We don't know future. What we don't know exactly always contains risk. When we take risk, we bet. Therefore, investment is a calculated bet. Just bet wisely.
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
19 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
วางแผนการลงทุน LTF/RMF

วันก่อนผมได้อ่านกระทู้หนึ่งในห้องสินธรเกี่ยวกับการขอคำแนะนำเรื่องการวางแผน การออมเงิน เนื่องจากผู้ถามมีรายได้ค่อนข้างเยอะประมาณแสนบาทต่อเดือนทำให้ต้องจ่ายภาษี ในอัตรา 30% จึงได้ทำการซื้อ LTF/RMF เต็มจำนวน อย่างไรก็ตามมีหลายคนเข้ามาตอบกระทู้ว่า ซื้อ LTF/RMF เยอะเกินไป ให้ซื้อน้อยลง ในขณะที่บางคนแนะนำให้นำเงินส่วนที่จะซื้อ LTF/RMF ไปซื้อบ้านหรือคอนโด แทน เรามาดูกันดีกว่าว่า ที่จริงแล้วการลงทุนใน LTF/RMF นั้นดีอย่างไร ควรซื้อเท่าไหร่ และเมื่อเทียบกับการซื้อสินทรัพย์อย่างอื่นจะดีกว่าหรือไม่

ผมจะขอ พูดเน้นใน LTF นะครับ ส่วนการลงทุนใน RMF ก็คงใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน การลงทุนใน LTF ช่วยให้เราประหยัดภาษี โดยภาษีที่ประหยัดได้ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่เราจ่าย ดังนั้นความน่าสนใจในการลงทุนจึงแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคนเพราะฐานภาษีต่าง กัน นอกจากนั้นการซื้อ LTF มีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้น จึงมีโอกาสเกิดการขาดทุน หลายครั้งที่ผมได้พูดคุยกับเพื่อนนักลงทุนคนอื่นที่ซื้อ LTF จุดประสงค์หลักๆนั้นเพื่อต้องการประหยัดภาษีเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเสี่ยงในตลาดหุ้นเลย นั่นแสดงว่ามีความต้องการรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นได้น้อยมาก

LTF เป็นกองทุนที่มีระยะเวลาในการถือครองตามกฎหมายต้องถือไว้ 5 ปีปฏิทิน แต่ในทางปฏิบัติสามารถถือครองสั้นเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น โดยการซื้อ LTF เมื่อสิ้นปีที่ 1 และขายออกไปต้นปีที่ 5 ดังนั้นความเสี่ยงเรื่องผลขาดทุนจากการที่หุ้นตกจึงเท่ากับระยะเวลาการถือ หุ้นยาว 3 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงเวลา 3 ปีนั้นโอกาสที่ตลาดหุ้นโดยรวมจะขาดทุนเกิน 30 – 40% มีไม่มาก ถึงมีก็ไม่บ่อยครั้งและมักจะเป็นวิกฤตขั้นร้ายแรง อย่างเช่นในปี 2008 เป็นต้น สำหรับผมแล้วโดยส่วนตัวผมคิดว่าฐานภาษีที่ 10% นั้นค่อนข้างเสี่ยงที่จะซื้อ LTF หากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ผมคิดว่าอย่างน้อยน่าจะเริ่มที่ฐานภาษีสัก 20% หรือมากกว่า นอกจากกว่านักลงทุนคนนั้นมีความต้องการถือหุ้นระยะยาวอยู่แล้วก็ซื้อได้เลย

