ศาสนา เป็นองค์คุณอันสำคัญ
โดยช่วยให้ชีวิตนี้ มีความสดชื่น เยือกเย็น พอที่จะเป็นอยู่ ไม่ร้อนเป็นไฟ
เช่นเดียวกับน้ำ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง พฤกษาชาติ ให้สดชื่น งอกงาม ตลอดเวลา ฉันใดฉันนั้น

เขมสรณคมนกถา เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)



เขมสรณคมนกถา
เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

ที่มา:หนังสือสมถะ วิปัสสนากัมมัฏฐาน (รวบรวมของเก่าหลายสำนวน)
วัดบรมนิวาสแสดง



บัดนี้จะแสดงเขมสรณคมน์ ตามนิยมโวหารว่าถึงที่พึ่งอันประเสริฐกำจัดภัยได้จริงดังนี้ ก็แลเนื้อความแห่งพระคาถานี้ มีอรรถธรรมอันเรียบร้อยไม่น้อยไม่มากไม่ยากไม่ง่าย พอสมควรแก่ปัญญาของผู้ที่ประสงค์ สมควรเป็นพุทธภาษิตแท้ ถ้าตรองได้ความชัดใจจริง ก็อาจเป็นที่พึ่งกำจัดทุกข์ภัยได้จริงด้วย แปลเนื้อความตามพระคาถาว่า บุคคลใดมาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกกำจัดภัยได้จริง แลเห็นอริยสัจจทั้ง ๔ ด้วยปัญญาโดยชอบ คือเห็นทุกข์ แลเห็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น แลเห็นความพ้นทุกข์ แลเห็นมรรคามีองค์ อวัยวะ ๘ เป็นอุบายทางปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์นั้นและเป็นที่พึ่งอันเกษมประเสริฐ นั้นแลเป็นที่พึ่งอันอุดมสูงสุด ผู้ถึงที่พึ่งนั้นแลย่อมพ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นได้ดังนี้


ต่อไปนี้จักอธิบายเพื่อเป็นทางดำริของผู้ที่เลื่อมใสด้วยพระคาถานี้ มีผู้จำทรงทั้งอรรถทั้งแปลได้มาก หากจะมีผู้คัดค้านว่า สรณคมน์เราก็ถึงแล้ว อริยสัจจ์เราก็ได้รู้ได้เห็นได้จำทรงไว้แล้ว ก็ไม่เห็นพ้นจากทุกข์จากภัยอะไรได้


ถามว่า การถึงพระพุทธเจ้านั้น จะถึงอย่างไร ทำไฉนจะรู้ตัวของเราว่าเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ?
แก้ว่า ต้องเข้าใจพุทธภูมิก่อนจึงจะรู้ได้ แท้จริงพระพุทธภูมินั้น มีมากเหลือกำลังปัญญาที่จะยกมาพรรณนาให้สิ้นสุดได้ แต่จะยกมาแสดงเล็กน้อยพอแก่ปัญญาของตน

เราทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่าความจริงนั้นแหละ เป็นพระพุทธภูมิพระพุทธเจ้าของเรา ท่านให้ความจริงตั้งอยู่แล้วในพระองค์ ความจริงเป็นส่วนของใจ เป็นธรรมอันไม่ตาย พระพุทธเจ้าเป็นผู้พ้นทุกข์ เพราะพ้นจากการแก้ไขเหตุความจริง ชีวิตจะเป็นอยู่หรือจะดับไป ก็ไม่ต้องแก้ไข ความไม่เที่ยงแปรผันก็ไม่มีในพระพุทธเจ้า ความเกิดละความตายก็ไม่มีในพระพุทธเจ้า ชีวิตไม่มีอำนาจที่จะนำความเดือดร้อนให้เกิดแก่พระพุทธเจ้าได้ พระองค์จึงเป็นอเนญโช

