Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
เก็บตกหนังที่ได้ดู

เวลาหายไปไหนหมดเนี่ย จากเดิมที่เคยตั้งใจจะเขียนถึงหนังที่ได้ดูในโรงให้ครบทุกเรื่อง แบบสดๆร้อนๆ เพื่อให้เป็นอารมณ์ ความรู้สึกหลังจากดูจริงๆ แต่พอเริ่มไม่มีเวลาเขียน ก็เริ่มกลายมาเป็นดินพอกหางหมูเรื่อยๆ บางครั้งอยากเขียนถึงหนังที่ได้ดูใหม่ๆ แต่ก็ติดว่ายังไม่ได้เขียนถึงเรื่องที่ดูก่อนหน้านั้น เลยจะใช้บล็อกนี้ สะสางหนังเรื่องต่างๆที่ได้ดูผ่านไปเสียที

######## Update ล่าสุด ########

Vantage Point: มุมมองทั้งแปด update 9 เษายน 2551

wu's Thai Film Awards 2007 update 31 ธันวาคม 2550

สยาม ฤดูร้อนยาวนาน และบ้านปลายฟ้า Update 20 ธันวาคม 2550

#########################

My Blueberry Night


เมื่อหว่องการ์ไวมาทำหนังพูดภาษาอังกฤษ แต่ปรากฏว่านอกจากภาษาที่ใช้และนักแสดง ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากงานก่อนๆเลย เป็นเหมือนกับการเก็บเล็กผสมน้อยจากงานก่อนๆมาเรียบเรียงใหม่เท่านั้น แต่ทั้งเนื้อหา อารมณ์ หรือลักษณะเด่นต่างๆของหนังหว่องการ์ไวยังเหมือนเดิม ซึ่งในฐานะแฟนหว่องการ์ไว ก็ไม่แปลกใจเท่าไร เพราะลักษณะงานเขาที่จับเอาของเก่ามาเล่าใหม่จนแทบเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว แถมยังออกกึ่งๆดีใจด้วยซ้ำ ที่ความเป็นฮอลลีวู๊ดก็ยังไม่สามารถกลืนตัวตนของหว่องไปได้ แม้ว่างานนี้จะไม่ถึงกับเป็นผลงานที่จับใจเท่าเรื่องก่อนๆ (หนึ่ง เพราะมันไม่มีอะไรใหม่ และสอง ความเป็นเอเชีย ภาษา เพลงประกอบ แม้จะฟังไม่รู้เรื่อง ก็มีเสน่ห์ในภาษาจีนมากกว่าภาษาอังกฤษ) แต่ก็เป็นงานที่เหมือนกับได้ทบทวนเรื่องราว หรือเรื่องย่อบทสรุปงานก่อนๆของหว่อง เพื่อเกริ่นนำสู่อีกยุคหนึ่งของงานเขา เหมือนกับ 2046 ได้สั่งลางานยุคเก่าไปแล้ว
บล็อกที่เคยพูดถึงงานหว่องการ์ไว
Happy Together
2046


Once


นี่มันหนังบ้าอะไรกันเนี่ย แทบไม่มีพล็อต ไม่มีเหตุการณ์พลิกผัน หรือเงื่อนไขอะไร มีแต่พูดกับร้องเพลง พระเอกนางเอกก็เหมือนคนทั่วๆไป ถ่ายภาพ ตัดต่อ ก็ไม่มีอะไรโดดเด่นเลย แถมบางครั้งยังกับมือสมัครเล่นทำด้วยซ้ำ แต่พอเริ่มซึมซับอารมณ์ของหนังไปเรื่อยๆ ความรู้สึกตกหลุมรักทีละน้อย ทีละน้อย จนในที่สุดก็พูดว่ารักนักเรื่องนี้ได้เต็มปากเมื่อมาถึงฉากสุดท้ายที่เพลง Falling Slowly ดังขึ้นมา ความรู้สึกคล้ายๆกันนี้เคยเกิดขึ้นตอน Before Sunrise/Before Sunset ถึง Once บทจะไม่คมคายเท่าสองเรื่องนั้น แต่ก็มีความเป็นธรรมชาติกว่ากันเยอะเลย

The Kite Runner


ดูแบบไม่ได้ตั้งใจ แถมแรกๆยังรู้สึกไม่ค่อยดีอีก เพราะหนังมันออกมาเป็นฮอลลีวูดมากๆ โดยเฉพาะงานสร้าง ซึ่งตอนแรกคาดหวังว่าจะได้ดูหนังภาษาต่างประเทศ ที่งานสร้างไม่ได้เนี้ยบ แต่มีความจริงใจเยอะกว่า แต่พอเริ่มปรับตัวได้ว่าหนังมันเป็นสไตล์ฮอลลีวูด เริ่มรู้สึกอินไปกับเรื่องราว เนื้อหา และดนตรีประกอบที่สุดยอดมากๆ จนมองข้ามความจงใจ ความไม่สมจริงบางอย่างไป แล้วยอมรับว่าเป็นหนังที่ดีมากเรื่องนึง
ปล. กลับมาค้นภายหลังเลยรู้ว่าเป็นงานผู้กำกับ Finding Neverland มิน่า งานสร้างมันไม่ค่อยเหมือนหนังภาษาต่างประเทศเท่าไร

แสงศตวรรษ (ฉบับไทยคัท)


แม้จะทำใจไว้แล้ว ว่าจะต้องทนดูภาพดำๆเป็นระยะ เอาเข้าจริงก็อึดอัดไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเป็นการดูครั้งแรกของผม และคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะมืดตรงไหน งานนี้พี่เจ้ยประชดกองเซนเซอร์โดยการเอาคนดูเป็นตัวประกัน ไม่รู้เหมือนกันว่าคิดถูกหรือคิดผิด หรือควรจะโกรธใครดีระหว่างกองเซนเซอร์ หรือพี่เจ้ย หรือจะโกรธตัวเองที่รู้ทั้งรู้ แต่ก็ยังเต็มใจตีตั๋วเข้าไปดู

หนังแบ่งเป็นสองครึ่งที่สะท้อนซึ่งกันและกัน อย่างหนังสองเรื่องที่แล้วของพี่เจ้ย (และที่เก๋คือหนังสั้นเปิดเรื่องก็ยังอุตส่าห์แบ่งสองครึ่งเหมือนกัน) จะต่างกันที่สองเรื่องก่อน ครึ่งหลังคือการหลุดจากสิ่งปรุงแต่ง หรือเงื่อนไขทางสังคม เข้าสู่ตัวตนจริงๆที่ไร้ซึ่งกฏเกณฑ์ แต่แสงศตวรรษครึ่งหลังคือการเข้าสู่สังคมเมือง วัตถุ และเงื่อนไขต่างๆ แต่กลับเป็นสังคมเมืองที่ตัวละครได้แสดงตัวตนที่แท้จริง (ในขณะที่เรื่องอื่นๆ ตัวตนที่แท้จริงจะถูกแสดงในป่า) และที่เก๋คือการใช้บทที่แทบจะเป็นบทเดียวกัน แต่คนละร่างในครึ่งแรกและครึ่งหลัง จะเสียดายก็แค่หลายๆฉากที่หายไปในครึ่งหลัง ทำให้อินกับเรื่องราวไม่เต็มที่ (ในขณะที่ครึ่งแรกไม่ขัดอารมณ์เท่าไร) อ้อ ฉากรพ.ครึ่งหลังหลายๆฉาก คุ้นๆเหมือนแถวๆที่ทำงานผมเลย หุหุ มาถ่ายกันเมื่อไหร่เนี่ย ถ้ารู้จะแอบไปขอลายเซนต์พี่เจ้ยแล้ว
บล็อกที่เคยพูดถึงงานพี่เจ้ย
สุดเสน่หา

Tokyo Tower: Okan To Boku To Tokitoki Oton


หนังญี่ปุ่นจากซีรีย์เรื่องดัง เล่าเรื่องราวของแม่ผ่านสายตาลูกชาย ตั้งแต่เล็กจนโต (โดยมีพ่อมามีบทบาทเล็กๆน้อยๆ) และอิทธิพลของแม่ที่หล่อหลอมให้ลูกชายคนนี้เป็นอย่างนี้ได้ โดยเนื้อหาน่าจะฟูมฟายได้มากมาย แต่หนังกลับเล่าเรื่องราวแบบไม่บีบคั้นอารมณ์ ละเลยรายละเอียดบางช่วง ตามการรับรู้ และมุมมองของลูกชายในแต่ละช่วงอายุ และปล่อยให้เรื่องราว และการแสดงแบบธรรมชาติๆ มาทำให้คนดูอินไปเอง ซึ่งได้ผลครับ แม้หนังไม่เร้าอารมณ์ แต่คนดูก็เข้าถึงอารมณ์นั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนตัวบางครั้งยังอินขนาดนึกว่าเค้าแอบเอาเรื่องราวของเราไปสร้างหรือเปล่าเนี่ย

Horton Hears a Who


ในสายตาผม งานภาพ animation พัฒนาถึงจุดสูงสุดไปแล้วใน Ratatouille ใน Horton จึงเป็นแค่งานอนิเมชั่นสะอาดๆ ภาพนุ่มนวล สีสวย แต่ไม่ได้โดดเด่นออกมาชัดเจน ในขณะที่ส่วนของเนื้อหาซึ่งเหมาะกับเด็กมากๆ ทั้งจินตนาการและสาระที่หนังต้องการสื่อ แต่กับผู้ใหญ่ บางช่วงออกจะน่าเบื่อนิดๆ และคาดเดาเรื่องราวได้ค่อนข้างง่าย แม้ว่าจะตอบโจทย์ที่เราเคยสงสัยตอนเด็กได้ดี (ตอนเด็กจะชอบสงสัยครับว่าเราอาจเป็นเชื้อโรคของสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ๆสักตัว หรือไม่ก็ข้าวของรอบตัวหรือแม้แต่บนร่างกายเรา อาจเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆก็ได้)

สี่แพร่ง


ขอชมอย่างแรกเลยคือการตั้งชื่อหนัง ชื่อตอน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือไทย (4bia คิดได้ไง) ในขณะที่ส่วนของเนื้อหา มีทั้งตอนที่ทำออกมาดีมากๆ ไปจนถึงตอนที่ค่อนข้างอ่อน เรียงตามลำดับความชอบคือ

คนกลาง: สนุกมาก กวน มันส์ น่ากลัวแบบกำลังดี เขียนบทดี ในเวลาจำกัด
เหงา: เด่นที่บรรยากาศ เนื้อเรื่องที่เหมาะกับหนังสั้น การเล่าเรื่องด้วยภาพ และได้อารมณ์
เที่ยวบิน 224: เนื้อเรื่องหลุดที่สุด แม้จะเป็นตอนที่เชื่อมโยงเรื่องราวทุกเรื่องไว้ด้วยกัน การแสดงดี จังหวะผีออกมาได้ผล แต่มันมีจังหวะไหนที่ยังไม่เคยเห็นจากชัตเตอร์ หรือแฝดบ้างเนี่ย
ยันต์สั่งตาย: อัดพลังที่มากเกินพอสำหรับหนังเรื่องหนึ่งลงในหนังสั้น เลยล้นเสียยิ่งกว่าล้น ทั้งที่เนื้อเรื่องมีอะไรให้จับต้องมากที่สุด ดูแล้วเหนื่อย แต่ไม่ประทับใจ

ความคาดหวังสี่แพร่งในฐานะหนังสั้นสี่เรื่อง เป็นไปในระดับที่คาดหวัง แต่ถ้ามองเรื่องเป็นหนังเรื่องยาวที่ประกอบด้วยสี่พล็อตหลัก สี่แพร่งยังต่ำกว่าคาดหวังเล็กน้อย ที่โดดออกมาคือพล็อตเรื่องที่มีระดับความน่าเชื่อต่างกันมากไป บวกกับสไตล์การกำกับที่แตกต่างกัน จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าให้ผู้กำกับคนเดียวทำสี่เรื่องหนังอาจออกมาดีกว่านี้ (เทียบกับปิดเทอมใหญ่ที่มี 4 พล็อตเหมือนกัน แถมความเชื่อมโยง อ้างอิงระหว่างพล็อตยังน้อยกว่าสี่แพร่ง แต่คนดูยังรู้สึกว่ามันเป็นหนังเรื่องเดียวกันมากกว่าสี่แพร่ง)

เมมโมรี่: รักหลอน


นอกจากการแสดงของใหม่และน้องซัน และใบหน้าหล่อๆของอนันดาแล้ว หนังเรื่องนี้จัดอยู่ในกลุ่มกลางๆไปจนถึงน่าผิดหวัง จากเริ่มต้น หนังมีโครงเรื่องหลักที่แข็งแรงเพียงพอแล้ว แต่กลับไม่มั่นใจความแข็งแรงของพล็อตตัวเอง เลยใส่ซับพล็อตที่รกรุงรัง คาดเดาได้ ไม่ได้เป็นจุดหักเห และทำให้เรื่องราวออกนอกลู่นอกทาง (จะว่าหลอกคนดูให้หลงทาง หนังก็ทำไม่ถึง) การใส่ฉากเลิฟซีน ฉากหวาดเสียว ฉากดราม่า แต่ดูประดักประเดิด และไม่ได้ก่อให้เกิดอารมณ์อะไรกับคนดูเลย แม้แต่แง่มุมทางจิตวิทยาที่หนังพยายามอธิบาย ก็ยังดูขาดๆเกินๆ และทำให้การตัดสินใจของตัวละครตอนท้ายๆ ไม่น่าเชื่อถือเลย (โดยเฉพาะฉากเลิฟซีนที่โปรโมทมากมาย สรุปแล้วก็งั้นๆทั้งความหวือหวา และความสำคัญต่อเรื่องราว)

######## สปอยเมมโมรี่#########
พล็อตหลักคือตัวละครใหม่โดนกระทำจากผู้ชาย จนเกลียด และกลัวผู้ชาย แต่กลับได้ลูกชาย เลยเลี้ยงให้เป็นผู้หญิง จนเด็กเกิดความสับสน และแสดงอาการทางจิตออกมา โหย พล็อตแค่นี้ก็ขายได้แล้ว บทอนันดาคือตัวแทนที่จะพาคนเข้าไปค้นพบความจริงเท่านั้น แต่หนังกลับสร้างแง่มุมทางจิตวิทยาให้ตัวละครทุกตัวโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะบทเมียอนันดา และความสัมพันธ์ของใหม่กับอนันดา ที่ดูจนจบ ก็ไม่รู้ว่าตกลงรักกันตอนไหนเนี่ย

######## End of Spoil#########

Iron Man


หน้าหนังไม่ได้ชวนให้อยากดูเลย แม้จะชื่นชอบทั้งโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ และกวินเนธ พัลโทวล์ แต่เสียงวิจารณ์ที่ใช้ได้ และรอบหนังลงตัวก็เลยได้ดู หนังดูได้เรื่อยๆครับ มีที่มาที่ไป มีเหตุผล มีความสมจริงกว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ทั่วๆไป ยกความดีความชอบให้กับการแสดงของโรเบิร์ต แม้ว่าจะหุ่นไม่ให้ แต่ความน่าเชื่อถือเต็มร้อย

Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull


ภาคสี่ของหนังคลาสสิคเรื่องหนึ่งของวงการหนังฮอลลีวูด ที่มีความเก๋คือไม่ยอมเปลี่ยนตัวเองตามกระแสปัจจุบัน แต่เลือกให้ตัวเองดูกลมกลืนกับพี่ๆ ผลคือหนังดูคลาสสิค หนักแน่น เทคนิคที่ดูเหมือนทำกันหน้ากล้องจริงๆ แม้จะไม่หวือหวามาก แต่ดูน่าเชื่อถือ บวกกับการแสดงที่เป็นการแสดงจริงๆ หรือฉากสตันท์ที่เหมือนกับเล่นจริงๆ ไม่ใช่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือการตัดต่อมาช่วย

ปัญหาคือถ้าจะทำให้คลาสสิค บทมันต้องแม่น มันส์ และมีลูกล่อลูกชนให้มากกว่านี้ แม้ว่าบทหนังจะเปิดโอกาสให้เหล่าตัวละครได้เดินหน้าสู่ฉากโลดโผน หวาดเสียวอย่างต่อเนื่อง แต่การเซตฉากเหล่านี้กลับแค่เซตผ่านๆ ให้รู้ว่ามีฉากแอ็กชั่น แต่ขาดเอกลักษณ์ (หรือมีก็แต่ผ่านๆ) แถมฉากโชว์ตอนท้ายที่เป็นธรรมเนียมที่ต้องมีอาณาจักรแปลกๆ เต็มไปด้วยกลไกและวิทยาการ ผสมกับการเฉือนคมของตัวละครช่วงไคล์แม็กซ์ และตบด้วยเทคนิคพิเศษตื่นตาตื่นใจปิดท้าย ภาคสี่นี้กลับด้อยที่สุดในหนังชุดนี้เลย เหตุผลหลักๆคือฉากที่มันตื่นเต้นมากกว่ามันผ่านไปแล้ว

สิ่งที่ชอบมากๆของภาคนี้คือการแสดงมันส์ๆของตัวละครทุกตัว โดยเฉพาะเคท บลานส์เชต ที่ดูสนุกกับการแสดง การแต่งหน้า แต่งตัวและการวางมาดกับบทนี้มากๆ (ผมล่ะชอบทรงผมเธอที่แทบจะไม่กระดิกแม้รถวิ่งเร็วขนาดนั้นจริงๆ) และฉากแอ็กชั่นหมู่กลางเรื่องที่สนุกมากๆ (แอ็กชั่นหมู่ คือตัวละครแทบทุกบทมีส่วนร่วมในฉากแอ็กชั่นนี้) แม้จะโม้มากๆก็ตาม แต่ก็เต็มอิ่ม และเป็นซีเควนต์ฉากแอ็กชั่นที่น่าจดจำของหนังชุดนี้ทีเดียว



Create Date : 26 พฤษภาคม 2551
Last Update : 26 พฤษภาคม 2551 0:48:38 น. 97 comments
Counter : 2764 Pageviews.

 
เป็นไงวู ไม่ไดอัพบล็อกนานเชียว อาทิตย์ที่ผ่านมาไปดู Juno ที่ House ชอบมาก ไม่ฟูมฟาย หนังมีทางออกที่ดี คนในครอบครัวสามารถตั้งรับปัญหาได้ดี นางเอกแสดงได้ดีมากๆ รับปัญหาหนักอึ้งแบบเก็บกดไว้ภายใน แต่ภายนอกเหมือนไม่สะทกสะท้าน มีเวลามา กทม ก็รีบมาดูนะ แนะนำๆ


โดย: Emmet IP: 61.90.192.186 วันที่: 3 มิถุนายน 2551 เวลา:12:46:58 น.  

 
ถ้าไปที่เฮาส์อีก แนะนำ Summer Palace ครับ เป็นงานที่ทรงพลังอีกเรื่อง ควรค่าแก่การชม


โดย: yuttipung วันที่: 13 มิถุนายน 2551 เวลา:11:45:15 น.  

 
ดู่ ดู๊ ดู ดูพันทิปทำ เขียนมาตั้งเยอะ พอกดส่งไม่รู้ผิดพลาดอะไร หายหมดเลย

ช่วงนี้งานยุ่งมากๆๆๆ จนหายหน้าหายตาจากโรงหนังไปเลย จนวันนี้ คิดว่าไม่ไหวแล้ว ต้องหาทางดูสักเรื่องให้ได้ พอไปถึงหน้าโรง เรื่องโน้นก็น่าดู เรื่องนี้ก็น่าดู แต่ในที่สุด วยก็มาออกที่ The Happening ของเฮียมาโนช ข้อหา ป้องกันการสปอยด์

เกิดเป็นเอ็ม ไนท์ ชมาลานแสนจะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังของคนดูต่อหนังพี่แกสูงลิ่วทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่เปิดเผยเนื้อเรื่องการฉาย ยิ่งทำให้ความคาดหวังสูงขึ้นไปอีก แถมการคาดหวังยังเป็นไปในแง่มางวดนี้จะหักมุมยังไงอีก ทั้งที่ความจริงหนังพี่แกที่ผ่านๆมา มีแค่ The Sixth Sense และ The Village เท่านั้น ที่ตั้งใจหลอกคนดู (และเรื่องแรกเท่านั้นที่เรียกได้เต็มปากว่าหักมุม) ในขณะที่เรื่องอื่นๆ บทสรุปก็ล้วนแล้วแต่เดินไปสู่จุดหมายที่หนังปูมาแล้วทั้งสิ้น

ส่วนตัวตั้งแต่ The Sixth Sense ก็ตามดูหนังเฮียมาโนชมาตลอด ยกเว้น Lady in the Water ที่ป่านนี้ก็ยังไม่ได้ดู และก็พอใจในคุณภาพงานมาตลอด (เรียงลำดับความชอบคือ Signs>Unbreakable>The Sixth Sense>The Village เอ แล้วเรื่องล่าสุด อยู่ตรงไหนดีนะ เดี๋ยวเฉลยตอนท้ายละกัน) จุดเด่นในงานเขาคือการเล่าเรื่องสยอง เหนือธรรมชาติ (แต่บางครั้งก็ไม่ได้เหนือธรรมชาติสักหน่อย) และจังหวะการเล่าเรื่องที่แม่นยำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นบทดราม่า หรือบทสยอง (บางคนอาจคิดว่าเล่าเรื่องช้าไปหน่อย แต่ถึงช้า ก็แม่นอ่ะ ใครจะทำไม) และจุดเด่นจริงๆคือการเล่าเรื่องขนานไปกับความสยองเป็นเรื่องราวดราม่าเล็กๆ คนละเรื่องกับเหตุการณ์หลัก และเรื่องพวกนี้ก็สร้างความประทับใจได้มากพอๆกับ(หรือมากกว่า)ส่วนสยองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก ครอบครัว ความไว้วางใจ ความเชื่อ ความศรัทธา

ใน The Happening สิ่งต่างๆก็ยังมีอยู่ครบ ยกเว้นความแม่น ที่มาคราวนี้พี่มาโนชพลาดมากๆ ไม่งั้น หนังคงติด Top5 หนังประจำปีนี้ของผมไปแล้ว (ซึ่งปีนี้หนังดีน้อยมาก) อย่างไรก็ตาม หนังมีอะไรที่ใกล้เคียง และคล้ายคลึงกับหนัง Top5 ในรอบครึ่งปี 2 เรื่องของผมมากๆ คือ Cloverfield และ The Mist โดยจุดร่วมของหนังสามเรื่องนี้คือ

1. เล่าเหตุการณ์หายนะที่ไม่อาจควบคุมได้ โดยตัวละครในเรื่อง(และคนดู) จะเริ่มจากความสับสน ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ กว่าจะค่อยๆปะติดปะต่อเหตุการณ์ และถึงแม้หนังจบ ก็ยังไม่อาจพูดได้ว่าเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุหายนะอย่างถ่องแท้

2. ตัวละครเอกเป็นคนธรรมดาๆ(ที่อาจมีสติดีกว่าคนรอบข้าง) ที่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหรือตัวแปรที่ทำให้เหตุหายนะนั้นเกิดขึ้นหรือสิ้นสุด

3. มุมมองของคนดูมีจำกัดเท่ากับตัวละครในเรื่อง และยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลาและสถานที่อีกด้วย (หนัง Top5 อีกเรื่องของผม The Vantage Point ก็เข้าข่ายนี้)

4. แม้หน้าหนังจะออกแนวสยองขวัญ สั่นประสาท แต่ประเด็นที่หนังต้องการเสนอจริงๆคือความเป็นดราม่า

ต่อไปนี้จะเริ่ม spoil แล้วครับ
################

The Happening ใช้การเดินเรื่องแบบ Road Movies ในที่นี้ คือการเปิดตัวละครใหม่ๆให้เข้ามาในชีวิตตัวละครหลัก เพื่อสะท้อนอะไรบางอย่างก่อนจากไป (มักจะตาย) ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ กดดัน สะเทือนใจ และสยองได้ดีรวมไปถึงความแม่นยำในฉากสยอง ที่ไม่ต้องอาศัยเสียงดนตรี หรือมุมกล้องที่ทำให้คนดูตกใจ (ถ้าจำฉากมนุษย์ต่างดาวในปาร์ตี้ของ Signs ได้ เรื่องนี้มีให้ดูเพียบ) แต่ที่หนังพลาดมากๆคือการเลือกให้จบแบบ Happy Ending และสร้างความหวังของการเกิดใหม่ โดยไม่มีการปูพื้นใดๆมาก่อน และปิดท้ายด้วยเหตุการแบบย้อนไปจุดเริ่มต้นอีกครั้ง อะไรกันเนี่ย เฮียมาโนชไม่เคยพลาดขนาดนี้มาก่อน นี่คงเป็นแผลเหอะหวะในชีวิตการทำงานของเขาเลยก็ว่าได้

และก็อดไม่ได้ที่จะไปเทียบกับ The Mist ซึ่งถ้าทำตามบทจริงๆ อาจออกมาประมาณ The Happening ก็ได้ แต่แฟรงค์ ดาราบอนต์ก้าวไปอีกขั้น โดยการพัฒนาเรื่องราวให้ถึงที่สุด โดยไม่เอาใจคนดู เลยเป็นจุดเพิ่มพลังให้กับหนังได้มากมาย ในขณะที่ The Happening ก็สามารถไปถึงจุดนั้นได้ แต่เฮียมาโนชเลือกที่จะประนีประนอมกับคนดู ซึ่งลดพลังหนังอย่างน่าเสียดาย

สรุป หนังเริ่มต้นมาดีครับ กดดัน สยอง จังหวะต่างๆดี จนถึงตอนท้ายที่อยู่ๆก็ตกม้าตายเอาดื้อๆ เลยกลายเป็นหนังที่แค่ดูได้เท่านั้น ไม่ถึงกับประทับใจอะไร สำหรับลำดับเรื่องนี้เมื่อเทียบกับหนังเอ็มไนท์อื่นๆ ผมให้สูงกว่า The Village แต่น้อยกว่า The Sixth SEnse ครับ


โดย: wu (I'm wu ) วันที่: 16 มิถุนายน 2551 เวลา:0:53:27 น.  

 
กำลังหาเวลาไปดู Summer Palace เหมือนกัน ปท.ไทย เป็นประเทศที่ 3ที่ได้ชมเรื่องนี้ อยากดู อยากดู


โดย: Emmet IP: 61.90.192.186 วันที่: 19 มิถุนายน 2551 เวลา:18:04:57 น.  

 
แหม ข้างบนเชียร์ Summer Palace กันจัง แต่สงสัยผมคงต้องบอกผ่าน เดี๋ยวนี้หนังทั่วๆไป ยังไม่ค่อยได้ดูเลย

วันนี้ดูหนังไปสองเรื่องครับ

Kungfu Panda

ไม่รู้ว่าผมเป็นโรคเฉื่อยชากับหนังการ์ตูนไปแล้วหรือเปล่า เมื่อเริ่มรู้สึกตัวว่าดูการ์ตูนเรื่องหลังๆแล้วรู้สึกเฉยๆไปแทบซะทุกเรื่อง จากแต่ก่อนที่ซาบซึ้งไปซะทุกเรื่อง แม้แต่เสียน้ำตาก็มี ยกเว้น Rattatouille ที่ผมยังรู้สึกดีมากๆ แต่ก็มาจากบทที่คมคาย และการสร้างฉากที่น่าทึ่งมากกว่าความเป็นอนิเมชั่น และแม้แต่แพนด้าเรื่องนี้ ก็น่ารักดี แต่ยังรู้สึกเฉยๆ

งานภาพของการ์ตูนสมัยนี้ ไม่ใช่จุดที่จะสร้างความตื่นตาตื่นใจได้อีกต่อไป เมื่อมันพัฒนาจนสุดยอดเสียทุกค่ายจนมองไม่เห็นความแตกต่าง จุดเด่นจึงไปอยู่ที่การสร้างบรรยากาศในงานภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ใช้บรรยากาศหนังกำลังภายใน ก็ถือว่าผ่าน มุขตลกในหนังถือว่าผ่าน เมื่อวัดจากเสียงหัวเราะของคนในโรง ฉากหวือหวา ตื่นตาตื่นใจก็มีมากพอควร โดยเฉพาะฉากแหกคุก และฉากสู้กันบนสะพาน แต่สำหรับตัวเอง ดูจบแล้วก็สามารถลืมได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรให้จดจำเป็นพิเศษ

รัก/สาม/เศร้า

งานแก้มือของยุทธเลิศหลังจากพลาดหวังจากการนั่งเก้าอี้ผู้กำกับ O-negative มาเรื่องใหม่ที่ยังมีโครงสร้างตัวละคร และbackground เหมือน O-negative พูดถึงเรื่องเพื่อนรักเพื่อน และการเสียสละให้เพื่อนเหมือน O-negative ต่างกันก็แค่รายละเอียดของเรื่องบางอย่างเท่านั้น

เสียดายเหมือนกัน เพราะตัวเองรู้สึกว่ายุทธเลิศต้องการหนีเงาของ O-negative จึงเริ่มเหตุการณ์ในหนังหลังเรียนจบ ซึ่งทำให้หนังขาดการปูพื้น background และความสัมพันธ์ของแต่ละคนในระหว่างเรียน กลายเป็นว่าคนดูรู้แค่คนนั้นแอบรักคนนี้ แต่ไม่รู้ว่ามันผูกพัน หรือมีพัฒนาการมาอย่างไร ในแง่ดี หนังสามารถพูดถึงกลุ่มตัวละครที่มีวุฒิภาวะได้เต็มที่ แต่ข้อเสียคือมันเหมือนการยัดเยียดให้คนดูพยายามต้องเข้าใจตัวละคร โดยข้อมูลที่จำกัดมากๆ

งานที่ผ่านๆมาของยุทธเลิศ มีทั้งส่วนที่ผมชอบ และไม่ชอบ และพบว่าส่วนที่ชอบมักเป็นฉากๆ หรือเป็นช่วงๆเท่านั้น มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ไม่เคยรู้สึกว่าชอบงานของเขาทั้งเรื่องได้เต็มตัวเสียที เช่นช็อตตั้งแต่เปิดเรื่อง จนถึงฉากพระเอกทิ้งนางเอกในบุปผาราตรี เป็นซีเควนที่ดีมากๆของวงการหนังไทยเลยทีเดียว แต่จากนั้น หนังกลับเปลี่ยนสไตล์เป็นผี/ตลก ซึ่งอาจถูกใจหลายคน แต่ผมว่ามันไม่กลมกลืน

โชคดีที่ความไม่กลมกลืนของสไตล์หนัง ไม่ปรากฏให้เห็นในรัก/สาม/เศร้า แต่สไตล์ที่หนังเลือกใช้ คือความซึมลึก เงียบ สื่อสารโดยท่าทางและสายตา เป็นอะไรที่ทำได้ยาก และหนังเรื่องนี้ก็ยังทำไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สไตล์หนังที่ต้องพึ่งพาการแสดงแข็งๆอย่างนี้ ตกอยู่ในมือนักแสดงสมัครเล่น ที่ทำได้แค่การสวมบท และแสดงตามบท แต่ยังไม่สามารถไปถึงจุดที่ชักนำอารมณ์ของคนดูได้ นักแสดงนำทั้งสามถือว่าสอบผ่าน แต่ไม่ได้ทำเกรดที่น่าทึ่งหรือน่าประทับใจแต่อย่างไร (เป้ให้การแสดงที่ชวนนึกถึงชาคริต แย้มนามมาก ทั้งท่าทาง และน้ำเสียง แต่ยังแข็งกว่าชาคริต ก้อยน่ารัก และดูเป็นธรรมชาติในบทธรรมดาๆ แต่พอแสดงอารมณ์ ไปได้แค่ระดับหนึ่ง พีคหน้าตา ท่าทางไม่เข้ากับบทเลย แม้ว่าจะมองเห็นว่าตั้งใจแสดง)



โดย: wu IP: 125.26.141.111 วันที่: 22 มิถุนายน 2551 เวลา:21:54:44 น.  

 
หลังจากทำงานเลิกไม่ต่ำกว่า 3 ทุ่มติดต่อกันกว่าสัปดาห์นึงไม่เว้นเสาร์ อาทิตย์ วันนี้มีเวลาว่างปลีกตัวไปดูหนัง ก่อนจะยุ่งอีก ประมาณ 3 วัน กับ Wanted

เป็นหนังเรื่องแรกของผู้กำกับคนนี้ที่ผมได้ดูครับ ดูจบ ขอปาวารณาตัวเลยว่าจะติดตามงานเค้าต่อไปแน่ๆ กับการเป็นผู้กำกับที่มี vision สูงส่งขนาดนี้ การดีไซด์ฉากแอ็กชั่นเวอร์ๆ แต่เท่สุดยอด และรู้สึกถึงความสด บวกกับพลังงานสูงมากๆ ความรู้สึกนี้คล้ายๆกับตอนดูงานหนังครั้งแรกของผู้กำกับอย่างของอินาริตู กับ Amores Perros กาย ริชชี่กับ Lock, Stock and 2 Smoking Barrels ทาแรนติโน่ กับ Pulp Fiction คริสโตเฟอร์ โนแลนกับ Memento ดั๊ก ไลแมน กับ Go และทอม ทีกแวร์ กับ Run, Lola, Run เลยครับ

ฉากแอ็กชั่นโคดเท่ในหนัง ผสมกับดนตรี ตัดต่อ และการแสดงลงตัวมากๆ แม้จะคล้ายกับ Matrix เล็กน้อย แต่ก็เป็นตัวของตัวเองสูงพอ และที่สำคัญมีให้เห็นแบบจุใจ แม้ว่าช่วงแรกๆจะเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะพี่เล่นปล่อยฉากขายในตัวอย่างเสียเยอะ แล้วมันก็ออกมาในหนังจริงๆช่วงแรกแทบจะหมด เลยกลัวว่าตอนหลังจะกร่อย ซึ่งปรากฏว่ากร่อยจริงๆ แต่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น จนพระเอกรู้พลังตัวเอง หนังก็ระดมใส่ฉากแอ็กชั่นมาอีกระลอก แถมไม่เคยเห็นจากตัวอย่างมาก่อน เลยรู้สึกจุใจมากๆ (ต่างจาก Jumper งานน่าผิดหวังของดั๊ก ไลแมน ซึ่งตัดตัวอย่างน่าดูพอกัน แต่พอดูแล้ว มันไม่มีอะไรดีๆ ที่ไม่อยู่ในตัวอย่างเลย)

ข้อเสียเล็กน้อยเลยตกไปอยู่ในส่วนของบท แม้ว่าความกวนทีน การเสียดสีจะผ่านฉลุย แต่เงื่อนไขการเล่าเรื่อง การหักมุม การเฉลยเรื่องราว กลับเบาบาง และไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก แต่ who care?

เจมส์ แมคอะวอย เล่นบทในหนังเรื่องนี้ดีกว่า Atonement ซะอีก แถมเป็นตัวเดินเรื่องแท้จริง การแสดงสีหน้าต่างกันเล็กน้อย แต่แสดงอารมณ์ต่างกันมากมาย และเห็นการเติบโตของตัวละคร แองเจลิน่า โจลี่ อาศัยมาดเป็นหนัก แต่ก็ไอ้มาดนี่แหละ เอาคนดูเสียอยู่หมัด (ตัวละครของเธอ นอกจากเป็นผู้ฝึก และคู่หูพระเอกตามบทแล้ว สิ่งที่ผู้สร้างซ่อนเอาไว้คือความเป็นจิตใต้สำนึกของพระเอก) มอร์แกน ฟรีแมน ก็รักษามาตรฐานสูงๆเอาไว้ได้ และพลังของดาราในเรื่องนี้เอง ที่แม้แต่ความโดดเด่นของฉากแอ็กชั่นก็ยังเอาชนะไม่ได้ ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าพอใจมาก


โดย: wu IP: 125.26.142.227 วันที่: 2 กรกฎาคม 2551 เวลา:0:58:33 น.  

 
Happening เป็นหนังที่จบแบบ ชยามาลัน ครับ เขาเป็นคนที่ชอบจบหนังด้วยลักษณะแบบงานโรแมนติคเกือบทุกเรื่อง (ที่เหลือมีหักมุมนิดหน่อย)

เสียดายที่งานนี้กลับจบง่ายไปหน่อย

ผมคิดว่าฉากที่ดีที่สุดในหนังเรื่องนี้อยู่ที่ครึ่งหลังเกือบทั้งหมด


โดย: yuttipung วันที่: 7 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:48:00 น.  

