"รักแห่งสยาม" กับปัญหาครอบครัวคนกรุง



ผมไม่ใช่นักดูหนัง แต่หากจะดูหนังไทยก็ยังเอาเป็นตัวเลือกที่สอง

ว่ากันว่าหนังไทยเดี๋ยวนี้พัฒนาไปมาก มากเสียจนบางบางเรื่องเกินล้ำหน้าหนังฝรั่ง (หนังฝรั่งเดี๋ยวนี้ก็ทำให้คนจ่ายตั๋วอย่างผมผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ)

อันนี้ผมเห็นด้วย

แต่ก็พูดไม่ได้ไปมากกว่านี้ เป็นการเอออวยตามความรู้สึกเท่านั้นแหละ ครั้นจะยกเรื่องโน้นเรื่องนี้มาประกอบก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จริง กลัวจะปล่อยไก่

ที่แน่ๆ คือ ตลอดปีที่ผ่านมาผมไม่ได้ดูหนังไทยเลย วันลอยกระทงนี่เองผมเลยตัดสินใจไปดูหนังไทยสักเรื่อง เพื่อจะให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวเอง
ผมเลือก "รักแห่งสยาม"

ตอนแรกที่ดูโฆษณาก็ไม่นึกอยากดู คิดว่าเป็นเรื่องรักวัยรุ่นธรรมดา ทำออกมาเอาใจวัยทีนก็เท่านั้น จนวันหนึ่งผมฟังรายการวิทยุทางคลื่น 100.5 FM ทางทีมงานบันเทิงเขาไปดูรอบสื่อฯ กันมา เขาเอามาเล่าในรายการ พร้อมกับการสัมภาษณ์คุณมะเดี่ยวผู้กำกับเรื่องนี้

คุณฐิติพร (บอย) ขาใหญ่ข่าวบันเทิงแห่งสำนักข่าวไทย เชียร์ใหญ่ว่า หนังเรื่องนี้พลิกความคาดหมายน่าดู ในลักษณะ "คุณหลอกดาว" แต่ถ้าดูให้จบ คุณจะได้อะไรจากเรื่องนี้แยะมาก ควรไปดูกัน แล้วยังย้ำว่า พ่อแม่ควรไปดูเรื่องนี้ จะได้รู้ว่า ลูกของตัวเองที่อยู่ในวัยนี้ เขาคิดเขาทำอะไรกันบ้างแล้วตัวเองควรวางตัวอยู่ตรงไหน

นั่นเป็นแรงเร้าส่วนหนึ่ง

ส่วนหนึ่งก็เห็นจะเป็นการพูดถึง "ฉากแห่งปี" ซึ่งจะมีในเรื่องนี้ เหมือนกับก่อนๆ ที่มีฉาก "เปิดขาขาวขูดมะพร้าว" ให้ฮือฮากันมาแล้ว

ศึกษาข้อมูลจากกระทู้ต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ (เสียเงินร้อยยี่สิบ) แล้วก็ไปดูจนได้


สามชั่วโมงผ่านไป

ออกจากโรงมา... ผมขอยกให้เรื่องนี้ เป็น "หนังแห่งปี"

และเชื่อว่าหลายๆ คนคิดอย่างผม

สำหรับคนดูทั่วไป การดูหนัง ไม่ต้องเอาทฤษฎีอะไรมาก แค่วัดกันว่า พอออกจากโรงมาแล้ว เขามีความรู้สึกอะไรติดออกมาให้เขาต้องย้ำคิดกับหนังเรื่องนั้นไหม เรื่องอื่นเอาไปว่ากันทีหลัง
น้องที่ผมหิ้วไปดูเรื่องนี้เป็นเพื่อน เดินออกจากโรงมา ขนตายังแฉะอยู่เลย นั่นหมายความว่า ในด้านการดึงอารมณ์คนดู เรื่องนี้ทำได้สำเร็จแล้ว

