Group Blog
 
 
เมษายน 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 เมษายน 2551
 
All Blogs
 

พระพุทธพจน์ ปรากฏในพระไตรปิฎกยืนยัน นิพพานเป็นอัตตา

พระพุทธพจน์ ปรากฏในพระไตรปิฎกยืนยัน นิพพานเป็นอัตตา



อัตตา ตามพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทนั้นจริงแท้ คืออย่างไร ?

"อัตตา" แปลว่า "ตัวตน" หมายถึงสภาพทางธรรมชาติ กาย ใจ ภาษาบาลีเรียกว่า "อตฺตา" ในพุทธศาสนาถือว่ามีสภาพเป็น "ปรมัตตา" (ปรมาตมัน)

"อัตตา" ที่มีสภาพเป็นตัวตนนี้ ได้มีพุทธพจน์ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลี ที.ปา.๑๓/๔๙/๘๕ ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีอัตตา (ตน) เป็นที่พึ่ง มีอัตตาเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เถิด

(อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา)"

พร้อมกันในนั้นก็ได้มีอรรถาธิบายให้ความกระจ่างโดย "พระพุทธโฆษาจารย์" ปราชญ์แห่งพุทธศาสนา (ท่านได้เขียนคัมภีร์วิสุทธิมรรค อันเป็นแนวทางปฏิบัติสมาธิจิต เช่น กสิณ สมาธิ วิปัสสนา ให้พุทธศาสนิกชนได้ใช้ยึดถือปฏิบัติมา ซึ่งพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เขียนจาบจ้วงพระพุทธโฆษาจารย์ไว้ ปรากฏในหนังสือพุทธธรรม) พระพุทธโฆษาจารย์ท่านได้ขยายความไว้ปรากฏใน "คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี" ความว่า

บทว่า "อตฺตทีปา" ความว่า ท่านทั้งหลายจงทำตนให้เป็นเกาะ เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นคติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

บทว่า "อตฺตสรณา" นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า "อตฺตทีปา" นั้นนั่นแล.

บทว่า "อญฺญสรณา" นี้เป็นคำปฏิเสธที่พึ่งอย่างอื่น ด้วยว่าผู้อื่น เป็นที่พึ่งของคนอื่นหาได้ไม่ เพราะคนอื่นจะบริสุทธิ์ด้วยความพยายามของคนอื่นไม่ได้. สมจริงดังที่ตรัส ไว้ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อะไรเล่าพึงเป็นที่พึ่งอย่างอื่น" เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อนญฺญสรณา" (ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ) ถามว่า ก็ในที่นี้อะไรชื่อว่า "อัตตา" แก้ว่า "ธรรมที่เป็นโลกียะ" และเป็นโลกุตระ (ชื่อว่าอัตตา) ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงตรัสว่า "ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา" (มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ)

(อตฺทีปาติ อตฺตานํ ทีป๎ ตาณํ เลณํ คดี ปรายนํ ปติฏฐ ํกตฺวา วิหรถาติ อตฺโถ. อตฺตสรณาติ อิทํ ตสฺเสว เววจนํ อนญฺญสรณาติ อิทํ อญฺญสรณปฏิกเขปวจนํ. น หิ อญฺโญ อญฺญสฺส สรณํ โหติ. อญฺญสฺส วายาเมน อญฺญสฺส อสุขฺฌนโต. วุตฺตมฺปิ เจตํ "อตฺตา หิ อตฺโน นาโถ. โก หิ นาโถ ปโร สิยา" ติ. เตนาห "อนญฺญสรณา" ติ. โก ปเนตฺถ อตฺตา นาม. โลกิยโลกุตฺตโร ธมฺโม. เตนาห "ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อญฺญสรณา ติ.)

