วงการหนังสือธรรมะปัจจุบัน
บทความชิ้นนี้ผมเขียนลงนิตยสาร all ตั้งแต่ปี 49 สะท้อนความเคลื่อนไหวของวงการหนังสือธรรมะและท้วงติงคนทำหนังสือธรรมะบางรายไว้ด้วย ยังไม่มีใครหยิบหนังสือธรรมะมาวิจารณ์ มีเวลาจะหยิบมาสักเล่ม ตอนนี้อ่านบทความนี้ไปก่อนครับ




"ธรรมะทำไม"



เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่หนังสือธรรมะกลายเป็นกระแสนิยม ไม่แพ้นวนิยายวัยรุ่นและนิยายแฟนตาซี สถิติการพิมพ์บางเล่มนั้น ใช้เวลาเพียงปีเดียวเหยียบสามสิบกว่าครั้ง ทิ้งห่างสถิติหนังสือแนวเดียวกันและแนวอื่นๆ ตามท้องตลาดชนิดไม่เห็นฝุ่น

จะว่าเป็นปรากฏการณ์ “เห่อตามกัน” ก็ไม่น่าจะใช่เสียทั้งหมด เพราะผู้ที่สนใจหนังสือธรรมะอยู่แล้วก็มีไม่น้อย ยิ่งเมื่อมีบางเล่ม ตอบโจทก์ความต้องการ ความอยากได้ใคร่รู้ตามจริตของ“ชาวบ้าน” ได้อย่างชัดเจนเป็นชิ้นเป็นอัน หนังสือเล่มนั้นก็ย่อมจะได้รับความนิยมเป็นธรรมดา

และจะยิ่งจะทำ “รายได้” ให้กับผู้ผลิตหนังสือเล่มนั้นอย่างมหาศาล ถ้ามีการ “วางแผน” ทางการตลาดมาดี

อีกประการหนึ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ก็เป็นการปูทางให้เกิดกระแสได้เช่นกัน ในสถานการณ์หนังสือธรรมะคลองตลาดปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่า กรณีหลังจะมาก่อนกรณีแรกเสียด้วย

ย้อนหลังไปเมื่อครั้งที่เกิดกรณีธรรมกาย มีการถกเถียงกันเรื่องธรรมขั้นสูง (ปรมัตถธรรม) คือ นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา ระหว่างฝ่ายวัดธรรมกาย กับนักปราชญ์ฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาทอย่างเอิกเริก ทำให้คนไทยเริ่มหันมาสนใจธรรมะของพุทธศาสนา เพราะต้องการคำตอบในเรื่องเหล่านี้ และเป็นผลให้หนังสือ “กรณีธรรมกาย” ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) ขึ้นทำเนียบอันดับหนังสือขายดีอยู่ร่วมปี แล้วยังมีกรณีขัดแข้งทางลัทธิความคิดอีกหลายเรื่อง เช่น การบวชภิกษุณี เป็นต้น มากระทุ้งกระแสเป็นระรอกๆ

ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๔๕ วงการหนังสือโดยเพราะแนวพุทธก็สั่นสะเทือนขึ้น เมื่อ พระมโน เมตตานันโท อดีตนายแพทย์ดีกรีด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยดังของเมืองนอกเมืองนา เกิดร้อนวิชา เขียน “เหตุเกิด พ.ศ.๑” ออกมาสองเล่ม เล่มแรกวิเคราะห์กรณีพุทธปรินิพาน (การตายของพระพุทธเจ้า) ด้วยทฤษฎีทางการแพทย์เริ่มตั้งแต่ทรงประชวรในระยะแรกจนวาระสุดท้าย โดยละเอียด แต่ที่ชาวพุทธรับไม่ได้ก็คือ ท่านเขียนราวกับว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียง “พระแก่มีกิเลส” รูปหนึ่ง ที่ได้รับความเจ็บปวดทรมานจากโรคร้ายจนตายอย่างอเนจอนาถ ส่วนเล่มสอง วิเคราะห์ปฐมสังคายนาและภิกษุณี ยำใหญ่พระมหากัสสปะซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในขณะนั้นว่า ต้องการขึ้นคลองตำแหน่ง “ประมุข” กุมอำนาจปกครองสงฆ์ไว้ทั้งหมด และ “ทำหมัน” ภิกษุณี ด้วยการใช้ครุธรรม ๘ ข้อเป็นเครื่องมือ (กติกา ๘ ข้อที่ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ๒ ปี ก่อนบวชเป็นภิกษุณี” ยำเสียจนพระมหากัสสปะซึ่งสิ้นกิเลสแล้วและใช้ชีวิตสันโดษที่สุด กลายเป็นพระแก่เจ้าเล่ห์ไปอย่างน่าใจหาย

