อาลยวิญญาณ แหล่งเก็บรักษาทุกสรรพสิ่ง กิเลส วาสนา กรรมวิบาก
อาลยวิญญาณ แหล่งเก็บรักษาทุกสรรพสิ่ง กิเลส วาสนา กรรมวิบาก

    เกี่ยวกับอาลยวิญญาณนี้ เป็นปรัชญาแนวคิดของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน ท่านไมเตรยนาถ (Maitreya-natha) เป็นผู้ก่อตั้งนิกายโยคาจาร (瑜伽行唯識學派) นี้ขึ้นมา เกิดหลังนาคารชุนราว ๑๐๐ ปี มีสานุศิษย์ที่สืบต่อนิกายนี้คือ พระอสังคะ พระวสุพันธุ พระทินนาคะ พระธรรมปาละ และพระถังซัมจั๋ง เป็นต้น

    โยคาจาร หมายถึง การมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุดโดยวิธีปฏิบัติโยคะ ยังมีอีกชื่อเรียกว่า วิญญานวาท หมายถึง จิตเท่านั้นที่เป็นจริงเพียงสิ่งเดียว

    "โยคาจาระ" (Yogacara) มาจากคำว่า "โยคะ"  แปลว่า มีลักษณะกระตือรือร้นที่จะไต่สวน

    "อาจาระ" แปลว่า ความประพฤติที่ดีงาม 

    โยคาจาระ จึงหมายถึง ความกระตือรือร้นที่จะประพฤติข้อปฏิบัติที่ดีงาม

    คัมภีร์ลังกาวตารสูตร กล่าวว่า “อาลยวิชญาณ เป็นฐานแห่งสรรพสิ่ง สร้างสรรค์สรรพสิ่ง เป็นมูลฐานของโลก และปรากฏการณ์สรรพสิ่ง เป็นเงา หรือเป็นภาพของอาลยวิชญาณซึ่งมีสภาวะเป็นอัพยากฤต (กลาง) เกิดดับสืบเนื่องกันมาไม่ขาดสายนับแต่กาลปรากฏเบื้องต้น มีหน้าที่เก็บก่อ คือเก็บพีชะของสิ่งทั้งปวงไว้และนำพีชะที่เก็บไว้มาสร้างสรรค์” (คัมภีร์มหายาน ลังกาวตารสูตร (The Lańkāvatāra Sūtra A Mahāyāna Text), แปลเรียบเรียง โดยพระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ), หน้า ๒๓๑.)

    บทบาทและหน้าที่ของอาลยวิญญาณยิ่งใหญ่นัก ดังที่ท่านพรรณนาไว้ว่า “สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ได้มีอยู่ต่างหากจากจิตที่รับรู้ ทั้งผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตนั่นเอง จิตเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเพียงอย่างเดียว และไม่เคยสัมพันธ์กับวัตถุภายนอกเลย โลกภายนอกต่างหากไม่มีอยู่จริง จึงเรียกว่า จิตตมาตร์(mind-only)” (พระศรีคัมภีรญาณ (ศ.ดร.สมจินต์ วันจันทร์), พุทธปรัชญา, หน้า ๓๔๙-๓๕๐.)

 
ความหมายของอาลยวิญญาณ
    คำว่า “อาลย” มีรากศัพท์มาจาก “อา+ลิ” หมายถึง "สืบมั่นไปตลอด"

    “อาลย” แปลว่า "แหล่ง" หรือ "ที่อยู่"

    "วิญญาณ" แปลว่า "หน่วยของการรับรู้"

    สรุปรวมกัน "อาลยวิญญาณ" (阿賴耶識) แปลว่า "สรรพสิ่ง กรรม ทั้งหลายทั้งปวง  เก็บรักษาไว้ในนี้หมด"

    อาลยวิญญาณ (Ālayavijñāna) เป็นแหล่งสั่งสมพีชะแห่งกิเลสและวาสนา หมายความว่า เปรียบเสมือนเรือนคลังคล้ายกับยุ้งฉางสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ต่างๆ (สรรพพีชะ) คือ กิเลสทั้งหลาย (สาสวพีชะ) และวาสนา คือ จริต นิสัย อุปนิสัย พฤติกรรม ความเคยชิน ผลของการกระทำต่างๆ หลายภพหลายชาติ (อนาสวพีชะ) และสั่งสมความไม่มีกิเลส