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธพจน์ ให้อาศัย "อัตตาโลกียะ ในการปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความบรรลุถึง อัตตาโลกุตตระ อันเป็นปรมัตถธรรม ที่มี ณ ภายในพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้า ที่ท่านได้บรรลุถึงนิพพานแล้ว" ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า "อัตตาในพุทธศาสนา" แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ " อัตตาโลกียะ" กับ "อัตตาโลกุตตระ" ซึ่งแตกต่างกันสิ้นเชิงดังนี้

๑. "อัตตาโลกียะ" คือ กายและใจ กล่าวโดยรวมคือเบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย อันมีมนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม เป็นต้น ที่ชาวโลกสมมุติและยึดถือกันว่าเป็นตัวตนได้เพียงชั่วคราว เพราะเป็นสภาพธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารคือสังขตธรรม) มีความเกิดขึ้นโดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นเหตุเป็นปัจจัย "จึงอยู่ในสภาพอันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน" คือต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย พร้อมทั้งดำรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน เมื่อตั้งอยู่ ก็มีความแปรปรวน เจ็บไข้ ไม่เป็นไปตามอำนาจ จึงเป็นทุกข์ และต้องมีความเสื่อมสลายแตกดับไปในที่สุด เป็นสภาพที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง เป็นสภาพสูญ จึงชื่อว่า "เป็นอนัตตา (อนตฺตา)" คือ "มีสภาพที่มิใช่ตัวตนที่แท้ตามความหมายแห่งพุทธพจน์" คือตรงกันข้าม

ในกรณีความสับสนดังกล่าวของความหมายในคำว่า "อัตตา (อตฺตา)" มักเกิดจากการนำเอาพระสูตรบทหนึ่งมาตีความด้วยความเข้าใจของตนเอง โดยไม่เป็นไปตามพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทซึ่งพระสูตรบทนั้นอยู่ใน อภิ. ก. ๓๗/๑๘๘/๔๒ และ ใน อภิ. ปุ ๙๖/๑๐๓/๑๗๙ มีความว่า

"ดูก่อนเสนิยะ ศาสดา ๓ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก...ฯลฯ..ในศาสดา ๓ ประเภทนั้น

๑. ศาสดาที่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง "โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า" นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "สัสสตวาท" (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าเที่ยง)

๒. ศาสดาที่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ "เฉพาะในปัจจุบัน" ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "อุจเฉทวาท" (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าขาดสูญ)

๓. ศาสดาที่ไม่บัญญัติ "อัตตา" โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ "ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น "สัมมาสัมพุทธ"

(ตโยเม เสนิย สตฺถาโร สนฺโต สํวิชฺชมานา โลกสฺมึ ..ฯเปฯ.. ตตฺร เสนิย ยฺวายํ สตฺถา ทิฏเฐ เจว ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตฺโต ปญฺญเปติ. อภิสมฺปรายญฺจ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา สสฺสตวาโท.

ตตฺร เสนิย ยฺวายํ สตฺถา ทิฏเฐว หิโข ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ. โน จ โข อภิสมฺปรายํ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา อุจเฉทวาโท.

ตตฺร เสนิย ยวายํ สตฺถา ทิฏเฐ เจว ธมฺเม อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต น ปญฺญเปติ. อภิสมฺปรายญฺจ อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต น ปญฺญเปติ; อยํ วุจฺจติ เสนิย สตฺถา สมฺมาสมฺพุทฺโธ)

หัวใจของพระพุทธศาสนาคือ "ข้อที่ ๓" เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาข้อนี้เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นว่า ในพุทธพจน์ข้อ ๓ นี้ "ได้ทรงปฏิเสธอัตตาอันเป็นโลกียะ ในส่วนความหมายของศาสนา และศาสดาอื่นเสียทั้งสิ้น อันได้แก่พวก "ศาสดาสัสสตวาท" และ " ศาสดาอุเฉทวาท" ซึ่ง" อัตตา" ของศาสดาเหล่านั้นล้วนเป็น "อัตตาที่เป็นโลกียะทั้งสิ้น" ซึ่งในเหล่าศาสดาเหล่านั้นไม่มีผู้ใดบรรลุถึงซึ่งโลกุตตระธรรม อันมีพระนิพพานเป็นที่สุดเลยแม้แต่หนึ่งเดียว นอกจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ดังนั้นพระองค์จึงปฏิเสธ "อัตตานุทิฏฐิ อัตตาวาทุปาทานเหล่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อไปยึดติดกับสิ่งที่ไม่มีแก่นสารอันเป็นเพียง "อัตตาโลกียะ" ว่าคือสิ่งเดียวกันกับ อัตตาแห่งโลกุตตระ" ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