ต่อมาเรามาพูดถึงผลตอบแทนจากการลงทุนใน LTF หลายคนเข้าใจผิดว่าเราจะได้ผลตอบแทนในรูปของเงินภาษีที่ประหยัดได้ ซึ่งเท่ากับฐานภาษีของเรา เช่น ถ้าฐานภาษี 30% อาจคิดว่าเราได้ผลตอบแทน 30% คืนมาซึ่งการคิดดังกล่าวไม่ถูกต้องนัก ที่ถูกต้องเราต้องคิดในรูปของผลตอบแทนที่ได้จากเงินลงทุนจริงครับ ผมยกตัวอย่างกรณีฐานภาษี 30% สมมติว่าซื้อกองทุนไป 100 บาท เราจะได้เงินคืนมา 30 บาท ซึ่ง 30 บาทนี้จะได้คืนมาในระยะเวลาอันสั้นจากกรมสรรพากร (อันที่จริงให้บริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยลงไว้ล่วงหน้า จะทำให้ไม่ต้องรอเงินส่วนนี้ครับ) ทำให้การลงทุนจริงเท่ากับ 70 บาท ดังนั้นถ้าสมมติว่าภายใน 3 ปีนี้ หุ้นไม่ได้ปรับตัวไปไหน(เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลง การสมมติว่าหุ้นอยู่ที่เดิมจึงน่าจะโอเค) เราจะได้ผลตอบแทนกลับมาในส่วนของภาษีเท่ากับ 30 บาทจากเงินลงทุน 70 บาท ซึ่งเท่ากับ 43% นอกจากนั้นตลาดหุ้นมักจะมีเงินปันผลให้ประมาณ 3.5 บาท( 3.5% ต่อปี) และเนื่องจากเราลงทุนเพียงแค่ 70 บาท ทำให้ได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเท่ากับ 5% ต่อปี(ปันผล 3.5 บาทจากเงินลงทุน 70 บาท) ภายในช่วง 3 ปี เราจะได้เงินปันผลเท่ากับ 15% ดังนั้นผลตอบแทนรวมจากเงินลงทุน 70 บาทจะเท่ากับ 43+15% = 58% เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่สูงมากจากการประหยัดจากภาษีที่ได้ อย่างไรก็ตามนี่ยังไม่รวมถึงผลกำไร/ขาดทุนจากการปรับขึ้นลงของตลาดหลัก ทรัพย์ ซึ่งก็ขึ้นอยุ่กับราคาที่เข้าซื้อกองทุน และช่วงเวลาของสภาพเศรษฐกิจนั้นๆ หากเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้นี้กับผลตอบแทนจากการลงทุนอื่นๆจะพบว่าผลตอบ แทนจากการลงทุนใน LTF นั้นสูงกว่ามาก สูงที่สุดในการลงทุนทุกรูปแบบเลยก็ว่าได้(เทียบกับการลงทุนที่มีความเสี่ยง ต่ำๆประเภทอื่นๆโดยทั่วไป) และสำหรับผู้ที่มีฐานภาษี 20% ผลตอบแทนจะเท่ากับ 38% ซึ่งก็ยังน่าสนใจพอสมควร ดังนั้นหากให้ผมสรุป ผมคิดว่าสำหรับฐานภาษี 20% หรือมากกว่า ควรซื้อและลงทุนใน LTF ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

นอกจากนั้นเรายังพบว่ากองทุน LTF มีระยะเวลาการถือครองจริงสั้นเพียงแค่ 3 ปี นั่นหมายความว่าเราต้องกันเงินมาซื้อ LTF เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น และเมื่อครบ 3 ปีแล้วเราสามารถขายกองทุน LTF นี้ออกไปเพื่อไปซื้อ LTF ของรอบปีถัดไปได้มา ทำให้เราไม่ต้องเก็บเงินเพิ่มเพื่อซื้อ LTF ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป นัยว่าลำบากเก็บเงินเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นหลังจากนั้นก็สบายยาว นับว่าเป็นการลงทุนที่ดีทีเดียว

และ เมื่อเทียบกับการนำเงินที่จะซื้อ LTF ไปซื้อสินทรัพย์อื่นแทนเช่น บ้านหรือคอนโด เนื่องจากนำไปลดภาษีได้เหมือนกันนั้น ในทางไฟแนนซ์เมื่อเราต้องเลือกการลงทุนในสองอย่าง สิ่งที่เราจะนำมาเปรียบเทียบคือผลตอบแทนที่จะได้ ซี่งในกรณีนี้ถ้าเรานำเงินไปซื้อ LTF และกู้เงินธนาคารมาจ่ายค่าซื้อบ้านในจำนวนที่เท่ากัน สำหรับฐานภาษี 30% เราจะได้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนใน LTF เท่ากับ 58% ในขณะที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเท่ากับ MLR เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเท่ากับ 18% (MLR ปัจจุบันประมาณ 6%) จะเห็นได้ว่าเราได้ผลตอบแทนสุทธิมากกว่าถึง 58-18 = 40% เลยทีเดียว ดังนั้นหากคุณมีความสามารถในการกู้และชำระหนี้ได้ ข้อแนะนำคือให้กู้เงินธนาคารมาลงในบ้านจะดีกว่าการนำเงินในส่วนของ LTF ไปซื้อบ้านนะครับ

และสำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากหุ้นตกซึ่ง จะทำให้ LTF ขาดทุนนั้น วิธีง่ายๆวิธีหนึ่งก็คือให้ทำการขาย short SET50 futures ด้วยจำนวน exposure ที่เท่ากัน เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าซื้อ LTF เมื่อ SET50 อยู่ที่ 500 จุด และถ้าซื้อ LTF จำนวน 500,000 บาท เราก็จะทำการ short SET50 index futures จำนวน 1 สัญญา หากในกรณีที่นักลงทุนบางคนซื้อไม่ถึงจำนวนห้าแสน อาจใช้วิธีสองปีรวมกันก็ได้เช่น ซื้อปลายปีนี้สองแสนห้าหมื่น และต้นปีซื้ออีกสองแสนห้าหมื่น และ short futures 1 สัญญาก็ใช้ได้ เพียงแต่ต้องระวังตอนขายเพราะขายกองทุนได้ทีละสองแสนห้า ซึ่งจะทำให้ net position เป็น short นอกจากนั้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีนี้จะต้องทำการ roll over futures เนื่องจาก futures contract มีอายุสั้นกว่ามาก และต้องเตรียมเผื่อเงินสำรองไว้กรณีที่หุ้นขึ้นซึ่งทำให้ต้องวางเงิน collateral เพิ่ม (ถ้าอ่านแล้วเริ่มงงให้ข้ามไปก็ได้ครับ) หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้นก็คือให้ลงทุนใน LTF ที่ได้ทำการ short futures เพื่อ hedge ไว้แล้วซึ่งก็คือ กองทุน One-smart ซึ่งเป็นกองทุน LTF กองทุนเดียวที่กำไรหรือขาดทุนน้อยมากในกรณีที่หุ้นขึ้นหรือลง กองทุนนี้ไม่เหมาะถ้าหุ้นได้ปรับตัวลงมากแล้ว เพราะคุณจะไม่ได้กำไรเมื่อหุ้นปรับตัวกลับขึ้นมาครับ ต้องระวังจุดนี้ด้วย

สำหรับ RMF ก็คิดในรูปแบบเดียวกันกับ LTF เพียงแต่ข้อแตกต่างกันตรงที่ RMF สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ได้นั่นเอง แต่นี่เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนไม่ทราบ เนื่องจากตราสารหนี้ระยะสั้นนั้นให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่ำกว่าหุ้นมาก หากลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นนานเกินไป จะทำให้ผลตอบแทนหลักหักเงินเฟ้อแล้วจะได้ผลตอบแทนที่น้อยมาก (ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นเท่ากับ 15% ต่อปี ตราสารหนี้ระยะยาว 6% ต่อปี ตราสารหนี้ระยะสั้น 2-3% ต่อปี และเงินเฟ้อ 2-3% ต่อปี)

นักลงทุนหลายคิดคิดว่าการซื้อ RMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นนั้นปลอดภัย และได้เงินคืนภาษีอย่างที่ต้องการนั้นเป็นวิธีที่ดี แต่อย่าลืมว่าเงินคืนภาษีนั้นได้เพียงครั้งเดียว แต่การลงทุนต้องถือยาวนานมาก เฉลี่ยเงินคืนภาษีต่อปีนั้นถือว่าน้อยมากยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนอายุ 30ปี เกษียณอายุ 55 ปี ฐานภาษี 30% และลงทุนใน RMF ที่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น แม้ว่าจะประหยัดภาษีได้ทันที 30% ก็จริง แต่ว่าด้วยระยะเวลาการคือกองทุน 25 ปี ทำให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการประหยัดภาษีเท่ากับ 30/25 = 1.2 % ต่อปีเท่านั้น เมื่อรวมกับผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้ระยะสั้นที่ 2% เท่ากับว่าได้ ผลตอบแทนโดยรวมเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 3.2% ซึ่งชนะเงินเฟ้อนิดเดียว ไม่ถือเป็นการลงทุนที่ดีนัก โดยมากแล้ววิธีที่น่าจะดีกว่าคือการสลับเปลี่ยนกองทุนจากตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นกองทุนหุ้น (ที่เป็น RMF เหมือนกัน) ในช่วงเวลาที่หุ้นตกลงมามากๆ และเปลี่ยนกลับจากกองทุนหุ้นเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเมือหุ้นได้ปรับ ตัวขึ้นไปมากพอสมควร การสลับเปลี่ยนกองทุนแบบนี้น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าครับ


Create Date : 19 ธันวาคม 2552
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 15:07:21 น. 0 comments
Counter : 2167 Pageviews.

Rhythm of Love
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Flag Counter

New Comments
Friends' blogs
[Add Rhythm of Love's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.