หนักเข้าไปกว่านั้น คือสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือทั้งสองเล่มนี้ ดึงเอานักวิชาการระดับแนวหน้ามาเป็นผู้เขียนคำนิยมยกย่องให้อย่างสวยหรู ส่งผลให้เกิดกระแสตอบรับและกระแสต่อต้านกันครึกโครมอีกระรอก หนังสือขึ้นอันดับขายดีชนิดขนเข้าร้านกันแทบไม่ทัน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนทั่วไปที่ปกติก็รู้เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากันผิวเผินอยู่แล้ว จะคล้อยตามเหตผลและหลักฐานในคัมภีร์ที่พระมโน “เลือกอ้าง” มาน่าเชื่อถือ

โชคดีที่ในเวลาต่อมา ท่านเจ้าคุณประยุทธ ปยุตฺโต เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อยาวเฟื้อยว่า “ตื่นกันเสียเถิดจากความเท็จของหนังสือเหตุเกิด พ.ศ.๑” และ นาวเอก ทองย้อย แสงสินชัย เขียน “ความจริงในมหาปรินิพพานสูตร (กรณีพระมโน)” ออกมา แสดงข้อเท็จอันเกิดจากการ “รู้รอบ” แต่ “รู้ไม่ลึก” ในพระไตรปิฎกของพระมโน และแสดงข้อจริงออกมาให้ได้ความกระจ่าง เสียดายว่า หนังสือสองเล่มดังกล่าว กระจายอยู่ในวงแคบ เนื่องจาก สนพ.ที่พิมพ์ไม่มีแผนบุกตลาดหนังสือบุ๊คสโตล์

เหตุการณ์เหล่านี้ จะด้านดีหรือด้านเสีย แต่ก็เป็นการหันเหความสนใจของคนให้มาสนใจพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี เพราะเกิดทำให้คนสงสัยคลางแคลงใจแล้ว มันก็ต้องรู้ให้ได้ ดังนั้นผู้สร้างเหตุการณ์จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ก็กลายเป็นเสมือนผู้ “ปูทาง” ให้เกิดกระแสหนังสือธรรมะในเวลาต่อมาไปแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่มองอีกทีก็เป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” นั่นคือในปีนั้น ดร.อนุสร จันทพันธ์ และ ดร.บุญชัย โกศลธนากุล ได้ถอดเอา “จริต ๖” ในหนังคัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์ แห่งอินเดีย (๙๕๐ ปีหลังพุทธกาล, หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องรองจากพระไตรปิฎก) ออกมาวิเคราะห์ และบรรยายในสถานีวิทยุและสถาบันต่างๆ ในหัวข้อ “จริต ๖ ศาสตร์ในการอ่านใจคน” ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนทุกระดับ พอเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ก็กลายมาเป็นหนังสือวางขายในตลาด ผลปรากฏว่าขึ้นทำเนียบหนังสือขายดีตลอดทั้งปีเช่นเดียวกัน

ติดๆ กันนั้นเอง “ธรรมะติดปีก” ผลงานของ ว.วชิรเมธี หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ก็เข้ามาร่วมวงวันทา รวมทั้งเล่มอื่นๆ ที่ตามออกมาเป็นชุด ล้วนแต่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชนและหนุ่มสาวออฟฟิศ ไม่เว้นแม้กระทั้งนักเรียนนักศึกษา ส่งผลให้ ว.วชิรเมธี กลายเป็น “พระอินเทรนด์” ไปในที่สุด

และในปีต่อมา กระแสหนังสือธรรมะก็พุ่งขึ้นเต็มขีดชนิดฉุดไม่อยู่ เมื่อ ดังตฤณ ซึ่งสร้างความนิยมจากโลกอินเตอร์เน็ตอยู่แล้วด้วยนวนิยายอิงธรรมะเรื่อง “ทางนฤพาน” เขียนเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดตามแนวคิดของพุทธศาสนาในรูปแบบการนำเสนอที่เป็นสมัยใหม่ ตั้งชื่อได้โดนใจชาวบ้านอย่างแรงว่า “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” พอส่งออกมาโหมโรง ก็ “บูม” อย่างขนานใหญ่

