คนเขียนหนังสือ ชีวิตเบิกบานในการงาน
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
11 มีนาคม 2553
 
All Blogs
 

ปาฐกถาพิเศษ ของประภัสสร เสวิกุล “มกราคม อำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกครับในการที่ปลาซิวปลาสร้อยจะพรรณนาถึงความอลังการของมหาสมุทร หรือนกปรอทจะบรรยายถึงความโอฬารของเวิ้งฟ้า และเป็นเรื่องยากขึ้นไปกว่านั้นเมื่อผมจะต้องพูดถึง รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งในความรู้สึกของผมนั้นยิ่งใหญ่มโหฬารเหนือท้องน้ำและน่านฟ้าแห่งบรรณภพไทย

ผมรู้จัก ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี เริ่มแรกของการรู้จักมาจากการเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนักเขียนที่ใช้นามปากกาแปลกจากนักเขียนคนอื่น ๆ ในยุคนั้น ถ้าถามต่อไปว่าเหตุใดผมจึงชอบงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ คงตอบด้วยสำนวนวัยรุ่นสมัยนี้ว่าเพราะ “โดนใจวัยโจ๋”

แต่ ใน พ.ศ.นั้น ก็ต้องตอบด้วยสำนวนออเหลนว่า “เข้าไส้”

อะไรคือ ออเหลน หลายคนอาจจะงง ๆ ออเหลน คือคำแสลงที่ใช้เรียกวัยรุ่นยุค พ.ศ.2500เศษ ๆ จากการที่นิยมแต่งกายด้วยกางเกงขาลีบ เสื้อเชิ้ตแนบตัว เมื่อประกอบกับรูปร่างที่ผอมแห้งแรงน้อยซึ่งเป็นพิมพ์นิยมในสมัยนั้น มองดูแล้วก็ชวนให้นึกถึงจิ้งเหลน จนมีคำเรียกว่าหนุ่มทรงจิ้งเหลน แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมถึงกลายเป็นออเหลนไปได้ ผมก็ยังนึกไม่ออก

มีคำที่คู่กับออเหลนอยู่คำหนึ่ง คือออหรี่ – ก็กะหรี่นั่นแหละครับ แต่ในสมัยก่อนคำว่ากะหรี่

ไม่มีนักเขียนคนไหนใช้ในภาษาเขียน หากเลี่ยงไปใช้คำว่าผู้หญิงหากินบ้าง ผู้หญิงคนชั่วบ้าง หรือไม่ก็ผู้หญิงโสเภณี เป็นต้น ที่โบราณหน่อยก็เรียกช็อกกะรี ซึ่งว่ากันว่ามาจากภาษาแขกกะลิงค์ ซึ่งหมายถึงเด็กสาว จนมีคำล้อกันว่า “เดินดี ๆ เป็นชีกะร๊อก เดินด๊อก ๆ เป็นช็อกกะรี” จากช็อกกะรีก็หดลงมาเหลือแค่กะรี และเป็นกะหรี่ในที่สุด

นักเขียนที่ใช้คำเรียกผู้หญิงหากินว่ากะหรี่อย่างเต็มปากเต็มคำ และเขียนถึงกะหรี่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นจริงเป็นจังเป็นครั้งแรก ก็คือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในนิยายเรื่อง “สนิมสร้อย” – มหากาพย์แห่งกะหรี่ ซึ่งผู้เขียนซึ่งเคยเป็น “ขาใหญ่” บางลำพู ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนถึงชีวิตของผู้คนในโตรกซอกของบางลำพูซึ่งเป็นย่านเริงรมย์ของกรุงเทพฯ ในเวลานั้นอย่างมีชีวิตอารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ

“สนิมสร้อย” เป็นงานระดับ master piece ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวของคนชั้นล่างสุดของสังคม อย่างโสเภณี แมงดา แม่แล้า และนักเที่ยวนานาพันธุ์ หากแต่ยังเป็นการปฏิรูปนวนิยายไทย ทั้งเนื้อหา รูปแบบ ตัวละคร และแนวคิด นอกเหนือจากการปลดล็อกภาษาไทยจากพจนานุกรม และขนบนิยม อันเป็นอัตตลักษณ์ที่โดดเด่นของ ‘รงค์ ทำให้เขาได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐจากผู้อ่าน

