ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ
โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ
เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น
มะพร้าวนาฬิเกร์



สระนาฬิเกร์



“เอ่ย น้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์
ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง
ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง
กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย”





ขอขอบคุณและอนุโมทนา คุณอุทัยวรรณ เอกพินิทพิทยา
ผู้อาสาพิมพ์ต้นฉบับเรื่องนี้เพื่อเผยแพร่ในเว็บพุทธทาสศึกษา

ค่ายธรรมบุตร
(เรื่องที่ ๑๕)

เรื่อง มะพร้าวนาฬิเกร์

อธิบายแก่สมาชิกพุทธสมาคม ฯ ประชุมและพักแรมอยู่ที่ค่ายธรรมบุตร
สนทนาระหว่างพักการประชุมที่ลานหญ้า บน เขื่อนสระนาฬิเกร์, ในสวนโมกขพลาราม

๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๑



ที่นัดกันมานั่งตรงนี้ ก็ใคร่จะพูด เรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์ คือให้นึกถึงปู่ย่าตายาย ว่าท่านมีความสนใจในธรรมะมาก คอยสอดส่องแง่คิดเกี่ยวกับธรรมะมากกว่าพวกเรา ฉะนั้น ในบทกล่อมลูก เช่นบท"มะพร้าวนาฬิเกร์"นี้มันจึงเกิดขึ้น. บทกล่อมลูกแบบปักษ์ใต้ ไม่เหมือนกับภาคกลางหรือภาคเหนือ หรือภาคอื่น ; มันเป็นทำนองเฉพาะ, แล้วก็ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องเป็นราว.

บทกล่อมลูกตามแบบพื้นเมืองนี้จะเหมือนกันหมด ตั้งแต่ชุมพรลงมาถึงไชยา ไปจนถึงนครศรีธรรมราช พัทลุง ; สงขลาไม่ค่อยมี. อาตมาพยายามสอบสวนดู มีใครไปใครมา ได้พยายามสอบถามคนแก่ ๆ ดู ให้ร้องบทกล่อมลูกให้ฟัง ; มันเหมือนกันจนรู้สึกว่า มันเป็นของถ่ายทอดถึงกัน. มันคงจะอยู่ในลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมอะไรด้วยเหมือนกัน มันจึงถึงกัน และเหมือนกัน ; เช่นบทเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์นี้ ที่หลังสวนก็มี, ที่ชุมพรก็มี, ล่างลงไปทางกาญจนดิษฐ์ ทางนครศรีธรรมราชก็มี.

ในบทกล่อมลูกประมาณ ๕ – ๖ ร้อยบทนั้น มีบทธรรมะสูงสุด ในทำนองโลกุตตระนั้นอยู่หลายบท, แล้วก็มีบทที่เป็นเพียงศีลธรรมธรรมดาอยู่หลายสิบบท ; นอกนั้นก็มีประเภทเล่าเรื่อง เช่นเรื่องพระนางพิมพา นางเมรี เรื่องพระสังข์ อะไรก็ตาม, เป็นทำนองบรรยายเรื่องก็มีมาก, และมากที่สุดก็เป็นบทล้อเลียนเกี้ยวเลี้ยวระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย. ทั้งหมดเป็นบทสำหรับกล่อมเด็กให้นอน : แม่กล่อมลูก, พี่กล่อมน้อง, ไกลเปลให้นอน.

บทมะพร้าวนาฬิเกร์ บทมะม่วงพิมพานต์ บทส้มซ่า หมายถึง ความคิดที่ออกไปนอกโลก บทมะพร้าวนาฬิเกร์นี้ มีว่า :-

มะพร้าวนาฬิเกร์ ถ้าร้องเต็มที่ก็ว่า : คือน้องเอย คือน้อง คือมะพร้าวนาฬิเกร์. หรือ น้องเอยมะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย.

บทท้ายนี้ว่า : "ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย" ก็มี, "ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ" ก็มี, "คงจะถึงสักวันหนึ่งเอย" ก็มี.

เมื่อคืนวันที่มีการแสดงให้ดู มีร้องเรื่องมะพร้าวนาฬิเกร์. นี่คิดดูแล้วปู่ย่าตายายนั้นไม่ใช่เล็กน้อย เป็นคนสนใจอยู่ตลอดเวลา ; เพราะว่าเนื้อความที่จะร้องนี้ มันลึก มันไม่ใช่จะเดาส่งเดชไปได้ มันต้องมีผู้รู้, มีความรู้ แล้วประดิษฐ์ขึ้นมาให้ชาวบ้านเอาไปร้อง.

