ทำทุกวันให้มีค่าแล้วชีวิตจะมีแต่ได้กับเสมอตัว~ (・Ω・)ノ(ノω-ヾ) (ゝω´・)b U,,・ω・) ( 'Θ')
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
9 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
.....~~midnightU : พรบ.ความมั่นคงในมุมมองเชิงวิพาษณ์ ตอนที่๑ ส่วนที่๒~~.....

ส่วนที่ ๒ ข้อวิจารณ์เนื้อหาเรียงมาตรา
คำแนะนำ : เพื่อเสริมความเข้าใจส่วนที่ ๒ กรุณาอ่านร่าง พรบ.ความมั่นคงทั้ง ๓๙ มาตรา ที่
//www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999625.html

ข้อสังเกตเกี่ยวกับขอบเขตใช้บังคับของกฎหมาย
เมื่อพิจารณาที่บทบัญญัติของกฎหมายนี้ในมาตรา ๑๒(๒) แล้วจะเห็นชัดเจนว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่มีความชัดแจ้งในเรื่องของปัญหาด้านความมั่นคงภายใน ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภายนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดภายในราชอาณาจักร เช่น เกิดเหนือพื้นดินกล่าวคือ ในท้องฟ้า ในอวกาศ ในอากาศยาน หรือเรือไทยที่อยู่ในทะเลนอกอาณาเขตก็ได้ รัฐมีหน้าที่อย่างไรหรือมีแนวนโยบายอย่างไร ไม่ปรากฏชัดแจ้งในกฎหมายนี้ และหากเป็นปัญหาดังกล่าว กองทัพบกจะมีศักยภาพอย่างไรในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้ หรือจะดำเนินมาตราอย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น

๑. ชื่อของพระราชบัญญัติ
มาตรา ๑ ของร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพียงเท่าที่ปรากฏในหมวด ๖ ที่ว่าด้วยการแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งทั้งหมวดก็เป็นเรื่องที่กล่าวถึงวิธีการในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว มิได้บัญญัติในเรื่องของมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้สาระของกฎหมายทั้งฉบับจึงมีอยู่ ๒ ประการคือ

๑. การก่อตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อดำเนินการรักษาความมั่นคง
๒. การแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสาระของเนื้อหากฎหมายก็ไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อสังเกตข้อ ๑. ที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งใน(๑) ของมาตรา ๓ ในเรื่องของบทนิยามความหมายของคำว่า " การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร"

ซึ่งนอกเหนือไปจากไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของการป้องกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ขณะที่ส่วนที่เหลือที่เป็นเรื่องของการก่อตั้งหน่วยงานรับผิดชอบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เจตนาของผู้ยกร่างกฎหมาย จึงมุ่งที่จะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้วยการก่อตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มากกว่าการมุ่งหมายที่จะบัญญัติในเรื่องของวิธีการหรือหลักนโยบายของรัฐในการรักษาความมั่นคงภายใน. การตั้งชื่อของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในเรื่องของการรักษาความมั่นคง จึงสมควรที่จะชื่อว่า " พระราชบัญญัติจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...."จะเหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้มีทั้งสาระในเรื่องของการรักษาความมั่นคง และก่อตั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงไปด้วย โดยเพิ่มรายละเอียดด้านสาระบัญญัติเกี่ยวของกับความมั่นคงและการรักษาความมั่นคงแล้ว การใช้ชื่อตามร่างก็จะเป็นการเหมาะสม

๒. วันใช้บังคับ
การกำหนดวันใช้บังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๒ นั้น ย่อมมีเหตุที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมาย และระยะเวลาในการเตรียมการหรือกำหนดแผนการดำเนินงาน ซึ่งกรณีนี้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องตระเตรียมให้พร้อมเมื่อกฎหมายประกาศใช้บังคับ แต่ไม่ปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มาตราใดโดยเฉพาะมาตรา ๙ ที่ระบุว่าให้ดำเนินการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ขึ้นนั้น กำหนดว่ามีระยะเวลาให้ต้องเริ่มปฏิบัติหรือปฏิบัติให้เสร็จสิ้นเมื่อใด อันจะเห็นถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ กรณีจึงไม่สอดคล้องหรือไม่เชื่อมโยงกับสภาพความเร่งด่วนหรือความสำคัญของปัญหา

๓. บทนิยาม
ความในมาตรา ๓ ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีการกำหนดนิยามความหมายของคำว่า "ความมั่นคง" ในขอบเขตของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เป็นอย่างไร และมีกี่ด้าน หรือกี่ประเภท. ความมั่นคงดังกล่าวนี้เป็นความมั่นคงในความหมายเดียวกัน หรือความหมายทั่วไปในวิชาทางรัฐศาสตร์ หรือมีความหมายตรงกันกับที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๒ และหมวด ๓ หรือไม่ ถ้าไม่เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร ?

"การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" ในวงเล็บหนึ่งของมาตรานี้ ให้นิยามของการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในทำนองที่เป็นปรกติหน้าที่ของรัฐ(คณะรัฐมนตรี) หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ต้องมีหน้าที่ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามทัศนะที่ฝ่ายทหารต้องกระทำโดยตรง ก็จะต้องกระทำอยู่แล้ว ซึ่งหากจะกำหนดให้มีหน่วยงานที่รวมศูนย์อำนวยการด้านความมั่นคงขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่าทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งหน่วยงานอิสระด้วย ต้องอยู่ภายใต้การกำกับหรืออำนาจสั่งการ หรือมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานตามร่าง พ.ร.บ.นี้. จึงจำเป็นที่จะต้องไตร่ตรองให้มากในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และความมั่นคง รวมทั้งการรักษาความมั่นคงดังกล่าวนี้ ก็จำต้องเป็นไปในลักษณะพิเศษกว่าปกติอย่างแท้จริงเท่านั้น

และเนื่องจากว่า นิยามของการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในร่าง พ.ร.บ.นี้ มิได้มีความหมายเป็นพิเศษของการกระทำที่แสดงออกว่าเป็นการรักษาความมั่นคงแต่อย่างใดดังกล่าวข้างต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความต้องให้มีการสถาปนาหน่วยงานขึ้นมาอำนวยการและบริหารจัดการโดยตรงในเรื่องของความมั่นคง จึงคลุมเครือและแสดงออกถึงการเปิดอำนาจ ให้กับฝ่ายฝ่ายทหารให้เข้ามามีบทบาทครอบงำการดำเนินการโดยทั่วไปของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความจำเป็นในการต้องมี "ทหาร"หรือ "องค์กรทหาร" เป็นผู้ทำหน้าที่ในสังคมด้านความมั่นคง (ในความหมายอย่างแคบ) และเป็นสถานะที่ทัดเทียมกันกับอาชีพหรือหน้าที่ของสังคมอื่นๆ มิได้มีฐานะเด่นกว่าหน้าที่อื่นของบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ทั้งนี้เนื่องจากความมั่นคง (ในความหมายอย่างแคบ) ที่ต้องอาศัยบทบาทของทหารนั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถความชำนาญพิเศษของ "ทหาร"และ "หน่วยงานด้านทหาร" ปฏิบัติงาน ซึ่งรัฐในประเทศประชาธิปไตยจะยึดมั่นในการกำหนดหน้าที่ทางสังคมเช่นนี้

ไม่มีประเทศที่ยึดมั่นในวิถีประชาธิปไตยใดที่เจริญทางด้านความรู้ ความคิดทางการเมืองแล้ว ยอมรับบทบาทของทหารหรือหน่วยงานด้านทหาร ให้เข้ามามีบทบาทในความหมายอย่างกว้างด้านความมั่นคง เนื่องจากสังคมมีความสลับซับซ้อน ต้องการผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ารับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ในองค์กรของสังคม กองทัพหรือทหารจึงเป็นเพียงกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องทหารและการใช้อาวุธ ไม่มีความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจ กฎหมายหรือการปกครอง หรือการบริหารงานบุคคล ที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญในการดึงพลังศักยภาพของกลุ่มต่างๆ ในสังคมเข้าร่วม แม้กระทั่งในปัญหาของความมั่นคงก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ "การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคีเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ" ตามที่ปรากฏใน (๑) ของบทนิยาม "การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" นั้นจึงเป็นการรักษาความมั่นคงในความหมายอย่างกว้าง ที่จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันภายใต้การควบคุมดูแลของฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ฯลฯ) ไม่ใช่ต้องการให้ฝ่ายทหารหรือกองทัพเข้ามามีบทบาทครอบงำความคิด หรือดำเนินการเป็นสำคัญแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องมีการก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน).ขึ้นมาดำเนินการเป็นพิเศษ