ความทุกข์มีมาพระองค์ก็เป็นสุข ความตายมีมาพระองค์ก็ไม่ต้องตาย สภาพของใจแห่งพระพุทธเจ้าเป็นของบริสุทธิ์ไม่รู้จักตาย จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ ของพระองค์ก็ยังมีไม่วิกาล รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ ส่วนดีน่าพึงใจน่าต้องการก็ยังมี ส่วนชั่วน่าเกลียดเป็นที่ไม่พอใจก็ยังมี สัมผัสความกระทบถูกต้องก็ยังมี วิญญาณความรู้พิเศษรู้ตามเหตุแห่งสัมผัสนั้น ๆ ก็ยังมี แต่เป็นธรรมดาพุทธภูมิย่อมพ้นจากการต่อสู้แก้ไข คืออายตนะภายนอก ผู้เหตุดีและชั่วก็ตั้งอยู่ตามหน้าที่ของตน อายตนะภายในผู้ผลก็ตั้งอยู่ตามหน้าที่ของตน ส่วนใจผู้เสวยบริสุทธิ์ก็ตั้งอยู่ตามหน้าที่ของตน ไม่ปะปนกันพระองค์จึงเป็นฉฬังคุเบกขา คือไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ทั้ง ๖ เพราะความจริงอย่างเดียว

อีกนัยหนึ่ง ธรรมดาพุทธภูมิ ย่อมรู้จักทุกข์ ย่อมรู้จักความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัย เพราะเหตุมีอาสวักขยะญาณ รู้ความสิ้นอาสวะ ๆ นั้นใช่อื่น คือวัตถุภายนอก ๖ ประการนั้นเอง ความที่ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริงอย่างไร เป็นตัวโมหะบีบทางปัญญา จึงเกิดความละโมภ ยึดเข้ามา เหนี่ยวเข้ามา สะสมหมักหมมไว้ที่ใจจึงเกิดธาตุบูด ธาตุเปรี้ยว ธาตุเมาห์ขึ้นจึงมีนามสมมติตามอาการแห่งเมาห์นั้น ๆ ว่ากาม ภวะ ทิฏฐิ อวิชชา ท่านจึงเทียบด้วยของดองให้ชื่อว่าอาสวะ เพราะอาสวะนั้นเป็นเหตุ เมื่อวิกาลไปในส่วนกามก็ให้เกิดรักใคร่ยินดีชอบใจบางสิ่ง ให้เกิดความโกรธแค้นเกลียดชังเศร้าโศรกเสียใจบางอย่าง พระพุทธเจ้าท่านมีอาสวักขยะญาณ คือ ดวงปัญญา รู้จักเหตุปัจจัยว่าอายตนะภายในภายนอก กลับกลอกผลัดเปลี่ยนซึ่งกันและกันเป็นเหตุเป็นผลวนเวียน เป็นวัฏฏะหาที่สิ้นสุดมิได้ เมื่อท่านจับเหตุได้แล้วก็ตั้งความเพียร แก้ที่เหตุจนตัวเหตุนั้น ๆ กลายเป็นผลไปทั้งสิ้น เพราะความจริงเมื่อมีแต่ผลคือดับเหตุได้แล้ว ถึงสมัยที่วัตถุภายในภายนอกเหล่านั้น ๆ เกิดวิบัติไปตามธรรมดาของตน ๆ ใครจะเป็นผู้รับความเศร้าโศกเสียใจ เพราะมีแต่ผลอย่างเดียวทั่วไป เมื่อปัญญาตรวจจับเหตุแก้เหตุอยู่นั้นเรียกว่ามรรคสมาธิ เมื่อผลปรากฏขึ้นเต็มที่แล้วเรียกว่า ผลสมาธิ อาศัยผลสมาธิเกิดแล้วจึงมีอาสวักขยะญาณ ปัญญาซึ่งเจืออยู่ในสมาธิมีอาการดังนี้
การที่แสดงมานี้ ประสงค์จะให้เข้าใจในพุทธภูมิโดยสังเขปพอสมควรที่ผู้ปฏิบัติจะตรองตามได้ ไม่สู้ลึกซึ้งเหลือเกิน เมื่อเข้าใจส่วนนี้ได้แล้ว พุทธภูมิส่วนอื่นก็คงจะเข้าใจได้ ตามที่ได้ยินได้ฟังต่อ ๆ ไป

