กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
พฤศจิกายน 2564
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
space
space
6 พฤศจิกายน 2564
space
space
space

วิธีปฏิบัติต่อความอยาก




235 วิธีปฏิบัติต่อความอยาก


    ในทางธรรมนั้น ท่านแยกวิธีปฏิบัติต่อความอยาก ๒ ประการนี้ ความอยากประเภทที่ ๑ คือ ตัณหา ที่เกิดจากความไม่รู้ หรือเป็นไปโดยไม่มีความรู้ ซึ่งเป็นไปเพื่อการบำรุงบำเรอปรนเปรอประสาทสัมผัสนั้น ท่านบอกว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องควบคุมให้ดี หรือแม้แต่ละเลิกให้ได้ แทนที่ด้วยฉันทะ หรือเอาไว้แต่ฉันทะ


    ถ้าเรายังไม่มีฉันทะ ไม่มีปัญญามาก ตัณหา นี้ต้องใช้ในลักษณะของการควบคุม หรือเบนเอามาใช้ให้เป็นปัจจัยแก่ ความอยากประเภทที่ ๒ คือจะต้องหันเหให้เข้ามาเป็นความอยากประเภทที่ ๒ ให้ได้


    ความอยากประเภทที่ ๒ ที่เรียกว่า ฉันทะ นั้น เกิดขึ้นแล้ว ให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ฉันทะนี้จะระงับไปเอง อย่างที่ ๑ นั้น ระงับทันที หรือควบคุมทันทีเมื่อมันเกิดขึ้น หรือว่าคุมทันที หรือว่าเบนทันที ให้มันมาเชื่อมกับฉันทะให้ได้ ส่วนประเภทที่ ๒ คือฉันทะ ไม่ว่าจะเบนมาจากตัณหาก็ตาม หรือเกิดจากความรู้โดยตรงก็ตาม ให้ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ


    เพราะฉะนั้น ฉันทะนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าต้องระงับเหมือนกัน แต่ระงับด้วยการทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ปล่อยให้มันค้างอยู่ เมื่อมีฉันทะแล้วก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ นี่คือหลักสำคัญในการที่จะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า


    คนที่จะปฏิบัติธรรม จะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น ท่านถือว่า ฉันทะ เป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง ในเมื่อเราจะต้องมีฉันทะเป็นตัวเริ่มต้น เป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องแรก จึงต้องรู้จักแยกกันให้ดี ระหว่างความอยากที่ถูกต้อง หรือความอยากที่เป็นธรรม ชอบธรรม กับ ความอยากที่ไม่ถูกต้อง หรือ ความอยากที่ไม่ชอบธรรม แล้วก็เลือกปฏิบัติในความอยากที่ถูกต้องชอบธรรม และการกระตุ้นเร้าให้มันเกิดขึ้นด้วย เพราะฉันทะนี้เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง


   ในภาษาสมัยใหม่เขาใช้คำว่า แรงจูงใจ เราก็แบ่งแรงจูงใจออกเป็น ๒ ประเภท คือ แรงจูงใจประเภทตัณหา ที่ไม่สัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจ และไม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต กับ แรงจูงใจประเภทฉันทะที่เป็นไปด้วยความรู้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต


    ฉันทะหรือความอยากประเภทที่ ๒ นี้ ถ้าเราใช้ภาษาชาวบ้าน ก็จะแยกออกจากฉันทะประเภทที่ ๑ ได้ง่าย ความอยากประเภทที่ ๑ หรือตัณหานั้น ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ อยากได้ อยากมี หรือใช้อีกคำหนึ่งว่า อยากเสพ   ส่วนฉันทะหรือความอยากฝ่ายกุศล แปลว่า อยากรู้ อยากทำ หรือใฝ่รู้ ใฝ่ทำ เวลาท่านแปลเป็นภาษาบาลีโดยใช้ศัพท์เต็ม ฉันทะท่านขยายเป็น กตฺตุกมฺยตาฉนฺท แปลว่า ฉันทะคือความต้องการจะทำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญเป็นกุศล


    ความอยากทั้งสองนี้ เมื่อเอามาใช้ในแนวคิดสมัยใหม่ ก็สัมพันธ์ กับ ค่านิยม คือ อยากได้อยากมี นั้น เข้ากันกับค่านิยมบริโภค   ส่วนอยากทำ อยากรู้ เข้ากันกับค่านิยมผลิต มันสัมพันธ์กันอย่างนี้ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมในความหมายแคบๆ แต่ใช้ได้กับการพัฒนาประเทศทั้งหมดด้วย