ขณะที่(๒) ของบทนิยามนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นมาตรการในการดำเนินการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของทหารที่จะเป็นผู้นำหน่วย ปัญหาจึงมีอยู่เพียงว่า ความไม่ชัดเจนที่ว่า ปัญหาความมั่นคงใดเป็นภาระหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และแต่ละปัญหามีความจำเป็นในการป้องกันและปราบปรามในตัวปัญหาอย่างไร หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ดูแลเป็นพิเศษในปัญหาความมั่นคงด้านนั้นๆ ไม่เหมาะสมอย่างไร เหตุใดจึงมอบบทบาทให้กับฝ่ายทหารในการเป็นผู้ดำเนินการ หรือเป็นผู้นำในการดำเนินการ

อาทิเช่น ในกรณีที่มีสถานการณ์อันเกิดจากการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)นี้ จะมีความสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความมั่นคงประเภทนี้ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ภายใต้มาตราการในหมวดที่ ๖ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และด้วยความรู้ ความสามารถของฝ่ายทหารที่เรียนแต่เพียงความรู้ในเรื่องการสู้รบ และการใช้อาวุธ รวมทั้งการต้องขึ้นต่อการสั่งการของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งผู้ปฏิบัติจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยตนเองได้น้อยกว่าบุคลากรของหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติการแก้ไขความมั่นคงกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขในแต่ละกรณีได้อย่างไร

"การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร"
บทนิยามตามความในข้อนี้มีข้อพิจารณาดังนี้


๑. เป็นการกระทำที่ต้องการเจตนาพิเศษของผู้กระทำ โดยต้องมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข ในชีวิตของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นการบัญญัติถ้อยคำที่กว้างขวางเกินสมควร และขึ้นอยู่กับทัศนะของผู้คนหรือผู้ปกครองรัฐในแต่ละยุคสมัย ที่การกระทำเดียวกันอาจไม่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงก็ได้ เกณฑ์ในการจำแนกระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้แจ้งชัดในกฎหมายนี้ มิฉะนั้นแล้วจะมีปัญหาในการตีความเจตนาพิเศษของผู้กระทำ

๒. การบัญญัติกฎหมายด้วยการใช้ถ้อยคำตามบทนิยามนี้ถือว่า เป็นการใช้รากฐานความคิดมาจากยุคสงครามเย็นในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) กับลัทธิทุนนิยมที่นำโดยรัฐบาลอำนาจนิยมทหาร โดยสถานการณ์ขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากที่ฝ่ายที่มีอำนาจปกครองมีทัศนะที่คับแคบ ไม่ยอมรับหรือเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างได้มีโอกาสโฆษณาเผยแพร่ความคิด และพิสูจน์ความเชื่อของตน และถือเอาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตน

๓. มีข้อที่ต้องพิจารณาว่า การขัดแย้งทางความคิดการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งบางกรณีอาจเป็นความขัดแย้งโดยตรงต่อทัศนะของผู้มีอำนาจปกครองรัฐ และผู้มีแนวคิดที่แตกต่างนั้นพยายามดำเนินการโฆษณาโดยสันติวิธี ต่อประชาชนเพื่อให้เห็นชอบด้วยกับความคิดของตน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการพยายามโฆษณาแนวคิดของตน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในหลายๆ รูปแบบ อาทิเช่น ทางเอกสาร การประท้วง การเดินขบวน การต่อต้าน การสื่อสารช่องทางต่างๆ เพื่อที่ผู้กระทำต้องการให้ความคิดของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือต่ออำนาจปกครอง ซึ่งถือเป็นวิธีการและวิถีทางที่เป็นปกติธรรมดาของการต่อสู้ทางความคิดในระบอบประชาธิปไตย กรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้อย่างไรในทางหลักการ

ด้วยเหตุนี้ เกณฑ์ในการจำแนกเสรีภาพในการแสดงความรู้ ความคิด ความเชื่อมั่นของบุคคลหรือคณะบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยกับความมั่นคงของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการนั้น ควรที่จะเป็นอย่างไร ? ในกรณีที่สังคมมีความแตกต่างทางความคิดที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นขั้วนั้น รัฐจัดเวทีและเปิดโอกาสให้การแตกต่างทางความคิดนั้น ได้มีพื้นที่ในการดำเนินการตามความคิดความเชื่อของฝ่ายตนอย่างไร จึงจะเป็นไปตามขนบประเพณีของประชาธิปไตยที่ดี เพื่อที่ความสงบสุขจะบังเกิดโดยผลของการร่วมกันใช้ความคิดของฝ่ายตนเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์บ้านเมือง

