การบวงสรวงเสริมพลังพระเจดีย์
การบวงสรวงเสริมพลังพระเจดีย์

    ถ้าหากว่าเราสร้างพระธาตุเจดีย์ ขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่มีการบวงสรวง พลังก็จะเสื่อมถอยไป เป็นโดยธรรมชาติ เปรียบเสมือน หม้อแบตเตอรี่ชาร์ตไฟก็จะถดถอยหายไป

    ถ้าสมมติว่า ประชาชนมาไหว้กันเยอะแยะ แต่พระธาตุเจดีย์นั้นไม่มีการบวงสรวงจะเป็นเช่นใด?

    ถ้าประชาชนเยอะแยะมาไหว้ ประชาชนก็บวงสรวงของประชาชน เราต้องเข้าใจนะ ไม่จำเป็นมีอะไรเยอะแยะ ประชาชนก็มีวิธีการบวงสรวงการไหว้ของเขา ประเพณีแตกต่างกันไป อย่างเช่น ประเพณีของชาวบ้านเดินขึ้นธาตุเจดีย์ เป็นต้น

    ยกตัวอย่าง พระเจดีย์วัดผาแตก ท่านสร้างเป็นพระธาตุเจดีย์หรือสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์?

    องค์เจดีย์นี้สร้างเหมือนพระธาตุเจดีย์ แต่ไม่ได้ประกอบพิธีสร้างพระธาตุเจดีย์ ไม่ใช่ว่าเราสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์แล้วเรียกว่า "สร้างพระธาตุเจดีย์"

    วิธีสร้างพระธาตุเจดีย์ กับวิธีทำให้เหมือนพระธาตุเจดีย์ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปเขาสร้างให้เหมือนพระธาตุเจดีย์มีเยอะแยะ

    แต่ถ้าเราสร้างพระธาตุเจดีย์ต้องมีพิธีกรรมต่างๆ มากมายเยอะกว่านั้น

    ถามว่า ยังไงๆ เราก็หาพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูก) ของพระพุทธเจ้าไม่ได้แล้วจะทำยังไง

    เราก็ไปขอพระธาตุจากพระสงฆ์ พระมหาเถระต่างๆ ท่านก็มีเยอะแยะไป ท่านก็มีพระธาตุให้เรา เพราะเราถือว่าสิ่งที่ท่านให้นี้เป็นนิมิตหมายว่าเป็นพระธาตุของพระพุทธเจ้า เพราะจะหาจริงๆ ก็หาไม่ได้แล้ว เพราะของจริงๆ ประเทศนั้นๆ คงไม่ให้มา

    การที่มีพระบรมสารีริกธาตุ เป็นนิมิตหมายมาใส่ในองค์พระเจดีย์ แต่วิธีสร้างองค์พระเจดีย์นั้นไม่เหมือนกัน หรือพูดง่ายๆ คือ มีตัวแม่กับตัวลูก ตัวแม่เราจะต้องสร้างให้มันยิ่งใหญ่ จะต้องทำตามศาสตร์แห่งการสร้างพระธาตุเจดีย์ดีให้ครบๆ ตามตำรา แต่ถ้าเราสร้างพระเจดีย์แบบตัวลูก ศาสตร์อาจจะไม่ครบ

    วิธีการสร้างพระธาตุเจดีย์ มีดังนี้

    ๑. ก่อนอื่นเราจะต้องมีเหตุ อย่างเช่น ฤาษี พระสงฆ์มหาเถระท่านจะได้พระบรมสารีริกธาตุส่วนสำคัญต่างๆ ของพระพุทธเจ้ามา เราสังเกตได้ว่า พระธาตุเจดีย์ดังๆ ก็จะมีตำนาน ประวัติความเป็นมาเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วค่อยมาหามาใส่ จะต้องมีเหตุมาก่อน ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะทำได้ คนที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจะต้องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นมหาฤาษี เขานับถือกันอยู่ มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ แล้วท่านได้พระบรมสารีริกธาตุมา 

