เมื่อความรักมาบรรจบ...ความสุขก็เริ่มต้นขึ้น
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
11 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
ออกกำลังกายอย่างไร....ให้หัวใจแข็งแรง



ขอขอบคุณ: นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
ที่มาจาก: //www.thaiheartweb.com



คำว่า “โรคหัวใจ” เป็นคำที่กว้างมาก ฟังดูน่ากลัวมากสำหรับผู้ป่วย ในความเป็นจริงแล้วโรคหัวใจแบ่งย่อยออกได้มากมายหลายชนิด ความรุนแรง และความจำเป็นในการรักษาก็แตกต่างกัน ดังนั้นหากคุณหมอบอกท่านว่าท่านเป็นโรคหัวใจ ท่านควรจะทราบ รายละเอียดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ของท่านมากขึ้น ว่าท่านเป็นโรคหัวใจชนิดใด เกิดจากอะไรและมีแนวทางการรักษาอย่างไร

เราอาจแบ่งชนิดของโรคหัวใจคร่าว ๆ เป็น 8 ประเภทได้ดังนี้




โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นมาตั้งแต่เกิด บางครั้งวินิจฉัยได้แต่แรกคลอด แต่บางครั้งก็ไม่มีอาการใดๆ จนกว่าจะอายุมากก็มี ความผิดปกตินี้อาจเกิดขึ้นกับทุกส่วนของหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ หรือ ตัวห้องหัวใจเอง มีสภาพไม่สมบูรณ์ เหมือน บ้านที่สร้างไม่เสร็จ มีรอยโหว่ รู้รั่ว ประตูปิดไม่ดี น้ำท่วม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเรา ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าการติดเชื้อไวรัสและการได้รับสารเคมี เช่น ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์อ่อนๆอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ความผิดปกติเหล่านี้หลายอย่างสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ แต่บางครั้งก็ทำอะไรไม่ได้


โรคลิ้นหัวใจ

ลิ้นหัวใจพิการอาจเป็นแต่กำเนิดหรือมาเป็นภายหลังได้ ที่มาเป็นภายหลังส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อคออักเสบ และไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกต้อง ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านหัวใจตัวเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ และ เกิดลิ้นหัวใจพิการ (ตีบ รั่ว) ตามมา นอกจากนั้นลิ้นหัวใจพิการยัง อาจเกิดจากการติดเชื้อที่หัวใจโดยตรง หรือเกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจเอง โดยมากแล้วเราสามารถผ่าตัดแก้ไขได้


โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไม่ว่าจะบีบ หรือ คลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น โรคที่พบบ่อย คือ กล้ามเนื้อหัวใจเสีย เนื่องจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย บางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจบางชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาจเกิดจากการ ติดเชื้อไวรัส) ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางและบีบตัวอ่อนกว่าปกติมาก การรักษาโรคของกล้ามเนื้อหัวใจนี้ อาศัยการแก้ไขที่สาเหตุ เช่น ขยายหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดบายพาส ส่วนหากไม่ได้ผลหรือเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ การรักษาสุดท้ายคือการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ


โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน เพราะหลอดเลือดหัวใจจะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อหลอดเลือด ผิดปกติจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การทำงานจึงผิดปกติ โรคของหลอดเลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสม ของไขมันที่ผนัง ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด (ไม่ใช่มีก้อนไขมันในเลือดลอย ไปอุดตัน ตามที่เข้าใจกัน)


โรคเยื่อหุ้มหัวใจ

เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรีย หรือ เชื้อวัณโรค โรคนี้ส่วนใหญ่รักษาได้ ยกเว้นกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มหัวใจ


โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

กลุ่มนี้มีหลายชนิดมาก บางชนิดไม่เป็นอันตราย บางชนิดอันตรายมาก (ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ร้ายแรง มักมีความผิดปกติ ของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจด้วย) สาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติไป เช่น มีจุดกำเนิด ไฟฟ้าแปลกปลอมขึ้น หรือ เกิดทางลัด (เรียกง่ายๆว่า ไฟช็อต) ในระบบ เป็นต้น


การติดเชื้อที่หัวใจ

พบได้บ่อยในผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ หรือ ติดยาเสพติดชนิดฉีด โดยมากเกิดการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นปัญหาในการรักษา อย่างมาก โรคหัวใจในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีลักษณะของโรคหลากหลายมาก


มะเร็งที่หัวใจ

คุณคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับมะเร็งตามอวัยวะต่างๆบ่อยๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก ไต เต้านม มดลูก และ ปากมดลูก รังไข่ ฯลฯ แต่น้อยครั้ง มากที่จะได้ยิน”มะเร็งหัวใจ” เพราะเนื้องอกที่หัวใจพบได้น้อย ส่วนใหญ่ของมะเร็งหัวใจ เกิดจากมะเร็งอวัยวะข้างเคียงลุกลามมายังหัวใจ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นการจัดกลุ่มใหญ่ๆซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก แต่จะเห็นว่าผมไม่กล่าวถึง “โรคหัวใจอ่อน” “โรคประสาทหัวใจ” “โรคหัวใจโต” เลย เพราะความจริงแล้ว ไม่มีโรคนี้ ขอเน้นอีกครั้งว่า โรคหัวใจอ่อน และ โรคประสาทหัวใจ ไม่ใช่โรคหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากความกังวล ส่วนหัวใจโตนั้นเป็นภาวะมากกว่าที่จะเป็นโรค และ ต้องทราบ ว่าสาเหตุที่หัวใจโตนั้น เกิดจากโรคอะไร คำว่าหัวใจโตเฉยๆจึงไม่มีความหมายใดๆ




