กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กรกฏาคม 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
5 กรกฏาคม 2565
space
space
space

แทรกเสริม




235 ระบอบการปกครองครั้งพุทธกาลมี ๒ ระบอบ คือ แบบสาธารณรัฐ กับ แบบราชาธิปไตย   

    ก. ในแง่ระบบเศรษฐกิจ – การเมือง   มักมีคำถามว่า   ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง แบบไหน ถูกต้องหรือไปกันได้กับพระพุทธศาสนา เรื่องนี้ อย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธศาสนาจะต้องตอบ หรือหากไม่ถือว่าตีโวหาร ก็อาจต้องย้อนว่า ระบบไหนที่ปฏิบัติได้ตามหลักการของพระพุทธศาสนา ก็ระบบนั้นแหละ   

    ความจริงระบบต่างๆนั้น เป็นเรื่องในระดับวิธีการ และเรื่องของวิธีการนั้น ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ย่อมเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงไปได้ ตามปัจจัยแวดล้อม ทั้งในทางกาละและเทศะ สิ่งที่ต้องพูดก่อนก็คือ หลักการและวัตถุประสงค์

   สาระสำคัญของโภคทรัพย์  ข้อ  ข. คือ เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุน ช่วยให้มนุษย์สามารถจัดสรรความเป็นอยู่ของพวกตน ให้สะดวก และเกื้อกูลแก่การที่จะอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข และมีความพร้อมยิ่งขึ้น ที่จะทำสิ่งดีงาม บรรลุความดีงามที่ยิ่งๆขึ้นไป เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน หรือแก่ใครก็ตาม ก็คือมีปัจจัยอุดหนุนเกิดขึ้นแล้วในสังคม มนุษย์ทั้งหลายควรจะสามารถมีชีวิตที่ดีและเจริญงอกงามยิ่งขึ้น

  ระบบวิธีทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง อันหนึ่งอันใดก็ตาม สามารถทำให้สำเร็จผลด้วยดีตามความหมายแห่งหลักการและวัตถุประสงค์นี้ ระบบวิธีนั้น ก็สอดคล้องกับพระพุทธศาสนา

  ส่วนที่ว่า ระบบวิธีเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัยแวดล้อมแห่งกาละและเทศะนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่น ในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เป็นชุมชนเฉพาะกิจเฉพาะวัตถุประสงค์ ทรงจัดวางวินัยให้พระภิกษุไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว นอกจากบริขาร ๘ แต่ให้ทรัพย์สินเป็นของสงฆ์ คือส่วนรวมหรือของกลางนั้น   ในเวลาเดียวกัน  สำหรับสังคมของชาวโลก  ซึ่งขณะนั้น มีการปกครองในชมพูทวีป ๒ แบบ ก็ทรงสอนหลักอปริหานิยธรรม  สำหรับรัฐที่ปกครองแบ สามัคคีธรรม หรือแบบสาธารณรัฐ และ ทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตร   สำหรับรัฐที่ปกครองแบบราชาธิปไตย  

   
เรื่องนี้ แสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพุทธธรรมด้วย คือ พุทธธรรมไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญา หรือเรื่องของนักคิด  แต่เป็นเรื่องของศาสนานักปฏิบัติ ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ดำรงชีวิตจริง ท่ามกลางสภาพสังคมและสถานการณ์ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้นๆ ต้องสอนสิ่งที่เขาใช้ได้ ปฏิบัติได้ ให้เกิดประโยชน์สุขแก่เขาตั้งแต่ปัจจุบัน  ดังที่เรียกว่า   ทรงสอนความจริงที่เป็นประโยชน์   หากจะต้องรอจนกว่าหลังจากสถาปนาระบบที่ว่าดีที่สุด ซึงความจริงก็ยังเป็นเพียงระบบที่หวังว่าดีที่สุด เสร็จแล้ว จึงค่อยใช้ระบบนั้นทำให้ประชาชนประสบประโยชน์สุข  อย่างนี้จะพ้นจากความเป็นการปฏิบัติที่เลื่อนลอย และพ้นจากความงมงายได้อย่างไร