    ปัจจุบันประเทศของเรามีปัญหาเรื่องค่านิยม และเรื่องแรงจูงใจนี้มาก คนในสังคมมีแรงจูงใจประเภทตัณหามาก และทำให้เกิดค่านิยมบริโภค ซึ่งทำให้ไม่เกิดการสร้างสรรค์ และทำให้พัฒนาประเทศไม่สำเร็จ


   คนไทยเรามักมองสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้สึกที่อยากจะมีอยากจะใช้เท่านั้น ไม่ได้คิดอยากจะผลิต ทำอย่างไรจะเปลี่ยนให้คนของเรา เมื่อเห็นอะไรที่เป็นความเจริญแล้ว อยากจะทำให้ได้อย่างนั้น


    แม้แต่ความเข้าใจ ในคำว่าเจริญนี่ คนไทยเราก็มักเข้าใจความหมายแบบนักบริโภค ถามว่าเจริญคืออย่างไร เห็นฝรั่งเจริญ เราก็บอกว่า เจริญคือมีใช้อย่างฝรั่ง เพราะฉะนั้น เราก็เป็นนักบริโภค เพราะคิดแต่หาทางให้มีอย่างเขา


    ทีนี้ ถ้าเข้าใจความหมายของความเจริญอย่างนักผลิต ก็จะมองใหม่ คือมองว่า เจริญคือทำได้อย่างเขา เราเคยมองอย่างนี้ไหม เด็กหรือคนของเรานี่ มองภาพของความเจริญว่า คือทำได้อย่างเขา มีบ้างไหม แม้แต่ว่าจะเล่น เด็กๆของเราก็มักจะเล่นเพียงเพื่อสนุกสนาน เล่นแบบนักบริโภค นักเสพ เราไม่ค่อยได้ฝึกเด็กของเราให้เล่นแบบนักผลิต หรือนักทำ


   สำหรับนักผลิตนั้น แม้แต่จะเล่นก็มีความหมายว่าเล่นแบบนักทำ คือฝึกทำอะไรต่ออะไรให้เป็น พยายามเล่นทำอะไรต่างๆให้เป็น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มันสัมพันธ์โยงกันไปหมด

   เพราะฉะนั้น จากอันนี้คือแรงจูงใจที่ผิดพลาด เมื่อมีแรงจูงใจแบบตัณหาอยู่แล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้


    ในการแก้ไขปัญหานั้น เราจะมัวมาลบล้างกำจัดตัณหากันอยู่ก็ไม่ไหว เป็นการแก้ด้านลบอย่างเดียว แต่เราก็มักจะเน้นกันมากในแง่นี้ แม้แต่ในวงการนักปฏิบัติก็ไปเน้นที่การลดละตัณหา ลดละความอยาก ไม่เน้นในด้านบวก การเน้นด้านบวกก็คือให้ส่งเสริมฉันทะขึ้นมา ทำอย่างนี้จะเป็นการดีกว่ามัวไปเน้นด้านลบ คือส่งเสริมให้เอาตัวบวกมาแทนตัวลบ เอาฉันทะมาแทนตัณหา


    ผู้ที่ปฏิบัติธรรมต้องมีฉันทะ แล้วก็ระงับความอยาก ที่เรียกว่า ฉันทะ นั้น ด้วยการทำให้สำเร็จ ซึ่งอันนี้ก็เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศด้วย เพราะความอยากมี อยากใช้ อยากได้ อยากบริโภคนั้น เป็นตัวการทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา ก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้มีความอยากทำ อยากผลิต พร้อมทั้งความอยากรู้ จึงจะพัฒนาไปได้

    ธรรมฉันทะ แปลว่า อยากในธรรม  ธรรม แปลว่าอะไร ธรรมแปลว่า สิ่งที่ดีงามและความจริง หรือความจริง ความถูกต้องดีงาม


    แง่ที่ ๑ ธรรม คือความจริง ธรรมฉันทะ ก็คืออยากในความจริง เมื่ออยากในความจริง ต้องการเข้าถึงความจริง ก็ต้องอยากรู้ เพราะฉะนั้น อยากในความจริงจึงต้องมีความอยากรู้ จึงมีความหมายของฉันทะแง่ที่หนึ่งว่า อยากรู้ หรือใฝ่รู้