๒. "อัตตาโลกุตตระ" คือ สภาพที่มีความ "เที่ยงแท้ เป็น ปรมัตถธรรมมีสภาพพ้นจากโลก" ไม่มีกิเลส ตัณหา อาสวะ ซึ่งจะมีเฉพาะพระอริยเจ้าซึ่งบรรลุอรหันต์ (นิพพาน) แล้วเท่านั้น จึงเป็นสภาพที่ ตรงกันข้ามกับ "อัตตาโลกียะ ซึ่งจะเป็นอนัตตา" เพราะว่า

ก. "อัตตาโลกุตตะ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง" (วิสังขารหรืออสังขตธรรม) และเพราะธรรมชาติของอัตตาโลกุตตระนี้เกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติสมาธิจิตเพื่อการสลัดออกให้พ้นจากธรรมชาติอันมีปัจจัยปรุงแต่ง สังขารหรือสังขตธรรมเท่านั้น มิได้เป็นไปโดยการศึกษาท่องบ่น จดจำแล้วพ้นได้ จะต้องเป็นไปโดยการปฏิบัติจิตเพียงอย่างเดียว ดังมีพุทธพจน์อันปรากฏในพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ขุ.อุ. ๒๕/ ๑๖๐/๒๐๗-๒๐๘ ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว "มีอยู่"

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักมีไม่ได้แล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันเป็นปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว "จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย"

ภิกษุทั้งหลาย ก็แลเพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว ปัจจัยอันกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว "มีอยู่"

ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ

(อตฺถิ ภิกขเว อขาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ โน เจ ตํ ภิกฺขเว อภวิสฺส อชาตํ อภูตํ อสงฺขตํ นยิธ ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺญาเยถ ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว อตฺถิ อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขตํ ตสฺมา ชาตสฺส ภูตสฺส กตสฺส สงฺขตสฺส นิสฺสรณํ ปญฺญายติ.)

"สรุป ความหมายของคำว่า "อัตตา" จาก พระพุทธพจน์กล่าวนี้ เป็นที่ยืนยันได้ถึงความแตกต่างของ "อัตตา" ซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิดคือ

๑. อัตตาโลกียะ อันเป็น สังขาร/สังขตธรรม เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปตามอำนาจแห่งเหตุและปัจจัย ไม่ใช่อัตตาที่แท้จริง ยังเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร

๒. อัตตาโลกุตตระ อันเป็น วิสังขาร/อสังขตธรรม เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนไปตามอำนาจแห่งเหตุและปัจจัย เป็นอัตตาที่แท้จริง ซึ่งเรียกว่านิพพาน พ้นจากวัฏฏะสงสารจะได้มาโดยการปฏิบัติทางสมาธิจิตเท่านั้น ไม่มีทางอื่นใดทั้งสิ้น




 

Create Date : 05 เมษายน 2551
6 comments
Last Update : 5 เมษายน 2551 12:23:41 น.
Counter : 1024 Pageviews.

 

เก็บไว้อ่านด้วยความสุข ขืนไปโพสข้างนอกโดนรุมยำเหมือนเดิมแน่

 

โดย: rxkku 5 เมษายน 2551 12:24:16 น.  

 

บุญที่มนุษย์จะทําได้สูงสุด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าทำทานกับคนไม่มีศีลแม้เพียงครั้งเดียว
ทำทานกับคนไม่มีศีล 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าทำทานกับผู้มีศีล 5 แม้เพียงครั้งเดียว
ให้ทานผู้มีศีล 5 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าให้ทานผู้มีศีล 8 แม้เพียงครั้งเดียว
ให้ทานผู้มีศีล 8 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานผู้มีศีล 10 แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานผู้มีศีล 10 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแด่สมมุติสงฆ์แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานแด่สมมติสงฆ์ 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแก่พระโสดาบันแม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานแด่พระโสดาบัน 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานพระสกิทาคามี 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานพระอานาคามีแม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานพระอนาคามี 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานให้พระอรหันต์ แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานแก่พระอรหันต์ 100 ครั้ง ผลบุญยังได้น้อยกว่าถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง ผลบุญยังได้น้อยกว่าถวายทานแด่พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียว
ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายเพียงครั้งเดียว
ถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าถวายวิหารทานครั้งเดียว
ถวายวิหารทาน 100 หลัง ยังได้บุญน้อยกว่าให้ธรรมทานครั้งเดียว
ให้ธรรมทาน 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการให้อภัยทานครั้งเดียว
อภัยทาน 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้เพียงครั้งเดียว
ถือศีล 5 มากถึง 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าถือศีล 8 แม้เพียงครั้งเดียว
ถือศีล 8 มากถึง 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าการถือศีล 10 ครั้งเดียว ( ถือศีล 10 คือบวชเป็นสามเณร)
บวชเป็นสามเณร รักษาศีลไม่ด่างพร้อย 100 ปี บุญยังน้อยกว่าผู้อุปสมบทเป็นพระ แม้บวชเพียงวันเดียว

