หลักการ ๔ ประโยคที่เป็นหัวใจของมัธยมิก 
หลักการ ๔ ประโยคที่เป็นหัวใจของมัธยมิก 

    ปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร (Prajnaparamita Hrdaya; 摩訶般若波羅蜜多心經) พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง เป็นพระสูตรดั้งเดิมที่สุด กับทั้งเป็นมูลฐานของทฤษฎีศูนยตา เป็นพระสูตรสำคัญของทั้งมหายานและวัชรยาน คุรุนาคารชุน (Nagarjuna) ผู้ก่อตั้งนิกายมาธยมิก ราว ค.ศ.๑ เป็นผู้รวบรวม อยู่ใน มาธยมิกศาสตร์ ท่านกุมารชีพได้แปลเป็นพากษ์จีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ แพร่หลายมากจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า “ซิมเก็ง” (心經) จากคำสอนพระมหาคณาจารย์โพธิ์แจ้งและมหาวัชราจารย์โซนัมรินโปเช่ (https://www.gonghoog.com/main/index.php/2012-11-10-06-48-23) ข้อความหัวใจว่า

สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่,

สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่,

ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่,

ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่

นี่คือ ศูนยตา, คือนิพพาน คือทางสายกลาง

    อธิบายเพิ่มเติมว่า

    สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, คือ สิ่งที่หมายมั่นว่าใช่ แต่สิ่งที่แท้กลับไม่ใช่

    สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่, คือ สิ่งที่แท้ ก็คือไม่ใช่ คำว่า "แท้" ไม่มีอะไร "ใช่" และไม่มีอะไร "ไม่ใช่"

    ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, คือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีคำว่า "ไม่ใช่"  กับ "ใช่" เหตุที่มีใช่ กับไม่ใช่ เพราะว่าเราไปเปรียบเทียบสิ่งนั้นขึ้นมา เราไปสมมติขึ้นมา อุปโลกน์ขึ้นมา เช่น สิ่งนี้ยาวกว่าหรือสั้นกว่า ที่จริงไม่มี แต่เราไปวัดแล้วเราไปเปรียบเทียบจึงรู้ว่าสั้นหรือยาว

    ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่ คือ สรุปอะไรว่า "ไม่ใช่" และ "ใช่" ที่แท้จริงแล้ว "ไม่มี" สิ่งที่มันมีขึ้นมาเพราะว่าเราเปรียบเทียบ เราเปรียบเทียบจึงมีขึ้นมา

    เหมือนกับ “เต๋า (道)” เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถจะเรียกอะไร แต่เราจำเป็นต้องเรียกให้มีชื่อเพื่อให้เรารู้จักเต๋า "เต๋า" เมื่อยังดำรงอยู่ก็จะเป็นเต๋า แต่เมื่อไหร่ยื่นออกมา เดินทางแล้ว ก็คือเส้นทาง ฉะนั้น เต๋า ก็คือ เป็นเส้นทาง การดำเนินทาง ตรงกับคำว่า "ธรรมะ" (มัคคะปฏิปทา) ซึ่งแปลว่า เส้นทางของธรรมชาติ ทุกธรรมชาติก็จะมีธรรมะอยู่ในนั้น และก่อนที่จะเป็นเส้นทาง ก็ดำรงอยู่เช่นนั้น

    เราจะต้องศึกษาเต๋า แล้วถ้ามาพูดคุยเรื่องพวกนี้จะง่าย

    เพราะอะไรทางประเทศจีนจึงรับมหายาน ไม่รับเถรวาท เพราะทางมหายานมีส่วนใกล้เคียงกับเต๋า เถรวาทจะไม่มีกลิ่นไอของพวกนี้ จะไม่มีสิ่งพวกนี้เจือปน

    เถรวาทที่แท้จริง จะเน้นศึกษาลมหายใจในชีวิตปัจจุบัน จะเน้นตรงนี้ เน้นปัจจุบัน จะใกล้เคียงกับชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามหายานจะมีปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่านั้น สูงกว่านั้น

    ระหว่างมีปรัชญากับไม่มีปรัชญาจะดีกว่ากันตรงไหน?

