การให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด.......
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
25 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 

การรับมือไข้หวัดใหญ่2009ในโรงเรียน



เนื่องจากปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ในประเทศไทย มีการแพร่กระจายไปอย่างมาก โดยจากข้อมูลทางระบาดวิทยาขณะนี้พบว่า สถานศึกษาเป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะแพร่กระจายเข้าไป ทำให้เกิดการระบาดในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสถานศึกษายังเป็นแหล่งที่จะกระจายเชื้อต่อเนื่องออกไปในชุมชน ดังนั้น สถานศึกษาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรรีบเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดให้กับสถานศึกษาต่างๆ



อนึ่ง คำแนะนำต่างๆ อาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดที่เปลี่ยนไป และสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละสถานศึกษา



1.วัตถุประสงค์ของการป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในครั้งนี้ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีเด็กป่วยเกิดขึ้นในโรงเรียนเลย (เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก) แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในโรงเรียน

2.โรงเรียนควรจัดให้มีทีมงานรับผิดชอบประสานงานด้านไข้หวัดใหญ่ขึ้นในโรงเรียน (ในลักษณะที่เป็นทีมงาน ไม่ควรมอบหมายใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว) เช่น โรงเรียนอาจมอบหมายให้รองผู้อำนวยการฝ่ายปกครองหรือครูฝ่ายการพยาบาลเป็นผู้ประสานงานหลัก (พร้อมกับทีมงานอีกจำนวนหนึ่ง) ในการป้องกันควบคุมโรค โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ของพื้นที่ใกล้เคียงและแจ้งสถานการณ์ในโรงเรียนทันทีหากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าดำเนินการควบคุมการระบาด

3.เฝ้าระวัง โรงเรียนควรจะมีการจัดระบบการติดตามการขาดเรียนของเด็กนักเรียน ควรมีการตรวจสอบสาเหตุการขาดเรียนของนักเรียนด้วย หากพบขาดเรียนผิดปกติ (ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในห้องเรียนเดียวกัน)และสงสัยว่าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนและควบคุมโรค

4.ถ้าสามารถทำได้ โรงเรียนควรจัดห้องพยาบาลสำหรับการแยกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ห้องพยาบาลควรมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

5.โรงเรียนควรแนะนำให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว) พักรักษาตัวที่บ้านหรือหอพัก หากมีอาการป่วยรุนแรง (หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อยอาเจียนมาก ซึม อาการไม่ดีขึ้นหลังจากเริ่มมีอาการ 2 วัน) ควรรีบไปพบแพทย์

6.โรงเรียนควรมีการจัดระบบการคัดกรองนักเรียน หากพบนักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ไข้ ไอเจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว) ให้โรงเรียนแยกนักเรียน และติดต่อให้ผู้ปกครองมารับนักเรียนกลับไปฟักฟื้นที่บ้าน

7.หากสถานศึกษาสามารถให้นักเรียนที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ทุกคนหยุดเรียนได้ (ควรหยุดเรียนและพักอยู่กับบ้าน 7 วัน) ก็จะป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดี และ ไม่จำเป็นต้องปิดสถานศึกษา (การปิดโรงเรียนสามารถชะลอการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ไม่สามารถยุติการระบาดได้ จะมีนักเรียนป่วยกลับมาใหม่หลังจากโรงเรียนเปิดกลับมาใหม่ โดยเฉพาะในชั้นเรียนอื่นที่ยังไม่มีการระบาด หลังจากโรงเรียนเปิดแล้วจะมีการระบาดใหญ่อีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของโรงเรียน)

8.โรงเรียนควรมีคำแนะนำ (เอกสาร โปสเตอร์ อีเมลล์) ให้กับนักเรียน เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ รวมถึงการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวกับเด็กป่วย

9.เตรียมเอกสารแนะนำผู้ปกครอง เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และขอความร่วมมือให้เด็กป่วยหยุดเรียน

10.แนะนำ และสนับสนุนให้นักเรียนล้างมือบ่อยๆ โดยการจัดให้มีอ่างล้างมือ น้ำและสบู่ อย่างเพียงพอ

