MY LIFE, MY OPINIONS
 
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
20 มีนาคม 2550

แนวคิดทางธุรกิจแบบ Cash Out

สำหรับบรรดา "นักสร้างความมั่งคั่ง" รุ่นใหม่ อย่าง "ทักษิณ ชินวัตร", "ตัน ภาสกรนที", หรือ "กฤษณ์ ณรงค์เดช" เจเนอเรชั่นใหม่ของตระกูลณรงค์เดช ฯลฯ เส้นทางรวยของเศรษฐีรุ่นใหม่เหล่านี้ กำลังเปลี่ยนไปสู่แนวคิดแบบ Cash Out



แทนที่จะยึดติดกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือสร้างธุรกิจ "กอดไว้กับตัว" เก็บไว้ให้ลูกหลาน คนเหล่านี้เลือกที่จะถ่ายโอน และแปลงความเป็นเจ้าของใน "ธุรกิจเก่า" ให้กลายเป็นทุนก้อนโต

พร้อมจะ "เทคออฟ" ครั้งใหม่ เปลี่ยนเส้นทางความมั่งคั่งสายใหม่ที่ไปได้ไกลกว่าเดิม

------------------

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

"โอกาสที่ดีมีครั้งเดียว ! ....คติในการทำธุรกิจของผม โอกาสของคุณมีครั้งเดียวเสมอในหลายๆ เรื่อง และถ้าคุณไม่เอา มันก็จะหลุดผ่านไปเลย"

--------------------------

การแปลงธุรกิจให้เป็นความมั่งคั่งเมื่อได้จังหวะเหมาะ มีตั้งแต่การขายหุ้นออกมาทั้งหมด หรือลดสัดส่วนหุ้น ดีกรีความเป็นเจ้าของลงมา แต่ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด

ทั้งหมดล้วนมีปลายทางเดียวกัน...มุ่งหาผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และเลือกที่จะ "ขายหุ้น" ในขณะที่ได้ "ราคาดี" และ "ธุรกิจยังรุ่งโรจน์"

เงินมหาศาลกว่า 73,271 ล้านบาท จากการขายหุ้นบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ของตระกูล "ชินวัตร" และ "ดามาพงศ์" ให้เทมาเส็ก ถูกจับจ้องถึงการผันเงินก้อนนี้ไปสู่การลงทุนใหม่ๆ

"เจ้าพ่อโรงหนัง" วิชา พูลวรลักษณ์ ซีอีโอ บมจ.เมเจอร์ ซีเนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) เลือกที่จะ Cash Out บางส่วน ทยอยเทขายหุ้นเมเจอร์ ทั้งของตัวเองและภรรยา สะสมเงินสดรวมกันกว่า 1,700 ล้านบาท ก่อนจะเข้าไปซื้อหุ้น 70% ในบริษัท แมคไทย ฮุบแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ เติมเต็มอาณาจักรธุรกิจ

เช่นเดียวกับกลุ่มณรงค์เดช ที่คว้าเงินสดออกไป 1,000 ล้านจากการขายหุ้นบมจ.เคพีเอ็น ออโต โมทีฟ (KPN) ให้ "อาปิโก้ ไฮเทค"

ในขณะที่ "ตัน ภาสกรนที" แห่งโออิชิ กรุ๊ป (OISHI) หลังกำเงินสดกว่า 3,351 ล้านบาท จากการขายหุ้นให้ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" แห่งเบียร์ช้าง

เส้นทางโกยความร่ำรวยสายใหม่ของตัน คือ การก้าวสู่สนามนักลงทุน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการตั้ง "บริษัทภาสกรนที โฮลดิ้ง"

ยังไม่นับรวมอีกหลายธุรกิจที่มีข่าวว่าเจ้าของกำลังรอจังหวะเหมาะๆ Cash Out ไม่ว่าจะเป็น ข่าวลือสะพัดถึงการเทขายหุ้นบมจ.ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส (INOX) ของกลุ่ม "ประยุทธ มหากิจศิริ" ให้กับนักลงทุนรายอื่น

ในมุมมองของ "Deal Maker" มือฉกาจ "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (AST) ยอมรับว่า แนวคิด Cash Out ในเมืองไทยเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

“ตอนนี้มันก็มากขึ้นอยู่แล้ว”...ก้องเกียรติบอก นับจากดีลที่กลายเป็นตำนานอย่าง "โรบินสันขายหุ้นให้เซ็นทรัล" ที่ผ่านมือของเขาเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ดีลต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น และ "KPN-อาปิโก้" คือ เคสล่าสุด ยืนยันแนวคิดที่ว่า ถ้าเข็นไปแล้วใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องขายทิ้ง!