เท่านั้นยังไม่หมด เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗ คุณฐิตินาถ ณ พัทลุง อดีตสาวไฮโซตกอับ ออกมาเผยทางโทรทัศน์รายการหนึ่งว่าเธอมีชีวิตตกต่ำถึงขีดสุด แต่สุดท้ายก็พาตัวเองพ้นวิกฤต กลับมามีชีวิตที่ดีและเป็นสุขอย่างแท้จริงอีกครั้ง ด้วยการปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้า พร้อมกับเปิดตัวหนังสือ “เข็มทิศชีวิต” ซึ่งเล่าถึงชีวิตที่เดินตามเส้นทางธรรม จนกระทั่งได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ของเธอ สร้างความฮือฮาอีกระรอก หนังสือเล่มดังกล่าวขายกันแทบไม่ทัน

น่าสังเกตว่า หนังสือทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ เป็นแนวทางของพุทธขนานแท้ไม่มีศาสตร์อื่นมาเจือปน แต่กลับได้รับความนิยมจากคนทั่วไปอย่างไม่น่าเป็นไปได้

อย่างหนึ่งนั้นคือ ผู้เขียนเลือกเรื่องที่สามารถตอบข้อสงสัยใคร่รู้ และวิธีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านได้ อย่างหนึ่งคือ ผู้เขียนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ก่อนแล้วทางสื่ออื่นๆ อีกอย่างหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดคือ ผู้เขียนแต่ละคนเป็นชาวบ้านเหมือนกับผู้อ่าน การนำเสนอด้วยวิถีชีวิต วิถีคิด และภาษาชาวบ้านด้วยกัน จึงสามรถสื่อสารกันให้เข้าใจได้ง่ายกว่าพระนักเทศน์หรือพระนักวิชาการ

ในขณะเดียวกัน ท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งเป็นพระรุ่นใหม่ ก็ใช้รูปแบบวิธีคิดวิถีเขียนเช่นเดียวกับนักเขียนคนอื่นๆ และท่านเป็นคนแรกเสียด้วยซ้ำที่เป็นผู้บุกเบิกวิธีการเขียนธรรมะด้วยภาษาง่ายๆ เลิกใช้ศัพท์แสงที่แสดงความห่างเหินระหว่างชาววัดกับชาวบ้าน ทำให้คนทุกระดับความรู้อ่านงานของท่านเข้าใจ รวมทั้งทึ่งไปกับการคิดของท่านซึ่งรู้เท่าและรู้ทันสถานการณ์ของสังคมปัจจุบัน ควบคู่กับการเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นฐานรองรับ

ความโดดเด่นแตกต่างจากนักเขียนธรรมะคนอื่นๆ อีกประการของ ท่าน ว.วชิรเมธี คือ ท่านเป็นพระ แต่เป็นพระก้ำกึ่งจะเป็นพระดาราด้วยซ้ำ เพราะท่านสามารถดึงเอาบุคคลระดับปัญญาชน และคนดังๆ ในวงการบันเทิงรวมทั้งดาราดังๆ เข้ามาเป็นแนวร่วมได้ นิตยสารบันเทิงระดับแนวหน้าที่ไม่เคยนำพระขึ้นปก ก็นำขึ้นอย่างเป็นปกติ แล้วยังขายดีเสียด้วย รายการโทรทัศน์ เวทีเสวนาที่ไม่คาดคิดว่าจะมีพระไปพูด ก็เชิญท่านไป ตัวท่านและหนังสือของท่าน จึงกลายเป็น “แฟชั่น” นิยมไปในที่สุด