นักแสดงเด็กๆ อาจจะดูแข็งๆ ไปหน่อย แต่เมื่อได้สินจัยกับทรงสิทธิ์ มาช่วยไว้ หนูๆทั้งหลายเลยสอบผ่านคะแนน C ไปได้

จะไม่ขอเล่าว่าเนื้อเรื่องหนังเป็นยังไง แต่จะเล่าว่า หนังต้องการสื่ออะไร

หลายคนบอกว่าบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเกย์ ผมขอค้านว่า ไม่ใช่ เป็นหนัง ชีวิตรัก มากกว่า เป็นชีวิตของคนสองวัย วัยผู้ปกครอง กับวัยรุ่น เป็นความรักต่างมุม ประเด็นเรื่องนี้อาจจะดูกว้าง ซึ่งการตั้งประเด็นกว้างแบบนี้ คุมเรื่องได้ยากมาก

ผมขอวิเคราะห์อย่างมีหลักการอย่างนี้ครับ

ครอบครัวของโต้งสูญเสียพี่สาวไป (ซึ่งในเรื่องดูเหมือนจะบอกกลายๆ ว่าเธอไม่ได้หายไปไหนไกล) ทำให้คุณพ่อมีอาการซึมเศร้ารับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น กินเหล้าหนัก แล้วก็เพ้อถึงอดีตตลอดคิดว่าเธอยังอยู่ ฝ่ายคุณแม่ก็เป็นคนเฉียบขาดเถรตรง ออกไปในทางเย็นชาเสียด้วย ลูกชายซึ่งอยู่ตรงกลาง เห็นพฤติการอยู่ทุกวี่วัน แน่นอนว่าจะเกิดปมบางอย่างในใจ

ขณะที่ครอบครัวของมิว ก็ใช้ชีวิตอยู่กับอาม่า พออาม่าตาย ก็ดูเหมือนพ่อแม่ของมิว ไม่มีเวลาให้เขานัก ทำให้เขากลายเป็นคนขี้เหงา เขาบอกว่า ตอนเด็กมันก็เหงาธรรมดา แต่พอโตขึ้นมันเหงาเหี้ยกว่ามาก เขาจึงมีปมในใจว่า ไม่มีใครสนใจเขา

เมื่อสองคนในสองภาวะแวดล้อมมาบรรจบกัน ยิ่งมีพื้นเป็นเพื่อนในวัยเด็กมาก่อน ความรู้สึกที่ลงตัวมันก็สวมรอยกันขึ้นโดยธรรมชาติ

จึงไม่แปลกที่โต้ง จะอ้าแขนออก และไม่แปลกที่มิว จะเอี้ยงศรีษะมาซบ และไม่แปลกอีกเช่นกันที่การมอบความอบอุ่นและการตอบรับไออุ่นจะเกิดขึ้น

เรื่องทั้งหมดมีที่มาที่ไป ที่มาที่ไปจากพื้นฐานครอบครัวของเด็กทั้งสองคน

ผมจึงขอย้ำเช่นเดียวกับคุณฐิติพรว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรไปดูหนังเรื่องนี้ แล้วเอามาคิด ถ้าลูกมันจะเป็นอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปโทษลูกครับ หันมาดูตัวเองก่อนว่า สร้างสภาพแวดล้อมเขาไว้อย่างไร น่าคิดครับ

เชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่สังคมคนกรุงเทพ มีสภาพแวดล้อมอย่างนี้เป็นส่วนมาก




ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือ เด็กในวันนี้ อยู่ในวัยเรียนรู้ การเกิดความผูกพันหรือรักเพศเดียวกันเกินกว่าคำว่าเพื่อน นั้นมีโอกาสเป็นไปได้มาก ถ้าพื้นฐานครอบครัวของเขาแข็งแรง พอถึงช่วงหนึ่งเขาจะพบเองว่า อะไรใช่ไม่ใช่ แต่เมื่อใดก็ตามที่พื้นฐานชีวิตของเขามีปมของความ "เหงา" แบบในที่มิวบอกว่า มันเหี้ยมาก