มะพร้าวนาฬิเกร์ นี้หมายถึงมะพร้าว. นาฬิเกร์ ก็แปลว่า มะพร้าว, ต้นเดี่ยวโนเน ก็หมายความว่า ต้นเดี่ยว ไม่มีคู่เปรียบ. อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง หรืออยู่นอกทะเลขี้ผึ้ง ภาษาเมืองนี้ถ้าเขาว่าไปทะเล เขาว่าไปนอกเล ไปนอกเล ก็หมายความว่า ไปที่ทะเล อยู่นอกเลขี้ผึ้ง ก็หมายความว่าอยู่ที่ทะเลขี้ผึ้งนั่นเอง, หรืออยู่กลางทะเลขี้ผึ้งนี้ก็ยิ่งชัดใหญ่ ; เป็นมะพร้าวที่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ลองคิดดูซิว่า ทะเลขี้ผึ้งมันเป็นอย่างไร. ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง หมายความว่า ที่นั่นไม่มีอะไรกระทำได้, ไม่มีอะไร effect ได้, ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้งนั้น.

ทางเมืองชุมพรร้องว่า คงถึงสักวันหนึ่งเอย. ชุมพรไปไกลกว่าเพื่อน คนแก่ ๆ ร้องอย่างนี้ว่า คงถึงสักวันหนึ่งเอย. แถวไชยามักจะร้องว่า ต้นเดี่ยวเปลี่ยวลิงโลดเอย อยู่นั้นแหละ จะถึงหรือไม่ถึงก็มีอยู่อย่างนั้น. บางคนจะร้องว่าถึงได้แต่ผู้มีบุญเอยก็มี, มีบุญมากพอ จึงจะไปถึง.

นี้หมายความว่า มีอะไรอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งอะไรทำไม่ได้ อะไรจะไปกระทำมันไม่ได้, มันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้งเสียด้วย. ตกมาสมัยนี้เราเลยคิดว่า มันคงจะสูญไปหมด คือไม่มีใครร้องอีกต่อไป, พอคนรุ่นแก่ ๆ นี้ตายหมด เด็กรุ่นหลังก็ไม่ร้อง จึงได้ สร้างสระนี้เป็นที่ระลึกแก่ความเอาจริงเอาจังในทางธรรมของปู่ย่าตายาย คือมะพร้าวนาฬิเกร์.

ที่มันคล้ายกัน ก็มีว่า : มะม่วงหิมพานต์ สุกงอมหอมหวาน อยู่กลางแม่น้ำทะเลหลวง พ้นลิง พ้นค่าง พ้นสัตว์ทั้งปวง อยู่กลางแม่น้ำทะเลหลวง พ้นเข้เหราเอย : คือมีที่แห่งหนึ่งอยู่กลางทะเลนั่น แล้วพ้นทุกสิ่ง พ้นจากสิ่งเบียดเบียนทุกสิ่ง คล้ายกับ Better land ของพวกฝรั่ง ของคริสเตียน.

แล้วมีบทร้องว่า : ส้มซ่า ลูกดกหราร่า ร่มฟ้าร่มดิน กาไหนหาญเจาะ เราะ(คือกระรอก)ไหนหาญกิน ร่มฟ้าร่มดิน ร่มหัวคนทั้งเมืองเอย.

"ร่มหัวคนทั้งเมืองเอย" นี้หมายถึงธรรมะ, ธรรมะนี้ลูกดกแน่นขนัดไปหมด จนร่มฟ้าร่มดิน ; ไม่มีความทุกข์หรือความชั่ว อะไรจะไปแตะต้องธรรมะได้ ; กาไหนกล้าเจาะ เราะไหนกล้ากิน ร่มหัวคนทั้งเมือง อย่างนี้.

นี่ ปู่ ย่า ตา ยาย เขาไม่มีอะไรพิเศษเหมือนพวกเรา แต่เขามีอย่างนี้ ; เขานึกถึงแต่สิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งดีที่สุด ซึ่งเลิศที่สุดอยู่เสมอ ; มันจึงออกมาในรูปนี้ แล้วแสดงความสูงในทางจิตใจ ; นี่เรียกว่าเรื่องฝ่ายธรรมะนั้นสูง. เรื่องสอนศีลธรรมทั่ว ๆ ไปนั้นก็มีมาก จำไม่ค่อยได้ และไม่ค่อยได้จำด้วย.