พระพุทธเจ้าตรัสในเบื้องปลายว่า
“แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีลครบ 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อย 100 ปี บุญกุศลยังน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิให้จิตสงบ(ฌาน) แม้นานเพียงไก่กระพือปีก”
“ผู้ใดเข้าฌาน นาน 100 ปีและไม่เสื่อม บุญยังน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มาจากการปรุงแต่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตก็ตาม”

คัดลอกจากหนังสือ"เสบียงบุญ"

ผู้แต่ง สุรีย์ จันทร์สิริธร
สำนักพิมพ์ บ้านหนังสือ 19




 

โดย: rxkku IP: 58.9.70.67 18 เมษายน 2551 13:22:11 น.  

 

ผมว่า จิต ตน ธรรม เรา คือ สิ่งเดียวกัน ครับ

 

โดย: หนูเล็กนิดเดียว IP: 202.133.176.66 20 เมษายน 2551 9:07:40 น.  

 

*
อัตตา ตัวตน ในภาคโลกียะ คือ จิตของสามัญสัตว์โลก
จิตที่ถูกปรุงแต่ง ...ยังมีราคะ โทสะ โมหะ...
ยังต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ( กิเลส กรรม วิบาก )

อัตตา ตัวตน ในภาคโลกุตตระ คือ จิตของพระอรหันต์
ที่ปราศจากการปรุงแต่ง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ
ไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์แล้ว ...

*
พูดถึงภาษาไทย...กำกวม ครับ
ถ้าได้อ่าน สปช. ของเด็กประถม จะเห็นเค้าสอนว่า
สิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เรียกว่า ไม่มีตัวตน

คราวนี้พอมาศึกษาธรรมะ ก็จดจำอันนั้นมา
พอมาฟัง ที่กล่าวว่า จิต...อสรีรํ...คือ ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้
ก็เหมาเอาจากความรู้เบื้องต้นจากประถมว่า อ่า...งั้น จิต ต้องไม่มีตัวตน
แล้วก็จะพูดตามๆกันมาว่า จิตต้องไม่มีตัวตน

แถมจินตภาพไปไกลอีกว่า... ถ้าใครเห็น จิต คือ อัตตาตัวตน แสดงว่า คนนั้นคิดว่าจิตเป็นก้อนๆ อีกแหนะ
เออ...ช่างมั่วกันได้ใจจริงๆ...ครับ

 

โดย: หนูเล็กนิดเดียว IP: 202.133.176.66 20 เมษายน 2551 9:25:39 น.  

 

๏ หลักการทำสมาธิเบื้องต้น ๏
จิตของคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยทำสมาธินั้น ก็มักจะมีสภาพเหมือนม้าป่าพยศที่ยังไม่เคยถูกจับมาฝึกให้เชื่อง มีการซัดส่ายไปในทิศทางต่างๆ อยู่เป็นประจำ การทำสมาธินั้นก็เหมือนการจับม้าป่านั้นมาล่ามเชือก หรือใส่ไว้ในคอกเล็กๆ ไม่ยอมให้มีอิสระตามความเคยชิน เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ม้านั้นก็ย่อมจะแสดงอาการพยศออกมา มีอาการดิ้นรน กวัดแกว่ง ไม่สามารถอยู่อย่างนิ่งสงบได้ ถ้ายิ่งพยายามบังคับ ควบคุมมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดิ้นรนมากขึ้นเท่านั้น