    แง่ที่ ๒ ธรรม แปลว่า สิ่งที่ดีงาม ธรรมฉันทะ ก็คืออยากให้เกิดมีสิ่งที่ดีงาม เมื่ออยากให้เกิดมีสิ่งที่ดีงาม ก็ต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น สิ่งที่ดีงามจะเกิดมีขึ้นสำเร็จได้ก็ด้วยการทำ เพราะฉะนั้น ธรรมฉันทะหรือเรียกสั้นๆว่า ฉันทะก็จึงมีความหมายว่าอยากทำ


    รวมความว่า ต้องการเข้าถึงความจริง และต้องการให้สิ่งดีงามเกิดขึ้น เมื่อต้องการเข้าถึงความจริง และให้สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น  ก็ต้องอยากรู้ และอยากทำ อยากรู้ก็จะได้เข้าถึงความจริง อยากทำก็เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดมีเป็นจริงขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงแปลฉันทะว่า อยากรู้ และอยากทำ


    ในเมืองไทยปัจจุบันนี้ต้องส่งเสริมเรื่องนี้ให้มาก ส่งเสริมความใฝ่รู้ และใฝ่ทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังขาดแคลนมากในสังคมไทยปัจจุบัน


    รวมความว่า ในหลักของพระพุทธศาสนานี้ มีความอยาก ๒ ประเภท ที่เราจะต้องแยกให้ถูกต้อง อย่าไปนึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการพยายามที่มุ่งแต่เพียงลดละความอยาก แล้วก็รังเกียจกลัวความอยาก แสดงตัวว่าไม่มีความอยาก จะทำให้เกิดท่าทีที่ผิดพลาด แล้วก็เป็นภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและพระพุทธศาสนา


    อย่างที่บอกแล้วว่า ความอยากที่ถูกต้องสัมพันธ์ กับ ปัญญา ตอนแรกจะต้องรู้ การที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นความจริง และอะไรเป็นสิ่งดีงาม ก็คือต้องมีปัญญา คนเราก็จึงต้องมีการเรียนรู้


    การศึกษามีความมุ่งหมายประการหนึ่งเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง แต่แรงจูงใจที่ถูกต้องนั้น จะเกิดมีและเดินหน้าไปไม่ได้ ในเมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องดีงามคืออะไร แล้วทีนี้ เมื่อการศึกษาดำเนินไปถูกต้องแล้ว การศึกษานั้นก็ทำให้คนเกิดปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อมองเห็นคุณค่าของสิ่งใด ก็มีฉันทะในสิ่งนั้น พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา


   พระพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตที่ประเสริฐ คือชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ตอนนี้ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยตัณหา ไม่ได้เป็นอยู่ด้วยอวิชชา เปลี่ยนจากความไม่รู้ที่ทำให้ดิ้นรนไปตามความอยากซึ่งแต่จะบำรุงบำเรอตนเอง หันมามีความรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วจึงมีความต้องการในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง จึงอยากในสิ่งที่ควรอยาก คืออยากในสิ่งที่รู้ว่ามีคุณประโยชน์ ทำให้เกิดคุณภาพชีวิต


   ความอยากอย่างนี้จึงต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ก่อน หรือเป็นไปพร้อมด้วยความรู้ ความต้องการหรือแรงจูงใจที่ถูกต้องจึงเริ่มจากการมีความรู้ แต่จะมีความรู้ได้ก็ต้องศึกษาคือพัฒนาคนให้มีปัญญา เมื่อมีปัญญาจึงจะรู้จักที่จะอยากอย่างถูกต้อง แล้วก็ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง เมื่อชีวิตดำเนินไปอย่างนี้ก็จึงเป็นชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา.

172 171 172

ย้ำอีกที 450  

235 รวมความว่า ในหลักของพระพุทธศาสนานี้ มีความอยาก ๒ ประเภท ที่เราจะต้องแยกให้ถูกต้อง อย่าไปนึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นการพยายามที่มุ่งแต่เพียงลดละความอยาก แล้วก็รังเกียจกลัวความอยาก แสดงตัวว่าไม่มีความอยาก จะทำให้เกิดท่าทีที่ผิดพลาด แล้วก็เป็นภาพที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและพระพุทธศาสนา

 




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2564
0 comments
Last Update : 2 มีนาคม 2567 15:40:22 น.
Counter : 370 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space