Everything is evolving. Let it go. Anything is possible. Let's try it.

 
สิงหาคม 2548
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
19 สิงหาคม 2548
 

การปลูกเลี้ยงซิมบิเดียมทนร้อนในเขตร้อน

//www.pakkretfloriculture.co.th/

การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ซิมบิเดียมลูกผสมส่วนใหญ่นั้นง่ายและไม่ต้องการการดูแลสูง อาจเปรียบเทียบได้กับการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายที่คนทั่วไปสามารถปลูกเลี้ยงได้ โดยไม่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษแต่อย่างใด กล้วยไม้ซิมบิเดียมสามารถทนแรงกระแทกจากน้ำฝนได้ดีจึงไม่จำเป็นต้องทำหลังคากันฝน
ซิมบิเดียมชอบบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ชอบความชื้นในอากาศสูงนัก จึงไม่ค่อยเหมาะกับการเลี้ยงรวมกับกล้วยไม้บางชนิดที่ต้องการความชื้นสูงมากๆ และไม่เหมาะที่จะวางใต้กล้วยไม้แขวนอื่นๆ ส่วนบริเวณตุ้มรากควรได้รับความชื้นสม่ำเสมอ นั่นคือวัสดุปลูกต้องเก็บความชื้นได้ดี แต่ก็ต้องระบายน้ำได้ดีเช่นกัน
ไม่ควรวางกระถางปลูกบนดินโดยตรงเพราะอาจทำให้ติดเชื้อราบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคพืชได้ การวางกระถางปลูกบนพื้นที่สะอาดเช่นพื้นระเบียงหรือเฉลียงที่แห้ง สามารถกระทำได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ต้องระวังรูระบายน้ำที่ก้นกระถางไม่ควรสัมผัสพื้นโดยตรง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการอุดตันและน้ำขังบริเวณก้นกระถาง เว้นแต่จะใช้กระถางที่เจาะรูด้านข้างอีกหนึ่งรู หรือกระถางที่มีขาสั้นๆด้านล่างซึ่งช่วยไม่ให้รูที่ก้นกระถางสัมผัสกับพื้นโดยตรง แต่จะให้ดีที่สุดควรวางบนโต๊ะกล้วยไม้ และเมื่อจัดวางกระถางในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่อับลมและไม่โดนแดดจัด การเลี้ยงซิมบิเดียมก็เป็นเรื่องง่ายดาย

- แสงและตำแหน่งที่วางกระถาง
หากปลูกเป็นเรือนกล้วยไม้ ควรใช้สะแรนพรางแสง 60-70% สำหรับซิมบิเดียมลูกผสมทนร้อนทั่วไป หากสะแรนบางกว่านี้อาจมีปัญหาใบไหม้ได้ในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตั้งฉากโดยตรงกับพื้นที่นั้นๆเช่นเดือนเมษายนในประเทศไทย แต่ถ้าเป็นพื้นที่อื่นที่มีปริมาณเมฆและฝนค่อนข้างสม่ำเสมอทั้งปีเช่นภาคใต้ของประเทศไทยก็ ให้ใช้เปอร์เซ็นต์พรางแสงที่น้อยกว่าได้
การปลูกเลี้ยงในบริเวณสวนในบ้านควรเลือกจุดที่อากาศถ่ายเทได้ดีและไม่ถูกแดดแรงๆโดยตรง ควรมีไม้ใหญ่ที่บังแสงให้บ้างโดยเฉพาะในช่วงบ่าย แต่ไม่ถึงกับร่มทึบ อย่างไรก็ตาม ปริมาณแสงที่ซิมบิเดียมต้องการมีไม่เท่ากันขึ้นกับสายพันธุ์เช่นหากมีสัดส่วนสายเลือด C. canaliculatum มาก แสงที่ต้องการก็มีมาก และจะไม่ทนสภาวะอับชื้น แต่หากมีสัดส่วน ซิมบิเดียมจุหลัน (C. ensifolium) มากก็สามารถทนร่มและสภาวะอับชื้น ลมน้อย ได้มากกว่า และอีกข้อสำคัญคือห้ามวางวางกระถางซิมบิเดียมลูกผสมไว้ใต้กล้วยไม้แขวนอื่นๆ เพราะปริมาณแสงจะน้อยเกินไป ทำให้ซิมบิเดียมไม่ออกดอก