   ในเมื่อทั้งระบบสามัคคีธรรมก็มีอยู่ ทั้งระบบราชาธิปไตยก็มีอยู่ ในเวลานั้น ก็เป็นอันว่า ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย พระศาสดาก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข  ประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบสามัคคีธรรม พระองค์ก็ต้องช่วยให้เขาอยู่ดีมีสุข

   สำหรับระบอบแรก  ทรงเน้นให้ผู้ปกครองมองเห็นยศศักดิ์อำนาจ เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร มิใช่ เป็นเครื่องมือแสวงหาสิ่งปรนเปรอบำเรอสุขส่วนตน

   สำหรับระบอบหลัง  ทรงแนะนำหลักและวิธีการที่จะดำเนินกิจการให้เข้มแข็งมั่นคงได้ผลดี

   ในระยะที่ระบอบราชาธิปไตยเจริญในทางดีงามสูงสุด  คติธรรมแนวพุทธนี้ ก็ได้เป็นหลักการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช  ดังดำรัสของพระองค์ในศิลาจารึกว่า

   “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติ จะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติ เพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้ และในเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลาย จงตั้งใจฟังคำสอนธรรมของข้า ฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติในทางธรรม”  (ดู ธรรมโองการ จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ ในจารึกอโศก (หนังสือ Asokan Edicts หรือ Asokan Inscriptions ฉบับใดก็ได้)

   เมื่อจับสาระที่เป็นหลักการ และความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ได้แล้ว การที่จะวินิจฉัยว่า ระบบใด ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการและความมุ่งหมายนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดกันยึดยาว ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้รู้เชียวชาญเกี่ยวกับระบบนั้นๆ จะพึงถกเถียงกัน หรือหากจะคิดวางระบบวิธีใหม่ที่ถูกต้องได้ผลดียิ่งกว่าระบบต่างๆเท่าที่มีอยู่ขึ้นมาได้ ก็คงจะยิ่งเป็นการดี


   ข. ในแง่สังคม    ตามหลักพระพุทธศาสนา  ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิต ไม่ใช่จุดหมายของชีวิต ทรัพย์จึงควรเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกมากขึ้น และพร้อมมากขึ้น ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำกิจที่ดีงาม เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป
 
   ทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน แก่บุคคลใด ก็ควรเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่มนุษย์ เป็นปัจจัยอุดหนุนให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีงามได้มากยิ่งขึ้น
 
   ตามหลักการนี้ เมื่อทรัพย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้หนึ่ง ก็คือทรัพย์เกิดขึ้นแก่มนุษย์ หรือมีทรัพย์เกิดขึ้นแล้วในสังคม เมื่อบุคคลผู้หนึ่งมั่งมีขึ้น สังคมก็พลอยยิ่งเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น ทรัพย์เกิดขึ้นแก่คนดีหนึ่ง ก็เท่ากับเกิดขึ้นแก่สังคมด้วย บุคคลดีที่มั่งมีขึ้นนั้น เป็นเหมือนเนื้อนาที่ข้าวงอกงามขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง  (พึงอ้างพุทธพจน์ว่า สัตบุรุษเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งปวง  (องฺ.อฏฺฐก.23/128/249)  และพุทธพจน์ที่ว่า ทรัพย์มีแก่คนดี เหมือนมีสระน้ำในที่ใกล้บ้าน ทุกคนได้กินใช้สุขสดชื่น แต่ทรัพย์มีแก่คนร้าย เหมือนสระน้ำอยู่ในถิ่นอมนุษย์ ถึงจะใสดีรื่นรมย์ ก็ไร้ประโยชน์. สํ.ส.15/387-9/130-1)
 
