สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวพัน
<<
กรกฏาคม 2562
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
15 กรกฏาคม 2562

ถนนสายนี้มีตะพาบ ก.ม.232 "ความเป็นไทย"

โจทย์ถนนสายนี้มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 232
"ความเป็นไทย" โจทย์โดยคุณ toor36

ถ้าจะพูดถึงความเป็นไทย
คิดไรไม่ออกก็หันไปถามยายได้เลย
ยายรู้ทุกเรื่อง ที่เป็นไทยๆ ไม่ว่าบทละครไทย
คำกลอนของไทย  สมุนไพรไทย เพลงไทยเดิม
ต้นไม้ดอกไม้ไทย อาหารคาว-หวานของไทย



เรื่องเล่าผีไทย..ยายถนัดมาก แม่นาคพระขโนง เล่าอย่างออกรส
หลานๆนั่งคลุมโปงฟัง ติดเข่ายายกันทีเดียว
เล่าแบบมีเสียงหนักเบา กระซิบกระซาบ
และตะโกนลั่นให้หลานตกใจ
อกหวั่นขวัญแขวนซะงั้น
แล้วยายก็หัวเราะชอบใจ

หลานก็ได้โน่น นี่ นั่น
มาจากยายพะเรอเกวียน
มันซึมไปเองเรื่อยๆทุกวัน
ไม่ต้องจดจำ อยากทำ อยากพูด
ก็นึกออกว่ายายเคยทำแบบไหน
เล่าว่าอย่างไร

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับยายและตา
คือใส่บาตร และสวดมนต์ก่อนนอน
เป็นมงคลไทยในชีวิตเหลือเกิน
ที่ได้สิ่งนี้มาจากตายาย
สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืนไม่เคยขาด
ตั้งแต่เด็ก จนถึงทุกวันนี้
ทำให้นอนหลับสบายในทุกที่
ไม่มีสิ่งใดรบกวนให้ตื่นขึ้นกลางดึก

สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือ
ปัญหาอะไรเอ่ย
ตอนเด็กๆเราไม่มีหนังสือเรียนเขียนอ่านอะไร
ไปโรงเรียนแรกก็ใช้กระดานชนวน
ใช้ดินสอหินขีดเขียน เขียนๆขีดๆ
วาดโน่นนี่ แล้วก็ใช้ผ้าขี้ริ้วผืนเล็กๆชุบน้ำลบ
เขียนใหม่ ตามที่ครูให้ทำ
กระดานแตกนับแผ่นไม่ถ้วน เพราะแก่นกะโหลกไง
ดินสอหินหัก แต่ก็ยังเอามาเขียนได้ต่อ

แต่ปัญหาอะไรเอ่ยของยาย ทำให้หลานๆ
เก่งภาษาไทย รู้จักคำศัพท์ สำบัดสำนวน
คำคล้องจอง และการเปรียบเทียบ
รวมทั้งรู้จักต้นไม้ดอกไม้ เครื่องใช้ไม้สอย
แม้แต่มาตราการชั่งตวงวัดเลยทีเดียว

พอยายนั่งกลางนอกชานปั๊บ ตำหมากไปบ้าง
ดองผักเสี้ยนผักหนาม มะดัน มะยม ลูกตำลึงอ่อน
หลานๆก็จะมานั่งนัวเนียใกล้ๆ ให้ยายเล่านิทานบ้าง
ถามปัญหาอะไรเอ่ยบ้าง
ยายไม่ทำตามหลานของ่ายๆ 
บอกให้ไปเหลาไม้กวาดให้ได้คนละ 1 กำก่อน
หลานก็ไปเอาทางมะพร้าวมาเหลาเอาใบออกเหลือแต่ก้าน
เก็บไว้ทำไม้กวาดไว้ใช้เอง เหลือใช้ก็เอาไปขาย
หรือไปเก็บใบมะดันมาให้ยายคลุมกาละมังผักดองให้ก่อน
หลานก็รู้จักการดองผักผลไม้ไปด้วย
แล้วยายถึงจะเล่านิทานให้ฟัง


แต่ที่หลานชอบมากที่สุด เห็นจะเป็นปัญหาอะไรเอ่ย
เพราะบางครั้ง ยายจะมีรางวัลเป็นเงินเหรียญ 5 สตางค์ 10 สตางค์
จนถึง 1 สลึง ให้กับคนที่ตอบได้มากที่สุด

