ความทรงจำเก่า ๆ ก่อนจะลืมเลือนหายไปกับกาลเวลา
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
16 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
โต้งเพื่อนรัก


ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
(หยุดกิจการไปแล้วในช่วงหนึ่งก่อนจะเปิดใหม่อีกครั้ง)
ว่าเพื่อนที่ขาดการติดต่อไปร่วมสิบปี โต้ง (อภิชาติ ชอบชื่นชม)
ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับแข็ง เพราะพิษสุราเรื้อรัง แล้วใจหาย

ภาพความทรงจำเก่า ๆ ค่อย ๆ แวบเข้ามาในความคิด
ครั้งแรกที่เจอกันในหอพักมหาวิทยาลัย โต้งพักอยู่กับห้องรุ่นพี่ห้องหนึ่ง
ค่อนข้างจะเก็บตัวและโดดเดี่ยว และกินเหล้าค่อนข้างเก่ง
ยังไม่รู้จักสนิทกันมาก แต่ก็เคยร่วมวงกันหลายครั้ง ผ่านทางรุ่นพี่อีกคน
ที่เป็น Roomate กับโต้ง หลาย ๆ ครั้งเข้าก็เริ่มรู้ว่า
โต้งเคยทำกิจกรรมเป็นเลขาธิการพรรคจุฬา-ประชาชน
สมัยคุณสุธรรม แสงประทุม เป็นประธานศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา
แห่งประเทศไทย และโต้งเคยถูกจับกุมคุมขังหลังเหตุการณ์
6 ตุลาคม 2519 เพิ่งพ้นโทษออกมา แต่ก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องในอดีตมาก
เพราะค่อนข้างจะปวดร้าวซึ่งกันและกัน เลยมุ่งอ่านกำลังภายในแข่งกัน
และได้อ่านหนังสือเรื่อง โชกุน รู้สึกสนุกมากจนติดใจ
จนบังคับให้โต้งต้องชื่อว่าโรดิเกส ส่วนตนเองชื่อ อับยินซัง

หลายครั้งนั่งคุยกัน นอนคุยกัน ห้องรุ่นพี่อีกคนซึ่งเรียนศิลปะ
บางครั้งก็สูบสิ่งมึนเมา และถกเถียงกันหลายเรื่อง
ตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงปรัชญา สัพเพเหระต่าง ๆ มากมาย
บางวันก็ต่อเนื่องกันจนถึงเช้าก็ไปกินข้าวกันที่สามย่าน แล้วกลับมานอนต่อ
โต้งต้องขาดเรียนในบางวัน ส่วนตนเองตอนนั้นที่คณะยังมีการเปิดเรียน
ภาคค่ำ ก็มักจะไปเรียนประมาณห้าโมงเย็น กลับมาสองทุ่มสามทุ่ม
แล้วมักจะพบปะกับเพื่อน ๆ ก่อน แล้วไปพบโต้งที่ห้องพัก
หรือไม่ก็ห้องรุ่นพี่ที่เรียนศิลป์เสมอ

บางวันเงินขาดมือ โต้งก็มักจะให้หิ้วพิมพ์ดีดภาษาไทย (โอลิมเปีย)
กระเป๋าหิ้วสีขาวไปจำนำ ก็ได้เงินมาหมุนกันก่อน ก่อนไปไถ่คืน
มีครั้งหนึ่งกลับบ้านต่างจังหวัด เอาตั๋วจำนำติดมือกลับบ้าน
ไปเกือบสองเดือนลืมไปว่าตั๋วจะขาดอายุแล้ว สุดท้ายเลยต้องหลุดจำนำไป
ต้องขอโทษโต้งใหญ่ แต่ก็มีการตำหนิกันเล็กน้อย

หลังจบการศึกษาก็กลับบ้านเกิด เพราะตกงาน/เลือกงานทำเลยต้องกลับมา
ทำงานของครอบครัว ซึ่งไม่ค่อยจะชอบมากนัก และขึ้นกรุงเทพฯบ้าง
นาน ๆ ครั้งไปสอบที่ีมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง หรือไปเที่ยวหาเพื่อนบ้าง
ก็เจอโต้งบ้างแต่ไม่บ่อยมากนัก