11.ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก เช่น โต๊ะเรียน ลูกบิดประตู โทรศัพท์ราวบันได คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยการใช้น้ำละลายผงซักฟอกเช็ดทำความสะอาด ให้บ่อยที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ สำหรับเมาส์ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ที่นักเรียนต้องใช้ในแต่ละชั่วโมงเรียนควรทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนชั้นเรียน

12.ควรเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

13.สถานศึกษาที่ยังไม่พบการระบาดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการนำนักเรียนจำนวนมากมารวมตัวกัน (เช่น การซ้อมเชียร์ การแข่งกีฬา เป็นต้น) หรือการเดินทางออกนอกพื้นที่เป็นหมู่คณะ ส่วนสถานศึกษาที่มีการระบาดแล้วควรงดกิจกรรมดังกล่าวโดยเด็ดขาด

14.โรงเรียนควรเตรียมมาตรการชดเชยทั้งด้านการเรียน การสอน เวลาในการเรียน และการปฏิบัติงานของทั้งนักเรียน ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จำเป็นต้องหยุดพักการเรียนหรือปฏิบัติงานเนื่องจากการป่วย

15.ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ได้ วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่สามารป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 ได้ ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552





1.ทีมงานรับผิดชอบประสานงานด้านไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนควรมีรองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นหัวหน้าทีม และควรมีครูพยาบาลร่วมอยู่ในทีมงาน (อาจทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก)

2.ทำบันทึกจำนวนนักเรียนป่วยที่มารับบริการที่ห้องพยาบาล และจำนวนนักเรียนที่ขาดเรียน (แยกตามห้องเรียน) เป็นรายวัน หากพบจำนวนนักเรียนป่วยมารับบริการมากขึ้นผิดปกติ ให้สงสัยว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในโรงเรียนและรีบแจ้งผู้บริหารโรงเรียนทราบทันที

3.เตรียมหน้ากากอนามัยไว้ให้พร้อมในห้องพยาบาล (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจจัดหาไปให้ในครั้งแรก)

4.ครูประจำชั้นควรตรวจสอบประวัติสุขภาพของนักเรียน จัดทำทะเบียนนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด โรคหอบหืด ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคประจำตัวที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันหรือกินยาสเตียรอยด์ ผู้ที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ ผู้ที่อ้วน

5.ในโรงเรียนที่ยังไม่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1 เอ็น1) หากพบผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่ หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการ ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้แยกผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยทันที ส่งผู้ป่วยไปยังจุดที่ใช้สำหรับให้ผู้ป่วยรอผู้ปกครองมารับกลับ แจ้งให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักรักษาตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันนับจากวันเริ่มป่วย

6.ในโรงเรียนที่พบผู้ป่วยหลายรายแล้ว ครูประจำชั้นต้องช่วยคัดกรองเด็กที่มีอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน หากพบผู้ป่วยสงสัย ให้แยกผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยทันที ส่งผู้ป่วยไปยังจุดที่ใช้สำหรับให้ผู้ป่วยรอผู้ปกครองมารับกลับ แจ้งให้ผู้ปกครองมารับกลับไปพักรักษาตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วันนับจากวันเริ่มป่วย

7.จุดที่ใช้สำหรับให้ผู้ปกครองมารับกลับ ไม่ควรจะเป็นห้องพยาบาลปกติ เนื่องจากจะทำให้ห้องพยาบาล (ซึ่งอาจมีเด็กที่ไม่สบายจากสาเหตุอื่นมาใช้บริการ) เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โรงเรียนอาจพิจารณาหาห้อง หรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกอยู่ใกล้ประตูทางออกโรงเรียนสำหรับใช้เป็นที่ให้นักเรียนที่ป่วยรอผู้ปกครองมารับกลับ

8.หากพบนักเรียนที่อยู่ในทะเบียนนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการป่วยรุนแรง ป่วยด้วยอาการอย่างน้อย 2 ใน 4 อาการ ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อทำการรักษา หรือกินยาป้องกันตามมาตรฐานทางการแพทย์โดยไม่ต้องรอให้มีอาการป่วย

