อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ (นะจ๊ะ)

ลิงค์ load pattern เก่า ๆ ที่ download link หมดอายุไปแล้ว งดส่งให้ทางอีเมล์นะจ๊ะ ไม่ว่างเลยจ้า

อยากคุยกัน อีเมล์มาที่ allcraftsharing@gmail.com จะเร็วกว่าใน blog นะค้า
<<
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
14 มีนาคม 2550

คำให้การกบฏไอทีวี (ขออีกทีแล้วกัน) ภาค 2

ต่อ ๆ ตอน 2 เอามาลง ไม่ได้อยากให้ซีเรียสอะไรนะคะ อยากบันทึกไว้อ่านเจ้ย ๆ นะจ๊ะ




คำให้การกบฏไอทีวี (ขออีกทีแล้วกัน) ภาค 2

โดย ผู้จัดการรายวัน 14 มีนาคม 2550 05:16 น.
เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000029453

ไม่ต้องเกริ่นกล่าวอันใดให้เยิ่นเย้อ คำให้การของกบฏไอทีวี ภาค 2 (ต่อจากเมื่อวาน) พวกเขาคิดและรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของไอทีวี ทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทย

เชิดชาย มากบำรุง

สำหรับเชิดชาย เขาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่หน้าจอเพื่อเรียกร้อง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจได้ในสิ่งที่ไอทีวีกระทำลงไป และเขาก็ย้ำด้วยว่านี่ไม่ใช่กรณีแรกของสื่อที่ใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

“ในบรรดาสื่อที่มีอยู่ทุกช่อง ไอทีวีก็ทำมากที่สุดแล้ว แต่ถามว่าทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่าคงไม่ใช่ ไม่มีสื่อทีวีช่องไหนในประเทศไทย ทั้งเคเบิ้ล ดาวเทียม หรือฟรีทีวี ไม่มีช่องไหนทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่มันล้อมรอบตัวอยู่ แต่ผมมองว่าไอทีวีก็คงพยายามทำให้ออกมาในลักษณะที่ดูดีที่สุดแล้ว จะบอกว่าเขาไม่พยายามเลยคงไม่ใช่ เพราะว่าในบรรดาข่าวที่ออกมา ผมก็ว่าข่าวของไอทีวีโอเคในระดับหนึ่ง ดีกว่าสื่อทีวีหลายช่อง แต่ถามว่าทำได้เต็มที่หรือเปล่า ก็ต้องไปดูว่าปัจจัยภายในของเขา เราไม่ได้อยู่ข้างใน เราก็ตอบไม่ได้ คนทำเขารู้ตัวเขาเอง

“การที่สื่อหนึ่งจะทำเรื่องอะไรคงมีปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน ไม่มีสื่อไหนทำเรื่องที่กระทบกับองค์กรของตัวเอง เราต้องมองว่าตัวไอทีวีเขาได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่นบ้างหรือเปล่า ไอทีวีอาจจะทำเรื่องเทมาเส็กไม่ได้ แต่เขาก็ทำในเรื่องสังคม เราอาจจะถามได้ว่าคุณเป็นทีวีเสรี ทำไมไม่ทำ มันก็มีคำตอบอยู่แล้ว เจ้าของเขาเป็นใครก็รู้อยู่ อันนี้พูดตามภาพภายนอกนะครับ แต่ภายในทางไอทีวีเขาก็บอกว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับกองบรรณาธิการและทางชินคอร์ปก็ไม่ได้มาก้าวล่วง คนพูดก็พูดไป คนฟังก็ฟังไป ใครจะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน แต่เรื่องพวกนี้ผมมองว่ามันผ่านไปหมดแล้ว ผมอยากให้มองไปข้างหน้ามากกว่า”

เชิดชายเห็นว่าคนไอทีวีควรจะมองไปข้างหน้าว่า หลังจากนี้จะทำตามที่สัญญาในการทำหน้าที่เพื่อสังคงได้หรือไม่ สิ่งที่เขาเป็นห่วงก็คือเมื่อเข้าไปอยู่ในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์อาจจะทำให้การทำหน้าที่สื่อของคนไอทีวีไม่สมบูรณ์ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่คนไอทีวีต้องพิสูจน์ให้ได้ เขายังบอกอีกว่าในฐานะเพื่อนเขายังคงสนิทสนมดีกับทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเรื่องของทัศนคติที่ไม่ตรงกัน