- กระถางและวัสดุปลูก
กระถางที่ดีที่สุดสำหรับซิมบิเดียม (ยกเว้นซิมบิเดียมพันธุ์แท้บางกลุ่มที่สร้างรากอากาศที่ชี้ขึ้น (pnuematophore) เช่น C. aloifolium, C. finlaysonianum, C. atropurpureum และ C. bicolor) คือกระถางดินเผาทึบ ทรงสูงเล็กน้อย วางตั้งได้สะดวก ไม่ล้มง่าย เนื่องจากกล้วยไม้ซิมบิเดียมที่ปลูกไว้นานจะเจริญเป็นกอใหญ่และมีน้ำหนักมาก กระถางพลาสติกไม่ค่อยเหมาะเพราะน้ำหนักเบาไม่สามารถถ่วงกับน้ำหนักของกอซิมบิเดียมได้ ทำให้ล้มได้ง่าย อีกทั้งกระถางดินเผาช่วยให้รากเย็นไม่ร้อนอับ ส่วนทรงกระถางที่ค่อนข้างสูงจะช่วยให้ซิมบิเดียมมีรากลึกยาว ส่งผลดีต่อความสมบูรณ์ของต้นและการให้ดอก สำหรับรูระบายน้ำนอกจากที่ก้นกระถางแล้วควรมีที่ด้านข้างอีก1รูจะดียิ่งขึ้นเพื่อป้องกันน้ำขังที่ก้นกระถาง

ไม่ควรใช้กระถางโปร่ง (basket) แบบที่ปลูกหวาย หรือกล้วยไม้รากอากาศอื่นๆ เพราะจะไม่สามารถรักษาความชื้นได้ อันจะทำให้ซิมบิเดียมชะงักการเจริญเติบโต ส่วนขนาดของกระถางควรเลือกให้เหมาะสมกับซิมบิเดียมต้นนั้นๆจะช่วยให้ซิมบิเดียมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การปลูกซิมบิเดียมควรจัดวางให้ตำแหน่งของโคนหัวอยู่ที่ระดับเดียวกับปากกระถางเพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศรอบๆหัว ไม่ควรปลูกให้หัวจมอยู่ในวัสดุปลูกเพราะจะทำให้หัวเน่าได้ในหน้าฝน

มักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครื่องปลูกสำหรับซิมบิเดียมเนื่องจากหลายคนมักจัดประเภทซิมบิเดียมเป็นกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่ง (Terrestrial Orchid) ทำให้หลายคนเข้าใจว่าสามารถใช้ดินเป็นเครื่องปลูกโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่นานก็จะทำให้รากเจริญเติบโตช้าลง และเน่าในที่สุด เราจะเห็นผลเสียเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่อากาศร้อนและมีฝนชุก แต่การเน่าจะชะลอหากเลี้ยงในที่ๆมีอากาศหนาวเย็น
วัสดุปลูกที่ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ปลูกเลี้ยง ไม่สลายตัวเร็ว และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ถ่าน เศษดินเผา หินภูเขาไฟ หินก่อสร้างเบอร์1 มะพร้าวสับขนาดค่อนข้างใหญ่ 1-1.5 นิ้ว

สำหรับการเลี้ยงในที่ที่มี ฝนชุกมากเช่นภาคตะวันออกหรือภาคใต้ ของไทย ไม่ควรใช้มะพร้าวสับล้วนๆ แต่ต้องผสมวัสดุอื่นที่ไม่อมน้ำ แนะนำให้ใช้ โฟมและถ่านทุบเป็นก้อนเล็กๆประมาณ 1 นิ้ว ผสมกับหินภูเขาไฟ ซึ่งวัสดุปลูกดังกล่าวจะช่วยระบายน้ำได้ดีแม้ในยามที่ฝนตกชุกมาก หรืออาจใช้ถ่านผสมกับหินภูเขาไฟล้วนๆก็ได้

