ทำทุกวันให้มีค่าแล้วชีวิตจะมีแต่ได้กับเสมอตัว~ (・Ω・)ノ(ノω-ヾ) (ゝω´・)b U,,・ω・) ( 'Θ')
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
9 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
.....~~บทบาทของรัสเซียในเอเชียตะวันออกและโอกาสสำหรับประเทศไทย~~.....

วันนี้ขออนุญาตยกบทความของคุณภราดรมาลงบล๊อกนะคะ บทความนี้เผยแพร่ทางอินเตอร์เนต เจ้าของบล๊อกมีโอกาสได้อ่าน คิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่สนใจด้านการเมืองค่ะ

บทบาทของรัสเซียในเอเชียตะวันออกและโอกาสสำหรับประเทศไทย
นายภราดร รังสิมาภรณ์ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548 กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก D.Phil International Relations ที่ St. Antony’s College, University of Oxford

หากกล่าวถึงทัศนคติต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตของประชาชนคนไทยแล้ว จะพบว่าทัศนคติต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตของคนไทย มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันตามช่วงอายุและประสบการณ์ที่มีต่อประเทศมหาอำนาจนี้ หากถามถึง “สหภาพโซเวียต” กับเด็กรุ่นใหม่คำตอบที่ได้รับมาอาจมีความฉงนปนไม่แน่ใจว่า “สหภาพโซเวียต” ที่หมายถึงคือ “รัสเซีย” ประเทศขนาดใหญ่ที่มีอาณาเขตอยู่ทั้งในดินแดนยุโรปและเอเชียหรือไม่ ในขณะที่ทัศนคติต่อคำถามเดียวกันต่อบุคคลยุคหลังนั้นอาจแตกต่าง เพราะสหภาพโซเวียตในห้วงคำนึงยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจ ดินแดนแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ขั้วอำนาจทางการเมืองโลก ฯลฯ ที่ยังอยู่ในความทรงจำ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มี “สหภาพโซเวียต” เช่นในอดีตแต่เราไม่สามารถละเลยการทำความเข้าใจต่อประเทศอันเป็นมหาอำนาจของโลกนี้ได้

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงและสหภาพโซเวียตล่มสลายในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๔ สถานะประเทศอภิมหาอำนาจของรัสเซีย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากกลายเป็นประเทศที่สูญเสียทั้งดินแดน และสถานภาพทางทหาร ที่เคยน่าเกรงขามรวมทั้งประสบปัญหาภายในทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและความมั่นคงโดยเฉพาะจากปัญหากบฏแบ่งแยกดินแดนเชชเนีย (Chechnya)

การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของรัสเซียเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกอร์บาชอฟ (Gorbachev) เป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ได้นำไปสู่การลดบทบาทของรัสเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทในเอเชียตะวันออกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

บทความนี้ต้องการนำเสนอ ๑) วิเคราะห์แนวคิดและมุมมองของกลุ่มผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย (Russian Foreign Policy Elite) ในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก ๒) วิเคราะห์บทบาทของรัสเซียในภูมิภาคนี้ในมิติการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ๓) วิเคราะห์บทบาทและศักยภาพของรัสเซียสำหรับผลประโยชน์ของประเทศไทย

) วิเคราะห์แนวคิดและมุมมองของกลุ่มผู้นำด้านนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย (Russian Foreign Policy Elite)

ถึงแม้สหภาพโซเวียตได้ล่มสลายไปแล้วแต่แนวคิดแบบโซเวียต (Soviet Mentality) ยังมีให้เห็นในสารบบความคิดของชนชั้นนำด้านนโยบายต่างประเทศกลุ่มต่างๆของรัสเซียโดยเฉพาะในรัฐสภาทั้ง ๒ สภา (State Duma and Federation Council) และในกองทัพรัสเซียรวมไปถึงกระทรวงกลาโหม แนวคิดดังกล่าวที่มีผลกระทบต่อบทบาทรัสเซียในเอเชียตะวันออกมีอยู่ ๒ ประการ