“ผมมองว่าทุกคนยังเป็นเพื่อนกันอยู่ ถนนสายนี้แคบมาก เดี๋ยวก็ต้องมาเจอกันอีก โกรธกันไปก็ไม่มีประโยชน์ คนไอทีวีบางคนอาจมองว่าพวกผมสมน้ำหน้า แต่ผมก็เชื่อว่ายังมีคนไอทีวีอีกหลายคนที่มองว่าผมยังเป็นเพื่อนเขาอยู่”

ปฏิวัติ วสิกชาติ

เขาไม่เห็นด้วยกับการปิดไอทีวี เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชน เขาคิดว่ารัฐบาลควรจะไปเจรจากับเอกชนเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

“ย้อนไปในช่วงของการเคลื่อนไหวของพนักงานไอทีวี ผมรู้สึกเหมือนไอทีวีถูกจับเป็นตัวประกัน มีประชาชนถูกใช้เป็นเกราะคุ้มครองให้ผู้ที่จับไอทีวีเป็นตัวประกัน อย่าลืมนะครับว่าคลื่นของไอทีวี ประโยชน์สูงสุดคือสาธารณะ เป็นสื่อที่ทุกคนเป็นเจ้าของ แต่การที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ได้สิทธิในการใช้ ทำเหมือนกับว่าเป็นเจ้าของเสียเอง โดยไม่คำนึงถึงคนอื่นที่เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย ใช้สถานีเป็นกระบอกเสียงตัวเองทั้งวันทั้งคืน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว และ 6 ปีที่ผ่านมานับจากวินาทีที่เราถูกถอดออกจากไอทีวี นับย้อนหลังขึ้นไปอีกถึงการเคลื่อนไหวเพื่อบอกว่าการที่ชินเข้ามาจะเกิดอะไรกับไอทีวี และวันนี้ถึงแม้จะล่วงเลยมา 6 ปี แต่มันก็เป็นสิ่งพิสูจน์ในสิ่งที่เราทำ ณ ตอนนั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งกว่าช้า”

เขาค่อนข้างดุดันที่จะบอกว่า เขาได้พิพากษาลงโทษประหารไอทีวีไปแล้ว และตั้งคำถามกลับว่าเขาเป็นกบฏเพราะคนในไอทีวีบอกให้เป็น แต่ว่าที่ผ่านมาพวกคุณกำลังกบฏต่อวิชาชีพตัวเองอยู่หรือเปล่า
“ในฐานะผู้ร่วมวิชาชีพ ผมว่าเราต้องรักษาสถาบันของเราไว้ ทีวีประเทศไทยไม่ได้มีช่องเดียว คำพูดหรือการกระทำที่พยายามทำให้ตัวเองดูดี มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรอวดอ้าง แต่การอวดอ้างที่ทำให้คนอื่นเขาเสีย ผมว่าไม่ถูก เราต้องเคารพในการเป็นสื่อของช่องอื่นด้วยว่าเขาก็ทำได้อย่างที่คุณทำนั่นแหละ เพียงแต่ว่าคุณมีโอกาสดีกว่าแต่คุณไม่ได้ใช้โอกาสนั้นในทางที่ถูก คุณทำในสิ่งที่คุณคิดว่าดี แต่มันต้องให้สังคมเป็นคนพูด

“ในฐานะคนร่วมสถาบันไอทีวี ก็ฝากไว้ว่ามันเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ก้าวต่อไปอย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก”

สุวรรณา อุยานันท์

สุวรรณาไม่เห็นด้วยกับการใช้สื่อเพื่อปกป้องตัวเองเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนจอดับ เพราะเธอเชื่อว่าในฐานะของสื่อยังไงก็ตามย่อมมีคนส่งขอนไม้ให้เกาะเข้าฝั่งอยู่แล้ว อีกทั้งไอทีวีก็เป็นผู้ผิดสัญญาสัมปทาน ขณะที่พนักงานไอทีวีใช้หน้าจอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน ผู้ถือหุ้นไอทีวีอีก 2 หมื่นคนกลับไม่มีโอกาส