 
ไปดูหนัง superhero มา 2 เรื่องครับ Hancock กับ The Dark Knight

Hancock

เป็นหนังอีกเรื่องที่ตัวอย่างดีกว่าตัวหนังจริงๆ ทั้งที่แนวคิดแรกของหนังค่อนข้างดี ปัญหาคือผู้สร้างเกิดความสับสนจนจับเอาหนังหลายๆแนวเข้ามาผสมปนเปกันไปหมด แถมยังไม่กลมกล่อมอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นแนวตลกเสียดสีหนังซูเปอร์ฮีโร่ หนังเสียดสีสังคม หนังแอ็กชั่นแบบสมจริง หนังแฟนตาซี หนังดราม่า หนังหักมุม ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงการกำกับด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอ็กชั่นสมจริง(แนว The Kingdom หนังเรื่องก่อนของผู้กำกับ) บวกกับการโม้และเทคนิคพิเศษ การเคลื่อนกล้องแบบมือถือและฉากหลังที่ดูสมจริง แต่เนื้อเรื่องที่ออกแนวแฟนตาซี (อย่างไรก็ตาม ฉากแอ็กชั่นบางฉากหนังก็เปลี่ยนสไตล์ไปเป็นแฟนตาซีหน้าตาเฉย)

จุดที่หนังทำได้ดีคือการแสดงในส่วนดราม่าของดารา โดยเฉพาะวิล สมิธ และชอบคำพูดช่วงหนึ่งในหนังมากๆที่พูดถึงสมัยก่อนเรียกพระเจ้า เรียกเทพเจ้า แต่ปัจจุบันเรียกซูเปอร์ฮีโร่ อืม คิดตามแล้วเห็นภาพเลย

The Dark Knight
หนังแบทแมนทุกตอน ต้องมีการพูดถึงการกำเนิดของฮีโร่ หรือวายร้าย ที่เริ่มจากคนธรรมดา ก่อนจะมีการพลิกผันให้ต้องกลายร่าง และภาคล่าสุดผู้ได้รับโอกาสนี้คือฮาร์วีย์ เดนท์/ทูเฟซ และเอาไปเอามา บทนี้เด่นกว่าแบทแมนและโจ๊กเกอร์ด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะหนังตอนนี้ เขาเป็นคนเดียวที่หนังเปิดให้เห็นพัฒนาการ

หนังให้ความสำคัญกับการเป็นทูเฟซมาตลอดเรื่อง โดยจะกำหนดสถานการณ์ หรือทางเลือก หรือเปรียบเทียบให้เห็นสองด้าน หรือสองทางเลือก ทั้งแต่ฮาร์วีย์ยังไม่เป็นทูเฟซด้วยซ้ำ ซึ่งการที่ผู้กำกับแม่นยำมากๆนี้ ส่งผลให้หนังสามารถเล่นอะไรที่เกี่ยวกับสองด้าน ทั้งด้านสัญลักษณ์ การเล่าเรื่อง และการสร้างความขัดแย้งให้เกิดในเรื่องได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปรียบแบทแมนกับฮาร์วีย์ (ซึ่งเป็นสองทางเลือกของราเชล และชาวเมืองก็อธแธมที่จะมาจัดการกับพวกนอกกฏหมาย) และเมื่อฮาร์วีย์กลายเป็นทูเฟซ ซึ่งเป็นการก้าวไปสู่ด้านตรงข้ามของแบทแมน ก็ยังเห็นการเปรียบเทียบได้อีก

แต่ถึงหนังให้ความสำคัญกับทูเฟซ แต่พระเอกและวายร้ายตัวจริงของหนัง อย่างแบทแมนและโจ๊กเกอร์ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง โดยภาระกิจของตัวละครสองตัวนี้ เผินๆอาจเหมือนกับการเป็นผู้คุ้มครอง และผู้ทำลาย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป คือการแย่งชิงให้ทูเฟซมาอยู่ที่ฝั่งไหนมากกว่า (และนี่เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ยกนิ้วให้ผู้สร้างเลย ที่ยกทูเฟซมาเป็นจุดเปลี่ยนของตอนนี้) ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งหลักของหนัง เมื่อคนที่ถูกมองว่าเป็นผู้ชนะในมุมมองหนึ่ง (จับผู้ร้ายเข้าคุกได้) แต่อาจเป็นผู้แพ้ในอีกมุมมองก็ได้ (เกิดอาชญากรคนใหม่)

ในด้านการแสดง ดาราทุกคนผ่านฉลุย โดยเฉพาะฮีท เลดเจอร์กับผลงานชิ้นสุดท้าย ที่สีสันของบทเปิดโอกาสให้เล่นอะไรได้มากกว่าคนอื่นๆ และเขาก็ทำได้ดีตลอด แอรอน แอกฮาร์ท ก็โดดเด่น อย่างน้อยๆเขาก็ไม่ได้ทำให้บททูเฟซเละเหมือนที่ทอมมี่ ลี โจนส์เคยทำให้ Batman Forever (นอกเรื่องนิดนึง ผมว่านี่คือบทที่แย่ และด่างพร้อยในการทำงานของทอมมี่ ลี โจนส์เลยครับ ปัญหาคือเขาไม่รู้ว่าจะจัดการกับบทตัวเองยังไง เลยต้องไปอิงกับการแสดงของจิม แครี่ โดยการทำตัวบ๊องๆแข่งเขาโดยไม่ใช่ทางตัวเองสักนิด) จะมีก็แต่คริสเตียน เบล ที่แค่สานต่อบทจากแบทแมนบีกิน แต่ไม่ได้มีอะไรใหม่ๆให้เล่นนัก

หนังแบทแมนตอนนี้ผมให้ Dark Knight มาเป็นที่สองรองจาก Batman Returns ซึ่งขึ้นหิ้งสำหรับผมไปแล้ว จุดที่เหมือนกันของหนังสองเรื่องนี้คือการกำหนดตัวละครแบบมีธีม ไม่ใช่คิดอยากใส่ก็ใส่ (Batman Returns คือการที่ตัวละครเป็นสัตว์ ค้างคาม แมว และเพนกวิน ส่วน Dark Knight คือแบทแมนกับโจ๊กเกอร์ที่อยู่คนละด้าน แบบดีก็ดีสุด เลวก็เลวสุด และมีทูเฟซอยู่ตรงกลาง) และเป็นสองตอนที่จบออกแนวหดหู่มากกว่าตอนอื่นๆ

ปล. ระหว่างดูเกิดคิดโยงใยตัวละครราเชลกับโจ๊กเกอร์ ได้ 2-3 ข้อ แม็กกี้ กิลเลนฮาล เป็นพี่สาวของเจค กิลเลนฮาล ซึ่งเคยวี๊ดวิ๊วกับฮีท เลดเจอร์มาแล้ว และเธอรับบทนี้แทนแคธี่ โฮมส์ ซึ่งเคยสร้างชื่อมาพร้อมๆกับ มิเชลล์ วิลเลี่ยมจาก Dawson's Creek ซึ่งเป็นแม่ของลูกฮีท เลดเจอร์นั่นเอง


โดย: wu IP: 125.26.139.61 วันที่: 23 กรกฎาคม 2551 เวลา:1:08:21 น.  

 
แค่อยากบอกว่า ไปดู Summer Palace แล้ว นี่คือครั้งแรกที่รับรู้ว่าพลังของภาพยนตร์เป็นอย่างนี้นี่เอง อดที่จะร้องไห้ไม่ได้ score ทำได้ดีมากทรงพลังเหลือเกิน โดยเฉพาะช่วงแรกของหนังจนถึงช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งที่เดินคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
สิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้......คำว่า "อิสระ" นี่น่ากลัวมากนะถ้าเราไม่สามารถควบคุมมันได้


โดย: Emmet IP: 61.90.192.186 วันที่: 4 สิงหาคม 2551 เวลา:17:23:51 น.  

 
ไปดู Wall-E มาแล้วครับ แต่ก่อนพูดถึง Wall-E ขอพูดถึงหนังเรื่องนึงที่ไม่ได้ดูก่อน

เคยอ่านสี่แผ่นดิน และจำตอนนึงได้ครับ ที่แม่พลอยไปชมละครที่ ร.6 ทรงร่วมแสดง แล้วแม่พลอยเกิดอาการอาย ไม่กล้ามองเวที ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกคล้ายๆกันกับผมเวลาเห็นหนังตัวอย่างของหนังไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้คิดว่าคงไม่ไปตีตั๋วดูหนังเรื่องนี้ในโรงแน่ๆ แม้จะมีคนถามผมมากมายว่าหนังเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าแฟนหนังไทยอย่างผมคงไม่พลาดหนังเรื่องนี้ แต่คำตอบก็แค่ ยังไม่ได้ดูครับ

อาจจะมีคนมองว่าอคติ หรือตัดสินอะไรล่วงหน้าโดยยังไม่สัมผัสของจริง ก็ยอมรับครับ แต่คิดว่าไม่ผิดที่เราจะมีภาพของใครบางคนวางไว้สักอย่างหนึ่ง และปฏิเสธที่จะมองภาพที่แตกต่างออกไป นักแสดงบางคน การเปลี่ยนบทแม้ว่าจะเป็นอาชีพเค้า แต่ภาพที่มีมาทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ยอมรับ (เช่นหนังที่ดาโกต้า แฟนนิ่งจะมีบทโดนข่มขืน ผมไม่รู้สึกอยากดูเลยแม้รู้ว่าน้องเขามีโอกาสได้แสดงฝีมือ) ซึ่งทำให้นักแสดงหลายๆคนต้องจมอยู่กับบทใดบทหนึ่ง หรือภาพพจน์ใดภาพพจน์หนึ่ง สลัดไม่ออก นั่นแสดงว่าอาจไม่ใช่ผมแค่คนเดียวที่มีความรู้สึกแบบนี้

และจากการที่หนังเรื่องนี้ไม่ทำเงินเท่าที่ผู้ลงทุนคาดเอาไว้ (แต่ไม่ผิดคาดสำหรับคนที่ติดตามหนังไทยมาตลอด) ก็พอแสดงให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้ไม่ตรงเป้าหมายของคนดูหนัง แม้ว่าจะมีเสียงพูดถึงหนังเรื่องนี้พอควรในเน็ท แต่ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการพูดถึงในวงสนทนาต่างๆ (ซึ่งแต่ละคนร่วมใจกันพูดถึงหนังเรื่องนี้แบบ "หนึ่งใจ...เดียวกัน"จริงๆ) ก็ถือว่าน่าพอใจที่คนดูหนังไทย ยังเลือกดูหนังเพราะความเป็นหนังมากกว่ากระแสอื่นๆ

"เพียงแค่คุณสงสัย ก็เท่ากับว่าคุณได้ใส่ใจพวกเขาแล้ว"

ผมใจร้ายไปไหมเนี่ย ที่ไม่สงสัยอะไรเลย


โดย: wu IP: 125.26.142.47 วันที่: 16 สิงหาคม 2551 เวลา:21:30:26 น.  

 
Wall-E เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ Disney Pixar แต่ความรู้สึกส่วนตัว หนังยังออกมาสู้ Rattatouille ไม่ได้ครับ

ค่านิยมหนึ่งในการสร้างหนังการ์ตูนคือการพยายามสอดแทรกแง่คิด สร้างสรรค์ จรรโลงใจ ซึ่งถ้าทำออกมาได้ดี ก็ดีไป แต่การ์ตูนหลายๆเรื่องที่ทำออกมาแบบประดักประเดิก จนบางครั้งรู้สึกน่าเสียดาย ทั้งๆที่องค์ประกอบทางภาพ ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจของการ์ตูนมากกว่าและทำได้ถึงมาก กลับถูกเนื้อหาที่พยายามมากเกินไป ทำให้ประทับใจไม่เต็มที่ ( Happy feet เป็นเรื่องที่ผมเสียดายอันดับต้นๆ) โชคดีที่การ์ตูนของพิคซ่าส์ตีโจทย์ตรงนี้แตก และผสมผสานระหว่างเนื้อหากับงานภาพได้ลงตัวมาโดยตลอด

งานภาพของ Wall-E ไม่มีอะไรให้ตำหนิ เพียงแต่ Pixar เคยทำดีกว่านี้มาแล้วใน Rattatouille ซึ่งโดดเด่นในการใช้แสงนุ่มนวลคุมบรรยากาศ และรายละเอียดของฉากที่ละเอียดมากๆ (หนังใช้ฉากหลังที่มีรายละเอียดตอบรับกับตัวละครทั้งที่เป็นคนและเป็นหนูร่วมในฉากเดียวกัน และการเคลื่อนของกล้องโดยไม่ตัดทั้งในด้านกว้างและด้านลึก แต่งานออกมาเนียนจนแทบไม่มีใครสังเกตได้เลยว่าการเคลื่อนกล้องการ์ตูนเรื่องนี้มันโดดเด่นขนาดไหน) ในขณะที่เนื้อหาที่เป็นแบบเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด หรือโน้มน้าวให้เราเข้าใจแนวคิดอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนดูเก็ตเอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผมยกให้ Rattatouille เป็นการ์ตูนที่สุดยอดมาก

Wall-E เห็นได้ชัดว่า Pixar มีความทะเยอทะยานมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเนื้อหา ที่หลุดจากการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กไปโดยสิ้นเชิง (จะมีเด็กกี่คนที่เข้าใจเนื้อหาที่หนังสื่อ) แต่ Pixar ก็ยังไม่กล้าสุดๆกับการทำการ์ตูนผู้ใหญ่เนื้อหาซีเรียส จึงมีการออกแบบตัวละครน่ารักๆ ใส่ฉากน่ารักๆ สอดแทรกอารมณ์ขัน และความ feel good เอาใจผู้ชมที่เป็นเด็ก และผู้ชมที่ชอบความใสของการ์ตูน จึงทำให้หนังออกมาเหมือนกับการยำองค์ประกอบ 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือเนื้อหาและแนวคิด (ความเป็นไซไฟ ความสำคัญและเสรีภาพของการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หรือจะปล่อยให้เทคโนโลยีเป็นตัวบงการชีวิต)และองค์ประกอบเดิมๆของการ์ตูน (ความใส อารมณ์ขัน น่ารัก ฟีลกู๊ด บริสุทธิ์) ซึ่ง Wall-E ก็ทำได้ถึงทั้งสองอย่าง เพียงแต่เมื่อจับมารวมกัน มันยังไม่กลมกล่อมเท่าไร

จุดที่ชอบมากๆใน Wall-E คือการออกแบบตัวละครอีฟ ซึ่งสามารถสร้างความเป็นนางเอกได้มากมาย ทั้งที่องค์ประกอบในการแสดงอารมณ์มีแค่แสงจากตาเท่านั้น (สังเกตการ์ตูนแทบทุกเรื่อง การออกแบบนางเอกมักจะโดดเด่นเสมอ แม้ตัวละครจะไม่น่ารัก และห่างไกลความเป็นนางเอก แต่การ์ตูนทุกเรื่องก็ทำออกมาได้นางเอ้ก นางเอก) และทำให้อีฟกลายเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์และเรียกอารมณ์ร่วมได้มากๆ เช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆอีกไม่กี่ตัว แต่ก็มีเสน่ห์ซะทุกตัว

อ้อ อีกจุดที่ชอบมากคือไตเติ้ลท้ายเรื่องที่แสดงวิวัฒนาการของโลกหลังจากนั้น สุดยอดมากๆ ขอคารวะ


โดย: wu IP: 125.26.142.47 วันที่: 16 สิงหาคม 2551 เวลา:23:43:07 น.  

 
แค่อยากบอกว่า ไปดู Summer Palace แล้ว นี่คือครั้งแรกที่รับรู้ว่าพลังของภาพยนตร์เป็นอย่างนี้นี่เอง อดที่จะร้องไห้ไม่ได้ score ทำได้ดีมากทรงพลังเหลือเกิน โดยเฉพาะช่วงแรกของหนังจนถึงช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งที่เดินคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
สิ่งที่ได้จากหนังเรื่องนี้......คำว่า "อิสระ" นี่น่ากลัวมากนะถ้าเราไม่สามารถควบคุมมันได้
^
^
^
ผมกลับเห็นต่างครับ คิดว่าอิสระนั้นน่ากลัวอย่างไรก็ไม่น่ากลับเท่าเผด็จการทางความคิด เพราะเสรีภาพของตัวละครได้หายไปจากชีวิตหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น


ส่วน Wall-E ผมเขียนวิจารณ์ลง Filmax ไปแล้ว(พื้นที่โฆษณา) รบกวนติดตาม 555


โดย: yuttipung วันที่: 1 กันยายน 2551 เวลา:18:22:01 น.  

 
เก็บตังค่าโฆษณาดีไหมเนี่ย แต่ความจริงคุณยุติภังค์ไม่ต้องโฆษณาอะไรเลยครับ เพราะ Filmax ไม่เคยพลาดสักฉบับอยู่แล้ว

เซ็งๆครับ ช่วงนี้ไม่ค่อยมีหนังที่น่าสนใจเข้าเลย ไม่ว่าจะเป็นหนังใหม่ หรือหนังที่ค้างในโปรแกรม แต่วันนี้ ยังไงก็จะต้องหาหนังดู เอาไปเอามา เลือกดูหนังค้างโปรแกรมดีกว่า ปรากฏว่าดูไป 2 เรื่อง แต่น่าเสียดายที่รู้สึกผิดหวังทั้ง 2 เรื่องเลย

Bangkok Dangerous
หนังรีเมคจากหนังไทยโดยผู้กำกับฮ่องกงคนเดิม แต่ผลงานออกมาน่าผิดหวังมาก และสาเหตุเห็นชัดว่ามาจากการปรับบทและสลับบทบาทกัน ให้ความสำคัญเพิ่มกับตัวละครบางตัว ทำให้เรื่องเป๋ไปมา และตัวละครที่แบนมากๆ งานที่ออกมาเห็นชัดว่าอิทธิพลดาราใหญ่ ที่ข่มผู้กำกับ จนกลายเป็นงานดาดๆไปได้

การรีเมค โดยดัดแปลงเรื่องราวเล็กน้อย เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวพี่น้องแปงไปแล้ว กับการพูดถึงการกลับชาติมาเกิด การไถ่บาป การลอบสังหาร บวกกับมุมมองด้านภาพและการตัดต่อ ซึ่งสมัยแรก งานพวกเขาดูแปลกใหม่ และร้อนแรงมาก จนค่อยๆลดระดับความแรงและความแปลกใหม่ลงมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ที่กลายเป็นงานธรรมดาๆไปแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับผมในอดีตพี่น้องแปงเคยมีผลงานที่เรียกได้ว่าน่าจดจำอย่างน้อยสองเรื่องคือ The Tesseract (เสียดายที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักหนังเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เข้าฉายในไทย เป็นเรื่องของนักค้ายา (โจนาธาน รีส เมเยอร์) ที่เข้ามาขนยาในกรุงเทพ โดยมีเด็กน้อยชาวไทย นักต้มตุ๋น (อเล็กซ์ เรนเดล)เป็นลูกมือก่อนจะก่อเกิดความผูกพัน และไปพัวพันกับแก้งค์มือปืนในไทย พล็อตคุ้นไหม) และ Bangkok Dangerous เวอร์ชั่นต้นฉบับ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนคนเล่าเรื่อง จากมุมมองของอ้อม นางนกต่อ มาเป็นมุมมองของโจ (นิโคลาส เคจ) เปลี่ยนจากมือปืนที่เหมือนลูกศิษย์ กลายเป็นมือปืนเป็นอาจารย์ เปลี่ยนคนใบ้จากพระเอกเป็นนางเอก (เภสัชกรที่ไหนเป็นใบ้เนี่ย ภาคก่อนจ่ายยาชุดไปแล้ว มาภาคนี้เป็นใบ้) เปลี่ยนเหยื่อรายสุดท้าย จากสถานการณ์คล้ายๆการลอบสังหารแสงชัย สุนทรวัฒน์ เป็นสถาณการณ์คล้ายๆ การลอบสังหารเคนเนดี้ ซึ่งอันหลังนี่ตลกมาก และที่สำคัญ อารมณ์ดราม่าทั้งหลายถูกตัดทิ้งไปจนหมด จนไม่รู้สึกเอาใจช่วยตัวละครเลย โดยเฉพาะเวอร์ชั่นต้นฉบับมีฉากที่ประทับใจสามฉากแรก ที่เวอร์ชั่นนี้ตัด หรือดัดแปลงจนไม่เหลือคือ

1. ฉากก้อง(แบงค์ มือปืน) จูงมืออ้อมวิ่งหนีมือปืนไปตามตรอกซอย และการเคลื่อนกล้องแบบสุดยอด เวอร์ชั่นนี้เป็นก้อง (ชาคริต) คนเดียว มุมกล้องเกือบเหมือนของเดิม แต่สั้น และไม่ได้อยู่ในจังหวะมีความสำคัญกับเรื่อง

2. ฉากก้องบุกร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าไปแก้แค้นแทนโจ้ที่ถูกฆ่าตาย การซ้อนภาพเงาของโจ้เคียงคู่ก้อง และท่าทางที่เคยฝึกฝนมาด้วยกัน เป็นทั้งสัญลักษณ์ และแสดงถึงจุดเปลี่ยนตัวละคร เวอร์ชั่นนี้ ไม่มี

3. ฉากก้องพยายามตะโกน ก่อนลั่นไกใส่หัวตัวเองเพื่อทะลุไปหัวหัวหน้าแก้งค์ พร้อมกับฝนที่ตกลงมาเป็นเม็ด และฝน (นางเอก) ที่พยายามเข้ามาหาก้อง เวอร์ชั่นนี้ ไม่มีตะโกน ไม่มีฝน(ทั้งฝนจริงๆ และคนชื่อฝน)

ตัวละครในเรื่องแบนทุกตัว และไม่ได้มีอะไรน่าจดจำเลย แม้แต่การแสดงของเคจ ความผูกพันตัวละครในเรื่องน้อย และไม่น่าเชื่อถือ ภาระกิจ แรงจูงใจ จุดเปลี่ยนตัวละครไม่ชัดเจน แถมการพยายามใส่ภาพกรุงเทพแบบคิทเช่ของฝรั่ง (ช้าง อาหารไทย แหล่งราตรี ผู้หญิงไทย รถติด รำไทย ตลาดน้ำ การไหว้ พระพุทธรูป ฯลฯ) แต่ดูแสนจะบิดเบือนในมุมมองคนไทย และที่ร้ายคือการใส่ฉากรุนแรงเกินจำเป็น และเซ็กซ์ที่ไม่เข้าที่เข้าทาง ทำให้งานออกมาเหมือนหนังเกรดบีแย่ๆด้วยซ้ำ สรุป หนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรดีเลยหรือนี่

ยังไงก็ตาม ผมหาข้อดีให้หนังได้ข้อหนึ่ง คือการกำกับภาพของเดชา ศรีมันตะ ผู้กำกับภาพมือต้นๆของไทย และเจ้าประจำพี่น้องแปง ถึงแม้ภาพจะไม่ได้โดดเด่นมากมาย (จะว่าไป ด้วยกว่าเวลาเขาถ่ายหนังไทยด้วยซ้ำ) แต่ก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ อยู่ในมาตรฐาน และแสดงให้เห็นว่าคนไทยถ้ามีทุน มีอุปกรณ์ เราก็ทำงานได้ไม่น้อยหน้าฝรั่งเหมือนกัน


โดย: wu IP: 125.26.139.229 วันที่: 13 กันยายน 2551 เวลา:23:42:13 น.  

 
บุญชู ไอเลิฟสระอู

อดีตหนังยอดนิยมที่กลับมาในภาพลักษณ์ที่เหมือนกับสร้างในสมัยเดียวกับเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว (อย่าบอกนะว่าจงใจให้มันดูต่อเนื่องกัน เหมือนอินดี้ 4) ยกเว้นตัวละครที่แก่ขึ้น และตัวละครกลุ่มใหม่ ที่ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย

ความจริงแม้ผมจะโตมากับหนังชุดบุญชู แต่ก็ไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือชื่นชอบหนังชุดนี้มากมายนัก ยกเว้นจะลุ้นให้หนังทำเงินสูงๆ เพราะในอดีต ยิ่งภาคต่อ ยิ่งได้เงินมากขึ้น อ้อ ความจริงผมออกจะรำคาญหนังชุดนี้ตอนท้ายๆที่มีเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายทุกภาคด้วยซ้ำ ปรากฏว่า มันกลับมาในเวอร์ชั่นล่าสุดนี่ด้วยครับพี่น้อง (แต่ก็เดาได้เนาะ ว่ามันต้องมีฉากประมาณนี้)

ด้วยพล็อตเรื่องที่เบาบาง (เหมือนเอาภาคแรกมารีเมค) หนังเดินหน้าด้วยคาแรกเตอร์ตัวละครทั้งเก่า (กับคาแรกเตอร์และมุขเดิม) และใหม่ (กับคาแรกเตอร์ที่ดูเลื่อนลอย ไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับรุ่นพ่อ) จนเหมือนกับการดูซิตคอมมากกว่าดูหนังเรื่องยาว (และยิ่งการปล่อยมุขแบบเล่นคำ ตอกย้ำ พร้อมพูดเสียงดังๆ มันซิตคอมซีนาริโอชัดๆ) และตัวละครแบบกลุ่มก้อน คิดอะไรตรงกัน เห็นพ้องต้องกันไปหมด สนิทสนมกันรวดเร็ว พูดจาเออออห่อหมก ผิดใจกัน แล้วก็เคลียร์ง่ายๆในแง่ nostagia มันอาจได้ แต่ในแง่ของหนังปัจจุบัน มันง่ายไปหน่อยไหม

จุดที่หนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้ คือการรวมให้รุ่นพ่อกับรุ่นลูกเหมือนหนังเรื่องเดียวกัน มากกว่าเหมือนดูหนังสองเรื่องที่ขึ้นจอสลับกันแบบนี้ โดยเฉพาะบทบาทของบุญชู และความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง (บุญชูอยากให้ลูกบวช แล้วไง บุญชูรู้ว่าลูกสึก แล้วไง ไม่มีผลต่อเนื้อเรื่องเลย หรือแม้แต่ซีนแบบพ่อลูกผูกพัน ยังไม่มีเลย) อย่าลืมว่านี่คือหนังบุญชู ไม่ใช่บุญโชค อย่างน้อยๆอิทธิพลของบุญชูที่มีต่อบุญโชค(ที่ไม่ใช่แค่การพูดเหน่อ และความซื่อ) ก็ควรให้ความสำคัญมากกว่านี้

จุดดีของหนังคือการแทนที่จรัญ มโนเพชรของแอ๊ด คาราบาว เป็นการเลือกที่ลงตัวมาก แถมยังมีการโผล่ให้เห็นหน้าด้วย (แม้จะคล้าย There is something about Mary นิดหน่อบ กับการเห็นหน้าคนร้องเพลงประกอบ) แต่ความจริงจุดนี้สมัยจรัญก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของหนังชุดนี้อยู่แล้ว ดังนั้นถือว่าเสมอตัวครับ

ปล. อ่านกระทู้บุญชู กระแสบวกมากๆ ผมผิดปกติไหมเนี่ย


โดย: wu IP: 125.26.139.229 วันที่: 14 กันยายน 2551 เวลา:0:08:13 น.  

 
ผมคิดว่าบุญชูภาคนี้พอสอบผ่านเฉยๆ ครับ หนังมีจุดที่น่าหนักใจมากคือการโผล่มาของน้าแอ๊ด โผล่มาสองทียังพอว่านี่โผล่มามากเกินความจำเป็น อีกจุดที่รับไม่ได้เลยโฆษณาแฝงอย่างหน้าด้าน ดูไม่เข้าท่าเลย

นักแสดงรุ่นเล็กสอบผ่านในการแสดง แต่ยังหาความตลกไม่เจอ

ส่วนกรณีเรื่อง สึก ไม่สึก จริงๆ แล้วเป็นการแสดงให้เห็นความขัดแย้งของคนที่มีครอบครัวแล้วครับ เป็นจุดที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของตัวละครสองคนนี้ โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่ดีมากของหนัง โดยเฉพาะฉากที่ทั้งสองคนคือ บุญชู กับ โมลี คืนดีกัน


โดย: yuttipung IP: 58.9.191.14 วันที่: 10 ตุลาคม 2551 เวลา:10:54:15 น.  

 
ผมไม่ใช่แฟนยุทธเลิศ ผมไม่ใช่แฟนโน๊ตอุดม ถ้าผมจะไม่ดูอีติ๋มตายแน่ ก็คงไม่แปลกอะไร แต่ที่แปลกคือพอไปดูแล้ว ผมกลับรู้สึกดีกับยุทธเลิศ และโน๊ตอุดมขึ้นมาอีกนิดนึง

ช่วงแรกของหนังยังเฉยๆ แต่พออิเตมิโผล่เข้ามาในเรื่อง หนังดูดีขึ้นทันตา และมั่นคงกับแนวทางตลกปนเศร้าๆไปได้ตลอดเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทตึ๋งของโน๊ตอุดมนี่มันบทดราม่าที่ถูกเขียนมาแบบดีมากๆบทหนึ่งในหนังไทยทีเดียว (และเพราะบทดีๆในครึ่งหลัง ฉุดให้ครึ่งแรกที่ตอนดูอาจเฉยๆ ดูดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการปูพื้นตัวละคร)

เท่าที่ทราบ ที่มาของหนังเรื่องนี้มันแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ คือที่มามาจากชื่อภาษาอังกฤษของหนัง Kill Tim ที่อาจเป็นแค่มุข หรือการประชดเสียดสี โดยที่ยังไม่มีพล็อตเรื่องรองรับด้วยซ้ำ ตามด้วยชื่อภาษาไทย (เอาเพลงลูกทุ่งรักคนชื่อติ๋มผสมไอ้หวังตายแน่) ที่ฟังแล้วก็ฮา แต่(คาดว่า )ยังไม่มีพล็อตเช่นเดิม ตามด้วยตัวอย่างหนังก่อนเปิดกล้อง ล้อเลียน Casino Royal ซึ่งก็ตลกดี แต่(คาดว่า)หนังก็ยังคงไม่มีพล็อตเรื่อง (วึ่งหนังจริงๆจับเอาตัวอย่างนี้เป็นฉากความฝันของพระเอกที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่องเลย) จนกระทั่งหนังจริงๆออกมา มันห่างจากความคาดหมายค่อนข้างไกล แต่จะว่าไป มันอาจออกมาดีกว่าถ้าออกมาตามที่คิดก็ได้

จุดเด่นของยุทธเลิศนอกจากความสามารถในการคิดบทพูดเก๋ๆ โดนๆ คือความสดในการกำกับ ที่ดูเหมือนใช้สัญชาตญาณมากกว่าการทำอะไรที่วางแผนมาแล้วเป๊ะๆๆ ซึ่งส่วนใหญ่มันไม่ค่อยเวิร์ค(ไม่ว่าใครจะกำกับ) แต่มันเวิร์คในหนังเรื่องนี้ อย่างแรกเพราะการที่หนังพูดถึงคนธรรมดาๆ ค่อนไปทางชั้นล่างของสังคมที่ไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรนัก และความง่ายของเนื้อเรื่องที่เล่นกับความรู้สึกมากกว่าความซับซ้อน หรือขัดแย้งของเรื่องราว ถึงแม้หนังจะยังมีฉากขาดๆเกินๆอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่รับได้ ซึ่งบางที ฉากขาดๆเกินๆพวกนี้ยังน้อยกว่าหนังบางเรื่องที่วางแผนดีๆแต่ผู้กำกับไม่แม่นเสียอีก

ตัวละครหญิงในหนังของยุทธเลิศยังคงโดดเด่น มีเสน่ห์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสาวแม้ว หรือสาวยุ่นในเรื่อง โดยเฉพาะคนหลัง ฉากที่ตึ๋งกำลังจะสลบแล้วหันมาเห็นเธอยิ้ม ชูสองนิ้ว กับฉากในห้องพักตอนท้าย ช่วยให้คนดูเข้าใจความรู้สึกของตึ๋งมากๆ (ฉากหลังนี้ต้องชมโน๊ตด้วย) ส่วนคริสก็ใส น่ารัก แม้บทจะน้อยไปนิดก็ตาม

อีติ๋มตายแน่ ยังไม่อาจจัดว่าเป็นหนังดีครับ แต่เป็นหนังที่ราบลื่น กลมกลืน และอยู่ในมือของคนที่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ในภาวะที่ไม่มีหนังดีๆเข้าอย่างปัจจุบันนี้ เรื่องนี้นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ


โดย: wu IP: 125.26.142.167 วันที่: 12 ตุลาคม 2551 เวลา:23:56:46 น.  

 
กลับไปนอนคิดถึงอีติ๋มมาคืนนึง รู้สึกกับหนังมากขึ้น เลยเปลี่ยนเป็นชอบแล้วครับ

จุดที่ตัวเองเพิ่งคิดออก คือการที่หนังเล่นกับความเฟคของตัวละครได้ดี โดยเฉพาะกับบทตึ๋ง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรก ตั้งแต่เปิดเรื่องจนกระทั่งเจออิเตมิ ตึ๋งมีชีวิตอยู่กับการเฟคมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ(ต่อยมวยหลอกๆ) ทัศนะ (การทึกทักว่าคนโน้นคนนี้มาชอบตัว และชิงบอกเลิกก่อน) กายภาพ (การย้อมผมเป็นสีทอง) รวมไปถึงการมองคนอื่นๆว่าเขาเฟคไปหมด (มุมมองที่เขามองมะขิ่น) จนกระทั่งการเข้ามาของอิเตมิ

ช่วงที่สอง การรู้จักกับอิเตมิ ตึ๋งเริ่มมองโลกในความจริงมากขึ้น อย่างน้อยๆก็กับอิเตมิ (การโชว์จระเข้ การยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่ฮีโร่ การขึ้นชกมวยจริงๆ เจ็บจริงๆกับสะท้านฟ้าต่อหน้าอิเตมิ) ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ความจริง 100% (ผมที่ยังย้อมทอง เพลงร้องจีบอิเตมิแบบลิปซิงค์) ในขณะตัวละครที่กลายเป็นฝ่ายเฟคคืออิเตมิ และสะท้านฟ้า (คนแรกชัดเจน ฉากให้น้ำดื่ม และสีหน้าที่เธอแสดง คนหลังคือการหลอกตึ๋งต่างๆนานา และหนังยังแสดงอย่างชัดเจนอีกในฉากชกมวยในมุมมองของสะท้านฟ้าที่ออกมาในรูปแบบอนิเมชั่น) ซึ่งเทียบกันแล้ว การเฟคของตึ๋งในช่วงแรกเป็นเรื่องเด็กๆไปเลย

ช่วงที่ 3 หลังจากตึ๋งได้เรียนรู้ เขาเลิกย้อมผม กลับมาสีดำเหมือนเดิม เขาเดินทางไปหามะขิ่น และเรียนรู้ว่านั่นคือของจริง และการที่เขาร้องเพลงจีบมะขิ่นด้วยน้ำเสียงของเขาจริงๆ ในช่วงสาม ซึ่งไม่ยาวนานนัก และดูเหมือนส่วนเกินในการดูครั้งแรก แต่มาคิดดูนี่คือการทำให้เรื่องราวของตึ๋งจบได้อย่างลงตัวและสวยงาม กับสิ่งที่เขาเรียนรู้ และทำให้ผมชอบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาจากเมื่อวานที่เพิ่งดูเสร็จอย่างรวดเร็ว


โดย: wu IP: 125.26.143.245 วันที่: 13 ตุลาคม 2551 เวลา:23:56:40 น.  

 
อีติ๋ม ตายแน่เกี่ยวกับชีวิตคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เปรียบเทียบกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา จุดนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดของหนังเลยทีเดียว


โดย: yuttipung IP: 58.9.206.5 วันที่: 14 ตุลาคม 2551 เวลา:13:35:32 น.  

 
ผลคิดไปไม่ถึงจุดนั่นครับ คุณยัติภังค์ รู้สึกเหมือนกันว่าหนังแอบแฝงการเมืองบ้าง แต่ยังจับจุดอะไรไม่ได้ ถ้าไม่รบกวน ช่วยขยายความให้ฟังหน่อยซิครับ (อย่าบอกนะครับ ว่าให้ไปรออ่านใน Filmax 555)


โดย: wu IP: 202.12.97.117 วันที่: 14 ตุลาคม 2551 เวลา:14:31:19 น.  

 
หนังไทยที่คาดหวังมากที่สุดของปีนี้ ปรากฏว่าก็ยังผิดหวัง กับปืนใหญ่จอมสลัด (เอ ทำไมปีนี้ไม่ค่อยมีหนังที่สมหวังเลยเนี่ย)

นนทรีย์เปิดตัวครั้งแรก ก็กลายเป็นความหวังใหม่ของวงการหนังไทยทันที กับ 2499 อันตพาลครองเมือง และตอกย้ำอีกครั้งกับนางนาก จุดเด่นของนนทรีย์คือเขาคุมโทน คุมบรรยากาศหนังได้อยู่หมัด แม้ว่าจะมีงบประมาณจำกัดจำเขี่ย (โดยเฉพาะ 2499 ที่หนังใช้ภาพนิ่งมาประกอบการเล่าเรื่อง เพื่อเลี่ยงฉากย้อนยุคใหญ่ๆได้ลงตัว และฉลาดมาก) และการทำหนังที่เห็นชัดเจนว่าผ่านการคิด การค้นคว้า การวางแผนที่ดีกว่าหนังไทยทั่วๆไป โดยเฉพาะมือซ้ายขวาที่สุดยอดมากๆ คือวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยงที่มาช่วยเรื่องบท และเอก เอี่ยมชื่นในด้านของงานกำกับศิลป์

แต่หลังจากนั้น งานของนนทรีย์กลับดิ่งลงเรื่อยๆ แม้จะได้ทุนสร้างมากขึ้น อำนาจในการต่อรองมากขึ้น ปัญหาคือการที่เขาเกร็งมากขึ้น เล่าเรื่องในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ตัวละคร และเรื่องที่เล่าเยอะขึ้น ทะเยอทะยานมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่เขากลับคุมไม่อยู่หมัดเหมือนเคย ที่ชัดเจนคือ The wheel ซึ่งเป็นหนังสั้นใน Three ที่นนทรีย์ทำราวกับหนังยาวๆเรื่องหนึ่ง แล้วมาตัดต่อให้เป็นหนังสั้น ที่ดูยังไงก็ไม่ลงตัว และเป็นหายนะในการทำหนังของนนทรีย์อย่างแท้จริง (แม้ว่างานสร้างจะดีกว่าสมัยแรกๆเยอะ)

ปัญหาของ The Wheel คือปัญหาเดียวกับที่พบในปืนใหญ่จอมสลัด กับเรื่องราวที่ชัดเจนว่าเขียนมาเยอะกว่านี้ ถ่ายมาเยอะกว่านี้ แล้วตัดต่อแบบพยายามเก็บทุกอย่างไว้ อย่างละเล็กละน้อย เลยกลายเป็นหนังที่ขาดๆเกินๆ และไม่มีฉากที่สามารถดึงอารมณ์ให้ต่อเนื่องได้เลย (อารมณ์ประมาณหนังกลุ่มสุริโยไท พระนเรศวร)

จุดเด่นที่ยังคงเหลืออยู่ คืองานสร้างฝีมือเอก เอี่ยมชื่น แต่ปรากฏว่าต้องแบ่งงานส่วนนี้ให้กับซีจี ซึ่งฉากซีจีที่โชว์งานสร้าง ก็ดูหลอกตา และโดดจากฉากอื่นๆอีกต่างหาก (ส่วนซีจีทั่วๆไป เยี่ยมครับ) แต่นอกเหนือจากกำกับศิลป์และเครื่องแต่งกาย องค์ประกอบอื่นๆเช่นดนตรี การถ่ายภาพ กลับดูธรรมดา (และบางครั้งก็เป็นส่วนเกิน) อย่างไม่น่าเชื่อ

นนทรีย์ไม่ใช่ผู้กำกับที่เก่งเลย ในแง่ของการเล่าเรื่องและกำกับการแสดง การเล่าเรื่องแต่ละฉาก การเชื่อมโยงของฉาก การควบคุมอารมณ์ในแต่ละฉากให้ต่อเนื่อง ดูธรรมดาๆไปเสียหมด ไปจนถึงความสับสนเรื่องเวลา(การเกิดก่อนหลัง การทิ้งช่วงห่างของเวลาแต่ละเหตุการณ์) การแสดงออกแนวแข็งยกกลุ่ม ยกเว้นจารุณีกับสรพงษ์ที่อาศัยความเก๋าเอาตัวรอดไปได้ และยิ่งมาเจอตัวละครกลุ่มใหญ่ ไม่โฟกัสใครเป็นพิเศษ และกระจายความสำคัญแบบผลัดกันเด่นคนละฉาก สองฉาก เลยกลายเป็นการทำร้ายตัวละครไม่น้อย

และระหว่างดู ก็อดคิดถึงสตาร์วอร์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงด้านมืด ด้านสว่าง การฝึกวิชา การเปิดเรื่องเหมือนกับเล่าตำนาน หรือแม้แต่การแต่งตัวของเหล่าเจ้าหญิง ก็อดคิดถึงอมิดาลาไม่ได้ อีกอย่างคือตัวละครที่มีบุคลิกสลับกันไปมา แบทแมนมีทูเฟซ สไปเดอร์แมนมีกรีนก็อปลิน ของเราก็มีกระเบนขาว กระเบนดำแฮะ

อ้อ เกือบลืมพูดถึงคุณวินทร์ ผมยังคิดว่าคุณวินทร์เป็นคนเก่ง ละเอียด สร้างสรรค์ ใช้ภาษาเก่ง และอัจฉริยะเหมือนเดิมครับ แต่การเขียนบทหนังมันแค่เป็นจุดเริ่มของกระบวนการทำหนังทั้งเรื่อง จากหนังที่ออกมา ไม่สามารถพูดได้ว่าบทดีครับ แต่ผมยังเชื่อว่าบทต้นฉบับก่อนถ่าย น่าจะมีของมากกว่านี้มากมาย


โดย: wu IP: 125.26.140.43 วันที่: 25 ตุลาคม 2551 เวลา:1:10:57 น.  