แนวคิด หรือค่านิยมของบรรดาเจเนอเรชั่นใหม่ของตระกูลดังๆ หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ในวันนี้ เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง นักทำดีลอย่างก้องเกียรติ ฟันธง

“เปลี่ยนไปแล้ว !!!.สมัยก่อนการขายธุรกิจสำหรับนักธุรกิจคนไทย หรือคนจีนรุ่นเก่าๆ ที่บุกเบิกบริษัทมาด้วยตัวเอง เรื่องเหล่านี้ทำไม่ได้ เป็นอะไรที่เสียหน้า

กลัวเพื่อนฝูงบอกว่า เดี๋ยวนี้ต้องขายบริษัทกินแล้วเหรอ...เหมือนกับเสียหน้ารับไม่ได้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามาจากโลกตะวันตก พวกนี้จะรับเอาแนวคิดใหม่ๆ คนเหล่านี้จะไม่ยึดติด เพราะรู้ว่าของทุกอย่างมีราคาของมัน"

หลัก 2 ข้อ ที่ก้องเกียรติ มักจะย้ำเสมอๆ ในหลายโอกาส หลายสถานที่ ก็คือ หนึ่ง...อย่ายึดติด และสอง...ของทุกอย่างมีราคาที่เหมาะสม ในจังหวะใดจังหวะหนึ่งเท่านั้น

ทุกธุรกิจย่อมมีวัฏจักร มีขึ้นและมีลง มีสูงสุดและมีต่ำสุด เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติด....

เขายกตัวอย่างให้เห็น ปากกาด้ามนี้มูลค่าอยู่ที่ 200 บาท ถ้าอยู่ๆ มีคนจะขอซื้อต่อ 500 บาท ถ้าไม่อยากขาย กลัวเสียหน้า แต่สักพักพอมีปากการุ่นใหม่มาแทน ปากกาด้ามนี้อาจจะมีมูลค่าเหลือแค่ 100 บาท เผลอๆ ลดลงมาเหลือ 50 บาท และอีกหน่อยอาจจะเหลือแค่ 2 บาท !

"อย่ายึดติด !" ก้องเกียรติย้ำ " ของทุกอย่างมันมีราคา ถ้ามันแพงเกินไปแล้วก็ต้องขาย ถ้ามันถูกเกินไปก็ต้องซื้อเข้ามา....ก็แค่นั้น

อย่างที่บอก ของทุกอย่างมีราคา อยู่ๆ เกิดมีคนมาให้คุณพรีเมียมเยอะอย่างนั้น เป็นคุณ...คุณไม่ขายเหรอ ถ้าคิดในแง่ตัวเลขนะ เป็นผม..ผมก็ขาย" ก้องเกียรติ ตอบคำถามที่ว่า เคสการขายหุ้นชินคอร์ป มีส่วนไหมกับการจุดประกายให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ในเมืองไทยเดินตามรอยอดีตนายกฯทักษิณ

ธุรกิจอะไรเดินมาถึงจุดที่ต้องขาย ? ก้องเกียรติ วิเคราะห์ว่าดูจาก 4 องค์ประกอบใหญ่ๆ ด้วยกัน....

หนึ่ง...ความสนใจที่จะทำธุรกิจนั้นต่อ ถ้าคิดว่าตัวเองก็ไม่ได้สนใจมาก แก่แล้ว หรือลูกหลานก็ไม่สนใจที่จะทำต่อ อย่างนี้ก็อาจเข้าเกณฑ์

สอง...ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร? "ถ้ามองไปแล้ว ทางข้างหน้าคู่แข่งมีเทคโนโลยีใหม่ มีต้นทุนที่ต่ำลง มีเครือข่าย เขา (เจ้าของธุรกิจ) จะเหนื่อยมากขึ้น อันนี้ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง"

ความสามารถในการแข่งขันนี้ ยังครอบคลุมกว้างไปถึงต้นทุนทางการเงิน ความสามารถทางการตลาด ทีมผู้บริหาร ฯลฯ