ก็จะทำให้เกิดความ "หวัง"

เมื่อนั้น "รัก" จะหยุดไม่อยู่

ถามว่าทำไมโต้ง จึงไม่รักโดนัท แฟนสาวของเธอ

ก็เพราะโดนัท มีทุกอย่าง โต้งไม่รู้สึกว่า มีอะไรที่เขาเข้าไปทดแทนให้แก่เธอได้ ในขณะที่โดนัทเองก็เรียกร้องในสิ่งที่โต้งมองว่ามันไม่ใช่ มันเป็นแค่เรื่องภายนอก จะสังเกตว่า ในเรื่องโต้งต้องไปเดินเที่ยว ไปซื้อของ ไปกินข้าว กับโดนัท สิ่งเหล่านี้โดนัทหาได้กับทุกคน ไม่จำเป็นเฉพาะกับโต้ง
ยังไม่มีอะไรที่เขารู้สึกว่า ไปมีส่วนทดแทนด้านภายในให้กับเธออย่างแท้จริง ผิดกับมิว ที่มันมีอะไรที่แนบแน่นกว่านั้น

คนเราเมื่อมีรัก จะผูกรักกันได้ มันอยู่ที่ตรงนี้ มันอยู่ที่ต่างทดแทนสิ่งที่พร่องของกันและกันได้หรือไม่
ไม่ใช่แค่เรื่องภายนอก ยิ่งกับวัยรุ่นก็ยิ่งอ่อนไหว เกิดมันจะ "ติด" ก็ไม่มีเงื่อนไขหรอกครับว่า จะเพศไหน




ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่หนังแสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ตั้งวงกินเหล้า ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรจะรู้ไว้ แล้วตามให้ทันลูก ไม่มีอะไร

ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมลุ้นให้เรื่องมันลงเอยแบบสมรักสมใคร่ และหลายๆ คนก็คงลุ้นอย่างผม แต่แน่นอนครับ ผู้เขียนบทคือคุณมะเดี่ยว คงทำอย่างนั้นไม่ได้ รักแห่งสยาม จึงจบอย่างที่มันควรจบ เป็นการจบที่ลงตัวที่สุดแล้ว

ผมประทับใจตอนจบของเรื่องนี้นะ มันติดค้างในใจดี นี่คนเขียนบททำสำเร็จแล้ว

โต้งยื่นจมูกตุ๊กตาไม้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสให้มิว แล้วบอกว่า

"มิว เราเป็นแฟนกับนายไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รักนายนะ"

มิวหน้าเผือดไปแวบหนึ่ง แต่ก็ยิ้มออกมาเต็มหน้าได้ในที่สุด

ฉากจบคือมิวเสียบจมูกไม้กับตุ๊กตาไม้ที่ตัวเดิมที่โต้งเคยให้เป็นของขวัญตอนเด็ก
แล้วฟูมฟายน้ำหูน้ำตาว่า

"ขอบใจนะโต้ง ขอบใจนายมาก"

เล่นเอาหลายๆ คนน้ำตาเล็ดไปเหมือนกัน หลังจากเล็ดกับบทบาทแม่ของสินจัยไปหลายเที่ยว




นี่ไม่ใช่หนังธรรมดาที่จะไปดูเอาปลื้ม ออกจากโรงมาแล้วได้กรุ่นอายรักอย่างเรื่องอื่นๆ เด็ก วุ่ยรุ่น คู่รัก หรือคนโสดๆ ไปดู อาจไม่เกิดปัญญาอะไรมากมาย อาจจะบ่นเสียดายเงินบ้าง ชมว่า ประทับใจตรงนั้นตรงนี้บ้าง (ฉากโต้งกับมิวดูดปากกันนี่ยอมรับว่า กล้ามาก สาวๆ คนดูครางหงิงๆ กันทั้งโรง)

แต่คนในระดับครอบครัวไปดู ผมว่า เขาได้อะไรแน่


สำหรับผม อยากจะเสียเงินดูอีกสองรอบ




Create Date : 25 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 9 ธันวาคม 2550 21:50:07 น.
Counter : 2313 Pageviews.