    มีปรัชญา (philosophy) สามารถที่จะทำให้เกิดความลึกซึ้งนำพากลุ่มคนได้มากกว่า เขาจึงเรียกว่า มหายาน (Mahayana; 大乘) เป็นเรือลำใหญ่ที่จะรับคนได้เยอะ เพราะจะทำให้หลากหลายขึ้น เถรวาท (theravada) จะเล็ก เดี่ยวๆ

    เถรวาทต้นๆ แทบจะไม่เรียกว่าศาสนา เพราะทำแบบชีวิตจริง ชีวิตจริงคุณควรทำอย่างไรเท่านั้นเอง ถ้าพูดไปแล้วเถรวาทจะคล้ายๆ ขงจื้อ (孔子; Confucius) จะเน้นว่าเวลานี้คุณทำอะไร อย่างอื่นไม่ต้องไปยุ่ง ถ้าเราไปถามขงจื้อว่าเกิดมาจากไหน ขงจื้อจะไม่ตอบ แล้วถามว่าเราตายแล้วจะไปไหน ท่านก็ไม่ตอบ ขงจื้อเน้นว่าเวลานี้เราอยู่ อยู่ให้ดีก็แล้วกัน

    ถ้าเราไปศึกษาเถรวาทจริงๆ จะไม่มีสวรรค์ ไม่มีนรก เขาจะไม่เน้นเรื่องสวรรค์และนรก จะเน้นว่าชีวิตของเราเวลานี้จะอยู่อย่างไร ณ ปัจจุบันกาลนี้ คุณอยู่มีความสุขหรือมีความทุกข์ ฯลฯ เขาจะไม่ให้ไปคิดถึงสวรรค์หรือคิดถึงนรก

    ทำไม? ถ้าคุณมุ่งสวรรค์หรือนรก คุณจะไม่สามารถหลุดออกจากอนัตตา ลองไปคิดดูแล้วกัน ถ้ามีสวรรค์กับนรก เราจะหลุดออกจากอนัตตาไม่ได้ เราจะต้องมีอัตตาอยู่ตลอด

    ถ้าเถรวาทจริงๆ จะไม่มีคำว่าปรมัตถ์ เพราะว่าเน้นปัจจุบัน ไม่ให้ไปคิดอย่างอื่น จะวุ่นวาย พอเราคิดปรมัตถ์ก็จะมีปรัชญาแล้ว ฉะนั้น เถรวาทจะไม่สนใจเรื่องปรัชญา ก็จะเหมือนขงจื้อ

    พระยุคปัจจุบันทำอะไรก็ให้ดูลมหายใจ อันนี้เป็นเถรวาทผสมไปแล้ว ไม่ใช่เถรวาทจริง ถ้าเถรวาทจริงไม่ใช่มาให้ดูนั่นดูนี่ เขาถือว่าชีวิตประจำวันของคุณจะต้องทำยังไง คุณมีสุขมีทุกข์อยู่ที่ "เหตุ" ตรงนั้นแหละ ชัดๆ เลย นี่สายตรงพุทธเจ้าเลย 