สำหรับการเลี้ยงในที่ๆฝนไม่ชุก เช่นภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ ของไทย ก็ควรมีมะพร้าวสับหยาบเป็นส่วนผสมด้วยจะช่วยให้เก็บความชื้นได้นานทำให้รากเดินเร็ว โดยอาจใช้ใยมะพร้าวสับหยาบขนาด 1”-1.5” คลุกผสมกับถ่านหรือเศษกระถางทุบขนาด 1นิ้ว แต่ในระยะหลังมะพร้าวสับมีคุณภาพแย่ลงเรื่อยๆคือผุเร็ว และอุ้มน้ำมากเกินไปเนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้มะพร้าวไม่ออกลูก ผู้ผลิตจึงต้องเอาลูกมะพร้าวที่ยังไม่แก่จัดมาทำ ทำให้มะพร้าวสับไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในปัจจุบัน เพราะเพียงไม่ถึงปีมะพร้าวก็ผุหมดแล้ว ทำให้รากเน่า จึงขอแนะนำให้ใช้หินภูเขาไฟ ผสมหินก่อสร้างเบอร์1 และถ่าน เท่าๆกัน
ไม่ควรใช้เปลือกสนเป็นวัสดุปลูกเว้นแต่ว่าจะปลูกในเขตหนาวเย็น เช่นบนดอยสูง เพราะเปลือกสนจะอบและเก็บความร้อนทำให้รากเน่าเมื่อนำมาปลูกในเขตร้อน

เครื่องปลูกในกระถางที่อยู่มานานกว่า 3-5 ปี ควรได้รับการเปลี่ยนใหม่ ไม่เช่นนั้นภาวะเป็นกรด (PH ต่ำ) ในวัสดุปลูก จะทำอันตรายกับระบบราก ทำให้ต้นซิมบิเดียมชะงักงัน ไม่เติบโตเท่าที่ควรและอาจถึงกับไม่ให้ดอก วิธีการหนึ่งที่ช่วยชะลอไม่ให้ค่าความเป็นกรด-ด่าง ตกลงเร็วเกินไป คือให้ผสมหรือคลุกเคล้าวัสดุปลูกด้วย Dolomite ซึ่งปกติใช้เป็นวัสดุปรับปรุงคุณภาพดิน ประกอบด้วยธาตุแคลเซียม และ แมกนีเซียม จะทำให้ต้นกล้วยไม้สมบูรณ์แข็งแรงขึ้นอย่างชัดเจน ให้ดอกดีขึ้นและช่วยลดโอกาสการเกิดโรคราและแบคทีเรียซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดมาจากสภาวะเป็นกรด (PH ต่ำ) ในวัสดุปลูก

สำหรับซิมบิเดียมที่เพิ่งย้ายออกขวด ควรล้างวุ้นออกให้หมด ชุบยากันเชื้อรา แล้วนำไปชำในกระบะทรายหยาบ หรือ ขี้เถ้าแกลบ ไม่ควรผึ่งในตระกร้าโปร่ง หรือ กระถางคอมพ็อต ที่ไม่มีวัสดุปลูกชำ เพราะจะแห้งตายหมด เมื่อซิมบิเดียมตั้งตัวได้และแข็งแรงดีให้ย้ายลงกระถาง 3-4 นิ้ว โดยมีวัสดุปลูกเป็นมะพร้าวสับขนาด 0.5 – 1 นิ้ว และอาจผสมเศษโฟมป่นอีกเล็กน้อย และเมื่อต้นโตเต็มกระถางจึงย้ายลงกระถางที่ใหญ่กว่าเพื่อเลี้ยงต่อไปจนออกดอก

- โรคและแมลง
โรคและแมลงในซิมบิเดียม ส่วนใหญ่ก็เหมือนกับในกล้วยไม้สกุลอื่นๆสามารถใช้ยาพื้นๆที่ใช้กับกล้วยไม้กลุ่มอื่นได้ เช่น ใช้ออร์โธไซด์ (แคปแทน) เป็นยาป้องกันและกำจัดเชื้อรา และใช้คาร์บาริล (เซฟวิน) เป็นสารกำจัดและไล่แมลงที่มารบกวน ในที่นี้จะกล่าวถึงโรคและแมลงที่มักพบบ่อยๆในซิมบิเดียม