 
อาลยวิญญาณมีความหมายได้ ๒ นัย 
 
    นัยที่ ๑ หมายถึง จิตวิญญาณที่เป็นแหล่ง เป็นที่อาศัยของพีชะต่างๆ กิเลส (อาศรยะ/อนุศัย) วาสนา กรรม ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ผลกรรม วิบากกรรม กุศล อกุศล และอัพยากฤต (กลางๆ) อุปนิสัย จริต จึงเปรียบเสมือนเรือนคลังที่ไว้สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ (สรฺวพีชก) ที่พร้อมจะไปปลูก

    นัยที่ ๒ หมายถึง จิตวิญญาณที่ยึดมั่นถือมั่น จิตวิญญาณที่ยังมีความอาลัยอยู่

    ท่านฮุยหยวน (Hui-Yuan) ได้ให้ความหมายคำว่า “อาลย” ว่า “ไม่เคยสูญเสีย” (never loses) คือจิตไม่เคยสูญเสียธรรมชาติเดิมแท้ของมัน แม้จะท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏยาวนานเท่าไรก็ตาม จิตก็ยังสามารถรักษาธรรมชาติเดิมแท้ของมันไว้ได้
    อาลยวิญญาณ (阿賴耶識) เป็นจิตที่เป็นรากฐานซึ่งอยู่ในภาวะธรรมชาติล้วนๆ มีความบริสุทธิ์ประภัสสรโดยธรรมชาติ เป็นครรภ์แห่งพระตถาคต (ตถาคตครรภ์) มีความงดงาม

 
ความหมายของ "พีชะ"
 
    พีชะ คือ ธรรมชาติที่เป็นเหตุ เป็นเชื้อ เป็นพลัง เป็นปฐมเหตุแห่งสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ในอาลยวิญญาณมีห้องเก็บพีชะ เรียกว่า สรวพีชกจิต (วิปากจิต) เพื่อรองรับกรรม วิบากกรรม ผลของกรรม ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน กระบวนการสั่งสมพีชะนี้เรียกว่า เหตุปริณามะ (บ่มหรือวาสนา) และผลปริณามะ (การปรากฏผลเป็นรูปร่าง)

ซึ่งมีพลานุภาพยิ่งใหญ่มาก ที่อาศัยอยู่ในอาลยวิญญาณ และพร้อมที่จะแสดงออกมาหากว่ามีสิ่งเอื้ออำนวย สัปปายะพร้อม ก็จะแสดงออกมา ตัวของพีชะนี้แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ (๑) กลุ่มกุศล (๒) กลุ่มอกุศล (๓) กลุ่มอัพยากฤต มีการสืบเนื่องต่อกันไป

    ฉะนั้น อาลยวิชญาณจึงอยู่เหนือสรรพสิ่ง อยู่ในฐานะเป็นผู้สร้าง

    “จิตตมาตร” คือ “การคิดปรุงแต่งอันไม่เป็นจริง คือ จิต และเจตสิกอันเป็นไปในไตรภูมิ”  หมายความว่า จิตและเจตสิกของคนที่ยังมีกิเลสอยู่ และอยู่ในโลกนี้ อยู่ในสังสารวัฏนี้มีการคิดปรุงแต่งขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาพมายาแห่งธรรม มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับแปรเปลี่ยนอยู่ตลอด

    ธาตุหรือพลังงานแบ่งเป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

    (๑) พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วทำให้แข็งกระด้างเรียกว่า ปฐวีพีชะ 

    (๒) พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะเอิบอาบ เรียกว่า อาโปพีชะ 

    (๓) พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะอบอุ่น เรียกว่า เตโชพีชะ 

    (๔) พลังงานที่รวมตัวเข้าแล้วมีลักษณะหวั่นไหว เรียกว่า วาโยพีชะ

 

ประเภทของจิตวิญญาณ ๓ ระดับ
 
    “จิตเริงระบำเหมือนนักฟ้อน มนัสเหมือนผู้กำกับการแสดง วิญญาณ ๖ เหมือนผู้ชมการแสดงบนเวที” 

    หมายความว่า 

    ๑. จิต, อาลยวิญญาณ (阿賴耶識) ของเรารับรู้อารมณ์ต่างๆ เปรียบเสมือนกับนักฟ้อนรำ ก็จะฟ้อนรำเปลี่ยนท่าทางไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับจิตของเรามีการเกิดดับ แปรเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ คือ เกิดอารมณ์ขึ้นมาแล้วอารมณ์นั้นก็ดับไป
    จิตเป็นอัพยากฤต (กลางๆ) อยู่เป็นนิตย์

    หน้าที่หลักของอาลยวิญญาณ

    ๑. รู้เก็บ คือสามารถเก็บรอยประทับต่างๆ ของกรรม อุปมาเหมือนยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก 