9.ให้สุขศึกษาแก่นักเรียนเรื่องการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เน้นการล้างมือด้วยสบู่ที่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ การล้างมือภายหลังไอจาม ขับถ่าย ก่อนหยิบจับอาหารใส่ปาก และทุกครั้งภายหลังใช้มือสัมผัสอุปกรณ์ที่มีการใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น โทรศัพท์ เครื่องคอมพิวเตอร์ ลูกบิดประตู ราวบันได





1. ทำไมต้องป้องกันการระบาดในโรงเรียนด้วย?
ตอบ เป้าหมายของการป้องกันการระบาดในโรงเรียนคงไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีเด็กป่วยแม้แต่คนเดียว ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยคนแรกๆ ของโรงเรียนมักจะติดมาจากข้างนอก (ติดจากครอบครัวติดจากโรงเรียนกวดวิชา ติดจากการไปเดินเที่ยวในที่ที่มีคนพลุกพล่าน) แล้วเข้ามาแพร่เชื้อในโรงเรียน สิ่งที่โรงเรียนจะต้องพยายามทำก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด นั่นคือ ป้องกันไม่ให้มีเด็กหลายๆ คน (2-3 คนขึ้นไป) ป่วยพร้อมกัน จำนวนผู้ป่วยรวมจะต่างกันมากถ้าเกิดการระบาดใหญ่ กับการเกิดผู้ป่วยครั้งละ 1-2 คน ถ้าเกิดการระบาดใหญ่อาจมีผู้ป่วยรวมมากกว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนเด็กและครูในโรงเรียนได้ แต่ถ้าเกิดผู้ป่วยครั้งละ 1-2 คนอาจจะมีผู้ป่วยรวมอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 20-30 ได้

2. ในช่วงที่โรงเรียนมีการสอบ ทำให้เด็กไม่อยากจะหยุดเรียน จึงทำให้เด็กป่วยยังคงมาโรงเรียนอยู่?
ตอบ เรื่องนี้ทางเราคงต้องชี้แจงให้ผู้บริหารเข้าใจ และให้โรงเรียนมีนโยบายที่ยืดหยุ่นในเรื่องการสอบนักเรียน เช่น อนุญาตให้เด็กป่วยสามารถเลื่อนสอบได้ หรือหากเด็กมีอาการป่วยไม่รุนแรง อาจพิจารณาจัดให้เด็กสอบแยกจากเพื่อน โดยให้นักเรียนที่ป่วยใส่หน้ากาก จัดเจลล้างมือให้เด็กในห้องสอบ และเมื่อเสร็จกิจกรรมสอบแล้วก็แนะนำให้เด็กกลับบ้านในกรณีที่โรงเรียนยังไม่มีการระบาดก็คงต้องชี้แจงให้โรงเรียนเข้าใจภาพการระบาด ระยะเวลาการระบาด และจำนวนนักเรียนและครูที่คาดว่าจะป่วย เพื่อให้โรงเรียนตัดสินใจและเตรียมความพร้อมเช่นกัน

3. ครูที่ป่วยไม่ยอมหยุดงาน เพราะกลัวจะถูกหักเงินเดือน
ตอบ เรื่องนี้ต้องชี้แจงให้ผู้บริหารโรงเรียนถึงผลเสียของการปล่อยให้ครูที่ป่วยมาทำงาน ควรแนะนำให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่นในเรื่องของวันลาของบุคลากร (ครู และเจ้าหน้าที่อื่นๆ) นอกจากนี้ ยังต้องแนะนำให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีครูหรือเจ้าหน้าที่จะต้องลาหยุดพร้อมๆ กันหลายๆ คนด้วย ซึ่งหลักการเหล่านี้ได้มีการพูดถึงชัดเจนอยู่แล้วในหลักการของการจัดทำ Business Continuity Plan

4. เชื้อไวรัสสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานแค่ไหน?
ตอบ เชื้อไวรัสเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิต หากออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจะอยู่ได้ไม่เกิน2–8 ชั่วโมงและเชื้อไวรัสจะตายเร็วยิ่งขึ้นในอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอากาศแห้ง ดังนั้นควรเปิดห้องเรียนให้แสงแดดส่องถึงและอากาศถ่ายเทได้สะดวกอย่างสม่ำเสมอ