1) ไรแดง (Red Spider Mites) พบได้ง่ายเพราะลักษณะของใบซิมบิเดียมบาง ยาว เหมาะเป็นที่อยู่ของไรแดง อาการที่พบคือต้นหยุดชะงัก ใบซีดเหลืองหรือเป็นสีเงินขาว ใบดูแห้ง เมื่อพลิกใต้ใบพบรอยใยขาวๆ และอาจเห็นไรแดงตัวเมียสีแดงเดินไต่ไปมา การระบาดเป็นไปได้ค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะในหน้าแล้ง เมื่อพบปัญหาดังกล่าว ให้ใช้ยาโพรพาไกต์ (โอไมท์) ฉีดสลับกับ ไพริดาเบน ทุกๆ 7 วัน โดยเน้นฉีดที่ใต้ใบ ทั้งนี้ไรแดงสามารถเป็นพาหะของโรคไวรัสได้
(รูปไรแดง)

2) โรคยอดเน่าที่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักพบในหน้าฝน การถ่ายเทอากาศไม่ดี มีการวางกระถางรวมกันแน่น และสภาวะเป็นกรด (PH ต่ำ) ในเครื่องปลูก หน่อใหม่จะเน่าตายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเปียก สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย เมื่อพบต้นที่เป็นโรคดังกล่าวให้แยกออกมา และงดการให้น้ำประมาณ 1 สัปดาห์ หรือไม่ก็เปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ทั้งหมด

ข้อที่น่าสังเกตคือในกระถางที่มีมดมาทำรังมักพบปัญหานี้มาก อาจเป็นเพราะดินที่มดนำมาสร้างรังนำเชื้อแบคทีเรียโรคเน่ามา ฉะนั้นจึงควรกำจัดมดที่มาทำรังในกระถางให้หมดไป

3) โรคยอดเน่าที่เกิดจากเชื้อราที่มาจากดิน ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Fusarium จะมีอาการเน่าที่ยอดอ่อนคล้ายที่เกิดจากแบคทีเรีย แต่อาการเน่าจะแห้ง มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือที่ๆการระบายอากาศไม่ดี ก่อใหญ่แน่นเกินไป และสภาวะเป็นกรด (PH ต่ำ) ในเครื่องปลูก เมื่อพบปํญหาดังกล่าวควรแยกต้นที่เป็นโรคออกและฉีดพ่นด้วย ยาเทอราคลอ หรือไม่ก็เปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ทั้งหมด และระวังไม่ให้เครื่องปลูกปนเปื้อนด้วยดิน
(รูปยอดเน่าแห้ง)

4) โรคไวรัสในกล้วยไม้ ปัจจุบันมีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยในซิมบิเดียมได้แก่ Cymbidium Mosaic Virus(CyMV) และ Odontoglossum Ringspot Virus (ORSV)

ซิมบิเดียมที่ติดโรคไวรัสอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ และต้นกล้วยไม้ยังสามารถเติบโตและให้ดอกได้ต่อไป แต่การเติบโตและการให้ดอกจะลดลง อาการที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคืออาการด่างเป็นหย่อมๆบนใบ (chlorosis) อันเนื่องมาจากการขาดคลอโรฟิล รองลงมาเป็นอาการสีด่างเป็นหย่อมๆบนกลีบดอก
เมื่อพบต้องนำต้นไปทำลายเพราะไม่สามารถรักษาได้

