<<
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
10 กรกฏาคม 2551

ทัศนคติ กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กรณีศึกษา ประสาทพระวิหาร

ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ดูเหมือนว่า ข่าวสารต่างๆ จะวิ่งมาชนเราเองทั้งอย่างตั้งใจและโดยบังเอิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไร หากอยากรู้ หรือต้องการที่จะรู้ล้วนหาได้ไม่ยากนะครับ

ดังนั้น ผมคิดว่าปัญหาจึงไม่น่าจะอยู่ที่ "ความรู้"

หากอยู่ที่ ความคิด หรือ "ทัศนคติ" มากกว่า

พูดง่ายๆ คือ ความคิด ที่หาข่าวมาศึกษา คิดตามเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ
และเมื่อได้อ่าน ได้รู้แล้ว ก็ต้องใช้ "ความคิด" หรือ ทัศนคติ ตัวเดียวกันนั่นแหละ ที่จะบอกตัวเองว่า จะทำยังไงต่อไป

เชื่อหรือไม่เชื่อ เชื่อแล้วคิดยังไง คิดแล้วทำหรือไม่ทำยังไง

ผมว่ามันเป็นเรื่องไม่ง่ายทีเดียวครับ


ผมขอยกตัวอย่างประเด็น การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ ประสาทพระวิหาร ของกัมพูชานะครับ

เนื่องจาก เรื่องนี้ มันละเอียดอ่อนมากครับ เพราะมันมีประเด็นเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ก็เป็นเรื่องของการเลือกข้าง ซึ่งปกติ ผมไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเท่าไหร่
พูดไปแล้ว มันจะกลายเป็นการเลือกข้าง ทั้งๆที่ โดยส่วนตัวผม เลือกข้อเท็จจริงมากกว่า

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมว่า ฝรั่งเนี่ยเขาถือว่า ภาระตกเป็นของผู้อ่าน คนเขียนจะเขียนอะไรก็ได้แหละ (ขึ้นกับจรรยาบรรณสื่อ) แต่สุดท้ายแล้ว คนอ่านก็ต้องมาคิด วิเคราะห์เองอีกที


ครับ ข่าวต่างๆ ว่าเยอะแล้ว ยังมี ฟอร์เวิร์ดเมลอีก ซึ่ง ผมให้น้ำหนักน้อยมาก เพราะมันไม่ได้มีความรับผิดชอบถ่วงดุลเอาไว้ คนเขียน เขียนอะไรก็ได้
แต่คนอ่านนี่แหละครับ ต้องเลือกและตัดสินใจด้วยวิจารณญาณครับ



--------------------------------------------------------------------------









เมื่อคืนวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณ 02.30 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ได้แถลงข่าว ทันทีหลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้มีข้อตัดสินใจให้ขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามคำขอของกัมพูชา สรุปสาระของการแถลงข่าวได้ ดังนี้






1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- ในการเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้มีผู้แทนไทยจากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน แต่ทุกคนมาร่วมเป็นคณะผู้แทนเดียวกัน ร่วมกันทำงาน ถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว และอยู่ที่นี้ด้วยกันเพื่อพูดคุยกับสื่อมวลชนไทย
- การดำเนินการของคณะผู้แทนไทยเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และมติ ครม. ที่ออกตามคำสั่งศาลปกครองนั้น กล่าวคือ คณะผู้แทนไทยได้พยายามเจรจากับฝ่ายต่างๆ ขอเลื่อนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกออกไป ได้พยายามเจรจาขอให้ไทยได้ขึ้นทะเบียนร่วม และได้แจ้งการที่ไทยไม่สามารถสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระ วิหารได้ ให้คณะกรรมการมรดกโลก และฝ่ายต่างๆ ทราบและพิจารณาแล้ว
- แม้กระทั่งเมื่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจไปแล้วเช่นนี้ก็ตาม รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ยังได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมการมรดกโลก คัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการมรดกโลก และกล่าวย้ำยืนยันการสงวนสิทธิของไทยตามหนังสือ ดร. ถนัด คอมันตร์ ถึงสหประชาชาติเมื่อ 2505 ไว้อีกครั้งหนึ่ง
- อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน ไม่ต้องการให้เรื่องนี้มากระทบกับความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา ซึ่งยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ ด้วยดี ในอนาคตเชื่อว่าคงจะมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันต่อไป