คนเป็นจำนวนมากสนใจธรรมะอยู่แล้ว แต่จะหาหนังสือธรรมะที่ทำให้เข้าอ่านแล้วเข้าใจโดยตลอดรอดฝั่งนั้นหายากเต็มที รูปแบบการนำเสนอธรรมะของนักเขียนเหล่านี้ แทนที่จะเป็นการดึงคนเข้าหาธรรม ก็ใช้วิธีการดึงธรรมเข้าหาคน เริ่มต้นด้วยการ “เคลียร์” ความสงสัยและความเข้าใจผิดของคนเสียก่อน แล้วตามด้วยวิธีคิดวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่างที่ชาวบ้านทุกคนจะเข้าใจและทำตามได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่อาจจะนำไปเทียบกับผลงานระดับ “พุทธธรรม” ของ ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต หรือชุดธรรมโฆษ ของ ท่านพุทธทาส ได้เด็ดขาด เพราะจุดมุ่งหมายในการเขียนและกลุ่มเป้าหมายต่างกันอย่างชัดเจน ผลงานของ ว.วชิรเมธี ดังตฤณ เป็นอาทินั้น มุ่งหมายเพื่อจะนำธรรมะเข้าไปสู่คนอ่านระดับที่ไม่รู้เรื่องธรรมะหรือหลักการใดๆ ของพระพุทธศาสนาเลย นำร่องไปในลักษณะ “ชวนคุย” อย่างคนทั่วไป จนกระทั่งผู้อ่านเกิดความเข้าใจและซาบซึ้งเป็นลำดับ แล้วก็หยุดอยู่แค่ระดับชาวบ้านนั่นเอง เมื่อเกิดความอยากได้ใคร่รู้ใคร่ปฏิบัติให้ยิ่งไปกว่านั้น ก็มีแนวทางให้ศึกษาในระดับสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีพื้นฐานชัดเจนแล้ว จะอ่านหนังสือเล่มใด ของใครก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

จากปรากฏการณ์ “น้ำขึ้น” นี้เอง ทำให้มีพระ-คฤหัสถ์เขียนธรรมะในรูปแบบต่างๆ ออกมาวางตลาดมากมาย แม้แต่ผลงานคุณภาพของนักปราชญ์พุทธเด่นๆ ในอดีตเช่น ท่านพุทธทาส ท่านประยุทธ ประยุตฺโต อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ อ.วศิน อินทสระ อ.ธรรมโฆษ (แสง จันทร์งาม) อ.เสถียรพงษ์ วรรณปก ฯลฯ หรือหนังสือเทศนาของครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน ที่เป็นคลื่นใต้น้ำมาตลอด เมื่อมีสำนักพิมพ์จับมาจัดแบบรูปเล่มและออกปกให้สวยงามสะดุดตา ก็พลอยได้รับความสนใจจากผู้อ่านไปด้วย

ทว่าก็มีข้อน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน เพราะในขณะที่หนังสือธรรมดีๆ กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ กำไรมหาศาลอาจเป็นเหตุให้สำนักพิมพ์ผู้ผลิตหนังสือหน้ามืดไปชั่วขณะ หนังสือที่เรียงคิวกันออกมาจากที่ประสงค์จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับสังคม กลับกลายเป็นหวังผลเลิศทางการขายแต่ถ่ายเดียว คุณภาพจะด้อยถอยห่างสักแค่ไหน ไม่เป็นข้อกังวลอีก

ระยะหลังมานี้ จึงมีหนังสือธรรมะจำนวนหนึ่งสะท้อนภาพในลักษณะดังกล่าว หลายต่อหลายเล่มออกแบบปกสุดตา ชื่อเรื่องสะกิดใจ รูปแบบสวยงาม แต่พอเปิดดูเนื้อหา ไม่ชวนอ่านแม้แต่น้อย “ศัพท์วัด” รุงรังไปหมด ผู้เขียนบางคนลอกคัมภีร์ มาเพียวๆ สำนวนยังเป็นสำนวนแปลบาลีเกือบเต็มร้อย ก็ยังอุตส่าห์ลงชื่อตนเองว่าเป็นผู้เขียน มันฟ้องอย่างชัดเจนว่า ผู้เขียนอยากมีหนังสือของตนเอง แต่ใช้ “สมอง” สร้างสรรค์เนื้องานน้อยไปหน่อย บ้างก็มาแบบเรียงความแก้กระทู้ธรรม ยกหัวข้อธรรมตั้งแล้วอธิบายไปทั้งอย่างนั้น ขาดมิติทางความคิดและกลวิธีในการเขียน ยังพิมพ์กันออกมา

ทำเช่นนี้ก็เหมือนเป็นการถ่วงให้ความนิยมหนังสือธรรมะของคนอ่าน กลับสู่สถานเดิมคือ “หยุดนิ่ง” เพราะเนื้อหายังคงเข้าถึงยาก น่าเบื่อ ไม่มีความแปลกใหม่ร่วมสมัย