การป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดของไวรัสในกล้วยไม้สามารถทำได้ไม่ยากหากเข้าใจกลไกการแพร่กระจายและสภาวะที่เหมาะสมต่อการมีชีวิตอยู่ของไวรัส
การป้องกัน
• มีดและกรรไกรต้องเผาไฟหรือเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนใช้ตัดแต่งชิ้นส่วนของกล้วยไม้แต่ละต้น
• ไม่นำน้ำที่ผ่านการรดกล้วยไม้แล้วกลับมาใช้รดกล้วยไม้อีก
• ควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของแมลงที่ใช้ปากดูดน้ำเลี้ยงเช่น ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน
• ดูแลบริเวณที่ปลูกเลี้ยงให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงสว่างที่เหมาะสม ไม่มีมุมมืดอับชื้น
• ไม่นำเกสรของต้นที่สงสัยว่าอาจติดไวรัสมาผสมลงบนต้นอื่น
• ไม่นำกระถางเก่าและเครื่องปลูกเก่าที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก

5) เพลี้ยต่างๆ เช่นเพลี้ยไฟ (Thrips) และเพลี้ยอ่อน (Aphids) มักเข้ามาดูดน้ำเลี้ยงรอบๆดอกอ่อน ทำให้รูปทรงดอกเสียหายและสีซีดจาง สามารถป้องกันและกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลงเช่น คาร์บาริล (เซฟวิน) เมโทมิล (แลนเนท) หรือ มาลาไธออน ทุกๆ 2-3 สัปดาห์

- การให้น้ำและปุ๋ย
ซิมบิเดียมลูกผสมส่วนใหญ่ไม่อ่อนไหวต่อคุณภาพน้ำ มีความทนทานต่อน้ำที่มีระดับ EC (Electroconductivity) ที่สูงกว่ากล้วยไม้ทั่วไปจะทนได้ โดยเฉพาะในสายพันธุ์ที่ีมีเลือดผสมมาจากซิมบิเดียมพันธุ์แท้ที่เป็นกลุ่มกล้วยไม้ดิน (Terrestrial) ค่อนข้างมาก
การให้น้ำสามารถให้ทุกวันหรือเว้นหลายวันก็ได้ขึ้นกับชนิดของวัสดุปลูกรวมทั้งความชื้นในอากาศและปริมาณฝนที่ตก ในวันที่ร้อน อากาศแห้งและไม่มีฝน การให้น้ำเพียงครั้งเดียวในตอนเช้าก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ซ้ำอีกในตอนบ่าย
การให้ปุ๋ยสามารถให้ปุ๋ยทางใบเหมือนกล้วยไม้ทั่วไป และควรให้ปุ๋ยละลายช้าเช่น นูตริโค้ท หรือ ออสโมโค้ท โรยบนหน้าวัสดุปลูกด้วยจะช่วยให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น สำหรับในช่วงที่ใกล้จะถึงฤดูให้ดอก ควรให้ธาตุอาหารเสริมแมกนีเซียม (Mg) จะช่วยให้มีการให้ดอกดียิ่งขึ้นและพร้อมเพรียงมากขึ้น

- การดูแลในช่วงที่กำลังแทงช่อดอก
โดยปกติสภาวะที่จะกระตุ้นให้เกิดตาดอกและการยืดตัวของช่อดอกของซิมบิเดียมลูกผสมเมืองหนาวมักจะต้องการอุณหภูมิกลางคืนที่ต่ำเป็นปัจจัยหลักและอุณภูมิในตอนกลางวันที่สูงขึ้นอีกอย่างน้อย 10 องศาหรือมากกว่า ส่วนซิมบิเดียมทนร้อนส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการปัจจัยด้านอุณหภูมิที่เด่นชัดเช่นนั้น แต่จากการที่ซิมบิเดียมทนร้อนมีความหลากหลายของระดับความทนร้อน ทำให้แต่ละสายพันธุ์ทนร้อนมีความต้องการปัจจัยด้านอุณภูมิต่ำมากบ้างน้อยบ้างหรือไม่ต้องการเลยแตกต่างกันไป
ในช่วงที่ช่อดอกกำลังโผล่พ้นกาบหุ้มดอก ไม่ควรย้ายที่บ่อยครั้ง แต่อาจย้ายมาไว้บริเวณที่แสงน้อยลงอีกเล็กน้อย หรือเพิ่มสะแรนพรางแสงให้มากขึ้นเพื่อลดความร้อน จะช่วยลดปัญหาดอกฝ่อได้มาก และหากออกดอกในช่วงฝนชุกมากๆ อาจย้ายมาไว้ใต้หลังคากันฝนจะทำให้ดอกไม่ช้ำ และช่วยให้บานทนนานขึ้น