 ยายจะใส่เหรียญไว้ในกระป๋องยาจืด เพื่อเอาเหน็บมุมปาก
เวลากินหมาก เหน็บทำไมเราก็ไม่รู้เหมือนกัน
ใครชนะ ยายก็ให้ไปหยิบเหรียญเอง
สอนความซื่อสัตย์ไปในตัว



ปัญหาอะไรเอ่ย แรกๆที่เคยฟังจากยาย เช่น
"อะไรเอ่ย ต้นเท่าครก ใบปรกดิน"
ยายสอนให้รู้ว่าปรกดิน แปลว่าอะไร

หรือ "อะไรเอ่ย ต้นเท่าขาใบวาเดียว"
ยายสอน ว่า 12 นิ้ว เป็น 1คืบ / 2 คืบ เป็น 1ศอก
4 ศอก เป็น 1 วา / 20 วา เป็น 1 เส้น
400 เส้น เป็น 1 โยชน์
ยายเอานิ้วมือของยายมาเรียงติดกัน10นิ้ว
ทำเครื่องหมายไว้ แล้วขยับเพิ่มอีก2นิ้ว รวมเป็น 12นิ้ว
ยายเอาปูนแดงกินหมากทำหมายไว้ แล้วยายก็กางนิ้วมือออก
ให้กว้างให้สุดที่จะทำได้ ตรงความยาว 12 นิ้วที่ป้ายปูนไว้
บอกหลานว่า นี่คือ 1 คืบ มันก็จะเท่ากับความยาว
จากปลายหัวแม่มือ ไปจนสุดปลายนิ้วก้อย
ที่เอานิ้ว12นิ้วของเรามาเรียงต่อกัน
นิ้วของใครก็คืบของคนนั้น
แล้วให้หลานลองทำดู นิ้วเล็กๆของหลาน 12 นิ้ว
ก็ได้ความยาว 1 คืบ ของตัวหลานเอง
จริงด้วยแฮะ แล้วก็ลองวัดศอก วัดวาต่อ
หลานก็ได้รู้จัก มาตราการวัดความยาวของไทย
ที่ใช้อวัยวะของร่างกาย วัดกะเอาแบบง่ายๆ

"อะไรเอ่ย มีจุกมีเกศ มีเนตรรอบตัว"
ยายสอนราชาศัพท์อีกแน่ะ เกศแปลว่าหัว เนตรแปลว่าตา
เจ๋งสุดๆ ทั้งที่ยายไม่ได้จบครูสักหน่อย
ยายจบป.4เองนะเนี่ย
ยายใช้ทฤษฎี Learning by Doing เฉยเลย

"อะไรเอ่ย ต้นเท่าแขน ใบแล่นเสี้ยว"
"อะไรเอ่ย สี่ตีนเดินมาหลังคามุงจาก"
"อะไรเอ่ย สี่ตีนเดินมาหลังคามุงกระเบื้อง"
"อะไรเอ่ย เด็กนุ่งขาว สาวนุ่งเขียว แก่ทีเดียวนุ่งแดง"
"อะไรเอ่ย หีบใส่ผ้าเหลือง กุญแจทั้งเมืองไขไม่ออก"
"อะไรเอ่ย สาวๆคับแจ แก่ๆหลวมโพลก"
"อะไรเอ่ย ทางโน้นก็คว้า ทางนี้ก็คว้า มีเรือชะล่าแล่นกลาง"
"อะไรเอ่ย ตาแป๊ะหลังโกง ลงน้ำไม่ขุ่น" 
" อะไรเอ่ย หน้าสั้นฟันขาวหางยาวเป็นมังกรอาบน้ำท่าหิน
หากินบนดอน"
"อะไรเอ่ย หน้างอ คอหัก มักกินก่อนใคร"
"อะไรเอ่ย หึ่งๆเหมือนภุมรา เอกบาทา จเรจเร"
"อะไรเอ่ย ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง"
"อะไรเอ่ย ข้างนอกขรุขระ ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง"




นี่เป็นอะไรเอ่ยที่จำมาจากยายทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นคำไทยที่คล้องจองกัน
จึงเป็นอะไรที่จำง่าย