๑.๑) การให้ความสำคัญโลกตะวันตกเป็นหลัก (Western-centric) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกามีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายเอเชียตะวันออกของรัสเซีย ตัวอย่างที่เห็นได้ค่อนข้างชัดคือความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนซึ่งมีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมากผิดแผกจากสมัยโซเวียต แต่ความสำคัญของจีนต่อรัสเซียนั้นขึ้นอยู่กับสถานภาพความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกาเป็นหลัก เมื่อรัสเซียมีปัญหากับอเมริกาอย่างเช่นในเรื่องการขยายตัวของ NATO ในยุโรปตะวันออก การโจมตีทิ้งระเบิดเซอร์เบียในวิกฤติโคโซโว การถอนตัวของอเมริกาจากสนธิสัญญา ABM (Anti-Ballistic Missile Treaty) และการประกาศสร้างระบบต่อต้านขีปนาวุธพิสัยกลางและไกลในระดับประเทศ NMD (National Missile Defence) และยุทธภูมิ TMD (Theatre Missile Defence) ซึ่งร่วมมือสร้างกับญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออก ความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนจะถูกยกยอสรรเสริญพัฒนาขึ้นเป็นแบบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และทวีความร่วมมือทางด้านการทหาร อาวุธยุทธโธปกรณ์ และวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันรัสเซียและจีนได้ประกาศร่วมกันสนับสนุนโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ (Multi-polar World) และประณามการกระทำของอเมริกาที่มีแนวโน้มปฎิบัติตามอำเภอใจ (Unilateralist Action) โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์รอบข้างหรือแม้แต่จากสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์ของทางการรัสเซียและจีนต่างได้เน้นว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้เพ่งเล็งอเมริกาเป็นศัตรูแต่อย่างไร

๑.๒) ความเป็นประเทศยูเรเซีย (Eurasianism) การที่ประเทศรัสเซียในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) มีพื้นที่ใหญ่ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชียและยุโรปได้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างสนับสนุนในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสู่หลายทิศ (multi-vectored policy) ทั้งสู่โลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการภายใต้ทั้งรัฐบาลเยลต์ซิน (Yeltsin) และ ปูติน (Putin) ขณะเดียวกันการที่ ๒ ใน ๓ ของพื้นที่ประเทศรัสเซียหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายอยู่ในเอเชียนั้น พบว่าการมีพรมแดนยาวติดกับประเทศจีน เกาหลีเหนือและมีปัญหาพรมแดนที่ยังยุติมิได้กับประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการสูญเสียท่าเรือที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในยุโรปต่างเป็นเหตุผลที่รัสเซียใช้สนับสนุนการเพิ่มบทบาทของตนเองในทวีปนี้ อย่างเช่นในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ รัสเซียได้เน้นมาตลอดว่าตนมีสิทธิอันสมควรที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงอันใดก็ตามระหว่างอเมริกาและเกาหลีเหนือ เพราะถ้ามีสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้นภาคตะวันออกไกลของรัสเซียจะได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าถึงแม้ทั้ง ๒ แนวคิดนี้อาจดูขัดกันบ้างแต่พื้นฐานความคิดนั้นอาจกล่าวได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือมรดกแนวคิดจากสมัยโซเวียตว่ารัสเซียยังคงสถานะเป็นประเทศมหาอำนาจ (Great Power Status) และมีสิทธิสมควรได้รับความเคารพและการถือปฎิบัติที่เท่าเทียมกันจากสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ นอกจากนั้นรัสเซียยังคงเป็นหนึ่งในผู้ถือสิทธิยับยั้ง (veto) ในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือครองแสนยานุภาพนิวเคลียร์ที่ยังคงน่าเกรงขาม ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่รัสเซีย นำมาใช้อ้างสิทธิความเป็นประเทศมหาอำนาจ อันสมควรที่จะได้รับความเคารพ และมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีการเมืองโลก ให้สอดคล้องกับสถานะความยิ่งใหญ่ของตนเอง