- การขยายพันธุ์ด้วยการแบ่งกอ
เมื่อกอซิมบิเดียมขยายหน่อจนเต็มแน่นกระถาง บางกอก็ดันจนกระถางแตกร้าว บางกอก็ดันจนตุ้มรากลอยขึ้นมา แสดงว่าได้เวลาเปลี่ยนกระถางและแบ่งหน่อแล้ว หรือหากพบว่าซิมบิเดียมชะงักการเจริญเติบโตและไม่ค่อยให้ดอก ซึ่งมักมีปัญหามาจากระบบรากที่เร่ิมเสื่อมอันเนื่องมาจากสภาวะเป็นกรดจัดในเครื่องปลูกที่อยู่มานานหลายปีแล้ว ก็เป็นสัญญาณให้เปลี่ยนกระถางและแบ่งกอในคราวเดียวกันเสียเลย

โดยปกติตุ้มรากที่สมบูรณ์จะแน่นมากจนต้องใช้มีดใหญ่หรือเลื่อยช่วยในการตัดแบ่ง ระหว่างที่ตัดแบ่งก็คอยแกะเอาเครื่องปลูกเก่าออก ตัดรากที่เสียและแห้งทิ้งไป จะช่วยทำให้การตัดแยกสะดวกง่ายขึ้น

การแบ่งควรแบ่งเป็นกอๆละ 3-4 ลำติดกันเป็นอย่างน้อย โดยให้มีลำใหม่ที่กำลังโตติดมาด้วย ทารอยตัดด้วยปูนแดงหรือยาป้องกันเชื้อราที่รอยตัด ส่วนหัวเก่า (backbulb) ที่ไม่มีใบติดแล้วและเปลือกหุ้มแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล ก็สามารถนำมาชำในกระบายทรายหยาบผสมขี้เถ้าแกลบ ในเวลาไม่นานก็จะมีหน่ออ่อนเจริญขึ้นมา รอดูว่าเมื่อหน่อนั้นแข็งแรงดีก็สามารถนำไปลงปลูกในเครื่องปลูกซิมบิเดียมตามปกติได้

การแบ่งกอและปลูกใหม่ควรทำในช่วงฤดูที่ซิมบิเดียมเพิ่งเริ่มกลับสู่วงจรการเติบโตอีกครั้ง โดยทั่วไปมักเป็นต้นฤดูฝนในเขตร้อนหรือปลายฤดูใบไม้ผลิเมื่ออากาศอุ่นขึ้นอย่างชัดเจนในเขตกึ่งร้อน จะช่วยให้ซิมบิเดียมฟื้นตัวได้เร็วและสามารถให้ดอกได้อีกในปีถัดไป ไม่ควรทำการแบ่งหน่อหรือปลูกใหม่ในช่วงฤดูหนาวหรือปลายฝนเพราะจะเป็นการเสียเวลาเนื่องจากซิมบิเดียมอยู่ในช่วงพักตัวหรือกำลังเข้าสู่ระยะพักตัว




.


.


.


.


.


.


.
.


.



//www.pakkretfloriculture.co.th/


Create Date : 19 สิงหาคม 2548
Last Update : 26 พฤษภาคม 2554 16:07:39 น. 19 comments
Counter : 13244 Pageviews.  
 
 
 
 
เข้ามารับความรู้ค่ะ ชอบนะคะแต่ยังไม่ค่อยจะกล้าเลี้ยงค่ะไว้ศึกษาอีกหน่อยก่อน เพราะกะเรกะร่อนที่เลี้ยง..ป
กกะต้นมะม่วงไม่เคยได้ดอกเลยหลายปีแล้วค่ะ คงร่มไปมั้งคะ ไม่ค่อยได้แดดด้วยและไม่มีเครื่องปลูกใดๆเลย
เลยมาศึกษาก่อน...
 
 

โดย: anlee IP: 202.21.144.7 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2548 เวลา:10:29:50 น.  