การจะฝึกม้าป่าให้เชื่องโดยไม่เหนื่อยมากนั้นต้องใจเย็นๆ โดยเริ่มจากการใส่ไว้ในคอกใหญ่ๆ แล้วปล่อยให้เคยชินกับคอกขนาดนั้นก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ ลดขนาดของคอกลงเรื่อยๆ ม้านั้นก็จะเชื่องขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่แสดงอาการพยศอย่างรุนแรงเหมือนการพยายามบีบบังคับอย่างรีบร้อน เมื่อม้าเชื่องมากพอแล้ว ก็จะสามารถใส่บังเหียนแล้วนำไปฝึกได้โดยง่าย

การฝึกจิตก็เช่นกัน ถ้าใจร้อนคิดจะให้เกิดสมาธิอย่างรวดเร็วทั้งที่จิตยังไม่เชื่อง จิตจะดิ้นรนมาก และเมื่อพยายามบีบจิตให้นิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตจะยิ่งเกิดอาการเกร็งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นจะหมายถึงความกระด้างของจิตที่เพิ่มขึ้น (จิตที่เกร็งจะเป็นจิตที่กระด้าง ซึ่งต่างจากจิตที่ผ่อนคลายจะเป็นจิตที่ประณีตกว่า) แล้วยังจะทำให้เหนื่อยอีกด้วย ถึงแม้บางครั้งอาจจะบังคับจิตไม่ให้ซัดส่ายได้ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจิตมีอาการสั่น กระเพื่อมอยู่ภายใน

เหมือนการหัดขี่จักรยานใหม่ๆ ถึงแม้จะเริ่มทรงตัวได้แล้ว แต่ก็ขี่ไปด้วยอาการเกร็ง การขี่ในขณะนั้นนอกจากจะเหนื่อยแล้ว การทรงตัวก็ยังไม่นิ่มนวลราบเรียบอีกด้วย ซึ่งจะต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับการขับขี่ของคนที่ชำนาญแล้ว ที่จะสามารถขี่ไปได้ด้วยความรู้สึกที่ผ่อนคลายอย่างสบายๆ ราบเรียบ นุ่มนวล ไม่มีอาการสั่นเกร็ง

หลักทั่วไปในการทำสมาธินั้น พอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1.) หาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำสมาธิให้มากที่สุดก่อนที่จะทำสมาธิ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องลองผิดลองถูก และไม่หลงทาง ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังป้องกันความฟุ้งซ่านที่อาจจะเกิดขึ้นจากความลังเลสงสัยอีกด้วย

2.) เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แล้วลองทำไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าทำแล้วสมาธิเกิดได้ยากก็ลองวิธีอื่นๆ ดูบ้าง เพราะจิตและลักษณะนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีที่เหมาะสมของแต่ละคนจึงต่างกันไป บางคนอาจจะเหมาะกับการตามดูลมหายใจ ซึ่งอาจจะใช้คำบริกรรมว่าพุทธ-โธ หรือ เข้า/ออก ประกอบ บางคนอาจจะเหมาะกับการแผ่เมตตา บางคนถนัดการเพ่งกสิณ เช่นเพ่งวงกลมสีขาว ฯลฯ

ซึ่งวิธีการทำสมาธินั้นมีมากถึง 40 ชนิด เพื่อให้เหมาะกับคนแต่ละประเภท แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากที่สุด ก็คืออานาปานสติ คือการตามสังเกต ตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ในหัวข้อวิธีแก้ไขนิวรณ์ 5/อุทธัจจกุกกุจจะ และในเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ) เพราะทำได้ในทุกที่ โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ใดๆ เลย ทำแล้วจิตใจเย็นสบาย ไม่เครียด

3.) อยู่ใกล้ผู้รู้ หรือรีบหาคนปรึกษาทันทีที่สงสัย เพื่อไม่ให้ความสงสัยมาทำให้จิตฟุ้งซ่าน

4.) พยายามตัดความกังวลทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นออกไปให้มากที่สุด โดยการทำงานทุกอย่างที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะทำสมาธิ หรือถ้าทำสมาธิไปแล้ว เกิดความกังวลถึงการงานใดขึ้นมา ก็ให้บอกกับตัวเองว่าตอนนี้เป็นเวลาทำสมาธิ ยังไม่ถึงเวลาทำงานอย่างอื่น เอาไว้ทำสมาธิเสร็จแล้วถึงไปทำงานเหล่านั้นก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ถ้าแก้ความกังวลไม่หายจริงๆ ก็หยุดทำสมาธิแล้วรีบไปจัดการเรื่องนั้นๆ ให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าขืนนั่งต่อไปก็เสียเวลาเปล่า เมื่องานนั้นเสร็จแล้วก็รีบกลับมาทำสมาธิใหม่