ช่วงผมใกล้จะจบการศึกษาตอนนั้นก็ทราบกันอยู่แล้วว่า
โต้งไปทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้ว
และกำลังเรียนอยู่ด้วย เพราะฐานะการเงินของครอบครัวไม่ค่อยดีนัก

ต่อมาผมได้งานใหม่ที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่บ้านเกิด
ช่วงขึ้นไปอบรมที่สำนักงานใหญ่ เป็นระยะเวลาสี่สิบห้าวัน
ตอนเย็น หลังเสร็จจากอบรมแล้วมักจะเดินไปหาโต้ง
เพราะที่ทำงานโต้งอยู่ใกล้ ๆ กับสำนักงานใหญ่ เลยมักจะนั่งคุยกัน
กินเหล้ากัน และสนทนาสม่ำเสมอ โต้งมักจะหยิบผลงานที่เขียนให้อ่าน
และมีเรื่องสั้นเกี่ยวกับพฤติกรรมตนเองสมัยเรียนที่น่าเป็นที่ขบขันมาเขียน
กะว่าจะส่งให้สำนักพิมพ์ต่วยตูน อ่านแล้วรู้สึกหน้าแดงอายเหมือนกัน
ในเรื่องที่โต้งแต่งไว้ แต่ก็ได้รับคำปลอบใจว่าไม่ได้ลงชื่อจริงนี่หว่า
หลายเรื่องเป็นของคนอื่นด้วย แต่มาปน ๆ กันให้อ่านได้สนุก ก็ไม่แน่ใจว่า
ได้ลงในต่วยตูนหรือไม่ เพราะคลับคล้ายคลับคลาว่าได้อ่าน
อาจจะในความทรงจำหรือความฝัน

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ยังจำได้และค่อนข้างจะเสียใจจนทุกวันนี้ที่ปากเบาไปหน่อย
คือว่า วันหนึ่งโต้งเดินเข้ามาหาที่ห้องพักในมหาวิทยาลัย
(ตอนนั้นเรียนปีสุดท้ายและใกล้จะจบแล้ว) แล้วบอกว่า
น้องชายกำลังจะแต่งงาน ตนเองควรไปหรือไม่ เลยถามว่าทำไม่ไม่ไปละ
โต้งบอกว่า เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ตัวขาวแบบลูกจีน
ผิดกับโต้ง มักจะล้อกันว่า รูปชั่วตัวดำอัปลักษณ์ พิศพักตร์ดูหน้าขำ
ผมก็หยิก เห็นแต่ฟัน เพราะโต้งได้เอกลักษณ์มาจากแม่มากกว่าพ่อ
ส่วนพ่อของโต้งก็ย้ายครอบครัวไปทำมาหากินอยู่ที่ภาคเหนือนานแล้ว
สองครอบครัวนี้ขาดการติดต่อมานาน น้องชายโต้งเจอโต้งแล้วก็
เรียกโต้งว่าเฮีย เพราะเห็นว่าใช้นามสกุลเดียวกัน เพราะ่น้องชายพ่อของโต้ง
เคยบอกลูก ๆ ว่ามีพี่ชายอยู่คนไปทำมาหากินอยู่ภาคเหนือ
ไม่ได้เจอหน้ากันหลายปีแล้ว เลยแซวโต้งไปว่า อย่าไปเลย
เดี๋ยวข้าวนอกนา จะต้องแตกรวง ทำให้วงโต๊ะจีนแตก
เพราะคงต้องชี้แจงกันยืดยาวเรื่องประวัติความเป็นมาของโต้ง
ก็เห็นโต้ง ซึม ๆ ไป และไม่แน่ใจว่าไปงานแต่งงานครั้งนั้นหรือไม่

