ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด
<<
มีนาคม 2556
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
10 มีนาคม 2556

มารู้จัก พายุฤดูร้อน (Thunderstorms)

พายุฤดูร้อน


เรียบเรียงข้อมูลและภาพประกอบโดยกระปุกดอทคอม

อากาศร้อนอบอ้าวอยู่ไม่กี่วัน เราก็ได้ยินข่าวพายุฤดูร้อนที่รุนแรงพัดถล่มจังหวัดต่าง ๆ จนสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาเป็นจำนวนมาก ทำให้บางคนเกิดความสงสัยว่า "พายุฤดูร้อน" คืออะไร วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง "พายุฤดูร้อน" มาฝากกันให้คลายสงสัยค่ะ

พายุฤดูร้อน คืออะไร

พายุฤดูร้อน หรือ พายุฟ้าคะนอง (Thunderstorms) เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มักเกิดในราวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน พายุฤดูร้อนนั้นจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมพายุพัดอย่างแรง โดยมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย แต่ฝนที่ตกนั้นจะตกไม่นาน เพียงแค่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะหยุดไป และกินพื้นที่แคบ ๆ ประมาณ 10-20 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนหยุดตกแล้วอากาศจะเย็นลง และท้องฟ้าจะเปิดอีกครั้ง

สาเหตุการเกิดพายุฤดูร้อน

          พายุฤดูร้อนจะเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน แล้วมีมวลอากาศเย็น หรือที่เรียกว่าความกดอากาศสูงพัดมาปะทะกับมวลอากาศร้อน หรือความกดอากาศต่ำ การที่อากาศสองกระแสมากระทบกัน จะส่งผลให้อากาศในบริเวณนั้นแปรปรวนเกิดความรุนแรงจนกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองขึ้น

สำหรับประเทศไทย พายุฤดูร้อนเกิดจากการที่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคุลมประเทศไทย จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยและอากาศที่แห้งและเย็นจากประเทศจีน อากาศเย็นจะผลักให้อากาศร้อนชื้นลอยตัวขึ้นสู่ข้างบนอย่างรวดเร็ว จนเมื่อไอความชื้นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จนก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นก้อนสีเทาเข้มสูงมากกว่า 10 กิโลเมตร หรือที่เรียกว่า "เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)" ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ และฟ้าผ่าตามมา และหากอุณหภูมิบนยอดเมฆต่ำกว่า ลบ 60 ถึง ลบ 80 องศาเซลเซียส ก็สามารถทําให้เกิดลูกเห็บตกได้

          ในขณะที่ภาคพื้นดินนั้น อากาศที่ยกตัวขึ้นอย่างฉับพลัน จะทำให้อากาศในบริเวณใกล้เคียงไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นลมพายุ ทำให้เมื่อเกิดพายุฤดูร้อนจะมีลมพายุพัดแรงตามไปด้วยนั่นเอง


พายุฤดูร้อน

ลักษณะอากาศก่อน-หลังเกิดพายุฤดูร้อน

สัญญาณที่จะบ่งบอกว่าพายุฤดูร้อนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ก็คือ สภาพอากาศในช่วงนั้นจะร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลาย ๆ วัน มีความชื้นในอากาศสูงจนรู้สึกเหนียวตัว ลมค่อนข้างสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว และมีเมฆมาก เมฆจะสูงและมีสีเทาเข้ม ต่อมาลมจะพัดแรงขึ้นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ก่อนที่เมฆจะก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว จนเกิดฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพายุฝนฟ้าคะนองตามมา ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อพายุสลายไปแล้ว อากาศจะเย็นลง รู้สึกสดชื่นขึ้น ท้องฟ้าแจ่มใส ทัศนวิสัยชัดเจน

พื้นที่ที่เสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อน

          เนื่องจากมักมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน จึงเกิดการปะทะกันของมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ใกล้ประเทศจีนมากกว่าภาคอื่น ๆ เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อนมากที่สุด หรือบางครั้งอาจได้รับอิทธิพลจากคลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศพม่าเข้ามาเสริม จึงยิ่งทำให้เกิดพายุ ลมกระโชกแรงมากขึ้น

          ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออก มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้น้อยกว่า เช่นเดียวกับภาคใต้ที่สามารถเกิดพายุฤดูร้อนได้เช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก

พายุฤดูร้อน


การเตรียมรับมือและป้องกันภัยจากพายุฤดูร้อน

หากอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพายุฤดูร้อน ควรเตรียมรับมือดังนี้

ติดตั้งสายล่อฟ้าในอาคารสูง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า

หมั่นติดตามสภาวะอากาศ และฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ

หากมีประกาศเตือนภัย ให้เก็บสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาสามารถปลิวตามลมได้ไว้ในที่มิดชิด

ตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของบ้านเรือน หลังคา อาคารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพราะจะเกิดลมพายุอย่างรุนแรงพัดเข้ามาด้วย ซึ่งอาจทำให้หลังคาบ้านปลิวไปพร้อมกับลม หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาทะลุหลังคาบ้านได้ หากประตู หรือหน้าต่างไม่แข็งแรง ควรใช้ไม้ทาบตีตะปูปิดตรึงไว้ เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย

หากพบต้นไม้ สายไฟเกี่ยวกิ่งไม้  ป้ายโฆษณา ฯลฯ ที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว

เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยง และพืชผลการเกษตร เกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ โดยเฉพาะกิ่งที่กำลังผลิดอกออกผล

หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ออกกำลังกาย ขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง

หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งโทรศัพท์ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง

จัดเตรียมอาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ และวิทยุพกพาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

หลังพายุสงบ หากพบต้นไม้ในบริเวณบ้านโค่นล้ม ให้รีบตัดทิ้งทันที หรือหากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม หรือมีสายขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว


พายุฤดูร้อน

วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากพายุและฟ้าผ่า เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง

หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้นั่งกอดเข่า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยพยายามให้เท้าติดดินน้อยที่สุด และไม่ควรนอนราบกับพื้น เพราะพื้นที่เปียกจะเป็นสื่อนำไฟฟ้ามาทำอันตรายได้

ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้าอาจจะผ่าลงมาได้ เนื่องจากฟ้าจะมักผ่าลงมาในจุดที่สูงมากกว่า รวมทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ เสาไฟฟ้า เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับได้

ควรหลบในอาคาร หรือในรถยนต์ แต่ห้ามอยู่ใกล้ผนังอาคาร และอย่าแตะตัวถังรถเป็นอันขาด เพราะหากเกิดฟ้าผ่าขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าเข้าถึงตัวได้

ไม่ใส่เครื่องประดับโลหะ รวมทั้งถือวัตถุที่เป็นโลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากโลหะสามารถนำไฟฟ้าได้

งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เพราะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง มักเกิดฟ้าผ่า อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมอุตุนิยมวิทยา
- ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ


Create Date : 10 มีนาคม 2556
Last Update : 10 มีนาคม 2556 22:21:17 น. 0 comments
Counter : 2092 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

tukdee
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 51 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add tukdee's blog to your web]