6 comments
  
บอกตรงๆ ว่าไม่เคยผิดหวังกับคำแนะนำของพี่รวีเลย

เพราะงั้น หนังเรื่องนี้ได้เงินหนูแน่ๆ อิอิ
โดย: รวยระรินกลิ่นชา (รวยระรินกลิ่นชา ) วันที่: 25 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:15:46 น.
  
เราไปดูมาเมื่อวานล่ะ ชอบมากค่ะ
ตอนแรกก็ไม่คิดนะว่าจะมีเรื่องราวความรักระหว่างเพศเดียวกัน
แต่จุดสำคัญของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น

แต่เราดูเรื่องนี้เเล้วสงสารโต้งมากที่สุดนะ
เขาแสดงได้ดีนะ ชอบสีหน้าของเขา ดวงตาของเขาแสดงถึงความเศร้าตลอดเวลา
ไหนจะพี่สาวที่หายไป
ไหนจะแม่ที่คอยตีกรอบ
และไหนจะพ่อที่เอาแต่จมปรักกับความทุกข์

เราได้ความประทับใจจากเรื่องนี้มาหลายจุดทีเดียวนะ

ชอบเพลงด้วยล่ะ
ซึ้งมากเลยที่มีใครสักคนมาแต่งเพลงให้
โดย: เเสงตะวัน วันที่: 25 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:54:25 น.
  
ผมไปดูโดยไม่ได้คาดหวังอะไรกับเรื่องนี้เลย
เห็นเพียงตัวอย่าง และเพลงประกอบ
แต่พอดูจบ มันเกินคาดครับ ประทับใจมาก

เห็นด้วยกับบทวิจารณ์ทุกประการครับ
โดย: Title_boy วันที่: 26 พฤศจิกายน 2550 เวลา:19:31:38 น.
  
นักแสดงสุดยอดทุกคน
ส่วนใหญ่จะพูดถึงป้านก
แต่ผมชอบการแสดงของพลอย ไล่ล่า มากที่สุดในเรื่องครับ
โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 5 ธันวาคม 2550 เวลา:10:37:40 น.
  


จริงๆ หน้าที่อยากคอมเม้นท์ไม่ใช่หน้านี้
เพราะหน้านี้ตั้งใจจะมาเขียนตอบเมื่อมีโอกาสได้ดูหนังแล้ว

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ และระยะอันใกล้นี้
ยังมองไม่เห็นตรงไหนที่จะมีเวลาส่วนตัว..
อาศัยอ่าน review และหามุมมองดีๆ จากคนดูแล้วไปพลางก่อน

แผนที่ความดี ข้อที่ ๗ เป็นข้อที่อ่านแล้วทอดถอนใจมากที่สุด
พบว่าทำยากที่สุด ไม่รู้ใครๆ เขาเป็นเหมือนกันหรือเปล่า

ขออภัยที่หลุดหายไประหว่างสนทนา
โปรแกรมคงจะมีปัญหาสักอย่างสองอย่างแล้ว

ถ้าเจ้าของพื้นที่ว่างกว่านี้ หรือตาแข็งอยู่นานๆ
คงได้เห็น entry ใหม่ๆ นะคะ เผื่อเป็นเรื่องฝันๆ เข้าบรรยากาศ?

โดย: ฝนพรำ IP: 125.24.139.218 วันที่: 9 ธันวาคม 2550 เวลา:22:26:07 น.
  
โดย: saboho IP: 125.25.98.186 วันที่: 16 มกราคม 2551 เวลา:16:26:56 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รวี_ตาวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



พฤศจิกายน 2550

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30