ต่อมา โต้งก็แนะนำให้รู้จักกับแฟนโต้งที่ราชวัตร จำได้ว่าไปเอาเสื้อสูท
และบอกว่าให้มางานแต่งงานให้ได้นะ จะแจ้งวันแต่งงานให้ทราบ
ก็รับปากว่าจะไป แต่เกี่ยงให้ส่งการ์ดด้วย เพราะอ้างว่าขี้เกียจจำวันแต่งงาน
ที่ี่เพื่อนทำตัวเองให้ไม่เป็นคนโสด แต่ก็ไม่ได้รับการ์ดแต่งงาน
เลยไม่ทราบว่ามีการแต่งงานเมื่อไร แต่ก็ยังติดตามอ่านบทความ
และข้อเขียนโต้งเสมอ ๆ ทางหนังสือพิมพ์และวารสารที่โต้งส่งไปตีพิมพ์
แต่ไม่เคยเขียนจดหมายไปติชม กะว่าขึ้นกรุงเทพฯ จะไปพบด้วยตนเอง

ต่อมางานเขียนของโต้ง ก็ค่อย ๆ ขาดหายไปจากหนังสือพิมพ์และวารสาร
พยายามติดตามอ่านรายชื่อกองบรรณาธิการว่ามีชื่อโต้งหรือไม่
ก็ไม่เจออีกเลย ส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดของตนเองด้วย ที่ไม่ชอบจดบันทึก
รายชื่อ/สถานที่อยู่ของเพื่อน ๆ โต้งไว้ เพราะไม่รู้จักเป็นส่วนมากเลย
อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งที่สนิทสนมกับโต้ง มักจะเกาะกลุ่มสนทนากันเป็น
ประจำไม่เกินสามคน คือ ตนเอง โตัง และรุ่นพี่ที่จบศิลปะที่ได้ข่าว
ครั้งสุดท้ายว่าไปได้งานสอนหนังสือที่เชียงใหม่ แล้วก็หายเงียบไปเลย
ไม่เจอจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วน Roomate ของโต้งทราบแต่ว่าไปเป็น
ปลัดอำเภอแต่ไม่รู้ว่าอยู่อำเภอไหนในตอนนี้ ส่วนเพื่อน ๆ ที่หอพัก
ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักกับโต้งมากนักในช่วงนั้น เพราะพิษของการเมือง
ที่ครอบงำในเรื่องภัยคอมมิวนิส์ในช่วงที่โต้งกลับเข้ามาเรียนต่ออีกครั้ง

วันที่อ่านหนังสือพิมพ์เจอว่า โต้งถึงแก่กรรม และจะฌาปนกิจศพที่ไหน
พยายามโทรศัพท์ไปที่วัดนั้น โดยไม่รู้ว่าอยู่ศาลาไหน โชคดีมีการโอนสาย
ไปจนได้พูดคุยกับน้องผู้หญิงคนหนึ่ง และได้ให้ชื่อที่อยู่ไว้ เลยขอชื่อที่อยู่
สถานที่ติดต่อครอบครัวโต้งที่เชียงใหม่ไว้ด้วย เพราะทราบว่าจะนำกระดูกไป
บรรจุไว้ที่เชียงใหม่ และจะทำบุณย์ร้อยวันที่นั่นด้วย

สิ่งสุดท้ายที่มอบให้กับโต้งคือ พระเครื่องหลวงพ่อทวด
จำนวนสองร้อยห้าสิบองค์ โดยให้เพื่อนที่ทำงานสถาบันการเงินเดียวกัน
ที่สาขายะลา เช่าพระเครื่องดังกล่าวมาจากวัดช้างไห้ ตำบลนาประดู่
จังหวัดปัตตานี โดยได้รับส่วนลดเป็นกรณีพิเศษ
เพราะเพื่อนเป็นลูกศิษย์วัดช้างไห้ และสนิทสนมกับเจ้าอาวาสวัดช้างไห้
ไว้แจกจ่ายในงานทำบุญร้อยวันนั้น โดยส่งไปรษณีย์ให้ก่อนวันงานประมาณ
สองอาทิตย์ เมื่อน้องชายโต้งก็ได้รับเรียบร้อยแล้วก็โทรศัพท์มาขอบคุณ