การดำเนินนโยบายตามแนวคิดดังกล่าวเห็นได้ชัดที่สุดในสมัยที่ เยฟเกนี พรีมาคอฟ (Yevgeniy Primakov) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๑) และนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๒) โดยที่นโยบายต่างประเทศในช่วงนั้นได้ถอยห่างจากนโยบายที่เน้นการปฎิบัติตามโลกตะวันตกภายใต้การนำของโคซึรอฟ (Andrei Kozyrev) รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนที่ยึดแนวคิดเอียงตะวันตก (Westerniser) ซึ่งสำหรับคนรัสเซียส่วนใหญ่ถือว่าเป็นนโยบายที่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน พรีมาคอฟได้ดำเนินนโยบายเน้นความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก อาทิเช่น อิหร่าน อินเดีย และจีน เพื่อถ่วงดุลอำนาจสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก

ทั้งนี้ถึงแม้นโยบายต่างประเทศรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีปูตินดูเสมือนจะให้ความร่วมมืออเมริกาดีขึ้น โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ที่ปูตินยอมให้กองทัพอเมริกาใช้ประเทศในเอเชียกลาง (ภูมิภาคที่ซึ่งอยู่ในวงโคจรอิทธิพลรัสเซียมาช้านาน) เป็นฐานในการโจมตีอัฟกานิสถานนั้น ปูตินยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เน้นการสร้างประเทศรัสเซียให้กลับมามีอำนาจต่อรองในเวทีการเมืองโลกอีกครั้ง โดยมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งขึ้น

นโยบายดังกล่าวในเอเชียตะวันออก จึงมุ่งไปสู่การเจริญสัมพันธไมตรีกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์เป็นหลัก เนื่องจากว่ารัสเซียเล็งเห็นศักยภาพภูมิภาคนี้ที่จะเป็นตลาดรองรับอาวุธยุทธโธปกรณ์ เทคโนโลยีและพลังงานของรัสเซีย ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการรวมเศรษฐกิจของรัสเซียให้เป็นหนึ่งเดียวกับเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ซึ่งกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

๒) วิเคราะห์บทบาทของรัสเซียในภูมิภาคนี้ในมิติการเมือง ความมั่นคง

และเศรษฐกิจ

บทบาทจริงของรัสเซียในเอเชียตะวันออกอาจกล่าวได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าสำคัญต่างๆ ที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่มของการสถาปนาสหพันธรัฐรัสเซียนั้น บทบาท และอิทธิพลของรัสเซีย ในภูมิภาคนี้ได้ลดลงมาก สืบเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของรัสเซียในช่วงนี้ซึ่งมีผลบีบบังคับให้รัสเซีย ลดกำลังทหารลงในภาคตะวันออกไกล บริเวณชายแดนประเทศจีนเป็นหลัก ถึงแม้ว่าการลดอิทธิพลและบทบาทการทหารของรัสเซียนี้ มาจากความต้องการที่จะนำทรัพยากรเชิงเศรษฐกิจจากภาคทหาร ไปใช้ในภาคประชาชนให้มากขึ้น การลดกำลังทหารดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองนโยบายเอเชียตะวันออกของรัสเซียในเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง กล่าวคือเป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures) กับประเทศจีนเป็นหลักอันเป็นนโยบายสืบเนื่องตั้งแต่สมัยโซเวียตภายใต้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ

๒.๑) การปลูกสัมพันธไมตรีและความไว้วางใจกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบายความมั่นคงรัสเซียในภูมิภาคนี้ ถึงแม้รัสเซียได้ประสบความสำเร็จในด้านนี้อย่างมากกับจีน ดังที่เห็นจากการเซ็นสนธิสัญญามิตรภาพใน พ.ศ. ๒๕๔๔ (Treaty of Friendship and Good-neighbourliness) และความสำเร็จในการแบ่งเขตแดนกับจีนอันยาวถึงประมาณ ๔๒๐๐ กิโลเมตร ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการแบ่งเขตแดน ๓ บริเวณสุดท้ายที่ยังค้างอยู่ในการเยือนกรุงปักกิ่งของปูตินเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗นั้น ชนชั้นนำด้านนโยบายต่างประเทศรัสเซียบางกลุ่มยังคงมองจีนว่าน่าสงสัยและอาจกลายเป็นศัตรูได้ในอนาคต โดยเฉพาะการที่อำนาจและอิทธิพลสัมพัทธ์ของจีนมากกว่ารัสเซียหลายเท่าทำให้จีนดูน่าเกรงขามเป็นพิเศษ นอกจากนั้นรัสเซียยังไม่ประสบความสำเร็จในการเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นที่สืบเนื่องตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากยังติดปัญหาหมู่เกาะคูริลส์ (Kurilles) ที่ญี่ปุ่นต้องการทั้งหมดคืนจากรัสเซีย สำหรับอิทธิพลรัสเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็ลดลงไปมากจากสมัยสงครามเย็น ดังเห็นได้จากการที่ปูตินสั่งถอนรัสเซียจากฐานทัพในอ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh Bay) ประเทศเวียตนาม