“วิธีการที่ใช้สถานีโทรทัศน์ออกอากาศตลอดเวลาเพื่อเรียกร้อง สร้างมวลชนขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณสื่อนะ เพราะเท่ากับว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ใช้สื่อเท่าเทียมกับคุณ ถ้าถามกลับไปว่ามีคนงานโรงงานทอผ้าที่ปิดกิจการ ในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน คนงานโรงงานทอผ้าก็ไม่มีโอกาสใช้สิทธิ์ของเขาทำงานต่อนะ”
เธอเล่าประสบการณ์ที่เคยประสบให้ฟังว่า

“ในฐานะของคนที่เคยอยู่ข้างใน หลายคนถูกแทกรแซงโดยไม่เข้าใจว่านั่นคือการแทรกแซง เขาจึงปฏิเสธว่าไม่มีการแทรกแซง ง่ายๆ มีนักข่าวคนหนึ่งซึ่งตอนนี้ก็เป็นบรรณาธิการข่าว ทำข่าวเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ แต่ปรากฏว่ากรรมการผู้จัดการสมัยนั้นซึ่งมาจากชินคอร์ปตัดสินใจยกข่าวนี้ไม่ให้ออกอากาศ แต่นักข่าวคนนั้นก็ไม่เข้าใจ ซ้ำยังบอกด้วยว่าเขาไม่ได้ถูกแทรกแซง ประชาชนไม่มีทางได้ยินคำตอบจากคนไอทีวีแน่ๆ ว่าตั้งแต่ปี 2544-2549 เขาถูกแทรกแซงเหรอ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าการแทรกแซงมีหลายระดับชั้นมาก ขนาดถูกแทรกแซงตรงๆ ก็ยังปฏิเสธ แล้วที่ไม่ตรงจะยอมรับหรือ

“เราเชื่อว่าเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ เขามีส่วนรับรู้ในการแก้ไขสัญญาสัมปทาน การปรับผัง หรือการลดค่าสัมปทาน แต่เขาไม่ส่งเสียงออกมาเพราะมันคือผลประโยชน์ ถามว่าเข้าใจได้มั้ย เรื่องนี้เข้าใจไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่คุณกำลังร่วมกันทำผิดต่อสังคม คนที่เดือดร้อนที่สุด ณ วันนี้คือประชาชนนะ ไม่ใช่พนักงานไอทีวี ทีวีเสรีช่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากเลือดเนื้อของคนเดือนพฤษภาคม แต่คนไอทีวีคิดว่าเป็นของพวกเขา บางส่วนก็ใช้คำอธิบายว่าไอทีวีที่ผ่านมีส่วนช่วยเหลือสังคม ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่านั่นไม่ใช่หน้าที่สื่อหรอกหรือ มันเป็นหน้าที่

“คนไอทีวีควรขอโทษประชาชนที่คุณลืมเรื่องความถูก-ผิด ใช้พื้นที่สื่อเพื่อคน 1,070 คน แทนที่จะใช้พื้นที่สื่อเพื่อรายงานสดตลอดระยะเวลาของการเดินขบวนของกลุ่มผู้หญิงที่ถอดเสื้อเดินบนถนนกลางกรุงเทพเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ไม่ใช่หรือ ทำไมคุณไม่ทำหน้าที่ตรงนั้น เพื่อให้ผู้หญิงกลุ่มนั้นได้รับการเยียวยาเหมือนกับที่คนไอทีวีได้รับการเยียวยา”

เธอเชื่อว่าหลังจากนี้การทำงานของไอทีวีจะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น จะต้องเจอบททดสอบจิตวิญญาณของสื่ออย่างหนักหน่วงซึ่งเธอก็ไม่แน่ใจว่าคนไอทีวีจะผ่านไปได้