 
^
^
ก็คงต้องให้ไปอ่านใน Filmax แหละครับ เขาจ้างผมมา จะเอาไปลงให้ที่อื่นอ่านก่อนก็ใช่ที่ ต้องขออภัยครับ

ส่วน ปืนใหญ่จอมสลัด เห็นได้ชัดว่าปัญหาของนนทรีย์คือกำกับการแสดง ส่วนบทไม่ได้เลวร้ายครับสำหรับงานพาณิชย์ ผิดที่การถูกตัดทอนจนเหลือแต่ฉากต่อสู้ซ้ำๆ


โดย: yuttipung IP: 58.9.220.136 วันที่: 28 ตุลาคม 2551 เวลา:16:24:55 น.  

 
Quantum of Solace

007 ตอนที่ 22 มาในจังหวะที่ไม่มีหนังดูพอดีเลย ถึงแม้ว่าการโปรโมทภาคนี้จะดูเฉื่อยๆไปบ้าง (ยังไม่ค่อยเห็นตัวอย่าง หรือเบื้องหลังซักเท่าไรเลย เมื่อเทียบกับตอนก่อนๆที่ได้ดูล่วงหน้าเป็นเดือน) และกระแสก็ไม่แรงเท่าไร (อาจเพราะเปิดตัวก่อนอเมริกาตั้ง 1 สัปดาห์) แต่ก็ถือว่าน่าดูที่สุดในขณะนี้แล้ว

007 ที่ผมชอบมากที่สุดคือ The Living Daylight อาจเพราะเป็นช่วงแรกที่ดูหนังเป็น และเนื้อเรื่องซับซ้อนกำลังดี ความสนุก และบทโรแมนติกของหนังลงตัวไปหมด (ตอนหลังเลยงงงงว่าพอพูดถึงเจมส์ บอนด์นี่คือตอนที่คนชอบจัดให้อยู่ในกลุ่มแย่) และเป็นต้นเหตุให้ผมต้องไปหาตอนเก่าๆมาดูจนครบ จนถือว่าตัวเองเป็นแฟนบอนด์คนหนึ่ง แม้จะจำรายละเอียดแต่ละตอนไม่ได้สักเท่าไร

บอนด์เริ่มมาจับกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ๆในยุคของเพียส บรอสแนน แต่ส่วนตัวผม นี่คือยุคที่ผมเริ่มเบื่อหน่าย และชักจะตีตัวออกห่างหนังชุดนี้แล้ว เพราะเนื้อเรื่องง่ายๆ แผนการณ์ง่ายๆ คลี่คลายง่ายๆ มุขตลกง่ายๆ และฉากแอ็กชั่นโม้ๆ (เรื่องที่ชอบที่สุดในยุคนี้คือ The world is not enough แต่ก็เป็นตอนมีข้อเสียเยอะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้าย(ที่ไม่ร้ายจริงๆ) และนางเอก ที่ดูน่ารำคาญไปหน่อย)จนกระทั่งการมาถึงของ Casino Royal ที่บอนด์กลับมาในมาดดิบ เถื่อน บทที่ซับซ้อน คมคายมากขึ้น แม้จะยังผิดหวังกับบทผู้ร้าย

มาถึงภาคล่าสุด ที่เดินเรื่องต่อเนื่องจาก Casino Royal (แนะนำว่าควรทบทวน Casino Royal ก่อนดูภาคนี้ครับ ไม่งั้นจะงงเป็นช่วงๆแบบผม) หนังเดินเรื่องเร็วขึ้น และฉากแอ็กชั่นที่มีมากขึ้น ตัดต่อไว และเนื้อเรื่องที่แทบจะไม่มีช่องว่างให้ผ่อนคลายเลย ส่วนตัวผมให้คะแนนคุณภาพภาคนี้สูสีกับ Casino Royal (ซึ่งเหนือกว่ายุคบรอสแนนมากๆ) และยิ่งถ้าจับเอาสองภาคล่าสุดรวมกัน จับหารใหม่ เอาการหักเหลี่ยมเฉือนคมใน CR และแอ็กชั่น ฉับไวของ QoS มาเฉลี่ยให้พอๆกันทั้งสองภาค จะได้หนังบอนด์ที่เยี่ยมยอดมากครับ

ข้อเสียของบอนด์สองภาคล่าสุดนี้คือการทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติ หรือตีความหลายๆอย่างเปลี่ยนไป ซึ่งอาจไม่ตรงใจคนชอบความคลาสสิคของหนัง แต่ถ้ามองในแง่คิดใหม่ทำใหม่ หนังทำหน้าที่ได้ดีในการปูพื้นฐานให้บอนด์อย่างหนักแน่น และหลายๆอย่างที่รอการเรียนรู้ต่อไป อย่างบทบอนด์ที่มีพัฒนาการตั้งแต่ตอนต้นของ CR มาถึงตอนท้าย และต่อมาที่ตอนต้นของ QoS และไปจนจบ ที่คาแรกเตอร์ก็เติบโตขึ้นอีกระดับ ในขณะที่ผู้ร้ายแต่ละภาคอาจร้ายไม่เท่าไร แต่ถ้ามาคิดว่านี่คือแค่น้ำจิ้มขององค์การควอนตัม ก็ชวนให้คาดหวังถึงบทบาทขององค์การนี้ที่จะมีต่อตัวหนังชุดนี้ต่อไปในอนาคต


โดย: wu IP: 125.26.143.238 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2551 เวลา:1:09:01 น.  

 
แอบหลบความวุ่นวายของบ้านเมืองตอนนี้ ไปดู Twilight ดีกว่า

จากกระแสของหนังและหนังสือที่ดังมากๆ การโปรโมทที่เน้นดาราหน้าตาดียังกะหลุดจากแมกกาซีนถ่ายแบบเนี้ยบๆสักเล่ม และเรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์ที่ปกติจะแฝงด้วยความลึกลับ และเซ็กซี่ ทำให้รู้สึกตั้งแต่แรกว่าหนังเรื่องนี้น่าดู แม้จะไม่ใช่แฟนหนังสือเหมือนใครๆเขา

แต่พอดูแล้ว หุหุ ผิดหวังแฮะ อย่างแรกเลยที่เรื่องราวที่ง่าย คาดเดาได้ ไม่นี้แง่มุม หรือความซับซ้อนมากมาย ขาดพัฒนาการของตัวละคร ซึ่งเป็นลักษณะปกติของนิยายยุคอินเตอร์เน็ต (ยุคที่ใครๆก็เป็นนักเขียนได้ เขียนนิยายเป็นตอนๆลงเน็ต มีแฟนติดกันงอมแงม ในขณะที่เนื้อหานิยายมุ่งตอบสนองอารมณ์และจินตนาการส่วนตัวของผู้เขียน ไม่จำเป็นต้องมีพล็อตเรื่องซับซ้อน เป็นเหตุเป็นผล แค่เขียนไปข้างหน้าเรื่อยๆ) ซึ่งคุณภาพในเนื้อเรื่องหนังเรื่องนี้ ก็ประมาณในวงเล็บนั่นแหละครับ

นอกจากเนื้อเรื่องที่ไม่ได้โดดเด่น มาเจอกับบทแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ และการกำกับแบบไม่มีจุดเด่นอะไรอีก หนังเลยตอบสนองนักดูหนังไม่ได้เลย นอกจากการตอบสนองเด็กวัยรุ่นที่ไม่คิดอะไรมาก ที่หนังดีวัดจากการมีดาราหน้าตาดีขายเสน่ห์กันไปมา และบทบาทที่ตอบความต้องการลึกๆของคนดู (ความหื่นของนางเอกเป็นตัวอย่างที่ดีมาก) มุขตลกเล็กๆน้อยๆ และเนื้อเรื่องแนวแฟนตาซี (พร้อมกับเทคนิคพิเศษในหนัง)

ถ้าแฟนหนังเรื่องนี้มาอ่านที่ผมเขียนในบล็อกนี่ คงรุมสกรัมผมแย่แน่ๆเลย


โดย: wu IP: 125.26.145.205 วันที่: 29 พฤศจิกายน 2551 เวลา:23:20:19 น.  

 
คาดหวังองค์บาก2 ระดับหนึ่ง และหนังก็ออกมาดีกว่าที่คิดครับ

หน้าหนังชัดเจนว่าเป็นสหมงคล เพราะเหมือนกับการรวมเอาหนังปรัชญา-พันนา พระนเรศวร ปืนใหญ่จอมสลัดไว้ด้วยกัน แถมออกมาดีกว่าแต่ละเรื่องที่ออกมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ

ในกลุ่มหนังปรัชญา-พันนา หลังจากประกาศแนวทางตัวเองจากองค์บากภาคแรก แต่จากนั้นหนังกลับย่ำอยู่กับที่ เริ่มจากเปิดฉากเกริ่นนำเรื่องได้อย่างน่าคาดหวัง โปรดักชั่นยอดเยี่ยม แต่พอถึงตอนเดินเรื่องจริงๆ หนังกลับไม่ไปไหน นอกจากไล่เรียงฉากแอ็กชั่นจาก 1 ไป 2 ไป 3 โดยที่ไม่ได้มีพัฒนาการของเนื้อเรื่อง นอกจากการเปลี่ยนฉากหลังและคู่ต่อสู้ จนถึงฉากแอ็กชั่นสุดท้าย แล้วก็จบ ฉากต่อสู้ในองค์บาก 2 ก็ยังไม่หลุดกรอบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อเรื่องก็มีการพัฒนาไปข้างหน้าเช่นกัน(แม้จะน้อยนิดก็ตาม)

พระนเรศวรและปืนใหญ่จอมสลัดมีจุดเด่นที่โปรดักชั่น แต่มีจุดอ่อนที่การตัดต่อเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการพยายามยัดๆไอ้ที่ถ่ายมาลงในเวลาจำกัดให้ได้มากที่สุด และหลายๆครั้งยังมีลักษณะเป็นท่อนๆ ไม่ต่อเนื่อง และสะดุดแทบทุกครั้งที่ตัดไปฉากใหม่ องค์บาก 2 เอาจุดเด่นเรื่องงานสร้างมาใช้เต็มที่แถมการสะดุดระหว่างฉากน้อยมาก อยู่ในระดับรับได้ ซึ่งอาจเพราะหนังไม่ได้เร่งรีบที่จะตัดให้จบแค่ในภาคนี้ก็ได้ นอกจากนี้ หนังทั้งสามเรื่องนี้ยังมีจุดร่วมที่คล้ายกันในเนื้อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกวิชา (ที่มีสรพงษ์เป็นอาจารย์) การที่ตัวเอกเดินอยู่บนขอบของด้านมืดและด้านสว่าง ตลอดจนเนื้อเรื่องกึ่งกำลังภายใน กึ่งอิงประวัติศาสตร์

จุดเด่นหลักๆขององค์บาก 2 มีประมาณ 4 อย่าง

1. จาพนมในฐานะนักแสดง แม้บทจะไม่มีอะไรมาก แต่ฉากแอ็กชั่นต่างๆเขายังเป็นมือวางต้นๆของโลกภาพยนตร์
2. โปรดักชั่น ยอดเยี่ยม ไม่หลุดเลย มุมกล้องหลากหลาย ซีจี(ส่วนใหญ่)เนียน แถมจะว่าไป ดีกว่าปืนใหญ่จอมสลัดด้วยซ้ำ
3. บทหนัง โดยเอก เอี่ยมชื่น มีช่วงเชยบ้างตอนเสียงบรรยาย แต่กับโจทย์ที่บังคับว่าต้องโชว์แอ็กชั่นเป็นระยะ เอกทำได้ดีกับการใส่บทดราม่ามาอย่างพอดี และลูกเล่นในการใช้แฟลชแบ็ค (เกือบเทียบเท่าหนังที่มีฉากแฟลชแบ็คดีที่สุดของไทย ฟ้าทะลายโจร ที่คุณเอกก็มีเอี่ยวในหนังเรื่องนั้นด้วย) แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากการเป็นจุดแข็ง บทก็เป็นจุดอ่อนของหนังเรื่องนี้ไปในตัวด้วย
4. การกำกับของจาพนม คุมหนังอยู่ เรียกการแสดงดีๆจากตัวละครได้ (โดยเฉพาะพระเอกตอนเด็ก แสดงได้เหมือนจามาก) มีลูกเล่นกับมุมกล้อง การตัดต่อ สำหรับการกำกับครั้งแรก ยอดเยี่ยมมากครับ

จุดอ่อน
การที่หนังไม่ได้ตั้งใจจะทำ 2 ภาคแต่แรก แล้วอยู่ๆมาแบ่งอย่างนี้ ทำให้หนังไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่ว่าหนังจะต้องจบแบบคลี่คลาย แต่การที่ไม่ได้อยู่ในแผนทำ 2 ภาคแต่แรก ทำให้หนังขาดจุดเด่น (ลองดูซีรีย์ฝรั่ง ถึงจะจบไม่คลี่คลาย แต่มันก็จบอยู่ในธีมของซีซันนั้นๆ ไม่ใช่ตัดจบเก๋ๆเฉยๆ) ความจริงจากเนื้อหานี้ องค์บาก2 สามารถหาธีมได้ชัดเจน (เช่นอาจชูประเด็นเรื่องพ่อ เพิ่มฉากผูกพันพระเอกกับพ่อ เพิ่มฉากผูกพันพระเอกกับสรพงษ์ที่เปรียบเสมือนพ่ออีกคน แล้วนำสู่ความสะเทือนใจในตอนจบ) แต่เพราะไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน เลยไม่มีธีมชัดเจน ไม่งั้น หนังจะออกมาดีกว่านี้ครับ


โดย: wu IP: 125.26.154.218 วันที่: 8 ธันวาคม 2551 เวลา:23:18:27 น.  

 
ผมว่าเนื้อหาในองค์บาก 2 ถ้ามองลึกๆ คิดดูว่าถ้าไม่ใช่หนังของ จา พนม คงไม่มีทางได้เขียนแน่ๆ ครับ ประเทศราชที่โดนเสนาจากเมืองอโยธยาข่มเหง อืมม์...


โดย: yuttipung IP: 58.9.186.116 วันที่: 12 ธันวาคม 2551 เวลา:14:35:51 น.  

 
ดู Happy Birthday มาแล้วครับ

จาก Me,Myself หนังเรื่องแรกของพงษ์พัฒน์ที่ถูกใจคนดูหลายคน แต่สำหรับผม นอกจากการแสดงของอนันดาและฉายนันท์ หนังน่าผิดหวังมากๆ กับมุมมองของผู้กำกับที่มีต่อการตัดสินใจของตัวละครในหนัง ที่มองความรักในแง่มุมสวยงาม โดยมองข้ามความสมจริงของความเป็นไปได้

มาถึงงานชิ้นที่สอง พงษ์พัฒน์เจนจัดและแม่นยำมากขึ้นในการกำกับ แม้ว่าจุดอ่อนและจุดแข็งจะยังเหมือนเดิมกับ Me,Myself แต่ก็ได้รับการพัฒนาในในแนวทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องของการแสดงที่ยังเป็นจุดแข็ง (อนันดามาในลีลาการแสดงถอดแบบมาจากพงษ์พัฒน์ในบทบาทหนึ่งที่ผมประทับใจ จากละคร ขอให้รักเรานั้นนิรันดร) ความสมจริงในการตัดสินใจตัวละคร ก็ยังเป็นที่น่ากังขา แต่การปูเรื่อง ปูน้ำหนักให้หนังแน่นกว่า Me, Myself ทำให้คนดูยอมรับ HBDได้มากกว่า Me, Myself ซึ่งผมถือว่าเป็นพัฒนาการ

ในช่วงต้นกับอารมณ์กุ๊กกิ๊ก ใสๆ พงษ์พัฒน์ อนันดา ฉายนันท์ทำงานเข้าขากันได้ดีมากๆแม้ว่าหนังแทบจะไม่มีเนื้อเรื่อง (นึกถึง One fine spring day แต่เป็นเวอร์ชั่นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า ย่อยให้คนดูเรียบร้อย) จนมาถึงจุดหักเหของเรื่องที่หนังเปลี่ยนโทนให้นิ่งขึ้น ลึกขึ้น กดดันมากขึ้น (แต่บันเทิงน้อยลง) พงษ์พัฒน์ค่อยๆเปลี่ยนโทนหนังได้อย่างกลมกลืน ก่อนจะไปพลิกอารมณ์อีกครั้งในช่วงท้าย ซึ่งเสี่ยงมากๆกับการอาจจะออกมาตลก แทนที่จะซึ้ง ซึ่งส่วนตัวผมให้ช่วงท้ายผ่านแบบหวุดหวิด (ตัดสินจากตัวเองแอบบหัวเราะนิดนึง)

HBD เป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ราบลื่น กลมกลืน มีการตัดต่อลำดับภาพที่ดี (ซึ่งลำดับภาพมักเป็นจุดอ่อนของหนังไทยโดยทั่วๆไป) อาจจะไม่ใช่หนังที่ดีมากจนขึ้นทำเนียบหนังประทับใจ แต่ในปีที่หนังไทยคุณภาพหดหายอย่างปีนี้ ผมให้หนังเรื่องนี้ อยู่แถวหน้าของหนังไทยที่เข้าฉายในปีนี้เลย


โดย: wu IP: 125.26.139.104 วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:0:20:17 น.  

 
ฝัน หวาน อาย จูบ มีความผิดพลาดอยู่ที่การโปรโมทว่าเป็นหนังโรแมนติกจิ๊ดๆ 4 สไตล์ ตรงกับชื่อภาษาอังกฤษ 4 Romances ทั้งที่ความจริงถ้าไม่ติดตรงชื่อภาษาอังกฤษ และการโปรโมท หนังก็ไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก

จูบ: หนังสั้น มุขง่ายๆ และการตัดต่อ ถ่ายทำสไตล์เด็กแนว แต่บังเอิญผู้กำกับยังทำได้ไม่โดน กวนได้ไม่มากพอ เด็กแนวเลยออกแนว wannabe มากกว่าความสด ใหม่ แรง ตามสไตล์ที่วางเอาไว้ ถ้าได้ผู้กำกับแบบเรียว กิตติกร หนังอาจออกมาดีกว่านี้ แต่เท่าที่ได้มา เป็นตอนที่ถูกลืมได้ง่ายที่สุดในบรรดา 4 ตอนเลยครับ

อาย: เนื้อเรื่องบางเบา บรรยากาศใสๆ โลเกชั่นสวยๆ พระเอกหล่อ นางเอกน่ารัก สมกับความเป็นหนังโรแมนติกสักเรื่อง แต่เรื่องที่เบาจริงๆ และบทที่ยังดูไม่ธรรมชาติ และคมคายพอสำหรับหนังโรแมนติกคอมเมดี้ดีๆ เลยดูไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงฉากนางเอกรั่ว หนังดูสนุกและลงตัวขึ้นมาทันทีทันใด และรักษาระดับไปจนจบตอน ถือว่าโอเคค่อนไปทางบวกครับ สำหรับอาย

หวาน: พล็อตเรื่องดี นักแสดงโอเค แต่การเล่าเรื่องยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไร ปัญหาหลักๆคือชาคริตและนุ๊กตอนอายุมาก ดูหลอกตา และจงใจทำแก่มากเกินไป (ถ้าเรื่องนี้เอานักแสดงสัก 3 รุ่น 6 คนมาแสดงอาจลงตัวกว่านี้ โดยเพิ่มรุ่นอายุมาก ขอเสนอนิรุจน์ ศิริจรรยา และภาวนา ชนะจิต) อีกทั้งการเดินเรื่องที่กินเวลายาวนาน แต่ไม่ค่อยเห็นบรรยากาศ หรือของประกอบฉากตามยุคสมัยนัก (นับจากตอนสายป่านถ่ายโฮมวิดีโอ ถึงตอนชาคริตเปิดดู ระยะเวลาห่างกันประมาณ 40 ปี ซึ่งแม้แต่ปัจจุบัน เครื่องเล่นวิดีโอก็แทบหาไม่เจอแล้ว หรือถ้าจะนับชาคริตตอนดูวิดีโอเป็นปัจจุบัน ย้อนหลังไป 40 ปีเขามีโฮมวิดีโอกันแล้วเหรอ) อ้อ อีกอย่างหนึ่ง ดูหนังตอนนี้แล้วนึกถึง Happy Birthday ที่พึ่งดูไป และที่จริงชื่อ HBD อาจเหมาะกับหนังตอนนี้มากกว่าหวาน และมากกว่าหนัง HBD ด้วยซ้ำ

ฝัน: กับการขาย 2 อย่าง คือตัวเรื่องหลักที่ว่าด้วยความฝันของเด็กหญิง ก่อนจะพบว่าคนที่อยู่ในความจริงต่างหาก ที่จะเป็นตัวจริงของเธอ และการขายวงออกัส แต่ผู้กำกับกะขายทั้งสองส่วน เลยทำให้ไม่ค่อยลงตัว โดยเฉพาะวงออกัส ที่ควรจะเป็นแค่ตัวละครหนึ่ง (คือตัวแทนความฝัน) และให้น้ำหนักพอๆกับบอย (ตัวแทนความจริง) แต่พอจะขายออกัส เรื่องมันเลยเสียสมดุล

นอกจากนี้ ฝันยังเป็นงานทดลองทำอนิเมชั่นของผู้กำกับ ถึงงานออกมาไม่เนียนนัก แต่ถ้าดูจากมุมมอง การออกแบบอนิเมชั่น ทำออกมาได้ดีทีเดียว เสียแต่ว่ามันนานไปหน่อย (เช่นเดียวกับออกัส และอนิเมชั่น 90% ก็คือเรื่องของออกัสทั้งสิ้น) ถ้าตัดส่วนนี้ออกไปสักหน่อย หนังจะลงตัวกว่านี้มากๆ เพราะในส่วนคนแสดง ทั้งการแสดง มุขตลก จังหวะหนัง ดีหมดทุกอย่าง (ตั่งแต่ฉากนางเอกเข้าไปในฝันของบอยจนจบ ผมหัวเราะดังมากๆ และถี่มากๆ) ตอนนี้ทำคะแนนได้เป็นที่ 2 และหายใจรดต้นคออายมาติดๆครับ


โดย: wu IP: 125.26.153.134 วันที่: 27 ธันวาคม 2551 เวลา:23:33:18 น.  

 
Happy Go Lucky

เป็นหนังที่แปลกดี จะชอบก็ไม่เชิงนัก ดูไปแอบหลับด้วย แต่ดูแล้วได้อะไรดี ต้องมีการคิดต่อ หนังเข้าใจเล่าเรื่อง สรุปว่า....เป็นไงละคนมองโลกสดใส ในแง่ดี ก็มีบางหมัดที่เป๋ได้เหมือนกัน

กำลังตามไล่หนังที่อยากดู เช่น Tokyo Sonata
อีกเรื่องที่อยากดูคือ ความสุขของกะทิ ว่าไปหนังไทยควรมีหนังแนวนี้บ้างนะ เพื่อความหลากหลาย แอบเชียร์แม้ว่ายังไม่เข้า :)

Happy New Year 2009 นะ


โดย: Emmet IP: 61.90.192.186 วันที่: 5 มกราคม 2552 เวลา:15:57:16 น.  

 
ช่วงนี้ยุ่งมากๆ ขอบันทึกหนังที่ได้ดูแค่สั้นๆ

Happy-Go-Lucky คือหนังเรื่องแรกในปีนี้ของผมครับ

เนื้อเรื่องที่แทบไม่มีอะไร นอกจากชีวิตประจำวันของนางเอก และสิ่งเล็กบ้างใหญ่บ้างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเธอช่วงนั้น เราจึงได้เห็นเธอทำโน่นทำนี่ เล่นเทมโบลีน ไปหาหมอ เรียนเต้นแทงโก้ เม้าท์กับเพื่อนๆ ไปผับ ชีวิตการงาน กิ๊กหนุ่ม และการเรียนขับรถประจำสัปดาห์ โดยการเรียนขับรถนี่แหละ ที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง และการเล่าความแตกต่างของมุมมองการดำเนินชีวิต ของนางเอกที่มองโลกในแง่ดีสุดขั้ว ในขณะที่อีกฝ่าย ก็มองโลกนี้เป็นสีดำ แล้วตั้งคำถามปลายเปิดตอนท้าย ว่าจริงๆแล้วเราควรมองโลกแบบไหนกันล่ะ และมันจำเป็นเหรอ ที่แต่ละคนจะต้องมองโลกในมุมมองคล้ายๆกัน

จุดเด่นคือการแสดงที่เหมือนไม่แสดงของตัวละครกลุ่มใหญ่ โดยมีนางเอกเป็นผู้นำ ทั้งหมดให้การแสดงที่เป็นธรรมชาติ เรียกรอยยิ้มได้ตลอด และยังรับมือกับเวลาที่บทเรียกร้องการแสดงได้ดีเยี่ยมอีกด้วย

สมควรดูครับ


โดย: wu IP: 125.26.144.242 วันที่: 11 มกราคม 2552 เวลา:1:12:30 น.  

 
Australia ดูในวันเดียวกับ Happy-Go-Lucky ครับ

ก่อนอื่นขอบ่นโรงหนังดิจิตอลที่ต้องมีการโฆษณาเปรียบเทียบหนังที่ฉายปกติ กับฉายระบบดิจิตอล น่ารำคาญ และเสียเวลามากครับ คนเขาจะมาดูหนังจริงๆ แล้วถ้าของมันดีจริง คนดูเขาก็มองออก ไม่จำเป็นต้องบอกว่าไอ้นี่มันดีนะ

อลังการณ์งานสร้าง ยังคงใช้ได้ดีกับหนังบาซ เลอมานซ์ เช่นเดียวกับคำว่าปรุงแต่ง เมโลดราม่า ก็ยังใช้กับเขาได้ดีเช่นเคย หนังใช้ชื่อ Australia แต่เอาเข้าจริงๆ กลับสื่อความหมายถึงชื่อ Australia ได้ไม่เท่าไร นอกจากเรื่องราวเกิดขึ้นที่นี่ และอะไรเล็กๆน้อยๆที่พอจะสื่อถึงออสเตรเลีย แต่ไม่ถึงกับขนาดดูแล้วจะอินกับความเป็นออสเตรเลียขนาดนั้น (อดเทียบไม่ได้กับ Titanic ที่นอกจากเล่าเรื่องราวในหนัง หนังยังสามารถพาคนดูสัมผัสกับไททานิคได้ทุกแง่มุม ตั้งแต่บนลงล่าง ตั้งแต่หน้าไปหลัง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน)

เนื้อเรื่อง Australia เหมือนกับเป็นหนังสองเรื่อง ที่เดินเรื่องโดยตัวละครกลุ่มเดียวกัน และนำมาเล่าต่อกัน ซึ่งทำออกมาได้ไม่กลมกลืนนัก แม้ว่าทั้งสองเรื่องจะดูสนุก และอาจสร้างเป็นหนังของตัวเองเลยก็ยังได้ ในขณะที่โปรดักชั่นดีมากๆ การถ่ายภาพที่สวยหยด แม้บางครั้งจะดูปลอมๆ กับการพยายามปรุงแต่ให้ดูงามเกินไป และนิโคล คิดแมนที่เฉิดฉาย ขึ้นกล้อง และเล่นกล้องได้เก่งมาก ทำให้ตัวหนังดูเพลินๆไปได้จนจบ แม้หนังจะยาวมากๆก็ตาม

น่าดูครับ


โดย: wu IP: 125.26.144.242 วันที่: 11 มกราคม 2552 เวลา:1:26:32 น.  

 
ความสุขของกะทิ

ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน เวลาดูจึงไม่ได้มีอคติที่เกิดจากความประทับใจ หรือเรื่องราวที่รู้มาก่อนล่วงหน้า

หนังเล่าเรื่องชีวิตขาวๆของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ดูสะอาดไปทุกแง่มุม ทั้งที่ส่วนสำคัญคือความเจ็บปวด การสูญเสีย และการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งจากเนื้อหาตรงนี้ ยากที่หนังจะออกมาบันเทิง ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ

ที่ชอบอย่างแรกคือการกำกับภาพครับ ขยัน และเป๊ะมากๆ บางช่วงอาจรู้สึกว่าจะเคลื่อนกล้องไปถึงไหน แต่พอมันดูราบลื่น เข้ากับจังหวะการแสดง ตอบรับกับบล็อกกิ้ง กับบทได้ตลอด บวกกับการกำกับภาพจนเห็นบรรยากาศบ้านริมคลอง บ้านริมทะเล หรือกลางกรุงเทพ เลยอดชื่นชมไม่ได้

ในส่วนของการเล่าเรื่องที่เลือกมาเล่าเท่าที่มุมมองของเด็กคนนึงมอง บวกกับลีลาของหนังที่ไม่ฟูมฟาย เร้าอารมณ์ จนทำให้ส่วนของตัวเรื่องบางมากๆ ตัวละครที่ไม่ให้คนดูรู้ที่มาที่ไป (แต่ไม่ลอยนะ มันมองเห็นความผูกพันของตัวละครในเรื่อง แม้จะร่วมฉากกันเฉยๆไม่ทำอะไรก็ตาม) ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้คนดูทั่วๆไปเข้าถึง และประทับใจ แต่ทั้งบท ทั้งการกำกับก็ยังยืนหยัดที่จะรักษาระดับประมาณนี้ให้หนังตั้งแต่ต้นจนจบ จึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกเรื่องราวมันเป็นเส้นตรง ราบเรียบ ไปจนถึงไม่ชอบหนังเรื่องนี้

แต่โดยส่วนตัวตัวเอง หนังละเมียดครับ ตั้งใจทำ แต่ไม่ค่อยตรงรสนิยมตัวเองเท่าไร ดูได้ แต่ไม่ถึงกับชอบมากมาย อ้อ แม้หน้าหนังจะดูเป็นหนังเด็ก แต่เรื่องนี้ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กครับ จริงอยู่ที่หนังไม่มีคำหยาบ หรือเนื้อหาล่อแหลม (เป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่สามารถรับเรต G ได้เต็มภาคภูมิ) แต่สาระที่หนังต้องการสื่อมันลึกและยากเกินไปสำหรับเด็ก แต่น่าจะเหมาะกับกับคนที่มีวุฒิภาวะ และรู้เรื่องระดับหนึ่ง


โดย: wu IP: 125.26.144.242 วันที่: 11 มกราคม 2552 เวลา:1:35:07 น.  

 
ตอนดูความสุขของกะทิ ก็เดาว่าคนดูวงกว้างต้องเกิดอาการต่อต้านแน่ๆ แต่โดยส่วนตัวแม้จะเฉยๆ (บังเอิญเฉยๆ กับเนื้อเรื่องของมัน ถ้าเรื่องราวของกะทิมีเรื่องที่น่าสนใจกว่านี้ การทำหนังแบบนี้จะน่าสนใจขึ้นเป็นทวีคูณ) ก็ถือว่าเป็นหนังไทยที่ดีมากๆ อีกเรื่อง

ส่วน Happy Go Lucky ชีวิตประจำวันของเธอจริงๆ มันมีสัญลักษณ์อยู่ในหลายๆ ส่วนเลยครับ และป๊อปปี้ทำให้หนังของไมค์ ลีห์ ดูไม่หนักเหมือนเรื่องก่อนๆ


โดย: yuttipung วันที่: 13 มกราคม 2552 เวลา:15:07:14 น.  

 
ไม่รู้ว่ายุ่งมาก หรือไม่ค่อยมีหนังดีๆดูก็ไม่รู้ เลยรู้สึกว่าช่วงนี้ไม่ค่อยได้ดูหนังเลย จนสัปดาห์ที่ผ่านมา พอหาเวลาได้ เลยดูไป 2 เรื่อง ปรากฏว่าเป็นหนังแนวเดียวกันอีกต่างหาก

Bedtime Story และ Inkheart

หนังแนวหนึ่งที่มีการสร้างออกมาเป็นระยะๆ ในวงการฮอลลีวู๊ด คือหนังที่ให้ตัวละครหลุดออกมาจากหนัง จากหนังสือ จากโลกการ์ตูน จากโทรทัศน์ และอีกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาถึงของ Enchanted ในปีที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีผลหรือแรงบันดาลใจต่อหนังสองเรื่องนี้ไม่น้อย (โอเค Inkheart อาจเป็นนิยายมาก่อน หรือ Bedtime อาจเตรียมงานสร้างมานานแล้ว แต่การโปรโมท หน้าหนัง ไปจนถึงอารมณ์ มันไม่หลุดจากเงา Enchanted)

ถ้าไม่คิดอะไรมาก หนังสองเรื่องนี้ดูสนุก งานสร้างดี แต่กลับมีปัญหาในการเดินเรื่องสู่บทสรุปที่เหมือนๆกัน คือคลี่คลายง่ายๆ เอาใจคนดู และไม่มีอะไรที่จะทำให้ทึ่ง อ้าปากหวอ ว่าคิดได้ยังไง ไปจนถึงฉากท้ายๆที่ดูเนือยกว่าตอนต้นๆ กลางๆเรื่องชัดเจน

Inkheart อาจมีบทที่ดีกว่า Bedtime เล็กน้อย โดยเฉพาะการเปิดเรื่อง และทิ้งช่วงเวลาไม่บอกให้คนดูรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนค่อยๆเผยทีละน้อย แต่ถ้าพูดถึงความสนุก Bedtime ดูสนุกกว่า และมีฉากที่น่าจดจำเยอะกว่า เช่นฉากพระเอกขี่มอเตอร์ไวด์มีนางเอกซ้อนท้าย แล้วตัดสลับเป็นภาพในเทพนิยาย อืม ช่างคิด อ้อ กับฉากพระเอกพูดแล้วไม่รู้เรื่องต้องให้เพื่อนมาแปลก็ฮามาก แต่พอไปจบในฉากโรงเรียนที่บรรดาหลานๆติดในโรงเรียนที่กำลังจะโดนระเบิดทิ้ง ทั้งเชย ทั้งขาดความน่าเชื่อถือ และไม่ลุ้นเลยสักนิด

ส่วน Inkheart จุดเด่นกว่า Bedtime คือดาราฝีมือมารวมกันมากมาย แต่เหมือนกับว่าหนังใช้ดาราเหล่านี้ไม่คุ้มสักเท่าไร (ในขณะที่ Bedtime คอซีรีย์คงพอใจที่ได้เห็นดาราจากซีรีย์เรื่องต่างๆโผล่มาคนละนิดละหน่อย) อย่างไรก็ตาม หนังสองเรื่องนี้ผมจัดให้อยู่ในกลุ่มพอแหลกล่าย ใช้แก้ขัดเวลาไม่มีหนังอะไรดูก็พอครับ


โดย: wu IP: 125.26.149.194 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:23:13:26 น.  