คำนำบางตอนของสำนักพิมพ์ผู้จัดพิมพ์ “สนิมสร้อย” ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2505 “ท่านผู้อ่านที่เคยอ่าน “หญิงคนชั่ว” ของ ก.สุรางคนางค์ มาแล้ว และภายหลังจากที่ได้อ่านเรื่อง “สนิมสร้อย” ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ท่านจะย่อมรู้สึกในทันทีว่า “สนิมสร้อยของ ‘รงค์ ได้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของชีวิตและทรรศนะของโสเภณีสองสมัยอย่างจะแจ้ง โสเภณีในสมัยของ ‘รงค์ หรือของเรานั้น มิได้กลายเป็นโสเภณีเพราะความผิดหวังหรือถูกล่อลวง แต่กลายเป็นโสเภณีด้วยความสมัครใจเพื่อจะเลี่ยงภาระอันหนักในการหาเลี้ยงชีพ...” และอีกย่อหน้าต่อมา “”ได้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์อยู่เนือง ๆ งานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น เป็นการเชิญชวนให้ผู้อ่านลองลิ้มรสของน้ำตาลที่เคลือบยาพิษ ในฐานะที่เป็นผู้พิมพ์เรื่องของเขา เราจึงขอชี้แจงว่าหนังสือที่ไม่มีลักษณะเป็นเรื่องอ่านเล่นสามัญ แต่มีลักษณะเป็นข้อวิจัยปัญหาสังคมอย่างหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นั้น ย่อมหลีกเลี่ยงความเป็นดาบสองคมได้ยาก และ “สนิมสร้อย” เล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน...” ซึ่ง‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเปิดเผยในภายหลังว่าผู้เขียนคำนำของสำนักพิมพ์บทนี้ ก็คือ พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นิราศจากเมืองไทยไปอยู่อเมริกาเสียหลายปี และกลับมาสร้างความฮือฮาด้วยคอลัมน์ “รำพึง รำพัน” ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ กับหนังสือชุด “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในนครแซน แฟรนซิสโก ยุคฮิปปี้หรือบุปผาชน - อาจินต์ ปัญจพรรค์ แห่งสำนักพิมพ์ “โอเลี้ยงห้าแก้ว” ผู้จัดพิมพ์ “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” เคยเล่าว่า ‘รงค์ เป็นผู้จัดหน้าและตรวจบรู๊ฟหนังสือชุดนี้ด้วยตนเอง ซึ่งแสดงถึงความรักและเอาใจใส่ในผลงานของตนเองเป็นอย่างยิ่งในทุกขั้นตอน และครั้งหนึ่ง ‘รงค์ ก็เคยทำหน้าที่ตรวจบรู๊ฟให้กับนิตยสารชาวกรุง และนามปากกายุคแรก ๆ นามหนึ่งของเขาคือ “บรูป บางกอก” ซึ่งคำว่าบรูป ก็มีที่มาจากบรู๊ฟนั่นเอง การเป็นคนตรวจบรู๊ฟโดยเฉพาะค่ายสยามรัฐในยุคนั้น ต้องมีความแม่นยำในภาษาและละเอียดลออเป็นอย่างมาก สละ ลิขิตกุล อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะผู้อำนวยการ เคยสั่งเผาหนังสือพิมพ์สยามรัฐทิ้ง เพราะใช้ราชาศัพท์ผิด

“ใต้ถุนป่าคอนกรีต” ขบวนแรก สร้างประวัติการณ์แก่วงการหนังสือไทย ด้วยจำนวนพิมพ์ 10,000 เล่ม ซึ่งหมดลงภายในเวลารวดเร็ว จนต้องพิมพ์ซ้ำอีก 2 ครั้ง ใน 3 เดือน และมีขบวนที่ 2ตามมาติด ๆ ส่วนขบวนที่ 3 และ 4 เว้นวรรคไปช่วงหนึ่งเพราะเขียนเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารก่อน