 
 
 
มารับความรู้ด้วยคนค่ะ src=https://www.bloggang.com/emo/emo35.gif>

มิน่าล่ะ กอที่บ้านถึงไม่งาม เพราะปลูกใช้ถ่านล้วน ๆ สงสัยจะแห้งไป src=https://www.bloggang.com/emo/emo7.gif>

รากก็ไม่ค่อยเดิน เดี๋ยวจะหากาบมะพร้าวสับมาผสมบ้าง


ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ
 
 

โดย: Lazy caT IP: 61.91.143.4 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2548 เวลา:11:52:53 น.  

 
 
 
ของคุณครับ เด๋วไปเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่และ
 
 

โดย: หมอกฝน IP: 58.9.154.6 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2548 เวลา:23:58:37 น.  

 
 
 
แวะมาหาข้อมูลก่อนปลูกค่ะคุณสำเภางาม ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆน่ะค่ะ
 
 

โดย: ก้านตอง IP: 202.28.49.10 วันที่: 1 ธันวาคม 2548 เวลา:9:59:51 น.  

 
 
 
เข้ามาอ่านอีกที เมื่อวานเผลอใจเป็นลูกค้าปากเกร็ดฯ ไปซะแล้วครับ
 
 

โดย: น้าโหด IP: 203.113.67.7 วันที่: 4 ธันวาคม 2548 เวลา:18:44:15 น.  

 
 
 
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ เลี้ยงผิดหมดเลย ของผม
 
 

โดย: ลุงหนวด IP: 58.136.98.168 วันที่: 17 ธันวาคม 2548 เวลา:10:55:59 น.  

 
 
 
ได้ความรู้เพิ่มเติมในการปลูกเลี้ยงสำเภางามเยอะเลยอยากได้หนังสือเพิ่มเติมที่บ้านบ้านนอกจริงๆ
 
 

โดย: ครูหน่อย IP: 203.172.255.150 วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:18:22:36 น.  

 
 
 
55
 
 

โดย: oo IP: 203.158.118.15 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:10:15:07 น.  

 
 
 
ใช้เครื่องปลูกรองท้าวนารีที่นำเข้าก็ดีนะ รากเดินดี เย็น ออกหน่อเยอะมาก
 
 

โดย: สุดสวย IP: 58.11.49.74 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:15:21:09 น.  

 
 
 
จะรีบไปปฏิบัติกับเจ้าต้นที่บ้านโดยด่วน ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ
 
 

โดย: YingPla IP: 58.136.224.169 วันที่: 15 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:02:10 น.  

 
 
 
มาเอาความรู้ถึงบล๊อกเลย ครับ ขอบคุณครับ
 
 

โดย: jeabnun (jeabnun ) วันที่: 1 กรกฎาคม 2549 เวลา:9:48:51 น.  

 
 
 
ได้รับความรู้ดีมากคับ จะลองไปเลี้ยงดูบ้าง
 
 

โดย: ไอยเรศแดง IP: 203.157.14.245 วันที่: 9 ตุลาคม 2549 เวลา:23:52:29 น.  

 
 
 
อยากได้สำเภางามสักขวดหาได้ที่ไหนอะคับ มีป่าว
 
 

โดย: โอ IP: 203.113.77.8 วันที่: 24 ตุลาคม 2549 เวลา:21:16:53 น.  

 
 
 
สำเภางามต้องปลูกเขตหนาวๆครับ ที่ราบภาคกลางนี่ตายหมด
ลองเลี้ยงลูกผสมทนร้อนที่มีสำเภางามเป็นพ่อดีกว่าครับ
มีขวดขายพอดี จุหลัน x สำเภางาม
สนใจก็ e-mail มาได้ครับ
 
 

โดย: สำเภางาม IP: 202.5.83.194 วันที่: 24 ธันวาคม 2549 เวลา:14:40:14 น.  