 
กรี๊ด อยากกรี๊ดให้ดังๆ กับ A moment in June หลังจากที่ไม่ได้ดูหนังที่ตรงจริตขนาดนี้มานานแล้ว และแล้ว ก็จะได้วัตถุดิบไปเขียนบล็อกใหม่เสียที (หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกใหม่นานมาก เพราะไม่ค่อยเจอหนังที่รู้สึกว่าอยากจะเขียนเท่าไร)

องค์ประกอบหนังเรื่องนี้ คือส่วนที่มักจะได้ใจผมเสมอในหนังทั่วๆไป แต่กลับมารวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดีๆ ฉากย้อนยุค รักต้องห้าม ถ่ายภาพและตัดต่อเจ๋งๆ การกำกับที่คุมโทนหนังอยู่ บทที่ไม่ยืดเยื้อ ละครเวที หนังซ้อนหนัง คาดเดาไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจยาก อารมณ์หนังที่ร้าวราน ไปจนถึงการอยากโทรไปหาใครบางคน เมื่อดูหนังจบ

ไม่ยุติธรรมเลย ที่คนมองหน้าหนังเรื่องนี้ แล้วเอาไปว่าหนังก็อปเอาความเป็นหว่องกาไวมาขาย โอเค หนังมีกลิ่นหว่องกาไวบ้าง แต่หนังก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากพอที่จะหลุดจากเงาของหว่องไปได้ หนังของโอดูง่ายกว่า ตัวละครไม่หลุดโลกหรือติสต์เกินไป ไม่ปรัชญาเกินไป ไปจนถึงเนื้อเรื่องที่มากกว่า และมีการปูเรื่องเพื่อเข้าสู่บทสรุปมากกว่าหนังหว่อง ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ด้อยกว่าหว่องคือความสนุก ความลึกซึ้ง และมุมมองการมองโลกที่เก๋ เหงา เท่ห์ ไปจนถึงวอยส์โอเวอร์ ที่โอเวอร์แบบคิดได้ไง แต่โดนใจทุกประโยค

ในส่วนของตัวหนัง คือการสำรวจความสัมพันธ์ของคนรุ่นหนึ่ง เพื่อการดำเนินชีวิตของคนอีกรุ่น (ซึ่งช่วงนี้มีหนังทำนองนี้ออกมามากเป็นพิเศษ กับมุมมองความรักระหว่างต่างอายุ ต่างสมัย เช่น Before valentine, ความทรงจำสั้น ความรักยาว ซึ่งสองเรื่องนี้ ยังไม่ได้ดู แต่คาดว่าน่าจะมีประเด็นลักษณะนี้) ในขณะเดียวกัน ก็เป็นหนังหลากชีวิตตัวละครแบบที่กำลังนิยมด้วย หนังทำเก๋ที่เล่าเรื่องราวเดียวกันจากหลายๆมุมมอง (ผู้กำกับที่กำลังเล่าเรื่องผ่านละครเวที นักเขียนบทที่ทบทวนประสบการณ์ตัวเองเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นบทละคร คนดูที่กำลังมองดูละครที่เล่าเรื่องราวชีวิตตัวเอง ชายหนุ่มที่นั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหญิงสูงวัย โดยไม่รู้ตัวว่านั่นคือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนรักเขา และนักแสดงที่ตีความและถ่ายทอดบทบาทที่ได้รับ) ก่อนจะไปพูดถึงโอกาสครั้งที่ 2 และทำให้คู่รักสองคู่พบกับจุดสุดท้าย และเข้าใจตัวเองดียิ่งขึ้น

จุดเด่นคือการแสดงที่ยอดเยี่ยมทั้งทีม การถ่ายภาพ ที่การเล่าเรื่องซ้อนละครเวที ทำให้การกำกับศิลป์ กำกับแสงที่ดูประดิษฐ์เกินจริงไม่ขัดตา บวกกับการเคลื่อนกล้องที่ราบลื่น เชื่อมโยงตัวละครต่างสถานที่ ต่างเวลา ให้เชื่อมต่อกันอย่างลงตัว อาจมีจุดอ่อนอยู่บ้างที่บท ที่ถึงแม้การเล่าเรื่องจะทำได้ดี แต่ยังไม่ถึงกับขยี้อารมณ์ และการพูดญี่ปุ่นสลับไทย ที่ดูแปลกๆมากกว่าดูดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมแล้วนี่คือหนังไทยที่ผมชอบที่สุดในรอบ 2 ปีนี้ทีเดียวครับ


โดย: wu IP: 125.26.149.221 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:1:17:16 น.  

 
ได้ดูหนังสองเรื่อง

1) The reader
ก่อนดูก็ได้ข้อมูลคร่าวๆว่าเป็นเรื่อง sex ของคนต่างวัย กับ หนังสือวรรณกรรมชั้นยอด ดูเสร็จ สนุกมาก น่าติดตาม ไม่เยิ่นเย้อ กินใจ สะเทือนอารมณ์ น้ำตาไหลตอนที่ ไมเคิล ส่งเทปบันทึกเสียงไปให้ฮันนาฟังในคุก มันนึกไม่ถึง จากนั้นหนังยังสะท้อนไปถึงคนที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างคลี่คลาย ไม่น่ามีอะไรติดค้างในใจต่อไป แม้กระทั่งตัวฮันนาเองที่ตายไป ก็น่าจะคลี่คลายใจตัวเองได้เช่นกัน ชอบพล็อตหนังที่เอาประเด็นปมด้อยของคนที่อ่านหนังสือไม่ออกมา ขยายเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม ที่สำคัญโลกของคนที่ติดคุกมาเกือบตลอดชีวิต มันยากที่จะออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติเมื่อพ้นโทษ เหมือนเรื่อง ชอร์แชงก์ ยังไงยังงั้น

อ้ออย่างหนึ่งที่ชอบก็คือตอนท้ายเรื่อง ตอนที่ไมเคิลพาลูกสาวตัวเองไปหลุมฝังศพของฮันนา และทยอยเล่าเรื่องในอดีตให้ลูกสาวฟัง มันสะท้อนอะไรได้ เช่น ไมเคิลไม่มีอะไรติดค้างในใจอีกแล้วสามารถเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังอย่างไม่ติดขัด เหมือนกันถ้าตัวเราเอง มีคนรับฟังเรื่องราวต่างๆของเราได้ทุกอย่างคนจะดีไม่น้อย ขอแค่นั้นเอง :)

ชอบ ชอบ ชอบ

2) a moment in June
เดี่ยวจะมาเล่า ชอบเหมือนกัน


โดย: Emmet IP: 61.90.192.186 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:12:53:40 น.  

 
ไปดู ความจำสั้น ความรักฉันยาว กับ Watchmen มาแล้วครับ

แต่ก่อนออกจากบ้าน หยิบดีวีดีเรื่อง Volver มาดู เลยอยากพูดถึงก่อนนิดหน่อย

คือปกติตัวเองก็เป็นแฟนเจ้าป้าเปโดรคนหนึ่ง แล้วชอบความฉูดฉาดในหนังป้ามาก ทั้งบท ทั้งการตัดต่อ ถ่ายภาพ นักแสดง แต่ Volver ทำไมมันน่าเบื่อขนาดนี้ นี่พูดถึงพอนที่ดูดีวีดีเรื่องนี้ใหม่ๆ และในที่สุดไม่เคยรอดสักที ดูสัก 5 รอบได้มั้ง ก็หลับไปก่อนทุกที โดยที่เนื้อเรื่องยังไม่คืบหน้าไปไหน นอกจากแสดงชีวิตทั่วๆไปของนางเอก

แต่เมื่อวานนี้ว่างมั้ง เลยนั่งดูต่อจากที่ค้างเอาไว้ เออ เริ่มสนุกมากขึ้น (ตอนเริ่มมีบทแม่นางเอก) แล้วพอเรื่องเริ่มเฉลยๆเหตุการณ์ต่างๆก็ดึงดูดความสนใจได้ตลอด จนดูหนังจบ โอเค ช่วงครึ่งหลังหนังสนุกขึ้น แต่เนื้อเรื่องไม่ถึงกับแหวก หรือเหนือความคาดหมาย

แต่ความสุดยอดมันอยู่ตรงที่ลองย้อนกลับมาดูตอนแรกๆใหม่ดีกว่า (หลังจากดูแบบเบื่อๆ ทิ้งๆขว้างๆมาหลายรอบ) เฮ้ย สุดยอด หนังปูเรื่องราว ปูปมต่างๆไว้ตั้งแต่ฉากแรก แล้วปูแบบไม่บันยะบันยังเลย ทำให้ไอ้ครึ่งชั่วโมงแรกที่น่าเบื่อสุดๆ กลายเป็นอะไรที่น่าค้นหา และ hint ที่ซ่อนไว้มากมายจนน่าทึ่ง นี่ซิ บทหนังที่ดี


โดย: wu IP: 125.26.153.47 วันที่: 8 มีนาคม 2552 เวลา:13:43:42 น.  

 
ความจำสั้น ความรักฉันยาว

หนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่เล่าเรื่องได้ราบลื่น มีเสน่ห์ สร้างอารมณ์ร่วมกับคนดูได้ดี และมีชั้นเชิงลูกเล่นเล็กๆน้อยๆที่ไม่ทำให้หนังดูว่างเปล่าเกินไป ถึงแม้หนังจะมีบางจังหวะที่ย้วยอยู่บ้าง เร้าอารมณ์มากไปนิด แต่โดยรวมออกมาน่าพอใจมากๆ

จุดที่ไม่ชอบในหนังเรื่องนี้ คือดูแล้วรู้สึกว่าตัวเองแก่ !!! จากการที่ตัวละครในเรื่องมี 2รุ่น แล้วอายุจริงๆผมจะอยู่ระหว่างทั้ง 2 รุ่นนั้น แต่พอดูแล้วทำไมไอ้คู่หนุ่มสาวมันดูเด็ก (ทั้งที่บทก็ไม่ได้บอกว่าพวกเขาเด็ก) ในขณะที่คู่คนแก่ ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกห่างไกล จากอารมณ์ ความรู้สึก การกระทำของตัวละคร แต่ก็อย่างว่า เด็กๆสมัยนี้มันหัวโบราณจะตาย

อันนี้ซีเรียสจริงๆ ปกติเวลาดูหนังตัวเองจะมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครวัยทำงาน แสวงหา เริ่มลงหลักปักฐาน และยังสับสนกับการเลือกดำเนินชีวิต ซึ่งพูดได้ว่าเหมือนกับเป็นเพื่อน เป็นคนวัยเดียว เจนเนอเรชั่นเดียวกันกับตัวเอง ในขณะเดียวกันจะมองตัวละครนักเรียน นักศึกษา เป็นเหมือนกับอีกรุ่นหนึ่ง ที่ยังจับจด ไม่คิดอะไรมาก สนุกไปวันๆ

แต่ตัวละครหนุ่มสาวในความจำสั้นฯ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าพวกเขาเด็กที่ยังไม่รับผิดชอบ (พวกเขามีหน้าที่การงานมั่นคง บางคนแต่งงานแล้ว หย่าแล้ว) แต่พฤติกรรมกลับเป็นพฤติกรรมที่เคยเห็นในตัวละครรุ่นเด็ก แต่หนังเรื่องนี้นำเสนอแบบปกติๆ (ยังติดการ์ตูน ไปเที่ยวผับ กินเหล้า ภาษาที่ใช้ มี hi5 เล่น MSN) และมันก็ดันเป็นพฤติกรรมของเด็กวัยทำงานรุ่นใหม่จริงๆเสียด้วย เลยเป็นหนังเรื่องแรกๆที่มีตัวละครวัยทำงาน แต่เรามองว่าเขาเด็กกว่าเรา ฮือๆ หนังเรื่องนี้ใจร้ายมาก (ในขณะที่ตัวละครที่เรามองว่าเป็นกลุ่มเดียวกับเรา เป็นเจนเนอเรชั่นเดียวกันมากกว่า คือกลุ่มลูกของลุง ของป้า ซึ่งเป็นตัวละครที่หนังให้รายละเอียดค่อนข้างน้อย ฮือๆ อีกครั้ง เรากำลังถูกละเลยความสำคัญหรือนี่ midlife-crisis ชัดๆ)

ตกลงที่พูดถึงหนังเรื่องนี้ เลยไม่ได้วิเคราะห์หนังเลย


โดย: wu IP: 125.26.153.47 วันที่: 8 มีนาคม 2552 เวลา:14:03:16 น.  

 
Watchmen

ไม่เคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้มาก่อนเลย ไม่เคยมีข้อมูล ไม่เคยอ่านบทความใดๆ นอกจากที่ว่ามันเป็นการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ที่ดาร์กและซับซ้อน บวกกับกระแสที่ออกมาแบบขัดแย้งกันมาก เลยตัดสินใจไปดู

ถ้าดูจากสไตล์หนัง เจ๋งจริงครับ มีสไตล์ กลมกลืน เทคนิคต่างๆ ดูดีหมด แต่ที่ชอบมากที่สุด คือบทที่สร้างโลกจินตนาการให้กลมกลืนกับโลกความจริง ใส่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์เข้าไปในคาแรกเตอร์ที่ปกติแบนๆ ทำให้เห็นหลากหลายแง่มุมมากขึ้น และทำลายขนบของหนังซูเปอร์ฮีโร่ ที่มักจะอธิบายที่มาที่ไป ภาระกิจ ความขัดแย้ง และวายร้าย Watchmen ไม่ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้แบบตรงไปตรงมา แต่สุดท้ายเราก็ได้รู้จักเหล่าซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ ได้ไม่น้อยกว่าการเล่าแบบตรงๆเลย

ในช่วง 2/3 ของเรื่องที่หนังให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์ทีละตัว โดยมีจุดกึ่งกลางที่การตายของ The commedian ทำให้รู้สึกคล้ายหนังที่จับเอาหนังสั้นหลายๆเรื่องมาเรียงต่อกัน (ตามเทรนหนังไทยยุคใหม่) และเปิดโอกาสให้คนดูรู้จักตัวละครแต่ละตัว บวกกับเสียงบรรยายเท่ๆ เหงาๆ เพลงคลาสสิค (นึกว่าดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ของหว่องกาไว) และฉากแอ็กชั่นรุนแรงที่ดีไซน์มาเป็นอย่างดี (นึกถึง wanted) และภาพที่ออกแบบให้เหมือนภาพวาด และกราฟฟิคแทบทุกมุม (นึกถึง 300 Sin City) ทำให้เหมือนกับหนังเอาเท่ ทั่วๆไป แต่มาทีหลังเขา ซึ่งถึงออกมาดี แต่ก็ไม่ใช่สุดยอด

แตพอในชั่วโมงหลัง ที่หนังเริ่มขมวดเอาตัวละครทุกตัวมารวมกัน บทพูดแนวปรัชญา (นึกถึง The Matrix) เห็นวายร้ายของเรื่อง และสาเหตุของการกระทำ จนถึงผลการกระทำที่ยังต่อยอดให้เถียงกันต่อได้อีกว่าการกระทำอย่างนี้มันถูกหรือผิด บวกกับภาพซูเปอร์ฮีโร่ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (ซูเปอร์ฮีโร่มีเซ็กซ์ ซูเปอร์ฮีโร่ใส่เสื้อกันหนาว) ทำให้หนังเรื่องนี้ดูดี และมีความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้นมามากมายทันที ไปจนถึงบทสรุปที่บางครั้ง คนดี ก็ต้องยอมให้คนอื่นมองว่าตัวเองไม่ดี เพื่อให้ผลความดีนั้นปรากฏ หรือคนดีอาจไม่ใช่ผู้ชนะในตอนท้ายก็ได้ (นึกถึง The Dark Knight และหนังหักมุมตอนจบทั้งหลาย) ทำให้ต้องยอมรับว่า Watchmen เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ระดับแนวหน้าของวงการซูเปอร์ฮีโร่จริงๆ


โดย: wu IP: 125.26.153.47 วันที่: 8 มีนาคม 2552 เวลา:14:28:54 น.  

 
ยังไม่ขึ้นบล็อคใหม่เหรอครับ


โดย: joblovenuk วันที่: 19 พฤษภาคม 2552 เวลา:8:18:38 น.  

 
ไม่ค่อยมีเวลาเลยครับ คุณจ็อบ ขออัพเดทสั้นๆถึงหนังที่ได้ดู

Knowing: ประเด็นดี แต่พอจับเอาเรื่องมนุษย์ต่างดาวมาเล่น รู้สึกว่าเป็นส่วนเกินของหนังยังไงไม่รู้ ฉากทำลายล้างตอนท้าย นึกถึง Deep Impack ในแง่คนตัวเล็กๆที่กำลังรู้ว่าจะต้องตายอยู่แล้ว และใช้ช่วงสุดท้ายของชีวิตเพื่อครอบครัวและคนที่เรารัก

Monsters VS Aliens : ถ้าเป็นอนิเมชันธรรมดาๆก็โอเค แต่การโปรโมทความเป็นสามมิติ ขอบอกว่ายังทำไม่ถึง ทั้งที่โครงเรื่องเปิดให้ เรื่องนี้ดู Imax ด้วย แต่กลับไม่ได้ความรู้สึกของการต้องเป็นสามมิติเลย (เช่นนางเอกที่เป็นยักษ์ ก่อนดูผมคาดหวังว่าคนดูจะเหมือนเป็นคนในเรื่องที่อาจจะถูกนางเอกเหยียบได้ทุกเมื่อ โดยใช้มุมมองคนดูแบบเงยขึ้น แต่ในหนังมีมุมมองอย่างนี้น้อยมากๆ แต่เป็นมุมมองให้เรารู้สึกเราก็เป็นยักษ์เหมือนนางเอก ซึ่งผมว่าสอบตกครับ)

Slumdog Millionair: โอเคเลยครับ กับการเล่าหนังที่เนื้อเรื่องเรียบๆให้มีมิติน่าสนใจ โดยการแบ่งเส้นเรื่องเป็นสามเส้น และตอบสนองคนดูได้ทุกระดับ ตั้งแต่คนดูที่สนใจเรื่องราวธรรมดาๆ (ดูแค่รู้เรื่องก็พอ) คนดูที่ต้องการเห็นมิติทางสังคมของอินเดีย (ซึ่งทั้งจากคำถามในเรื่อง เรื่องราวต่างๆ สะท้อนความเป็นอินเดียได้แทบทุกมุม เหมือนที่ Forrest Gump สะท้อนความเป็นอเมริกัน) หรือแม้แต่คนดูที่สนใจความเป็นหนัง (เทคนิคการเล่าเรื่อง ตัดต่อ มุมกล้อง) อย่างไรก็ตาม งานด้านเทคนิคหนังเรื่องนี้แม้จะมาตรฐาน ตอบโจทย์ได้หมด แต่กระแสของหนัง ทำให้รู้สึก overclaim มากไปหน่อย (เช่นถ่ายภาพ ดนตรี ถ้าคุณภาพระดับเดียวกันนี้ แต่ไปอยู่ในหนังตลาดๆธรรมดา ผมว่าแค่เข้าชิงออสการ์ก็เก่งมากแล้ว)

Flozen Flower: ผมว่ามันกึ่งๆหนังเกย์หรือไม่เกย์นะ มุมมองทางฝ่ายองครักษ์ และมเหสี อารมณ์ของหนัง มันคือความรักความใคร่ของชายหญิง เพียงแต่อุปสรรค์คือฝ่ายชายที่หน้าที่ทำให้ต้องมีอะไรกับผู้ชายมาก่อน นี่คือ แต่ถ้าเป็นมุมมองของพระราชา มันก็คือความเป็นเกย์ แต่การที่ผู้กำกับเปลี่ยนมุมมองไปมาตลอดเรื่อง (บางครั้งก็มุมมองพระราชา บางครั้งก็มุมมององครักษ์) ทำให้หนังมันออกมากึ่งๆตลอดเรื่อง บางคนอาจชอบที่มีหลายมุมมอง แต่ตัวเองคิดว่าผู้กำกับจับประเด็นไม่แม่น

แล้วฉากเลิฟซีน ก็สไตล์เกาหลี คือโจ่งแจ้ง ชัดเจน แต่ขาดอารมณ์ร่วม เหมือนกับว่าทำๆไปเรื่อยๆ ทั้งลีลาการแสดง มุมกล้อง (ที่มักจะเป็นเต็มตัวโดยไม่ให้เห็นแค่จุดนั้น) ความยาวของฉากเลิฟซีน และความจำเป็นของฉากเลิฟซีนต่ออารมณ์หนัง ผมว่าเกาหลีกล้า เกาหลีแรง แต่ทำไม่ผ่านซักที

Wolverine: หนังสนุกดี เป็นเอ็กเมนที่ดูง่ายที่สุด ตอนแรกๆนึกถึง watchmen ด้วยซ้ำ แต่พอดูไปเรื่อยๆมันอัดมากเกินไป ใส่ตัวละครเข้ามาเยอะๆ แต่โน่นนิด นี่หน่อย เลยเป๋ไปมาบ้าง แต่โดยรวมก็ยังสนุก ถ้าเทียบกับหนังประเภทแตะทุกอย่าง ระดมทุกอย่างมาใส่หนัง ไม่กล้าตัด ผมยังให้เรื่องนี้เหนือกว่า Harry Potter และสุริโยไทครับ

Startrek: สุดยอด เจเจไม่เคยทำให้ผิดหวัง ลงตัวทุกอย่างทั้งความสนุก เนื้อเรื่อง ตัวละคร ถ้าให้ไล่ข้อดีคงไล่ออกมาได้หลายข้อ แต่ที่ประทับใจมากๆคือการบันทึกเสียง ตัดต่อเสียง เทคนิคเสียง และเนื้อเรื่องที่จะมองว่าต่อจากของเดิมก็ได้ หรือเริ่มรีบู๊ทใหม่ก็ได้

สาระแนห้าวเป้ง: ฉันมาทำอะไรในโรงเนี่ย ไม่ตลก ไม่ชอบ อึดอัด บางครั้งออกจะสมเพชกับบางฉากด้วย ปกติก็ชอบรายการสาระแนนะ แต่พอมาเป็นหนังไม่ชอบมุขต่างๆเลย ทั้งเตี้ยมและไม่เตี้ยม ที่ดีคือโอเคว่ามีการผูกเรื่อง ไม่ใช่แค่เอาแคนดิดมาเรียงกัน แต่มันยังไม่พอกับการเป็นหนังดี


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 19 พฤษภาคม 2552 เวลา:13:52:39 น.  

 
รอน โฮเวิร์ดเป็นผู้กำกับที่ผมกังขามากที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู๊ด ความจริงงานเขาไม่ได้ขีริ้วขี้เหล่ แต่ความที่มันถูกยกย่องอย่างมากมายเหลือเกิน ทั้งๆที่สายตาผมมองเป็นแค่งานพาณิชย์ศิลป์ที่มีงานสร้างที่ดี การที่เขาได้มีโอกาสใช้วัตถุดิบดีๆมาหลายครั้ง แต่เขาก็ย่อยมันให้ดูง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อน ไม่ต้องลึกซึ้ง จนหลายครั้งรู้สึกเสียดายว่าเขาน่าจะทำให้ได้ไกลกว่านี้ ทำให้ผมมีอคติกับงานเขาพอสมควร และมักจะอุทานอีกและแทบทุกครั้ง เวลาเห็นเขามีชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ

แต่ Angle and Demon เป็นข้อยกเว้น

Angel and Demon เป็นนิยายที่ลงตัวและสนุกมากที่สุดของแดน บราวน์ จากที่อ่านมาทุกเล่ม ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำหนัง เพราะโครงเรื่อง ฉากแอ็กชั่นต่างๆ ก็เอื้อต่อการดัดแปลงเป็นภาพมากกว่าเรื่องอื่นๆ จริงอยู่ที่รอน โฮเวิร์ดยังทำการย่อยให้คนดูเข้าใจง่าย ตัดรายละเอียดหลายอย่างออกจากหนังสือ (ชนิดต้องเหวอว่ากล้าตัดบางฉากออกเลย) แต่การจับหัวใจของหนังครั้งนี้เขาทำได้ และไม่ใช่การเสียของเหมือน The DaVinci Code และกับบารมีของเขา ทำให้เราได้เห็นงานสร้างที่ยิ่งใหญ่ประหนึ่งหนังได้เข้าไปถ่ายทำในสถานที่เกิดเหตุจริงๆ ในแง่ของความบันเทิง หนังเรื่องนี้ทำได้ดีมาก และเห็นพัฒนาการจาก DaVinci ชัดเจน

จุดอ่อนของหนังคือการละเลยความผูกพัน ความสัมพันธ์ของคาร์เมอเลนโญ่กับโป๊บ และมือสังหาร อีกทั้งการให้น้ำหนักฝั่งวิทยาศาสตร์น้อยไปหน่อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังพูดถึงการปะทะของวิทยาศาสตร์และศาสนา) และส่วนตัวก็คาดหวังกับฉากของ CERN มากเลยผิดหวังเล็กๆส่วนตัวนิดนึง อีกทั้งปฏิสสารที่ดูรุนแรงในหนัง แต่คนที่ตามเรื่องราววิทยาศาสตร์ บิ๊กแบง ควอนตัมฟิสิกส์ อาจจะหัวเราะว่าแค่เนี้ย



โดย: wu IP: 125.26.139.182 วันที่: 24 พฤษภาคม 2552 เวลา:1:44:38 น.  

 
จุดเด่นของเจมส์ คาเมรอน คือเขาชอบหลอกคนดูว่าหนังมันไปถึงที่สุดแล้ว ถึงพีคแล้ว แต่แล้วเขาก็ทำให้มันพีคขึ้นไปอีกสเตปนึง ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับคนดูหนังได้เสมอ นอกเหนือจากความสามารถในการเล่าเรื่อง เขียนบท ที่ฉลาด สนุก จับประเด็ดแม่นยำมาตลอด

ซึ่งทำให้เขาเหนือกว่าผู้กำกับหนังแอ็กชั่นดูสนุกอย่างเดียว อย่าง โจนาธาน มอสโทวหรือแม็คจี

Terminator4 เป็นงานที่ดูสนุก มีลูกเล่น มีงานสร้างที่ดี แต่ก็เป็นงานที่ดูเสร็จก็เสร็จ ถึงแม้ว่าส่วนที่ดีที่สุดของมันคือการโยงใย และคารวะหนังต้นฉบับของคาเมรอน แต่ในส่วนตัวของภาค4 เองแล้ว เนื้อเรื่องเบาบางกว่ามาก และหลายๆอย่างในตัวเองที่ขาดการสานต่อ หรือการนำไปสู่บทสรุปที่น่าพอใจ (แต่ก็ยังดีกว่าภาค 3 ที่นอกจากจะเบบางแล้วยังมีการแถเป็นระยะๆ แต่ภาค4 ยังถือว่าอยู่กับร่องกับรอย)

สิ่งที่หายไปของภาค4 คือการข้ามเวลา (แม้ว่าการมาของมาร์คัสจะกึ่งๆว่าผ่านช่วงเวลาที่ดำมืดมาก่อนปรากฏตัว แต่มันก็ยังไม่ใช่) และบทบาทการเป็นผู้ไล่ล่าและถูกล่า การเป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง(ที่ล้าหลังกว่าผู้ล่า) และการเรียนรู้ ผูกพันของผู้ปกป้องและผู้ถูกปกป้อง ซึ่งเป็นธีมหลักของหนังมาตลอด 3 ภาคที่ผ่านมา

เมื่อเอาธีมเดิมมาจับกับหนังภาค 4 ที่ใกล้เคียงที่สุดคือเรื่องราวของมาร์คัสกับไคล์ รีส แต่มันก็ยังไม่ใช่ (มาร์คัสช่วยคุ้มครองไคล์ แต่เพื่ออะไร มาร์คัสเรียนรู้อะไรจากไคล์ ไคล์เรียนรู้อะไรจากมาร์คัส หรือแม้แต่การเสียสละตัวเองในตอนท้ายของมาร์คัส อะไรคือจุดเปลี่ยน แล้วมันทำให้คนดูเชื่อในจุดเปลี่ยนนั้นหรือยัง) หรือถ้าจะบอกว่าภาค 4 นี้เป็นธีมใหม่เลยว่าด้วยสงครามมนุษย์กับหุ่นยนต์ โดยมีจอห์น คอนเนอร์เป็นศูนย์กลาง เราก็ได้เห็นบทบาท น้ำหนัก ความสำคัญของจอห์น คอนเนอร์ต่อหนังทั้งเรื่องน้อยมาก และจะว่าไปแล้ว นอกจากฉากแอ็กชั่นหนังภาคนี้มีธีมอะไร ผมว่ายังไม่ชัดด้วยซ้ำ

หนังภาค4 เลยคล้ายกับหุ่นยนต์สักตัว ที่มีสมรรถนะสมบูรณ์แบบ สร้างความตื่นตาตื่นใจถึงกับอ้าปากค้างในความมหัศจรรย์ของมัน แต่อย่างไรก็ตามหุ่นตัวนี้มันยังไม่มีหัวใจ

เอ หรือว่านี่จะคือธีมของไตรภาคที่ 2 ของ Terminator หรือเปล่าเนี่ย


โดย: wu IP: 202.12.97.121 วันที่: 3 มิถุนายน 2552 เวลา:17:32:12 น.  

 
ทำไมช่วงนี้ดูหนังไม่สนุกเลย ทั้งที่เป็นหนังที่มีกระแสและคำชมที่ดีมาก่อน

Up
นับตั้งแต่การ์ตูนสั้นปะหัว Partly Cloudy ไปจนกระทั้งหนังจริงๆถึงตอนบ้านเริ่มลอยออกไป ผมชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ความคาดหวังที่มีมากอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มสูงมากไปอีก แต่หลังจากนั้น เกิดอะไรขึ้นเนี่ย ถึงแม้หนังยังแม่นกับประเด็น และสื่อสารได้ตรง แต่มันดูขาดๆเกินๆยังไงไม่รู้ จนมาถึงฉากจบที่มาให้เข็มกลัดบนเวที ค่อยกลับมารู้สึกดีขึ้นหน่อย แต่ระหว่างทางผมว่ามันยังไปไม่ถึง

ความรู้สึกคล้ายๆกันนี้เคยเกิดขึ้นกับหนังไทย อรหันต์ซัมเมอร์ ที่ประเด็นของเรื่องดีมาก เปิดเรื่องดี จบดี แต่ระหว่างทาง เหตุการณ์ที่นำไส่บทสรุปมันล้นๆมากเกินไป แม้ว่า up จะไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ความรู้สึกมันก็คล้ายๆกัน

อ้อ เสียดายอีกนิดนึงด้วย ที่หนังน่าจะให้ความสำคัญกับวิญญาณของบ้านมากกว่านี้อีกหน่อย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเอลลี่ สัญลักษณ์ของการยึดติดและการปล่อยวาง ซึ่งหนังก็แตะๆนิดหน่อย แล้วก็ปล่อยไป

อนิเมชั่นที่ดีที่สุดที่เคยดูในมุมมองผม ยังเป็น Ratatouille อยู่ครับ

17 again
หนังเชยมาก ขายเสน่ห์พระเอก โดยบางครั้งแทบจะยัดเยียดด้วยซ้ำ ในขณะเงื่อนไขการเปลี่ยนร่าง ลดอายุก็เหมือนกับคิดอะไรไม่ออก ใส่มาเฉยๆเพื่อเปิดโอกาสให้กับแซคโชว์ไปเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ทำให้ผมเห็นชัดว่าหนังแฟนตาสีแนวสลับร่าง ลดหรือเพิ่มอายุ เพื่อให้มีโอกาสเรียนรู้หรือแก้ไขความผิดพลาดต่างๆเนี่ย ถึงแม้จะเชย ไม่มีอะไรใหม่ แต่ก็เป็นแนวหนังที่นั่งดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่เบื่อไปซะก่อนได้แทบทุกเรื่อง

แต่ถ้าอยากดูหนังแนวนี้มากๆ ผมว่าหนังเก่าๆอย่าง Big, The Kid, 13 going to 30, Freaky Friday ทำออกมาได้ดีกว่า 17 again เยอะมากครับ


โดย: wu IP: 125.26.141.20 วันที่: 27 มิถุนายน 2552 เวลา:1:56:27 น.  

 
ส่วนตัวหนังที่ผมชอบมักมีโครงเรื่องที่สลับซับซ้อน และจังหวะการเล่าเรื่อง การตัดต่อที่มีลูกเล่น ซึ่งจะดึงดูดความสนใจของผมไปตั้งแต่ต้นจนจบ (ซีรีย์อย่าง Lost จึงถูกใจผมมากๆ) แต่ถ้าหนังเรียบหน่อย เล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ผมมักจะเผลอๆง่วงตอนกลางๆเรื่อง (บางเรื่องก็ถึงกับหลับเลย) แต่ที่งงกับตัวเอง คือหนังอีกประเภทหนึ่งที่ยิ่งเรียบ ยิ่งชวนหลับมากเท่าไร ผมกลับใจจดใจจ่อไปกับหนัง และอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และไม่ง่วงสักนิด ซึ่งมักเกิดเวลาผมดูหนังอภิชาติพงษ์ หรือเป็นเอก เป็นต้น

นางไม้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมจดจ่อกับตัวหนังได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ความรู้สึกหลังจากนั้นคือว่างเปล่า ไม่เหลืออะไรติดค้างอยู่ในหัว ไม่เห็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อ (หรือเห็นแต่ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องการสื่อ เพราะเบาบางเหลือเกิน) ไม่แม้แต่จะเก็บมาคิด พยายามตีความต่อ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลังดูหนังที่ผมมีความสุขกับมันไม่แพ้ความสนุกจากตัวหนังเลย

จุดที่ชอบของนางไม้ คือฉากลองเทคเปิดเรื่อง ที่กล้องอ้อยอิ่ง ไล่เลียงไปตามสุมทุมพุ่มไม้ โดยไม่เน้น หรือไม่ให้ความสำคัญกับอะไรเป็นพิเศษ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าไม่ปกติ คือผู้ชาย 2 คนที่วิ่งไล่ล่าข่มขืนผู้หญิง และศพผู้ชายก้มหน้าในน้ำ กล้องก็แค่มองผ่านไป และหันไปมองสิ่งอื่นๆ(ต้นไม้ ใบหญ้า สายน้ำ) เหมือนกับเหตุการณ์ไม่ได้สลักสำคัญอะไรไปกว่าธรรมชาติของป่าที่กล้องกำลังพาเราไปสัมผัส (แต่กระนั้น ก็ยังเห็นกระทู้ตีความว่านี่คือการเล่าเรื่อง จุดกำเนิดของนางไม้ การแก้แค้นของนางไม้ต่อชายที่มาข่มขืน อ่านแล้วก็อดคิดถึงการยึดติดรูปแบบของคนตีความพวกนี้ไม่ได้ ว่าต้องการเหตุ ต้องการผล ถึงจะเข้าใจการนำเสนอ ซึ่งหนังอย่างเป็นเอก เรื่องเหตุผลน่เป็นอะไรแรกๆที่ต้องโยนทิ้งด้วยซ้ำ)

อีกจุดที่ชอบคือการให้มีตัวละครชื่อน้อย และเป็นลักษณะเดียวกับพลอย คือน้อยเป็นแค่การพูดถึง หรืออีกปลายด้านหนึ่งของโทรศัพท์ โดยไม่มีการปรากฏตัวให้เห็นในหนัง ซึ่งพอมีตัวละครนี้ ทำให้เรารู้ตัว อ้อ กำลังดูหนังเป็นเอกอยู่นะ ไม่ใช่หนังอภิชาติพงษ์ (ฮา)

แต่นอกเหนือจากนี้ นางไม้มีเนื้อหาที่เบาบาง ไม่มีอะไรใหม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่องานก่อนหน้าคือพลอยที่เล่าประเด็นคล้ายๆกัน แต่ทำออกมาได้มีลูกเล่น รายละเอียดที่เหนือกว่า) และคาดเดาได้ เป็นเอกทำหนังเรื่องนี้แบบลดทอนรายละเอียดแทบทุกอย่างให้เหลือน้อยที่สุด (การถ่ายภาพดูดิบกว่างานก่อนๆ แม้จะมีบางฉาก โดยเฉพาะฉากเมืองที่ยังเป็นสไตล์จากงานก่อนๆ แต่ฉากป่า ฉากอารมณ์ งานดูปรุงแต่งน้อยมากๆ รวมไปถึงดนตรีประกอบด้วย) จนบางครั้ง อดคิดไม่ได้ว่าสารที่เป็นเอกต้องการสื่อในผลงานชิ้นนี้ คือความว่างเปล่า ไม่มีอะไรหรือไม่ แต่ถ้าใช่ งานที่สื่ออย่างนี้มันจะมีคนรับได้สัเท่าไรเชียว


โดย: wu IP: 125.26.140.228 วันที่: 4 กรกฎาคม 2552 เวลา:1:23:06 น.  

 
Harry Potter 6 คือไฟลท์บังคับ ที่จะต้องดู (แม้จะเสี่ยงกับไข้หวัดไปนั่งในโรงหนัง) แม้ว่าจะไม่ค่อยคาดหวังกับหนังภาคนี้เท่าไร เนื่องจากถ้าดูจากนิยาย นี่คือเล่มที่ผมชอบน้อยที่สุด ส่วนตัวหนัง ก็เป็นแค่หนังดูได้มาตลอด ไม่ถึงกับโดดเด่นประทับใจเป็นพิเศษ

เอาข้อดีก่อน

1. หนังหลอกเราให้ตั้งความหวังไว้สูง เพราะเปิดเรื่องมาดีเลย แตกต่างจากหนังสือ แต่ดีแบบความเป็นหนัง ตั้งแต่ฉากถล่มเมือง ฉากในคาเฟ่ สถานีใต้ดิน บ้านสลักฮอนด์ บ้านรอน บ้านสเนป (อันนี้เริ่มตรงกับตอนต้นของหนังสือ) ทำให้คาดหวังมากๆ ว่าหนังเรื่องนี้น่าจะหลุดกรอบเดิมๆ คือการไม่กล้าแตกต่างจากหนังสือไปได้
2. การเล่าเรื่องรวบรัดแบบหลายๆเหตุการณ์เกิดขึ้นในช็อต หรือซีนเดียวกัน ต่อเนื่องกัน อันนี้เป็นจุดเด่นของผู้กำกับตั้งแต่ภาคที่แล้ว (ซึ่งภาค 5 การเล่าเรื่องช่วงกลางๆเรื่องผ่านหนังสือพิมพ์เจ๋งมาก)
3. การกำกับภาพ ดีที่สุดของหนังชุดนี้ ภาพหม่นหมอง แต่สวยจับใจ
4. การแสดงของบางบท เช่นมัลฟอย หรือแฮรี่กับจินนี่ (บางจังหวะ)

ข้อเสีย
1. ไหนว่าจะกล้าดัดแปลง แต่พอเดินเรื่องแล้ว มันก็มีแปลงบ้าง แต่มันไม่เจ๋งเหมือนตอนเปิดเรื่อง และหลายๆฉาก ของเดิม(ตามหนังสือ) ก็น่าจะดีอยู่แล้วแล้วหลายๆอย่าง มันก็ไม่เคลียร์นะ สำหรับคนที่ดูหนังเป็นหลัก ไม่ได้อ่านหนังสือ
2. เจ้าชายเลือดผสม อันนี้เป็นชื่อตอนนะ แต่ในหนังแทบไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างความเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าชายเลือดผสมจะดีหรือร้าย และอาจเป็นโวลเดอมอร์ได้ด้วยซ้ำ ในหนังมันยังไม่เห็นบทบาทอะไรเลย แถมตอนเฉลยก็ดูตลกๆอีก
3. สงสารดาราที่มาหลวมตัวเล่นเรื่องนี้ เพราะอาจมีบทบาทในบางตอน แต่สุดท้ายก็ต้องมาเล่นเป็นตัวประกอบให้อีกหลายๆตอน อย่างตอนล่าสุดนี้ นับว่าเป็นการรวมตัวของตัวประกอบที่มีคุณภาพและฝีมือมากที่สุดในโลกภาพยนตร์เลย แต่ต้องมาพูดคนละไม่กี่ประโยค โผล่หน้ามาคนละไม่กีแว๊ป เพราะตัวละครหลักจริงๆของตอนนี้มันไม่กี่คนแถมหนังยังไม่กล้าตัดบทตัวประกอบ ต้องมีบทพูดคนละนิดหน่อย หนังเลยไม่โฟกัสเลย


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 23 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:32:47 น.  