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนไว้ในคำนำ “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” ขบวนแรกว่า “แซน แฟรนซิสโก การไปถึงที่นั่นใน พ.ศ. 2506 นั้น ไม่ใช่เจตนาเพื่อจะเขียนใต้ถุนป่าคอนกรีต แต่หลังจากอยู่ที่นั่นนานจนจำกลิ่นของมันได้แม่นยำ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกละอายถ้าจะไม่เขียนหรือ--จะไม่พยายามตอบคำถามมากมายที่เบียดบดอยู่ในหัวใจ และที่หล่นจากริมฝีปากของผู้อื่น...”

นอกจากการสร้างปรากฏการณ์เรื่องการเขียนแล้ว ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในเรื่องการทำหนังสือ โดยสำนักพิมพ์ตราปลาตะเพียน ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม ได้สร้างรสนิยมวิไลแก่รูปลักษณ์ของพ๊อกก็ตบุ๊ค และนิตยสารเมืองไทย ทั้งรูปเล่ม การจัดหน้า ภาพปก ภาพประกอบ และที่เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากก็คือหนังสือในชุดเฟื่องนคร ที่ตั้งชื่อตามเดือนและห้อยท้ายด้วยวลีเก๋ ๆ เช่น กันยายน นลิน, พฤษภาคม อุไร เป็นต้น
ผมได้สัมผัสตัวเป็น ๆ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ในช่วงนี้แหละครับ หลังจากที่มีข้อเขียนชิ้นเล็ก ๆของผม 3-4 ชิ้นลงในคอลัมน์ “รำพึง รำพัน” และเรื่องสั้นเรื่องแรก “หอมดอกงิ้ว” ลงในหนังสือเฟื่องนครแล้ว ผมก็รวบรวมความกล้าโผล่ไปหา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่บ้าน...

บ้านเลขที่ 205 ซอยจันทนชาติ ถนนประชาชื่น ในเวลานั้น นอกจากเป็นที่พำนักของนักเขียนใหญ่อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้ว ยังเป็นสำนักของนักเขียนหนุ่มวัยละอ่อนกลุ่มหนึ่งและเป็นสถานที่ที่ผมแอบเรียกว่า ‘Rong College’ ศิษยานุศิษย์ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เท่าที่ผมคุ้นเคยและพอจะอ้างอิงได้ ก็มีคุณปั๋ง หรือปั๋ง คิกคาปู ซึ่งก็คือคุณเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ แห่งมติชนในปัจจุบัน,คุณศิริพงษ์ จันทน์หอม และคุณอดุลย์พันธุ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น ซึ่งท่านที่เอ่ยนามมานี้เป็นนักเรียนประจำหรือนักเรียนกินนอน ส่วนผมเป็นนักเรียนประเภทเช้าไปเย็นกลับ เว้นแต่บางคืนที่คุยกันดึกไปหน่อยจนรถเมล์หมดหรือเมาจนลุกไม่ขึ้นก็จะนอนค้างเสียที่นั่น

อาจารย์ใหญ่ ของ ‘Rong College’ ก็คือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งผมเรียกด้วยความเคารพว่า “พี่ปุ๊” มาตั้งแต่นั้น – พี่ปุ๊จะเริ่มเปิดชั้นเรียนก็ใกล้ ๆ เที่ยง หรือบ่ายอ่อน ๆ หลังจากเสร็จภารกิจและพิมพ์ต้นฉบับเรียบร้อยแล้ว ห้องเรียนของเราคือนอกชาน อุปกรณ์การเรียนคือเหล้า น้ำแข็ง โซดา และน้ำเปล่า ที่ลูกศิษย์จัดเตรียมไว้รอท่า

