ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ
โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ
เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

บังสุกุล - หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี



จะอธิบายธรรมของตื้นๆ นี่แหละให้ฟัง ของตื้นๆ แต่หากไม่พิจารณา ก็เป็นของตื้นไป ถ้าพิจารณาแล้วก็เป็นของลึกซึ้ง
โดยส่วนมากคนเราไม่ค่อยเอามากำหนดพิจารณา เห็นเป็นเรื่องเป็นประเพณี ทำสืบๆ ต่อกันไป
ศาสนาที่ไม่ถาวร ศาสนาที่ไม่ตั้งมั่น ก็เพราะเหตุนี้เอง คนไม่ตั้งใจเอาจริงๆ จังๆ

ธรรมที่ท่านแสดงสอนไว้นั้น ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งหมด แต่เราไม่เอาจริงเอาจัง
จะชักตัวอย่างให้ฟัง ดั่งเรากราบพระ
เราไหว้พระ กราบไม่ทราบว่ากี่หน การกราบนั้นประสงค์อะไร ไม่คิดคำนึงถึงเลย
กราบที่หนึ่งระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่สองระลึกถึงคุณพระธรรม ครั้งที่สามระลึกถึงคุณพระสงฆ์
ถ้าหากว่าตั้งใจจริงๆ จังๆ นึกถึงคุณพระองค์จริงๆ นึกธรรมคำสอนของพระองค์จริงๆ
นึกถึงพระสงฆ์สาวกของท่านปฏิบัติดีแล้ว จริงๆ จังๆ สามข้อเท่านี้แหละ เป็นอันว่าถูกต้องหม๊ด
ที่เราทำไป ที่จะทำไอ้ ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งต้นสามอย่างนี้ถูกซะแล้ว อันนั้นก็ถูกไปหมด
ถ้าตั้งต้นทั้งสามอย่างไม่ถูก ก็เหลวไหลหมด บางคนกราบ กราบแต่มือ
กราบแต่กาย แต่ตาเหลียวล่อกแล่กๆ ไปโน่นไปนี่อะไรต่างๆ
คิดไปคิดมาก็น่าสงสาร เหมือนกับเด็กๆ ทำเล่น
เขาไม่ใช่ของเล่นๆ นะระลึกถึงคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นของลึกซึ้งสุขุมมาก
ท่านที่ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ ลึกซึ้งถึงจนกระทั่งน้ำตาตกน้ำตาไหลน้ำตาหยดย้อยออกไป
ด้วยการถึงพระคุณจริงๆ อย่างนี้แหละเป็นตัวอย่าง ชักตัวอย่างให้ฟัง
เมื่อทำเป็นแต่สักแต่ว่าทำ ไม่รู้จักความประสงค์ มันก็เป็นการเลอะเทอะเหลวไหลไปหมด

คราวนี้จะอธิบายถึงเรื่องหัวข้อธรรมที่ว่า ถ้าหากพิจารณาลึกก็เป็นของลึก
พิจารณาตื้นก็เป็นของตื้น อย่างที่ท่านนิยมนับถือกัน
เวลาคนตายชักบังสุกุล เขาเรียกชักบังสุกุล
อนิจจา วะตะสังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโมสุโข
พระท่านชักบังสุกุล บางทีพระก็ไม่รู้เรื่องซ้ำ
โยมก็เข้าใจว่าบังสุกุล ทำบุญบังสุกุลนั่น ชักบังสุกุลคนตาย
บังสุกุลนั้นหมายความถึง ชักบังสุกุลคนตายให้ได้บุญ ความประสงค์อย่างงั้น ตัวเองเลยเฉย ไม่คิดนึกอะไรเลย

ความเป็นจริงแล้วนั่น โบราณจารย์ท่านสอน ให้ชักบังสุกุลคนเป็นต่างหาก เอาคนตายมาเป็นพยาน
ท่านจะชักบังสุกุลอย่างนั้น ไม่ใช่ชักให้คนตาย คนตายนี้รู้เรื่องอะไร
แม้แต่ทำบุญทุกสิ่งทุกอย่าง มอบให้คนตายหม๊ด ไม่คิดว่าทำบุญเอาเรา
เราทำบุญได้บุญแล้ว อุทิศส่วนบุญให้คนตาย อุทิศไม่ใช่ทำบุญให้คนตาย อุทิศให้ต่างหาก
ทำบุญให้คนตายหมายความว่าให้คนตายทั้งหมด อุทิศส่วนบุญให้
เราทำบุญอะไร ให้ข้าว ให้ปลาอาหาร ตลอดผ้าผ่อนทุกสิ่งทุกประการ
เราทำบุญอันนั่นแหละ อานิสงส์อันนั้นแหละ ที่เราเกิดศรัทธาเลื่อมใสปลื้มปิติ แล้วทำบุญอันนั้นแหละ
แล้วอานิสงส์อันที่เราได้นั่นแหละ ส่งไปให้คนตายจึงค่อยถูก
ทำบุญให้คนตายทั้งหมด ตนเองเลยไม่เอาอะไรทั้งหมด อย่างนี้ไม่ถูก
ถ้าทำไม่ถูกเลย เลยผิดตั้งแต่เบื้องต้น
ตั้งแต่ทำบุญนี้ขึ้นไป รับศีลก็ดี สมาธิปัญญาก็ดีเลยผิดหมด