5. การทำความสะอาดโรงเรียน โดยเฉพาะจุดที่นักเรียนมักจะสัมผัสกันบ่อยๆ ควรดำเนินการอย่างไรบ่อยแค่ไหน
ตอบ การทำความสะอาดจุดที่นักเรียนมักจะสัมผัส แตะ จับ ควรทำบ่อยๆ ในช่วงระหว่างที่มีการเรียนการสอนส่วนจะต้องทำถี่แค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งสัมผัส เช่น ถ้าเป็นห้องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ควรมีการเช็ดทำความสะอาดหลังจากหมดชั่วโมงเรียน ก่อนที่นักเรียนคนใหม่เข้ามาใช้อุปกรณ์ การทำความสะอาดราวบันได อาจเช็ดทำความสะอาดในช่วงชั่วโมงเรียนหลังจากที่นักเรียนเข้าห้องเรียนแล้วทุกชั่วโมงเรียนเป็นต้น การทำความสะอาดพื้นผิวที่นักเรียนมักสัมผัส แตะ จับจะในช่วงเวลาระหว่างวันบ่อยๆ สำคัญกว่าการทำ “Big Cleaning” ในช่วงเย็นหลังจากที่โรงเรียนปิดไปแล้ว

6. การทำความสะอาดโรงเรียนอย่างถูกวิธี เมื่อมีการระบาด ควรทำ Big cleaning day หรือไม่?
ตอบ การทำ Big cleaning day แบบนานๆ ครั้งไม่สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของโรค จากหลักการที่ว่าเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เพียง 2-8 ชั่วโมง การทำความสะอาดที่สำคัญจึงเป็นการทำความสะอาดในช่วงระหว่างวัน และเป็นการทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสกันบ่อยๆ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

7. ควรใช้น้ำยาอะไรในการทำความสะอาดอุปกรณ์และสถานที่?
ตอบ น้ำละลายผงซักฟอก มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำลายเชื้อไวรัส

8. ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงหรือเสียชีวิต?
ตอบ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
มีภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน
มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ (เอดส์ มะเร็ง เอสแอลอี ฯลฯ)
โรคเบาหวาน โรคไต ลมชัก ธาลัสซีเมีย
เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน (อาจเกิด Reye syndrome)
กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อพิจารณาการรับยาต้านไวรัส



9. ควรมีการดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ครูและเด็กที่มีโรคประจำตัว ครูที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หรือครูที่กำลังตั้งครรภ์ อย่างไร
ตอบ ถ้าโรงเรียนทำได้ ควรมีค้นหาประชากรกลุ่มนี้ล่วงหน้า และให้คำแนะนำเป็นพิเศษในกรณีที่ครูหรือนักเรียนกลุ่มนี้ป่วยด้วยอาการที่คล้ายไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากครูและนักเรียนกลุ่มนี้อาจมีอาการป่วยที่รุนแรงได้และหากโรงเรียนสามารถทำได้ อาจมอบหมายงานที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับนักเรียนโดยตรงให้กับครูที่ทำกำลังตั้งครรภ์

10. ครูประจำชั้นจะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีไข้ ต้องวัดอุณหภูมิเด็กทุกคนก่อนเข้าห้องเรียนหรือไม่?
ตอบ ในเด็กเล็ก เช่น อนุบาล ที่ยังสื่อสารได้ยาก อาจต้องใช้เทอร์โมมีเตอร์วัด หรืออาจใช้แถบวัดอุณหภูมิช่วยในการคัดกรอง ส่วนเด็กประถมศึกษาขึ้นไปที่สามารถสื่อสารได้ดี ควรมีการให้สุขศึกษาแก่เด็กนักเรียนในการสังเกตและแจ้งอาการของตนเอง ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนถึงความจำเป็นในการแจ้งทางโรงเรียนเมื่อเด็กมีอาการป่วย และผลกระทบกับส่วนรวมและตนเองจากการปิดบังอาการป่วย เช่น อาจทำให้เด็กได้รับการดูแลรักษาล่าช้า หรืออาจทำให้เกิดการระบาดขยายวงกว้างในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนเป็นต้น