2. นายปองพล อดิเรกสาร
ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย (คณะกรรมการแห่งชาติมรดกโลกไทย)

- ขอยืนยันว่าสิ่งที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนนั้น เป็นเฉพาะตัวปราสาท เป็นเรื่องของกัมพูชา เอง มิได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ขอให้ประชาชนไทยสบายใจได้
- ส่วนที่ไทยจะนำไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในฝั่งไทยต่อไปนั้น คณะกรรมการแห่งชาติมรดกโลก-ไทย กำลังเตรียมการอยู่แล้ว คือบริเวณทางฝั่งไทยซึ่งตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกเรียกว่า ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมนั้น กรมศิลปากรได้เตรียมการจะขอขึ้นทะเบียนส่วนที่นอกเหนือตัวปราสาท ที่อยู่ในเขตไทยอยู่แล้ว ในเกณฑ์ข้อที่ 3 และ 4 เรื่องภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม
- การดำเนินการของคณะกรรมการแห่งชาติมรดกโลก-ไทย ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากองค์การ ICOMOS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยทางวิชาการให้คณะกรรมการมรดกโลก เดิมกัมพูชาเสนอคำขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและบริเวณ (ซึ่งล้ำเข้ามาในเขตไทย) และเสนอว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ 3 หลักใน 6 หลักเกณฑ์ของการเป็นมรดกโลก คือ หลักข้อ 1 เป็นสถาปัตยกรรมที่มีแสดงอัจฉริยภาพของมนุษย์ หลักข้อ 3 และข้อ 4 เป็นภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม แต่เมื่อกัมพูชาได้ตัดเสนอแต่เฉพาะตัวปราสาท (ไม่มีบริเวณ) ไปขึ้นทะเบียน ICOMOS จึงเห็นว่าผ่านเกณฑ์เพียงข้อแรกเท่านั้น ข้อ 3 และ 4 ไม่ผ่าน เพราะเป็นส่วนที่อยู่ในเขตแดนไทย อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่าผ่านเพียง 1 ใน 6 ข้อก็เพียงพอแล้วต่อการที่จะให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ และได้มีข้อตัดสินใจเช่นนั้น - ขอให้ประชาชนไทยอย่าเสียใจที่กัมพูชานำส่วนของเขาไปขึ้นทะเบียนสำเร็จ ส่วนที่อยู่ในฝั่งไทยเราก็ยังขอขึ้นทะเบียนได้ต่อไปในลักษณะภูมิทัศน์ทาง วัฒนธรรม
- (กล่าวเสริมภายหลัง) เห็นว่า คณะกรรมการมรดกโลกเองเสียความน่าเชื่อถือลงไป ที่ได้มีข้อตัดสินเช่นนี้ เพราะทำให้การขึ้นทะเบียนปราสาทไม่สง่างาม ขาดส่วนประกอบในฝั่งไทย ยังไม่สมบูรณ์ แต่คณะกรรมการมรดกโลกไม่ได้นำมารวมพิจารณาด้วย (แม้ว่า ICOMOS จะได้ยกประเด็นนี้แล้ว)
- ขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่เมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 31 ที่นิวซีแลนด์ กระทรวงฯ ได้เห็นแผนที่ในคำขอของกัมพูชาที่ล้ำแดนไทย และได้ดำเนินการคัดค้านจนต้องเลื่อนมาปีนี้ มาในสมัยรัฐบาลชุดนี้ก็ขอบคุณ รมว.กต. (นายนพดลฯ) ที่ทำงานต่อจนกัมพูชายอมเปลี่ยนแผนที่ ขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทที่อยู่ในดินแดนของเขา
- เอกสารคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่ระงับโดยศาลปกครองกลาง ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก และเมื่อไทยแจ้งคำสั่งศาลปกครองไทยให้ทราบ ยูเนสโกก็ถอนเอกสารทุกชิ้นที่อ้างถึงแถลงการณ์ร่วมออกจากการพิจารณา ไม่นำมาใช้ ไม่อ้างถึง







3. เอกอัครราชทูตมนัสพาสน์ ชูโต
ที่ปรึกษาคณะผู้แทนไทย และอดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 31 ณ ประเทศนิวซีแลนด์