การกล่าวถึงพระพุทธเจ้านั้น คือแปลงใจของเราให้ใสสะอาดดังดวงจันทร์ ที่ไม่มีมลทินฉายเงามาแต่ความจริงให้เป็นไปตามพุทธภูมิ การที่จะแปลงใจให้ใสนั้น ก็ต้องให้ตรองตามคำสอนของพระพุทธเจ้าคือให้ดูในตัวเรานี้เอง ทุก ๆ สิ่งอะไรเป็นของสมคิดสมประสงค์ มีแต่ความแปรผันกลับกลายอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง มีความเจริญขึ้นและเสื่อมไป มีความรวบรวมกันและพลัดพรากจากกัน มีความเกิดและความดับ มีแต่ความเอะอะวุ่นวายขึ้น ๆ ลง ๆ ทั่วไปให้เกิดความปรารถนาขัดข้องอยู่ทุกเงื่อน แม้จะมีความรื่นเริงสมหวังบ้างก็เป็นของไม่ยั่งยืนแน่นอน และมีความปรารถนาอันไม่สมประสงค์ ดังเปลวเพลิงเผาผลาญอยู่เป็นนิตย์น่าเบื่อน่ารำคาญจริง ๆ ความจริงและความสวยงามของโลกไม่ทนนาน เปรียบดังพลุและตะไล ได้กำลังแต่เชื้อและไฟ ก็มีสีสุกใสรุ่งเรืองน่าดูน่าชม บัดเดี๋ยวใจพอสิ้นกำลังของเชื้อและไฟแล้วก็ร่วงโรยอันตรธานไป สิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงกลับกลายทั่วไป เมื่อตรวจดูเห็นความไม่เที่ยงของโลกชัดใจแล้ว ต้องกลับพิจารณาดูคำสอนของพระพุทธเจ้า อะไรเป็นของไม่เที่ยงไม่จริงมีอยู่หรือ ? สิ่งที่เห็นว่าไม่เที่ยงแปรผันไปนั่นและคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่แปรผันไปตาม เที่ยงยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นของเที่ยงของจริงยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์ เมื่อชัดใจว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของเที่ยงของจริงยั่งยืนอยู่ทุกเมื่อแล้ว ก็พึ่งแปลงกายวาจาแปลงใจของตนให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ ให้เป็นปัญญา ให้เป็นของเที่ยงของจริงไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเถิด สิ่งที่เห็นว่าไม่เที่ยงทั้งสิ้นนั้นและของเที่ยงแอบแนบอยู่ด้วย ของที่เห็นว่าไม่เที่ยงนั้นฉายเงามาแต่ของเที่ยง ของไม่เที่ยงไม่จริงแสดงตัวไม่ได้ ของเที่ยงของจริงจึงแสดงตัวให้เห็นได้ เป็นแต่ผู้ดูไม่เข้าใจเอาแต่ของไม่เที่ยงไม่จริงไปดู คือเอาสัญญาเก่าไปดูจึงเห็นแต่ของไม่เที่ยงไม่จริงตามเรื่องสัญญาเก่าแห่งตนเท่านั้น เมื่ออยากจะดูของเที่ยงของจริง พึงแปลงใจของตัวให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัย

อะไรเป็นทุกข์ ? เราและเป็นทุกข์
อะไรเป็นเรา ? ใจและเป็นเรา
อะไรเป็นใจ ? กลางและเป็นใจ
อะไรเป็นกลาง ? ระหว่างขันธ์ ธาตุ อายตนะ
อินทรีย์อริยสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาท คือความรู้นั้นและเป็นกลาง ถ้าอย่างนั้นความรู้นั้นหรือเป็นทุกข์