ยายทำให้ดูทั้งการนุ่งซิ่น
นุ่งอย่างไรจึงงาม ไส้ไม่แล่บให้ขายหน้า
 ผ้าไม่หลุดทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ต้องใช้เข็มขัด
หรือเข็มกลัดแม้แต่น้อย
หยักรั้ง ถกเขมร โจงกระเบน
ยายสอนสารพัด จึงทำได้ตลอดถึงวันนี้
นุ่งซิ่น งามอย่างไทยได้เสมอ
แม้แต่การมวยผมโดยไม่ต้องใช้กิ๊บ
ก็อยู่ได้ไม่หลุด เป็นทักษะชีวิต
ที่ยายทำและส่งต่อให้ลูกหลานมาตลอด





ที่สุดๆของยายคือสอนให้ลูกหลานซื่อสัตย์
ยายบอกเสมอว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน
และสอนให้กตัญญู กตเวที
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือความเป็นไทย ของยาย
ที่ปลูกฝังสืบทอดมาให้หลานอย่างไม่รู้ตัว
เป็นความชาญฉลาด ของคนแก่คนหนึ่ง
ที่ผดุงความเป็นไทย อย่างง่ายๆและใช้ได้จริงเสมอ
ขอบคุณยายจริงๆ

สวัสดี

 




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2562
22 comments
Last Update : 15 กรกฎาคม 2562 15:45:00 น.
Counter : 4889 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณวลีลักษณา, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณสองแผ่นดิน, คุณtoor36, คุณhaiku, คุณกะว่าก๋า, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณเริงฤดีนะ, คุณtuk-tuk@korat, คุณเรียวรุ้ง, คุณอุ้มสี, คุณJinnyTent, คุณmcayenne94, คุณruennara, คุณnewyorknurse, คุณkae+aoe, คุณ**mp5**

 

ตะลีกีปัส Diarist ดู Blog
ภาพแรกนี่มันจะเป็นไทยไปหน่อยมั๊ยคะ 555

 

โดย: หอมกร 15 กรกฎาคม 2562 16:28:40 น.  

 

แหม..ถ้ายายถามผมแบบข้างบน ผมคงตอบไม่ถูก ไม่ได้
รางวัลแน่เลย หัวช้าทึ่มมาก 555

ทีนี้รู้แล้วแม่ตะลี ทำไมนุ่งผ้าซิ่นเก่ง สวย... คุณยายสอนนี่เอง

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 15 กรกฎาคม 2562 17:50:51 น.  

 

สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นเลยค่ะ
เวลาฟังเรื่องผี ต้องนั่งตัวตรงแบบบีบๆ
ไม่ให้ตรงร่องพื้น 555เป็นเหมือนกันไหมคะ

 

โดย: วลีลักษณา 15 กรกฎาคม 2562 19:50:20 น.  

 

สนุกสนานด้วย ได้ความรู้ด้วย ได้รางวัล ได้สตางค์ด้วยนะคะ

นุ่งซิ่น ไส้ไม่แล่บ ชายเสมอ ไม่ใช้เข็มขัด ...เดี๋ยวนี้สาว ๆ เค้านุ่งซิ่นสำเร็จกันแล้วมังคะ

 

โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ 15 กรกฎาคม 2562 19:52:55 น.  

 

ความโชคดีของแต่ละครอบครัวคนไทยที่ได้ใกล้ชิดและถูกปลูกฝัง

จากปู่ย่าตายายนะคะ สั่งสอนและสืบทอดต่อกันมาเป็นรุ่นๆ

เข้ามาอ่านงานเขียนค่ะ

 

โดย: โอน่าจอมซ่าส์ 15 กรกฎาคม 2562 19:55:59 น.  

 

สวดมนต์นี่รู้สึกผมจะห่างจากจุดนี้ไปมาก กำลังจะเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปในกิจวัตรประจําวัน

ยายเก่งแฮะ เป็นการสอนแบบแยบยล ไม่รู้ตัวแต่ได้ความรู้ติดตัวไปแล้ว

แนวคิดการสอนของคนสมัยก่อนผมว่ามันดี แต่หลายๆ อันมันไม่มีเหตุผลรองรับ ถ้ามีเหตุผลรองรับ ผมมองว่าน่าจะได้รับการสืบสานมากกว่านี้

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 15 กรกฎาคม 2562 23:00:59 น.  