- การดำเนินการของฝ่ายไทยครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากการประชุม ครั้งที่แล้วที่นิวซีแลนด์ ซึ่งได้ตกลงกันยอมรับหลักการให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทภายใต้เงื่อนไข ต่างๆ เช่น ต้องให้กัมพูชาร่วมมือกับไทยและให้กัมพูชารายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการ มรดกโลกทราบ จึงเลื่อนมาพิจารณาปีนี้
- แม้ครั้งนี้ไทยไม่สามารถยับยั้งข้อตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกได้ แต่ความสัมพันธ์ ไทย - กัมพูชา ในภาพรวมจะร่วมมือกันต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน
- ในตัวข้อมติเองครั้งนี้ ก็มีส่วนที่ระบุเปิดให้ไทยร่วมมือกับกัมพูชาต่อไปได้
- การขึ้นทะเบียนส่วนอื่นๆ ในฝั่งไทย ยังมีโอกาส






4. พล.ท. นิพัทธ์ ทองเล็ก
เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร

- ฝ่ายทหารได้ติดตามสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามาตลอด ยังไม่มีสถานการณ์ในพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง จากผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ความสัมพันธ์ ไทย- กัมพูชา ยังปกติ รวมทั้งรายงานจากผู้ช่วยทูตทหารบกไทยในกรุงพนมเปญก็ยืนยันตรงกัน
- ขออธิบายง่ายๆ ว่าในการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่ว่าเป็นการแข่งกันระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เหมือนกับว่ากัมพูชาเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ที่เตรียมตัวมาเพื่อจะเข้าสอบ เมื่อมาสอบแล้วผ่านเกณฑ์ ก็สอบได้ เท่านั้นเอง การสอบได้ของกัมพูชาไม่ได้แปลว่าไทยสอบตกหรือได้รับผลลบจากการที่ กัมพูชาสอบได้แต่อย่างใด






5. พ.อ. นพดล โชติศิริ
ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร

- ได้ตรวจสอบแผนผัง หรือ graphic plan ที่กัมพูชาแนบประกอบคำขอเสนอคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้และได้รับขึ้นทะเบียน มรดกโลกไปแล้วนั้น คือแผนผังที่ประกอบด้วย จุดพิกัดทางภูมิศาสตร์เฉพาะตัวปราสาท 26 จุด บนแผนผังมาตรา 1 ต่อ 10,000 ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยตามมติคณะรัฐมนตรี 2505 ที่ไทยยึดถือเลย
- ส่วนหมายเลขเขตหรือโซน (zone) ต่างๆ โดยเฉพาะโซน 3 (N3 พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร) ที่เคยเป็นปัญหาข้อห่วงกังวลของไทยนั้น คราวนี้ กัมพูชาได้เขียนลงใน graphic plan ด้วยว่า “ตัดออก” (excluded) จากการขึ้นทะเบียนตัวปราสาท จึงไม่ต้องกังวลจะเสียดินแดน




6. นายถวิล เปลี่ยนศรี
รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

- ผู้แทนส่วนราชการไทยที่มาร่วมประชุมคราวนี้ทุกส่วน ได้นำข้อกังวลของประชาชนไทยมาประมวลเป็นแผนปฏิบัติ และได้หารือกันอย่างรอบคอบเพื่อพยายามดำเนินการให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ แห่งชาติได้มากที่สุด และได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่การดำเนินการของไทยมีข้อจำกัดและมีทางเลือกไม่มากนัก ปัจจัยหลายอย่างไม่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายไทย เป็นผลการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลก กระนั้นเราก็ยังสามารถปกป้องผลประโยชน์ไทยได้ และได้สร้างโอกาสใหม่ของไทยไว้แล้วในข้อตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกครั้ง นี้
- ขอย้ำความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-กัมพูชา


7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- สรุปว่า คณะผู้แทนไทยได้ทำดีที่สุดแล้ว แต่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ดังที่เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารกล่าว ไม่ใช่การสอบแข่งขันระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เป็นการที่ กัมพูชามาเข้าสอบเพื่อผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเขาสอบผ่าน
- ย้ำว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับ กัมพูชา ต้องดำเนินต่อไป



ที่มา : //www.mfa.go.th/web/2662.php?id=25629




Create Date : 10 กรกฎาคม 2551
Last Update : 10 กรกฎาคม 2551 19:02:59 น. 6 comments
Counter : 1531 Pageviews.  