 
 
 
คุณสำเภางามครับ
น้องซิมบิเดียมที่เอาออกจากขวดเนี่ย ใช้ทรายอย่างเดียวเลยหรือครับ บอกรายระเอียดเป็นวิทยาทานอีกหน่อยนะคัรบ ผมเพิ่งจะราบว่าเขาใช้ทรายกัน เราต้องเอาอะไรใส่ทรายด้วยใหมคัรบ แล้วถ้าเราปลูกในทรายจนโตเลยได้ใหมคัรบ
แล้วซิมบิเดียมพวกสำเภางามกะลูกๆผสมของเค้า ต้องปลูกแบบที่คุณสำเภางามบอกไว้ข้างบนหรือเปล่าครับ ผมเคยเห็นในป่าเขาขึ้นในดินเลยอ่ะ ไม่รู้ใช่ชนิดเดียวกันหรือเปล่าแต่คนเดินป่าเขาบอกต้นสำเภางาม มันขึ้นในดินเลย
ปล. มีไม้ขวดสำเภาเขตร้อน สวยๆ ก็เมลล์มาแนะนำผมได้นะครับ ผมชอบแบบก้านช่อยาวๆตั้งๆคับ (ปลูกกล้วยไม้มาก็นานแล้ว แต่ตระกูลนี้ฝีมือยังอ่อนแอมากเลยคับ แต่บังเอ็ญเป็นคนชอบลองของครับ 555)
 
 

โดย: jesadaz@hotmail.com IP: 203.150.148.101 วันที่: 7 มกราคม 2550 เวลา:16:02:26 น.  

 
 
 
คุณสำเภางามครับ แล้วพวกออนซิเดียมจะใช้วิธีปลูกแบบนี้ได้เหมือนกันหรือเปล่าครับ

ไว้ไปจตุจักรคราวหน้าจะแวะไปอุดหนุนครับ ร้านอยู่ตรงแถวๆ สถานีรถไฟฟ้าใช้หรือเปล่าครับ
 
 

โดย: หนึ่ง (เด็กคลอง ) วันที่: 8 มกราคม 2550 เวลา:15:27:28 น.  

 
 
 
ปกติ ซิมที่เพิ่งออกขวด ผมจะปลูกในขี้เถ้าแกลบ เพราะค่อนข้างแน่ใจว่าสะอาดหน่อยเนื่องจากผ่านความร้อนมาแล้ว และปลูกรวมกันในกระบะ หรือตะกร้าที่ก้นตะกร้ารองด้วยสะแรน

ปลูกในดินจริงๆจะไม่งาม แต่ก็สามารถปลูกได้ในที่หนาวๆหน่อย แต่ถ้าปลูกที่พื้นราบ อากาศร้อนๆ พอมาเจอฝนก็จะเน่าหมดครับ

ในธรรมชาติสำเภางามจะขึ้นบนพื้น แต่พื้นตรงนั้นไม่ใช่ดิเหนียว แต่เป็นกรวดทรายผสมกับเศษซากฮิวมัสที่ผุพังแล้ว และตื้นๆ

ไม้ขวดลองดูที่นี่ได้ครับ สนใจตัวไหนก็เมล์มาครับ //www.pakkretfloriculture.co.th/products.asp

 
 

โดย: สำเภางาม IP: 202.5.80.184 วันที่: 9 มกราคม 2550 เวลา:12:39:56 น.  

 
 
 
ออนซิเดียมไม่ควรปลูกแบบนี้ครับ เพราะว่าออนซิเดียมเป็นรากอากาศ ต้องมีที่ให้เกาะ เช่นลูกอัดมะพร้าว แผ่นไม้ หรือถ่านกอ้นใหญ่ๆ ในกระถางรูพรุน
 
 

โดย: สำเภางาม IP: 124.121.93.190 วันที่: 9 มกราคม 2550 เวลา:15:14:12 น.  

 
 
 
ช่วยแนะนำร้านจำหน่ายซิมบิเดียม ราคาเบาๆ ให้หน่อยครับ
 
 

โดย: บอม IP: 110.78.184.142 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2564 เวลา:15:44:53 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

สำเภางาม
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ถ้าชอบซิมบิเดียม และอยู่เมืองร้อน ก็ต้องมาอ่านบล็อคนี้ครับ
[Add สำเภางาม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com