 

อรุณสวัสดิ์ครับพี่


เวลานึกถึงความเป็นไทย
อาหารไทยหลายๆเมนูก็เป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างแท้จริงเลยนะครับ

คุณยายน่ารักมากๆเลยครับพี่
ชอบวิธีสอนของผู้ใหญ่ในอดีต
ถ้าเป็นคนจีนก็จะมีเรื่องเล่าต่างๆ
คำถามอะไรเอ่ยแบบที่คุณยายสอน
น่าจะถูกใจเด็กๆมากครับ
ได้ความรู้ด้วย สนุกสนานด้วย


 

โดย: กะว่าก๋า 16 กรกฎาคม 2562 6:41:39 น.  

 

คุณยายน่ารักมากๆน่ารักที่ชู๊ด...
ส่งเสริมอุปนิสัยที่ดีงามอย่างไทย

นอกจากนั้น
บล็อกแม่ตะลีมีความเป็นไทย
กินอยู่อย่างไทย
นุ่งผ้าไทย
เซรญฐกิจพอเพียง
ทุกอนูก็ว่าได้
ยกให้เป็น blog แสดงความเป็นไทยแห่งปีค่ะ

Vote ..Proud of being Thai.

 

โดย: เริงฤดีนะ 16 กรกฎาคม 2562 9:36:16 น.  

 

ความเป็นไทยอีกอันที่เห็นได้จากบล็อกนี้คือการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 16 กรกฎาคม 2562 10:50:25 น.  

 

ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับพี่

ผมคิดตั้งนานครับ
ว่าจะโยงมาเข้ากับนิยายกำลังภาในได้ยังไง
ต้องกลับไปค้นข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยเลยครับ

 

โดย: กะว่าก๋า 16 กรกฎาคม 2562 12:54:29 น.  

 

ดีจังเลยค่ะ
เล่นไปด้วยได้ความรู้ไปด้วยแบบนี้
จำติดใจไม่มีลืมเลย

รุ้งก็รู้จักอะไรเอ่ยอยู่หลายคำถามนะคะ
ไม่รู้เลยว่าสามารถแทรกคำสอนได้มากขนาดนี้
อยากเอาไปสอนหลานมั่ง ต้องเริ่มรื้อฟื้นอะไรเอ่ยบ้างแล้ว
แต่ก็ต้องกลับไปหัดมาตราวัดด้วย ยังจำไม่ได้เลย คืบ วา ศอกเนี่ย

 

โดย: เรียวรุ้ง 16 กรกฎาคม 2562 13:12:19 น.  

 

จากบล็อก
ผมมีครกที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาจิ๋วนะ

ฮาที่บอกว่าระวังด้อยู่แต่ในกล่อง (ฮ่าๆๆ)

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 16 กรกฎาคม 2562 15:18:27 น.  

 



สวัสดียามเช้าครับพี่


 

โดย: กะว่าก๋า 17 กรกฎาคม 2562 6:12:45 น.  

 


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กะว่าก๋า Dharma Blog ดู Blog
Tui Laksi Sports Blog ดู Blog
เรียวรุ้ง Literature Blog ดู Blog
The Kop Civil Movie Blog ดู Blog
ภาวิดา คนบ้านป่า Diarist ดู Blog
สายหมอกและก้อนเมฆ Review Food Blog ดู Blog
JinnyTent Travel Blog ดู Blog
mcayenne94 Diarist ดู Blog
ตะลีกีปัส Diarist ดู Blog

ขอบคุณยายจริงๆ ค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 17 กรกฎาคม 2562 9:30:43 น.  

 

เด็กๆที่ได้เติบโตมากับคุณยายมักได้เรียนรู้อะไรดีๆทุกคน
ลูกๆพี่ก็ได้อะไรๆเยอะมากเหมือนจะจากคุณยายมากกว่าแม่เสียอีก

ว่างๆสาธิตวิธีนุ่งซิ่นแบบไม่ต้องคาดเข็มขัดบ้างสิคะ

กินทุเรียนแทนข้าวทั้งมื้อกลางวันมื้อเย็นเลยเหรอ
น่าจะร้อนมากเลยค่ะ

 

โดย: ภาวิดา คนบ้านป่า 17 กรกฎาคม 2562 10:05:47 น.  