    พอท่านสร้างพระธาตุเจดีย์ เจดีย์แห่งนั้นก็จะเป็นจุดศูนย์รวมตั้งแต่เบื้องบนจนถึงเบื้องล่าง กษัตริย์ พระราชาจะต้องมาร่วมบวงสรวง กราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตรงไหนก็ตาม

    ยกตัวอย่าง พระธาตุจอมกิตติ กษัตริย์ท่านก็จะมาร่วมบวงสรวง

    ถ้าสมมติว่า เราไม่มีของวิเศษ เช่น พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าล่ะ อันนี้เราก็จะเรียกว่า เป็นพระธาตุจำลอง ไม่ใช่พระธาตุเจดีย์แท้ เรียกว่า เป็นพระธาตุเจดีย์เกรด ๒ เกรด ๓ แล้ว ไม่ใช่พระธาตุเกรดเบอร์ ๑ 

    อย่างเช่น พระธาตุดอยสุเทพ มีการได้พระบรม

    ตำนานการสร้างพระธาตุดอยสุเทพกล่าวเอาไว้ว่า  กล่าวถึงพระมหาสุมนเถรเจ้าแห่งสุโขทัย เกิดนิมิตฝันอันประหลาดว่า  พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า  ซึ่งพระเจ้าธรรมาอโศกราชให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ ณ พระเจดีย์เมืองปางจานั้น  บัดนี้พระเจดีย์นั้นหักพังเสียแล้ว  โดยข้างเจดีย์มีกอดอกเข็มกอหนึ่ง มีลักษณะเป็นรูปม้านั่ง  เป็นที่สถิตของพระบรมธาตุ  ขอให้ท่านไปขุดเอาพระบรมธาตุองค์นี้มาเสีย

    รุ่งขึ้น  พระสุมนเถรก็นำความไปถวายพระพรแก่พระธรรมราชา  เจ้าเมืองสุโขทัย  ณ เมืองศรีสัชนาลัย  แล้วถวายพระพรเรื่องความฝันนั้นแก่พระเจ้าลือไทยให้ทรงทราบทุกประการ พระองค์ทรงโสมนัสยิ่งนัก  ตรัสสั่งอนุญาตและพระราชทานคนช่วยขุดพระบรมธาตุ  พระสุมนเถรเจ้า ก็พาคนไปยังเมืองปางจา  แล้วสร้างศาลเพียงตากระทำการสักการะบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนต่างๆ 

    ตกกลางคืน  พระเถรเจ้าได้กระทำการบวงสรวงเทพเจ้าให้ขุดพระธาตุได้สมตามปรารถนา พอสิ้นคำอธิษฐาน  พระบรมธาตุก็ทำปาฏิหารย์รุ่งโรจน์เป็นแสงรัศมีสุกใสสวยงามยิ่งนัก พระเถรเจ้าจึงได้เอาธงปักเป็นเครื่องหมายข้างกอดอกเข็มไว้

    ต่อมา  พระสุมนเถรเจ้า  จึงให้ผู้จะขุดพระบรมธาตุนั้นทุกคนสมาทานศีล ๕ และศีล ๘ ทุกคน แล้วจึงลงมือขุดก็พบอิฐและศิลา  และในไม่ช้าผอบที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นชั้นๆ คือ

    ชั้นแรก     เป็นผอบทองเหลือง
    ชั้นที่สอง  เป็นผอบเงิน
    ชั้นที่สาม  เป็นผอบทองคำ
    ชั้นที่สี่      เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ  เป็นผอบแก้วประพาฬ  ขนาดโตเท่าลูกทับทิม