ท่านน่ะชักอนิจจา คือให้พิจารณา อนิจจา วะตะสังขารา
เป็นคำพูด ที่คนรู้จักภาษากันนี่แหละ พูดให้รู้เรื่องกันนี่แหละ
ถึงแม้ว่าแปลบาลีอันนั้นไม่ได้ ก็ให้พิจารณาให้เข้าใจ อย่างที่ว่าอธิบายอยู่เดี่ยวนี้แหละ
ถึงคราวที่ชักบังสุกุลคนตาย ก็ให้พิจารณาอย่างที่ว่านี่แหละ อนิจจา วะตะสังขารา
สังขารคือรูป นามก็ดี รูปได้แก่ตัวของเรา นามได้แก่จิตใจก็ดี อันที่มันปรุงมันแต่ง มันคิดมันนึก
ที่มันส่งส่ายคิดไปมาต่างๆ ปรุงแต่งให้เป็นโน่นเป็นนี่อะไรต่างๆ เรียกว่า สังขาร
สังขารตัวนี้แหละ มันไม่เที่ยง ไม่เที่ยงยังไง เกิดมาแล้วต้องแปรปรวน
ตั้งแต่ต้นโน่นแหละ ตั้งแต่ปฏิสนธินั่นแหละ แปรมาโดยลำดับ
จนกระทั่งคลอดออกมา เติบโตขึ้นโดยลำดับ อันนั่นเรียกว่ามันไม่เที่ยง
จนถึงที่สุด ก็แก่เฒ่าชรา มรณภาพ ถึงความตายนั่นหละ เรียกว่าตาย
นี่มันแปรอยู่อย่างนี้ แปรปรวนอยู่อย่างนี้

อันนี้สังขารจิต คิดปรุงนั่นปรุงนี่ แต่งนั่นแต่งนี่ สารพัดทุกสิ่งทุกประการ
ไม่มีเวลาพักผ่อน แม้แต่นอนก็ฝันนั่นคือสังขารนั้นแหละ ไม่หยุดไม่ยั้ง
เขาเรียกว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ ท่านให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง
ท่านจะบอกว่า อนิจจาคือของไม่เที่ยง

วะตะสังขารา สังขารนี้เป็นของไม่เที่ยงหนอ
คนที่เห็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ของง่ายๆ คำว่าลึกซึ้งนั้นแปลว่ามันไม่ใช่ของง่ายๆ
ที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยงนั้น เป็นของละเอียดที่สุด
ถ้าพูดถึงเรื่องวิปัสนาก็เป็นวิปัสนาญาณ มันเหนือกว่าสมถะไปเสียแล้ว จนวิปัสนาเป็นวิปัสนาญาณ
ถ้าพูดถึงเรื่องไอ้วิปัสนาญาณแล้ว มันเข้าถึงมรรคผลนิพพานโน่นแหละ
ไม่ใช่ของง่ายๆ มันลึกซึ้งละเอียดถึงขนาดนั้น จึงว่าเป็นของลึกละเอียด แต่เรากลับมาทำเป็นเล่นๆ เสีย
มันไกลนักไกลหนาไกลจากพระพุทธศาสนา ทำสักแต่ว่าเป็นประเพณี
ทำสักแต่ว่าทำ ไม่ได้คิดนึกและไม่รู้สึกพิจารณาอะไรทั้งหมด