 
^
^
^
ได้อ่านบทความใน Esquire เห็นความตั้งใจตีความหลายอย่างของคนเขียนบท และผู้กำกับ Terminator Salvation นะครับ ส่วนเรื่องย้อนเวลา เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่พยายามจะทิ้งไปให้หมด เพราะทุกวันนี้เขามองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ามันได้ทำต่อ ประเด็นนี้จะต้องถูกยกมาตั้งคำถามกับตัวละครอย่าง จอห์น คอนเนอร์แน่ๆ

แต่ สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ปัญหาของหนังเรื่องนี้คือมันมีเทคนิคพิเศษน่าเกรงขาม แต่ตัวละครแต่ละตัวไม่สามารถส่งหนังได้เลยแม้แต่นิดเดียว เราไม่รู้สึกลุ้นอะไรกับใคร ยังไงที่ไหน ไม่มีจริงๆ

ผมคิดว่าหนังของพิกซ่าร์ที่ชอบที่สุดก็คงเป็น Ratatouille เช่นกัน แต่ Up ก็เป็นหนังที่ผมรักมากเหมือนกันครับ


โดย: yuttipung IP: 58.9.203.6 วันที่: 29 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:21:17 น.  

 
คุณยัตติภังค์หายไปนานเชียว นึกว่าผมจะพูดเองเออเองคนเดียวในนี้ซะแล้ว เพราะไม่มีคนมา response เลย

ไปดู จีจ้า ดื้อ สวย ดุ มาแล้วครับ

จุดอ่อนแรกเลยของงานนี้คือผู้กำกับ ที่ทำหนังออกมาแบบอยากเป็นเด็กแนว อยากทำหนังมีสไตล์ แต่กลับออกมาเชยๆ เหมือนกับอยากทำ แต่ทำไม่เป็น ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับ จูบ หนังสั้นเรื่องก่อนของผู้กำกับเลยครับ

จุดอ่อนที่ 2 คือบท ที่พยายามหนีจากงานก่อนๆ โดยไม่ใช่การตามหาของสลับฉากแอ็กชั่น แต่สิ่งที่หายไปด้วยคือการปูพื้นให้ตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งนี้ตัวละครที่มากกว่า 1 ตัวมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่มีใครได้รับการปูที่มาที่ไป หรือความสัมพันธ์อะไรกับคนดูเลย ซึ่งงานก่อนๆ ถึงจะออกแนวซ้ำซาก แต่การปูพื้นนี่ ผมว่าทำได้ดีมาตลอดทุกเรื่องนะครับ นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของเรื่องราวที่ต่ำมากๆ ก็ยิ่งเป็นตัวบั่นทอนบทให้แย่ลงไปอีก

จุดอ่อน 3 ฉากแอ็กชั่น ความจริงมันก็ไม่ได้ขี้เหร่ แต่มันเหมือนย่ำเท้าอยู่กับที่ และเริ่มที่จะจำเจแล้ว อะไรใหม่ๆที่ใส่เข้ามา เช่นการผสมฮิบฮ็อบ การต่อสู้แบบประสานกัน ก็ไม่ถึงกับตื่นตาตื่นใจ แล้วมันก็ไม่มีฉากแอ็กชั่นฉากไหนที่เป็นพีค หรือฉากโชว์จริงๆ จะว่าฉากบนสะพานเหรอ เอฟเฟคก็ดูปลอมเกินไป ฉากก็ดูหลุดไปจากเนื้อเรื่อง และการดีไซน์ ก็สู้ฉากคล้ายๆกัน (การต่อสู้แนว vertical) จากช็อคโกแลตไม่ได้

ส่วนข้อดี ก็คงแค่การแสดงของจีจ้า ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเธอรับบทที่แตกต่างออกไปจากการเตะๆต่อยๆ ได้ กับนางร้ายของเรื่องที่หน้าตาท่าทางดูเอาเรื่องดีจริงๆ นอกนั้น ยังไม่เห็นข้อดีอะไรเท่าไหร่


โดย: wu IP: 125.26.144.96 วันที่: 13 สิงหาคม 2552 เวลา:0:23:33 น.  

 
นานๆไปตั้งกระทู้ที คัดลอกมาใส่บล็อก

สิ่งดีๆจากหนังกลุ่มจีจ้า-จาพนม ที่หายไปจาก จีจ้า ดื้อสวยดุ

องค์บากภาคแรก หนังเริ่มจากการปูพื้นประเพณีท้องถิ่น ความผูกพันของชาวบ้านกับพระ และอารมณ์สะเทือนใจ เมื่อพระเอกจะเริ่มเดินทางออกจากหมู่บ้าน

ต้มยำกุ้ง หนังเริ่มจากความผูกพันของคนกับช้างที่เติบโตมาพร้อมๆกัน การเลี้ยงดู ความเป็นเพื่อน และความเป็นครอบครัว

ช็อกโกแลต หนังเริ่มจากความรักของผู้หญิงในแก้งค์มาเฟียกับนักเลงชาวญี่ปุ่น การพลัดพราก และครอบครัวที่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้า

องค์บาก 2 หนังเริ่มจากการตามล่าจากการฆ่าล้างครอบครัว การเอาตัวรอด การดิ้นรน

จากหนังทั้งสี่เรื่องนี้ จุดเริ่มต้นของหนังทุกเรื่องมีความแตกต่าง น่าสนใจ ปูคาแรกเตอร์ให้กับตัวละคร บวกกับการถ่ายทำที่ปราณีต เล่าเรื่องราวได้ดีมาตลอด ทำให้หนังทุกเรื่องในกลุ่มจีจ้า-จาพนมนี้ ถึงแม้ว่าฉากหลังๆจากนี้ จะดีบ้าง แย่บ้าง แต่จุดเริ่มต้นของเรื่องราว สอบผ่านด้วยคะแนนสูงลิ่วมาตลอด เมื่อเทียบกับหนังทั้งเรื่อง และสร้างความคาดหวังให้คนดูเสมอ ว่าหนังมันน่าจะออกมาดี

แต่กับจีจ้า ดื้อ สวย ดุ การเปิดเรื่องและการปูพื้นตัวละคร กลับไม่หลงเหลือความดีนั้นแล้ว

ความแตกต่างของจีจ้า กับหนังก่อนหน้านี้ คือจีจ้า มีตัวละครเอกมากกว่า 1 ตัว แต่ทุกตัวละครกลับไร้ที่มาที่ไป หรือพูดถึงอย่างเบาบาง (ไม่เว้นแม้กระทั่งนางเอก) แม้กระทั่งทำไมตัวละครกลุ่มนี้มีความสามารถในการต่อสู้ หรือคาแรกเตอร์เฉพาะตัวของตัวละครที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง ความผูกพันกับคนดู ความผูกพันกับตัวละครด้วยกัน ก็แทบมองไม่เห็น รวมไปถึงเงื่อนไขการต่อสู้กับผู้ร้ายในเรื่อง ก็ไม่มีน้ำหนัก หรือรู้สึกกดดันให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมว่าสมควรที่จะต้องออกมาสู้นะ

บทหนังอาจฉีกจากเรื่องก่อนๆ ที่ไม่เน้นฉากแอ็กชั่นเรียงต่อๆกันอย่างเดียว โดยเรื่องไม่คืบหน้า หรือตัวเอกที่คงคาแรกเตอร์เดียว สีหน้าเดียวจากต้นจนจบ แต่การที่หนังขาดหัวใจมาตั้งแต่ต้น (นั่นคือการปูพื้นให้ตัวละครและเรื่องราว) ถึงแม้ว่าเรื่องจะฉีกออกไปได้ขนาดไหน แต่ตัวหนังก็ยังดูแห้งแล้ง และมีอารมณ์แบบแกนๆ ผิวๆ ตลอดทั้งเรื่อง และขาดการได้ใจหรืออารมณ์ร่วมจากคนดูอย่างชัดเจน (ซึ่งลำพังแค่ฉากแอ็กชั่นมันเติมเต็มตรงนี้ไม่ได้)

ดังนั้น เมื่อเทียบกับหนังกลุ่มนี้ที่ไล่เรียงกันมา ผมจัดให้ จีจ้า ดื้อ สวย ดุ อยู่รั้งท้าย และค่อนข้างผิดหวัง (แม้ไม่ได้หวังอะไรมาก) ครับ



โดย: wu IP: 125.26.138.162 วันที่: 15 สิงหาคม 2552 เวลา:14:26:29 น.  

 
เท่าที่เคยดูมานะครับ

ไม่ชอบ องค์บาก มากๆ - เบิ้ลช็อตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขายความเป็นไทยแบบที่เรียกว่า Exotic จา พนม ยังแสดงหนังไม่เป็น เตะแต่ละทีพี่โชว์เหนือชนะตลอด

องค์บาก 2 - ชอบมากกว่า เนื้อเรื่องเหมือนไม่มีที่มาที่ไปเท่า แต่มันแสดงให้เห็นว่าคนตบแต่งขั้นสุดท้ายรู้จักธีมของหนัง จา พนม แสดงดีขึ้น เลยรู้สึกผูกพันกับตัวละครมากกว่า

ช็อคโกแลต - อาจเพราะตัวละครเป็นหญิง เป็นเด็กออทิสติก ปูเรื่องไม่ได้ดีมาก แต่เรารู้สึกผูกพันกับตัวละครประเภท Helpless Character มากกว่า เลยชอบมากกว่าเรื่องอื่น


โดย: yuttipung IP: 58.9.195.175 วันที่: 21 สิงหาคม 2552 เวลา:9:15:03 น.  

 
นานๆจะได้ไปดูละครเวทีสักที และวันที่ 22 สิงหาคม 19.00 น.ที่ผ่านมา ก็ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งในโรงละครอีกครั้งหนึ่ง กับ นางฟ้านิรนาม

บรรยากาศของโรงละครหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ค่อนข้างเล็ก แต่ก็เหมาะกับการแสดงโปรดักชั่นไม่ใหญ่นัก และการเข้าใกล้กันของผู้ชมและนักแสดง

ละครเดินเรื่องโดยใช้สื่อผสมผสานหลายรูปแบบ ทั้งการแสดงสด วิดีโอ สไลด์มัลติวิชั่น การให้เห็นนักแสดงอย่างชัดเจน การเห็นแบบลางๆหรือแม้แต่การเห็นเพียงแค่เงา การแสดงที่เน้นบทสนทนา เน้นลีลา หรือแม้แต่การออกแบบการแสดงให้ดูเหนือจริง โดยมีตัวช่วยคือการออกแบบฉากให้เป็นเพียงฉากผ้าโปร่งๆสีขาวเรียงซ้อนกัน เลื่อนเข้าออก เป็นทั้งฉากหน้า ฉากหลัง หรือจอสำหรับฉายภาพ รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆที่ลดทอนรายละเอียดจนเหลือเพียงรูปทรงสีขาว

ในด้านเนื้อหา ละครนำเสนอภาพอุดมการณ์ และการต่อสู้ของ ดร.กฤษณา อย่างเป็นลำดับขั้นตอน พร้อมๆกับการเสียดสีระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ราชการ บริษัทยาข้ามชาติ จนกระทั่งสงคราม (และที่น่าตลกคือละครนำเสนอเรื่องสงครามแบบเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อดร.กฤษณาน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับระบบอื่นๆด้วยซ้ำ)

ส่วนของการแสดงค่อนข้างลื่นไหล ต่อเนื่อง มีพลังได้ตลอด ซึ่งต้องชมนักแสดงทุกคน ทั้งนักแสดงนำและนักแสดงประกอบ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมารับบทโน้นบทนี้สลับกันไปมา ให้เห็นความสำคัญของการทำงานจริงๆ

ฉากที่ชอบ
1. การดวลกันของ ดร.กฤษณา กับบริษัทยา ทั้งเข้มข้น ทั้งกดดัน ทั้งบทที่เหนือจริง แต่เสียดสีได้เข้าเป้า แต่ตรงกับสำนวนหมาหมู่ได้ดีจริงๆ (จนสงสัยว่าบทละครต้นฉบับต่างประเทศมันเขียนอย่างนี้จริงๆ หรือของไทยมาดัดแปลง แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ยอดเยี่ยมมาก)
2. ฉากพบรัฐมนตรีสาธารณสุข ทั้งตลก ทั้งเสียดสี และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งสี ทั้งบล็อกกิ้ง ลงตัวมาก (เป็นฉากที่ดูสนุกจริงๆ)
3. ฉากเปิดตัวนักวิจัย และหาผู้ร่วมวิจัยยาเอดส์ สนุก ลื่นไหล แสดงกันได้เป๊ะมาก
4. ฉากการเพิ่มขึ้นของโรคเอดส์ สร้างความรู้สึกคุกคามได้ดีมาก เล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเพิ่มจำนวน ทั้งสาเหตุของโรค ทั้งอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนต่อโรค และการเริ่มเข้ามาของดร.กฤษณา

ฉากที่ไม่ชอบ
1.อายิโนะโตโม๊ะ ดูเกินๆ หลุดโลกไปหน่อย ตัดออกก็ไม่เสียหายต่อเนื้อเรื่อง
2. ฉากประชุมวิชาการที่บาร์เซโลน่า ป้อนสาระใส่ตรงๆไปหน่อย จากบทสนทนา คือฉากนี้ก็ไม่เลวร้าย แต่ชั้นเชิงมันมีไม่มากเท่าฉากสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนอื่นๆ

และฉากที่ประทับใจที่สุด คือฟินาเล่ที่นักแสดงออกมายืน แล้วผายมือให้อ.กฤษณาตัวจริงลุกขึ้นปรากฏตัว ขนลุกครับ ตื้นตันมากๆ กับเจ้าของเรื่องราวที่เราเพิ่งดูผ่านไป มีไม่กี่คนที่มีชีวิตโชคโชน มีสีสันมากมายอย่างนี้ และทำให้เรื่องราวจบลงอย่างสมบูรณ์จริงๆ

ขอขอบคุณอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสดูละครเวทีดีๆ มีพลังเรื่องหนึ่ง อ.ดังกมล ณ ป้อมเพชร ผู้กำกับที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง และที่สำคัญคือ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ที่เรื่องราวของอาจารย์สร้างกำลังใจให้กับหลายๆคนได้

ปล.อยากให้นักศึกษาที่ชอบทำละครทั้งหลาย (ที่มักเกิดจากการอยากเป็นดารา มากกว่าศิลปะการละคร) ได้มาดูละครเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ว่าละครเวทีจริงๆ มันเป็นอย่างไร


โดย: wu IP: 125.26.198.150 วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:1:45:27 น.  

 
Inglourious Basterds หนังชื่อแปลก ที่กลายมาเป็นความชอบสุดๆของการดูหนังในรอบหลายๆเดือน ที่ค่อนข้างดูหนังแล้วผิดหวังมาตลอด

ดูจากหน้าหนัง ไม่รู้เลยว่านี่คือหนังเควนติน ทาแรนติโน่ แต่พอดูจริงๆ แค่ไตเติล เปิดเรื่องแบบแยกเป็นบท ดนตรีประกอบ ก็รู้ว่าทาแรนติโน่กลับมาแล้ว

เควนตินยังใช้จังหวะการเดินเรื่องคล้ายๆของเดิม คือการก้าวล่วงหน้าคนดูไปก่อนในตอนแรก (ซึ่งคนจะงงงงว่าหนังกำลังพูดอะไร ใครเป็นใคร) แล้วค่อยทิ้งจังหวะให้คนดูเดินตามทัน จนกระทั่งคนดูเดินนำหน้าตัวละครไปเรียบร้อยแล้ว (คนดูรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตัวละครในเรื่องยังไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้คือฉากโรงหนังในตอนท้าย ที่คนดูรู้ว่ามีกี่กลุ่ม กี่ก๊ก กี่จุดมุ่งหมาย แต่ตัวละครในหนังรู้แค่ที่ตัวเองเกี่ยวข้อง) ซึ่งได้ผลทุกครั้ง ในหนังทุกเรื่องของเขา

เมื่อเทียบเคียงกับหนังเก่าๆของเควนติน ผมมีความรู้สึกใกล้เคียงกับ Jacky Brown หนังที่ได้รับการประเมินค่าต่ำไปนิดของเควนติน ในแง่การมีตัวละครหลายกลุ่ม ต่างจุดมุ่งหมายที่มาพัวพันภาระกิจเดียวกัน แต่ Basterds ดูสนุกกว่า ลุ้นมากกว่า รุนแรงกว่า และจังหวะดีกว่า

ตอนแรกรู้สึกแปลกใจนิดนึง ที่รู้สึกชอบบทหนังเรื่องนี้มาก ทั้งๆที่มันขาดคุณสมบัติที่ดีของบทหนังข้อหนึ่งเกือบจะโดยสิ้นเชิง คือการสร้างปูมหลังของตัวละคร ให้เรารู้จักตัวละครรอบด้าน และผูกพัน แต่ Basterds ให้เรารู้จักตัวละครเท่าที่เราเห็นบนจอ ไม่รู้ background ไม่มีฉากแสดงแง่มุมเปราะบาง อ่อนไหวตัวละครมากมาย แต่เรากลับรู้สึกผูกพันกับตัวละครแทบทุกตัว ไม่แพ้บทหนังที่ปูปูมหลังตัวละครดีๆเลย

จุดที่มาช่วยแก้จุดอ่อนตรงนี้ คือการแสดงที่ดูเป็นจริงเป็นจังทุกบท และถึงแม้ไม่มีการปูปูมหลังตัวละครมากมาย แต่ปูมหลังของเรื่องราว เควนตินปูได้อย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นความโหดร้ายของนาซี ความแสบสันต์ของกลุ่ม basterds หรือความทุกข์ยากของยิว จนเมื่อมาถึงฉากที่ประมวลแต่ละอย่างเข้าหากันจึงสนุกมากๆ

จุดที่ไม่ชอบ
1. จุดจบของตัวละครโคโลเนลลันดาง่ายไปหน่อย หลังจากที่ทำให้เป็นตัวละครที่ฉลาด เลือดเย็น น่ากลัว เจ้าเล่ห์เดาทางไม่ได้ มาโดยตลอด แต่ตอนท้ายกลับลงเอยง่ายๆ แม้จะสะใจพอควร แต่มันง่ายไป
2. ไม่เกี่ยวกับหนัง แต่ผมดูเรื่องนี้พากย์ไทยเพราะไม่มี soundtrack ให้เลือก และไม่ใช่พากษ์ไม่ดี เพราะไม่มีอะไรขัดหู แต่หนังที่เล่นเรื่องสำเนียง เรื่องเชื้อชาติหลากหลายแบบนี้ การดูเสียงจริงน่าจะให้ความรู้สึกที่ดีในการดูมากกว่า


โดย: wu IP: 125.26.147.97 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:0:12:13 น.  

 
Inglourious Basterds เด่นมากเรื่องสำเนียงการพูดครับ เพราะมันว่าด้วยประเด็นอคติทางชาติพันธุ์


โดย: yuttipung วันที่: 3 กันยายน 2552 เวลา:14:26:11 น.  

 
เป็นปรากฏการณ์ไม่กี่ครั้ง เรื่องไปดูหนังสักเรื่องแล้วตั๋วเต็ม ต้องซื้อตั๋วของวันถึดไปแทน (ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเจอกับสุริโยไท แต่นั่นเป็นตอนที่ทั้งของแก่นมีแค่ 2 โรง แต่ตอนนี้มันมีมัลติเพล็กซ์แล้ว)

Q&A ห้าแพร่ง

Q: แต่ละแพร่งเป็นอย่างไรบ้าง
A: หลาวชะโอน ดีใจมากที่ผู้กำกับไม่ล้นแล้ว ไม่แน่น ไม่โชว์พาวเหมือนสมัยยันต์สั่งตาย มุมกล้องสวย ใช้ภาพสื่อความหมายได้ดี โดยเฉพาะภาพตอนสุดท้าย ที่เอาเทคนิคพิเศษมารองรับการเล่าเรื่องได้ลงตัว (ไม่ใช่เอาเรื่องมารองรับเทคนิคเหมือนเคย)

ห้องเตียงรวม บรรยากาศหลอนใช้ได้ในช่วงต้น แต่พอมุกมันเริ่มซ้ำๆ เดาทางได้ ก็ไม่หลอนอีกต่อไป พล็อตดีที่หลอกให้คนดูคิดว่าตัวละครหลอนไปเอง แต่สุดท้าย เจอของจริง และของจริงมันไม่ใช่ผี

Backpacker ทำไมต้องญี่ปุ่น ทำไมต้องใส่ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องคนต่างด้าว ทำไมคนขับรถกับเด็กรถที่น่าจะเลวเหมือนๆกัน ไม่รู้กันว่าแต่ละคนทำอะไร ซอมบี้มายังไง รถเบนซ์คันนั้นมาจากไหน มือใคร สรุปคือทุกอย่างมันอัดแน่นไปหมด จนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับยันต์สั่งตายในสี่แพร่ง ถึงแม้ฉากปิดจะเจ๋งกว่ายันต์สั่งตาย (ที่น่าจะเจ๋งได้มากกว่านั้น) แต่เรื่องมันสู้ยันต์สั่งตายไม่ได้ คือที่อัดๆมา ถ้าจะทำให้มันมีประเด็นก็ได้ แต่การที่เวลาหนังมันจำกัด อัดมาซะขนาดนี้ มันเลยแน่นไป

รถมือสอง ผู้กำกับคิดภาพสยองก่อนหาพล็อตเรื่องมาใส่อีกแล้ว (เช่นเดียวกับตอนเครื่องบินในสี่แพร่ง) เลยทำให้เรื่องราวอ่อนที่สุด แม้จะเป็นศูนย์กลางของเรื่องอื่นๆ จัดว่าเป็นตอนที่น่าผิดหวัง

คนกอง สนุก มันส์ จิกกัด สะใจ ลุ้น และใช้มาช่าอย่างคุ้มค่า ตรงประเด็น แม้ว่าเรื่องราวจะไม่สมเหตุผลนัก (โดยเฉพาะการพยายามให้เรื่องราวต้องเกี่ยวข้องกับถนน การเดินทาง ซึ่งคนเดิน คนขับรถ ตกลงมันไปไงมาไงถึงบรรจบกันได้ หรืออย่างน้องผีตอนกลับไปกองถ่าย มายังไง ขึ้นแท็กซี่หน้าเละๆอย่างนั้นเหรอ) แต่ who's care?

Q: แล้วถ้าพูดถึงหนังรวมๆล่ะ
A: ออกจะน่าผิดหวังหน่อย เมื่อเทียบกับความคาดหวัง มีเฉพาะตอนคนกองที่สนุกมากจริงๆ แต่พอเอาไปรวมกับเรื่องอื่นๆ มันกลายเป็นตอนที่แปลกแยก โดด และข่มเรื่องอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อ 3 เรื่องมีประเด็นร่วมอยู่ที่ความรู้สึกผิด และการถูกตามเอาคืน ยกเว้นตอนห้องเตียงรวม ที่ถึงจะโดนเอาคืน แต่มันก็ไม่เกี่ยวกับความผิดที่ก่อ (assume ว่าแดนคือคนขี่มอเตอร์ไซด์ในตอนแรก) แต่เรื่องสุดท้ายมันไม่ได้มีเรื่องความผิด เรื่องการตามแก้แค้นเอาคืน หรือแมแต่ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติด้วยซ้ำ แม้ว่าถ้าแยกเดี่ยวๆ เรื่องคนกองจะดีที่สุดก็ตาม

ในส่วนข้อดี คือการแสดงที่ดีแบบยกทีม ทั้งตัวนำ ตัวประกอบ และงานด้านโปรดักชั่นก็ดูดี อีกอย่างคือการเชื่อมโยงแพร่งต่างๆที่ไม่มาก และชัดเจนเกินไป หรืออาจไม่เชื่อมก็ได้ โดยจุดร่วมคือการเดินทาง อุบัติเหตุ โทรศัพท์ และยานพาหนะต่างๆก็มารวมกันที่เต้นท์รถ ก็ดูสร้างสรรค์ดี

Q: แล้วอยากดูหกแพร่งไหม
A: แค่ห้าแพร่ง ก็ไม่เหลือเวลาเล่าแต่ละแพร่งให้ได้เนื้อได้หนังแล้ว แต่ยังอยากเห็นการต่อยอดของหนังชุดนี้ โดยเฉพาะสี่คนจากคนกอง คนกลาง ถ้าเอามาขยายเป็นหนังยาวๆสักเรื่องให้ได้อารมณ์แบบหนังสั้นสองเรื่องนี้ หรือทำเป็นหนังสั้นสักสี่เรื่อง ไม่ต้องต่อเนื่องกันแต่มีศูนย์กลางที่สี่หนุ่ม ในสถานการณ์ต่างๆ บางตอนก็ตาย บางตอนก็รอด น่าจะเป็นหนังที่สนุกมากๆ



โดย: wu IP: 125.26.142.71 วันที่: 13 กันยายน 2552 เวลา:11:30:22 น.  

 
โดยส่วนตัวชอบตอน รถมือสอง กับ คนกอง นะครับ มันเป็นหนังที่มีรายละเอียดเหมาะกับหนังขนาดสั้นดี และทำออกมาได้ดี (เรื่อง รถมือสอง อาจล้นบ้าง แต่ประเด็นในหนังมันชัด และถ่ายทอดได้ดีครับ ส่วนเรื่อง คนกอง เป็นการล้อ และเลือกใช้เป็นตอนจบได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

ห้าเรื่องนี้เหมือนเรียงลำดับมาเรียบร้องเกี่ยวกับความเชื่อ ตั้งแต่ความเชื่อที่เก่าแก่ในหลาวชะโอน มาจนถึงระดับที่ไม่มีเรื่องทางวิญญาณมาเกี่ยวข้องเลยในคนกอง แต่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความกลัวทุกเรื่อง


โดย: yuttipung IP: 110.164.82.206 วันที่: 16 กันยายน 2552 เวลา:15:05:43 น.  

 
District9

อารมณ์คล้ายๆกับตอนดู Cloverfield เมื่อปีก่อนเลยครับ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะไม่ได้ใกล้กันเลย รูปแบบนำเสนอก็ไม่เหมือน แต่ที่เหมือนคือความรู้สึกสดใหม่ กล้าที่จะเสี่ยงกับหนังที่น่าจะออกแนวตลาดๆ ขายคนดูง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก แต่กลับใช้การเล่าเรื่องที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ซึ่งถ้าทำไม่ถึงมีโอกาสมากๆที่จะกลายเป็นหนังห่วย และขาดทุนล้มเหลว แต่ทั้งสองเรื่องนี้สอบผ่านครับ

ที่ผมชอบมากมายใน District 9 คือหนังมันไม่โชว์พาวว่ามีเทคนิคพิเศษสุดเจ๋ง อะไรมากมาย (ทั้งๆที่มีแทบทุกช็อต) แต่เล่าเหมือนมันเป็นการถ่ายทำธรรมดาๆ เอากล้องไปตั้งถ่ายเฉยๆ เลยทำให้มันได้อารมณ์ดิบๆ ไม่ปรุงแต่ง (ทั้งที่ความจริงปรุงแต่งเยอะมาก) ซึ่งมันทำให้ได้อารมณ์สมจริงสุดๆ และไปสอดรับกับการเล่าเรื่องแบบรายงานข่าว สารคดี ยิ่งทำให้เราเชื่อภาพที่ปรากฏยิ่งขึ้นว่ามันมีจริงๆ

ส่วนที่ไม่ชอบ คือเรื่องเสียงครับ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการบันทึกเสียงและพากย์ไทยหรือเปล่า หรือต้นฉบับเป็นอย่างนี้จริงๆ แต่เสียงมันหนวกหูและน่ารำคาญมากครับ โดยเฉพาะเสียงพระเอก กับพวกมนุษย์ต่างดาว แล้วพยายามยิงมุกแทบทุกประโยค ซึ่งดูล้นๆมากไปหน่อยครับ


โดย: wu IP: 125.26.147.103 วันที่: 28 กันยายน 2552 เวลา:0:27:39 น.  

 
Whiteout

หนังทริลเลอร์ที่ดูเอื่อยมากๆ ไม่ลุ้น ไม่เห็นความน่ากลัวของฉากหลัง(ทั้งที่มันเอื้อให้ขนาดนั้น) ความตื่นตาตื่นใจ ความซับซ้อนต่างๆ ก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

นี่คือพล็อตและบทของหนังเกรดบี ที่มาอยู่ในคราบของหนังเกรดเอให้คนดู (อย่างผม) เข้าใจผิดนี่นา


โดย: wu IP: 125.26.139.186 วันที่: 30 กันยายน 2552 เวลา:1:50:57 น.  

 
ดูหนังไป 4 เรื่องครับ

รถไฟฟ้ามาหานะเธอ
ส่วนตัวหนังออกแนวธรรมดาๆ ไปหน่อย ดูได้เรื่อยๆ แต่มันมีมุมที่โดนใจคนโสด หลายๆฉาก ดูแล้วนึกถึงเพื่อนๆ รวมทั้งตัวเองด้วย

The Ugly Truth
หนังแนวพระเอกนางเอกกัดกัน ซึ่งปกติมักมีคำพูดคมๆ แสบๆ คันๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่หนีแนวที่ว่า แม้เนื้อเรื่องจะไม่ค่อยมีอะไรใหม่ แต่แค่บทพูด กับเสน่ห์นักแสดงถ้าเอาอยู่ หนังก็โอครับ และเรื่องนี้ก็ถือว่าเอาอยู่

เฉือน ฆาตกรรมรำลึก
เป็นหนังไทยที่ทำออกมาได้โดดเด่น แหวกแนว มีมาตรฐาน แต่ทำไมผมถึงผิดหวังหน่อยๆไม่รู้ อาจเพราะเครดิตผู้กำกับ เครดิตคนเขียนเรื่อง เลยคาดหวังมากไปหน่อย คือว่าถ้าหนังเรื่องนี้ไปอยู่ในมือผู้กำกับอื่นๆ ผมอาจชอบมากกว่านี้ก็ได้

ปัญหาของหนังคือบท ที่ดูเหมือนจะซับซ้อน แต่การขาดตัวหลอกล่อ ทำให้คาดเดาบทสรุปของหนังได้ง่ายมากๆ และหนังก็ไปถึงแค่ที่เราคาดเดาไว้ ไม่ได้ไปไกลกว่านั้น ซึ่งนี่เป็นข้อผิดพลาดของบทหนังทริลเลอร์มากๆ ที่บทไม่สามารถนำหน้าคนดูไปได้ แล้วยิ่งชื่อผู้เขียนบท เขียนเรื่อง คือก้องเกียรติและวิศิษฐ์ ซึ่งเป็นมือวางต้นๆของนักเขียนบทบ้านเราด้วย เลยรู้สึกผิดหวัง แม้ว่าในส่วนอื่นของบทที่ไม่ได้เกี่ยวกับการหักมุม จะทำออกมาได้ดีก็ตาม เช่นการใช้แฟลชแบ็ค การเล่าเรื่องให้คนดูผูกพันกับตัวละคร เห็นใจตัวละคร และเห็นพัฒนาการตัวละครได้ดี อ้อ ในส่วนจุดอ่อนของบทนอกจากการเดาได้ง่ายแล้ว ยังมีข้อด้อยอีกอย่างที่การเปิดคาแรกเตอร์ได้แรง ดึงดูด แต่ไม่ตามเก็บ หรือตามเก็บแต่ไม่ถึงอีกด้วย เช่นรอยสักบทตัวพระเอก ฉากฆ่านักโทษในห้องน้ำ หรือคาแรกเตอร์ฉัตรชัย ผมที่ขาวโพลน พฤติกรรมที่น่าจะแรงๆ ซึ่งสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรมากมาย

ในส่วนของการกำกับ ก้องเกียรติดูเหมือนจะหนักมือในการใส่ฉากโหดๆไปหน่อย ตั้งแต่ฉากเปลือย ฉากเซ็กซ์หมู่ (ที่ตามมาด้วยการฆาตกรรมหมู่) ฉากฆาตกรรม ฉากข่มขืน ฉากศพที่โดนหั่น หรือเฉือนอวัยวะ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศโอกาสติดเรต NC17 ด้วยซ้ำ แต่ฉากโหดเหล่านี้ กลับรู้สึกเหมือนกับพยายามโหด พยายามแรง แต่ไม่ได้มีน้ำหนักต่อตัวเรื่องเท่าไร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฉากธรรมดาๆ เช่นฉากลมหนาว ฉากจบ ซึ่งกำกับได้ลงตัวมากกว่ามากๆ

New York, I love you
ง่วงนอน ปนหนังน่าเบื่อนิดๆ เลยแอบหลับไปบ้าง รู้สึกเหมือนได้ดูไม่กี่ตอนเอง ข้อที่แตกต่างจาก Paris คือหนังพยายามเชื่อมโยงตอนต่างๆให้เข้าหากันมากขึ้น ด้วยฉากเล็กๆก่อนเข้าแต่ละตอนที่ให้ตัวละครได้โผล่หน้ามาเจอคนดูบ้าง แต่กลับยิ่งทำให้เวลาเข้าแต่ละตอนมันไม่มีจุดเริ่มต้นชัดเจน (เมื่อเทียบกับ Paris ที่ตัวละครแต่ละตอนโผล่มาเจอกันตอนจบ) แล้วตัวละครมันก็ไม่ได้ผูกโยงกันชัดเจนขนาดที่จะเอามาเชื่อมกันได้สนิท และที่สำคัญที่สุดจริงๆที่ทำให้ดูหนังเรื่องนี้ไม่สนุกนัก คือไอเดียมันสดจริงๆตอน Paris แต่พอมา New York มันไม่สด ซ้ำซาก ไม่ตื่นเต้น หวือหวาเท่าตอน Paris แม้จะรู้จักนักแสดงมากขึ้นก็ตาม


โดย: wu IP: 125.26.194.68 วันที่: 24 ตุลาคม 2552 เวลา:0:00:00 น.  

 
สำหรับผม Paris, Je Taime ดูครั้งแรกจะชอบมากกว่าเพราะมันหวือหวากว่า แต่หลังจากนั้นเนื้อเรื่องจะแทบไม่มีเอกภาพอะไรให้เรานึกถึงปารีสเลย แต่หนังเรื่อง New York, I love you ผมกลับชอบมากกว่าแฮะในองค์รวม มันมีความเป็นคนในพื้นที่มากกว่า

เฉือน - ถ้าไม่นับ "เจ้านกกระจอก" (ซึ่งก็คงฉายจำกัดโรง) นี่คงเป็นหนังสะท้อนสังคมไทยได้แรงที่สุดในปีนี้ครับ แน่นอนว่าหนังเจตนาแรงจริงต้อนรับการจัดเรตอย่างจงใจ ตัวหนังซุกซ่อนเรื่องการเมืองด้วยเรื่องฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่ผมไม่ไ้ดข่าวว่าหนังโดนบังคับตัดแบบ มหาลัยสยองขวัญ หรือ สวยซามูไร


โดย: yuttipung IP: 125.24.137.25 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2552 เวลา:20:26:22 น.  

 
หวัดดีครับ คุณยัติภังค์ ไม่ได้ทักทายกันตั้งนาน

ช่วงที่ผ่านมา อ่านหนังสือ(ที่คาดว่า)จะเป็นหนังจบไป 2 เล่ม เล่มนึงนี่ เป็นแน่ๆ ต้นปีหน้าคงได้ดู อีกเล่มยังไม่สร้าง แต่ฮอลีวู๊ดคงไม่ปล่อยหลุดมือ

The Lovely Bones
เปิดฉากมาสวยงามมากๆ ชวนติดตาม แต่พออ่านไปเรื่อยๆ เริ่มทรมาน กับภาษาหรูๆ แต่คืบหน้าอย่างช้าๆ นึกถึง American Beauty ผสม Desperate Housewives ในอารมณ์ละเมียดๆ และชวนให้จินตนาการ แม้ว่าเนื้อหาจริงๆจะหนักอึ้ง เพราะพูดถึงความสูญเสีย ผลกระทบ และการตอบสนองต่อการสูญเสียในระดับต่างๆ ปรัชญามาก มากเสียจนคาดว่าหนังไม่น่าทำเงินอะไรมาก แม้จะมีชื่อปีเตอร์ แจ็คสันกำกับก็ตาม

The Lost symbol
แดน บราวน์ยังคงเขียนหนังสือเก่ง โดยใช้เทคนิคการตัดต่อของหนัง ภาษาหนังมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ แต่เรื่องนี้ ยังนึกภาพเป็นหนังไม่ค่อยออก เพราะหลายๆฉากเป็นเรื่องความนึกคิด ความู้สึก หรือเกิดในที่มืดๆ แคบๆ แล้วฉากโชว์พาว แสดงข้อมูลที่ถูกค้นมาอย่างละเอียด หลายๆฉากก็กลายเป็นการพล่ามยืดยาว เหมือนกับจะเล่าให้หมดซะทีเดียว แล้วแถมโรเบิร์ต แลงดอนภาคนี้ ไม่ค่อยมีเสน่ห์ หรือความหลักแหลมอะไรเอาเสียเลย เป็นการตกกระไดพลอยโจนไปเรื่อยๆมากกว่าการใช้สติปัญญาไหวพริบไขปริศนา

ส่วนที่ชอบคือ นางเอก (แดน บราวน์เขียนนางเอกได้มีเสน่ห์ ฉลาด น่าทึ่งทุกเล่ม) แล้วบทเล็กๆบทนึงที่หลอกล่อให้คนอ่านหลงทางแบบไม่รู้ตัว จนอ่านเสร็จต้องกลับไปย้อนอ่านบทนั้นอีกครั้ง แล้วทึ่งมากกับการเขียนแบบให้จินตนาการนำเราไปมากกว่าตัวหนังสือ จนมองข้ามบางอย่างไป จนหนังสือเฉลยแล้วค่อยรู้

อ้อ งานนี้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องรวมกันเรื่องละนิดละหน่อย ไม่ว่าจะเป็น National Treasure, se7en หรือแม้กระทั่งเฉือน


โดย: wu IP: 125.26.140.120 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:21:04 น.  