    ถ้าเป็นเถรวาทปัจจุบันก็จะมีการผสมแล้ว

    โดยเฉพาะพุทธทาสมาเน้นเรื่อง "ไม่ยึดมั่นถือมั่น" ก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครเน้น ท่านพุทธทาสเห็นตรงนี้ จึงเอามาชู ทุกคนก็เห็นตาม เจริญรอยตาม เพราะห้วงนั้นเขาเบื่อหน่ายรูปแบบเดิมๆ แต่สุดท้ายพุทธทาสอ่อนลง พวกนี้ก็ขึ้นมาใหม่ เช่น ดูลมหายใจ ยุบหนอพองหนอ พุทโธ ฯลฯ ถ้าเราไปคุยกับพุทธทาสไม่มีเน้นหรอกจะให้ดูลมหายใจ แม้แต่พุทธทาสก็ไม่เน้นว่าจะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ท่านจะเน้นว่า คุณต้องไปทำอะไร มีหน้าที่อะไร ก็ไปทำตามสิ่งเหล่านั้น และไม่มีหรอกว่าพุทธทาสจัดโปรแกรมให้คนไปนั่งสมาธิ มีแต่โปรแกรมถาม-ตอบ ปุจฉา-วิสัชชนา พุทธทาสประกาศเลยว่า ถ้าคุณถามถึงสวรรค์อย่าเข้ามาถาม ไม่ตอบ ถามถึงนรกก็ไม่ตอบ พุทธทาสพยายามทำให้บริสุทธิ์ (pure) แบบเถรวาทจริงๆ

    ฉะนั้น เถรวาทจะไม่มีสวรรค์และนรก เถรวาทจริงๆแล้วจะไม่เน้นการตักบาตร

    เพราะว่าถือปัจจุบันเกี่ยวกับความประพฤติ ไม่ใช่เน้นว่าเราจะต้องไปทำกับใคร สมมติว่าเวลานี้ เน้นประพฤติของตนเอง เช่น ตอนนี้เราคิดบวกหรือคิดลบ คิดสัมมาหรือคิดมิจฉา คิดแค่นี้เอง เราตักบาตรจะต้องไปคิดตรงนี้ สิ่งที่คุณตักบาตรเป็นสัมมาหรือมิจฉา จะเน้นจากฐานจิตความคิดตรงนี้ และกุศลก็จะเกิดจากตรงนี้ เขาไม่ถือว่ากุศลเกิดจากการใส่บาตร แต่เกิดจากความคิดของเรา อันนั้นเพียงแต่เป็นรูปงาน เป็นเหตุแห่งการให้เป็น เป็นรูปในการสื่อให้เป็นอะไร แต่เน้นตรงที่ว่าคุณคิดยังไง นี่แหละ เราจะต้องเน้นฐานจิต เราทำสิ่งเหล่านี้มีฐานจิตยังไง

    สมมติว่า มีคนหนึ่งให้เบเกอรี่เราหนึ่งก้อน ฐานจิตเพราะว่าเขาหิว เราให้เขา แต่กับอีกคนหนึ่ง ให้เบเกอรี่เหมือนกันแต่ฐานจิตเพื่อจะให้ ให้เอาใจเขา นี่แหละคนละเรื่องกันเลย ทั้งๆ ก็ให้เหมือนกัน ดูเหตุและผลตรงนี้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา นี่พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ ถ้าถือตามหลักดูแล้ว สิ่งที่พุทธเจ้าสอนก็คล้ายๆ กับขงจื้อ จะเน้นดูตรงนี้

    ยกตัวอย่าง ถ้าเราทำบุญตักบาตร แต่ฐานจิตไม่ถูกต้องก็ไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับมหายานจะไม่เน้นตักบาตร แต่มีญาติโยมเอาของไปถวายท่าน เอาไปทำให้ท่านฉันได้ เช่น เปิดโรงเจ เปิดโรงทาน ฯลฯ จะเน้นทางนี้ สังเกตได้ว่า พระทางมหายานจะต้องทำมาหากิน ท่านจะมีโรงครัว ทำอาหารได้

 



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2565 23:02:42 น.
Counter : 522 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พรหมสิทธิ์
Location :
เชียงราย  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

ศึกษาเรียนรู้ธรรมะโดยธรรม นำมาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมะนั้น ให้คนรู้จักบริหารกรรม แก้กรรม พัฒนากรรม ให้เกิดสันติสุข
New Comments
Group Blog
กุมภาพันธ์ 2565

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28