 
รับทราบครับ
แต่ ผมก็ยังติดใจอยู่ดี
โดยเฉพาะในพฤติการณ์ต่างๆ ของ รมต. กต.
ตั้งแต่รายละเอียดที่ รมต.นพดล มาระบุภายหลังที่ไปเซ็นต์แถลงการณ์ ร่วม กับกัมพูชา

ว่าเป็น แค่ "ร่าง"
ผมยังติดใจว่า
ตั้งแต่แรกที่ถูกถามเรื่องนี้
ทำไม ไม่บอกทันทีว่าเป็นแค่ "ร่าง"

นอกจากนั้น ในเมื่อมันเป็นแค่ "ร่าง"
มีความจำเป็น เร่งด่วน อย่างไร
ที่ รมต. ต้องไปเซ้นต์ ใน "ร่าง" ที่กัมพูชา เสนอมา

ผมไม่คิดหรอกว่า
คนอย่าง รมต.นพดล ซึ่งจบเยติบัณฑิต
ไปร่ำไปเรียนกฏหมายมาจากเมืองนอก
จะหละหลวมทางความคิดในฐานะ นักกฏหมาย
ถึงขั้น เซ็นต์ ไปใน "ร่าง" ดังกล่าว โดยไม่คิดอะไร

นอกจากนั้น รายละเอียดของ "ร่าง" ดังกล่าว
ซึ่งควรจะเป็น "ข้อเท็จจจริง" ที่ประชาชนคนไทย
ควรจะได้รับรู้
กลับไมได้รับการนำมาเผยแพร่ จาก รมต.นพดล
หรือบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง ใน ครม.นี้

2.นายปองพล อดิเรกศาล
ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการมรดกโลก ประจำประเทศไทย คนใหม่หมาดๆ

เราต้องไม่ลืมว่า บุคคลท่านนี้คือ 1 ในสมาชิก บ้านเลขที่ 111
ที่เกี่ยวพันโยงใยโดยตรงกับนายทักษิณ ชินวัตร
ผมบอกตรงๆ ผมก็ไม่ไว้ใจ นายปองพล

ขอให้เราติดตามการทำงานของนายคนนี้
ในการดำเนินการใดๆ หลังการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
แล้วจะมีการเสนอขอขึ้นทะเบียนองค์ประกอบอื่นๆ ในฝั่งไทย
ภายใต้เงื่อนไข "ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม" (Cultural Landscape) ตามที่นายปองพล บอกไว้

คนไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และระแวดระวัง
ตรวจสอบอย่างถ้วนถี่

ขอให้ตระหนักตามคำเตือนของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม
ว่าระวังจะตกหลุมพรางคนเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา หรือ คนไทยที่ขายชาติ
ตลอดจนบรรดาประเทศต่างๆ อีก 5 ประเทศ ที่ UNESCO ระบุว่าจะให้มาเป็นภาคีร่วมกันพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารและอาณาบริเวณโดยรอบ

ป.ล.

พรุ่งนี้(ศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2551)

จะมีการเสวนา ที่หอประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
กรณีปราสาทพระวิหาร
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

รศ.เสนอ นิลเดช (สถาปัตยกรรมศาสตร์ มศก)

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม (ภาควิชาประวัติศาสตร์สศิลปะ คณะโบราณคดี)

รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี)

ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ (ประธานศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิรศิลป์ แห่งองค์การรัฐมนตรีศึกษาประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะกรรมการมรดกโลกไทย๗

ผู้แทน ICOMOS ประจำประเทศไทย

ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช (ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี)

การเสวนาระหว่าง 16.00 - 18.00 น.
ถ้าว่าง เชิญไปร่วมฟัง ข้อเท็จจริง อีกด้านหนึ่งนะครับ





โดย: กุมภีน วันที่: 10 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:36:55 น.  

 
ส่วนเรื่องแผนที่
ก็ยังน่าสงสัยอยู่ดี
ทำไม เขมร ใช้แผนที่และแผนผัง หลาย scale จัง
ในการหารือกับไทยก็ใช้อีก scale นึง
แต่ที่เสนอขอขึ้นทะเบียนกลับไปใช้อีก scale นึง
ซึ่งถือเป็น scale ที่หยาบมากๆ (1:200,000)

แล้วยังเอาแผนทีที่ร่างโดยฝรั่งเศสเมื่อร่วม หนึ่งร้อยปีมาแล้ว มาอ้างอิง


โดย: กุมภีน วันที่: 10 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:39:51 น.  

