พฤศจิกายน 2548

 
 
2
6
7
8
9
13
14
15
16
17
19
20
21
23
24
25
28
29
 
 
All Blog
K-มาร์เก็ตติ้ง : แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง


เห็นปกมติชนสุดสัปดาห์ สัปดาห์นี้ แล้วอดสงสัยไม่ได้ ว่า แดจังกึม ไปเกี่ยวอะไรด้วย

เปิดอ่านดูถึงได้เข้าใจ
เห็นว่าน่าสนใจดี เลยเอามาให้อ่านกัน

------------------------------------------------------------


K-มาร์เก็ตติ้ง




หากมองในมิติของละครเพียงอย่างเดียว

"แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง" ก็คงจะเหมือนละครต่างชาติอย่าง "F 4 รักใสใสหัวใจสี่ดวง" ที่สร้างความฮือฮาในเมืองไทย

แต่ในมิติของการค้าแล้ว "แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง" ไม่ใช่แค่ "ละคร"

แต่มันคือหนึ่งใน "สินค้า" ทางวัฒนธรรมของเกาหลี

เป็น "สินค้า" ที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจและมีกระบวนการวางแผนเป็นอย่างดีของรัฐบาลและภาคเอกชนของเกาหลี

ให้ละครหรือหนังเป็นผู้บุกเบิก

ใช้พลังทาง "ศิลปะ" ที่ทำให้คนเกิดจินตนาการคล้อยตามสร้าง "ดีมานด์" ให้เกิดขึ้น

เมื่อ "ดีมานด์" เกิด "ซัพพลาย" ก็ตามมา

อย่างละครเรื่อง "แดจังกึม" ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการทำอาหารของเกาหลี

เมื่อละครเรื่องนี้บุกเข้าไปประเทศใด กระแสที่เกิดขึ้นเหมือนกันก็คือแฟนละครในประเทศนั้นสนใจอาหารเกาหลีมากขึ้น

อยากชิม อยากกินอาหารเกาหลี

"แดจังกึม" จึงถือเป็นผู้ขยายตลาด "อาหารเกาหลี" ในต่างประเทศอย่างแท้จริง

เหมือนกับเมื่อครั้งที่ละครดังอย่าง Winter Love Song สร้างกระแส "ฟีเวอร์" ในญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ

ทิวทัศน์ความโรแมนติคของสถานที่ที่ใช้เป็นฉากหนังก็กลายเป็นสิ่งที่แฟนละครโหยหา

อยากเห็น อยากสัมผัส

เมื่อ "ดีมานด์" เกิด "ซัพพลาย" ก็สนองตอบ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาหลีฟูเฟื่องขึ้นเพราะเกิด "จุดขาย" ใหม่ คือ สถานที่ในฉากละคร

แค่เปียโนที่ "จุงซาน" พระเอกเล่นในละคร

ก็มีคนอยากไปนั่งเล่นบ้าง

นี่คือ อิทธิพลของ "ละคร"

"ละคร" สามารถทำให้ห้องที่ "เปียโน" ตัวนั้นตั้งอยู่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้

ไม่แปลกที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกาหลีจะเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา คือ ธุรกิจทัวร์ตามรอยละครดัง

เป็นทัวร์รูปแบบใหม่ เรียกกันว่า "Drama Tour"

เที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความทรงจำเกี่ยวกับความรักของ "พระเอก-นางเอก" ในละครเรื่องนี้

ถือเป็นกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่ขาย "STORY" และ "จินตนาการ" อย่างแท้จริง

ทำ "โลกแห่งมายา" ให้เป็น "โลกเสมือนจริง"

เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากละครและหนังเกาหลีตีตลาดญี่ปุ่นสำเร็จ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นแห่ไปเที่ยวเกาหลีเพิ่มมากขึ้น

ปี 2547 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นทำรายได้เข้าประเทศเกาหลีสูงถึง 200,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น เช่น Cine/Studio เป็นสถานที่บรรจุเรื่องราวของหนังและละครเกาหลีที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง

คนที่คลั่งไคล้ในละครเรื่องใดก็สามารถเข้าไปชมฉากละครและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้

นี่คือ พลังของ "สินค้าวัฒนธรรม"



นิตยสาร "MARKETEER" เคยสัมภาษณ์ นายเจ.บี.ปาร์ก ผู้บริหารระดับสูงของสถานีโทรทัศน์ MBC ผู้ผลิตละครดังๆ มากมายรวมทั้ง "แดจังกึม" เรื่องนี้

เขาบอกว่าประเทศเกาหลีไม่ค่อยจะมีทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวมากนัก เกาหลีจึงมุ่งที่จะส่งออกสินค้าวัฒนธรรมเพื่อทำให้เกาหลีเป็นที่รู้จักมากขึ้น