 
กับหนังสารคดี 2 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเบื้องหลังการสร้างผลงาน

September Issue
แม้ชีวิตของแอนนาจะมีเสน่ห์ น่าค้นหา น่าติดตาม และมีหนังอย่าง Devil wear Prada และซีรีย์ Ugly Betty ปูทางมาอย่างดี แต่จุดเด่นของสารคดีเรื่องนี้คือคอนฟลิคระหว่างแอนนาและเกรซ creative director ของโว๊ค ที่สร้างสรรค์ เฉียบคม และมีความสามารถไม่แพ้กัน กับการทำงานที่ทั้งเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นคู่แข่ง และมีทั้งความขัดแย้งและการยอมรับซึ่งกันและกัน และทำให้พอผลงามออกมาในตอนท้าย แม้จะเป็นงานที่ได้รับการยอมรับสูงอยู่แล้ว แต่คนที่ได้เห็นเบื้องหลังและความเป็นมา ก็ยิ่งเห็นคุณค่าของหนังสือฉบับนี้ไปอีก อ้อ แล้วที่ชอบอีกอย่างคือการพูดถึงฐากูล และความสำเร็จของเขา ในฐานะคนไทยด้วยกัน อดภูมิใจด้วยไม่ได้

This is it
ในตัวหนังไม่มีความขัดแย้ง นอกจากการนำเสนอเพลงต่างๆไล่เรียงต่อเนื่องในอารมณ์คล้ายกับการดูคอนเสริ์ตจริงๆ (การจำลำดับเพลง ตั้งแต่ต้นจนจบไปถึง finalle และ encore การให้แต่ละเพลงเป็นเหมือนโชว์ที่มีจุดเด่นของตัวเอง) แต่ความขัดแย้ง เกิดขึ้นที่ว่าทุกคนรู้เรื่องนอกจอ ว่าคอนเสริต์นี้ที่ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนพร้อมที่จะเปิดตัว ไม่มีโอกาสได้เปิดแสดงจริงๆ เลยนำไปสู่อารมณ์สะเทือนใจได้แทบจะทุกตอน ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ของแดนเซอร์และทีมงานที่มีส่วนในคอนเสริต์ หรือการพูดให้กำลังใจของไมเคิลในตอนท้าย และที่สำคัญ หนัง(และตัวไมเคิล)ให้ความสำคัญกับทีมงานทุกๆส่วนอย่างทั่วถึง แต่ละฝ่ายมีโมเมนท์ที่น่าจดจำของตัวเอง นี่แหละ สิ่งที่ไมเคิลทำสำเร็จ


โดย: wu IP: 125.26.140.120 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:38:05 น.  

 
และกับหนังอีก 2 เรื่อง

The box
โครงเรื่องน่าสนใจมาก แต่พอเฉลย ถึงจะไม่เฉลยเคลีย์ชัดเจนทุกจุด แต่เฉลยแล้วหนังมันไม่น่าค้นหาอีกต่อไป กับเรื่องที่มันไกลตัวเกินไป แล้วไม่มีการปูพื้นมาให้เตรียมใจว่าเรื่องมันจะออกมาแนวนี้ นึกถึง Forgotten ขึ้นมาตะหงิดๆ

2012
หนังเอาใจคนดู โชว์เอฟเฟค แต่การจัดลำดับฉากทำลายล้าง กลับสอบตกอย่างไม่น่าเชื่อ กับการวางฉากที่น่าตื่นเต้นที่สุด ตื่นตาตื่นใจที่สุด ลุ้นที่สุด แปลกใหม่ที่สุด ไว้ตอนต้น แล้วค่อยๆลดระดับความตื่นเต้นเรื่อยๆ จนถึงฉากท้ายๆที่ทั้งเชย ทั้งซ้ำซาก ไม่มีอะไรใหม่ แถมอุปสรรค์ท้ายๆ ยังเป็นเรื่องความผิดพลาดที่เกิดจากตัวละครอีกต่างหาก ไม่ใช่ภัยพิบัติอะไร (คนที่ทำหนังแล้วไล่ลำดับความตื่นเต้นมาเรื่อยๆจากต้นจนจบได้ดีเป็นมือหนึ่งปัจจุบัน ผมยังให้เจมส์ คาเมรอนต่อไป)

แล้วพอมาเจอกับตัวละครที่แบนราบ คิทเช่ เลยยิ่งทำให้เนื้อเรื่องไม่มีอะไรจดจำนัก คนที่ขโมยซีนเลยกลายเป็นสาวรัสเสียทรงบึ้มผมบอนร์ด ซึ่งฉีกบทออกจากสูตรที่ปกติจะต้องกลวง ไร้สมอง เห็นแก่ตัว และกลายเป็นภาระ หรือสร้างปัญหาให้ผู้อื่น ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง แต่นอกเหนือจากภาพลักษณ์ หนังเขียนบทเธอให้ตรงข้ามกับที่เราคิดมาตลอด เลยกลายเป็นบทเด่นโดยไม่รู้ตัว

อ้อ แล้วไม่รู้เพราะหนังทุ่มกับเอฟเฟคมากไปหรือเปล่า งานธรรมดาๆอย่างถ่ายภาพ จึงดูหลอก และหยาบได้ขนาดนั้น โดยเฉพาะในฉากช่วงท้ายๆ ที่ดูชัดเลยว่าใช้กล้องดิจิตอล ไม่ใช่ฟิลม์ (ภาพจะชัด คม แต่ขาดมิติ และแข็งๆ)ซึ่งปกติจะเคยสังเกตในหนังไทย หรือซีรีย์ฝรั่งบ้าง กับภาพแบบนี้ แต่หนังใหญ่ๆขนาดนี้เพิ่งเคยเห็น


โดย: wu IP: 125.26.140.120 วันที่: 17 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:56:14 น.  

 
ผมชอบ The Box มากครับ

เป็นหนังที่ไซไฟ ที่นำวิธีการเล่าแบบ Absurd มาใช้ในกลางเรื่อง หรือจะว่ามันเป็นหนังที่อ้างอิงวรรณกรรมของ ฌอง ปอล ซาตร์ มากกว่าดัดแปลงจากต้นฉบับเดิมเสียอีก

โรเจอร์ อีเบิร์ต อธิบายความชอบของหนังได้น่าสนใจดี เขาเปรียบเทียบการกดปุ่มกล่องนี้กับการทดลองของมิลแกรม และบอกว่าใครที่ไม่ชอบ Knowing ก็น่าจะไม่ชอบ The Box

สำหรับผมสองเรื่องนี้มันเป็นหนังโจมตีศาสนาคริสต์ หรือรัฐศาสนาแบบเนียนๆ ผ่านหนังไซไฟ


โดย: yuttipung IP: 125.24.177.21 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2552 เวลา:16:37:03 น.  

 
ผมเข้าไม่ถึงครับ สำหรับ The box แต่คงจะจริงที่บอกว่าคนไม่ชอบ Knowing จะไม่ชอบ The box เพราะตัวเองรู้สึกประมาณนั้นเลย (คือไม่ถึงกับไม่ชอบมากมาย แต่ก็ไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ)

The Twilight Saga: New Moon
ความรู้สึกเหมือนตอนดูภาคแรกเลย คือวรรณกรรมยุคอินเตอร์เน็ต ที่ใครๆก็เป็นนักเขียนได้ โดยไม่ต้องวางโครงเรื่องที่ดี ซับซ้อน มีแง่มุมอะไรมากมาย แต่เขียนได้โดนใจคนอ่าน ตอบอารมณ์เพ้อฝันนักอ่านได้ตรงจุด โดยเฉพาะเรื่องนี้ ที่ทำให้คนอ่าน(หรือคนดู) เหมือนกับตัวเองเป็นนางเอก สวยเลือกได้ อยู่ใกล้อันตราย แต่เปลี่ยนให้กลายเป็นความโรแมนติก (แม้ว่าภาคนี้นางเอกออกจะฮีททีเรียหน่อยๆ) แล้วหนังก็ทำออกมาเอาใจความเพ้อฝันของคอหนังสือ โดยการฉาบฉากหน้าหนังด้วยความสวยงาม โรแมนติก แต่ภายในกลับกลวงอย่างไม่น่าเชื่อ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระหว่างรอยต่อภาค 1 และภาค 2 หลายๆคนรวมทั้งผมได้มีโอกาสดูซีรีย์ True Blood ที่พูดประเด็นคล้ายกัน โครงเรื่องคล้ายกัน องค์ประกอบคล้ายกัน แต่ทำออกมาได้ลึกกว่า แน่นกว่า หนักกว่า มีอะไรให้คิดและติดในหัวมากกว่า เสียดสีและแฝงนัยเรื่องอื่นๆ (ชนกลุ่มน้อยและรักร่วมเพศ) ได้ดีกว่า เลยทำให้เวลาดู New Moon เหมือนกับดูเด็กๆเล่นละครโรงเรียนเลยทีเดียว


โดย: wu IP: 125.26.138.151 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:13:18 น.  

 
ลมหายใจ เดอะมิวสิคเคิล

จะว่ายังไงดี ถ้าพูดถึงความชอบ ความอิ่ม โอเคครับ ละครเรื่องนี้ให้เราได้ครบ ได้ฟังเพลงที่เราชอบในการตีความใหม่ๆ ได้ดูการแสดงผสมผสานไปกับการร้อง ได้เห็นความสามารถของนักแสดง ผู้กำกับ ไปจนถึงความสนุกสนานของละครครบถ้วน

แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นละครที่ดีไหม มันยังแค่ปริ่มๆเท่านั้น

จากการที่โดนบังคับว่าต้องใส่เพลงบอยด์เข้าไป (ซึ่งเป็นเพลงที่เพราะ แต่ไม่หลากหลาย ไม่สุดโต่ง ไม่แสดงออกอารมณ์มากเกินความจำเป็น และสะอาดเหลือเกิน) ทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาเนื้อเรื่องให้ซับซ้อน หลากหลาย แถมตัวบทยังพัฒนาในทิศทางแบบใช้การสนทนาระหว่างแต่ละเพลงมาเป็นการเดินเรื่อง โดยบทสนทนาเหมือนกับกำลังเกริ่นนำเพื่อไปสู่บทเพลงถัดไปอีก แล้วส่วนใหญ่ก็ยืดยาวจนเยิ่นเย้อ ไม่กระชับ เลยทำให้งานบทยังเป็นจุดอ่อนของละครเรื่องนี้

แต่จุดแข็ง คือการตีความแต่ละเพลงให้มีความหลายหลาก หลายมุมมอง แม้แต่จะเป็นเพลงเดียวกัน แต่พอเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนคนร้อง เปลี่ยนมาร้องโต้ตอบ สลับกัน เปลี่ยนจังหวะการร้อง ทำให้เกิดความหมายใหม่ๆ ซึ่งหลายๆเพลงทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมากๆ โดยเฉพาะกับเพลง ช่วงที่ดีที่สุด ฤดูที่แตกต่าง รักเธอหมดทั้งหัวใจ หยุด Live and learn ใคร

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบางเพลงที่โดด เช่นดอกไม้ หรือเพลงที่จะโชว์การร้องอย่างเดียว ในอารมณ์เดียว อย่างห่างไกลเหลือเกิน เลยกลายเป็นจุดบอดเล็กๆน้อยๆ

ในแง่ของการแสดง

มอส เป็นไปตามที่คาด คือเล่นดี แต่การร้องไม่เท่าไร แต่คนเรียบเรียงเพลงก็คงรู้จุดอ่อนตรงนี้ดี เพลงของมอสเลยออกแนวเพลย์เซฟ ไม่ค่อยมีท่อนโหน หรือโชว์เรนจ์เสียงมากเท่ากับคนอื่นๆ ถือว่าเสมอตัว

นิโคล เซอร์ไพรซ์มากๆ เสียงหวาน ใสมาก ร้องดีด้วย โดยเฉพาะเพลงแรกที่ร้องคือโปรดเถอะ ซึ่งให้อารมณ์มิวสิเคิลมากๆ ถึงแม้การแสดงจะยังไม่ค่อยเท่าไรก็ตาม ข้อเสียคือครึ่งหลังของเรื่อง กลับกลายเป็นการร้องเพลงธรรมดาๆ ไม่ใช่แบบละครเพลงแบบครึ่งแรก น่าเสียดายนิดนึง

รัดเกล้า ได้หมด ทั้งร้อง ทั้งเต้น ทั้งแสดง แถมบทยังเปิดให้เป็นศูนย์กลาง มีบทสนุกสนาน และมีอารมณ์เหงาลึกๆแฝงอยู่ เห็นชัดเลยว่าคนเขียนบท ผู้กำกับ รักบทนี้มากๆ และรัดเกล้าก็เอาอยู่

อ๊อฟ ปองศักดิ์ ร้องเพลงได้สุดยอดอีกคน เสียงมีพลังมาก แล้วมีท่อนโชว์แทบทุกเพลงที่ร้อง เสียดายที่เพลงอ๊อฟร้อง แม้จะหลายเพลง และเพราะมากๆ แต่เหมือนตัดมาแค่อย่างละครึ่งเพลง แล้วการแสดงที่บางครั้งยังเห็นความพยายามมากไปนิดนึง

แก้ม เดอะสตาร์ เสียงสุดยอดอีกคน แต่จะสุดยอดแค่เวลาที่ร้องอารมณ์แรงๆ หรือเป็นตัวเมนในเพลงนั้นๆ แต่เพลงที่ร้องร่วมกับคนอื่นๆ หรือร้องเสริมให้คนอื่นๆ ก็เหมือนเธอจะร้องเกินหน้าเกินตาคนอื่นๆไปนิด แต่อย่างไรก็ตาม เสียงร้อง เทคนิคต่างๆของเธอ ทำให้อยากเห็นเธอในละครเพลงสักเรื่องที่เธอเป็นศูนย์กลางจริงๆ และเป็นบทแรงๆให้ได้ใช้พลังเสียงเยอะๆ รับรอง เกิด


โดย: wu IP: 125.26.139.36 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:43:42 น.  

 
Avatar

ดูได้ระยะนึงแล้ว แต่ไม่มีเวลาเขียนถึงเลย

ก่อนอื่นเวลาพูดถึงหนังเรื่องนี้ ต้องบอกเวอร์ชั่นที่ดูก่อน ผมดูดิจิตอล 3 มิติ ที่ขอนแก่นครับ ซึ่งในส่วนสามมิติ ทำได้ชัดเจน เป็นสามมิติแบบไม่หลอก ไม่เวียนหัวครับ

ซึ่งนั่นนับเป็นข้อดี และส่วนที่เห็นถึงพัฒนาการของโลกภาพยนต์ของหนังเรื่องนี้ครับ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่อง การเล่าเรื่อง ความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจ หรือแนวคิดสาระที่แฝงอยู่ รวมไปถึงความใหม่ อยู่แค่ในมาตรฐานหนังฮอลลีวู๊ดฟอร์มยักษ์เท่านั้น ไม่ได้โดดเด่นจากหนังไฮคอนเซบโดยเฉลี่ยเท่าไร

เลยรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เมื่อมองว่านี่คือผลงานของเจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับที่แม่น เข้าใจอารมณ์หนัง และเร้าอารมณ์คนดูได้ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก

ส่วนที่ชอบที่สุด เป็นหลังจากออกจากโรงแล้วมาดูเบื้องหลังในทีวี แล้วเขาเปรียบเทียบการแสดงของนางเอกขณะถ่ายทำกับภาพในหนังแบบแบ่งครึ่งจอ ซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจกว่าในหนังซะอีก เมื่อเห็นคนจริงๆกลายร่างอวตารเป็นชาวนาวิอย่างชัดเจน


โดย: wu IP: 125.26.140.45 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:0:37:57 น.  

 
ส่วนตัวเป็นคนชอบนิยายสืบสวน แต่กลับไม่ค่อยถูกโฉลกกับเชอร์ล็อก โฮมส์ถ้าเทียบกับนักสืบคนอื่นๆ ดังนั้น แรงจูงใจในการดูหนังเรื่องนี้คือชื่อผู้กำกับ กาย ริตชี่ ทั้งๆที่จินตนาการไม่ออกเลยว่าสไตล์ของริตชี่จะเข้ากับขนบของนิยายแบบโฮมส์ได้เลย

ผลมันเลยออกมากำกึ่ง คือถ้าเป็นสไตล์ภาพ การเล่าเรื่องแบบมีแฟลชฟอร์เวิร์ด การหยุดภาพ การโคลสอัพ ก็ใช่ เป็นลายเซนต์ริตชี่ แต่กับเนื้อเรื่อง หรือการดำเนินเรื่องที่ยังไม่ยุ่งเหยิง พัวพัน และลงตัว ซึ่งเป็นอีกลายเซนต์หนึ่งของริตชี่ ก็ยังไม่มากพอ

จุดดีของหนังคือออกมาไม่เชย แม้ว่าองค์ประกอบ ยุคสมัย ตลอดจนสภาพปัจจุบันที่เต็มไปด้วยหนังหรือซีรีย์แนวสืบสวน จะทำให้หนังเชยได้ง่ายๆ และนักแสดงทั้งสามคนที่เล่นเข้าขา ถ่ายทอดออกมาได้เหมาะเจาะ


โดย: Sherlock Homes IP: 125.26.146.47 วันที่: 17 มกราคม 2553 เวลา:18:25:32 น.  

 
ฉันเกลียดวาเลนไทน์ แต่ฉันชอบหนังเรื่อง Valentine's Days

สำหรับแกรี่ มาร์แชลล์ นี่คือหนังเรื่องที่สองของเขาถัดจาก Franky and Johny ที่ผมรู้สึกว่าชอบ เพราะปกติจะไม่ถูกโฉลกกับหนังของเขาเท่าไหร่ แม้ว่าจะเป็นหนังดัง และมีเสียงวิจารณ์ในทางที่ดีก็ตาม

Valentine's Day เป็นหนังที่คอนเซปง่ายๆ แต่ลงตัว ด้วยการพูดถึงความรักที่หลากหลาย และการโยงใยตัวละครกลุ่มใหญ่ให้มาเกี่ยวข้องกันในทางใดทางหนึ่ง โดยใช้นักแสดงมากเสน่ห์และพลังดารากลุ่มใหญ่ มาเล่นตนละเล็กละน้อย

จุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่แอชตัน คูชเชอร์ และเจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ ที่เป็นตัวเชื่อมต่อตัวละครต่างๆ และมีส่วนของเนื้อเรื่องมากกว่าคนอื่นๆ (ดาราคนอื่นๆจะรับบทแบบถ่ายทอดอารมณ์รักสักอารมณ์หนึ่ง แต่ไม่ได้มีเนื้อเรื่องชัดเจนเท่า 2 คนนี้) และเป็นตัวละครเด่นจริงๆ แต่เซอร์ไพรซ์ของเรื่อง กลับตกไปอยู่กับบทเจสซิก้า บีล กับบทประมาณเหมยลี่ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ แล้วเธอก็เล่นได้มีเสน่ห์จริงๆ รองมา ก็แอน เฮตอะเวย์ ที่ได้พูดบทพูดสนุกๆ และเจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ที่ได้แสดงอารมณ์ที่หลากหลายที่สุด รวมไปทั้งจูเลีย โรเบิร์ต และแบรดลีย์ คูปเปอร์ที่รับผิดชอบในส่วนดราม่า

จุดที่น่าผิดหวังคือ 2 เทเลอร์ ที่บทน้อยไปหน่อย และยังสื่อไม่ค่อยชัด ถึงความรักแบบคลั่งไคล้ แต่พัฒนาช้าๆอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นธีมที่แปลกใหม่ทีเดียว เสียดายนิดนึง แล้วอีกอย่างคือบางครั้งผู้กำกับยังเหมือนกับเอามุขคล้ายๆเดิมมาเล่นหลายรอบไปหน่อย เช่นฉากมีคนเดินเข้ามาในฉากแล้วเห็นแต่ตัว ยังไม่ให้เห็นหน้า หรือบางฉากก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่องเก่าๆของเขา โดยเฉพาะใน Pretty Woman

แต่โดยภาพรวม นี่คือหนังที่ดูสนุก (บทพูดตลกมาก จนถึงฉากสุดท้าย เบื้องหลังการถ่ายทำเลยทีเดียว) ดูแล้วอิ่มเอิบ ประทับใจ มีอะไรติดในหัวพอควร และเล่าเรื่องได้ตรงประเด็น ชอบครับ


โดย: wu IP: 180.180.38.0 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:23:39:55 น.  

 
Alice in Wonderland

หนังเรื่องนี้ หน้าหนังดึงดูดผมได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังทิม เบอร์ตันเรื่องอื่นๆ อาจเพราะความรู้สึกว่าหน้าหนังมันออกไปทางชาร์ลี กับโรงงานช็อกโกแลต (ที่ผมไม่ค่อยปลื้ม) มากกว่างานดาร์กๆ อย่าง Batman Returns, Sleepy Hollow หรือ Sweeney Todd ที่ผมปลื้มมากกว่า

แต่พอเอาเข้าจริง Alice ก็ดาร์กไม่น้อย แต่หนังกลับไม่จับใจเท่างานดาร์กเรื่องอื่นๆของทิม เบอร์ตัน ที่มักเปิดเผยแง่มุมอ่อนไหวของตัวละครที่เป็นคนนอก หรือถูกมองว่าแปลกประหลาดจากสังคม ซึ่งใน Alice ตัวละครแบบนี้มันน้อย โดยตัวละครที่ได้รับผิดชอบบททำนองนี้ในครั้งนี้ คือเฮเลน่า บอร์แฮม คาร์เตอร์ (เธอเกิดมาเพื่อหนังทิม เบอร์ตันจริงๆ) กับบทเรดควีน ที่พยายามทำตัวดีกับคนอื่นๆ ก่อนจะรู้สึกว่าเอาแบบร้ายๆนี่แหละ ไม่แคร์สื่อนี่แหละ เหมาะแล้ว เพราะคนรอบข้างต่างก็เสแสร้งกว่าเธอเสียอีก

แต่นอกเหนือจากนี้ ตัวละครแต่ละตัวเหมือนกับถูกสร้างมาแล้วใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่สักตัว ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้งทางอารมณ์ ความลึกตัวละคร แง่มุมต่างๆของตัวละคร ค่อนข้างน้อย แม้สีสันตัวละครจะจัดจ้านก็ตาม

จุดเด่นงานนี้เลยไปอยู่ที่การออกแบบงานสร้าง ซึ่งก็ทำได้ไม่เสียชื่อทิม เบอร์ตัน แต่การที่หนังมาทีหลัง Avatar ไม่นาน ความน่าตื่นตาตื่นใจที่ควรจะมี ก็กลายเป็นเฉยๆในบางฉาก

งานนี้ของทิม เบอร์ตัน เลยเป็นอีกชิ้นที่ค่อนข้างน่าผิดหวังในสายตาผม ร่วมกลุ่มกับ Planet of Ape และ Charlie อย่างช่วยไม่ได้

ปล. แต่ชอบแมวล่องหนมาก นึกถึงงานของจิบลิ แต่ดูราบลื่น และจับต้องได้มากกว่า


โดย: wu IP: 125.26.149.179 วันที่: 15 มีนาคม 2553 เวลา:23:49:23 น.  

 
บ้านฉันตลกไว้ก่อน พ่อสอนไว้

บทหนังกลุ่มนึงที่ผมชอบมากๆ คือการล้อธีมอะไรสักอย่างนึง แล้วก็แม่นยำกับขนบของสิ่งที่ล้อมากๆ ตัวอย่างเช่น

Scream เป็นหนังสยองขวัญที่ล้อขนบหนังสยองขวัญ
Scream2 หนังภาคต่อที่ล้อขนบหนังภาคต่อ
Scream3 หนังภาค 3 ที่ล้อขนบหนังไตรภาค
Adaptation หนังเกี่ยวกับการดัดแปลงบทหนังที่สร้างจากบทหนังที่ถูกดัดแปลง
The Player หนังคู่มือการสร้างหนังที่ว่าด้วยเบื้องหลังการสร้างหนัง
Silent Movie หนังเงียบ ที่ว่าด้วยเรื่องการสร้างหนังเงียบ

ซึ่งผมก็เฝ้ารอหนังแนวนี้ของไทยมานาน ในที่สุดก็โผล่มากับบ้านฉันตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้ หนังเกี่ยวกับครอบครัวตลกคาเฟ่ ที่ใช้มุขตลกคาเฟ่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินเรื่อง

บทหนังเปิดโอกาสให้มีการระดมมุขตลกคาเฟ่ที่คุ้นเคยมาใส่ตั้งแต่แรกจนสุดท้าย แต่แทรกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ปล่อยมุขตามคาแรกเตอร์ การซ้อมการแสดง ความกวนของตัวละคร ฝืดบ้าง ขำบ้าง ทำให้ดูไม่ขัดตา หรือไม่ฝืนให้ดูตะหลึ่งตึ่งโป๊ะมากเกินไป อีกทั้งตัวละครทุกตัว ก็มีโอกาสปล่อยมุขคนละมุขสองมุข คนละฉากสองฉากกันทั่วหน้า ทำให้กระจายความเด่นอย่างทั่วถึง

และอีกจุดที่หนังทำได้ดีมากๆ คือการคุมโทนการแสดงให้ดูเป็นธรรมชาติ หรือแสดงอารมณ์อย่างพอเหมาะพอดี รวมไปถึงจังหวะในการแสดงที่แม่นมากๆ ทั้งจังหวะเล่นตลก และจังหวะความเป็นหนัง ทำให้ออกมาลงตัวมากๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คุณภาพหนังเรื่องนี้จะทำให้ผมพอใจได้ค่อนข้างมาก แต่ความประทับใจในตัวหนัง ยังอยู่แค่ในระดับผ่านเท่านั้น เทียบกับความรู้สึกที่อิ่ม กับหนังอย่าง 15 ค่ำเดือน 11 หรือฟ้าทะลายโจร ความรู้สึกติดค้างในหัวอย่างสุดเสน่หา พลอย รักแห่งสยาม ซึ่งเป็นอารมณ์หลังดูหนังที่ทำให้ผมประทับใจ ซึ่งบ้านฉันก็ยังไม่ถึง ซึ่งถ้าเทียบกับหนังไทยอื่นๆ ผมให้บ้านฉันอยู่ในระดับเดียวกับแฟนฉัน รถไฟฟ้า ประมาณนั้น


โดย: wu IP: 113.53.172.29 วันที่: 19 มีนาคม 2553 เวลา:23:23:49 น.  

 
ในครั้งหนึ่ง เราเคยเห็นโรเบิร์ต เดอนีโร กับฌอน เพนน์ปลอมตัวเป็นบาทหลวงเพื่อหนีตำรวจ ก่อนที่คนหนึ่งจะกลายมาเป็นบาทหลวงที่ศรัทธาจริงๆใน We're no angels

ในครั้งหนึ่ง เราเคยเห็นเจเรมี่ นอร์แธมกับสตีฟ ซานน์ ปลอมตัวเป็นเกย์ ฝึกสอนผู้เข้าประกวดนางงามให้เด็กๆ เพื่อหลบหนีตำรวจ ก่อนที่คนๆนึงจะพบว่านี่คือพรสวรรค์ของเขาใน Happy, Texas

ในครั้งนี้ หน้าหนังของนาคปรก ชวนให้ผมคิดถึงหนังสองเรื่องที่ว่า และคาดเดาหนังล่วงหน้าเอาไว้ระดับหนึ่ง ปรากฏว่าผมเดาผิดไปไม่น้อย

สิ่งที่นาคปรกแตกต่างจาก 2 เรื่องที่ว่านั้น และเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะพบในหนังเรื่องนี้ คือหนังเรื่องนี้เป็นประเภทฟิล์มนัวร์แบบชัดเจน องค์ประกอบครบถ้วน เช่น เรื่องราวผิดกฏหมาย ศีลธรรม ตัวเอกมีด้านมืด ตัวละครไว้ใจไม่ได้ มีตัวละครหญิงร้าย การทรยศหักหลัง การซ่อนเงื่อนหักมุม การเดินเรื่องหลักๆในเวลากลางคืน ความมืด ฝนตก ซึ่งหนังไทยน้อยเรื่องมาก ที่จะมีความเป็นฟิล์มนัวร์สมบูรณ์แบบขนาดนี้

ซึ่งถ้านาคปรกจะชัดเจนว่าตัวเองเป็นฟิล์มนัวร์ และใช้ขนบของฟิล์มนัวร์อย่างเดียว โดยไม่ต้องแวะเรี่ยร่ายรายทาง หนังน่าจะออกมาเข้มข้น และโดนใจมากกว่านี้

แต่นาคปรกกลับวางตัวเองเป็นหนังเสียดสี วิจารณ์สังคม ศาสนา และการให้ข้อคิดกับคนดูในเรื่องธรรมะ ซึ่งก็ยอมรับว่าผู้สร้างวิพากษ์วิจารณ์ได้ดี ตรงไปตรงมา เห็นภาพชัด เพียงแต่มันไม่กลมกลืนไปกับส่วนของฟิล์มนัวร์ ที่หนังก็วางน้ำหนักไม่น้อยกว่าในเรื่องของธรรมะ ซึ่งเห็นได้ชัดในฉากในโบสถ์ตอนท้ายๆจนจบ ที่หนังออกแนวฟิล์มนัวร์มากๆ การแสดงแบบเมโลดราม่า บีบเค้นอารมณ์ การเฉลยปมต่างๆ การหักมุม ซึ่งก็ทำได้ถึงตามมาตรฐานฟิล์มนัวร์ แต่ฉากที่โดดในช่วงนี้ คือฉากพระเต๋าเทศน์ ซึ่งการแสดงก็ดี จังหวะก็ดี แต่มันเหมือนเป็นคนละเรื่องกับฉากฟิล์มนัวร์ที่เกิดในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผลงานนาคปรก ยังมีความลงตัวมากกว่าอรหันต์ซัมเมอร์ ซึ่งเป็นผลงานที่ผมว่าน่าผิดหวังมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวคิด หรือสารที่ต้องการนำเสนอ แต่จากหนังทั้ง 2 เรื่อง ถือว่าผู้กำกับมีแนวคิด ลายเซนต์ที่ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว (ศาสนา ธรรมะ อธรรม อาชญากร) ซึ่งยังอยากเห็นหนังในทำนองนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ปล. สปอยด์นะครับ

หนังเรื่องนี้ ตัวอย่างว่าแรงแล้ว แต่ตัวหนังแรงกว่าอีก เพราะสิ่งที่ผมจับได้จากสาระหนัง คือการที่แบ่งตัวละครเป็นบัวสี่เหล่า เรย์กับทรายอยู่ใต้ตม ธรรมะก็เข้าไม่ถึง เต๋าเป็นบัวใต้น้ำ ที่มีโอกาสพ้นน้ำ แต่ก็ยาก เต้เป็นบัวปริ่มน้ำ ที่ก้ำกึ่งว่าจะพ้นหรือไม่ ถ้าพ้นได้ก็จะเป็นดอกบัวบาน ส่วนหลวงพ่อคือบัวเหนือน้ำ ที่พ้นแล้ว และเป็นสิ่งที่เหมือนกับเป็นเป้าหมายให้บัวกลุ่มอื่นๆเจริญไปสู่

แต่การหักมุมว่าหลวงพ่อคือคนที่ยังมีกิเลส มีรักโลภโกรธหลง มีความเห็นแก่ตัว มีความเลว เป็นเหมือนการตบหน้าฉาดใหญ่ๆว่าแม้แต่บัวที่คนมองว่าพ้นน้ำ ก็ยังมีความเลว เฮ้อ หนังมันแรงจริงๆ

อีกจุดหนึ่งที่ชอบในการหักมุมหนังเรื่องนี้ คือการให้เราเห็นพฤติกรรมด้านลบของหลวงพ่อตลอด (การซ่อนพระทองไว้ในพระปูน การมีรอยสัก การรับสักคนอื่น การสัมผัสสตรี การพกเงิน การบวชให้พวกโจร การปกปิดฐานะพวกโจร การโกหก) แต่หนังทำให้รู้สึกว่าพฤติกรรมเหล่านี้มันมีเหตุ มันอธิบายได้ มันไม่ร้ายแรง มันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย จนกระทั่งเฉยลมาในฉากสุดท้าย แค่ 10-20 วินาที ก็ทำให้มุมมองที่เรามีต่อการกระทำต่างๆของหลวงพ่อเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ตรงนี้ขอชมครับ


โดย: I'm wu วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:18:40:53 น.  

 
Up in the Air

คิดถึงหนังประเภทนี้ เดินเรื่องด้วยคาแรกเตอร์มากกว่าเนื้อเรื่อง ตัวละครโดดเด่น การแสดงของตัวละครเริ่ด โดยไม่จำเป็นต้องมีฉากเค้นอารมณ์ บทหนังฉลาดๆ คมคาย โต้ตอบสนุกสนาน รู้สึกหนังเรื่องท้ายๆที่มีคุณสมบัติประมาณนี้คือ As Good as It Gets เมื่อหลายปีก่อน จนมาถึง Up in the Air นี่แหละ

จุดเด่นของหนัง คือบทที่สนุก ไม่มีช่วงน่าเบื่อเลย แม้ว่าตัวละครจะพูดเยอะ และมีลูกเล่นสอดแทรกตลอด ซึ่งต้องชมผู้กำกับด้วย ที่ถ่ายทอดบทออกมาได้ลงตัวพอดี (ซึ่งเป็นข้อดีของผู้กำกับที่เขียนบทเอง) ต่อมาคือการแสดงที่ผู้แสดงนำทั้งสามถ่ายทอดได้พอดีเป๊ะๆ แม้บทไม่ได้มีช่วงโชว์ดราม่า หรือโชว์เทคนิคการแสดง แต่การสร้างคาแรกเตอร์ อยู่กับคาแรกเตอร์ และการเติบโต พัฒนาการของคาแรกเตอร์ ทั้ง 3 เอาอยู่มากๆ

นั่นคือองค์ประกอบที่สำคัญของหนังดี แต่การที่หนังเรื่องนี้ได้ใจผมด้วย ต้องยกให้กับส่วนของเนื้อหาที่พูดถึงการผูกมัด การสร้างความผูกพัน การลงหลักปักฐาน ของตัวละครที่เหมือนกับไม่เคยแยแสเรื่องพวกนี้มาก่อน (ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งจากอาชีพ จากแนวคิด จากฉากหลัง) โดยตัวละครอื่นๆ ทำหน้าที่เติมเต็ม ให้ความเห็น เป็นตัวอย่าง ทั้งด้านบวกและลบของการผูกมัด ก่อนที่ตัวเอกจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร (ซึ่งจะได้รับการตอบสนองหรือไม่ก็อีกเอง)

ในบรรดาหนังล่ารางวัลปีนี้ ผมเพิ่งผ่านตาไป 4 เรื่อง ผมให้เรื่องนี้ดีที่สุดครับ


โดย: I'm wu วันที่: 25 มีนาคม 2553 เวลา:18:55:05 น.  

 
ไม่ได้ดูหนัง แต่สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ มันควรจะต้องมาบ่นอะไรในบล็อกเพื่อระบายบ้าง

ต่อไปนี้ คือ wu ในโหมดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

กับการกระทำที่ไร้เหตุผล สร้างความเดือดร้อน เสียหาย ยั่วยุ ร้าวฉาน แตกแยก ที่กลุ่มเสื้อแดงกำลังทำกับสังคมไทยทุกวันนี้ ซึ่งสร้างความสะอิดสะเอียนให้กับผมเป็นอย่างมาก และได้เปลี่ยนให้ผมกลายเป็นคนพูดคำประเภทไอ้เชี่ย ไอ้หน้าตัวเมีย ไอ้ควาย ไอ้สัด ได้อย่างคล่องปาก ทั้งที่ปกติจะไม่พูดคำพวกนี้ในชีวิตประจำวันมาก่อน

ใจหนึ่งอยากเห็นรัฐบาลสลายการชุมนุมแบบเฉียบขาด เพราะการกระทำของเสื้อแดงที่เกินขอบเขตแล้ว แต่อีกใจนึงก็อยากให้รัฐบาลอดทนให้ถึงที่สุด เพราะการใช้ความรุนแรงก็จะเข้าทางพวกเสื้อแดงที่จะไปปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

และที่สำคัญ ผมยังเชื่อว่าหลายๆคนในกลุ่มเสื้อแดงมาเพราะเจตนาบริสุทธิ์ แม้ว่าความเชื่อนี้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเห็นคนเสื้อแดงที่ยังนิ่งเฉย ยอมรับ และมีส่วนร่วมในการสร้างความเดือดร้อนอีกต่อไป (ซึ่งคนที่มาบริสุทธิ์ตอนนี้เขาเริ่มทะยอยถอนตัวแล้ว)

แต่กับไอ้คนที่ยังมัวเมา คนที่ยังปลุกปั่น ไอ้พวกแกนนำอันธพาล ไอ้พวกลิ่วล้อ ไอ้พวกสุนัขรับใช้ทั้งหลาย ผมขอให้มันเป็นไป โดยรัฐบาลไม่ต้องไปทำอะไร เช่น ติดเอสด์จากเลือดที่พวกมันเอาไปราด แดดร้อนที่เผามันจนไหม้เป็นผุยผง อาหารเป็นพิษและการติดเชื้อจากการชุมนุมที่ไม่มีสุขลักษณะ ร่างกายย่ำแย่ เป็นลมเป็นแล้งจากการใช้พลังงานไปในการถ่อยๆจนหมดตัว แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ผมพูดมา มันจะเป็นไปได้ยากก็ตาม

และที่สำคัญที่สุด ไอ้นายใหญ่ของมัน ขอให้มันทุรนทุรายไม่น้อยกว่าที่ลูกน้องของมันเป็น ถ้ามันมีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็ขอให้ลุกลาม รักษาไม่หาย ทรมาน จนกว่ามันจะตาย และถ้าเกิดตายไป ก็ขออย่าให้มันมีแผ่นดินกลบหน้า วิญญาณก็ขอให้เร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดตลอดกาล

นี่คือเขียนถึงในฐานะที่ปราณีมากที่สุดแล้ว


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 7 เมษายน 2553 เวลา:15:55:20 น.  

