มุมกาแฟยามบ่าย - ข้อคิดเพื่อการงาน, ชีวิต และสังคมที่น่าอยู่

<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 มีนาคม 2554
 

‘น้ำมันปาล์ม’ขาดตลาดพิศดาร กลิ่นผลประโยชน์การเมืองคลุ้ง



ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วว่าประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทย ประเทศที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่ประชาชนคนไทยกลับต้องเข้าคิวซื้อน้ำมันปาล์มมาใช้ในครัวเรือน

ทั้งๆ ที่ในปี 53 ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีผลผลิตปาล์มสูงถึง 121,328 ตันอยู่เลยด้วยซ้ำ

เกิดอะไรขึ้นกับปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน คือคำถามแรกของสังคมไทยที่เกิดขึ้น หลังจากที่จู่ๆน้ำมันปาล์มเกิดหายไปจากตลาดเอาดื้อๆ

แต่สิ่งที่เป็นคำถาม และมหัศจรรย์ยิ่งกว่าคำถามแรกก็คือ หลังจากที่เป็นเรื่องใหญ่โตระดับประเทศอยู่เป็นเดือน แต่การแก้ไขปัญหากลับจบง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ

แค่เพียงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ออกมาพูดในช่วงวิกฤตที่การเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลใกล้แตกหักเต็มที

ว่าปัญหาน้ำมันปาล์ม จะต้องจบในวันนี้พรุ่งนี้...

ปรากฏว่าวาจาศักดิ์สิทธิ์ จริงๆ เพราะหลังจากนายสุเทพพูด วันรุ่งขึ้นก็มีน้ำมันปาล์มวางขายพรึ่บไปหมดทุกห้างร้าน ราวกับเล่นกลก็ไม่ปาน

หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีการกำหนด หรือเตี๊ยมกันไว้แล้วล่วงหน้าหรือไม่??? ถึงได้ทันอกทันใจ ทันคำพูดขนาดนั้น

หากมองในแง่ของภาพลักษณ์ทางการเมือง นายสุเทพคงมั่นใจเกินร้อยว่า พูดปุ๊บชาวบ้านซื้อน้ำมันปาล์มได้ปั๊บเช่นนี้ จะต้องโกยคะแนนภาพลักษณ์ไปอย่างแน่นอน... แต่ปัญหาคือประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

ในขณะที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องรับหน้าเสื่อ ดูแลราคราสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศโยตรง ย่อมต้องเสียภาพลักษณ์จนรุ่งริ่งยับเยินแน่นอน

เพราะแม้ว่านางพรทิวา จะระบุมาตลอดว่า ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดและราคาแพง เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ1.การนำผลผลิตน้ำมันปาล์มไปใช้ผลิตพลังงานทดแทน 2.ประเทศไทยเปิดให้มีการส่งออกเสรีน้ำมันปาล์ม แต่ห้ามนำเข้า และ 3.ปริมาณผลผลิตปาล์มลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะอากาศและภัยธรรมชาติ โดยลดลงเกือบ50% ของผลผลิตเมื่อปีก่อน

แต่คำถามก็คือ กรณีผลผลิตลดลงที่อ้างๆกันนั้น ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่มีใครรู้มาก่อนเลยเช่นนั้นหรือ???

ซึ่งคำตอบก็คือ “ไม่ใช่”

นางพรทิวา ยอมรับว่ากระทรวงพาณิชย์เห็นแนวโน้มเรื่องสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลงมาตั้งแต่ปลายปี 2553 เพราะปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศเหลือเพียง 5 หมื่นตัน จากที่เคยมี 1.2 แสนตัน เนื่องจากมีการส่งออกน้ำมันปาล์มอย่างต่อเนื่องอย่างต่อเนื่อง

และตั้งแต่เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553 กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีการหารือกับสมาคมโรงกลั่นเพื่อประเมินสถานการณ์และตรวจสอบสต๊อกทั่วประเทศมาแล้ว รวมทั้งในเดือนธันวาคม 2553 ยังเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปให้ขออนุมัติจากคณะกรรมการชุดใหญ่ให้นำเข้า 5 หมื่นตัน

ปัญหาก็คือ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนางพรทิวาก็ไม่ได้เป็นกรรมการในชุดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดพิศดารเป็นอย่างยิ่งของระบบบริหารจัดการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

กลับไม่ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันการณ์ กลับเอ้อระเหยปล่อยเวลา จนกระทั่งข้ามปีไปวันที่ 6 มกราคม2554 แล้วนั่นแหละ จึงได้มีการประชุมและอนุมัติให้นำเข้าเพียง 3 หมื่นตันเท่านั้น

พฤติกรรมลักษณะนี้แหละที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า ในเมื่อมองเห็นว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับสต็อกน้ำมันปาล์ม แต่กลับไม่กระตือรือล้นแก้ปัญหาล่วงหน้า ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยแก้ไข

สามารถจะแปลสัญญาณท่าทีดังกล่าวได้หรือไม่ว่า งานนี้มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง!!!