พอเริ่มดื่ม พี่ปุ๊ก็จะคุยเรื่องต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ทั้งข่าวคราวประจำวัน หนังสือ นักเขียน ศิลปะ สถานที่ต่าง ๆ ที่พี่ปุ๊เคยเดินทางท่องเที่ยว อาหารการกิน จนกระทั่งถึงการบ้านการเมือง ด้วยลีลาและสำนวนที่สนุกสนาน

พี่ปุ๊ไม่ได้สอนและไม่เคยสอนวิธีการเขียนหนังสือโดยตรง แต่มักจะเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างให้ฟังมากกว่า เช่นหากจะเขียนถึงความงามของผู้หญิงก็ไม่ได้ชมว่าหล่อนสวยตรงๆ แต่ใช้ว่า “ถ้าดอกไม้พูดได้ ก็คงจะชมว่าหล่อนสวย” ในทางตรงกันข้ามถ้าพูดถึงความน่าเกลียด ก็อาจจะใช้ว่า “หล่อนน่าเกลียดจนผีอยากจะลงหลุม” อะไรทำนองนี้

แต่สิ่งที่พี่ปุ๊ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือองค์ประกอบของเรื่อง อย่างเรื่องที่มีความยาวหรือพื้นที่ขนาดนี้ ควรจะมีคำบรรยายสักเท่าไหร่ และคำพูดในสัดส่วนเท่าไหร่ พี่ปุ๊พูดถึงการเขียนที่มีมิติ คือเรื่องจะต้องมีความลึก ความกว้าง แสง เงา ส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งผมคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะพี่ปุ๊นำหลักการและกลวิธีของการถ่ายภาพมาใช้ในงานเขียน จนเกิดรูปแบบในแง่มุมที่มีความลงตัวและงดงาม

ในเรื่องการใช้ภาษานั้น พี่ปุ๊พูดอยู่บ่อย ๆ ให้เขียนอย่างที่พูด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาษาพูดกับภาษาเขียนของพี่ปุ๊จะเป็นภาษาเดียวกัน และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาษาเขียนของพี่ปุ๊จะแตกต่างไปจากนักเขียนคนอื่น ๆ – บางคนอาจคิดว่าภาษาของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นการปั้นแต่งหรือจงใจทำให้เกิดความแหวกแนว แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องของจริตทางภาษา และแม้ว่าพี่ปุ๊จะเป็นผู้ชายที่มีจริต แต่จริตของพี่ปุ๊เป็นเรื่องสุจริต และไม่ได้ดัดจริต

ด้วยความเคารพ ผมขออนุญาตเปรียบเทียบสำนวนภาษาของพี่ปุ๊กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่พี่ปุ๊เคารพนับถือ – สำนวนภาษาของอาจารย์หม่อมก็เป็นสำนวนที่มีจริต แต่เป็นจริตชาววังขณะที่สำนวนของพี่ปุ๊เป็นจริตชาวบ้าน หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นจริตของโขน ทั้งในท่าที่แสดงความโกรธด้วยการกระทืบบาท หรือความรักด้วยการยกมือสองข้างทาบอก แต่พี่ปุ๊แสดงจริตแบบลิเก เช่นการป้องปาก หรือยักคิ้วหลิ่วตากับผู้ชม

อาจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เคยกล่าวว่า “ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ภาษาอย่างนักเลงภาษาจริง ๆ จะใช้คำที่เคยใช้ในสภาพต่ำสุด ในที่ที่สูงสุดก็ได้ จะใช้คำที่เคยใช้แต่โบราณในจังหวะที่เกี่ยวกับสมัยใหม่ที่สุดก็ได้” ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่พี่ปุ๊มีหน้าที่อ่านวรรณคดีไทยและเรื่องจีนให้ยายฟังในสมัยที่ยังเป็นเด็ก ประกอบกับการใช้ชีวิตในชนบทก่อนที่จะเข้ามาผจญภัยอย่างโชกโชนในกรุงเทพฯ และอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ฯ ก็เคยกล่าวว่า “ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนเรื่องให้ทั้งความจริง ความเศร้า และความได้รู้ได้เห็นในมุมชีวิตที่หลายคนมองผ่าน หลายคนอาจเห็นว่าเรื่องของเขามักอยู่ในประเภทคาบเส้นหรือล้ำเส้น อีกทั้งสำนวนก็ค่อนข้างเปลือย แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเขาเป็นนักเขียนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีวิวัฒนาการในตัวเอง”

แม้ว่าพี่ปุ๊จะเขียนเรื่องโลกีย์ แต่ก็มิใช่เป็นเรื่องประโลมโลกย์ หรือโลกียสุข หากแต่เป็นเรื่องราวของโลกียชน และโลกียธรรม ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าเรื่องของพี่ปุ๊ไม่ได้ทำให้คนอ่านเกิดความหื่น – ตัวละครของพี่ปุ๊ส่วนใหญ่จะเป็นคนแถวหลัง ๆ ในสังคม ที่มักจะไม่ค่อยมีใครมองเห็น และมีชีวิตที่ไม่ได้ปรุงแต่ง จึงทำให้ดูดิบไปบ้าง แต่งานเขียนของพี่ปุ๊เป็นการฉายไฟฉายเข้าไปในซอกมุมที่มืดมิดและสกปรกหมกเหม็นของสังคมที่มีฉากหน้าสวยงาม

งานเขียนของพี่ปุ๊ยังเป็นเสมือนเทอร์โมมิเตอร์ที่วัดอุณหภูมิความทุกข์-สุข ของคนในสังคมในระดับหนึ่ง พี่ปุ๊ไม่ใช่คนที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับสังคม หรือบุรุษเจ้าโทษะ (angry young / old man) แต่เป็นนักบันทึกสังคม และคนที่มีวิญญาณขบถอยู่ในตัวมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนถูกคัดชื่อออกเป็นคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ของโรงเรียนนั้น ความเป็นขบถของพี่ปุ๊แฝงอยู่ในงานหลาย ๆ ชิ้น จากคอลัมน์รำพึง รำพัน จนถึงนวนิยายอย่างผู้ดีน้ำครำ และรัฐมนตรีบรรลาย ฯ

ย้อนกลับมาที่ห้องเรียนของ ‘Rong College’ – นอกจากเรื่องหนังสือแล้ว พี่ปุ๊ยังแนะนำให้พวกเรารู้จักโลก รู้จักชีวิต และรู้จักศิลปะ ไปพร้อม ๆ กัน ผมรู้จักผลงานของนักเขียนและศิลปินแขนงต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศหลายต่อหลายคนก็จากพี่ปุ๊ ซึ่งผมคิดว่าพี่ปุ๊จะชื่นชมและยกย่องคนที่มีฝีไม้ลายมือมือและความคิดสร้างสรรค์ในสาขาของตนเสมอ - แม้ว่าในตอนนั้นจะมีคนค่อนนินทาพี่ปุ๊อยู่ไม่น้อย แต่พี่ปุ๊ก็ไม่เคยที่จะนินทาว่าร้ายใคร และที่สำคัญก็คือพี่ปุ๊ให้ความเคารพม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สุดหัวใจ ให้ความนับถือนักเขียนรุ่นพี่ อย่างคุณประมูล อุณหธูป และคุณมนัส จรรยงค์ โดยเสมอต้นเสมอปลาย ให้ความรักนักเขียนรุ่นเดียวกันเยี่ยงชายชาตินักเลง และให้ความเมตตาต่อนักเขียนรุ่นน้องรุ่นหลานมาโดยตลอด

พี่ปุ๊สอนกระทั่งเรื่องเหล้า เพราะพี่ปุ๊ถือว่าการกินเหล้าเป็นเรื่องรื่นรมย์ และพี่ปุ๊ก็ไม่เคยยอมให้เหล้ากินพี่ปุ๊ - พี่ปุ๊จะมีอารมณ์ดีเสมอเวลากินเหล้ากับพวกเรา และผมไม่เคยเห็นพี่ปุ๊เมาหรือแสดงอาการที่ผิดไปจากเวลาที่ไม่กินเหล้า ถ้าชักจะมึน ๆ หรือง่วงพี่ปุ๊ก็จะลุกไปเข้าห้องนอน ปล่อยพวกเราดื่มกินแลสรวลเสเฮฮากันตามสบาย