    เมื่อเหตุการณ์ประสบเช่นนี้แล้ว  จึงมีผู้สงสัยว่าจะใช่พระบรมธาตุจริงหรือ  พระสุมนเถรเจ้าจึงว่า ไม่ใช่พระบรมธาตุ เป็นผอบแก้ว  และทำการสักการะบูชาและตั้งสัตยาธิษฐาน  จึงได้เห็นที่เปิด พระเถรเจ้าจึงเปิดผอบก็เห็นพระบรมธาตุโตประมาณเท่าเม็ดถั่วเขียว  มีพระรัศมีมีทองสุกปลั่ง คนทั้งหลายได้เห็นดังนั้น  จึงพากันอนุโมทนา  และสรงน้ำชำระพระบรมธาตุด้วยความเลื่อมใสยิ่ง เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำกลับมายังเมืองศรีสัชนาลัย

    เมื่อพระเจ้าลือไทยทรงทราบข่าวนั้น  จึงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นหลังหนึ่ง เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุที่ได้มานี้  เพราะทรงเลื่อมใสและได้ทอดพระเนตรเห็นพระบรมธาตุแสดงปาฏิหารย์ อย่างน่าอัศจรรย์มาแล้ว  พระองค์ส่งข่าวไปถวายพระธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัย  พระเจ้าธรรมราชาก็ทรงยินดียิ่ง  ทรงดำริว่าถ้าพระธาตุองค์นี้แสดงปาฏิหารย์ดังที่คนเล่าลือแล้วไซร้  เราจักสร้างเจดีย์ทองคำองค์หนึ่งในเมืองนี้ เพื่อประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชาให้จงได้  แต่พระบรมธาตุมิได้แสดงปาฏิหารย์ดังที่ได้ยิน จึงมิทรงเชื่อถือถึงกับรับสั่งคืนพระบรมธาตุให้แก่พระสุมนเถรเจ้าตามเดิม

    ในสมัยพระเจ้ากือนา  แห่งราชวงศ์มังรายที่ ๖ ขึ้นครองนครเชียงใหม่  จุลศักราช ๗๒๙ พ.ศ. ๑๙๑๐ พระองค์มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  จึงให้ไปนิมนต์พระสุมนเถรเจ้า  มาประกาศศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ตามลัทธิลังกา ทางสุโขทัยก็ยินยอมให้พระสุมนเถรเจ้ามาพร้อมกับพระธาตุนั้นมาด้วย  ภายหลังพระเจ้ากือนาได้อัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ  วัดบุปผารามสวนดอกไม้หลวง  พ.ศ. ๑๙๒๖

    ส่วนอีกองค์หนึ่ง  พระองค์อธิษฐานเสี่ยงไป  โดยอัญเชิญพระบรมธาตุสถิตบนหลังช้างเผือก ช้างเผือกก็แผดร้องถึง  ๓ ครั้ง  แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ  เดินมาพักใหญ่ถึงภูเขาลูกหนึ่งแล้วหยุดบนภูเขาลูกหนึ่ง แล้วจึงเดินต่อไปอีก  ภูเขาที่ช้างเผือกหยุดนั้น  ปัจจุบันเรียกว่า " ดอยช้างนอน " จนกระทั่งพักใหญ่ช้างเผือกจึง หยุดบริเวณที่กว้างและราบเรียบ แล้วจึงเดินต่อไปอีก ปัจจุบันเรียกที่ราบนั้นว่า " ยอดดอยงาม "

    ช้างเผือกเดินต่อไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งลุถึงดอยสุเทพ จึงหยุดนิ่ง  พร้อมกับแผดร้องขึ้นถึง  ๓  ครั้ง กระทำปทักษิณสถานที่นี้ถึง  ๓  ครั้ง  แล้วคุกเข่าทั้ง ๔ ลง  พระเจ้ากือนาทรงโสมนัสยิ่งนัก รีบอาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังช้างเผือก  พอช้างเผือกลงจากหลังช้างเท่านั้น ช้างเผือกก็ถึงความตายทันที