11. ต้องพานักเรียนที่ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่?
ตอบ หากนักเรียนไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง 6 กลุ่ม ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ในทันทีนักเรียนสามารถพักฟื้นอยู่ที่บ้าน และใช้ยารักษาตามอาการได้ หากโรคมีอาการรุนแรงขึ้น (เช่น ผู้ป่วยที่หายใจเร็ว (อายุน้อยกว่า 2 เดือนหายใจเร็วกว่า 60 ครั้งต่อนาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้งต่อนาทีอายุ 1-5 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้งต่อนาที อายุมากกว่า 5 ปีหายใจเร็วกว่า 30 ครั้งต่อนาที) หายใจลำบากเหนื่อย หอบ อาการไม่ดีขึ้นหลัง 48 ชั่วโมง อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือมีภาวะขาดน้ำ เป็นต้น) จึงควรไปพบแพทย์

ในกรณีที่นักเรียนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง ได้แก่

เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
มีภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน
มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ (เอดส์ มะเร็ง เอสแอลอี ฯลฯ)
โรคเบาหวาน โรคไต ลมชัก ธาลัสซีเมีย
เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ได้รับยาแอสไพรินเป็นเวลานาน (อาจเกิด Reye syndrome)
ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการ

12. การล้างมือจำเป็นต้องใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อหรือไม่?
ตอบ ไม่จำเป็น การล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี นานอย่างน้อย 15 – 20 วินาที (ร้องเพลงช้างจบ 1 รอบ) เพียงพอต่อการป้องกันโรค

13. นักเรียนที่สบายดี ไม่ป่วย ควรใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่
ตอบ ผู้ที่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยคือผู้ป่วย เนื่องจากการใส่หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการกระจายของน้ำมูกและน้ำลายเวลาที่ผู้ป่วยไอหรือจามได้ดี กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย

14. ถ้าให้เด็กป่วยใส่หน้ากากแล้วจะให้นั่งเรียนต่อไปได้หรือไม่
ตอบ ไม่แนะนำให้เรียนต่อ แนะนำให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เนื่องจากเด็กที่ใส่หน้ากากอนามัย หากยังคลุกคลีอยู่กับนักเรียนคนอื่น ก็ยังอาจแพร่เชื้อให้เพื่อนๆ ได้อยู่ดี

15. ผู้ปกครองมักอ้างว่าเด็กของตัวเองป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ในกรณีนี้ควรดำเนินการอย่างไร
ตอบ การแยกไข้หวัดธรรมดา กับไข้หวัดใหญ่ทำยาก (ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่บางคนก็อาการไม่รุนแรง อาการเหมือนไข้หวัดธรรมดาได้เช่นกัน แต่ถ้าไปติดคนอื่น คนอื่นอาจอาการรุนแรงได้) แต่ในกรณีการคัดกรองอาจไม่จำเป็นต้องแยกให้ชัดว่าคนนี้ป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดาหรือป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ก็ควรพักอยู่บ้านไม่ควรมาแพร่เชื้อที่โรงเรียนเช่นกัน ดังนั้น กรณีที่เด็กเป็นหวัดชัดเจนก็อาจขอให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้านได้เช่นกัน

16. หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาพาราเซตตามอลได้ ควรจะใช้ยาลดไข้แก้ปวดตัวไหนดี
ตอบ ยาแอสไพรินเป็นยาที่ห้ามใช้ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น หากผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาพาราเซตตามอลได้ ก็สามารถเลือกรับประทานยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาโปรเซ็น (Naproxen) ได้ การใช้ยาไอบูโปรเฟนและยานาโปรเซ็นควรรับประทานหลังอาหาร และไม่ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง เนื่องจากยาทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้มาก อนึ่ง หากผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาไอบูโปรเฟนหรือยานาโปรเซ็น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรศึกษาวิธีการใช้ยาและข้อห้ามการใช้ยา ก่อนรับประทานยา