5.) ก่อนนั่งสมาธิถ้าอาบน้ำได้ก็ควรอาบน้ำก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าก่อนจะทำให้โล่งสบายตัว เมื่อกายสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับได้ง่ายขึ้น

6.) ควรทำสมาธิในที่ที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ไม่พลุกพล่านจอแจ

7.) ก่อนนั่งสมาธิควรเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาช้าๆ โดยยึดจิตไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้า ข้างที่กำลังเคลื่อนไหว เช่น ปลายเท้า หรือส้นเท้า โดยควรมีคำบริกรรมประกอบ เช่น ขวา/ซ้าย ฯลฯ) หรือสวดมนต์ก่อน เพื่อให้จิตเป็นสมาธิในระดับหนึ่งก่อน จะทำให้นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น

8.) การนั่งสมาธินั้นควรนั่งในท่าขัดสมาธิ หลังตรง (ไม่นั่งพิงเพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย) หรือถ้าร่างกายไม่อำนวย ก็อาจจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ นั่งบนพื้นที่อ่อนนุ่มตามสมควร ทอดตาลงต่ำ ทำกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง (เพราะการเกร็งจะทำให้ปวดเมื่อย และจะทำให้จิตเกร็งตามไปด้วย) นั่งให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สมดุล มั่นคง ไม่โยกโคลงได้ง่าย มือทั้ง 2 ข้างประสานกัน ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกันเบาๆ วางไว้บนหน้าตัก หลับตาลงช้าๆ หลังจากนั้นส่งจิตไปสำรวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้ทั่วทั้งตัว เพื่อดูว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดที่เกร็งอยู่หรือไม่ ถ้าพบก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้หายเกร็ง โดยไล่จากปลายเท้าทีละข้าง ค่อยๆ สำรวจเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงสะโพก แล้วย้ายไปสำรวจที่ปลายเท้าอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน จากนั้นก็สำรวจจากสะโพก ไล่ขึ้นไปจนถึงยอดอก แล้วสำรวจจากปลายนิ้วมือทีละข้าง ไล่มาจนถึงไหล่ เมื่อทำครบสองข้างแล้ว ก็สำรวจไล่จากยอดอกขึ้นไปจนถึงปลายเส้นผม ก็จะเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกาย จากนั้นหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 รอบ โดยมีสติอยู่ที่ลมหายใจ ตรงจุดที่ลมกระทบปลายจมูก พร้อมกับทำจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลายลงเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำสมาธิตามวิธีที่เลือกเอาไว้

9.) อย่าตั้งใจมากเกินไป อย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนั้นวันนี้จะต้องได้ขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะจะทำให้เคร่งเครียด จิตจะหยาบกระด้าง และจิตจะไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จิตจะพุ่งไปที่อนาคต เมื่อจิตไม่อยู่ที่ปัจจุบันสมาธิก็ไม่เกิดขึ้น

ให้ทำใจให้สบายๆ ผ่อนคลาย คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วค่อยๆ รวมจิตเข้ามาที่จุดที่ใช้ยึดจิตนั้น (เช่นลมหายใจ และคำบริกรรม) แล้วคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้น (เช่น ความหยาบ/ละเอียด ความยาว ความลึก ความเย็น/ร้อน ของลมหายใจ) จิตก็จะอยู่ที่ปัจจุบัน แล้วสมาธิก็จะตามมาเอง ถ้าฟุ้งซ่านไปบ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของจิต อย่ากังวล อย่าอารมณ์เสีย (จะทำให้จิตหยาบขึ้น) เพราะคนอื่นๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น เมื่อรู้ตัวว่าฟุ้งออกไปแล้ว ก็ใจเย็นๆ กลับมาเริ่มทำสมาธิใหม่ แล้วจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง

10.) ใหม่ๆ ควรนั่งแต่น้อยก่อน เช่น 5 - 15 นาที แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 20, 30, 40, ... นาที ตามลำดับ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจค่อยๆ ปรับตัว เมื่อนั่งไปแล้วหากรู้สึกปวดขาหรือเป็นเหน็บ ก็ขอให้พยายามอดทนให้มากที่สุด ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ จึงจะขยับ เพราะทุกครั้งที่มีการขยับตัวจะทำให้จิตกวัดแกว่ง ทำให้สมาธิเคลื่อนได้ และโดยปรกติแล้วถ้าทนไปได้ถึงจุดหนึ่ง เมื่ออาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว อาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นก็จะหายไปเอง และมักจะเกิดความรู้สึกเบาสบายขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นอาการของปิติที่เกิดจากสมาธิ

11.) การทำสมาธินั้น เมื่อใช้สิ่งไหนเป็นเครื่องยึดจิต ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเราทั้งหมดไปรวมเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ อยู่ที่จุดยึดจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ก็ทำความรู้สึกว่าตัวเราทั้งหมดย่อส่วนเป็นตัวเล็กๆ ไปนั่งอยู่ที่จุดที่รู้สึกว่าลมกระทบอย่างชัดเจนที่สุด เช่นปลายรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือริมฝีปากบน เป็นต้น ให้ทำความรู้สึกที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว ไม่ต้องเลื่อนตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน

12.) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวล เพราะทั้งหมดเป็นเพียงอาการของจิต พยายามตั้งสติเอาไว้ให้มั่นคง ตราบใดที่ไม่กลัว ไม่ตกใจ ไม่ขาดสติ ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทำใจให้เป็นปรกติ แล้วคอยสังเกตสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ถ้าเห็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้นมา หรือรู้สึกว่าได้สัมผัสกับสิ่งที่น่ากลัวใดๆ ก็ตาม ให้แผ่เมตตาให้สิ่งเหล่านั้น แล้วคิดว่าอย่าได้มารบกวนการปฏิบัติของเราเลย ถ้าไม่หายกลัวก็นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจ แล้วพยายามอย่าใส่ใจถึงสิ่งที่น่ากลัวนั้นอีก ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ตั้งสติเอาไว้ หายใจยาวๆ แล้วค่อยๆ ถอนจากสมาธิออกมา เมื่อใจเป็นปรกติแล้วถึงจะทำสมาธิใหม่อีกครั้ง สำหรับคนที่ตกใจง่าย ก็อาจนั่งสมาธิหน้าพระพุทธรูป หรือนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย ก่อนนั่งก็ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน แล้วอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง

13.) ถ้าจิตไม่สงบ ก็ลองแก้ไขตามวิธีที่ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ซึ่งได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว

14.) เมื่อจะออกจากสมาธิ ควรแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายก่อน โดยการระลึกถึงความปรารถนาให้ผู้อื่น และสัตว์ทั้งหลายมีความสุขด้วยใจจริง จากนั้นก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการทำสมาธินั้น ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (ระลึกให้ด้วยใจ) แล้วหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก 3 รอบ พร้อมกับค่อยๆ ถอนความรู้สึกจากสมาธิช้าๆ เสร็จแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น บิดเนื้อบิดตัวคลายความปวดเมื่อย แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนช้าๆ

15.) เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิให้จริงจัง ควรงดเว้นจากการพูดคุยให้มากที่สุด เว้นแต่เพื่อให้คลายความสงสัยที่ค้างคาอยู่ในใจ เพราะการคุยกันนั้นจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน คือในขณะคุยกันก็มีโอกาสทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น และเมื่อทำสมาธิก็จะเก็บมาคิด ทำให้ทำสมาธิได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการคุยกับคนที่สมาธิน้อยกว่าเรา นอกจากนี้ ควรเว้นจากการร้องรำทำเพลง การฟังเพลง รวมถึงการดูการละเล่นทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มกามฉันทะ ซึ่งเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่ง (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) อันเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ

 

โดย: rxkku IP: 58.9.103.96 20 เมษายน 2551 21:10:43 น.  

 

ขอบคุณมาก สำหรับข้อมูล

 

โดย: juko IP: 125.25.96.110 10 มิถุนายน 2551 17:18:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


rxkku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add rxkku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.