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ แต่กลับให้อำนาจพิจารณาแก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ซึ่งเดิมเป็นเป็นหน่วยงานทหาร แต่ตามร่างกฎหมายนี้แยกจากกองทัพบก (ในเชิงโครงสร้างองค์กร แต่ในเชิงปฏิบัติและแนวคิดแล้ววางรูปแบบการบังคับบัญชาองค์กร เป็นเช่นเดียวกันกับการบังคับบัญชาของกองทัพบกอย่างชัดเจน) ซึ่งต่อปัญหาความมั่นคงนั้น กองทัพไทยมีทัศนะในเรื่องการเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนในสังคม การเห็นผู้คนให้ความเคารพต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสภาวะที่มีระเบียบ สงบ และรัฐมีความมั่นคง ซึ่งแตกต่างไปจากทัศนะของบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาที่เห็นว่า ความแตกต่าง และการโต้แย้ง เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ความแตกต่างในรากฐานการคิดเช่นนี้ หากให้กองทัพเป็นผู้มีบทบาทในด้านการอำนวยความมั่นคงภายในประเทศแล้ว อาจก่อให้เกิดสภาวะการใช้อำนาจที่จำกัดเสรีภาพของผู้อื่นได้มากในชั้นปฏิบัติ และสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต. การที่พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ว่าความแตกต่างทางความคิด ถือเป็นปัญหาความมั่นคงในราชอาณาจักรนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทัศนะเกี่ยวกับความมั่นคงของฝ่ายรัฐในปัจจุบัน มีแนวโน้มไปในทางคับแคบ ไม่ยอมรับความแตกต่าง จึงไม่แตกต่างไปจากทัศนะคับแคบของรัฐบาลภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเช่นเดียวกัน

๔. การกระทำนั้นนั้น จะต้องมีขนาดแค่ไหน ถึงจะถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร บทนิยามมิได้กำหนดเอาไว้ จึงอาจก่อให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติของเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจนี้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ปกติตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจะมีแนวคิดและมีมาตรฐานในการดำเนินงานแตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็อาจเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา หลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างว่าเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ควรที่จะมอบหมายให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ดำเนินการ ประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมในระบอบยุติธรรมจะเสื่อมถอยลง และมาตรการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในระบบจะย่อหย่อนลง เพราะจะเป็นการยากที่จะจำแนกว่าการที่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่หลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ โดยยินยอมให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ปฏิบัติการแทน ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีโทษทางอาญา

๕. ขอบเขตของคำว่าราชอาณาจักรนั้น มีความหมายตามความใน พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างไร ? การใช้ดาวเทียมทางพาณิชย์หรือทางทหารของต่างประเทศ ที่มีความสามารถในการศึกษาหรือควบคุม หรือสนับสุนนการดำเนินธุรกิจหรือการสื่อสาร หรือกิจการภายในของรัฐไทยของประเทศมหาอำนาจ หรือประเทศเจ้าของเทคโนโลยีบางประเทศ รวมตลอดจนทั้งการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของบรรษัทขนาดใหญ่น้อยของต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการลงทุนและมีจำนวนผู้ลงทุนเป็นจำนวนมากนั้น จะมีเกณฑ์ในการกำหนดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือไม่ อย่างไร ?

"หน่วยงานของรัฐ" บทนิยามนี้ส่งผลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) มีอำนาจเหนือหน่วยราชการอื่นของรัฐในเชิงหลักการ(ในเรื่องของการรักษาความมั่นคง) ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.มีสถานะเป็นเพียงหน่วยราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ไม่มีสถานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือองค์กรอิสระ หรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยสามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๘ ได้โดยความเห็นของตนเอง โดยที่หน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจโต้แย้งหรือคัดค้าน แต่จะต้องสนับสนุนเท่านั้น ตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๔ วรรคท้าย กรณีเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจโดยไร้การควบคุมได้

ขณะที่กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินตามปรกติ จะมีระบบในการตรวจสอบเอาไว้อย่างชัดแจ้ง อาทิเช่น ฝ่ายบริหารย่อมถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การดำเนินงานของ กอ.รมน.ตามกฎหมายนี้จะได้รับการยกเว้น หรืออย่างน้อยในการปฏิบัติจะได้รับการยกเว้นเป็นสำคัญจากการตรวจสอบของศาลปกครองและศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๖ และ ๓๗