หนักไปกว่านั้น บางสำนักพิมพ์ขาดบรรณาธิการที่มีความรู้ในด้านนี้คอยกลั่นกรอง หนังสือที่ส่งเข้าตลาด นอกจากเนื้อหากระพร่องกระแพร่งเพราะภูมิความรู้ของผู้เขียนมีจำกัดแล้ว ยังตีความธรรมะผิดที่ผิดทางและชักจูงคนอ่านไปในแนวทางผิดๆ ก็มี (ผู้เขียนไม่ได้ตีขลุมไปแบบไม่มีข้อมูล แต่ไม่สามารถเอ่ยชื่อหนังสือเหล่านั้นได้)

ขณะนี้ มีหนังสือธรรมะหรือหนังสือในกลุ่มพุทธศาสตร์ที่เขียนขึ้นใหม่จำนวนไม่น้อยขาดการกลั่นกรองที่ดี เห็นได้ง่ายๆ หลังจาก ดังตฤณ เขียน “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” ตามด้วย “กรรมพยากรณ์” และ “เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว” ออกมา ก็มีหนังสือที่โหนกระแส “กรรม” ของผู้เขียนอื่นๆ ตามกันออกมาเป็นทิวแถว แต่ส่วนมาก จะออกไปทางโฆษณาชวนเชื่อประเภท ตัดกรรม แก้กรรม เนื้อหาบางเล่มก็ก่ำกึ่งเหลือเกินระหว่างพุทธกับงมงาย ทั้งที่ควรจะเป็นคนละฝั่งกัน

ไม่ว่าจะหนังสืออะไรก็ตาม ที่เริ่มเอาปริมาณเข้าว่า เพื่อแย่งเงินจากกระเป๋าลูกค้ากัน คุณภาพมันก็ลดน้อยถอยลงเป็นธรรมดา ยิ่งผู้เขียนและผู้ผลิตหนังสือมุ่งตามตลาด ขาด “สำนึกในธรรม” เสียแล้ว ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปเท่านั้น

ปัญหานี้ จะปัดไปว่าต้องเป็นวิจารณญาณของผู้อ่านกันเอง ก็ดูจะขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไปบ้าง หนังสือเป็นแหล่งให้ความรู้ ผู้อ่านส่วนใหญ่อ่านหนังสือเพราะเพื่อเพิ่มรอยหยักในสมอง อะไรจะเกิดขึ้นถ้าสิ่งที่เขาอ่านนั้นคือความรู้... แต่เป็นความรู้ผิดๆ



(ภาพประกอบ... ภาพนี้ผมจำไม่ได้ว่าเอามาจากเวปไหน เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเอาน้ำอุ่นเช็ดตัวให้พระติสสะ ซึ่งเป็นโรคฝีหนองทั้งตัว (ท่านจึงถูกเรียกใหม่ว่า ปูติคตติสสะ แปลว่า พระติสสะผู้มีกายเน่า) และฝีแตกเน่าไปทั้งตัว ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แต่พระองค์พาพระอานนท์เข้าไปอาบน้ำ ซักผ้าให้ท่าน ปฐมพยาลท่านจนวาระสุดท้าย เป็นเหตุการณ์ที่ผมประทับใจมากๆ เห็นภาพชัดว่าพระพุทธเจ้านั้นปฏิบัติตัวกับสาวกอย่างกันเอง ติดดินมาก
ก่อนท่านติสสะจะสิ้นใจ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดว่า "ติสสะ กายนี้ไม่ยั่งยืนเลย ไม่นานก็จะทับถมบนพื้นดิน (คืนสู่ผืนดิน) เหมือนท่อนไม้ (ผุ) ที่ถูกทิ้งไว้หาประโยชน์ไม่ได้แล้ว" จบเทศนาท่านก็บรรลุอรหันต์แล้วสิ้นใจ...)



Create Date : 28 ธันวาคม 2550
Last Update : 30 ธันวาคม 2550 17:12:10 น.
Counter : 2520 Pageviews.

2 comments
  

เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในวงการวรรณกรรมจริง ๆ
โดย: p_tham วันที่: 28 ธันวาคม 2550 เวลา:19:40:54 น.
  
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ได้รับความรู้อีกแล้ว
โดย: สุดลึก วันที่: 13 ตุลาคม 2552 เวลา:23:16:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รวี_ตาวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



ธันวาคม 2550

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
29
30