"ไม่ใช่แค่เก็บเงินคืนมาเท่านั้น แต่เป็นการทำให้เกาหลีเป็นที่รู้จักในประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สินค้าเกาหลีอย่างซัมซุงหรือแอลจี คนประเทศอื่นก็หันมาสนใจใช้มากขึ้น หรือแม้แต่ดาราดังๆ อย่าง วอนบิน และ แบ ยอง จุง ก็ทำให้คนต่างประเทศรู้จักเกาหลีมากขึ้น และมีทัวร์มาลงเยอะมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเที่ยวเยอะจริงๆ บางครั้งต้องใช้เครื่องบินโดยเฉพาะเพื่อรับทัวร์มาลง"

ไม่แปลกที่ MBC จะมีนักการตลาดที่ดูแลตลาดต่างประเทศอย่างใกล้ชิด แยกเป็น ตลาดอาเซียน จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น

เพราะ "ละคร" ไม่ใช่แค่เพียง "สินค้า" ส่งออกที่ทำรายได้มหาศาลให้กับเขา

แต่ยังเป็น "สื่อโฆษณา" ให้กับสินค้า สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมประเพณีของเกาหลีอีกด้วย

เชื่อหรือไม่ว่าวันนี้ "วัฒนธรรมประเพณี" ได้กลายเป็น "สินค้า" ที่ทำรายได้ให้กับเกาหลีได้ถึง 10% ของมูลค่าธุรกิจทั้งหมดของเกาหลี

สินค้าวัฒนธรรมประเพณีของเกาหลี คือ หนัง ละคร เกมออนไลน์ เพลง การ์ตูน นิยาย ฯลฯ

ปี 2547 รายได้ในส่วนของวัฒนธรรมประเพณีเกาหลี สูงถึง 300,000 ล้านบาท

ไม่นับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ที่ได้รับผลพวงจากความสำเร็จของละครและหนัง

การบุกตลาดสินค้าวัฒนธรรมประเพณีของเกาหลี ไม่ได้เกิดจากภาคเอกชนอย่างเดียวดาย

แต่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

เกาหลีมีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ในกระทรวงนี้จะมีหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลสินค้าด้านวัฒนธรรม เช่น เกม การ์ตูน เพลง หนัง ละคร ฯลฯ ชื่อ KOCCA

มีหน้าที่สนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีไปต่างประเทศ

โดยแปร "วัฒนธรรม" ให้เป็น "ธุรกิจ"

อย่าลืมว่าสหรัฐอเมริกาเคยใช้ "หนังฮอลลีวู้ด" สร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ

หนังฮอลลีวู้ดทำให้คนไทยได้รู้จักไลฟ์สไตล์ตะวันตก

ทำให้รู้จักอาหารฟาสต์ฟู้ด

รู้จักรถยนต์รุ่นใหม่

และคุ้นเคยกับ "โค้ก-เป๊ปซี่"

วันนี้ละครเกาหลีกำลังทำให้คนไทยและคนเอเชียคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของเกาหลีมากขึ้น

แต่เป็นการสร้างความคุ้นเคยแบบ "ตั้งใจ" อย่างยิ่ง

ตั้งใจสร้าง "ดีมานด์"

เพื่อทำให้ระบบธุรกิจของสินค้าวัฒนธรรมประเพณีเคลื่อนตัวต่อไป

นี่คือ K-Marketing หรือ Korea Marketing ของประเทศเกาหลี

จากคอลัมน์ X คลูซีฟ โดย สรกล อดุลยานนท์
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1317



Create Date : 12 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2548 13:23:50 น.
Counter : 382 Pageviews.

6 comments
  
น่าคิดแฮะ
โดย: คุณย่า วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:15:06:17 น.
  
น่าคิดจิงๆ
โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:17:08:19 น.
  
จะเข้ามาออนแอร์บ้านเราเมื่อไหร่ครับ......
โดย: ชายคา วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:18:05:45 น.
  
ออนแอร์อยู่นะ ทางช่อง 3 วันเสาร์-อาทิตย์ตอนเย็น ๆ
โดย: [r]yuU[y]a[S]hA IP: 202.28.244.76 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:20:58:40 น.
  
เมื่อไรกระทรวงวัฒนธรรมฯของเราจะทำอย่างเขาได้นะ ทรัพยากรอะไรของเราก็มีมากมาย มากกว่าเขาซะอีกนะครับ
โดย: ป้อจาย วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:21:06:39 น.
  
รัฐบาลบ้านเราน่าจะทำบ้าง แต่งเรื่องที่ผสมศิลปวัฒนธรรมไทยเข้าไป แล้วส่งไปให้ต่างประเทศชม เขาจะได้นิยมสินค้าที่เกี่ยวกับเมืองไทย
โดย: สำเภางาม วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:22:41:45 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

riar
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments
  •  Bloggang.com