สาม...เรื่องราคาที่คนมาเสนอ "ราคาน่าสนใจหรือเปล่า จะซื้อหมดหรือซื้อบางส่วน เจ้าของบางคนก็อยากเก็บไว้บางส่วน เพื่อให้ส่วนร่วมในการบริหาร ขณะที่บางคนอาจเลือกที่จะ Cash Out ทั้งหมด เหมือนอย่างเคสของกฤษณ์ ณรงค์เดช เคพีเอ็น"

ของทุกอย่างมีราคา แต่คำว่า "ราคาที่เหมาะสม" ก้องเกียรติปฏิเสธว่า ไม่จำเป็นต้องหมายถึง "จุดพีค" หรือจุดสูงสุดของธุรกิจเสมอไป เพราะคนซื้อไม่ได้โง่ทุกคน ! แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายๆ เคสทั้งโออิชิ หรือชินคอร์ป ล้วนเป็นการขายธุรกิจเมื่อถึงจุดพีค

"ไม่จำเป็น ...เคพีเอ็นก็ไม่ใช่จุดพีค ส่วนโออิชิ (ที่ตก) เพราะมาเจอเรื่องกฎหมายเก็บภาษี ต้องเข้าใจตอนเจรจามันไม่มีเรื่องนี้ คือ ปัจจัยมันเปลี่ยน หรืออยู่ๆ ตอนเทมาเส็กมาซื้อตอนนั้น มี assumption ว่ากฎหมายทั้งหมดไม่เปลี่ยน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่พอวันนี้มันเปลี่ยนปุ๊บ ราคามันก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้น"

ก้องเกียรติ อธิบายว่า พีคของ "คนขาย" อาจไม่ใช่พีคของ "คนซื้อ" !....ธุรกิจที่ดูจะถึง "ขาลง" หรือจุดสูงสุดในมือของคนหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนมือไปสู่อีกมือหนึ่ง ก็อาจจะมีแรงส่งให้ทะยานไปได้ต่อ

"ตลาดทุกตลาดมัน P/E ไม่เหมือนกัน ตอนที่ขาย (หุ้น SHIN) 49.25 บาท ผู้ซื้ออาจบอกโอ๊ย...ถูกเป็นบ้าเลย เพราะ Cost of Fund เขาต่ำ ถ้าเขาไปซื้อที่อื่น อาจแพงกว่านี้ตั้งเยอะ

สมมติของของคุณขายอยู่ตลาดเมืองไทย P/E 10 เท่า แต่พอขายให้ต่างประเทศบอก โอ๊ย..ถูกเป็นบ้า เพราะของเขา P/E 20 เท่า เขาก็ไปคอนโซลิเดทกับธุรกิจที่เมืองนอก"

แต่องค์ประกอบสุดท้ายของการ "ขายหุ้น" ที่เป็นตัวแปรที่สำคัญ ก็คือ เรื่องจังหวะ

"บางทีอยากขาย แต่ไม่ได้ราคาที่ดี บางดีลคุยกันใกล้จบ เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติบ้าง ราคาห่างกันบาทนึง ดีลก็ไม่ดัน ในที่สุดก็มาเสียใจ

เรื่องของจังหวะถึงสำคัญ เพราะคนซื้อไม่ได้มาตลอดเวลา

เมื่อสิบปีที่แล้ว จังหวะที่ใบอนุญาตบงล. มีคนอยากจะซื้อ ให้ราคาเกือบพันล้าน ผมไปถามเถ้าแก่คนหนึ่งบอกไม่ขาย แต่เสร็จแล้วก็ถูกปิดไป หรืออีกเคสหนึ่ง บริษัทประกันภัย สมัยสิบปีที่แล้วรุ่งเรือง ราคาหุ้นพุ่งมหาศาล อยู่ๆ มีต่างประเทศจะมาขอซื้อ ผมไปเจรจา ห่างกันอยู่ 2 บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 4-5% ไม่ขาย พอการแข่งขันมหาศาล ราคาหุ้นก็ตก" เขายกตัวอย่าง

เมื่อไหร่จังหวะมาแล้วตัดสินใจพลาด นั่นจึงหมายถึงอาจต้องรอไปอีกนานนนน....