นอกจากนี้มีข้อที่น่าคิดว่า หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่เฉพาะ อาทิ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะต้องอยู่ภายใต้การให้ความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือไม่ ในกรณีที่กองอำนวยการนี้มีความเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่คณะกรรมการมีความเห็นที่แตกต่าง และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารใดต่อกองอำนวยการนี้ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยราชการแต่อยู่ในการกำกับของคณะกรรมการ จะปฏิเสธมติของคณะกรรมการของตนเอง โดยยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ได้หรือไม่ ?

"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ...
"เจ้าพนักงาน" ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติให้อำนาจแก่ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(ผอ.รมน.) ทำการแต่งตั้งเจ้าพนักงานมาปฏิบัติหน้าที่ แต่ในบทนิยามนี้ระบุว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของบุคคลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อประกันการดำเนินการของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างแท้จริง และไม่มีการเบี่ยงเบนการใช้อำนาจ

นอกจากนี้แล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเกินสมควร โดยที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในยังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกำกับนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการ จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน

นอกเหนือไปจากจะไม่มีการบัญญัติว่าเจ้าพนักงาน จะมีสถานะเป็นข้าราชการแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ ความไม่ชัดเจนเช่นนี้จะส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในหน่วยงานนี้ไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดแจ้ง มาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานไม่มีการกำกับและตรวจสอบ ขณะที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นโดยตรง กรณีนี้จึงเป็นการสะท้อนวัฒนธรรมในการดำเนินองค์กรของฝ่ายทหารได้อีกอย่างหนึ่ง

๔. แนวคิดในการรักษาความมั่นคงภายใน
มาตรา ๔ เป็นบทบัญญัติที่เปิดทางให้กับการใช้อำนาจของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน และของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นไปตามที่ตนเห็นว่าจำเป็น โดยอ้างหลักการของกฎหมายที่ต้องการให้การปฎิบัติเป็นเอกภาพ ขณะที่การตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจนั้น ในร่าง พร.บ.ฉบับนี้ไม่ปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด ข้อปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้มีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในมาตรา ๒๖ในเรื่องของการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยนั้น มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหรือดุลพินิจของศาลโดยเด็ดขาด เนื่องจากยังมีบทยกเว้นการใช้อำนาจโดยเจ้าพนักงานอยู่ การมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยจึงแทบไม่มีผล อันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่ผู้ปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจ ระหว่างสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัยกับของประชาชนโดยเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก

การเขียนกฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ปฏิบัติในการอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน จะต้องกำหนดกรอบของหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องให้รัดกุม และนอกจากนั้น หลักเกณฑ์การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามความในมาตรา ๒๗ นั้น มิได้มุ่งหมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจของเจ้าหน้าที่โดยให้เป็นอำนาจของศาลแต่อย่างใด เป็นเพียงการสร้างมาตรการให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เท่านั้น

ทั้งนี้เพราะการกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถนำผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวยังสถานที่อื่นใดก็ได้ ซึ่งมิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขังทัณฑสถานหรือเรือนจำ อันเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้คุมขังผู้ต้องหาเป็นการชั่วคราวนั้น ย่อมเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหาร นำผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวไว้ ณ สถานที่ใดก็ได้ที่ทหารเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องสงสัยหรือญาติพี่น้องจะมีโอกาสรับทราบหรือติดต่อเยี่ยมได้ยากลำบากกว่าสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติอยู่ตามปรกติ เนื่องจากจะเป็นสถานที่ที่ขึ้นอยู่กับเขตอำนาจการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน และสัมพันธ์อยู่กับชุมชนของผู้ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้การกล่าวในกฎหมายว่า "จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำผิดมิได้" จึงมิได้สร้างมาตรฐานให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ ได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยในลักษณะของผู้กระทำผิดมิได้แต่อย่างใด เพราะหากจะเป็นเช่นนั้นแล้วสถานที่ควบคุมตัว จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับสถานที่ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จะต้องสะดวกกับญาติพี่น้องผู้กระทำความผิดได้ติดต่อ และต้องเปิดโอกาสไว้ในกฎหมายให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิติดต่อทนายความหรือญาติพี่น้องในกรณีที่การจับกุมตัวกระทำไปโดยที่ญาติพี่น้องมิได้รับทราบ