ทีนี้ พูดถึงบทล้อเลียนก็แยบคายมาก มีว่า : พี่ชาย น้องแก่เหมือนจะตาย พี่ชายก็เพิ่งจะมาขอ กระบอกยนต์ยังมิได้สร้าง ผ้าขาวห่อร่างยังมิได้ทอ พี่ชายก็ริจะมาขอ รอให้น้องหล่อบอกยนต์ก่อนเอย.

บอกยนต์นั่นคือตะบันหมาก. คนแก่ ๆ มาติดพันเด็กผู้หญิงรุ่นสาว. เด็กหญิงเขาบอกว่า : ยังไม่ได้หล่อตะบัน ยังไม่ได้ทดผ้าห่อศพ ; ฉะนั้น รอให้หล่อตะบันเสียก่อน จึงค่อยมาขอ ; นี้เป็นบทล้อเลียนก็คมคายมากเหมือนกัน.

ในบทกล่อมลูก มีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกมาก เกี่ยวกับทะเลขี้ผึ้งนี้มีตั้ง ๒ บท อีกบทหนึ่งว่า : "ดอกมะลิ บานเหมือนจะผลิอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง" อย่างนี้ก็มี ; นี่เรียกว่าคิดถึงทะเลขี้ผึ้ง. พวกเรานี้เรียนนักธรรมโท หรือเปรียญ ๙ ประโยค ; เมื่อคนแก่ ๆ พูดอย่างนี้ก็ตีความไม่ถูก. เคยถามพวกเปรียญ ๙ ประโยค หรือนักธรรมเอกให้อธิบาย ; ก็ไม่ทราบ, ไม่รู้ว่าอะไร ทะเลขี้ผึ้ง.

นิพพานคือต้นมะพร้าวไปอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง, กลางทะเลขี้ผึ้งนี้คือวัฏฏสงสาร. เรามันสอนกันมาผิด ผิดจากที่ว่านี้, เราไปสอนกันว่า นิพพานอยู่ฝ่ายหนึ่ง วัฏฏสงสารอยู่ฝ่ายหนึ่ง ตรงกันข้ามเลย. โลกิยะกับโลกกุตตระต้องแยกกันอยู่คนละทิศ ละทางเหมือนฟ้ากับดิน ; สอนกันอยู่แต่อย่างนี้ในโรงเรียนเดี๋ยวนี้. เรื่องโลกกับโลกุตตระแยกออกไปจากกันเลย, ไปอยู่ตรงกันข้ามคนละข้างคนละฝ่ายเสียด้วย. แต่คำสอนโน้นว่า : อยู่ที่กลางทะเลขี้ผึ้งนั่นเอง ; เหมือนกับพวกเซ็นพูดว่า จุดเย็นที่สุดนั้น อยู่กลางเตาหลอมอย่างนั้นแหละ.

ข้อนี้พากันลืมเสีย ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า : มีทุกข์ที่ไหน ต้องดับทุกข์ที่นั่น, มีความทุกข์งอกขึ้นมาที่ตรงไหน ต้องดับความทุกข์ที่ตรงนั้น. ฉะนั้น นิพพานคือดับทุกข์ที่สุด มันก็ต้องอยู่ที่กลาง ที่มีทุกข์ที่สุดนั้นแหละ, อยู่ที่ตรงจุดที่มีทุกข์ที่สุดนั่นแหละ, คือทะเลขี้ผึ้ง.

ทะเลขี้ผึ้ง มีความหมายเป็นวัฏฏสงสาร หรือสังสารวัฏฏ์. ทีนี้สังสารวัฏฏ์มันแยกออกได้เป็น ๒ ความหมาย : คือ ดีกับชั่ว บุญกับบาป กุศลกับอกุศล อะไรทำนองนี้ เป็นสอง ๆ อย่างนี้. ถ้าบุญก็ปรุงแต่งไปทางเวียนว่ายดี, บาปก็ปรุงแต่งไปในทางให้เวียนว่ายชั่ว, ทั้งบุญและทั้งบาปก็ปรุงแต่งไปทางเวียนว่ายทั้งนั้น. วัฏฏสงสารก็เต็มไปด้วยบุญและบาป สองอย่างเท่านั้น ; ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น.