“การเข้าไปสู่การเป็นสมบัติของรัฐ แต่ไม่ได้คิดถึงการเป็นสมบัติของสาธารณะ ไอทีวีก็จะมีข้ออ้างในอนาคตอีกว่าทำเพื่อสังคมไม่ได้เต็มที่นัก ที่ผ่านมาเขาก็อยู่ใต้เงื่อนไขของทุน เขาก็ยังปฏิเสธว่าไม่ได้มีผล อนาคตอยู่ใต้เงื่อนไขของรัฐก็ไม่แน่ใจว่าจะกล้ายอมรับหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ควรใช้วิธีการลาออกดีกว่า และไปเริ่มต้นพิสูจน์ตัวเองในที่อื่นๆ หรือไปช่วยกันสร้างสรรค์ในที่อื่นๆ ดีกว่า เพราะคนไอทีวียังมีต้นทุนทางฝีมือมากพอที่จะทำงาน เพียงแต่ต้องมีคุณสมบัติอื่นด้วยที่จะทำให้คนมีศักดิ์ศรี”

ม.ล.สุกุณฑีร์ จรูญโรจน์

ในความเห็นของม.ล.สุกุณฑีร์ ความเสียดายคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหมือนกับเพื่อนๆ กบฏอีกหลายคน แต่ถึงกระนั้นเขาก็บอกว่าถ้าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ...จะสวยกว่านี้

“ก็เข้าใจได้ว่าตอนนั้นชินวัตรก็มีทั้งทุนและอำนาจจึงไม่แปลกที่ต้องเลือกให้ชินคอร์ปเข้ามากู้สถานการณ์ แต่ว่าด้วยคอนเซ็ปต์ของสถานีข่าว ถ้าตอนนั้นออกมาเรียกร้องภาพจะสวยเพราะตอนนี้คำถามมันตามมาเยอะว่ากลัวตกงานหรือเปล่า ซึ่งหลายคนก็พยายามตอบว่าไม่ใช่ อยากทำงานเสนอข่าว แต่มันก็หนีไม่พ้นครับ การเปิดทีวีอีกครั้ง การเปลี่ยนโลโก้ก็แค่เป็นเปลาะหนึ่ง เปลาะต่อไปต้องตอบตัวเองให้ได้

“เพราะที่ผ่านมาการตรวจสอบการทุจริตหายไปเลย แต่ก่อนผมยังได้เห็นข่าวทุจริตที่ทำออกมาได้อย่างชัดเจน แต่ตอนหลังไปเน้นเรื่องสังคมเพราะไม่กระทบต่อผู้บริหารบ้านเมืองซึ่งในแง่สังคมก็ทำได้ดี เราก็ยอมรับ แต่ข่าวเชิงลึกหายไป โดยส่วนตัวผมก็ยังกดไปดูไอทีวี ยังดูว่าเขายังทำหน้าที่ที่ยังพึ่งได้ มีการนำเสนอที่รวดเร็ว ตรงนี้ยังไม่เปลี่ยน ยังคงเอกลักษณ์ของสถานีตรงนี้ไว้

“ต่อจากนี้คนไอทีวีก็ต้องใช้ผลงานพิสูจน์ ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ว่าตีอย่างเดียว ถ้าตีไปแล้วก็ต้องมีอีกฝั่งหนึ่ง ทำข่าว 2 ด้าน ทำในเชิงลึกให้ได้ดีกว่าสถานีอื่น จะเป็นการพิสูจน์ คือจะต้องทำตามสัญญาที่คุณได้บอกไว้ผ่านหน้าจอในช่วงวิกฤตว่า ไม่ได้กลัวการตกงาน แต่เสียดายที่จะไม่ได้ทำงานนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้กับสังคม ต้องพิสูจน์ให้ได้ จะต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง”
เขาทิ้งท้ายอย่างชวนคิดว่า

“อดีตเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ปัจจุบันต้องจดจำไว้ อนาคตคือสิ่งที่ต้องแสวงหา ไอทีวีก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตมากันเยอะ หลายเรื่องน่าจะเป็นบทเรียนให้ทุกคนได้จดจำและแก้ไข ผมอยากให้พวกเขาเป็นผู้นำในการเสนอข่าว ทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบทุกภาคส่วนให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริง ตรงนี้คือสิ่งที่อยากจะฝากบอกพี่ๆ เพื่อนๆ ไอทีวี”