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งพี่ปุ๊สอนพวกเราอยู่ในทีด้วยการปฏิบัติตนให้เห็นเป็นตัวอย่างก็คือ การทำงานที่มีแผนงาน และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อให้มีงานมากมายหรือดื่มเหล้าพูดคุยกับพวกเราดึกดื่นเพียงไร พี่ปุ๊ก็จะต้องลุกมาเขียนหนังสือตามที่มีภาระผูกพันและกะการเอาไว้ล่วงหน้า

พี่ปุ๊เคยพูดว่าพี่ปุ๊เขียนเรื่องโดยไม่เคยมีพล๊อต แต่ผมคิดว่าข้อเขียนทุกชิ้นและเรื่องที่พี่ปุ๊เขียนทุกบททุกตอน นั้น มีความสมบูรณ์และความงดงามอยู่ในตัวของมันเอง เมื่อนำแต่ละชิ้นแต่ละบทมาร้อยเรียง จึงได้งานเขียนในลักษณะของระเบียงภาพอย่างลงตัว

ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่าพี่ปุ๊เป็นศิลปินเอกในระนาบเดียวกับชาร์ลี แชปปลิน ด้วยการเอาตัวเองเป็นเหยื่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ดูผู้อ่าน ขณะที่ชาร์ลี แชปปลิน มักจะสวมบทของผู้ถูกกระทำ คนซื้อที่เซ่อซ่า และน่าสงสาร พี่ปุ๊ก็จะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเขาเป็นคนปากร้าย ก้าวร้าว สัปโดกสัปดน และชมชอบเรื่องเชิงสังวาส แต่สิ่งที่แชปปลินและ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ต้องการนำเสนอก็คือการเป็นกระจกซึ่งสะท้อนเงาที่น่าสงสารและน่าชิงชังกว่าของสังคม อย่างเย้ยหยัน
แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดและการแสดงออกของ ชาร์ลี แชปปลิน และ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็คือความเป็นปุถุชนและนักมนุษยนิยมที่แท้จริง

ขอบคุณครับ.


ปาฐกถาพิเศษ ของประภัสสร เสวิกุล
ในโอกาสเปิดงาน “มกราคม อำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์”
ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553





 

Create Date : 11 มีนาคม 2553
12 comments
Last Update : 11 มีนาคม 2553 18:08:53 น.
Counter : 1904 Pageviews.

 

เอ้อ...จะเม้นท์ไรลืมเลย
เห็นไอ้ต้นไม้ที่กล่องบล็อกแล้วนึกอยากให้พี่ยายเด็ดยอดอ่อนมาทอดไข่ทุกทีเลย

 

โดย: ปลาย IP: 125.27.119.85 11 มีนาคม 2553 19:52:58 น.  

 

ปลาย
ตอนนี้แห้งเป็นสีนำ้ตาลทั้งต้นเลย

 

โดย: แพรจารุ IP: 112.142.127.171 11 มีนาคม 2553 21:06:04 น.  

 

ยอมมะรุมสด ๆ เอามากินกับตำมะม่วงก็เพิ่มความเอร็จ

ยอดมะรุมเอามาลวกจิ้มกะน้ำพริกอร่อยเหลือหลาย

ฝักมะรุม (บ่าค้อนก้อม) เอามาแกงใส่ปลาแห้ง ซดน้ำแกงอุ่น ๆ

เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

ว่าแต่ว่า ไอ้ต้นที่เห็นนั่นมันคือ "มะรุม" ใช่รึเปล่าเอ่ย

หวัดดีพี่ยายและฝากหวัดดีอ้ายหนอมด้วยครับ

 

โดย: ปะหล่อง IP: 58.137.30.201 15 มีนาคม 2553 12:22:24 น.  