"โอกาสที่ดีมีครั้งเดียว ! ....คติในการทำธุรกิจของผม โอกาสของคุณมีครั้งเดียวเสมอในหลายๆ เรื่อง และถ้าคุณไม่เอา มันก็จะหลุดผ่านไปเลย" ก้องเกียรติบอก

สถานการณ์โลกธุรกิจแบบ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ทำให้หลายธุรกิจต้องรู้จักปรับตัวตามทิศทางลม ชนิดที่ว่าถ้าเข็นให้ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องขายทิ้ง หรือหาทางควบรวมเพื่อความแข็งแกร่ง ถ้าไม่ไปเทคโอเวอร์คนอื่น ก็ต้องปล่อยให้คนอื่นมาเทคโอเวอร์

ล่าสุด กลุ่มทุนต่างชาติ นอกจากสิงคโปร์ที่เข้ามานานแล้ว ตอนนี้เริ่มมีทุนจากจีน และอินเดีย ที่สนใจโฉบเข้ามา "ช็อปธุรกิจ" ในเมืองไทย

"ผมพูดมาหลายปีแล้ว ถ้าคุณไม่ใหญ่ไปเลย ก็ต้องเล็กพริกขี้หนู มีแค่สองอย่าง กลางๆอยู่ไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีจุดเด่นอยู่ไม่ได้"

นั่นคือ "ทิศทางลม" ที่กำลังเปลี่ยนไปในยุคโกลบอลไลเซชั่น เช่นเดียวกับแนวคิด "กอดธุรกิจหรือความเป็นเจ้าของ" ไว้กับตัวกำลังจะค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ

"แนวคิดที่ว่าสร้างธุรกิจมาให้ลูกหลานรัน เป็นแนวคิดที่เก่า ถ้าลูกหลานไม่เก่ง คุณก็เอาคนที่เก่งกว่ามารันดีกว่า อย่าไปยึดติดเลย หรือลูกหลานอาจไม่สนใจทำธุรกิจนั้น คุณก็เอาคนเก่งๆ มาทำธุรกิจนั้น "

ก้องเกียรติ ยกกรณีของ "กฤตย์ รัตนรักษ์" ว่า เห็นได้ชัดว่า การสร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูลรัตนรักษ์ ไม่ใช่การเอาลูกหลานไปรันธุรกิจ แต่คือการหาพาร์ทเนอร์ที่เก่งที่สุดในโลก หรือมืออาชีพในสายนั้นมาทำ

ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) ที่มี Holcim ยักษ์ใหญ่ปูนซีเมนต์ระดับโลกเข้ามาเป็น "แบ็คอัพ", ธุรกิจประกันภัย คือ บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต ก็มีกลุ่มอลิอันซ์ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจ

ล่าสุด การเตรียมขายหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้กับ "จีอี แคปปิตอล" .... ก็เรียกว่า ถึงจะถอยแบบโดนบีบ ก็ยังไว้เชิง

นอกจากเคสของกฤตย์ รัตนรักษ์ ก้องเกียรติ บอกว่า เคสของอดีตนายกฯ ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป, หุ้น KPN ตระกูลณรงค์เดช หรือตัน โออิชิ พวกนี้จัดได้ว่าเป็นสุดยอดนัก Cash Out ได้หมด หรืออย่างเอสแอนด์พีที่ขายหุ้นให้ไมเนอร์ และเมเจอร์ที่ขายหุ้นไปซื้อแมคโดนัลด์ ก็ถือเป็นการเลือกที่จะ Cash Out บางส่วน

และการที่ผู้บริหารหลายคนเลือกที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมา เป้าหมายก็เพื่อ "กระจายความเสี่ยง" แทนที่ 90% ของสินทรัพย์จะกระจุกอยู่ในหุ้นตัวเดียว อย่างเช่นเคสของตัน โออิชิ ที่ขายหุ้นเปลี่ยนมาถือเงินสด

"เป็นเรื่องปกติมากที่ผู้บริหารจะขายหุ้นออกมาในตลาดฯ เพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างตัน ก็ Cash Out เกือบหมด กฤษณ์ ณรงค์เดช Cash Out ทั้งหมด ขณะที่กลุ่มเมเจอร์ ก็เป็นกลุ่มที่น่าจับตา เพราะถ้าถือหุ้นเมเจอร์ตัวเดียว แล้วไม่รู้จัก Cash Out ไปทำอย่างอื่นก็มีความเสี่ยง

ผมเคยคุยกับวิชา (พูลวรลักษณ์) ว่าถ้าโรงหนังถูกบอมบ์ ซัฟเฟอร์มั้ย คิดเล่นๆ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ ธุรกิจทุกอย่างมีความเสี่ยงทั้งนั้น"

