป 

     เราถือกันว่า  ชีวิตมนุษย์ เป็นสุดยอดของสิ่งทั้งหลายบรรดามีในโลก  ถ้าเราไปค้นพบแต่เพียงวัตถุ  เราก็ได้เพียงด้านเดียวของธรรม    และเข้ามาถึงตัวเราก็แค่ด้านร่างกายเท่านั้นเอง

      ยิ่งกว่านั้น  ในเมื่อรูปธรรม กับ นามธรรมมันอิงอาศัยกันอยู่  การรู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียว  ก็ไม่ทำให้เข้าใจแม้แต่อย่างเดียวนั้นได้ถูกต้องถ่องแท้

     ชีวิตของมษย์นี้   เป็นสิ่งที่มีทุกอย่างรวมอยู่พร้อมในตัว   จะว่าทางด้านวัตถุ  ก็คือส่วนที่เรียกกันง่ายๆ  ว่า   ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ซึ่งกลั่นกรองมาสุดยอด    จึงมาเป็นร่างกายของเรา   นอกจากร่างกายแล้ว   เรายังมีส่วนจิตใจอีก  ซึ่งเป็นนามธรรม  รวมเรียกว่า  ขันธ์  ๕  มีรูป  มีเวทนา  มีสัญญา  มีสังขาร  มีวิญญาณ   ทั้ง  ๕  อย่างนี้ละ  เป็นชีวิตของมนุษย์

     พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรม  ตรัสรู้ความจริงแห่งกฏธรรมชาติที่ครอบคลุมทั้งเรื่องนามธรรม และรูปธรรม    เพราะฉะนั้น    จึงเป็นความจริงที่มีความสมบูรณ์ในตัว   ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะด้าน

     เวลานี้ การค้นคว้าทางวิชาการต่างๆ ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามามาก แต่ไปเน้นเพียงด้านวัตถุ ก็จึงจำกัดตัวเองให้ค้นพบความจริงไม่ทั่วถึง ยังจะต้องพิสูจน์ค้นคว้ากันต่อๆไป

    จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ วิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจเรื่องจิตใจ เปลี่ยนจากแต่ก่อนนี้ที่ถือว่า จิตใจเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน เป็นเรื่องที่ขึ้นต่อความรู้สึก ไม่เกี่ยวกับความจริงในธรรมชาติ แล้วก็ยังแถมแยกคนออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากธรรมชาติอีกด้วย เป็นกันมาตลอดประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก จนกระทั่งเวลานี้จึงกลับหันมาสนใจเรื่องนามธรรม และถามเอาจริงเอาจังขึ้นมาว่า จิตใจ คือ อะไร 111

    ถ้ามนุษย์จะเข้าถึงความจริงแท้  เขาหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจตัวมนุษย์เอง   ถ้าเข้าใจตัวมนุษย์เองแล้ว    กล่าวได้ว่าเข้าใจหมดทุกอย่าง  เพราะว่า   ตัวมนุษย์นี้เป็นสุดยอดของสิ่งทั้งหลายบรรดามีในโลกและในสากลพิภพ  ดังนั้น   พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราค้นพบตัวเอง  ให้รู้จักตัวเอง   ให้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในขันธ์  ๕  นี้

    เมื่อใด  เข้าถึงความจริงนี้แล้ว ก็จะทำให้เราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ทั้งภายใน และภายนอก ถ้าปฏิบัติต่อชีวิตจิตใจของตัวเองยังไม่ถูกต้อง ก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายภายนอกให้ถูกต้องไม่ได้ด้วย และก็จะแก้ปัญหาไปจบไม่สิ้น
 
    ปัญหาทุกอย่างนั้น มันโยงกันไปหมด มีเหตุปัจจัยถึงกัน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในที่สุดมนุษย์จะหนีไม่พ้น ที่จะต้องทำความเข้าใจตัวมนุษย์เองให้ชัดเจน

    คนจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยทั้งกายและใจ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม พระพุทธเจ้าได้ทรงจับจุดของความจริงนี้ คือค้นพบความจริงของชีวิตนี้ทั้งหมด ทั้งนามธรรม และรูปธรรม โดยมองเห็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่ครอบคลุม
 
    เพราะฉะนั้น โพธิญาณของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ให้ถึงสัจจะ ไม่มีการเคลื่อนคลาดเปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ถึงปัจจุบันนี้ ก็ไม่เห็นว่าจะมีการคลาดเคลื่อนไป ยิ่งเวลาผ่านไป เราก็ยิ่งเห็นคุณค่าแห่งพระธรรมที่พระองค์ประกาศไว้มากขึ้นทุกที



- ตรัสรู้   รู้แจ้ง  หมายถึงรู้อริสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

- ธรรมดา     อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ, สามัญ, ปกติ, พื้นๆ

- ธรรมชาติ    ของที่เกิดเองตามวิสัยของโลก เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นต้น

 


 




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2564
0 comments
Last Update : 1 ธันวาคม 2566 17:15:11 น.
Counter : 1207 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space