ปีที่น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2543 สูงสุดในรอบสี่สิบปี ความสูงของน้ำในบ้าน
(หนึ่งเมตรแปดสิบเซ็นติเมตร) เอกสารและหนังสือที่เก็บไว้บนชั้นหนังสือ
ที่คิดว่า น้ำน่าจะท่วมไม่ถึงแล้วเสียหายไปหมดสิ้น เพราะคิดแต่เพียงว่า
ประสบการณ์ในอดีต ไม่เคยท่วมสูงเกินกว่าเจ็ดสิบห้าเซ็นติเมตร
ทำให้ไม่ทราบชื่อและที่อยู่ของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโต้งไปในที่สุด
วันนี้ พอดีไปเจอหนังสือของ วีรศักดิ์ สุนทรศรีเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องโต้ง
ในหนังสือ พบเพื่อนเดือนตุลา เลยซื้อกลับบ้านมานั่งอ่าน
แล้วคิดถึงโต้งขึ้นมาเลย อยากเขียนฝากไว้กับความทรงจำที่ระลึกถึงโต้ง
ในส่วนหนึ่งที่เคยพบกัน เหมือนกับบทกวีที่ชอบอ่านกับโต้ง
และรุ่นพี่ที่จบศิลปะนานแล้ว จำไม่ได้ว่าใครแต่งว่า

อยากมีบ้านใต้ลอมฟาง
อยากอยู่ใต้ขอบฟ้ากว้าง
อยากเก็บดอกไม้ในป่า
และดมกลิ่นไออุ่นดิน

เหมือนกับฉัน เหมือนกับเธอ
เหมือนได้เจอเพื่อจากกัน
เหนือความจริงสิ่งสำคัญ
ได้พบกันก็เพียงพอ





Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2552 4:50:00 น. 2 comments
Counter : 1028 Pageviews.

 
เสียดายที่ไม่ได้พบกันก่อนจาก

เคยเป็นแบบคุณ
แล้วมานั่งถามตัวเองว่า
ทำไมๆๆๆ

เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนคิดแล้วทำเลย
ก็มีทั้งดี และเสีย

ไม่มีอะไรเป็นคำตอบที่ถูก

อ่านแล้วได้ข้อคิด ไว้เตือนสติตนเอง










โดย: หมุยจุ๋ย วันที่: 15 มีนาคม 2552 เวลา:14:45:35 น.  

 


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:12:30:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ravio
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




เกิดหาดใหญ่ วัยเด็กเรียนหนังสือโรงเรียน Catholic คณะ Salesian มีนักบุญประจำโรงเรียน Saint Bosco, Saint Savio ชอบอ่านหนังสือ godfather เกี่ยวกับ Mafio ของพวกซิซีเลียน เคยเล่นเกมส์ Mario แล้วได้คะแนนนำเลยนำสระโอมาต่อท้ายชื่อเป็น Ravio ได้กลิ่นอายแบบ Italino เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนวิชาชีพทำมาหากิน แต่ไม่ใช่วิชาที่ชื่นชอบมากนัก เรียนอยู่กว่าเจ็ดปี ต้องกลับมาทำงานเป็นกรรมกรที่บ้านเกิด จนเริ่มเกิดความหลงรักชีวิตบ้านนอก และวิถีชิวิตชุมชนท้องถิ่นที่ตนอยู่และไปร่วมวงเสวนา

เกิดเดือนมีนาคม แต่ลัคนาราศรีตุลย์ ชอบไปทุกเรื่อง สุดท้ายทำอะไรที่ได้เรื่องไม่กี่เรื่อง แต่ส่วนมากมักไม่ได้เรื่อง

ชอบขับรถยนต์ท่องเที่ยวชมภูเขา ป่าไม้ น้ำตก แต่ไม่ชอบทะเลหรือชายหาด เพราะรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เมื่อคิดถึงชีวิตตนเองที่มาเปรียบเทียบกับสองสิ่งสองอย่างนี้ รู้สึกว่ามนุษย์เป็นเพียงชีวิตที่เล็กน้อยมากที่มาอยู่อาศัยในโลกใบนี้

ชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยวใน Internet ชอบเดินทางท่องเที่ยวแถว ในละแวกท้องถิ่นบ้านเกิด นาน ๆ ครั้งจะขึ้นไปเยี่ยมเพื่อนที่กรุงเทพฯ หรือไปหาซื้อหนังสือแถวสยามสแควร์ ถิ่นเก่าที่อยู่และที่เรียน






Friends' blogs
[Add ravio's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.