จ๊ะ ! ความรู้นั้นแหละ เป็นทุกข์ด้วยเป็นสุขด้วย เป็นไม่ทุกข์ไม่สุขด้วย หมายเวทนา
อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ความรู้เป็นทุกข์เป็นสุขเป็นไม่ทุกข์ไม่สุขเล่า ?
ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย ให้ความรู้เป็นทุกข์เป็นสุขเป็นไม่ทุกข์ไม่สุข หมายเวทนาเกิดแต่อามิส คือวัตถุภายนอกเป็นเหตุ ชื่อว่าอามิสทุกข์อามิสสุข ทุกข์สุขมีน้ำหนักเท่ากัน ราคาเดียวกัน ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ไม่ต้องการอามิสทุกข์อามิสสุข
มีใจความว่า เมื่อรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสเป็นเหตุ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็นผล แล้วกลับเป็นเหตุ ใจเป็นผล ให้ทุกข์สุขอุเบกขามีขึ้นที่ใจ เพราะไหลมาแต่เหตุ จึงกลายเป็นธรรมารมณ์คู่ของใจต่อไป เพราะทุกข์สุขเป็นเจ้าของแห่งใจได้แล้ว ใจจึงกลับเป็นเหตุอีก คือเป็นตัวตัณหาอุปาทานทีเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็นผล แล้วกลับเป็นเหตุให้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเป็นผลวนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด แม้จะตามค้นหาเงื่อนเบื้องต้นและเบื้องปลายคงจะไม่พบ จะพบอยู่ก็เพียงทุกข์เท่านั้นใจนั้นและให้มิจฉาทิฏฐิเข้ามาเป็นเจ้าของได้ คือความไม่รู้เท่าอารมณ์นั้นเองชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ตัวสัญญาเก่าคอยปรุงคอยกระซิบอยู่เสมอ ๆ บัดเดียวเห็นสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นชอบใจ สิ่งนั้นไม่ชอบใจ ผู้นั้นเป็นญาติ ผู้นั้นเป็นมิตร นั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา เราไข้ เราเจ็บ เราดี เราชั่ว เราสวย เรางาม เราได้ เราเสีย เราจักหาย เราจักตาย เหล่านี้ เป็นเรื่องความหลงไปตามสัญญาเก่าของตนเป็นมิจฉาทิฏฐิล้วนเป็นสมุทัย ตัวเหตุให้ผลเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ความรู้อย่างนี้ชื่อว่ารู้ทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัย

ข้อว่ารู้ความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยนั้นเป็นไฉน ?
ความรู้ความเห็นอันสัมปยุตร์ด้วยสัมมาทิฏฐิญาณทัสสนะเป็นญาณของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ผู้อื่นรู้ไม่ได้สอนไม่ได้เป็นแต่รู้ตามเห็นตาม สั่งสอนไปตาม ปฏิบัติไปตาม ให้ตรงต่อข้อแนะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ในวิภังค์แห่งสัมมาทิฏฐิว่า “ ทุกฺเข ญาณํ ทุกฺขสมุทเย ญาณํ ทุกฺขนิโรเธ ญาณํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาย ญาณํ ” ความรู้ทุกข์รู้ทุกขสมุทัย รู้ทุกขนิโรธ รู้ปฏิปทาเพื่อถึงนิโรธ ความรู้ความเห็นอย่างนี้ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ ความรู้ความเห็นอันสัมปยุตร์ด้วยสัมมาทิฏฐินั้นเองชื่อว่ารู้ความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัย

ต่อนี้จะอธิบายตามเงาซึ่งฉายมาแต่พระพุทธภาสิตนั้น พอเป็นทางดำริแห่งพุทธบริษัทผู้ใคร่ต่อความจริง เพราะคำที่ว่ารู้ความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยนี่นั้นเป็นของลี้ลับ เหตุปัจจัยของความดับทุกข์นั้นคือองค์มรรค์ทั้ง ๘ มรรคนั้นแปลว่าทาง ทางนั้นไม่ใช่ทางเดินด้วยยานด้วยเท้า เป็นทางปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ แต่ก็ไม่มีอาการไปและอาการมา จะว่าสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเป็นทาง กายวาจาใจเป็นผู้เดินก็ชื่อว่ามีอาการไป ไม่ชอบ จะว่ากายวาจาใจก็ไม่ได้ไป ไม่ได้เดินเป็นแต่ทำให้สัมมาทิฏฐิเป็นต้นมามีขึ้นเป็นขึ้น ชื่อว่ามีอาการมา ก็ไม่ชอบ ความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ แต่ละอย่างย่อมเต็มโลกด้วยกัน ส่วนความเห็นผิดและความเห็นชอบแต่ละอย่างก็เต็มโลกด้วยกัน ใครจะไปจะมาไม่ได้ เหตุดับโลกอยู่ด้วยกัน เพราะเหตุนั้นพระโยคาวจรเจ้าผู้แสวงหาของจริงเหล่านี้ จึงไม่ต้องไปเที่ยวหาในประเทศต่าง ๆ ท่านอยู่ที่ไหนก็หาเอาในที่นั้น คือหาเอาค้นเอาที่ตัวนั้นเอง ตัวเราอยู่ที่ไหนอริยสัจจ์ก็อยู่ที่นั้น ตัดใจความให้สั้นคืออยู่ที่ใจ สมกับพุทธภาสิตว่า “ มโน ปุพฺพํคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐามโนมยา ” ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐสุดสำเร็จด้วยใจดังนี้ แต่ผู้อ่านอย่าเผลอ ใจนั้นเป็นไปใน ๔ ภูมิ ในที่นี้พูดถึงอริยสัจจ์หมายธรรมทีเดียว

คือหมายความที่ใจรู้จักใจ
ความที่รู้ว่าความบริสุทธิ์เป็นส่วนของใจ
ความที่รู้จักวัตถุนั้น ๆ เป็นเหตุเครื่องเกี่ยวเกาะของใจ
ความที่รู้การเกี่ยวเกาะเป็นตัวสังโยชน์
ความที่รู้ความขาดแห่งสังโยชน์ คือขาดแห่งความเกี่ยวเกาะปรุงแต่งเป็นความบริสุทธิ์ของใจ
ความที่รู้จักส่วนของใจ ใจก็หยุดนิ่งสงบเงียบเป็นปกติขาดอายตนะที่ต่อหรือขาดสังโยชน์ความเกี่ยวเกาะ ทั้งภายในและภายนอกก็รู้สึกตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าเป็นของบริสุทธิ์ด้วย และรู้ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ว่าเป็นของบริสุทธิ์ด้วย คือเห็นจริงตามความเป็นจริงทุก ๆ อย่างความไม่เที่ยงไม่จริงก็อันตรธานหายไปหมด ได้ความสมกับที่มาว่าทุกข์จะดับก็เพราะความดับแห่งเหตุ แต่ความดับนั้นไม่ได้สูญเสียคือกลายเป็นผลไป ได้แก่เป็นของบริสุทธิ์ไปด้วยกันทั้งสิ้นนั้นเอง
ซึ่งความไม่เที่ยงไม่จริงแสดงตัวได้อยู่นั้น ก็เพราะตัวของเรายังไม่ถึงความเที่ยงความจริง ทุกข์จะตั้งอยู่ได้ก็เพราะเรายังเป็นตัวทุกข์ อนัตตาจะปรากฏได้แก่เรา ก็เพราะตัวเรายังเป็นอนัตตาอยู่นั้นเอง