    ๒. รู้ก่อ คือสร้างอัตตาให้เกิดขึ้นกับตัวเองเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ แบบทวิภาวะ มีผู้มองกับสิ่งที่ถูกมอง การที่อาลยวิชญาณมองตัวเองและแยกตัวเองออกมาทำหน้าที่รับรู้ตัวเอง ทำให้ดูเหมือนแยกตัวเองออกมาเป็นวิญญาณตัวใหม่ จึงมีชื่อเรียกตัวใหม่ว่า มนัส (กลิษฎมโนวิญญาณ) และ 

    ๓. รู้ปรุง คือปรุงแต่งอารมณ์ตามเหตุปัจจัยอันเอื้อให้เกิดการทำกรรมใหม่ตามรอยประทับที่มีอยู่ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีกุศลพีชะอยู่มากก็ทำให้จิตใจที่อยากจะทำดีมากยิ่งๆ ขึ้นไป 

    อาลยวิชญาณที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์มีอยู่ ๖ สาย คือ ทางจักขุ(ตา) ทางโสตะ (หู) ทางฆานะ (จมูก) ทางชิวหา (ลิ้น) ทางกายะ (กาย) และทางมโน (ใจ) ทั้งหมดนี้เป็นวิญญาณเฉพาะทาง มีหน้าที่ในการสร้างโลกและความรู้ทั้งหลาย

    ๒. มนัส (กลิษฏมโนวิญญาณ : 末那識) รับรู้อารมณ์ภายใน ทำหน้าที่ในการคิด พิจารณา การใช้เหตุผล การสร้างมโนทัศน์ของจิต ทำหน้าที่กำกับอารมณ์ที่รับรู้ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เหมือนผู้กำกับการแสดงทำหน้าที่กำกับการฟ้อนรำให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

    มนัสสัญจรไปในสองทิศทาง หรือทำหน้าที่ ๒ อย่าง ได้แก่การกำหนดหมายในอาลยวิญญาณ และทำอาลยวิญญาณให้เป็นอารมณ์ของตน หมายความว่า มนัสจะรับพีชะแห่งกิเลสและวาสนาจากอาลยวิญญาณ จากนั้นก็นำมาควบคุม กำกับ สั่งการให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ
  
 สรุปมี ๒ หน้าที่ คือ

 
    ๑) เป็นจิตวิญญาณที่มีหน้าที่เก็บพีชะต่างๆ อันได้แก่ กุศล อกุศล อัพยากฤต กรรม วิบากกรรม ผลกรรม เพราะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นตน ของตน  เรียกว่า อาตมทิฏฐิ (เห็นว่าเป็นตัวตน) อาตมเสฺน่หา (รักเยื่อใยในอัตตา) อัสมิมานะ (คิดว่าเป็นตัวเรา) และอวิทยา (ความหลงไม่รู้จริง)

    ๒) เป็นจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงอยู่ระหว่างมโนวิญญาณ (ความคิด) กับอาลยวิญญาณ  อุปมาดั่งคนที่ยืนมองกระจกแล้วคิดว่าในกระจกเป็นคนอีกคนหนึ่งที่แยกจากตัวเอง การยึดถือของมนัสทำให้เกิดความคิดมีตัวมีตนขึ้นมา จึงพิจารณา ควบคุม กำกับการ สั่งการต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ 

    “มนัสยึดเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ มีความกำหนดหมายว่ามีตัวตน ประกอบด้วยกิเลส ๔ อย่าง อาตมโมหะ (ความหลงว่าในตัวตน) อาตมทฤษฎี (ความเชื่อว่ามีตัวตน) อาตมเสฺนหะ (ความรักใคร่ในตัวตน) และอาตมมานะ (ความกำหนดหมายในตัวตน) เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่าอุปกิเลสซึ่งเกิดขึ้นมาจากกิเลสละเอียดอ่อน (อาศรยะ/อนุศัย) ที่นอนเนื่องอยู่ในอาลยวิญญาณ และกิเลสเหล่านี้จะเข้าครอบงำมนัสให้ทำงานคิดปรุงแต่งแบบมีทวิภาวะหรือมีตัวฉัน-ของฉัน (คราหยะ-คราหกะ) "ฉันทำ (อหังการ) มานะว่าฉันเป็น (อัสมิมานะ)”  มนัสยึดเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ มีความกำหนดหมายว่ามีตัวตน (มนฺยนาตมก)
    มโนวิญญาณจะขาดตอนเมื่อเข้าอสัญญีภพ อสัญญีสมาบัติ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หรือคนที่หลับสนิทไม่ฝันและคนสลบ แต่มนัสจะขาดเมื่อบรรลุอรหัตตผล หรือเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเท่านั้น