ยุวดี เตชะไพฑูรย์สุข

“มันมีความเสียดายมากกว่า เพราะมันเป็นฟรีทีวีแห่งแรกของบ้านเรา และมันก็ทำหน้าที่ด้วยดีมากตลอด เพียงแต่ว่าหลังจากที่ผ่านช่วงเวลาหนึ่งมาแล้วมันดันไปอยู่ภายใต้ทุนที่มีการเมืองเข้ามาผสมด้วยมันก็เลยน่าเสียดายความเป็นอิสระตรงนั้น และมันก็นำมาถึงตรงนี้วันที่เราเสียทีวีเสรีไปช่องหนึ่ง”

เธอเป็นห่วงว่ายิ่งเมื่ออยู่ใต้ร่มเงากรมประชาสัมพันธ์แบบนี้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นสื่อของรัฐไป และเอาเข้าจริงๆ เธอก็เหมือนเพื่อนๆ กบฏคนอื่นๆ ที่มองว่าไอทีวี ทีวีเสรีจบไปแล้วตั้งแต่ชินคอร์ปเข้าซื้อหุ้น ถ้าคนไอทีวีะสู้ตั้งแต่ตอนนั้น เรื่องวันนี้ก็คงไม่เกิด ส่วนในด้านความรู้สึก...

“ก็เห็นใจพวกเขาที่ออกมาเรียกร้อง พวกเขามีสิทธิ์ที่จะออกมาต่อสู้ แต่ว่าเขาก็คงลืมบทบาทของตัวเองว่าสื่อก็ต้องทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เขาควรจะมองในภาพใหญ่ว่าจะปกป้องสถานีแห่งนี้ให้อยู่ได้เพราะอะไร ไม่ใช่ว่าเพราะเขาจะตกงาน แต่เขาลืมดูว่าบทบาทที่ผ่านมามันไม่ได้ตอบโจทย์สังคมว่าคุณได้ทำหน้าที่ของคุณเต็มที่หรือเปล่า ที่ผ่านมาคุณตรวจสอบรัฐบาลทักษิณหรือเปล่า มันก็เลยชัดว่าภาพการต่อสู้นั้นเขาทำเพื่อตัวเองมากกว่าส่วนร่วม

“เราก็เชื่อมั่นนะคะว่าด้วยความเป็นนักข่าว ทุกคนจะทำในสิ่งที่ควรจะทำ เขาจะมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองมั้ย เขาก็พิสูจน์ตลอดมา เพียงแต่สิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดที่ผ่านมาไม่มีใครเชื่อ เพราะมีคำถามค้างคาใจอยู่แล้วว่า เอ๊ะ คุณกล้าตรวจสอบรัฐบาลทักษิณมั้ย ก็ไม่ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาไม่ว่าเขาจะไม่ได้เข้าข้างทักษิณหรือไม่ก็ไม่มีคนเชื่อว่าเป็นกลาง และยิ่งมาอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ ก็ยิ่งเกิดคำถามอีกว่าจะทำงานเพื่อรัฐ เพื่ออำนาจการเมืองหรือเปล่า ต่อไปอาจจะไม่ต่างกับช่อง 11 หรือ 3, 5, 7, 9 แรกๆ เขาอาจจะพยายามพิสูจน์ แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา รัฐบาลก็น่าจะดีใจว่ามีทีวีภายใต้กำกับของรัฐเพิ่มอีกช่องหนึ่ง แถมนักข่าวก็มีคุณภาพด้วย จึงยิ่งยากที่คนทีไอทีวีจะพิสูจน์ว่าเขาอิสระจริง”

เธออยากให้คนไอทีวีทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และอย่าปล่อยให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก

กรุณา บัวคำศรี

หนึ่งในกบฏไอทีวีอีกคนที่วันนี้ยังคงบทบาทความเป็นสื่ออย่างต่อเนื่อง เธอบอกว่า

“ดิฉันมีเพื่อนสนิทอยู่ที่นั่นเยอะ และโดยส่วนตัวแล้วเห็นใจคนที่อยู่สภาวะนั้นเพราะเราก็เคยอยู่ในสภาวะเช่นนั้นมาก่อน ในฐานะของคนที่อยู่ในวิชาชีพเดียวกันและในฐานะเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่อาจจะไม่มีโอกาสมากที่จะไปหางานที่อื่น ดิฉันจะไม่ค่อยเป็นห่วงคนที่มีชื่อเสียงเท่าไหร่เพราะเขามีโอกาส”