 
ช่วงนี้กำลังติดละครเลื่อมพรายลายรัก แล้วเห็นกระทู้คนตั้งว่าใครจะเป็นผู้ร้าย มีปมอะไรบ้าง เห็นแล้วหงุดหงิด เพราะมันก็เดาทางได้ค่อนข้างง่าย (เหมือนเรื่องเหนือเมฆก็เดาได้) เลยมาเดาให้ดูในกระทู้นี้ คิดว่าถูกกว่า 90% ถ้าใครไม่อยากโดนสปอยด์(แบบเดาๆ) ก็ข้ามไปเลย แล้วลองมาดูว่าเดาถูกไหมตอนละครจบ

-ใครเป็นคนตามฆ่านิกกี้
ปกตินิยายแนว whodunit ฆาตกรคือคนที่เหมือนจะไม่มีเหตุจูงใจ หรือไม่น่าสงสัยที่สุด ดังนั้นตัวละครที่ถูกทำให้คนดูเดาว่าน่าจะใช่ ตัดออกได้เลยทั้งหมด เหลือเพียง 2 ตัวที่ฉากหน้าเป็นคนดี และไม่น่าสงสัยอะไร คือบทของเอ พสิน และ สุเมษ แต่บทสุเมษก็ยังมีบทบาทอะไรให้เล่นในเรื่อง เหลือแต่เอนี่แหละ ที่บทคนขับรถ ถ้าไม่มีบทจะเอาใครมาเล่นก็ได้ แต่นี่เป็นเอ ฟันธง 98% นี่คือฆาตกรที่ตามฆ่านิ๊กกี้

-แรงจูงใจล่ะ
ละครบอกนัยๆว่าพ่อนิ๊กกี้และสุเมษรู้อะไรกันแค่ 2 คน และที่รู้นี้ก็ทำให้พ่อนิ๊กกี้ ไม่ยอมพบกับคู่รักคือนุ่น และไม่ยกสมบัติให้เริง ลูกชายเลย ความลับอะไร แหม มันเกี่ยวกับลูก จะมีอะไรนอกจากพ่อนิ๊กกี้เป็นหมัน เลยรู้ว่าเริงไม่ใช่ลูกตัวเอง และนุ่นนอกใจ และจะหาทางยัดเยียดเด็กในท้องให้เป็นลูกเขา ดังนั้นการไม่ให้สมบัติเริงก็ไม่แปลก แล้วตกลง เริงเป็นลูกใคร ก็ใครล่ะ ที่ดูแลห่วงใยนุ่นมาตลอดตั้งแต่สาวๆ แล้วการฆ่านิ๊กกี้ เพื่อให้สมบัติเป็นของลูกตัวเอง มันย่อมทำได้ (และถ้าจะบอกว่านุ่นก็รู้เรื่องทุกอย่าง และร่วมมือทำร้ายนิ๊กกี้ก็ไม่แปลกใจเลย)

-ถ้าพ่อนิ๊กกี้เป็นหมัน แล้วนิ๊กกี้ลูกใคร
นิ๊กกี้มีแม่เป็นฝรั่ง แต่ไม่เคยได้ใกล้ชิดพ่อเลย ก็เป็นไปได้ เพราะคนที่คิดว่าเป็นพ่อ ไม่ใช่พ่อแท้ๆ แต่พ่อแท้ๆ อาจจะกลัวที่ไปทำฝรั่งท้องแล้วที่บ้านไม่ยอมรับ เลยต้องยกลูกให้จดทะเบียนเป็นลูกของน้องชายตัวเองเสีย ใช่แล้ว สุเมษคือพ่อของนิ๊กกี้ (ฟันธง90%) ส่วนคนที่นิ๊กกี้เรียกพ่อ ความจริงไม่มีใครเลย แม้แต่มรดกที่เขายกให้นิ๊กกี้ เขาก็ยกให้โดยให้สุเมษเป็นคนดูแล (หรืออีกนัยหนึ่ง คือยกให้สุเมษ พี่ชายที่เขารัก และคุยด้วยรู้เรื่อง เล่าความลับให้ฟังได้ นั่นแหละ)

ส่วนคนอื่นๆในเรื่อง มีหน้าที่แค่ทำตัวให้น่าสงสัย แต่จริงๆแล้ว อาจก่อเรื่องอะไรสักอย่าง เล็กๆน้อยๆ เบี้ยไล่รายทาง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลักๆเลย

พอละครจบ จะลองย้อนกลับมาดูว่าเดาถูกไหม


โดย: wu IP: 125.26.153.51 วันที่: 9 เมษายน 2553 เวลา:23:43:15 น.  

 
เป็นไงล่ะ ข้างบนแม่นไหม เป๊ะๆเลย

วันนี้ไปดู Kick Ass มาครับ

อย่างแรกที่ทำให้อยากดูเรื่องนี้ ก็ตัวอย่างที่ตัดได้กวนดี แล้วมารู้ว่าคนเขียนคนเดียวกับ Wanted ผู้กำกับ Stardust เลยยิ่งอยากดูไปใหญ่

แต่เอาเข้าจริงๆ หนังก็ไม่ได้กวนมากมาย และก็ไม่ได้ออกมาดีเท่า Wanted หรือ Stardust แต่ก็ยังจัดว่าเป็นหนังที่สนุก ตัวละครเจ๋ง และหนังมีความเป็นตัวของตัวเองทีเดียว

ข้อเสีย คล้ายๆกับ Wanted ครับ คือเอื่อยเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงการปูเรื่อง แต่พอถึงช่วงเอามันส์ ก็สนุกมากๆ

จุดเด่น คือตัวละคร Hit Girl ครับ หน้าที่เดียวกับแองเจลิน่า โจลี่ใน Wanted คือเหมือนกับเป็นพี่เลี้ยงหรือคนคอยดูแลพระเอก ในขณะเดียวกัน ก็รับผิดชอบฉากแอ็กชั่นเริ่ดๆของหนัง รวมถึงการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ แต่ที่ทำให้ตัวละครนี้เด่นจริงๆ คือเธอเป็นเด็กผู้หญิง แต่แสดงได้เลือดสาด และดาร์กมากๆ ทุกฉากที่เธอออกมาคือการขับเคลื่อนหนังไปข้างหน้า และการหลั่งอดรีนาลีนของคนดู ยังขาดอีกนิดเดียว คือนอกจากความโหด รุนแรงแล้ว ตัวละครนี้ก็ยังไม่ได้มีด้านดาร์กอะไรมากมาย จนบางครั้ง ลองคิดดูว่าถ้าใส่สารที่เกี่ยวกับ sex เข้าไปในตัวละครนี้ด้วย เธอคงร้ายแบบรอบด้านแน่ๆ (แต่มันเป็นเด็กนี่นา จะแรงเกินไปไหม)

อีกตัวที่น่าเสียดายคือ Red Mist จากการที่วางบทบาทไว้ว่ายังไม่ใช่ผู้ร้ายเต็มตัว เก็บกด และน่าจะเป็นตัวร้ายต่อไป(ถ้าเกิดมีภาคต่อ) การสร้างคาแรกเตอร์บทนี้ก็โอเค แต่สิ่งที่ขาดไปคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ของคริสกับเดฟ ซึ่งจะทำให้ตัวละครลึกกว่านี้ได้

อ้อ มีจุดบ่นอีกจุด คือการแปลซับ เรื่องนี้แปลได้ค่อนข้างแย่ครับ ในที่นี้คือคนแปลล้นเกินไป อยากใช้คำแปลที่ดูวัยรุ่น อินเทรนด์ แต่พอออกมาแล้วกลับไม่ค่อยรู้เรื่อง แถมยังอ่านยากอีกต่างหาก ถ้าปรับปรุงส่วนนี้ได้ หนังอาจออกมาดีกว่านี้ก็ได้


โดย: wu IP: 125.26.138.187 วันที่: 29 เมษายน 2553 เวลา:1:13:32 น.  

 
มาร์ติน สกอร์เซซีย์ ใช้ความเป็นหนังมาปั่นหัวคนดูสุดเหวี่ยงอีกครั้ง ใน Shutter Island

ความจริงพล็อตเรื่องนี้ มาในทุกวันนี้ การหักมุมเงื่อนไขแบบนี้ มุขอย่างนี้ ไม่ใช่ของแปลกใหม่อะไรแล้ว แม้แต่หนังไทย บอดี้ ศพ 19 ก็นำมาใช้ กับการให้ตัวละครมีลักษณะจิตเภท และภาพที่เห็นเป็นมุมมองของตัวละคร ซึ่งอาจไม่ใช่ของจริงก็ได้

สกอร์เซซีย์รู้ดีว่ามันไม่ใหม่ ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือแบไต๋ให้คนดูจับได้ง่ายๆตั้งแต่กลางเรื่อง หรือบางคนก็ตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือบางคนตั้งแต่เห็นตัวอย่างก็มี แล้วมาทดแทนด้วยรูปแบบการเล่าแบบคลาสสิค แน่น ลึก ชัดเจน ใช้ภาษาภาพ (โดยมีสไตล์หนังฮิทช์ค็อกปนมาบางๆ โดยเฉพาะ vertigo) ไม่ใช่ความหวือหวาของเทคนิคถ่ายทำเร้าอารมณ์เหมือนหนังทั่วๆไปในปัจจุบัน

แต่ความเจ๋งของ Shutter Island อยู่ที่หนังมีความเป็นไปได้หลายช่องทาง ทำให้หนังจริงๆอาจมีพล็อตเรื่องที่แตกต่างกันได้ถึง 4-5 พล็อต และถ้าคนดูปักใจเชื่อว่าพล็อตไหน หนังมันก็ออกมาซับพอร์ตพล็อตนั้นได้ลงตัว แล้วถ้ามาดูรอบต่อๆมา แล้วลองทำใจให้เชื่อในอีกพล็อต หนังก็ยังออกมาลงตัวอยู่เหมือนเดิม ทำให้สุดท้าย shutter island เลยกลายเป็นหนังปลายเปิดแบบสุดๆ และให้คนดูได้ใช้ความเชื่อของตัวเองเติมเต็มเนื้อเรื่อง พร้อมๆกับการบหิหารสมองยกใหญ่

นี่ถ้าผู้กำกับไม่เก๋าจริง ทำไม่ได้นะเนี่ย


โดย: wu IP: 125.26.147.158 วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:32:41 น.  

 
มหกรรมตัดแปะหนังครั้งยิ่งใหญ่ของไทย กับองค์บาก3

ดูหนังเรื่องนี้ เศร้าใจแทนจา พนม เวลาของเขาหมดลงแล้วจริงๆหรือเนี่ย ทั้งที่ผมคาดเดามาตลอดว่าเขาจะโลดแล่นบนเส้นทางนี้ได้นานกว่านี้มากๆ

องค์บาก 3 คือหนังอีกเรื่องที่ถูกแตกออกมาจากหนังภาคต่อขององค์บาก ที่กลายมาเป็น 2 เรื่องอย่างประดักประเดิก ความคาดหวังของผมต่อองค์บาก 3 ค่อนข้างสูง เมื่อดูจากผลงานการกำกับของจาในองค์บาก2 ที่ต้องบอกว่าทำได้ดีทีเดียว กับการกำกับอารมณ์ การแสดง งานภาพ ความสนุกสนาน แต่จุดอ่อนขององค์บาก 2 ไปอยู่ที่การตัดจบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ซึ่งผมว่าเป็นความผิดของนายทุนมากกว่าที่ตัดสินใจหั่นหนังเป็น 2 เรื่อง ซึ่งทำให้นอกเหนือจากตอนจบภาค 2 เป็นอะไรที่รับไม่ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆของหนัง โดยเฉพาะการเพิ่มความยาวให้ฉากต่างๆมากขึ้น เพื่อให้เวลาฉายครบตามที่กำหนด แต่จังหวะหนังกลับเสียไป แม้ว่าจะยังพอมองเห็นว่าวัตถุดิบเริ่มต้นในมือมันมีมากและดีพอที่จะทำให้เกิดฉากดีๆได้มากกว่านี้ ถ้าตัดต่อให้กระชับขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ผมคาดว่าไม่น่ามีเหลือในองค์บาก 3 แล้ว เพราะนี่คือบทสรุป ทำให้คาดหวังกับภาคนี้พอควร

หนังภาค 3 จะมีบางส่วนที่ถ่ายไปแล้วตั้งแต่ภาค 2 แต่ยังไม่ได้ฉาย กับที่ถ่ายขึ้นมาใหม่ แต่ผลลัพท์ที่ได้ กลับออกมาห่างชั้นกว่าภาค 2 เยอะ โดยเฉพาะในแต่ละฉากเหมือนกับวัตุดิบในมือไม่เพียงพอที่จะมาตัดต่อให้ราบลื่น (ตรงข้ามกับภาค 2 ที่วัตถุดิบมีมากเกินพอสำหรับคนตัดต่อ) งานที่ได้เลยกลายเป็นตัดตรงโน้นแปะตรงนี้ บางทีก็โดด ไม่ราบลื่น บางทีก็ใช้เสียง voiceover เพื่อเชื่อมต่อระหว่างคัท โดยที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งทำให้ภาพรวมหนังออกมาดูแข็งและแห้งแล้งมาก

เท่านั้นยังไม่พอ ความสนุกสนานของภาคนี้ยังออกมาน้อยกว่าที่เป็นอีก (นี่คือสิ่งที่คนดูคาดหวังว่าจะได้พบจากการดูหนังเรื่องนี้) ฉากแอ็กชั่นต่างๆสู้จีจ้า ดื้อ สวย ดุ (ซึ่งผมว่าแย่ที่สุดแล้วในกลุ่มหนังจา จีจ้า) ไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วยังพาไปหลงทางกับเรื่องมนต์ดำ เรื่อคอขาดแต่ยังไม่ตาย เรื่องการกบฏของสางกา ทั้งๆที่ไม่ใช่ประเด็นหัวใจขององค์บาก ในขณะที่องค์พระหน้าบากที่คาดว่าจะเป็นตัวเชื่อมหนังทั้ง 3 ภาคเข้าด้วยกัน ก็ไม่ได้มีความสำคัญนอกจากการใส่เข้ามาให้เห็นว่ามีการหล่อพระนะ พระมีรอยบากนะ เท่านั้นเอง

สรุป เป็นหนังไทยที่น่าผิดหวังมาก และเสียดายมาก จากความสามารถจา พนม จากทุนสร้างสูงๆ งานน่าจะออกมาได้ดีกว่างานตีหัวเข้าบ้านอย่างนี้


โดย: wu IP: 125.26.147.158 วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:56:35 น.  

 
วันนี้ตื่นขึ้นมาดูข่าวแล้วอารมณ์ดีสุดๆ กับการที่หนังไทยคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกจริงๆ (ไม่ใช่รางวัลไก่กาประเภทน้องหมายอดเยี่ยม หนังฉายหลังเที่ยงคืนยอดเยี่ยม สยองขวัญยอดเยี่ยม) และแถมผู้กำกับที่พาหนังไทยเข้าเส้นชัย คือผู้กำกับที่ผมชื่นชอบมากๆคนหนึ่ง และต้องเอ่ยชื่อทุกครั้งเวลามีกระทู้ถามถึงผู้กำกับไทยในดวงใจ

แต่ถึงจะชื่นชอบตัวหนังของพี่เจ้ยมากเพียงใด ทัศนะบางอย่างของพี่เขาผมก็ไม่ได้เห็นด้วยไปซะทุกอย่าง บางครั้งออกจะหงุดหงิดด้วยซ้ำ เช่นการเซนเซอร์ ซึ่งผมยังเชื่อว่าประเทศไทยไม่พร้อมต่อการเปิดกว้างทุกรูปแบบ แต่ควรมีการยั้งๆไว้บ้างก็ดี และหนังสามารถที่จะออกมาเป็นหนังดีได้ โดยไม่ต้องทำอะไรที่เสี่ยงเซ็นเซอร์ รวมทั้งวิธีประชดกองเซนเซอร์จากหนังแสงศตวรรษ แม้จะดูสะใจในตอนแรก แต่มันคือการระบายใส่คนดู ที่อาจอยากดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากดู ไม่ใช่อยากดูเพราะจะได้ร่วมประนามกองเซนเซอร์ หรืออย่างเรื่องประท้วงการให้งบหนังนเรศวรสูงกว่าเรื่องอื่นเว่อร์ ผมเห็นด้วยกับการท้วงติง แต่เหตุผลก็ยังไม่เท่าไร

อย่างไรก็ตาม กับการแสดงทัศนะครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการเมืองไทย และมีคนตีความว่ามันแด้ง แดง ผมกลับอ่านแล้วไม่รู้สึกอะไรเท่าไร และยังมองไม่เห็นว่ามันแดงตรงไหนเลย (คนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมเกลียดแดงมาก ดังนั้นจะ detech อะไรที่แดงๆได้เร็ว แต่บทสัมภาษณ์นี้ ผมไม่รู้สึกอะไร)

พี่เจ้ยพูดถึงสังคมเมืองไทย โดยพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมถึงเกิดเหตุวุ่นวาย และพบว่าจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกของประชาชนที่มีความแตกต่างทางชนชั้น และทักษิณจับจุดนี้ถูก เลยซื้อชนชั้นล่างด้วยเงิน ที่ถ่ายเทไปสู่รากหญ้ามากกว่าสมัยไหนๆ อ้าว ก็จริงนี่ เป็นอะไรที่เราๆรู้กันอยู่แล้ว พูดถึงกันอยู่แล้ว แต่มันก็ยังไม่ได้บอกนี่นา ว่าพี่เขาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เขาก็แค่วิเคราะห์ที่มาของปัญหาเท่านั้น

พี่เจ้ยพูดถึงสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่รุนแรง ถูกปกครองโดยมาเฟีย อ้าว มีใครปฏิเสธไหม ข่าวหน้าหนึ่งแต่ละวันมีความรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน หนัง ละคร ฆ่าฟันกันเป็นปกติ ส่วนมาเฟีย ง่ายๆก็ไอ้พวกหัวคะแนนทั้งหลายที่มันมีลำดับชั้นของมันต่อไป เลือกตั้งทีไรมันก็ได้ ไหนจะเรื่องข้าราชการคอรัปชั่น เส้นสาย วางอำนาจอีก อันนี้ ไม่ใช่มาเฟียหรอกหรือ

สรุปก็คือ ความอ่อนไหวและเปราะบางทางการเมืองปัจจุบัน ทำให้คนคิดและจัดหมวดหมู่ให้กับคนอื่นๆเรียบร้อย ว่าพวกเรา หรือไม่ใช่พวกเรา แต่ขาดการวิเคราะห์พิจารณา ว่าสารที่จะสื่อคืออะไร วัตถุประสงค์คืออะไร เชื่อถือได้แค่ไหน และหลายๆครั้งคือการพยายามขยายเหตุการณ์ให้ดูเกินความจริง

เป็นความเศร้าที่แฝงอยู่ในความดีใจกับข่าวเช้านี้


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 24 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:42:31 น.  

 
พูดถึงหนังพี่เจ้ยกันบ้าง

ในฐานะคนชอบหนังพี่เจ้ยนี่ ความทรมานอย่างหนึ่ง คือการบอกให้ใครรู้ก็ไม่ดี (ไม่งั้นก็จะมีเสียงกระแนะกระแหนว่าหัวสูง) แนะนำหนังให้ใครดูก็ไม่ได้ (เพราะรู้ว่าหนังพี่เจ้ยไม่ใช่สำหรับคนดูทุกคน) เลยได้แต่คุยกับเพื่อนๆคอเดียวกัน กับมานั่งเขียนในบล็อก ในขณะเดียวกันก็ต้องอดกลั้นกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนดูที่รสนิยมไม่ตรงกับหนังพี่เจ้ย ที่มาค่อนขอดต่างๆนาๆ (ซึ่งไม่อยากไปโต้ตอบด้วย) โดยเฉพาะเสียงประมาณ ทำหนังไม่เป็น หนังทำนองนี้ใครก็ทำได้ เสียดายเงิน ดูไม่เคยจบ หรือแน่จริงลองทำหนังตลาดให้ดูหน่อยซิ (ซึ่งคนพูดอย่างหลัง มักจะลืมว่าพี่เจ้ยเคยทำหัวใจทรนงมาแล้ว) หรือไม่ก็เสียงประเภทชื่นชม แต่อ่านแล้วรู้เลยว่าไม่ใช่แฟนหนังพี่เจ้ย (เช่น ถ้าพี่เจ้ยกำกับพระนเรศวร หนังน่าจะออกมาดีกว่านี้ พี่เจ้ยกับนเรศวรนี่นะ)

ความจริงก็พยายามทำความเข้าใจ เพราะหนังพี่เจ้ยมันก็สำหรับคนดูเฉพาะกลุ่มจริงๆ และก็ไม่เคยคาดหวังให้คนที่ด่าๆมาเปิดใจลองดูหนังพี่เจ้ยก่อนจะวิจารณ์ (เพราะถึงดู เขาก็คงวิจารณ์อย่างเดิม) แต่บางครั้งก็อดเป็นเดือดเป็นร้อนแทนไม่ได้ การที่หนังพี่เจ้ยได้รางวัลใหญ่ๆ ความจริงมันก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือการเป็นรางวัลให้สำหรับคนที่มีแนวทางของตัวเองชัดเจน และมุ่งมั่นกับสิ่งนั้น แต่ข้อเสียคือการที่หนังจะได้รับความสนใจจากคนดูทั่วไปมากขึ้น และเสียงวิจารณ์ด้านลบ (จากคนที่รสนิยมไม่เข้ากับหนัง) ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

เฮ้อ เป็นแฟน(หนัง)พี่เจ้ย ต้องอดทนเจงเจง


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 24 พฤษภาคม 2553 เวลา:19:02:04 น.  

 
ชอบ ไม่ชอบก็อีกเรื่องนึง แต่ดีใจแทนที่ปท.ไทยที่มีคนที่มีความสามารถ และกำลังได้การยอมรับ พี่แกคงถูกทางกับคานส์ จิง จิง เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ สุดยอด


โดย: แฟน emmett IP: 58.64.84.21 วันที่: 24 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:26:00 น.  

 
Sex and the City2

ในฐานะแฟนคนหนึ่งของซีรีย์นี้ สิ่งที่ติดใจคือแนวคิดตัวละครที่มันจับต้องได้ และเหมือนว่ามันอยู่รอบๆตัวเรา ในตัวเราเอง ในหมู่เพื่อนๆ แต่มันไม่เคยรู้สึกมาก่อน จนมาดูซีรีย์แล้ว ก็รู้สึก เฮ้ย ตรงนี้มันเรานี่หว่า ตรงนี่มันเพื่อนเรานี่หว่า สลับกันไป

อีกจุดหนึ่งคือซีรีย์มีแพทเทริน์ค่อนข้างชัด ในการเปิดประเด็นสักอย่าง การตั้งคำถามของแครี่ และการได้เห็นมุมมองในเรื่องที่ตั้งคำถามต่างๆทั้งจากตัวเธอ เพื่อนๆ และคนรอบข้าง ซึ่งซีรีย์กระจายบทอย่างทั่วถึง แม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆแค่ 30 นาทีในแต่ละตอน

แต่พอมาเป็นหนังทั้ง 2 ภาค แนวคิดหลักของหนังทั้งสองเรื่องกลับไม่ชัดเจนเท่าไร อย่างแรกคือตัวละครทั้ง 4 ต่างมีเรื่องของตัวเอง (ส่วนซีรีย์แต่ละ episode แต่ละตัวละครจะอยู่ในธีมเดียวกันแต่ต่างมุมมอง) และการให้แครี่เป็นศูนย์กลางของเรื่องส่วนคนอื่นๆคือตัวประกอบ (ซึ่งซีรีย์ทุกตัวจะมีน้ำหนัก และสนับสนุนความแข็งแรงของบทอื่นๆด้วย) แล้วประเด็นที่พูดถึงก็กระจัดกระจาย และเอามาเรียงต่อกันแบบไม่เข้าที่เข้าทางเท่าไร

อย่างในภาค 2 การเริ่มต้นด้วยการพูดถึงเวลาและการเปลี่ยนแปลง การแต่งงานเกย์ แล้วค่อยแสดงปัญหาตัวละครแต่ละตัว จนกระทั่งเริ่มแตะๆเรื่องความเป็นผู้หญิงและสิทธิสตรี ซึ่งเรื่องราวมันไปคนละทิศละทาง แม้จะเชื่อมต่อไว้ด้วยมุขตลกตลอด (ซึ่งมุขที่หายไปในภาค 2 หรือมีให้เห็นน้อยมากๆ คือมุขที่เกี่ยวกับการหน้าแตกของ 3 สาว ที่แบบคลาสสิคมากๆ เช่นมุขย้อมผมสีแดงของซาแมนธา มุขบิกินี่แว็กซ์ของชาร์ล็อต แล้วก็มุขหน้าแตกแบบลามกนิดๆของมิแรนด้า ซึ่งในซีรีย์มีนับไม่ถ้วน แต่ในหนังมันขาดๆไป)

แล้วที่แย่ พอถึงบทสรุปเรื่องความเป็นผู้หญิง (ซึ่งเป็นน้ำหนักหลักของครึ่งหลัง) กลับเป็นมุขที่ตื้นเขิน ไร้สาระ และไม่ได้สะท้อนสิทธิสตรีออกมาเลย (ออกแนวดูถูกอีกต่างหาก) ไม่ต่างอะไรกับบริตเจต โจนส์ที่เข้าคุกเมืองไทย แล้วพบว่านักโทษหญิงคลั่งไคล้ Wonder Bra และร่วมร้องเพลง Like a Virgin ของมาดอนน่าและเต้นไปกับเธอได้

อีกอย่าง คือรู้สึกมุขแบบสองแง่สามง่าม หายไปเยอะจนสะดุด โดยเฉพาะฉากของซาแมนธา ซึ่งได้เห็นแค่คำพูด สีหน้า แววตา แต่ฉากเลิฟซีนกลับไม่เห็นเลย ซึ่งผิดวิสัยหนังชุดนี้มากๆ (และฉากแรกสุดที่ควรมีเลิฟซีนก็สะดุดชัดเจน) ซึ่งน่าจะเกิดจากกระบวนการตัดหนัง เซ็งพอสมควร เมื่อนึกว่านี่คือสมัยมีการจัดเรตหนังแล้ว และหนังชุดนี้ เขาก็ชัดเจนตั้งแต่ชื่อเรื่องว่าจะขายอะไร และแม้แต่ซีรีย์ทางทีวี ก็ยังทำออกมาได้แรงกว่าที่ลงโรงฉายในไทยด้วยซ้ำ


โดย: wu IP: 125.26.191.253 วันที่: 10 มิถุนายน 2553 เวลา:1:03:00 น.  

 
Killer

เปิดฉากมาสวยครับ กุ๊กกิ๊ก น่ารัก น่าติดตาม มีเสน่ห์ แต่พอกลับมาอเมริกากลายเป็นออกแนวอืดๆ มาสนุกขึ้นใหม่นิดนึง ตอนพระเอกเริ่มวาดลวดลาย (นึกถึง True Lie แฮะ) แต่จากนั้นเริ่มกลายเป็นความซ้ำซาก และจบแบบ เอาอย่างนี้เลยเหรอ

แอชตัน คุชเชอร์ กับแคทลีน ไฮเกิล ต่างคนต่างมีเสน่ห์ แพอมาร่วมจอกัน มันไม่ค่อยเสริมกันเท่าไร แต่แอชตันดูเหมือนจะค้นพบแนวทางของตัวเองแล้ว หลังจากหนังตลกปัญญาอ่อนแต่สนุกมากๆ อย่าง Dude, where is my car? ไปจนถึงหนังที่เริ่มจริงจัง แบบ Butterfly Effect ก็ยังทำได้ไม่ถึงเท่าไร แต่พอมาเจอโรแมนติกคอมเมดี้ ขายเสน่ห์และความน่ารักแบบเรื่องนี้ และ Valentine Day ไปได้ด้วยดีแฮะ

แต่จุดบกพร่องของหนังจริงๆ อยู่ที่การกำกับที่ไม่ค่อยราบลื่น และบทที่ไม่ค่อยสมเหตุผล (เช่นนักฆ่าไม่รู้หน้าตาของเป้าหมาย แต่เป้าหมายรู้หน้าตานักฆ่าตั้งแต่แรกแล้ว) ลงเอยคลี่คลายง่ายๆ ด้วยการเป็นเรื่องการเข้าใจผิด (แต่ชีวิตคน หรือเข้าของที่เสียหายเบี้ยไบร่รายทางไม่พูดถึงเลย) เลยออกมาเป็นงานที่น่าผิดหวัง แม้จะนั่งดูได้เพลินๆจนจบก็ตาม


โดย: wu IP: 125.26.157.102 วันที่: 16 มิถุนายน 2553 เวลา:23:55:48 น.  

 
It sounds good เรา สองสามคน

หนังเบาๆ ง่ายๆ ธรรมชาติๆ ผ่านนักแสดงนำทั้งสามที่ขนเสน่ห์มาเต็มที่แม้จะเป็นมาแบบธรรมชาติมากๆก็ตาม แทรกด้วยมุขตลกปะปรายน่ารัก การถ่ายทำที่เหมือนเที่ยวไปถ่ายไป ไม่ต้องเช็ตฉากหรือตัวประกอบ (ซึ่งก็คงจริง เพราะหันมามองกล้องหลายคนมาก) และฉากหลังที่สวย น่าไปเที่ยวจริงๆ (แม้ว่าหนังจะยังไม่ถึงขั้นทำให้ดูจบ อยากกลับไปแพคกระเป๋าเข้าคาราวานทัวร์ก็ตาม)

แต่จุดอ่อน คือความง่ายนี่แหละ ที่ทำให้จุดหักเห ปมเรื่อง การคลี่คลาย บทสรุปดูง่ายและตื้นไปแทบจะทุกส่วน ตามประสาคนคิดมาก อดคิดไม่ได้ว่าตกลงสองคนนี้รักกันจริงเหรอ แล้วจะมั่นคง ยืนยาวแค่ไหน หรือกลับไทยก็เลิกกัน แต่เอาเหอะ วัยรุ่นสมัยนี้เขาอาจไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้ก็ได้ แค่ได้บอกรักกันก็โอแล้ว


โดย: wu IP: 125.26.143.133 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:23:37:46 น.  

 
Knight & Day

พอดีเพิ่งดู Killer ไปไม่นาน หนังเรื่องนี้เลยไม่ถึงกับสดใหม่ แต่การที่อยู่ในโปรดักชั่นที่ดีกว่า ทุนสูงกว่า สนุกมากกว่า เลยทำให้เรื่องนี้ข่ม Killer แทบมิด แม้ว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว พล็อตค่อนข้างซ้ำซาก อ่อนเหตุผล แต่มาขายเสน่ห์เฮือกสุดท้ายของทอม ครูซ และคาเมรอน ดิแอช ที่ยังแสดงให้เห็นว่าพลังดารายังมีอยู่ในวัยขนาดนี้ (ซึ่งตรงข้ามกับปีเตอร์ ซาร์ดการ์ด ซึ่งยังหนุ่มแน่นแท้ๆ แต่บทผู้ร้ายของเขากลับแบน และไม่มีเสน่ห์เลย)

จัดว่าเป็นหนังดูได้เพลินๆถ้าไม่มีอะไรทำ แต่ดูจบแล้วก็จบ


โดย: wu IP: 125.26.143.133 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:23:43:25 น.  

 
ลุงบุญมีระลึกชาติ

หนังไทยเรื่องแรกที่แปะป้ายปาล์มดอร์อย่างเต็มภาคภูมิ โดยฝีมือของลูกรักเมืองคานส์อย่างพี่เจ้ย อภิชาติพงษ์

ลุงบุญมีไม่ได้แบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 องค์แยกกันชัดเจนเหมือนในสุดเสน่หา (ที่ผมชอบมาก อ่านความเห็นได้ในบล็อกนี้ กลุ่ม My life with movie หน้า ไปเที่ยวป่ามาครับ) สัตว์ประหลาด หรือแสงศตวรรษ แต่พอเอาเข้าจริงๆ หนังก็ยังมี 2 ธีม ที่สลับกันไปมา แถมบางทียังต่อเนื่องกันอีกด้วย คือในด้านของการเล่าเรื่องแบบสมจริง เป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง กับการเล่าเรื่องแบบเหนือจริง

ส่วนที่น่าสนใจและเป็นเสน่ห์ของหนังลุงบุญมี ก็คือไอ้ส่วนเหนือจริงที่แหละ ที่เล่นเอาเหวอได้เป็นพักๆ พร้อมกับสอดแทรกสัญลักษณ์ให้ตีความอุตลุต (ซึ่งอาจไม่มีอะไรเลยก็ได้) ซึ่งการที่ฉากเหนือจริงเหล่านี้ มันดูเหนือไปอีกขั้น คือการตอบสนองของตัวละครในฉาก ที่ตอบรับรวดเร็ว ไม่แตกตื่นตกอกตกใจไปก่อน ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าทำไม และก็ได้คำตอบว่าเพราะไอ้ฉากเหนือจริงพวกนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆนะซิ นอกจากเกิดในสมอง หรือความคิดของตัวละครบางตัว

เรื่องที่เกิดขึ้นจริง: ลุงบุญมี พ่อหม้ายเมียตาย ลูกชายหนีออกจากบ้าน กำลังจะตายจากโรคไตวาย ซึ่งต้องอาศัยคนงานหนุ่มชาวลาวคอยฟอกไตให้ และมีน้องเมียกับหลานชายมาอยู่ด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิต ในที่สุดแกก็ตาย หลานชายบวชหน้าไฟให้ และขณะบวช หลานก็แอบหนีมาหาแม่ (หรือเปล่า??) ตอนกลางคืน

เรื่องที่เป็นจินตนาการของลุงบุญมี: ในวาระสุดท้าย วิญญาณของคนรอบข้างที่ตายหรือสาบสูญไปได้กลับมาอยู่ร่วมกัน พูดคุยกันเหมือนสมัยทุกคนอยู่ด้วยกัน เหตุการณ์ในอดีตชาติแจ่มชัดขึ้น ความรู้สึกว่าตัวเองกำลังรับกรรมที่ได้ก่อเอาไว้เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ วิญญาณของสิงสาลาสัตว์มาห้อมล้อมและเฝ้ามอง และการออกเดินทางไปในป่าที่มืดมิด จนสิ้นสุดในถ้ำที่เหมือนกับการย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นของชีวิต และตายไปจากโลก

เรื่องที่เป็นจินตนาการของโต้ง: ร่างกายที่แยกเป็นสองส่วน วิญญาณที่ออกจากร่างจนแยกไม่ถูกว่าอะไรคือร่างกาย อะไรคือจิตวิญญาณ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่โต้งกำลังอยู่ในเส้นกั้นบางๆระหว่างความเป็นพระและฆราวาช หรือความเป็นพระหรือความอาบัติ)

ในขณะเดียวกัน หนังก็สอดแทรกภาพเหตุการณ์ที่เหมือนกับไม่เกี่ยวกับเรื่องราวของลุงบุญมีอีก 3 เรื่อง (เรื่องของควายที่หลุดจากเชือกเดินหลงเข้าป่า คนเลี้ยงที่มาตาม และสัตว์ป่าที่เฝ้าดู เรื่องของเจ้าหญิงอัปลักษณ์ องครักษ์ที่เป็นชู้รัก และปลาดุกที่หลงไหลชื่นชมเจ้าหญิง และภาพถ่ายของทหารกับสัตว์ประหลาด) ผสมกับการบอกเล่าถึงอดีตชาติของลุกบุญมีอีก 2 เรื่อง (การเป็นทหารที่ต้องฆ่าคนบริสุทธิ์ และการเดินทางไปในอนาคต) ซึ่งสามารถโยงใยกลับไปยังหนังทั้งสามเรื่องของพี่เจ้ยได้ทั้งหมด โดยทิ้งสารให้คนดูรู้สึกว่าเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ คือชาติต่างๆของลุงบุญมีที่ระลึกได้ (โดยไม่เจาะจงว่าลุงบุญมีเป็นใครในแต่ละชาติ) แต่อีกนัยหนึ่ง คือการที่พี่เจ้ยระลึกถึงหนังเรื่องก่อนๆของเขาเองก็ไม่ผิด (โดยเฉพาะการเลือกใช้ดารานำสามคน จากสามเรื่อง กลับมาขึ้นจอในช่วงท้ายด้วยชื่อเดิมในหนังก่อนหน้านี้ คือรุ่ง จากสุดเสน่หา โต้งจากสัตว์ประหลาด และป้าเจนจากแสงศตวรรษ)

ดังนั้น สำหรับผม ลุงบุญมีระลึกชาติ เอาเข้าจริงๆก็คืออภิชาติพงษ์ระลึกชาตินั่นเอง


โดย: wu IP: 125.26.143.133 วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:0:21:25 น.  

 
Inception

ผมพยายามหลีกเลี่ยงการอ่านเรื่องย่อ หรือกระทู้ Inception ก่อนที่จะได้ดูหนัง แต่เมื่อได้ดูหนังแล้ว ผมกลับคิดว่าถึงเรารู้เรื่องมาก่อน ก็คงไม่มีกระทู้หรือเรื่องย่อไหนจะถ่ายถอดอรรถรสและความซับซ้อนได้แค่เพียงเสี้ยวหนึ่งของหนัง ดังนั้น reply นี้ ผมจึงไม่จำเป็นต้องเตือนว่าจะสปอยด์ เพราะมันแค่เศษเสี้ยวของหนังเท่านั้น

สิ่งที่ผมชอบในตัวคริสโตเฟอร์ โนแลน คือการพยายามถ่ายทอดเรื่องราวยากๆให้เข้าใจได้ และการเสาะหาวัตถุดิบที่ซับซ้อน ที่แบบนึกไม่ออกว่าจะถ่ายทอดยังไง มาใส่รูปแบบ อธิบายโดยการใช้ภาพ การตัดต่อ เป็นกลไกในการเล่าเรื่องได้อย่างตลอดรอดฝั่ง โดยเห็นชัดว่าผู้กำกับมีภาพที่ชัดเจนอยู่ในหัว ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่เข้าใจทุกเม็ดในการดูครั้งแรก แต่ก็รู้สึกได้ว่ามันมีอะไรที่ชวนให้ค้นหา และอยากกลับไปดูรอบแล้วรอบเล่า

ใน Inception โนแลนเล่ากระบวนการทำงานของความฝันซ้อนความฝัน และการสร้างกติกาให้โลกแห่งความฝัน แนะนำให้คนรู้จักกว่าครึ่งเรื่อง ก่อนที่จะเดินหน้าเนื้อเรื่องแบบ non-stop จริงๆในครึ่งหลัง โดยโลกความฝันในครึ่งแรก จะเป็นแบบ inside-out คือความฝันชั้นในสุด แล้วค่อยๆก้าวออกมาข้างนอกทีละก้าว และใช้ตัวละครของเอลเลน เพจ เพื่อให้เธอทำความเข้าใจกติกาต่างๆไปพร้อมๆกับคนดู จนมาถึงครึ่งหลังที่เป็นเรื่องภาระกิจ จึงเปลี่ยนการเล่าเรื่องเป็นแบบ outside-in ในรูปแบบของหนังแอ็กชั่นบริหารสมอง

เนื้อเรื่องและกติกาของ Inception มีความเป็น original สูงมาก แต่ใช้การออกแบบงานสร้างที่เหมือนกับการคาราวะหนังคลาสสิคต่างๆ เช่น 2001 space odessey หรือ On her majesy secret service ตลอดจน neoclassic แบบ matrix รือ Memento ของโนแลนเอง ทำให้เหมือนกับดูหนังแอ็กชั่นหลายๆบรรยากาศรวมกัน และเปิดโอกาสให้ทีมนักแสดงกลุ่มใหญ่ มีเวลาได้ฉายแสง เป็นตัวเอกของฉาก และมีผลกระทบต่อการดำเนินเรื่อง จนอาจพูดได้ว่าเป็นบทนำซะแทบทุกคนก็ว่าได้

นอกเหนือจากเรื่องความเป็น original การกำกับ การเขียนบท ที่สุดยอดแล้ว Inception ยังมาพร้อมกับการออกแบบงานสร้าง และงานด้านเทคนิคที่โดดเด่น และที่สำคัญ เป็นการใช้เพื่อรองรับเนื้อหา ไม่ใช่นำหน้าเนื้อหา ทำให้ช่วยเสริมความสมบูรณ์แบบของหนังให้มากยิ่งขึ้น ทำให้ตอนนี้ Inception ขึ้นแท่นว่าที่หนังที่ผมจะเชียร์ในการชิงรางวัลต่างๆประจำปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ปล. ลีโอนาโด นายทำบุญด้วยอะไร ถึงมีบทดีๆ เข้มข้น และผู้กำกับเก่งๆมาให้ได้เล่นตลอด ป่านนี้นักแสดงทั่วฮอลลีวู๊ด อิจฉาแย่แล้ว



โดย: wu IP: 125.26.139.86 วันที่: 21 กรกฎาคม 2553 เวลา:1:09:29 น.  