เหมือนกับขี้ผึ้งในกรณีหนึ่งมันเหลวเป็นน้ำ, ในกรณีหนึ่งมันแข็งเป็นดิน, ขี้ผึ้งมีได้ทั้งความเหลวและความแข็ง ; ฉะนั้น เขาจึงเอามาเปรียบเป็นความหมายของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งบางขณะเป็นบุญ, บางขณะเป็นบาป, แต่ก็ปรากฏว่าเป็นคลื่นของสังสารวัฏฏ์ทั้งนั้น. สังสารวัฏฏ์จึงเปรียบเหมือนทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง, เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง. ที่ตรงไหนมีความทุกข์, ตรงนั้นดับทุกข์. จุดที่ร้อนที่สุด, ที่ทุกข์ที่สุดนั้นจะมีนิพพานที่นั่น ; ฉะนั้นจึงพูดว่า อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง.

ถ้าพูดว่า อยู่นอกทะเลขี้ผึ้ง มันจะไปในทำนองว่า ไปอยู่เสียคนละส่วนกับทะเลขี้ผึ้ง อยู่นอกออกไปอีก, นี้เป็นทะเลขี้ผึ้ง แล้วอยู่นอกออกไปอีก. คำพูดที่ว่า นิพพานอยู่ฝั่งโน้น โลกอยู่ฝั่งนี้ก็มีเหมือนกัน นี้เป็นคำพูดภาษาคน, ภาษาตื้น ๆ. ถ้าภาษาธรรมะแล้วมันต้องอยู่ตรงจุดนั้นแหละ, มีความทุกข์ที่ไหน ก็มีความดับทุกข์ที่นั่น, มีความทุกข์ที่ไหน นิพพานก็อยู่ที่นั่น, นี้จึงว่าอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง.

ทั้งทะเลขี้ผึ้ง ทั้งต้นมะพร้าวมันก็อยู่ในเรา ; เพราะว่าเดี๋ยวเราก็เป็นสังสารวัฏฏ์ เดี๋ยวเราก็ไม่มีสังสารวัฏฏ์ คือหยุดหรือสงบไปพักหนึ่ง. ทั้งมะพร้าวนาฬิเกร์ ทั้งทะเลขี้ผึ้ง มันก็ล้วนแต่อยู่ที่ในเรา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดีอยู่ในเรา ที่มีร่างกายยาววาหนึ่ง มีสัญญาและใจนี้. สังสารวัฏฏ์ก็อยู่ในเรา, นิพพานก็อยู่ในเรา.

ทีนี้เรามองนอกตัวเราเรื่อย จึงไม่มีวันที่จะรู้จัก แม้แต่สังสารวัฏฏ์, จึงไม่มีวันที่จะรู้จัก แม้กระทั่งนิพพาน. ฉะนั้น ฮวงโปจึงล้อเอาว่า โอ๊ย ! มันอยู่ที่หน้าผากแล้วโว้ย คนโง่ ๆ, ดูให้ดี มันอยู่ที่หน้าผากนั่น. หาวิธีอะไรที่มองให้เห็นหน้าผาก ถ้าไม่อาศัยกระจกเงา เราจะต้องมองเข้าไปข้างใน, มองเข้าไปข้างใน, มองเข้าไปข้างในเรื่อย. เรามันเคยชินกัน แต่มองออกไปข้างนอกเรื่อย แล้วไม่มองเข้าไปในตัวปัญหาคือความทุกข์ คอยแต่จะหลีกจะหนีจะหลบ ; จึงทำไว้ให้ดูนี่ว่า มะพร้าวนาฬิเกร์อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง, จึงเรียกมานั่งดูกันตรงนี้ ว่ามันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง สมมติสระนี้เป็นทะเลขี้ผึ้งและต้นมะพร้าวนั้นคือมะพร้าวนาฬิเกร์. สำหรับตอนเย็น ๆ จะได้มานั่งดูรำพึงไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ จนกว่าจะถึงวันหนึ่งมันเกิดฟลุกขึ้นมา มันมองเห็น ก็เกิดรู้สึกขึ้นมาซึมซาบในที่สุด.

ในสวนโมกข์นี้จึงอยากจะสร้างให้มีอะไรชนิดที่ช่วยสะดุดตา สะดุดใจ แล้วให้สะดุดเป็นชนวนสำหรับพิจารณา รู้สึกนึกถึงธรรมะ ขึ้นมาได้หลาย ๆ อย่าง รวมทั้งสระนาฬิเกร์นี้ด้วย เรียกว่าเป็นอุปกรณ์ของมหรสพทางวิญญาณ.


อ้างอิงข้อมูลจาก //www.buddhadasa.com
ภาพประกอบจาก //www.sarakadee.com




Create Date : 01 ธันวาคม 2550
Last Update : 13 สิงหาคม 2555 11:29:51 น. 0 comments
Counter : 2748 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำระริน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
1 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สายน้ำระริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.