“ภาพของไอทีวีที่ออกมาเป็นลบ ต้องถามว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร อาจเป็นเพราะช่วงที่ออกมาเรียกร้อง ไอทีวีอาจไม่ได้แสดงความเป็นมืออาชีพเท่าที่ควรในการประคับประคองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คืออาจจะรู้สึกมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากเกินไป จนกระทั่งไม่ได้คิดและมองว่าจะพูดให้สังคมเข้าใจ ใช้อารมณ์มากเกินไป อีกเรื่องคือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไอทีวีทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่งในช่วงสถานการณ์ที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ แต่ในแง่ของการตรวจสอบการเมือง ไอทีวีไม่ได้ทำหน้าที่เท่าที่ควร ดิฉันจึงไม่เชื่อว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับช่อง 11 จะมีคนรู้สึกเยอะขนาดนี้ เมื่อคนมีความคาดหวังสูง มีความรักในไอทีวีมาก พอมันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาหวังมันก็เกิดอาการตีกลับไปอีกด้านหนึ่ง"

เธอยังเชื่อว่าคนไอทีวียังมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในฐานะคนข่าวที่มีคุณภาพ เพียงแต่จะต้องสร้างความแตกต่างในเนื้อหา และทำใหสังคมเห็นว่าคนไอทีวียืนหยัดในวิชาชีพดังที่บอกกล่าวกับประชาชน

“ไอทีวีถูกจับตามองมากจากสังคม ไอทีวีเรียกร้องความเป็นอิสระ ดิฉันไม่เชื่อว่ากระแสแบบนี้ถ้าคนไอทีวีสู้ กรมประชาสัมพันธ์หรือรัฐบาลจะกล้าเข้ามาแทรกแซง เพราะถ้าคนไอทีวีเอาจริง คุณลุกขึ้นมาประกาศกลางจอเลยว่าถูกแทรกแซง ดิฉันเชื่อว่าคนจะสนับสนุน และใน 10 ปีที่ผ่านมามันผ่านข้อขัดแย้งและถูกจับตามองจากสังคมเยอะมาก การมาอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในแง่หนึ่งมันเป็นข้อจำกัด แต่ในช่วงสั้นๆ ที่เขาเอามาฝากไว้กับกรมประชาสัมพันธ์ ถ้าคนไอทีวียืนหยัดซะอย่าง ดิฉันไม่เชื่อหรอกว่าใครจะเข้ามาแทรกแซงได้ ถ้าคนไอทีวีสู้เหมือนช่วงที่ผ่านมานะ”

สุดท้ายเธอฝากข้อความถึงคนไอทีวีว่า

“ในแง่ของความเป็นเพื่อนก็เห็นใจ เป็นห่วง แต่ในที่สุดจะผ่านไปได้ คิดว่าเพื่อนๆ จะปรับตัวได้ แต่ในเรื่องของวิชาชีพน่าจะมองว่านี่เป็นโอกาสในการพิสูจน์ตัวเองว่า 5 ปีที่ผ่านที่ถูกมองว่ารับใช้ทักษิณ วันนี้สังคมจับตาดูอยู่ และเชื่อว่าสังคมให้โอกาส ถ้าพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าคุณมีความเป็นมืออาชีพ สร้างความแตกต่างได้ กระแสที่เป็นลบตอนนี้จะกลับมาเป็นอีกด้านหนึ่ง”

**************

“เรื่องสื่อสาธารณะ เราจะต้องทำให้มันเป็นไปได้”

เทพชัย หย่อง คืออีกคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงวิกฤตไอทีวีปี 2544 เขามองว่าการปิดหรือไม่ปิดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เขาให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐมากกว่าว่าให้ความสำคัญกับเสรีภาพของสื่อแค่ไหน ส่วนในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ เขาเห็นใจภาวะที่พนักงานไอทีวีเผชิญอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการเรียกร้องที่ช้าไป