เป้าหมายหลังการขายหุ้น หรือผ่องถ่ายความเป็นเจ้าของในธุรกิจเดิม จึงชัดเจนว่า หนึ่ง..เพื่อกระจายความเสี่ยง สอง...เอาเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

กรณีเมเจอร์ ค่อนข้างชัดเจน ที่มีการแตกแขนงการลงทุนไปในหลายธุรกิจสร้างอาณาจักรแบบ "ใยแมงมุม" ไม่ว่าจะเป็นลงทุนในสยามฟิวเจอร์ ดีเวลล็อปเมนท์ , แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ ฯลฯ และล่าสุด ร้านแมคโดนัลด์ หรือเคสของมานิต อุดมคุณธรรม ที่ขายหุ้นโรบินสัน แล้วโยกเงินไปลงทุนทำธุรกิจโรงแรมที่ภูเก็ต, ตัน โออิชิ ขายหุ้นไปลงทุนซื้อที่ดิน

สำหรับก้องเกียรติแล้ว สุดยอดของนักธุรกิจ ก็คือการเป็นนักลงทุน และการเป็นสุดยอดของนักลงทุน ก็คือต้องรู้จัก Cash Out ...ซื้อให้ถูก และขายให้เป็น !

"ต้องเป็นทั้งสองทาง ซื้อของถูกและดีเป็น เหมือนคนที่กล้าไปซื้อธุรกิจหลังวิกฤติ แล้วได้ธุรกิจดีๆ มา และต้องขายเป็น ผมถึงบอก ราคายุติธรรม ราคาเหมาะสมมันมี และต้องจำว่า ราคาเหมาะสมมันเปลี่ยนอยู่เสมอ เปลี่ยนตามปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่ปีที่แล้ว 15 บาท ปีนี้จะ 15 บาท ขนาด SET INDEX ยังไม่ใช่เลย"

ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ท้ายที่สุดแล้วถนนทุกสายของการ Cash Out ก็ล้วนมุ่งไปสู่การแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า และต่อยอดโกยความมั่งคั่งออกไปอย่างไม่รู้จบ

จาก กรุงเทพธุรกิจ




 

Create Date : 20 มีนาคม 2550
1 comments
Last Update : 20 มีนาคม 2550 21:07:22 น.
Counter : 2986 Pageviews.

 

เข้ามาเก็บความรู้ครับ ขอบคุณที่เอาเรื่องราวที่มีสาระดี ๆ มาแบ่งปันกันนะครับ

 

โดย: พีทคุง (redistuO ) 20 มีนาคม 2550 22:53:58 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


popcorn2519
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หวัดดีครับ สำหรับ คนที่หลงเข้ามาใน blog นี้ ^^ ตอนนี้ผมได้ทำการ แบ่ง blog ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ

กลุ่มแรก คือ My Blog ก็จะเป็นเรื่องต่างๆ ที่อยากจะเขียน ทั้งหนังที่ชอบ เรื่องที่อ่านมาแล้วโดน หรือ อาจจะสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน ที่อยากจะระบาย

กลุ่มที่ 2 คือ 2,900 ไมล์ ไกลบ้าน เป็นบล็อคที่สร้างมาเพื่อเขียนเรื่องราวช่วงหนึ่งของชีวิตที่จะต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนครับ ซึ่งสิ่งที่ผมประสบมาและถ่ายถอดอาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ อันนี้อาจเกิดได้จากความอ่อนแอทางภาษาซึ่งอาจจะทำให้เกิดผมเกิดความเข้าใจผิดได้ หรือเหตุการณ์และช่วงเวลาที่ตัวเองได้สัมผัส หรือสังคมที่ผมได้เข้าไปคลุกคลีด้วย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เขียนก็คือสิ่งที่ผมเข้าใจอย่างนั้นจริงๆครับ

และกลุ่มที่ 3 สังคม-การเมือง-การปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่เนื่องจากช่วงหลัง มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม การปกครอง มาใส่เยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะแยกกลุ่มไปจากเรื่องส่วนตัวดีกว่า

ข้อความทุกข้อความทั้งที่นำมาจากที่อื่น และที่เขียนเอง ทั้งหมดเป็นความคิด ความรู้สึกส่วนตัว และความชอบของผมเองนะครับ ไม่ได้แปลว่าต้องถูกต้องเสมอไป ฉะนั้นกรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่านล่ะกัน ทุกคนสามารถโต้แย้งได้ครับ

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม และคอมเมนต์ ครับ
POP
New Comments
[Add popcorn2519's blog to your web]