17. หากผู้ป่วยเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับยาแอสไพรินเป็นประจำเกิดด้วยป่วยอาการที่คล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยควรหยุดรับประทานยาแอสไพรินหรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยที่รับประทานยาแอสไพรินไม่ควรหยุดยาเอง ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ประจำตัวผู้ป่วย (แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาแอสไพริน)

18. การใส่หน้ากากอนามัยควรใส่อย่างไรครับ เอาด้านไหนออก
ตอบ หน้ากากอนามัยมี 2 ด้านค่ะ คือด้านที่กันน้ำ กับด้านที่ซับน้ำ ด้านที่กันน้ำมักเป็นด้านที่มีสี เช่น สีเขียวหรือสีฟ้า ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัยควรหันเอาด้านนี้ออก ส่วนด้านที่ซับน้ำมักทำด้วยผ้าที่มีเนื้อนุ่มกว่า ซับน้ำ และบางยี่ห้อก็จะใส่สารป้องกันการแพ้และการระคายเคืองไว้ด้วย ดังนั้น ด้านนี้จึงควรเป็นด้านใน การใส่หน้ากากอนามัยกลับด้านจะทำให้ประโยชน์ที่จะได้จากการใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง
ส่วนความเชื่อผิดๆ ที่มาจากจดหมายลูกโซ่ที่ว่าผู้ที่ใส่หน้ากากที่มีสีออกเป็นผู้ป่วย ส่วนผู้ที่ไม่ป่วยใส่เอาด้านที่เป็นสีขาวออกเป็นความเชื่อที่ผิดครับ ผู้ที่ไม่ป่วยก็ต้องใส่หน้ากากเอาด้านที่มีสีออกเช่นกันเพื่อประโยชน์สูงสุดค่ะ





คัดลอกมาจากเวปของสำนักจัดการความรู้ กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข
//www.kmddc.go.th/headlineitem.aspx?itemid=3445




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2552
7 comments
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 9:20:51 น.
Counter : 2888 Pageviews.

 

ผมกำลังหาข้อมูลเขียนโครงการ

ได้ความรู้มากเลยคับ ขอบคุณครับ

 

โดย: น้องสิงห์โตทะเล IP: 113.53.53.136 25 กรกฎาคม 2552 19:55:17 น.  

 

ตอบคุณน้องสิงห์โตทะเล

ดีใจค่ะที่น้องจะทำโครงการสำหรับโรงเรียน

เป็นประโยชน์มากเลยสำหรับในช่วงเวลาอย่างนี้

ร่วมด้วยช่วยกันต้านภัยหวัด2009กันเถอะค่ะ

 

โดย: ป.ปลาสีม่วง IP: 222.123.180.145 25 กรกฎาคม 2552 20:15:56 น.  

 

แวะมาเยี่ยมจร๊าาา ข้อมูลมีประโยชน์มั่กๆ

 

โดย: หวี่น้อย (fruitsfly_1982 ) 27 กรกฎาคม 2552 18:47:29 น.  

 

น่ารักมากก ค่ะ ห่วงใยผู้คนตลอดเลย เป็นกำลังใจให้ตลอดไปค่ะ

 

โดย: toonnuch 28 กรกฎาคม 2552 12:14:47 น.  

 

ตอบคุณหวี่น้อย

แวะไปทักทายที่บลอคแล้วนะคะ

อยู่ต่างแดนดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

 

โดย: ป.ปลาสีม่วง 28 กรกฎาคม 2552 15:27:19 น.  

 

ตอบ คุณ toonnuch

แอบมาอัฟงานอดิเรกให้เพื่อนๆแล้วค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกัน

 

โดย: ป.ปลาสีม่วง 28 กรกฎาคม 2552 15:28:38 น.  

 

ขอบคุณบทความดีๆ อย่าลืมใส่ ผ้าปิดจมูก กันนะคะ

 

โดย: Aussie angel 3 กุมภาพันธ์ 2553 14:44:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ป.ปลาสีม่วง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ป.ปลาสีม่วง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.