 

อย่าว่าเขวี้ยงไว้ให้สิจ๊ะ ไม่งามนะเออ
บางทีมันยุ่งๆจนหัวฟูก็ทำทีละอย่างอ่ะ ตัวเอง

ไม่ต้องทำคลิปหรอก เอาแค่ภาพก็พอ

 

โดย: ภาวิดา คนบ้านป่า 17 กรกฎาคม 2562 11:46:09 น.  

 

สวัสดีค่าแม่ตะลี
อ่านเรื่องราวความเป็นไทย
ที่คุณยายของแม่ตะลีสอนแล้ว ยิ้มมมม สุขใจค่ะ
อดคิดถึงคุณยายของจินไม่ได้

จินก็รักตาและยายจินมาก ท่านเลี้ยงจินมา
พ่อแม่ทำงานหนัก จินเลยติดตากับยาย
นอนกับตายายไม่ยอมนอนกับพ่อแม่ตอนเด็ก ๆ
ยายเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนทุกคืน
นอนจับนมแห้งยายทุกคืน ไม่งั้นนอนไม่หลับ
....คิดถึงยายจังเลยค่ะ...

อ่านไปนึกถึงบรรยากาศในตอนนั้น
มันอบอวลด้วยความสุข บอกไม่ถูก

มันคือบรรยากาศครอบครัวแทบไทย ๆ
ในยุคสมัยที่ไม่มีทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้าและมือถือ
กินข้าวด้วยกันพร้อมหน้า ทุกสิ่งอย่างรวมกันอยู่
บนขันโตกหรือทางเหนือเรียกว่าขันข้าว

ไม่ว่าจะทำงานหนักขนาดไหน
เวลากินข้าวต้องพร้อมหน้า คุยกัน หัวเราะกัน
ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงาน ทุ่งนา ท้องไร่

จินจำภาพเก่า ๆ
เวลาที่ตาหรือยายนอนข้างเสาบ้าน
ลูกหลานกระโดดลงบ้านหนี เพราะรู้ว่าจะถูกใช้
ให้เหยียบขาหรือหลังเพื่อคลายเมื่อย 55

ทุกสิ่งทุกอย่าง ผัก ผลหมากรากไม้
ได้กินเพราะยายปลูกทั้งนั้น ยายมือเย็น
ไปวัดไม่ได้ใส่ซิ้นยายไม่ยอมเข้าวัด ต้องใส่ผ้าถุงเท่านั้น

เลิกเรียนจินถูกยายเอาไม้เรียวไปตามที่สนามโรงเรียนบ่อย ๆ
เพราะมัวแต่เล่นจนมืดค่ำไม่ยอมกลับบ้าน
ฯลฯ ซะปะเรื่องเล่าของตายาย
พิมพ์ไปพิมพ์มา น้ำตาจะไหล 5555

อ่านบล็อกแม่ตะลีวันนี้
คิดถึงตายาย คิดถึงบรรยากาศเก่าในวัยเด็ก
ึและก็ระลึกถึงรากเหง้า "กำพืด"ตัวเองเสมอ
ว่าเรามาจากไหน ไม่ควรลืมตัวลืมตน

จินเองก็เชื่อมั่นและยึดมั่นอย่างหนึ่งว่า
ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี
และทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนค่ะ

ขอบคุณแม่ตะลีที่นำเรื่องราวดี ๆ มาฝากกัน จุ๊บๆ

 

โดย: JinnyTent 17 กรกฎาคม 2562 13:48:40 น.  

 

ชอบอ่านเรื่องบรรยากาศเก่าๆค่ะ
คุณยายน่ารักจังค่ะ

 

โดย: mcayenne94 17 กรกฎาคม 2562 17:12:58 น.  

 

ขอบคุณเช่นกันครับพี่

 

โดย: กะว่าก๋า 17 กรกฎาคม 2562 22:09:25 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับพี่

 

โดย: กะว่าก๋า 18 กรกฎาคม 2562 6:30:38 น.  

 

ชื่นชอบคนใส่ชุดผ้าไทยบ้านนี้ค่ะ

 

โดย: kae+aoe 18 กรกฎาคม 2562 8:30:55 น.  

 

ส่งกำลังใจครับ

 

โดย: **mp5** 18 กรกฎาคม 2562 15:29:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ตะลีกีปัส
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




New Comments
[Add ตะลีกีปัส's blog to your web]