    ๓. ประพฤติวิญญาณ (ปวัตติวิญญาณ) ทำหน้าที่รับอารมณ์จากอาลยวิญญาณ และผ่านการกำกับของมนัส เหมือนผู้ชมการฟ้อนรำบนเวที อันเกิดจากการแสดงของนักฟ้อนรำ และผ่านการควบคุมของผู้กำกับ วิญญาณ ๘ ทำหน้าที่กำกับประพฤติวิญญาณ ๖
    ประพฤติวิญญาณ หมายถึง จิตที่ทำงานด้วยการออกมารับรู้ถึงสิ่งที่มากระทบทางอายตนะภายนอกทั้ง ๖ ได้แก่ ๑) การรับรู้ทางตา (จักขุวิญญาณ) ๒) การรับรู้ทางหู (วิญญาณโสตวิญญาณ) ๓) การรับรู้ทางจมูก (ฆานวิญญาณ) ๔) การรับรู้ทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ) ๕) การรับรู้ทางกาย (กายวิญญาณ) ๖) การรับรู้ทางใจ ความคิด (มโนวิญญาณ) การรับรู้ของจิตในขั้นนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ ทวาร อารมณ์ และวิญญาณหรือการใส่ใจ

    วิญญาณ ๘ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มนัส และอาลยวิญญาณ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ 

    ๑. จิตแท้ หมายถึง จิตที่เป็นพื้นฐาน หรือเป็นแก่นแท้ จิตประเภทนี้มี ๒ ด้าน คือ

        ๑.๑ ด้านที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เรียกชื่อว่า อาลยวิญญาณ 

        ๑.๒ ด้านธรรมชาติเดิมแท้ มีความบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ มีตถาคตครรภ์ มีธรรมชาติแห่งพุทธะ(พุทธธาตุ) ธรรมชาติด้านนี้ไม่เคยสูญเสียไปแม้จะอยู่ในสังสารวัฏยาวนานแค่ไหนก็ตาม เรียกชื่อว่า อมลวิญญาณ หมายถึงวิญญาณที่ไร้มลทิน

    ๒. จิตเทียม หมายถึง วิญญาณ ๖ และอาทานวิญญาณ (มนัส) และท่านฮุยหยวน (Hui-Yuan) ยังมองว่า “จิตกลุ่มหลังนี้เป็นจิตเทียมหรือจิตผิดพลาด เพราะวิญญาณรับรู้อารมณ์อย่างผิดพลาด และอาทานวิญญาณ คิดปรุงแต่งอารมณ์อย่างผิดพลาด”


 
สิ่งที่ทำให้ไม่หลุดพ้น
 
    สาเหตุที่เรายังอยู่ในสังสารวัฏนี้ เกิดจากเราอาลัย "อาลัย" แปลว่า สายเครือ เยื้อใย ผูกพัน จึงทำให้ไม่หลุดพ้นจากการครอบงำของวิบาก กิเลส ตัณหา ตัวตน ดังท่านอสังคะ กล่าวในคัมภีร์เอโกตตราคมว่า หมู่สัตว์เป็นผู้หมกมุ่นในอาลัย (อาลยรตา) ยินดีในอาลัย (อาลยรามา) บันเทิงในอาลัย (อาลยมุทิตา) ยินดียิ่งในอาลยะ (อาลยาภิรตา) 

    ถ้าหากว่าเราฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วไม่อาลัย ตั้งใจฟังด้วยดี (ศุศฺรุสันติ) และประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นไปตามภาวะธรรม โดยธรรม ก็จะพบกับสันติสุข



Create Date : 09 กรกฎาคม 2563
Last Update : 9 กรกฎาคม 2563 18:02:33 น.
Counter : 247 Pageviews.

1 comments
  
จิตผู้รู้เป็นวิญญาณที่6 หรือเปล่า จิตที่รู้จิตผู้รู้เป็นอาลนวิญญาณหรือเปล่า ถ้าใช่ จิตที่8 เป็นอาลนวิญญาณ จิตที่7 กลิสฏมโนวิญญาณอยู่ไหน หาไม่เจอคะ
โดย: Nini IP: 136.243.138.66 วันที่: 2 พฤษภาคม 2564 เวลา:8:35:29 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
กรกฏาคม 2563

 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
9 กรกฏาคม 2563
All Blog