อย่างไรก็ตามรัสเซียในสมัยเยลต์ซินและปูตินได้พยายามอย่างมากที่จะเพิ่มบทบาทและอิทธิพลตนเองในภูมิภาคนี้โดยใช้ต้นทุนสัมพัทธ์อย่างต่ำ กล่าวคือพยายามเข้าร่วมองค์กรภูมิภาคต่างๆ ทั้งในมิติด้านความมั่นคง (ASEAN Regional Forum - ARF) และด้านเศรษฐกิจ (APEC) เพื่อที่ตนเองจะได้มีบทบาทและสิทธิ์ในการออกเสียงในองค์กรต่างกล่าว อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่รัสเซีย วิ่งเต้นเข้ามีส่วนร่วมในการเจรจาตกลง กรณีวิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และไม่พอใจอย่างยิ่ง ที่ตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาข้อตกลงโครงสร้าง (Framework Agreement) ระหว่างเกาหลีเหนือกับอเมริกา ในพ.ศ. ๒๕๓๗ ฉะนั้นรัสเซียเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่จะให้มีการเจรจากรณีเกาหลีเหนือแบบพหุภาคีระหว่าง ๖ ประเทศเพื่อที่ตนเองจะได้มีส่วนร่วมในการเจรจาโดยตรง

๒.๒) ในเชิงเศรษฐกิจนั้น ระดับบูรณาการของรัสเซียในเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ถึงแม้รัสเซียเองแสดงความจำนงมาโดยตลอดว่าต้องการที่จะนำเศรษฐกิจของตน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกไกล เข้ามีส่วนร่วมผสมผสานในเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้ จากข้อมูลสถาบันเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IMEMO) ณ กรุงมอสโคว์ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๐ - ๑๙๙๙) รัสเซียทำการค้าขายกับประเทศเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ ๑๘ – ๒๒ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือแค่หนึ่งในห้าของมูลค่าการค้าขายทั้งหมดของรัสเซีย ส่วนของรัสเซียในปริมาณการค้าขายในภูมิภาคนี้ทั้งหมดต่ำกว่า ๑% มาตลอดทศวรรษดังกล่าว แม้กระทั่งการค้าขายกับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญสุดของรัสเซียในภูมิภาคนี้ ยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะต้องถึง ๒๐ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยมูลค่าการค้าขายจริงในปีนั้นถึงแค่ ๘ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ตัวเลขยังคงต่ำกว่าเป้าดังกล่าวโดยมีมูลค่า ๑๕.๗๖ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ) สำหรับทั้งจีนและรัสเซียนั้นต่างเห็นว่าอเมริกายังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของตนเอง ส่วนมูลค่าการค้าขายทั้งหมดของรัสเซียกับประเทศเอเชียตะวันออกอื่นก็ยังคงต่ำอยู่มาก อาทิเช่นกับกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเท่ากับประมาณแค่ ๑.๓๖% ของมูลค่าการค้าขายทั้งหมดของอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ในขณะเดียวกันส่วนของอาเซียนในมูลค่าการค้าขายทั้งหมดของรัสเซียก็แค่ประมาณ ๓% รัสเซียจึงเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียน (ASEAN Dialogue Partner) ที่มีส่วนของการค้าขายทั้งหมดกับประเทศกลุ่มนี้ที่ต่ำที่สุดมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามรัฐบาลปูตินได้ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดภูมิภาคนี้ และได้ดำเนินนโยบายที่พยายามบูรณาการเศรษฐกิจภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ในเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มบทบาทเศรษฐกิจและอิทธิพลตนเองโดยเน้นผ่านโครงการใหญ่ๆ ๒ โครงการ อันแรกคือการใช้ระบบขนส่งทางรถไฟข้ามไซบีเรียของรัสเซีย (Trans-Siberian Railway) ใ้ห้เป็นสะพานเชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออก (East-West Bridge) ขนส่งสินค้าจากเอเชียสู่ยุโรปผ่านรัสเซีย ซึ่งเล็งเห็นว่าจะสามารถทำได้รวดเร็วกว่า การขนส่งทางเรือที่ใช้ในปัจจุบันผ่านแอฟริกาประมาณ ๓ เท่า นอกจากนั้นปูตินได้สนับสนุนการสร้างทางรถไฟข้ามเกาหลีเหนือและใต้ (Trans-Korean Railway) ให้เชื่อมกับสายทรานซ์ไซบีเรีย เพื่อขนส่งสินค้าจากเอเชียด้วยค่าใช้จ่ายต่ำและรวดเร็วและเป็นวิธีการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองเกาหลีอีกด้วย