ถ้าเราถึงความเที่ยงความจริงได้แล้ว ทุกข์ก็ดับอนัตตาก็ดับคงเหลืออยู่แต่ความเที่ยงความจริงซึ่งเป็นพุทธภูมิ ฉายมาแต่สัมมาทิฏฐิเท่านั้น ข้อว่ารู้ความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยได้ใจความดังที่บรรยายมานี้
ญาณทัสสนะความรู้ความเห็นซึ่งทุกข์ และความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยนี้และชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เมื่อสัมมาทิฏฐิมีขึ้นแก่ท่านผู้ใด แม้ท่านผู้นั้นจะดำริสิ่งใดก็เป็น สมฺมาสงฺกปฺโป ท่านจะว่ากล่าวสิ่งใดก็เป็น สมฺมาวาจา ท่านจะประกอบกายกรรมสิ่งใด ก็เป็น สมฺมากมฺมนฺโต ท่านจะเลี้ยงชีพด้วยอาการใด ก็เป็น สมฺมาอาชีโว ท่านจะพากเพียรในกิจการสิ่งใด ก็เป็น สมฺมาวายาโม ท่านจะตั้งสติในอารมณ์ใดก็เป็น สมฺมาสติ ท่านจะตั้งจิตต์ในอารมณ์ใดก็เป็น สมฺมาสมาธิ เป็นอริยมรรคปฏิปทา เมื่อดำเนินตามองค์แห่งมรรคอยู่แล้วความทุกข์จะเกิดมีมาแต่สิ่งอันใด ผู้ที่รู้ทุกข์รู้ความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยได้แล้ว นั้นแหละชื่อว่ายังตนให้เป็นศีลสมาธิปัญญาได้แล้ว จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัย เป็นเขมสรณคมน์ตรงทีเดียว
เมื่อรู้ตนว่าเป็นศีลสมาธิปัญญาชัดใจแล้ว ใครจะแก่ใครจะเจ็บไข้ ใครจะตาย ความจริงจะแก่ไข้เจ็บตายได้หรือ ศีลสมาธิปัญญาจะแก่ไข้ เจ็บ ตายเป็นหรือ ปัญญาความรู้ความเห็นซึ่งทุกข์และความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยนั้นและเป็นพุทธคุณ ตัวทุกข์และความดับทุกข์ทั้งเหตุทั้งปัจจัยนั้นและเป็นพระธรรมคุณ ความปฏิบัติตามจนเกิดความรู้ความเห็นตามพระบรมพุทโธวาทได้นั้นและเป็นพระสังฆคุณ พระรัตนตรัยจึงชื่อว่าเนื่องเป็นอันเดียวกันสมด้วยวักกลิสูตร์ว่า “ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ” ความว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราดังนี้

ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยความรู้ความเห็นอย่างนี้นั้นแหละจึงควรนับว่าผู้ถึงเขมสรณคมน์ เป็นที่พึ่งพ้นจากทุกข์ภัยได้จริง ตามพุทธภาสิตนี้ และสมด้วยที่มาแห่งอริยธนะคาถา เป็นส่วนแสดงอริยทรัพย์สี่ประการว่า “ ยสฺส สทฺธา ตถาคเต ” เป็นต้น ใจความว่าผู้มีความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า ๑ ผู้มีศีลน่ารักน่าสรรเสริญของพระอริยเจ้า ๑ ผู้มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ๑ ผู้เห็นตรงในธรรม ๑ ว่าเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ เพราะความเชื่อในพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ ศีลของท่านผู้นั้นจึงเป็นอริยกันตะศีล เพราะศีลเป็นของน่ารักน่าสรรเสริญนั้นเป็นเหตุ และได้ประสพความสำราญด้วยตนเพราะไม่มีเหตุเครื่องเดือดร้อน จึงเกิดความเลื่อมใสในพระสงฆ์ คือ สุปฏิปนฺโน เพราะความเลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นเป็นเหตุ จึงเป็นผู้เห็นตรงในพระธรรม ความที่เห็นตรงในพระธรรมนั้นแหละจึงเชื่อว่าเป็นผู้เห็นทางของตนได้แล้ว เป็นผู้เชื่อตัวเองได้แล้ว เป็นผู้สิ้นความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว ท่านจึงสรรเสริญผู้นั้นว่า “ อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ ” บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ไม่ยากไม่จน ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้นั้น เป็นชีวิตไม่เปล่าจากคุณจากประโยชน์ ดังนี้

เอวํก็มีด้วยประการฉะนี้




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2551
0 comments
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2551 22:47:16 น.
Counter : 895 Pageviews.


สายน้ำระริน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
10 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สายน้ำระริน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.