 

พี่ยายขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ที่เอามาลงให้อ่าน ชอบมาก ๆ

พูดถึงความชอบคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ปอมชอบอ่านหนังสือของเขาตั้งแต่คำนำเลยค่ะ เรียกว่าอ่านทุกตัวอักษรที่คุณรงค์เขียนในหนังสือ พูดถึงเล่มที่ชอบนะคะ

 

โดย: ปอมปอมเกิร์ล IP: 67.169.157.131 31 มีนาคม 2553 6:19:21 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณแพรจารุ พอดีได้อ่านคอลัมน์ของคุณในกุลสตรี
เลยเข้ามาดูบล๊อคของคุณ

 

โดย: ญาดากุล IP: 118.172.186.28 31 มีนาคม 2553 8:28:18 น.  

 

สวัสดีค่ะพี่ยายแพรฯ
+-----------------------------------------+



ณ บ้านนอก(บล๊อกฯ) สาวฯ ตอนนี้มี "ดอกไม้โบราณ" มาโชว์ค่ะ
ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำตระกูลของสาวฯ อะคึ่ ๆ

เชิญมิตรรักฯ แวะไปชมได้จ๊ะ ไม่คิดตังค์
แต่ขอ... "คิดถึง" สม่ำเสมอค่ะ

 

โดย: สาวบ้านนอก ณ ขอนแก่น 1 เมษายน 2553 16:23:40 น.  

 

ขอบคุณครับที่ลงบทความดีดีให้อ่าน

 

โดย: wayoodeb 3 เมษายน 2553 16:56:34 น.  

 

มาชวนไป...เที่ยวงานประเพณีเครื่องเครือบพันปี อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์พี่แพรสบายดีนะครัrบ

 

โดย: ปฐพีหอม 12 เมษายน 2553 16:03:42 น.  

 

นีเป็นการเดินทางของความรัก ความบ้า ศรัทธา และปาฎิหารย์ ที่นำพา ปฐพีหอม ได้เดินทางมาเที่ยวชมเขาพนมรุ้ง
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีที่มีประเพณีขึ้นเขาและชมปรากฏการพระอาทิตยส่องลอดประตุ15ช่อง
แต่ปีนี้ทางจังหวัดบุรีรัย์ไม่ได้จัดให้มีงานขึ้นเขามีเพียงกิจกรรมอืนๆ เช่น แสดง แสง สี เสียง ขายสิค้าโอทอบ งานโฮบบายดินเนอ.....แต่ถึงยังไงท่ามกลางอากาศร้อนของเดือนเมษายนผมก็ขอนำภาพเขาพนมรุ้งมาฝากแฟนๆๆชาวบล็อกกันทุกคน...........สวัสดีครับ

 

โดย: ปฐพีหอม 3 พฤษภาคม 2553 17:21:39 น.  

 

ล่องลอย ลอยล่อง ลางลาง
แลลับ ลวงลวง ลางเลือน
โอ้ทะเลแสนงาม น้ำสดใส สดใส
มองเห็นดวงใจ จดจำ จำจากจำพราก ฝืนทน
ต้องห่างทะเลไปไกล.....

 

โดย: ปฐพีหอม 5 มิถุนายน 2553 16:44:41 น.  

 

มาทักทายสบายดีนะครับ

 

โดย: ปฐพีหอม 7 มิถุนายน 2553 14:29:27 น.  

 

มาฃวนคุณแพรไปดูการรีไซเคิลขยะที่บล็อกผมครับ เผื่อถูกนักกรีนพีช

 

โดย: ลุงบูลย์ (pantamuang ) 2 กรกฎาคม 2553 11:35:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แพรจารุ
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..
۞ บทกวีและเรื่องสั้น ถนอมไชยวงษ์แก้ว
อัพเดท

..
۞ จากกระท่อมทุ่งเสี้ยว โดยถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อัพเดท 17 ต.ค.51
http://www.youtube.com/watch?v=L21lhWsu8QQ&feature=related object width="315" height="80">
หา โค้ดเพลงhi5 : hi5 song code search
Friends' blogs
[Add แพรจารุ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.