โครงการที่สองคือการบูรณาการทางเศรษฐกิจโดยการสร้างระบบเครือข่ายพลังงานในภูมิภาคนี้โดยให้รัสเซีย ซึ่งมีทรัพยากรพลังงานในแคว้นไซบีเรียและตะวันออกไกลเป็นจำนวนมาก (คาดคะเนว่าเพียงแค่ในแคว้นตะวันออกไกล มีศักยภาพก๊าซธรรมชาติประมาณ ๒๓.๗ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมันดิบประมาณ ๙ พันล้านตัน ในขณะยังมีแหล่งทรัพยากรดังกล่าวในแคว้นไซบีเรียอีกจำนวนมาก) เป็นผู้ขายและส่งพลังงาน (energy supplier) ให้กับประเทศเอเชียตะวันออกที่ต่างมีความต้องการพลังงานเป็นอย่างสูง และต้องการทดแทนแหล่งพลังงานเดิมจากตะวันออกกลาง เนื่องจากความไม่มั่นคงในภูมิภาคนั้น ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Centre) ได้คาดคะเนปริมาณการบริโภคพลังงานทั้งหมดใน พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่อเทียบกับ พ.ศ. ๒๕๓๘ ว่าจะเพิ่มขึ้น ๗๕% สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๖๙% สำหรับจีน และ ๓๙% สำหรับประเทศที่เหลือในภูมิภาคนี้ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าศักยภาพที่รัสเซียจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานมีสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากความไม่มั่นคงของการลงทุนในตลาดพลังงานรัสเซียนั้น บวกกับปัญหาการแบ่งอำนาจ และกำไรในอุตสาหกรรมพลังงานระหว่างภาครัฐบาล และเอกชน ดังที่เห็นได้ชัดจากกรณีบริษัทน้ำมัน Yukos ที่ถูกรัฐบาลปูตินโจมตีอย่างหนักอันมีผลกระทบต่อการตัดสินใจแบบลังเลในการสร้างท่อส่งน้ำมันจากแหล่งอันการ์ส (Angarsk) ในรัสเซียไปสู่ไมดาซิน (Daqing) ในจีน (ซึ่ง Yukos และรัฐบาลจีนเป็นผู้สนับสนุนหลัก) ก็ท่าเรือนาคอดก้า (Nakhodka) ในรัสเซียเพื่อส่งออกไปประเทศอื่นๆ ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก (ซึ่งญี่ปุ่นสนับสนุนและเสมือนว่ารัฐบาลรัสเซียเองจะเห็นชอบกับสายนี้มากกว่าด้วย) ต่างเป็นเหตุผลที่ยังคงบั่นทอนศักยภาพบทบาทรัสเซียในตลาดพลังงานเอเชียตะวันออก

๓) ประเทศไทยมีผลประโยชน์โดยตรง ในการที่รัสเซียจะมีบทบาทอันสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือแม้กระทั่งในเวทีโลกในมิติความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ



๓.๑) ในระดับเบื้องต้นนั้นประเทศไทยมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากลักษณะประเทศที่รัสเซียพัฒนาไปสู่ (หรือถอยหลังลง) ในช่วงเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงจากระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปสู่ระบบทุนนิยมกึ่งประชาธิปไตย (Early transition period) กล่าวคือถ้ากระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในล้มเหลวลง มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่รัสเซียจะกลายเป็นประเทศที่แตกแยก มีสงครามกลางเมืองอุบัติขึ้นอันนำพาไปสู่ประเทศที่มีสถานะล้มเหลว (Failed State) ซึ่งสามารถคุกคามเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะหากว่ารัฐบาลรัสเซียไม่สามารถควบคุมคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองนั้นอาจนำไปสู่ปฏิบัติการณ์ก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Terrorism) และการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Proliferation) เพิ่มขึ้น

ฉะนั้นประเทศไทยมีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงโดยตรง ที่จะช่วยให้รัสเซีย ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง และเศรษฐกิจด้วยความสันติอันนำซึ่งไปสู่เสถียรภาพ และความมั่นคง ดังนั้นประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกควรสนับสนุนรัสเซีย ให้มีบทบาทและส่วนเกี่ยวข้องในด้านความมั่นคงภูมิภาคนี้โดยตรง แทนที่จะปล่อยรัสเซียให้รู้สึกโดดเดี่ยวและเสมือนว่า มีภัยคุกคามตนเองรอบด้านอันอาจทำให้เกิดความระแวง และดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่า รัสเซีย ประสบความสำเร็จถึงขีดหนึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าระบบการเมืองภายใต้ปูตินนั้น ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นระบบประชาธิปไตยเต็มตัว แต่อย่างน้อยระบบดังกล่าวดูเสมือนว่า มีเสถียรภาพมากกว่าในยุคเยลต์ซิน รัสเซียเองก็มีบทบาทที่สร้างสรรค์มากขึ้นในภูมิภาค อาทิเช่นให้การสนับสนุนสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear-Weapons Free Zone Treaty) และการริเริ่มร่วมกับประเทศกลุ่มอาเซียนร่างข้อบังคับพฤติกรรม (Code of Conduct) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในกรอบของ ARF เพื่อเป็นมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐและการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) แถลงการณ์ดังกล่าวมีนามว่า ข้อตกลงการปรองดองกันด้วยสันติวิธี (‘Pacific Concord’)

๓.๒) นัยยะการเมือง ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีมาช้านานตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงเห็นว่า รัสเซียสามารถช่วยเหลือสยามประเทศได้จากภัยล่าอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ทางการทูตได้หยุดชะงักลงชั่วคราวหลังจากปฏิวัติบอลเชวิกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ และไทยไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๔ ประเทศไทยได้ให้การยอมรับสหพันธ์รัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย มีผลประโยชน์ในด้านการเมืองมากสำหรับประเทศไทย นอกจากว่าทั้งสองประเทศไม่มีปัญหาขัดแย้งกันแล้ว ทั้งสองยังเห็นชอบร่วมกันในหลายเรื่อง อาทิเช่นการให้บทบาทหลักกับสหประชาชาติในการแก้ไขปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศและภายในประเทศในเชิงแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Intervention) และมีจุดยืนในการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติที่ตรงกัน ดังเห็นได้จากแถลงการณ์ร่วมไทย-รัสเซียระหว่างการเยือนกรุงมอสโคว์ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. ๒๕๔๕ นอกจากนั้นรัสเซียก็ได้ให้การสนับสนุนและสนใจในการเจรจาเพื่อความร่วมมือในเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) ซึ่งรัฐบาลทักษิณเป็นผู้ริเริ่ม