เพราะสุดท้ายก็มีปัญหาน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นจริงๆ มีเรื่องของการกักตุน มีเรื่องของการสต็อกน้ำมันปาล์ม และสั่งน้ำมันปาล์มเอาไว้ล่วงหน้า รอคอยการอนุมัติปรับราคาอยู่เงียบๆเกิดขึ้นตามมาจริงๆ

ในขณะที่พอเกิดสถานการณ์วุ่นวาย ระงมไปทั่ว คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ก็เรียกประชุมกันอีกรอบ แต่ก็รอจนงาเกือบไหม้ เพราะเพิ่งมาประชุมกันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 และก็เป็นไปตามคาดยิ่งกว่าหวยล็อก

นั่นคือที่ประชุมอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มปริมาณ 1.2 แสนตัน ภายในเดือน มีนาคม 2554

ช่างใจเย็นกันดีแท้ๆ

แต่แน่นอนว่าก็แลกมาซึ่งข้อครหางอมพระรามว่างานนี้มีผู้ได้รับผลประโยชน์แน่นอน!!!

เพราะอย่าลืมว่า เรื่องของสต็อกที่ลดลงอย่างมาก เรื่องของผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตลดลง ล้วนไม่ได้เป็นความลับ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ รู้กันดีทุกคน ตั้งแต่คนที่นั่งหัวโต๊ะ อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไล่ลงไปจนถึงท้ายโต๊ะ

ที่น่าสังเกตุก็คือ จริงๆแล้ว ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ว่าลดๆลงนั้น ลดลงมากเพียงใดกันแน่ เพราะน้ำท่วมประมาณเดือนเดียว ทำให้ผลผลิตลดลงจนเกิดวิกฤตได้ระดับนี้เชียวหรือ?

รวมทั้งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องรับผิดชอบและต้องรายงานตัวเลขข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันว่าน้อยลงไปเท่าใด เอาเข้าจริงๆกระทรวงเกษตรฯ ยังมีการยืนยันมาโดยตลอดว่าผลผลิตปาล์มลดลงไม่ถึง 50%

นั่นแปลได้หรือไม่ว่า ที่สต็อกน้ำมันมีปัญหา เป็นเพราะมีคนจงใจปล่อยให้สต็อกลดลงจนถึงระดับที่จะต้องเกิดปัญหา???

ซึ่งเมื่อผนวกกับการไม่กระตือรือล้นของคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ในการที่จะรีบประชุมเพื่อเตรียมการนำเข้าน้ำมันปาล์มเสียแต่เนิ่นๆ เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า หากคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติมีมติให้นำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตันแต่แรก วิกฤตน้ำมันปาล์มขาดแคลนครั้งนี้ก็คงไม่เกิด

ไอ้ไม่งตัวไหนที่เล่นตลก

ฉะนั้นนายสุเทพ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ไม่ควรที่จะต้องฉุนเฉียวไปเลย กับปริศนาตัวอักษร ส. พ. และ อ. ที่ถูกพูดกันขึ้นมาว่าเป็น ไอ้โม่งที่ได้รับผลประโยชน์

เพราะต่อให้ไม่มีตัวอักษรย่อ ประชาชนก็เชื่อ 100 เปอร์เซ็นอยู่แล้วว่า งานนี้มีไอ้โม่งสวาปาล์มน้ำมัน ชัวร์

ในขณะที่ หากดูอาการงกๆเงิ่น ที่เอาแต่รอมติ เอาแต่รอดูทิศทางของราคาน้ำมันปาล์ม ของกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า นี่คือบทเรียนค่าโง่ทางการเมือง ที่นางพรทิวา สมควรได้รับ

และกระทรวงพาณิชย์สมควรตกเป็นจำเลยถูกด่าลั่นไปทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะปล่อยให้พลาดทั้งๆที่รู้ว่า ทิศทางของปัญหานั้นเห็นมาตั้งแต่แรกแล้ว

การที่นางพรทิวา จะเพราะบริหารไม่เป็น หรือจะเพราะประมาท ปล่อยให้นายสุเทพ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ เล่นเกมเขียนบทเองแบบนี้

หากไม่ใช่เพราะพรรคภูมิใจไทย ยังเป็นประโยชน์ในการ่วมรัฐบาล รับรองได้เลยว่านางพรทิวาถูกเด้งจากเก้าอี้ไปแล้วในรอบนี้

ดังนั้นการที่ นางพรทิวา ออกมาพูดทำนองว่า ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำมันปาล์มนั้นทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบ คณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติจะต้องรับผิดชอบเพราะเห็นตัวเลขในสต็อกตลอด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องรับผิดชอบเพราะมีข้อมูลอยู่ในมือว่าผลผลิตจะลดลงแค่ไหน รวมทั้งกระทรวงพลังงานก็ต้องรับผิดชอบ เพราะหากไม่มีการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล จะมีน้ำมันปาล์มเข้ามาในระบบการบริโภควันละ 1.5 ล้านขวดทันที

ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้น อ้างว่าเป็นเพียงปลายน้ำ ที่ต้องมารับผิดชอบเรื่องของราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นจากกลไกตลาดจากการที่ผลิตผลน้ำมันปาล์มมีน้อยนั้น ถือว่ายังอ่อนเกมการเมืองอ่อนการบริหารมากๆ

“เรื่องนี้ทุกฝ่ายผิดหมด ทุกคนต้องยอมรับความจริง ไม่ใช่โยนความผิดมาให้กระทรวงพาณิชย์ฝ่ายเดียว ผลผลิตน้ำมันปาล์มลดลงกระทรวงไม่เกี่ยวข้อง การสั่งนำเข้าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร จนเกิดปัญหาบานปลาย แถมเรื่องนี้ยังถูกโยงไปเป็นประเด็นการเมืองซึ่งวุ่นวายไปใหญ่”

ใครจะแก้ตัวอย่างไร ใครจะโอดครวญเช่นไร บอกได้เพียงว่านี่คือปรากฏการณ์ผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองอย่างแน่นอน เป็นเรื่องที่นักการเมืองมีการหาผลประโยชน์อย่างมหาศาล และหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชน

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายสุเทพ ที่มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ท่ามกลางความงุนงงของสังคม และเกิดคำถามต่อเนื่องไปถึงนายอภิสิทธิ์ ว่าคิดได้อย่างไร

ดังนั้นในวันนี้ แม้ว่านายสุเทพ จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในชั่วข้ามคืน หลังจากที่ปล่อยให้เกิดปัญหามานานแรมเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องพิศดารมากนั้น แต่การแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ทำให้ ข้อติดค้างคาใจของสังคมหมดไปแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเรื่องการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเถื่อนจำนวนมหาศาล ซึ่งมีการกักตุนอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ก่อนที่จะมีอนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 30,000 ตัน และ120,000 ตัน

การให้ DSI เข้าไปตรวจสอบน้ำมันปาล์มที่มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่เกิดผลใดๆทั้งสิ้น แต่ทำไมนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ จึงไม่สั่งการให้ DSI เข้าไปตรวจสอบคลังน้ำมันเถื่อนแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กรณีที่ต้องขอเร่งด่วนให้สมาคมโรงกลั่นช่วยนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจำนวน 30,000 ตัน แล้วรัฐบาลชดเชยให้ลิตรละ 5 บาท เป็นเงิน 200 ล้านบาท... เป็นสิ่งที่สมควรเสียหรือไม่?

หากรัฐบาลทำงานเป็น และคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติไม่เอ้อระเหยลอยชายแบบผิดปกติ เงินภาษีส่วนนี้จะถูกผลาญหรือไม่?

และการอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มจากราคาลิตรละ 36.50 เป็น 47 บาท ซึ่งทำให้ไอ้โม่งจะได้ส่วนต่างจากการกักตุนทันที ลิตรหรือขวดละ 10 บาท รัฐบาลปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

รวมทั้งการรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศไว้ กิโลกรัมละ 11 บาท แต่โรงหีบกลับรับซื้อในราคาแค่ 6 บาท มีส่วนต่างกิโลกรัมละ 5 บาท ที่สำคัญเมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้ว มีรายงานว่าโรงหีบได้ค่าส่วนต่างมากถึง 12.72-24 บาทต่อลิตร

ว่ากันว่าผลประโยชน์จากค่าส่วนต่างของโรงหีบในรอบนี้ สูงถึงประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

ซึ่งโรงหีบสำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สุราษฏร์ธานี ชุมพร กระบี่ แถมชื่อเจ้าของก็วนเวียนไปมาแค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เป็นนักการเมือง ก็เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่

ฉะนั้นไม่ต้องประหลาดใจเลยว่า ทำไมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงถูกตั้งคำถามว่า มีใครจงใจทำให้ปาล์มขาดตลาดใช่หรือไม่???

และเรื่องนี้ทำไมสังคมจึงเชื่อมั่นว่า คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นผลประโยชน์การเมือง!!!

บทความจาก บางกอกทูเดย์ ประจำวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

//www.bangkok-today.com/node/8461


Create Date : 02 มีนาคม 2554
Last Update : 2 มีนาคม 2554 23:17:19 น. 2 comments
Counter : 715 Pageviews.  
 
 
 
 
ช่วงนี้ผมติดงานค่อนข้างมาก..ไม่มีเวลาเขียนบทความเอง..ได้แต่ตัดแปะข่าวสารสำคัญของช่วงเวลาต่างๆ เก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่อการอ้างอิง
 
 

โดย: กาแฟยามบ่าย วันที่: 2 มีนาคม 2554 เวลา:23:15:55 น.  

 
 
 
 
 

โดย: คนเดินดิน (หน้าใหม่อยากกรอบ ) วันที่: 11 สิงหาคม 2554 เวลา:16:30:24 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กาแฟยามบ่าย
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add กาแฟยามบ่าย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com