และแม้ว่าในวรรคสองของมาตรา ๒๗ จะบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ให้กับการปฏิบัติของเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็มิได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ศาลหรือเจ้าพนักงานมีหน้าที่แจ้งให้กับญาติพี่น้องผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวได้รับทราบว่า ถูกคุมขังอยู่ที่ใด อีกทั้งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำรายงาน ก็มิได้กำหนดว่าให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิพบกับญาติ หรือได้รับการประกันตัวด้วย อย่างน้อยก็ภายใน ๓๐ วันที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าพนักงาน ซึ่งหากเจ้าพนักงานดำเนินการตามอำนาจพิเศษตามกฎอัยการศึกอีกด้วยแล้ว อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะมีมากยิ่งขึ้น และจะก่อให้เกิดความสับสนกับทั้งผู้ใช้และผู้ถูกจับกุมควบคุมตัวว่า จะมีสิทธิหรือมีอำนาจควบคุมตัวภายใต้กฎหมายใดเป็นหลัก

บทบัญญัติของร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงชัดแจ้งว่า วิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยนั้น ยังไม่สอดคล้องกับการไม่ได้รับความคุ้มครองในลักษณะของผู้ยังมิได้กระทำความผิด นอกจากนี้แล้วเหตุการณ์เสียชีวิตหมู่เป็นจำนวนมากของผู้ที่ศาลยังมิได้พิพากษาว่ากระทำความผิด ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตขณะที่ที่ทหารเป็นฝ่ายควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย อาทิเช่น ในกรณีตากใบและมัสยิดกรือเซะนั้น ก็เห็นชัดเจนว่ามาตรฐานการเคารพต่อสิทธิของผู้ที่ต้องสงสัยในชั้นปฏิบัติของฝ่ายหารมีมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในมาตรา ๔ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเพียงแนวคิดในเชิงหลักการของการรักษาความมั่นคงภายใน สมควรที่จะต้องบัญญัติให้เป็นรูปธรรม เป็นวิธีการ เป็นขั้นตอนที่สามารถปฏิบัติได้ ความในมาตรา ๔ จึงไม่มีลักษณะเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย

๕. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
มาตรา ๕ การให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ถือว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้หน่วยงานในลักษณะทหารเช่นนี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็มีปัญหาเช่นกัน ว่าในกรณีที่คณะกรรมการหรือผู้อำนวยการมีมติหรือมีความเห็นแตกต่างไปจากที่นายกรัฐมนตรีมีความเห็น จะดำเนินการอย่างไร หรือเช่น นายกรัฐมนตรีจะสั่งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ หรือผู้อำนวยการออกจากตำแหน่ง เมื่อมีคำสั่งแล้ว จะทำให้สถานะเดิมของผู้ถูกถอดถอนหรือถูกปลดหมดลงด้วยหรือไม่ กล่าวคือ หากนายกต้องการถอดถอนผู้อำนวยการออกจากตำแหน่ง จะทำให้ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเดิม(ผบ.ทบ.)ด้วยหรือไม่ เพราะตำแหน่งในคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในนั้น เป็นโดยตำแหน่ง มิใช่โดยตัวบุคคล เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานดังกล่าวสามารถกระทำนิติกรรมในนามของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น อาจส่งผลให้มีการกำหนดสถานที่ทำงานที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะดวกในการดำเนินงาน ก็จะทำให้ทำเนียบรัฐบาลมีทหารมาปฏิบัติหน้าที่เป็นจำนวนมาก อาจทำให้ไม่เป็นภาพสถานการณ์ที่ดูดีในภาพของการเป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 20 ตุลาคม 2552 3:25:19 น. 1 comments
Counter : 450 Pageviews.

 
โฮ เข้ามาได้ความรู้ไปเต็มเปี่ยมเลยค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ ที่ชอบเพลง


โดย: Mactopia วันที่: 10 พฤศจิกายน 2550 เวลา:9:17:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PPpIRCU
Location :
LonDoN~ United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




LSEist '11

( ^^)爻(^^ )

~ขอสงวนลิขสิทธิ์ในภาพถ่ายและบทความทุกชิ้น~
Piang Phanprasit

Créez votre badge
Photobucket

Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket
Friends' blogs
[Add PPpIRCU's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.