ในขณะเดียวกัน ไทยยังสามารถได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองจากความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียทั้งในระดับทวิภาคี และในกรอบของอาเซียน ในลักษณะการขยายความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจให้หลากหลาย (Diversify Relations) ซึ่งจะช่วยสร้างความคล่องตัวในการทูตของตน (Flexible Diplomacy) และหลีกเลี่ยงการฝักใฝ่กับประเทศมหาอำนาจหนึ่งใด จนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือจีน อันอาจนำไปสู่การบั่นทอนผลประโยชน์ของชาติโดยใช่เหตุ อย่างในการรับรัสเซียให้เป็นสมาชิก ARF ในพ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น หนึ่งในเหตุผลหลักที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย ให้การสนับสนุนรัสเซีย ก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจที่กำลังทวีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของจีนและอเมริกาในองค์กรดังกล่าว

๓.๓) ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจสำหรับไทยมีศักยภาพที่เห็นได้ชัดเจนสุด ถึงแม้ว่าระดับความร่วมมือจริง ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียสูงสุดในพ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมีมูลค่าถึง ๑๖๗๐.๗ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่ได้ลดลงอย่างมากภายหลังวิกฤติด้านการเงินในพ.ศ. ๒๕๔๐ ขณะนี้ต่างฝ่ายมีความหวังว่ามูลค่าการค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึงขีดสูงสุดก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งพอมีความเป็นไปได้เพราะว่ามูลค่าการค้าปีพ.ศ. ๒๕๔๗ มีค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านดอลล่าร์สหรัฐแล้ว สินค้าส่งออกไทยแก่รัสเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น น้ำตาลทราย ยางพารา ข้าว ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมประกอบด้วยเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นต้น ส่วนสินค้าส่งออกของรัสเซียนั้น ประกอบด้วยเหล็ก เหล็กกล้า ปุ๋ย แร่ธาตุดิบ และผลิตภัณฑ์เคมี การลงทุนของรัสเซียในไทยและของไทยในรัสเซียก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำและไม่น่าพอใจเนื่องจากภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ต่างขาดความรู้ความเข้าใจในโอกาสการค้าขายของซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะบริษัทไทยนั้นขาดข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการค้าขายในตลาดใหม่อย่างรัสเซียเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยอย่างเช่นเสื้อผ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือแม้แต่ว่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) น่าจะได้รับความสนใจจากตลาดรัสเซียเพราะต้นทุนต่ำและคุณภาพดี

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัญหามาจากความไม่มีเสถียรภาพในตลาดรัสเซียด้วย ประกอบกับอุปสรรค จากระบบภาษีที่ซ้ำซ้อน ปัญหาทุจริตและกฎระเบียบอันสลับซับซ้อน ทำให้นักธุรกิจไทยไม่กล้าเสี่ยงลงทุนมากนัก ถึงกระนั้นรัฐบาลปูตินได้พยายามปฏิรูประบบภาษี และจัดระเบียบกฎกติกาต่างๆ ให้อำนวยแก่การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น ยกเว้นแต่ในอุตสาหกรรมพลังงานที่ยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซียในระดับรัฐนั้นดำเนินการผ่านคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Joint Cooperation Committee) ในกรอบของอาเซียนด้วยซึ่งมีการประชุมระดับอธิบดีทุก ๒ ปี และประกอบด้วยคณะทำงานด้านเศรษฐกิจกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีกองทุนความร่วมมืออาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Cooperation Fund) ให้การสนับสนุน ในขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกัน แบบทวิภาคีโดยได้มีการก่อตั้งสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย (Thai-Russia Business Council) ในพ.ศ. ๒๕๓๖ ซึ่งกลายเป็นสมาคมการค้าขายไทย-รัสเซีย (Thai-Russian Trade Association) ในพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอำนวยความร่วมมือในภาคเอกชน ถึงกระนั้นความร่วมมือด้านนี้ คงจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตราบใดที่ความรับรู้ต่อรัสเซีย และความสนใจในประเทศนั้นยังจำกัดและต่ำเกินควรทั้งในภาครัฐ เอกชน และวิชาการ