อุปปาทะวะยะธัมมิโน คือมันเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมดับไป
สังขารทั้งปวงหมด ไม่ว่าอะไรทั้งหมดล่ะ
รูปนามก็ตามเถอะ อย่างที่ว่ามานี่แหละ มันเป็นของไม่เที่ยง นี่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
คราวนี้พูดถึงเรื่องการเกิดการดับคือของไม่เที่ยงเกิดดับก็ดี
เกิดแล้วก็ดับไป เกิดนี่ก็ดับไป เกิดที่นี่ก็ดับที่นี้ ดับที่นี่ก็ไปโผล่ที่โน่น
เกิดโน่นก็ดับที่โน่นอีก เกิดดับเกิดดับอย่างนี้ตลอดเวลา
อย่างรูปกายของเราเกิดมาในโลกอันนี้ ดับก็ในโลกอันนี้ อันนี้เรียกว่าเกิดดับ
เกิดที่ไหนดับที่นั่น สังขารจิต เกิดที่จิตนั่นหละ ดับลงที่จิตนั่นหละ
มันเกิดขึ้นมาแล้ว โผล่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งมันไม่ทันอะไรก็ดับลงไปที่นั่นหละ
เรียกว่า อุปปาทะวะยะธัมมิโน มันเป็นธรรม
ลองดูสิเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่ของง่ายๆ เห็นสักแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป
เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับ อยู่อย่างนั้น
เราเข้าใจว่าตนว่าตัว เราเข้าใจว่าเกิดขึ้นมาเป็นตนเป็นตัว เป็นเรา เป็นเขา นี่เราเข้าใจผิดต่างหาก
มันใช่ตัวของเราเหรอ เขาเกิดขึ้นมาเอง แล้วดับลงไปเอง ไม่อยู่ในอำนาจวิสัยของเรา
เราย่อมเกิดขึ้นมาแล้ว ถือตนถือตัว ถือรูปถือนาม ว่าสดสวยงดงาม
ว่าเป็นหนุ่มเป็นแก่ สารพัดทุกอย่าง ถือเอาเสียจน ถือมั่นถือรั้นเอาเสียจริงๆจังๆ
ใครมาว่าก็โกรธ ใครมาว่าก็เกลียด ใครมาว่าก็ดุ ไม่พอใจก็โกรธเอา
ที่จริงเขาว่าความเกิดนั้นต่างหาก เขาไม่ได้ว่าเรา ทางเรานี้ไปยึดก็เลยถูกเราเสีย
ความเป็นจริงเขาว่านั้นมันเกิดขึ้นมาแล้วต่างหาก ปรากฏขึ้นมาแล้วต่างหากคนที่ว่า
เรานี่ไปเกิดไปถือเลย ถือเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา
อุปปาทะวะยะธัมมิโน ท่านจึงว่ามันเป็นธรรมอันหนึ่งเท่านั้นน่ะ
ธรรมทั้งหลายนั่น สิ่งทั้งปวงหมดในโลกเกิดขึ้นมาเป็นธรรมทั้งหมด

นี่แหละพิจารณาให้เห็นเป็นธรรมอย่างนี้ เราเกิดขึ้นมาในโลก
เรียกว่าเกิดขึ้นมาในโลก แต่ว่าเราพิจารณาให้เห็นเป็นธรรม
ทั้งโลกที่เราเห็นกันอยู่นี้ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นโลก ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม จึงจะเห็นธรรม
ถ้าไม่พิจารณาให้เป็นธรรม ก็ไม่เห็นธรรมอีกแหละ
ถ้าพิจารณาเห็นเป็นทางโลก ก็เป็นไปตามโลกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่อย่างนั้น
เตสัง วูปะสะโม สุโข ความเข้าไประงับ ดับเสียซึ่งสังขารทั้งปวงเป็นสุข
ครั้นเห็นอย่างนี้ก็เป็นสุขน่ะสิ มันจะไปถืออะไร มันมีอะไรเป็นธรรมทั้งหมด มันก็เป็นสุขนะสิ
คนที่เห็นเป็นธรรมเป็นสุข คนที่เห็นเป็นโลกเป็นทุกข์
เท่านี้แหละให้พิจารณาธรรม เท่านี้แหละพิจารณากรรมฐาน
เรามาปฏิบัตินี่เพื่อปฏิบัติธรรมนี้แหละ ให้เห็นธรรมนี้แหละ ให้เห็นเป็นธรรมนี่แหละ
ถ้าเกิดมาเป็นโลกก็ยาว เราเกิดมาเป็นโลกนั่นหละ แต่ว่าให้พิจารณาเป็นธรรม ให้เป็นอนิจจัง
พิจารณาอนิจจังเท่านั้นแหละ เลยเป็นอนัตตา เลยเป็นทุกขังไปซะ
มันเกิดดับ เกิดดับ ก็เรียกว่าทุกขัง มันไม่ใช่ของเราน่ะ มันเป็นเองของมันต่างหาก
มันเป็นอนัตตา อนิจจังแล้วเป็นทุกขังอนัตตาไปพร้อมหมดในตัว
จึงว่าธรรมทั้งหลายนั้น เป็นของละเอียดลึกซึ้งสุขุมมาก

ถ้าหากว่าเข้าใจพิจารณาแล้ว แต่ละบท แต่ละบาท แต่ละถ้อยกระทงความนี้
ลึกซึ้งสุขุมมาก ถ้าหากเราพิจารณาตื้นๆ ก็เลยไม่เห็น
หรือถือเป็นธรรมเนียมขนบธรรมเนียมประเพณี
อย่างอนิจจานี้แหละเป็นต้น สวดผ้าบังสุกุลให้หน่อย
พระก็ อนิจจา วะตะสังขารา อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เท่านั้นก็พอแล้ว
เลยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ผู้ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พระก็ไม่รู้เรื่องด้วยกัน
ศาสนาจะตั้งมั่นอย่างไง ศาสนาจะถาวรลงไปได้ยังไง ทำเป็นประเพณี
ทำเป็นการประเพณีสืบๆ กันไปเฉยๆ เอาหละอธิบายเท่านี้แหละ




 

Create Date : 25 ตุลาคม 2550
0 comments
Last Update : 25 ตุลาคม 2550 21:46:27 น.
Counter : 1037 Pageviews.


สายน้ำระริน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สายน้ำระริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.