    พระเจ้ากือนาได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ในครั้งนี้  ก็ทรงนมัสการกราบไหว้พระธาตุ ด้วยความเคารพยำเกรงยิ่ง  แล้วจึงรับสั่งให้ขุดสถานที่บนยอดดอยนั้นลึก  ๘  ศอก  ๑  วา  ๓  ศอก แล้วให้เอาแท่งหินใหญ่  ๖  ศอก  มากระทำเป็นหีบหินใหญ่  ใส่ลงไปในหลุมนั้น  แล้วอาราธนาพระธาตุ พร้อมทั้งผอบตั้งไว้ในหีบหิน  เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์สวมลงสถานที่ฝังพระบรมธาตุนั้นอีก องค์หนึ่งสูง  ๕  วา

    พระธาตุดอยสุเทพนั้น  มีเจ้านายเมืองเชียงใหม่ทุกๆพระองค์เคารพนับถือมาก และบูรณปฏิสังขรณ์กันมาตลอด  จนมาถึงท้าวอ้ายจึงให้สร้างเพิ่มเติมองค์พระเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น  ๑๑ วา ต่อมาท้าวชายได้สร้างเพิ่มเติม  และสร้างวิหารหน้าหลังและระเบียงรอบพระมหาธาตุ  สำเร็จเรียบร้อย บริบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้    (หนังสือประวัติเจดีย์และโบราณสถาน. อุดม เชยกีวงศ์)

    ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน เพราะไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และปีนเขาต้องใช้เวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมงกว่า จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ

    ในปี พ.ศ.๒๔๗๗  ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มาจากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์ ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว โดยเริ่มสร้างวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

    ครูบาศรีวิชัย เจ้าแก้วนวรัฐและพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่บันไดนาค เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘  เมื่อข่าวการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้แพร่สะพัดไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ชาวพุทธผู้เลื่อมใสในครูบาศรีวิชัย ต่างทยอยกันมาจากทั่วสารทิศจนเต็มบริเวณเชิงดอยหมด เพื่อมาร่วมสละแรงงานช่วยสร้างถนน โดยไม่มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น วันๆ หนึ่งจะมีประชาชนมาร่วมสร้างถนนประมาณ ๓-๔ พันคนจากทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ รวมไปถึงอุตรดิตถ์-พิษณุโลก ปริมาณคนงานที่มาช่วยมีมากเกินความต้องการครูบาศรีวิชัยจึงได้กำหนดให้สร้างถนนหมู่บ้านละ ๑๐ วาเท่านั้น และต่อมายังได้ลดลงอีกเหลือประมาณหมู่บ้านละ ๒ วา ๓ วา เพราะมีคนมาขอร่วมแรงงานสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ

    นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การสร้างถนนบนภูเขายาวถึง ๑๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง ๕ เดือนกับอีก ๒๒ วัน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การสร้างทางมี เพียงจอบ และเสียม เท่านั้น อุปกรณ์ทันสมัย เช่นในปัจจุบันยังไม่มีพิธีเปิดใช้ถนนใหม่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘  โดยท่านครูบาศรีวิชัย เป็นคนแรกที่นั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ภาษาสยาม  https://www.pasasiam.com/home/index.php/history/history-chiangmai/397-2009-01-18-04-03-36)

    ทั้งๆ ว่า ดอยสุเทพนี้สร้างก่อนแล้ว แต่ไม่มีทางขึ้น พระครูบาศรีวิชัยจึงมาสร้างถนนขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ ส่วนใหญ่จะมีครูบาอาจารย์ หรือคนส่วนใหญ่นับถือ พอท่านเหล่านัั้นมาริเริ่มสร้าง กษัตริย์ พ่อค้า ประชาชน จะต้องมาร่วมหมดเลย บางครั้ังพระราชาหัวเมืองต้องมาร่วมบวงสรวงสมโภชน์เลย สมมติว่าเมื่อก่อนมีหลายประเทศในทางภาคเหนือ ยังต้องเข้ามาร่วมหมดเลย พระเจดีย์นัั้นจึงจะเรียกว่า "พระมหาบรมธาตุเจดีย์" และยังมีระดับ "อภิพระมหาบรมธาตุเจดีย์" ขึ้นอยู่ว่าประเทศตรงนั้นจะยิ่งใหญ่เจริญระดับไหน ทุกคนต้องให้ความเคารพ หัวเมือง ประเทศราชจะต้องมาหมดเลย ไม่ว่าพระภิกษุสงฆ์ในประเทศนั้ันจะต้องมาร่วม และกษัตริย์จะต้องมาร่วม ถึงจะยิ่งใหญ่ เรียกว่า "สะเทือนฟ้าสะเทือนดิน" 