   คนมั่งมีตามหลักการนี้ พึงยินดีเอิบอิ่มใจ ที่ได้มีความสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทน เป็นเจ้าการ หรือมีเกียรติ เหมือนได้รับความไว้วางใจจากสังคม ในการจัดหาทรัพย์มาช่วยอุดหนุนหล่อเลี้ยงเพื่อนมนุษย์ในสังคมของตน ให้อยู่สุขสบาย และมีโอกาสทำกิจทีดีงาม  (เทียบกับคติการเกิดขึ้นแห่งอำนาจ และผู้ปกครองตามคติพุทธศาสนา เช่น ในอัคคัญญสูตร (ที.ปา.11/62/101) เศรษฐีชาวพุทธ เช่น อนาถบิณฑิก ดำเนินตามปฏิปทานี้ จึงสละทรัพย์เพื่อสงฆ์และคนยากไร้ตลอดเวลายาวนาน จนหมดตัวก็ไม่เสียดาย)
 
   แต่ในทางตรงข้าม ถ้าบุคคลผู้หนึ่ง ยิ่งร่ำรวยขึ้น สังคมยิ่งซูบโทรมลง เพื่อนมนุษย์ยิ่งมีทุกข์ทรมานมากขึ้น ก็เป็นเครื่องแสดงว่า มีการปฏิบัติผิดต่อทรัพย์ ทรัพย์ไม่เป็นปัจจัยอุดหนุนตามวัตถุประสงค์ของมัน ไม่ช้าสังคมก็จะระส่ำระสาย ในที่สุด  ถ้ามิใช่บุคคลมั่งมีอยู่ไม่ได้ ก็สังคมอยู่ไม่ได้ หรือทั้งสองอย่าง สังคมอาจปลดเขาจากตำแหน่ง แล้ววางระบบวิธีจัดหาทรัพย์ และตั้งเจ้าหน้าที่จัดสรรทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจเป็นผลดีขึ้น หรือเลวลงก็ได้ 

   แต่จะอย่างไรก็ตาม  คติก็มีอยู่ว่า  ถ้ามนุษย์ปฏิบัติผิด ทรัพย์ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์ ย่อมกลับเป็นโทษ ที่ทำลายทั้งความเป็นมนุษย์ ตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์
 
 
    ค. ในแง่รัฐ    พระพุทธศาสนามองเห็นความสำคัญของทรัพย์ในสังคมของชาวโลกว่า ความจนเป็นความทุกข์ในโลก (องฺ.ฉกฺก.22/316/393)  ความยากไร้ขาดแคลน  เป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรม และความชั่วร้ายต่างๆในสังคม  (ที.ปา.11/39/70; 45/77)  (เช่นเดียวกับความโลภ และสัมพันธ์กันกับความโลภด้วย)  และถือว่า เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองที่จะต้องคอยเอาใจใส่ ดูแล จัดสรรปันทรัพย์ ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ไม่ให้มีคนจนยากขัดสนในแผ่นดิน  (เช่น ที.ปา.11/35/65 ฯลฯ มุ่งช่วย พร้อมกับส่งเสริมความขยัน ไม่ให้จนเพราะเกียจคร้าน) ซึ่งทั้งนี้   ย่อมต้องอาศัยวิธีการต่างๆประกอบกัน และตามที่เหมาะกับสถานการณ์ 

  เฉพาะอย่างยิ่ง   การเปิดช่องทางสร้างโอกาสให้ทวยราษฎร์ทำมาหาเลี้ยงชีพเจริญก้าวหน้าโดยสุจริต  การส่งเสริมอาชีพ การจัดสรรเกี่ยวกับทุนและอุปกรณ์ ตามหลักสังคหวัตถุ ๔  (เช่น องฺ.อฏฺฐก.23/91/152 ฯลฯ)  และ การควบคุมป้องกันไม่ให้มีอธรรมการ คือ การทำการและวิธีการทั้งหลาย ที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น  โดยที่รัฐควรถือเป็นหลักการว่า  การลดหมดไปของคนยากไร้ เป็นเครื่องวัดความสำเร็จได้ดีกว่าการเพิ่มขึ้นของคนร่ำรวย และ ให้การลดหมดไปของความขัดสนนั้น เป็นผลของการจัดการทางสังคม ที่ไม่ละเลยการพัฒนาคน


(น. ๗๕๑)




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2565
0 comments
Last Update : 21 กรกฎาคม 2566 10:17:18 น.
Counter : 276 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space