ส่วนศักยภาพของการร่วมมือกันนั้นรัสเซียเองก็มีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทย ในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเบา อย่างเช่นผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ (มีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมาปีละประมาณ ๘๕,๐๐๐ คน) ด้านพลังงาน และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ร่วมทั้งด้านการทหารอันรวมไปถึงการฝึก และแลกเปลี่ยนนายทหาร ในช่วงเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รมว. การต่างประเทศรัสเซียคนใหม่ นายเซรเก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) ได้เอ่ยว่าการตั้งศูนย์บริการสำหรับอาวุธยุทธโธปกรณ์รัสเซีย และการให้ลิขสิทธิ์การผลิตสำหรับประเทศไทย ก็เป็นเรื่องควรแก่การพิจารณา ไทยเองนั้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสนใจด้านการค้าขายกับรัสเซียเพิ่มขึ้น โดยเมื่อปีที่แล้วทางการไทยได้เสนอแลกเปลี่ยนสินค้าไก่เพื่อเครื่องบินรบ Su-30 ของรัสเซีย และเสนอให้รัสเซียชดใช้หนี้ข้าวเดิมที่ติดตั้งแต่สมัยโซเวียตเป็นมูลค่า ๓๖ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ด้วยการให้เทคโนโลยีดาวเทียมของตน นอกจากนั้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ประกาศความตั้งใจที่จะขยายการค้ากับรัสเซียให้มากขึ้นโดยเล็งเห็นว่า รัสเซียสามารถเป็นประตูสู่ตลาดใหม่ ในกลุ่มประเทศประชาคมรัฐอิสระ (Commonwealth of Independent States - CIS) ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตามความร่วมมือดังกล่าวยังจำกัดเกินไป รัฐบาลไทยควรวางแผนความร่วมมือระยะยาว กับรัสเซีย อันจะส่งผลที่ยั่งยืนกว่านี้ อาทิเช่นในการร่วมมือทางด้านพลังงานโดยการร่วมลงทุน กับรัสเซียในการขุดเจาะ และผลิตพลังงานก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันซึ่งไทยจะได้รับผลประโยชน์โดยตรง และเป็นการหาแหล่งพลังงานชดเชยเพื่อลดการพึ่งพาตะวันออกกลางที่ไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความร่วมมือนั้นอาจกระทำได้ในกรอบของอาเซียนด้วยเพื่อเป็นการแบ่งความเสี่ยง (Risk-sharing) และเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัสเซีย ขณะนี้ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้แสดงความจำนงที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานรัสเซียแล้ว ในขณะที่รัสเซียเอง ได้แสดงความต้องการที่จะให้ประเทศอาเซียน รวมทั้งไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดพลังงานของตน นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยที่จะดำเนินการเกี่ยวพันในเชิงรุกกับรัสเซีย (Forward Engagement) อันเป็นนโยบายต่างประเทศหลักของรัฐบาลชุดนี้ และกระชับแน่นความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติไม่เพียงแค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมไปถึงมิติด้านการเมืองและความมั่นคงในระยะยาว

ประวัติการศึกษาย่อ นายภราดร รังสิมาภรณ์

- BA (Hons) Philosophy Politics and Economics, St. Peter’s College, University of Oxford.

- M.Phil Russian and East European Studies, St. Antony’s College, University of Oxford.

- กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก D.Phil International Relations ที่ St. Antony’s College, University of Oxford ด้วยทุนจากกระทรวงการต่างประเทศ กำลังเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องนโยบายต่างประเทศรัสเซียต่อเอเชียตะวันออก (ค.ศ.1996–2003).





Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 3:25:50 น. 2 comments
Counter : 1811 Pageviews.

 
ขอแอดบล๊อกของคุณ ลงในเฟรนด์บล๊อกนะครับ เผื่อจะมีเรื่องน่าสนใจมาลงให้อ่านอีก

ขอบคุณมากๆครับ


โดย: BrettAnderson (BrettAnderson ) วันที่: 9 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:09:06 น.  

 
very nice ka.


โดย: p.masakul IP: 124.120.154.161 วันที่: 24 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:27:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PPpIRCU
Location :
LonDoN~ United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




LSEist '11

( ^^)爻(^^ )

~ขอสงวนลิขสิทธิ์ในภาพถ่ายและบทความทุกชิ้น~
Piang Phanprasit

Créez votre badge
Photobucket

Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
Friends' blogs
[Add PPpIRCU's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.