    นี่แหละ จะต้องมีของวิเศษ คือ พระบรมสารีริกธาตุก่อน ถ้าไม่มีก่อนแล้วมาสร้างเจดีย์ก่อน อย่างนี้เป็นการจำลอง หรือให้เหมือน

    ระดับที่ ๒ วิธีการ ก็คือ ฤาษี พระสงฆ์ หรือบุคคลที่ได้พระบรมสารีริกธาตุนี้ จะกำหนดว่า จะต้องบวงสรวงยังไง เช่น จะต้องบำเพ็ญธรรมอะไร? จะมีอยู่ ๓ อย่างคือ

    ๑) พิธีกรรมที่จะอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน เช่น เหล่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหล่ามหาสาวก เหล่าอรหันตสาวก พระโพธิสัตว์ พระพรหม องค์เทพ เทวดา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ เจ้าที่ ฯลฯ

    ๒) มนุษย์ หรือเหล่าประชาชนที่เข้าร่วมนั้น จะต้องมีการเจริญภาวนา จำศีล จะต้องมีการห่มขาว หรือปล่อยนักโทษ

    ๓) ให้ทาน ให้ได้กินให้ได้ใช้ แม้กระทั่งให้ทานแก่สัตว์

    พระธาตุ ๑๒ ราศี ปัจจุบันนี้ยังมีพระธาตุเกรด A เกรด B เช่น พระธาตุอินแขวน ที่จริงไม่มีเกี่ยวกับพระอินทร์เลย แต่เพราะธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์ เราจึงถือว่าพระอินทร์มาสร้าง แต่เจตนาก็คือ พระอินทร์สร้างพระเจดีย์ถวายพระพุทธเจ้า

    ทำไมเจดีย์วัดสวนดอก กับเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ ความโด่งดังหรือให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน คือ ณ ห้วงนั้นกษัตริย์สมัยนั้นให้ความสำคัญยังไงกับพระธาตุทั้ง ๒ ที่ ผู้สร้างเป็นยังไง เช่น พระฤาษีวาสุเทพ ท่านโด่งดัง เราก็ยกย่องท่าน ให้ความสำคัญกับฤาษี เหมือนกับเวลานี้ ถ้าเราสร้างพระธาตุเจดีย์ ถ้าพระครูบาบุญชุ่มมา กับครูบาธรรมดามา คนละเรื่องกัน ทั้งๆ พระธาตุอย่างเดียวกัน ฉะนั้นจะต้องมีองค์ประกอบ ตรงนัั้นน่าเชื่อถือกว่า ตรงนี้ไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือ อะไรประมาณนั้น

    ถ้าหากว่าอากงไปสร้างพระธาตุเจดีย์ แต่ไม่มีใครรู้จักอากง ทั้งๆ อากงก็เก่ง เข้าถึงธรรม จะเป็นเช่นใด?

    ทางในก็จะมีอยู่ ๓ อย่างคือ

    ๑. คนสร้างไม่ดัง แต่วาระถึง พอคนไปสร้างเสร็จก็ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา โด่งดังขึ้นมา เกิดอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งๆ สร้างมาทีหลัง แต่ดัง นี่แหละ เป็นวาระของท่าน เช่น จตุคามรามเทพ ก็โด่งดัง 

    ๒. บุคคล สภาวะแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมันเอื้อ คือ ถ้าพูดแบบภาษาสมัยใหม่ก็คือ มีการตลาด รู้สึกว่าตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

    ๓. การปกครอง ผู้ปกครองต้องการสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คนสามัคคีปรองดองขึ้นมา เช่น คนเขาทะเลาะกัน แต่ให้ประชาชนมาสนใจพระเจดีย์ เป็นต้น เหมือนกับพระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓ เสร็จในปี พ.ศ. ๒๑๐๖

    พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกรุงศรีอยุธยา (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) กับกรุงศรีสัตนาคนหุต (ปัจจุบันคือเวียงจันทน์ ประเทศลาว) (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

    จริงๆ แล้วภาคเหนือไม่มีคติเรื่อง พระธาตุ ๑๒ ราศี ประจำปีเกิด แต่สร้างเป็นประเพณีขึ้นมาเพื่อให้คนที่เกิดปีนั้นๆ ได้ไปทนุบำรุงพระธาตุปีเกิดของตนเอง ไม่ให้ทรุดโทรม พระธาตุประจำปีเกิดของตนเองมีดังนี้

    ๑. พระธาตุประจำปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
    ๒. พระธาตุประจำปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
    ๓. พระธาตุประจำปีขาล พระธาตุช่อแฮ แพร่
    ๔. พระธาตุประจำปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง น่าน
    ๕. พระธาตุประจำปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
    ๖. พระธาตุประจำปีมะเส็ง พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์
    ๗. พระธาตุประจำปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง พม่า
    ๘. พระธาตุประจำปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
    ๙. พระธาตุประจำปีวอก พระธาตุพนม นครพนม
    ๑๐. พระธาตุประจำปีระกา พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
    ๑๑. พระธาตุประจำปีจอ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
    ๑๒.  พระธาตุประจำปีกุน พระธาตุดอยตุง เชียงราย

    พระธาตุเจดีย์ที่เป็นเกรด A จะต้องมีพญานาคมาดำรงรักษาแน่นอน ทุกที่

    ข้างๆ พระธาตุจะมีบ่อน้ำทิพย์ หรือรูของน้ำ น้ำเป็นที่มาของพลังพญานาค ในการสร้างสรรค์ ดูแล ทนุบำรุง เพราะรูน้ำนี้เชื่อมกับบาดาล 

    ขนาดที่ศาลเจ้าถ้ำกบนี้ยังมีรูน้ำเลย คนไม่กล้าถม เพราะรูทะลุแม่น้ำสาย

    ที่บอกว่าพญานาคอยู่เมืองบาดาล ใต้ดิน เพราะว่าใต้ดินนี้จะมีน้ำเยอะแยะมากเลย เราก็ถือเอาว่าน้ำใต้ดินนี้ทนุบำรุงรักษา 

    แผ่นดินโลกนี้ถ้าไม่มีบาดาล แผ่นดินก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าข้างล่างถ้าไม่มีน้ำอยู่แผ่นดินจะยุบหมด นี่แหละ คนโบราณรู้ด้วย มีบางช่วงสมัยก่อนพอคนสูบน้ำบาดาลกันมากขึ้นทำให้แผ่นดินทรุด ที่กรุงเทพฯ

    การทรุดตัวของพื้นดิน ในที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเองยังมีการทรุดตัวต่อไป ประกอบกับชุมชนเมืองมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปมากขึ้นทุกปี ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากไม่มีมาตรการมารองรับปัญหานี้  ในอนาคตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจจะเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นได้ ทั้งนี้พบว่าสาเหตุใหญ่ของการทรุดตัวของแผ่นดินเกิดจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณมากเกินกว่าที่น้ำบาดาลตามธรรมชาติจะไหลเข้ามาแทนที่ได้ทัน(https://www.tcijthai.com/news/2015/09/scoop/5726)

    คนโบราณเขาจะรู้ ความสัมพันธ์พลังตรงนี้จะให้เกิดความสมดุลกัน ไม่กล้าให้เหลื่อมล้ำว่าใครเหนือกว่าใคร ถ้าไม่เช่นนั้นแผ่นดินทรุด

 



Create Date : 22 ตุลาคม 2564
Last Update : 22 ตุลาคม 2564 22:11:20 น.
Counter : 184 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
ตุลาคม 2564

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
22 ตุลาคม 2564
All Blog