 
สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก

ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ดูหนังเรื่องนี้เสร็จจะนึกถึงรถไฟฟ้ามาหานะเธอมากๆ เพราะหนังทั้งสองเรื่องมาในแพทเทิร์นเดียวกันเป๊ะๆ คือการเล่าเรื่องผ่านมุมมองนางเอกในตอนแรก กับบุคลิกสาวบ้านๆ ตรงใจคนดู ต่อพระเอกที่เป็นชายในฝัน แล้วตอนท้ายมาเล่ามุมมองพระเอกบ้าง ว่าไม่ใช่นางเอกคิดไปฝ่ายเดียว แล้วก็แยกกัน มาเจอกันอีกทีเมื่อตัวละครโตขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น โดยผมให้รถไฟฟ้าเหนือกว่าในเรื่องของโปรดักชั่น และฉากจบ แต่ช่วงการดำเนินเรื่อง สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก โดนมากกว่าครับ (ขนาดรถไฟฟ้าว่าโดนแล้ว เรื่องนี้ยังโดนมากกว่า)

จุดเด่นของหนังคือการจับอารมณ์คนดูแม่นมากๆ จังหวะไหนจะตลกก็เข้าเป้าตลอด จังหวะไหนจะเศร้าก็ไปได้ถึง หรือแม้แต่ฉากตลกปนเศร้า ก็ยังผสมผสานกันกลมกลืน ต้องยกความดีความชอบทั้งหมดให้กับนักแสดง ทั้งบทนำ บทประกอบ มีสีสัน และทำหน้าที่ได้ดีทุกบท แม้จะเป็นบทเล็กๆก็ตาม และเพลงประกอบที่ส่งตัวหนังมากๆ

แต่จุดอ่อนของหนังยังมีเล็กน้อย คือการกลายร่างนางเอกจากเป็ดเป็นหงส์ในเฟสสุดท้าย (ม.3) ดูโดดไปนิดนึง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว ที่อยู่ๆก็กลายเป็นสาววัยรุ่นปัจจุบันทั่วไป ขาดภาพเด็กต่างจังหวัดใสๆ แล้วก็ฉากจบ ที่ทั้งยืดเยื้อ ทั้งจังหวะหลุดๆ (จบอยากจะคิดว่าเปลี่ยนผู้กำกับด้วยซ้ำ) แล้วก็สรุปเรื่องราวให้คนดูมากเกินไปหน่อย แล้วพอดีมันเป็นฉากจบที่ต้องส่งอารมณ์ให้คนดูหนังประทับใจกับบทส่งท้าย แต่พอไม่ถึง เลยรู้สึกเสียดายมาก


โดย: wu IP: 125.26.149.81 วันที่: 16 สิงหาคม 2553 เวลา:0:26:00 น.  

 
Toy Story 3

จากการที่เป็นไฟลท์บังคับว่าต้องดูหนังพิกซาร์ทุกเรื่อง แต่หลังจาก Rattatouiie แล้ว หนังพิกซาร์กลับไม่ค่อยโดนใจผมเท่าไร แต่ละเรื่องมีฉากดีๆ แต่เป็นส่วนที่ดีของฉากนั้นๆ ไม่ใช่ของตัวหนังทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ของการดำเนินเรื่อง ผมว่ายังสะดุดๆอะไรอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะการที่ตัวหนังพยายามพูดถึงสาระ หรือการทำอะไรที่เกินตัวมากไปกว่าอนิเมชั่นของเด็กๆ

Wall E ผมชอบฉากบนโลกมาก แต่พอขึ้นยาน แล้วหนังเริ่มเสียดสีสังคม ก็ไม่ชอบแล้ว

UP ผมชอบฉากเปิดเรื่องจนถึงบ้านเริ่มลอยออกไปมาก แต่พอไปถึงฉากในป่า ก็ไม่ชอบเหมือนกัน

มาถึง Toy Story 3 จากความผูกพันจาก 2 ภาคแรก (โดยเฉพาะภาค 2 กับเพลง When You Love Me ดูตอนไหนก็เสียน้ำตาทุกที) พอมาถึงภาคนี้ เลยตั้งความหวังไว้มาก แต่พอหนังเริ่มผจญภัย จนเกือบจบ ก็ทำให้ผิดหวังมากๆ เมื่อพบว่ามันไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่ว่าลูกเล่น อารมณ์ แถมมาเจอการแอปแฝงประเด็นการเมืองในกลุ่มของเล่นอีก จนรู้สึกผิดหวังมากๆ

จนถึงฉากสุดท้าย กับการเล่นของเล่นครั้งสุดท้ายของแอนดี้ อารมณ์ Toy Story ที่เราชอบเริ่มกลับมา และน้ำตาไหลพรากเหมือนครั้งเมื่อดูภาค 1 ภาค 2 ซึ่งนอกเหนือจากหนังทิ้งท้ายน่าประทับใจ อีกอารมณ์หนึ่งคืออาจเป็นครั้งสุดท้าย ที่เราได้เห็นแอนดี้และของเล่นเหล่านี้ในจอแล้ว และหนังบอกชัดเจนว่าไม่ใช่ความผิดของแอนดี้ ไม่ใช่ความผิดของเหล่าของเล่น แต่เพราะการเติบโต การเปลี่ยนแปลง วุฒิภาวะ ทำให้มุมมอง กิจกรรม หน้าที่เปลี่ยนไป จนอดเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าเราคือแอนดี้ ส่วนหนังพิกซ่าร์ทั้งหลายคือเหล่าของเล่น ที่เคยให้ความสุขกับเรามากมายในอดีต แต่ตอนนี้มันไม่ได้ให้ความสุขกับเราเหมือนเคยแล้ว (แต่ในขณะเดียวกัน เสียงหัวเราะของเด็กๆในโรงที่ยังดัง แสดงว่าหนังยังตอบสนองความต้องการของเด็กๆได้) จากเรื่องนี้ เลยคิดว่าต่อไปผมคงหลุดพ้นจากหนังพิกซ่าร์ได้เสียที คือความรู้สึกดีๆที่ประทับใจก็ยังมีเก็บไว้ หนังพิกซ่าร์เรื่องต่อไปก็คงดู แต่คงไม่ได้ติดตาม เฝ้ารออะไรอีกแล้ว และคงไม่คาดหวังว่าหนังจะต้องออกมาดีเลิศ แล้วผิดหวังกับจุดบกพร่องเล็กบ้างใหญ่บ้าง เหมือนหนังสามเรื่องสุดท้ายของพิกซ่าร์นี้

ปล.1 กับฉากจบที่นำตาไหลพรากแบบไม่ได้ไหลมากอย่างนี้มานานแล้ว ไฟเริ่มเปิดตอนฉายเครดิตตอนจบ พ่อแม่พาลูกๆเดินออกจากโรง แต่เด็กๆหลายคนหันมามองผมงงงง อีตาลุงคนนี้มันนั่งร้องไห้ทำอะไรเนี่ย

ปล.2 ปกติไม่เคยผิดหวังกับการตูนเปิดเรื่องซักครั้ง มีเรื่องนี้แหละที่รู้สึกว่าพิกซ่าร์ทำไม่ถึง

ปล.3 ได้บทสรุปกับตัวเองแล้วหลังจากผ่านตาหนังสามมิติไประดับหนึ่งว่าไม่ชอบระบบหนังสามมิติปัจจุบันเท่าไร ขอเป็นภาพธรรมดา กำกับภาพสวยๆ จัดแสงดีๆให้เหมือนภาพเขียน ดูได้อารมณ์กว่าไอ้ตื้นๆลึกๆอะไรนี่เยอะ


โดย: wu IP: 125.26.149.81 วันที่: 16 สิงหาคม 2553 เวลา:0:50:44 น.  

 
Salt

นึกถึงซีรีย์ Alias ปนกับ 24 ในเรื่องของสายลับสองหน้า การเป็นหนอนบ่อนไส้ และการเมืองระดับประเทศ หนังดูสนุกครับ ดีไซด์ฉากแอ็กชั่นดี แองจี้แสดงดี ทุ่มเท แต่ก็เท่านั้น

จุดอ่อนของหนังคือการพยายามหักมุมพลิกไปพลิกมา แต่ปรากฏว่าแต่ละจุดที่หักมุมมันไม่ค่อยเกินความคาดเดาเท่าไร และไม่มีการพลิกครั้งไหนที่ทำให้อึ้งได้ แล้วพอเรื่องพลิกมากครั้งอย่างนี้ เลยทำให้ความผูกพันกับตัวละครมันไม่เต็มที่ จะเอาใจช่วยดี หรือจะให้โดนจับดี คือเอาใจช่วยพราะรู้ว่านี่คือนางเอกชื่อเดียวกับหนัง เป็นแองเจริน่า โจลี่แสดง แต่ไม่ได้เอาใจช่วยเพราะตัวหนัง


โดย: wu IP: 125.26.149.81 วันที่: 16 สิงหาคม 2553 เวลา:0:57:21 น.  

 
Step Up3

ไปดูเพราะไม่มีอะไรทำ เพราะปกติหนังเต้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไรอยู่แล้ว แค่ดาราหน้าตาดี เพลงเพราะๆ สนุกๆ แล้วก็ท่าเต้นแบบ อู้หู้ แต่เพราะเพื่อนๆบอกว่าหนังดีกว่าหนังเต้นทั่วไป เลยคาดหวังไปหน่อย

ดูแล้ว นึกถึงหนังจา พนม องค์บาก ต้มยำกุ้ง มากกว่าหนังแนวเต้นแฮะ แต่เปลี่ยนจากเจอคู่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ เป็นด่านๆ เป็นเวทีการเต้นแทน แต่องค์บากยังมีข้อดีที่การจัดเรียงฉากแอ็กชั่นค่อยๆทวีดีกรีความตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ step up ค่อนข้างราบเรียบเสมอกัน ยกเว้นฉากสุดท้าย ที่แรงหน่อย แต่ก็เป็นเพราะอุปกรณ์ประกอบมากกว่าท่าเต้น

ในขณะที่บท การแสดง เนื้อหา ดูแข็งๆและเป็นจุดอ่อนไปซะแทบทุกอย่าง การเต้นที่เป็นจุดแข็ง ก็ได้บรรดานักแสดงประกอบทั้งหลายแหล่มาเติมเต็ม ในขณะที่ตัวเอก (โดยเฉพาะพระเอก) ก็ไม่ได้โดดเด่นกว่าตัวประกอบ เลยรู้สึกว่า ดูรายการ So you think you can dance ยังอ้าปากหวอ และตื่นเต้นมากกว่านี้

ฉากเต้นที่ชอบที่สุด คือฉากลองเทคของคู่พระนางคู่รอง น่ารักดี นอกนั้นออกแนวเฉยๆซะมาก


โดย: wu IP: 125.26.161.16 วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:23:54:53 น.  

 
กวน มึน โฮ

ความสำเร็จของหนังแนวโรแมนติกคอมเมดี้ คือการคัดเลือกตัวแสดงนำที่มีเสน่ห์ เข้ากันได้ดี โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังที่เดินเรื่องโดยตัวละครหลักๆแค่ 2 คน ซึ่งกวน มึน โฮ ทำได้

เต๋อ ดูแล้วนึกถึงอดัม แชนเดอร์ ในขณะที่หนูนา ไม่สวยมาก แต่มีความกล้าแสดงออก เป็นธรรมชาติ และเข้าถึงอารมณ์ตัวละคร ทำให้กวน มึน โฮ ไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมไปถึงมุขตลก ที่โยนใส่สองคนนี่ ถ้าไม่แข็งจริง เสี่ยงที่จะออกมาเป็นมุขแป๊กไม่น้อย

ตัวเรื่อง ไม่ค่อยมีอะไร แต่ตอบรับกับความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ ยกเว้นการสร้างสถานการณ์ให้พระเอกนางเอกเจอกัน ถูกรางวัลคาสิโน ไปจนถึงแฟนพระเอกตามมาที่เกาหลี ดูออกจะจงใจใส่เพื่อให้เรื่องเดินไปข้างหน้า แม้ความสมจริงจะค่อนข้างน้อย

จุดแข็งของหนัง GTH คือเรื่องโปรดักชั่น ซึ่งแม้จะต้องไปถ่ายทำต่างประเทศ แต่โปรดักชั่นก็ยังคุมได้อยู่ และเห็นว่าตั้งใจ (อดเปรียบเทียบไม่ได้ กับการถ่ายหนังแบบกองโจรในเราสองสามคน เรื่องนั้นจุดอ่อนจริงๆผมว่าเป็นเรื่องโปรดักชั่นที่ไม่ได้เซ็ต หรือตัวประกอบที่เอาคนในทีมงานมาเล่นเอง ซึ่งอาจได้อารมณ์ดิบๆ เป็นธรรมชาติ แต่ก็เป็นจุดอ่อนกับหนังเหมือนกัน)

ในส่วนของความเป็น กวน มึน โฮ ความกวนผมให้แทบเต็ม มึน ถ้าว่าคือความหน้ามึน ก็ไล่หลังกวนมาติดๆ ยกเว้นโฮ ที่ยังห่างเพื่อนสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็น โฮแมนติก หรือร้องไห้โฮ

แล้วการที่หนังมาทีหลังสิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารักในเวลาไม่นาน เลยอดเปรียบเทียบกันไม่ได้ ผมให้สิ่งเล็กๆชนะครับ ในทุกๆด้านยกเว้นโปรดักชั่น และที่สำคัญ สิ่งเล็กๆ (หรือหนังอย่างรถไฟฟ้า) มันพูดถึงเรื่องราวที่จับต้องได้ง่ายกว่า มีประสบการณ์ร่วมมากกว่า ในขณะที่กวน มึน โฮ อาจไกลตัวไปหน่อย เลยต้องพ่ายไป


โดย: wu IP: 125.26.140.92 วันที่: 23 สิงหาคม 2553 เวลา:1:13:35 น.  

 
ชั่วฟ้าดินสลาย

มล.พันธ์เทวพพ เทวกุล เป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่มีลายเซ็นต์ค่อนข้างชัดเจนในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละครที่ออกมาไฮโซ ภาพสวย เพลงเพราะ เนื้อหามีอารมณ์อีโรติกแฝงอยู่ และที่สำคัญคือลีลาของหนังที่ออกมาประดิษฐ์ประดอย ทั้งลีลา ภาษา ราวกับว่าเป็นละครเวทีที่มีกล้องถ่ายหนังไปถ่ายมาให้ดูกัน ซึ่งทำให้หลายๆคนก็รับงานของท่านไม่ได้ และรู้สึกถึงความหรู แต่ไม่สมจริงตลอดเวลา

ชั่วฟ้าดินสลายเล่าเรื่องผ่านการบอกเล่าสนทนาของตัวละครที่เป็นคนนอก และผู้สังเกตการณ์ ในแง่หนึ่ง ก็คือการนำเข้าสู่เรื่องราว โดยเฉพาะการเปิดเรื่องของละครเวที แต่พอมาเป็นหนัง จุดอ่อนคือการทำความรู้จักกับตัวละคร การเข้าไปถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ก็ถูกจำกัดไปตามมุมมองของผู้เล่า ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาสำหรับหนังแนวดราม่า เน้นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก อย่างพล็อตเรื่องของชั่วฟ้าดินสลายนี้

และพอตัวละครแบน ขาดพัฒนาการชัดเจน สิ่งที่ต้องมาทดแทนคือการแสดงที่จะต้องเอาให้อยู่ แต่ปรากฏว่าหนังมาพลาด กับตัวละครยุพดีของพลอย ที่เล่นได้เท่าที่บทเขียนไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถลงลึกให้คนดูอินได้ ซึ่งส่วนตัวของพลอย เป็นนักแสดงที่สร้างคาแรกเตอร์ให้เข้ากับบทได้ดีมากมาตลอด แต่จะดีถ้าตัวละครนั้นไม่ต้องลงลึกอะไร ขายแค่คาแรกเตอร์ (เช่นรักแห่งสยาม บุปผาราตรี ผู้ใหญ่ลีกับนางมา หน้าต่างบานแรก) แต่พอตัวละครเริ่มลงลึก มีจุดหักเห หรือเริ่มมีอะไรที่ขัดแย้งกับคาแรกเตอร์ พลอยก็เริ่มมีปัญหากับการจัดการตัวละคร รวมไปถึงชั่วฟ้าดินสลายด้วย

การเปิดตัวพลอยในบทผู้หญิงสะดุดตา เก๋ไก๋ ทันสมัย ร้อนแรงอยู่ข้างใน ยั่วยวน หนังทำได้ดี และทำให้คาแรกเตอร์ตัวละครชัดเจน แต่หลังจากนั้น นับตั้งแต่การพยายามหักห้ามความรู้สึกปนอิจฉา ที่มีผู้หญิงคนใหม่เข้ามาในชีวิตส่างหม่อง การให้ท่าส่างหม่อง และไล่ไปจนถึงตอนจบ กลับทำให้ตัวละครนี้ดูไกลจากที่ควรเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ (คือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบทกับนักแสดง) จนเกิดความไม่อิน และไม่สะเทือนใจกับโศกนาตกรรมที่เกิดขึ้น

ส่วนอนันดา มีทั้งช่วงที่ดี และช่วงที่ยังไม่ดีนัก แต่ดูไม่ขัดมากเท่าพลอย ในขณะที่คนอื่นๆ ธีระพงษ์ ศักราช เพ็ญเพชร ดารณีนุช ฉายนันท์ ไปโลดครับ

จุดเด่นของหนัง ยังอยู่ที่การถ่ายภาพ ดนตรีประกอบ กำกับศิลป์ ที่ยังคงความเป็นหม่อมน้อย และมีมาตรฐานสูงเหนือกว่าหนังไทยโดยเฉลี่ยครับ

ปล. ไปเล่าเรื่องย่อหนังเรื่องนี้ ในกระทู้หนึ่งที่จขกท.ถามหาเรื่องย่อ ผมเล่าว่าเป็นเรื่องของชายชื่อนิพนธ์ที่มาเที่ยวป่า แล้วจะไปมีอะไรกับผู้หญิงของปางที่ไปอยู่ คุณทิพย์ ผู้ดูแลปางเลยแต่งเรื่องเล่าให้กลัว และออกไปจากปางซะ ตอบไปแล้ว มาคิดอีกที หนังอาจเป็นอย่างนี้จริงๆก็ได้


โดย: wu IP: 113.53.178.13 วันที่: 20 กันยายน 2553 เวลา:0:34:58 น.  

 
Devil

นี่คือหนังสไตล์เอ็ม ไนท์ ชมาลาร์ที่รอคอยครับ มีสไตล์เป็นตัวของตัวเอง เรื่องราวเหนือธรรมชาติ แม่นยำกับแนวคิดหลักและธีมของหนัง และพอดูแล้วรู้สึกถึงเงาเอ็ม ไนท์มากๆ (กว่าหนังที่เอ็ม ไนท์กำกับเองหลังๆเสียอีก)

หนังเล่นกับเรื่องความเชื่อ ความศรัทธาที่สูญเสีย และเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเอกได้ตระหนักว่าจริงๆแล้ว พระเจ้าก็ไม่ได้ทอดทิ้งเรา (นี่มันธีมเดียวกับ Sign ชัดๆ) และการเล่าเรื่องผ่านตำนาน เรื่องเล่าถึงเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ (นึกถึง Lady in water กับ Unbreakable) แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้อ้างอิงชัดเจนที่สุด คือนิยาย And then there were none (หรือ Ten little indians) ของอกาธา คริสตี้ ที่เล่าเรื่องคนบาป 10 คน (ในหนังตัดเหลือแค่ 5) ที่ภายนอกเหมือนคนทั่วๆไป เข้าไปรวมตัวอยู่ในสถานที่จำกัด แล้วเริ่มมีการตายเกิดขึ้นทีละคน ในขณะที่ความระแวงก็มากขึ้น ก่อนจะเฉลยว่า ... (ขอยกไปไว้สปอยย่อหน้าสุดท้าย)

แต่หนังยังมีมากกว่านั้นจากเหตุการณ์นอกลิฟท์ที่เล่าผ่านสายตาของคนสองคน โดยคนหนึ่งคือคนที่เชื่อและศรัทธา ในขณะที่อีกคนไม่เชื่อและหมดศรัทธาไปแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงในตอนท้าย ว่าถึงจะมีปิศาจคอยทำร้าย แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีพระเจ้าที่จะเยียวยาให้ และนำไปสู่ฉากจบซึ้งๆ (หลายคนผิดหวังกับฉากจบว่าไม่ได้หักมุมอะไรมากมาย และง่ายไปหน่อย แต่ผมกลับคิดว่าจบได้ลงตัวมากๆ น้ำตาซึม)

และเรื่องราวดีๆทั้งหมด ได้รับการเติมให้เต็มด้วยดนตรีประกอบ การบันทึกเสียง การออกแบบงานสร้าง (ฉากเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายนะครับ เป็นลิฟท์แคบๆที่มีกระจกติดรอบๆ การถ่ายให้ไม่เห็นกล้องถ่ายหนัง คงไม่ใช่แค่ตั้งกล้องแล้วถ่ายเฉยๆ) และที่สำคัญการกำกับภาพของทัค ฟูจิโมโต้ (ผู้กำกับภาพคู่ใจผู้กำกับโจนาธาน เดมมี่ และหนึ่งในผู้กำกับภาพที่ผมชอบมากๆ) ที่ทำภาพเมืองให้ดูน่ากลัว ไม่น่าไว้วางใจ ไม่มั่นคง หรือแม้แต่การกำกับภาพในสถานที่แคบๆ (อย่างในลิฟท์) และยาวๆ (อย่างในปล่องลิฟท์) สุดยอดมากๆ

###สปอยด์###

ใครเคยอ่าน And then there were none คงรู้ดีว่า 3 คนสุดท้ายที่เห็น ไม่ใช่ฆาตกรแน่ๆ เพราะมันสามารถนำไปสู่ดราม่าและการหักมุมได้ (การแบ่งข้างซึ่งไม่สมดุลกันแล้ว ความระแวงมากขึ้น และยิ่งเหลือ 2 คน แล้วรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำ เลยต้องปกป้องตัวเองนี่ก็เหมือนไฟลท์บังคับว่าต้องมี) และฆาตกรจริงๆคือคนที่ตายก่อนหน้านี้ แต่เป็นการตายหลอกคนอื่น เพื่อกันตัวเองออกจากผู้ต้องสงสัย ดังนั้น ผู้น่าสงสัยจึงเหลือแค่หนุ่มปากมาก กับป้าแก่ แต่หนุ่มปากมากตายคนแรก ซึ่งคนอื่นๆยังไม่ตั้งตัว เลยตัดออกไปได้อีกคน ก็เหลือแต่ป้า ซึ่งสุดท้ายก็โป๊ะเช๊ะ


โดย: wu IP: 113.53.177.177 วันที่: 2 ตุลาคม 2553 เวลา:1:16:17 น.  

 
ผิดหวังอินทรีแดง ผิดหวังวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

ในฐานะผู้กำกับที่เชื่อมือได้มากที่สุดคนหนึ่งของวงการหนังไทย กับผลงานที่ออกมาอย่างอินทรีแดง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

แม้ว่างานจะออกมาไม่เยอะ ทำเงินไม่เท่าไร แต่ผลงานที่ผ่านมาของวิศิษฐ์มีองค์ประกอบของหนังที่ดีเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของบท และการกำกับภาพยนตร์ ในบางครั้ง เรื่องราวที่ไกลตัว เรื่องราวที่ดูแปลกประหลาด ก็ยังสามารถทำให้ลงตัวได้ จากทหนังที่หนักแน่น เป็นขั้นตอน และสไตล์การกำกับที่รองรับบทหนัง และมีจังหวะที่ดีและเป็นสไตล์ที่โดดเด่นของหนังแต่ละเรื่อง

แต่อินทรีแดง การที่เริ่มต้นมาจากบทที่ป้อแป้ ทำให้การกำกับ ที่ดูเหมือนกับมีความพยายามสร้างสไตล์และการเซ็ตฉากแอ็กชั่น ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

การปูพื้นของเรื่องที่แทบจะไม่มี ฉากแอ็กชั่นที่ไม่มีที่มาที่ไป ความผูกพันของตัวละครเป็นศูนย์ เหตุผลและแรงจูงใจตัวละครที่ไม่ชัดเจน การเผยตัวผู้ร้ายที่ธรรมดามากๆ และที่ร้ายที่สุด คือการตัดจบแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย (สไตล์เดียวกับองค์บาก2) ทำให้เกิดความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก (ยังไม่พูดถึง CG และโฆษณาแฝงที่ทำให้หนังดูแย่ไปใหญ่)

จุดดีของหนังคือการแสดงของตัวละครหลักๆ การออกแบบฉากแอ็กชั่น การตัดต่อ และฉากเปิดเรื่องสไตล์เจมส์ บอนด์ แต่ก็ไม่สามารถช่วยฉุดให้หนังทั้งเรื่องดูดีขึ้นมาได้

ปล. แต่ฉากที่ตลกที่สุดคือผู้ร้ายที่สูบบุหรี่แล้วโดนตัดหัว แล้วมีคำเตือนว่าสูบบุหรี่อาจสามารถทำให้ตายได้ ไม่รู้ตั้งใจหรือเปล่า แต่มุขนี้ผ่านมากๆ


โดย: wu IP: 111.84.160.88 วันที่: 9 ตุลาคม 2553 เวลา:10:01:45 น.  

 
Grown Up
เป็นหนังที่ไม่คาดหวังอะไรมาก ไปดูก็ไม่ได้รู้สึกดีกว่าที่คาดหวังในด้านคุณภาพหนัง แต่ความรู้สึกที่มีต่อหนังดีมากๆ กับหนังประเภท coming of age ของตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ แล้วก็การแสดงแบบทีมใหญ่ๆ แต่ก็มีพัฒนาการคนละเล็กละน้อย หลายๆฉากที่เรียกรอยยิ้มจากความน่ารักได้ มีความสุขครับ


โดย: wu IP: 202.12.97.100 วันที่: 26 ตุลาคม 2553 เวลา:17:20:23 น.  

 
RED

หน้าหนังที่แสนจะเชิญชวนสำหรับผมเรื่องนี้ คือการประชันบทของดาราฝีมือจัดจ้าน ในบทที่น่าจะออกแนวตลกร้าย และน่าจะเป็นบทหนังที่ดีมากๆ ถึงสามารถดึงดูดดาราระดับนี้มารวมตัวกันได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆแล้ว งานนี้เหมือนกับแค่การพักร้อนของเหล่านักแสดงยอดฝีมือทั้งหลาย กับการรับบทที่คงจะไม่ได้เห็นถ้าเป็นหนังดราม่า และเนื่องจากเป็นงานพักร้อน เลยเหมือนว่าต่างคนต่างมา ว่างก็เจอกัน ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ยังไงไม่รู้

กับการที่หนังปูเรื่องว่าตัวละครหลักเป็นทีมที่สุดยอด ทำให้คาดหวังที่จะเห็นการปฏิบัติการของตัวละครที่สอดประสานเป็นทีมเวิร์ค อย่างใน Mission Impossible หรือ Ocean 11, 12, 13 และหนังก็มีแนวทางที่จะเปิดให้เล่นสนุกอย่างนั้นได้ แต่กลับทำไม่ถึง เพราะการทะยอยเปิดตัวละคร และการกำจัดตัวละครออกจากเรื่องที่ไม่ได้มีความสำคัญต่อการเดินเรื่อง โดยเฉพาะบทของมอร์แกน ฟรีแมน (ยังงงอยู่เลย ว่าอะไรบันดาลใจให้ปู่เห็นข้อดีของบทนี้ และมารับเล่น) หรือแม้กระทั่ง บรูซ วิลลิส ที่อยู่ๆก็หายตัวไปจากฉากแอ็กชั่นสุดท้าย และโผล่มาปิดฉากเท่านั้น (และปิดฉากแบบง่ายดายเสียจริงๆ) แม้แต่ เฮเลน มิเรน ที่กว่าจะโผล่มาก็ครึ่งเรื่องแล้ว แม้ว่าบทจะมีคาแรกเตอร์ บวกกับการแสดงหน้าตาย แต่บางช่วงบางตอนก็รู้สึกเหมือนกันว่าเธอไม่รู้จะแสดงต่อไปยังไงดี มีแต่จอห์น มัคโควิชคนเดียว ที่เอาอยู่ตลอดรอดฝั่ง

และปัญหาอีกอย่างของบท คือการที่บทผู้ร้ายไม่ชัดเจน ไม่คุกคาม ไม่น่าเกรงขาม หรือไม่ได้ดูร้ายจนคนดูต้องเอาใจช่วยกลุ่มพระเอก แม้แต่บทที่เหมือนตัวคุกคาม คือ CIA หนุ่มที่ตามล่าพวกพระเอก ก็ไม่ได้ร้าย จนหลายๆครั้ง คนดูยังเอาใจช่วยด้วยซ้ำ และตอนเปิดตัวผู้ร้ายตัวจริงออกมา ก็ไม่ได้เซอร์ไพรซ์ หรือรู้สึกอะไรมาก เพราะเฉลยแป๊บเดียวก็ไปซะแล้ว

สรุป งานนี้ คือการเล่นสนุกของดารา ที่คนดูอย่างผม ไม่ได้รู้สึกสนุกด้วยเท่าไร


โดย: wu IP: 1.46.118.23 วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:0:40:51 น.  

 
ชิงหมาเถิด

นับจากขอให้รักจงเจริญ, Happy Birthday จนถึงชิงหมาเถิด พงษ์พัฒน์มีพัฒนาการในการเป็นผู้กำกับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการแม่นยำกับประเด็นที่หนังต้องการนำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นปัญหาของหนังพงษ์พัฒน์มาตลอด ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องหลังสุดนี้ ที่เนื้อเรื่องไม่น่าเชื่อถือเลย แต่การทำหนังออกมาในแนวตลกร้าย ทำให้เชื่อยิ่งกว่าเรื่องของกะเทยที่เปลี่ยนมารักผู้หญิงแบบชู้สาว หรือเรื่องของชายหมกมุ่นที่เฝ้าดูแลผู้หญิงของเขาแบบยาวนานเสียอีก

แต่สิ่งหนึ่งที่หนังพงษ์พัฒน์โดดเด่นเสมอ คือการกำกับการแสดงของนักแสดงนำ รวมทั้งในเรื่องนี้ด้วย ตัวละครหลักสี่ตัวผ่านฉลุยแบบได้คะแนนดีมาก แม้ว่าจะเป็นตัวละครที่ไม่ค่อยมีปูมหลัง หรือแรงผลักดันตัวละครมากมายชัดเจนก็ตาม โดยมีบอย ปกรณ์ เป็นบทที่เหมือนเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนให้กับเรื่อง มีโก๊ะตี๋กับมาริโอ้ รับผิดชอบในส่วนรายละเอียดและดราม่า และพงษ์พัฒน์เองเป็นตัวขับเคลื่อนและกดดันตัวละครทั้งสาม

แต่ถ้าพูดถึงคนที่โดดเด่นจริงๆ ต้องยกให้โก๊ะตี๋ และเป็นการพิสูจน์ความเชื่อของผมอีกครั้ง ว่าโก๊ะตี๋คือนักแสดงที่มีอินเนอร์สูงมาก และเชื่อในบทที่ตัวเองแสดง (ซึ่งนักแสดงอื่นๆที่ผมรู้สึกอย่างนี้ เช่นซูซาน ซารันดอน ซึ่งคนละเรื่องกับโก๊ะตี๋เลยในด้านบทบาท แต่อินเนอร์สูงพอกัน) ฉากที่แสดงความอินชัดๆ คือน้ำเสียงในฉากโทรศัพท์ท้ายเรื่อง ทำให้นี่เป็นผลงานที่น่าจดจำของโก๊ะตี๋อีกเรื่อง ถัดจาก ปล้นนะยะ และแสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า (ซึ่งฉากในห้องน้ำ แสดงความเชื่อในบทได้ถึงมาก)

นอกจากนี้ จุดเด่นอีกอย่างของหนัง คือจังหวะในการกำกับที่ลงตัว ลื่นไหล และกระฉับกระเฉง ซึ่งสอดประสานกับงานภาพ และการตัดต่อ ซึ่งฉากที่โชว์ฝีมือผู้กำกับในด้านนี้ คือฉากการลงมือของนักฆ่าแต่ละฉาก กระชับ ชัดเจน และมีจังหวะดีมากๆ


โดย: wu IP: 1.46.118.23 วันที่: 30 ตุลาคม 2553 เวลา:0:42:22 น.  

 
Harry Potter and Deadly Hallows Part I

ปัญหาที่ผ่านมาโดยตลอดของหนังชุดแฮรี่ พ็อตเตอร์ คือการต้องคอยเอาอกเอาใจแฟนหนังสือ และต้องพยายามรักษาฉากต่างๆในหนังสือเอาไว้ให้ครบถ้วน แม้ว่าเนื้อหาที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หนังออกมาเหมือนภาพเคลื่อนไหวประกอบหนังสือ คือต้องทั้งดูและทั้งอ่านไปพร้อมๆกัน จึงจะได้อรรถรสครบถ้วน ในขณะที่ความเป็นหนังออกมาครึ่งๆกลางๆโดยตลอด

นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับแต่ละภาคไม่รู้ (อาจยกเว้นคริส โคลัมบัสจากสองภาคแรก) และพยายามตัดทอนฉากที่ไม่สำคัญออกในภาค 3-4 แต่นั่นก็ยังเหลืออีกหลายฉากที่ต้องพูดถึงแบบผ่านๆ หรือการพยายามรวบรัดเหตุการณ์หลายๆอย่างให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันในแต่ละฉากในภาค 5-6 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก (อาจเพราะวัตถุดิบคือเนื้อเรื่องภาค 5-6 อ่อนที่สุดในบรรดาหนังสือชุดนี้ แม้ผู้กำกับจะพยายามแล้วก็ตาม) จนมาถึงการทดลองแบบล่าสุด คือการผ่าหนังสือ 1 เล่มให้เป็นหนังสองภาค

การตัดสินใจอย่างนี้ อาจทำลายขนบบางอย่างของหนัง (เช่นเดียวกับหนังสือ ที่แต่ละเล่มเดินเรื่องในปีเดียว กับการเปิดฉากในวันเกิด และปิดฉากในวันโรงเรียนปิด) แต่ในขณะเดียวกัน หนังสือเล่ม 7 ก็ฉีกขนบหลายๆอย่างอยู่แล้ว (การเดินเรื่องนอกโรงเรียน การละเลยเรื่องเทศกาลและเหตุการณ์ต่างๆในรอบปี ไปถึงฉากจบที่ตัดไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า) และผลออกมา ถือว่าทำได้สำเร็จ เพราะแฮรี่ภาคนี้ คือแฮรี่ที่มีความเป็นหนังมากที่สุด และจังหวะที่ไม่เร่งเกินไป ทำให้มีอารมณ์ร่วมในแต่ละฉากอย่างเต็มที่

สำหรับผู้กำกับ ภาคนี้อาจไม่ได้ทำให้เขารวบรัดหลายๆเหตุการณ์ให้เกิดอย่างต่อเนื่องเหมือนเคย (ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว) แต่จุดเด่นอีกอย่างของเขาคือการเติมเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ทำให้อารมณ์ความเป็นหนังเพิ่มขึ้นอย่างลงตัว เช่นฉากเปิดเรื่องจนถึงในร้านกาแฟในภาคก่อน หรือฉากเฮอไมโอนี่ลบความจำพ่อแม่ หรือฉากเต้นรำกับแฮรี่ในภาคนี้ รวมถึงการทำให้บรรยากาศดูจริงจังขึ้น ดิบขึ้น ซึ่งเข้ากับอารมณ์ในภาคนี้เป็นอย่างดี

ในเรื่องการแสดง ทุกคนดูสบายๆกับบทที่คงเคยชินเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฮเลน่า บอร์แฮม คาร์เตอร์ที่จับคาแรกเตอร์อยู่ตั้งแต่โผล่มาครั้งแรก ราวกับไม่ได้แสดง ในขณะที่น้องแดน ก็ได้เล่นอารมณ์อื่นๆนอกเหนือจากเดิมๆเช่นกัน

แม้ว่าในหนังสือ นี่จะไม่ใช่ตอนที่ดีที่สุด (ซึ่งเล่ม 3-4 ขึ้นหิ้งไปแล้ว) แต่กับหนัง นี่คือแฮรี่ตอนที่ดีที่สุดครับ


โดย: wu IP: 125.26.192.64 วันที่: 15 ธันวาคม 2553 เวลา:9:04:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

I'm wu
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add I'm wu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.