“ผมว่าเขาเรียกร้องช้าไปตั้ง 5 ปี เพราะถ้าพนักงานเหล่านี้รวมกันอย่างเหนียวแน่นเหมือนตอนนี้ ตั้งแต่ที่รู้ว่าชินคอร์ปจะเข้ามาซื้อไอทีวี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าวันนั้นทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันว่าการที่ชินคอร์ปเข้ามามันจะเป็นการเข้ามาทำลายการเป็นทีวีเสรี และทุกคนขึ้นมาป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าในครั้งนั้นประชาชนจำนวนไม่น้อยจะลุกขึ้นมายืนเคียงข้างไอทีวี แต่ก็น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นอันตรายที่คืบคลานเข้ามาพร้อมกับชินคอร์ป

“ส่วนเรื่องสื่อสาธารณะที่ถูกพูดถึงตอนนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องทำให้มันเป็นไปได้ เมืองไทยต้องมีสื่อทีวีที่เน้นด้านข่าวสารสาระมากกว่าหนึ่งช่อง และปลอดจากการถูกแทรกแซงควบคุมด้วยกลไกทางการเมืองหรือราชการ ผมจึงอยากเห็นความชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ พูดง่ายๆ ว่าท่านนายกฯ ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศและเป็นคนที่พูดหลายครั้งว่าเห็นความสำคัญในการมีเสรีภาพของสื่อ หน้าที่ของท่านคือต้องให้วิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นเมืองไทยมีทีวีแบบไหน ผมคิดว่าถ้าท่านออกมาพูดชัดเจน มันจะเป็นผลงานสำคัญของท่านในการวางหินก้อนแรกที่จะปูทางไปสู่การมีทีวีที่รับใช้สังคมจริงๆ

“บทเรียนที่เกิดขึ้นกับไอทีวีเป็นบทเรียนที่ใหญ่มาก ผมอยากให้คนทำสื่อได้บทเรียนจากตรงนี้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งคนที่ทำสื่อจะต้องลุกขึ้นยืน ถ้าเราเชื่อในหลักการของการทำงานจริงๆ ว่าจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากภาคส่วนใด เพราะว่าในยามปกติใครก็พูดได้ว่ามีจุดยืน แต่ว่าจุดยืนพวกนี้มันต้องพิสูจน์หรือเปล่า แล้วเวลาที่คนทำข่าวต้องพิสูจน์จุดยืนคือเวลาไหน ก็คือช่วงเวลาที่มีวิกฤต ช่วงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างตกงานกับยืนเคียงข้างหลักการ คือผมยอมรับไม่ค่อยได้ถ้าจะบอกว่าผมลุกขึ้นมาสู้ คัดค้าน ผมก็ตกงานสิ ถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงหลักการเลย อันนี้ผมพูดโดยกว้างๆ ไม่ได้เจาะจงองค์กรไหนนะ สำหรับคนทำสื่อถ้าปากเราพูดถึงหลักการ เราก็ต้องพร้อมที่จะเสียสละเพื่อปกป้องมันใช่มั้ย แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามถูกแทรกแซงแล้วเราเฉยๆ เพราะกลัวตกงาน ผมว่าก็ลืมไปเถอะเรื่องหลักการ ไม่ต้องพูดถึงมัน”



Create Date : 14 มีนาคม 2550
Last Update : 14 มีนาคม 2550 18:43:02 น. 3 comments
Counter : 559 Pageviews.  

 
น่าสงสารเนาะ


โดย: Pattylala วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:5:55:35 น.  

 
นี่ๆๆ ยัยต๊ะ (เป็น พนง.ไอทีวีเหรอยะ)

เฮ้อๆ บอกให้เอาเรื่องหนุกๆ


โดย: ...ตะเกียงดวงน้อย... วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:8:53:13 น.  

 
เด๋ว ๆๆ ใจเย็น ๆ เด๋วเอาเรื่องอื่นให้ แม่คุณทั้งสอง


โดย: riskx_ray วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:10:28:35 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

riskx_ray
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ไปดูคริสตัลเม็ดพิการกันค่ะ

Download Crystal Pattern
ที่ต๊ะมีได้ที่นี่ค่ะ


ลูกปัดเลิกขายแล้วค่ะ โชว์รูปเฉย ๆ ค่ะ
[Add riskx_ray's blog to your web]