อาการของคนเป็นโรคหัวใจ

ความเป็นจริงแล้วคำว่า"โรคหัวใจ"มีความหมายกว้างมาก อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจนั้น มีไม่มากนัก ดังอาการ ข้างล่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้นการที่ แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติ อาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย บางครั้งต้องอาศัยการ ตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อแยกโรคต่างๆที่มีอาการคล้ายกัน

เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขาบวม เป็นลม วูบ

เจ็บหน้าอก

อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบหรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน

อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ ทั้งสองข้าง หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน

2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง

3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร

4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก มาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก)


อาการต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

1. เจ็บแหลมๆคล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก

2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน

3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ

4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า

อาการตามข้อ 1,2 และ 3 อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ต้องอาศัยประวัติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัย เสี่ยงต่างๆ ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย

หอบ เหนื่อยง่าย

อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ

คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ

อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ) เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ

ใจสั่น

ใจสั่นในความหมายแพทย์หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ อาการดังกล่าวอาจพบ ได้ในคนปกติ โรคหัวใจ และโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด แพทย์จะซักประวัติละเอียดถึงลักษณะของ อาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก"ใจสั่น"โดยหัวใจเต้นปกติ

การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าว ก็หายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้นท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น

ขาบวม

อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ(โซเดียม)และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต (ขับเกลือไม่ได้) โรคหลอด เลือดดำอุดตัน (การไหลเวียนไม่สะดวก) ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือ ในบางราย ไม่พบสาเหตุ (idiopathic edema) การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถ ไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบ เพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง

เป็นลม วูบ

คำว่า "วูบ" นี้เป็นปัญหาในการซักประวัติอย่างมาก เนื่องจากในภาษาไทยคำนี้มีความหมายต่างๆกัน แต่ในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเครง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ออก อาการดังกล่าวอาจเกิดจาก ความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก (แม้จะไม่ชักให้เห็น) เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือ ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว "วูบ" ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต อีกด้วย





ออกกำลังกายอย่างไร....ให้หัวใจแข็งแรง
ขอขอบคุณ : นพ.สุธี ศิริเวชฎารักษ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

การออกกำลังกายโดยทั่วไปล้วนแล้วแต่มีประโยชน์กับร่างกายอยู่แล้ว แต่มีหลายคนสงสัยว่าจะออกกำลังกายอย่างไร ที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจสูงสุด คำตอบของคำถามนี้ก็คือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic exercise) ซึ่งหลายคนก็คงจะเข้าใจว่าคือการเต้นแอโรบิก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่


การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ในร่างกายหลายๆมัดอย่างต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะมีผลให้ร่างกายใช้ออกซิเจนไปเผาผลาญอาหาร ในร่างกาย และทำให้ ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น โดยมีหลักการง่ายๆดังนี้

1.เป็นการออกกำลังของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆทั่วร่างกาย เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเต้น แอโรบิก

2.ระยะเวลาในการออกกำลังกายในแต่ละครั้งไม่ควรน้อยกว่า 20-30 นาที

3.ควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

4.ที่สำคัญที่สุดคือระหว่างการออกกำลังกายต้องให้หัวใจหรือชีพจร เต้นอยู่ในช่วงชีพจรเป้าหมาย(Target heart rate) ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสูตร


ชีพจรสูงสุด(Maximum heart rate) = 220- อายุ(เป็นปี)

ชีพจรเป้าหมาย(Target heart rate)= 60%-70% ของชีพจรสูงสุด



การจับชีพจรก็สามารถทำได้ง่ายๆคือ การจับบริเวณข้อมือประมาณ 15วินาทีแล้วคูณด้วย 4 โดยทำเป็นระยะระหว่างการออกกำลังกาย หรือถ้าจะให้ดีที่สุดคือควรมีอุปกรณ์การจับชีพจร ซึ่งมีหลายรูปแบบ ในท้องตลาดก็มีแบบที่เป็นนาฬิกาข้อมือ การออกกำลังกายอย่าหักโหมจนชีพจรเต้นเร็วเกินชีพจรสูงสุดเพราะจะเป็นอันตรายกับหัวใจ




ประโยชน์ของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก

1. ทำให้สมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น

2. ช่วยลดไขมันในร่างกาย สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายแบบนี้สามารถทำให้น้ำหนักลดได้ แต่ต้องทำควบคู่กับการควบคุมอาหาร

3. ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน คลอเรสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์สูง การออกกำลังกายแบบนี้สามารถทำให้ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดลดลงได้ด้วย

4. ทำให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน




ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย

1. ค่อยๆออกกำลังกาย จากเบาๆและเพิ่มความหนักขึ้น และเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายให้ถึง 20-30 นาที

2. ต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลัง เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมก่อน รวมทั้งเมื่อจะเลิกออกกำลังกาย ต้องค่อยๆผ่อนให้เบา และช้าลงไม่หยุดทันทีทันใด

3. ไม่ควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ควรออกกำลังกายหลังจากรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

4. ควรออกกำลังกายในสภาพอากาศที่เหมาะสมไม่เย็นหรือร้อนเกินไป และควรเป็นที่ๆมีอากาศถ่ายเทดี

5. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน

ถ้าคุณสามารถปฏิบัติเช่นที่กล่าวมาได้อย่างสม่ำเสมอ รับรองว่าหัวใจของคุณจะแข็งแรง เป็นหนุ่มเป็นสาวเสมอ รู้อย่างนี้แล้วอย่ารอช้า เรามาออกกำลังกายกันเถอะ








Create Date : 11 กันยายน 2551
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2552 19:03:40 น. 0 comments
Counter : 12729 Pageviews.

RabbitRose
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




ติดต่อ RabbitRose ทางเฟสบุ๊คจะสะดวกรวดเร็วที่สุดค่ะ
Friends' blogs
[Add RabbitRose's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.