 
โอ้ บล็อคนี้ร้อน


โดย: mungkood วันที่: 10 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:46:20 น.  

 
สวัสดีค่ะ ..

เรื่องนี้มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากมาก ..
และมองได้หลายมุมมองมากมากเช่นกัน ..
ทั้งหลายทั้งปวง .. เพราะคนไทยรักชาติ ..
แต่สิ่งสำคัญที่เราอย่าลืมนั่นคือ .. คนไทยต้องรักกันเองด้วย ..

เอาดอกไม้มาดับความร้อนซะหน่อยนะคะ






โดย: บ้านอุ่นรัก วันที่: 11 กรกฎาคม 2551 เวลา:13:08:19 น.  

 
ตอนนี้แบบว่าไม่อยากฟังเรื่องนี้เลยง่ะใจมันแกว่งๆ

ปล. พรุ่งนี้จะเป็นกินข้าวกับพี่หญิง จันทร์สวยแล้ว
พี่จะหม่ำเผื่อนะ


โดย: ณ มน วันที่: 12 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:32:01 น.  

 
# อาจารย์ กุมภีน...

ขอบคุณมากครับที่เสนอมุมมองอีกด้านหนึ่ง ซึ่งถือว่าน่าฟังมากครับ
ผมการก็วิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักวิชา ก็แสดงถึงทัศนะคติของการยอมรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย
เมื่อเปิดรับ ก็ย่อมรังฟังเหตุผลรอบด้าน

ซึ่งอาจารย์ ก็ได้ให้มุมมองใหม่ๆแก่ผมเช่นกันครับ
ก็ต้องขอขอบคุณจริงๆครับ

ประเด็นของบลอกนี้ ผมแค่ไม่ค่อยชอบใจ ฟอร์เวิร์ดเมลต่างๆ หรือข่าวสาร หรือการพูดจา ที่มันไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชามากกว่า
คือว่ากันตามความสะใจกกันอย่างเดียว
ซึ่งก็มาจากการที่ "เลือกข้าง" ไปแล้วนั่นเอง
เมื่อไรที่เลือกข้างก็ท่ากับผลักอีกฝ่ายไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม
ในรูปแบบ "ถ้าไม่ใช่มิตร ก็เป็นศัตรู" ที่เราก็เห็นๆกันอยู่ในขณะนี้แหละครับ

อย่างที่กล่าวไปว่า ผมไม่ได้เลือกข้าง ไม่ได้ด่าใคร วิจารณ์ใครเอาความสะใจ
แต่มาดูที่ข้อเท็จจริงเป็นหลักมากกว่าครับ

ที่ผมไม่ค่อยปลื้มก็คือประเด็นประสาทพระวิหารไม่น่าจะถูกโยงเข้ามา ให้เป็นเรื่องของการเมือง แทนที่จะมองว่า เป็นเรื่องของชาติไทยเรา เท่านั้นเอง

ข้อมูลที่ผมยกมานั้นก็เป็นข้อมุลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ 100% ก็ต้องพิจารณากันไป
ข้อมูลที่อาจารย์เสนอมาก็น่าสนใจ ซึ่งก็ต้องมาดูกันเป็นเรื่องๆไปเช่นกันครับ

ผมไม่คิดว่า จะเป็น "บลอกร้อน" นะครับ
แต่กลับมองว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดบนพื้นฐานการยอมรับในแต่ละฝ่ายครับ


#เจ๊มังคุด...
อะนะ ไม่ร้อนหรอกครับ ว่ากันด้วยเหตุด้วยผล


# คุณบ้านอุ่นรัก...
เห็นด้วยครับคนไทยต้องรักกันเองด้วย
อย่าเห็นว่าคนเห็นต่างเป็นคนต่างพวกครับ


# พี่ ณ มน...
หม่ำเผื่อ แล้วจะอิ่มมั้ยเนี่ย จะหม่ำจริงด้วย หุหุ



โดย: Nutty Professor วันที่: 12 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:57:04 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Nutty Professor
Location :
ปทุมธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Madagascar : The Island of Opportunity
[Add Nutty Professor's blog to your web]