การพัฒนาชีวิตมีสามด้าน ด้านสิ่งแวดล้อมและกายภาพ ด้านจิตใจ ด้านความรู้เข้าใจชีวิต ดังนั้นเรามาพัฒนาชีวิตกันเถอะ
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
3 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
๑. คนผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ (สมาชิกในสังกัดมนุษย์ชาติ)

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่น สิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ได้แก่ สิกขา หรือการศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา มนุษย์ที่ฝึก ศึกษา หรือพัฒนาแล้ว ชื่อว่าเป็น "สัตว์ประเสริฐ" เป็นผู้รู้จักดำเนินชีวิตที่ดีงามด้วยตนเอง และช่วยให้สังคมดำรงอยู่ในสันติสุขโดยสวัสดี
มนุษย์ที่จะชื่อว่าฝึก ศึกษา หรือพัฒนาตน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของมนุษย์ชาติ พึงมีคุณสมบัติที่เป็นต้นทุน ๗ ประการ ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือ รุ่งอรุณของการศึกษา ซึ่งเป็นหลักประกันของชีวิตที่จะพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐอย่างแท้จริง ดังนี้
๑. กัลยาณมิตฺตตา (มีกัลยาณมิตร) แสวงแหล่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี คือ อยู่ร่วมหรือใกล้ชิดกัลยาณชน เริ่มตั้งแต่มีพ่อแม่เป็นกัลยาณมิตรในครอบครัว รู้จักคบคน และเข้าร่วมสังคมกับกัลยาณชน ที่จะมีอิทธิพลชักนำและชักชวนกันให้เจริญงอกงามในการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา โดยเฉพาะให้เรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา มีศรัทธาที่จะดำเนินตามแบบอย่างที่ดี และรู้จักใช้ปัจจัยภายนอก ทั้งที่เป็น บุคคล หนังสือ และเครื่องมือสื่อสารทั้งหลาย ให้เป็นประโยชน์ในการแสวงหาความรู้และความดีงาม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต แก้ปัญหา และทำการสร้างสรรค์
๒. สีลสัมปทา (ทำศีลให้ถึงพร้อม) มีวินัยเป็นฐานของการพัฒนาชีวิต คือรู้จักจัดระเบียบความเป็นอยู่กิจกรรมกิจการและสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อโอกาสแก่การพัฒนาชีวิต อย่างน้อยมีศีลขั้นพื้นฐาน คือมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ด้วยการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างเกื้อกูลไม่เบียดเบียนกัน และในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ด้วยการกินใช้ปัจจัย ๔ ตลอดจนอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหลาย ในทางที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกื้อหนุนการศึกษา การสร้างสรรค์ และระบบดุลยสัมพันธ์ของธรรมชาติ
๓. ฉันทสัมปทา (ทำฉันทะให้ถึงพร้อม) มีจิตใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือเป็นผู้มีพลังแห่งความใฝ่รู้ ใฝดี ใฝ่ทำ ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่สัมฤทธิ์ ใฝ่ความเป็นเลิศ อยากช่วยทำทุกสิ่งทุกคนที่ตนประสบเกี่ยวข้องให้เข้าถึงสภาวะที่ดีงาม ไม่หลงติดอยู่แค่คิดจะได้จะเอาและหาความสุขจากการเสพบริโภค ที่ทำให้จมอยู่ใต้วังวนแห่งความมัวเมาและการแย่งชิง แต่รู้จักใช้อินทรีย์ มีตาที่ดู หูที่ฟัง เป็นต้น ในการเรียนรู้ หาความสุขจากการศึกษา และมีความสุขจากการทำสิ่งดีงาม ด้วยการใช้สมองและมือในการสร้างสรรค์
๔. อัตตสัมปทา (ทำตนให้ถึงพร้อม) มุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้ คือ ระลึกอยู่เสมอถึงความเป็นจริงแท้แห่งธรรมชาติของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก ซึ่งเมื่อฝึกแล้วจะประเสริฐเลิศสูงสุด แล้วตั้งใจฝึกตนจนมองเห็นความยากลำบากอุปสรรคและปัญหา มีจิตสำนึกในการพัฒนาตนยิ่งขึ้นไป จนเต็มสุดแห่งศักยภาพ ด้วยการพัฒนาที่พร้อมทุกด้าน ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา
๕. ทิฎฐิสัมปทา (ทำทิฎฐิให้ถึงพร้อม) ถือหลักเหตุปัจจัยมองอะไรๆ ตามเหตุและผล คือ ตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อถือที่ดีงามมีเหตุผล อย่างน้อยถือหลักเหตุปัจจัย ที่จะนำไปสู่การพิจารณาไตร่ตรองสืบสวนค้นคว้าเป็นทางเจริญปัญญา และเชื่อการกระทำว่าเป็นอำนาจใหญ่สุดที่บันดาลชะตากรรม กับทั้งมีพฤติกรรและจิตใจที่อยู่ในอำนาจเหตุผล แม้จะใฝ่ทำให้สำเร็จและดีงามสูงสุด ก็รู้เท่าทันความเป็นไปได้ภายในขอบเขตของเหตุปัจจัยที่มีและที่ทำ ถึงสำเร็จก็ไม่เหลิงลอย ถึงพลาดก็ไม่หงอยงง ดำรงจิตผ่องใสเป็นอิสระได้ ไม่วู่วามโวยนวายเอาแต่ใจตน ตลอดจนไม่ปล่อยตัวเลื่อนไหลไปตามกระแสความตื่นข่าวและค่านิยม
๖. อัปปมาทสัมปทา (ทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม) ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท คือ มีจิตสำนึกในความไม่เที่ยง มองเห็นตระหนักถึงความไม่คงที่ ไม่คงทน และไม่คงตัว ทั้งของชีวิตและสิ่งทั้งหลายรอบตัว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกตลอดเวลา ทำให้นิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ และมองเห็นคุณค่าความสำคัญของกาลเวลา และกระตือรือร้นขวนขวายเร่งศึกษาและป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยของความเสื่อม และเสริมสร้างเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม โดยใช้เวลาทั้งคืนวันที่ผ่านไปให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม) ฉลาดคิดแยบคายให้ได้ประโยชน์และความจริง คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็น เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นไปในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญาพิจารณาสอบสวนสืบค้นวิเคราะห์วิจัย ไม่ว่าจะเพื่อให้เห็นความจริง หรือเพื่อให้เห็นแง่ด้านที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ กับทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและจัดทำดำเนินการต่างๆ ให้สำเร็จได้ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ที่จะทำให้พึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

(สํ.ม. ๑๙/๑๒๙-๑๓๖/๓๖-๓๗)



1.MAN, THE NOBLE BEING (A member of the human race)

Human beings are special, unlike any other kind of animal. What makes them special is sikkha, or education


Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2553 6:24:06 น. 0 comments
Counter : 355 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ไม้แดง
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง (หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
Friends' blogs
[Add ไม้แดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.